ตามดูความจริง
วันที่ 18 ตุลาคม 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 40.23 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

ตามดูความจริง

 

        หาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ความเกิดความตายของสัตว์ในกำเนิดต่าง ๆ มีสืบเนื่องกันมาเป็นลำดับลำดาไม่หยุดไม่ยั้ง เรื่อยมาจนปัจจุบันนี้ และยังจะต้องเป็นไปอีกถ้าหากว่าเชื้อพาให้เกิดตายยังมีอยู่ตราบใด เชื้อก็คือกิเลส รวมลงไปแล้วก็คืออวิชชาที่ฝังใจแท้ พูดอย่างนี้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ และถึงจะพูดให้ฟังก็ไม่มีใครเชื่อ เชื่อก็เชื่อแบบรางๆ ไป แต่สำหรับเราเองเราเชื่อว่างั้นเลย เชื่อพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องเกิดเรื่องตาย เพราะอำนาจของเชื้อคือกิเลสพาให้เกิดให้ตาย มีเชื้อคือกิเลสนี้เท่านั้น เชื้อก็หมายถึงอวิชชา  ที่จะทราบมันก็ชำระลงไปซิ พระพุทธเจ้าสอนสิ่งที่มีที่จริง

        วันนี้พวกกรุงเทพฯเขามานี้สองคนผัวเมีย มาสร้างนั้นสร้างนี้ตามหน้าโรงพยาบาล ศาลพระภูมิเจ้าที่อะไรเหล่านี้แหละ เขามาหาเรา เขาสงสัยถึงเรื่องภูตผีเทวบุตรเทวดาเป็นความจริงไหมท่านอาจารย์ว่างั้น ในวงปฏิบัติพระท่านปฏิบัติเป็นยังไง เราก็ไม่พูดว่าเป็นความจริงหรือไม่จริง เรายกข้อเปรียบเทียบขึ้นในขณะนั้นว่า เช่นผู้เป็นหมอซึ่งมีเครื่องมือพิสูจน์เชื้อโรคต่างๆ และสามารถพิสูจน์เชื้อโรคต่างๆ ได้ว่า โรคชนิดนั้นๆ คือโรคชนิดนั้น เห็นชัดด้วยกล้องคือเครื่องมือนั้นอย่างชัดเจน บรรดาหมอทั้งหลายที่ได้เรียนมาในหลักวิชาอันเดียวกัน และได้ปฏิบัติต่อเชื้อโรคมาแบบเดียวกันแล้วจะสงสัยที่ไหน คนอื่นที่เขาไม่เป็นหมอเขามาปฏิเสธว่าเชื้อโรคไม่มีจริงอย่างนี้ ความปฏิเสธของเขาความไม่เชื่อของเขานั้นจะลบล้างความจริง คือเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ และได้พิสูจน์ดูแล้วด้วยเครื่อง เขาจะมาลบล้างความจริงนี้ได้ไหม

        เขาก็ยอมรับบอกว่าไม่ได้ แล้วคนเราทั่วๆ ไปเห็นได้ไหม เห็นไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ เป็นของละเอียด  และโรคแต่ละชนิดเป็นของละเอียดมาก จึงต้องอาศัยเครื่องมือ นี่ผู้ที่จะรักษาโรคชนิดต่างๆ ให้หายได้ ต้องเป็นผู้รู้เรื่องของโรคพร้อมทั้งหยูกยา วิชาแพทย์เป็นอย่างนั้น สมุฏฐานของโรคก็รู้ โรคเป็นโรคชนิดไรก็รู้ แล้วรักษาด้วยยาขนานใดถึงจะหาย หมอก็รู้ถึงจะรักษาโรคให้หายได้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้รักษาไม่หาย เท่าที่หมอรักษามานี้ ก็โรคแต่ละชนิดนี้นั้นได้ทำการพิสูจน์กันมาอย่างประจักษ์แล้วว่าได้ผลเป็นที่พอใจ แล้วจึงได้นำวิชานั้น ๆ มารักษาโรค

        ทีนี้พระพุทธเจ้ากับคนทั่วๆ ไปก็เป็นบุคคลที่แปลกต่างกันอยู่มาก เหมือนกับหมอและประชาชนทั่วๆ ไปซึ่งเขาไม่ได้เป็นหมอ แปลกต่างกันอยู่มากที่เกี่ยวกับเรื่องของโรคชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นของละเอียดลออ  พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน หากไม่มีความรู้ความฉลาดรู้เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ รู้เรื่องของเปรตของผีของเทวบุตรเทวดาแล้ว จะนำมาสั่งสอนโลกไม่ได้

        แต่เราไม่ได้พูดในแง่อย่างนี้ เราพูดลงไปถึงเรื่องว่า ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ ทรงได้ทำการพิสูจน์จนประจักษ์ในพระทัยแล้วทุกแง่ทุกมุม ไม่ได้มาสั่งสอนโลกอย่างด้นเดา เช่นเดียวกับหมอไม่ได้มารักษาโรคแบบด้นเดา เป็นหมอตามหลักวิชาแพทย์จริงๆ ไม่ใช่หมอเถื่อน พระพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้าจริงไม่ใช่พระพุทธเจ้าเถื่อน ทรงรู้แจ้งเห็นจริงทุกแง่ทุกมุม ทั้งภายในภายนอก ทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะก็ทรงทราบทุกสัดทุกส่วนของกิเลส ทุกประเภทของกิเลส เรื่องเปรตเรื่องผีเรื่องเทวบุตรเทวดา ก็มีอยู่ในตำรับตำราซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้แล้วทุกแง่ทุกมุม เพราะความประจักษ์พระทัยแล้วจึงแสดงออก เมื่อเป็นเช่นนั้นใครจะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีหรือไม่มี ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างสิ่งที่มีอยู่นี้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นได้

        เราก็พูดอย่างนั้นอธิบายให้เขาฟัง  แต่นี้มาพูด..ถึงพูดมันก็อย่างนั้นละ ในขณะที่ตอบรับกันเวลาเขาถามนั้นไม่เป็นอย่างนี้ เพราะมันขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ มันก็ตอบกันอย่างปุ๊บ ๆ ๆ เพราะเป็นเรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องเอาการเอางานในเวลานั้น จึงต้องเป็นอย่างนั้น

        จากนั้นก็ย้อนเข้ามา เราอย่าพูดถึงเรื่องภูตผีปีศาจ เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม ซึ่งอยู่นอก ๆ นั้นเลย แม้แต่สิ่งอยู่ภายในตัวของเราเองภายในใจของเราเองเรายังไม่สามารถจะรู้ สัตว์โลกทั้งหลายที่ได้รับความลำบากลำบน ก็ได้รับความลำบากเพราะสิ่งที่เป็นภัยซึ่งมีอยู่ในตัวทำลายตัวอยู่เสมอ ความรักเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความทุกข์ ความเกลียดความโกรธเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุ มาจากกิเลสเป็นต้นเหตุ

        ความโลภความโกรธความหลงเหล่านี้เป็นภัยต่อสัตว์โลก เรายังไม่เห็นว่าเป็นภัย เรายังไม่เห็นตามรู้ตามพระพุทธเจ้า เรายังคล้อยยังหลงตามสิ่งเหล่านี้อยู่ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราด้วย ปราชญ์ทั้งหลายท่านเห็นว่าเป็นภัยต่อสัตว์โลกด้วย พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสอนและทรงตำหนิ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยมาตลอดสายจนกระทั่งถึงพระพุทธเจ้าของเรา แม้ในอนาคตกาลข้างหน้าได้มาตรัสรู้มาสั่งสอนโลก ท่านก็จะนำธรรมะแบบเดียวกันนี้มาสอน เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แบบเดียวกันหมด แม้เช่นนั้นพวกเราก็ยังไม่ทราบ คิดดูซิ เราจะว่าวิเศษวิโสรู้ฉลาดได้ยังไง และจะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จะเกิดประโยชน์อะไรกับความไม่เชื่อนั้น นอกจากจะเป็นการทำลายตัวเองเพราะความไม่เชื่อเท่านั้น

        เช่นเดียวกับคนไข้หรือประชาชนทั้งหลายที่เขาไม่เชื่อหมอ จะเกิดประโยชน์อะไรกับเขา ยิ่งเป็นคนไข้ด้วยแล้ว ความไม่เชื่อนั้นแลเป็นสิ่งที่ทำลายตนได้ ไม่ให้สนใจกับหมอกับหยูกกับยาแล้วมันตายได้แน่ ๆ คนไข้คนนั้น ความไม่เชื่อหมอเกิดประโยชน์อะไร นอกจากเป็นภัยต่อตนเอง

        สิ่งที่ควรเชื่อเขาต้องเชื่อซิเราไม่รู้ อันนี้ก็สิ่งที่ควรเชื่อพระพุทธเจ้าก็ต้องเชื่อเพราะเราไม่รู้ หากเรารู้จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ควรจะมีความทุกข์ความลำบากลำบนในเรื่องจิตใจ ส่วนร่างกายนั้นก็เป็นอีกแง่หนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ทรงมีเหมือนกัน ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเปกขาเวทนา ในส่วนร่างกายก็มี แต่ใจนั้นซิเป็นของสำคัญ มันเป็นเหมือนกับส้วมเห็นไหม มีแต่ขี้โลภขี้โกรธขี้หลงกองอยู่ในนั้นแหละส้วม หัวใจนั้นหาความวิเศษวิโสไม่ได้ วิ่งตามความขี้โลภขี้โกรธขี้หลงอยู่ตลอดเวลา มันดีไหมล่ะเป็นอย่างนั้นทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงละได้หมด

        การพูดในตอนนี้ต้องย้อนไปถึงเรื่องว่า สัตว์โลกที่ตายเกิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอยตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ และจะเป็นไปอยู่จนหาประมาณไม่ได้นั้น เพราะอะไรเป็นสาเหตุ การเกิดแต่ละภพละชาติจะไม่ประสบความทุกข์ความลำบากบ้างไม่มี เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ทำสัตว์โลกให้มีทุกข์อยู่เสมอ ท่านจึงกล่าวว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ถ้ายังมีเกิดอยู่ความทุกข์ก็ต้องมี แม้จะเกิดในภพภูมิอันละเอียดเพียงไร ก็เพราะอำนาจของกิเลสมีความละเอียด ทุกข์ที่แฝงมากับกิเลสซึ่งเป็นผลนั้นก็ต้องมีอยู่ในภพนั้น ๆ แล้วเราจะทราบได้ยังไง

        พระพุทธเจ้าทรงทราบสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยวิธีใด ด้วยวิธีปฏิบัติ  พระองค์ปฏิบัติอยู่ถึง ๖ ปี พิสูจน์ความจริงทั้งหลายทั้งข้างนอกข้างใน จนกระทั่งได้เห็นความจริงอย่างประจักษ์พระทัย เฉพาะอย่างยิ่งในคืนของวันเดือน ๖ เพ็ญ ซึ่งทรงอดพระกระยาหารมาตั้ง ๔๙ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๖ ตอนเช้านั้น ได้เสวยพระกระยาหารของนางสุชาดา ๔๙ ก้อน จะใหญ่เล็กขนาดไหนเราก็ไม่พอจะทราบได้ แต่เป็นความจริงที่พระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารของนางสุชาดา ที่เขาเอาไปเซ่นสรวงที่ต้นไม้นั้น ต้นไม้ที่พระองค์ประทับอยู่นั้น และประกอบกับตอนนั้นพระสรีระทุกส่วนยังเบา รู้สึกว่าถ้าพูดตามภาษาของเราก็เรียกว่า ไม่มีกำลังอันใดที่จะเป็นส่วนกิเลสเพื่อเป็นเครื่องต้านทานจิตใจ ร่างกายก็เบาหวิวไปหมด เพราะทรงอดพระกระยาหารมาถึง ๔๙ วัน เพิ่งมาเสวยเอาตอนเช้านั้น ร่างกายทุกส่วนจึงต้องเหมาะสมกับการบำเพ็ญธรรมทั้งหลาย ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ทางจิตตภาวนา

        เริ่มแรกทรงพิจารณากำหนดอานาปานสติ ซึ่งพระองค์ทรงระลึกได้ในคราวที่ทรงพระเยาว์ที่พระราชบิดาพาไปแรกนาขวัญ ซึ่งทำในขณะนั้นรู้สึกว่าได้ผล จิตประหวัดถึงเรื่องอดีตนั้น จึงย้อนเข้ามาทำเป็นวงปัจจุบัน โดยกำหนดอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก ปฐมยามก็ปรากฏว่า ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่าได้บรรลุเกี่ยวกับเรื่องบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงระลึกชาติถอยหลังได้กี่ภพกี่ชาติ ในปัจฉิมยามทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท

        เราเอาแต่ผลที่สำคัญ ๆ เลยก็แล้วกัน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงรู้ทรงเห็นในปฐมยาม จุตูปปาตญาณ ทรงทราบความเกิดความตายของสัตว์ ความจุติ เกิดตายของสัตว์ในมัชฌิมยาม พอปัจฉิมยามซึ่งเป็นยามสุดท้ายก็ได้สำเร็จเป็นอาสวักขัย คือ อาสวักขยญาณ ทรงทราบความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายภายในพระทัย นั้นแหละเป็นเวลาที่พระองค์ได้ตัดชาติตัดภพ ที่จะเป็นไปในอนาคตข้างหน้าขนาดไหนยืดยาวเพียงไรก็มาตัดในวงปัจจุบัน

        เชื้ออวิชชา ทรงพิจารณาปัจจยาการ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ฺจนกระทั่งถึง สมุทโย โหติ เมื่ออวิชชามี สังขารก็มี เรื่อยเลย เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ให้เป็นผัสสะ ให้เป็นเวทนา ให้เป็นตัณหา ให้เป็นอุปาทาน เรื่อยเลยถึง สมุทโย โหติ เหล่านี้ทั้งหมด เอวเมตสฺส เกวลสฺส, เกวลสฺส นั้นก็คือหมายความว่าทั้งหมดทั้งปวงเป็นสมุทัยทั้งสิ้น อนุโลมปฏิโลม พิจารณาย้อนกลับถอยหน้าถอยหลังจนเป็นที่เข้าใจ กลายเป็น อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เมื่ออวิชชาดับสังขารก็ดับ สังขารดับวิญญาณดับ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ เหล่านี้เป็นนิโรธคือความดับทุกข์อย่างสนิท

        พระองค์ดับภพดับชาติดับที่อวิชชา ทรงทำลายอวิชชาภายในพระทัยดับโดยสิ้นเชิง จากนั้นก็ทรงทราบได้ชัดเจนแล้วว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ความเกิดอีกเป็นอีกเป็นรูปเป็นร่างในภพน้อยภพใหญ่ของเราเป็นอันว่าสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีอะไรจะปรากฏขึ้นอีกแล้ว ทรงทราบ เพราะอวิชชาซึ่งเป็นตัวการพาให้สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่นี้ ได้ถูกทำลายเสียโดยสิ้นเชิงแล้ว อะไรจะพาให้ไปเกิดภพไหน ๆ ก็ดี จิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้วไม่ควรแก่การเกิดในภพใด ๆ เพราะเป็นวิมุตติจิต จิตหลุดพ้นแล้วจากวงสมมุติ  คือการเกิดการตายในภพไหนก็ตามอยู่ในวงสมมุติของกิเลสทั้งนั้น  จิตได้พ้นแล้วจากวงสมมุติ

        การพิสูจน์เรื่องความเกิดความตายของผู้ใดก็ตามนอกจากของตนไปแล้ว จะพิสูจน์ต้องมีหลักเกณฑ์ เป็นที่เข้าใจในตัวเองเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถทราบเรื่องของสัตว์โลกทั่ว ๆ ไปได้ว่าเป็นในลักษณะเดียวกันนี้ รู้แจ้งที่ตรงนี้แล้วก็รู้แจ้งความจริงซึ่งมีสภาพเสมอกันไปหมดได้ตลอดทั่วถึง อันนี้ก็เรียกว่าโลกวิทู รู้แจ้งโลก โลกแห่งธาตุแห่งขันธ์ มีอวิชชาเป็นตัวการก่อให้เป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นภพเป็นชาติเป็นรูปเป็นกายขึ้นมา ได้ทรงรู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมทั้งความปล่อยวางแล้ว แล้วสัตว์โลกที่เป็นไปอยู่ในเรื่องความเกิดตายนั้นเป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะอันนี้เอง แน่ะ ทรงทราบหมด

        นี่แหละการพิสูจน์เรื่องความจริงที่มีอยู่ในตัวของเราก็ต้องพิสูจน์ทางภาคปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับตัวของเราแต่เราไม่สามารถจะทราบ ไม่สามารถจะแก้ไขถอดถอนหรือทำลายมันได้ เราปฏิเสธได้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่กับเรา ฉะนั้นจะต้องพิสูจน์กันทางภาคปฏิบัติ เราจะเริ่มทราบเรื่องของจิตของกายได้ตั้งแต่จิตเริ่มสงบเป็นสมาธิ คือเมื่อจิตเริ่มสงบแล้วจิตจะเป็นเอกเทศของตัวเองโดยเฉพาะ คือรู้อยู่เป็นจุดเฉพาะเท่านั้น ส่วนร่างกายก็เป็นอีกอย่างหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขา

        เมื่อจิตสงบเข้ามาก ก็เป็นการสร้างฐานแห่งความแน่นหนามั่นคงของใจขึ้นโดยลำดับๆ จนกระทั่งทราบได้ชัดว่า กายเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง ถึงจะยังคละเคล้ากันอยู่กับกิเลสตัณหาอุปาทานภายในจิตก็ตาม แต่ก็พอจะทราบได้ว่าจิตเป็นอันหนึ่ง กายเป็นอันหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ยังยึดกายนี้ว่าเป็นตน ยึดขันธ์ ๕ นี้ว่าเป็นตนอยู่ก็ตาม ก็พอทราบได้ว่าเป็นคนละสิ่งละอย่าง เป็นแต่เพียงว่าปัญญายังไม่สามารถที่จะแยกแยะ หรือตัดสิ่งเกี่ยวข้องในอาการทั้ง ๕ นี้ให้หมดไปได้เท่านั้น จึงต้องอาศัยปัญญาพิจารณาแยกแยะ

        เช่น ท่านสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เป็นภาคสมถะ คือเพื่อให้จิตสงบตัวเสียก่อนแล้วจะค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรไป เมื่อจิตสงบตัวก็เรียกว่าจิตอิ่มตัวในขั้นนี้ จิตสงบตัวย่อมไม่วุ่นวายและไม่แส่ส่ายไปไหน มีอาหารดื่มคือความสงบเย็นใจ สบาย ไม่หิวโหยในอารมณ์ทั้งที่มาสัมผัสทั้งที่ไม่มาสัมผัส ทั้งอดีตทั้งอนาคตไม่ยุ่งไป จิตมีความสงบ  แล้วอาศัยความสงบที่เรียกว่าจิตมีความอิ่มตัวพอสมควรแล้วนั้นแหละนำออกพิจารณา ทีแรกอาศัย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นภาคบริกรรมเสียก่อน หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อานาปานสติ เป็นต้น เป็นภาคปฏิบัติเพื่อความสงบเสียก่อน

        ให้จิตอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ธรรมบทใดบทหนึ่ง มีสติเป็นผู้ควบคุมอยู่กับงานที่ตนกำลังบริกรรมภาวนานั้น ๆ แล้วจิตก็มีความสงบตัวเข้ามา เพราะมีพี่เลี้ยงคือสติ หรือมีผู้ควบคุมรักษาคือสติ ไม่ให้ส่ายแส่ไปหรือเถลไถลไปสู่อารมณ์อื่น ๆ ต่าง ๆ ที่เคยเป็นมาของจิต จิตก็มีความสงบตัวได้ สงบหลายครั้งหลายหนเข้าไป ทีนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั้นน่ะแยกเป็นวิปัสสนาคือทางปัญญานี้ต่อไป

        ทีแรกกำหนดอันเดียวเสียก่อนเพื่อจิตมีความสงบ พอจิตมีความสงบแล้ว เรื่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั้นจะเป็นสถานที่ทำงานเพื่อความกระจายแห่งความรู้ความเข้าใจโดยทางปัญญา  แยกแยะออกดูชิ้นนั้นชิ้นนี้ พิจารณาซึมซาบไปทั่วสรรพางค์ร่างกายข้างบนข้างล่าง มองทะลุปรุโปร่งไปด้วยปัญญา สถานที่นี่หรืออาการทั้ง ๕ เป็นต้นนั่น เลยกลายเป็นทางเดินของวิปัสสนา คลี่คลายออก ทีแรกก็ให้รวมตัวเสียก่อน เช่นอย่างกระทู้ แปลว่าที่รวมตัวหรือแปลว่ามัด ทีนี้คลี่คลายมัดนั้นออก มัดที่ตัวของเรานี้ทั้งตัวนี้ มัดรัดรึงกันอยู่ด้วยเส้นเอ็นต่าง ๆ และมีหนังเป็นเครื่องหุ้มห่อไว้

        ทีนี้เมื่อปัญญาพิจารณากระจายอันนี้ออก พิจารณาคลี่คลายดูเรื่องของหนัง เอ้า คราวนี้พิจารณาหนัง ดูข้างใน กำหนดดูข้างใน กำหนดดูข้างนอก ดูทั้งข้างบนข้างล่างโดยตลอดทั่วถึง จิตใจก็ยิ่งเพลิน เห็นโทษเห็นภัยเห็นความปฏิกูลโสโครกในตัวของตัว ที่ว่าเป็นของดิบของดีเป็นของสวยของงาม เวลาพิจารณาเข้าไปตามความจริงของมันแล้ว หาความสวยความงามไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว ปัญญาสอดแทรกลงไปพิจารณาเข้าไปในเนื้อในเอ็น กระดูกก็เหมือนกัน พิจารณามาหนัง ทั้งข้างนอกข้างในของหนังมันก็เหมือนกันอีก แน่ะ

        จิตใจมันซึมซาบไปเหมือนกระดาษซึม ปัญญาทะลุไป แทรกไปๆ เข้าใจไปๆ จิตยิ่งมีความเพลินเรื่อยๆ แล้วกำหนดให้มันเปื่อยมันเน่าให้มันพังทลาย สมมุติว่าตัวเราตาย แล้วพวกเนื้อหนังมังสังอะไรนี้ค่อยเน่าค่อยพุค่อยพองขึ้นและแตกกระจายลงไป เป็นของปฏิกูลอย่างใหญ่หลวงละที่นี่ ออกจากรวมตัวกันแล้วแตกกระจายกันออกไป ยิ่งเป็นของปฏิกูลที่ประกาศให้โลกเห็นโดยตลอดทั่วถึง

        อยู่ภายในมีหนังหุ้มห่อ มีจิตวิญญาณเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ ยังไม่แสดงความปฏิกูลเท่าไรนัก เราจึงมักหลงในตอนนี้ ทีนี้พอปัญญาได้หยั่งทราบเข้าไปในอาการต่าง ๆ ตามความเป็นจริงของมันแล้ว เราจะไปฝืนความจริงได้ยังไง หนังก็สักแต่ว่าหนังเท่านั้น ถ้าแยกออกเป็นทางปฏิกูลก็ตรงไหนที่เป็นสุภะคือความงาม  มันมีแต่อสุภะความไม่สวยไม่งาม มีแต่ของปฏิกูลโสโครกทั้งนั้น พิจารณาเข้าไปเนื้อก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี เป็นท่อนๆ มันน่ารักน่ายินดีน่ายึดน่าถือยังไง แล้วพิจารณาเข้าไปในส่วนในเข้าไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นแต่ความปฏิกูลเต็มไปหมด ป่าช้าผีดิบผีแห้ง ซากอสภของสัตว์ต่างๆ มากองอยู่ในพุงนี่ รวมกันอยู่แล้วก็เป็นกองปฏิกูล เพียงลมผ่านออกมาทางทวารหนักเท่านั้นก็จะทนไม่ได้แล้ว จมูกจะหักอยู่แล้ว นั่น มันก็ยิ่งซึ้งลงไป ๆ

        จากนั้นกำหนดให้มันแตกกระจายลงไป เมื่อตายลงไปแล้วอันนี้แสดงตัวเต็มที่ กองปฏิกูลนี้แสดงตัวอย่างเต็มที่ให้เห็นอย่างชัดเจน จากนั้นก็แห้งกรอบเกรียมลงไป ๆ ส่วนน้ำก็ซึมซาบลงไป เป็นน้ำก็มี เป็นไอขึ้นบนอากาศก็มี ส่วนลมก็กลายเป็นลมไปตามเดิม ส่วนธาตุดินก็กลายเป็นธาตุดินลงไป เอ้า กระดูกเหล่านี้เป็นยังไง มันก็เป็นธาตุดิน ก็กลายลงไปเป็นธาตุดินตามเดิมจนเป็นปกติ แล้วตั้งขึ้นมาใหม่ จิตนี้เป็นจิตจริง เอ้า ตั้งขึ้นมา เอาจิตสวมเข้าไป แล้วตั้งเป็นรูปขึ้นมา จิตเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นท่านขึ้นมาอีก เอ้ากำหนด จิตนี่อย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ มันชัดเจนเต็มที่

        การพิจารณาอย่างนี้ก็เพื่อเป็นอุบายถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเราเป็นของเรา เป็นเขาเป็นของเขา ดินเป็นดินอยู่แล้วดั้งเดิม ใครจะทำให้ดินนี้เป็นอะไรอีกไม่ได้ ถึงจะปรับปรุงให้มันเป็นชนิดไหนก็ตาม มันก็คือธาตุดิน เป็นชนิดนั้น ๆ อยู่นั่นแล ไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคลดังที่เราเสกสรรปั้นยอ นี่คือความจริงลบไม่สูญ จะลบให้เป็นอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ ถึงจะปรากฏขึ้นมาในส่วนผสมของธาตุดินน้ำลมไฟประชุมกัน มีจิตวิญญาณเข้าไปครองนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราก็สักแต่ว่าเท่านั้น ความจริงก็คือดินคือน้ำคือลมคือไฟที่รวมตัวกันอยู่ จิตก็คือจิต ที่ไปหลงงมงายกับสิ่งเหล่านี้ ไปยึดว่านี้เป็นเราเป็นของเราเท่านั้นไม่เห็นมีอะไร นี่ทางปัญญา

        เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหนแล้วจิตมีความชำนิชำนาญ การพิจารณาอสุภะอสุภังนี่คล่องแคล่วแกล้วกล้า กำหนดลงไปนี้มันทะลุปรุโปร่งไปหมด การแตกการสลายทำลายก็อย่างรวดเร็ว หรือการพิจารณาให้แทงทะลุไปหมด ล้วนแล้วแต่เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันก็ไปได้อย่างรวดเร็ว อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเมื่อพิจารณารอบในส่วนร่างกายของเราอย่างเต็มที่ เพราะการพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายครั้งหลายหนจนเป็นที่พอตัวแล้ว คำว่าอุปาทานความยึดมั่นในกายก็ถอนตัวออกมา ก็จะไปถือยังไงเมื่อปัญญาหยั่งทราบตามหลักความจริงแล้ว เนื่องจากเราพิจารณาเพื่อหาความจริง ปัญญาเข้าถึงความจริงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อย่างเต็มที่แล้วมันก็ต้องถอนตัวเข้ามาไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าอุปาทานทางกายหมดไป เหลือแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

        เวทนานี้แยกได้ ๒ อย่าง เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ สุข ทุกข์ เฉย ๆ มีได้ทั้งทางกายและใจ เพราะฉะนั้นเวทนาจึงเป็นส่วนละเอียดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของใจ แต่เมื่อจิตของเราได้พิจารณาได้ความละเอียดลออขนาดนี้แล้ว จะมีแต่สุขเวทนาเด่นดวงอยู่ภายในจิต ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีความเฉาเศร้าหมองบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแฝงอยู่นั้นแล จิตก็พิจารณาแยกแยะพวกเวทนา สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นตามหลักธรรมชาติของมัน แล้วก็ดับไปตามเรื่องของมันเท่านั้น สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นสภาพอันหนึ่ง ๆ ท่านจึงเรียกว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สิ่งเหล่านี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด

        สัญญา ก็จำได้หมายรู้ จำได้แล้วดับไป ๆ หายไป ไม่เห็นเป็นสาระแก่นสารอะไร

        สังขาร ปรุงขึ้นทางดีก็ดี ทางชั่วก็ดี ปรุงเท่าไรคิดเท่าไรก็ดับไปเท่านั้นเอาสาระอะไรกับมันได้ เป็นอาการออกมาจากใจแต่ไม่ใช่ใจ อาการของใจจึงต้องมีเกิดมีดับ

        วิญญาณ ความรับทราบจากสิ่งภายนอกที่มาสัมผัส เช่น ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง เป็นต้น ก็เกิดความรู้ พอสิ่งเหล่านั้นผ่านไปอันนี้ก็ดับไปพร้อม รับทราบเพียงแย็บ ๆ แล้วก็ดับไป ๆ ล้วนแล้วแต่กอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เราหาสาระสำคัญจากมันได้ที่ไหน

        ถ้าเราถือเหล่านี้มาเป็นตน เราก็ต้องเป็นผู้เกิดอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ดับเราก็ต้องดับไปด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดเราก็ต้องเกิดไปด้วย เมื่อเราไม่ถือสิ่งเหล่านั้น เราเห็นตามด้วยปัญญาของเราแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดจะดับเราก็ไม่เป็นอะไร เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ เกิดดับไปก็ทราบว่าเรื่องเขาเกิดเขาดับ สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ ปรากฏตัวขึ้นมาเกิดๆ ดับๆ เราก็ทราบว่าเขาเกิดๆ ดับๆ ผู้รู้จริงๆ ไม่ดับ ก็ยิ่งกลั่นกรองจิตใจเข้าไปละเอียดลออๆ จนเป็นที่เข้าใจในอาการทั้ง ๔ คือ เวทนากาย เวทนาจิต แน่ะ รู้เข้าไป

        แต่ส่วนเวทนาจิตนี้ยังไม่ได้สิ้นสุดในระยะนี้ เวทนาของกายนี้เข้าใจปล่อยได้ เพราะขันธ์ ๕ ฟังแต่ว่าขันธ์ ๕ เวทนาส่วนร่างกายนี้จัดเข้าในกองขันธ์ ๕ เข้าใจปล่อยได้ สัญญา สังขาร วิญญาณปล่อยได้ ส่วนเวทนาทางจิตถ้าอวิชชายังไม่ดับยังดับไปไม่ได้ จิตละเอียดเท่าไรก็เพราะอวิชชา คือกิเลสละเอียดเวทนาก็ต้องมีละเอียด คือสุขอย่างละเอียด ทุกข์ก็มีอย่างละเอียดแฝงกันไปด้วย ถ้ามีสุขพึงทราบว่ามีทุกข์ แน่ะ จิตใจก็ย้อนเข้าไปพิจารณาเข้าไป เมื่อพิจารณาอาการทั้ง ๔ นี้เข้าใจแล้วก็ปล่อย นี่ละเรื่องที่ว่าตามดูความจริง ให้ทราบว่าเรื่องการเกิดการตายเป็นอย่างไร ตามดูความจริงที่เป็นสาเหตุให้พาเกิดพาตายนั้นว่าเป็นมาจากอะไร ทางภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

        ในระยะเพียงรู้เท่าขันธ์ ๕ นี้ก็ได้ทราบชัดแล้วว่า เรื่องภพหยาบๆ อย่างนี้จะไม่มีอีกแล้วภายในจิต ส่วนละเอียดคืออะไร ก็ภพที่เป็นนามธรรมส่วนละเอียด  จะพูดถึงว่าความเป็นทิพย์ ก็เช่นอย่างพวกกายทิพย์ พรหมโลก อันนี้ก็ยังเป็นสมมุติ จนกระทั่งสติปัญญาสามารถแทงทะลุเข้าไปในตัวกิเลสอันแท้จริง ซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจให้แตกกระจายออกไปไม่มีเหลือเลย ขึ้นชื่อว่ากิเลสแม้ละเอียดสุด ก็ได้ดับไปแล้วด้วยสติปัญญาที่แหลมคม

        นั่นแหละที่นี่ทราบได้ชัดว่าจิตนี้ควรแก่ความไม่เกิดแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเป็นอันว่ายุติ เรื่องการเที่ยวจับจองป่าช้าในภพต่างๆ ภพน้อยภพใหญ่ทั้งหลายเป็นอันว่ายุติกันแล้วที่นี่ หมด เลิกกันพูดง่ายๆ เลิกการเที่ยวจับจองป่าช้า เลิกความเป็นเจ้าของป่าช้าคือการเกิดตาย เลิกการท่องเที่ยวหาจับจองที่เกิดที่ตายอีกต่อไป เป็นความประจักษ์ภายในจิต ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลยขึ้นชื่อว่าสิ่งที่จะพาให้ไปก่อกำเนิดเกิดที่นั่นที่นี่ นั้นแลท่านเรียกว่าจิตบริสุทธิ์ รู้ได้ชัดที่นี่ เกิดตายหรือไม่เกิดตายรู้ รู้อยู่กับจิต

        พระพุทธเจ้าทรงรู้อย่างนั้น จึงได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนโลก ทั้งอุบายวิธีแก้ไขดัดแปลงรื้อถอนกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยปฏิปทา ทรงแสดงทั้งผลเป็นลำดับ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงผลอันสุดยอด ได้แก่ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงสุขในหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั้นเป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้จะมีอยู่แค่ขั้นสมมุติ สมมุติยังมีอยู่ภายในจิตคืออวิชชา มันจะละเอียดแหลมคมขนาดไหนอวิชชานั้น เรื่องเวทนาก็มีความละเอียดแหลมคมเช่นเดียวกัน แฝงกันอยู่เช่นเดียวกับตัวและเงาซึ่งมีอยู่ด้วยกัน

        สุขก็ดีทุกข์ก็ดีอันเป็นส่วนละเอียด จะยังมีอยู่ภายในจิต เพราะอวิชชาซึ่งเป็นตัวการของเงาทั้งสองนี้ยังมีอยู่ภายในจิต พออวิชชาสิ้นลงไปแล้ว เวทนาทั้งปวงก็ดับไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงหาเวทนาทั้ง ๓ นั้นไม่ได้ภายในจิตของท่าน ตั้งแต่ขณะบรรลุธรรมถึงขั้นนี้แล้ว เวทนาทั้ง ๓ จะเข้าไปเกี่ยวข้องจิตไม่ได้เลย ไม่มี เพราะจิตนั้นเป็นจิตวิมุตติ เวทนานี้เป็นสมมุติ เข้ากันได้อย่างไร

        นี่ละจิตอันนี้เป็นจิตที่ประจักษ์ละที่นี่ หมดเรื่องการเกิดตาย เพราะอวิชชาเป็นต้นเหตุ นี่ท่านเรียก อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ, วิญฺญาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ, นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ, สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ, ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ, เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ, ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ, อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ, ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ, ชาตินิโรธา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ นั่น เมื่ออวิชชาดับ สังขารอะไรๆ ดับ สังขารดับ วิญญาณดับ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ. ดับแล้วโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ

        นี่แหละหลักของธรรม สิ่งเหล่านี้ท่านเขียนไว้ จารึกไว้ในคัมภีร์ นั่นมีแต่ชื่อนะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ชื่อของกิเลส ชื่อของอวิชชา บอกเรื่องราวของอวิชชาอันเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ให้เกิดวิญญาณ คือบอกเรื่องราวของกิเลสตัณหาที่เกิดต่อเนื่องกันไป และเล่าเรื่องราวของวิธีการดับกิเลสตัณหาดับอวิชชาซึ่งเป็นกิเลสทั้งหลาย เรื่อยไปจนกระทั่งถึงดับโดยสิ้นเชิง ตัวอวิชชาแท้ๆ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แท้ๆ คือใจ อยู่ที่ใจนี้ ท่านสอนชี้เข้ามาตรงนี้ ดูที่ตรงนี้ ให้เป็นที่เข้าใจ

        นี่การพิสูจน์เรื่องภพเรื่องชาติ การเชื่อเรื่องภพเรื่องชาติเชื่อที่จิต ว่าจิตนี้เป็นนักท่องเที่ยว ดังท่านอาจารย์มั่นท่านพูดและได้เขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จิตนี้คือนักท่องเที่ยวท่านว่า เรายอมกราบสนิทเลย พอตัดกงกรรมของนักท่องเที่ยวคืออวิชชานั้นออกได้แล้ว หมดไม่มีอะไรเหลือ เป็นวิวัฏจักรที่นี่ หมุนกลับหรือเป็นธรรมจักรก็ได้สิ้นสุด นี่การประพฤติปฏิบัติธรรม ผลแห่งการปฏิบัติธรรมของผู้เอาจริงเอาจัง จะต้องได้รับอย่างนี้ ตัดสินขาดจากวัฏวนของตนภายในจิตใจได้อย่างนี้ไม่ต้องสงสัย

        แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนานแสนนานเพียงไรก็ตาม ธรรมเป็นธรรม คงเส้นคงวาต่อความเหมาะสมในการแก้กิเลสทุกประเภท จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาในการแก้กิเลสทุกประเภท พระพุทธเจ้าจะทรงพระชนม์อยู่หรือปรินิพพานไปแล้วไม่สำคัญ สำคัญที่พระโอวาทที่สอนไว้แล้วนี้ เป็นพระโอวาทเพื่อแก้กิเลสทุกประเภทให้ขาดกระเด็นออกจากใจ สำหรับผู้ปฏิบัติตามนั้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าเราไม่สนใจปฏิบัติ แม้จะเกาะชายจีวรพระพุทธเจ้า มันก็แบกกิเลสตัณหาเต็มหัวใจอยู่นั่นแล พระองค์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ พากันเข้าใจ

        การปฏิบัติให้มีความพอใจ บึกบึนต่อการประพฤติปฏิบัติของตน เอ้า ทุกข์ยอมรับ เราทุกข์มาในภพในชาติ ชาติน้อยชาติใหญ่อะไรจนกระทั่งป่านนี้ทำไมจึงทนได้ทนมาจนป่านนี้ เหตุใดเวลาประกอบความพากเพียรมีทุกข์ เกิดทุกข์บ้างจะทนไม่ได้ล่ะ เราต้องเอามาเทียบเคียงเพื่อหาทางแหวกว่ายไปได้ เราอย่าท้อถอย เราอย่าเอากิเลสเข้ามากล่อมหัวใจ เดี๋ยวนี้เราจะเอาธรรมมากล่อมใจต่างหาก เราเชื่อธรรมเราไม่เชื่อกิเลส เราจะเอาแต่กิเลสมากล่อมเราเราก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด มันกล่อมให้หลับสนิท

เอาแค่นี้ก่อน

พูดท้ายเทศน์

        ธุดงควัตร ๑๓ เป็นอุปกรณ์สำคัญสนับสนุนในการบำเพ็ญ เช่น การไปเยี่ยมป่าช้าเข้าไปพิจารณา นั่นเป็นหลักภาวนาแท้ ๆ ไปเยี่ยมป่าช้าไปทำไม ไปให้พิจารณาเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภังเราไม่สามารถมองเห็น แม้ป่าช้าจะอยู่ในตัวของเราทุกระยะเราก็ไม่สามารถมองเห็น จึงต้องให้ไปดูที่นั่น เพื่อจะเป็นสักขีพยานและน้อมเข้ามาสู่ตน

        ต้องพิจารณาลงไปถี่ๆ เรื่องร่างกาย แล้วก็เหมือนไฟได้เชื้อ ปัญญาหยั่งลงไปในส่วนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วมันก็ติดต่อกันไปเรื่อยๆ ซึมซาบไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย เห็นแจ้งเห็นจริงตามหลักธรรมชาติของมัน และสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับร่างกายนี้ จะมีอะไร มันก็ขันธ์ ๕ แน่ะมันเกี่ยวโยงกันอยู่นั่น พิจารณาเหล่านี้ตลอดทั่วถึง มันจะไม่พุ่งเข้าถึงจิตอันเป็นรวงรังของกิเลสเป็นเชื้อกิเลสและทำลายกันได้ได้อย่างไร ธุดงค์ข้อนี้เป็นธุดงค์ที่แก้กิเลสโดยตรง

        นอกนั้นก็มีแก้กิเลส นั้นเป็นเครื่องหนุน เช่น อยู่ตามป่า รุกขมูล เป็นเครื่องส่งเสริมเป็นเครื่องอุดหนุน อัพโภกาส รุกขมูล เป็นเครื่องตัดกิเลสแต่ละประเภท ๆ ความหรูหรา อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ อยู่ตามกระต๊อบ ในป่าในเขาซึ่งไม่มีสาระอะไร จิตใจก็ไม่ผูกพัน จิตใจก็ไม่ลืมตัว ผิดกับที่กุฏิดี ๆ เป็นตึกเป็นห้างเป็นไหน ๆ

        พระผู้ตั้งใจถอดถอนกิเลส ก็ต้องเป็นพระแบบพระพุทธเจ้าทรงสอน เพราะแบบที่ทรงสอนไว้นั้น เป็นแบบที่สอนแก้กิเลสโดยถ่ายเดียว ทุกแบบทุกฉบับทุกแง่ทุกมุมแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสั่งสอนเพื่อสั่งสมกิเลส หากปฏิบัติตามนั้นแล้วอะไรจะสวยงามยิ่งกว่าพระ ไม่มีอะไรสวยงามยิ่งกว่าพระ ไม่มีผู้ใดที่จะน่ากราบไหว้ยิ่งกว่าพระ ไม่มีผู้ใดที่จะน่าเคารพนับถือหรือพึ่งเป็นพึ่งตายได้ยิ่งกว่าพระ เพราะพระเป็นผู้สุจริตเต็มที่ เป็นเพศที่ไว้วางใจ และจิตใจเราก็ทำให้เป็นที่ไว้วางใจเราด้วย แล้วทำไมจะไว้วางใจคนอื่นไม่ได้

        แต่ที่มันขัดมันแย้ง เกิดตำหนิติเตียนกันทั่วโลกดินแดน ก็เพราะบวชมาแล้วไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ก้าวก่ายกัน ปีนเกลียวกับหลักธรรมหลักวินัย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นข้าศึกของธรรมวินัยในเพศแห่งนักบวชเราก็ได้ ความมักง่าย ความเอาตามชอบใจ ทีแรกก็เป็นอย่างนั้นเสียก่อน ต่อไปก็มึนชาไปหมดแล้วด้านไปหมด และเห็นการตามชอบใจ เลยเห็นเป็นความสะดวก เห็นเป็นอรรถเป็นธรรมไปเสียหมด กิเลสเลยกลายมาเป็นธรรมของคนคนนั้น ธรรมก็เลยกลายเป็นข้าศึกของคนคนนั้นไป นี่แหละเรื่องตัวเองทำ สร้างข้าศึกขึ้นมาแก่ตัว แล้วเป็นเหตุให้ถูกติฉินนินทาจากโลกทั่วๆ ไปก็เพราะเหตุนี้เอง

        ถ้าเราปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยที่ทรงสั่งสอนไว้จริง ๆ แล้ว จะหาที่ตำหนิไม่ได้เลยไม่ว่าข้อใดแง่ใด เราจะโง่จะฉลาดขอให้โง่หรือฉลาดอยู่ในหลักธรรมหลักวินัยนี้เถอะ อย่าไปโง่หรือฉลาดแบบแหวกแนวซึ่งเป็นเรื่องฆ่าตัวเองทั้งนั้น ทันสมัยไม่ทันสมัย อะไรเป็นสมัย อะไรเป็นภัย สมัยไม่ได้เป็นภัย กิเลสต่างหากเป็นภัยที่หัวใจคน แก้ลงที่ตรงนั้น

 

************

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก