สมบัติสองเจ้าของ
วันที่ 4 สิงหาคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 86.48 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

สมบัติสองเจ้าของ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราจะดุด่าขู่เข็ญขับไล่ผู้ควรดุด่าขู่เข็ญขับไล่ เราจะชมเชยสรรเสริญผู้ที่ควรแก่การชมเชยสรรเสริญ อย่างอื่นเราเป็นไปไม่ได้ อานนท์ นั่นฟังซิพุทธพจน์ นี่ละพุทธพจน์เรายกเป็นคำภาษาเรามา เราตถาคตกราบธรรมเท่านั้น ธรรมเป็นสิ่งที่เลิศโลก ธรรมเป็นสิ่งที่เหนือโลก เรากราบธรรมเท่านั้นเราถือธรรมเป็นจิตใจ เราปฏิบัติบำเพ็ญธรรม เรารู้เราก็รู้ธรรม เราจึงเคารพธรรม นี่ละพุทธพจน์ เราได้อ่านดูแล้วรู้สึกประทับใจเหลือเกิน

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงมีความหนักแน่นในธรรม จิตใจให้หมุนเข้าสู่ธรรมอยู่เสมอ อย่าให้กระแสของโลกทั้งหลายที่เป็นกิเลสเข้ามาเหยียบย่ำทำลาย ยุแหย่ก่อกวนพัดผันจิตใจ ที่เรากำลังประคับประคองรักษาอยู่ด้วยความเพียรของเรา ถึงขนาดที่ว่าเอาเป็นเอาตายเข้าประกันอยู่แล้วเพื่อธรรมทั้งหลาย เราจงเห็นโทษอยู่เสมออย่าชินชาต่อสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลาย ให้ทำความเข้าใจกันอยู่เสมอจึงจะสมนามว่าผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความมีสติ เรื่องความมีสตินี้คือความระลึกรู้สิ่งที่เป็นภัยเป็นคุณอยู่กับตัวเสมอไป อะไรเป็นภัยอะไรเป็นคุณต้องรู้ต้องระมัดระวัง ต้องกำจัดสิ่งที่ควรกำจัด ให้พยายามส่งเสริมรักษาหรือบำรุงสิ่งที่ควรบำรุงคือใจของเรา

ใจเป็นสมบัติสองเจ้าของ นี่เคยพูดแล้วเคยเขียนในหนังสือก็เคย แต่กิเลสนั้นน่ะครองใจมาเป็นเวลานาน เราเองไม่อาจสามารถนับอ่านเรื่องภพชาติเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่กำเนิดต่าง ๆ ได้จนกระทั่งบัดนี้ว่าเป็นมานานเท่าไร นี้ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ พาให้เกิดให้ตายให้ทุกข์ให้ลำบาก ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นตัวภัยทั้งนั้น ไม่ว่าจะกำเนิดเกิดในภพใดความทุกข์ต้องมีอยู่ในทุกภพทุกชาติไม่มากก็น้อย เพราะความเกิดกับความตายมันเป็นคู่กัน ความเกิดกับความทุกข์จึงมาด้วยกัน

ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์จะไม่มีเฉพาะผู้ไม่เกิดเท่านั้น นั่น เป็นสิ่งที่ลบล้างกันได้อย่างไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกข์เพราะอะไร ก็ทุกข์เพราะความเกิด ความเกิดมีสาเหตุมีกำเนิดมาจากไหน มีกำเนิดมาจากอวิชชาตัวลุ่มหลงสำคัญอยู่ภายในจิต ฝังลึกจนจิตกับกิเลสประเภทที่ให้เป็นเชื้อสาเหตุที่ให้เกิดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถทราบได้อย่างง่ายดายเลย จึงต้องใช้ความพยายามเอาให้เต็มที่เต็มฐานเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นก็เป็นตายก็ตาย ถึงคราวเร่งต้องเร่ง ถึงคราวหนักต้องหนัก ถึงคราวสู้ต้องสู้ ถึงคราวลดหย่อนผ่อนผันมันหากมี หากรู้ในตัวเองนั่นแหละ อย่าเข้าใจว่าการลดหย่อนผ่อนผันนั้นเป็นการคลี่คลาย เป็นการผ่อนตัวโดยความคิดเอาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่เหตุผลหรือจังหวะไม่อำนวย อันนี้ก็เผลอตัวได้เหมือนกัน ผู้ปฏิบัติจะทราบตัวเองว่าความพักผ่อนหรือความคลี่คลายให้มีความสุขความสบายบ้างในการประกอบความพากเพียรด้วยความเหน็ดเหนื่อย

ความพักของจิตก็คือเข้าสู่ความสงบเย็นใจ นั่นมี เวลาออกรบกับข้าศึกด้วยสติปัญญาก็ต้องหมุนให้เต็มที่เต็มฐาน อย่าเสียดายอะไร ความทุกข์ให้ถือเป็นสัจธรรมอย่าถือเป็นเรา นี่เป็นหลักความจริงเป็นหลักธรรมความถูกต้อง ทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในกายเป็นสำคัญที่เห็นได้อย่างเด่น ๆ ทุกข์เกิดขึ้นภายในจิตใจ ย่อมรับช่วงออกไปจากกายนี้เข้าไปเพิ่มภายในจิตใจนี่ประการหนึ่ง ทุกข์ที่ผลิตกิเลสขึ้นมาเหยียบย่ำทำลายจิตใจโดยร่างกายไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเบียดเบียนเลยนั้น เป็นทุกข์เพราะกิเลสล้วน ๆ ทุกข์เพราะธาตุขันธ์อันเป็นสาเหตุที่จะให้เกิดกิเลสขึ้นมาคือความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการนั่งนานเจ็บนั้นปวดนี้ จิตจะต้องมีความส่ายแส่มีความคิดปรุงต่าง ๆ ส่วนมากก็เป็นเรื่องของกิเลสให้เรายึดเราถือ เลยกลายเป็นว่าทุกข์ในร่างกายทั้งหมดนี้เป็นเรา และกายทั้งหมดก็เป็นเรา

ถ้าเราเป็นทุกข์กายเป็นทุกข์ กายเราเป็นทุกข์หรือเรากับกายเป็นอันเดียวกัน ทุกข์กับเรากับกายเป็นอันเดียวกันก็จะกลายเป็นว่าเราเป็นทุกข์ เมื่อถือว่าเราเป็นทุกข์แล้วก็จะมีความรักความสงวนในตัวเอง ไม่อยากให้เป็นทุกข์ ความไม่อยากให้เป็นทุกข์ก็เป็นวิภวตัณหา เลยหาความจริงไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่จะค้นคว้าหาความจริงตามหลักความจริง ที่ว่าทุกข์นั้นคือความจริงล้วน ๆ ตามหลักสัจธรรม

ผู้ปฏิบัติถ้าได้เห็นความทุกข์เป็นความจริงล้วน ๆ ประจักษ์กับจิตใจแล้ว ทุกข์จะเกิดมากน้อยเพียงไรก็ตาม จะไม่สามารถเหยียบย่ำทำลายจิตใจหรือทำจิตใจให้เอนเอียงได้เลย นี่เคยปฏิบัติมาแล้วไม่ใช่มาคุยให้เพื่อนฝูงฟังเฉย ๆ เราได้ปฏิบัติมาแล้วประจักษ์ใจ จึงกล้าพูดให้หมู่เพื่อนฟัง เราพูดตามหลักความจริงสอนหมู่เพื่อนตามหลักความจริง ด้วยเจตนาให้เกิดประโยชน์แก่หมู่เพื่อนสมกับผู้ตั้งใจมาอบรมศึกษากับเรา พูดให้ฟังเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมาหลายด้านหลายทาง เกิดขึ้นมาเพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี แต่ให้พึงทราบว่าก็คือทุกขเวทนาประเภทเดียวกันที่เรียกว่าสัจธรรมนั้นเอง ทุกข์เกิดขึ้นด้วยการเจ็บที่นั่นปวดที่นี่ หรือทุกข์เกิดขึ้นเพราะการนั่งนาน เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสัจธรรม ให้ถือทุกข์นั้นเป็นจุดเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณายอกย้อนถึงใจถึงกายที่ทุกข์เข้าไปพาดพิง ที่ทุกข์อาศัยเกิดขึ้นกับกายส่วนใด เช่น ปวดแข้งปวดขา ปวดอวัยวะต่าง ๆ จุดไหนเป็นจุดที่เด่นกว่าเพื่อนที่สุดบรรดาทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้น ให้ถือจุดนั้นเป็นจุดตั้งสติพิจารณาด้วยปัญญา แยกแยะขยายดูเรื่องของทุกข์ให้ชัดเจน

กำหนดดูทุกข์ไม่มีอาการอย่างใดเลย มีแต่เรื่องความทุกข์ ส่วนร่างกายนี้มีอาการต่าง ๆ เอ้า เทียบเคียงกันดูทุกสัดทุกส่วน นอกจากนั้นก็ย้อนเข้ามาถึงจิต สามอย่างนี้ละสำคัญมาก แยกแยะดูความจริงไม่ต้องปรารถนาไม่ต้องอยากให้ทุกข์ดับไป ความอยากนั้นเป็นตัณหาจะเป็นการเพิ่มทุกข์ให้มากขึ้นแล้วไม่สมหวัง แทนที่จะเป็นมรรคคือข้อปฏิบัติกำจัดทุกข์ให้พรากจากใจ หรือระงับลงทางร่างกาย เลยกลายเป็นเรื่องทุกข์มีกำลังมากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ นี่ถ้าอยากให้ทุกข์หายเป็นอย่างนั้น

ไม่ต้องอยาก เวลาทุกข์จะเกิดขึ้นมาไม่อยากมันก็เกิดขึ้นได้ เราจะพิจารณาทุกข์ให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน โดยแยกแยะที่มันเกี่ยวข้องตรงไหนมันถึงได้แสดงทุกข์ขึ้นมา ร่างกายของเราส่วนไหนดูให้ดี จิตจะต้องหมุนติ้ว ๆ ๆ คือปัญญานี้แหละคำว่าจิตหมุนติ้ว ๆ ค้นหาเหตุหาผล ทุกข์ปรากฏขึ้นมากเท่าไรจิตยิ่งจะหนีจากจุดนั้นไม่ได้ ต้องหมุนติ้ว ๆ อยู่ภายในนั้นจึงเรียกว่ากำหนดสัจธรรม พิจารณาสัจธรรม รบกับข้าศึก แยกดูกายที่สำคัญว่าเป็นทุกข์ อาการใด แยกดูเวทนาให้เห็นชัดเจน มันก็สักแต่ว่าทุกข์อยู่เท่านั้นไม่มีความหมายอันใด ตัวทุกข์เองก็ไม่ทราบความหมายของตน ร่างกายแม้แต่ว่าเป็นทุกข์ก็ไม่ทราบความหมายของตน ผู้ใดเป็นผู้ไปให้ความหมายว่ากายเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาปรากฏตัวอยู่นี้ว่าเป็นทุกข์ ใครเป็นผู้ไปให้ความหมายถ้าไม่ไปจากสัญญาอารมณ์ของเรานี้จะเป็นอะไรไป นี่ก็ไม่พ้นที่จะต้องย้อนเข้าไปดูจิต

เอ้า ถ้าว่าจิตเป็นทุกข์จริง ๆ ดูให้ดี ดูด้วยปัญญา ดูด้วยการสอดส่อง ดูด้วยข้อสังเกตในขณะนั้น อย่าดูเผิน ๆ อย่าดูอยากให้รู้เฉย ๆ ความดูอยากให้รู้ไม่ใช่ดูหาความจริง ไม่ต้องอยากให้ค้นหาความจริงให้เจอเท่านั้นแหละ นี่เป็นหลักกลาง ๆ เป็นมัชฌิมาแท้ ถ้าเอาความอยากเข้าไปตั้งในจุดใด จุดนั้นจะเป็นสมุทัยขึ้นมาจนได้ เพราะฉะนั้นทุกข์จะเกิดขึ้นจนถึงกับร่างกายจะแตก เอ้า ๆ แตกไป เรื่องความแตกกับการผสมตัวเข้ามาเป็นก้อนนี้ เป็นธรรมชาติของมันซึ่งเป็นของคู่กัน มันรวมตัวได้มันก็กระจายตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามขอให้รู้ความจริงที่มันอยู่ในระหว่างแห่งสิ่งทั้งสองทั้งสามที่ผสมกันอยู่นี้ อย่างชัดเจนด้วยปัญญา

จึงดูให้เห็นชัดเจนเรื่องของร่างกายนี้ เจ็บปวดที่ตรงไหน ดูให้เห็นชัดเจนกระทั่งว่าหนังก็สักแต่ว่าหนังชัดด้วยปัญญาจริง ๆ เนื้อสักแต่ว่าเนื้อ เอ็น กระดูก ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสักแต่ว่านั้น ๆ เท่านั้น ไม่เห็นเขานิยมว่าเขาเป็นทุกข์ แม้ทุกข์จะเป็นเหมือนฟืนเหมือนไฟเขาก็ไม่มีความหมายในเขา เขาไม่ทราบว่าเขาเป็นทุกข์ ตัวทุกข์เองที่กำลังแผดเผาอยู่นั้นมันก็ไม่ทราบความหมายของมันด้วย มันก็ไม่ทราบว่ามันทำให้ผู้ใดเป็นทุกข์ด้วย ใครเป็นผู้ไปให้ความสำคัญมั่นหมายกับสิ่งเหล่านี้

ย้อนดูจิตให้เห็นชัดเจนแล้วกำหนดเข้ามาดูจิต ก็ให้เหมือนกันกับเราดูกายดูเวทนา ดูด้วยความจดจ่อต่อเนื่องด้วยสติ ดูด้วยความอยากรู้ความจริง ดูให้เห็นความจริงแล้วจิตก็จะมีแต่ความรู้เฉย ๆ เวลารู้เข้ามาจริง ๆ ความรู้นี้กับเวทนามันเป็นอันเดียวกันได้เหรอ ถ้าหากว่าความรู้กับเวทนากับกายนี้เป็นอันเดียวกัน เวลาทุกขเวทนาดับไปแล้วทำไมจิตจึงมีอยู่ล่ะถ้ามันเป็นอันเดียวกัน นี่จิตมีอยู่ตั้งแต่วันเกิด ทุกขเวทนาหน้านี่พึ่งเกิดมาในขณะนี้เท่านั้น ถ้ามันเป็นอันเดียวกันทำไมไม่เกิดมาตั้งแต่โน้นพร้อมกัน แล้วมันดับไปได้ยังไง มันต้องไม่ดับเพราะจิตไม่ดับ นี่มันไม่ใช่อันเดียวกัน นี่แยกแยะ

ให้หมุนกันอยู่นั้น ความอยากให้หายอย่าเอาเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นอันขาด ถ้าไม่อยากเพิ่มความทุกข์ขึ้นมามากและเป็นการสั่งสมกิเลสคือสมุทัยให้พอกพูนขึ้นในจิตใจ เดี๋ยวหงายไปไม่รอด แม้เวลาจะตายก็จะเสียท่าผู้เช่นนั้น ผู้ที่ตั้งใจดูสัจธรรมนี้แหละเป็นผู้ที่จะได้ชัยชนะหรือทรงตัวได้ตลอดไปจนกระทั่งถึงอวสาน แม้ไม่สิ้นกิเลสในขณะนั้นก็ตามก็เป็นผู้ทรงตัวได้ด้วยสติปัญญา สติปัญญาเป็นสำคัญที่จะประคองจิตใจไปได้ด้วยความปลอดภัย ถ้ายิ่งจิตหลุดพ้นแล้วไม่ต้องพูดแหละ พูดไปอะไร เพราะหมดปัญหาโดยประการทั้งปวงแล้ว

การฝึกหัดตนเองต้องมีความแกล้วกล้าสามารถอยู่เสมอ อย่าทำจิตให้อ่อนแอ อย่าเห็นสิ่งใดในโลกนี้ว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าธรรม หรือยิ่งกว่าความรู้ความเห็นที่เราจะปลดเปลื้องกิเลสอาสวะซึ่งผูกพันอยู่ภายในจิตใจนี้ ให้ลดน้อยลงไปโดยลำดับจนกระทั่งไม่มีเหลือภายในจิตใจเลย นี่แลคือสมบัติอันประเสริฐ ได้แก่จิตที่หลุดพ้น หรือได้แก่จิตที่มีคุณธรรมสูงขึ้นเป็นลำดับ ๆ เหมือนกับเรามีสมบัติที่มีค่ามากโดยลำดับ ๆ แล้วยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น จนถึงเมืองพอ เอ้า ทำให้ถึงเมืองพอ

เราอย่าไปหวั่นไหวกับโลกธรรมใด ๆ ซึ่งเคยเป็นมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว ในโลกนี้เต็มไปด้วยความเกิดแก่เจ็บตาย ความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลาทุกเพศทุกวัยทุกกำเนิดของสัตว์ หาความสุขความสบายไม่ได้ เราจะไปหาความสุขในโลกนี้หาที่ตรงไหนไม่เจอ เพราะมันมีตั้งแต่เรื่องความทุกข์ ทางกายก็เป็นทุกข์ การวิ่งเต้นขวนขวายก็เป็นทุกข์ การอยากได้อยากร่ำอยากรวยอะไรก็เป็นทุกข์ สมมุติขึ้นมาอะไรก็ติดอันนั้นแม้แต่กระดาษ อย่างเขาสมมุติว่าธนบัตรใบละร้อยละพันอย่างนี้ซิ เราก็ทราบอยู่ชัด ๆ ว่ากระดาษ มันก็ยังหลงจนตาเป็นฟืนเป็นไฟ

โลภก็โลภเอาเสียจนดูไม่ได้จนกระเทือนโลก โกรธก็จนกระเทือนโลก มันมีความสุขเหรอ ความโลภมันก็เป็นไฟอันหนึ่ง ขณะที่อยู่เฉย ๆ เหมือนเรานั่งเฉย ๆ ไม่มีโรคภัยอะไรเกิดขึ้นภายในร่างกาย เรายังมีความผาสุกภายในร่างกาย ลองโรคชนิดใดเกิดขึ้นดูซิกายจะต้องหวั่นไปตาม อันนี้จิตอยู่เฉย ๆ ไม่มีโรคชนิดหนึ่งเช่นความโลภเป็นต้นเข้ามาหักโหม หรือเข้ามาโจมตีเข้ามาทำลาย จิตใจก็ปกติ เมื่อสิ่งเหล่านี้เข้ามานี้จิตใจต้องเป็นฟืนเป็นไฟไปตาม เดือดร้อนวุ่นวาย เรายังไม่เห็นโทษของมันอยู่เหรอ

ความโกรธมันก็เป็นเงาตามตัวไปนั้นแหละกับความโลภ เมื่อไม่ได้อย่างใจหวังก็โกรธ โลกมีอันนี้เป็นหัวใจ มีอันนี้เป็นใหญ่ภายในจิตใจ เมื่อโลกมีอันนี้เป็นใหญ่ภายในจิตใจ แล้วโลกไหนคนไหนรายใดจะมีความสุข เพราะธรรมชาตินี้ก็คือฟืนคือไฟอยู่แล้ว เมื่ออยู่ที่ตรงไหนต้องแผดเผาที่ตรงนั้นให้เหี้ยมให้เกรียมไปหาความสุขความสบายไม่ได้จนกระทั่งวันตาย ถ้าอันนี้ยังพอกพูนอยู่ในหัวใจตายก็หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้เลย ตายด้วยความห่วงความใย ความหึงความหวงทุกสิ่งทุกอย่าง ตายด้วยความกังวลวุ่นวาย แผดเผาไปเรื่อย ๆ ถึงภพหน้า เลยหาสาระที่จะยึดถือในขณะตายไม่ได้เลย เพราะหลงสมมุติว่าเป็นสารคุณ ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีสารคุณ ส่วนธรรมที่เป็นสารคุณหรือความดีงามทั้งหลายที่เป็นสารคุณอันเป็นสมบัติให้ความชุ่มเย็น ให้ความไว้วางใจให้ความตายใจได้อย่างแท้จริงเราไม่สั่งสม มันจะได้ความไว้วางใจได้ยังไง ได้ความอบอุ่นได้ที่ไหน

เพราะฉะนั้นการสร้างความดีขึ้นภายในตนนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์เราซึ่งเป็นผู้ฉลาด เฉพาะอย่างยิ่งเราเป็นพระเป็นนักปฏิบัติ เอาให้จริงให้จัง มัชฌิมาปฏิปทาเหมาะสมอยู่เสมอที่จะยกเราให้พ้นจากทุกข์ เมื่อเราได้ยึดหลักมัชฌิมาเป็นเส้นทางดำเนินหรือเป็นเครื่องมือปราบปรามกิเลส กิเลสมันจะหนาแน่นมาจากที่ไหน ก็เกิดที่หัวใจเท่านั้น ขอให้ผลิตสติปัญญาขึ้นให้เพียงพอกับกิเลส แล้วมันจะหมอบราบไป กิเลสตัวใดได้หมอบลงไปหรือลดน้อยลงไป ความสุขจะปรากฏขึ้นมา นี่เราพอเห็นโทษของมันแล้ว

กิเลสประเภทใดที่ปรากฏตัวออกมาในความรู้สึก เจ้าของจะเริ่มมีความไม่สบาย มีความหวั่นความไหวความผิดปกติเกิดขึ้นทันทีทันใด ถ้ามันแสดงขึ้นมากก็ยิ่งแสดงให้ผิดปกติมาก ระงับกันลงไปด้วยสมาธิด้วยปัญญา ศรัทธาความเพียร ได้มากได้น้อยเราจะเห็นความสุขความสบาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกันก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวายแห่งความเดือดร้อนเพราะอำนาจของกิเลสบีบบังคับหัวใจ

นี่ก็เป็นห่วงหมู่เพื่อน บางทีต่อไปมันจะไม่มีเวลาว่าง วันนี้ว่าง ๆ ก็เลยมาพูดเสียธรรมะ ให้เป็นที่เข้าใจ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เรามีงานอันเดียวเท่านี้ ไม่มีงานอันใดละที่เป็นงานแท้ งานเป็นสารคุณ งานแก้กิเลสถอดถอนกิเลสนี้ละเป็นงานของเราแท้ ถอนเสี้ยนถอนหนามคือกิเลสทั้งปวงออกจากจิตใจตามสติปัญญาของตน นี่เป็นความชอบธรรมตามหลักพระพุทธเจ้า เราให้คิดย้อนหลังไปถึงพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกท่าน เมื่อจะเกิดความท้อแท้อ่อนแอหรือท้อถอย ให้คิดถึงท่านตามที่เราระลึกนึกน้อมท่านเป็นสรณะอยู่ตลอดเวลาว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

อย่าเพียงระลึกเฉย ๆ ระลึกเอาเป็นคติตัวอย่าง เอาเป็นเนติแบบฉบับ สาวกทั้งหลายเหล่านั้นท่านเป็นคนเหมือนเราหรือท่านเป็นเทวบุตรเทวดามาจากไหน ท่านเป็นคนเหมือนเรา บางท่านบางองค์ก็มาจากสกุลละเอียดอ่อนมากทีเดียว เช่น สกุลกษัตริย์หาความทุกข์ความลำบากไม่ได้ ส่วนร่างกายมีน้อย สำหรับเงินทองเต็มไปหมด ท่านสละออกมา เห็นของเหล่านั้นเป็นของเศษของเดนไปเลย บางท่านบางองค์ก็ออกมาจากเสนาบดี กุฎุมพี พ่อค้า เศรษฐี ทั้ง ๆ ที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ ทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ฐานะความมั่งมี ท่านทำไมท่านถึงสละสิ่งเหล่านั้นออกมาปฏิบัติธรรม จนเห็นธรรมแล้วปรากฏเลิศขึ้นมา แล้วในขณะเดียวกันท่านก็ทราบสิ่งนั้นว่าเป็นเศษเป็นเดนเท่านั้น ไม่เป็นของสาระสำคัญยิ่งกว่าธรรม จนได้บรรลุธรรมขึ้นมา

องค์ไหนอยู่ในสกุลใดก็ตามเมื่อได้ออกมาบวชในพุทธศาสนาแล้ว ท่านตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติความพากเพียร แม้แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินมาท่านก็สละความเป็นพระเจ้าแผ่นดินออกจากกิริยามารยาทและความรู้สึกภายในจิตใจ ว่าถือตนเป็นกษัตริย์ จนหมดไม่มีอะไรเหลือ มีแต่เพศนักบวชที่จะประกอบความพากเพียรเหมือนกับพระทั้งหลาย ท่านปรับตัวของท่านลงได้ขนาดนั้น ท่านจึงสามารถเป็นจอมปราชญ์ขึ้นมาให้เราทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา ให้ยึดหลักท่านที่เป็นอย่างนั้นมาครองใจ

ในครั้งพุทธกาลมีแต่งานอย่างนี้นะ งานเดินจงกรม งานนั่งสมาธิ งานภาวนา นี่งานของพระ พูดกันไม่ได้พูดเรื่องอื่นเรื่องใด การบ้านการเมืองการซื้อการขายการร่ำรวย เรื่องหญิงเรื่องชาย ท่านไม่เอามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของโลก เราออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้วเพราะความเห็นโทษว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยจึงได้ปลีกตัวออกมา จึงไม่นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นเครื่องก่อกวนจิตใจอีก นอกจากเมื่อสลัดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาสู่พระศาสนาแล้ว ยึดธรรมเป็นหลัก หน้าที่การงานที่เคยทำมาแบบโลก ๆ นั้นสลัดปัดทิ้งหมด มีแต่งานของพระงานของธรรม เรียกว่าสมณธรรม ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบร่มเย็นโดยถ่ายเดียว องค์ไหนอยู่ที่ไหนประพฤติปฏิบัติตนด้วยอรรถด้วยธรรม จึงปรากฏผลขึ้นมาอยู่เสมอไม่ขาดวรรคขาดตอน ว่าองค์นั้นสำเร็จมรรคผลนิพพานอยู่ที่นั่น เช่นในเขาลูกนั้นในป่านั้น ในถ้ำนั้น ในเงื้อมผานั้น สำเร็จอยู่เรื่อย ๆ ๆ เพราะท่านทำอยู่ไม่หยุดผลจะไม่ปรากฏขึ้นได้อย่างไร

เวลาสนทนากันก็มีสัลเลขธรรมเป็นเครื่องสนทนา ท่านเรียกว่าสัลเลขกถา แปลว่าการกล่าวหรือสนทนากันเพื่อความหลุดพ้นหรือเพื่อความถอดถอน สัลเลข แปลว่า ขัดเกลา ถอดถอนกิเลส เรียกว่าสัลเลขธรรมหรือสัลเลขกถา ถ้ามีแต่ธรรมก็เรียกว่าสัลเลขธรรม ถ้ามีการกล่าวด้วยก็เรียกว่าสัลเลขกถา แปลว่าการกล่าวถึงเรื่องธรรมเครื่องชำระกิเลสทั้งหลายมีอะไรท่านกล่าวในครั้งพุทธกาล นี่ละหลักของการกล่าวของสมณะเรามีเขตมีแดน

ข้อที่ ๑ พากันฟังให้ดี เราเคยพูดมากี่ครั้งกี่หนแล้ว แต่ว่าพระก็มากันอยู่เรื่อย ๆ ผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็อาจมี อัปปิจฉตา เป็นผู้มีความมักน้อย ไม่ได้สอนให้มักมากในวัตถุต่าง ๆ ลาภสักการะบูชา มีอะไรมากเพียงไรก็ตาม เอาแต่เพียงน้อยเท่านั้นนี้เป็นเยี่ยม

สันตุฏฐี คือความสันโดษนี่ลดกันลงมา ตามมีตามได้ ใช้สอยบริโภคตามมีตามเกิด ไม่วุ่นวายไม่รบกวนประชาชนญาติโยมผู้ใดทั้งสิ้น บริโภคใช้สอยตามสิ่งที่มีที่เกิดขึ้นด้วยความชอบธรรมเท่านั้น นี้ลดหย่อนลงมาจากอัปปิจฉตา ความเป็นผู้เด็ดเดี่ยว เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

วิเวกตา ข้อที่ ๓ ชอบสงัด สงัดทั้งสถานที่อยู่ สงัดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สงัดทั้งใจคือสมกับคำว่าสมณธรรม บำเพ็ญตนเพื่อความสงบสงัดอยู่ภายในจิตใจ ใจไม่สงบใจไม่สงัดหาความสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามตะล่อมกระแสจิตลงด้วยความพากเพียร ให้มีความสงบตัวได้ ก็เป็นความสงบได้และมีความสุข นั่นละท่านว่าวิเวกตา

วิริยารัมภา ประกอบความเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน ให้มีความเพียรมีสติเป็นหลักประจำในอิริยาบถต่าง ๆ เรียกว่าเป็นความเพียรในทุกอิริยาบถได้ นี่ท่านว่าวิริยารัมภา ปรารภความเพียรหรือประกอบความเพียร

อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับเพื่อนกับฝูงซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ตลอดถึงประชาชนศรัทธาใคร ๆ ก็ตาม อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีตีโมงกัน

ศีล พยายามระมัดระวังศีลของตนอย่าให้ด่างพร้อยทะลุขาดไปได้ ให้รักศีลเหมือนกับรักจิตใจของตนเอง ศีลกับธรรมก็อันเดียวกัน ธรรมประเภทหยาบท่านเรียกว่าศีล เพราะจะต้องบังคับกันทางกายทางวาจา มีใจเป็นผู้รับผิดชอบ

สมาธิ กล่าวถึงความสงบสงัดของจิตใจ นี่สัลเลขกถากล่าวมาเป็นลำดับ ๆ

จากนั้นก็ ปัญญา สนทนากันกล่าวกันถึงเรื่องปัญญา ใครมีอุบายแยบคายประการใดบ้าง เล่าสู่กันฟัง สนทนาซึ่งกันและกันไม่ว่าสมาธิประเภทใดก็ตาม สนทนาซึ่งกันและกัน พี่ได้สองน้องได้หนึ่ง ต่างคนต่างได้อุบายจากกัน สนทนาเรื่องสมาธิ สมาธิของผู้ใดมีอากัปกิริยาอย่างไรบ้าง เพราะอุบายแห่งจิตที่จะฝึกฝนตนให้ได้รับความสงบนี้มีต่าง ๆ กันตามจริตนิสัยของผู้ที่ชอบ แล้วสมาธิมีอาการอย่างไรบ้างก็สนทนากัน ปัญญามีความฉลาดแหลมคมขนาดไหน ลึกตื้นหยาบละเอียดกว้างแคบขนาดไหนของแต่ละราย ๆ นำมาสนทนากันเพื่อเป็นคติเตือนใจ หรือเป็นเครื่องประดับความรู้แก่กันและกัน

จากนั้นก็พูดถึงเรื่อง วิมุตติ ความหลุดพ้น อันเป็นสิ่งที่มีความกระหยิ่มยิ้มย่องมาก เป็นยอดแห่งความปรารถนาซึ่งเนื่องมาจากเบื้องต้น ตั้งแต่อัปปิจฉตา จนกระทั่งถึงปัญญาแล้วก็วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ กล่าวถึงเรื่องความรู้แจ้งแห่งความหลุดพ้นของตน นี่เรียกว่าสัลเลขธรรม ๑๐ ประการที่นักบวชทั้งหลายในครั้งพุทธกาลท่านกล่าวท่านสนทนากัน ท่านสนทนาเป็นอรรถเป็นธรรม เป็น กาเลนธมฺมสากจฺฉา คือเป็นกาลเป็นสมัย แล้วก็ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นอุดมมงคลแก่คู่สนทนาทั้งสองฝ่าย

นี่สัลเลขธรรมท่านสนทนากันแต่ครั้งพุทธกาล ไม่มีการบ้านการเมืองการได้การเสีย ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับโลกสงสารเหมือนกับนักบวชเราทุกวันนี้ ซึ่งในปากไม่มีอะไรในหัวใจไม่มีอะไร มีแต่โลกล้วน ๆ ระบายออกมาฟังไม่ได้ แล้วจะเข้ากันได้อย่างไรกับครั้งพุทธกาล เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็มีแต่ชื่อนั่นซิ ชื่อนักบวช ว่าทรงศีลก็ไม่ทราบว่าศีลไปได้แค่ไหนเป็นไปอย่างไร เพราะคำพูดก็ไม่ได้สำรวมนี่ ศีลจะไปแค่ไหน มันไม่กลายเป็นสูญไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ศีลกับสูญมันใกล้ ๆ กัน แล้วจะเอาสมาธิมาจากไหน เมื่อแม้แต่ความปรารภถึงสมาธิก็ไม่เคยปรารภ เราอย่าพูดเลยว่าได้บำเพ็ญสมาธิด้วยจิตตภาวนาแล้วจะเห็นผลขึ้นมา

หายุ่งเหยิงวุ่นวายไปในสิ่งที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง ทางที่ท่านให้เดินไม่ยอมเดิน งานที่ท่านให้ทำไม่ยอมทำ ทำแต่งานที่เป็นข้าศึกที่เป็นการฝืนธรรม อันเป็นข้าศึกต่อธรรมอยู่เป็นประจำนิสัยประจำอิริยาบถ จะปรากฏคุณงามความดีอันเป็นสาระสำคัญให้เป็นที่ภาคภูมิใจแก่ตนได้อย่างไร เมื่อการปฏิบัติมันเหยียบย่ำทำลายธรรมอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่มีผลอะไร ภูมิใจกับความเป็นนักบวชความเป็นพระของตนเท่านั้นมีประโยชน์อะไร ภูมิใจกับว่าเรามีศีลเท่านั้นเป็นประโยชน์อะไร ถ้าไม่ภูมิใจในคุณสมบัติที่เราประกอบบำเพ็ญธรรม จนปรากฏเป็นผลที่พึงใจขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ เรียกว่าอัตสมบัติ

จะเป็นสมาธิสมบัติก็ตาม ปัญญาสมบัติก็ตาม จนกระทั่งถึงวิมุตติสมบัติ นี่เป็นคุณสมบัติที่ภาคภูมิใจซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบความพากเพียรทั้งหลาย โน่นตั้งแต่อัปปิจฉตานั้นแหละเป็นเครื่องชำระ แต่ส่วนมากเป็นข้าศึกกันกับมหิจฉตา มหิจฉตา หมายถึงความมักมาก เรื่อยมาเป็นลำดับ ท่านสอนไว้อย่างนี้วิธีการแก้กิเลส

เพราะกิเลสมันชอบขัดธรรม มันชอบแย้งกันกับธรรม เช่นอย่างธรรม ๑๐ ประการนี้ ธรรมท่านสอนว่าอัปปิจฉตา กิเลสมันบอกให้ได้มาก ๆ ตายแล้วเอาสมบัตินั้นมาเผาเจ้าของมันยิ่งชอบ มีกองเงินกองทองสมบัติอะไรก็มาเผากันไม่ต้องไปหาฟืนหรอกกิเลสมันชอบ นี่มันขัดกันอย่างนี้กับกิเลส กิเลสต้องขัดกับธรรมเสมอแย้งธรรมเสมอ ต่อสู้ธรรมเสมอ ถ้าจิตเราหยาบเราชอบในสิ่งใด พึงทราบเถิดว่าจิตนั้นเป็นไปกับกิเลสแล้ว ถูกกิเลสจูงจมูกไปแล้ว แล้วมันจะเอาขึ้นเขียงสับยำเท่านั้นเอง

นอกจากจิตได้ก้าวเข้าสู่ภูมิอรรถภูมิธรรมพอเป็นที่ไว้ใจได้แล้ว ดำเนินตามเรื่องของตน รู้เหตุรู้ผลรู้อรรถรู้ธรรม รู้ดีรู้ชั่วภายในจิตของตนอยู่โดยเฉพาะ ๆ นั้นเป็นอีกแง่หนึ่ง จิตถึงขั้นนั้นแล้วต้องเป็นความอยากในธรรม ความอยากในธรรมเป็นมรรค ไม่ได้เป็นกิเลสเหมือนความอยากแบบโลก ๆ ทั้งหลายอยากกัน เช่นท่านว่าวิเวกตา ท่านสอนว่าให้ชอบวิเวก แต่กิเลสมันชอบเกลื่อนกล่นวุ่นวาย สถานที่ใดคนหนาแน่นเป็นที่ชุมนุมเป็นที่เอิกเกริกเฮฮาแล้วกิเลสมันชอบให้ไปที่นั่น แน่ะ มันขัดกันอย่างนี้ มันวิเวกตาได้ยังไง

วิเวกตาเป็นเรื่องของธรรม เรื่องความชอบความเกลื่อนกล่นวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องของกิเลส วิริยารัมภา ประกอบความเพียร เรื่องของกิเลสมันว่า กุสิตํ หีนวิริยํ มันขัดกัน กุสิต หีนวิริยํ แปลว่าอะไร แปลว่าผู้มีความเพียรอันเลว นั่นฟังซิ คือความเพียรไปในทางที่เลว นั่นละความเพียรของกิเลสมันเพียรให้เลวไม่ใช่เพียรให้ดี ผิดกันกับวิริยารัมภา ขัดกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเรื่องวิมุตติ ขัดกันอยู่เสมอ เรื่องของกิเลสให้พึงทราบว่าเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นเรื่องต่อสู้กับธรรม ขัดกับธรรมแย้งกับธรรมเสมอ แล้วให้พึงสังเกตในความรู้สึกของตน แม้มันจะแสดงขึ้นมาอย่างไร จะชอบมันก็ตาม ให้พึงใช้สติปัญญาพิจารณาถึงความชอบของตนเองนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าไม่เป็นธรรมแล้วก็ต้องทราบชัดในขณะเดียวกันว่ามันเป็นกิเลส แล้วให้ฝืนทันที สลัดทันที ทั้ง ๆ ที่อยากทั้ง ๆ ที่เสียดาย เพราะความอยากเป็นเรื่องของกิเลส ความเสียดายเป็นเรื่องของกิเลส ความสลัดออกจากสิ่งที่เสียดายจากสิ่งที่อยากนั้นเป็นเรื่องของธรรม

เราจะดำเนินตามพระพุทธเจ้า เราต้องสลัด ต้องฝืนใจ ไม่ฝืนได้หรือ ไม่ฝืนไม่เรียกว่าต่อสู้กัน ถ้าเราคล้อยไปอย่างนี้ไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติ ไม่เรียกว่าผู้ฝืนกิเลสผู้ปราบปรามกิเลสผู้ต่อสู้กิเลสผู้จะหวังเอาชัยชนะกิเลส ต้องเป็นผู้แพ้เสมอไป ไม่เข้ากับหลักธรรมที่ว่าต่อสู้ ต้องให้ทราบตัวเสมอ

เราได้ยินแต่ข่าวท่าน ว่าองค์นั้นสำเร็จโสดา ท่านองค์นี้สำเร็จสกิทาคา ท่านองค์นั้นสำเร็จอนาคา ท่านองค์นี้สำเร็จอรหันต์อยู่ในที่นั่น ๆ นี่เป็นผลของท่านที่สำเร็จขึ้นมา ทางแห่งความเพียรของท่านเป็นยังไง ความเพียรซึ่งเป็นตัวเหตุกับข่าวแห่งความเพียรที่เป็นตัวเหตุ กับข่าวผลที่ท่านได้รับ มันก็กลมกลืนกันไป ท่านถึงได้รับอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องมองดูทั้งเหตุมองดูทั้งผล ต้องการผลแล้วต้องบำรุงเหตุให้ดี

เช่นอย่างเราดูผลไม้ต้นนี้ หรือไม้ต้นนี้มันชอบปุ๋ยอะไร อะไรเป็นอาหารของมันที่เหมาะสมกับมัน มันถึงแสดงผลออกมาให้เป็นที่พึงใจกับเจ้าของเราต้องคิดอย่างนั้น เรามามองดูตั้งแต่ผลอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงเหตุที่จะทำให้ผลมันสมบูรณ์พูนผลมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต้องมองดูทั้งเหตุ ปุ๋ยของมันมันชอบอะไรแล้วรักษาให้ดีอย่าให้เป็นอันตรายจากสิ่งใด

นี่ใจของเราซึ่งเราจะต้องการผลจากใจอยู่แล้ว มีอะไรเป็นข้าศึกของใจให้พยายามกำจัด ตัวแมลงน่ะสำคัญมันกัดอยู่เรื่อย ๆ ราคะก็กัด โทสะก็กัด โมหะก็กัด ความขี้เกียจอ่อนแอมันกัด ความท้อถอยมันกัด ความว่าอำนาจวาสนาน้อยมันกัด ว่ามรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัยแล้วมันกัด มีแต่เรื่องกัดทั้งนั้นตัวแมลงเหล่านี้ นี่ละแมลงกิเลสมันเป็นอย่างนี้ ท้อแท้อ่อนแอ ถ้าจะเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเหมือนจะเอาเข้าตะแลงแกง เอาไปฆ่าประหารชีวิต มันกัดอยู่เรื่อย ๆ ถ้าลงในหมอนแล้วไม่รู้จักตื่น นั่นมันกัด

ให้เราทราบว่าตัวแมลงมันอยู่อย่างนั้นแหละอยู่ภายในจิตใจ มันแทรกมันสิงมันกระซิบกระซาบ มันซืบมันซึมอยู่นั้นตลอดเวลา เพราะมันอยู่กับจิต นี่เราพยายามกำจัดให้มันออกด้วยวิธีการต่าง ๆ เราจะได้เห็นธรรมดวงล้ำเลิศภายในจิตใจ เพราะความพากเพียรของเรา ความต่อสู้ของเรา เบื้องต้นก็ต้องยากลำบาก ยากก็ยอมรับกันไม่ยอมถอย ยอมรับว่ายากว่าทุกข์ ทุกหน้าที่การงานต้องมีลำบากเหมือนกัน เพราะคำว่าทำแล้วอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ต้องมีความเคลื่อนไหว การประกอบความพากเพียรก็มีความเคลื่อนไหวอันเป็นความลำบาก เอาจนให้เห็นผลเป็นที่พอใจ

จิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ ถ้าฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอน จิตไม่เคยอรรถเคยธรรมแล้วก็เหมือนกับยักษ์กับผีตัวหนึ่ง มันจะมีอรรถมีธรรมมีเหตุมีผลมาจากไหน นอกจากให้ได้สมใจตัวเองเท่านั้น นี่คือเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ภายในจิตใจไม่มีธรรมเข้าแทรกเลยเป็นอย่างนี้ ผลที่แสดงออกมาจึงหาความสุขไม่ได้สำหรับตัวเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกระทบกระเทือนไปหมด เพราะอำนาจของกิเลสของแต่ละคน ๆ ที่คละเคล้ากัน เพราะมนุษย์เรานี้เป็นสัตว์หมู่สัตว์พวก อยู่ลำพังตนเองไม่ได้ จึงต้องกระทบกระเทือนกันเพราะอำนาจแห่งความเป็นภัยภายในจิตใจระบายออกต่อกันและกัน

เมื่อฝึกหัดอยู่โดยสม่ำเสมอไม่ลดละ สิ่งพยศทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องลดลงไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจของความพากเพียรของเรานั่นเอง จิตไม่เคยสงบได้ก็สงบ เพราะรักษานี่นะจะไปไหน สงบได้เย็นใจได้สบายได้เพราะการรักษา การบำรุงด้วยความเพียร การพยายามรักษาวิถีจิตที่มันคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นภัยไม่ยอมให้คิด ถ้าจะคิดให้คิดแง่ธรรมในธรรมแง่เดียว บังคับมันอยู่อย่างนี้ กิเลสก็ค่อยจางออกไป ๆ ใจก็ได้รับความสงบ พอใจสงบแล้วก็เห็นคุณค่า ให้พยายามเร่ง คุณค่าไม่มีเพียงความสงบเท่านั้น ความสงบมากกว่านั้น ซึ่งเป็นคุณค่ามากกว่านั้นยังมี

พูดท้ายเทศน์

คิดดูตั้งแต่มาตั้งวัดทีแรกแถวนี้ยังเป็นป่าเป็นดง กระท้อนเต็มไปหมด ดูซิเดี๋ยวนี้มีอะไร แต่ก่อนเป็นป่าทั้งนั้นจนถึงทางแยก ดูต้นยางก็เห็น พอเขาถากถางออกหมดแล้วต้นยางยังเหลืออยู่นั่น เป็นป่าเป็นดงจนกระทั่งเข้าถึงหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้ดูซิเปลี่ยนแปลงไปหมด เหล่านี้ดงทั้งหมดตั้งแต่มาอยู่ทีแรก ตะวันออกนี่ดงทั้งหมดเดี๋ยวนี้ไม่มีเหลือเลยป่า เปลี่ยนไปหมดแล้ว นี่ ๒๔ ปีมาสร้างวัดความเปลี่ยนแปลง พูดถึงป่าเขานี่ไม่ได้เรื่องนะเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไปไหนก็สบาย ๆ

คิดดูซิสมัยพ่อแม่ครูบาอาจารย์เที่ยวเราลองคิดดูซิจะไกลกันลิบลับขนาดไหน ระยะ ๕๐ - ๖๐ ปี ๗๐ ปี ระยะท่านปฏิบัติท่านไปมาทางอำเภอบ้านผือเข้าดงเที่ยวไปทางจังหวัดเลย เชียงใหม่ มีแต่ป่าแต่ดง ท่านเล่าให้ฟังไปทั้งวันก็ไม่เคยเจอบ้านคน หลงป่าหลงเขา นอนอยู่ตามป่ามีเยอะท่านว่า คือมันมีแต่ทางโขลงช้าง ทางคนเพียงเป็นด่าน ๆ พอเป็นรอยนิด ๆ เขาถากไม้เวลาจะไปบ้านนั้นบ้านนี้ก็ดี คอยดูเขาถากไม้ส่วนมากรอยเขาถากเก่า ๆ ท่านสังเกตไปตามนั้นพอเป็นร่องรอยนิด ๆ ทีนี้เวลาโขลงช้างมันผ่านมาก็แหลกหมด เลยไม่ทราบอะไรเป็นอะไร ต้องได้ไปสกัดข้างหน้าไปดักดูข้างหน้าจึงค่อยได้ทางไปอีก ถ้าเกิดช้างมันเดินไปตามนั้นอีกยิ่งลำบากใหญ่ ท่านว่า เดินไปตามด่านนั่น ทีนี้เลยไม่ทราบว่าด่านอยู่ตรงไหนมันแหลกไปหมด

โห ทุกข์จริง ๆ นะพ่อแม่ครูจารย์เล่าให้ฟัง ทุกข์มากจริง ๆ พวกเรานี่อย่าเข้าใจว่าทุกข์เลย ท่านทุกข์ทุกอย่าง การกินอยู่ปูบายก็ทุกข์จะว่าไง สถานที่อยู่ที่พักเขาไม่รู้ภาษีภาษา แบกกลดเป็นหมู่เป็นคณะไปนี่เขาเห็นเขาแตกฮือเข้าป่า อันนี้หมายถึงว่าเขาอายต่างหากนะไม่ใช่เขากลัวจริง ๆ นะที่ผมเขียนในประวัติ ฯ น่ะ คือทางนี้เขาอายจริง ๆ นะอายพระเวลาเขาจะไปหากิน เช่น ไปหาสัตว์หาอะไรไปเจอพระแล้วเขายิ่งอายมาก แต่ก่อนเป็นอย่างนั้นนะ แตกฮือหลงแม่หลงลูกโน่น คือเขาอายไม่ใช่เขากลัวจริง ๆ นะ ลูกหลงแม่ แม่หลงลูก พอท่านผ่านไปแล้วออกมาหาลูกหัวเราะกันลั่น

คือมันไม่มีบ้านคน เป็นบ้านหากินของเขาไม่ใช่บ้านใหญ่บ้านโต หากินที่ไหนก็พออยู่พอกินทั้งนั้นแหละ หาจับปูจับปลาตามห้วยตามหนองในป่าในดง บ้านเขาก็เป็นบ้านป่า เดินไปเจอเอา ก็วิ่งเข้าป่าเข้ารกเขาอาย คนแต่ก่อนอายพระยิ่งกว่าอะไร ทุกวันนี้มันหน้าด้านพอแล้ว สมัยทุกวันนี้คนมันด้าน เรียนสูงแต่ทำไมความรู้สึกการประพฤติทำไมมันด้านเอานักหนา

สมัยพ่อแม่ครูจารย์อยู่นั้นนับมาถึงบัดนี้จะถึง ๗๐ ปีแล้วมัง ตอนผมไปหาท่านตอนนั้นพรรษาได้ ๔๙ นะ ตั้งแต่พรรษา ๑๘ - ๑๙ หรือไงท่านเที่ยวทางอำเภอบ้านผือ พรรษา ๒๒ ก็ไปอยู่ที่ถ้ำสาริกาไปปรากฏเป็นความอัศจรรย์อยู่ที่นั่น พรรษา ๒๒ ฟังว่า ที่ท่านพูดถึงเรื่องผีตัวใหญ่ ๆ มาหาท่าน น่าฟังนะ เป็นหัวหน้าพวกรุกขเทพอยู่นั่น ที่ว่าใครไปก็ตาย ๆ อาหารไม่ย่อยบ้างอะไรบ้างตาย ๔ คนแล้ว ตายไล่เลี่ยกัน ๔ คนแล้ว ท่านให้โยมเขาพาไป บ้านกล้วยถ้าผมจำไม่ผิด แน่ใจว่าจำไม่ผิด อยู่ตีนเขาที่มีหลวงตาองค์หนึ่งที่ท่านส่งกระแสจิตลงมาดู คิดแต่เรื่องบ้านเรื่องเรือนเรื่องอะไรต่ออะไรนั่นตอนหนึ่ง ตอนดึก ๆ กำหนดลงไปอีกก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น ตอนตี ๔ ตี ๕ กำหนดลงไปอีกยังอยู่นั้น เอ๊ะ หลวงตานี้ไม่นอนหรือนี่ เพราะฉะนั้นตอนเช้าบิณฑบาตมานี่ใส่ปัญหาเลยเผ่นใหญ่เลยหลวงตาองค์นี้

ท่านว่าท่านเป็นบทเรียนอันสำคัญตั้งแต่หลวงตาองค์นั้นเป็นเหตุมาแล้ว จึงต้องได้ระมัดระวังการพูด ท่านก็พูดให้เขาฟังหมด การจะเตือนใครต่อใครมันมีทางได้ทางเสียต้องได้พิจารณา เวลาสรุปความลงแล้ว ท่านว่าปล่อยไว้เหมือนเด็ก เหมือนเด็กมันเที่ยววิ่งของมันตามประสีประสา เราคอยดูแต่มันจะไปเข้าอันตราย เช่นจะไปตกน้ำ จะไปตกเรือน หรือจะไปเข้าไฟอะไร ๆ เป็นอันตรายแก่เด็กเท่านั้นละ จากนั้นก็ปล่อยให้ไปสะเปะสะปะตามภาษาของเด็ก เราจะไปคอยดูมันทุกก้าวไม่ได้เด็กว่างั้น เดี๋ยวเด็กมันร้องไห้ว่าเราไปยุ่งมัน อันนี้จิตใจของปุถุชนมันก็เหมือนกัน จะไปทักทุกแง่ทุกมุมไม่ได้ นอกจากมีอะไรร้ายแรงก็เตือนเป็นอุบายเอา ถ้าจะเป็นฝ่ายผิดก็เตือนพอเป็นอุบายเอา

รู้สึกว่าท่านจะชัดเจนมาตั้งแต่นู้นนะ ก่อนนั้นก็คงจะมีแต่เราจำไม่ได้ ท่านพูดนั้นเป็นเบื้องต้น ท่านชำนาญมาก ความรู้ท่านผาดโผน จิตของท่านผาดโผนมาก หลวงปู่แหวนท่านเล่าให้ฟังขบขันดีเรื่องพ่อแม่ครูจารย์ ท่านเคยอยู่ด้วยกันนี่ ท่านพูดขบขันดี โรคเจ็บท้องไม่ใช่อะไรหรอกท่านพิจารณาของท่านท่านรู้เอง ท่านเล่าให้ฟัง ที่เจ็บท้องบ่อย ๆ นี่เมียแช่ง คือมีเมียแล้วไปเถลไถลอีก เมียไม่พอใจเลยแช่งเอา กรรมนั้นเลยติดมา ท่านว่าอย่างนั้น เพราะท่านพิจารณาท่านรู้นี่ เคยเป็นอะไร ๆ อย่างที่ทางมูเซอท่านก็เคยเป็น ไปเป็นหมูป่าอยู่โน่นนะ วัฏฏะไม่ทราบว่าเกิดที่ไหน ๆ ตั้งแต่เมื่อไร ๆ เป็นไปได้หมด เวลาท่านมีโอกาสท่านจึงพูดไม่ใช่ว่าพูดบ่อย ๆ

สำคัญที่เรานั่งภาวนาซีท่านไปจี้เอา ต่อสู้กับเวทนาท่านจี้เอา นี่ซิไม่ยอมท่านได้เหรอ เพราะท่านถอดหัวใจเรามาให้เราดูนี่เราค้านได้ยังไง ผมเป็นเองนะตอนต่อสู้กับเวทนาเวลามันเหนื่อยมันเพลียจะตายจริง ๆ เพราะต่อสู้กันมานานก็เลยพัก จ้อกันอยู่นั้น จ้องกันอยู่นั้น ทีแรกท่านทำท่าจะขู่ก่อน ท่านวางปัญหาอะไรนี้เราไม่กล้าเอื้อมออกไปเพราะเราเคยเข็ดแล้ว ท่านก็เลยบรรยายขึ้นมาเอง ตอนเที่ยงวันนี้ท่านว่างั้น ยังไงท่านมหาเมื่อเช้านี้ไม่ฉันจังหัน ว่าเป็นไข้แล้วจะพิจารณาไข้ยังไง กำหนดดูสักหน่อยว่ะ ก็เลยกำหนดจิตไปดูท่านว่างี้แหละ บทเวลาท่านจะเปิดนะ จ้อกันอยู่งี้นะท่านว่างั้น ทำอย่างนั้นมันทำแบบฤาษีแบบหมากัดกันเราเลยไม่ลืม ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นให้มันเห็นตัวความจริงซี ท่านมหาก็เคยพิจารณามาแล้วนี่นาทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น

คือท่านไปดูเอาตอนขณะที่เราพักเราหยุดจิตพิจารณา ท่านส่งไประยะนั้นพอดีเลย หากว่าท่านส่งไประยะก่อนหน้านั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะกำลังค้นพิจารณาอยู่ ทีนี้มันเหนื่อยมากก็เลยพักสักครู่เสียก่อน จ้อกันอยู่นั้นกับทุกขเวทนานิ่งกันไป แต่ท่านก็ไม่บอกว่าเราเผลอนะ ท่านบอกว่ามันจ้อกันอยู่นี้ ๆ เพ่งกันอยู่นั้น ท่านก็ไม่ได้บอกว่าเราเผลอ อย่างแบบเพ่งนั่นมันแบบฤาษีแบบหมากัดกัน หลักใหญ่ความหมายท่านคือแบบฤาษี คงไม่หนักพอท่านก็เลยว่าแบบหมากัดกันซ้ำเข้าไปอีก อันนี้ท่านคงไม่ได้พูดเป็นเจตนามากนะตามความเข้าใจของผม เมื่อหลังจากนั้นมาแล้วผมนำมาพิจารณา แบบฤาษีคือแบบเพ่งไม่ใช้ปัญญา ท่านอธิบายถึงเรื่องปัญญาให้ฟัง พิจารณาสัจธรรมพิจารณาอย่างนั้นเหรอท่านว่า


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก