องครักษ์ของอวิชชา
วันที่ 10 กันยายน 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 61.34 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

องครักษ์ของอวิชชา

 

        กิเลสมีหลายประเภท เครื่องมือที่จะแก้กิเลสก็ต้องหลายประเภท รวมแล้วเรียกว่ามัชฌิมา คือเหมาะสมกับใช้สติปัญญาความเพียร ให้เหมาะสมกับกิเลสประเภทนั้น ๆ ถ้ามันดื้อก็เอาให้หนัก สติก็ใช้อย่างเต็มที่ ความเพียรก็เอาเต็มที่ ปัญญาก็ใช้อย่างเต็มที่ ฟาดฟันลงไปให้มันแหลกอยู่กับมือเรา นี่เรียกว่ามัชฌิมา เหมาะสมกับกิเลสประเภทนี้ เวลากิเลสละเอียดลงไปมัชฌิมาก็ละเอียด คือสติปัญญาก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน เป็นความเหมาะสมกันไปเรื่อย ๆ

        เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่เป็นฟืนทั้งดุ้น แต่มีลักษณะท่าทีหมุนทันกับกิเลสทุกประเภท กิเลสหยาบปัญญาก็หนัก ปัญญาสู้กันก็ต้องหนัก ความเพียรต้องหนัก เพราะอยู่ในเกณฑ์บังคับบัญชาต้องบังคับบัญชา  ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นอัตโนมัติก็ต้องได้บังคับบัญชาเสียก่อน เพราะจิตยังไม่เห็นผลของงาน เช่นยังไม่เห็นผลของสมาธินี้ยิ่งขี้เกียจ ภาวนาไม่อยากทำ พอเริ่มเห็นผลสมาธิคือความสงบ เกิดความเย็นใจเกิดความสุข เกิดความแปลกประหลาดขึ้นมา นั้นแหละคือผล ทีนี้เกิดเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจให้มีความพากเพียรต่อไป

        พอเป็นสมาธิแล้ว ทางด้านปัญญา ผลเกิดทางด้านปัญญายังไม่มีก็ต้องได้บังคับทางด้านปัญญาให้พิจารณา ไม่อย่างนั้นติดสมาธิ ติดสมาธิแล้วถอนตัวไม่ออก เกิดเข้าใจว่าความบริสุทธิ์อยู่กับสมาธิ เข้าใจว่านิพพานอยู่กับสมาธิไปเสียแล้ว เลยกลายเป็นความเห็นผิดไป พากันเข้าใจอย่างนี้

        ถึงเวลาพิจารณาทางด้านปัญญา จะพิจารณาแยกแยะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ให้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือเป็นอสุภะอสุภัง ให้จิตจ่ออยู่นั้นกับงานไม่ลดละถอยหลัง หมุนติ้ว ๆ อยู่ สติเป็นเครื่องควบคุม อย่าคิดเรื่องอะไรทั้งหมดเวลานั้น  เป็นเรื่องอดีตอนาคตไม่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องปัจจุบันที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั้น

        เมื่อเราได้ฝึกฝนอบรมอยู่เสมอ สติย่อมมีความสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ ค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อย ๆ พอมีเหตุการณ์อะไรมาสัมผัสสัมพันธ์นี้สติจะมาทันที ปัญญาจะวิ่งตามกันปั๊บ ๆ ไปพร้อมกันสติกับปัญญา เวลาปัญญามีความชำนาญขึ้นแล้วก็เป็นอย่างนั้น สติมีความชำนาญก็ระลึกรู้ได้เร็ว เวลามีสิ่งมาสัมผัสเกิดขึ้นจากการที่เราอบรมอยู่เสมอ ย่อมมีความเจริญเติบโตขึ้นได้ เหมือนกันกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความถูกต้อง สติปัญญาก็เป็นเช่นนั้น

        พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นงานของสมณะคืองานเพื่อถอดถอนกิเลสเป็นงานสำคัญ เป็นงานฝากเป็นฝากตายเพื่อความพ้นทุกข์ งานนี้เป็นงานเพื่อความพ้นทุกข์ ถึงจะทุกข์เพราะการประกอบความพากเพียรโดยประการใดก็ตาม ทุกข์นี้เป็นทุกข์เพื่อจะให้เกิดสุข จนถึงจุดที่หมายอันเป็นความสุขอย่างยิ่ง ไม่ควรอิดหนาระอาใจ เพราะความทุกข์ยากลำบากในเหตุ คือการประกอบความพากเพียรหนักเบามากน้อย ควรเล็งถึงผลอันประเสริฐเลิศโลก เมื่อชนะเต็มที่แล้วเต็มภูมิแล้วไม่ต้องได้ยุ่งอีก

        งานนี้สำเร็จได้ ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงสำเร็จมาแล้ว พระสาวกอรหัตอรหันต์สำเร็จมาแล้ว ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องงานถอดถอนกิเลส เพราะกิเลสหมดไปแล้วเอาอะไรมาถอดถอน ก็ทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ตามวันเวลาที่มันจะดับสลายเท่านั้นเองไม่เห็นมีอะไร การมีกิเลสอยู่ภายในจิตมากน้อย ก็คือมียาพิษเผาลนจิตใจอยู่ตลอดเวลา ภายนอกก็เป็นพิษ ถ้าลงจิตใจเป็นพิษแล้วออกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันเป็นพิษด้วยกันทั้งนั้น เข้ามาคละเคล้ากันแล้วก็เป็นกองพิษอันใหญ่โต เป็นไฟกองใหญ่เผาจิตเผาใจให้ได้รับความเดือดร้อนไม่หยุดหย่อน

        นี่พึงทราบว่าโทษแห่งความมีกิเลส และโทษแห่งความไม่มีสติ โทษแห่งความไม่ระมัดระวังรักษาตัวเอง จึงสามารถไปนำสิ่งภายนอกซึ่งเขาก็อยู่ตามสภาพของเขา เอามาเป็นพิษเป็นภัยเผาลนตนเองได้ รูป เสียง กลิ่น รส เขาอยู่ตามหลักธรรมชาติของเขาซึ่งมีมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด มีมาตั้งแต่กาลไหนกาลไร ถ้าเราไม่ไปสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ สิ่งนั้นน่ารัก สิ่งนี้น่าชัง สิ่งนั้นน่าเกลียด สิ่งนี้น่าโกรธแล้วจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น เพราะความสำคัญอย่างนี้เป็นการสร้างกิเลสคือสมุทัยแดนผลิตทุกข์ขึ้นภายในจิตใจของเราเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญา สติ พินิจพิจารณาระมัดระวังรักษาตัว

        ใจเป็นของที่มีค่ามาก เวลานี้เรามารักษาบำรุงจิตใจให้แสดงคุณค่าเต็มภูมิของใจ ซึ่งเป็นของมีคุณค่ามากอยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างดับสลายไปหมด มีการเกิดการดับ ๆ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดับไปหมด ตัวจิตแท้ ๆ นั้นไม่มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปแทรกเลย แต่ที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้ก็เพราะมีกิเลสซึ่งเป็นตัวสมมุติอยู่ภายในนั้น อันเป็นเรื่องของไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน

        จิตจึงแสดงอาการลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ เดี๋ยวสว่างเดี๋ยวสงบเดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวผ่องใสเดี๋ยวเศร้าหมอง นี้เป็นอาการของธรรม อาการของกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจ เมื่อหมดสิ่งเหล่านี้แล้วจิตใจจะไม่มีแสดงอาการใด ๆ ทั้งสิ้น สม่ำเสมอหรือว่าคงเส้นคงวา ตั้งแต่ขณะได้ถึงแล้วซึ่งความคงที่ของจิต เป็นจิตล้วน ๆ อันนั้นไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หมด นั่นแหละความหมดสิ่งเขย่าก่อกวนทั้งหลายที่เรียกว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั้นละคือแดนแห่งความเกษมแท้ อยู่ตรงนั้น นี่ผลของงานจากการปฏิบัติ ยากลำบากแค่ไหนเมื่อไปถึงนั้นแล้วก็เห็นเอง คุ้มค่า

        ขอให้ทำใจหนักแน่นนักปฏิบัติ เพศนี้เป็นเพศที่อดทน เป็นเพศที่ใคร่ครวญ เป็นเพศที่พินิจพิจารณา ไม่ใช่เป็นเพศที่เหลาะแหละโยกๆ คลอนๆ เป็นเพศที่มีความหนักหน่วงไปด้วยเหตุด้วยผล เป็นเพศที่สุขุมภายในจิต มีเหตุผลเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ ฝึกใจให้มีเหตุมีผล เพราะเหตุผลนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้เฉย ๆ เหตุผลขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด เกิดขึ้นจากปัญญาขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด พิจารณาเทียบเคียง เมื่อนานไป ๆ ก็มีความคล่องแคล่ว ถ้าพินิจพิจารณาแล้วเหตุผลก็ตามกันมานั้น

        แม้การแก้กิเลสก็เหมือนกัน ต้องแก้ด้วยเหตุผล รู้ชัดเห็นจริงด้วยเหตุด้วยผลแล้วกิเลสจะหลุดลอยไปทันทีๆ ถ้าตรงไหนที่ยังลงกันยังไม่ได้ก็แสดงว่าเหตุผลยังลงกันไม่ได้ ก็แก้กันยังไม่ตก นี่ต้องแก้กันอยู่นั้น พิจารณาแยกแยะจนหาช่องทางไปได้ด้วยเหตุด้วยผล กิเลสนั้นก็ขาดไปหลุดลอยไป เรียกว่าเข้าใจชัด เมื่อเข้าใจชัดแล้วอันนั้นก็หลุดตกไปทันที ๆ การพิจารณาเป็นอย่างนี้

        อุบายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชผู้ปฏิบัติ เช่น ธุดงค์ ๑๓ นี่เป็นความละเอียดลออมากทีเดียว เรายังไม่เห็นความหมายของธุดงค์ ๑๓ เช่นการเยี่ยมป่าช้านี้ละเอียดขนาดไหน เอาตั้งแต่หยาบตั้งแต่ดูอสุภะอสุภังกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เกลื่อนกล่นอยู่ในป่าช้าแล้วเอามาเทียบเคียงกับตัวของเรา ตัวของเรานี้ก็คือป่าช้าผีดิบ นี้เป็นแต่เพียงจิตใจยังครองร่างอยู่ ลมหายใจจึงต้องเดินผ่านเข้าออกอยู่เสมอ พอความรู้สึกคือใจนั้นถอนตัวไปเสียเท่านั้นลมหายใจก็หยุดทันทีไม่มีอะไรเหลือ ทีนี้ก็เป็นป่าช้าผีตายละที่นี่ ป่าช้าผีดิบก็มีอะไรอยู่นี้ ภายในตัวของเรานี้มีอะไรอีก ศพเป็ดศพไก่สัตว์ทุกประเภทเต็มอยู่ในนี้หมด พิจารณาให้ชัด นี่เรื่องของปัญญา

        ที่ให้พิจารณาไปเยี่ยมป่าช้าก็คือให้พิจารณานั้นเสียก่อน เพื่อเป็นสักขีพยานหรือเป็นหลักฐานได้นั้นเอามาเทียบภายในตัวเอง พอเข้าใจตรงนี้แล้วก็หายกังวลหายสงสัย เรื่องป่าช้าข้างนอกนี้ก็พิจารณาตั้งแต่ป่าช้าข้างใน เอ้าพิจารณาลงไป เมื่อพิจารณารู้เท่ากายทุกสัดทุกส่วนแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ธุดงค์ข้อนี้มีความละเอียดขนาดนั้นพิจารณาซิ

        อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็น ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงสอนทั่วโลกนั้น สอนด้วยพระเมตตาจริง ๆ อยากให้สัตว์โลกได้มีความสุข ได้รู้จริงเห็นจริงจริง ๆ ไม่ได้สอนแบบปาว ๆ นะ สอนอย่างจริงจังให้เป็นที่เข้าใจ เราผู้มาปฏิบัติก็ให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่าขี้เกียจ ความขี้เกียจความอ่อนแอเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลส อย่าให้มันมาแซงออกหน้าได้ เราตั้งใจจะฆ่ากิเลส ตั้งใจชำระกิเลสอย่าได้วิ่งตามกิเลส ถ้าวิ่งตามมันแล้วก็ต้องถลอกปอกเปิก ถูกมันลากมันถูไปเรื่อย ลากไปก็ถลอกปอกเปิกไปเรื่อยจะว่ายังไง

        เบื้องต้นการพิจารณาร่างกายนี่สำคัญมาก ข้างนอกก็ตามข้างในก็ตามเป็นมรรคได้ด้วยกัน อสุภะข้างนอกเช่นอย่างการเยี่ยมป่าช้า ความปฏิกูลภายนอก ป่าช้าภายนอกป่าช้าภายในเป็นมรรคได้ คือเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน ท่านจึงให้พิจารณาอย่างนั้น เมื่อย้อนเข้ามาได้หลักฐานภายในตัวเองแล้วเรื่องเหล่านั้นก็หมดปัญหาไปเอง ที่นี่ก็หมุนตัวอยู่ภายในร่างกาย ให้เห็นจริงไปทุกส่วนของมัน เห็นอย่างเดียวเท่านั้นก็กระจายไปหมดเพราะเหมือนกัน

        หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เหล่านี้ท่านว่าอาการ ๓๒ เป็นธาตุดิน ดูอันหนึ่งนี้มันก็กระจายทั่วกันไปหมด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน มีอยู่ประจำทุกอาการเหมือนกัน ลมขึ้นเบื้องบนลมลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปพัดมา ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ นี่ท่านเรียกว่าธาตุลม ธาตุไฟคือความอบอุ่นที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ธาตุน้ำก็ซึมซาบอยู่ตามสรรพางค์ร่างกายของเรา เช่นน้ำเหงื่อเป็นตัน ในร่างกายของเรานี้มีน้ำซึมซาบอยู่ทั่วไปหมด

        ทั้ง ๔ นี้มารวมตัวกันเข้า โดยอาศัยจิตมาจับจองเป็นเจ้าของ มาเป็นเครื่องประสาน มาเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ ส่วนต่าง ๆ นี้จึงเป็นเหมือนว่าเป็นผู้รู้เป็นผู้มีวิญญาณขึ้นมา เราจึงเรียกว่าคน แล้วก็ติดคำว่าคน ไม่ได้คิดคำนึงเลยว่าคำว่าคนนี้มาจากธาตุอะไร มาจากธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ มันเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟต่างหากไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ถ้าพิจารณาให้ถึงความจริงตามความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่อพิจารณาจนเข้าใจชัดแล้ว มันจะทนไปถือดินน้ำลมไฟว่าเป็นตนเป็นเราเป็นเขาเป็นหญิงเป็นชายได้อย่างไร นี่ชัดเรื่องอย่างนั้น นี่ปัญญาหยั่งลงถึงความจริง นี้ไม่ปลอมเพราะนี้เป็นธาตุดินธาตุน้ำธาตุลมธาตุไฟจริง ๆ

        ที่ปลอมก็คือจิตของเรามันปีนเกลียวกับธาตุดินธาตุน้ำธาตุลมธาตุไฟ ไปว่าเป็นเราเป็นของเรา ไปว่าเป็นหญิงเป็นชายเป็นสัตว์เป็นบุคคล นั้นละท่านเรียกว่าปีนเกลียวกับธรรม ความรู้ความเห็นเช่นนี้เป็นข้าศึกต่อธรรม จึงต้องพยายามลบล้างข้าศึกเหล่านี้ด้วยการพิจารณาให้เห็นตามความจริง คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา  เพื่อจะลบล้างของปลอมทั้งหลายให้มีเหลือตั้งแต่ความจริงล้วน ๆ เมื่อได้รู้ความจริงล้วน ๆ แล้วจิตก็ถอนตัวเข้ามา อุปาทานจะฝังลึกขนาดไหน ถ้าลงปัญญาได้พิจารณาให้เห็นตามความจริงแล้วมันถอดถอนมาได้หมดไม่มีอะไรเหลือ นี่เป็นส่วนหยาบ ส่วนร่างกายนี่เป็นส่วนหยาบแห่งการพิจารณา เป็นปัญญาขั้นกลาง ปัญญาขั้นต้นก็พิจารณาร่างกาย พิจารณาจนกระทั่งถอดถอนไปได้แล้วก็เป็นปัญญาขั้นกลางไป

        จากนั้นก็พิจารณาถึงเรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนละเอียด จิตเกิดกับดับพร้อมอยู่ภายในร่างกายและจิตใจ เพราะคำว่าเวทนา ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งเฉย ๆ มีได้ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เช่นคนเจ็บไข้ได้ป่วยนี้เป็นทุกข์ทางร่างกาย แต่ถ้าใจมีความพะวักพะวนไปด้วยใจก็เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก เป็นทุกขเวทนาทางใจ จึงต้องพิจารณาเวทนา มันเกี่ยวโยงกันไปหมดนั่นแหละ จะพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งมันก็วิ่งถึงกัน เราจะไปทำเป็นแบบเขาสร้างบ้านสร้างเรือนนั้นไม่ได้ มีแบบแปลนแผนผัง แล้วให้ทำตามแบบนี้แล้วทำตามอย่างนั้น ทั้งดูแบบแปลนทั้งมาสร้างนี้ไม่ได้ พิจารณาตรงไหนให้เป็นหลักปัจจุบันในตรงนั้น

        เรามีความถนัดในอาการใดแห่งร่างกายก็พิจารณาในอาการนั้น แล้วมันจะซึมซาบทั่วถึงกันไปหมด เวทนา พิจารณาเรื่องทุกขเวทนาเท่านั้นมันก็วิ่งเข้าไปถึงเวทนาทั้งหลาย ตลอดถึงสัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอาการออกมาจากจิตอันเดียวกันแต่ไม่ใช่จิต ถ้าเราจะพูดหลายขั้นหรือพูดถึง ๓ ขั้น ปัญญาขั้นนี้ก็เป็นขั้นกลาง ค่อนข้างละเอียด ปัญญาขั้นละเอียดจริง ๆ ก็คือรู้เท่าอาการทั้ง ๕ แต่ยังไม่รู้เท่าจิต นั่นเป็นขั้น  ๑) รู้เท่าร่างกาย ถอดถอนอุปาทานออกมาจากกายหมดโดยสิ้นเชิง ปัญญาจะเอา ๓ ขั้นก็ตรงนี้ขั้น ๑  ขั้นที่ ๒ พิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม จนรู้เท่าแล้วปล่อยวางอาการทั้ง ๔ นี้ เช่นเดียวกับปล่อยวางทางรูปธรรมคือร่างกาย

        วาระที่ ๓ ก็พิจารณาจิตที่เข้ารวมตัวแห่งกิเลสทั้งหลาย เช่นเดียวกับพิจารณาสภาวธรรมทั่ว ๆ ไปมีเวทนาเป็นต้นจนพร้อม เมื่อพร้อมแล้วกิเลสที่รวมตัวอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะนั้น ก็กระจายออกด้วยอำนาจของปัญญาขั้นละเอียดละที่นี่ นี่ละปัญญาขั้นละเอียด ปัญญาขั้นนี้สมัยพุทธกาลท่านเรียกว่ามหาสติมหาปัญญา เริ่มเป็นมหาสติมหาปัญญามาตั้งแต่โน้นแล้ว ตั้งแต่พิจารณาขันธ์ ๔ โน่นแหละ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมหาสติมหาปัญญามาตั้งแต่โน้นแล้ว สติปัญญาอัตโนมัติ

        ถ้าลงถึงขั้นพิจารณาเวทนาแล้วนั้นจิตหาความเผลอไม่ได้ หมุนตัวเป็นเกลียวตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาจิตวิ่งเข้าถึงงานที่กำลังพิจารณาอยู่แล้วทันที ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด หมุนตัวอยู่กับความเพียร กับงานอันนั้นที่กำลังทำยังไม่สำเร็จนั้น คลี่คลายแยกแยะกันอยู่นั้น ทั้งวันก็ทั้งวัน ตลอดรุ่งมันก็เป็นไปอย่างนั้น ถ้าหากว่าแก้กันยังไม่ได้ ถอนกันยังไม่ได้ ยังไม่มีทางแพ้ทางชนะกัน สู้จนตาย ไม่ตายให้รู้ เอ้า ไม่รู้ให้ตาย ไอ้เรื่องแพ้นี่ไม่มี

        จิตถ้าลงถึงขั้นนี้แล้ว นั้นแหละท่านเรียกว่าความเพียรกล้า กล้าตรงนี้ กล้าแท้ ๆ คือกล้าพร้อมด้วยสติพร้อมด้วยปัญญา ไม่ใช่กล้าแต่เพียงกิริยาการเดินจงกรม กิริยานั่งสมาธิ ทั้งที่ใจเผลอไปทางไหน ขอบเขตโลกธาตุโน้น เจ้าของยังไม่รู้  นี้ไม่ได้จัดว่าเป็นความเพียรกล้า คำว่าความเพียรกล้านี้ต้องหมายถึงสติปัญญาสัมปยุตกับความเพียรอยู่ตลอดเวลาไม่มีการเผลอตัว เป็นนักต่อสู้ในขณะนั้น นั่นละท่านว่าความเพียรกล้า เพราะฉะนั้นในสังโยชน์เบื้องบนท่านจึงกล่าวว่าอุทธัจจะ ความฟุ้ง คือเพลินในการพิจารณา เพลินในงานที่ตนกำลังพิจารณา และเพลินในผลของงานที่เคยได้เคยรู้เคยเห็นเคยถอดเคยถอนมาเป็นลำดับลำดา มีความเพลิดเพลิน เลยเห็นว่าสมาธิซึ่งเป็นที่พักสงบเย็นใจนั้นว่า เป็นของไม่เกิดประโยชน์อะไร นอนอยู่เฉย ๆ

        ความจริงสมาธินั้นก็เป็นพื้นฐานให้ได้รับความสะดวกสบาย ในขณะที่เข้าพัก เช่นเดียวกับคนทำงาน เราจะถือว่าการทำงานเป็นผลโดยถ่ายเดียว การพักผ่อนนอนหลับการรับประทานอาหารทำให้เสียเวล่ำเวลา และสิ้นเปลืองอาหารการกินไปเปล่า ๆ นั้นก็ผิด เพราะร่างกายเมื่อไม่มีเครื่องบรรเทา ไม่มีเครื่องบำรุงรักษา หรือไม่มีปัจจัยเครื่องอุดหนุนแล้วจะทำงานทนไปได้แค่ไหน มันก็ตายคนเรา

        แม้จะสิ้นเปลืองทรัพย์สมบัติหรืออาหารการกินไปมากน้อย และเสียเวลาไปเพราะการพักผ่อนนอนหลับก็ให้เสียไปในขณะนั้น การเสียไปของเวลานี้เพื่อเป็นการสนับสนุนกำลัง หรือสิ้นเปลืองอาหารที่รับประทานลงไปก็เพื่อเป็นกำลังของร่างกายที่จะทำงานต่อไปให้ถึงผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นเช่นเดียวกัน ถึงเวลาจะพักผ่อน พักไม่ต้องกังวลกับเรื่องปัญญาเลย บังคับเอาไว้ให้อยู่กับความสงบแน่วในขณะนั้น

        แต่สมาธิขั้นนี้จะต้องบังคับนะ เพราะความเพลินทางด้านปัญญามีกำลังมาก คอยที่จะโดดออกไปหางานที่กำลังทำอยู่เสมอ แต่ไม่ได้โดดออกไปไหนไม่เผลอไปไหน หากเป็นความพัวพันดูดดื่มกับงานนั้น เพราะหวังชัยชนะเป็นที่ตั้ง ความแพ้นี้ไม่มีนอกจากตายเสียเท่านั้น กับให้รู้อย่างเดียวเท่านี้ไม่มีอย่างอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตจึงต้องหมุนติ้ว ๆ นี่ละท่านว่าอุทธัจจะ สังโยชน์เบื้องบน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัว คือลืมเวล่ำเวลา ลืมพักผ่อนนอนหลับ ไม่สนใจกับการพักผ่อนนอนหลับ ไม่สนใจกับการพักเพื่อความสงบทางสมาธิ นี่มันเกินไป ท่านจึงเรียกอุทธัจจะ เป็นสังโยชน์เครื่องข้องอันหนึ่ง นี่ถ้าเราแปลออกมา  เพื่อให้เหมาะสม เวลาเราทำงานมาก ๆ เราก็ต้องพักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารให้สบาย

        นี่จิตพิจารณามาก ๆ ก็ผิด ท่านเรียกว่าจิตทำงาน เมื่อทำงานหนักเข้า ๆ จิตก็อ่อนเพลียเหมือนกับร่างกายอ่อนเพลีย จึงต้องย้อนเข้ามาพักสมาธิให้จิตสงบแน่วอยู่นั้น ไม่ให้คิดปรุงไม่ให้ทำหน้าที่การงานอะไรทั้งหมด บังคับให้อยู่ จะได้เป็นเวลากี่นาทีก็ตาม ถอนออกมานี้มีกำลังแล้วควรแก่หน้าที่การงานนั้นอีก เช่นเดียวกับมีดได้ลับหินแล้ว เจ้าของก็ได้รับประทานอาหารพักผ่อนนอนหลับให้สะดวกสบาย แล้วไม้ท่อนนั้นแล ชิ้นนั้นแล มีดเล่มนั้นแลและคนคนนั้นแล คนเก่านั้นแหละ ไม้ก็ท่อนเก่าชิ้นเก่านั้นแหละ มีดก็เล่มเก่านั้นแหละ คนก็คนเก่านั้นแหละ แต่ฟันคราวนี้ขาดได้เร็วเพราะกำลังก็มี ผู้ฟันก็มีกำลัง มีดก็คมกล้าได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว อาศัยสมาธินี้เป็นเหมือนหินลับปัญญาให้มีกำลัง พิจารณาสิ่งนั้นแหละแล้วขาดสะบั้นไปเลย นี่อุบายของการพิจารณาจะต้องเป็นอย่างนี้นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่เป็นอย่างอื่นขอให้เป็นที่ลงใจ การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้

        ในครั้งพุทธกาลท่านเรียกว่ามหาสติมหาปัญญา มหาความเพียรก็ถูก ในขั้นนี้แล้วหาความเกียจคร้านไม่มี นอกจากได้รั้งเอาไว้เท่านั้น มันจะเลยเถิดต้องรั้งเอาไว้ เพราะทางที่จะเดินไปเพื่อความพ้นทุกข์ เหมือนกับว่าเราเอื้อมมือถึงอยู่นี่ หรือนิพพานคือความพ้นทุกข์นี่เหมือนอยู่ในชั่วเอื้อมมือเท่านั้น ข้างหลังที่เราเดินผ่านมาแล้วนี้มันตีบตันอั้นตู้เข้ามา มีแต่ฟืนแต่ไฟ เพราะฉะนั้นมันต้องหมุนติ้ว ๆ ซิ เคยได้รับความทุกข์มาเพราะอำนาจของกิเลสนี้มีมากเพียงไร มันประมวลมารู้ภายในใจหมด กิเลสประเภทหยาบ ประเภทกลาง ประเภทละเอียดล้วนแล้วตั้งแต่ประเภทที่เป็นภัยหรือเป็นไฟเผาใจทั้งนั้น เหตุใดจึงต้องไปคุ้นกับมัน

        เมื่อทางคุณก็เห็นอยู่แล้วประจักษ์ด้วยปัญญา การถอดถอนกิเลสให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว โทษของกิเลสที่ยังถอดถอนไม่ได้แต่ก่อนเป็นยังไงก็รู้  แล้วคุณค่าของการถอดถอนกิเลสที่ได้ถอดถอนไปโดยลำดับ ๆ นั้นมีมากขนาดไหนก็รู้ภายในใจ เห็นทั้งโทษเห็นทั้งคุณ เมื่อเป็นเช่นนั้นความเพียรจึงต้องเด่น เอาจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ

        ให้พากันเข้าใจ อุทธัจจะ รูปราคะ อรูปราคะ สังโยชน์เบื้องบน มานะ อุทธัจจะ อวิชชา รูปราคะก็หมายถึงติดรูปฌาน ยังพอใจในรูปฌาน ในระยะนั้นยังพอใจรูปฌาน ออกจากรูปฌานแล้วก็ติดใจในความว่าง อรูปฌานคือความว่าง ก็ติดใจในความว่าง คำว่าว่างนั้นหมายถึงว่างอยู่ในบริเวณจิตนะ ตัวจิตเองนี้ไม่ว่าง เจ้าของเข้าใจว่าจิตว่าง ก็เพลินอยู่ในความว่างเหล่านั้น นี้แหละตามหลักความจริงของการพิจารณา ตัวจิตเองแท้ ๆ นั้นยังไม่ว่าง จะว่างได้ยังไงอวิชชากดหัวอยู่นั้น ว่างได้ยังไง แต่ในระยะนั้นเราหากไม่ทราบนะ ตอนผ่านไปแล้วเราถึงจะมาทราบทีหลังว่า โห เราว่าอันนั้นว่างอันนี้ว่าง

        ก็เหมือนกับคนเข้าไปอยู่ในห้อง ไปยืนในห้องนี้มองดูโล่งโถงไปหมด ห้องนี้ไม่มีอะไร ห้องนี้ว่าง ว่างก็จริงห้อง แต่เราไปขวางห้องอยู่ในนั้นคนเดียวไม่รู้เหรอ ดูซิ ถ้าอยากให้ห้องว่างเต็มที่ก็ต้องถอนตัวออกมาแล้วห้องก็ว่าง อันนี้ตัวของจิตกับอวิชชายังพันกันอยู่นั้น เราดูแต่รอบข้างนอกตัวของจิตว่าว่างไปหมดๆ นี่ท่านเรียกว่าอรูปฌาน ถ้าจะว่าฌานก็ดีนี่ว่างอย่างนี้  แล้วมันค่อยขยับไป ๆ

        มานะคือความถือนี่ละ ถือที่ว่านี่ ถือผู้รู้นี้ที่เป็นไปด้วยอวิชชา เพราะเป็นสิ่งที่สง่าผ่าเผย เป็นสิ่งที่องอาจกล้าหาญ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อ้อยอิ่งที่สุด น่าติดที่สุดก็คืออวิชชา จิตต้องติดที่ตรงนั้น แล้วคำว่ามานะ ๙ ก็ตรงนี้เอง มานะ ๙ เมื่อมีเครื่องยึดอยู่แล้วก็ย่อมอยากจะเทียบส่วนนั้นส่วนนี้ ว่าคนนั้นสูงกว่าเรา คนนั้นต่ำกว่าเรา คนนั้นเสมอเราหรืออย่างไร หรือคนนั้นยิ่งกว่าเรา หรือคนนั้นหย่อนกว่าเรา หรือคนนั้นเสมอเราอะไรทำนองนี้ มานะ ๙ ก็มีอย่างนั้น สำคัญว่าตนเสมอเขา สำคัญว่าเสมอเขาหรือหย่อนกว่าเขา หรือยิ่งกว่าเขาเป็นต้น นี่เรียกว่ามานะ นี่แหละถือตรงนี้ มันก็ออกเทียบเคียงซิ เพราะเขี้ยวมันยังมีนี่ก็อยากเทียบเคียงน่ะซิมานะ อุทธัจจะก็คือการเพลินการค้นการพินิจพิจารณาถอดถอนกิเลสไม่หยุดยั้ง ออกจากนั้นก็อวิชชา มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

        อวิชชาจริง ๆ ก็นั่นแหละที่เราถือนั่นน่ะคือใจที่ว่า ถือใจนั่น เพราะเหตุไรจึงถือใจ เพราะมีอวิชชาพาให้ถือที่ตรงนั้น พออวิชชาแตกกระจายไปหมดด้วยอำนาจของสติปัญญาที่ทันสมัยแล้ว ไม่มีอะไรจะถือ ถืออะไร ไม่มีใครบอกก็ทราบ เมื่อถึงขั้นไม่ถือแล้วมันปล่อยโดยประการทั้งปวง เพราะรู้เท่าทันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง บรรดาสมมุติที่มีอยู่ภายในจิตถอดถอนได้หมด รู้เท่าได้หมด ปล่อยวางได้หมด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้หมดปัญหาไปแล้ว เป็นขั้นเป็นตอนไปโดยลำดับแล้ว

        พอถึงขั้นอุทธัจจะหรืออวิชชาซึ่งเป็นส่วนละเอียดนี้มันจึงพิจารณาแต่จุดนั้น เมื่อพิจารณาเต็มที่รู้เท่าทันแล้ว คำว่ามานะที่เป็นก้อนสมมุติอันละเอียดนั้นก็กระจายไปหมด เรียกว่าสลายไปทันที เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ถืออะไร ความรู้ล้วน ๆ ถือไปอะไร นั่นท่านว่ารู้ตามเป็นจริง วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วญาณความรู้แจ้งชัดว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมี แน่ะ รู้เท่าในความหลุดพ้นอีกด้วย พูดง่ายๆ ไม่ถือมั่นในความหลุดพ้น อย่างที่ว่าหมดโดยประการทั้งปวง นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

        ไม่ว่าสมัยพุทธกาลไม่ว่าสมัยนี้ ธรรมะมัชฌิมาปฏิปทาเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่เสมอ ขอให้นำมาใช้เถอะ เราอย่าไปคิดกาลนั้นสมัยนี้สถานที่โน่นที่นี่ พระสาวกท่านบำเพ็ญอยู่โน้นท่านได้บรรลุธรรม เราพอมายุคนี้มันห่างไกลกันเหลือเกิน มันห่างที่ตรงไหน ทุกข์อยู่เต็มหัวใจของเรา เพราะกิเลสเป็นเครื่องพอกพูนขึ้นมาได้แก่สมุทัย มันห่างกันที่ไหน สัจธรรมอยู่ในตัวของเรานี้ ทุกข์เพราะอำนาจแห่งสมุทัยเป็นผู้ผลิตขึ้นมาก็เด่นชัดๆ อยู่ภายในจิต เผาจิตอยู่นี้ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายนี้ก็คือทุกข์ เพราะอำนาจของกิเลสอาสวะ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นต้นเป็นผู้ผลิต แล้วสมุทัยนี้ห่างไปไหนจากใจของเรา มันติดอยู่กับใจของเราเหมือนกับติดอยู่กับใจของสาวกหรือพระพุทธเจ้านั้นเองตั้งแต่ท่านยังละไม่ได้ แล้วนิโรธคือความดับทุกข์จะดับที่ตรงไหน

        ทุกข์มีอยู่ที่ตรงไหนก็ต้องหาอุบายดับให้ได้ ดับไปโดยลำดับ ๆ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา สรุปลงแล้วได้แก่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาสมาธิ นี่ลงมาตรงนี้ เอ้าสรุปลงไปอีกได้แก่ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เอ้าฟาดลงไป นี้แหละเป็นเครื่องมือที่ห้ำหั่นกิเลสให้แหลกไปได้ กิเลสกลัวเฉพาะสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเท่านั้น อย่างอื่นกิเลสไม่กลัว ฟาดกันลงที่ตรงนี้ เมื่อลงที่ตรงนี้ถูกจุดของสัจธรรม สัจธรรมทำลายสัจธรรม คือมรรคปฏิปทาทำลายสมุทัยอริยสัจ มคฺค สจฺจํ มรรคก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ทำลายความจริงฝ่ายเป็นข้าศึกของใจออกได้ แล้วทุกข์ไม่ต้องบอกดับไปเอง เพราะสมุทัยซึ่งเป็นตัวเหตุตายไปแล้ว ดับไปแล้ว ผลจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

        เมื่อมัชฌิมาปฏิปทาได้ฟาดลงเต็มที่เต็มฐาน นิโรธคือความดับทุกข์ไม่ต้องบอกเกิดขึ้นในนั้นเอง เพราะเป็นผลของการปราบปรามกิเลสให้สิ้นซากไปดัวยมัชฌิมาปฏิปทานี้ แล้วห่างไหมนี่ที่พูดนี่  อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่เมืองอินเดียโน้นเหรอ อยู่สมัยก่อน ๒๕๐๐ ปีเหรอเราพิจารณาซิ นี่การพิจารณาเจ้าของต้องพิจารณาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนลงที่นี่ไม่ได้สอนที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่เราตถาคตแสดงไว้แล้วนี้ พระอรหันต์จะไม่สิ้นสูญจากโลก นั่นฟังดูซิ

        พระอรหันต์หมายถึงอะไร หมายถึงรู้รอบสัจธรรมทั้ง ๔ นี้แล้วไม่ต้องบอกพระอรหันต์ก็เป็น ที่เป็นไม่ได้เดี๋ยวนี้มันอรหันต์ตรงกันข้ามน่ะซิ หันไปโน้นหันไปนี้จิตนี่ หันไปรักหันไปชัง หันไปโกรธหันไปเกลียด หันไม่เป็นท่าอรหันต์เรามันหันอย่างนั้นนะ ไม่ได้เป็นหันเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าหันฆ่ากิเลสแหลกไปหมดไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็หันไปห้ามเสียแล้วซึ่งกงจักรตัวพัดผัน

        พลิกเข้าซิพิจารณาเข้าซิ ปัญญาต้องแก้เจ้าของอย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญา คิดขึ้นมาด้วยลำพังตนเองนั้นแหละเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุดแล้ว ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนท่านยื่นให้แล้ว เราแม้แต่ยื่นให้แล้วยังหลุดไม้หลุดมือไปได้เกิดประโยชน์อะไร อันใดให้เราคิดขึ้นมา เราได้เงื่อนจากครูบาอาจารย์แล้วนำเงื่อนนั้นเข้าไปประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสด้วยอุบายวิธีการของเรา โดยอาศัยโอวาทท่านสั่งสอนนั้นเป็นต้นทุนไปค้าหากำไรโดยลำพังตนเอง ด้วยวิธีการคิดอ่านด้วยสติปัญญาของเรา นั่นแหละกินไม่หมด สติปัญญาที่เกิดขึ้นจากตนผลิตขึ้นมาเอง ไปไหนไม่อั้นตู้คนเรา ถ้าตนสร้างได้เองคิดได้เอง เอาที่ตรงนี้ซิ

        เราอย่าไปสนใจกับกาลสถานที่ ให้สนใจกับสัจธรรมที่มีอยู่นี้ อันใดที่เป็นเครื่องกั้นกางมรรคผลนิพพานอยู่เวลานี้ คืออะไร นอกจากทุกข์กับสมุทัยนี้เท่านั้น ไม่มีอันใดที่เป็นอำนาจวาสนาที่จะมากั้นกางมรรคผลนิพพานได้ แล้วทุกข์ สมุทัย ที่เป็นเครื่องกั้นมรรคผลนิพพานอยู่เวลานี้อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ที่หัวใจของเรา เอ้า แก้ลงไปซิ ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ เครื่องมือที่ทันสมัยมีอยู่ผลิตขึ้นมา สติผลิตขึ้นมา ศรัทธาความเพียรหนุนกันเข้ามา ปัญญาพิจารณาค้นคว้าลงไปให้เห็นมันทุกข์อยู่ที่ตรงไหน อะไรเป็นสาเหตุให้เป็นทุกข์ ความรัก ความชัง ความสำคัญมั่นหมายว่านั้นเป็นนั้น นี้เป็นนี้ นั้นเป็นเรานั้นเป็นของเรา นั้นแหละเป็นเครื่องที่เสริมทุกข์ขึ้นมา

        พิจารณาแยกแยะให้เห็น  เรื่องทุกข์-ทุกข์ภายในกาย เอ้าทุกข์ที่ตรงไหน ถามหนังถามเนื้อถามเอ็นถามกระดูกไปแล้วก็จิตจ่อลงไป สติจ่อลงไป แยกแยะออกมาดูใจอีกว่าอันใดเป็นเราเป็นของเรา อะไรเป็นทุกข์ พิจารณาแยกแยะลงไปแล้วไม่เห็นมีอะไรเป็นทุกข์ หนังก็มีอยู่ตั้งแต่วันเกิด เนื้อ เอ็น กระดูก เหล่านี้มีมาตั้งแต่วันเกิด ทุกข์เพิ่งเกิดขึ้นมาแล้วดับไป ๆ ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันเดียวกัน ทำไมร่างกายไม่ดับไปด้วยเมื่อทุกข์ดับไป พิจารณาให้เห็นชัดเจนอย่างนั้นซิ มันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เรามาบวกเข้าให้เป็นอันเดียวกัน บวกกันเป็นอันเดียวกันแล้วร้อนทั้งไฟ แล้วยังว่าเราร้อนอีก ถือ ๒ ชั้น ๓ ชั้นมันเป็นทุกข์หลายชั้นละซิ เพราะความสำคัญ ความสำคัญนี่แหละท่านเรียกว่าสมุทัยคือกิเลส

        แยกแยะให้เห็นทั้งความสำคัญของเราที่ไปหมายร่างกาย ว่าส่วนใดเป็นเราเป็นของเรา ส่วนใดว่าเป็นทุกข์ไม่เป็นทุกข์ ให้กำหนดลงไปๆ จนเป็นที่เข้าใจแล้วมันถอนตัวเข้ามาเอง กายก็เป็นความจริง เวทนาคือทุกขเวทนาเป็นต้นก็เป็นความจริง จิตก็เป็นความจริง ต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกัน นี่เป็นขั้น ๆ ตอน ๆ ไปอย่างนี้การพิจารณา นี่แหละผู้กั้นกางมรรคผลนิพพาน คือสมุทัยตัวนี้ละปิดอยู่ที่หัวใจนี่ ไม่ได้ไปปิดอยู่ที่ไหนนะ กาลสถานที่ไม่มีอำนาจจะมาปิดกั้นมรรคผลนิพพานเราได้ กาลเวลาช้านานขนาดไหนไม่สำคัญ สถานที่อยู่ที่ใดก็ตามไม่สำคัญ ไม่เป็นผู้มาปิดกั้นมรรคผลนิพพาน แต่เป็นสมุทัยคือกิเลสที่เกิดอยู่ภายในใจของเรานี้เป็นเครื่องกั้นกางมรรคผลนิพพาน ไม่ให้รู้แจ้งแทงตลอดในความจริงทั้งหลายที่มีอยู่กับตน จึงต้องให้พิจารณาลงที่ตรงนี้

        เมื่อพิจารณาลงที่ตรงนี้ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรให้เต็มเหนี่ยวลงไปแล้ว ยังไงก็ต้องรู้ไปโดยลำดับ ๆ ผ่านไปได้โดยลำดับ ๆ แล้วหลุดพ้นไปได้เลยไม่ต้องสงสัย เมื่อหลุดพ้นไปได้โดยความสมบูรณ์เต็มที่แล้ว นั้นแหละที่นี่เรียกว่างานสมณะของเรานี้เสร็จแล้ว วุสิตํ พฺรหมฺจริยํ เสร็จแล้วงานในพระศาสนา ที่เราบำเพ็ญยากลำบากมาแทบล้มแทบตายเอาชีวิตประกันกันนี้ แลกกันนี้ ได้สิ้นสุดลงไปแล้วในขณะนี้

        กตํ กรณียํ กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ กิจที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี เพราะได้รู้แล้วถึงความพอตัว ไม่ยิ่งไม่หย่อนแล้ว นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ความเกิดอีกความเป็นอีกในภพน้อยภพใหญ่ดังที่เคยเป็นมาแล้ว ได้ตัดขาดกันแล้วจากญาติจากมิตรสาโลหิตของวัฏจักรทั้งหลาย กลายเป็นวิวัฏจักรขึ้นมาแล้วภายในจิต เพราะอำนาจของมหาสติมหาปัญญาเป็นผู้ฟาดฟัน เป็นผู้เผาเชื้อทั้งหลายออกจากหัวใจ ถึงตรงนั้นแล้วแสนสบาย

        ที่นี่ไปไหนก็ไป ตาดูเต็มตาก็ได้ หูฟังเต็มหูก็ได้ ไม่ต้องวิตกวิจารณ์กลัวสิ่งนั้นจะมากระทบใจ ใจจะเหลวไหลใจจะวอกแวกคลอนแคลนไม่มี ดูได้เต็มตา ฟังได้เต็มหู ความตำหนิติเตียนก็ฟังได้เต็มหู ความชมเชยก็ฟังได้เต็มหู แต่ไม่ยึดทั้งสองอย่าง เพราะโลกธรรมทั้ง ๘ นี้มีน้ำหนักเท่ากัน ความสรรเสริญก็เกิดขึ้นจากหัวใจเขา ถ้าเป็นความสรรเสริญคนอื่นก็ดี ความติฉินนินทาก็เกิดขึ้นจากเขาไม่ได้เกิดขึ้นจากเรา เมื่อฟังแล้วก็ผ่านไป ๆ เพราะจิตพอตัวแล้ว ไม่หิวไม่โหยไม่ยึดอะไร ไม่คว้าอะไรเข้ามากินมาดื่มพอเป็นยาพิษให้เผาลนตนเองเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่บริสุทธิ์ นี่แหละอยู่สบายที่นี่

        ไปไหนก็สบายทั้งนั้น เมื่อจิตสบายเสียดวงเดียวอยู่ไหนสบายหมด ไม่ถามว่านรกอยู่ที่ไหน สวรรค์อยู่ที่ไหน นิพพานอยู่ที่ไหน ไม่ต้องถาม มันเต็มอยู่ในนี้ รู้ประจักษ์อยู่ในนี้แล้วถามไปหาประโยชน์อะไร ถ้ารู้แล้วไม่ถาม ถามหาอะไร เหมือนกับเราหิวข้าวนั่นแหละ อะไรก็ดีไปหมด เหมือนจะหวานจะมันไปหมด เวลาอิ่มแล้วพอแล้วอะไรก็ไม่เห็นสนใจ อาหารชนิดไหนก็ไม่สนใจเพราะอิ่มแล้วพอตัวแล้ว

เอาละ

พูดท้ายเทศน์

        ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มากนี้เอง มันชัดตรงนี้ แต่มันไม่ได้เข้าง่าย ๆ นะ เวลามันเพลียเต็มที่ถึงจะบังคับกันทีหนึ่ง ๆ เวลาผ่านไปแล้วถึงมารู้ชัด โห เรื่องสมาธินี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง กับวิปัสสนานี้แยกกันไม่ออก แม้แต่พระขีณาสพท่าน ท่านก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่สบายในทิฏฐธรรม จนกระทั่งวันท่านนิพพานท่านถึงจะปล่อยนี้ได้ อันนี้เป็นวิหารธรรมของท่านคือสมาธิ ปัญญาพิจารณาเหตุผลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องธรรมในแง่ต่าง ๆ หรือพิจารณาร่างกายเป็นวิหารธรรมเหมือนกัน มันก็เป็นเครื่องรื่นเริงระหว่างกายกับจิตที่ครองตัวกันอยู่ มันก็ไปด้วยจีรังถาวรถึงอายุขัย

        บางทีจนรำคาญเหมือนกันนะ เพราะมันหมุนไม่หยุดไม่ถอย เอ๊ นี่มันอะไรกัน แต่มันคิดได้ชั่วขณะเท่านั้นนะ แต่พอหยุดคิดปั๊บมันพุ่งใส่งานนั้นเลย  คือความคาดของเรานั้นกับความจริงนี้มันห่างกันคนละโลกเลย คือเราคาดไว้อย่างนี้นะ ว่าจิตนี้ได้มีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไรก็ยิ่งจะมีความผาสุกสบาย งานก็ยิ่งจะน้อยเข้าไป ๆ สบายเข้าไปเรื่อย ๆ นี่เราคาดเราคิดนะ แต่เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เข้าสมาธินี้ก็เหมือนงานน้อยจริงๆ พอพิจารณาปั๊บๆ ก็รวมสงบแล้วอยู่สบายเป็นคนขี้เกียจ นอนตายอยู่ในสมาธินั้น ความจริงเจ้าของขี้เกียจต่างหาก ตอนนี้งานน้อยนี่ คือมันอาศัยความสงบ มันติดความสบาย

        พอออกทางด้านปัญญา พอได้เหตุได้ผลทางด้านปัญญาแล้ว ทีนี้มันเห็นผลแล้วทีนี้นะ มันเริ่มละที่นี่ เริ่มหมุนเรื่อยๆ พิจารณาเข้าไปเรื่อยเข้าใจเรื่อยแก้เรื่อย ถอดถอนกิเลสได้ด้วยขาดเรื่อยไปเรื่อยๆ เอาละที่นี่นะ ทีนี้ก็เป็นธรรมจักรหมุนตัวเป็นเกลียว เอาละที่นี่ต้องได้รั้งเอาไว้ แล้วทีนี้บทเวลามันเพลีย ถึงร่างกายก็เพลียด้วยไม่ได้เพลียแต่ตรงนี้นะ ในร่างกายทุกส่วนก็รู้สึกเพลีย เพราะจิตทำงาน ปัญญาพิจารณาค้นคว้าเขาเรียกว่าทำงาน

        ก็รำพึง เอ๊ เราคิดไว้ว่าเมื่อจิตมีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ยิ่งจะมีความสุขมาก ๆ ทำไมเดี๋ยวนี้ถึงเป็นอย่างนี้มันสุขมากยังไง มันวุ่นกับงานตลอดจนแทบจะเป็นจะตาย ถ้าว่างานมันก็ยิ่งมากเข้าไปโดยลำดับ มันไม่เหมือนกันตั้งแต่ก่อนที่เราคาดไว้ว่าจิตละเอียดเข้าไปเท่าไรงานยิ่งจะน้อยลงไป ๆ และจะมีความสุขยิ่งสบาย ๆ แล้วหมดไปเลยสิ้นไปเลย นี้เป็นความคาดต่างหากไม่ใช่ความจริง

        เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น พอถึงขั้นปัญญานี้แล้ว โอ้โห มันกว้างขวางยิ่งกว่าอะไร มันหมุนติ้ว ๆ นี้ครอบโลกธาตุในส่วนร่างกายหยาบนี้ อันนี้แหละตัวมันดิ้นมาก เหมือนกับน้ำไหลโจนลงมาจากภูเขา เหมือนกับน้ำตกนะ เช่นแม่สาที่เชียงใหม่ มันเหมือนอย่างนั้น ปัญญาขั้นพิจารณาร่างกายมันรุนแรงมากเหมือนกับน้ำตกนั่นแหละ ทีนี้พอร่างกายนี้หมดนั้นแล้ว มันเข้าไปส่วนอาการของขันธ์ ๔ นี้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นน้ำซับน้ำซึมที่นี่ ไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน คือตลอดเวลาหากไม่แบบน้ำตก เพราะอันนี้มันส่วนละเอียดแล้ว มันก็หมุนอยู่เหมือนกันเป็นแต่เพียงว่าหมุนแบบนี้ คือหมุนเบา ๆ หากหมุนไม่หยุด ตอนพิจารณาร่างกายนี้เหมือนกับน้ำตกไหลโจนมาจากภูเขา เสียงซ่า ๆ ดังถึงไหนโน้นน่ะถ้าเราจะเทียบ พออันนี้หมดปัญหาไปแล้ว เหลือแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้มันก็ไหลรินอยู่นั่น

        มันพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยนี่นะ เอ๊ นี่มันจะสิ้นสุดเมื่อไร ก็เราคิดคาดไว้ตั้งแต่ต้นว่า จิตมีความละเอียดลออเท่าไรก็ยิ่งจะมีความสุขความสบาย งานการก็จะค่อยเบาไป ๆ ทำไมมันกลับตรงกันข้ามไปเสียหมด แล้วเมื่อไรจะได้สะดวกสบายสักที ว่างี้ พอหยุดกันแล้วปั๊บมันก็ทำงานแล้ว คือเรารั้งมันไว้มันคิดเท่านั้น พอปล่อยปั๊บมันปุ๊บใส่งานที่กำลังทำยังไม่เสร็จ คือยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงอันไหนแล้วมันจะต้องตายด้วยกันพูดง่าย ๆ เรื่องจะแพ้นี้มันไม่ยอม นอกจากตายกับให้รู้ให้ผ่านไปได้เท่านั้น จนกระทั่งมันไปเสียหมดกำลังของมันที่จะไปอีกแล้วมันก็ระงับไปเอง สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั้นก็ระงับไปเองเป็นหลักธรรมชาติเหมือนกัน เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน พอถึงขั้นมันระงับแล้วหายเงียบไปเลยเหมือนกับคนไม่มีสติปัญญาอะไร อยู่เฉย ๆ ถ้าว่าขี้เกียจก็เหมือนขี้เกียจ ก็มันไม่มีงานทำ มันหมด

        เดินจงกรมก็เหมือนบ้านะ นี่เราก็พูดในวงกันเอง เดินจงกรมเห็นกระรอกกระแตก็เล่นกับมันเสีย เล่นกับมันด้วยความรักมันสงสารมัน ไม่ได้เล่นด้วยความคะนองนะ คือความเมตตานั้นละสำคัญมาก เห็นสัตว์อะไรก็เล่นกับสัตว์นั้น เล่นด้วยความสงสาร บางทีหยุดจงกรมดูนี่ นอกจากมีธรรมแง่ใดแง่หนึ่งที่เป็นปัญหาขึ้นมา ธรรมแง่นี้มีความหมายแค่ไหน มันจะมีความสัมผัส มันจะตามเลยจนกระทั่งเข้าใจแล้วก็ปล่อยเฉย ๆ เหมือนกับไม่มีสติปัญญาอะไรเลยเฉย ถ้าหากว่าสัมผัสธรรมบทใดแง่ใด มีความหมายลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน พอสัมผัสนั้นมันจะตามเลยที่นี่ มันจะหมุนเลย เพราะฉะนั้นการบิณฑบาตจึงไปกับหมู่เพื่อนไม่ค่อยได้ เดินฉุบฉับ ๆ ตามหลังไม่ค่อยได้ คือเรากำลังพิจารณาของเรา เพลินไปตามเรื่องของเราอยู่ เวลาขากลับมาก็หลีกให้หมู่เพื่อนมาก่อน แล้วเราก็พิจารณาของเรามาเรื่อย

        ก็ไม่ทราบจะอยู่กับอะไร อาศัยธรรมพอให้อยู่สะดวกสบาย นั่งภาวนาก็ภาวนาอยู่นั้นนะทุกวันนี้ ภาวนาอยู่นั้น มันเป็นการพยุงระหว่างธาตุขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ถ้าเราใช้กิริยาของจิตมาก ๆ นั้นธาตุขันธ์มันก็เพียบ ถ้าเพียบแล้วมันก็ไปแพ้ทางธาตุขันธ์นั่นแหละ จิตมันจะไปแพ้ได้ยังไง มันแพ้ธาตุขันธ์นี่ คือไม่ถึงอายุขัยพูดง่าย ๆ ก็เหมือนอย่างเรามีเงินร้อยบาท วันหนึ่งเราใช้ ๒๕ บาทพอดีกับครอบครัวของเรานี้ เราไปใช้เสียวันเดียวร้อยบาท มันก็หมดภายในวันเดียวแทนที่จะได้ถึง ๔ วันก็ไม่ได้ เงินร้อยบาทใช้วันละ ๒๕ บาทแทนที่จะถึง ๔ วันมันก็ไม่ถึง

        ทีนี้อายุขัยของเราสมมุติว่า ๗๐ หรือ ๘๐ นี้เป็นอายุขัย  ถ้าเราสมบุกสมบันไม่มีวิหารธรรมให้เป็นเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตแล้ว จะให้อยู่ถึงโน้นมันก็ไม่ถึงเสีย ถ้าเราพยายามรักษาให้พอเหมาะพอสมกันมันก็ถึงอายุขัยได้ มันรู้อยู่ภายในจิตนี่ ถ้าหากว่ามันขัดกันเมื่อไรแล้ว ฝ่ายธาตุฝ่ายขันธ์นั้นละจะเป็นฝ่ายบอบช้ำ ส่วนจิตอันนี้จะบอบอะไร ถ้าหากว่าจิตเลยสมมุติทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไม่มีอะไรบอบ อยู่อย่างนั้นเป็นอกาลิโก อกาลิกจิต อกาลิกธรรม

        พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านทำความพากเพียรอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงวันท่านนิพพานก็เพราะเหตุนั้นเอง มีความจำเป็นระหว่างขันธ์กับจิต หากไม่มีเรื่องที่จะถอดถอนกิเลสตัวใด เพราะหมดไปแล้วก็จะเอาอะไรมาถอน มันไม่มีอะไรมันเงียบเหมือนบ้านร้างพูดง่าย ๆ เมื่อกิเลสหมดไปแล้วก็เงียบเท่านั้นเอง มันไม่เงียบก็เพราะกิเลสก่อกวนยุแหย่อยู่ตลอดเวลา พอธรรมชาตินั้นหมดไปแล้วก็ไม่มีอะไรมาก่อกวนมายุแหย่อะไร ๆ ให้ลำบากลำบน ขันธ์นั้นมีแต่ขันธ์ล้วน ๆ คิดปรุงยิบแย็บ ๆ ของมัน คิดปรุงอะไรก็ดับพร้อม ๆ โดยหลักธรรมชาติของมัน

        เราไม่ต้องไปเข้มงวดกวดขันหรือระมัดระวังรักษา มันจะเป็นภัยหรือมันจะนำเรื่องอะไรมาสู่เรา ไม่จำเป็น เป็นธรรมชาติของมัน คิดเรื่องอะไรมันคิดปั๊บ ๆ ผ่านไปพร้อมๆ ดับไปพร้อมๆ ทุกขณะที่คิดดับไปพร้อมๆ รู้กันอยู่อย่างนั้นเป็นหลักธรรมชาติ เราก็รู้อยู่โดยหลักธรรมชาติ ขันธ์ที่ใช้ก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติของมัน

        ถ้าหากว่ามีกิเลสอยู่ภายในก็เป็นเครื่องมือของกิเลส ขันธ์นี่มันก็เป็นภัยเหมือนกัน เหมือนมีดเล่มนี้ถ้าเอาไปฟันอะไรให้เป็นโทษก็ได้ ฟันหัวคนก็ได้ ทิ่มแทงใครก็ได้ มาฟันทำผลประโยชน์ก็ได้มีดเล่มนี้ ขันธ์นี้ก็ของกลาง แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเอาไปใช้ให้ทำลายเจ้าของทำลายอะไรต่ออะไรยุ่งไปหมด ทีนี้พอกิเลสตัวสำคัญดับไปแล้ว เรียกว่าโจรหัวโจกที่เป็นเจ้าของของขันธ์นี้ดับไปแล้วก็มีธรรมขึ้นแทนที่ แล้วเป็นเครื่องมือของธรรม

        พระพุทธเจ้าประกาศธรรมสอนโลกก็อาศัยขันธ์นี้ เสด็จไปที่ไหนมาไหน ตลอดถึงปรุงภายในจิตที่จะแสดงมาเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเรื่องอะไรนี้ก็อาศัยขันธ์ ปัญญาก็เป็นกิริยาอันหนึ่ง ๆ ยึดเอามาใช้งานเพื่อทำประโยชน์ให้โลก จึงเรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ นั่นเป็นอย่างนั้น ใช้ไปถึงอายุขัยถึงกาล

        นี่ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ ถ้าหากว่าจิตนี้มีเครื่องมือเป็นของตน คือจิตที่บริสุทธิ์แล้วมีเครื่องมือเป็นของตน โดยไม่ต้องอาศัยสมมุติเป็นเครื่องมือ สมมุติคือขันธ์ ๕ นี้เป็นเครื่องมือของกิเลสมันเป็นวัฏจักรเป็นสมมุติ จิตที่เป็นวิมุตติให้มีเครื่องมือเป็นวิมุตติมาใช้ จะไม่มีอันใดที่จะสวยงามจะน่าดูจะอัศจรรย์ ยิ่งกว่าลวดลายของจิตที่บริสุทธิ์แสดงตัวออกไป สมมุติว่าแสดงการเทศนาว่าการหรือการแนะนำสั่งสอนใครก็ตาม ให้มีเครื่องมือสำหรับจิตนั้นโดยเฉพาะ จะไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่าพระอรหันต์ท่านแสดงกิริยาแห่งธรรมออกมา ด้วยเครื่องมือของท่านโดยเฉพาะ

        อันนี้ท่านไม่มีก็ต้องมาอาศัยขันธ์นี่เป็นเครื่องมือ ขันธ์นี้เป็นสมมุติ จิตเป็นวิมุตติก็ต้องมาอาศัยสมมุตินี้ใช้ เพราะฉะนั้นกิริยานี้จึงเป็นเหมือนโลก เคยช้าเคยเร็วจริตนิสัยเป็นอย่างไรก็ต้องคงเส้นคงวาของมันไปอย่างนั้นตามเดิม จึงเรียกว่านิสัย ควรที่จะพูดหนักเบามากน้อยเข้มข้นถึงเรื่องธรรมทั้งหลาย ทีนี้ก็เอาเรื่องขันธ์นี้มาใช้ มันก็เป็นลักษณะเหมือนโกรธเหมือนโมโหโทโสไปเสีย ความจริงเป็นพลังของธรรมแสดงออกมา ไม่ใช่พลังของกิเลสพลังของอารมณ์ที่เกิดจากกิเลสแสดงออกมา ผิดกันตรงนี้ ถ้าหากว่าธรรมจิตตวิสุทธิมีเครื่องมือเป็นของตนใช้ โอ้โห จะน่าดูที่สุด ไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่า

        อวิชชาแท้นั่นละจอมกษัตริย์ของกิเลสทั้งหลาย ถ้าเป็นไม้ก็เรียกว่ารากแก้ว รากฝอยตัดเข้าไป ๆ เข้าไปถึงรากแก้ว ถ้าเป็นต้นก็เรียกว่าแก่น ถ้าเป็นรากก็เรียกว่ารากแก้ว อวิชชาจริง ๆ แม้แต่มหาสติมหาปัญญายังหลงกลมายาของมันว่าไง ละเอียดขนาดไหน ละเอียดขนาดนั้น ขนาดสติปัญญาอัตโนมัติยังหลงกลมัน เป็นองครักษ์รักษามันเสียด้วยซ้ำไป เฮ้อ พูดถึงเรื่องความโง่ต่ออวิชชานี่ก็น่าบัดซบเหมือนกันนะ มันทุเรศ ไม่ให้อะไรมาแตะต้อง เพราะมันผ่องมันใสมันละเอียดลออ มันอ้อยอิ่งไม่มีอะไรเหมือนเลย เวลาเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริง ๆ แทนที่จะเป็นภาพเหมือนเสือโคร่งเสือดาวเหมือนยักษ์เหมือนผีอย่างนั้น มันกลับเป็นนางงามจักรวาลไปซิ เจ้าสติปัญญาที่ฝึกมาอย่างเกรียงไกรนั้นก็เลยกลายเป็นองครักษ์รักษาอันนี้ ไม่ให้อะไรมาแตะต้องมัน

        สลัดปั๊บ ๆ อะไรจะมาแตะไม่ได้ สัมผัสอะไรเรื่องอะไรนี้มันสลัดปั๊บ ๆ เลยรักษาอวิชชาไว้เสียนี่ กลายเป็นองครักษ์ของอวิชชา ในเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีอะไรเหลือ มีอันเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะพิจารณาแล้ว..หมด สิ่งเหล่านี้มันรู้หมดแล้ว มันปล่อยทั้งนั้นแหละไม่ไปสนใจ รู้อะไรแล้วปล่อย มันจะดูรู้สึกที่สง่าผ่าเผยที่ว่าความผ่องใสองอาจกล้าหาญ ถ้าพูดถึงว่าอัศจรรย์ของอวิชชานี้ก็อัศจรรย์จนขนาดสติปัญญาอัตโนมัติชมเชยพูดง่าย ๆ นะ ยกย่องชมเชยถวายตัวเป็นองครักษ์พูดง่าย ๆ

        แต่เพราะขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม มันจะแสดงอาการพิรุธให้เห็นจนได้ ด้วยสติปัญญาอัตโนมัตินี้ก็แหลมคมไม่ใช่เล่น เพราะไม่ใช่แต่เพียงรักษาอย่างเดียว ยังต้องสังเกตว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับนี้ ๆ ทีนี้มันก็มีเพราะอันนี้เป็นตัวสมมุติ ทีนี้สมมุติที่จะแทรกกันขึ้นมากับสมมุตินี้ก็ได้แก่ความผ่องใสความเศร้าหมอง คือความผ่องใสนั้นผ่องใสตามส่วนของธรรมละเอียด เศร้าหมองก็เศร้าหมองตามส่วนของธรรมละเอียด มันหากมีจนได้ แม้จะละเอียดขนาดไหนสติปัญญานี้ก็ทันก็รู้ เมื่อแสดงขึ้นมาหลายครั้งหลายหนก็ทำให้เอะใจ เอ๊ะ ทำไมธรรมชาติอันนี้นึกว่าจะคงเส้นคงวาแล้ว ทำไมจึงมีอาการแปลกๆ ให้เห็น เดี๋ยวว่าผ่องใสเดี๋ยวว่าเศร้าหมอง ถึงจะละเอียดแค่ไหนก็ตามนะ จิตละเอียดแค่ไหนความเศร้าหมองความผ่องใสก็จะละเอียดไปตามๆ กันนั้นแหละ

        แม้เช่นนั้นมันก็ไม่ทนกับสติปัญญาที่จ่ออยู่ตลอดเวลาได้ ทั้ง ๆ ที่รักษาอยู่มันก็แสดงอาการให้เห็นพิรุธก็จับปั๊บเข้าไปซิ เลยเอาจุดนี้เป็นสนามรบละที่นี่ เอ๊ นี่มันอะไรถึงเป็นอย่างนี้ กว่าจะรู้นะ ว่าเป็นของดิบของดีว่าเป็นของวิเศษวิโส ทำไมจึงมามีอาการเศร้าหมองบ้างอาการผ่องใสบ้าง มีลักษณะทุกข์บ้างสุขบ้าง ทำไมจึงมาเป็นอย่างนี้ คือทุกข์ก็ทุกข์ตามส่วนละเอียดของธรรมของจิตนั่นแหละ ไม่ทุกข์มากก็พอให้รู้จนได้ เพราะสติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นที่แหลมคมมาก ก็จับซิ นั่นเป็นต้นเหตุให้พิจารณา ทีนี้จุดนั้นเลยเป็นจุดพิจารณาขึ้นแล้วที่นี่ เหมือนกับสภาวธรรมทั้งหลาย เราผ่านไปได้ก็เพราะเราพิจารณาเข้าใจแล้วผ่านไป ๆ ทีนี้อันนี้กำลังสงสัยมันก็จ่อเข้ามานี้อีก มันพิจารณาเข้าใจปั๊บก็ขาดลอยไปเลยไม่มีอะไรเหลือ

        ทีนี้เมื่อเราเทียบถึงว่าความอัศจรรย์ของอวิชชาอันนี้กับความอัศจรรย์ของจิตที่บริสุทธิ์นั้นมันเป็นคนละโลกเลย ถ้าหากว่าเราจะเทียบก็เหมือนกับกองขี้ควายกับทองคำทั้งก้อนผิดกันยังไง ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนทองคำทั้งแท่งทั้งก้อน อวิชชานี้เหมือนกับกองขี้ควาย มันห่างกันขนาดนั้นนะ ผิดกันขนาดนั้น เพราะฉะนั้นจึงใครก็ตามถ้าไปเจอนี้ได้หลงกลอันนี้แล้วและค่อยผ่านไปทีหลัง ยังไงก็ต้องเกิดความสลดใจเห็นความโง่ของตัวเอง โอ้โห ๆ ขนาดนี้เชียวเหรอ อวิชชาขนาดนี้เชียวเหรอ โอ้โห ๆ เลย เรานึกว่ามันอัศจรรย์ขนาดไหน อัศจรรย์อะไรกองขี้ควาย มันมาหลงกองขี้ควายจนได้

        เพราะสติปัญญาอันนั้นแหละ เพราะทางไม่เคยเดินสิ่งไม่เคยรู้ แต่เวลาพิจารณาเข้าไป ๆ มันก็ตะล่อมเข้าไป ๆ ก็ไปถึงจุดสุดท้ายของมัน จุดสุดท้ายคือจุดนี้ ถ้าหากว่าแก้ไม่ได้มันก็ต้องอยู่นี้แหละ ยังพาให้หลง แม้จะไม่กลับมาเกิดอีกก็ตาม ก็ยังจะต้องเกิดอีกขั้นนั้นขั้นนี้  ถึงจะต่อถึงที่สุดก็ยังเรียกว่าเกิด ไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้นเป็นต้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ๕ ชั้นนี้เป็นชั้นที่อยู่ของพระอนาคามีซึ่งกำลังดำเนินอรหัตมรรค อรหัตมรรคกำลังจะเต็มภูมิแล้ว พอรู้ปั๊บก็เป็นอรหัตผลขึ้นมาเต็มภูมิ

        นี่พูดอย่างนี้ก็ไม่อยากจะพูด คือเกี่ยวกับผู้มาอบรมศึกษา เวลาเข้าไปแล้วพอถึงธรรมขั้นละเอียดแล้วมักจะหมายนะ คือมักจะหมายมักจะคาด ครูบาอาจารย์พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วนึกน้อมเอาจิตของตัวเองไปเป็นอย่างนั้นทั้ง ๆ ที่มันไม่จริง แล้วก็เป็นความผิดของผู้นั้น จึงต้องระวังเหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่อธิบายไว้บ้างพวกนี้ก็ไม่เข้าใจ เวลาไปถึงจุดใดจุดหนึ่งเข้าไปก็จะได้ยึดเอาอันนี้มาเป็นหลัก อ๋อ ท่านว่าอย่างนั้นนะ มันก็มีทางที่จะพิจารณาไปอีกได้

        ถ้าบอกอย่างนี้แล้ว ผู้ที่เป็นเถรตรงนั้นสติปัญญาไม่ค่อยรอบนัก ถึงว่าจะเป็นขั้นนั้นก็ตามก็ยังขึ้นอยู่กับนิสัยอีกเหมือนกัน มันจะคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่างกันอืดอาดต่างกัน ถึงมหาสติมหาปัญญาเหมือนกันก็ตามไม่ใช่ว่าจะเป็นแบบเดียวกันหมด อาจจะไปน้อมนึกเอาอันนั้นมาเป็นของตัวเสียบ้าง เข้าใจว่าตัวเป็นอย่างนั้นเสียบ้างแล้วก็นอนใจ แน่ะลำบาก ท่านอาจารย์มั่นรู้สึกว่าท่านฉลาดมาก พออธิบายถึงจุดนี้ท่านเว้นเสียปั๊บ ไปเอาข้างหน้าอธิบาย พอไปถึงจุดนั้นท่านเว้นปั๊บๆ ท่านไม่เข้าจุดนั้นเลยคือกลัว ทำไมท่านถึงไม่เข้า เราจึงมาทราบทีหลังว่าที่ท่านไม่เข้า เพราะกลัวจะไปเกิดสัญญาความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาในวงปฏิบัติ

        พูดถึงเรื่องธรรมะนี่เพลินไม่ทราบอย่างไร อะไรก็ไม่เพลินเหมือนธรรม พูดอย่างนี้เพลินเลย เพลินดี นี่อยากให้หมู่เพื่อนรู้เห็น พูดคนเดียวเหมือนกับบ้าเหมือนมาโกหกหมู่เพื่อน ธรรมของจริงมีอยู่กับหัวใจทุกคน ทำไมจึงกอดแต่ของปลอมไว้ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปมันไม่อยู่ที่ไหน อย่าไปคาดอดีตอนาคตยิ่งกว่าปัจจุบันซึ่งเป็นที่อยู่ของสัจธรรม ให้พิจารณาลงตรงนั้น

        ท่านพูดอะไรก็ตามในวงปฏิบัติโดยเฉพาะแล้วอย่าไปคาดเป็นอันขาด..ผิด เอ้ารู้ขึ้นมาจากไหนก็ให้เป็นเรื่องของเราเป็นอย่างนี้ เรื่องของท่านเป็นอย่างนั้น เรื่องของเราเป็นอย่างนี้ ให้เป็นเครื่องยืนยันกันอย่างนี้ เราจะไปน้อมของเราอยากให้เป็นเหมือนท่านอะไรอย่างนี้ไม่ได้..ผิด เช่นว่าสมาธิ รวมอย่างสนิทอย่างนี้นะ แล้วก็น้อมจิตให้มันสนิททั้ง ๆ ที่มันไม่สนิทก็ผิด มันเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นตามหลักนิสัยของตัวเอง ให้รู้ด้วยตัวเอง เป็นสมบัติของตัวเอง สมบัติของเราเป็นอย่างนี้ สมบัติของเขาเป็นอย่างนั้น สมบัติของตัวเป็นอย่างนี้ ให้รู้ชัด ๆ ว่านี้เป็นของตัว ๆ นั้นละถูกต้อง ให้ระวังกันที่เตือนนั้น

        มันยึดได้นะ มันหากเป็นเอง คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มันหากไปยึดได้ ยึดจนได้นั่นแหละ จึงต้องได้เตือนไว้เสมอ ระวัง จิตจะเข้าถึงขั้นละเอียดมันยึดแบบละเอียดนั่นแหละ เราไม่ทันมันเสีย นี่ละที่สอนหมู่เพื่อนถึงเรื่องสติปัญญา ก็สอนเพื่อธรรมขั้นนี้เป็นสำคัญ สติปัญญาจึงต้องประมวลมาตั้งแต่บัดนี้เรื่อยมา เริ่มฝึกสติปัญญา เมื่อเข้าตาจนแล้วจะได้มีทางออกได้ด้วยสติปัญญา เพียงหยาบๆ สติปัญญาก็ไม่มีใช้แล้วจะทำยังไง เมื่อเข้าถึงธรรมอันละเอียดก็ตายอยู่อย่างนั้นซิ ไปไม่ได้

        ที่ดุด่าว่ากล่าวหมู่เพื่อนก็เพราะอย่างนี้เอง พอมองไปดูเปิดนี้ไว้แล้ว พูดออกมาคำหนึ่งสองคำก็เปิดนี้ไว้แล้ว แสดงให้เห็นความโง่ความฉลาดอยู่ในตัว นี่ระยะนี้พวกญาติโยมอุดรฯ ชักตื่นกันละนะ พอไปเทศน์ข้างในครัวบ้างแล้วถึงวันพระมารุมกันมาแล้วนี่ เหมือนจะมาตั้งเป็นกฎอันหนึ่งให้เรา เราได้ดุอยู่เรื่อย อย่าให้มันเป็นกฎนะ

 

**********

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก