เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
รากแก้วของวัฏจักร
การเที่ยวตามบริเวณวัดซึ่งไม่ใช่เวล่ำเวลาจะเตือนให้ทราบ กิจการงานภายในวัดที่จะก่อความกังวลให้เป็นข้าศึกแก่ทางจิตตภาวนาก็ไม่ให้มี ให้มีเฉพาะงานจำเป็นซึ่งเป็นงานเพื่อถอดถอนกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ตามเยี่ยงอย่างประเพณีของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ที่ทรงดำเนินและดำเนินมา เพราะเรื่องของพระเราไม่มีกิจการงานใดจะเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานจิตตภาวนา เพื่อการถอดถอนกิเลสทุกประเภท ซึ่งแสดงอยู่ภายในจิตใจของตนทุกขณะ ถ้ามีสติต้องทราบไปทุกระยะว่าข้าศึกนั้นไม่อยู่ในสถานที่ใดนอกจากใจ
สมุทัยมีอยู่ในสถานที่ใดข้าศึกย่อมอยู่ในสถานที่นั้น ผลที่เกิดขึ้นจากความทำลายของข้าศึกคือสมุทัยก็คือทุกข์ แสดงขึ้นมาที่ใจ ไม่มีที่อื่นใดพอจะเป็นที่สงสัยในการแก้ไขหรือปราบปรามสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนเอง ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่าอริยสัจทั้ง ๔ ทุกข์ นี่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสมุทัยตัวก่อเหตุ ท่านถึงเรียกว่าสมุทัย แดนเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ เกิดที่ใจดวงนี้ นิโรธเป็นผลของมรรคที่ทำงานได้มากน้อย ระงับดับทุกข์ไปโดยลำดับ มรรค สรุปความลงแล้วได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลต่างองค์ก็ต่างรักษาเรียบร้อยอยู่แล้ว ไม่เป็นเครื่องกังวลในเรื่องศีลของตน ซึ่งควรจะทำจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นด้วยความเพียร ไม่มีนิวรณ์เกี่ยวกับเรื่องศีลไม่บริสุทธิ์ ด่างพร้อยต่าง ๆ เข้ามายุ่งเหยิงวุ่นวาย ความเพียรย่อมเป็นไปเพื่อความสงบอันเป็นสิ่งที่มุ่งประสงค์ มรรค ๘ มีอะไร สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป หมายถึงองค์ปัญญาซึ่งเป็นความเฉลียวฉลาดออกหน้าทีเดียว ปัญญาเราจะใช้ในสถานที่เช่นใด สติจะกำกับงานเช่นใด
สติเป็นเครื่องกำกับงานที่ตนทำ ได้แก่จิตตภาวนา สังเกตสอดรู้จิตอยู่เสมออย่าลดละ เรื่องของสติเป็นความจำเป็นอยู่ตลอดอิริยาบถความเคลื่อนไหวไปมาขอให้มีสติ นี้เป็นการสั่งสมสติให้มีความรู้ตัวอยู่ทุกระยะ จนสืบเนื่องเป็นสัมปชัญญะ สติความระลึกได้ถ้าเกิดเป็นพัก ๆ เมื่อสืบเนื่องกันต่อไปโดยลำดับเพราะการอบรมอยู่เสมอการบำรุงอยู่เสมอ ย่อมกลายเป็นสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวสืบเนื่องกันไป จากนั้นก็กลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้
ดูเด็กซิ เราเคยเป็นเด็กมาด้วยกันทุกคน เด็กเติบโตด้วยอาหารปัจจัยชนิดใด ไม่ใช่อยู่ ๆ แล้วก็เติบโตขึ้นมาเฉย ๆ ต้องได้รับการบำรุงรักษาทุกด้านทุกทาง ในบรรดาที่จะเป็นการส่งเสริมเด็กให้มีความเจริญเติบโตและปลอดภัย พ่อแม่พี่เลี้ยงจะต้องพยายามรักษา เด็กก็เจริญเติบโตขึ้นมาจนเป็นผู้ใหญ่ได้ดังเรา ๆ ท่าน ๆ อย่าเข้าใจว่าเกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างลอย ๆ แต่เติบโตขึ้นมาจากการบำรุงการรักษาทุกด้านทุกแง่ทุกมุม
เรื่องของจิตอยู่เฉย ๆ จะให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปโดยลำพังของตนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จิตไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ เช่นเดียวกับเด็กไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ ต้องอาศัยพี่เลี้ยง นี่ก็ต้องอาศัยสติปัญญา มีศรัทธา ความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลังเสมอ
สติกับปัญญาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการบำเพ็ญ สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา ตามหลักธรรมท่านประกาศไว้แล้วไม่มีข้อสงสัย สติเป็นธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ฟังซิ สติเป็นเป็นของสำคัญ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป หมายถึงองค์ปัญญา ค้นลงที่ร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันกับอุปาทาน เพราะความหลงของจิต การแก้ความหลงของจิตจะต้องแก้ด้วยความรู้ความฉลาด หมายถึงสติปัญญา การที่จะช่วยเหลือจิตได้ต้องอาศัยสติเป็นผู้ประคับประคองตามรักษา เหมือนเด็กต้องอาศัยพ่อแม่พี่เลี้ยงคอยบำรุงรักษา
การเจริญภาวนาเป็นการบำรุง การระมัดระวังรักษากระแสจิตของตนที่จะคิดไปในแง่ต่าง ๆ นั้นเรียกว่ารักษา ปัญญาเป็นผู้ให้เหตุผลจนจิตมีความจำนนตามเหตุผลของปัญญาที่เป็นผู้นำหน้า ใจเมื่อมีสติมีปัญญาเป็นเครื่องควบคุมอยู่เสมอแล้ว อันตรายจะเกิดได้ยาก
คำว่าอันตรายหมายถึงอะไร เราอย่าหมายถึงรูป ถึงเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเป็นของอยู่ภายนอกนั้นมากไปกว่าอันตรายคือสมุทัยซึ่งเกิดขึ้นจากใจของเรานี้ โดยอาศัยการเคยได้เห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส ซึ่งเป็นอตีตารมณ์เข้ามาประมวลไว้ในจิต ประการหนึ่งเชื้อของจิตมันก็มีอยู่แล้ว กิเลสที่เป็นเชื้อย่อมคอยผลักดันจิตใจออกนอกลู่นอกทางเสมอ ถ้าสติไม่มีจิตใจก็เสียได้ในตอนนั้น
เช่นเดียวกับเด็กถ้าไม่มีพี่เลี้ยงตามรักษา เด็กก็เป็นอันตรายได้ ตกน้ำเข้าไฟ ตกบ้านตกเรือนตกเหวตกบ่อ ขึ้นชื่อว่าอันตรายแล้วล่อแหลมมากสำหรับเด็กปราศจากพี่เลี้ยง จิตใจที่ปราศจากพี่เลี้ยงคือสติและปัญญาก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการภาวนาที่ไม่เป็นไปดังใจหวัง ก็เพราะความโลเล เพราะสติปัญญาไม่มี ปล่อยให้จิตคิดไปตามอำเภอใจ ด้วยอำนาจแห่งความผลักดันของอันตรายได้แก่สมุทัย คือกิเลส กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เป็นตัวใหญ่ของกิเลส รากเหง้าเค้ามูลของกิเลสก็คือนี้ เมื่อกระจายออกไปก็มีจำนวนมาก เช่นเดียวกับต้นไม้เพียงต้นเดียวเท่านั้นรากฝอยมีมาก นอกจากนั้นยังมีรากแก้วที่ฝังลึกลงไปอีกด้วย กิ่งก้านสาขาดอกใบมีมากมาย นับกี่วันกี่คืนก็ไม่ครบถ้วนได้
นี่เรื่องกระแสของกิเลสที่กระจายออกไปจากความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือราคะตัณหานี้ พรรณนาไม่จบถ้าเราตามเงามันไป นอกจากเรามีสติคอยสังเกตสอดรู้อยู่ที่ใจ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของอันตรายคือสมุทัย ที่จะระเบิดจิตที่มีความสุขให้แตกกระจายออกไป ด้วยความวุ่นวี่วุ่นวายเป็นไฟทั้งกอง จึงเรียกว่าอันตรายสบเหมาะ เรียกอย่างอื่นไม่เห็นภัย
นักปฏิบัติหาอุบายวิธีทักจิตทักใจ เสี้ยมสอนตนเองให้เป็นที่ถึงใจ จึงเรียกว่าปัญญา จึงเรียกว่าเป็นผู้ฉลาด การหักห้ามตนเองเมื่อจิตมีความโลดโผนไปในทางที่ไม่ดี ต้องหักห้ามกันอย่างหนักหน่วง เอาให้ถึงเหตุถึงผลกัน ไม่อย่างนั้นแพ้ การรักษาจิตเป็นอย่างนี้ ครั้งพุทธกาลท่านทำมาอย่างนี้ เราเคยเห็นในตำรับตำราด้วยกันทุกคนในครั้งพุทธกาลท่านเป็นอย่างนี้
ไม่ว่าสาวกองค์ใดออกมาจากสกุลใด ก็เช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ ออกมาจากตระกูลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน คนธรรมดา มารวมกันในวงพระศาสนา มีพระบรมศาสดาเป็นครูชั้นเอกทรงให้การแนะนำสั่งสอน เมื่อถึงใจด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ท่านเหล่านั้นไม่เสียดายชีวิตจิตใจ ไม่เสียดายบริษัทบริวาร ไม่เสียดายทรัพย์สมบัติอันใดทั้งหมด ที่ออกมาจากตระกูลมั่งมีก็ตาม ตระกูลใดก็ตาม มีความมุ่งมั่นในการที่จะถอดถอนกิเลส ด้วยความเพียรตามสถานที่เหมาะสม
ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา,ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุตฺสาโห กรณีโย. บรรพชาอุปสมบทแล้วให้เธอทั้งหลายจงเสาะแสวงหาอยู่ตามรุกขมูลคือร่มไม้ ชายป่าชายเขา ตามถ้ำเงื้อมผา อันเป็นที่ไม่พลุกพล่าน เพื่อความสะดวกแห่งการทำงานของเธอทั้งหลาย จงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด งานเพื่อความสะดวกแก่การบำเพ็ญก็เคยได้พูดให้ฟังแล้ว
งานในสถานที่นี่ก็คือ จิตตภาวนา โดยอาศัยหลักเบื้องต้นที่อุปัชฌายะมอบให้ ตามเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดาทรงสอนไว้ว่า มูลกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา เป็นต้น เพียงเท่านั้นก็ครอบหมดแล้วในอัตภาพร่างกายของเรา ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เมื่อพิจารณาหนังให้เห็นเป็นหนังอย่างชัดเจนตามสมมุติขั้นนี้แล้ว เราก็จะได้เห็นสภาพของร่างกายที่ปราศจากหนังเป็นอย่างไร เวลานี้หนังหุ้มห่ออยู่พอเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเราเป็นท่าน มีคุณค่ามีราคา มียศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำพอพูดกันได้ พอหนังออกแล้วเท่านั้น มีแต่แมลงวันนั่นแหละจะมานิยม เราคิดดูซิ นี่การพิจารณางานของตนเป็นอย่างนี้
ถนัดในอาการใดงานชิ้นใด อย่าว่าแต่เพียงอาการ ๕ นี้ คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้เลย อาการทั้ง ๓๒ อันใดเป็นที่เหมาะสมกับจริตจิตใจ ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วก็เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า สิ่งเหล่านี้เป็นของปฏิกูลเป็นของน่าเกลียดน่ากลัว
แต่เท่าที่เป็นสัตว์เป็นคน มีความรักชอบ มีความส่งเสริมยินดีรื่นเริงกัน ก็เพราะมีหนังหุ้มอยู่เท่านั้นเอง ความหนาของหนังนั้นไม่ได้เท่าใบลานเลย ไม่เท่ากระดาษเลย ผิวมันฉาบทาไว้เพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้ทุกสัดทุกส่วนข้างบนข้างล่างเราจะสงสัยไปไหน นี่คืองานของเรา เป็นงานถอดถอนกิเลสอาสวะที่เรียกว่าสมุทัย ให้พิจารณาอย่างนี้ทางด้านปัญญา
สติให้ประคับประคองเสมอ พยายามสั่งสมให้มีขึ้น รักษาสติให้ดี เราอย่าเห็นงานใดยิ่งไปกว่างานรักษาสติ และอย่าเห็นสิ่งใดว่าเป็นภัยต่อเรายิ่งกว่าสมุทัยที่เกิดขึ้นจากใจ แสดงออกมาในแง่ต่าง ๆ ให้สัตว์โลกทั้งหลายได้ลุ่มหลง เพราะไม่มีสติปัญญาสามารถแก้ไขและรู้เท่าทันมัน มันจึงเป็นจอมศาสดาของโลกธาตุนี้ได้เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ไม่มีผู้ใดที่จะมีความฉลาดแหลมคม ได้หลักวิชาอันถูกต้องมาแก้ไขสิ่งเหล่านี้ หรือรู้เท่าทันลบล้างสิ่งเหล่านี้ออกจากใจ จนกลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ได้เหมือนพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ เพราะฉะนั้นจึงสมนามว่าท่านเป็นจอมปราชญ์ฉลาดแหลมคมจริง โดยไม่มีครูอาจารย์ใดสั่งสอนด้วย พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ได้ตรัสรู้ธรรม นำศาสนธรรมมาสั่งสอนโลก ทรงตรัสรู้ด้วยสยัมภู คือความรู้แจ้งเห็นจริงโดยลำพังพระองค์เอง ซึ่งไม่ต้องอาศัยการศึกษาอบรมกับผู้หนึ่งผู้ใดเลย จึงเรียกว่าสยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองทุก ๆ พระองค์
นี่ความฉลาดสามารถของท่านกับของเราผิดกันขนาดไหน พวกเราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่วันเริ่มเข้าไปบวชจนกระทั่งบัดนี้ ล้วนแล้วแต่ธรรมเครื่องถอดถอนกิเลสทั้งนั้นที่ท่านชี้แจงแสดงไว้ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะถอดถอนกิเลสออกจากภายในจิตใจของตนได้แม้แต่ชิ้นเดียว ตรงกันข้ามกลับสั่งสมกิเลสขึ้นภายในตัวโดยไม่รู้สึกตัว มันก็กลายเป็นการบวชเข้ามาสั่งสมกิเลส ผิดกับความมุ่งหมายของธรรมและศาสดาที่ทรงสั่งสอนไว้ นี่แหละความปราศจากสติ ความปราศจากปัญญา ย่อมปราศจากเหตุผล ย่อมปราศจากความจริงไปโดยไม่รู้สึกตัวอย่างนี้ ถ้ามีสติ มีปัญญา ความจริงจะหนีไม่พ้น ต้องทราบได้อย่างชัดเจนในหลักภาวนา
หลักภาวนานี้แลเป็นหลักที่จะรื้อถอนสิ่งที่รกรุงรังอันเป็นข้าศึกต่อจิตใจมานาน จอมภพจอมชาติก็คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ จนกระทั่ง สมุทโย โหติ นี่คือธรรมชาติที่พาให้สัตว์เกิดสัตว์ตาย ท่องเที่ยวในวัฏสงสารไม่มีเวลาจบสิ้น คือเชื้ออันนี้แล นี้แหละกษัตริย์แห่งกิเลสทั้งหลาย จอมกษัตริย์ของกิเลสก็คืออวิชชา แขนงของอวิชชาแต่ละแขนง ๆ ก็แสดงออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง มาเป็นกิ่งใหญ่ ๆ ๓ กิ่งแล้วแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย จะทำลายสิ่งเหล่านี้ จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยอำนาจของสติกับปัญญาเป็นสำคัญ มีศรัทธา ความเพียร เป็นเครื่องหนุนหลัง ให้พากันจำเอาไว้อย่างถึงใจ
แนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมา สาวกทั้งหลายท่านดำเนินอย่างนี้ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ให้นึกน้อมถึงปฏิปทาของท่านที่พาดำเนินมา ไม่ว่าจะออกจากสกุลใด เมื่อได้สดับธรรมจากพระพุทธเจ้า เกิดความเชื่อความเลื่อมใสอย่างถึงใจแล้ว บุกเข้าป่าเข้ารก เข้าเขา อดอิ่มอะไรไม่คำนึงทั้งนั้น ขอแต่ให้รู้ให้เห็นเรื่องอรรถเรื่องธรรม ได้ถอดถอนกิเลสออกจากภายในจิตใจแล้วเป็นที่พอใจ
เพราะฉะนั้นปฏิปทาของท่านจึงราบรื่นดีงาม เรียกว่า สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายฯ สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงจริง ๆ ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม จนกลายเป็นอริยบุคคลขึ้นมา ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เมื่อเป็นเนื้อนาบุญของตนอย่างเอกอุแล้ว ก็กลายเป็นเนื้อนาบุญของโลกไปในตัวนั้นแล
เพราะโลกกับธรรมแยกกันไม่ออก ฆราวาสกับพระแยกกันไม่ออก เมื่อได้ทำหน้าที่ให้เต็มภูมิแล้ว มีสิ่งที่จะแจกแบ่งสงเคราะห์สงหาซึ่งกันและกันแล้ว โลกนี้อยู่ด้วยกันเพราะการสงเคราะห์สงหา ยิ่งธรรมด้วยแล้วเมื่อมีอยู่ภายในจิตในใจแล้ว ทำไมจะไม่เฉลี่ยเผื่อแผ่สัตว์โลกด้วยความสงสารเมตตาล้วน ๆ ไม่ได้ล่ะ นี่แหละอันดับแรก จงพยายามตักตวงให้เพียงพอกับความต้องการ
อย่าเห็นความคิดใดที่เป็นภัยยิ่งกว่าความคิดที่กิเลสบงการออกมา และอย่าเห็นอันใดที่มีคุณค่าและสามารถปราบกิเลสได้ยิ่งกว่าสติปัญญา ให้แนบสนิทกับใจเสมอ เราอย่าเสียดายความคิดความปรุงในแง่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องโลกสงสาร อันเป็นสิ่งที่จะสั่งสมกิเลสซึ่งมีอยู่อย่างเต็มหัวใจแล้วให้ล้นหัวใจมากเข้าไปอีก ความคิดเรื่องใดก็ตามเราเคยคิดมาแล้วด้วยกัน ไม่เห็นเกิดผลประโยชน์อะไร ให้คิดเรื่องอรรถเรื่องธรรม จึงจะเหมาะสมกับภาวะแห่งความเป็นพระเป็นนักปฏิบัติของเรา
เอ้า เอาให้ดีอย่าถอยหลัง พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้ถอยหลัง ความอดทนก็ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า ความพากเพียรทุกแง่ทุกมุมไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า นั่นน่ะครูเอกของเรา คำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ นึกน้อมพระองค์เป็นที่ระลึกภายในจิตใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นหลักเป็นเกณฑ์ของจิตใจยังไม่แล้ว ยังต้องยึดหลักปฏิปทาที่ทรงดำเนินมา มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เข้าไว้ในจิตใจ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็เหมือนกัน ให้ถือองค์ สุปฏิฯ อุชุฯ ญายฯ สามีจิปฏิปนฺโน ตรงแน่วต่อมรรคผลนิพพาน ธรรม ๔ ประเภทคือ การปฏิบัติดี ชอบ ตรงไปตรงมา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยความมุ่งมั่นของตน จนกลายเป็นสามีจิกรรม เป็นความชอบธรรมแล้ว จะไม่พ้นจากความบรรลุหรือความเห็นแจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ เป็นแต่เพียงว่ากิเลสสมุทัยทั้งหลายปกปิดกำบังน้ำที่ใสสะอาดที่สุดคือ อมตธรรม อยู่เท่านั้นเองเราจึงไม่เห็น
เพราะฉะนั้นให้เปิดน้ำ เวิกจอกแหนออกจากจิตใจ จอกแหนนั้นหมายถึงกิเลสอาสวะประเภทต่างๆ คำว่าเวิกก็หมายถึงว่ากวาดออกให้หมด ด้วยอำนาจของสติปัญญาของเรา แล้วน้ำอมตะจะไม่ไปถามที่ไหน อริยสัจนี่แลเป็นสถานที่อยู่แห่งน้ำอมตธรรม เมื่อได้เปิดทุกข์ สมุทัย ออกมาให้หมดสิ้นลงไปแล้ว ด้วยมรรคคือเครื่องมืออันทันสมัย ความหิวกระหายโดยประการทั้งปวงก็ดับลงไปที่เรียกว่านิโรธ เราจะได้ดื่มอมตธรรม ที่เรียกว่าอมตจิตก็ได้ อมตธรรมก็ได้ คงเส้นคงวาเป็นอนันตกาลอนันตจิต หาระหว่างไม่ได้ ไม่มีกาลไม่มีสถานที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย ให้เปิดลงที่นี่
ทุกข์จะทุกข์มากทุกข์น้อยเราเคยทุกข์มาแล้วอย่าหวั่นไหว ให้เอาสติปัญญาจับเข้าไปตรงทุกข์นั้น ค้นหาเหตุมันเกิดทุกข์เพราะอะไร จะหนีจากสมุทัยตัวยุแหย่ก่อกวนนี้ไม่ได้ ตัวนี้เป็นตัวยุแหย่ก่อกวน ตัวแสนเล่ห์แสนเหลี่ยมแสนมายาที่สุดก็คือตัวสมุทัย และเป็นสิ่งที่โลกได้เชื่อถือกันมาจนไม่มีทางต่อสู้ ไม่คิดจะต่อสู้ ไม่คิดจะแก้ไข ก็คือเรื่องสมุทัย เพราะความละเอียดลออ ความแนบเนียนในกลมายาของมัน นอกจากหลักธรรมเท่านั้นเข้าไปจับ ถึงจะทราบข้อเท็จจริงของสิ่งเหล่านี้ มีสติปัญญานั่นแหละเป็นเครื่องทดสอบ ถึงจะทราบข้อเท็จจริงซึ่งกันและกัน แล้วแยกแยะกันออกโดยลำดับๆ
จิตถ้ายังไม่เป็นสมาธิ เมื่อสติเป็นเครื่องรักษาจิตอยู่เสมอแล้ว จะต้องเป็นสมาธิคือความมั่นคงของจิต ความสงบของจิต จะเคยฟุ้งซ่านรำคาญมาขนาดไหนก็เถอะ ขอให้มีสติเป็นเครื่องรักษาจิต ก็เป็นการบังคับความคิดทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นไปในตัวนั่นแล
คิดขึ้นเรื่องใดให้ปัญญาติดตาม เรื่องเหตุผลกลไกอันใดจึงต้องคิดไปอย่างนั้น รักสิ่งนั้นชังสิ่งนี้เพื่อประโยชน์อะไร ความรักความชังเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ความรู้รอบในความคิดความปรุงของตน และความรู้เท่าทันในความรักความชังทั้งหลายนั้นเป็นปัญญา เมื่อปัญญามีกำลังก็สามารถถอดถอนได้ เพราะถึงความจริงเป็นขั้น ๆ ไป นี่การปฏิบัติพากันทำความเข้าใจอย่างนี้
ขณะที่จะใช้สติกำหนดให้จิตสงบก็ให้มีเท่านั้น โลกนี้ทำเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เหลือแต่ความรู้กับอารมณ์เท่านั้น มีเท่านั้น อย่าเสียดายความคิดความปรุงซึ่งผลักดันออกมาอยู่เรื่อย ๆ มันผลักดันออกมาจากจุดแห่งความรู้ เรามีสติจะทราบ ขณะที่จิตกระเพื่อมออกมาเป็นความปรุงความคิดทำไมจะไม่ทราบ พอปรุงขึ้นมาปั๊บมันก็ดับไปพร้อมถ้ามีสติ
ถ้าไม่มีสติก็มีความเกี่ยวโยงออกไปข้างนอกเรื่อย ๆ แล้วเราก็ตะครุบเงาไปเรื่อย ทีนี้เงาเมื่อคนวิ่งมันก็วิ่ง ตามมันไม่ทัน กิเลสเป็นเช่นนั้น เหมือนกับเงาอย่าไปตะครุบ เอาให้แน่วอยู่ในหัวใจในขณะที่ทำความสงบ ใช้อารมณ์ใดที่เห็นว่าถูกกับจริตให้มีความมุ่งมั่นต่ออารมณ์นั้น ไม่ต้องคิดคาดคิดหมายถึงมรรคถึงผลจะเกิดขึ้นประการใดบ้าง อันนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล ให้มีความสืบต่อด้วยสติอยู่กับวงงานที่ตนกำลังพิจารณาหรือกำลังบริกรรม เช่น พุทโธ หรืออานาปานสติ ให้มีสติจดจ่ออยู่ที่ตรงนั้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น
การที่สติจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำอยู่นั้น นั้นแลเป็นการผลิตผลขึ้นมาในตัวโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องคาดหมายก็รู้เองเป็นเอง เมื่อเหตุสมควรจะรู้แค่ไหนที่เราทำลงไป ผลจะปรากฏขึ้นมาเอง ผลนั้นไม่เกิดขึ้นจากการคาดการหมายการด้นเดาอะไรต่าง ๆ แต่เกิดขึ้นจากเหตุที่กระทำด้วยความสืบต่อ เพราะความมีสติเป็นสำคัญ
ถ้าจะพิจารณาทางด้านปัญญาในขณะที่จิตมีความสงบแล้ว จิตย่อมไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมไม่วุ่นวาย จะพิจารณาทางด้านปัญญาก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นเดียวกับเรารับประทานอิ่มแล้ว จะทำหน้าที่การงานอะไรจิตใจไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่เดือดร้อนวู่วามต่างๆ เหมือนกับคนกำลังหิวจัด คนกำลังหิวจัดทำงานอะไรไม่สู้ดี อะไรมากระทบนิดๆ หน่อยๆ มีแต่เกิดความหงุดหงิด อย่างน้อยความหงุดหงิด มากกว่านั้นแสดงความโมโหโทโสขึ้นมา
นี่จิตใจที่กำลังหิวกระหายในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ เพราะหาความร่มเย็นให้เป็นที่สบายเป็นที่สงบจิตใจไม่ได้ จะพิจารณาทางด้านปัญญามันก็กลายเป็นสัญญาไปหมด เลยถูกกิเลสความฟุ้งซ่าน สัญญาอารมณ์ลากเอาไปหมดเสีย
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก นั่น คือจิตที่พิจารณาด้วยความอิ่มตัว หมายถึงสมาธิ จิตมีความสงบร่มเย็นแล้วมีความอิ่มตัวไม่หิวโหยกับอารมณ์อะไร จะพิจารณาอารมณ์อันใดก็ตาม กรรมฐานในแง่ใดก็ตามบรรดาอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ตลอดถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตใจย่อมตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความมีสติสตัง รู้เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ถอดถอนเป็นช่องเป็นทางไปเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าปัญญา
เมื่อถึงกาลถึงเวลาที่จะพิจารณาปัญญาแล้ว ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ ให้ทำหน้าที่ของปัญญาไปด้วยความมีสติ ไตร่ตรองไปด้วยเหตุด้วยผลในแง่ต่าง ๆ แห่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในร่างกายและจิตใจนี้ สติเป็นของสำคัญ ปัญญาจะทำหน้าที่ไปเรื่อย ๆ
คำว่า อนิจฺจํ มันครอบหมดทั้งร่างกายและจิตใจ ในบรรดาขันธ์ ๕ ก็คือกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตานี่แล กองรูป รูปมีกี่อาการ อาการ ๓๒ คือกองอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะหยั่งลงในอาการใดก็ตามด้วยความเห็นแจ้งเห็นชัด เป็นการกระเทือนถึงกันหมด จะหยั่งใน อนิจฺจํ เราจะถนัดพิจารณาเรื่อง อนิจฺจํ ในอาการใดก็ตามในบรรดาอาการ ๓๒ นี้ก็ซึ้ง แล้วซาบซ่านไปทั่ว ๆ กันหมด ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เหมือนกัน ธรรมนี้เกี่ยวโยงกัน เมื่อเข้าใจในแง่หนึ่งย่อมสามารถจะเข้าใจในแง่อื่นได้ในขณะเดียวกัน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
พิจารณารูป เอาซิ กายนี้แหละสำคัญ เมื่อจิตอยู่ในขั้นนี้ต้องพิจารณาให้แหลกละเอียด ไม่ต้องไปคิดว่าจิตพิจารณาช้าหรือเร็ว ความเข้าใจเป็นของสำคัญ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นที่เข้าใจแน่ชัดนั่นเป็นความถูกต้อง เราไม่ต้องไปนับเที่ยวแห่งการพิจารณา ถือกายนี้แลเป็นวงงาน เป็นสถานที่ทำงานของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร หมุนลงไปที่ตรงนี้ทั่วสรรพางค์ร่างกาย เรียกว่าเที่ยวกรรมฐาน กรรม แปลว่าการกระทำ ฐานะ คือที่ตั้งแห่งงาน ทำอยู่ที่นี่กรรมฐาน
พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งเห็นจริงในงานชิ้นเหล่านี้ สาวกทั้งหลายรู้แจ้งเห็นจริงในงานกรรมฐาน ซึ่งมีอยู่ภายในร่างกายและจิตใจนี้ไม่รู้จากที่ไหน เพราะสัจธรรมมีอยู่ที่นี่ ข้างนอกก็น้อมเข้ามาภายใน เทียบกันได้ทุกสัดทุกส่วน เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงนี้แล้วภายนอกก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพราะมันเหมือน ๆ กันในโลกนี้ เอ้าให้พิจารณาอย่างนั้นอย่าถอยหลัง
อุบายวิธีต่าง ๆ ก็ได้พยายามสอนหมู่เพื่อนมาเต็มสติกำลังความสามารถไม่เคยลี้ลับในแง่ใดเลย เพราะได้อบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนมาเป็นเวลาตั้ง ๒๐ กว่าปี ได้ออกสังคมมานี้มาเกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อน ก็ควรจะมีองค์ได้รับความเข้าอกเข้าใจในอุบายวิธีต่าง ๆ และการสอนก็สอนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สอนด้วยความแน่ใจพูดตรง ๆ เราไม่ได้สอนด้วยความสงสัย แบบลูบ ๆ คลำ ๆ เห็นจะเป็นอย่างนั้นเห็นจะเป็นอย่างนี้ จิตไม่ได้เป็นอย่างนั้น
มันเห็นจริงจริงๆ ปฏิบัติก็จริง เวลารู้ขึ้นมาแง่ไหนก็จริง ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียดมันจริงทุกส่วน เพราะเราทำจริง มันรู้ทุกส่วนจริงไปหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นพูดมาทำไมจะไม่จริง แล้วผู้ฟังทำไมจะไม่จริง พูดของจริงให้ฟังแท้ ๆ ถ้าเรามุ่งของจริงอยู่แล้ว ฟังให้จริง ทำให้จริง จะต้องเห็นของจริง
ไม่อยู่ที่ไหนนอกเหนือไปจากสัจธรรมทั้ง ๔ นี้แหละตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่ตรงนี้ ไม่มีอะไรมากีดกัน กาลสถานที่ไม่มีอำนาจที่จะมากั้นกางมรรคผลนิพพาน เวล่ำเวลา สถานที่นั่นที่นี่ ความยืดยาวนานแห่งกาลเวลาจะมาทำลายมรรคผลนิพพาน หรือกีดกันมรรคผลนิพพาน ให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ให้ได้รับมรรคผล เป็นไปไม่ได้
มีแต่สมุทัยตัวนี้เท่านั้นตัวสำคัญ หรือทุกข์กับสมุทัย ๒ ประการนี้เป็นเครื่องปิดบังมรรคผลนิพพานไว้ ปัญญาไม่ออกก้าวเดิน ถ้าปัญญาออกก้าวเดินก็พิจารณาแยกแยะทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในกาย มันเกิดขึ้นส่วนไหน อะไรเป็นทุกข์ แยกมันดูทุกอาการ
ว่าหนังเป็นทุกข์ คนตายแล้วหนังมีไหม เอาไปเผาไฟมันว่าอย่างไร มันไม่เห็นว่าอะไร แน่ะอย่างนั้นก็ไม่ใช่หนังเป็นทุกข์ละซิ เนื้อเป็นทุกข์หรือเอ็นหรือเป็นทุกข์ หรือกระดูกเป็นทุกข์ ว่าตรงไหนจ่อมันเข้าไป ๆ ด้วยสติปัญญาเทียบเคียงกันกับเรื่องของใจ เทียบเคียงกันกับเวทนา กับเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก ในอาการใดที่ว่ามันเป็นทุกข์ แยกกันดู
เมื่อเห็นหลายครั้งหลายหนชัดเจนเข้าไป เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หรือสรุปแล้วว่าร่างกายก็สักแต่ว่าร่างกาย ใจก็สักแต่ว่ารู้ ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วไม่มีอะไรกระทบกัน จิตก็ไม่สะทกสะท้าน เพราะรู้ความจริงแล้วอยู่เป็นปกติสุข นี่ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ให้เห็นชัดเจน
เวทนาก็เหมือนกัน เวทนาแม้จะเกิดขึ้นจากใจก็ไม่ใช่ใจ เหมือนอย่างควันไฟนี่เกิดขึ้นจากกองไฟแต่ก็ไม่ใช่ไฟ มันเป็นอาการอันหนึ่งเท่านั้น พิจารณาให้ชัดเจน นี่แหละของจริงอยู่ที่ตรงนี้ ให้ค้นลงตรงนี้ การบุกเบิกเพื่อมรรคผลนิพพานบุกเบิกที่ตรงนี้แหละ ตรงที่มันตีบมันตันเวลานี้ กิเลสตัณหาอาสวะ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่แสดงผลขึ้นมาเป็นทุกข์ ทุกข์ทางใจอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงแก้กันด้วยมรรคมีสติปัญญาเป็นสำคัญ
ย่นเข้ามามรรค ๘ ให้มันอยู่ในตัวนี้หมด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป หมายถึงองค์ปัญญาที่พิจารณาใคร่ครวญโดยเหตุโดยผล เรื่องธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมลงใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยสิ้นเชิง สัมมาวาจา คนเราถ้าจิตเป็นธรรมแล้วพูดเป็นธรรมทั้งนั้น ท่านก็บอกไว้แล้วว่าสัมมาวาจา พูดเรื่องอะไรจึงเรียกว่าเป็นสัมมาวาจา พูดในเรื่องสัลเลขธรรม นั่น ก็มีอยู่แล้ว
สัลเลขธรรม ๑๐ ประการคือ อัปปิจฉตา ความมักน้อย จะมีมากมายเพียงไรก็ตามต้องการน้อย ๆ เท่านี้ ไม่ต้องการมาก พะรุงพะรัง ทั้งแบกทั้งหามหนักจะตายไป เอาแค่นี้พอแล้ว อัปปิจฉตา สันโดษ คือความยินดีตามมีตามเกิด ไม่วุ่นวาย มีก็ใช้ไม่มีก็ไม่ใช้ มีก็กินไม่มีไม่กิน นี่เป็นขั้นรองลงมา
อสังสัคคณิกา ไม่ให้คลุกคลีตีโมงมั่วสุมซึ่งกันและกัน นี่เป็นข้อหนึ่ง
วิเวกตา ชอบที่วิเวกสงัด ที่ไหนที่สงัดให้อยู่ เอ้า สงัดภายนอกแล้วก็ทำให้จิตสงัดภายใน แน่ะ วิเวกภายนอกแล้วก็วิเวกภายใน เป็นเครื่องหนุนกันอยู่เช่นนั้น
วิริยารัมภา ไม่ลดละเรื่องความเพียร จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เรายกเว้นแต่ขณะที่หลับเท่านั้นสุดวิสัย พอตื่นขึ้นมาความเพียรกับงานติดพันกันทันที งานเราเคยทำอยู่ในชิ้นใดอยู่ในระยะใด จับเข้าตรงนั้นทันที นั่น
แล้วก็ ศีล แน่ะ ศีลก็ดีอยู่แล้วนี่ แล้วก็ สมาธิ พูดกันเรื่องสมาธิ พูดเรื่อง ปัญญา พูดถึงเรื่องวิมุตติ พูดถึงเรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็ ๑๐ นี่สัมมาวาจา กล่าวชอบ
สัมมากัมมันตะ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี้แลเป็นงานที่ชอบที่สุดสำหรับพระเรา นั่นหมายเอาอันนี้ ย่นเข้ามานี่
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ขั้นหนึ่งก็คือ ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย. บิณฑบาตแล้วอาศัยกำลังปลีแข้ง บวชมาแล้วอาศัยกำลังปลีแข้ง เที่ยวบิณฑบาตตามชาวบ้านเขามาขบฉัน นี้เป็นงานที่ชอบของพวกเธอทั้งหลาย จงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นี้เป็นเลี้ยงชีพชอบอันหนึ่ง
เลี้ยงชีพชอบประการสำคัญก็คือว่า อย่านำยาพิษอารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัย เป็นกิเลสตัณหาเข้ามาเผาลนจิตใจ จิตใจที่พาชีวิตให้เป็นอยู่นี้ ให้มีความราบรื่น อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ มีธรรมมีสติปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาป้องกัน นั่นสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงด้วยอรรถด้วยธรรม เลี้ยงด้วยสติ เลี้ยงด้วยปัญญา อย่านำกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาเข้ามาเลี้ยง มันไม่ใช่เลี้ยงมันมาทำลาย
สัมมาวายาโม ก็เพียรชอบ เพียรในที่ ๔ สถาน ท่านก็บอกไว้แล้วในธรรม เพียรละบาปบำเพ็ญบุญ อันบาปที่เกิดมีแล้วก็พยายามละ แล้วพยายามสั่งสมกุศลที่ยังไม่เกิด ความฉลาดนั่นละ กุศล ๆ แปลว่าความฉลาด ให้เกิดขึ้นภายในจิต แล้วให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้นไป แน่ะก็มีเท่านั้น
สัมมาสติ ระลึกอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เรียกว่าสัมมาสติ
สัมมาสมาธิ รวมลงไปแล้วถึงการรวมก็ให้เป็นความสงบไม่ต้องไปรบกวน คือจิตบางรายมี ขณะที่ลงแล้วถอนไม่ขึ้น ถ้าเราพยายามถอนหลายครั้งหลายหน พอถอนขึ้นมาแล้วไม่ลง เพราะฉะนั้นเพื่อความถูกต้องแห่งสมาธิรายเช่นนี้นั้น จะรวมลงกี่ชั่วโมงก็ตามปล่อยไว้อย่างนั้นจนกระทั่งถอนขึ้นมาเอง อย่าไปรบกวนด้วยวิธีการใดๆ ทั้งหมด นอกจากมีความชำนิชำนาญกับสมาธิประเภทนี้แล้วจะถอนขึ้นเมื่อไรก็ได้ ให้ลงเมื่อไรก็ได้ นี่เป็นร้อยหนึ่งจะเอา ๕% ก็ทั้งยาก รายอย่างนี้มีเพียง ๕% ในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกจะได้เพียง ๕% นอกนั้นก็สงบอยู่ภายในจิต คิดได้ปรุงได้ แต่ปรุงอยู่เพียงแย็บ ๆ อยู่ภายในจิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์อย่างอื่น ก็เรียกว่าสงบ จิตที่มีความแน่นหนามั่นคงแก่ตัวเองอยู่ทุกระยะ เรียกว่าสมาธิ คือความมั่นคงของใจ การที่จิตจะมีความมั่นคงของใจขึ้นมา ก็ต้องมีความมั่นคงทางความเพียรเป็นเครื่องหนุนเสมอ
นี่มรรค ๘ ย่นลงมาแล้ว อยู่ที่ตัวของเรานี้ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ไหน ตามขั้นภูมิของผู้ปฏิบัติ เพราะธรรมมีหลายขั้น มรรค ๘ จึงมีหลายขั้นหลายภูมิ มรรค ๘ ที่ย่นเข้าไปจริง ๆ ก็ลงในสติปัญญา ลงนี้หมด จะไปแก้กิเลสตัวไหนไม่พ้นจากสติปัญญานี้เลย กิเลสก็ละเอียดเข้าไปโดยลำดับ
การพิจารณาร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะถอดถอนราคะตัณหาได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นส่วนละเอียด อันนี้เป็นหน้าที่ของปัญญาที่มีความละเอียดยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นผู้ทำงาน เมื่อได้รู้เท่าทันเรื่องร่างกายทั้งหมดแล้วปล่อย จิตจะไม่ยุ่งกับการพิจารณาร่างกายเลย จะพิจารณาแต่เรื่องนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เฉพาะอย่างยิ่ง สังขาร คือความคิดความปรุง ปรุงดีก็ดับปรุงชั่วก็ดับ ปรุงชนิดไหนดับหมดๆ แย็บๆ เมื่อสติปัญญาทันแล้วแม้จะมีก็เหมือนกับแสงหิ่งห้อย มันแย็บๆ เพราะไม่มีเงื่อนต่อ เนื่องจากสติปัญญาทัน ทันกันโดยหลักธรรมชาติ เมื่อนานเข้าไปๆ ชำนิชำนาญพอตัวแล้ว ปรุงขึ้นในขณะใด ก็เท่ากับปลุกสติปัญญาให้รู้เท่าทันในขณะนั้นๆ ไปเรื่อย ๆ
นี่เรียกว่ากิเลสรวมตัว จะมาอาศัยธาตุขันธ์คือร่างกายนี้ ปัญญาก็สอดส่องมองทะลุไปหมดแล้ว อุปาทานหาที่ยึดที่มั่นไม่ได้ เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนี้ ถ้าว่าธาตุก็ธาตุจริง ๆ แน่ะ ว่าธาตุดินก็เป็นดินจริง ๆ ธาตุน้ำก็ซึ้งภายในใจจริง ๆ ธาตุลม ธาตุไฟ ก็ซึ้งถึงใจจริงๆ แล้วใครจะไปยึดเอาดินเอาน้ำเอาลมเอาไฟมาเป็นตนได้อย่างไร เมื่อได้หยั่งถึงปัญญาขั้นนี้แล้วก็ถอนอุปาทานขึ้นมา
เอ้าอันใดที่ยังไม่ถึงอีกก็พิจารณาไปอีก เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม จิตก็ตามเข้าไปอีก เฉพาะอย่างยิ่งสังขารความปรุง สัญญาความหมายนั้นหมายนี้มันหมายไม่ได้ ถ้าลงสังขารไม่ยื่นให้มันแล้วมันหมายไม่ได้ สังขารต้องแย็บให้เสียก่อน สัญญาถึงจะไปหมายโน้นหมายนี้ออกได้ ถ้าไม่ออกนี้ก่อนหมายไม่ได้ แต่ความละเอียดของสัญญานี้มีซึมซาบออกได้ในบางกรณี นี่สติปัญญาก็ทัน แล้วก็รู้เท่าด้วย รู้เท่าเรื่องกายแล้วรู้เท่าเวทนา รู้เท่าสัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอยู่กับใจดวงเดียว
เมื่อรู้เท่าแล้วมันก็ไม่ยึด เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา สังขารก็สักแต่ว่าสังขาร คือความคิดความปรุงเท่านั้น สัญญาก็เหมือนกันหาตนหาตัวไม่ได้ วิญญาณก็รับทราบจากสิ่งที่มาสัมผัส พอสิ่งที่มาสัมผัสผ่านไปความรับทราบนี้ก็ดับไปพร้อม แต่ความรู้นั้นไม่ดับ เรียกว่าจิต อันนั้น ที่รับทราบสิ่งนั้นสิ่งนี้มากระทบ และดับไปพร้อมกับสิ่งมากระทบดับไปนั้นเรียกว่าวิญญาณ แน่ะมันก็รู้เท่า
ทีนี้มันเหลืออะไร แน่ะไล่อย่างนี้ไล่กิเลส ตีตะล่อมเข้าไปด้วยปัญญา สิ่งใดถ้ารู้แล้วต้องปล่อย ปล่อย ๆ แล้วไม่พิจารณา เพราะรู้แล้วพิจารณาหาอะไร นั่นรู้ตัวเอง เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ไม่ต้องให้ใครมาบอก พระพุทธเจ้าท่านก็บอกไว้แล้วว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้เอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายพึงรู้โดยลำพังตนเอง รู้จำเพาะตน
ก็มีผู้ปฏิบัตินี้เท่านั้นจะรู้เรื่องของตัวเอง ถ้าไม่ปฏิบัติไม่รู้ นี่เราก็ปฏิบัติเพื่อรู้เรื่องของเรา ตั้งแต่รูปคือร่างกายทุกส่วน เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารความคิดความปรุงภายในจิตใจ วิญญาณความรับทราบ นี่ก็รู้เท่าทัน ก็เป็นอาการ ๕ อย่างเท่านี้ แล้วอะไรที่ยังเหลืออยู่นั้น
กิเลสเมื่อถูกตะล่อม อุปาทานถอนเข้าไป ๆ แล้วก็ยังเหลืออุปาทานของใจเท่านั้นซิ นั่นละตัวอวิชชาจริง ๆ คือมานะความถือใจ ในสังโยชน์เบื้องบนท่านว่าไว้ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่สังโยชน์เบื้องบนอย่างละเอียด เครื่องผูกพันจิตใจอย่างละเอียด
อุทธัจจะ ความฟุ้งอันนี้ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านรำคาญไปแบบสามัญชนที่เป็นไปกันทั่ว ๆ ไป แต่คำว่าความฟุ้งหมายความว่า ความเพลินในการพินิจพิจารณาในแง่ธรรมทั้งหลาย จนลืมเข้าพักสมาธิ อันเป็นที่สงบพักผ่อนหย่อนใจให้มีความสะดวกสบาย เพื่อเอากำลังในการพิจารณาต่อไปอีก แต่จิตมีความเพลินในหน้าที่การงานทั้งหลาย จึงเรียกว่าอุทธัจจะ คือเพลินเกินตัว ท่านก็เรียกสังโยชน์เหมือนกัน
มานะ ก็คือความถือความรู้นั้นแหละ เพราะความรู้นั้นเต็มไปด้วยอวิชชา ทีนี้อวิชชารวมตัวแล้ว ลูกน้องของอวิชชาถูกตัดแล้ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตัดเข้าไป มาแทรกสิงอยู่ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ถูกตัดเข้าไป ตัดเข้าไปด้วยปัญญา อุปาทานไม่มีที่ยึดก็ไปยึดใจ นั่นเรียกว่ากิเลสรวมตัว
คำว่ายึดใจก็ไม่พ้นสติปัญญาที่จะหยั่งเข้าไปตรงนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเข้าไปถึงอุปาทานซึ่งมันยึดใจอันเป็นตัวสำคัญ ความสว่างไสว ความกระจ่างแจ้ง ความอาจความหาญก็อยู่ในนั้นหมด พิจารณาเข้าไปตรงนั้นเหมือนกับสภาวธรรมทั้งหลายที่เคยพิจารณาและรู้เท่าทันมาแล้ว มันก็รู้เท่าเท่านั้นซิ เมื่อรู้เท่าแล้วมันก็แตกกระจายไปหมด เมื่อความรู้ที่เป็นอวิชชาแตกกระจายออกหมดแล้ว วิชชา วิมุตติก็ขึ้นมาเอง เราจะไปหาวิมุตตินิพพานที่ไหน พิจารณาตรงนี้ซิ
อะไรปิดมรรคผลนิพพานเวลานี้ ก็มีแต่กิเลสประเภทเดียวเท่านั้น พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รู้เท่าทันไปโดยลำดับ เปิดออกโดยลำดับด้วยสติปัญญาให้ทันเหตุทันการณ์แล้ว เรื่องความจริงก็เด่นขึ้นมา ๆ จนเด่นเต็มที่ อวิชชาดับไปก็ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ จนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ เมื่ออวิชชาดับ สังขารดับ สังขารดับ วิญญาณดับ เรื่อย มันดับไปพร้อม ๆ
เพราะรากแก้วมันถูกถอนขึ้นมาแล้วอะไรมันก็ตายไปหมดนั่นแหละ ไม่ว่ารากฝอย ไม่ว่ากิ่งก้าน ไม่ว่าดอก ใบ อะไรตายไปหมดถ้ารากแก้วถูกถอนขึ้นมาแล้ว อวิชชาคือรากแก้วของใจของวัฏจักรมันสิงอยู่ที่ใจ เมื่อสติปัญญาอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญาได้คุ้ยเขี่ยขุดค้นขึ้นมาจนแหลกละเอียดแล้ว ทำลายกันอย่างแหลกละเอียดแล้ว เราจะไปหาวิมุตติที่ไหน นั่นละวิมุตติ หลุดพ้นแล้วจากอำนาจแห่งกิเลสตัณหาอาสวะทั้งมวลที่ตรงนั้น สนฺทิฏฺฐิโก บอกขึ้นมาเองไม่ต้องถามใคร
นี่งานของผู้ปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชนักปฏิบัติเรามายุติกันตรงนี้เอง นี่แหละงานใหญ่ที่ว่าทำมาตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มาดับที่ตรงนี้ มาสิ้นสุดที่ตรงนี้ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ, นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ได้เสร็จกิจงานของพระศาสนาได้เสร็จเพียงเท่านี้ ที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มี เพราะรู้แจ้งเห็นจริงทุกส่วนแล้ว นี่เรียกว่าฝึกงานจบ ทำงานเสร็จ เสร็จที่ตรงนี้ งานที่พูดเบื้องต้นในขั้นเริ่มแรกแห่งการเทศน์มาจบที่ตรงนี้
งานของธรรมมีความจบสิ้นลงได้ งานโลกไม่มีจบสิ้น ทำจนกระทั่งวันตาย ผู้นี้ตายไปผู้นั้นมาทำแทนก็ไม่สิ้นไม่สุด งานอันนี้ต้องทำให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มอรรถเต็มธรรม เต็มสติปัญญา แล้วจะต้องยุติกันที่ตรงนี้ ตลอดถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายทั้งหลายที่อาศัยจิตอวิชชาพาเป็นเชื้อนั้น มันก็ดับไปพร้อมๆ กันหมดจะว่ายังไง
เอาซินักปฏิบัติลูกศิษย์ตถาคตอ่อนแอได้เหรอ เรามาหาของจริงทำไมจะมีแต่ของปลอมเต็มหัวใจ วันไหนนอนจมอยู่กับของปลอม เราไม่เอือมระอาเจ้าของบ้างเหรอ
เอ้า พอพูดถึงเรื่องจบงานสิ้นงาน งานเสร็จสิ้นแล้วก็จบแค่นี้
|