คลี่คลายดูให้ชัด
วันที่ 5 ธันวาคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 45.37 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

คลี่คลายดูให้ชัด

 

ธรรมของพระพุทธเจ้าลงในความจริงได้ด้วยการพิสูจน์ของผู้ปฏิบัติ สมกับที่พระองค์ได้ทรงแสดงแก่กาลามชนในกาลามสูตรว่าอย่าเชื่อง่าย คือไม่ให้เชื่อตามครูตามอาจารย์ ตามตำรับตำรา ไม่ให้เชื่อตามบุคคลที่ควรเชื่อได้ เป็นต้น ธรรมที่กล่าวนี้หมายถึงธรรมที่จะพึงรู้จริงเห็นจริงจากภาคปฏิบัติ จึงมอบให้รู้จากภาคปฏิบัติ จริงจากภาคปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ต้องการเอาความรู้ความจริงจากผู้หนึ่งผู้ใด แม้พระศาสดาพระองค์ก็ไม่ทรงประสงค์จะให้รู้จากพระองค์ โดยให้มาเป็นความจริงของตัวเอง ต้องให้รู้จากตัวเอง เพราะความจริงที่ตนเองรู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติอย่างแท้จริง

ธรรมนี้เป็นธรรมขั้นสูง ที่ไม่ให้เชื่อตามตำรับตำรา ตามธรรมดาต้องเชื่อ เชื่อครูเชื่ออาจารย์ต้องเชื่อทั่ว ๆ ไป เมื่อจะเอาจริงเอาจังให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นความสัตย์จริงกันจริง ๆ จากการปฏิบัติ ต้องให้รู้จริงเห็นจริงด้วยการปฏิบัติของตนเท่านั้น ที่เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก หรือ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านทรงหมายอย่างนี้ เป็นธรรมขั้นสูง ธรรมขั้นทั่ว ๆ ไปก็จำต้องเชื่อครูเชื่ออาจารย์ แต่พอถึงขั้นปฏิบัติแล้วต้องเชื่อขึ้นด้วยความจริงของตัวเองที่เกิดขึ้นกับตนโดยการปฏิบัติของตน

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ว่าพระสาวกองค์ใดร้อยทั้งร้อย พระองค์เองก็ทรงรู้ด้วยการปฏิบัติของพระองค์เอง พระสาวกก็รู้จริงด้วยการปฏิบัติของท่านเองทั้งนั้น คือไม่ต้องการจากความรับรองของผู้ใด ไม่ต้องการจากความเชื่อถือของผู้อื่นใด นอกจากความเชื่อตัวเองด้วยความจริงที่รู้ขึ้นกับตนเนื่องจากการปฏิบัติของตนเท่านั้น

ธรรมะของพระพุทธเจ้าทรงสำเร็จมาจากการพิสูจน์ของพระองค์ ในภาคปฏิบัติก็ทรงทำหลายแง่หลายกระทง เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้เคยเห็น และไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นมาก่อนด้วยแม้แต่คนเดียวรายเดียว พอที่จะมาแนะนำวิธีดำเนินการให้พระพุทธเจ้าทรงทราบและจะทรงดำเนินตามนั้น เป็นเรื่องของพระองค์ทรงคิดค้นคว้าด้วยพระสติปัญญาของพระองค์เองทั้งนั้น จึงเรียกว่าสยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองขณะที่รู้ เพราะทรงปฏิบัติค้นคว้าเองโดยลำพังพระองค์

ดังที่ไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ เช่น ดาบสทั้งสองเป็นต้น นั่นก็ไม่ใช่ทางแห่งความรู้จริงเห็นจริง จึงทรงลดละวิธีการนั้นเสียและมาทรงอดพระกระยาหาร โดยที่ทรงมุ่งหวังจะตรัสรู้ธรรมด้วยการอดพระกระยาหารเพียงอย่างเดียว ไม่มีการประพฤติปฏิบัติอันถูกทางใด ๆ เคลือบแฝงเลยก็ไม่สำเร็จ จึงได้ทรงเปลี่ยนแปลงจากวิธีการอดพระกระยาหารนั้น ย้อนกลับมาสู่การเสวยพระกระยาหาร และมีธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ถูกต้องเพื่อมรรคเพื่อผลเพื่อการตรัสรู้จริง ๆ คือ อานาปานสติ ที่ทรงระลึกย้อนหลังในคราวที่ทรงพระเยาว์ ตอนที่พระราชบิดาพาไปแรกนาขวัญ พระองค์ทรงบำเพ็ญในขณะนั้น นั้นแหละเป็นคติอันดีที่พระองค์จะทรงนำมาเป็นวิธีการดำเนินเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดในความจริงทั้งหลาย จึงได้ทรงบำเพ็ญด้วยอานาปานสติในคืนวันแรกที่จะตรัสรู้นั้น

สรุปแล้วก็เรียกว่าพระองค์ทรงขวนขวายด้วยพระองค์เอง มีพระสติกำลังความสามารถเพียงไรก็ทุ่มเทลงเต็มความสามารถ ปฐมยามก็ทรงทราบเป็นธรรมประกอบ คือระลึกชาติถอยหลังได้ ย้อนหลัง อดีตชาติของพระองค์เป็นมาอย่างไร ๆ ได้ แม้จะไม่เต็มภูมิแห่งศาสดาที่กำลังจะตรัสรู้อยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นพระญาณที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นเป็นความรู้ขึ้นมาจากการปฏิบัติ มัชฌิมยามก็ทรงรู้จุตูปปาตญาณ คือความจุติ ได้แก่ความเคลื่อนและความเกิดความตายของสัตว์ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็ว่าอย่างนั้น พอถึงปัจฉิมยามก็ทรงตรัสรู้ เป็นอาสวักขยญาณเกิดขึ้น

นี่ทรงบำเพ็ญอะไรที่เป็นรากฐานสำคัญให้ได้รู้ในธรรมทั้งสามประเภทนี้ขึ้นมา เฉพาะอย่างยิ่งประเภทสุดท้ายคืออาสวักขยญาณ ทรงบำเพ็ญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก นี้เป็นพื้นฐานในเบื้องต้น จนพระจิตมีความสงบเยือกเย็นปราศจากความกังวลวุ่นวายที่จิตจะต้องส่ายแส่ออก แสวงหาอาหารอันเป็นวิสัยของกิเลสไม่มีความเพียงพอมาตั้งแต่ก่อน ก็ระงับดับไปหมด

เมื่อจิตใจมีความใสสะอาดก็เหมือนกับน้ำที่ใสสะอาด สามารถรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในน้ำนั้น สิ่งที่เคยเป็นไปในจิต เป็นมาของจิตก็ทรงทราบย้อนหลังไป เช่น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ เป็นผลที่พลอยได้ในการปฏิบัติ โดยถือพระอานาปานสติเป็นรากฐานสำคัญ เมื่อพระจิตมีความสงบเยือกเย็นแล้ว คนขนาดผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาสอนโลกอยู่แล้ว ทำไมจะนิ่งนอนใจไม่พิจารณาทางด้านปัญญา ปัญญาก็ใช้ในขณะที่จิตละเอียดอยู่ในอานาปานสตินั้นแล

จิตสงบก็เรียกว่าสมุทัยสงบตัว ความกระเพื่อมของจิตแต่ละขณะ ๆ ที่จะแสดงตามเรื่องของสมุทัยคือกิเลสก็ปรากฏขึ้นมา พระสติปัญญาซึ่งพร้อมที่จะพิจารณาหาความจริงทั้งหลายก็ต้องค้นคว้ากันในเวลานั้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นแถวเป็นแนวไป นี่เป็นอาการของอวิชชาที่ท่านบรรยายไปนี้ ไม่ใช่วิธีการละอวิชชา เป็นเพียงอาการของอวิชชา ท่านเล่าตามอาการเขียนไว้ตามอาการของการพิจารณาอวิชชาและดับอวิชชา ไม่ใช่วิธีการถอดถอนอวิชชาและดับอวิชชา

วิธีการของการถอดถอนอวิชชาคือกิเลสต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริษัทบริวารของอวิชชา ตลอดถึงการฆ่าอวิชชาให้จมลงพื้นแห่งสมมุติทั้งมวล เหลือแต่พระจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น เป็นพระสติปัญญาต่างหากที่ทรงพิจารณาเทียบเคียงให้ได้สัดได้ส่วนทุกแง่ทุกมุม นี่วิธีการแห่งการดับอวิชชา คือพระสติปัญญา ดับด้วยพระสติปัญญา เมื่อทรงดับกิเลสมีอวิชชาเป็นสำคัญโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงทรงแสดงอาการของอวิชชา ตั้งแต่อวิชชาขึ้นมาโดยลำดับ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ ก็ว่าต่อกันไปเป็นแถวเป็นแนวไปอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติจะไปพิจารณาให้เป็นไปอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ คือปฏิบัติด้วยตัวเองเป็นของสำคัญ ดังองค์พระศาสดาที่ทรงเป็นศาสดามาก่อนพวกเราทั้งหลายและประทานพระโอวาทไว้ พระองค์ทรงพิสูจน์ด้วยการค้นคว้าพินิจพิจารณาที่เรียกว่าภาคปฏิบัติ จนได้รู้แจ้งเห็นจริงหรือรู้แจ้งแทงตลอดเญยยธรรมทั้งหลาย อวิชชาก็ดับไป ท่านจึงมาแจงเรื่องอวิชชาไว้ว่าอาการของมันเป็นอย่างนั้น ๆ

ทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่า สมุทโย โหติ เบื้องต้นของอวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ เหล่านี้เป็นสมุทัยทั้งนั้น สมุทโย โหติ เป็นสมุทัยแดนเกิดแห่งทุกข์ทั้งมวล เมื่ออวิชชาดับ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ,สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ จนกระทั่งถึง นิรุชฺฌนฺติ เมื่ออวิชชาดับอันนั้น ๆ ก็ดับ ๆ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ก็เหมือนอย่างต้นไม้เมื่อมันหยั่งรากแก้วรากฝอยขึ้นมาเป็นต้นแล้ว ทำไมมันจะไม่แตกแขนงออกไปล่ะ ต้องแตกไปโดยลำดับ นั้นก็แตกนี้ก็แตก แตกไปโดยลำดับลำดาของมัน พอถอนมันขึ้นจากดินเท่านั้น ทุกอวัยวะของต้นไม้นั้นก็ดับไปพร้อม ๆ กันหมด เพราะการถอนอันเป็นประโยคสำคัญนั้นเท่านั้น นี่ท่านเล่าอาการอย่างนี้ต่างหาก แต่วิธีการถอนนั้นถอนอย่างไร พิจารณาอวิชชา

สำหรับพวกเราที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้อย่างรวดเร็วอย่างนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณาไปตามความจำเป็นของจิต ตั้งแต่พวกความสงบด้วยวิธีการต่าง ๆ ในด้านสมถภาวนา แล้วก็พิจารณาทางด้านปัญญา ท่านเรียกว่าตรุณวิปัสสนา วิปัสสนาอ่อน ๆ ไปตามขั้นของสมาธิ แล้วก็ค่อยกว้างขวางออกไปแยบคายออกไป เข้าใจไปเรื่อย ๆ ถอดถอนความสงสัยความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวงแคบเข้ามา เพราะข้างนอกก็ได้พิจารณาแล้ว รูปไม่ว่ารูปประเภทใด ก็ได้พิจารณาเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

รูปที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของคนมีกิเลสที่สุดก็คือรูปตรงกันข้าม รูปหญิงรูปชาย แยกแยะพิจารณาไปในธรรมซึ่งเป็นแง่ที่จะเป็นคู่ปรับต่อกัน ได้แก่พิจารณาปฏิกูล อสุภะอสุภัง ความไม่สวยไม่งามซึ่งเป็นหลักความจริงประจำร่างกายของคนเราทั้งหญิงทั้งชายทั้งสัตว์ประเภทต่าง ๆ พิจารณาให้ถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นที่เข้าใจ เห็นได้ชัด ซึ้งภายในใจ

เมื่อได้ซึ้งถึงใจอย่างเต็มที่แล้วการพิจารณาเหล่านี้ก็หมดปัญหาไปเอง เพราะจิตใจได้อิ่มตัว เชื่อความจริงแล้วว่า ๑) เป็นอสุภะเป็นของปฏิกูลจริง ๒) เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาจริง ไม่ควรจะยึดสิ่งเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่น่ารักน่าชอบใจ มาเป็นเรามาเป็นของเรา ทั้งภายในร่างกายเราก็มีลักษณะอย่างนั้นไม่ผิดจากกันแม้แต่น้อย สิ่งนั้นก็ป็นเหมือนสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นเหมือนสิ่งนั้น ต่างอันต่างเป็นอสุภะอสุภัง เป็นของปฏิกูลโสโครกด้วยกัน เรายังจะมาฝืนความจริงของพระพุทธเจ้าว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเราเป็นของเรา ก็เท่ากับเราไปโกยเอามูตรเอาคูถอยู่ในส้วมในถานขึ้นมาขยี้ขยำสูดดมหรือดื่มกินนั่นเอง ก็เมื่อเห็นชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งปฏิกูลอย่างนั้นแล้ว จิตจะไปยึดได้ยังไง ถือได้ยังไง นี่คือความซึ้งของใจเพราะการพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นที่เข้าใจ จิตก็ปล่อยวาง นี่อุบายวิธีการพิจารณาอวิชชา

แขนงของอวิชชา บริษัทบริวารของอวิชชาซึ่งเป็นกิเลสทั้งมวล มันก็เกี่ยวโยงกับตัวอวิชชา แต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงองค์กษัตริย์วัฏจักรได้ ก็ต้องถากถางเข้าไป ๆ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งเหล่านี้ทั้งรูปนอกรูปใน ขันธ์นอกขันธ์ใน เฉพาะอย่างยิ่งรูปขันธ์ ได้ทุกสัดทุกส่วนไม่มีทางสงสัย ดูเมื่อไรก็ซึ้งอยู่อย่างนั้นตามความจริง ไม่ปีนเกลียวกับธรรม ไม่ดื้อดึงไม่ฝ่าฝืนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะอสุภัง หรือเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา น้อมไปทางอสุภะก็ซึ้งว่าเป็นความจริง ปฏิกูลโสโครกประการต่าง ๆ ทั้งเขาทั้งเรา เป็นเหมือนกันทุกสัดทุกส่วนไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่าใคร จิตได้ซาบซึ้งไม่ปีนเกลียวกับธรรม

ถ้าพูดถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็แปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ว่ามันเป็นปฏิกูลมันยังแปรของมันไปอีก แปรไปจนสุดขีดแห่งความปฏิกูล ลงถึงความเป็นธาตุเดิมของมัน รู้ซึ้งไปตามนั้นแล้วจิตจะไปยึดไปถืออะไร ดินทั้งแผ่น น้ำทั้งบึงทั้งหนองอยู่ทุกแห่งทุกหนมีแต่น้ำ ในตัวของเราก็น้ำก็ทราบแล้วว่าน้ำ แล้วยังจะไปฝืนไปยึดว่าน้ำเป็นเราเป็นของเราได้ยังไง ลมก็คือลมหายใจเป็นตันก็เป็นลมอยู่อย่างนี้ ข้างนอกก็เป็นลมข้างในก็เป็นลม แล้วเอาลมมาเป็นเราเป็นของเรา ไปรักชอบหลงงมงายในลมได้ยังไง ไฟก็เห็นกันอยู่ธาตุไฟ ถ้าซึ้งแล้วก็ลงถึงความจริงทุกอย่าง ดินก็ลงถึงดินอย่างเต็มภูมิของดิน น้ำก็ลงถึงน้ำ ลมถึงลม ไฟถึงไฟ เต็มที่ด้วยความซาบซึ้งไม่มีทางสงสัย

ไม่ต้องบอกเรื่องอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ถอนตัวเข้ามาทันทีทันใดเมื่อพอตัวแล้ว นี่การกวาดต้อนกิเลสเข้ามา หรือการปราบปรามกิเลสถอดถอนกิเลส ถอดถอนด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยความพากเพียร จนเกิดศรัทธาความเชื่อมั่นตามความจริง เรียกว่าอจลศรัทธา หาความโยกคลอนไม่ได้ ถ้าลงได้เชื่อตามหลักปฏิบัติโดยทางสติปัญญาแล้ว จะได้รับความซึ้งใจถึงความจริงแห่งธรรม หาที่ค้านธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ได้ เมื่อจิตไม่ค้านธรรมจิตก็มีความสะดวกสบาย ไม่ก่อไฟเผาลนตัวเอง จิตที่ค้านหลักธรรมคือความจริงนั้นแหละเป็นจิตที่ก่อฟืนก่อไฟหรือก่อภัยมาทำลายตัวเอง ท่านจึงสอนอย่างนี้ นี่วิธีการกับเล่าเรื่องความเป็นไปของกิเลสของอวิชชากับวิธีการปฏิบัติต่อกิเลสต่ออวิชชานั้นต่างกันอย่างนี้

พูดถึงเรื่องเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา เฉพาะอย่างยิ่ง สุข ทุกข์ อุเบกขาเวทนาในรูปขันธ์เป็นสำคัญ ในขั้นนี้ต้องถืออันนี้เป็นสำคัญกว่าจิตเวทนา เมื่อเข้าใจทุกขเวทนา สุขเวทนา เฉพาะอย่างยิ่งทุกขเวทนาได้อย่างชัดเจนระหว่างรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์ ที่เข้าเกี่ยวข้องกันหรือเกี่ยวโยงกันด้วยความสำคัญมั่นหมายของเรา นี่มันแยกกันออกได้ยาก การแพ้ก็แพ้กันตรงนี้

เวลานั่งภาวนานาน ๆ เจ็บปวดขึ้นมาก ๆ ไม่สามารถที่จะแยกแยะทุกขเวทนาที่แทรกกันอยู่ในรูปขันธ์ คือเวทนาขันธ์ ทุกขเวทนาขันธ์ แทรกหรือกลมกลืนกันอยู่กับรูปขันธ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นกลมกลืนกันอยู่ในเนื้อหรือในหนังในเอ็นในกระดูกท่อนใดชิ้นใดก็ตาม มันจะถือว่านั้นเป็นเราเป็นของเราและนั้นเราเป็นทุกข์ ตรงนั้นของเราเป็นทุกข์ ตรงนี้ของเราเป็นทุกข์ เลยกลายเป็นเราเป็นทุกข์ขึ้นมา นี่ละเรื่องของกิเลสมันแทรกอยู่อย่างนี้

จึงต้องได้พิจารณาแยกตามหลักของสติปัญญา ไม่ต้องวาดภาพไม่ต้องคาดต้องหมาย ลงตามความจริงเลย ทุกข์เป็นยังไงก็พิจารณาตามเรื่องของทุกข์ที่มันเป็นอยู่กับอวัยวะส่วนใด แยกดูอวัยวะส่วนนั้นให้ชัดเจน และแยกดูทุกขเวทนาที่มันแทรกสิงอยู่ในอวัยวะส่วนนั้นอีกให้ชัดเจนเหมือนกัน จนเป็นที่เข้าใจแล้วมันก็แยกกันเอง สุดท้ายมันก็วิ่งเข้ามาหาจิต เป็นกระแสของจิตที่ออกไปสำคัญมั่นหมายโดยไม่รู้สึกตัว พอเข้าใจในเงื่อนทั้งสองนี้แล้วก็เข้ามาสู่ใจ ใจก็เลยกลายเป็นความจริงขึ้นมาด้วยกัน ทุกขเวทนาก็ดับได้ นี่การพิจารณา นี่ละคือการพิสูจน์หาความจริง

การพิจารณาหาความจริงด้วยภาคปฏิบัติ ต้องรู้ต้องเห็นความจริงขึ้นมาจากภาคปฏิบัติโดยไม่สงสัย ดังพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นมาแล้วทุกอย่างจากภาคปฏิบัติทั้งมวล ไม่มีภาคแห่งความจดจำที่จะนำมาสอนโลกเลย เหตุก็เป็นภาคปฏิบัติของพระองค์ทรงได้ปฏิบัติมาแล้ว ผลก็เป็นภาคที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ทรงได้รู้เห็นมาแล้วอย่างเต็มพระทัย นำมาสั่งสอนโลกด้วยการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วทั้งเหตุทั้งผล จึงเป็นธรรมความจริงล้วน ๆ

นี่เราผู้ที่จะพิจารณาให้เห็นความจริงสำหรับตัวของเราเอง ก็ต้องพิจารณาดังที่ว่านี้เป็นภาคปฏิบัติ สัญญานี้สำคัญมันแทรกได้อย่างละเอียดลออมาก เหมือนกับกระดาษซึม แทรกเข้าไป ๆ โดยเราไม่รู้สึก ในอาการแห่งขันธ์ทั้งห้านี้ ขณะใดที่เหมาะสมถนัดกับขันธ์ใด จะพิจารณาขันธ์ใดถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาขันธ์นี้แล้วต้องต่อไปขันธ์นั้น ๆ มันกลายเป็นเรื่องโครงการไปไม่ใช่โครงปฏิบัติ โครงปฏิบัติต้องลงในหลักปัจจุบันธรรม

ถนัดในขันธ์ใดพิจารณาขันธ์นั้นแล้วมันจะกระจายไปถึงกันหมด เพราะเกี่ยวโยงกันอยู่ทั้งตัว แยกออกเป็นอาการ ๆ เรียกว่าขันธ์ ๆ ว่าหมวด ๆ ว่ากองเฉย ๆ ความจริงมันอยู่ด้วยกันนั่นแหละ สังขารก็มีแต่ปรุงเป็นเรื่องสติปัญญาไม่มาปรุงหลอกตนเอง เพราะปัญญาก็เป็นสังขาร สังขารเป็นได้ทั้งสมุทัยเป็นได้ทั้งมรรค สังขารที่ปรุงในทางผิดก็เป็นสมุทัย ปรุงในทางถูกก็เป็นมรรคคือสติปัญญา

นี่เอาเพียงแค่นี้ไม่ต้องเอามาก เพียงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอยู่กับขันธ์ ๕ นี่ พอทราบนี้แล้วมันก็เข้าสู่ภายในใจอีก สุขเวทนาภายในใจ ทุกขเวทนาภายในใจ อันเป็นส่วนละเอียดตามขั้นภูมิของจิตของธรรมซึ่งมีอยู่กับใจด้วยกันนั้นแหละ ก็พิจารณาโดยทางปัญญาอีกเช่นเดียวกัน สุขมันเกิดขึ้น ทุกข์มันเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่าสุขนี้คือสุขเวทนา ทุกข์นี้คือทุกขเวทนา มีอยู่ทั้งภายในใจและในร่างกายเหมือนกัน

เมื่อจิตได้พิสูจน์รู้แจ้งเห็นจริงตามขันธ์ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ กิเลสจะไปซุ่มซ่อนอยู่กับขันธ์ใด ความลุ่มหลงความยึดถืออันเป็นเรื่องของกิเลสนั้นจะซุ่มซ่อนแทรกซึมอยู่ในขันธ์ใดไม่มี เพราะสติปัญญาตีตะล่อมเข้าไปหมดแล้ว คลี่คลายดูหมด มีแต่เรื่องของขันธ์ สักแต่ว่าขันธ์ ขันธ์ใดก็สักแต่ว่าขันธ์เท่านั้นไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา รูปก็สักแต่ว่ารูปขันธ์ เช่น ร่างกาย เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ก็สักแต่ว่าอาการซึ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป สัญญาก็เป็นเพียงอาการของจิตที่แทรกซึมออกไป สังขารก็คือความคิดที่ปรุงขึ้นทั้งดีทั้งชั่วแล้วดับไป ๆ ผลสุดท้ายก็มีแต่ความเกิดความดับเท่านั้นหาสาระแก่นสารกับสิ่งใดไม่ได้ กระทั่งถึงวิญญาณ สัมผัสสัมพันธ์อะไรก็ดับไปพร้อมกับความสัมผัสสัมพันธ์

นี่ละวิธีการทำลายกิเลส กิ่งก้านสาขาของอวิชชา ไปจากความหลงรูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส ไปจากความหลงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้แลไม่ไปจากไหน นี่เป็นสถานที่หรือเป็นทำเลหาอยู่หากิน เป็นทำเลปกครอง เป็นทำเลยึดถือของอวิชชา เพราะมีบริวารมาก สถานที่กว้างขวางมาก เมื่อได้ถูกตีต้อนเข้ามาด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรแล้ว ก็จะรวมตัวเข้ามาดังที่กล่าวนี้ จนไม่มีที่เกาะ จะไปเกาะรูปก็ทราบชัดแล้วด้วยปัญญาโดยทางพิจารณามาแล้ว เวทนาจะเป็นเวทนาไหนก็คือเวทนาอยู่ดี ๆ รู้แล้ว สัญญา สังขาร วิญญาณแต่ละอย่าง ๆ ก็สักแต่อาการ ๆ ดังที่กล่าวมา แล้วซึ้งด้วยเพราะการพิจารณาของเรา หมดความติดใจ หมดความยึดความถือ หมดกังวล

ความกังวลก็เกิดขึ้นจากความยึด ความยึดก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ความกังวลก็แทรกเข้าไปอีกเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง สุดท้ายก็คือความทุกข์ รวมตัวแล้วมาเป็นความทุกข์แก่จิตใจเอง เมื่อจิตใจได้พิจารณาลงไปโดยทางสติปัญญาให้แจ่มแจ้งชัดเจนแล้วถอนออก ก็เหมือนกับเราถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากตัวของเรานั่นแล สุดท้ายก็ไปรวมอยู่ที่จิต จิตก็เป็นสนามรบระหว่างกิเลสกับธรรม คือ มัชฌิมาหรือว่าสติปัญญา ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปที่นั่น

จุดนั้นไม่กว้างขวาง มีเพียงความรู้และแสดงอาการแห่งสังขารที่แสดงขึ้นเท่านั้น แล้วดับไป ๆ เพราะจิตไม่ยึดสังขารทั้งมวลแล้ว รู้เท่าแล้ว แต่ยังไงมันก็ต้องมีอาการของมันแสดงขึ้น เพราะสมุทัยมันอยู่ภายในจิตใจ ต้องแสดงออกมาไม่ยืดยาวก็พอให้ทราบ คือไม่กว้างขวางออกไปภายนอกเหมือนแต่ก่อน ก็พอทราบได้ว่าสังขารนี้ปรุงมาจากไหน อะไรเป็นสาเหตุปรุงขึ้นมาให้เกิดดีเกิดชั่วเกิดรักเกิดชังเกิดความยินดี มันตลบทบทวนกันอยู่นั้น คลี่คลายกันอยู่ที่นั่น คุ้ยเขี่ยขุดค้นกันอยู่ที่นั่น ฟันกันอยู่ที่นั่น ผลสุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสทั้งมวลที่ซุ่มซ่อนอยู่ภายในจิตโดยถือจิตเป็นอุโมงค์ หรือถือจิตเป็นเกราะกำบังก็ถูกทำลายเสียหมดโดยสิ้นเชิง เมื่อ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดับไปแล้วมันก็เป็น นิรุชฺฌนฺติ เท่านั้นเองจะว่าไง

เมื่ออวิชชาดับไม่มีเหลือแล้ว สังขารก็เป็นสังขารล้วน ๆ เสีย คือ ขันธ์ล้วน ๆ อวิชชาหมดไปแล้ว ปจฺจยา นั้นหมายถึงว่าความเป็นปัจจัยต่อกันหรือเป็นเครื่องหนุนกันไปให้เกิดสังขาร สังขารประเภทนี้ก็หมดไปเสีย เพราะไม่มีอวิชชาเป็นเครื่องหนุนเป็นปัจจัย วิญญาณความรับทราบก็ไม่ได้รับทราบเพื่อเป็นกิเลสตัณหา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ ไปสัมผัสสัมพันธ์กับเรื่องนามรูปหรืออะไรก็ตาม ที่จะให้เกิดนามรูปมันก็เกิดไม่ได้

เพราะอวิชชาดับแล้วจะเอาอะไรมาเกิด สฬายตนะความสัมผัสสัมพันธ์จะให้เกิดเวทนา จะให้เกิดตัณหา เกิดไม่ได้เพราะไม่มีเชื้อที่จะพาให้เกิดเวทนา ให้เกิดตัณหา ให้เกิดภพเกิดชาติ ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ ไม่มี เพราะ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เป็นต้น ดับจากนี้แล้วดับไปตลอดสายเลย มันก็ดับพร้อม ๆ กันนั่นแหละ ท่านหากแยกออกไปเฉย ๆ เป็นอาการ เราอย่าเข้าใจว่าเมื่ออันนี้ดับแล้วอันนั้นจึงจะดับ ๆ เป็นอันดับ ๑ อันดับ ๒ อันดับ ๓ เป็นความเข้าใจผิด

เรื่องความจดความจำจากการศึกษาเล่าเรียนนั้น ยอมรับว่าตัองเป็นอย่างนี้ด้วยกัน เข้าใจว่าจะต้องดับไปโดยลำดับ หรือเกิดขึ้นต่อกันเป็นลูกโซ่ไปโดยลำดับ มันอยู่ด้วยกันนั้นแหละแต่แยกเป็นอาการออกไป เวลาดับก็เหมือนกัน พออันนี้ดับแล้วอะไร ๆ มันก็ดับด้วยกันหมด เหมือนอย่างต้นไม้ที่ถอนรากมันขึ้นมาแล้ว แล้วอะไรมันดับก่อนดับหลังที่นี่เราก็พอทราบไม่ใช่เหรอ มันก็ดับไปพร้อม ๆ กันแหละ กิ่งมันก็ห่อเหี่ยวไป ใบมันก็เหมือนกัน แล้วสุดท้ายก็ตายไปด้วยกัน พร้อม ๆ กันนั่นเอง ตั้งแต่รากแก้วรากฝอยขึ้นมา ไม่มีอะไรจะตายก่อนตายหลัง มันตายพร้อม ๆ กันไปโดยลำดับ นอกจากวัตถุใดที่มันหยาบกว่ากันก็ไปช้ากว่ากันหน่อย มันก็ไปด้วยกัน จะช้าหรือเร็วมันก็ไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสตัณหาอาสวะก็เหมือนกัน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดับไปพร้อม ๆ กันหมดไม่มีอะไรเหลือ นี่ภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นธรรมะที่จะเป็นความจริงขึ้นมาให้หายสงสัยแก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จะต้องเป็นขึ้นจากด้านปฏิบัติ ความจำพอเป็นแบบแปลนแผนผังเท่านั้น ความจริงเป็นสำคัญที่เราจะต้องปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเฉพาะอย่างยิ่งพวกสมาธิพวกปัญญานี่เป็นธรรมสำคัญมากต่อกิเลสประเภทต่าง ๆ เพราะกิเลสนั้นเมื่อเทียบแล้วก็เหมือนกับข้าศึกศัตรู เราเองกับข้าศึกคือกิเลสนั้นเป็นศัตรูต่อกัน สติปัญญาศรัทธาความเพียรเป็นเครื่องมือเป็นเครื่องสนับสนุน ที่เราจะนำเครื่องมือนี้เข้าต่อสู้กับกิเลส ผู้ที่จะวินิจฉัยใคร่ครวญหรือให้รู้จริงเห็นจริงตามความหมายแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าลึกตื้นหยาบละเอียด จะต้องทราบทางภาคปฏิบัติ เพียงความจำมานั้นทำให้คาดไปเท่านั้น เพราะเป็นความจำไม่เป็นความจริง

ถ้าจะเทียบแล้วก็เหมือนอย่างคนนี้ก็เรียนวิชาทหาร วิชารบมา คนนั้นก็เรียนวิชารบเหมือนกัน แต่คนหนึ่งได้ออกสู่แนวรบมาอย่างช่ำชอง อย่างโชกโชน ชีวิตรอดตายค่อยเหลือมา ในระหว่างคนทั้งสองนี้ใครจะมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า รู้จักเหตุผลต้นปลายความหนักเบาต่อการต่อสู้ในสงครามนั้นได้ดีกว่ากัน ตลอดถึงเครื่องมือที่จะนำไปใช้ในสงครามนั้นต่อศัตรูทั้งหลายซึ่งมีประเภทต่าง ๆ เครื่องมือเขาก็มีเครื่องมือเราก็มี

ผู้เรียนหลักวิชาการเฉย ๆ จะไม่มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ไม่มีความสามารถอาจหาญ ไม่มีความคล่องตัว ไม่มีความชำนิชำนาญ เหมือนผู้ที่เคยเข้าแนวรบมาแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นความจริงแล้วด้วยตัวเอง นั่นแหละคือภาคปฏิบัติ เข้าสู่แนวรบเป็นภาคปฏิบัติตามหลักวิชารบแล้วนั่น ผู้นั้นแลเป็นผู้ที่จะได้เหตุได้ผลได้ความเข้าใจจากการรบมาเต็มภูมิใจของตนเอง ผิดกับผู้ที่สักแต่ว่าเรียนวิชารบแต่ไม่ได้เข้าแนวรบเป็นไหน ๆ

การเรียนก็เป็นเหมือนกับเรียนวิชารบ....เรียนปริยัติ แต่ไม่ได้เข้าแนวรบคือปฏิบัติดูจึงไม่รู้ ความลึกตื้นหนาบางของธรรมที่ท่านแสดงไว้ ตีความหมายไปไหนด้วยความจำเป็นความผิดไปทั้งมวล ผิดกันมากทีเดียวกับภาคปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยตนเอง พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติโดยถือหลักปริยัติเป็นเข็มทิศทางเดิน นำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามีสติปัญญาเป็นต้น มาเป็นเครื่องมือฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสประเภทต่าง ๆ เอ้า กิเลสประเภทไหนมีความหนักเบาแค่ไหน เช่น ราคะตัณหาเวลามันเกิดขึ้น โลภะเวลาเกิดขึ้น โทสะเวลาเกิดขึ้น จะควรปราบปรามมันด้วยวิธีใด นักปฏิบัติต้องทราบ

เวลามันเกิดขึ้นมาจะเป็นกิเลสประเภทใด เราจะต่อสู้กับกิเลสประเภทนั้นที่กำลังแสดงตัวขึ้นมาก ๆ นั้นด้วยวิธีการขนาดไหน ต้องเอาให้หนักมือเพราะกิเลสประเภทนี้รุนแรงมาก ขณะนี้รุนแรงมากเราจะใช้ความอ่อนแอไม่ได้ สติปัญญาศรัทธาความเพียรมีมากน้อยเพียงไรจะต้องทุ่มเทลงถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงความจริงเต็มตัว จึงจะได้ชัยชนะจากการปราบปรามกิเลสประเภทนั้น ๆ ลงได้

เมื่อการทำอยู่ทุกวันปฏิบัติอยู่ทุกวันก็เท่ากับเราเข้าแนวรบอยู่ทุกวัน จะต้องเจอกับแง่งอนต่าง ๆ ของกิเลสซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตทุกระยะเวลา แล้วมีการต่อสู้รบฟันหั่นแหลกกันอยู่ภายในใจของตนด้วยการปฏิบัติ มีสติปัญญาเป็นเครื่องมืออันสำคัญอยู่ตลอดไป เราก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญในภาคปฏิบัติ และผลที่เกิดขึ้นมาแต่ละครั้ง ๆ เป็นความจริงเห็นประจักษ์ใจหายสงสัยไปโดยลำดับ ๆ ตั้งแต่ขั้นต้นขั้นกลางจนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นไปได้ ดังที่อธิบายมาสักครู่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาคปฏิบัติ ที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ภาคปฏิบัติต่ออวิชชาจริง ๆ ปฏิบัติอย่างไรก็ได้อธิบายให้ฟังผ่านไปแล้ว นั้นแหละคือภาคปฏิบัติ ภาคเข้าสู่สงครามต่อสู้กับศัตรูด้วยเครื่องมืออันทันสมัย มีสติปัญญาจนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญาเป็นยอดแห่งธรรมที่ทันสมัย จึงปราบกิเลสวัฏจักรได้แก่อวิชชาให้สิ้นซากลงไปภายในจิตใจได้ แล้วเป็นความจริงขึ้นมาอย่างเต็มดวง

ใจที่พ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วเป็นใจที่ทรงความจริงไว้ได้อย่างเต็มส่วน เป็นของอัศจรรย์อย่างเต็มที่ นั้นแหละความจริงเต็มที่อยู่ในนั้น และทราบทั้งเหตุที่เคยดำเนินมาหนักเบามากน้อยเพียงไรกับกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ความหมายขนาดไหนของมัชฌิมาผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะทราบความหมายของมัชฌิมาได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำมัชฌิมานี้เข้าต่อสู้กับกิเลส

กิเลสประเภทไหนมีความรุนแรงขนาดไหน มัชฌิมาจะต้องใช้ความรุนแรงขนาดไหนถึงจะพอกัน หรือเหนือกิเลสไปได้โดยลำดับ ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะเป็นผู้ทราบได้เพราะทำเอง ปฏิบัติเอง เข้าสู่แนวรบเอง จนกระทั่งกิเลสหมอบราบไปโดยลำดับ ๆ เพราะมัชฌิมาประเภทที่ทันสมัย ๆ กับกิเลสประเภทนั้น ๆ จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ กิเลสเรียบราบเหลือแต่ชัยชนะเต็มภูมิ นี่คือผู้ช่ำชองในแนวรบด้วยการปฏิบัติ ผู้นี้แลเป็นผู้ทรงความจริงไว้ได้เต็มสัดเต็มส่วน เต็มอรรถเต็มธรรม ไม่สงสัยในเรื่องธรรมทั้งหลายมีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น ว่ามีความหมายแค่ไหนบ้าง เข้าใจได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงแต่สักเข้าใจว่ามัชฌิมาปฏิปทาเดินทางสายกลาง มันกลางขนาดไหนจึงพอดีกับคำว่ามัชฌิมานี้ แยกมัชฌิมามีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นนี้ไปต่อสู้กับกิเลสลองดูซี ถ้าเราอยากจะทราบว่ามัชฌิมามีความหมายลึกตื้นสักแค่ไหนก็ทราบกันได้เอง เพียงว่ามัชฌิมาเดินทางสายกลางเฉย ๆ อย่างนั้นมันไม่ได้เหตุได้ผลอะไร ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับการทราบความหมายเพียงเท่านั้น แต่เกิดผลเกิดประโยชน์เพราะนำมัชฌิมานี้ออกสู่แนวรบต่อสู้กับกิเลสด้วยตนเองนั้นแหละ จึงจะเห็นความจริงขึ้นมาภายในตัวเอง แล้วหายสงสัยทั้งคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทั้งกิเลสทุกประเภทที่ได้ถูกปราบด้วยมัชฌิมาปฏิปทาแล้วจะสงสัยไปที่ไหน

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องวัดหรือเป็นเครื่องยืนยันอยู่กับการปฏิบัติของเรานี่ เราอย่าไปคาดไปหมายให้เสียเวล่ำเวลา ความจริงมีอยู่กับเราทุกคน ให้นำธรรมนั้นเข้ามาประยุกต์กันกับกิเลสซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่งของมันให้ทันเหตุการณ์ แล้วจะทราบความจริงได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เช่นนั้นก็จะแบกตั้งแต่ความจำสัญญาอารมณ์อยู่เปล่า ๆ ก็ไม่ผิดอะไรกับโลกทั่ว ๆ ไป

พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้แบกสัญญาอารมณ์ พระสาวกไม่ใช่ผู้แบกสัญญาอารมณ์ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความจริงอย่างประเสริฐ เราก็ต้องพยายาม อยากเห็นความจริงมีอยู่กับหัวใจดวงนี้แหละ ไม่อยู่ที่ไหนอยู่ที่ตรงนี้ เวลานี้มันไม่ประเสริฐก็เพราะสิ่งจอมปลอมสกปรกรกรุงรัง สิ่งต่ำช้าเลวทรามทั้งหลายครอบหัวใจอยู่เท่านั้น เมื่อได้ชำระสะสางหรือฟาดฟันอันนี้ออกด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของเราแล้ว จิตไม่ต้องบอกถึงเรื่องความดีดตัวขึ้นมา ต้องดีดขึ้นมาโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งดีดขึ้นมาเป็นอิสระเต็มที่เต็มดวง กลายเป็นธรรมทั้งแท่งธรรมทั้งดวงขึ้นที่ใจ ทรงไว้ซึ่งความจริงเต็มส่วน

หายสงสัยทั้งอดีตที่เคยเป็นมามากน้อยเพียงไร ทั้งอนาคตว่าจะไปเกิดที่ไหนไปตายที่ไหนอีก ไม่ว่าจะอนาคตเรื่องเกิดเรื่องตาย อนาคตของขณะต่อไปนั้น วันพรุ่งนี้ มะรืน เดือนหน้า ปีหน้า ก็ไม่มีสงสัย ปัจจุบันก็รู้เท่าทัน ทุกสิ่งทุกอย่างรอบอยู่ในหลักปัจจุบันนี้หมดแล้วจะเอาอะไรมาสงสัย เพราะอดีตหรืออนาคตก็ไปจากปัจจุบันนี้เป็นตัวสงสัย ได้ตัดหรือได้ทำลายตัวสงสัย ธรรมชาติที่สงสัยอยู่ภายในจิตใจนี้ออกหมดแล้ว อดีตจะไปสงสัยมันอะไรเมื่อปัจจุบันพร้อมแล้ว รู้รอบแล้วจะไปสงสัยอดีตหาประโยชน์อะไร สงสัยอนาคตหาประโยชน์อะไร เพราะปัจจุบันนี้เต็มสัดเต็มส่วนแล้วด้วยความจริง ยืนยันกันอยู่กับนี้เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้อยู่ที่ใจนี้แล้วว่ารอบแล้ว พร้อมแล้วหรือพอแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่หิวไม่เอื้อม นี่แลผลแห่งการปฏิบัติจะปรากฏขึ้นที่จิตนี้

ขอให้ทุกท่านได้เอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รื้อถอนตนออกจากทุกข์ อย่าไปคำนึงว่าความยากความลำบาก ให้เห็นว่าพิษของกิเลสนั้นน่ะเป็นสิ่งที่ทรมานสัตวโลกให้ได้รับความยากลำบากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด การปฏิบัติประกอบความพากเพียรไม่ได้ทำโลกให้ล่มจม ไม่ได้ทำเราให้ล่มจมฉิบหาย เราจะเห็นว่าเป็นความลำบากลำบนไปที่ไหน มันก็เป็นการเสริมกิเลสละซี คล้อยตามกิเลส หลงกลมายาของกิเลสละซี

เวลาจะประกอบความพากเพียรเพื่อถอนตนให้พ้นออกจากทุกข์ กลายเป็นความลำบากลำบน หรือเห็นว่าเป็นความลำบากลำบนไปเสีย ก็คือเราหลงกลมายาของกิเลสทั้ง ๆ ที่จะฆ่ากิเลส เมื่อหลงกลมายาของมันอยู่อย่างนั้นแล้วจะฆ่ามันได้ยังไง นอกจากมันจะฆ่าเราทรมานเราเท่านั้น

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก