มุ่งสู่แดนหลุดพ้น
วันที่ 20 ธันวาคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 75.26 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

มุ่งสู่แดนหลุดพ้น

การแสดงธรรมที่ขวางโลกเขาอยู่บ้าง หรือขวางโลกเขาอยู่มาก แล้วแต่จะพิจารณาว่าคือเรานี่แหละ เพราะเทศน์ทางภาคปฏิบัติล้วน ๆ มากกว่าที่จะเทศน์เรื่องอื่นใด เมื่อเทศน์ทางภาคปฏิบัติซึ่งทางด้านปริยัติต่างก็เรียนอยู่แล้วทราบกันมาแล้ว ก็เกี่ยวโยงกันมาจากปริยัติ ออกจากภาคปฏิบัติไม่เป็นปฏิเวธจะเป็นอะไร ก็เมื่อเทศน์ภาคปฏิบัติแล้วก็ต้องเทศน์ภาคปฏิเวธ ซึ่งเป็นธรรมเกี่ยวโยงกันมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์ศาสดา ที่ทรงแสดงธรรมทั้งสามประเภทนี้แก่สัตว์โลกจนกระทั่งวันปรินิพพาน

การจารึกไว้เป็นตำรับตำราก็เป็นแบบเป็นฉบับ แต่แบบฉบับนั้นเราจะนำมาเป็นประโยชน์สำหรับเราโดยตรงก็เป็นได้ยากเพราะยังไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนั้นการจดจำมานั้นจึงเรียกว่าปริยัติ เพื่อปฏิบัติจึงจะเป็นปฏิเวธต่อไป ดังท่านอาจารย์มั่นท่านแสดงไว้แล้วที่เขียนไว้ในปัญหานั้นว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่มวลสัตว์นั้น เป็นธรรมลึกซึ้งถึงใจโดยทั่วกัน

ความถึงใจของธรรมนั้น ออกมาจากความถึงพระทัยของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นต้นเค้าแห่งธรรมทั้งมวล ที่ทรงค้นพบด้วยภาคปฏิบัติ จนกลายเป็นปฏิเวธหรือปฏิเวธธรรมขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ภายในพระทัย เมื่อเป็นเช่นนี้การแสดงออกแต่ละแง่ละมุมในธรรมขั้นต่าง ๆ จะไม่ถึงใจของผู้ฟังซึ่งเสาะแสวงหาความจริงอยู่แล้วได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นคนใจไม้ไส้ระกำ เป็นหูกระทะหูกะทอไปเท่านั้น จึงจะไม่ยอมรับความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนด้วยความถึงพระทัย

ลำดับจากนั้นก็คือสาวก ซึ่งถ่ายทอดออกจากพระพุทธเจ้าด้วยภาคปฏิบัติเช่นเดียวกัน ในขณะรับฟังการอบรมจากพระพุทธเจ้าก็เป็นภาคปฏิบัติอยู่แล้วในขณะที่ฟัง เมื่อออกจากสถานที่อบรมไปแล้ว ก็ทำหน้าที่ปฏิบัติเพื่อค้นหาความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทุกแง่ทุกมุม เต็มสติกำลังความสามารถของตน จนได้เห็นผลประจักษ์ใจขึ้นมาตามขั้นตามภูมิโดยลำดับลำดา กระทั่งถึงขั้นอรหัตภูมิสมบูรณ์เต็มที่ภายในใจ

ที่เรียกว่าปฏิเวธธรรมซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อ จำได้แต่ชื่อแต่นาม แล้วก็มารวมอยู่ที่ใจซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้คิดค้นคว้า เป็นผู้รับผลคือปฏิเวธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนี้ พระสาวกทั้งหลายท่านก็สดับจากพระพุทธเจ้าทางภาคปฏิบัติ และได้ปฏิบัติอย่างนั้นมา การสั่งสอนท่านจึงสั่งสอนให้กลมกลืนกันไปกับการปฏิบัติอันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะให้เห็นผลประจักษ์กลายเป็นปฏิเวธขึ้นมาภายในใจ

การแสดงเราจึงมักแสดงทางภาคปฏิบัติเสมอ ถ้าจะว่าขวางโลกเราก็ยอมรับว่าขวาง แต่อย่างไรก็ตามอย่าให้ขวางธรรมที่เป็นพระอุบายของพระพุทธเจ้า หรือพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลกด้วยการปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลายก็แล้วกัน ถ้าไม่ขวางธรรมพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่เป็นข้าศึกต่อธรรม การดำเนินตามธรรมการอบรมแนะนำสั่งสอนตามธรรม ชื่อว่าเป็นผู้คล้อยตามธรรม เห็นชอบตามธรรม ปฏิบัติตามธรรม ย่อมจะนำมาซึ่งความสงบสุขและความเฉลียวฉลาดรอบคอบไปโดยลำดับไม่สงสัย

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นเป็นเนื้อเป็นหนังของพระศาสนาจริง ๆ เพียงการนับถือเฉย ๆ นั้นใคร ๆ ก็นับถือได้ไม่สำคัญอะไรนัก คนทั่ว ๆ ไปเขานับถือกันได้ทั้งนั้น เช่นเมืองไทยเรานับถือพระพุทธศาสนา ไปบ้านใดถามว่าคุณถือศาสนาอะไร เขาก็บอกว่าถือพุทธศาสนา บ้านใดเมืองใด ตำบลใด อำเภอใด จังหวัดใด เราอยากจะพูดว่า ๘๙% ของเมืองไทยเราที่นับถือพระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้พูดได้อย่างเต็มปากว่านับถือพระพุทธศาสนา การนับถือจึงเป็นสิ่งง่ายดายสำหรับผู้ยอมรับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นธรรมชาติอันประเสริฐ พูดได้เต็มปาก แม้ที่สุดนักโทษในเรือนจำเขาก็พูดได้ว่าเขาถือพุทธศาสนา การนับถือพุทธศาสนาจึงไม่เป็นของยากอะไรมากยิ่งกว่าการปฏิบัติตามศาสนธรรม

การปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งฝ่ายพระสงฆ์ทั้งฝ่ายฆราวาส เป็นสิ่งที่ยากลำบากไปตามหน้าที่และเพศภูมิของตน คนจึงไม่อยากปฏิบัติกัน เพราะไม่ฝืนความยากไม่ฝืนความลำบาก มนุษย์เราต้องการความสบาย ไม่ต้องการความยากลำบาก แต่ความสบายตามความรู้สึกของตนนั้น เป็นสิ่งที่จะนำมาให้เกิดความทุกข์ร้อนประการใดบ้างนั้นมนุษย์ไม่ค่อยคิดกัน จึงโดนตั้งแต่เรื่องความทุกข์ความลำบากเรื่อยมา ไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด มีแต่คนโดนทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ด้วยหลักธรรมชาติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์ที่สร้างขึ้นมาภายในจิตใจและความประพฤติของตนที่เป็นข้าศึกต่อธรรมนี้ซิ ผลจะให้ลงรอยกับธรรมได้ยังไง มันก็ต้องเป็นทุกข์เป็นธรรมดา

การปฏิบัติศาสนาเป็นของยาก คนจึงไม่อยากทำไม่อยากปฏิบัติ ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติผลที่ปรากฏ ไม่ว่าฆราวาส ไม่ว่าพระ จะต้องมีความสงบร่มเย็นทั้งส่วนย่อยส่วนใหญ่ ส่วนบุคคลและส่วนรวม ทั้งนักบวชและฆราวาส ไปที่ไหนจะได้พบได้เห็นความสวยงามแห่งมารยาทความประพฤติ กิริยาแสดงออกของประชาชนและพระเณรทั่วไปในแดนแห่งพระพุทธศาสนา สมกับว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธอย่างแท้จริง ไม่สักแต่ว่าถือพุทธโดยชื่อเท่านั้น แต่ถือหลักความจริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติด้วย ผลคือความสงบร่มเย็นย่อมเป็นไปโดยทั่วกัน นี่แหละหลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้

จึงไม่สามารถที่จะสอนหรืออบรมเพื่อนฝูงหรือใครก็ตาม ให้นอกเหนือไปจากภาคปฏิบัติตามหลักศาสนา ศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นของประเสริฐนั้น ยอมรับว่ามีด้วยกัน แต่ศรัทธาที่จะเกิดขึ้นโดยความเชื่อผลแห่งการประพฤติปฏิบัติ แล้วฝ่าฝืนความทุกข์ความลำบากในการปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้านั้น นั่นยากยิ่งกว่าความเชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยธรรมดาทั่ว ๆ ไปเป็นไหน ๆ

เชื่อการปฏิบัติ เชื่อผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ นี่เป็นขั้นหนึ่งแห่งความเชื่อที่เป็นรากฐานสำคัญของผู้จะเห็นความจริงพบความจริง ต้องเชื่อในแง่นี้ก่อน ทีนี้ครูอาจารย์ทั้งหลายท่านเป็นผู้อบรมสั่งสอน สั่งสอนในแง่ปฏิบัติตามหลักความจริงอย่างแท้จริงหรือท่านสอนแบบลูบ ๆ คลำ ๆ หรือสอนแบบที่ว่าประจักษ์มาแล้วดังพระพุทธเจ้าและสาวกสั่งสอนซึ่งกันและกันมีประชาชนทั่ว ๆ ไปรับฟังและปฏิบัติด้วยสับปนกันไป นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้จิตใจของเรามีความหนักแน่นในความเชื่อต่อโอวาทคำสั่งสอนนั้น ๆ

สำหรับผมเองไม่ได้คำนึง ไม่ได้มาคิดว่าตนมีความสามารถเพียงไร ทั้งปฏิบัติทั้งปฏิเวธ แต่ก็มีความพอใจในการสั่งสอนหมู่เพื่อนตลอดประชาชนทั่ว ๆ ไปด้วยภาคปฏิบัติ เพื่อผลคือความสงบเย็นใจและปฏิเวธธรรมความรู้แจ้งแทงตลอดในมรรคผลนิพพาน จึงไม่เคยลดละเรื่องการสอนแบบนี้เลย หากยังมีชีวิตอยู่ก็จะต้องสอนอย่างนี้เรื่อยไป เพราะหลักสำคัญอันแท้จริงของพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ตรงนี้ไม่อยู่ที่ไหน ภาคพื้นธรรมดาแห่งความเชื่อนั้นเรายอมรับกันแล้วทั่วแดนแห่งพุทธศาสนาที่แผ่กระจายไปถึงไหน คนเชื่อเคารพนับถือ แต่ผู้ปฏิบัติตามนั้นมีน้อยมาก จะได้เห็นผลเป็นที่พึงพอใจ

นี่เราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็คือตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย หลักศีล สมาธิ ปัญญา จึงไม่ควรลืมความตั้งใจลืมเจตนาและความมุ่งมั่นของตน อย่าให้ความมุ่งมั่นเพื่อผลอันตั้งไว้แล้วนั้นด้อยลงไป ภาคปฏิบัติจะทำให้ด้อยลงไปตามความด้อยแห่งความมุ่งมั่น นี่เป็นหลักสำคัญที่ควรคำนึงเสมอ

ศาสนาเรียวแหลมนั้นเรียวแหลมที่ไหน เจริญที่ไหน ตามหลักความจริงแห่งศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เจริญที่ใดเสื่อมที่ใด อย่าไปคิดให้มากให้เสียเวลาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่อินเดีย ศาสนาเจริญอยู่ที่อินเดีย เวลานี้เสื่อมสูญไปหมดที่อินเดีย อันนั้นเป็นภาคหนึ่งแต่ไม่สำคัญยิ่งกว่ารายแห่งบุคคลแต่ละราย ๆ ไป รวมแล้วเป็นกลุ่มแห่งผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทำศาสนาให้เสื่อมลงและทำศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ เหมือนศาสนาเจริญในหัวใจของชาวพุทธเราในครั้งพุทธกาลนั้น

ด้วยเหตุนี้จงพยายามดูใจที่กำลังถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่ทุกระยะ ทุกขณะ ทุกอิริยาบถ อย่าได้เผลอตัว นี่แหละจุดที่เจริญจะเจริญที่นี่ จุดที่ได้รับความบอบช้ำเพราะกิเลสย่ำยีก็อยู่ที่นี่ คุณธรรมที่ได้เคยปรากฏขึ้นมาบ้างเสื่อมลงไปก็เสื่อมที่นี่ และจะฟื้นความเสื่อมแห่งคุณธรรมนั้นให้เจริญขึ้นมาด้วยคุณธรรม เพราะการปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ก็จะเจริญที่นั่น เพราะความเข้มแข็งแห่งการปฏิบัติอยู่ที่นั่น นี่เป็นจุดสำคัญของการปฏิบัติศาสนธรรม เพื่อมรรคผลเป็นของเราทุกคน อย่ามองที่อื่นให้เสียเวล่ำเวลา

ศาสนธรรมนั้นที่จารึกไว้มาจากอินเดียมาถึงพวกเรานี้จารึกเรื่องอะไร จารึกเรื่องของกิเลส บาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ มรรคผลนิพพาน สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับผู้ใด ผู้ใดเป็นต้นเหตุที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เช่น บาปความลามก เพราะเหตุพาให้ลามกคือการกระทำไม่ดี บุญ ความสะอาดสวยงาม ความสุข เพราะเหตุแห่งการกระทำสะอาดด้วยกายวาจาใจ อยู่ที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ไหนบาปบุญ กิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ มีอยู่ที่ไหน ในตำราท่านชี้เข้ามาที่นี่ ก็ชี้เข้ามาที่ดวงใจของสัตว์โลกแต่ละราย ๆ เช่นพวกเราเป็นต้น

กิเลสทุกประเภทไม่มีที่ใดเป็นที่สถิต ไม่มีที่ใดเป็นที่อยู่อาศัยได้สนิทเหมือนใจสัตว์โลกเลย ใจจึงเป็นที่อยู่อันดี เป็นทำเลอันเหมาะสมของกิเลสประเภทต่าง ๆ เป็นอย่างดีตลอดมา และในขณะเดียวกันใจก็เป็นที่สถิตแห่งธรรมทุกประเภททุกขั้นแห่งธรรมได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้บำเพ็ญที่จะให้ธรรมขั้นนั้น ๆ เจริญขึ้นภายในตนด้วยการปฏิบัติอย่างเข้มงวดกวดขัน ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ไม่มีที่อื่นใดเป็นที่สถิตของธรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นมรรคผลนิพพานจะอยู่ในสถานที่ใดถ้าไม่อยู่ที่จิตดวงนี้ ไม่อยู่กับความมืดความแจ้ง กับดินฟ้าอากาศ เมืองโน้นเมืองนี้ แต่อยู่กับที่ใจของผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่ครั้งไหนครั้งไรมาก็เป็นความจริงอันตายตัวอยู่เช่นนี้

กิเลสไม่เคยเปลี่ยนแปลงสถานที่อยู่ไปอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใด เพราะเห็นว่าที่นี่น่าเบื่อหน่ายรำคาญเนื่องจากได้เคยอยู่มาเสียจนจำเจ กิเลสไม่เคยอิ่มพอสำหรับทำลายย่ำยีจิตใจของสัตว์โลกเลย ด้วยเหตุนั้นสัตว์โลกจึงมีกิเลสประจำใจกันทุกคน เพราะชอบกิเลสมากกว่าธรรม ความโลภเป็นกิเลส โลกทั้งหลายก็ชอบความโลภ โลภเป็นประจำ นับตั้งแต่วันเกิดมารู้จักเดียงสาภาวะมา มีความโลภขึ้นมาตามวัย ตามความรู้ความสามารถอันเป็นไปในทางโลภ เป็นการสั่งสมความโลภให้มากมูนขึ้นไปโดยลำดับอยู่ที่หัวใจ ตื่นขึ้นมาก็โลภ อยู่ที่ไหนก็โลภ จนกระทั่งหลับไปกิเลสประเภทต่าง ๆ ระงับตัวเสียทีหนึ่งไม่ออกเพ่นพ่านทำงานก่อกวนจิตใจ พอตื่นขึ้นมาก็สั่งสมแต่กิเลส พอใจสั่งสมความโลภ ความโกรธ ความโมโหโทโส ราคะตัณหาประเภทต่าง ๆ ความหลงงมงายลืมเนื้อลืมตัวเหล่านี้ สั่งสมกันอยู่ตลอดเวลา

ใจที่ชอบสั่งสมสิ่งเหล่านี้แล้วจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดความเบื่อหน่าย ขยายจากที่หนีไปอยู่ที่อื่นที่ใดจึงจะเหมาะสม ไม่มีที่เหมาะสม ไม่มีที่อยู่อันดีเป็นความผาสุกของกิเลสทุกประเภทยิ่งกว่าได้อยู่บนหัวใจของสัตว์โลกนี้เลย ด้วยเหตุนี้สัตว์โลกกับกิเลสจึงแยกกันไม่ออก ถ้าไม่นำธรรมเข้ามาแยกแล้วจะไม่เห็นว่าธรรมเป็นอย่างไร กิเลสเป็นอย่างไรเลย และระหว่างกิเลสกับใจจะไม่มีวันแยกจากกันตลอดกัปกัลป์กาลไหน ๆ

มีพระพุทธเจ้าองค์เอกพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงสามารถแยกแยะระหว่างกิเลสกับธรรมภายในพระทัยของพระองค์ จนรู้แจ้งเห็นชัด ทั้งฝ่ายคุณอย่างถึงพระทัย ทั้งฝ่ายโทษอย่างถึงพระทัย แล้วสลัดปัดออกในสิ่งที่ไม่พึงต้องการทั้งหลาย เหลือไว้แต่แดนแห่งความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เรียกว่าธรรมทั้งแท่งธรรมทั้งดวงภายในพระทัย นี่ก็คือพระองค์ซึ่งไม่มีครูมีอาจารย์มาสั่งสอนและถวายอุบายวิธีแต่อย่างใดเลย จึงเรียกว่าสยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองแล้วมาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ก็คืออย่างพวกเรามีครูมีอาจารย์เป็นผู้นำธรรมมาสั่งสอน

ธรรมะพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนชี้ลงที่นี่ ให้รู้สถานที่ของกิเลสเกิดขึ้นตั้งอยู่ และชี้สถานที่ที่ธรรมจะพึงสถิตได้อยู่ได้ และเจริญรุ่งเรืองขึ้นคือที่ใจนี้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ตามหลักปฏิปทาที่ทรงสั่งสอนไว้ นั้นคือปฏิปทาเครื่องดำเนิน ส่งเสริมธรรมให้มีพลังกำจัดกิเลสอาสวะซึ่งมีอยู่ภายในใจนี้ให้หมดไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ใจดวงนั้นก็กลายเป็นธรรมทั้งแท่งขึ้นมา นั่นแหละคือบรมสุข

มรรคผลนิพพานจะหาที่ไหนถ้าไม่หาที่ใจนั้น การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานถ้านอกจากปฏิปทาเครื่องดำเนิน มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุดแล้ว ก็ไม่มีปฏิปทาใดนอกเหนือปฏิปทานี้มามีอำนาจกำจัดกิเลสให้ขาดสะบั้นไปจากใจได้ เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาปฏิปทาจึงเหมาะสมอยู่ทุกระยะกาล ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งบัดนี้ และเป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการปราบปรามกิเลสทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชนิดผาดโผนรุนแรงขนาดไหน โหดร้ายทารุณขนาดไหน ไม่มีประเภทใดที่จะนอกเหนืออำนาจมัชฌิมาปฏิปทาคือศีล สมาธิ ปัญญา นี้ไปได้ นี่เป็นธรรมรับรอง

เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือปราบกิเลสได้อย่างถึงใจทันควัน ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามาแล้วจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่เคยเสื่อมคุณภาพลงไปเลย นอกจากผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้มีความอ่อนแอหาคุณภาพภายในตัวไม่ได้ ศรัทธาก็ไม่มี วิริยะก็หมดไปโดยลำดับ ความอดความทนที่เคยมีบ้างก็เสื่อมทรามลงไป เมื่อเครื่องจะสนับสนุนมรรคทั้งแปดนี้ไม่มีแล้ว มรรคทั้งแปดก็เป็นเครื่องมือทิ้งไว้อย่างนั้นแหละไม่เกิดประโยชน์อะไร

นี่เราตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสด้วยมัชฌิมาปฏิปทา มี ศรัทธา วิริยะ ขันติ เป็นสำคัญ เครื่องสนับสนุน จึงไม่ควรท้อถอยอ่อนแอ เอาให้เห็นจริงเห็นจังทั้งกิเลสและธรรมภายในจิตใจ คำว่าปฏิเวธธรรมจะรู้แจ้งไปโดยลำดับ สมาธิซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อก็จะแจ้งประจักษ์ภายในจิตใจดวงสงบ เพราะอำนาจแห่งจิตตภาวนาคือภาคปฏิบัติของเรา แล้วสมาธิทุกขั้นจนถึงขั้นละเอียดสุดจะไม่นอกเหนือไปจากการฝึกฝนอบรมในภาคจิตตภาวนานี้เลย

คำว่าปัญญาที่ได้ยินแต่ชื่อ โดยพกเอาความจำว่าปัญญา ๆ มาเต็มหัวใจจนกลายเป็นกิเลสขึ้นมาท่วมทับหัวใจว่าตนฉลาด ๆ มานานสักเท่าไร เมื่อได้นำปัญญานี้ผลิตขึ้นมาภายในจิตใจด้วยภาคปฏิบัติแล้ว ปัญญานี้จะเป็นสิ่งที่ฉลาดแหลมคมเห็นประจักษ์ใจกับตัวเราเอง ไม่เพียงแต่เอาความจำมาเป็นตัวเป็นตนเป็นมรรคเป็นผลเป็นสมบัติของตน ซึ่งไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง ผิดกันอยู่มาก เพราะฉะนั้นจงผลิตสติปัญญาขึ้นมาให้ทันกับกิเลสประเภทต่าง ๆ

จิตใจมีความดิ้นรนกระวนกระวาย เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้ดิ้นรน จงบังคับจิตที่กำลังดิ้นรนอยู่ด้วยข้อปฏิบัติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นต้น ให้สงบตัวลงได้และให้มีความฉลาดรอบคอบทันกับกิเลสทั้งหลายแล้ว ใจจะมีความสง่าผ่าเผยหรือสง่างามขึ้นโดยลำดับเป็นที่ภูมิใจเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญญาก็อยู่ที่นี่ ปรากฏขึ้นมาแล้ว

ความจำว่าปัญญา ๆ ทั้งหลายที่จดจำได้จนชินใจนั้น กลายมาเป็นปัญญาความจริงขึ้นแล้วภายในจิตใจเป็นสมบัติของตนล้วน ๆ แล้ว และปัญญาแต่ละขั้นที่ปรากฏขึ้นมามีความแยบคายต่างกันไปโดยลำดับ และสามารถกำจัดกิเลสประเภทต่าง ๆ ได้ตามปัญญาขั้นนั้น ๆ จนกระทั่งกิเลสอย่างละเอียดสุดกับปัญญาขั้นละเอียดแหลมคมเต็มที่ทันกัน ปราบกันได้เรียบ ไม่มีกิเลสตัวใดเหนืออำนาจของสติปัญญาไปได้เลย

นี่ละทางดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์พ้นที่ใจนี้ เพราะใจเป็นแหล่งแห่งความทุกข์ กิเลสอยู่ที่ไหนความทุกข์ต้องอยู่ที่นั่น เพราะเหตุกับผลอยู่ด้วยกัน กิเลสคือเรื่องของสมุทัย มีแต่เรื่องขวนขวาย สั่งสมเรื่องความทุกข์ขึ้นมาแล้วเผาลนจิตใจ มีมากเพียงไรใจก็ย่อมได้รับความทุกข์มากเพียงนั้น ๆ จึงอยู่ที่จิตดวงนี้แห่งเดียว กิเลสมีมากเพียงไรทุกข์ก็มีมากเพียงนั้น ทีนี้มรรคมีมากเพียงไรสุขก็มีมากเพียงนั้นเหมือนกัน รวมแล้วอยู่ที่จิต เอาให้เห็นจริงเห็นจังที่ตรงนี้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญเป็นปัจจุบันธรรม เป็นมัชฌิมาธรรม เหมาะสมอย่างยิ่ง อดีตอนาคตไม่สำคัญเท่ากับวงปัจจุบันที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาชำระกันอยู่นี้

เอาให้จริง ลูกศิษย์ตถาคตต้องเป็นผู้จริงเสมอ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นศาสดาองค์เหลาะแหละ ที่เราว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ ก็เป็นสวากขาตธรรม ชอบแล้วทุกแง่ทุกมุมไม่มีข้อต้องติขัดแย้งได้เลย สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ล้วนแล้วตั้งแต่ท่านผู้บริสุทธิ์แล้วจากปฏิปทาคือมัชฌิมานี้ทั้งนั้น ไม่นอกเหนือไปจากมัชฌิมาที่กลั่นกรองให้ท่านเหล่านั้นถึงความบริสุทธิ์ได้เลย มีมัชฌิมาเป็นสำคัญเครื่องยืนยันรับรองให้ท่านได้ถึงความบริสุทธิ์ เรานำมัชฌิมาปฏิปทาเข้ามาปฏิบัติทำไมจะกลายเป็นพระปลอม มรรคผลนิพพานปลอมไปมีได้ที่ไหน

เพราะมัชฌิมาไม่ใช่ของปลอม เป็นความจริงอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรจะจริงเท่ามัชฌิมาในการแก้กิเลส เรานำมาแก้กิเลสเหตุใดจะกลายเป็นของปลอม เป็นมรรคเป็นผลปลอมขึ้นมา เป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้นปลอมขึ้นมาเป็นไปไม่ได้ ต้องจริงอย่างพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายที่ท่านเคยจริงก่อนพวกเรามาแล้วโดยไม่สงสัย ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติเพื่อเห็นผลตรงนี้

จิตทำไมจึงไม่สงบ ถ้ามีสติมีกำลังวังชาที่จะต่อสู้กันอยู่แล้ว ความฟุ้งซ่านของจิตคือเรื่องกิเลสพาให้ฟุ้งได้กล่าวแล้วสักครู่นี้ สติเป็นเครื่องยับยั้งเป็นเครื่องบังคับจิตให้อยู่กับงาน อันเป็นงานที่จะให้เกิดความสงบของจิตอย่างน้อยก็คือคำบริกรรม หรือกำหนดอานาปานสติเป็นต้น เราจะตามด้วยพุทเข้า โธออก หรือเข้าก็พุทโธ ออกก็พุทโธ ได้ทั้งนั้น ขออย่าให้เผลอสติในขณะที่ทำภาวนาบทนั้น ๆ ในขั้นเริ่มแรกที่จะทำจิตให้สงบท่านเริ่มกันอย่างนี้

เมื่อสงบจนเป็นบาทเป็นฐานแล้ว คำบริกรรมจะมีหรือไม่มีไม่สำคัญ เพราะฐานแห่งความสงบนั้นบ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า นี้คือจุดแห่งความสงบของใจ ใจก็อยู่ที่ความสงบ อยู่ที่จุดแห่งความสงบปรากฏอยู่นั้นแล จากนั้นก็พยายามฝึกหัดคิดค้นด้วยปัญญา คลี่คลายดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเฉพาะอย่างยิ่งเบญจขันธ์ของเราของเขา และรูปขันธ์เป็นสำคัญ ดูให้เห็นจริงเห็นจังตั้งแต่ภายนอกเข้าสู่ภายในโดยตลอดทั่วถึง ทั้งทางอสุภะหรือทางไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เนื่องจากรูปขันธ์นี้เป็นได้ทั้งอสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครก เป็นได้ทั้ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นได้ทั้งสองอย่าง การพิจารณาเพื่อความถนัดตามจริตนิสัยในแง่ใดได้ทั้งนั้น

ปัญญาถ้าไม่คิดอย่าเข้าใจว่าจะฉลาดขึ้นมาเฉย ๆ ท่านกล่าวไว้ว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก ก็หมายถึงว่ามีศีลเป็นภาคพื้นสำหรับผู้มีศีลคือนักบวชเรา ให้ระมัดระวังรักษาศีลอย่าให้ด่างพร้อยและทะลุ จิตใจก็มีความชุ่มเย็นไม่เป็นนิวรณ์คิดระแคะระคายระเวียงระวังตน ว่าเป็นความเสียหายในเงื่อนใดเงื่อนหนึ่งของจิต จิตก็มีความอบอุ่นแล้วพิจารณาทางสมาธิ เมื่อจิตไม่เกิดนิวรณ์มากั้นกางแล้วก็เข้าสู่ความสงบได้เร็ว

สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาอันสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนแล้วย่อมมีพลังสามารถที่จะพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเคยปกปิดกำบังอยู่ภายในจิตใจนี้ให้กระจ่างแจ้งไปได้โดยลำดับ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาได้ซักฟอกกำจัดสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายคือกิเลสนั่นแล ออกหมดแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ได้โดยชอบ

คำว่าปัญญาที่ว่านี้ท่านก็บอกแล้วว่าสมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา ไม่ใช่สมาธิจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นได้ สมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา ถ้าเราไม่ผลิตให้เป็นปัญญาก็ไม่เป็น การพิจารณาปัญญาด้วยความสะดวกเพราะมีสมาธิเป็นเครื่องหนุนนั้น ก็เนื่องจากใจที่มีความสงบแล้วเป็นใจที่ไม่หิวโหยวอกแวกคลอนแคลน ไม่คว้าโน้นคว้านี้ ส่งหน้าส่งหลังส่งซ้ายส่งขวาส่งไปรอบด้าน เรียกว่าฟุ้งซ่านรำคาญเพราะความหิวโหยมันฉุดมันลากไป จิตที่มีความสงบย่อมเป็นจิตที่อิ่มตัวตามขั้นภูมิของตน ไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อนำไปพิจารณาทางด้านปัญญา จึงตั้งใจทำหน้าที่ปัญญาสอดส่องไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ในธาตุในขันธ์ของตนแง่ใดก็ตาม ปัญญาตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตนให้เป็นไปได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจิตมีความอิ่มตัวด้วยสมาธิ นี่สมาธิหนุนปัญญาหนุนอย่างนี้

ไม่ใช่สมาธิสร้างปัญญาขึ้นมาเอง หากว่าสมาธิมีแล้วปัญญาเกิดขึ้นเองแล้ว ผู้ที่มีสมาธิแล้วจะต้องหลุดพ้นไปด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมจึงไม่หลุดพ้น เพราะสมาธิก็เป็นสมาธิไม่ได้เป็นปัญญาถ้าเราไม่พิจารณาให้เป็นปัญญา และไม่ต้องติดในสมาธิ นี่ติดสมาธิกันเกลื่อนผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เพราะสมาธิก็มีคุณสมบัติมีรสชาติซาบซึ้งพอที่จะให้ติดได้เหมือนกัน นักภาวนาที่มีความชำนาญในสมาธิจึงมักติดสมาธิทั้งนั้นและมีจำนวนมากด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้ออกทางด้านปัญญา สมาธิเป็นเครื่องอบรมจิตให้มีความอิ่มตัว หรือเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ให้จิตได้รับเสวยมีความอิ่มตัวไม่วอกแวกคลอนแคลนแล้วก็พาทำงาน ปัญญาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย รู้แจ้งชัดตามอาการนั้น ๆ หรือตามสภาวธรรมต่าง ๆ ที่ปัญญาทำงานคลี่คลาย รู้ไปโดยลำดับ ๆ

ถึงเวลาควรที่จะพักเข้าสู่สมาธิเพื่อสงบใจให้ได้พักตัวในสมาธิก็ต้องพัก เมื่อถอนออกจากความสงบนั้นแล้วก็ทำหน้าที่การพิจารณาคลี่คลายโดยทางปัญญา ทำอย่างนี้โดยความสม่ำเสมอแล้วจิตก็ย่อมมีความผ่องใสขึ้นเรื่อย ๆ ปัญญาจะสามารถตัดกิเลสออกไปได้โดยลำดับ ๆ จนผลสุดท้ายไม่มีกิเลสตัวไหนนอกเหนืออำนาจของสติปัญญาไปได้เลย ขาดสะบั้นไปหมด เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ เท่านั้น นี่ที่เรียกว่า สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ หลุดพ้นไปโดยชอบ-ชอบด้วยปัญญา ชอบด้วยสติ ไม่ได้หลุดพ้นด้วยมีสมาธิแล้วปัญญาพาให้เกิดขึ้นมาเองแล้วฆ่ากิเลสให้หลุดลอยไปอย่างนั้น มันหนุนกันมาเป็นลำดับ ๆ

ธรรมะที่กล่าวมาเหล่านี้อยู่ที่ใจของพวกเราทุก ๆ รูปทุก ๆ นาม ไม่ได้อยู่ในอดีต ไม่ได้อยู่ในดินฟ้าอากาศ อยู่ที่ใจผู้รับรู้อยู่นี้แหละ กิเลสก็อยู่ที่นี่ สติปัญญาก็ผลิตขึ้นมาที่นี่ ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปที่นี่ ปฏิเวธธรรมจะอยู่โลกไหนถ้าไม่อยู่ในโลกมืดคือหัวใจดวงนี้ซึ่งกำลังมืดอยู่เวลานี้ จะเป็นโลกที่กระจ่างขึ้นมาโดยไม่สงสัย

ฉะนั้นการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก