ซดซ้ายซดขวา โลกามิสทำลายกรรมฐาน
วันที่ 9 เมษายน 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 55.05 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

ซดซ้ายซดขวา โลกามิสทำลายกรรมฐาน

 

พระผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม มีสติอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตย่อมไม่ดิ้นรน กิริยาแสดงออกแห่งความดิ้นรนของใจก็แสดงให้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เป็นกิเลสออกมา ความมักน้อยนี้สำคัญ เป็นสิ่งที่ตัดความกระวนกระวาย ตัดความห่วงใยอะไรออกได้ เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานไปไหน จึงไม่มีห่วงหน้าห่วงหลัง มีแต่บริขาร ๘ เท่านั้น สิ่งที่เลยบริขาร ๘ ไปก็คือกาน้ำ พวกมุ้ง พวกกลด ขนาดนั้นก็เอาไปได้สบาย ๆ ไม่เห็นมีอะไร ไปอยู่ที่ไหนก็สบาย ถ้าว่าจะไปก็จับของเหล่านั้นมาใส่บาตร บรรจุในบาตรปั๊บเต็มบาตรพอดี สะพายบาตร เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานจึงมีบาตรใหญ่กว่าปกติอยู่บ้าง

บางคนเขาไม่เข้าใจ ว่าเอ๊ะพระกรรมฐานนี่ว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ทำไมจึงต้องมีบาตรใหญ่นักหนา เขาไม่เข้าใจความหมายของพระกรรมฐาน ว่าทำบาตรใหญ่เพื่อที่จะได้อาหารมาก ๆ มาฉัน ความจริงบาตรใหญ่นั้นใช้แทนกระเป๋าเดินทาง ถ้าบาตรลูกเล็ก ๆ ใส่สังฆาฏิตัวเดียวมันก็หมดแล้ว ทีนี้ของนั้นจะเอาใส่ที่ไหน ไม่มีที่ใส่ เมื่อบาตรใหญ่มุ้งก็ลงที่นั่น สังฆาฏิก็ลงที่นั่น แน่ะ โคมไฟก็เอาลงที่นั่นพอดี เทียนไข ไม้ขีดไฟที่มีติดตัวไปบ้างก็เอาลงที่นั่น สะพายพอดีเลย หนักก็พอดี ไม่หนักมาก กลดก็แบกเสีย บาตรก็สะพายเสีย ย่ามเล็กใส่ทางบ่าข้างหนึ่งแล้วไปธุดงคกรรมฐานได้อย่างคล่องตัว

ไปที่ไหนก็ผาสุกสบาย มองดูตั้งแต่ร่มไม้ชายเขา ที่ไหนสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม ไม่ได้มองดูเรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องวัตถุสิ่งของเงินทองอะไร ซึ่งจะเป็นการพอกพูนกิเลสขึ้นภายในจิตใจ ไปไหนก็มองหาตั้งแต่เรื่องชำระกิเลสอย่างเดียว หูฟังก็ฟังเพื่อชำระกิเลส ตาดูก็ดูเพื่อชำระกิเลส อะไรสัมผัสสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็พิจารณาเพื่อเป็นการถอดถอนกิเลสทั้งมวล

และเมื่อมีแต่การถอดถอนอย่างเดียวอยู่แล้ว กิเลสจะยกกองทัพมาจากไหนมันถึงจะหมดไม่ได้ เมื่อถูกฆ่าถูกทำลาย ถูกกำจัดปัดเป่า ไม่ได้ส่งเสริมมันให้แตกลูกเต้าหลานเหลนออกมา มันจะมีพืชมีพันธุ์มาจากไหน ก็หมดไป ๆ ผลสุดท้ายก็เกลี้ยงภายในจิตใจไม่มีเหลือ เพราะอุบายวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

ธุดงค์ ๑๓ มีข้อใดบ้างที่จะเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลส นอกจากเป็นเครื่องปราบกิเลสเท่านั้น ไม่เห็นมีธุดงค์ข้อใดที่เป็นเครื่องส่งเสริมกิเลส ฉันในบาตร ฟังซิ อะไร ๆ ก็ลงในบาตรหมด พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้ว สาวกทั้งหลายดำเนินมาอย่างนั้นทั้งนั้น ไม่มีภาชนะใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่าบาตรสำหรับพระ บาตรนี้เหมาะสมที่สุด เป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพระ เหตุผลที่เอาของลงในบาตร ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่จะได้พิจารณาเรื่องอรรถเรื่องธรรมเกี่ยวกับอาหารคลุกเคล้ากันในบาตร

เวลาอยู่ภายนอกอยู่ถ้วยนั้นจานนี้ อาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้ สีเป็นอย่างหนึ่ง กลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง ๆ รสเป็นอย่างหนึ่ง เวลามาผสมผเสกันแล้วเป็นยังไง เอามาพิจารณา คลุกเคล้ากันเข้าในบาตรแล้วเป็นยังไง เทียบกันโดยความเป็นธรรม เราฉันเพื่อไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ได้ฉันแบบลิ้นยาวท้องโต เราฉันแบบพอยังชีวิตให้เป็นไปได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นการขบการฉันอะไรถ้าเป็นลักษณะลืมตัวแล้วดูไม่ได้ ขัดกับธรรมของผู้ขบฉันด้วยความเห็นภัย จึงเตือน เมื่อ ๒ - ๓ วันนี่ก็ได้พูด จนได้ดุ คนมาก ๆ ก็ต้องดุ เพราะไม่ฟังความหมายอะไรเลย การพูดมีความหมายทุกอย่าง

จัดถ้วยใส่ลอดช่องลอดแช่งไปแล้วก็ซดกันเลย อะไรต่ออะไรพะรุงพะรัง ลืมไปหมด ลิ้นน่ะเหยียบธรรมแหลกหมดไม่รู้สึกตัวเลย ใครเอา เอาใส่แก้วไปซิ เทใส่แก้วก็ดื่ม ๆ ไปเลยถ้าหากต้องการอย่างนั้น ใส่ถ้วยแล้วก็ซดนั้นซดนี้ ซดซ้ายซดขวา เราไม่เคยลืมนะ พ่อแม่ครูจารย์มั่นหาอุบายตีหน้าผากพระ โดยยกเราเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาในการแสดงธรรม เป็นการตีหน้าผากพระองค์ดื้อ ๆ ด้าน ๆ นั้นแหละ มันมีพระองค์ดื้อด้านมีจะว่าไง บางองค์นั่งอยู่ต่อหน้าท่านนั่นแหละ คอยเช็ดบาตรล้างบาตรให้ท่าน องค์นั้นแหละ แล้วก็ซดอยู่ต่อหน้าต่อตาขวางตาท่านอยู่งั้น เราเห็นอยู่

นี่ไม่ได้คุยนะไม่ทำเลย พอเห็นท่านทำอย่างไรแล้วเราก็ดำเนินตามนั้น เพราะได้ยินชัดเจนด้วยการตั้งใจไปศึกษากับท่าน ท่านเคยพูด และท่านก็ไม่ฉันจริง ๆ ช้อน ไม่เห็นท่านซดอะไร ตอนแก่ชรามาจริง ๆ ไปไม่ได้จะทำยังไง ใครก็รู้ ท่านถึงได้ซดช้อน คือท่านพูดด้วยนะ ไม่ทราบมันเป็นยังไงท่านว่าอย่างนั้น ถ้าดูตามธรรมดาแล้วก็ไม่เห็นไม่น่าจะขัดตามหลักธรรมหลักวินัยอะไรเลย แต่เวลากำหนดถึงเรื่องช้อนเรื่องซดนี้ ไม่ทราบเป็นยังไงมันขวางจิตทันที ท่านว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่จึงไม่ทำ

ขวางจิตท่านอาจารย์มั่น กับขวางจิตคนมีกิเลสทั้งหลายมันเป็นยังไง หรือว่าขวางจิตท่านอาจารย์มั่นกลับมาคล่อง มาลื่นลิ้นของคนมีกิเลสมันเป็นยังไง คนมีกิเลสชอบอย่างนั้น อาหารเอร็ดอร่อยเท่าไร ซดซ้ายซดขวา ฟุ่มเฟือยมากเท่าไร จนลืมเนื้อลืมตัวนั้นชอบ เรื่องคนมีกิเลสมันต้องเป็นอย่างนั้น ท่านอาจารย์มั่นท่านไม่ใช่คนประเภทนั้น เวลาพูดอะไรออกมาจึงเป็นที่จับใจที่สุด ซึ้ง เรายึดเอาตามนั้นแบบถึงใจไม่ปล่อยวาง

จัดของลงในบาตร ยังเอาช้อนลงไปตักในบาตร ซดขึ้นมาแบบขุนนางฟังซิ ฉันแบบขุนนาง ไม่ใช่แบบเห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ใช่แบบเห็นภัยในกิเลส มันแบบส่งเสริมกิเลส แบบลืมเนื้อลืมตัว แบบขุนนางคือแบบลืมตัว เหล่านี้จำได้ไม่ลืมนะ ท่านสอนอย่างนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเราได้ยินดังนั้น ไม่เอาช้อนมาเข้าในบาตรจริง ๆ เวลาปฏิบัติอยู่กับท่านมันถึงใจ ท่านหาอุบายอีกด้วย เวลาเราไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ เพราะก่อนไปเราก็ไปกราบนมัสการลาท่านเสียก่อน ท่านเห็นพร้อมแล้วเราถึงไป ไม่ใช่ไปแบบดื้อด้านหาญทำโดยความมืดดำกำตาของตัวเอง

ท่านอนุญาตเรียบร้อยแล้วก็ไป ถ้านาน ๆ วันล่วง ๙ วัน ๑๐ วันไปแล้วไม่เห็นมา ท่านจะถามละ หือ ท่านมหาไม่เห็นมา ส่วนมากท่านมักจะถามถึงเรา หือ ไปหาซดซ้ายซดขวาอยู่ไหนนา เคยมาไม่เห็นมาว่ะ ไปหาซดซ้ายซดขวาอยู่ไหนนา ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ทราบได้ดีแล้วว่า เราไม่เคยทำเลย แน่ะ ของทุกสิ่งเราเข้าในบาตรหมด ไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ภาชนะชแนะอันไหนเลยทั้งนั้นแหละ ไม่มีอันนั้นจะใส่อันนี้จะใส่ เวลาได้ใส่ในบาตรเสร็จแล้วเท่านั้นเอง

ท่านก็เห็นชัด ๆ นั่งไม่ห่างไกลกัน แล้วอยู่กับท่านมากี่ปีจะไม่ชัดได้ยังไง ตาขนาดท่านอาจารย์มั่น ใจขนาดท่านอาจารย์มั่นทำไมจะไม่รู้ แต่เหตุใดท่านจึงพูดอย่างนั้น หือ ไปหาซดซ้ายซดขวาอยู่ไหนว่ะ ท่านตีหน้าผากองค์นั้น ทั้ง ๆ ที่รู้แต่มันไม่ทำ เรามีความจงรักภักดีต่อท่านขนาดไหนท่านทราบ เราถึงได้ระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ การลืมเนื้อลืมตัวไม่ใช่ของดีนะ ไม่สมกับผู้มาประพฤติปฏิบัติ เอ้า มันจะเป็นยังไงให้เป็นไปเถอะลิ้นนั่นน่ะท้องนั่นน่ะ ขอให้เล็งธรรมเสมอ อย่าไปเล็งลิ้นเล็งปาก อย่าไปเห็นแก่ลิ้นแก่ปาก เห็นแก่ความเอร็ดอร่อย นี่คือความลืมตัว ความประมาท

ฉันลงไปแล้วมันก็แค่ลิ้นนี่เอง อร่อยก็อยู่แค่ลิ้นนี้ มันอยู่ที่ไหน เคี้ยวกลืนลงไปแล้วลงไปถึงโน้นแล้ว ปรากฏว่ามีรสชาติอะไรบ้าง ไม่เห็นมีอะไร แล้วก็ไปเป็นของปฏิกูลโสโครกด้วยกันหมดอยู่ในท้องของเรา มันมีอะไรเป็นพิเศษ ไม่เห็นมี นี้เป็นพุงหวาน นี้เป็นพุงคาว นี้เป็นพุงแกง นี้เป็นพุงผัก ไม่เห็นว่านี่นะ ไม่มีห้องมีหับด้วยถ้าพูดห้องหับก็ดี ถ้าว่ามีพุงหลายพุงก็เพื่อจะใส่โน้นใส่นี้หลายอย่างหลายประการคนละแง่ละมุม คนละสัดละส่วน อันนี้มันไม่มีลงไปนั้นมันก็เป็นอันเดียวกัน แล้วอยู่ข้างนอกมันเป็นบ้าอะไรนักหนา ลืมเนื้อลืมตัวเอานักหนาพระปฏิบัติเรานี่

พิจารณาให้เห็นอรรถเห็นธรรม อาหารชนิดใดเข้ามาคลุกเคล้ากันกับของสกปรก นับตั้งแต่น้ำลายอยู่ในปากนี้ เท่านั้นแหละลงไปเรื่อย ๆ มันไม่มีอะไรดีเลย หากเราจะคิดถึงเรื่องน้ำลายแล้วมันก็จะกลืนไม่ลงนั่นแหละจะว่าไง แต่นี้เราไม่ได้คิด มันคลุกเคล้ากันกับอาหารนั้นเราก็ไม่ได้คิด ถือว่าเป็นความเอร็ดอร่อยถ้ามีน้ำลาย ไม่มีน้ำลาย ไม่อร่อยไปเสีย ถ้าอยู่ข้างนอกแล้วเอาเข้ามาอยู่ในบาตรนั้นซึ่งไม่มีอะไรสกปรกเลย ทำไมจึงจะบ้าตื่นไปอย่างนั้น

มันต้องฝึก ต้องดัดจิตไม่ดัดไม่ได้นะ เอาให้แข็งแกร่งเชียว เราอย่าไปอนุโลมตามมันนะ เคยกับอนุโลมตามมันมาพอแล้ว ไม่ใช่เคยอนุโลมตามมันนะ ไม่ได้อนุโลมคือคล้อยตามมัน หลงตามมันมานานแล้ว ถ้าอนุโลมตามมันก็คล้ายว่าเรามีดีกรีอยู่บ้าง เหมือนกิเลสมาขอชนิดนั้นชนิดนี้ก็แบ่งให้บ้าง เราใหญ่กว่ามันแล้ว นี้เรียกว่าอนุโลม นี่มันไม่ได้อนุโลม ถูกมันจูงจมูก จมูกขาดโน่นถ้าหากว่าเป็นแบบจูงสัตว์นะ กิเลสจูงคน

ต้องตระหนักในธรรมเสมอผู้ปฏิบัติ มีอะไรก็ฟาดมันลงไปเรียบวุธไปเลย ฉันพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ได้มุ่งอะไร พอฉันเมื่อวานมาแล้วกับวันนี้มันต่างกันอะไร ก็เท่าเดิม เราฉันมาแล้วตั้งแต่วันบวช กินมาแล้วตั้งแต่วันเกิด อาหารชนิดใด ๆ ก็เคยผ่านชิวหาประสาทเข้าไปในท้องในปาก ผ่านออกไปในทุกสิ่งทุกอย่าง มันอะไรวิเศษวิโสถ้าไม่มีธรรมให้วิเศษ สิ่งเหล่านี้มันวิเศษไปไม่ได้ มันก็เหมือนกับโลกทั่ว ๆ ไปที่เขารับประทานกัน ต้องคิดอย่างนั้นซินักปฏิบัติธรรม

อะไรที่จะเป็นสารคุณจากการประพฤติปฏิบัติ จากการขบการฉันให้นำมาพินิจพิจารณา นี่ไม่ลืมตัวในเวลาหนึ่งก็ไม่ลืมตัวในเวลาหนึ่งจนได้เรื่อยไปยังไง ในเวลาขบฉันถูกรสเหยียบย่ำทำลายเสียจนแหลก ไม่มีอะไรเหลือเลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องความอยากมันเป็นของมันอย่างนั้น ขณะที่ธาตุขันธ์มันกำลังเร่งก็มีเราก็เคยเป็นมาแล้ว ขนาดฉันลงไปจนเต็มท้องหาที่บรรจุไม่ได้ ทางปากมันยังอยากตะพึดตะพือไม่มีความอิ่มพอ ผลที่สุดเอาข้าวเปล่า ๆ มาฉันมันหวานไปเลยอีกแหละ นั่นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์มันเป็นอย่างนั้น แต่จิตใจเป็นอันหนึ่งที่ต้องบังคับมัน

อันนี้เราก็เคยได้ทำและเคยได้พูดให้หมู่เพื่อนฟัง เหตุที่จะได้ดัดเจ้าของให้รู้เหตุรู้ผลรู้หนักรู้เบากัน ก็เพราะตอนที่ธาตุขันธ์มันกำลังรุนแรง ฉันข้าวเจ้าเสียด้วย ข้าวเจ้ามันไม่ค่อยอยู่ท้องนานแหละเพราะเราไม่เคย ถ้าเคยก็ไม่เป็นไร อยู่โคราช วัดท่าช้างเป็นวัดกรรมฐานเราลงไปทีแรกก็ไปอยู่วัดท่าช้าง ฉันเท่าไรมันก็ไม่อิ่ม จนกระทั่งรำคาญนะเราก็ดี เพราะเรามุ่งธรรมนี่แต่ธาตุขันธ์มันไม่ได้สนใจกับอรรถกับธรรมอะไรกับเรา

ลิ้นปากไม่สนใจอรรถธรรมอะไรกับเรา มันมีแต่จะเอาท่าเดียว ฉันลงไปเท่าไรก็ไม่พอไม่อิ่ม เอามันอีก เอ้า ฟาดมันลงไปให้มันอิ่มจนกระทั่งไม่มีท้องใส่ ปรากฏว่ามันเต็มอัดเลย ขนาดนั้นอัดลงไปแล้วมันยังไม่หยุดความหิวความอยาก ยังอยาก เอาข้าวเปล่า ๆ มาฉันมันก็หวานไปเลย เอ๊ มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้น่ารำคาญนะ ออกจากนั้นก็ไปล้างบาตร ล้างบาตรกลับมาเช็ดบาตรยังไม่เข้าถลก หิวข้าวอีกแล้ว หือมันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ นี่นะต้นเหตุจะดัดกัน ก็ให้กินมาสักครู่นี้แท้ ๆ ยังไม่ถึง ๓๐ นาทีเลย อิ่มออกมานี้มาล้างบาตรเช็ดบาตร ยังไม่ได้เข้าถลกเลยทำไมถึงอยากอีกแล้ว ตั้งแต่นี้ไปถึงวันพรุ่งนี้เช้าก็ ๒๔ ชั่วโมง มันทำไมมันเก่งนักเหรอ เอ้า ลองดูมันจะตายจริง ๆ เหรอ ไม่ได้กินมันจะตาย จะลองดูสัก ๖ - ๗ วัน

เอาเลยที่นี่ดัดมัน ตัดสินใจปุ๊บลงไปตายก็ตาย ช่วง ๗ วันนี้มันจะตายเพราะไม่กินข้าวเอาให้เห็นเสียทีว่ะ จะทดลองดูให้รู้ความหนักเบาของธาตุของขันธ์ มันจะเป็นไปขนาดไหน ก็หยุดกึ๊กเลยไม่เอา จนกระทั่งถึงกำหนดถึงมาฉัน มันไม่เห็นตายนี่นะ แน่ะ จากนั้นมาก็พอฟัดพอเหวี่ยง ถึงจะหิวจะอะไรธาตุขันธ์มันจะดื่มอย่างเดิมก็ตาม ทีนี้จิตใจก็ปล่อยกังวลได้เพราะเคยรู้เรื่องราวกันมาแล้ว นี่มันเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์กำลังดูดดื่มมันเป็นอย่างนั้น ๆ เราอดแล้วเท่านั้นวันเท่านี้วันไม่เห็นตาย

พูดถึงเรื่องความหิวก็ไม่เห็นมันหิวเอานักเอาหนา วันหนึ่งสองวันมันหิวมาก พอจากนั้นไปแล้วก็ค่อยเบาลงไป จนกระทั่งถึงกำหนดวันฉันก็ไม่เห็นหนักหนาอะไรพอจะให้ล้มให้ตาย อันนี้เราฉันให้มันอยู่ทุกวัน ๆ แล้วฉันขนาดอิ่มแล้วมันยังจะตายก็ให้มันตายไปซี เหมือนกับคนหมดกังวล นี่เป็นคติอันหนึ่งนำมาพูดให้หมู่เพื่อนฟังไม่ใช่คุย พูดให้เป็นคติในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ดำเนินมาก่อนได้รู้เรื่องรู้ราว

ยังไงก็ขอให้มุ่งอรรถมุ่งธรรมเป็นสำคัญ ให้ฝังอยู่ภายในจิตใจอย่าให้เอนเอียง สิ่งภายนอกที่เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ให้เป็นอันหนึ่ง อย่าถือสิ่งเหล่านั้นเป็นใหญ่ยิ่งกว่าธรรม จิตใจจะค่อยเป็นไป และให้เข้มงวดกวดขัน สิ่งใดที่จิตชอบ ๙๙% เป็นกิเลสถ้าเป็นจิตเราธรรมดา มักจะชอบในสิ่งที่เป็นภัย แต่ถ้าจิตมีธรรมขึ้นเป็นลำดับ ๆ นั้นอาจจะมีชอบหลายด้าน อาจหมุนเข้ามาชอบในธรรม ภายนอกที่ยังชำระกันไม่ได้ ใจก็มีลักษณะชอบ แต่ก็รู้สึกตัวและพยายามแก้ไขไปโดยลำดับ จนกระทั่งความชอบเกี่ยวกับเรื่องโลกเรื่องสงสารจางไป ๆ จนกระทั่งความรู้สึกชอบทั้งหลายหมุนไปทางธรรมะล้วน ๆ จากนั้นใจก็สบาย แรงของโลกไม่ดึงดูดจิตใจได้ มีแต่จิตใจดึงดูดกับธรรม หมุนกันไปเลย

ให้พยายามตั้งใจผู้บวชใหม่บวชเก่า จิตไม่เป็นใหม่เป็นเก่าแหละ เป็นตัวดื้อด้านอยู่เหมือน ๆ กันหมดนั่นแล เราจะหวังเอาคุณงามความดี เอาความเป็นสิริมงคล เอาความสุขความเจริญจากใจของเรา เวลานี้ใจของเราเต็มไปด้วยพิษด้วยภัย จึงต้องชำระซักฟอกฝึกฝนทรมานหนักบ้างเบาบ้าง เราก็ทนเพราะเราทำเพื่อความเป็นคนดี เพื่อความสุขความเจริญโดยถูกทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ในบรรดาการปฏิบัติของเราที่ปฏิบัติมานี้ถูกต้องแล้ว ให้ฝึกตนอย่างนี้เสมออย่าทำความอ่อนแอ

จิตหากมีเรื่องที่จะแสดงออกมาท่านั้นท่านี้ นั่นละกลมายาของกิเลสหลอกเราให้เผลอไปจนได้ หลักใจเป็นสำคัญ ให้ตั้งหลักใจให้ดี การประพฤติปฏิบัติอย่าย่อหย่อนอ่อนกำลัง ไม่เกิดผลอะไรดีขึ้นมา มีแต่ผลเสียหายละจะตามมา ให้มีความเข้มแข็งโดยลำดับ ๆ เหมือนเด็กฝึกหัดเดิน ฝึกหัดไปนานเข้า ๆ เด็กก็เดินได้ชำนิชำนาญ นี่เอาให้จิตมีความชำนิชำนาญ ให้ถือกิเลสทั้งมวลนั้นละเป็นข้าศึกต่อธรรม หรือเป็นข้าศึกต่อใจอย่างยิ่ง

มันจะอยากขนาดไหน อยากดูอยากเห็นอยากได้ยินได้ฟังขนาดไหน ให้ทราบว่าความอยากนี้คือความกำเริบของกิเลส กิเลสกำลังกำเริบเวลานี้ให้เข้าใจอย่างนั้น เราอย่าไปคล้อยตามมันเสียทีเดียว นั่นไม่ใช่นักปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติแล้วต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อมันมีความอยากซึ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกทางสงสาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ให้ทราบว่านี่กิเลสกำลังกำเริบ อยากออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก มันกำเริบแล้วเราจะหายาอะไรเป็นเครื่องเยียวยารักษา หรือหาสิ่งใดมาปราบมาทรมานกันอย่างนี้ถูกต้อง ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

วงแคบเข้าแล้วเดี๋ยวนี้กรรมฐานจะไม่มีเหลือ ต่อไปจะมีแต่ชื่อนะกรรมฐาน ๆ เพราะโลกามิสนั่นละมันทำลายหัวใจของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าหากว่าไม่พินิจพิจารณาไม่เข้มงวดกวดขันจริง ๆ ก็ล้มระนาวไปได้โดยไม่ต้องสงสัย พิษของสมมุตินิยม อำนาจของสมมุตินิยมมันเหยียบย่ำทำลายไปได้หมด ทุกชาติชั้นวรรณะ ทุกเพศทุกวัย ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องต้านทานเป็นเครื่องป้องกันตัวอยู่เสมอแล้ว มันก็เหมือนคนเป็นโรคไม่มียารักษาไม่มียาป้องกันตัวนั่นแหละ

นี่เรามีทั้งเครื่องป้องกันตัว ให้พยายามพิจารณาทั้งด้านป้องกันตัว ทั้งด้านพยายามแก้ไขถอดถอนฝึกฝนทรมานตน หรือทรมานกิเลสให้มันหมดสิ้นไปโดยลำดับ อย่าลดละความพากเพียร อย่าท้อแท้อ่อนแอ นั้นไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า เมื่อมันจะเกิดความท้อแท้อ่อนแอขึ้นมา ให้คำนึงถึงพระพุทธเจ้าซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ ฟังซิกษัตริย์ทรงผนวชแทบล้มแทบตาย ใครจะหนักใครจะทุกข์ทรมานยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทำเป็นตัวอย่างมาแล้วจนได้ตรัสรู้ ตรัสรู้ก็ด้วยความเข้มแข็งความเอาจริงเอาจัง ความสละเป็นสละตายของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ความอ่อนแอ ให้ยึดมาเป็นหลักใจทั้งเป็นแนวทางด้วย ยึดมาเป็นหลักใจทั้งคำว่าพุทธะนั้นด้วย ให้เป็นหลักใจหลายด้านหลายทางด้วย

ช่วยตัวเองต้องหาอุบายวิธีแก้ไข ต้องหาวิธีช่วยด้วยสติปัญญา ไม่อย่างนั้นไม่ทันกิเลสนะ กิเลสมันหมุนตัวรอบด้าน ปัญญาเราไม่หมุนจะทันกิเลสได้ยังไง เดี๋ยวมันก็เหยียบหัวเอา เหยียบเอา ๆแหลก ใจที่มีสิ่งเป็นพิษเป็นภัยฝังจมอยู่ภายในตัวแล้วจะหาความสุขไม่ได้ เราอย่าเข้าใจว่าเราจะมีความสุขเพราะอยู่สถานที่นั่นอยู่สถานที่นี่ เพราะอาหารประเภทนั้น เพราะปัจจัยไทยทานประเภทนี้ ซึ่งมาพอกพูนส่งเสริมให้มีความสุขความสบาย อย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย เป็นความเข้าใจผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือการหันหลังให้ธรรม

อันใดเวลานี้ที่มาก่อความทุกข์ให้เราตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ข้าวก็ฉันอิ่มแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าปัจจัยเครื่องบำรุงของพระนั้นน่ะไม่มีขาดตกบกพร่อง แต่เหตุใดจิตใจหาความสุขไม่ได้ เป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะกิเลสนั่นเองเป็นผู้ยุผู้ยั่วผู้แหย่ ทิ่มแทงอยู่ทุกแง่ทุกมุม ขึ้นช่องนั้นขึ้นช่องนี้ ขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่มีอันใดที่จะแสนงอนยิ่งกว่ากิเลส นี่ละก่อให้เกิดความทุกข์ความลำบากแก่เราไม่ใช่สิ่งอื่นสิ่งใด เพราะฉะนั้นจงเห็นโทษกิเลสว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วหาอุบายฝึกฝนอบรมหรือทรมานให้ทันกับกลมายาของมัน ด้วยสติปัญญาของเราอย่าอยู่เฉย ๆ หัดคิดหัดพินิจพิจารณาแทรกกันเข้า หนามปักหนามยอก เอ้า บ่ง เอาหนามบ่งแทรกกันไป มันคิดในแง่ใดพลิกแง่นั้นออกมาคลี่คลายดูให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญาให้หายสงสัย นี่ชื่อว่าผู้ปฏิบัติ

เราอย่าเห็นอันใดในโลกนี้ว่าประเสริฐยิ่งกว่าธรรม ประเสริฐยิ่งกว่าใจที่สิ้นสุดจากกิเลสหรือหมดสิ้นจากกิเลส ด้วยการฝึกฝนอบรมหรือทรมานของเรา ให้เราถืองานอันนี้เป็นงานหนักแน่น ถืองานอันนี้เป็นงานชีวิตจิตใจของเรา งานพึ่งเป็นพึ่งตาย ผลจะได้เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายโดยไม่ต้องสงสัย นี่เป็นหลักใจสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติ อย่าหันเหจิตใจไปสู่ที่อื่นซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟ เราเคยคิดเคยปรุงเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้มันมีอยู่ทั่ว ๆ ไป ไม่บกพร่องในการรู้การเห็น เมื่อตาดีหูดีแล้ว

ผลประโยชน์ได้มามีอะไรบ้าง เอามาเทียบเคียงซินักปฏิบัติ ต้องเอามาเทียบเคียงคลี่คลายดู ความหนักเบาโทษคุณของมันเป็นยังไง แล้วเราก็มีทางที่จะแก้ไขดัดแปลงหรือปลีกตัวออกได้ด้วยอุบายต่าง ๆ ของเราที่คิดอยู่นี้ เป็นประโยชน์แก่เราหนุนไปโดยลำดับ การปฏิบัติให้ทำอย่างนั้น อยู่ที่ไหนก็ตามผู้มีความเพียรด้วยสตินั้นแหละคือผู้มีที่พึ่ง พระพุทธเจ้าท่านก็แสดงไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงอยู่ให้มีที่พึ่งนะ อย่าอยู่แบบไม่มีที่พึ่ง อย่าอยู่แบบอนาถาหาที่พึ่งไม่ได้ อย่าอยู่แบบคนสิ้นท่า อย่าอยู่แบบคนจนตรอกจนมุมไม่เสาะแสวงหาทางออก อย่าอยู่แบบหมูขึ้นเขียง แน่ะฟังซิ เราอยู่แบบไหน อยู่แบบตรงกันข้าม แบบฟิตเสมอ ขวิดเสมอ ชนไม่ถอยสู้ไม่ถอย ขุดค้นลงไม่ถอย ทรมานไม่ถอย ตบต่อยไม่ถอย เอา สติปัญญาเรามีในด้านใดสู้กันไปทุกระยะทุกด้าน นั่นจึงเรียกว่านักรบ ลูกศิษย์ตถาคตต้องเป็นอย่างนั้น

สิ่งที่เราจะเป็นที่พึงใจที่สุดก็คือจิตที่มีสติมีปัญญา มีความเพียรคุ้มครองรักษา ทรงดอกทรงผลขึ้นมาที่นั่น ให้เป็นความสงบ อย่างน้อยสงบภายในจิตใจ เย็นใจ จากนั้นก็มีความแยบคายออกไปโดยลำดับ จิตใจเมื่อออกสู่ปัญญาแล้วย่อมแยบคาย สติปัญญาก็ขยายตัวออกไป ๆ คลี่คลายเห็นกิเลสเป็นขั้น ๆ เป็นตอน ๆ เห็นทุกแง่ทุกมุมไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งผ่านพ้นไปได้ ด้วยอำนาจของสติปัญญามีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง

พูดท้ายเทศน์

สมุทัยพวกเราฟังจนติด พูดชินปากฟังชินหูแต่ใจมันด้าน มันถึงไม่ซึ้งในสมุทัย สมุทัยคืออะไร ก็คือ หอกคือหลาวทิ่มแทงหัวใจเรานั่นแล ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้เราก็เห็นโทษของสมุทัย แดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ หรือธรรมชาติที่ผลิตทุกข์ขึ้นมาที่ใจนั่นแหละ ถ้าเรามีสติอยู่กำลังไม่พอมันก็เป็น เหตุที่จะได้รู้ว่ากำลังไม่พอนี่ก็คือจิตเราแย็บไปหามัน พอให้รู้เรื่องของมัน ว่ามันกำลังมากกว่าเรา และที่จะแย็บออกไปก็เพราะว่าอำนาจของสติไม่พอกัน การแย็บออกไปของจิต เมื่อไปเจอสิ่งที่มันแย็บออกไปแล้ว เจอด้วยความสำคัญของตัวเองนะ ส่วนรูปเสียงกลิ่นรสที่จะเป็นสิ่งที่จะสัมผัสทางตาทางหูนี้ มันอยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่ธรรมารมณ์นี้มันก็คาดหมายอยู่นะ ถ้าเจอแล้วแก้ไม่ตกแสดงว่ากำลังไม่พอ ที่จะคิดออกไปนี้กำลังของสติไม่พอ มันจึงคิดไปได้

ให้อยู่ด้วยความภาคภูมิใจ เวลามาพิจารณาถึงเรื่องความเพียรเจ้าของแล้วให้ได้ภาคภูมิใจ พยายามระมัดระวังรักษาเหมือนเวลานี้เราเป็นนักโทษทีเดียว ถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลาย ถูกกิเลสกดขี่ข่มเหงทุกด้านทุกทาง ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาอิริยาบถ มาอยู่ในหัวใจให้คิดให้ถึงใจ ผู้ปฏิบัติต้องคิดสิ่งเหล่านี้ให้ถึงใจเสมอ อย่าไปทำใจจืด ๆ จาง ๆ เฉย ๆ เมย ๆ ไปกับสิ่งเหล่านี้ ก็เท่ากับเปิดทางให้มันเข้ามาเผาหมดนั่นแหละสมบัติที่ควรจะได้อย่างมรรคผลนิพพาน เริ่มตั้งแต่สมาธิขึ้นไปก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งนี้มันร้อน มันเข้าที่ตรงไหนมันเผาที่ตรงนั้น

เหมือนกับแดดร้อน ๆ ไฟร้อน ๆ เผาตรงไหนแหลกไปหมด ไม่ว่าไม้สดไม้แห้ง แม้แต่เหล็กมันยังละลายได้เพราะอำนาจแห่งความร้อน จิตก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ต้องได้รับความรุ่มร้อนฉิบหาย ธรรมที่จะเกิดขึ้นภายในจิตเกิดไม่ได้ เพราะกิเลสมันเป็นเหมือนไฟ ต้องเผาผลาญอยู่ตลอดเวลาถ้าเจ้าของเผลอไม่ระมัดระวัง จึงต้องให้ถือว่าเรานี้ผู้หนึ่งว่างั้นเลย ที่จะเป็นผู้สามารถเทิดทูนมรรคผลนิพพานไว้ได้

พระพุทธเจ้าประทานธรรมไว้ด้วยพระเมตตาสุดส่วนแก่โลกเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ผู้สนองพระเมตตาของพระพุทธเจ้าได้ ก็คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สุปฏิปนฺโน อุชุฯ ญายฯ สามีจิปฏิปนฺโน สำหรับนักบวชเรา นี่คือผู้เทิดทูนสมบัติของพระพุทธเจ้าไว้ได้ เมื่อเทิดทูนในฝ่ายเหตุนี้ได้แล้วผลไม่ต้องพูด จะต้องตามมาตามสาเหตุอันนี้ ไม่หนีจากนี้ไปได้

ในโลกธรรมสูตรท่านแสดงไว้ในมุตโตทัยนั่น ท่านเอาโลกธรรมสูตรมาแสดง แต่ท่านแสดงในภาคปฏิบัติเพราะฉะนั้นจึงถึงใจ มาเขียนก็ไม่ค่อยเท่าไรนัก เอามาเขียนนั้นแล้วก็เลยทำให้รสชาติเบาลงไป ประการหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้เขียนมีความลึกตื้นหนาบางขนาดไหนในทางความรู้ความฉลาดในธรรมปฏิบัติ ถึงจะนำออกมาจากปากต่อปากต่อคำท่านมาเขียน ใจเรามันก็ไม่ได้เป็นอย่างใจของท่าน เพราะฉะนั้นเนื้อธรรมถึงอ่อนลงไปโดยลำดับ ๆ

ในโลกธรรมสูตรท่านแสดงไว้ว่า โลกธรรมเป็นของมีอยู่ในโลกมาดั้งเดิม ไม่ใช่ของใหม่ เป็นของเก่ามาแล้วไม่ควรตื่น ไม่ควรจะไปตื่นเต้นเห่อเหิมกับมัน ทั้งดีทั้งชั่วเป็นของมีอยู่แล้วดั้งเดิม ท่านสอนในโลกธรรมสูตร ผมดูไม่มีคำแปลแต่เข้าใจ เพราะมันเกี่ยวกับบาลีที่เราเคยแปลมาแล้ว พออ่านเข้าไปมันก็เข้าใจไปตาม ๆ กัน ว่าอย่าเอาใครเป็นแบบเป็นฉบับ ธรรมดาโลกธรรมนี้ไม่ว่าผู้เรียนมากเรียนน้อย รู้มากรู้น้อย คนโง่คนฉลาดจะต้องสัมผัสสัมพันธ์ หรือจะต้องโดนโลกธรรมนี้จนได้ หรือถูกโลกธรรมนี้มาโดนเอาให้เซซัดปัดถะหวิงไปจนได้เหมือนกันถ้าไม่มีสติปัญญาเครื่องกำจัดรักษา สรุปลงไปแล้วว่าอย่างนั้น

ในบรรดาโลกแห่งมนุษย์เราที่เกิดมานี้มีใครต้องการโลกธรรม อย่าไปหวั่นไหว อย่าถือใครเป็นครูเป็นอาจารย์ อย่าถือใครเป็นหลักเป็นเกณฑ์ภายในจิตใจ อย่าถือสิ่งใดให้หนักยิ่งกว่าธรรม ถือเราตถาคตเป็นแบบเป็นฉบับ ตถาคตได้เคยกระทบกระทั่งมาอย่างแสนสาหัสแล้ว และได้ผ่านมาด้วยสติปัญญาของเราเอง ท่านว่าอย่างนี้ ให้ถือเราเป็นแบบเป็นฉบับ ผู้เรียนมากเรียนน้อยย่อมได้รับความกระทบกระเทือนจากโลกธรรม คนโง่คนฉลาดได้รับความกระทบกระเทือนมาตาม ๆ กันหมด

แต่สำคัญผู้ที่มีความฉลาดหาอุบายแก้ไข โดยยกเอาตถาคตเป็นกฎเป็นเกณฑ์ ว่าตถาคตเคยผ่านมาแล้วอย่างไร ได้พิจารณาเรื่องโลกธรรมนี้อย่างไร ให้มองดูเราเหมือนกับมองดูธงชัยชนะ นี่ละเป็นหลักใหญ่ที่ท่านสอนไว้ในโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทาสุขทุกข์ ได้มาเสียไปมันก็เป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่าโลกธรรม หมุนไปเวียนมาไม่เห็นมีจีรังถาวรอะไรเลย

ถ้าไม่ทำจิตให้รู้รอบสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตก็จะเอนไปตามความได้ เอนไปตามความเสีย เอนไปตามความได้ก็ไม่ใช่ของดี เอนไปตามความเสียก็ไม่ใช่ของดี เอนไปตามคำสรรเสริญก็ไม่ใช่ของดี เอนไปตามคำนินทาก็ไม่ใช่ของดี เป็นสิ่งที่ขาดทุนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งหลักตั้งเกณฑ์ให้ดี สติให้มั่นคง ปัญญาพินิจพิจารณาแยกแยะมันออก มันผ่านมาเพียงหู เพียงตา ยิบแย็บ ๆ ถ้าจิตใจเป็นผู้มั่นคงอยู่แล้วก็ผ่านไป ๆ ไม่เก็บพิษภัยเหล่านั้นไว้ด้วยธรรมารมณ์ภายในจิตใจให้เผาตัวเอง ตั้งใจคิดด้วยเหตุด้วยผลแก้ไขกันไปอย่างนั้น

นี่โลกธรรมสูตรท่านแสดงไว้อย่างนั้น ท่านไม่ให้ถือใครเป็นหลัก ถือพุทธ ธรรม สงฆ์ สุดท้ายท่านก็บอกถือเราตถาคตเอาเป็นแบบเป็นฉบับ เราได้รับความกระทบกระเทือนมาแสนสาหัสแล้ว เราดำเนินมายังไงให้ถือหลักนี้ เราได้รับชัยชนะเพราะเหตุใดให้เดินตามนั้น อย่าหวั่นอย่าไหว พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ให้ถึงจิตทุกคน ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ อย่าอ่อนแอ เรื่องความพากเพียร ไม่ว่าหน้าที่การงานใดให้เป็นไปด้วยความจงใจ มีสติกำกับอยู่เสมอ

ความมีสติอยู่กับงานนั้น ๆ สติก็อยู่กับตัว ถึงแม้จะไม่ได้คิดพินิจพิจารณาในธรรมส่วนละเอียดกว่านั้น สติก็ไม่ได้ปล่อยตัวเอง อยู่นี้ก็ชื่อว่ามีสติขั้นหนึ่ง เป็นธรรมขั้นหนึ่ง ธรรมขั้นเหล่านี้แหละที่เราพยายามรักษานี่จะรวมตัวเข้ามาเป็นพลังอันสำคัญ จนกลายเป็นความมีสติอยู่ตลอดเวลา เช่นอย่างท่านว่ามหาสติมหาปัญญา ไปจากไหนถ้าไม่ไปจากล้มลุกคลุกคลานนี้ ซึ่งฝึกแล้วฝึกเล่า ฝึกไปฝึกมาก็มีความชำนิชำนาญเอง จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติไปได้

เราเคยปฏิบัติเคยพิจารณามาแล้ว ย้อนหลังตั้งแต่เริ่มประพฤติปฏิบัติจิตใจเป็นยังไง บางทีเกิดความน้อยอกน้อยใจน้ำตาร่วงก็มีผมเคยเป็นมาแล้ว เช่นได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ และท่านเล่าวิถีจิตวิธีดำเนิน ไปอยู่สถานที่นั่น จิตเป็นอย่างนั้น อยู่สถานที่นี่จิตเป็นอย่างนี้ เล่าไปเท่าไรก็ยิ่งละเอียดลออไปเรื่อย ๆ บางทีเข้าไปอยู่ในห้องคุยกับท่านมีนี่ สนุกอยู่ในห้องเฉพาะ ตามธรรมดาใครไม่เข้าละในห้อง เข้าได้รึ ท่านออกมารับแขกนอกห้อง นี่เข้าไปในห้องคุยกับท่านมี ยิ่งได้ฟังถนัดชัดเจนละเอียดลออ

ทีนี้รู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง เพราะตอนนั้นจิตก็ไม่ได้หลักได้เกณฑ์อะไร ก็รู้สึกว่าท่านพูดปลอบโยนได้ดีมากนะ ดีมาก เหมือนสอนเด็ก เพราะท่านรู้หัวใจเรานี่ ใจเรามีความเชื่อความเลื่อมใสต่อท่านมากขนาดไหน มีความมุ่งมั่นต่อมรรคผลนิพพานมากขนาดไหนท่านก็รู้ เรามุ่งมั่นจริง ๆ ความเลื่อมใสต่อท่านเราเลื่อมใสจริง ๆ เต็มสติกำลังแห่งภูมิจิตของเราที่เป็นอยู่ในขั้นนั้น ล้มลุกคลุกคลานแต่มันก็มีความเลื่อมใสไม่ล้มลุก ความมุ่งมั่นต่อมรรคผลนิพพานไม่ล้ม

ท่านก็คงเห็นท่านจึงได้พูดปลอบโยน เอ้า ทีแรกมันต้องมีล้มลุกคลุกคลาน แต่ความพยายามเป็นของสำคัญนะ จะให้เกิดความชำนิชำนาญไปได้เพราะความพยายามไม่หยุดไม่ถอยแล้วชำนาญไปเอง ท่านเล่าเรื่องของท่านไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เล่าให้ฟังอย่างละเอียดลออทีเดียว อย่างที่เขียนนั่นเอง จิตมันหมุนติ้ว ๆ เลยท่านว่า เขียนตามนั้นแหละ เราเกิดความอัศจรรย์ ท่านอยู่ต้นไม้ต้นเดียว แต่เราลืมเสียต้นไม้ต้นนั้นเป็นต้นอะไร ท่านอาจจะเล่าให้ฟังถึงชื่อของต้นไม้ แต่เรารู้สึกว่าตอนนี้ไม่ปรากฏว่าจำได้เลย ว่าท่านได้เล่าให้ฟังแต่เราจำไม่ได้

ท่านอยู่ไม้ต้นเดียว ๆ ทั้งวันทั้งคืนไปภาวนาอยู่ที่นั่น มันมีลักษณะเป็นกลางหินดาน หินพลาญหินดาน กลางวันท่านก็ไปภาวนาอยู่ที่นั่นเพราะไม้ต้นนั้นร่มดี เย็น ร่มหนา และอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว พื้นที่ก็เหมาะสมด้วย กลางคืนก็ไปภาวนาอยู่ที่นั่นสบาย พิจารณาเรื่องอวิชชานี่แหละ สุดท้ายมันต้องลงไปหาอวิชฺชาปจฺจยา นี่ไม่ไปที่อื่น เพราะนี้เป็นรากเหง้าของกิเลสและภพชาติทั้งมวลรวมตัวอยู่ที่นั่น ผู้พิจารณาธรรมทั้งหลายในวาระสุดท้ายจะต้องเข้าถึง อวิชฺชาปจฺจยา โดยหลักธรรมชาติจะหนีไปไม่พ้น เพราะไล่เข้าไปตะล่อมเข้าไป ๆ มันก็ลงถึงก้นบ่อไปเอง บ่อแห่งกิเลสก็อยู่ที่ตรงนั้น ฟาดฟันกันสะบั้นหั่นแหลกกันที่ตรงนั้น ท่านเล่าน่าอัศจรรย์มาก

ออกจากนั้นก็พูดถึงเรื่องพวกเทพ โห ท่านพิสดารมากนะ ท่านชำนาญมากจริง ๆ เรื่องเทพนี่ รู้สึกว่าท่านชำนาญมาก เข้าจิตไม่เข้าจิตก็รู้ ขนาดนั้น อย่างพวกเทพจะมาในคืนไหนท่านรู้ไว้แล้ว บางวันพอเดินจงกรมสักพักใหญ่ วันนี้เทวดาจะมาเวลาเท่านั้น ทราบไว้แล้วนะนั่น ปกติท่านทราบไว้แล้วทั้งนั้นว่า เทวดาพวกนั้นจะมาเวลาเท่านั้น ๆ ท่านทราบไว้แล้ว จิตของท่านกับพวกนี้ประสานกันได้ดี ท่านคล่องแคล่วทันหมด รู้หมด นู้น ตอนผ่านไปแล้วท่านถึงเล่า

บางทีท่านเดินจงกรมอย่างนี้ท่านขึ้นแต่วันท่านบอก พวกเทพจะมาเวลาเท่านั้นเราต้องพักเสียก่อน เพราะถ้าจะรอไปนู้นก็จะรู้สึกเหนื่อย ธาตุขันธ์ต้องพักผ่อน พอสมควรใกล้เวลาแล้วค่อยลุกขึ้นมา ล้างหน้าล้างตาแล้วเข้าที่ภาวนา พอสมควรแล้วก็ถอยจิตออกมาดู พวกเทพมาแล้วก็ทราบว่าเขามาแล้ว นั่งพร้อมกันอยู่หมดแล้ว ถ้าเขายังไม่มาก็ไม่มีอะไรก็เข้าจิตอีกท่านว่า บางทีเขากำลังหลั่งไหลมา นี่หัวหน้ามา ตัวหัวหน้าเป็นผู้ประกาศอะไร ๆ เขามีข้อข้องใจอะไรก็พูดกับหัวหน้า หัวหน้าเป็นผู้พูดคนเดียวเท่านั้น

รู้สึกว่าท่านคล่องแคล่วมากในเรื่องพวกเทพนี่ อยู่ที่ไหนตรงไหนมีเทพ เช่น รุกขเทพอย่างนี้ ท่านก็รู้ บางทีบอกพระไม่ให้ไปทำส้วมทางแถวนั้น ๆ บอกนั่นเทพอยู่ตรงนั้น ๆ นะ อย่างเทพมาทางนี้นะ อย่าไปทำอะไร ๆ พวกเทพมาทางด้านนี้ รุกขเทพอยู่ตรงนั้น ๆ ก็บอก อย่าไปทำส้วมทำอะไร เพราะส้วมกรรมฐานขุดหลุมลงไปเลยถ้าจะขุด มีคนขุดก็ขุด ไม่มีคนขุดก็ลงในซอกหินนั่น ท่านเตือน ๆ ไว้หมด ตลอดถึงผ้าเช็ดเท้าสกปรกรกรุงรัง เวลาเสร็จเรียบร้อยแล้วซัก ถ้าสกปรกให้ซัก ตากแล้วซักแล้วเก็บให้เรียบร้อย แม้ไม่ได้ซักก็ตากแห้งแล้วมาเก็บให้เรียบร้อย

พวกเทพตำหนิว่าวางอะไรไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เขาตำหนิถูกของเขา เพราะศาสนาเป็นของสะอาดนี่ เป็นของสวยงามเป็นของมีกฎมีระเบียบ เราทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้ามันลักษณะขี้เกียจ ไม่ใช่เรื่องศาสนา เขาตำหนิถูกของเขา พระนอนหลับครอก ๆ แครก ๆ นี้เขาก็ยังนำมาฟ้องท่าน ท่านก็ได้เตือนพระ เวลาพูดกับเขาท่านก็บอกคนตายจะว่าไง หลับมันสุดวิสัยก็จะให้ทำยังไง ถ้ามีความระมัดระวังบ้างอาจจะดีกว่านั้นเขาว่า แน่ะเขายังมีข้อแก้ ก็ได้เตือนพระในระยะไหนที่เขาจะมา พระควรจะทำยังไงท่านเตือน ท่านฉลาดมาก

ความชำนิชำนาญคล่องแคล่วว่องไวมากเกี่ยวกับเรื่องเทพ ท่านคล่องแคล่วมากจริง ๆ ไม่มีอากัปกิริยาที่สะทกสะท้านเป็นความที่เคยชิน เหมือนเราไปเห็นด้วยตาได้ยินด้วยหูของเรา เรานำเรื่องที่เราไปเห็นด้วยตาได้ยินด้วยหูมาพูดเราธรรมดานี่ไม่ผิดอะไรกันเลย แต่การพูดในเรื่องเหล่านี้ท่านไม่พูดในที่ชุมนุมสงฆ์นะ ท่านไม่พูด จะพูดเพียงสององค์สามองค์ที่เวลาอยู่กับท่านนวดเส้นถวายท่านหรือนั่งคุยธรรมะกันไป ท่านพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปสัมผัส ไม่ใช่ท่านตั้งหน้าตั้งตาพูดนะ จากนั้นก็เรื่อย เราอยากฟังก็หาอุบายแทรกไป กราบเรียนถามท่าน ท่านก็อธิบายให้ฟัง เรากราบเรียนถามแง่ไหนท่านไม่มีละเรื่องจะอั้นน่ะ เพราะท่านรู้ไว้หมดแล้วนี่ท่านอาจารย์มั่น จึงเป็นหลักเป็นเกณฑ์อันสำคัญแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย

ท่านพยายามทำตัวเป็นตัวอย่าง แม้ท่านจะเฒ่าแก่ชราแล้ว ท่านก็ยังไม่ละปฏิปทาของท่าน ความไม่ละปฏิปทานั้น ๑) ก็คงเป็นเหมือนอย่างพระกัสสปะ ว่าการเคยทำอย่างนี้ไปรู้สึกสะดวกสบายดี ดังพระพุทธเจ้ารับสั่งว่ากัสสปะ เอ๊ย เธอก็แก่แล้ว อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเรา หากจะฉันสองมื้อบ้างก็ได้ งดบิณฑบาตบ้างก็ได้ เกี่ยวกับเรื่องผ้าบังสุกุลจะถือคหปติจีวรก็ได้ ท่านบอกเหมาะกับอัธยาศัยของท่านแล้ว ท่านว่าอย่างนั้นนะ พระองค์ก็ไม่ว่าอะไร ไม่รับสั่งว่าอะไรต่อไปอีก ไม่ค้านเพราะมันเหมาะกับอัธยาศัยนี่

อย่างท่านอาจารย์มั่นนี่ เป็นความเหมาะอัธยาศัยของท่าน ที่ท่านเป็นคนมีนิสัยเด็ดเดี่ยว เคร่งครัดอาจหาญมาดั้งเดิม และนอกจากนั้นยังมีลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ผู้ที่จะคอยยึดเอาปฏิปทาต่าง ๆ ไปใช้มีอยู่เยอะ ท่านก็เข้มงวดกวดขัน แม้ที่สุดท่านเจ็บไข้ได้ป่วยจะเอาน้ำมะพร้าวไปให้ท่านฉันตอนเพลท่านยังไม่ยอมฉัน คะยั้นคะยออยากให้ท่านฉันเพราะไม่รู้เรื่องอะไรของท่าน บทเวลาท่านว่าออกมานี่ โห เจ็บ นั่นความหมายท่านมีแล้วนี่ท่านถึงไม่ฉัน จะฉันทำไม ฉันน้ำมะพร้าวไม่ตายแล้วก็จะฉัน ไม่เห็นเหนื่อยเห็นเพลียไม่เห็นจะเป็นจะตายอะไรพอที่จะฉันน้ำมะพร้าว ผู้ที่คอยจะยึดเอาสิ่งต่ำ ๆ แบบของทิ้งมีอยู่เยอะ นั่นขนาดนั้นท่านยังไม่ละความสงสาร

บิณฑบาตเข้าถึงหมู่บ้านไม่ได้ เขาก็มาดักใส่กลางทาง เรื่อยมา หดเข้ามา ๆ จนถึงประตูวัด หดเข้ามาจนกระทั่งบิณฑบาตบนศาลา ยังฉันร่วมหมู่เพื่อนอยู่นะ เดินไปบิณฑบาตบนศาลา เขาใส่บาตรบนศาลา ท่านเดินบิณฑบาตบนศาลา ท่านยังอุตส่าห์มาฉันร่วมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา จนกระทั่งไปไม่ได้ จึงได้เอาอาหารไปถวายท่านที่กุฏิ ถ้าลงขนาดนั้นแล้วก็ฉันไม่ได้แล้วอย่างว่า มีแต่น้ำอะไรซดนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น เรานี่เป็นตัวการ เพราะตอนนั้นใครจะมาถือเป็นตัวอย่าง ไปยึดเอาตัวอย่างจากท่านได้ยังไง เราก็กราบเรียนท่าน

เพราะผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับท่านอยู่ตลอดเวลา อะไร ๆ ผมกับท่านอะไรชอบกลอยู่ มันหากมีอะไรพอที่พูดพอที่จะเถียงท่านได้นั่นแหละ ตามนิสัยของเราด้วยความสนิทใจท่าน สนิทใจในท่าน ความรัก ความจงรักภักดี ความรักความเคารพเลื่อมใสมันกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน พูดอะไรออกมาถึงจะมีการโต้การตอบการถกการเถียงกันบ้างกับท่าน มันก็เหมือนกับเราว่าให้ปากว่าให้หูเราฟังเอง ไม่ได้เหมือนว่าปากเราพูดออกไปเพื่อหูคนอื่นฟัง นี่พูดกับท่านอาจารย์มั่นก็มีลักษณะอย่างนั้น ถึงท่านว่าให้เราว่ายังไง ๆ ก็เหมือนกับท่านว่าให้หูท่านฟัง

เราไม่ถือเราไม่สนใจ เพราะหลักใหญ่ของเรามุ่งมันมีอยู่โน้น จึงไม่ได้ยึดอะไรเป็นอารมณ์ ท่านจะดุขนาดไหน โอ๋ย ดุมากดุผมเกี่ยวกับเรื่องอาหารการฉัน เพราะผมก็อยากให้ท่านฉัน บางทีให้ท่านฉันวิธีนั้นให้ท่านฉันวิธีนี้ เราก็ทราบแล้วตั้งแต่เรื่องน้ำมะพร้าว แต่เราก็รีบกราบเรียนท่านเสียทุกอย่าง ใครจะมาถือตัวอย่างท่านอาจารย์ตอนนี้มันก็เทวทัต เอาอย่างนี้เลยก็มี พวกเทวทัตก็ว่างั้น ท่านซดบ้างอะไรบ้างเพราะฉันไม่ได้นี่ ขนาดบิณฑบาตไม่ได้จะเอาอะไรมาฉันได้ หนเดียวเท่านั้นนะท่านไม่ซ้ำอีกนะ ได้ไม่ได้ก็เท่านั้นละ ช้อนสองช้อนสามช้อนก็เท่านั้น จากนั้นแล้วหยุดเลยไม่เอา ใครไปยุ่งไม่ได้ เป็นอันว่าผ่านไปเลย

นี่คือปฏิปทาของจอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบัน ปฏิปทาของท่านผู้วิเศษ ท่านไม่ละลวดลายไม่ทิ้งลวดลายของท่าน เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ที่มีครูสอน ให้พยายามทำความเด็ดเดี่ยวอาจหาญต่อตนเองเสมอ อย่าให้สิ่งใดแซงหน้าธรรมไปได้ ให้ธรรมแซงสิ่งทั้งหลายไปเสมอ ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วให้พยายามให้ธรรมแซง อย่าให้กิเลสแซงธรรม ด้วยลิ้นด้วยปากด้วยความอยากความทะเยอทะยาน ความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของคนลืมตัวลืมตาย อย่านำมาใช้ในวงปฏิบัติของเรา ที่เห็นว่าเรามีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง เราจะทำยังไงการเสริมคุณค่าของตนให้ยิ่งขึ้นไป ถ้าไม่ดำเนินด้วยการปฏิบัติปฏิปทาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญ ต่อสู้กับกิเลสทุกระยะไปแล้ว ไม่เรียกว่าเป็นผู้ต้องการธรรมขั้นสูง หรือผู้ต้องการหวังความเป็นสิริมงคล ความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นหลักฐานแห่งใจของตน ให้พยายาม

มรรคผลนิพพานคอยอยู่เสมอ อยู่ที่ใจนี่แหละ เราอย่าไปคิดว่ากาลที่โน่น สถานที่นี่ พระพุทธเจ้าปรินิพพานนานแล้วได้ ๒,๕๐๐ ปี นิพพานอยู่เมืองอินเดีย กุสินาราอย่างนั้นอย่างนี้ นั้นเป็นกาลเป็นสถานที่ เป็นสมมุติอันหนึ่ง มรรคผลนิพพานพระสาวกทั้งหลายบรรลุ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สาวกทั้งหลายบรรลุธรรมอยู่ที่นั่นที่นี่ ตั้งแต่สมัยโน้นสมัยนี้ นั้นก็เป็นกาลเป็นสถานที่

หลักใหญ่จริง ๆ บรรลุเพราะอะไร ตรัสรู้เพราะอะไร เพราะมัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าก็มัชฌิมาปฏิปทาในหลักธรรมชาติ ที่เหมาะสมควรจะตรัสรู้ธรรมได้ ก็ตรัสรู้ได้ด้วยมัชฌิมาในหลักธรรมชาติ บรรดาพระสงฆ์สาวกที่ได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแสดง โดยความเป็นจอมปราชญ์แล้ว ยิ่งจะเอาแต่เนื้อ ๆ มาแสดงเท่านั้น ผู้ฟังก็ฟังแต่เนื้อ ๆ ด้วยความสนใจใคร่ธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นความรู้แจ้งเห็นจริงจึงปรากฏขึ้นได้ง่าย เพราะความทุ่มเทกำลังลงทุกส่วนเพื่อธรรมทั้งนั้น ไม่ได้มีอะไรที่จะไหลแทรกเข้ามาเป็นของจอมปลอม

เห็นนี่ในประวัติ สาวกประวัติก็ดี พระประวัติพระพุทธเจ้าก็ดี ออกมาจากสกุลใดบ้างพิจารณาซิ พระราชามหากษัตริย์ไม่ทราบว่ากี่องค์ เศรษฐี กุฎุมพี ก็ไม่ทราบว่าจำนวนเท่าใด พ่อค้าประชาชนคนธรรมดา แล้วเหตุใดเวลาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้บรรลุธรรม ๆ ความบรรลุเหล่านั้นน่ะเพราะอะไร ก็คือเพราะมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง ไม่ใช่เพราะกาลนั้นสถานที่นี่ กาลนั้นเป็นกาลต่างหาก สถานที่เป็นสถานที่ต่างหาก แต่มัชฌิมาปฏิปทานี้อยู่กับหัวใจเราทุกคน กิเลสอยู่ที่ใจ ให้แก้ลงที่นี่ มัชฌิมาปฏิปทาเอาให้เข้มแข็งตามหลักพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เวลาจะปรินิพพานก็ได้รับสั่งไว้อย่างถูกต้องตายตัวแล้ว ไม่มีข้อใดที่จะค้านได้แม้แต่น้อย ธรรมและวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราผ่านไปแล้ว แน่ะฟังซิ ธรรมวินัยก็คือทางดำเนิน เครื่องมือบุกเบิกฟาดฟันหั่นแหลกกิเลส จะไม่รวมเข้าอยู่ในมัชฌิมาจะเรียกว่ายังไง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่น มัชฌิมาปฏิปทาสรุปยอดลงแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อยู่ในนั้นหมด ก็เอานี้แล้วมาแก้กิเลส

เราอย่าไปเอากาลสถานที่มาแก้กิเลสไม่ได้ผล เกิดสัญญาอารมณ์ พระพุทธเจ้าปรินิพพานนานแล้ว สิ้นเขตสิ้นสมัย หมดมรรคผลนิพพาน มันโมฆบุรุษพูด ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นผู้พูด ไม่ใช่สาวกอรหัตอรหันต์ผู้ทรงมรรคผลนิพพานเป็นผู้พูด คนโง่เขลาเบาปัญญา คนมืดดำกำตาพูดขึ้นมา เราจะเอาคนประเภทไหนมาเป็นสรณะ เป็นที่ยึดของใจถ้าไม่เอาจอมปราชญ์คือพระพุทธเจ้า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เราจะเอาคนตาบอดนี้เป็นสรณํ คจฺฉามิ ของเรามันก็บอดเรื่อยไปละซี เราต้องคำนึงตรงนั้น อย่าไปยึดที่อื่นที่ใด

ฟาดมันลงไปกิเลสมันไม่ได้ยกทัพมาจากไหนแหละ มันอยู่ที่หัวใจ สติปัญญาศรัทธาความเพียรมีให้เร่งลงไป เป็นก็เป็น ตายก็ตาย โลกเกิดขึ้นมามันรองรับป่าช้าอยู่แล้วด้วยกันทุกคน ป่าช้าเต็มตัวของเราทุกคน ไม่ว่าคนประเภทใดชาติชั้นวรรณะใด ส่งเสริมกันไปขนาดไหนมันก็ไม่พ้นที่จะตาย มีป่าช้าเต็มตัวด้วยกัน ในขณะที่ยังพอเป็นไปได้ ทำได้อยู่เวลานี้อย่านอนใจ ให้พยายามประกอบความพากเพียร

อย่าเห็นสิ่งใดงานใดเป็นงานสำคัญ ยิ่งกว่างานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา อย่าเห็นสมบัติใดว่าเป็นของล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่ามรรคผลนิพพาน อย่าเห็นความสุขใดที่จะยิ่งไปกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากความหลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง นี่เป็นยอดธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณา อย่าลดละความเพียร เอาให้ถึงใจ นี่เทศน์ ๆ อย่างถึงใจ ผู้ฟังก็ฟังให้ถึงใจ ทำไมถึงว่าเทศน์อย่างถึงใจ ถึงใจเจ้าของ เทศน์ด้วยความเมตตาสงสารหมู่เพื่อนด้วยน้ำใจจริง ๆ ไม่ได้สักแต่ว่าเทศน์ ไม่ได้สักแต่ว่ามาประชุมเฉย ๆ

รับหมู่เพื่อนไว้ก็ไม่ได้รับไว้สักแต่ว่ารับ รับไว้ด้วยเหตุด้วยผล เพราะฉะนั้นจึงมองดูหมู่เพื่อนอยู่ทุกระยะในอากัปกิริยา ทั้งการแสดงออกทางวาจาและกิริยามารยาทที่แสดงออกเป็นยังไง ขัดข้องกับหลักธรรมวินัยอย่างไรบ้าง ดูเสมอ เพราะเราเป็นครูเป็นอาจารย์คอยแนะคอยเตือนเสมอ หมู่เพื่อนก็มาหา อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ ทางนี้ก็บอก โอปายิกํ ปฏิรูปํ รับกันแล้วด้วยเหตุด้วยผลแล้วจึงต้องทำหน้าที่ให้เต็มภูมิ

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาขอยุติแค่นี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก