เอหิปสฺสิโก ให้ฉุดลากจิตเข้ามาดูกายดูใจนี้
วันที่ 2 เมษายน 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 59.03 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

เอหิปสฺสิโก ให้ฉุดลากจิตเข้ามาดูกายดูใจนี้

 

ได้ตั้งคำถามขึ้นเมื่อวานนี้ หือ ไปไม่รอดแล้วเหรอ เท่านั้นเอง ผู้รอดก็อยู่ไปซี ผู้รอดก็จะรอด ผู้ไม่รอดก็จะไป ถ้าว่าไปนะ แต่อย่างไรก็ไม่ถนัดใจที่ว่าจะไปนี่ ว่าจะไปก็ดี จะมาก็ดี จะอยู่ก็ดี มันไม่ถูกทั้งนั้นแหละ ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติ เวลาเราแยกออกมาพูดอย่างนี้ ก็ต้องเอาสมมุติมาพูด แล้วผู้ที่ฟังก็ต้องไม่พ้นที่จะคาดไปตามจนได้แหละ

นี่เวลาเป็น มันเป็นง่าย ๆ นะผม อยู่เฉย ๆ ไม่ได้เรื่องอะไรนะ ไม่ได้พูดได้จาอะไรกับคน อยู่เฉย ๆ ธรรมดา ๆ เวลาจะเป็นก็ยิบแย็บ ๆ แล้วอ่อนลงไป ๆ บางทีเดินอยู่นี่ ผมเดินอยู่นี่ก็เป็นอยู่ข้างบนนี่ เมื่อวานซืนนี้ เดินอยู่ก็เป็นก็หยุดเสียก่อน มันตายได้ทุกแห่งนี่นะ สมมุติว่าเป็นไม่หยุดมันก็ลงตรงนั้นเอง นั่งปุ๊บลงตรงนั้นนะเอาตรงนั้นเลย ไม่ใช่เราไม่ได้สติสตังมันจะล้มตูมตามไปนะ ถ้าเป็นเรื่องวิงเวียนเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ มันพุบเข้าทันทีเลย ถ้าปฏิบัติต่อมันไม่ทัน

ใจจะรู้ก็รู้เป็นไร ใจไม่มีกำลังเสียอย่าง ที่จะยกยอที่จะต้านทานมันได้ มันก็ต้องล้ม เรื่องความรู้ก็รู้อยู่อย่างนั้น มันไม่เคยวิตกวิจารณ์กับเรื่องความเป็นความตายของเจ้าของ มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงใครมายุ่งเราไม่ได้ หมอจะมารุมเรา ใครจะมารุมเราไม่ได้ เราไม่ให้รุม มันไม่สนิทกับอัธยาศัยของเราเลย มันทำลายอัธยาศัยของเรา ทำลายความจริงของเราที่เราปฏิบัติมา ดูมันทุกระยะ ๆ เราดูเราเอง เราเป็นหมอเราเองนี่จะว่าไง

ถึงขั้นนี้แล้วต้องเป็นหมอตัวเองซิ เรื่องหยูกเรื่องยาไม่ได้เรื่อง มายุ่งกับมันทำไม ดูวาระสุดท้ายที่มันจะจากจะแยกกันเท่านั้นดู เพราะเรียนก็เรียนมาแล้ว ปฏิบัติก็ปฏิบัติมาแล้ว รู้ก็รู้มาแล้ว แล้วความเป็นนี้จะหนีจากความรู้มาแล้วได้ยังไง มันก็ต้องเป็นไปตามสิ่งที่รู้แล้วทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นของจริง ผู้ปฏิบัติแล้วต้องเห็นของจริงตามนั้น ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจริง ๆ. ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน จะไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย ผลที่จะพึงได้

โลกหวั่นกันมากทั่วโลกดินแดนนั่นแหละเรื่องความตาย เรื่องความทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วย นี่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตสำหรับโลกทั่ว ๆ ไป แต่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านถือเป็นธรรมคติธรรมดา ธรรมด๊าธรรมดาไม่มีหวั่นอะไรเลย เพราะเรื่องโรคเรื่องภัย จะมีขึ้นมากน้อย เป็นในลักษณะใดท่านไม่หวั่น เรื่องของร่างกายจะเป็นยังไงนั้น มันเป็นอีกอย่างหนึ่งของมัน ใจเป็นอย่างหนึ่ง ที่จะให้หวั่นทางด้านจิตใจท่านไม่มี

จะเอาความหวั่นมาจากไหน ท่านรู้รอบหมดแล้ว ปล่อยหมดแล้วเรื่องอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในธาตุในขันธ์แม้แต่ในจิตท่านก็ไม่มีแล้ว คำว่าอุปาทาน อุปาทานถ้าถือจิตอยู่ ก็ต้องมีอะไรอยู่นั้นซิมันถึงถือ ความถือเป็นความดีเมื่อไร มันหนัก มันไม่รอบมันก็ถือ เมื่อรอบแล้วปล่อยเอง ไม่เคยปล่อยก็ตาม เมื่อรู้แล้วต้องปล่อยเหมือนกันหมด ตั้งหน้าปฏิบัติให้จริงซิ

ธรรมะพระพุทธเจ้านี้ประกาศอยู่เหมือนสินค้าที่หน้าร้านเขาแหละ มีทุกประเภทให้ชมดูเอา อยากได้หาเงินมาซื้อ เงินมีเท่าไรไม่อั้น สินค้าที่จะสนองความต้องการของลูกค้าน่ะ มีอยู่ทุกประเภทของสินค้า จะเอาเงินหมื่นเงินแสนเงินล้านไปซื้อก็ได้ ราคาแพง ๆ มี ของดี ๆ ราคาแพง ๆ มี ธรรมพระพุทธเจ้าจึงเป็นตลาดธรรม ตลาดแห่งความดี ตลาดแห่งความฉลาด ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน จะเอาอย่างไหนก็ได้ เริ่มตั้งแต่ทานบารมี เอ้า ทานการให้ทานก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ถ้าเราจะเทียบสินค้านะ ศีลประเภทไหน ๆ ทานประเภทไหน ๆ ก็เป็นสินค้าแต่ละอย่าง ทาน ศีล ภาวนา ภาวนาประเภทไหน เอา เรื่อยเข้าไปซิ จนกระทั่งสมาธิภาวนา อัปปนาภาวนา ตรุณวิปัสสนา วิปัสสนาอ่อน ๆ จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญา วิปัสสนา วิปัสสนาญาณ หยั่งทราบเข้าไป ๆ สมมุติถึงไหนหยั่งทราบหมดแล้ว ถ้าไม่ถึงมรรคผลนิพพานจะถึงไหน นั่นแหละสินค้าที่ว่าสุดยอดอยู่ตรงนั้น ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะว่าท้าทายก็ดี

เอหิปสฺสิโก นี่ทางปริยัติท่านแปลว่า ร้องเรียกผู้อื่นมาดูได้ พระธรรมของจริง แต่ทางด้านปฏิบัติเราไม่ได้สนิทใจอย่างนั้น สนิทใจว่า เอหิ ก็หมายถึงตัวของเรา เราสอนเรานี่น่ะ หิ ก็ขึ้น ตฺวํ น่ะซิ ท่านจงมาดูที่นี่ น้อมใจเข้ามาอยู่ที่นี่ สู่ที่นี่ อย่าส่งไปเถลไถลเรื่องบ้าเรื่องบอ เรื่องสมุทัย มันลากออกไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัสถูกต้องต่าง ๆ แล้วกว้านเอาเป็นธรรมารมณ์เข้ามาผูกมัดหัวใจ ให้มาครุ่นคิดวุ่นวายอยู่ภายในจิตใจ เพราะฉะนั้น เอหิ จงฉุดกระชากจิตเข้ามา อย่าให้จิตส่งออกไปข้างนอก ให้เข้ามาดูตรงนี้ ว่างั้นนะความหมายทางด้านปฏิบัติ

เอหิ น้อมเข้ามา เอหิ แปลว่าจงมา ก็หมายถึงว่าน้อมเอาจิตเข้ามา เรียกว่ารั้งจิตเข้ามา ฉุดกระชากจิตที่เลินเล่อเผลอสติไปด้วยความเพลิดเพลินราคะตัณหาให้เข้ามาด้วยสติ ด้วยปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเรา ให้เข้ามาดูธรรมของจริง ของจริงอยู่ที่นี่ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ จริงอยู่ที่นี่ สมุทัย อริยสจฺจํ จริงอยู่ที่นี่ นิโรธ อริยสจฺจํ ก็อยู่ที่นี่ มรรคก็ อริยสจฺจํ คือสติปัญญาเป็นสำคัญก็อยู่ที่นี่ ให้ดูที่นี่ เอหิ เอหิ จงน้อมเข้ามาที่นี่ แน่ะ สิ่งเหล่านี้ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ท้าทายตลอดเวลา นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี. เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา ท้าทายอยู่ภายในจิตใจนี้ตลอดเวลา ให้ดูตรงนี้

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป แกงกินไม่ได้นะ ท่านไม่ได้สอนให้เอาสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นต้นมาไว้สำหรับแกงกิน เอามาไว้พิจารณาฆ่ากิเลส ฟันกิเลส พิจารณาเข้ามาตรงนี้ให้น้อมเข้ามา นี่แหละ เอหิปสฺสิโก ภาคปฏิบัติให้มันเห็นประจักษ์ตัวเองซิ เอหิปสฺสิโก เรียกคนอื่นเข้ามาดูได้ เพราะเป็นธรรมของจริง เดี๋ยวเขาหาว่าบ้า

นี่ยกตัวอย่างเราก็พูดตามเรื่องของท่านนะ เราไม่ได้ยกโทษท่านนะ นี่พูดถึงเรื่องท่านอาจารย์.... ตั้งแต่ท่านบวชอยู่ใหม่ ๆ โน้น ท่านเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมองอยู่ที่ถ้ำพระเวส อำเภอนาแก มาลาเรียขึ้นสมอง แล้วก็ธรรมดาขึ้นสมองจะไม่ให้คนเป็นบ้าได้ยังไง ก็ต้องเป็นบ้าแหละ แต่จิตใจของท่านผูกพันในธรรมมาก เพราะฉะนั้นแม้กิริยาอาการจะเป็นบ้าอะไร ท่านก็ไม่ได้หนีจากธรรม ความมุ่งมั่นก็อยู่ที่นั่น ความใฝ่ใจก็อยู่ที่นั่น สัญญาอารมณ์ก็อยู่กับธรรม เพราะฉะนั้นแม้จะเผลอสติเท่าไร ท่านก็ยังมุ่งไปทางธรรม จิตใจส่วนใหญ่หมุนไปทางหลักธรรม

ถ้าหากว่าจิตใจท่านเอนไปทางโลกนี้ จะต้องแสดงเรื่องโลกมาอย่างขายหน้าบอกไม่ถูกเลย แต่นี้จิตใจท่านเหนียวแน่นในธรรมะ ท่านถึงบอกว่าท่านสำเร็จแล้ว ท่านบอกงั้น เราสำเร็จแล้ว ไปบิณฑบาตก็ถามไปหมดนั่นแหละ ใครตำข้าวอยู่ที่ไหนเพราะแต่ก่อนมีครกกระเดื่อง ภาษาเราเรียกว่าครกมอง ครกกระเดื่องตำอยู่ตามบ้านตามเรือน ไปนี่ว่าสำเร็จแล้วยังพวกนี้ ถ้าใครยังไม่สำเร็จ ท่านก็สะพายบาตรเข้าไปแล้วสอนเขาเต็มที่ แล้วไปนั้นสำเร็จแล้วยัง ทางนั้นก็ว่าสำเร็จอะไร สำเร็จมรรคผลนิพพานน่ะซี ยัง เขาว่ายัง ท่านก็สอนเรื่อย ต่อมาเขาก็รู้เรื่องเอง อ๋อ ท่านเป็นยังงั้น พอมองเห็นสำเร็จแล้วยัง เขาว่าสำเร็จแล้วท่านก็ผ่านไปท่านก็ไปฉันจังหัน ถ้าหากว่าเขายังไม่สำเร็จ ท่านจะสอนอยู่นั่นแหละ

นี่เราพูดเรื่องอะไรมันถึงไปสัมผัสเรื่องนี้ ผมก็ลืมเงื่อนต้นเงื่อนไหน ไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดเรื่องของท่านนะ แต่มีเรื่องสัมผัสเข้ามาก็เลยมาพูดเรื่องนี้ พูดเรื่องสติปัญญาก็ไปอย่างนั้น อ๋อพูดเรื่องท้าทาย ให้เขามาดูธรรมของจริง เห็นไหมเป็นอย่างนั้นแหละ ยังไม่สำเร็จหรือ อาตมาสำเร็จแล้วนะ มันเป็นอย่างนั้นนะ จะให้ใครมาดู ธรรมของจริงอยู่ที่ไหนใครจะไปรู้ เกิดมาเขาไม่เคยเห็นธรรมของจริง เขาจะเอาธรรมของจริงจากไหนมารู้

ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะรู้ธรรมของจริง สอนตัวเองให้รู้ธรรมของจริงให้เห็นธรรมของจริงซิ ธรรมของจริงอยู่ที่ไหน ไม่อยู่ทางโน้นทางนี้ที่ไหน ธรรมอยู่ที่ใจเป็นหลักใหญ่ สำคัญมากอยู่ที่กายที่ใจ เรื่องภายนอกก็ไม่ปฏิเสธ เรื่องชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เห็นคนแก่ เจ็บตาย เมื่อไปเยี่ยมป่าช้าก็เป็นธรรมอันหนึ่ง แต่ธรรมสำคัญแท้ ๆ อยู่ที่นี่ เวลาจิตส่งออกไปข้างนอก มันไม่ได้ส่งออกไปเพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างนั้น มันส่งไปด้วยความรื่นเริงบันเทิง เพราะอำนาจของกิเลสตัณหา ที่ว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดังที่กล่าวมานี้

เพราะฉะนั้นจึงให้ฉุดลากใจเข้ามา เอหิ เอหิ จงมาที่นี่ให้มาดูที่นี่ ธรรมของจริงอยู่ที่นี่ ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาสงบเลย เอาจะดูท่าไหนก็ดู จะดูสัจจะก็ดู จะดูทุกขสัจก็เห็นแล้วชัด ๆ สมุทัยสัจเป็นตัวสำคัญที่ป้อนอาหารให้ทุกข์กำเริบขึ้นเรื่อย ๆ นั่นแหละ ตัวสมุทัยตัวขวนขวายละนั่น ขวนขวายหาอาหารพิษเข้ามา เพราะฉะนั้นมรรคจึงต้องตัดสมุทัยเข้ามาน่ะซิ ด้วยการคิดค้นพินิจพิจารณา เห็นตามความสัตย์ความจริงของสิ่งต่าง ๆ จิตเราก็ปล่อยไปเอง วางไปเอง นี่คือภาคปฏิบัติ ให้พากันพิจารณาอย่างนั้น นี่แหละ เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก เราเห็นอะไร ๆ ก็ตาม ได้ยินผ่านทางหู ทางตา ให้น้อมเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรม เห็นเขาหัวเราะ เห็นเขาร้องไห้ หัวเราะด้วยเหตุผลกลไกอันใด ด้วยความรื่นเริงบันเทิง เพราะอำนาจราคะตัณหา หรือหัวเราะเพราะอะไร เพื่ออะไร มีความโศกเศร้าโศกาอาลัย ร้องห่มร้องไห้เป็นทุกข์ เป็นทุกขสัจ พิจารณาน้อมเข้ามา ๆ เห็นคนแก่ก็น้อมเข้ามาหาตัว เห็นคนตายก็น้อมเข้ามาหาตัว

เรื่องความทุกข์ที่แสดงขึ้นแก่ผู้ใดก็ตาม จนถึงกับแสดงอาการออกมา ด้วยความร้องห่มร้องไห้ นี่ก็เพราะอำนาจของทุกข์ที่มาจากสมุทัย ทีนี้เราก็น้อมเข้ามาให้เห็นโทษของสมุทัย ตัวสำคัญซึ่งสามารถยังทุกข์ให้แสดงออกอย่างเปิดเผย โดยไม่มีอ้ำอายคนผู้หนึ่งผู้ใดเลย ธรรมดาการร้องไห้เป็นเรื่องที่อายกัน แต่เวลามันเป็นขึ้นมาละมันอายไม่ได้ เพราะพลังของกิเลสมาก พลังของทุกข์มาก พลังของสมุทัยมากก็ทำให้ร้องห่มร้องไห้ได้ไม่อายใครละ ให้น้อมเข้ามาซิ นี่ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้

และผู้ปฏิบัติทั้งหลายที่มาจากสำนักต่าง ๆ ก็ให้สำเหนียกศึกษาให้ดี ตามีให้ดูให้ละเอียดลออทุกสิ่งทุกอย่าง ก้าวเข้ามานี้ เพื่อมาศึกษา ตาให้ศึกษาให้ดู หูให้ศึกษาให้ได้ยินได้ฟัง ใจให้คิดให้อ่านไตร่ตรองทุกอย่าง จนสุดวิสัยเต็มความสามารถของตัวนั่นแหละ นี่ชื่อว่าผู้มาศึกษา ไม่ใช่จะมาคอยศึกษาตั้งแต่ขณะที่ท่านเทศน์ท่านอธิบายธรรมให้ฟัง หรือ นโม ตสฺส ภควโต ขึ้นภาษิตแล้วจึงว่าท่านเทศน์ อธิบายให้ฟังนี้จึงเทศน์ สิ่งทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาเพื่อจะเป็นคติแก่เรา ผู้มีสติปัญญาคอยสดับอยู่นั้นแหละ ท่านเรียกว่าธรรม

หูเป็นธรรม ตาเป็นธรรม หูเป็นวินัย ตาเป็นวินัย หูมีสติ มีปัญญาก็เป็นธรรมเป็นวินัยไปได้ ถ้าหูไม่มีสติปัญญา ก็ไม่ผิดอะไรกับหูกะทอ หูหม้อกระทะ ไม่เกิดประโยชน์ มาอยู่สักเท่าไร มากน้อยเพียงไร ก็ไม่เกิดประโยชน์ มันไม่ถูกกับการมาอบรมศึกษา ให้มุ่ง มุ่งอย่างนี้ อย่าลืมเจตนาของตนที่มา การปฏิบัติอย่าหนีจากหลักนี้ เอา มัดมันเข้าไป ไล่มันเข้าไป ธรรมดากิเลสมันต้องเป็นข้าศึกกับธรรมเสมอไป ถ้าเราจะขยับความเพียรเข้า กิเลสจะต้องต่อสู้เรา ทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ

ดีไม่ดี โน่นทั้ง ๆ ที่กิเลสมันไม่เคยเห็นมรรคผลนิพพานสักทีแหละ แต่มันก็กุซิว่า โอ๊ย มรรคผลนิพพานไม่มีแหละ จะไปทำอะไรให้เสียเวล่ำเวลาเหนื่อยเปล่า ๆ มันก็โกหกเราได้สบาย เพราะกิเลสมันเคยเห็นนิพพานที่ไหน มีแต่กิเลสเท่านั้นมันเห็นแต่เรื่องกิเลส พวกกิเลสมันจะไปเห็นนิพพานที่ไหน มันมาโกหกมันก็เอาเรื่องนั้นมาโกหกเรา เราก็เชื่อมัน

ขึ้นชื่อว่าจะทำความดีแล้ว มันต้องมีมาร ท่านว่ามาร ๆ กิเลสมารเป็นตัวสำคัญมากยิ่งกว่าขันธมาร มันหากมีแง่ มีเล่ห์มีเหลี่ยม หลายสันพันคมที่จะหลอกเราให้เชื่อตามมัน ให้เล็งธรรมพระพุทธเจ้าเสมอ ธรรมทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ มีมัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้น แสดงไว้เพื่อมรรคผลนิพพาน แสดงไว้เพื่อปราบกิเลส ทำไมจึงต้องปราบกิเลส เพราะกิเลสเป็นตัวมาร ในการดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพานของผู้หวังความพ้นทุกข์ กิเลสเป็นมาร เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องปราบ

อย่าลืมธรรมพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าความระลึกถึงกิเลส คล้อยตามกิเลส อันนี้เป็นสำคัญอยู่มาก อะไรก็ตามให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเสมอ ดังที่ธชัคคสูตรท่านว่าไว้นั่น นั่นรบภายนอก พวกอสูร ๆ อะไรรบกัน เราก็เห็นในตำรับตำรานั้นเป็นอันหนึ่ง แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสอนให้ระลึก สอนภิกษุสงฆ์ ท่านยกข้อเปรียบเทียบขึ้นมา พวกอสูรที่เขารบกัน แล้วพวกเทวดา แล้วผมก็ลืม ๆ แล้ว ล่ะ เวลาเข้าไปอยู่ในป่าไม้ ท่านว่า

อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว,

อนุสฺสเรถ สมฺพุทฺธํ ภยํ ตุมฺหาก โน สิยา.

ท่านบอก เมื่อเวลาท่านทั้งหลายไปอยู่ที่ตามป่าตามเขา ตามเรือนว่าง ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า หากว่าระลึกถึงพระพุทธเจ้าจิตยังไม่สงบลงได้ ก็ให้พึงระลึกถึงพระธรรม

อถ ธมฺมํ สเรยฺยาถ นิยฺยานิกํ สุเทสิตํ

หากว่าระลึกถึงพระธรรม จิตยังสงบไม่ได้

อถ สงฺฆํ สเรยฺยาถ ปุญฺญกฺเขตฺตํ อนุตฺตรํ

ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ แล้วความขนพองสยองเกล้า ความกลัวหวาดเสียวต่าง ๆ จะหายไป นี่ท่านบอก อะไรทำให้ความขนพองสยองเกล้า มันอะไรทำให้เกิดความขนพองสยองเกล้า ไม่ใช่ความขนพองสยองเกล้าในทางที่ดี เพราะความกลัวตัวสั่น กลัวเปรตกลัวผี กลัวทุกอย่างนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ที่มีกิเลสแล้วมันต้องหลอกให้กลัวทุกอย่าง ใบไม้ร่วงมันก็ว่าเสือ ใบไม้ร่วงมันก็ว่าผี มันว่าเปรต ทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยเห็นเปรตเห็นผีแหละ มันหากปั้นขึ้นมาหลอก กิเลสจึงว่ามันแหลมคมมาก แล้วให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านว่าอย่างนั้น ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์องค์ใดก็ตาม รัตนะใดก็ตาม เมื่อจิตยึดมั่นถือมั่นตรงนั้นแล้ว จิตจะปราศจากความหวั่นไหวโดยลำดับ ๆ

อันนี้เราเคยเป็นแล้ว ไม่ใช่นำมาโปรประกันดาให้หมู่เพื่อนฟังเฉย ๆ เพราะฉะนั้นมันจึงได้คติจากนี้ และลำดับจากนั้นจึงต้องหาอยู่ตั้งแต่ที่กลัว ๆ ทั้งนั้นแหละ ดัดสันดานคนขี้ขลาด ดัดสันดานคนไม่เป็นท่า เวลาไปอยู่ในสถานที่กลัว ๆ งี้ จิตมันตั้งตัวได้ดี แนบอยู่กับพุทโธ แนบอยู่กับธรรมบทใดบทหนึ่ง สตินี้เรียกว่าติดกับจิตตลอดเวลา

ทีนี้เมื่อสติบังคับจิตและกำกับจิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยบทธรรมก็ตาม ไม่ด้วยบทธรรมก็ตาม คือตามขั้นของจิต ขั้นของจิตที่จะอยู่ในคำบริกรรม เช่น พุทโธ เป็นต้น ก็ต้องให้แนบแน่นอยู่กับนั้น ไม่ยอมให้จิตปล่อยตัวคิดไปในทางไหน อันจะเป็นเครื่องหลอกลวงยั่วยวนจิตใจ ให้เกิดความทุกข์ความลำบากขึ้นมา เพราะความกลัว ให้จิตแนบอยู่นั้น เมื่อแนบเข้านานเข้า ๆ ก็เป็นพลังขึ้นมาภายในจิต จิตก็สงบตัวลงไป เมื่อจิตสงบตัวลงไป แม้แต่เดินจงกรมอยู่ก็ตาม ไม่ได้หมายถึงสงบตัวจนกระทั่งถึงเดินจงกรมไม่ได้นะ มันสงบตัวลงไปแน่วอยู่ภายในตัวเอง แล้วก็เดินจงกรมได้ ทีนี้ความกลัวเหล่านั้นหายหมด นี่ได้พยานแล้ว นี่ขั้นหนึ่งนะ ความกลัวหายหมด

ขั้นที่สองที่เป็นขั้นสำคัญ นอกจากความกลัวหายแล้ว ความกล้าหาญยังเกิดขึ้นมาอีก ไม่ว่าเสือจะมาสักกี่ตัว ไม่ว่าสิบตัวยี่สิบตัวละ ให้ร้อยตัวพันตัวเข้ามาเถิด จะเดินเข้าไปลูบคลำหลังมันได้อย่างสบายทีเดียว ขึ้นชื่อว่าสัตว์ตัวไหน ตัวที่ถือว่าเป็นภัยที่สุด มันจะเดินเข้าไปลูบคลำหลังได้อย่างสบาย ไม่สะทกสะท้านเลย ความรู้สึกนั้นว่า มันทำอะไรเราไม่ได้ แต่ความจริงมันจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทำอะไรได้ก็ตามนะ นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นผลของจิตที่ปราศจากความกลัวแล้วยังเกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมาในเวลานั้นด้วย

นี่เป็นสักขีพยานมาจากที่ว่า อนุสฺสเรถ สมฺพุทฺธํ ภยํ ตุมฺหาก โน สิยา. ตั้งแต่อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ หรือเรือนว่าง สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว ก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตามที่เป็นสถานที่น่ากลัว ให้พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ คำว่าระลึกไม่ใช่ระลึกเฉย ๆ ระลึกเอาจนติดแนบ เป็นกับตายอยู่กับพุทธ หรือเป็นกับตายอยู่กับธรรม หรือเป็นกับตายอยู่กับสงฆ์ ไม่ยอมจิตให้พรากจากนี้เลย จิตก็เป็นพลังขึ้นมา ๆ

เมื่อเป็นพลังขึ้นมาแล้วความกลัวหายหมด เพราะจิตไม่ได้ส่ายแส่ไปข้างนอก เนื่องจากสติกำกับบังคับให้อยู่กับบทธรรม คือพุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ บทใดบทหนึ่งนั้นก็เป็นการสร้างพลังขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบตัวอยู่กับนั้นแล้ว แม้จะคิดออกไปเรื่องเสือก็หายเงียบ ไม่มีเสือเลย มีก็ไม่กลัว นั่นมันเปลี่ยนเอาในขณะนั้นแหละ ในขณะที่เราฝึกทรมานมัน ทั้งที่มันกลัวจนตัวสั่น นี่ได้ทำมาแล้วเห็นผลมาแล้วอย่างนี้ จึงกล้าไปอยู่ตามป่าตามเขาซิ กลัวเท่าไรยิ่งไป เพราะเราเคยได้กำลังจากที่กล่าวนี้มีเสือ เป็นต้น

นี่แหละ คำว่าระลึกถึงพุทโธ ไม่ใช่เพียงระลึกเพียงงู ๆ ปลา ๆ นะ ระลึกอย่างถึงใจ ผู้ปฏิบัติเอาชีวิตมอบไว้กับพุทโธเลย เสือจะกินก็กินเถอะ อะไรจะกินทำอันตรายก็เถอะ จะไม่แยกตัวออกจากธรรมบทใดบทหนึ่งนี้เลย ตายก็ตายกับนี้ จิตแน่วมีพลัง นี่เป็นขั้นหนึ่งของผู้เริ่มฝึกหัดอบรม ขั้นที่สอง เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคง มันก็มีเรื่องความกลัวเหมือนกัน แต่จิตตั้งปั๊บกับฐานแห่งความมั่นคง ฐานแห่งสมาธิ คือความสงบนั้น ไม่ยอมคิดส่งจิตใจส่งไปอื่น มันก็อยู่ได้เหมือนกันนี่ก็ดี นี่เป็นขั้นหนึ่งในการพิจารณา

ทีนี้ขั้นที่ ๓ นะ คือขั้น ๑ อยู่กับคำบริกรรม ขั้นที่ ๒ อยู่กับสมาธิ คือฐานในสมาธิ ถ้าจิตลงเป็นสมาธิจริง ๆ อย่างเต็มตัวแล้ว จิตจะไม่ปรุงไม่แต่ง แน่ว ไม่ใช้กิริยา ถ้าจิตเป็นอัปปนาสมาธิเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอัปปนาภาวนา คือถอนตัวออกมาธรรมดา แต่ความละเอียดของฐานนั้นมี ไม่ได้ละตนเอง นี่เรียกว่าอัปปนาภาวนาก็ได้ หรืออัปปนาจิต ที่มีฐานเป็นของตัวเรียบร้อยแล้ว ด้วยความมั่นคง อันนี้ก็เป็นที่พักเป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่พึ่งได้ในเวลาที่เราไปอยู่ในสถานที่กลัว ๆ ไม่กลัว จิตอยู่กับนี้เลย นี่ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓

เราใช้เราออกทางด้านปัญญาแล้วที่นี่ พิจารณาเรื่องปัญญา ธรรมดาปัญญามันต้องค้นคว้า ทีนี้เมื่อจิตแย็บออกไปคิดถึงเรื่องสัตว์ร้าย มีเสือเป็นต้น มันจะนำเสือนั้นเข้ามาแยกธาตุกันทันทีเลย กลัวอะไรมันเสือ กลัวขนมันหรือ กลัวเล็บมันหรือ กลัวฟันมันหรือกลัวอะไรมัน กลัวหาง กลัวตัว กลัวอะไร ๆ มันไล่กันไป ๆ ย้อนเข้ามาหาเรา ไล่อะไรย้อนเข้ามาหาเรา ถ้ากลัวขนมัน ขนเราก็มีไม่เห็นกลัว กลัวเขี้ยวมัน เขี้ยวเรามีไม่เห็นกลัว กลัวตามัน ตาเราก็มีไม่เห็นกลัว

ออกจากนั้นแยกธาตุมันอีก เหล่านี้เป็นธาตุอะไร พิจารณาแยกธาตุออกจนละเอียดลออ นี่ ตามเรื่องของทางวิปัสสนา เวลาเกี่ยวกับสิ่งภายนอกมันก็ต้องเดินทางนั้นเหมือนกัน จนกระทั่งไม่มีอะไรเป็นเสือ มีแต่เรื่องธาตุล้วน ๆ มันแยกชัด นี่อันหนึ่งเป็นขั้นที่ ๓ เราพูดเพียงแค่นี้พูดย่อ ๆ นะ

คือเรื่องอุบายวิธีของปัญญามันเป็นอุบายของแต่ละคน นี่พูดกันไม่ได้ เป็นเรื่องของเจ้าของจะแยกพิจารณาเอาในเมื่อจิตถึงขั้นนั้น ๆ แล้ว จะต้องนำขั้นนั้น ๆ ออกปฏิบัติต่อสิ่งมาเกี่ยวข้อง เช่นเราไปอยู่ในป่าในเขา ได้ยินเสียงเสือกระหึ่มก็ตามไม่กระหึ่มก็ตาม กลัวเสือก็ตาม มันจะแยกธาตุจนกระทั่งเป็นที่เข้าใจแล้วเดินสบาย ไม่มีอะไร เห็นแต่ธาตุในโลกนี้ แน่ะนี่อันหนึ่ง

วาระที่ ๔ ทีนี้นะ เมื่อจิตมันเข้าถึงความว่าง เอ้านี่นะ จิตเวลาพิจารณาเข้าไปนี่ มันผ่านรูปภาพนั้นภาพนี้ เรานำมาพิจารณานั้นมันเป็นภาพของรูป เช่น เสือนี้ต้องวาดเป็นตัวเสือมาเลยในมโนภาพของเรา ก็แยกธาตุ เมื่อมันวาดภาพเสือมาได้ทั้งตัวแล้วเราก็แยกธาตุมันทั้งภาพเสือนั่นแหละ จนกระทั่งกระจายไปหมด พอหลังจากนั้นแล้ว จิตมีความละเอียดเข้าไปจนกระทั่งกำหนดภาพอะไรไม่ปรากฏ นี่ขั้นปฏิบัติเป็นอย่างนี้

กำหนดภูเขาทั้งลูกมันก็มองเห็นด้วยตา ก็เป็นภูเขาจริง แต่ว่าจิตมันทะลุไปหมด คือว่างไปหมดเลย เมื่อกำหนดอะไรขึ้นมา แย็บเหมือนกับฟ้าแมบเท่านั้น เป็นภาพสิ่งนั้นขึ้นมาขณะเดียวกับฟ้าแลบแล้วหายเงียบ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะแยกธาตุแยกขันธ์อะไร แล้วมันจะกลัวอะไร พอแย็บออกมามันก็รู้แล้วว่า นี้คือภาพซึ่งเกิดขึ้นจากสังขาร เจ้าของปรุงหลอกเจ้าของเอง พอแย็บออกมามันก็เกิดขึ้นจากใจนี้ มันทันกัน

สติปัญญาทัน จะเป็นภาพอะไรขึ้นมามันก็ออกมาจากใจพับ หลอกตัวเอง ๆ พับดับไปพร้อม ๆ ก็รู้ว่าตัวนี้เป็นเสือที่นี่ ตัวสังขารตัวนี้เป็นเสือหลอกเจ้าของ ตัวสังขารนี้เป็นหมี ตัวสังขารนี้เป็นงู ตัวสังขารนี้เป็นเปรต ตัวสังขารนี้เป็นผี ตัวสังขารนี้เป็นเสือต่างหาก สิ่งเหล่านั้นมันเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก อันนี้หลอกเรา มันก็รู้ได้อย่างชัด ๆ แย็บ ๆ หายตัว นั่นอันหนึ่ง นี่เป็นขั้นหนึ่ง

เอ้า ทีนี้ขั้นสุด นี่หมายถึงว่าสุดความสามารถของผู้แสดงนะ ขั้นนี้ยังเป็นขั้นดำเนิน ขั้นนั้นขั้นสุดกำลังสติปัญญาของผู้ดำเนินของผู้อธิบายเดี๋ยวนี้ก็ถูกนะ พอถึงขั้นนั้นแล้ว เอา พอแย็บเท่านั้นละนะ มันรู้ทันทีกับนั้นเลย แย็บพับดับพร้อม แม้ไม่ปรุงออกมามันก็รู้อยู่แล้วว่าขันธ์ ปรุงออกมามันก็เป็นการประกาศว่าขันธ์กระดิกตัวเท่านั้น ก็ไม่มีอะไร หมดเท่านั้น ไม่มีท่ามีทางอะไรแหละที่จะต้องต่อสู้ ต้องพิจารณากันอะไร ๆ มันเป็นธรรมชาติของมัน แย็บ ๆ เหมือนกับแสงหิ่งห้อยเท่านั้นเอง นี่เป็นถึง ๓ - ๔ ขั้นการพิจารณา

นี่คือเป็นไปตามเรื่องของจิต กำลังของจิต ภูมิของจิตของธรรมที่มีในจิตเป็นไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ แต่อย่าคาดเป็นอันขาดนะ ให้เจ้าของนำไปพิจารณาส่วนไหนที่ควรคาดไปเป็นคติเตือนใจได้ สอนจากตรงนั้นได้ให้คาด แต่ส่วนไหนคาดแล้วจะเสีย จะให้เกิดเป็นความสำคัญมั่นหมายขึ้นมา โดยถืออันนั้นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นมรรคผลขึ้นมาแล้ว อันนั้นผิด อย่าไปยึด ให้เป็นเรื่องของตัวเองเกิดขึ้นแล้วก็วิ่งรับกันเอง ครูบาอาจารย์จะเคยสอนไว้กี่ปีกี่เดือนไม่สำคัญ สำคัญที่ความจริงปรากฏขึ้นมาในเราในขั้นใดภูมิใด แล้วธรรมะที่ท่านเคยแสดงให้เราฟังแล้ว จะโผล่ขึ้นมารับกันปุ๊บปั๊บ ๆ

อย่างหนังสือที่ท่านอยู่ในคัมภีร์ก็เหมือนกัน ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบนี้ เราจะไม่ไปยุ่งไปเกี่ยวกับเรื่องปริยัติอะไรทั้งนั้น นอกจากจะพยายามทำจิตของเราให้มีความสงบลงโดยลำดับ จนกระทั่งก้าวออกทางด้านปัญญา เมื่อก้าวออกทางด้านปัญญามากน้อยแล้วจะเริ่มละที่นี่ พอเริ่มเห็นความจริงขึ้นโดยลำดับ เมื่อเริ่มเห็นความจริงแล้ว มันก็จะวิ่งเข้าสู่ปริยัติที่นี่นะ เอามาประสานกัน เอามาแยกมาแยะ เอามาเทียบมาเคียง ยิ่งจิตหมุนติ้วเข้าไปเท่าไรแล้ว ปริยัติกับปฏิบัตินี้แยกกันไม่ออก จะวิ่งประสานกันปุ๊บปั๊บ ๆ พอได้ความได้สักขีพยานแล้วปล่อยพับ ๆ เรื่อยเลย

นี่เราก็ระลึกได้ที่ท่านพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นของเราได้แสดงได้สอนเรา ตั้งแต่วันเริ่มแรกที่เราไป นี่ท่านมหาก็เรียนมามากจนได้เป็นมหา อย่าว่าผมประมาทธรรมพระพุทธเจ้านะ ท่านว่าอย่างนั้นผมไม่ลืมเลย เหมือนกับเทปอัดไว้ เพราะเราไปด้วยความสนใจอย่างยิ่ง ยิ่งเป็นวันแรกด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นวันที่ได้จดจ่อมากที่สุดในธรรมของท่าน อย่าว่าผมประมาทนะ ให้ยกบูชาไว้เสียก่อน เวลานี้ธรรมที่ท่านเรียนมามากน้อยนั้นยังไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ท่าน นอกจากจะเป็นความกังวล เวลาท่านไปคิดเกี่ยวข้องกับปริยัติข้อนั้นข้อนี้มาเทียบเคียงกัน ทางด้านปฏิบัติแล้วจะเป็นความกังวล ไม่เกิดผลประโยชน์อะไรในขณะนี้

เพราะฉะนั้นขอให้ยกบูชาไว้เสียก่อน ให้ท่านเร่งทางด้านจิตใจของท่านให้เป็นไปเพื่อความสงบ จะสงบด้วยธรรมบทใด ด้วยวิธีการใดก็ตามเถอะ ขอให้พยายามทำจิตให้สงบ ทีนี้ในเมื่อก้าวถึงขั้นปัญญาแล้ว ปริยัติกับปฏิบัติแยกกันไม่ออก นั้นละปริยัติจะเกิดประโยชน์จะเกิดตอนนั้น จะช่วยส่งเสริมได้อย่างเต็มที่ทีเดียว

แต่ปริยัติเวลานี้ยังไม่เกิดประโยชน์ อย่านำปริยัติเข้ามายุ่งเจ้าของ จะเป็นเรื่องยุ่งเจ้าของเอง ธรรมนั้นท่านเป็นธรรมแต่เรายังไม่เป็นธรรม และนั้นแหละมันจะเป็นลิงทอดแห แหนั่นเป็นเครื่องทอดปลา คนเอาไปทอดปลามากินสักเท่าไรแต่ลิงไม่รู้เรื่อง เอาแหไปทอดปลา มันก็พันลิงไปเสีย ธรรมมีมากแต่ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ก็เลยกลับกลายเอาธรรมนั้นเข้ามาทำลายตัวเองไปเสีย เป็นความสำคัญนั้นละพาให้เสีย ความสำคัญผิดจากธรรมมันก็เสีย

นี่ได้พูดถึงเรื่องสัจธรรม เราพูดนอกเหนือไปจากนี้ไม่ได้ เพราะความจำเป็นจริง ๆ อยู่ที่สัจธรรม ขอให้ต่างองค์ต่างมุ่งลงไปในสัจธรรมนี้เถอะ อย่าไปหวังเอาดีเอาชอบเอาสวยเอางาม เอาความสุขความเจริญอะไรกับโลกนั้นเลย เราดูเอาเถอะ ไปอยู่ที่ไหนมีแต่ป่าช้าเกลื่อนไปหมด ผู้ที่ตายก็ตายไป ผู้ที่ไม่ตายก็ความทุกข์ความทรมานบ่นเพ้อละเมอกัน ทั้งคนจนคนมีคนโง่คนฉลาด

มนุษย์เรานี้เป็นตัวบ่นที่สุด ไม่ได้เลือกชาติชั้นวรรณะฐานะสูงต่ำอะไรเลย ความรู้วิชามากน้อย เพราะเหตุใด เพราะกิเลสมันเหนือความรู้เหล่านี้ที่มีอยู่กับมนุษย์เรา มันจึงทำให้มนุษย์ได้เกิดความเดือดร้อนถึงกับต้องบ่นขึ้นมา เสวยทุกข์อยู่ภายในจิตใจแล้วยังไม่แล้ว ยังต้องระบายออกมาทางคำพูดอีก แทนที่จะเบาบางลง มันก็ไม่ได้เบาบาง ถ้าไม่แก้ต้นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์คือตัวกิเลสนี่

นี่เราตั้งใจเข้ามาแก้ทุกข์แล้วภายในตัวของเราเอง เพศก็บอกแล้วว่าเพศนักรบ ไม่ใช่เพศนักหลบ หลบนั้นเสือกนี้ซ่อนที่นั่นซ่อนที่นี่ไม่ได้เรื่องได้ราว นักรบต้องรบเรื่อยไปซิ ไม่หลบ ไม่หลบฉาก นอกจากหลบฉากกิเลสแล้วต่อยกิเลสเท่านั้น ไอ้หลบลงไปถึงนอนแผ่สองสลึงนี้ใช้ไม่ได้เลย มันต้องเป็นนักสู้ซิ พิจารณาให้จริงให้จัง ทำอะไรให้มีสติให้มีความจดจ่อ ให้มีความจงใจ ไม่ว่างานนอกงานใน เป็นสิ่งที่ฝึกสติฝึกนิสัยฝึกปัญญาของเราไปในตัว ให้พิจารณาใคร่ครวญอย่าสักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งนั้น

ความเพียรก็สักแต่ว่า เดินจงกรมก็สักแต่ว่าเดิน กิริยาก้าวเดินจงกรมเดินจริง แต่ว่าจิตมันระเหเร่ร่อนไปทางไหนก็ไม่รู้ นั่นตัวจิตตัวผู้จะทำความเพียรมันไม่ทำเสีย จะว่าไง นั่งอยู่ก็เหมือนกัน นั่งไปนั่งมาก็สัปหงกงกงัน หลับทั้งนั่งก็มี ถ้าไม่หลับก็ลอยไปตามสัญญาอารมณ์ ไม่อยู่กับที่แห่งงานที่ให้ทำนั้นเลย นี่ก็ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์ นั่งไปเท่าไรตายทิ้งเปล่า ๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เดินจงกรมเอาจนฝ่าเท้าแตกมันก็ไม่เกิดประโยชน์ มันสำคัญอยู่ที่สติควบคุมงานที่ทำ ถ้าในขั้นปัญญา เวลาพิจารณาปัญญา ก็สำคัญอยู่ที่สติกับปัญญาประกอบงานนั้น ๆ ให้สืบต่อเนื่องกันอยู่เสมอ จนเห็นเหตุเห็นผล ไม่ว่าอิริยาบถใด นั้นคือความเพียรทั้งนั้น นี่แหละความเพียรที่แท้จริงในวงปฏิบัติเป็นอย่างนี้

ธรรมพระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้เสมอ ท่านไม่ทรงชมเชยไม่ทรงรับรองบุคคลผู้ปฏิบัติแบบร่อแร่ต่อความล่มจมให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายด้วยความพลั้งเผลอ ด้วยความอ่อนแอท้อแท้ต่าง ๆ นั่นไม่มีในหลักธรรมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เพราะความขยันหมั่นเพียรความเอาจริงเอาจัง ความสามารถฉลาดรู้ทุกอย่าง จึงไม่มีใครเสมอพระพุทธเจ้า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ นี้กระเทือนโลกแล้ว เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้แล้ว ฟังซิ

โลกทั้งสามมีใครเป็นศาสดาของพระองค์มีไหม พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของโลกทั้งสามนี่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก แน่ะ ท่านแสดงไว้นั้นก็ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นครูทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไอ้เราเป็นครูสอนเราคนเดียวยังไม่ได้เรื่อง ฟังซิ มันห่างกันไหมกับพระพุทธเจ้า ไกลกันไหม เรามีคนเดียวเท่านั้นละ สอนคนเดียวเราคนเดียวก็ไม่ได้ มีจิตดวงเดียวนี่ สอนจิตดวงเดียวยังไม่ได้ ยังให้มันหลอกอยู่ตลอดเวลา กิเลสมันอยู่ภายในจิตใจหัวเราะ เราเดินจงกรมมันก็หัวเราะ นั่งภาวนามันก็หัวเราะ เพราะทำให้มันหัวเราะมันก็หัวเราะละซิ ถ้าทำให้มันร้องไห้มันก็ต้องร้องไห้ ทำให้มันเผ่นมันก็ต้องเผ่น ทำให้มันตายมันต้องตายกิเลส โกธํ ฆตฺวา สุข เสติ ฆ่าความโกรธได้แล้วอยู่เป็นสุขแน่ะ ท่านว่าฆ่ากิเลสได้แล้วอยู่เป็นสุข มันก็อันเดียวกันอีกแหละ ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นกิเลส ฆ่าสิ่งนี้แล้วเป็นสุข ฆ่ามันซิ

พูดไปเหนื่อย เอาละ

พูดท้ายเทศน์

หลักปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตาอยู่ชัด ๆ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายฟังซิ คือเป็นกฎเป็นเกณฑ์ให้ดี ได้นำมาปฏิบัติอยู่ในวัดนี้ก็นำเอามาจากท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านอาจารย์มั่นนั่นเอง ไม่ได้นอกเหนืออะไรจากนั้น ฝึกหัดจิตใจให้จริงจังอย่าให้เถลไถลเป็นพระหลักลอย ให้มีความจริงใจอยู่ภายในใจ ความจริงใจนั่นแหละที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์อันหนึ่ง ที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาได้ทางด้านจิตใจ

คุณ...ก็ให้พยายามตั้งตัวให้ดีนะ มีจิตใจเลื่อนลอย ดูอาการไปมานี้รู้สึกว่าเลื่อนลอยแล้ว ประเดี๋ยวไปที่นั่นแล้วโผล่มาที่นี่ เดี๋ยวโผล่ไปที่โน่น ไปอยู่ไม่หยุดไม่ถอย แต่ไม่ใช่หาประกอบความพากเพียรที่เป็นล่ำเป็นสันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ มาทีไรมาวุ่นอยู่แต่บ้านแต่ญาติแต่วงศ์ ไม่ได้กวนบ้านกวนเมืองกวนญาติกวนวงศ์ไม่ดี เอาให้มันเด็ดให้มันจริงมันจัง จะไปยุ่งกับใคร นี่เราได้ยินข่าวเสมอ เดี๋ยวมานั้น เดี๋ยวมานี้เรื่อย เดี๋ยวไปโน้นเดี๋ยวไปนี้ เอ๊ นี่มันยังไงกันนี่ ทำให้เอะใจเหมือนกัน ตั้งใจออกมาบวชเพื่อปฏิบัติจริง ๆ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น

ที่ประกอบความเพียรอย่างนั้นมันก็ดีเหมาะสมอยู่แล้ว ควรจะอยู่ได้สะดวกสบาย เหตุใดจึงต้องเถลไถลอยู่ไม่หยุด ก็แสดงว่ามีอันหนึ่งอยู่ภายในจิตใจ มันอยู่ไม่ได้ ต้องให้ได้ไปพอแก้รำคาญ อย่างนั้นมันความเพิ่มตัวขึ้นเพื่อให้มีความรำคาญเรื่อย ๆ ได้แก้เรื่อย ๆ ได้เพิ่มเรื่อย ๆ มันมีอยู่ในใจมันไม่ใช่แก้รำคาญนะนั่น มันเป็นการส่งเสริม วันหนึ่งได้ยินว่าไปทางโน้น วันนี้ก็กลับมาแล้ว มาทางบ้านหนองไผ่ ท่านฮวด เดี๋ยวกลับมาทางนี้ กลับไปทางโน้นอยู่อย่างนั้น ออกจากวัดนี้ก็ไปโน้น ออกโน้นก็มาวัดท่านฮวด มาอะไรอีก ไปโน้นไปนี้อยู่อย่างนั้น หลักใจไม่ดี

ที่ไหนมันเหมาะสม คำว่าเหมาะสม นี่หมายถึงไม่มีคนรบกวนวุ่นวาย สถานที่ประกอบความพากเพียรสงัดวิเวกดีนั่นเหมาะสม น้ำท่าก็ดี ส่วนอาหารการขบฉันนั้นเรามอบให้กับชาวบ้าน เราเป็นพระผู้มุ่งต่อมรรคผลนิพพานอยู่แล้ว ต้องทำตัวเหมือนเป็นผ้าขี้ริ้ว อาหารชาวบ้านเขากินได้ ทำไมเรากินไม่ได้ เราก็คนคนหนึ่ง นั่น พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวชทั้ง ๆ ที่เป็นกษัตริย์ ทรงผนวชในระยะนั้นไม่มีศาสนา ใครจะทราบว่าการให้ทานเป็นผลดีอย่างนั้นอย่างนี้ ใครจะตั้งหน้าตั้งตาให้ทานต่อพระองค์

ที่จะได้เสวยพระกระยาหาร อันเหมาะสมกับพระธาตุและพระทัย ไม่มี ก็เป็นประเภทลดตัวลงมาถึงขั้นคนขอทานเราดี ๆ นี่เองจากความเป็นกษัตริย์ลงมา เขาจะได้ของดิบของดีมาให้ทานที่ไหน นั่นแหละคือจอมศาสดาของเรา ที่จะมาเป็นคติแก่เราในการประพฤติปฏิบัติ ไม่เห็นแก่ลิ้นแก่ปากแก่ท้อง ลิ้นอย่าให้มันเหนือธรรม ปากท้องอย่าให้เหนือธรรม อย่าให้มันแซงธรรมไปได้ นี่คือผู้ปฏิบัติ

ชาวบ้านเขาเกิดมา เขาก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน จะอยู่ที่ไหน ๆ เกิดมาโดยสมบูรณ์แบบแห่งความเป็นมนุษย์แล้วเป็นมนุษย์เหมือนกัน การรับประทานการขบการฉัน การรับประทานมันเหมือน ๆ กันนั่นแหละ เป็นอาหารสำเร็จประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าไม่ขัดกับหลักธรรมหลักวินัย และไม่ขัดกับโรคภัยไข้เจ็บของตนแล้ว มันก็ควรจะรับได้พิจารณาลงไปได้สิ่งเหล่านี้ เขายังรับได้เราทำไมรับไม่ได้ ความขาดตกบกพร่องบ้างนั้นละเหมาะสำหรับกรรมฐาน

มันพอกพูนสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาจนท่วมปากท่วมท้องไม่ดี อย่างวัดป่าบ้านตาดนี่ ท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฝึกฝนทรมานตนในที่อัตคัดขัดสน ความจำเป็นยังไง ๆ แล้วคุณค่าแห่งการฝึกฝนทรมานด้วยวิธีนั้น มีผลอย่างไรบ้าง นี่ยังไม่ได้เคยผ่าน มาก็มาเห็นตั้งแต่สถานที่นี่ เรียกว่าเหลือเฟือแล้วขนาดวัดป่าบ้านตาด ถ้าเราเทียบทางด้านปฏิบัติมาแล้ว ที่เคยปฏิบัติมาแล้วเหลือเฟือ ถึงไม่มีคนมาอาหารก็เหลือเฟืออยู่นั้นจะว่าไง

เราพอยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ความมุ่งมั่นรวมอยู่ในธรรมหมด ไม่ได้มาสนใจกับเรื่องอาหารการบริโภค แม้แต่ได้ข้าวเปล่า ๆ มาก็กินอย่างสบาย กินข้าวเปล่า ๆ ฉันข้าวเปล่า ๆ กับฉันกับและฉันกับมาก ๆ เป็นยังไง ไอ้ลิ้นมันต้องการทำไมจะไม่ต้องการ เพราะมีตัวกิเลสแทรกอยู่กับลิ้นนั้น เป็นแต่เพียงไม่เห็นตัวมัน มันแสดงมาทางลิ้นก็รู้ว่าตัวกิเลสเป็นยังไง มันต้องการ แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนั้น

ธรรมมักจะอดอยากขาดแคลนเสมอ ยกตัวอย่าง เช่น เวลาเราฉันจังหันไม่มีกับ ฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ นี่ ผมนี่มันไม่ทราบว่ากี่ร้อยกี่หนครั้งแหละ ไม่นับไม่พรรณนามันเลย นี่ก็เพียงขี้ปะติ๋วกับพ่อแม่ครูอาจารย์เรานะ อย่าไปเทียบท่านเป็นอันขาด เราเทียบแต่สิ่งที่เราพอเห็นมานิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น แต่สำหรับท่านอาจารย์มั่นอย่าไปเทียบท่านเรื่องเหล่านี้ ไม่มีใครที่จะทุกข์ลำบากยากยิ่งกว่าท่าน ความอดอยากขาดแคลน ท่านเคยเล่าให้ฟังแล้ว เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกทีแรกเรื่องกรรมฐาน ท่านมุ่งแต่ปฏิบัติ ถ้าวันไหนฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ นั่งภาวนากลางวันก็ไม่โงกไม่ง่วง ตัวตรงแน่วเหมือนหัวตอ ไม่เอนไม่เอียง ไม่สัปหงกงกงัน แต่จิตแน่ว แน่ะ เดินจงกรมก็ตัวปลิวไป อ๋อ มันดีอย่างนี้ มันรู้ชัด ๆ

จิตขั้นที่สงบแล้ว เอ้าสงบได้อย่างสบาย ๆ ขั้นปัญญานี่ก็คล่องตัวของมัน เราจึงไม่เป็นกังวล เพราะความมุ่ง มุ่งธรรม ธรรมดีในใจมากน้อยเพียงไร เป็นสิ่งที่เราพึงหวังอยู่แล้ว ก็ยิ่งมีความเอิบอิ่ม ยิ่งมีความพอใจเหล่านั้นหมุนติ้ว ๆ ไปตามนั้น อาหารการขบการฉัน มันเป็นเรื่องโลกอนิจจัง อาศัยชาวบ้านเขาให้มาอย่างไรก็กินไปตามเรื่อง

บางทีเขาเอาปลาร้าห่อใส่บาตรให้ กลับพอไปถึงถ้ำปลาร้าเป็นปลาร้าดิบ และไม่มีญาติโยมสักคน ก็ต้องได้เอาออก ไม่ได้กิน ภาษาทางภาคนี้เขาเรียก หมากแงวหมากไฟนี่ หมากแงวอย่างอยู่หน้าศาลานี่ เขาเอามาให้กินจะกินได้ยังไง อม ๆ แล้วก็คายทิ้ง เพราะไม่ได้กัปปิยะ มะไฟก็อม ๆ สักลูกสองลูกบ้างแล้วก็ได้ทิ้ง พอรำคาญนี่นะ อมเดี๋ยวมันจะลงคอไป ไม่ได้กัปปิยะก่อน อยู่ในป่ามันมี จิตมันสำคัญนะ

แต่นี่เราไม่ได้หมายถึงว่า มันจะอดอยากขาดแคลนตลอดไป บางทีมันก็มีมากเหมือนกันอยู่ในป่าก็ดี ได้อะไรมาก็กิน ๆ บางวันมันก็มีมาก แต่วันเช่นนั้นเกี่ยวกับเรื่องภาวนาแล้วไม่เป็นท่า ก็รู้มันเพราะเราดูใจเราอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ให้ท้องไม่ให้ลิ้นมันเหนือธรรมแซงธรรม ให้ธรรมออกหน้าเสมอ อะไรสะดวกต่อธรรมนั้นแหละให้พยายามตามนั้น อะไรขัดต่อธรรมให้พยายามหักห้าม อย่านำเข้ามาขัดขวางธรรม ธรรมจะไม่เจริญภายในใจ ไม่มีอะไรที่จะรักสงวนยิ่งกว่าธรรม

สิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปกินเมื่อไรก็ได้อดอยากอะไร เวลานี้เรากำลังมาสั่งสมอบรมธรรมให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นภายในจิตใจ เพื่อความแน่ใจ เพื่อความอบอุ่น เพื่อความเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ตลอดถึงเพื่อความพ้นทุกข์ภายในจิตใจของเราด้วยธรรมไม่ใช่ด้วยอาหาร การขบการฉัน จตุปัจจัยไทยทานทั้งสี่นั้นเป็นสิ่งภายนอก อาศัยกันไปชั่วกาลชั่วเวลาเท่านั้น ให้เราคิดไว้เสมอ ผู้ปฏิบัติต้องคิดอย่างนั้น

อยู่ที่ไหนคนไม่รบกวนนั่นแหละ ยิ่งสงัดเท่าไรก็ยิ่ง...จิตยิ่งเห็นตัวเด่น ๆเหมือนกับว่าเสียงแห่งความสงัดนี้กังวานทั่วแดนโลกธาตุงั้นแหละ เหมือนกับมีเสียงเหมือนกันนะ คือ ไม่มีเสียงใดปรากฏ เงียบเอาเสียจริง ๆ ภายนอกก็เงียบ แล้วภายในจิตก็เงียบของตัวเอง ไม่มีอารมณ์อะไรกวนใจเลย จึงเหมือนกับว่าเป็นเสียงสะท้านอยู่ด้วยความเงียบนี่แหละ คือความเด่น ความรู้มันเด่นเหมือนกับว่าครอบโลกธาตุ จึงเป็นเหมือนกับว่าเสียงกังวานอยู่ด้วยความเด่น

ความเด่นนี่เหมือนกับส่งเสียงกังวานไปครอบโลกธาตุ เราอยากจะพูดอย่างนั้น แต่มันก็ไม่ได้มีเสียงหรอก ที่พูดอย่างนั้น คือความรู้นี่เด่น ยิ่งพิจารณาไปจิตยิ่งมีความอัศจรรย์ เป็นสิ่งที่ให้ความสุขเป็นที่อบอุ่นใจ นอกจากความที่เด่น ๆ อยู่ในหัวใจนี่แล้วยังรวมตัวลงนี้หมดเลย เวลารวมลงเต็มที่แล้วก็เหมือนโลกไม่มี หายเงียบหมด เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ที่เป็นของอัศจรรย์เท่านั้น

รู้อันนั้นเป็นเรื่องรู้อัศจรรย์มากทีเดียว อะไร ๆ ไม่ปรากฏ เหมือนโลกทั้งโลกนี้ไม่มีเลย เพราะเหตุไรจึงไม่มี เพราะความรู้นี้ไม่ไปพาดพิงกับสิ่งใด พอจะเป็นเรื่องขึ้นมาว่าสิ่งนั้นมีสิ่งนี้มี เนื่องจากอาการของจิตเท่านั้นไปก่อเรื่องขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นเขาก็มีอยู่เป็นอยู่ตามสภาพของเขา แต่เขาไม่ได้มายุ่งกับเรา ความรู้ของเรา จิตนี่แหละ กระแสของจิตหากไปคิดไปพาดพิง แล้วไปปรุงไปแต่งว่าอันนั้นมีอันนี้มี อันนั้นไม่ดีอย่างนั้น อันนี้ชั่วอย่างนี้ไปเฉย ๆ พอตัวนั้นย้อนเข้ามาสู่องค์แห่งความรู้จริง ๆ แล้วไม่มีกระแส ถึงไม่มีอาการออกไปสู่ภายนอกแล้วมันก็เหมือนว่าโลกนี้ไม่มี เมื่อสุดท้ายก็คือว่ามันไม่มีอยู่ที่จิตนั่นเอง โลกถึงไม่มี

ถ้าจิตเป็นสัญญาอารมณ์กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็มี มีอยู่ในจิตอีก สิ่งเหล่านั้นธรรมดาก็มีอยู่ตามสภาพของเขาโน้น แต่มันมามีอยู่ในจิตเพราะอารมณ์ของจิตนี่เอง จิตจึงเป็นอารมณ์นำอารมณ์นั้นเข้ามาสู่จิต ก็เหมือนกับมีอย่างนั้น ๆ เราดูซิ ปกตินี้จิตเราอยู่เฉย ๆ เมื่อไร ไม่ได้อยู่เฉย ๆ นะ มันอยู่กับเรื่องนะ รู้อยู่เฉย ๆ เป็นอันเดียวนี่มีเมื่อไร อยู่กับเรื่องนั้นอยู่กับเรื่องนี้

ขันธ์อันนี้แหละมันปรุงสังขารขันธ์ สัญญาขันธ์นี่สำคัญมากทีเดียว มันปรุงมันแต่งให้อยู่กับเรื่องกับราวเหล่านั้น อยู่กับมโนภาพ เหมือนกับเด็กอยู่กับตุ๊กตา ถ้าไม่มีเครื่องเล่นมันอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่กับตุ๊กตาเด็กเครื่องเล่นของเด็ก เด็กถึงจะอยู่ นี่จิตเราก็อยู่กับเรื่องราวเหล่านี้ นี่เราพลิกนะ ถ้าอยู่กับเรื่องก็ให้เรื่องธรรมนั่น เวลาอาการของจิตแสดงออกเพื่อทำงาน ด้วยการคิดอ่านไตร่ตรองอะไร ๆ นี้ ให้เป็นเรื่องเหล่านี้ เรียกว่าเรื่องธรรม นอกจากนั้นเข้าสู่ความสงบตัวเอง ก็ไม่มีอะไร แม้จะไม่สงบจนปล่อยหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็มีอยู่จำเพาะตัว คือไม่ส่งไปยุ่ง รู้อยู่ในวงขันธ์นี้ รู้ตัวอยู่ในวงขันธ์นี้ ก็ยังดีไม่เกิดเรื่อง

สังขารขันธ์นั่นแหละตัวก่อเรื่อง สัญญาขันธ์ละเอียดมาก เราพิจารณาให้ละเอียดถึงจะทราบว่า สัญญาขันธ์นี้ละเอียดมากที่สุดเลย มันซึมอย่างที่ไม่รู้สึก สังขารขันธ์นี้มันยังมีแย็บ ก็รู้ด้วย แต่สัญญาขันธ์นี้ไม่แย็บเลย ค่อยซึมออกไปให้เลย ค่อยซึมออกจากจิตนี่

นี่ถ้าสติปัญญาพอ มันจะละเอียดขนาดไหนก็ทนสติปัญญานี้ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติปัญญาจึงเหนือกิเลสทุกประเภท แล้วห้ำหั่นกันนี้ให้ราบได้ทีเดียวไม่สงสัย เรียนจิตนี่ละสำคัญ ปฏิบัติต่อตัวเอง งานนี้เป็นงานใหญ่โตมากสำหรับผู้ที่จะรื้อถอนตนออกจากทุกข์ จึงไม่ต้องเสียดายอะไรงานใดทั้งนั้น ไม่เสียดายอะไรในโลกนี้ อะไรเข้ามาผ่าน ถึงจะเป็นความอยากความต้องการอะไรต้องฝืน ฟาดฟันหั่นแหลกกันไปเลย เราจะคล้อยตามไม่ได้ พอคล้อยตามก็เป็นการส่งเสริมกิเลสให้มีกำลังขึ้นทันที

ด้วยเหตุนี้จึงต้องหักห้ามต้านทาน ฟาดฟันกันลงด้วยสติปัญญา นั่นแหละเป็นทางแห่งความปลอดภัยด้วย เป็นทางแห่งการถอดถอนกิเลสด้วย ขั้นมันลำบากก็คือขั้นยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์นี่แหละ ความสงบของจิต พื้นฐานแห่งความสงบของจิต พอที่จะเป็นที่อยู่สะดวกสบาย เป็นที่อบอุ่นมันไม่มี ถ้าหากว่าทำการค้าก็เรียกว่า ค้ากำปั้น ค้าด้วยกำปั้นนี่ มันไม่มีต้นทุน อันนี้ลำบาก ลำบากก็ทน

ใคร ๆ ไม่ได้หาบมรรคผลนิพพานมาตั้งแต่วันแรกเกิด มีกิเลสเต็มตัวมาด้วยกัน แต่เมื่ออาศัยความพยายามแล้ว ผลก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ จากงานของเรา เราทำงานอะไรผลก็ปรากฏขึ้นมา นี่ทำงานทางด้านจิตตภาวนา ผลก็ค่อยปรากฏขึ้นมา สำคัญที่ความเอาจริงเอาจัง ความอดความทน ความขยันหมั่นเพียร หาอุบายพลิกแพลงจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสอยู่เสมอ

เรื่องของกิเลสนั้นละ มันถือจิตเป็นเหมือนลูกฟุตบอล มันถีบมันเตะอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจิตจึงกลิ้งไปกลิ้งมา กลิ้งไปอารมณ์นั้นกลิ้งมาอารมณ์นี้ ต้องใช้สติปัญญาหักห้ามกันฟาดฟันกัน ทุกข์ลำบากก็ทนเอา ใครก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวก เราก็ทราบประวัติของท่านนำมาสอนตนซิ เราจะฟังเฉย ๆ อ่านเฉย ๆ ทำไม เกิดประโยชน์อะไร อ่านเฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์ เราต้องนำเข้ามาตรอง มาเป็นหลักเป็นเกณฑ์

พระพุทธเจ้าทรงสลบถึงสามหน นั่นฟังซิ ถ้าหากว่าไม่ฟื้นก็เรียกว่าตายไปเลย ทำไมต้นเหตุคืออะไร ก็คือความเพียรเป็นต้นเหตุ ความเพียรหักโหมก็ต้องถึงขั้นสลบ ไม่ทุกข์ถึงขั้นสลบ จะสลบได้อย่างไรคนเรา พระสาวกก็เหมือนกัน บางองค์ก็ว่าง่าย แต่เวลาท่านลำบากเราไม่ได้คิดถึงท่าน เรื่องอดีตของท่านมีด้วยกันทุกองค์นั่นแหละ ชาติปัจจุบันท่านสะดวก ชาติอดีตท่านก็ต้องสมบุกสมบันมาแทบล้มแทบตาย บางองค์ในปัจจุบันก็ลำบาก เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก บางองค์ก็จักษุแตก นี่ถ้าไม่ใช่ความเพียรจะอะไร

พระจักขุบาลท่านไม่นอนก็เพราะความเพียรนั่นเอง ในขณะที่ไม่นอนยังไม่แล้ว ยังต้องประกอบความเพียรอยู่อีก เพราะที่ไม่นอน ไม่นอนเพื่อจะทำความเพียรจนจักษุแตก พอจักษุบอดปั๊บ ตาในก็สว่างจ้า แน่ะ ท่านทุกข์ไหม เราพิจารณาซิ เราต้องหาสิ่งเด็ด ๆ อย่างนี้เข้ามาดัดกิเลสของเรา เมื่อกิเลสเรามันผาดโผน ก็ต้องหาธรรมอันเด็ด ๆ เข้ามาดัด ไม่งั้นไม่ทันกัน ต้องหาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กิเลสกับปัญญานี่แหละพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ถ้าปล่อยตามกิเลสแล้วเอาเถอะ อยู่ไหนก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้นละ ได้แต่เรื่องของกิเลส หาบกิเลสนั่ง หาบกิเลสนอน หาบกิเลสทับหัวอยู่ตลอดเวลา

นี่ขั้นเริ่มแรก ต้องเอาให้หนักบ้างเป็นธรรมดา ทีนี้พอจิตมีรากมีฐานเป็นความมั่นคงขึ้นภายในจิตใจของตนเอง หรือว่ามีฐานแห่งความสงบให้เห็นชัดเจนภายในจิตแล้ว นั่นขั้นนั้นค่อยสบาย จิตใจก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายก่อกวนตัวเองเพราะอารมณ์ต่าง ๆ มากนัก ค่อยเบาลง ๆ นั่นเห็นความสุขจากการปฏิบัติ อ๋อ การปฏิบัติได้ผลอย่างนี้ก็รู้ละที่นี่ เมื่อจิตไม่วุ่นแล้วก็มีแต่งานของเราที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ หนักหน้าลงไปเรื่อย แน่ะ จิตก็นับวันสร้างฐานแห่งความสงบแน่นหนามั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ

จากนั้นก็พิจารณาทางด้านปัญญาตามกาลอันควร เพราะสมาธิทุกขั้นเป็นบาทของวิปัสสนาทุกขั้น ได้ทุกขั้นเลย หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงคิด นี่ท่านเรียกว่าปัญญา เกิดขึ้นจากสังขารเหมือนกันนั่นแหละ สังขารประเภทหนึ่งเป็นสังขารที่กิเลสผลักดันออกมาเรียกว่า สมุทัย สังขารประเภทหนึ่ง เพราะธรรมเป็นเครื่องผลักดันออกมา เป็นสติเป็นปัญญา สังขารปรุงขึ้นมาก็ปรุงขึ้นมา เพื่อสติปัญญาจะได้ยึดถือเอาประโยชน์ จะคลี่คลายตามสิ่งที่สังขารปรุงขึ้นมา ก็เป็นธรรมขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากใจดวงเดียวกันนั้น

ให้พากันอุตส่าห์พยายาม อย่าลดละความพากเพียร อย่าเห็นอะไรดียิ่งกว่างานที่กำลังทำอยู่นี้ อย่าเห็นผลอันใดดีเยี่ยม ยิ่งกว่าผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติจิตตภาวนาของเรานี้ นี่เป็นผลที่เลิศประเสริฐ พระพุทธเจ้าท่านประเสริฐเพราะผลอันนี้ เพราะความเพียรท่านประเสริฐ พระสาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายท่านประเสริฐเพราะธรรมดวงนี้เป็นผล ซึ่งเนื่องมาจากเหตุที่ท่านพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ เราอย่าลดละความพากเพียร

ผู้มาใหม่ก็ให้ดูกัน ให้ก้นเบา หูเร็ว เกี่ยวกับเรื่องอรรถเรื่องธรรม แต่อย่าไปรวดเร็วแต่กับโลกยิ่งกว่ามังกี้ยิ่งกว่าลิงนะใช้ไม่ได้นะ เรื่องอรรถเรื่องธรรมฟังให้ดี พินิจพิจารณาให้เข้าอกเข้าใจ อย่ามาสนใจกับเรื่องการดุด่าว่ากล่าวของผมว่าเป็นคำดุ นั้นเป็นความเข้าใจผิด ผมไม่เคยเป็นคำดุภายในจิตใจกับท่านทั้งหลาย นอกจากพูดออกมาโดยเหตุโดยผล หนักเบามากน้อยตามเหตุการณ์เท่านั้น ผู้กลัวไม่มีเหตุมีผลผมก็ไม่ชมเชย กล้าแบบหน้าด้านก็ไม่ชมเชย กลัวแบบตัวสั่นแบบไม่มีเหตุมีผลผมก็ไม่ชมเชยเช่นเดียวกัน เราต้องการเหตุผล กลัวด้วยเหตุด้วยผล กล้าด้วยเหตุด้วยผล เพราะนั้นเป็นธรรม ชื่อว่าผู้นั้นเดินตามธรรม ปฏิบัติตามธรรม ยึดธรรมเป็นหลักใจ กล้าก็กล้าไปตามนั้น กลัวก็กลัวไปตามนั้น ถูกต้อง

ประการสุดท้ายเรื่องอาหาร พระมามากให้ต่างองค์ต่าง เวลานำอาหารออกไปจากนี้ ถ้าจะไปเที่ยวดูบาตรเสียก่อนก็ได้ บาตรไหนบกพร่องให้ตักเพิ่ม ๆ การแจกอาหารผมเคยพูดเสมอ พูดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่เกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนมาเคยปฏิบัติมาอย่างนั้น อย่าว่ามาพูดเวลามาสร้างวัดป่าบ้านตาดนี้เลย ที่อื่น ๆ ที่ไหน ๆ ก็พูดแบบนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น ลิ้น ปากเป็นของเสมอกัน มีความจำเป็นเท่ากันตั้งแต่เณรองค์สุดท้ายขึ้นมาถึงพระเถระ สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นเท่าเทียมกัน จะถือว่าผู้ใดสูงต่ำกว่าไม่ได้ เราคิดเห็นเหตุผลอันนี้ เพราะฉะนั้นเวลาแจกอาหารจึงต้องให้สม่ำเสมอ แจกมาตั้งแต่ทางโน้นมาถึงทางนี้ แจกทางนี้ไปถึงทางโน้น แจกประสานกัน

นอกจากนั้นแล้วยังต้องดูบาตร บาตรไหนบกพร่องให้เพิ่ม เว้นแต่เจ้าตัวไม่เอานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นโดยลำพังของผู้แจก ผู้แจกต้องรอบคอบ ให้รอบคอบทุกคน อย่าสักแต่ว่าแจก ให้ดูบาตรด้วย แล้วอาหารท่านเคยวางยังไง มีอยู่ยังไง จะเทสุ่มสี่สุ่มห้าก็ไม่ใช้ปัญญา ท่านเคยวางอาหารไว้ยังไง วางคาวไว้เช่นไรบาตรลูกนั้น ๆ ท่านเคยวางคาวไว้ยังไง วางหวานไว้ยังไง ดูอันนั้นเป็นแบบฉบับ หรือผู้ครั้งแรกนั้นวางเป็นยังไง ผู้ที่สองก็ดูตามนั้น จึงได้ชื่อว่าใช้สติใช้ปัญญา ไม่สักแต่ว่าเทปั๊วะ ๆ ไป นั้นใช้ไม่ได้เลย ทั้งขาดสติปัญญาทั้งขาดความเคารพ นอกจากขาดความรอบคอบแล้วยังขาดความเคารพต่อกันอีก ไม่ดี

ความเสมอภาค ความสม่ำเสมอด้วยกันทุกองค์ ๆ เกี่ยวกับเรื่องการขบการฉัน การใช้สอยต่าง ๆ ในจตุปัจจัยไทยทานที่ได้มานี้ นั่นแหละคือความเป็นธรรม สม่ำเสมอ ใครไม่มีอะไร เอา อาหารการขบฉันแจกให้ดี ดูให้ละเอียดลอออย่าสักแต่ว่าแจก ให้ทุกคนใช้ความคิดด้วยกัน ผู้คิดชอบคิด ผู้ไม่คิดมีอยู่เยอะ ผู้ไม่คิดนั่นแหละมันทำให้บกพร่อง ทำให้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เสียได้ เพราะความไม่คิด ความคิดทุกอย่างดี

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก