กายคู่ควรกับวัตถุ ใจคู่ควรกับธรรม
วันที่ 8 มกราคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 41 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

กายคู่ควรกับวัตถุ ใจคู่ควรกับธรรม

ศีลธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจ ธรรมกับใจเป็นของคู่ควรกัน และใจเป็นธรรมชาติใหญ่โตมากในบุคคลแต่ละคน ตลอดทั้งโลกมีใจเป็นสำคัญ ถ้าใจหันเหผิดทางไป เช่น นิยมทางด้านวัตถุมากๆ โดยไม่สนใจทางด้านจิตใจว่าเป็นสาระสำคัญที่ควรบำรุงรักษาให้มีความสงบเย็นบ้าง สมกับใจเป็นรากแก้วของสมบัติทั้งปวงมีร่างกายเป็นต้น มีแต่ปล่อยให้ค่านิยมของวัตถุฉุดลากไปโดยถ่ายเดียว ใจย่อมเกิดความโลภมากในวัตถุ ดิ้นรนในวัตถุ ได้เท่าไรไม่เพียงพอ คนหนึ่งๆ ให้ได้วัตถุสมบัติตามความอยากของตัวโลภนั้น โลกแห่งแผ่นดินนี้ยังแคบไป หาที่ปลงที่วางไม่ได้ เพราะไม่พอกับความอยากความต้องการของความโลภ ซึ่งเป็นสิ่งใหญ่โตมากครอบโลกธาตุไม่มีประมาณพอคาดได้ เพียงสมบัติในโลกมนุษย์เรานี้จึงไม่พอกับความต้องการของบุคคลแม้คนเดียว ยังอยากให้เต็มทั้งโลกมนุษย์นี้ด้วย เต็มทั้งท้องฟ้าอากาศ ไม่มีที่ว่างเลยด้วย มีแต่สมบัติของบุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้เช่นนั้นก็ยังไม่พอกับความอยากความต้องการของกิเลสตัวโลภมาก และมากยิ่งกว่าท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาครเป็นไหนๆ ไม่มีอะไรแข่งได้ในโลกทั้งสามนี้

ท่านกล่าวไว้ว่า นตฺถิ ตณฺหา สมานที แม่น้ำรวมกันทั้งโลกธาตุ จะเสมอด้วยตัณหา คือ ความอยากอันใหญ่หลวงย่อมไม่มี เริ่มแสดงความอยากตั้งแต่วันเกิดกระทั่งวันตาย ไม่เคยบกพร่องในคนคนหนึ่งๆ แม้ตายก็ตายไปด้วยความอยากนั่นแล เป็นเจ้าอำนาจบาตรหลวงครองหัวใจสัตว์โลก ฉะนั้น โลกจะหาความสุขสบายเพราะความอยากไม่มีเมืองพอ จึงผิดหวังไปตามๆ กัน ไม่มีคำว่า “เจอความสุขแล้ว เพราะตัณหาเป็นผู้นำทาง” เราชาวพุทธจึงควรสะดุดใจบ้าง จะไม่เลยเถิดเตลิดไปตามความอยากอยู่เรื่อยไป พลาดท่าเรื่อยไป

เมื่อความโลภมีมาก ความรักความสงวนความถือสิทธิ์ถืออำนาจก็มีมากไปตามๆ กัน มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องที่จะทำลายความรักความสงวนในสมบัติของตนให้บกพร่องไปแม้แต่นิดเดียว จะกระทบกระเทือนต่อจิตใจให้เกิดความเคียดแค้นแน่นหัวอก และเกิดกิเลสประเภทหนึ่งขึ้นมาในขณะนั้น ได้แก่ ความโกรธแค้น อันเป็นคู่กับความโลภ ความหลงก็มีพื้นอยู่แล้ว ไม่รู้สึกตัวเลยว่า โลกนี้ทั้งโลกเป็นโลกที่มีป่าช้า มีวันตายได้ มีวันสลายพลัดพรากจากของรักของชอบใจจำนวนน้อยมากไปได้เหมือนๆ สัตว์และมนุษย์ทั่วไป

เมื่อจิตได้หันเหไปทางด้านวัตถุ สนใจกับด้านวัตถุมากๆ จิตยิ่งมีความหยาบโลนลงไป เพราะไม่ใช่วิสัยของจิตจะไปยึดสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตน เป็นสาระแก่นสารแทนใจ และเป็นความสุขอันพึงพอใจของใจได้ นอกจากศีลธรรมซึ่งเป็นของคู่ควรของใจ เพราะเป็นนามธรรมด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้โลกที่มีความเดือดร้อนวุ่นวาย ทั้งคนโง่คนฉลาด ทั้งคนเรียนมากเรียนน้อย ทั้งคนมีคนจน จึงหาความสุขจากด้านวัตถุแม้มีจำนวนน้อยมากเหล่านั้นไม่ได้ตามใจหวัง ไปที่ไหนมีแต่กองทุกข์ซึ่งเต็มอยู่ในใจของคนทุกประเภท ทุกเพศทุกวัยทุกชาติชั้นวรรณะไม่เลือกหน้า เพราะจิตหมุนไปในทางที่ผิดจนเกินเหตุเกินผล ไม่สะดุดใจแม้แต่น้อยเลยว่าตน คือ ใจได้ทอดตัวลงไปเป็นเขียงเช็ดเท้าให้ค่านิยมทางด้านวัตถุเหยียบย่ำทำลายเรื่อยมา และยังจะเรื่อยไปอีกไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่สะดุดใจระลึกรู้ตัวบ้างแต่บัดนี้

หากโลกยังมีความสนใจในด้านวัตถุมาก โดยไม่สนใจกับศีลธรรมหรือศาสนาเป็นคู่เคียงกันไปเลยแล้ว โลกก็จะถึงจุดระเบิดจนได้ ความระเบิดของโลกนั้นก็คือความฉิบหายของโลกเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากจิตใจตัวโลภตัวโกรธเคียดแค้นนี้แล แผลงฤทธิ์ออกไปทำลายทั้งผู้อื่นและตัวเองให้ฉิบหายป่นปี้ไป แทบไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่ทรงค้นพบความจริงความปลอมทั้งหลายโดยประจักษ์พระทัยแล้ว จึงได้นำธรรมของจริงมาสั่งสอนโลกโดยแยกแยะทางด้านวัตถุและด้านนามธรรมเป็นชิ้นเป็นส่วน ให้รู้จักเลือกเฟ้นในสิ่งควรไม่ควร การทรงสั่งสอนโลกนั้นท่านเรียกว่าประกาศพระศาสนา การประกาศพระศาสนาก็คือ ประกาศความจริงอันถูกต้องแม่นยำแก่สัตว์โลก ให้ยึดถือและปฏิบัติตามนั่นเอง ผลคือความสงบเย็นใจจะเป็นความหวังที่แน่นอน ไม่เป็นความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่เพราะการกินไม่เลือก

ใจและกายซึ่งครองกันอยู่ก็ย่อมมีที่ปลงวาง ไม่ร้อนเป็นไฟไปด้วยกันเสียสิ้นทั้งกายและจิตใจ สมกับมนุษย์เป็นผู้ฉลาดกว่าบรรดาสัตว์ในโลกที่อยู่ด้วยกัน การด่าแช่งของสัตว์ที่เคยมีอย่างลึกลับแก่มวลมนุษย์ว่าโหดร้ายทารุณ ก็จะได้เบาลง เพราะมนุษย์ฉลาดแบบมีศาสนาปกครองใจ มิได้ฉลาดแบบผีแบบยักษ์ดังที่เคยเป็นมาประจำนิสัยมนุษย์

พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ไม่เคยทรงสั่งสอนอรรถธรรมให้แตกต่างกันไปแม้แต่น้อยเลย หลักใหญ่ทรงสั่งสอนเรื่องกรรมของสัตว์ ประจำพระศาสนาของแต่ละพระองค์ๆ ไม่เคยเว้น กรรม คือ การกระทำ ความคิดดี-ชั่วทางใจเรียกว่ามโนกรรม การกล่าวดีชั่วทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม การกระทำดีชั่วทางกายเรียกว่า กายกรรม เรียกว่า มโนสุจริต มโนทุจริตบ้าง วจีสุจริต วจีทุจริตบ้าง กายสุจริต กายทุจริตบ้าง ตามแต่กิริยาที่ทำนั้นเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ผลก็แยกส่วนแบ่งส่วนไปตามหลักธรรมชาติของกรรมที่ผลิตขึ้นมา ให้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ให้เป็นสุขโดยลำดับบ้าง เป็นทุกข์โดยลำดับบ้าง ให้เป็นสุขอย่างยอดเยี่ยมจนถึงที่สุดแห่งความสุขที่เรียกว่า ปรมํ สุขํ อันเป็นความสุขสุดยอดบ้าง และเป็นทุกข์โดยลำดับจนถึงขั้นมหันตทุกข์มหันตโทษบ้างเป็นรายๆ ไป

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเรื่องกรรม แต่ที่อยู่ของกรรมนั้นอยู่ที่ไหน กรรมอยู่กับมนุษย์และสัตว์ผู้ทำกรรม นอกจากสัตว์ตายจะไม่ทำกรรม เป็นแต่สัตว์เดียรัจฉานเขาไม่ทราบบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์เป็นอย่างไร จึงไม่ใช่วิสัยที่จะรับศาสนาไว้ได้ และไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้าจะทรงสั่งสอนสัตว์เหล่านั้นยิ่งกว่าการสนพระทัยสั่งสอนมวลมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ฉลาด รู้จักดีชั่วบาปบุญคุณโทษทุกอย่าง นอกจากผู้ไม่เชื่อและไม่ทำตามเท่านั้น

ศาสนาจึงต้องประกาศในแดนมนุษย์ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัสรู้ธรรม ย่อมทรงแสดงอรรถธรรมแก่มนุษย์ผู้ควรจะรับศีลธรรมไว้ได้เท่านั้น เพราะมนุษย์บ้างประเภทเขาก็ไม่สนใจ เพราะความรู้สึกทางจิตใจเป็นอีกแง่หนึ่ง มีความรู้ความเห็นเป็นต่างๆ ไม่อาจจะรับธรรมไว้ได้ พระองค์ก็ไม่ทรงสอน

ผู้ที่ควรจะรับอรรถธรรมที่สั่งสอนไว้ได้โดยลำดับ พระองค์ก็ทรงสอน สอนตามขั้นตามภูมิแห่งอุปนิสัยและความฉลาดสามารถของผู้รับฟัง จนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เพราะอำนาจแห่งการสอนของพระพุทธเจ้า และอำนาจแห่งการประพฤติปฏิบัติตามของตนด้วยความเชื่อความเลื่อมใส จนถึงจุดหมายปลายทางได้

คำว่าศาสนาจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับจิตใจมนุษย์เรา มนุษย์ผู้ใดคณะใดไม่มีศาสนา แต่ยึดวัตถุเป็นศาสนาเป็นที่ยึดถือของใจ ใจถือด้านวัตถุเป็นที่พึ่งที่อาศัย นี่เป็นอฐานะที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่วิสัยของใจจะไปยึดสิ่งเหล่านั้นมาเป็นที่พึ่งเป็นสรณะได้ นอกจากศีลธรรมอันเป็นความเหมาะสมดีงามเท่านั้น มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักใจ เป็นที่ยึดที่ระลึกของใจ และปฏิบัติตามหลักธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ

นี่เป็นวิสัยของจิตที่จะพึงคิดพึงยึดถือเป็นอารมณ์ เพราะจิตมีอารมณ์เป็นอาหาร มีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ กายมีวัตถุเป็นที่อยู่ มีวัตถุเป็นที่อาศัย มีวัตถุเป็นเครื่องบำรุงใจ มีอารมณ์เป็นเครื่องบำรุงรักษาและเป็นเครื่องทำลาย ถ้าอารมณ์นั้นเป็นข้าศึกต่อใจ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนสัตว์โลกด้วยธรรม เพื่อความเหมาะสมกับใจซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกันได้ยึดและปฏิบัติตาม เช่น ให้ระลึก “พุทโธๆ”เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับใจ

เมื่อใจได้อาศัยพุทโธหรือธรรมบทต่างๆ เป็นอารมณ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ใจย่อมมีที่พึ่ง เมื่อใจมีที่พึ่ง ใจย่อมมีความสงบสุขไม่เคว้งคว้าง แม้จะเคยฟุ้งซ่านวุ่นวายคว้าโน้นคว้านี้ตอนที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ยังหาที่ยึดถือไม่ได้ เมื่อได้รับธรรมเข้าสู่ใจ ใจย่อมสงบและมีความอบอุ่น เช่นเดียวกับทารกเจอแม่หรือพี่เลี้ยงฉะนั้น ที่นี่ย้อนเข้าหาด้านจิตภาวนา จิตใจแม้จะเคยคึกคะนองมายิ่งกว่าม้าตัวคะนองเป็นไหนๆ ก็ตาม ย่อมไม่ทนต่อการฝึกการอบรมการทรมานด้วยอรรถด้วยธรรมนี้ไปได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็เพราะการฝึกการทรมานพระองค์ด้วยอรรถด้วยธรรม พระสาวกทั้งหลายได้บรรลุธรรมจนถึงขั้นอรหัตอรหันต์ ก็ล้วนแล้วแต่การประพฤติปฏิบัติฝึกหัดทรมานตนด้วยอรรถด้วยธรรมทั้งสิ้น ธรรมจึงมีความจำเป็นต่อจิตใจมากมาแต่กาลไหนๆ ธรรมเป็นทั้งที่พึ่งที่ยึดของใจ เป็นทั้งเครื่องซักฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดปราศจากมลทินไปโดยลำดับ จนถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ส่วนวัตถุ ไม่มีวัตถุใดสมบัติใดแม้นิยมนับถือกันว่ามีค่ามาก ที่จะเข้าไปซักฟอกจิตใจให้มีความสงบสุขและความผ่องแผ้วสวยงาม หรือบริสุทธิ์จากสิ่งโสมมที่ฝังอยู่ภายในใจ คือ กิเลสประเภทต่างๆ ได้เลย นอกจากธรรมซึ่งคู่ควรของกันและกันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ศาสนธรรมจึงเป็นธรรมจำเป็น สำหรับหมู่ชนผู้ต้องการหลักเกณฑ์อันถูกต้องตามความเป็นจริง กายก็ให้มีที่พึ่งอันหนึ่ง คือ วัตถุสมบัติ ดังโลกทั้งหลายเสาะแสวงหาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ของกายจะได้สะดวก เพราะมีเครื่องบำรุงรักษาที่เหมาะสมกัน คือมีที่อยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องบำรุงรักษาร่างกายให้มีความผาสุก เช่น ข้าวน้ำโภชนะอาหาร เป็นต้น เวลาเกิดความหิวโหยขึ้นมาก็รับประทาน เป็นเครื่องบรรเทาทุกขเวทนาทางกายให้เบาลงและหายไป กลายเป็นความอิ่มหนำสำราญขึ้นมา เวลาหนาวก็หาผ้ามาห่ม ร้อนก็อาบน้ำหรือใช้พัดลม เหล่านี้เป็นวิสัยของกายกับวัตถุซึ่งเป็นของคู่ควรกัน อาศัยกันได้ชั่วระยะกาลที่ยังมีชีวิตครองร่างอยู่

แต่ใจต้องมีอารมณ์เป็นที่ยึดที่อาศัย จะอยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องคิดต้องปรุง ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องเล่นอยู่ประจำราวเด็กกับตุ๊กตานั่นแล ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้นำธรรมะเข้าสู่ใจ อันเป็นอารมณ์ในทางที่ดี ให้ใจได้ยึดถือและปฏิบัติเพื่อเป็นอารมณ์ของใจ เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตตภาวนา ซึ่งเป็นวิธีน้อมธรรมให้เข้าใกล้ชิดสนิทกับใจมากกว่าวิธีอื่นใด ใจมีธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นวิธีการเปลี่ยนอารมณ์อันเป็นข้าศึกต่อใจที่เคยเป็นมาออก ในขณะเดียวกันนำอารมณ์อันดีงาม คือ ธรรม เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือธรรมบทใดก็ได้ ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วเป็น “โอสถ” เครื่องเยียวยารักษาใจทั้งสิ้น ตามแต่จริตนิสัยของผู้นั้นๆ เป็นรายๆ ไปจะชอบธรรมบทใด

จิตเมื่อได้ธรรมเป็นอารมณ์ บังคับฝึกฝนอบรมตนด้วยธรรมเป็นอารมณ์ มีสติเป็นเครื่องควบคุมงาน คือ การฝึกฝนอบรมตน ใจเมื่อมีผู้ป้องกันมีผู้รักษามีพี่เลี้ยงคอยรักษาอันตรายให้ คือ สติ ย่อมจะเข้าสู่ความสงบเย็นได้ในกาลเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบได้ด้วยการฝึกการอบรม หรือด้วยอารมณ์แห่งธรรมที่นำเข้าไปบริกรรมภาวนา จิตย่อมมีความเย็นความเบาความสบายขึ้นมา โดยไม่ต้องไปหาความสุขจากที่ใดๆ

การที่จิตหาความสุขไม่ได้ทั้งๆ ที่ต้องการความสุขอยู่โดยทั่วกัน ก็เพราะจิตแสวงหาความสุขไม่ถูกทาง มิหนำซ้ำความคิดปรุงต่างๆ ซึ่งเป็นข้าศึกต่อใจนั้น จิตยิ่งมีความขยันคิดปรุง โดยไม่มีการหักห้ามต้านทานอารมณ์ที่เป็นภัยนั้นบ้างเลย อารมณ์ที่จิตคิดปรุงอยู่เสมอนั้นแล เป็นต้นเหตุที่จะให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบแล้ว ความทุกข์ความวุ่นวายเหล่านั้นก็หายไป

สรุปความลงแล้วว่า จิตที่หาความสุขไม่ได้ก็เพราะ ความรบกวนตนเองด้วยอารมณ์ที่เป็นข้าศึก เมื่อนำอารมณ์อันเป็นอรรถเป็นธรรมเข้าไปเป็นเครื่องยึดแทนอารมณ์ไม่ดี จิตย่อมมีความสงบเย็นได้ จิตสงบได้มากน้อย ความสุขย่อมเกิดขึ้นมากน้อยตามๆ กัน จึงไม่มีความสุขใด อยู่ในสถานที่ใด พอที่นำมายึดนำมาอวดโลกหรืออวดผู้หนึ่งผู้ใดได้ นอกจากเสาะแสวงหาจิต ด้วยวิธีการที่ถูกต้องดังที่กล่าวมานี้ การเสาะแสวงหาความสุขทางด้านจิตใจโดยผิดทางนั้น แสวงหาทางไหนก็จะเจอแต่ยาพิษ คว้าน้ำเหลวกันทั้งเพ ถ้าไม่ฝึกหัดอบรมด้วยธรรมหรือนำธรรมเข้าสู่ใจ มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ โดยมีสติเป็นเครื่องบังคับงานที่ทำทุกระยะที่บำเพ็ญ ไม่ให้จิตเผลอจากงานของตนที่กำลังทำอยู่เวลานั้น

เช่น กำลังบริกรรมภาวนา ก็ให้มีสติรับทราบกับคำบริกรรมของตนไปทุกระยะไม่ขาดสาย โดยไม่ต้องคาดต้องหมายว่ามรรคผลนิพพานจะเกิดขึ้นได้ในแง่ใด หรือจะเกิดขึ้นในลักษณะใด อันเป็นการก่อกวนงานของตนให้ล้มเหลวไปได้ ให้มีแต่ปัจจุบันธรรม คือ คำบริกรรมกับสติควบคุมกันโดยเฉพาะ สติรู้อยู่กับธรรมบทนั้นๆ เท่านั้น เป็นปัจจุบันอยู่โดยสม่ำเสมอ ผลจะพึงปรากฏเป็นความสงบสุขขึ้นมาเอง เมื่อใจหาทางเล็ดลอดออกไปหาอารมณ์อันเป็นข้าศึกไม่ได้ เพราะการบังคับบัญชาด้วยสติมีกำลังเพียงพอ

ผู้เจริญทางด้านปัญญา ปัญญาเคลื่อนไหวไปไหน สติตามสอดส่องไปด้วย เรื่องความรู้ความฉลาดย่อมจะแตกแขนงออกไปเป็นลำดับลำดาหาประมาณไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าปัญญาแล้วหาความสิ้นสุดไม่ได้ เมื่อเจ้าของมีความสนใจพาคิดอ่านไตร่ตรอง ในสภาวธรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอยู่เสมอด้วยความสนใจ มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา ความเฉลียวฉลาด ความคล่องแคล่วว่องไว การปลดเปลื้องสิ่งที่เคยยึดถือจะเป็นไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งปัญญาที่มีสติเป็นเครื่องควบคุมไม่แยกกัน

นี่เรากล่าวในเบื้องต้นเป็นสองภาค คือ ภาคกายอย่างหนึ่ง ภาคจิตอย่างหนึ่ง

สิ่งที่ควรแก่ร่างกายซึ่งเป็นด้านวัตถุด้วยกัน ก็ได้แก่วัตถุทั้งหลายมีอาหารการบริโภค เงินทอง ข้าวของ ตึกรามบ้านช่อง เป็นต้น นี่เป็นคู่ควรของกายที่จะพึงอาศัย โลกทั้งหลายจึงต้องเสาะแสวงหากัน เป็นแต่แสวงหาจนเลยเถิด ไม่รู้จักการแยกแยะทางด้านจิตใจออกบ้างเลย มิหนำซ้ำยังต้องบังคับจิตให้เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัตถุทั้งหลายเข้าอีก ซึ่งเป็นอฐานะ มันเป็นไปไม่ได้ ที่จำต้องทำลงไปนั้นเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ ที่ร้ายจนน่าใจหายก็คือ การยกวัตถุขึ้นเป็นพระเจ้าบนหัวใจอีกด้วยนั่นแล

เมื่อยกวัตถุขึ้นเป็นพระเจ้าเสียเช่นนั้น ใจที่ควรจะเป็นพระเจ้าได้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นฐานะต่อกัน ใจก็เลยกลายเป็นบ๋อยของวัตถุทั้งหลายนั้นไปเสียโงหัวไม่ขึ้น หาความแปลกประหลาดอัศจรรย์ภายในร่างกายและจิตใจนี้ไม่เจอเลยจนกระทั่งวันตาย และตายแบบลอยลมหาจุดหมายไม่เจอ ทั้งนี้เพราะไม่ใช่วิสัยของกัน ระหว่างวัตถุกับใจที่เป็นวิสัยของกันได้อย่างสนิทก็เฉพาะวัตถุกับร่างกาย ซึ่งเป็นวัตถุเหมือนกันเท่านั้น

ใจจึงแยกตัวออกจากวัตถุให้เหมาะกับวิสัยของตนที่ควรแก่นามธรรม สิ่งที่ควรต่อใจอย่างยิ่งเหมาะสมต่อใจอย่างยิ่ง คือธรรม เพราะเป็นนามธรรมด้วยกัน ไม่ใช่วัตถุ อีกประการหนึ่งใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งกว่าร่างกายเป็นไหนๆ จึงควรได้รับการอบรมด้วยธรรมให้มีหลักมีเกณฑ์ แม้จะเป็นฆราวาสก็ควรเข้าใจว่า ใจนี้เป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจเป็นหัวหน้างาน ใจได้รับการอบรมมากน้อยเพียงไรหรือไม่ ถ้าใจไม่ได้รับการอบรมบ้างเลย ก็จะพาความประพฤติทางกาย ทางวาจาอันเป็นเครื่องมือของใจ ให้เสียหายแหลกเหลวไปได้โดยไม่อาจสงสัย

ถ้าใจได้รับการอบรมด้วยศีลด้วยธรรมอันดีงาม ใจก็จะมีหลักมีเกณฑ์มีเหตุมีผลเป็นเครื่องประคับประคองตัวไปได้โดยราบรื่นดีงาม ตลอดความประพฤติหน้าที่การงานที่แสดงออกทางกายวาจา จะเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ และถูกต้องดีงามไปตามๆ กัน เนื่องจากใจได้รับการอบรม คือ นายเป็นผู้ฉลาด สามารถที่จะยังกาย วาจาอันเป็นเครื่องมือหรือเป็นบ่าวนั้น ให้พูดให้ทำในทางดีไม่เสียหาย นอกจากนั้นยังสร้างค่านิยมให้แก่ตนและสังคมไม่มีประมาณ

โลกหรือผู้ใดคณะใดก็ตามไม่มีศาสนา เรียกว่าเป็นโลกที่หมดหวัง ร่างกายแตกแล้วก็เท่านั้นเอง ใจที่เป็นของไม่ตายไม่ทราบจะพึ่งอะไร วัตถุทั้งหลายแม้มีเต็มโลกก็ไม่มีสิ่งใดที่จะติดสอยห้อยตามจิตใจไปได้เลย ต่างก็เป็นโมฆะไปด้วยกันทั้งสองอย่าง คือร่างกายก็เป็นโมฆะ วัตถุที่เคยเป็นคู่ควรของกันและกัน เมื่อตายแล้วก็หมดความหมายเป็นโมฆะไปเช่นเดียวกัน

ส่วนใจที่มีความสืบต่อภพต่อชาติตามกฎธรรมชาติยังบังคับอยู่ แต่ไม่รู้วิธีเสาะแสวงหาที่ยึดถือหรือที่พึ่งที่อาศัย ก็จะได้รับความทุกข์เดือดร้อนในภพชาติต่อไป เพราะคนเราเมื่อไม่ทำความดีก็ต้องทำความชั่ว เมื่อเห็นความดีเป็นของไม่จำเป็นแล้วก็ต้องเห็นความชั่วเป็นของจำเป็น และเสาะแสวงกระทำตามใจชอบ ร้อยทั้งร้อยที่ใจชอบต้องเป็นสิ่งที่ผิด การกระทำความผิดเราจะทราบว่าผิดหรือไม่ก็ตาม ผลต้องเป็นพิษด้วยกัน นี่คือคติธรรมดาไม่ลำเอียง เคยเป็นอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือไม่เชื่อของใคร และการลบล้างใด

ด้วยเหตุนี้เราทั้งหลายได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคู่ควรกับใจอย่างยิ่ง เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า และเป็นภาชนะอันดีงามกับพุทธศาสนาด้วยแล้ว จึงควรสนใจในการประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของตน ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรอย่าได้ลดละท้อถอย ให้มีความหนักแน่นในหน้าที่การงาน มีเหตุมีผลเป็นเครื่องบังคับการดำเนิน คือความเพียรของตน อย่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอความท้อแท้ถอยหลัง หากเป็นสิ่งที่ยังประโยชน์หรือความสิริมงคลให้โลกได้รับแล้ว โลกนี้จะไม่อับเฉา โลกนี้จะไม่มีความทุกข์เดือดร้อนวุ่นวายเหมือนดังที่เป็นอยู่นี้เลย จะเป็นโลกเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความสงบสุขและความเป็นสิริมงคลประดับตนด้วยกัน เพราะสิ่งดังกล่าวนี้มีอยู่กับทุกคน แต่สิ่งเหล่านี้หาความสงบสุขและความเป็นสิริมงคลไม่ได้ นอกจากเป็นเครื่องย่ำยีตีส่งเดชให้ได้รับความทุกข์ลำบากไปตามๆ กันเพราะหลงกลของมัน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องแก้กลมายาของกิเลสที่หลอกลวงสัตว์ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเอาจริงเอาจัง ตามเหตุตามผลที่หลักธรรมสอนไว้แล้วโดยถูกต้อง นั่นคือหลักใจฝากเป็นฝากตายของเรา เมื่อมีธรรมเป็นหลักใจแล้วก็เป็นหลักความประพฤติหลักการดำเนินทั้งหลาย เมื่อดำเนินตามนี้ผลที่พึงใจไม่ได้สร้างความเดือดร้อนสงสัยให้คน ผลนั้นจะพึงเป็นขึ้นมาเองโดยลำดับ

อย่าหมายอดีตอนาคตว่า เมื่อวานนี้ได้ทำมามาก หรือปีกลายนี้ได้ทำมามาก ปีซืนนี้ได้ทำมามาก ปีนี้จะทำมากอย่างปีกลายปีซืนเห็นจะแย่ นี่คือกลมายาของกิเลส นี่คือเรื่องหลอกตัวเอง ส่วนกิเลสมันไม่เคยมีอดีตอนาคตปัจจุบันที่ไหนเลย มันทำงานบนหัวใจสัตว์อยู่ตลอดเวลา อกาลิโก ไม่สนใจกับกาลเวลาสถานที่อะไรทั้งสิ้น ให้คิดย้ำเข้าที่ตรงนี้เพื่อทันกลมายาของกิเลส

กิเลสเคยอยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนเกิด ตั้งแต่วันเกิด อย่าว่าปีกลายปีซืนแห่งการทำความเพียรของเราเลย ยังไม่มีความรู้สึกสะดุดใจเลยว่า มันเคยฝังจมอยู่ภายในใจมานานแสนนานแล้ว ทำพิษภัยแก่เรามามากยิ่งกว่าปีกลายปีซืน ทำไมจึงไม่สนใจคิดเพื่อแก้สิ่งเหล่านี้ออก อุบายวิธีของปัญญาต้องใช้อย่างนั้น

กิเลสยอกย้อนไปตรงไหน สติปัญญาต้องยอกย้อนตามให้ทันกลมายาของมัน จึงชื่อว่าเป็นผู้สั่งสมความฉลาด คือ สติปัญญาอันเป็นธรรมชาติที่เกรียงไกร เป็นอาวุธที่ทันสมัยมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสมและทรงบำเพ็ญมาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีอดีตอนาคตตลอดสถานที่ว่าจะล้าสมัย

คำว่า สวากขาตธรรม มีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น เป็นธรรมที่เหมาะสมอยู่ตลอดกาลกับบุคคลผู้สนใจนำไปประพฤติปฏิบัติ เราอย่าหลงกลมายาของกิเลสคือสนิมกัดกินใจให้สึกหรอและเสียไป จงเร่งประพฤติปฏิบัติได้มากเท่าไร กิเลสขาดลอยไปมากเท่าไรยิ่งดี จิตใจยิ่งมีคุณค่าขึ้นมามากเท่านั้น จงทำให้สมน้ำสมเนื้อ สมกับธรรมที่ประกาศสอนไว้เป็นธรรมอัศจรรย์เหนือโลกสมมุติทั้งมวล พระองค์ได้มาด้วยความรอดตาย ไม่ใช่ได้มาแบบธรรมดาแบบกอนแล้วนิน แบบกินแล้วนอน ไม่เหมือนได้สมบัติต่างๆ ที่โลกเสาะแสวงกัน

จงเล็งเห็นพระทัยของพระพุทธเจ้าที่มีพระเมตตาสูงสุดแก่มวลสัตว์ ถึงกับต้องสละชีวิตของพระองค์เป็นเดิมพัน หากจะตายก็ทรงยอมเพื่อโลกสงสารได้รับความร่มเย็น พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิเพื่อความเป็นโพธิญาณ คือความเป็นศาสดาของโลกมาเป็นเวลานาน การปรารถนามานานกับการประพฤติการปฏิบัติพระองค์ตามหลักแห่งโพธิญาณ ก็ต้องนานเหมือนกัน จะมีความลำบากทรมานมากน้อยเพียงใดและนานเท่าใด ตั้งแต่เริ่มแรกแห่งความปรารถนามา จนถึงขั้นสมบูรณ์แห่งการเป็นศาสดาสอนโลก และทรงอุตส่าห์พยายามสั่งสอนโลกเรื่อยมาจนกระทั่งวันปรินิพพาน คิดคำนวณดูก็ทราบได้

เราควรนำมาเป็นคติเครื่องเตือนใจว่า ไม่ควรอยู่ด้วยความประมาทนอนใจ ควรขะมักเขม้นเข่นฆ่ากิเลสภายในใจแบบนักต่อสู้ตามทางศาสดา ให้สมกับพระองค์มีพระเมตตาล้นโลกต่อมวลสัตว์เรื่อยมา ไม่อึดอัดท้อถอยปล่อยทิ้งเสียกลางคัน พวกเราเพียงประกอบความเพียรนิดๆ หน่อยๆ ทำไมจะพลันล้นโลกล้นสงสาร เก่งกว่าครูแล้ว นั่นไม่สมควรแก่เราผู้เป็นลูกศิษย์ตถาคตเลย

ฉะนั้น กิจใดงานใดที่เป็นการบูชาตถาคตได้สมเพศสมภูมิ กิจนั้นงานนั้น คือ ธัมมานุธัมมปฏิปันโน การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ยิ่งแบบแหวกแนว ไม่หย่อนแบบกิเลสกดคอให้ทำตามใจชอบ เล็งเข็มทิศและปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว นั่นคือการบูชาตถาคตโดยตรง และเหมาะสมอย่างยิ่งของนักบวชเราผู้พร้อมในแนวรบแล้วเพื่อชัยชนะโดยถ่ายเดียว ไม่ถอยทัพกลับแพ้ข้าศึกคือกิเลสภายในใจ

กิเลสมีหลายประเภท มัชฌิมาปฏิปทาจึงต้องมีหลายประเภท ให้ทันกับเหตุการณ์ของกิเลสที่มีกลมายาร้อยเล่ห์ร้อยเหลี่ยมร้อยสันพันคม หากจะมีแต่อุบายอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นไม่ได้ไม่ทันกิเลส จึงต้องผลิตขึ้นมาให้มาก บรรดาอุบายของสติปัญญาอย่างไรจะทันกับกลมายาของกิเลสประเภทใด สติปัญญาต้องผลิตขึ้นมาคิดค้นขึ้นมาเรื่อยๆ ให้ทันกัน เขาสร้างบ้านแต่ละหลังขึ้นมา เครื่องมือของเขามีจำนวนมากเท่าไร เช่น พวกรับเหมาก่อสร้างต่างๆ เครื่องมือการก่อสร้างของเขาเป็นลำรถ มีกี่ประเภทนับไม่ถ้วน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาแต่ละหลังต้องทุ่มเทกำลังวังชา สติปัญญาตลอดเครื่องมือการก่อสร้างลงไม่น้อยเลย

การสร้างมรรคผลนิพพานขึ้นแก่ตัวเราให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นหลักแหล่งอันแน่นหนามั่นคง เป็นที่พึงพอใจ เครื่องมือของเราจะมีเพียงอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นไม่ได้ จำต้องมีเครื่องมือมากมาย เพราะสิ่งที่จะตัดรอนและคอยทำลายเรามีอยู่มาก คือกิเลสมีประเภทต่างๆ จึงต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับการแก้การปราบปรามกิเลสประเภทนั้นๆ ให้หมดสิ้นไปจากใจ

อ้าว จิตมันหยาบเพราะกิเลสพาให้หยาบ จิตดื้อเพราะกิเลสพาให้ดื้อด้าน เมื่อกิเลสประเภทดื้อด้านหาญสู้ต่ออรรถต่อธรรมมีมาก เราก็ต้องปราบกิเลสด้วยมัชฌิมาปฏิปทาประเภทปรมัง คือ ยิ่งยวด เอ้า ตายก็ตายไม่ยอมถอย สติปัญญามีเท่าไรขุดค้นขึ้นมาฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสไม่ยั้งมือ ชนิดใครดีใครอยู่ ใครสู้ไม่ได้ก็พังลงไป ที่สุดยกเอาจนกิเลสแตกกระจายไปหมดจากใจ นี่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาที่ทันเหตุการณ์ เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมประเภทหนึ่งสำหรับแก้กิเลสประเภทดื้อด้าน

เมื่อกิเลสประเภทนั้นสลายลงไปหรือดับลงไป เพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทาที่ทันสมัยนี้ กิเลสประเภทกลางแสดงออกมา มัชฌิมา คือ สติปัญญาขั้นเหมาะสมกันก็ผลิตขึ้นมาและแก้กันไปปราบกันไปโดยลำดับ จนถึงกิเลสขั้นละเอียดที่แทรกซึมอยู่ภายในใจถึงกับเจ้าตัวก็ไม่รู้ในขั้นแรก แม้เช่นนั้นก็ไม่ทนต่อสติปัญญาอันเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับกิเลสขั้นนี้ไปได้ คือสติปัญญาประเภทละเอียด ในครั้งพุทธกาลท่านเรียกว่า มหาสติ มหาปัญญา

นี่คือเครื่องมืออันละเอียดสุด สำหรับแก้กิเลสประเภทละเอียดสุดให้หมดสิ้นไปจากใจ เมื่อกิเลสหมดสิ้นไปจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว เครื่องมือแก้หรือปราบกิเลสเหล่านี้ก็หมดปัญญาหากันไปเองโดยหลักธรรมชาติ ดังนั้นพระอรหันต์ท่านจึงไม่นิยมว่าท่านเป็น มหาสติ มหาปัญญา หรือท่านโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อถึงขั้นพ้นจากแดนแห่งสมมุตินี้แล้วท่านไม่เสกสรรปั้นยอ หรือตำหนิติเตียนตนเองว่าดีเยี่ยมหรือเลวทรามต่ำช้าใดๆ กับผู้ใดหรือสัตว์ตัวใดเลย อยู่ตามสภาพแห่งความจริงอย่างคงเส้นคงวาเสมอไป จนอวสานสุดท้ายแห่งสมมุติ

สติปัญญาก็เป็นสมมุติ เป็นเครื่องมือ ฟังซิ เมื่อกิเลสยังมีอยู่ภายในจิตใจ สติปัญญาจำต้องมี เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้ว สติปัญญาประเภทแก้กิเลสก็หมดปัญหากันไปเอง เช่นเดียวกับการปลูกบ้านสร้างเรือนเสร็จสิ้นไปแล้ว เครื่องมือก็หมดปัญหาหน้าที่ไปเอง นี่ก็เป็นเช่นนั้น เวลาจะใช้ก็คิดขึ้นมาใช้ ใช้ตามหน้าที่การงานซึ่งไม่เกี่ยวกับกิเลสประเภทใดเลย

เพราะฉะนั้นศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี จึงเป็นธรรมสมมุติตามกิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นสมมุติด้วยกัน เมื่อกิเลสพังทลายลงหมดแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ก็หมดปัญหาไปตามๆ กัน เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจ แม้จะนำมาใช้ก็จะใช้ตามหน้าที่การงาน ในความจำเป็นต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน จะว่าสมมุติทั้งปวงทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ได้ นอกจากจิตที่พ้นสมมุตินอกสมมุติไปแล้วเท่านั้น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จึงตามไม่ถึงเข้าไม่ถึง แม้เช่นนั้นจิตที่บริสุทธิ์แล้วก็ยังตั้งชื่อให้เป็นสมมุติได้อยู่ เช่น วิสุทธิจิต หรือจิตบริสุทธิ์เป็นต้น เพื่อให้คล้องกันกับโลกที่ยังมีสมมุติอยู่

ด้วยเหตุนี้จิตของพระอรหันต์จึงไม่มีเวทนาใดๆ เข้าไปเจือปน เข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย เพราะจิตนั้นพ้นแล้วจากแดนสมมุติ เวทนาจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ ประเภทใดก็เป็นสมมุติ เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น จะเข้าไปเกี่ยวข้องจิตที่วิมุตติหลุดพ้นแล้วได้อย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์นี้เช่นเดียวกัน มีเกิด มีดับ ถ้าจะเรียกว่าสมมุติ แต่สมมุติฝ่ายดีฝ่ายชั่ว สมมุติฝ่ายแก้ฝ่ายผูกมัด มีสองประเภท

เมื่อได้ทำงานกันเต็มเม็ดเต็มหน่วยจนได้ผลเป็นที่พึงพอใจแล้ว สนามรบระหว่างกิเลสกับสติปัญญาก็สิ้นสุดลง ผลคือสันติสุข ที่เรียกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบอย่างเต็มภูมิไม่มี ก็หมายถึงความสงบอย่างราบคาบของจิตที่พ้นแล้วจากกิเลสเครื่องก่อกวนประเภทต่างๆ ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในใจเลยนั่นเอง

นี่จิตเป็นสันติธรรมโดยธรรมชาติของตัวเองเป็นอย่างนี้ เมื่อถึงขั้นพึ่งตัวเองโดยสมบูรณ์แล้วก็หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง นี่อำนาจของศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนไว้กับใจสัตว์โลก ซึ่งเป็นคู่ควรและเหมาะสมกับธรรม เมื่อนำมาปฏิบัตินำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ย่อมทำจิตใจให้มีความรื่นเริงบันเทิง มีความสงบสุข มีความอบอุ่นภายในตนเองโดยลำดับของภูมิจิตภูมิธรรมภายในใจ ไม่ว่าจะภพนี้ชาตินี้หรือภพใดชาติใดก็ต้องอาศัยวิบากกรรม คือบุญกุศลที่ตนสร้างไว้นี้เป็นที่ยึดที่อาศัย เป็นคู่เคียงของใจเสมอไป จนกว่าจะถึงวิมุตติหลุดพ้นแล้วก็กลายเป็น ปุญฺญปาป ปหิน บุคคล คือ ผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว นั้นชื่อว่าเป็นผู้หมดปัญหาไม่มีสิ่งใดเข้าไปเกี่ยวข้องอีกเลย

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก