อะไรจะจริงยิ่งกว่าธรรม
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 30.24 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๒

อะไรจะจริงยิ่งกว่าธรรม

 

ผู้ปฏิบัติทำไมจึงต้องไปแบกพระไตรปิฎกที่ท่านแสดงไว้พอประมาณเท่านั้นอย่างเดียว นานมา ๆ ผู้จดจารึกเป็นคนชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับคนอีก ถ้าเป็นคนมีกิเลสจดจารึกมา ธรรมะก็ไม่พ้นที่จะแฝงกับคนมีกิเลสไปได้ ถ้าผู้จดจารึกเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นพระอรหันต์ ธรรมะนั้นก็จะเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามภูมิแห่งพระอรหันต์องค์นั้น ที่มีลึกตื้นในส่วนธรรมะที่จะนำออกมาสู่โลก แต่ความบริสุทธิ์เรายกให้ท่าน การจะแตกฉานแค่ไหนนั้นเป็นไปตามอุปนิสัย แต่ยังไงก็ได้ธรรมะเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกมา ไม่เหมือนคนมีกิเลสซึ่งไปลากเอาตั้งแต่กิเลสเจ้าของออกมาสาดกระจายไว้หมด ธรรมะเลยอยู่เบื้องหลัง มองหาธรรมะเลยไม่เจอ ถ้าคนมีกิเลสจดจารึกจะเป็นอย่างนั้นไม่อาจสงสัย สำคัญอยู่ที่ใจนี่นะ

อย่างเรื่องของท่านอาจารย์มั่นนี่ลองดูซี ผมยอมรับว่าสุดวิสัย ก็ตะเกียกตะกายไปอย่างนั้นเอง ถ้าเป็นธรรมะส่วนละเอียด ๆ จะเป็นไปได้แต่งไปได้เขียนไปได้ยังไง ลองดูซี ธรรมะภายในจิตใจเป็นของละเอียดลออสุขุมมาก แม้จะเป็นธรรมะอันเดียวกันก็ตามกับในพระไตรปิฎก เราไม่ได้ประมาทพระไตรปิฎก แต่ละเอียดสุขุมยิ่งเข้าไปกว่านั้นอีก เพราะพระไตรปิฎกนี้ขึ้นอยู่กับผู้จดจารึก ยังได้เอามาถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้

คนมีกิเลสไปอ่านพระไตรปิฎก ไปเรียนพระไตรปิฎก เช่น อภิธรรมนี้ ถกเถียงกันยุ่งไปหมดเห็นไหมนั่น เพราะคนมีกิเลส ธรรมเป็นของจริงแค่ไหน หัวใจไม่ได้จริง ใจปลอม มันก็ถกเถียงกันเพราะความปลอมไม่ใช่เพราะความจริง ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วมองดูที่ไหนก็รู้หมด เหมือนช้างตัวหนึ่งนั่นละ อันไหนเป็นหางช้าง อันไหนเป็นงวงช้าง อะไรเป็นงา อะไรเป็นหู อะไรเป็นสีข้างมันก็รู้หมดคนตาดี ๆ คนตาบอดไปคลำ คลำตรงไหนก็ว่าช้างเหมือนนั้นเหมือนนี้ไป ก็อย่างนั้นแหละ

ใครเรียนที่ตรงไหนก็ไปยึดกรรมสิทธิ์ อวดอำนาจความรู้ความฉลาดของตนขึ้นจากความจำนั้น แฝงความจำไปอีก เป็นปลอม ๆ ไปอีก เอามาโต้กันเสียเป็นบ้าน้ำลายโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าหากปฏิบัติให้รู้ตามความจริงของธรรมที่ท่านสอนไว้ การประพฤติธรรมทั้งหมดอยู่ที่ไหน จิต เจตสิก รูป นิพพานนอกเหนือไปจากจิตนี้กับกายนี้ได้ยังไง เจตสิกก็ให้คิด แน่ะ จิตก็อะไรรู้ ๆ อยู่ทุกวันนี้ รูปก็รูปอะไร รูปธรรม นามธรรม ก็เท่านั้น ก็จะไปถามใคร ไปโต้เถียงกันให้เสียเวล่ำเวลาทำไมถ้าไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง

ท่านให้ปฏิบัติซีให้รู้ซี ใครรู้มากน้อยเท่าไรอาจหาญ ทำไมจะไม่อาจหาญ สัมผัสด้วยใจรู้ด้วยใจ เพราะปฏิบัติด้วยใจนี่ ใจเป็นผู้ปฏิบัติ ใจเป็นผู้ค้นคว้าในธรรมทั้งหลายในกิเลสทั้งหลาย ต้องรู้ทั้งกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด รู้ทั้งธรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างละเอียดสุดสิ้นพ้นความละเอียดไปจนถึงความบริสุทธิ์ จะไม่รู้ที่ใจอะไรจะเป็นผู้รู้ อยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดให้เสียเวล่ำเวลา เราพูดด้วยความแน่ใจอย่างนี้เอง

เราไม่ได้ประมาทปริยัติธรรม เราไม่ประมาท เราถือ เรากราบ เราไหว้สนิทใจเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า พระธรรมที่ไม่ใช่ในตำรานั้น และพระสงฆ์สาวกอรหัตอรหันต์ท่าน เรากราบสนิทใจด้วยกัน เราไม่ได้ประมาทธรรมทั้งหลาย ขอให้รู้ที่ใจมันยิ่งสนิทลงไปอีก กราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กราบสนิทยิ่งกว่าอะไรอีก ขอให้จิตสนิทตัวเถอะ ทำอะไร ๆ สนิททั้งนั้น ถ้าจิตไม่สนิทแล้วทำอะไรมันก็ดีด ๆ ดิ้น ๆ มันไม่จริงไม่จัง ถ้าจิตเข้าถึงความจริงเสียแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ดีดไม่ดิ้น จริงจังไปด้วยกันทั้งหมด

อะไรจะจริงยิ่งกว่าธรรม ใจเป็นผู้ทรงธรรม ธรรมกับใจอยู่ด้วยกัน การแสดงออกจะมีลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีดีด ๆ ดิ้น ๆ หลอก ๆ ลวง ๆ ได้ยังไง มันต้องเป็นจริงออกมาทุกอย่าง ๆ พูดออกมาก็อาจหาญถ้าได้รู้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นสมาธิ และไม่ว่าสมาธิขั้นใดผู้รู้ต้องอาจหาญ เพราะรู้ด้วยตัวเองนี่พูดออกมาด้วยความรู้ความเห็นของตัวเอง ถอดออกมาจากหัวใจนี้จะสะทกสะท้านไปไหน ความจริงเป็นอย่างนี้ ๆ ใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่สนใจ นั่นถึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ได้เห็นประจักษ์ด้วยตัวเองแล้วจะว่าไง

ปัญญาความคิดค้นคว้าหาเหตุหาผล หากิเลสประเภทต่าง ๆ มันติดมันเกี่ยวข้องผูกพันกับสิ่งใดอารมณ์ใด เอานำมาคลี่คลายขยายออกให้เห็นทั้งเหตุทั้งผลของมันอย่างชัดเจนด้วยปัญญาแล้วมันก็ปล่อยของมันเอง ไม่บังคับมันก็ปล่อยเมื่อรู้ชัด ๆ แล้ว เหมือนกับคนจับงูนั่น มือควานลงไปในสุ่ม เข้าใจว่าปลา จับขึ้นมาเข้าใจว่าปลาไหลละซี ลากคองูขึ้นมา พอรู้ว่างูเท่านั้นไม่ต้องบอก มันสลัดปั๊วะเดียวเลย เห็นโทษขนาดไหน เรื่องความเห็นโทษของกิเลสก็ต้องอย่างนั้น เห็นด้วยปัญญาเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เห็นแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยความจดความจำ คาดวาดภาพเอาหลอกตัวเองอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง คือไม่เห็นความจริงมันก็วาด เมื่อเห็นความจริงแล้วภาพไหนที่เคยวาดมามันล้มละลายไปหมด ภาพที่เคยหลอกลวง

ให้พากันปฏิบัติ อย่าสนใจกับสิ่งอื่นใดว่าจะเป็นของเลิศของประเสริฐ ยิ่งไปกว่าจิตกับธรรมเข้าสัมผัสสัมพันธ์กัน และยิ่งกว่าจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน นี่คือความประเสริฐเลิศโลกไม่มีสิ่งใดเสมอเลย อยู่ไหนก็อยู่เถอะขอให้จิตกับธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ไม่มีละเรื่องอดีตอนาคต ไม่วิตกวิจารณ์ให้เป็นความหนักใจเบาใจกับสิ่งใด ซึ่งเป็นเครื่องเขย่าจิตใจให้ผิดจากความปกติ อันสมบูรณ์อยู่ดั้งเดิมของตนที่บริสุทธิ์แล้วนั้น มีความสม่ำเสมอตัวอยู่อย่างนั้น

ตายจะไปเกิดที่ไหนมันก็รู้อยู่ชัด ๆ อยู่กับใจนั้นแล้ว จะไปเกิดที่ไหนไม่เกิดที่ไหนมันก็รู้อยู่แล้ว ถึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เห็นประจักษ์ ความเห็นประจักษ์ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลาน ตั้งแต่สมาธิถึงขั้นปัญญาโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถอดถอนเสียไม่ว่ากิเลสประเภทใด ที่เป็นเครื่องฝังจมเหมือนกับลูกศรทิ่มแทงหัวใจอยู่นี้ ออกหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว อะไรจะมาเป็นภัย กิเลสของเรานั่นแหละเป็นภัยต่อเรา เราอย่าไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันเป็นภัย นั่นเป็นขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นหยาบ ๆ

ผู้ปฏิบัติจะต้อง โอปนยิโก ต้องปฏิบัติย้อนเข้ามา ๆ จนถึงจิต แล้วภัยอะไร ๆ ที่เกิดจากจิต เห็นโทษกันในจิต ความคิดความปรุงความสำคัญมั่นหมายใด ๆ ที่จิตไปเกี่ยวข้อง จิตปรุงแต่ง ไปสำคัญมั่นหมายกับสิ่งใด ๆ นั้นเป็นไปจากจิต อาการของจิตที่แสดงออกโดยที่เจ้าตัวไม่ทราบทางด้านสติปัญญา เพราะสติปัญญายังไม่สมบูรณ์ก็หลงสิ่งนั้น ๆ เมื่อสติปัญญาซึ่งได้รับการอบรมอยู่เสมอ มีความแกล้วกล้าสามารถไปโดยลำดับแล้ว แม้แต่ขณะจิตที่แสดงออกปรุงถึงรูปนั้น เสียงนี้ กลิ่นนั้นอะไรอย่างนี้ มันรู้ทันที ๆ ไม่มีอะไรเป็นภัยนะ มันมีตั้งแต่เรื่องขันธ์ ๕ นี่เป็นภัยต่อจิตใจอยู่เท่านี้

รูปเขาก็เป็นรูปมีมาแต่ดั้งเดิมตั้งแต่เรายังไม่เกิด เสียงก็มีมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด ผลัดเปลี่ยนวนเวียนกันไปมาอยู่เช่นนี้ กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็เหมือนกัน มันอยู่ตามสภาพของมัน เราจะว่ามันมีไม่มี ว่ามันดีไม่ดีมันก็ไม่มีความรู้สึกมีความหมายในตัวเองของมัน นอกจากจิตเจ้าตัวจอมโง่และจอมมายาสาไถยหลอกลวงตัวเองให้ไปติดกับมัน โดยสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ อันนั้นดีอันนี้ดี ไม่มีอย่างอื่นที่มาหลอก

นี่ปัญญาเมื่อเวลาพิจารณาแล้วตะล่อมเข้ามา มันรู้ตัว ทีนี้จิตจะไปคิดให้เสียเวล่ำเวลาอะไร รูปก็รูปแล้วนั่น จะคิดให้มันเป็นอะไร ปรุงขึ้นมาทำไม เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่น รสก็รส มันมีอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน เวลานอนหลับสนิทไม่เห็นไปคิด ไม่มีฝันแล้วไม่เห็นสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้อง เหมือนกับมันไม่มี มันไปอยู่ไหน เวลาจิตดับกิเลสอย่างสนิทแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเข้าไปเกี่ยวข้อง ใจเป็นยังไงเวลานี้มันถึงเกี่ยวข้องนัก ก็เพราะว่ามันมีสายโยงกันยุ่งอยู่ภายใน เราตัดมันยังไม่ขาด ปัญญาจึงย้อนเข้ามาพิจารณาให้เห็นตามความจริงของมัน

อย่าลดละความเพียร อย่าเห็นอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่างาน คือ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี้คืองานเลิศงานประเสริฐ งานรื้อวัฏสงสารออกจากจิตใจ คืองานอันนี้แล พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญด้วยงานอันนี้มาตลอด จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลก พระสาวกก็เหมือนกัน ไม่มีงานอะไรที่จะทำให้ท่านวิเศษวิโสได้ยิ่งกว่างานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา พินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาเกี่ยวข้องกับกิเลสประเภทใด ๆ จนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วถอดถอนได้โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงเพราะงานประเภทนี้ นี่จึงว่าเป็นงานประเสริฐและยังผลประเสริฐให้เกิดขึ้นภายในตน แล้วหมดกังวล

โลกจะมีกี่โลกก็ช่างมันเถอะไม่ต้องไปนับให้เสียเวลา มันมีกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านจักรวาลก็ช่างมันเถอะ มันเป็นเรื่องของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ๆ สำคัญที่จิตที่มันกวนตัวเองนี้เท่านั้นละ ก่อภัยก็คือเรื่องก่อกวนตัวเองที่ออกจากขันธ์ ขันธ์นี่มันมีเชื้ออันใหญ่โตเป็นเครื่องหนุนหลังอยู่นี่ คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จะว่าไง จะไปหาที่ไหนหาอวิชชา มันฝังจมอยู่ภายในใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องเบิกออก ๆ ถากถางเข้าไป มันเกี่ยวโยงไปถึงไหนตามพิจารณามัน เกี่ยวกับรูป รูปไหนค้นลงไปให้เห็นตามความจริงของรูป แล้วมันก็มารู้เรื่องความสำคัญมั่นหมายของตัวเองโดยลำดับ ๆ หลายครั้งหลายหนมันเข้าใจเอง แล้วปล่อยเข้ามา ๆ เป็นวงแคบ

ทีแรกก็กว้างขวางปัญญานี่ เพราะมันยังไม่เข้าใจในสิ่งใด อยากรู้อยากเข้าใจอยากเห็นอยากถอดอยากถอน มันก็ต้องเป็นเต็มเหนี่ยวของมัน จนกระทั่งเข้าใจแล้วมันจะเหาะเหินเดินฟ้าไปไหนสติปัญญามันก็ย้อนตัวเข้ามาหาที่ติดที่ข้อง ตามสายเข้ามานั่นซิ สายหลงมันออกไปนู่น ออกไปจากจิตนี้แล้วก็ไปโน้น ๆ ระโยงระยางเป็นภาพนั้นภาพนี้หลอกเจ้าของอยู่โน้น เช่น ภาพบ้านภาพเมือง ภาพหญิงภาพชาย ภาพเรื่องนั้นเรื่องนี้ ระโยงระยางรอบตัว

มีตั้งแต่ภาพออกไปจากขันธ์ออกไปหลอก พิจารณาสิ่งนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร แล้วตัวที่ไปวาดภาพนี้มันก็ดับไป ถ้าเราทันมันแล้วมันก็ดับ เพียงแย็บเท่านั้นยังไม่เป็นภาพมันก็ดับแล้ว ถ้าไม่ทันละ โห มันก่อแขนงออกไปยาวเหยียดจนหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ แล้วหลงมันจนจะตายก็ไม่มีวันเห็นโทษ หาที่ยุติไม่ได้ ถ้าปล่อยไปตามกิเลสแล้วเป็นอย่างนั้น ปล่อยให้ปัญญาพิจารณาตามนั้น ตามได้รู้ได้ เมื่อรู้ได้ก็ตัดได้ขาดเข้ามาเป็นลำดับ ๆ ผลสุดท้ายก็มีแต่เรื่องออกไปจากขันธ์ ขันธ์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องผลักดันออกมา นั่นปัญญา นี่ละงานประเสริฐ ให้จริงให้จังกับงานนี้ อย่าลดละปล่อยวาง

อย่าเห็นว่าอะไรจะเลิศยิ่งกว่างานนี้ อย่าเห็นสมบัติใดว่าจะเลิศยิ่งกว่าสมบัติคือธรรมสมบัติภายในใจ ซึ่งเราค้นคว้าหามาได้เอง เป็นสมบัติของเราโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นจะตายเป็นตัวของตัวโดยสมบูรณ์ อย่าไปหลงโลกหลงสงสาร โลกนอกโลกในมันเป็นโลกด้วยกัน ก่อความทุกข์ได้ด้วยกันทั้งนั้น ให้รู้เท่าโลกด้วยการพิจารณาทางสติปัญญาให้รอบคอบขอบชิด ย่อมจะรู้ทั้งโลกนอก รู้ทั้งโลกใน เมื่อรู้เสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจิตใจจะวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปไหน

เท่าที่มันวิ่งเต้นเผ่นกระโดดก็เพราะไม่รู้ มีสิ่งผลักดันให้มันต้องวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปไม่มีวันมีคืนยืนเดินนั่งนอน มีแต่ความคิดความปรุงความยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าใจด้วยสติปัญญาแล้วจะไปไหน ย่อมเข้าสู่ความปกติของตนโดยสบายเท่านั้นเอง ผลก็คือสันติธรรม เป็นขั้น ๆ ความสงบก็เรียกว่าสันติ สงบด้วยสมาธิก็เป็นสันติ สงบเพราะกิเลสมันขาดไปโดยลำดับ ๆ ก็เป็นสันติ กิเลสขาดไปเสียไม่มีอะไรเหลือเลย นั่น นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ไม่มีความสงบอื่นใดที่จะยิ่งไปกว่าความสงบเพราะการสิ้นกิเลสนี้ เราเพิ่มเข้าไปอย่างนี้ก็ได้ เอาให้จริงให้จัง

ผู้มาศึกษาอบรมอย่ามานอนใจ อย่ามาประมาท ไม่ว่ากิจนอกการในให้ตั้งหน้าตั้งตาทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำด้วยความจงใจจริง ๆ อย่าสักแต่ว่ามาอยู่เฉย ๆ สถานที่นี้ไม่ใช่มาล้างมือเปิบ ต่างคนต่างมาเสาะแสวงหาคุณงามความดี อันใดที่เป็นสารประโยชน์จากการปฏิบัติของเราแล้วให้ทำ ไม่ว่าจะกิจภายนอกเกี่ยวกับหมู่เพื่อนก็รับปฏิบัติ ให้ทำจริง ๆ จัง ๆ อย่าทำเล่น ถ้าทำเล่นทำไม่จริงไม่จังแล้ว เข้าไปภายในก็เหมือนกัน เพราะใจดวงนี้ ต้องจริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าเป็นความชอบธรรมกับข้อปฏิบัติแล้ว เอา เอาให้จริงจัง นั่นผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น

ให้ได้ชมซีคำว่ามรรคผลนิพพาน ทำไมได้ยินแต่ท่านประกาศลั่นโลกว่าได้ ๒,๕๐๐ ปีกว่าแล้ว ได้ยินแต่ชื่อแต่เสียง ตัวของมรรคผลนิพพาน เราไม่เคยสัมผัสทางจิตใจเลยมีอย่างเหรอ ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นลูกศิษย์ตถาคต ปรากฏตัวเป็นศากยบุตรมานี้เป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ละองค์ ๆ บวชมากี่ปี่กี่เดือน กิเลสหลุดลอยไปมากน้อยเพียงไร ได้ลบได้บวกกันบ้างแล้วยัง หรือมีตั้งแต่ว่าจะดิบจะดีอยู่เรื่อย ดีด้วยนั้นดีด้วยนี้ ดีด้วยการตกนรกอเวจี ดีด้วยความรักความชัง ดีด้วยความโลภความโกรธ ความหลง ดีด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ถ้าดีโลกดีไปหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของดี จึงไม่ควรจะสนใจคิดให้เสียเวล่ำเวลายิ่งกว่าการค้นคว้าให้มันรู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ แล้วจะได้ถอดถอนเสี้ยนหนามหรือความกังวลภายในจิตใจของตนให้หมดสิ้นไป จะเป็นความสะดวกสบาย

ผมเสียใจเพราะเรื่องนามธรรมที่เป็นขึ้นรู้เห็นกับใจนี่ ไม่สามารถที่จะมาถอดออกให้ดูได้ว่านี่น่ะ ๆ เป็นยังไง อยากพูดอย่างนั้นนะ เพราะเราพูดในวงของเราเองเหมือนเลือดเนื้ออันเดียวกัน ผมรักจริง ๆ รักหมู่เพื่อนรักอย่างสนิทเป็นธรรม ไม่มีเอนมีเอียงไปไหนเลย รักอันนี้รักไม่เหมือนโลก ถ้าพูดถึงเรื่องความรักหมู่เพื่อน ความสงสารหมู่เพื่อนมันก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องอุตส่าห์พยายามจดจ่อ ทั้งตาทั้งหูฟังทุกสิ่งทุกอย่าง หมู่เพื่อนแสดงอากัปกิริยาประการใด

เพราะเราเป็นอาจารย์ก็เหมือนครูมวยละซิจะว่ายังไง บกพร่องตรงไหนก็เตือน ๆ เวลาฝึกซ้อมกันกับลูกศิษย์ ครูเขาต้องเตือนอย่างนั้นนะ อย่าปล่อยตรงนั้น อย่าเปิดตรงนั้น ซ้อมกันไป ๆ อย่าเปิดตรงนั้น นี่บอกเรื่อยนะ พอครั้งที่ ๓ ก็ปั๊บ คือมันเปิดตรงที่ควรเตะเขาก็เตะปั๊บเลย อย่าเปิดตรงนี้ แล้วต่อยไป อย่าเปิดตรงนั้น ๆ พอครั้งที่ ๓ ก็ปั๊วะ อย่าเปิดตรงนั้น ลูกศิษย์ก็เข้าใจ เพราะครูต่อยไม่เหมือนคู่ต่อสู้ต่อย ไม่ตาย เพราะต่อยเพื่อสอนนี่ เจ็บก็เจ็บพอให้จดจำเท่านั้นเอง ไม่ได้เจ็บมากยิ่งกว่านั้น เพราะการฝึกซ้อมไม่ได้เหมือนการเอาจริงจังกันบนเวทีเหมือนเขาต่อสู้กัน ถึงจะหนักมือขนาดไหนก็ไม่ถึงเวลาต่อสู้กันจริง ๆ อันนี้ตักเตือนที่ตรงไหน ดุที่ตรงใด อย่าที่ตรงไหน ว่าที่ตรงไหน นั้นละคือเปิดตรงนั้นพูดง่าย ๆ

เราจึงสงวนมากกับพระกับเณรของเรา ใครมาตั้งใจประพฤติปฏิบัติเรายินดี สมเจตนาของเราที่มีความฝักใฝ่ต่อหมู่ต่อเพื่อนอย่างเต็มหัวใจ เราไม่ได้ถืออะไรภายนอกเป็นสำคัญยิ่งกว่าพระเณรของเรานะ เราเห็นพระเณรของเรานี้เป็นผู้มุ่งหน้ามุ่งตามาแล้ว เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง มอบกายวาจาใจเพื่อมุ่งแก่พระศาสนาแก่ครูบาอาจารย์แล้ว เรารับด้วยความเป็นธรรม อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ ว่ามาเราก็ โอปายิกํ ปฏิรูปํ เรื่อยไปรับกันเป็นธรรม ๆ เพราะฉะนั้นการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนจึงสั่งสอนด้วยธรรม ไม่ได้สั่งสอนสักแต่ว่าสอน สอนหมู่เพื่อน เพราะฉะนั้นผู้ที่มาฟังสักแต่ว่าฟังเฉย ๆ จึงเข้ากับเรื่องผู้สอนด้วยความเต็มใจสอนอย่างแท้จริงไม่ได้ มันไม่เป็นธรรม ให้หมู่เพื่อนฟังให้ดี

หากว่าเป็นสิ่งที่ถอดออกมาให้ดูได้ หมู่เพื่อนจะได้เห็นไปนานแล้ว เรื่องธรรมทั้งหลายที่แสดงออกมานี้ออกมาจากความจริง เราพูดอย่างตรงไปตรงมาถ้าในวงของเราเอง เราไม่มีความสงสัยสิ่งใดแล้วในโลกนี้ เราได้ปฏิบัติมาเต็มภูมิกำลังความสามารถของเรา ทั้งการประพฤติปฏิบัติ ทั้งความรู้ความเห็น เราแน่ใจว่าเราไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ความรู้ของเราหมดวาสนาเพียงเท่านี้

การปฏิบัติก็ยิ่งร่วงโรยลงไป ๆ เพราะกำลังวังชามันอ่อนลงไป ๆ ทำสักแต่กิริยาไปอย่างงั้นแหละ เดินจงกรมก็เดินไปอย่างงั้นแหละ นั่งภาวนาก็นั่งไปอย่างงั้นแหละ ถ้าจะดูกิริยานี้มันก็ดูไม่ได้ เราเองเรายังดูเรายังไม่ได้ แต่เราก็ทราบเรื่องสภาพของร่างกายและจิตใจเป็นยังไงจึงต้องทำอย่างนี้เวลานี้ นี่เราก็ทราบของเราได้ดี จึงไม่ตำหนิ เพราะทราบแล้วตำหนิได้ยังไง ตำหนิให้ดีกว่านี้ก็ไม่ดี

ผู้ที่กำลังวังชามีที่ควรที่จะให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในความพากความเพียร จึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ อย่าสงสัยอะไรในโลกนี้ว่าจะวิเศษวิโสยิ่งกว่าธรรมภายในใจ งานใดก็ตามในโลกนี้ อย่าเข้าใจว่าวิเศษวิโสยิ่งกว่างานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะ ในขณะเดียวกันเพื่อธรรมจะได้โผล่ขึ้นมาให้ได้ชมภายในใจ ที่เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก หรือ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ

อย่าให้ได้ยินตั้งแต่ข่าวว่าพระสงฆ์สาวกองค์นั้นบรรลุอยู่ในเขาลูกนั้น อยู่ในป่านั้น อยู่ในทางจงกรมนั้น บรรลุอยู่ด้วยสมาธิ บรรลุอยู่ด้วยการเดินจงกรม บรรลุอยู่ในถ้ำ ในเงื้อมผาที่นั่นที่นี่ ตัวของตัวไม่ได้บรรลุอะไร บรรลุตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง บรรลุตั้งแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน จนขี้เกียจจะบรรลุ จนหาที่จะบรรจุความบรรลุไม่มี มันเต็มไปหมดในหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และสาวกทั้งหลายท่านรู้ท่านเห็น มันกลับตรงกันข้ามกันไปหมด เพราะฉะนั้นอย่าลืมตัวในสิ่งเหล่านี้ ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เอาให้จริงให้จัง

มรรคผลนิพพานอย่าไปคิดให้นอกเหนือไปจากกายกับจิตซึ่งมีอยู่นี้ ค้นลงไปนี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องรับรอง เป็นหินลับสติปัญญาได้ดี สัจธรรมทั้ง ๔ ก็เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งมรรค นี่คือสติปัญญาเป็นต้น เอาทุกข์นั้นแหละเป็นเครื่องลับ มันจะเกิดมากเกิดน้อยพิจารณาให้เห็นความจริง อย่าไปสนใจกับเรื่องมันจะหาย มันจะล้มจะตาย อย่าไปสนใจ มีแต่ธาตุ ๔ เท่านั้นแหละมันแตกลงไปก็ตามเรื่องของมัน แต่ความรู้จริงเห็นจริงอย่าได้ลดละ ให้ค้นลงไปพิจารณาให้เข้าใจ

สมาธิก็ให้ได้รู้กับใจของเจ้าของเอง เราเป็นเจ้าของสมบัติคือสมาธิเสียเอง เป็นเจ้าของของสมบัติคือปัญญาเสียเอง แล้วเป็นเจ้าของมรรคผลนิพพานเสียเองด้วยการปฏิบัติ ด้วยตัวของเราเอง นี่เป็นสิ่งที่สนิทใจมาก อย่าให้มีตั้งแต่ชื่อ ชื่อพระชื่อเณรเฉย ๆ ชื่อผู้ปฏิบัติเฉย ๆ ให้มีทั้งชื่อทั้งตัว การประกอบความพากเพียรก็ให้มีทั้งตัวจริง รู้เหตุรู้ผลกันไปโดยลำดับด้วยการปฏิบัติของเรา

อย่าไปคาดว่ามรรคผลนิพพานอยู่ใกล้อยู่ไกลขนาดไหน กำลังวังชาของเราจะสู้ได้ไหม อำนาจวาสนาของเรามีมากมีน้อย มีมากหรือมีน้อยกำลังมีเท่าไรก็ฟาดลงไป ตายแล้วก็รู้เองว่าตาย หุงต้มแกงกินไม่ได้ เอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้มันรู้ซิ ผมละวิตกวิจารณ์กับหมู่เพื่อนหลายแง่หลายทาง จนไม่ชนะที่จะนำมาพูดได้และไม่อาจจะนำมาพูดได้ทุกแง่ทุกมุม อยู่วันหนึ่ง ๆ ไม่คิดเกี่ยวแก่หมู่คณะได้เหรอมันต้องคิด ยิ่งเป็นคนวัยนี้ด้วยแล้วก็ต้องคิดมาก นอกจากพูดบ้างไม่พูดบ้างเท่านั้น

เป็นห่วงที่สุดก็คือการประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้เห็นเหตุเห็นผลอะไรเลยนี้มันก็เสียความมุ่งหมายของผู้อบรมสั่งสอนด้วยความเต็มใจจริง ๆ ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะอยากให้ผู้มาปฏิบัติผู้มาอบรมศึกษาทั้งหลาย ได้รับผลจากการปฏิบัติของตนเป็นเครื่องตอบแทน เราจะเป็นที่ยินดีด้วยไม่น้อย

พูดท้ายเทศน์

เอ้า ตาย มันจะหนักขนาดไหนวะ มันเลยตายไปเหรอ บังคับลงที่ตรงนั้น สติก็ตั้งจ่อที่ตรงนั้น เอ้า มันจะปรุงเรื่องใดขึ้นมา ความปรุงนี้มันปรุงมาตั้งแต่ขณะตื่นนอนจนกระทั่งบัดนี้มันไม่เคยหยุด แล้วตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งป่านนี้มันไม่หยุด มันเสียดายอะไรวะ เราจะให้ปรุงอรรถปรุงธรรม หรือเราบังคับก็เพื่ออรรถเพื่อธรรมทำไมจึงทำไม่ได้ มันจะตายด้วยการบังคับเพื่อธรรมนี้ก็ให้ตายไปซี ว่าอย่างงั้นซี

วิธีการปฏิบัติตัวเอง ต้องมีอุบายสติปัญญาแก้ไขตัวเองให้ทันกับเหตุกับผล จึงเรียกว่าฝึกทรมานตน อะไรก็จะคอยตั้งแต่ครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้ ๆ หลุดไม้หลุดมือไปหมด มันไม่ได้เรื่องถ้าเจ้าของไม่สนใจต่อเจ้าของเองเพื่อให้ได้เงื่อนขึ้นมาติดต่อต่อแขนงกันออกไป ๆ มันก็ไม่ได้เรื่องแหละ ต้องหาอุบายแก้เจ้าของ ปัญญานอนเฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์ แล้วเวลาจนตรอกนั่นอันหนึ่ง มันชอบคิดบังคับให้พิจารณา ใช้ความบังคับด้วยสติ

ถ้าคิดพอได้เงื่อนได้เหตุได้ผลบ้างแล้ว ทีนี้ก็ค่อยก้าวเดินออกของสติปัญญาเรื่อย ๆ แล้วเจอนั้นเดี๋ยวเจอนี้ เจอตรงไหนก็ฟาดลงตรงนั้นซี เจอคือหมายความว่าเจอข้าศึกแล้ว เอ้า รบกันตรงนี้ หรือว่าเจองานแล้วทำงานกันตรงนี้ก็ถูก เอาจนเข้าใจ พอเข้าใจแล้วตกหายพับ ค้นคุ้ยเขี่ยหาอีก เอาจนได้เหตุได้ผล เป็นกับตายสละไว้กับความเพียรนี่ อย่าไปสละที่อื่นมันไม่มีสาระ ไม่เป็นสิริมงคลอะไรเลย ถ้าสละลงกับความเพียรนี้นั่นละคือสิริมงคล เอากันตรงนั้น

บังคับซิ จะให้แต่ครูบาอาจารย์บังคับได้ยังไง ไม่ใช่เรื่องของครูบาอาจารย์ ที่ท่านสอนไว้นั้นเอาไปฝึกฝนทรมานเราเอง อย่างนั้นถูกต้อง โห ไม่ใช่เล่น ๆ นะ ผมน่ะหันหน้าเข้าฝาร้องไห้ก็มีเวลาครูบาอาจารย์ล่วงลับไป เกิดความสลดสังเวชน้อยเนื้อต่ำใจตัวเองว่าวาสนาน้อยอะไร ๆ แต่มันไม่ได้นานนะ มีอันหนึ่งพลิกขึ้นมาปั๊บแก้กันเลย มันน้อยอะไรเดี๋ยวนี้ หาเรื่องอะไร ก็มาหาวาสนาเดี๋ยวนี้ รู้ว่าน้อยก็เอาให้มากซี เอาให้ได้ร่ำลือซี พระพุทธเจ้ายังได้ร่ำลือเพราะความเสาะแสวงหานี่นา ไม่ได้สอนให้ท้อใจอย่างนี้ เอากันอย่างนั้นซีการปฏิบัติ

สิ่งที่เราอัศจรรย์คือธรรม นอกจากนั้นเราไม่อัศจรรย์อะไรเลย ท้าวมหาพรหมก็มาซีมาสู้กับเรา ถ้าไม่ใช่ธรรมแล้วขวิดกันใหญ่โตเชียว ถ้าเป็นธรรมแล้วผมเส้นหนึ่งเราไม่ข้าม เราเคารพที่สุด สุดหัวใจเรามีธรรมเท่านั้น ในโลกทั้งสามนี้เราไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องยึดหรือพอจะสนใจกับมันให้เสียเวล่ำเวลา ถ้าเป็นธรรมแล้วหมอบทันที เพราะเราเคยเห็นผลจากธรรม มีมากน้อยที่ปรากฏขึ้นในใจนี้ ทำให้เกิดความสุขความเย็นใจโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งมาปฏิบัตินี่เรายังไม่เคยเห็นอะไรว่าจะยิ่งกว่าธรรมเลย

สิ่งที่จะทำให้ทราบได้ชัดว่าธรรมนี้สูงกว่าทุกสิ่ง เจอธรรมขั้นไหนเข้าไป สิ่งที่เป็นคู่แข่งกันกับธรรมขั้นนั้นขาดไป ๆ ก็แสดงว่าธรรมนี้สูงกว่าอันนั้น มันมีคู่แข่งเป็นระยะ ๆ ตามขั้นของธรรมตามขั้นของกิเลส กิเลสประเภทนี้เป็นคู่แข่งกับธรรมประเภทนี้ เช่น ความฟุ้งซ่านวุ่นวายหาหลักเกณฑ์ไม่ได้นี้ ก็คือคู่แข่งของความสงบ ความสงบไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็จุ้นจ้าน ความสงบมีแล้วจิตก็สงบไป เรื่องอะไรก็ไม่ค่อยคิด

สงบมากเท่าไรมันยิ่งไม่คิด มีแต่ความเย็นใจ แล้วยิ่งได้ขุดค้นด้วยปัญญาไปโดยลำดับแล้ว เอาละที่นี่นะ เอารากแก้วมันออก ๆ แต่ละต้นละกิ่งนี้เอารากแก้วมันออก ๆ มันมีหลายรากแก้ว ถ้าเราพูดรวมใหญ่ก็เรียกว่ารากฝอยมันเสีย ถ้าเราพูดเป็นชิ้นเป็นอันของมันก็เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นมันเป็นต้นเป็นลำของมัน เอ้า ถอนออกเสียต้นเล็กต้นน้อยถอนมันออก แล้วก็ถอนต้นใหญ่ ถากถางต้นน้อยฟาดต้นใหญ่ลง นี่ปัญญามันเป็นอย่างนั้นนะ แล้วทีนี้ก็ปล่อยไปเรื่อย จึงว่ารสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง ผิดที่ไหนพระพุทธเจ้าว่า เมื่อธรรมเต็มหัวใจแล้วมันปล่อยหมดเลย ไม่มีอะไรเสมอแล้ว ปล่อยเต็มที่ไม่มีอะไรเหลือ แม้ที่สุดตัวเองก็รู้เท่าตัวเองไม่ติดในนั้นอีก นั่นถึงรอบ

เวลานี้มันพาดูดอะไรดื่มอะไร มันมีแต่เรื่องรสชาติของโลกทั้งนั้นนะ มาหลอกลวงจิตใจให้ดูดให้ดื่มในสิ่งนั้นในสิ่งนี้อยู่เรื่อย ๆ นั่นละคือข้าศึกของใจให้จำกันไว้นะ เอา ฟาดฟันมันลงไปตัวดูดตัวดื่มอันไม่เป็นท่านอกลู่นอกทางนั้นแหละ คือข้าศึกของธรรมได้แก่กิเลสทั้งนั้น ฟาดลงไปให้หนักมือ ตายก็ตายเราอย่าไปถอย เราเป็นนักรบแล้วไม่ใช่นักหลบ มีแต่หลบแต่ซ่อน ง่อนแง่นคลอนแคลนดูไม่ได้ ไม่สมกับเป็นลูกศิษย์ตถาคต ผู้อาจหาญเชี่ยวชาญเฉลียวฉลาด

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก