ค้นอยู่กับความจริง
วันที่ 21 สิงหาคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 31.03 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

ค้นอยู่กับความจริง

 

ธรรมมีอยู่ในผู้ใด บ้านใด เมืองใด สังคมใด เย็น ถ้าที่ไหนเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย ให้พึงทราบว่าที่นั้นหาธรรมไม่ได้ มีแต่โลกล้วน ๆ ก็ต้องมีแต่กองไฟล้วน ๆ เผากัน พระพุทธเจ้าหรือนักปราชญ์ทั้งหลายไม่ว่ากาลปัจจุบันนี้ แม้แต่ดึกดำบรรพ์กาลไหน ๆ มา ไม่เคยชมเชยเรื่องกิเลสตัณหาอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าเป็นของดี มีมากมีน้อยก็เป็นสิ่งที่จะยุแหย่ก่อกวนบีบบังคับจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่ด้วยกันหมด ไม่มีอะไรเป็นของดี

ใครจะไปฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ องค์ไหนมาตรัสก็ตรัสแบบเดียวกัน ตำหนิสิ่งที่ควรตำหนิ ชมสิ่งที่ควรชม ให้ละสิ่งที่ควรให้ละ ให้บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เพื่อจะเอาความสุขความสบายความเหมาะสมใส่หัวใจของตนเอง ให้อยู่กับโลกไปได้โดยลำดับ แม้จะไม่สิ้นสิ่งเหล่านี้ภายในจิตใจโดยสิ้นเชิงก็พอระงับดับกันได้ พออยู่พอเป็นพอไป ถ้ายิ่งระงับดับได้หมดไม่มีสิ่งใดเหลือภายในตัวเองแล้ว ท่านก็ให้ชื่อให้นามว่าผู้นั้นประเสริฐ เพราะไม่มีอะไรกวนใจ

สิ่งกวนใจคืออะไรถ้าไม่ใช่กิเลส มีแต่กิเลสประเภทต่าง ๆ ทั้งนั้น แตกกิ่งแตกแขนงออกมาจากรากเหง้าเค้ามูลคือ อวิชชาตัณหา มันออกมาก็แตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ แสดงกิริยาอาการอะไรออกมาล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสิ่งที่ได้รับการบังคับบัญชาออกมาจากกิเลสแต่ละประเภท ๆ ให้ต้องหมุนเวียนในกิริยาท่าทางซึ่งเป็นความเดือดร้อนทั้งนั้น นั่นละกิเลสมันเดือดร้อน ส่วนธรรมแสดงออกมาอยู่ภายในก็เย็น แสดงออกมาภายนอกเป็นธรรมเครื่องส่อแสดงออกมาก็เย็น เย็นหูเย็นตาเพราะผู้นั้นมีธรรมเป็นเครื่องเย็นใจ

มีธรรมเท่านั้นเป็นสำคัญที่จะให้ไว้วางใจได้ทั้งปัจจุบัน ทั้งทางโลกทั้งทางธรรมและอนาคต นอกเหนือธรรมคือความจริงซึ่งเป็นธรรมชาติที่ลบไม่สูญนี้ไปไม่ได้ ธรรมนี้มีอยู่ดั้งเดิมมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่คนมีความฉลาดบ้าง โง่บ้าง สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ธรรมจึงปรากฏเป็นครั้งเป็นคราว ท่านว่าธรรมเกิดหรือศาสนาเกิด พระพุทธเจ้าเกิดคือพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม ได้แก่ความค้นคว้าเจอความจริงขึ้นมา ธรรมของจริงขึ้นมาแล้วนำมาสอนโลก

ต่อไปก็ค่อยซบเซาลงไป ๆ เพราะอำนาจของกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ มันรุนแรงรุมล้อมหัวใจของสัตว์ ให้ลืมศีลลืมธรรมไปเสีย เมื่อลืมศีลลืมธรรมเมื่อไรแล้วกิเลสก็ตักตวงเอาตามความต้องการของมัน กิริยาอาการที่แสดงออกของสัตวโลกจึงหาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ มีแต่เรื่องก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่กัน นั่นถ้าพูดถึงข้างโลกเป็นอย่างนั้น

ย่นเข้ามาถึงตัวของเราเอง ขณะใดที่จิตใจของเราดี มีความสงบร่มเย็น มีความแยบคายภายในจิตใจ ขณะนั้นเวลานั้นเราอยู่ที่ไหนก็เย็นสบาย เพราะธรรมคุ้มครองใจ ขณะใดที่มีความพลั้งเผลอหรือประกอบกิจการงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นเครื่องรบกวนทางด้านจิตตภาวนา หรือเป็นสิ่งทำลายจิตตภาวนาให้เสียไปวันละเล็กละน้อยด้วยการก่อสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นความกังวล นั่นแหละจิตเริ่มก่อตัวขึ้นมาด้วยความไม่ดี เดือดร้อนวุ่นวาย

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงห้าม ทรงแนะ ทั้งห้ามทั้งแนะ กิจการงานใดที่จะเป็นข้าศึกต่อจิตตภาวนาให้พึงระมัดระวัง เช่น ผู้ฝึกหัดอบรมภาวนายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ อย่าพึงไปอยู่สถานที่ เช่น วัดที่กำลังซ่อมแซมหรือกำลังก่อสร้าง อย่าชอบทำนั้นสร้างนั้นสร้างนี้ อย่าไปอยู่ในสถานที่ที่ผู้คนจอแจ ให้ไปหาอยู่ที่เปลี่ยว ๆ หาอยู่ที่สงัดร่มเย็น ให้ถือหน้าที่คือการจิตตภาวนาเป็นงานอันสาระสำคัญประจำชีวิต ประจำอิริยาบถของตนตลอดไป ทรงสอนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นครั้งพุทธกาลจึงตักตวงเอาแต่มรรคผลนิพพานอยู่ตลอด ทั่วแดนพุทธจักรที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา และพระสาวกช่วยประกาศศาสนาไปถึงสถานที่ใด ประชาชนมีความเชื่อความเลื่อมใส ได้สดับตรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ชี้แจงออกด้วยหลักความจริง ให้ได้เห็นเหตุเห็นผลหูแจ้งตาสว่าง นอกจากนั้นยังได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมากมาย ท่านเอาจริงเอาจัง

ความเชื่อก็คือใจ ความไม่เชื่อก็คือใจ ความจริงจังในทางดีก็คือใจ ความไม่จริงจังในทางดีแต่ไปจริงจังในทางชั่วก็คือใจ เพราะฉะนั้นผลจึงต้องแสดงออกมาอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เช่น ผลเป็นทุกข์ก็ทุกข์จริง ๆ ให้เจ้าของรู้อยู่เสมอภายในจิตใจเป็นอย่างน้อย นอกจากนั้นก็แสดงออกมาทางกิริยา เป็นสุขก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนภายในเจ้าของ นอกจากนั้นก็แสดงให้คนอื่นได้เห็นในอากัปกิริยาแห่งความร่มเย็นของจิตใจซึ่งมีอยู่ในตน

เราเป็นนักปฏิบัติพึงสนใจในหน้าที่การงานของตนที่ทำอยู่นี้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าอ่อนข้อย่อหย่อนอ่อนแอในหน้าที่ของตน ซึ่งเวลานี้เรียกว่าเราเข้าสนามรบ รบกับอะไร ก็รบกับข้าศึกของเรานั่นแหละ ข้าศึกของเราคืออะไร อยู่ที่ไหน ข้าศึกก็คือกิเลสประเภทต่าง ๆ มีอยู่ภายในจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรขึ้นมาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งเสริมธรรมขึ้นมาภายในจิตใจให้มากมูนโดยลำดับ เพื่อจะกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านี้ออกไปจากใจทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งไม่ให้มีสิ่งใดเหลือภายในจิตใจนั่นเป็นเอกราช อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ผู้ที่ชนะตนได้นั้นแลประเสริฐ ชนะตนก็คือชนะกิเลสข้าศึกที่มีอยู่ภายในจิตใจของตนเองนี้จะไปชนะที่ไหน ข้าศึกอยู่ที่นี่ แพ้ก็แพ้มันหลุดลุ่ยอยู่ที่นี่ตลอดมา คราวนี้เราจะไม่ให้แพ้ ตั้งหน้าตั้งตารบ เป็นกับตายก็สู้มัน เอาให้ได้ชัยชนะภายในจิตใจ

เรียนวัฏจักรก็เรียนที่จิตนี้เอง ความหมุนเวียนของจิต จิตมันเกิดมันตาย มันไม่สูญ มันไปภพใดภพน้อยภพใหญ่เป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ ท่านว่าสัมภเวสี พวกเสาะแสวงหาที่เกิดก็มี ภพน้อยภพใหญ่ก็มี หลายขั้นหลายภูมินับไม่ถ้วน สถานที่สัตว์จะเกิด กำเนิดที่สัตว์จะอุบัติมีอยู่มากมายก่ายกอง

แต่จะไปเกิดในสถานที่ใดภพใดก็ตาม ไม่นอกเหนือไปจากจิตดวงนี้ที่มีอวิชชาเป็นเชื้อ และวิบากกรรมดีชั่วเป็นเครื่องติดตามอยู่ภายในจิตใจ สัตวโลกจึงไม่ได้เกิดตามความต้องการของตน ไม่มีสัตวโลกรายใดที่จะไปเกิดได้ตามความต้องการของตน ต้องตกอยู่ในอำนาจของกรรมมีอวิชชาเป็นพื้น เป็นเชื้อที่จะพาให้เกิดหนึ่ง มีวิบากกรรมเป็นสิ่งที่จะพาให้เสวย คือวิบากกรรมดีชั่วเป็นสิ่งที่จะพาให้ไปเกิดในกำเนิดนั้น ๆ แล้วได้เสวยสุขเสวยทุกข์ตามอำนาจแห่งกรรมดีชั่วของตน มีใครจะมีอำนาจพอที่จะบังคับบัญชาทุกสิ่งทุกอย่างไว้แล้วไปเกิดโดยลำพังตนเองได้ การถูกจองจำไปเพราะอำนาจแห่งกรรมมันผิดกันอะไรกับผู้ต้องหาที่ถูกจองจำ หรือนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่เห็นผิดกันอะไร เราต้องคิดสิ่งเหล่านี้เข้ามาเทียบเคียง เพื่อจะให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นโทษเห็นคุณกันอย่างจริงจังแล้วจะได้ทุ่มความพากเพียรลงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

การเกิดตายมีอยู่ที่จิต ให้เรียนลงไปที่นี่ ปฏิบัติลงไปที่นี่ จะไม่รู้ที่ไหนจะรู้ที่ตรงนี้ เพราะตัวนี้เป็นตัวเหตุแท้ ๆ เรื่องการพาให้เกิดให้ตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย แม้จะจำได้ไม่ได้ในภพชาติของตนก็ตาม สิ่งที่ยืนยันให้เห็นชัด ๆ โดยทางจิตตภาวนานั้นอยู่ที่จิต เรียนเข้าไปปฏิบัติเข้าไป จิตละเอียดเข้าไปเท่าไรยิ่งรู้ได้ชัด ๆ โดยลำดับ ๆ สาเหตุที่จะพาให้เกิด เกิดภพใด ภพสูงภพต่ำก็บอกอยู่ภายในจิต มีความละเอียดลออเพียงไร จะไปเกิดในภพอันละเอียดก็ทราบอยู่ในจิต

พระพุทธเจ้าท่านนำเรื่องความเกิดความตายในวัฏสงสารมาสั่งสอนสัตวโลก ท่านทรงเรียนมาจากนี่ ทรงปฏิบัติทรงรู้ในพระทัยของพระองค์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วจึงนำมาสอนโลก เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ตรัสไว้แล้วโดยชอบธรรม ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปแม้แต่น้อย ท่านสอนตามหลักความจริง

เราเป็นนักเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทุกรายทำไมจึงไม่ทราบเรื่องของตัวเอง ก็เพราะสิ่งที่มืดมิดปิดตามันมีอยู่ภายในจิตใจมันปิดไว้ไม่ให้รู้ เพราะฉะนั้นจึงเปิดออกด้วยความพากเพียรทางจิตตภาวนา ให้รู้จริงเห็นจริงจากนักโทษตัวพาให้เกิดให้ตายในร่างกายนี้ นักโทษมันอยู่ในจิตนี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ อวิชชาเป็นเชื้ออันสำคัญพาให้ก่อกำเนิดเกิดในภพน้อยภพใหญ่ วิบากกรรมก็อยู่ในวัฏวน ๓ นั่นเองไปที่ไหน กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ท่านก็บอก คำว่ากรรม กรรมดีกรรมชั่ว ทำกรรมแล้วผลของกรรมย่อมเกิดขึ้น

กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม คำว่ากิเลสหมายถึงอะไรถ้าไม่หมายถึงอวิชชาเป็นรากฐานสำคัญพาให้สัตว์ทำกรรม บังคับให้สัตว์ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว วิบากก็จะต้องได้รับผลของกรรม ได้วกเวียนเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่นั้น ท่านเรียกว่าวัฏวน ๓ วนไปวนมาเหมือนกับมดแดงไต่ขอบด้งนั้นเอง ไต่ไป ๆ แล้วก็ไปถึงที่เก่าก็ไม่รู้ว่าเป็นที่เก่าที่ใหม่ ไต่วนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น มดไต่ขอบด้งเป็นอย่างนั้น นี่เราไต่ขอบแห่งวัฏจักรก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ทราบเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ ถ้าไม่เรียนให้เข้าถึงหลักความจริงที่ควรจะทราบได้หนักเบามากน้อย ยังไงก็ทราบไม่ได้

เพียงเราไปเรียนเอาเฉย ๆ ตามตำรับตำรา จบพระไตรปิฎกมาก็แบกความสงสัยมาเต็มพุงนั่นแหละ ไม่ได้แบกความรู้แจ้งเห็นจริงมาถ้าไม่ใช่ทางประพฤติปฏิบัติ เพราะพระพุทธเจ้าทรงรู้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ สาวกทั้งหลายรู้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่รู้ด้วยการเรียนจดจำเฉย ๆ เพราะความจำกับความจริงมันผิดกันคนละโลก ไม่ใช่โลกเดียวกัน ความจำมีแต่หลอกเราทั้งนั้น นี่ลองพูดขึ้นดูซิว่าเมืองนั้นบ้านนั้นอย่างนี้นะ เช่น เมืองอังกฤษอย่างนี้ ผู้ที่ไม่เคยเห็นเมืองอังกฤษ มีกี่ร้อยกี่พันคนก็ตาม จะวาดภาพเมืองอังกฤษขึ้นมาทันที นั่นความสำคัญมั่นหมาย ความด้นเดา แต่เวลาไปเห็นเมืองอังกฤษเสียจริง ๆ แล้วสภาพเป็นยังไง ๆ ความวาดภาพมั่นหมายรู้อะไรนั้นมันก็ล้มไปหมด เหลือแต่ความจริงที่เราไปเห็นด้วยตาของเรา นี่ท่านเรียกว่าความจริง เมื่อความจริงเข้าถึงไหนแล้วความปลอมต้องล้มไปหมด เช่นความวาดภาพไว้คือความปลอม

ที่เราเรียนมานี้มันปลอมยังไม่จริง เมื่อเข้าปฏิบัติถึงความจริงไปมากน้อย ความจำทั้งหลายนั้นก็ล้มละลายไป ๆ มีแต่ความจริงเด่นภายในจิต นี่เรียนจิตก็เรียนอย่างนี้ จิตเกี่ยวโยงไปถึงไหน รอบโลกธาตุมีที่สิ้นสุดมีขอบเขตที่ไหน แม่น้ำมหาสมุทรยังมีขอบมีฝั่งมีแดน เรื่องของจิตมีขอบมีเขตที่ไหน มันไปได้รอบเขตจักรวาลทั่วโลกทั่วสงสาร เพราะฉะนั้นจึงประมวลมาด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร จนเข้าถึงตัวจริงของจิตแท้คืออะไร

กิเลสตัณหาอาสวะพอกพูนอยู่ภายในใจให้พาเกิดพาตาย แก้มันออกด้วยความเพียรของตนแล้วจิตก็ค่อยเบิกกว้างออกไป ความรู้ก็สว่างไสว ย่อมรู้ที่ไปที่มาของตัวเองเพราะสาเหตุนั้น ๆ แน่ะ มันรู้แล้ว นี่ยังมีเชื้อแห่งภพอยู่มากน้อยรู้อยู่ภายในใจ เชื้อแห่งภพหมายความว่าที่จะพาให้เกิดอีกนั้นน่ะยังมีในจิต แม้จะไม่ไปเกิดในภูมิต่ำ ๆ เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายเกิดกันก็ตามก็ทราบอยู่ว่าจะเกิด เกิดภูมิสูงก็จะเกิด รู้ เพราะเชื้ออันนี้มีความละเอียดไปโดยลำดับ จนกระทั่งตัดออกจากจิตใจหมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย แล้วขาดสะบั้นออกจากกัน

จิตไม่มีเงื่อนต่อ ไม่มีการสัมผัสสัมพันธ์ ไม่มีการเกี่ยวโยงกับสิ่งใด อยู่เป็นเอกเทศของตนโดยหลักธรรมชาติ แม้ที่สุดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รับผิดชอบอยู่ภายในตัวนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวโยงกันกับจิต จิตไม่ได้ซึมซาบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงเข้าไปถึงจิตให้ได้รับความกระทบกระเทือน จิตเป็นจิต คือผู้รู้เป็นผู้รู้ ขันธ์เป็นขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ เป็นสิ่งนั้นโดยหลักธรรมชาติของเขา ตามสมมุติของเขา นั่นท่านว่าตัด ตัดออกมาจากรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส วัตถุอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์อะไรก็ตาม พิจารณาด้วยปัญญาตัดขาดเข้ามา ๆ ปล่อยวางเข้ามาเป็นลำดับ จนกระทั่งในขันธ์ของเจ้าของ

กองรูปมีแต่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มาเสกสรรเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเขาเป็นเรา เป็นหญิงเป็นชาย หลงกันยุ่งกันไปหมด ผิวหนังบาง ๆ เท่านั้นแหละปิดตาบุรุษตาฟางก็มืดบอดหมดมองไม่เห็น ปัญญาแทงทะลุเข้าไปให้ถึงความจริงของมัน ความจริงขั้นหนึ่งก็เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก ความจริงขั้นที่สองเข้าไปก็เป็นแต่สักแต่ว่าธาตุ เมื่อสักแต่ว่าธาตุแล้วจะไปถือได้ยังไง ไปรักไปชังมันได้ยังไงมันสักแต่ว่าธาตุ พอถึงขั้นนี้แล้วชัดเจนก็ปล่อยของมัน ตลอดถึงพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอาการอันหนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้นจากจิตแต่ไม่ใช่จิต เป็นอาการ เพราะฉะนั้นจึงระงับดับกันได้ จึงถอนตัวได้ไม่ยึดสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาของตนเอง

นั่นการตัดภพตัดชาติต้องตัดความเยื่อใย ต้องตัดความผูกพันของตัวเองของจิตเองด้วยสติปัญญาอันแหลมคม จนกระทั่งตัดขาด อวิชชามีอยู่ที่ใจ พังทลายอวิชชาภายในดวงใจจนแหลกละเอียดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นั่นแหละที่นี่ใจดวงนั้นจะเอาอะไรมาเกิด เชื้อคืออวิชชาได้ทำลายแล้ว ถ้าเป็นข้าวก็เหมือนข้าวสุก หุงให้สุกนึ่งให้สุกแล้วจะไปปลูกที่ไหนมันจะเกิดล่ะ มันควรแก่การรับประทานเท่านั้น ไม่ควรแก่การเกิดอีกได้แล้ว จิตนี้ก็ควรแก่ความเสวยเป็นวิมุตติสุข ความบริสุทธิ์หมดจดเท่านั้น ไม่ควรแก่การเกิดอีกต่อไป ก็รู้อยู่ภายในจิต

ดังที่ท่านพูดไว้ในอาทิตตปริยายสูตรก็ดี อนัตตลักขณสูตรก็ดี ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ดีว่า นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโว ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปภพของเราไม่มีอีกแล้ว อยมนฺติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา พระพุทธเจ้าแสดงออกมาทางฝ่ายสงฆ์สาวกทั่ว ๆ ไป หรือผู้ที่รู้จริงเห็นจริง หรือท่านแสดงไว้ในอาทิตต ฯ อนัตตลักขณสูตร ท่านก็บอก วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ งานคือการรื้อถอนกิเลสทุกประเภทได้สิ้นสุดลงแล้ว

เพราะงานนี้เป็นงานใหญ่โตที่สุด ไม่มีงานใดที่จะใหญ่โตละเอียดลออ ต้องทุ่มเทสติปัญญาลงอย่างเต็มที่ กำลังวังชาชีวิตจิตใจต้องทุ่มเทลงเพื่องานนี้ และงานนี้ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก็คือว่าได้ฆ่ากิเลสราบไปหมดไม่มีกิเลสตัวใดเหลือแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ กิจที่ควรทำได้แก่การละ ก็ได้ละเรียบร้อยแล้ว การบำเพ็ญก็บำเพ็ญให้เต็มที่ถึงขั้นสมบูรณ์แล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ กิจอื่นที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ไม่มี ปชานาติ เพราะรู้ชอบแล้วนี่ จากนั้นก็ถึง วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ญาณความรู้แจ้งชัดว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน

นี่ละงานของพระในครั้งพุทธกาลท่านสำเร็จงาน ท่านทำงานท่านสำเร็จ ท่านทำงานท่านเสร็จ-ท่านเสร็จอย่างนี้ งานของท่านคืองานพิจารณาภาวนากรรมฐาน เริ่มตั้งแต่งานชิ้นแรก ๒ - ๓ ชิ้น ๔ - ๕ ชิ้นแรกขึ้นไปหางานจำนวนมาก คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ละงานแต่ละชิ้น ๆ แต่ละอย่าง ๆ นี้ให้เราไปทำ ไปทำยังไง เบื้องต้นก็เอาบริกรรมภาวนาในบทใดก็ตาม พิจารณาเข้าไปตามความจริงของมัน เกสา เป็นยังไง โลมา เป็นยังไง นขา ทันตา ตโจ เป็นยังไง ที่เกิดที่อยู่เป็นสิ่งที่สะอาดไหม ตัวมันเองสะอาดไหม สถานที่อยู่ของมันที่เกิดของมันสะอาดไหม ดูเข้าไป ตโจหมายถึงหนังหุ้มกระดูกอยู่นี้ เราไม่มองเห็นกระดูกเห็นแต่ผิวหนังก็หลงกัน ดูให้ทะลุเข้าไปทั้งข้างนอกหนังทั้งข้างในหนัง ทั้งในเข้าไปอีกโดยลำดับลำดา เห็นตามความจริง นี่เรียกว่าทำงาน คือ ทำงานพิจารณา

เริ่มแรกแต่ทำงานบริกรรม เหมือนกับว่าสับยำอะไรจั๊บ ๆ ๆ เหมือนเขายำลาบ พุทโธ ๆ ก็ดีหรือเกสา ๆ โลมา ๆ เพื่อจะตั้งพลังจิตรวมพลังจิตเข้ามาสู่จุดเดียวให้มีกำลัง อะไรถ้าไม่รวมไม่มีกำลัง เส้นหญ้าเล็ก ๆ ก็ตามเมื่อรวมเข้ามาหลายเส้นด้วยกันดึงไม่ขาด ตัดก็ต้องหลายหนถึงจะขาด ถ้าเพียงเส้นเดียวดึงขาดปั๊บ พลังของจิตถ้าไหลบ่าไปสู่ที่ต่าง ๆ หากำลังไม่ได้ ต้องรวมพลังเข้ามาด้วยคำบริกรรมภาวนา

เมื่อจิตมีพลังแล้วก็เป็นความสงบเย็นใจแล้วพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อมีพลังทางจิต จิตมีความอิ่มตัวด้วยความสงบแล้ว จะพาทำการทำงานทางด้านวิปัสสนาคือเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงโดยทางปัญญา ปัญญาก็ทำงานให้ จนเข้าใจไปโดยลำดับ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เพียงเท่านั้นก็ตามมันจะกระจายไปหมดจนกระทั่งอาการ ๓๒ ซึ่งมีอยู่ในตัวนี้รอบไปหมด นอกจากนั้นยังทะลุปรุโปร่งไปหมดทั้งเขาทั้งเราทั่วโลกธาตุนี้เป็นแบบเดียวกันหมด นี่ละงานของพระท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้ นี่เป็นขั้นปัญญา คลี่คลายออกดู

จากนั้นก็แยกเข้าไปละเอียดดังที่พูดตะกี้นี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ละเอียด เมื่อถึงสติปัญญาขั้นละเอียดแหลมคมแล้วก็ตามกันทันโดยลำดับจนกระทั่งละกันได้เด็ดขาด รวมทั้งภายในจิตด้วย ละเข้าไปถึงจิตแล้วก็หมดทางที่จะละ ตามฆ่ากิเลสตามฆ่าเข้าไปจนกระทั่งถึงจิตแล้วก็หมดที่ฆ่า กิเลสก็หมดไปเอง ฆ่ากิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยังไม่หมด ต้องฆ่าทางใจอีก

ฆ่ากิเลสที่ไปติดไปยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่านั้นก็ยังไม่หมด ต้องฆ่ากิเลสที่ฝังอยู่ภายในจิตอันเป็นตัวการสำคัญนั้นอีกถึงจะหมด เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จแล้วงานที่นี่ เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว นี่ละงานของพระเราให้พากันฟังแล้วฝังไว้ภายในจิตใจอย่างลึก อย่ารวนเรเถลไถลไปหางานอื่นซึ่งไม่ใช่งานของพระมาทำ จะหากิเลสตัวใดหลุดลอยไปไม่ได้ นอกจากงานจิตตภาวนาดังที่อธิบายให้ฟังนี้แล้ว ไม่มีงานอื่นใดประเสริฐเลิศยิ่งกว่างานนี้ แม้จะยากก็ยากเถอะ แต่ยากเพื่อคุณภาพอันสูงส่งหรือสูงสุด ให้ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาอย่าลดละท้อถอย

ไปที่ไหนก็ตาม การอยู่กับครูบาอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน เพราะเราอยู่ในท่ามกลางแห่งโลกอนิจจัง เป็นของเที่ยงเมื่อไร อยู่ด้วยกันวันนี้วันหน้าพลัดพรากจากกัน เดือนนี้เดือนหน้าพลัดพรากจากกัน ไม่ท่านก็เราต้องมีการพลัดพรากจากกัน หลักคติเครื่องเตือนใจที่ได้รับไว้แล้วภายในจิตใจอย่างฝังลึกนี้ไม่ให้เคลื่อนคลาด ไปไหนจริงจังกับอรรถกับธรรมกับวินัย ให้มีความจริงจัง อย่าเป็นคนเหลาะแหละเถลไถลหากฎหาเกณฑ์หาหลักฐานไม่ได้ ต้องเป็นคนจริง งานจะหนาแน่นขนาดไหนหนักขนาดไหนยกขึ้นทั้งนั้น เอาความจริงจังเข้าไปว่ากันแล้ว ศรัทธาความเชื่อต่อความพ้นทุกข์ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ความบรรลุธรรมของเรา ความพ้นทุกข์ของเราเพราะความเพียรของเราเอง เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นกำลัง ศรัทธามีแล้ว วิริยะ ขันติ มาเอง สมาธิ ปัญญา ก็ค่อยมาเอง ๆ ไม่พ้นจากนี้ไปได้ อย่าลืมงานของเรา

เอาให้เห็นซิ ได้ยินแต่ท่านพูด ได้ยินแต่ข่าว ว่าพระอรหันต์องค์นั้นบรรลุอยู่ที่นั่น ๆ ในครั้งพุทธกาลองค์นั้นสำเร็จอยู่ที่นั่น บรรลุอยู่ที่นี่ เอาตั้งแต่ข่าวมาท่องมาบ่นมาจำปากเปียกก็ไม่ได้เรื่อง กิเลสนอนกรนครอก ๆ สบาย หัวเราะฟังอยู่นั้น ไม่ได้สะเทือนขนมันนี่นะถ้าไม่ใช่ภาคปฏิบัติ ปริยัติคือเราเรียน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เรียกว่าเรียน ปริยัติอุปัชฌาย์ท่านมอบให้แล้ว ปฏิบัติทีนี้เอาไปดำเนินงานพิจารณา ปฏิเวธะหรือปฏิเวธคือความรู้แจ้งแทงทะลุจะเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติหนีจากนี้ไปไม่ได้

ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมีอำนาจราชศักดิ์มาบังคับจิตใจที่ดำเนินไปโดยชอบธรรมนี้ไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นไปไม่ได้ ก็มีทุกข์ สมุทัยเท่านั้นเป็นเครื่องปิดกั้นมรรคผลนิพพาน กาลสถานที่ไม่มีอำนาจที่จะมาปิดกั้นมรรคผลนิพพานได้ มีแต่กิเลสสมุทัยกับทุกข์นี้เท่านั้นปิดกั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรขึ้นไปเพื่อบุกเบิกกิเลสประเภทเหล่านี้ซึ่งมันขวางทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ ให้เตียนโล่งไปโดยลำดับ ๆ ความทะลุปรุโปร่งถึงมรรคผลนิพพานจะไม่นอกเหนือไปจากจิตดวงนี้ จะเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง เป็นผู้ละผู้ถอน ผู้เหยียบย่ำทำลายกิเลสตัณหาอาสวะ พูดถึงความประเสริฐเลิศโลกก็เลิศที่จิตนี้ รู้ที่ตรงนี้ ขอให้ทำงานให้สำเร็จเรื่องผลจะเป็นขึ้นมาโดยลำดับ

พูดท้ายเทศน์

อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็น พยายามสอนเต็มสติกำลังความสามารถเรื่อยมา การสอนทั้งมวลก็แน่ใจด้วยไม่ใช่มาคุยนะ แน่ใจว่าสอนไม่ผิดเพราะวิธีการดำเนินก็ได้ดำเนินมาแล้วอย่างนั้น ทั้งผลเป็นมายังไงก็ได้พูดให้ฟังในสิ่งที่พวกเราทั้งหลายจะสามารถได้เช่นกัน ทั้งเหตุทั้งผลซึ่งจะเป็นขึ้นมาจากเราคนเดียวนี้ มีอยู่นิดมันก็กวนอยู่นั่นละกิเลส มีมากมันก็เอาให้มืดตื้อไปเลย มองเห็นธรรมเหมือนกับเป็นข้าศึกใหญ่โน่นน่ะ คิดไปในแง่ธรรมะเหล่านี้เหมือนกับเป็นข้าศึกใหญ่ ไม่อยากคิดไม่อยากมอง เวลามันหนาแน่นจริง ๆ มันเห็นธรรมะเป็นภัยไปเลย เป็นข้าศึกไปเลย นั่นละอำนาจของกิเลส เวลาปราบมันเข้าไปแล้ว ๆ คุณค่าแห่งธรรมค่อยปรากฏขึ้น โทษของกิเลสค่อยเห็นไปเรื่อย ๆ ๆ นะ

เบื้องต้นเป็นอย่างนั้นละไม่รู้กิเลสเป็นอะไรต่ออะไร ธรรมเป็นยังไงก็ไม่รู้ กิเลสเป็นยังไงก็ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่มันกองอยู่ในหัวใจเรานี่เผากันอยู่นี่ ไฟทั้งกองก็ว่าเป็นเราอยู่นั้นเป็นของเราอยู่นั้น กอดมันก็ยิ่งร้อนซิ ที่ทำมาผมเคยพูดไม่รู้กี่ครั้งเรื่องความเพียร จนทำให้ขยะทุกวันนี้ คิดย้อนหลังเจ้าของที่ทำมาจนออกอุทาน โอ้โห ๆ ขนาดนั้นมันก็ทำได้ โห เวลามันเด็ด - มันเด็ดจริง ๆ นะ ถึงเวลามันเด็ดนี้ยังไงก็ไม่มีถอย ตายก็ตายไปเถอะไม่มีอะไรเสียดายเลย มีแต่จิตพุ่งออกให้ทะลุทีเดียว ไม่ทะลุ เอ้า ตายก็ตายว่างั้นเลย เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มมันเป็นพัก ๆ นะ ถึงขั้นนั้นมันก็รู้เองด้วยกันแหละคนเรา พูดนี้มันไม่หนีจากผู้ปฏิบัติแหละ จะต้องไปเจอกันวันหนึ่งในแง่เหล่านี้ เพราะกิเลสมันเป็นคลื่น ๆ เหมือนทะเลนี่ คลื่นของกิเลสที่เราจะต้องได้ต่อสู้กับมันอย่างสละเป็นสละตาย ถอนไม่ได้ถอยไม่ได้ ว่าอย่างนี้มันมีนะ หมุนติ้วเลยมันทะลุจริง ๆ

มารู้เรื่องปัญญาบ้างก็มารู้ตอนสละเป็นสละตายนั่งหามรุ่งหามค่ำ จึงได้เห็นคุณค่าของปัญญา คนเรานี่เวลาจะตายจริง ๆ ไม่มีที่พึ่ง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มาเองนา คนเราไม่ได้โง่อยู่ตลอดไปนะ เมื่อถึงคราวจนตรอกจริง ๆ หาผู้อื่นช่วยไม่ได้ หาใครช่วยไม่ได้ พึ่งผู้ใดไม่ได้แล้วมันก็หมุนเข้ามาพึ่งตัวเองช่วยตัวเอง นั่นละสติปัญญาเกิด ก็ทุกขเวทนามันเหมือนกองไฟนี่เผาจริง ๆ จนตัวสั่นไปหมด เราจะมาทนทุกข์อยู่เฉย ๆ มันไม่ใช่ทาง แล้วทำยังไงถึงจะได้รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องทุกข์ ท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ มันเป็นยังไงวะ ปัญญาก็หมุนติ้ว ๆ เข้าไป

สติปัญญาหมุน ทุกข์มากเท่าไรมันยิ่งไม่ถอย นั่น ถอยไม่ได้ ตายก็ตายมันถอยไม่ได้เลย สติปัญญาหมุนติ้ว ๆ เข้าไปตามเรื่องความทุกข์ ทุกข์ตรงไหนมากมันจับตรงนั้น ค้นตรงนั้น ไม่ได้กำหนดว่ามันจะหายหรือไม่หาย จะหายหรือจะตาย มีแต่จะเอาให้รู้เอาให้ถึงความจริง ค้นอยู่กับความจริงนั่นแล มันก็รู้ขึ้นมา ทุกข์ก็ดับของมันไปเองไม่ต้องไปบังคับ พอเข้าใจกันแล้วแม้ไม่ดับมันก็ไม่สามารถมาประสานจิตได้เลย ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะเป็นไฟทั้งกองก็ตามแต่จิตนั้นยิ้มได้อย่างสบาย เพราะไม่เข้าถึงกันเมื่อต่างอันต่างจริงแล้ว

มันเป็นอยู่สองอย่างสำหรับผมเองนะ เป็นอยู่สองประเภทนี่ อย่างหนึ่งพอทุกข์ดับไปด้วยการพิจารณารอบโดยทางปัญญาแล้วมันก็ดับไปหมดเลย ดับจนกระทั่งร่างกายหายเงียบไปหมด ไม่ทราบมันไปอยู่ไหน ไปอยู่ไหนก็ไปกังวลกับมันทำไม ก็เราหาของจริง จริงตรงไหนเราก็อยู่ตรงนั้นก็แล้วกัน ไม่ได้พะวักพะวนกับมันละตอนนั้น เวลามันลงเต็มที่ไม่มีละต้นไม้ภูเขาโลกสงสารมีหรือไม่มี ร่างกายมีไม่มีมันไม่มีความรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้เลย เหลือแต่ความรู้ที่ว่าพูดไม่ถูก อัศจรรย์ มีอันเดียวไม่สองกับอะไรเลย เราจะไปปรุงขึ้นมาว่าเป็นอันนั้นกับอันนี้ก็ไม่ถูกอีกแหละ มันเป็นการรบกวนหรือเป็นการกวนอันนั้นให้กระเพื่อมแล้วก็จะถอยออกมาเสีย สักแต่ว่าเท่านั้น

กำหนด ๆ จิตตานุปัสสนา สักแต่ว่าจิต อตฺถิ จิตฺตนฺติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ สักแต่ว่ารู้ท่านว่า คือมันไม่เลยนั้น ไม่เคลื่อนจากนั้นไป อตฺถิ จิตฺตนฺติ หมายถึงว่าให้กำหนดให้พึงทำความเข้าใจว่าจิตมีอยู่ นั่นความหมาย อตฺถิ จิตฺตนฺติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ ในหลักปัจจุบัน มันรู้อยู่ในหลักปัจจุบันเท่านั้น ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปติสฺสติมตฺตาย สักแต่ว่ารู้ สติก็สักแต่ว่าสติ เวลาถึงขั้นแล้วจริงอย่างนั้นจริง ๆ เวลาจิตมันเป็นไปโดยหลักธรรมชาติด้วยการปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เป็นอย่างที่ท่านว่าไม่มีอะไรค้านกันได้เลย

ท่านว่ากายมีอยู่ ทีแรกก็กำหนดพิจารณากายเสียก่อน หรือเวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ เอานั้นเป็นหลักกำหนด มันมีอยู่กายทำไมจะไม่เห็นไม่รู้ พอเอาเข้าไปเต็มที่ มันเข้าใจของมันแล้วอย่างว่าแหละ อตฺถิ จิตฺตนฺติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ.......จากนั้นท่านก็ว่า เอวํ โข อย่างนี้แลคือการพิจารณาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านว่า สติปัฏฐานสูตร มันสักแต่ว่ารู้จริง ๆ เวลามันเป็นโดยหลักธรรมชาติมันถึงเข้ากันได้ปุ๊บเลย ถ้ามันเป็นด้วยคาดหมาย..ไม่ได้ ให้เป็นโดยหลักธรรมชาติของมันเองแล้วได้ทุกสัดทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกันหมด

แล้วแต่ใครจะไปเด่นที่ตรงไหนนะ ในสติปัฏฐานทั้งสี่มันเด่นอันหนึ่งจนได้แหละ เช่นอย่างไตรลักษณ์อย่างนี้ ผู้หนึ่งจะต้องเด่นอันหนึ่งจนไ แต่ผมนี่มันเด่นเรื่องอนัตตา ไตรลักษณ์นะ คือมันถนัดเรื่องอนัตตา สติปัฏฐานสี่มันก็ถนัดตรงจิตนั้น เพราะจิตนี้ตัวดิ้น เมื่อฟาดตัวนี้อยู่แล้วมันก็รอบไปหมด อตฺถิ จิตฺตนฺติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ สติตั้งอยู่สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเฉพาะหน้า เอวํ โข ภิกฺขุ..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนี้แลการพิจารณาจิตตานุปัสสนาพิจารณาอย่างนี้ ความหมายว่างั้น

ท่านพูดอันนั้นท่านพูดออกมาจากความจริงจากภาคปฏิบัติที่ท่านรู้แล้วเห็นแล้ว ทีนี้เราไปจำเอามามันเป็นภาคความจำยังไม่ใช่ความจริง มันจึงต้องปีนกับความจริงอยู่เสมอ จำมาแล้วก็จำมาเพื่อปีนความจริง แต่พอเข้าไปปฏิบัติเป็นจริงแล้วมันยอมรับกันทันที ๆ พอจิตรู้เรื่องของปัญญาได้เต็มกำลังความสามารถของเจ้าของก็รู้เรื่องตอนจนตรอกนั่น จนตรอกจนมุมนั่งหามรุ่งหามค่ำ เอากันจน... อย่างทุกวันนี้ไม่ได้ นั่งตายเลย แต่ก่อนทำไมมันได้พิจารณาซิ พลังของจิตมันก็มีของมัน ความมุ่งมั่นเต็มที่ของมัน แล้วร่างกายก็มีกำลังของมัน พลังของจิตที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นก็มีมันก็ไปได้ซิ

ทุกวันนี้ไม่มีอะไร กำลังของกายก็ให้กินอยู่ทุกวัน ๆ ขนาดนี้มันก็ยังคอยแต่จะตายอยู่แล้ว ทรุดโทรมอยู่เรื่อย ๆ เสริมมันเท่าไรมันก็คอยแต่จะทรุดลงผิดกับแต่ก่อน แต่ก่อนได้กดมันลง ดังที่ว่าอดบ้างอิ่มบ้าง นั่นละคือกดมันลง ความมุ่งมั่นก็เต็มกำลังของมัน เดี๋ยวนี้มันไม่มีความมุ่งมั่น ไม่มีก็บอกไม่มี มุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมต่อแดนพ้นทุกข์อะไร ๆ เดี๋ยวนี้มันไม่มีนี่ ทำความเพียรก็เพียงสาบานน้ำไม่ตายเท่านั้นแหละจะว่าไง จะว่าขี้เกียจหรือก็ไม่เห็นได้ตำหนิเจ้าของว่าขี้เกียจ มันเป็นของมันอย่างนั้นจะว่าไง แต่ก่อนเรายังขยันนักหนาเดี๋ยวนี้ทำไมไม่เห็นขยัน มันก็ไม่เห็นได้ไปตำหนิเจ้าของ เอาเงื่อนต้นมาขัดกับเงื่อนปลายอย่างนี้มันก็ไม่มาขัดกัน

คิดย้อนถึงเรื่องความเพียรแล้วกลัวจริง ๆ แต่ก็ภูมิใจ ภูมิใจกับความจริงจังของเจ้าของ กิเลสมันก็กลัวนะ จริงจังกันทีไรมันต้องหมอบทุกที เอาเป็นเอาตายเข้าว่ากันทีไรมันหมอบทุกทีเลย ถ้าธรรมดานี้ผิวถลอกก็ไม่ได้ ผิวกิเลสก็ไม่พอถลอก นิสัยเรามันนิสัยหยาบเอาอะไรฟาดมันลงไปเลย ถ้าทำแล้วเอาเลย โอ้โห ตอนทุกขเวทนามันครอบนี่แหม มันเป็นเหมือนไฟทั้งกองเลยนะ ร่างกายของเรานี่เหมือนกับกองไฟทีเดียว ก้อนไฟทั้งก้อนทั้งกองเลย มันจะร้องหาพ่อหาแม่ให้มาช่วยจะว่าอะไร นี่ละเรียกว่ามันจนตรอกไม่มีทางออก เพราะออกก็ออกไม่ได้ คำสัตย์หมุนติ้วเข้าไปแล้วบังคับไว้นั้น ออกมาก็ตายทิ้งเปล่า ๆ อย่าเหลืออยู่ในศาสนาให้หนักศาสนาเลย คนไม่มีคำสัตย์คำจริงนี่หนักศาสนา ออกมาเพื่อความหนักศาสนา อย่าอยู่เป็นโมฆภิกษุเลยให้ตายเสียดีกว่า ตายด้วยความสัตย์ความจริง ไม่ตายให้รู้ คำสัตย์นี้ตั้งเหมือนกับเอาหนามจุกก้นเข้าไป มันถอยมาไม่ได้ถูกหนาม มันก็พุ่ง

โห เมื่อพิจารณาวันไหนได้อัศจรรย์ทุกครั้งไม่เคยพลาดนะ ที่เราเคยนั่งหามรุ่งหามค่ำมาไม่ทราบกี่คืน โอ้โห ตั้ง ๑๐ กว่าคืนนี่นะ แต่ไม่ใช่ติด ๆ กันนะ อย่างเร็วก็เว้น ๒ คืนเอาทีหนึ่ง เว้น ๓ คืนบ้าง เว้น ๖ - ๗ คืนบ้าง ถ้าวันไหนมีฝนตกพรำด้วย เอาละวันนี้เหมาะ ฝนตกพรำ ยิ่งให้ฝนตกตั้งแต่หัวค่ำยันสว่างด้วยแล้ว นั่นละช่วยธาตุขันธ์ได้ดี คือความร้อนนี่มันทำให้ร่างกายเป็นทุกข์มากนะ ผมเคยนั่งเวลาร้อนนี่แหมเป็นทุกข์มาก นั่งเวลาเย็นพอดี ๆ เช่นฝนพรำอย่างนี้ พิจารณานี้มันจับติดปั๊บ ๆ เหมือนกับคีมปากคม ๆ นี่ พอหนีบปั๊บติดปั๊บ ๆ การพิจารณาติดปั๊บ ๆ นี่ไม่นานนะมันพุ่งเลย ยังไม่ทันอะไรนะพุ่งเลย

สำคัญตรงที่มันจนตรอกนี่ แหม หมุนจริง ๆ นะสติปัญญาไม่ถอยเลย มันไม่ทนทุกข์อยู่เฉย ๆ มันไม่ยอมแหละ เพราะไม่ใช่ทางก็ทราบแล้วบอกอยู่แล้ว มันต้องหมุนของมันติ้ว ๆ พอเข้าใจนี้มันกระจ่าง ๆ ออกไปชัด ๆ ๆ เข้าไปพุ่งไปเลย จึงทำให้คิดถึงเรื่องพระโสณะที่ว่าท่านประกอบความเพียรจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก ผมแน่ใจตามหลักปฏิปทาที่เคยดำเนินมาว่าการที่ท่านเดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก ไม่ใช่ท่านเดินด้วยความบังคับท่าน เหมือนอย่างเราทั้งหลายบังคับให้เจ้าของเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกเพราะความเพียรกล้า มันทำให้เพลินไปกับความเพียร จนลืมเวล่ำเวลาลืมเหน็ดลืมเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมด

เพราะเราเป็นแล้วทั้งนั้นเหล่านี้ จนฝ่าเท้าจะแตกไม่รู้ตัวเพราะจิตไม่ได้ออกไปอยู่โน้น มันหมุนติ้ว ๆ ทำงานอยู่นี่ ฆ่ากิเลสอยู่ภายในนี่ พอรู้สึกตัวก็ออกร้อนฝ่าเท้า ฝ่าเท้านี่ โอ้โห เหมือนถูกไฟลน เวลามานี้ ฝ่าเท้านี้ โถ ออกร้อนหมด ลืมน้ำลืมท่าลืมอะไร ๆ ทั้งหมด ไม่ได้สนใจกับอะไร พอมาถึงที่พักมองดูกาน้ำ แล้วโดดใส่กาน้ำมันจะตาย ดื่มน้ำสำลักกั้ก ๆ ๆ แต่เวลาทำความเพียรไม่เห็นไปคิดกับอะไรเลยมันเพลิน นี่ที่ท่านว่าฝ่าเท้าแตก ๆ เพราะความเพลิดเพลินในความเพียรของท่าน เป็นขั้นความเพียรอัตโนมัติ

ส่วนอย่างที่สองจิตไม่ลงแบบดับสนิท แต่รู้เท่าว่าอริยสัจสี่ต่างอันต่างจริงไม่ประสานกัน ทุกขเวทนาไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับใจได้ เรื่องความอัศจรรย์ของจิตในเวลารวมนั้นอัศจรรย์เหมือนกันทั้งสองอย่าง สำหรับเราเป็นได้สองอย่าง โดยความเป็นเองไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นเช่นนั้น


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก