การฝึกหัดอบรมเรา ที่ใจกำลังถูกแผดเผาด้วยกิเลสทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ทุกขณะจิตที่คิดถ้าไม่มีสติ มีแต่ใจถูกแผดเผาอยู่ตลอดเวลา ยังไม่เข็ดไม่หลาบกันแล้วเราจะเข็ดหลาบที่ไหน ความทุกข์อยู่ที่ไหนเวลานี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าความทุกข์อยู่ในสถานที่ใด ความสุขอยู่ในสถานที่ใด อาศัยดินฟ้าอากาศอาหารการบริโภคก็เพียงพอประมาณเท่านั้น หลักใหญ่ต้องใจเป็นทุกข์ใจเป็นสุข เพราะฉะนั้นการสอนจึงสอนลงในหลักใหญ่ได้แก่ใจ เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติต่อตนเอง แก้ไขดัดแปลงจิตใจให้เป็นไปเพื่อถูกทาง แล้วความร่มเย็นก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับลำดา ท่านสอนโดยถูกต้องที่สุดหาที่แย้งไม่ได้ เอ้า ปฏิบัติไปซิจะค้านพระพุทธเจ้าได้ที่ตรงไหน
ต้องปฏิบัติ อย่าเรียนเอาความจำมาถกมาเถียงมารบรากันด้วยน้ำลาย ศาสนาพระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสนาน้ำลาย ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนเพื่อปฏิบัติ นั่นฟังซิ เรียนรู้เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ รู้วิธีการแล้วให้พยายามปฏิบัติตาม เรียกว่าปฏิบัติ การปฏิบัติได้ผลมากน้อยเรียกว่าปฏิเวธ ค่อยรู้แจ้งไปโดยลำดับ ๆ ตามหลักความจริง จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดในความจริงทั้งหลาย ท่านเรียกว่าสัจธรรม อยู่ที่ตรงนี้
เรายังไม่ทราบว่าศาสนาให้ความร่มเย็นแก่โลกอยู่เหรอ ไม่ทราบว่าศาสนาให้ความร่มเย็นแก่เราอยู่เหรอ เรายังไม่ยอมรับความร่มเย็นจากศาสนา เรายอมรับแต่ความรุ่มร้อนกับเรื่องกิเลสมาเป็นเวลานานแล้ว เรายังไม่เข็ดหลาบเหรอเราคิดซิ ปัญญามีต้องคิดเรื่องเหล่านี้ ผู้ที่จะเอาตัวรอดได้ต้องใช้ปัญญา พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันหลายคม ไม่งั้นไม่ทันกลมายาของกิเลส
พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นคนโง่ สาวกทั้งหลายไม่ใช่เป็นคนโง่ ฉลาดจอมปราชญ์ก็คือพระพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระสาวกทั้งหลาย เรายังเห็นว่าท่านโง่อยู่เหรอ ใครที่พ้นจากทุกข์ไปได้ ในบรรดาสัตวโลกในสามภพนี้นอนตายกองกันอยู่ในทุกข์ พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านผ่านพ้นไปได้ ใครจะว่าใครฉลาด ใครจะว่าใครโง่ เอามาเทียบเคียงกันซิ แล้วคำสอนหรืออุบายวิธีการต่าง ๆ ใครเยี่ยม อุบายวิธีสอนนี้ที่เรียกว่าเป็นนิยยานิกธรรม นำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ก็เนื่องมาจากสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ผิดไม่เพี้ยน ไม่เปลี่ยนตามกาลตามฤดูตามสถานที่อะไร ๆ ทั้งนั้น
เพราะกิเลสไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นกิเลสอยู่ตายตัว ความโลภก็ตายตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา เป็นของตายตัวและฝังอยู่ภายในจิต จะให้พระพุทธเจ้าสอนไปทางไหน จะให้เปลี่ยนแปลงอรรถธรรมไปได้อย่างไร ต้องแสดงธรรมให้ถูกต้องตามหลักความจริงซิ
ใครจะเห็นโทษถ้าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งได้ศาสนามาเป็นเครื่องมือไตร่ตรองพินิจพิจารณาตามเรื่องความเป็นโทษเป็นคุณ ซึ่งมีอยู่กับเราด้วยกันทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งมีอยู่กับใจ ใจเป็นผู้ผลิต วัฏจักรมันผลิตความคิดความปรุงในแง่ต่าง ๆ ออกมา กระทบอะไรไม่กระทบอะไรไม่สำคัญ มันคิดมันปรุงของมันอยู่นั้น
รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส คำว่ารูปมีกี่ประเภท เต็มแผ่นดิน เสียงก็เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เป็นภัยมากก็คือเสียงมนุษย์เรา เอาแค่ธาตุแค่มนุษย์ก็พอ ในพระไตรปิฎกท่านพูดถึงเรื่องนักปฏิบัตินี้ย่นเข้าไปอีก รูปใดก็ตามไม่ได้เป็นภัยต่อนักบวชยิ่งกว่ารูปหญิง ท่านว่า อิตฺถี รูปํ ในพระไตรปิฎก เสียงใดก็ตามไม่มีเสียงที่จะเป็นพิษเป็นภัยเสียดแทงเข้าในขั้วหัวใจยิ่งกว่าเสียง อิตฺถี สทฺโท กลิ่น รส ความสัมผัสถูกต้องอยู่ในตัวรูปอันนี้ทั้งนั้น นี้เป็นภัยอันดับหนึ่งทีเดียวท่านว่า ท่านสอนในพระไตรปิฎก
ย่นสอนภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายให้เธอทั้งหลายได้เห็นโทษ นี้แลสิ่งที่ให้โลกตายกองกันเพราะอันนี้เป็นเครื่องล่อ ถ้าหมดอันนี้แล้วไม่กลับมา เช่นอย่างพระอนาคามี สำเร็จจากขั้นนี้แล้วท่านไม่กลับมา เป็นอัตโนมัติเหมือนกันกับผลไม้ที่แก่ ควรจะสุกโดยลำพังตนเองแล้ว ตัดมาบ่มก็สุกไปเลยหรือไม่บ่มก็สุกไป แม้ต้นไม้ต้นนั้นจะตายจากไปเสียในขณะที่ผลไม้ต้นนั้นมันแก่แล้ว มันควรจะสุกโดยลำพังตัวเองได้แล้วมันก็สุกของมันได้ นั่นพิจารณาซิ ซึ่งพระอนาคามีก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิด คือเลื่อนไปโดยลำดับ ค่อยแก่กล้าไปโดยลำดับเป็นอัตโนมัติของจิตในขั้นนั้น
เราอยู่ในโลกนี้เราก็ทราบ ในขันธ์ของเราเราก็ทราบ จิตเมื่อก้าวเข้าถึงขั้นอัตโนมัติแล้วจะไม่ถอยหลัง มีแต่หมุนติ้ว ๆ เป็นอัตโนมัติของตนเองโดยลำดับ นี่ละที่พระอนาคาท่านไม่กลับมา เพราะสิ่งทั้งห้านี้ที่กล่าวมาตะกี้นี้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ก็กับอันนี้แหละ กับ ๕ อย่างนี้มาบวกเข้าเป็นธรรมารมณ์ ก็เป็นอารมณ์กับสิ่งเหล่านี้ ได้ผ่านกันไปแล้ว ได้ขาดจากกันไปแล้ว ท่านถึงไม่มีเยื่อใย ไม่ต้องกลับมา แล้วนิพพานไปเลยทีเดียว
ผู้ได้เพียงระดับขั้น เช่นอย่างสอบได้ในระดับสอบได้ เช่น ๕๐ % ได้ขั้นนี้ก็หมายความว่า ขั้นนี้จะไม่กลับแล้ว ขั้นพระอนาคามี ผู้ได้ ๖๐ % ๗๐ % ๘๐ % ก็แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ เวลาเปลี่ยนภูมิก็เปลี่ยนไปตาม ชั้นอวิหาเป็นชั้นต่ำ อตัปปา ชั้นสูงขึ้นไป สุทัสสา ชั้นที่สาม สุทัสสี ชั้นที่สี่ อกนิฏฐา ออกจากนั่นก็ก้าว นี่ก็ก้าวขึ้นจาก อวิหา แล้วไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี แล้วก็อกนิฏฐา แล้วนิพพานเลย ท่านเหล่านี้ไม่กลับมาเพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจ เราจะเห็นได้จากการปฏิบัติของเรา เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปจากจิตใจแล้ว จะไม่มีสิ่งเหล่านี้มาดึงดูดจิตใจให้ล่มให้จมให้กดถ่วงให้ทนทุกข์ทรมานเลย สิ่งที่ฝังจมที่สุดก็คือตัวนี้แหละ ทำความวุ่นวายแก่จิตใจก็อันนี้
การฝึกจิตเพื่อจะให้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ยากที่สุด มันยากอยู่ที่จิตนี้ ยากมากต้องฝืน ถ้ารู้ว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์แล้วต้องฝืน เหมือนหนามยอกในฝ่าเท้าของเรา เราถอนหนามออกไม่ได้เพราะเราเจ็บ คนนั้นต้องยอมตายให้เท้าเปื่อยไปหมด ไม่ยอมถอนหนามเพราะเจ็บ ความเห็นแก่เจ็บเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงเหตุผลว่าเมื่อหนามฝังจมอยู่นั้นจะทำอันตรายแก่ร่างกายไปได้มากน้อยเพียงไร จะเกิดความเสียหายเพียงไร ไม่ได้คิดเหตุผลถึงขนาดนั้น ผู้ที่คิดเหตุผลอย่างนั้นแล้ว หนักเบาขนาดไหนต้องถอนออกให้ได้ นั่นละผู้มีเหตุผลมันต่างกัน ว่าเจ็บแล้วก็หยุดเสีย ๆ ผู้นั้นละผู้จะได้เจ็บตลอดไป
นี่ก็เหมือนกัน การฝึกหัดอบรมจิตใจ ให้เทียบเคียงเหตุเคียงผลซิ เราไม่ต้องไปคำนึงคำนวณว่าเราได้เคยเกิดมาหรือไม่เคยเกิดมาในชาติใดภพใด หรือพึ่งมาเกิดเป็นมนุษย์ชาติเดียวนี้ เราอย่าไปคิดให้เสียเวลา เอ้า ฟาดลงไปเรื่องข้อปฏิบัติมีมากน้อยเพียงไร พระพุทธเจ้าสอนแล้วด้วยความจริงทุกอย่าง เกิดพระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องความเกิด สาเหตุให้เกิดคืออะไรพระพุทธเจ้าก็สอนแล้วเราสงสัยที่ตรงไหน
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ, วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เรื่อยไปเลย จนกระทั่งเป็นรูปเป็นนามขึ้นมานี้เพราะอวิชชาเป็นต้นเหตุ นี่ท่านก็บอกอยู่แล้ว เราพิจารณาลงไปซิ อวิชชาอยู่ที่ตรงไหนมันจึงพาให้เกิดเสมอ อวิชชากับใจเป็นเพื่อนกันอย่างสนิทมิตรสหาย อย่างแน่นแฟ้นทีเดียว ไม่สามารถที่จะทราบได้อย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องถากต้องถางเข้าไปหาองค์กษัตริย์คืออวิชชา ซึ่งเป็นจอมไตรภพนั่นแหละ ได้แก่อวิชชา พิจารณาลงไป ถากถางลงไปตั้งแต่การพิจารณา
ให้ทำความสงบใจ เวลาจะภาวนาให้ใจสงบเอาสงบให้ได้ เราเป็นนักบวชเราเป็นนักปฏิบัติ ทำไมทำใจให้สงบไม่ได้มีอย่างเหรอ มันจะฟุ้งไปไหน มันฟุ้งขนาดไหน เครื่องมือ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทน ฟาดกันลงไปทุ่มกันลงไปเราอย่าไปถอย พระพุทธเจ้าได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเพราะธรรมเหล่านี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่เรียกว่า พละ ๕ กำลัง ๕ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่ ฉันทะ พอใจที่จะแก้ที่จะถอดจะถอน วิริยะ เพียรเสมอไม่ถอย จิตตะ ไม่ให้จิตห่างเหิน ไม่ให้สติห่างเหินจากหน้าที่การงานของตน วิมังสา ทำอะไรอย่าให้ขาดปัญญา พิจารณาใคร่ครวญเสมอ นี่เรียก อิทธิบาท สิ่งที่สมตามความมุ่งหมายก็คืออิทธิบาท ๔ ถ้าเราไม่สามารถใครจะสามารถ เราถอนทุกข์ไม่ได้จะให้ใครมาถอนให้เรา เราต้องคิดถึงเรื่อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ซึ่งเป็นธรรมจริงร้อยเปอร์เซ็นต์หรือความจริงสุดส่วน สุดท้ายเราต้อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
การประพฤติปฏิบัติครูบาอาจารย์พูดแนะนำสั่งสอนได้ ดังพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา การประกอบความพากเพียรเพื่อถอนตนให้พ้นจากทุกข์นั้น เป็นเรื่องของท่านทั้งหลายทำเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้แก้กิเลสให้ นั่นฟังซิ เมื่อได้อุบายจากท่านแล้วก็นำอุบายนั้นเข้าไปช่วยตัวเอง
หนักก็หนัก เบาก็เบา เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่ต้องถอย ชื่อว่านักรบไม่ใช่นักหลบ นักหลบเป็นอย่างหนึ่งนักรบเป็นอย่างหนึ่ง ถ้ายากมีแต่หลบ ๆ ใช้ได้ยังไง หลบหน้ากิเลสจะหลบไปไหน กิเลสอยู่ที่หัวใจ ฟาดกันให้มันแหลกไปเป็นไร หลบไปไหนก็ไม่พ้นกิเลส ถ้าลงหลบแล้วต้องตายเพราะกิเลสทั้งนั้นแหละ ถ้าสู้กิเลสแล้วกิเลสมีวันตาย เราจะเอาแบบไหน นี้อุบายวิธีแก้ไขตนเอง พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์ซิ
ยิ่งเวลามันจนตรอกจนมุมมันฉลาดเอง เพราะมันหาทางออกนี่คนเรา อยู่เฉย ๆ ก็มีแต่กินแล้วนอน กอนแล้วนินอยู่นั้นไม่ได้ประโยชน์ สติปัญญาไม่เกิด เวลาจนตรอกจนมุมมันเกิด หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเจ้าของ ถึงเรียกว่าปัญญา ต้มแกงกินไม่ได้นอกจากจะมาใช้ในสิ่งที่ควรแก่ตน แก่ฐานะของตนเท่านั้นเอง ปัญญามีฐานะทางพิจารณาสอดส่องมองดูเหตุผลดีชั่ว หรือควรจะปลดเปลื้องแก้ไขด้วยวิธีหรือด้วยอาการใด นี่คือเรื่องของปัญญา สติเป็นผู้ควบคุมงาน ให้ทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอในการประกอบความพากเพียร
ไม่มีอะไรจะสงสัยเรื่องเกิดเรื่องตาย ออกจากภพนี้จะต่อไปภพหน้าอีก อวิชชาพาให้ไป นี่ละความจริงเป็นอย่างนี้ เรียนเข้าให้ถึงเราจะได้รู้ว่าอวิชชาเป็นตัวกงจักรสำคัญ ถ้าไม่เห็นแล้วงมเงาอยู่นั่นละ ตัวเกิดมาก็เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ๆ มันสูญไปไหน พูดเรื่องสูญ ๆ ด้วยความมืดดำกำตาต่างหาก มืดบอดต่างหาก ไม่ใช่พูดด้วยความรู้ด้วยปัญญา ได้พิจารณาเห็นตามความจริงแล้วมาพูดดังพระพุทธเจ้านั้น หาที่ค้านไม่ได้ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เรื่อย พออวิชชาดับเท่านั้นสิ่งเหล่านั้นดับ ๆ ไปเลย นิโรโธ โหติ ดับสนิทหมดไม่มีอะไรเหลือ นั่นฟังซิ สุดท้ายท่านก็สรุปความว่า จตฺตาริ อริยสจฺจานิ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ, สมุทัย อริยสจฺจํ, นิโรโธ อริยสจฺจํ, นิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ นี่คืออริยสัจ อวิชฺชาปจฺจยา อยู่ที่ไหนเวลานี้
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ที่ดวงใจของเรานี้อยู่ที่ไหน นี้ละอริยสัจอยู่ที่ตรงนี้ เรียนอริยสัจให้มันถึงซิ เมื่อถึงแล้วก็รู้เรื่องภพเรื่องชาติ จะไม่พ้นไปจากดวงจิตที่กลมกลืนกับอวิชชาพาให้เกิดให้ตาย ภพน้อยภพใหญ่อยู่ไม่หยุดไม่ถอยนี้ รู้อย่างเด่น ๆ อยู่ภายในหัวใจนี่ เวลาตัดขาดจากกันพังทลายลงไปไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่จิตบริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วไม่ต้องไปถามพระพุทธเจ้าอีก ถามทำไมความจริงเป็นอันเดียวกัน เหมือนกันถามกันทำไม
ยกตัวอย่างเช่น พระอัญญตรภิกขุ กำลังจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องอวิชชานี่ ธรรมะขั้นสูงแล้วละเอียดพอแล้ว พอขึ้นไปจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าไปเห็นฝนตก พอดีไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎีก็ฝนตก ก็พิจารณาอยู่นั่น เรื่องสังขารกับเรื่องน้ำที่กระทบกันตั้งเป็นฟอง ๆ ขึ้นมาแล้วดับไป ๆ ไม่มีอะไร แล้วก็มาเทียบเรื่องความคิดความปรุง ปรุงดีก็ดับ ปรุงชั่วก็ดับ ปรุงเรื่องอะไร ๆ ดับ ๆ เกิดขึ้นมาจากไหน อันใดเป็นสาเหตุที่พาให้ผลักดันสังขารเหล่านี้ให้คิดให้ปรุงอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ค้นลงไป ๆ ก็เจออวิชชาซิ พอเจอแล้วก็สะดุดพับเดียวเท่านั้น อวิชชาขาดกระเด็น เลยไม่ทูลถามพระพุทธเจ้า กลับไปกุฏิเฉยเลยอย่างสบายหายห่วง นั่นละความจริงเป็นอันเดียวกัน
ถามพระพุทธเจ้าก็จะได้อะไรมา ไม่ได้ประมาทพระพุทธเจ้านะ ความจริงพระองค์สอนไว้แล้วทุกแง่ทุกมุม สนฺทิฏฺฐิโก จะพึงเห็นเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะพึงรู้โดยลำพังตนเอง โดยเฉพาะผู้ปฏิบัตินั้นเท่านั้น เเน่ะ ก็บอกไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาถามตถาคต เพราะความจริงประกาศสอนไว้แล้วทุกแง่ทุกมุมให้รู้ ดังพระสารีบุตรท่านพูด พระตาบอดหูหนวกก็หาว่าท่านดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธเจ้า ว่าเราเชื่อความจริงเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าให้ยิ่งกว่าความจริงว่างี้ ความจริงใดถ้าเรายังไม่ถึงเสียก่อน ความเชื่อนั้นก็ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะเชื่อพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนอย่างไรก็ตาม ความเชื่ออันนั้นก็เป็นความเชื่อคาดคะเนเดาเอา ยังไม่ถึงความจริงแล้วไม่จัดว่าเป็นความเชื่อที่เต็มตัว
พระสงฆ์ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ตาบอดปุถุชนจะว่าไง ว่าพระสารีบุตรว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็รับสั่งมาให้เข้าเฝ้า การรับสั่งพระพุทธเจ้ามีความหมายนี่ ไม่ใช่ว่าพระองค์ไม่เชื่อพระสารีบุตร ว่าทำไมจึงมีทิฐิมานะกับเราอย่างนี้ พระองค์ไม่มีอย่างนั้น อาศัยเหตุนี้เท่านั้น รับสั่งให้พระสารีบุตรเข้ามาเฝ้า และทรงรับสั่งถาม ไหนพระสารีบุตรได้ทราบว่าเธอไม่เชื่อเราจริงไหม จริงพระเจ้าข้า ไม่เชื่อเราเพราะเหตุใด นั่นฟังซิพระพุทธเจ้าถามหาต้นเหตุ ไม่เชื่อในเรื่องหลักธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ข้าพระองค์เชื่อด้วยเพียงความด้นเดาเท่านั้นยังไม่ถึงความจริง ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้ประพฤติปฏิบัติเห็นตามความจริงแล้ว ข้าพระองค์เชื่อความจริงนี้อย่างเต็มใจ การเชื่อพระพุทธเจ้าก็เชื่ออย่างเต็มใจเต็มหัวใจคราวนี้ เอาละถูกต้องแล้วสารีบุตร ธรรมเราตถาคตสอนไว้เพื่ออย่างนั้น
ในธรรมขั้นละเอียดก็อย่างที่ทรงแสดงแก่กาลามชน คือแสดงยกกาลามสูตรขึ้นมาแสดงแก่กาลามชนว่า อย่าเชื่อตำรับตำรา อย่าเชื่อครูบาอาจารย์ที่ถือว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ อย่าเชื่อคนที่ถือว่าควรเชื่อได้ แล้วก็อย่าเชื่อนั้นเชื่อนี้ อย่าเชื่อไปเรื่อยให้เชื่อตัวเอง แน่ะ สุดท้ายแล้วให้มาเชื่อตัวเอง ก็หมายถึงธรรมบทนี้เอง แต่ทีนี้ผู้ที่ฟังผู้ที่อ่านทั้งหลายไม่ได้คิดถึงธรรมบทนี้ เพราะไม่เคยเห็นธรรมบทนี้ ไม่เคยรู้ธรรมบทนี้ประจักษ์ใจ เลยหาว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อตำรับตำราแล้วจะสอนโลกไปทำไม ก็ตำรานี้ก็ว่าเป็นตำราที่ถูกต้อง เรียกว่าสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว จารึกลงในคัมภีร์ใบลานก็ดี สอนคนก็ดี ก็สอนเพื่อให้เข้าถึงความจริง แล้วทำไมไม่ให้เชื่อตำรา นี่คิดไปอย่างนั้นเสีย ที่ว่าไม่ให้เชื่อตำราก็หมายถึงธรรมขั้นนี้ต่างหาก ไม่ให้เชื่อครูเชื่ออาจารย์แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้เชื่อ ในธรรมขั้นนี้ให้เชื่อตัวเอง ด้วยความรู้ความเห็นของตนเองนั้นจึงเป็นที่ไว้ใจตนเองได้อย่างสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าทรงรับรองได้เพราะเรารับรองเราแล้ว ด้วยความสมบูรณ์บริสุทธิ์เต็มที่ นั่นเอาตรงนี้ต่างหาก
เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้วตัวเองต้องเชื่อตัวเอง จึงเรียกว่า ปจฺจตฺตํ เวฯ หรือ สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเอง เชื่อตนเองได้เป็นอันดับหนึ่ง เชื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายซึ่งเป็นแนวทางที่จะให้เข้ามาถึงธรรมขั้นนี้นั้นเป็นอันดับสอง เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้วอันนี้เป็นอันดับหนึ่ง นี่ละที่แสดงในกาลามสูตรแก่กาลามชน พระองค์ทรงหมายถึงอันนี้ เราจะเห็นได้เวลากาลามชนฟังเทศน์ สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมายก่ายกอง ก็เพราะเขาสมควรแก่ธรรมขั้นนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอย่างนี้ ไม่ใช่สอนแบบสุ่มแบบเดา คนตาสีตาสาไม่รู้อะไร ๆ ไม่มีอุปนิสัยพอที่จะรู้แจ้งเห็นจริงกับธรรมที่พระองค์สอนในขั้นนี้ แต่พระองค์สอนแบบด้นเดาอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เราดูผลที่พระองค์สอนซิ พวกกาลามชนทั้งหลายนั้นได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมากน้อยเพียงไร มันก็เหมาะสมกับธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนอย่างนี้
นี่ก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่สั่งสอนแล้ว ทำลงไปให้มันเห็นความจริงในตัวเอง เมื่อเห็นความจริงในตัวเองอันใดแล้วมันจะปล่อย ๆ หมดกังวล ๆ ไปเลย อย่าลืมว่ากิเลสเป็นภัยต่อเราอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถทุกอาการแห่งความเคลื่อนไหวของจิตที่คิดออกมาเพื่อสิ่งใด ส่วนมากถ้าไม่มีสติจะมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น ทำงานทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนและทุกขณะจิต ถ้ามีสติปัญญาห้ำหั่นกันอยู่ตลอดเวลาแล้ว นั้นละธรรมทำงานแล้วที่นี่ ไม่ใช่กิเลสทำงาน ธรรมทำงานเพื่อมรรคเพื่อผลแล้วถอดถอนกันได้โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถอดถอนได้โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ
เอาให้จริงจังนักปฏิบัติ อย่าท้อถอยอย่าอ่อนแอไม่ใช่เรื่องของธรรม พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกทีเดียวที่เป็นตัวอย่างของโลก ทั้งความพากเพียรทั้งความอดทน ทั้งความเฉลียวฉลาด ทั้งความเป็นนักต่อสู้ไม่ใช่นักล่าถอย เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตแม้ไม่เห็นองค์พระศาสดาก็ตาม ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโนโหติ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ชื่อว่าผู้นั้นบูชาเราตถาคตด้วยการปฏิบัติ และเป็นผู้เดินตามตถาคต ไม่จำเป็นจะต้องให้ตถาคตพาเดิน ว่าเดินก่อนเดินหลังไม่สำคัญ เช่นพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานไปแล้ว ไม่เห็นมีความสำคัญอะไรกับความนานไม่นาน เป็นกาลเวลาซึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่งต่างหาก
การปฏิบัติตามหลักแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นธรรมศูนย์กลางเหมาะสมกับการแก้กิเลสทุกประเภท ให้ถูกต้องเหมาะสม นี้แลเป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้าโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นตามเสด็จพระพุทธเจ้าได้ทันท่วงที ใครสิ้นกิเลสเมื่อไรก็ผู้นั้นแหละได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเต็มองค์ เห็นตถาคตเต็มองค์
ดังธรรมท่านว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็หมายถึงสัจธรรมนี้ เริ่มเห็นในเบื้องต้นตั้งแต่สมาธิไปก็เริ่มเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว สมาธิขั้นหนักลงไปก็เริ่มเห็นชัดขึ้น ปัญญาก็ดำเนินทางปัญญา ก็เริ่มเห็นพระพุทธเจ้าเข้าเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัญญาเต็มภูมิ ถอดถอนกิเลสออกหมดโดยสิ้นเชิง เห็นพระพุทธเจ้าเต็มพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ใช่รูปร่าง อันนี้เป็นเรือนร่างของพุทธะ ของพระพุทธเจ้าอันแท้จริงต่างหาก ซึ่งเป็นเหมือนกับพวกเรา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ องค์พุทธะแท้ ๆ คือความบริสุทธิ์ในพระทัยของพระองค์ นั่นละที่ว่าเห็นตถาคตเห็นที่ตรงนั้นไม่ใช่เห็นที่ตรงไหน
เอาละพูดไปพูดมารู้สึกเหนื่อย ๆ
พูดท้ายเทศน์
เราภาวนาไม่ยุ่งแหละที่นี่ พอไม่ยุ่งเท่านั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ มันก็ตั้งหน้าทำงาน เป็นอีก พอเผลอ ๆ มันก็เป็นอีก เผลอเริ่มไปยุ่งอีกแล้ว ขยับอีกเป็นบ้าเข้าอีก จะเอาให้เป็นอย่างนั้นอีก ๆ เลยจิตไปยุ่งอยู่โน้นเสียไม่เข้าทำงานตามหลักความจริง มันก็ไม่ได้เรื่อง
เพราะฉะนั้นเวลาออกปฏิบัติ คราวนี้จะไม่เอาอะไร มีหนังสือปาฏิโมกข์เล่มเล็ก ๆ ปาฏิโมกข์พก หนังสือพกเหมือนปฏิทินพก ติดย่ามอันเดียวเท่านั้นเอง ทีนี้จะเอากันละ จิตดวงนี้เอาให้ได้เราเห็นมา ๓ หนแล้วนี่ เร่งใหญ่เลยทั้งวันทั้งคืน แต่ดีไม่มีงานอะไรมายุ่งเหยิง ตั้งแต่เราเริ่มปฏิบัติมาเป็นเวลา ๙ ปีเต็ม ๆ นี่เรียกว่าตะลุมบอนกันเลยเทียว ไม่มีงานอะไรมายุ่งเราได้เลย มีแต่หน้าที่ภาวนาอย่างเดียว ไม่ไปอยู่กับวัดที่ไหนที่ท่านก่อสร้างเลย เพราะเราไม่ชอบมันขาดงานเรา ประกอบกับนิสัยเราเป็นอย่างนั้น ถ้าทำอะไรทำอย่างนั้นจริง ๆ พอปล่อยแล้วปล่อยจริง ๆ
ตะลุมบอนกันเข้าไม่นานนะ ประมาณเดือนกว่าเท่านั้นแหละได้หลักจิตเลย ทีแรกก็ได้บ้างเสียบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้างเรื่อย ๆ ต่อไปก็ได้ ๆ ๆ ได้ทุกคืน ได้ทุกวันทุกเวลา จนแน่วแน่จิตแน่นปึ๋งเป็นสมาธิ แล้วก็รักษาไม่ได้รักษาไม่เป็น ไม่รู้วิธีรักษา เผลอตัวมาทำกลดหลังหนึ่ง พอทำกลดยังไม่เสร็จจิตเข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง เผ่นเลยพอทำกลดเสร็จ ถึงขนาดนั้นมันยังเสื่อมลงไป ๆ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือในตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟ ร้อนไม่มีใครที่จะร้อนยิ่งกว่าผู้ปฏิบัติ ซึ่งเคยได้ผลมาแล้วแต่เสื่อมไป เทียบแล้วเหมือนกับคนที่มีเงินเป็นจำนวนล้าน ๆ แต่ได้ล่มจมเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้เงินอยู่ในธนาคารที่ฝากเอาไว้ หรืออยู่ในบ้านในเรือนมีเป็นแสน ๆ ก็ตาม เงินเหล่านี้ไม่มีความหมายเลย มันไปมีความหมายอยู่กับเงินที่สูญหายไปแล้วโน้น นั้นละที่ทำให้คนนั้นเสียอกเสียใจจนแทบเป็นบ้าไปได้
ถ้าจิตไม่เคยเป็นอะไรเลย ไม่เคยมีสมาธิ ไม่เคยเป็นอะไร อยู่ตามประสีประสา มันก็เหมือนกับชาวบ้านเขาที่ไม่มีเงินถึงหมื่นถึงแสนก็ตาม เขาก็มีความสุขยิ่งกว่าคนที่มีเงินเป็นล้าน ๆ แต่ล่มจมไปเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งนั้นมากมาย เขามีความสุขกว่ากันอยู่มากนะ ทีนี้ผู้ที่ภาวนายังไม่เคยเห็นจิตได้รับความสงบ ได้เป็นหลักเป็นฐานพอเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอบอุ่นจิตใจ ให้เกิดเป็นความอัศจรรย์ของใจ จะอยู่ยังไงก็อยู่ได้ ความเพียรก็ขี้เกียจ ไม่อยากทำความพากความเพียร ขี้เกียจ เพราะยังไม่เคยเห็นผล พอได้ปรากฏผลแล้ว ความเพียรก็ขยับเข้า ๆ แต่ถ้ารักษาไม่เป็นมันก็เสื่อมอย่างที่ว่าละ
ความเสื่อมนั้นแหละทำให้เราประจักษ์ใจจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่จืดไม่จางเลย เสื่อมจนขนาดที่ว่าไม่มีอะไรเหลือเลย เพียงเข้าได้สงบบ้างไม่สงบบ้างรีบออกไป มันเอาเสียจนไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่สงบจะว่าไง ทีนี้มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจ เพราะเสียดายจิตดวงนั้น เป็นปีนะไม่ใช่เล่น ๆ มันเสื่อมลงไปไม่นาน แต่เวลามันเสื่อมลงไปตั้งปีมันก็ไม่ฟื้นให้ บทเวลาจะฟื้นก็เพราะยกอารมณ์ปัจจุบัน ภาวนาแต่พุทโธเท่านั้น จิตจะเสื่อมไปไหนเสื่อมไปเถอะ เราได้วิงวอนเราได้ขอร้องพอแล้ว ความห่วงใยเสียดายก็แทบเป็นแทบตายก็ไม่เห็นได้ผลอะไรเลย คราวนี้ปล่อยทิ้ง เอ้าจะเสื่อมก็เสื่อมไปแต่พุทโธเราจะไม่ละ
เราชอบพุทโธเราภาวนาพุทโธไม่ยอมปล่อย อยู่ที่บ้านนาสีนวน ตะวันออกวัดดอยธรรมเจดีย์ อยู่กับท่านอาจารย์มั่น มาพักอยู่วัดร้างกับเขา ๓ องค์ เร่งภาวนาพุทโธ ตอนนั้นท่านไปเผาศพท่านอาจารย์เสาร์ให้เราเฝ้าวัด เราก็ยิ่งสนุกเร่งความเพียร เอ้าเสื่อมก็เสื่อมไป คราวนี้เรียกว่าทอดอาลัยตายอยากหมดแล้ว จะเอาแต่พุทโธ เสื่อมก็ไม่ปล่อยพุทโธ ไม่เสื่อมก็ไม่ปล่อยพุทโธ เจริญแค่ไหนก็ไม่ปล่อยพุทโธที่นี่ เราเคยปล่อยไปแล้วต้องการอะไรไม่ได้ มีแต่พุทโธเท่านี้อยู่ทุกอิริยาบถไม่ให้เผลอ ปัดกวาดลานวัดลานวาทำอะไรมีแต่พุทโธนี้ติดแนบอยู่นี้ ทีนี้มันก็ค่อยสงบเข้า ๆ ก็ลงได้ที่นี่ จิตสงบลงแน่ว พอถอนขึ้นมาก็เอาอีก พุทโธอัดเข้าไป ๆ ไม่ถอย เอ้าจะเสื่อมไปไหนก็เสื่อม จนกระทั่งจิตขึ้นถึงขนาดที่เคยเป็นนะ เอ้ามันจะเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็ปล่อยมัน ไม่เสียดายไม่เสียใจไม่ดีใจกับความเสื่อมความเจริญขึ้น แต่พุทโธจะไม่ยอมปล่อย
จึงได้พุทโธไม่ถอย มันเลยไม่เสื่อมที่นี่ เราถึงรู้ว่า อ๋อ นี่เป็นเพราะจิตไปคาดหมายสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนต่างหากถึงได้เป็นอย่างนั้น ทีนี้พอตั้งหน้าทำงานกับพุทโธนี่ จิตไม่เผลอจากหลักที่จะให้เจริญ มันก็เจริญขึ้นมาได้ รู้แล้วที่นี่ หลังจากนั้นก็เอากันอย่างหนัก โห ไม่ทราบเป็นยังไงมันโมโหเจ้าของ เคียดแค้นให้เจ้าของ ถ้าหากว่าเป็นแบบฆราวาสหรือเป็นอะไร ถ้าลงได้เคียดแค้นให้คนถึงขนาดนั้น ยังไงก็ต้องฆ่าคนแน่ ๆ นี่ละความเคียดแค้นมันถึงขนาดนั้นนะ
พอได้ที่แล้วเอากันหนักเลย เอาซิคราวนี้ เร่งกันใหญ่เลย เป็นก็เป็น ตายก็ตายไม่เสียดายชีวิตนี้ เพราะเคยทุกข์เพราะความเสื่อมของจิตนี้มาเป็นเวลานานแล้ว และเห็นประจักษ์เข็ดหลาบที่สุดแล้ว หากจะเสื่อมคราวนี้ขอให้ตายเสียเลยดีกว่า ตายไปพร้อมกันกับความเสื่อม ดีกว่าที่จะมายังเป็นมนุษย์แบกไฟสุมอยู่ภายในหัวใจนี้อีก
จึงเป็นเหตุให้คิดถึงพระโคธิกะที่ท่านเจริญฌานแล้วเสื่อม ๆ ถึง ๕ หน หนที่ ๖ คิดว่าจะฆ่าตัวตาย เข้าได้ที่นี่ อันนี้เข้ากันกับเราได้เลย เพราะมันเสียใจขนาดหนัก แต่สุดท้ายพระโคธิกะท่านก็เป็นพระอรหันต์ ท่านพิจารณาปลงตกตอนจะฆ่าตัวเอง เลยปลงตกตอนนั้น ได้บรรลุพระอรหันต์ขึ้นมาเลย เราถึงได้เข็ด แต่นั้นมาจึงไม่เสื่อมเลยที่นี่ เสื่อมไม่ได้ ความระมัดระวังรักษาตัวเองนี้เป็นยอดของตัวเองพูดง่าย ๆ คือมันเข็ด ความเข็ดนั่นละพาให้ไม่นอนใจ
ไปอยู่ที่ไหนไม่สะดวกในความเพียรหนีทันที ๆ ไม่เอาใครมาเป็นอารมณ์ ไม่เกรงอกเกรงใจใครทั้งนั้น นิมนต์ไปฉันที่ไหนไม่ไป ไม่มีใครมาช่วยเรา เวลาเราจมลงไปไม่เห็นมีใครช่วย เราเคยจมมาแล้วหนหนึ่งแล้วเป็นเวลาตั้งปี เอานี้เป็นหลักนะ ใครนิมนต์ฉันในบ้านในเรือนที่ไหนไม่ยอมรับเลย เอาถึงขนาดนั้น จากนั้นมันก็เรื่อย ๆ จิตแน่นเหมือนกับหินเทียว เรื่องสมาธินี่เต็มที่ถึง ๕ ปีเต็ม ๆ ๕ ปี ๖ ปีนี้ละ ๖ ปีไม่เต็มนัก แต่ ๕ ปีนี่เต็ม จิตเป็นสมาธิเข้าได้ทุกเวลา อยู่ที่ไหนมันเป็นสมาธิอยู่แล้ว จำเป็นอะไรเข้าหรือไม่เข้า มันเป็นเหมือนกับหินอยู่แล้ว คือความมั่นคงของจิตในฐานสมาธิ ชัดเจ้าของ
จากนั้นถึงได้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านอาจารย์มั่นนี้เขกเอาอย่างหนักถึงเรื่องการพิจารณา ถึงได้ออกพิจารณา พอออกพิจารณานี้ก็รวดเร็วเพราะสมาธิพร้อมแล้ว พอออกพิจารณาก็หมุนติ้ว ๆ เลย คราวนี้มันก็เหมือนกันอีก เป็นไฟไปเลยเรื่องสติปัญญา ทำความเพียรลืมหลับลืมนอน จนนอนไม่ได้ ๒ คืน ๓ คืนก็มีแทบเป็นแทบตาย อันนี้มันเป็นไปด้วยความเพลินในความเพียร ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กลางวันก็เดินจงกรม เลยไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ค้นพิจารณาตลอดเวลา แดดเปรี้ยง ๆ นี้ โอ้โห ไม่หนีไม่รู้สึกว่าร้อนอะไร ใจไม่ได้ส่งมาหาดินฟ้าอากาศ นั่นเรื่องความเพียรเป็นอย่างนั้นนะ
เบื้องต้นมันลำบากให้เอาให้ดี เอาลงไป สู้นักสู้ ตายก็ตาย ตายเพื่อบูชาธรรมเป็นไรไป เรามีชีวิตอยู่ร้อยปีพันปีได้บูชากิเลสไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ตายด้วยการบูชาธรรมนี้เลิศ เอาตรงนี้เป็นหลักใจ เอาให้เห็นซิความจริงอยู่ภายในจิตทุกองค์ ว่านิพพาน ๆ จะอยู่ที่ไหน ขอให้จิตบริสุทธิ์เถอะรู้เองไม่ต้องไปถามใคร นิพพานคืออะไรก็รู้เอง อย่าไปตื่นเงา
เอาลงในองค์สัจธรรม ตัวไหนเป็นตัวสำคัญมากในวงสัจธรรม ที่มันปิดอย่างมิดชิดมืดแปดทิศแปดด้าน คือตัวสมุทัย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เรื่องของสมุทัยทั้งนั้น ความคิดความปรุงออกมาจากสิ่งนี้เป็นผู้ผลักดันให้คิดให้ปรุง จึงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเส้นเป็นสายยาวเหยียดไปตั้งแต่เส้นสมุทัย แล้วก็มาพันเจ้าของ ๆ ให้เป็นฟืนเป็นไฟ ไม่เข็ดหลาบเหรอ ความทุกข์ร้อนเพราะกิเลสตัณหาเผาลนตัวเอง ความทุกข์เพราะประกอบความเพียรทุกข์เพียงร่างกาย ด้านใจมีความกระหยิ่มต่อธรรมนี้ เป็นนักสู้สู้มันไปเราอย่าไปถอย ถึงขั้นจะถึงหนองอ้อมันอ้อจนได้ คำว่าหนองอ้อก็หมายถึงว่า อ้อภายในจิตนี้เองจะอ้อที่ไหน อ้ออย่างนี้เหรอ ๆ ความจริงแต่ละขั้น ๆ แสดง อ้ออย่างนี้เหรอ นั่นมันรู้เอง ชัดเอง ๆ
นี่พูดถึงเรื่องที่ว่าจิตเสื่อม ๆ นี่ก็เหมือนกัน พอเวลามันถึงขั้นมันปั๊บแล้ว เอ้ออย่างนี้ซิไม่เสื่อม รู้เลยทันทีนะ ไม่มีใครบอกก็ตามรู้ชัด ตอนที่จะรู้ก็เอากันขนาด..เอากันอย่างนั่งหามรุ่งหามค่ำนี่แหละ ตอนจะได้หลักเกณฑ์อย่างประจักษ์นะ อ้ออย่างนี้เหรอไม่เสื่อม นั่นแน่จริง ๆ มันรู้ชัด ทางนี้ก็ปีนขึ้นไป ๆ แล้วตกลงมา ปีนไปตกลง ปีนไปตกลงมา คือมันเสื่อม มันเจริญอยู่ตามขั้นของมัน ขั้นหยาบก็เสื่อมตามความหยาบของขั้น ขั้นละเอียดก็เสื่อมเจริญ ๆ ตามขั้นละเอียดนั่นแหละ ของธรรมไม่ใช่เสื่อมแบบขั้นต่ำ หากรู้ สติปัญญาทำไมจะไม่รู้ มันไม่ถนัดเดี๋ยวก็เจริญขึ้นเสื่อมลง ๆ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงกันไปกันมา พอได้ที่ปั๊บติดกึ๊ก เออต้องอย่างนี้ แน่ะมันเป็นอย่างนั้นนะ แต่อย่ามาคาด ที่พูดอย่างนี้ให้เป็นหลักธรรมชาติของตัวเอง อย่าไปคาดไปหมาย อย่าคาดหมายเป็นอันขาด ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมคาดหมาย เป็นผลของการปฏิบัติต่างหาก ให้เร่งทางด้านปฏิบัติ
การพูดว่าเอ้อไม่เสื่อมนี้เป็นผล อย่ายึดอันนี้ไปเป็นอารมณ์จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินของตน งานที่ควรจะทำให้เป็นไปเพื่อขั้นนั้น ๆ จะไปไม่รอด ต้องได้บอกไว้เสมอ นิสัยของผู้ใดเป็นยังไงก็ตาม เรื่องสมาธิความสงบของจิต สงบยังไงให้รู้ในตัวเอง อย่าไปยึดเอาของใครมาเป็นสมบัติของตัว อย่าไปเอาอย่างใครทั้งหมด ลงเราได้ทำองค์สมาธิโดยถูกต้อง เช่นเรากำหนดนี้ด้วยสติในธรรมบทใดที่เหมาะสมกับเราแล้ว เราพิจารณาอย่างไรที่ตรงกับจิตของเราแล้ว ให้ดำเนินอย่างนั้นไป ผลเกิดขึ้นมาอย่างไร เราไม่ต้องไปเอาเรื่องของคนอื่นเข้ามาเป็นสมบัติของตัว จะมาเป็นการทำลายนิสัยตัวเองแล้วจะไม่ได้ผล
ท่านอาจารย์มั่นนี่ไม่มีใครสอนท่าน ท่านบึกบึนโดยลำพังท่าน แทบล้มแทบตาย ทุกข์มาก ท่านทุกข์มากกว่าเราเป็นไหน ๆ เพราะทางไม่เคยเดิน ไม่มีใครบอกใครสอน เรานี่มีครูบาอาจารย์ท่านคอยแนะนำสั่งสอน ท่านอาจารย์มีท่านอาจารย์มั่นเป็นต้น ท่านอธิบายวิธี...รู้เรื่องรู้ราว ท่านเองไม่มีใครอธิบาย ท่านก็อุตส่าห์บึกบึนท่านจนผ่านพ้นไปได้ นี่เราก็มีผู้แนะนำสั่งสอนอยู่แล้ว มีแต่หน้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น
เอาให้จริงให้จัง ฝึกหัดนิสัยให้จริงให้จังอย่าเหลาะแหละ พระไม่ใช่นิสัยเหลาะแหละ เพราะพระเป็นแนวหน้า ถ้าพูดถึงการรบก็ออกแนวหน้า เหลาะแหละอยู่ได้เหรอ เอาให้จริงให้จัง อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็นความจริง มีแต่เราสอนคนเดียวมันเหมือนกับหาเรื่องมาโกหกหมู่เพื่อนเล่นเปล่า ๆ ให้เห็นความจริงนะ อยู่ในใจนี่แท้ ๆ ไม่อยู่ที่ไหน ขอให้ความเพียรให้พอเถอะจะเห็นเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าสมาธิ ไม่ว่าขั้นปัญญา จะฉลาดแหลมคมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงหมุนตัวไปเอง ถ้าลงขนาดนั้นแล้วแหลมคมแน่ ๆ ไม่สงสัย อะไรผ่านมาพับรู้ทันปั๊บ ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจให้รู้ก็รู้ เพราะสังขารความปรุงขึ้นภายในจิตใจก็เท่ากับเตือนสติปัญญา ปลุกสติปัญญาให้ตื่นในระยะเดียวกัน
ปรกติสติปัญญาก็ไม่หลับอยู่แล้ว ตื่นเป็น ชาคระ ผู้ตื่นอยู่ ตื่นอยู่ในทางมรรค ท่านว่ามหาสติมหาปัญญาเรียกว่าชาคระ ความตื่นอยู่ในทางมรรค พอถึงขั้นวิสุทธิจิตแล้วเป็น ชาคระ โดยหลักธรรมชาติ ตื่นอยู่ตลอดเวลา ความหลับก็หลับไป เรื่องธาตุเรื่องขันธ์หลับไป เรื่องจิตบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา นั้นแลท่านเรียกว่าตื่นตลอดเวลา ไม่มีกาลใดที่กิเลสจะเข้าแทรกแซงได้ พอให้เห็นเป็นเงาของสมมุติแม้นิดหนึ่งภายในจิตดวงที่บริสุทธิ์นั้นเลย นั่นแหละธรรมชาติอันนั้นแล ท่านเรียกว่าชาครบุคคล นี่เป็นผล ชาครจิต หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์แล้ว ตื่นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ของตนตลอดเวลา ไม่คุ้นกับอะไรไม่ติดกับอะไร ไม่นอนใจกับสิ่งใดทั้งนั้นโดยหลักธรรมชาติ เราไม่ต้องไปบังคับว่าไม่ให้คุ้นสิ่งนั้นไม่ให้คุ้นสิ่งนี้ หากเป็นเองภายในจิต
ส่วนชาครบุคคลประเภทมรรค ก็คือว่าดำเนินอรหัตมรรค มีสติอยู่ตลอดเวลาไม่มีพลั้งมีเผลอ หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั้นโดยหลักธรรมชาติ นี้เรียกว่าชาคระในทางมรรค พอชาคระนี้เต็มภูมิแล้วก็เป็นชาคระฝ่ายผล เป็นความบริสุทธิ์ นั่นเป็นชาคระโดยหลักธรรมชาติ นั้นละที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้ตื่น ตื่นอยู่ ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ด้วยสติ ท่านบอกอีกสติ ถ้าไม่มีสติก็ไม่เรียกว่าตื่น ชาคริยบุคคล ผู้ตื่นในทางความเพียรด้วยสติ
จิตเป็นของฝึกได้ ฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาไม่ได้ สาวกเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ แล้วท่านสอนมาทำไม ท่านล้วนแล้วแต่ท่านฝึกแล้วทั้งนั้น อุบายวิธีต่าง ๆ เป็นอุบายที่ท่านได้ทรงฝึกพระองค์มาพอแล้วจึงได้มาฝึกพวกเรา จิตเป็นของฝึกได้ จิตเป็นสมบัติสองเจ้าของ เวลานี้เราจะแย่งเอามาเป็นสมบัติของเจ้าของคนเดียว ในขณะเดียวกันที่ความเพียรของเรายังไม่สามารถ มันเป็นสมบัติของกิเลสอยู่โดยตรง เวลานี้กำลังยื้อแย่งแข่งดีกัน สู้กันด้วยความพากเพียร ด้วยสติปัญญา
ใครเฉลียวฉลาดก็ได้จิตดวงนี้มาครอง เมื่อได้จิตดวงนี้มาครองก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ กิเลสเอาไปครองมีแต่สกปรกโสมมทั้งนั้น แสดงอาการออกมาในกิริยาทางจิตก็ดี แสดงออกมาทางวาจาทางกายก็ดี ล้วนแล้วแต่ออกมาจากความสกปรกโสมมของกิเลสทั้งนั้น นั่นกิเลสเป็นเจ้าของของจิต จิตเป็นสมบัติสองเจ้าของ เพราะฉะนั้นจึงแยกแยะอันนี้ ต่อสู้กันเพื่อแก้ถอดถอนกิเลสออกหมด ให้จิตนี้มาเป็นสมบัติของธรรม เป็นสมบัติของเราแต่ผู้เดียว นั้นแหละเรียกว่าถึงแดนอันเกษม
เอาละที่นี่หยุดแล้ว