เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
ทนทุกข์เพื่อสุข
เดินไปทางแคบ ๆ มีกอไผ่กอหนึ่งล้มทับขวางทาง เราก็สะพายบาตรแบกกลดไป ก็ครองจีวร มันชัดเจนจริง ๆ นะความฝันนี้ จึงไม่ลืมจนกระทั่งทุกวันนี้ ความฝันที่ใช้เป็นคติมันไม่ลืมนะ เพราะเราหลับด้วยการภาวนานี่ ฝันก็ฝันเป็นมงคล ฝันปรากฏว่านอกจากทางตีบตันหมดแล้วก็ สองฟากทางมันก็ตันไปหมด ตันด้วยความรกชัฏของป่า แล้วมีกอไผ่ล้มทับทางอยู่ขวางทางอยู่ เอ๊ นี่เราจะไปอย่างไร มองหาทางไหนก็ไม่มีทางจะไป ทางซ้ายทางขวาก็หาทางไปไม่ได้ นอกจากต้องกลับคืนเท่านั้นเอง กับไปข้างหน้านี้ถ้าไปไม่ได้ก็ต้องคืน ที่จะแยกไปโน้นไปนี้ไม่มีทางแยก
ในความฝันมันชัดอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ติดหัวใจเหมือนกับติดตาใจ ยังมองดูหาช่องทางจะไป มันมีช่องเล็ก ๆ พอจะหลวมตัวไปพอผ่านพ้น พอจะไปได้อยู่ พอจะหลวมบาตรเราหลวมหัวเรานี้ พอหัวมุดเข้าไปนี้ได้ เราก็ดึงบาตรไปจับสายบาตรดึงไปนี้ได้ เอ้า พยายามดึง ปรากฏว่าเปลื้องผ้าจีวรออกนะ จีวรเก็บ ๆ ๆ แล้วก็ทำเหมือนอย่างว่า ค่อยคลานไปจริง ๆ คลานไปจนกระทั่งอกติดพื้นไปเลย
ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้ มันหลวมเฉพาะคนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีที่จะมากกว่านั้น พยายามบืนไป ๆ ค่อยบืนไปทีละเล็กละน้อย โอ้โห บืนไปจนพ้นได้ที่นี่ พอพ้นได้แล้วก็จับเอาสายบาตร ดึงบาตรมาตามหลังเจ้าของ กลดไสไปข้างหน้า เหมือนกับเราทำเวลาดี ๆ ไม่ได้หลับนี่นะ
ความฝันนี้ก็แปลกเหลือเกิน เหมือนเราทำไปสด ๆ ร้อน ๆ ที่ไม่ได้หลับนี่ เหมือนเราลอดไปเวลาไม่หลับนี่ กลดนั้นก็ไสไปข้างหน้าก่อน แล้วเราก็เอาอกถูดินไป มันเลยคลานไม่ใช่คลานนะ มันอะไรไม่รู้ละ ตะเกียกตะกายไป พอเจ้าของพ้นไปแล้ว เพราะดึงบาตรมาด้วยสายบาตรมาด้วย พอพ้นไปแล้วมือก็จับสายบาตรได้ดึงมา ดึงมาช่องนั้นแหละ ดึงมาได้หลุด พ้นที่นี่นะ ไปได้
แล้วมองคืนข้างหลังอีกมันเหมือนกับเป็นช่องให้หลวมตัวเราเท่านี้เอง มันก็แปลกแต่ที่ว่าหนามเกาะหนามขูดหนามข่วนอะไรนี้ไม่ปรากฏนะ ไม่ปรากฏในความฝัน ปรากฏแต่ว่ามันไปแบบนั้น ทีนี้พอพ้นนั้นไปประมาณสัก ๑ เส้น ประมาณ ๒๐ วานี่แหละ ปรากฏว่าเป็นน้ำ โอ้โห มหาสมุทรนี่ เวิ้งว้างมองอะไรไม่เห็นเลยเหมือนเราไปดูทะเลนั่นแหละ เห็นแต่ฝั่งที่เรายืนเหยียบอยู่นี่ ฝั่งหน้าไม่มีเลย ฟ้ากับน้ำติดกันเลย ฟ้าครอบน้ำ โอ้โห นี่จะไปยังไงนึกในใจ พอนึกเท่านั้น มองดูนี้มันเวิ้งว้างหมด
ไม่นานมันเหมือนกับเป็นเรื่องเนรมิตเป็นอะไร อยู่ทิศนี้จำได้ทิศตะวันออกเฉียง ๆ ไปนี้หน่อย เรายืนหันหน้าไปโน่น สักเดี๋ยวเรือก็มา ไม่ได้พูดกันนะไม่ได้พูดกับคนเรือสักคำเดียว เรือก็มาถึงพอดี เราก็ปุ๊บปั๊บลงไปเรือ เหมือนกับไม่ได้พูดกับคนเรือว่าอะไรต่ออะไร ไม่ได้พูดกันว่าจะไปโน้นไปนี้อะไร
แต่เราลงไปถึงเรือแล้วเรามองเห็นเกาะหนึ่งอยู่โน้น เกาะอยู่กลางน้ำกลางทะเล กลางมหาสมุทรไม่ใช่ทะเล เราก็จะไปโน้นละ พอดีเรือมาจอดปุ๊บนั้นแล้วเราก็ลงเลย เรือก็พาบึ่งเลยนะ จำไม่ได้ว่าได้บอกเรือหรือไม่บอก ที่แน่ใจก็คือว่าไม่ได้บอก แต่ทำไมเรือพาไปเลยตรงนั้นน่ะ มีคนเดียวที่ขับเรือมา บึ่ง ก็ความฝันมันก็เร็ว เวลาไปในนั้นก็ไม่เห็นมีอุปสรรคมีลมมีมรสุมอะไรที่จะมาพัดน้ำมากระทบกระเทือนกับเรือเรา ให้เกิดเป็นฟองเกิดเป็นคลื่นอะไรก็ไม่เห็นมี
พุ่ง ๆ ไม่นานก็ไปถึงเกาะนั้น เพราะเป็นความฝันมันไม่นาน มันเป็นเครื่องเทียบเคียง พอถึงปั๊บเราก็ก้าวขึ้นเลย เราก็ไม่สนใจกับเรือที่นี่ ไม่ทราบว่าเรือไปไหนอยู่แล้ว พอลงจากเรือก็ปุ๊บขึ้นเลย แล้วเรือไม่ทราบว่าไปไหนแหละ ไม่สนใจ ขึ้นไป ๆ ถึงบนยอด มันเป็นเขานี่นะเกาะ เกาะนั้นยังเป็นเขาด้วย ขึ้นไป ๆ ไปเห็นพ่อแม่ครูจารย์นั่งบนเตียง บนแคร่ไม่ใช่เตียง เป็นแคร่ถักเหมือนผ้า ตำหมากจ๊อก ๆ อยู่
ทำไมจึงมาได้ ท่านว่าอย่างนั้นนะ หือ ท่านมหาทำไมจึงมาได้ โอ๊ย ข้ามด้วยเรือแล้ว ข้ามเรือมานี่ เท่านั้นพูดไม่มากนะ เอ้างั้นตำหมากให้หน่อย ท่านก็เลยยื่นตะบันหมากมาให้เรา เราก็ตำจ๊อก ๆ ๒ - ๓ จ๊อกเลยรู้ตัว อื๊อโมโหมันฝันยิ่งกว่านี้ไม่ได้เหรอ ชักโมโห ฝันได้เรื่องได้ราวยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่ได้เหรอ เพียงท่านยื่นตะบันหมากให้แล้ว ตำหมาก ๒ - ๓ จ๊อกเท่านั้นแหละตื่นแล้ว
แต่เราก็มาตรอง เอ๊ จะสำเร็จแท้ ๆ นะนี่ นี่แสดงถึงความจะข้ามวัฏฏะวัฏสงสาร ข้ามมหาสมมุติมหานิยม คำว่ามหาสมุทรก็เทียบกับมหาสมมุติมหานิยม ที่โลกลุ่มหลงกันจมกันอยู่ในมหาสมุทรมหาสมมุติมหานิยม ข้ามไปไม่ได้ เราคิดในใจเรารู้สึกกระหยิ่มนะ พอตื่นเช้ามาก็มุ่งแล้ว มีโอกาสเมื่อไรก็จะกราบเรียนเล่าถวายพ่อแม่ครูจารย์
เช้าวันหลังนี้ คือวันหลังไม่ใช่เช้า ตอนเย็น ๆ วันหลังปัดกวาดเสร็จแล้วก็ขึ้นไปหาท่าน คุยกันธรรมดาธรรมะธัมโม ก็เลยเล่าเรื่องนี้ถวายท่าน ท่านทำนายเก่งนะเหมือนกับความที่เราคิดไว้ พอเราเล่าเรื่องนี้ถวายท่าน เออ ในเบื้องต้นนี้ลำบากนะท่านมหา เอาให้ดีนะท่านว่างั้น เบื้องต้นนี้ตะเกียกตะกายจะเป็นจะตายนะ แต่อย่าถอยนะ นิมิตนี่บอกชัดเจนแล้วนะ พ้น ท่านว่าอย่างนี้นะ
แต่ขั้นเริ่มแรกนี้ต้องเอาให้จริงให้จัง เอ้าเป็นก็เป็นตายก็ตาย เอาให้มันลอดได้..กอไผ่ ท่านว่าอย่างนี้นะ กอไผ่คืออุปสรรคเครื่องกีดขวางนั่นเอง กิเลสตัณหาอาสวะเป็นขวากเป็นหนามกีดขวางทางเดินของเรา ทางเราเดินนั้นคือความเพียรของเรา พยายามลอดเอาซิ ความพยายามความเพียรของเรานั่นเอง นี่พอพ้นไปนั้นแล้วสะดวกที่นี่นะ ท่านว่าอย่างนี้นะ นี่มาติดตอนต้น เอาให้ดีนา
จริง ๆ ด้วยนะอย่างท่านว่า เพราะตอนนั้นจิตผมกำลังเสื่อมนี้ แหมเป็นทุกข์เหมือนกับฟืนกับไฟ พยายามเท่าไรเป็นปีนี่ จิตพอเสื่อมเข้าได้บ้าง เข้าสมาธิได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นปีมันไม่ขึ้นเลย จึงต้องทุ่มกำลังกันลงเต็มที่ ตอนนี้ลำบาก โห จะเป็นจะตาย นี่ตอนที่ว่าลอดกอไผ่อันนี้เอง ทั้งจิตเสื่อมด้วย
จากนั้นก็เร่งความเพียร มันก็เหมือนไสครกขึ้นจอมปลวก เดี๋ยวมันกลิ้งทับหัวเราลงไป เดี๋ยวมันทับหัว เรียกว่าทับไม่ตายว่างั้นเถอะ พอสลบไสล กลิ้งไปแล้วก็กลับคืนมาอีก กลิ้งไปอีก กำลังไม่พอกลิ้งทับหัวเราลงไปอีก เอ้าลุกได้ คือฟื้นจากสลบแล้วไปกลิ้งมันมาอีกอยู่นั่นแล้ว นี่ตอนนี้แหละมันยาก มันเข้ากันได้จริง ๆ นะ ปรากฏว่าเข้ากันได้ปั๊บกับนิมิตอันนี้
พอหลังจากนั้นแล้วก็เสมอไปเรื่อยนี่นะ มันถูกนี่ พอตั้งจิตนี้ได้แล้ว ได้จิตคือจิตอันนี้ไม่เสื่อมแล้ว หลังจากนั้นมาก็ฟาดตลอดรุ่ง ๆ มันก็ยิ่งแน่ จนกระทั่งถึงขั้นของจิตชัดเจนเลยว่า เอออย่างนี้ไม่เสื่อม นั่นเอาละที่นี่มันแน่ละนะ ต้นมันต้องอย่างนี้ ไม่เสื่อมทีนี้ จะให้เสื่อมเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไม่เสื่อม มันรู้แล้ว มันถึงพักหนึ่ง ไม่กำเริบในครั้งนี้ก็รู้แล้ว ไม่เสื่อม..รู้
แต่ถึงจะรู้ขนาดไหนก็ตาม ความเสื่อมนั้นมันเป็นครูเอกแล้ว พร่ำสอนเรามาเป็นปีแล้ว ใจได้รับความทุกข์ความทรมานเพราะการฝึกฝนอบรมตนเอง เพราะความเสื่อมเป็นเหตุ ๆ มันก็เป็นครูอย่างเอก ถึงอย่างไรมันก็ไม่นอนใจ ถ้าหากจิตจะเสื่อมคราวนี้ขอให้ตายเสียก่อนถึงจะเสื่อมได้ ถ้าไม่ตายแล้วเสื่อมไม่ได้เพราะมันเข็ด
นี่พูดถึงเรื่องนิมิต ต่อจากนั้นไปแล้วก็ค่อยเสมอ ๆ สมาธิเสมอ ๆ ไปเรื่อย ขั้นปัญญานั่นแหละจะข้ามมหาสมมุติมหานิยมไปเกาะนั้น ตั้งแต่นั้นมันหมุนติ้ว มหาสติมหาปัญญาหรือสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนติ้วทั้งวันทั้งคืน ไปเองก็เหมือนกับเรือพาไปเอง พอลงปั๊บเรือก็พาไปเอง
จิตเรามุ่งก็มุ่งไปโน้น ก็ไม่ต้องบอกคนพายเรือ พายเรือมันก็เป็นพุ่งหลาวไปเลยนะ มันไม่ใช่เรือจักรเรือยนต์นะ ว่าพายก็ไม่ใช่ มันอะไรก็ไม่รู้นะพูดไม่ถูกเรื่องนิมิตนี่นะ มันไม่ใช่พายเรือไป ว่าเหมือนกับเขาพายเขาแจวไม่ใช่นะ มันเป็นยังไงเรือหากพาพุ่ง ๆ ของมันไป มันมีคนคนหนึ่งนั่งอยู่นั้น ไม่ทราบเขาขับเขาไม่ขับ มันพอเป็นเครื่องหมายเทียบเคียงกันเฉย ๆ มันก็พุ่ง ๆ ไปเลย ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเวลาข้ามมหาสมุทรไปหาเกาะนั้น
นี่ก็หมายถึงเรื่องสติปัญญาที่ออกเดินแล้ว ตอนจากนี้ไปหาอันนั้นเป็นระยะ ๑ เส้น ก็คือสมาธิ มันก็ราบรื่นของมันไปเรื่อย ๆ เสมอไปเรื่อย ๆ จากนั้นก็เป็นปัญญา หมุนติ้ว ๆ ก็ไม่เห็นมีอุปสรรคตรงไหนปัญญาก็ดี เป็นแต่เพียงว่ามันขุดมันค้นไปตามกำลังของปัญญา ไปตามเรื่องกำลังของกิเลสมากน้อย ปัญญาก็ผลิตขึ้นมา กิเลสก็ค่อยหมดไป ๆ นี่อันหนึ่ง
อันหนึ่งที่เวลาเราจะออกปฏิบัติ เราตั้งสัจอธิษฐานอยู่ที่วัดบรมนิวาสนี่ เราอธิษฐานไว้เป็น ๓ ข้อ คือผู้ใหญ่ทางโน้นไม่ให้ออก เรานั่นอยู่ไม่ได้ ยังไงต้องออกโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ออกให้ตายเสียดีกว่า แต่เราไม่ได้ตอบผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ได้แก่สมเด็จฯนั่นเอง สมเด็จมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ รู้สึกท่านเมตตาผมมาก ท่านจะพยายามเอาไว้จะไม่ให้ผมออก
พอดีตอนนั้นท่านไปต่างจังหวัด ผมได้โอกาสก็ลาสมเด็จ ฯ สมเด็จมหาวีรวงศ์ ติสฺโส อ้วน เพราะตอนนั้นท่านเป็นพระราชกวี สมเด็จ ฯ เรานี่ สมเด็จมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ ผมก็ลาสมเด็จ ฯ ได้ ก่อนที่จะได้ไปนี้ คืออธิษฐาน ตั้งใจอธิษฐานจริง ๆ ไหว้พระสวดมนต์เรียบร้อยแล้วก็ตั้งสัจอธิษฐานขอบันดลบันดาล ข้อแรกคือว่า ถ้าหากว่าเราออกไปแล้วจะได้สำเร็จตามความมุ่งหมายโดยสมบูรณ์แล้ว ขอให้นิมิตนี้แสดงอย่างอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยรู้เคยเห็น ให้สมกับภูมิธรรมที่เรามุ่งไว้นั้น เราว่าอย่างนี้นะ
คำว่าเรามุ่งก็คือหมายพระนิพพานอย่างเดียว เราไม่มุ่งอย่างอื่น หากว่าเราได้ออกด้วยแล้วสมความมุ่งหมายเต็มภูมิด้วย เต็มภูมิจิตที่มุ่งหวัง ก็คือหมายถึงพระนิพพานด้วย ขอให้แสดงความอัศจรรย์ขึ้นในนิมิตนี้เป็นอันดับหนึ่ง หากว่าได้ออกคือเราได้ออกด้วย และสำเร็จความมุ่งหมายด้วย ให้ฝันอย่างอัศจรรย์ เพราะผู้ใหญ่ผูกมัดมาก แต่ยังไงก็จะต้องออก
ออกแล้วไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย ก็ขอให้ฝันไปแบบนั้น ฝันเป็นข้อเทียบเคียงว่าออกไปแล้วก็เถลไถลไม่ได้เรื่องได้ราว ทั้งไม่ได้ออกด้วย ทั้งไม่ได้เรื่องอะไรด้วย ก็ให้แสดงใน ๓ วาระ ๓ ประโยคนี้ จะให้รู้ในทางไหนก็เอา รู้ทางภาวนาก็เอาหรือให้รู้ทางความฝันก็เอาเราว่า เพราะเราภาวนาอยู่นี่ ไปเรียนหนังสือเราก็ภาวนาของเรา
พอดีหลับไป มันก็ตั้ง ๖ ทุ่มแล้วนี่ พอหลับไปก็ฝัน โอ้โห เหาะรอบนครหลวงอะไร มันเหมือนกรุงเทพแต่ไม่ใช่กรุงเทพ นครหลวงอะไรก็ไม่รู้แหละ มองนี้สุดสายหูสายตารอบเมือง คือเมืองนั้นขนาดนั้น กว้างขนาดนั้น สุดสายหูสายตา โน่นเราเหาะขึ้นไปข้างบนมองลงไปนะ โอ้โห มันกว้างขวางเหมือนกับว่าเมืองไทยเราทั้งเมืองเป็นเมืองหลวงทั้งนั้น ว่างั้นเถอะ แผ่นดินไทยทั้งแผ่นทั้งแผงเป็นเมืองหลวงนั้นทั้งนั้น แล้วมองลงไปนี้ อู๊ย ตึกรามบ้านช่องมันเป็นหอปราสาท ไม่ใช่เป็นบ้านเป็นเรือน
ยังติดตาใจอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ มองความสง่าผ่าเผย ความมีสีมีแสงเลื่อมเป็นพั่บ ๆ เหมือนยังกับว่าลูกตาเรานี้จะแตกไปโน่นน่ะ คือแสงสว่างความแพรวพราวของเมืองนั้นน่ะ มองไปเหมือนกับทองคำทั้งแท่ง เป็นลักษณะนั้น เหมือนทองคำหมด ตึกรามบ้านช่องที่ไหนเป็นเหมือนทองคำธรรมชาติ แล้วแสงยังกระจายออกมาเหมือนไฟฉายเรานี่ ขนาดนั้นยังเหาะรอบถึง ๓ รอบนะ เหาะรอบพระนครหลวงใหญ่ ๆ กว้าง ๆ เหาะรอบถึง ๓ รอบแล้วก็ลง พอลงถึงพื้นก็พอดีรู้สึกตัว
โอ้โห กระหยิ่มเลย สำเร็จ ทั้งอัศจรรย์เมืองหลวงนั้นด้วย และเวลาเราเหาะลอยไปนี้ก็ตัวปลิวไปเลย ไม่ได้มีอะไรเป็นอุปสรรค เป็นหนักเป็นกด เป็นการกดการถ่วงตัวเองขึ้นลำบากขึ้นยากก็ไม่เห็นมี แสดงว่าออกยาก ออกไปแล้วไม่ได้สมความมุ่งหมาย นี่พอเหาะขึ้นไปก็เหาะสะดวกสบาย ตัวลอยไปเลย ไปเห็นเมืองนครหลวงนั้นเป็นนครอัศจรรย์ เหมือนสวรรค์ว่างั้น พูดง่าย ๆ แน่คราวนี้อย่างไรต้องได้ออก แล้วอย่างไรต้องสำเร็จ
พอตื่นเช้ามาเข้าไปลาท่านสมเด็จ ท่านก็เลยให้เลย บึ่งเท่านั้นซิ ออกมาแล้วสมเด็จ ฯ ตามอีกแล้ว ท่านจะไปอุบลฯ ท่านจดหมายมาสั่งให้เราพักอยู่ที่อำเภอจักราช จังหวัดโคราชนี้แหละ ท่านสั่งวันนั้นท่านจะมาให้มารอรับ ให้มารอที่สถานีจักราช ท่านจะเลยไปอุบลฯ..ตอนออกพรรษาแล้วนี่ ท่านออกพรรษาใหม่ ๆ
ตอนแรกท่านเขียนจดหมายมาบอกว่าให้กลับไปกรุงเทพอีก เราก็ไม่กลับ เราก็จำพรรษาอยู่ที่นั่น ออกพรรษาแล้วท่านมา ทีนี้ท่านจะเอากลับคืน วันนั้นวันนี้เราจะมา ไปพร้อมเราท่านว่า ไม่ได้มหาบัว ๆ ต้องกลับกรุงเทพ ๆ พูดยังไม่ได้สักกี่ประโยค ก็เรายังไม่ได้ตอบสักคำ พอดีรถไฟก็เคลื่อนจากสถานีเราก็โดดลง พ้นตัวไปเรียกว่ารอดตัว เมื่อพากันไปแล้วไม่นานผมก็เปิด หนีมาหาพ่อแม่ครูจารย์ พูดถึงเรื่องนิมิตนะ นิมิตอัศจรรย์มันเป็นไปอย่างนั้น
ทีนี้ไปอยู่ทางห้วยทราย อันนี้ก็อีกอันหนึ่งอีกแหละเป็นนิมิตอัศจรรย์ แต่เกี่ยวกับเรื่องการสั่งสอนประชาชนต่างหาก ไม่เกี่ยวกับเราโดยเฉพาะ เกี่ยวกับเรื่องการอบรมสั่งสอนประชาชน ปรากฏว่าพระพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ นั่นฟังซิ ท่านประทับอยู่เป็นแท่นหรือเป็นอีกพักหนึ่ง สูงขนาดศาลาเรานี่จากพื้นขึ้นไป กว้างขวาง เราก็เหาะขึ้นไปสรงน้ำท่าน สรงน้ำพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ ปรากฏชัดเจน
พอขึ้นไปแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์ ๆ เหลืองอร่าม องค์เท่าคน ๆ เป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งนั้น ไปแล้วก็ไปสรงท่านด้วยน้ำอบน้ำหอมน้ำอะไรที่เป็นเครื่องบูชาอย่างเขามาสรงน้ำพระนั่นแหละ แต่มันก็รอบหมดนะที่ไปสรงน้ำพระพุทธเจ้าก็ดี เพราะเป็นในนิมิตนี่นะ มันรอบกันมันทั่วถึงโดยรวดเร็ว
ทีนี้พอหลังจากนั้นแล้วเราก็ออก จากนั้นไปก็มีประชาชนแน่นหมด ฟากจากนั้นไปอีกพักหนึ่งลงต่ำไป มันต่ำกว่ากันประมาณสักวากว่า ๆ เราก็ลงจากฟากนั้นลงไป ทีนี้เวลาประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน รดน้ำมนต์ประชาชนนี้ มันออกจากนิ้วมือออกจากฝ่ามือ พอมือเราสาดน้ำนี้แตกกระจายไปเลย แตกกระจายนี้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว มันก็ชัดเหมือนกัน
จากนั้นมาเกี่ยวกับโยมแม่ โยมแม่มาข้างล่าง ตอนนั้นเรายังเหาะอยู่ ประชาชนนั่งอยู่นี้ เหมือนเราเหาะอยู่บนประชาชน น้ำส่ายมือไปนี้น้ำออกปั๊บ ๆ จะไปแล้วเหรอจะไม่กลับเหรอ ว่างั้นโยมแม่ เอ้า เสร็จธุระนี้แล้วจะต้องกลับเสียก่อน เมื่อเสร็จธุระนี้จะกลับ รออยู่นี่แหละว่าอย่างนั้นนะ รออยู่นี่หมายถึงรออยู่บ้านโยมแม่ พอรดน้ำประชาชนเสร็จแล้วก็เหาะลงมา มาเห็นโยมแม่ปูเสื่อรอไว้ แล้วก็มีไอ้....มานั่งรออยู่นั้น เราก็เหาะลงไปหน้าบ้านขึ้นไปนั่ง เหมือนกับจะสอนโยมแม่อะไร ๆ นี่แหละ พอดีรู้สึกตัวเสีย
เรามาพิจารณาตรองตามเรื่องนี้ เอ๊ โยมแม่กับเรานี้ ถ้าไม่เอาโยมแม่บวชเห็นจะไม่ได้ มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ พิจารณาผมก็เข้าใจ ๆ ไปตามลำดับของนิมิตที่เป็นเครื่องเทียบเคียง โยมแม่เราก็เอามาบวชตั้งแต่โน้น
ส่วนที่รดน้ำประชาชนนี้เกี่ยวกับการสั่งสอนประชาชนนั้นเราก็เข้าใจ ส่วนเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหลายเราไม่พูดเท่านั้น เรื่องนิมิตมันก็แปลก
แม้เช่นนั้นก็ลำบากการปฏิบัติของเรา ปฏิบัติลำบากอยู่มาก มันหากพอดีกันกับเรา ถ้าหากว่าไม่ลำบากมันก็จะขี้เกียจ ให้ลำบากมันพอดี มันขี้เกียจไม่ได้ต้องฝืนกัน ต้องต่อสู้ความขี้เกียจ ยากลำบากขนาดไหนก็ต่อสู้กัน ๆ ยิ่งยากยิ่งลำบากหลายเท่าไรมันยิ่งฟิตตัวขึ้นรับกัน นี่มันก็แปลกอยู่นะ
เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดว่า คนเรานี้ไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลานา เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมขึ้นมาแล้วมันคิดช่วยตัวเองได้ นั่นละเวลานั้นมันฉลาดได้ ถ้าหากมีแต่อาศัยผู้อื่นอยู่เรื่อย ๆ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ไม่สนใจคิด มีแต่หวังพึ่งผู้อื่นอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่เกิดมาก็พึ่งพ่อพึ่งแม่ พึ่งญาติพึ่งวงศ์ พึ่งพี่พึ่งน้อง โตขึ้นมานี้พึ่งคนนั้นพึ่งคนนี้
มาบวชก็พึ่งครูพึ่งอาจารย์ ไม่คิดให้เป็นเนื้อเป็นหนังของตัวเอง ไม่เคยมีความลำบากลำบนอะไร ๆ ท่านก็พูดอบรมสั่งสอนไปเสียทุกอย่าง ก็ไม่ค่อยได้คิด เมื่อเวลาออกไปโดยลำพังตนเองซิ เพราะความตั้งใจ อะไรก็คว้าไม่ทันอะไรก็คว้าไม่เจอ เรื่องกิเลสมันก็ผ่านเข้ามาเรื่อย ข้าศึกมันผ่านเข้ามาเรื่อย เสือทั้งตัวโดดเข้ามาหาจะเอากำปั้นตีมันได้เหรอ นั่นซิ มันก็ต้องผลิตอาวุธขึ้นมาต่อสู้กันซิ ต่อสู้กิเลสต้องมีอาวุธ สติผลิตขึ้นมา ปัญญาผลิตขึ้นมา ผลิตขึ้นมาเรื่อย ๆ มันก็ทันกัน
นี่ได้เคยปฏิบัติมาอย่างนั้น เห็นชัดเจนในตัวเอง นิสัยเราเป็นอย่างนั้น จึงมักไปแต่คนเดียวอยู่แต่คนเดียวความสะดวกสบาย เวลาพิจารณาอะไรเอาจริงเอาจัง ว่าเป็นก็เป็นตายก็ตาย แล้วปัญญาเกิดเวลาจนตรอกจนมุมนั่นแหละ
คิดดูซิอย่างทุกขเวทนามันครอบในเวลานั่งมาก ๆ นี่ เช่นนั่งตลอดรุ่งนี้มันของเล่นเมื่อไร ลองดูซิใคร ว่าใครเก่งลองดูซิ จะได้รู้ว่านั่งแต่หัวค่ำจนกระทั่งตลอดรุ่ง เป็นเวลา ๑๓-๑๔ ชั่วโมง ไม่ใช่น้อย ๆ นะ จนกระทั่งบางวันจนถึงเวลาบิณฑบาตถึงได้ออก ออกก็ปุบปับกระโดดไปเลยเพราะอยู่กับหมู่กับเพื่อน ถ้าอยู่คนเดียวยังไม่ออกอีกนะ จะกี่ชั่วโมงไม่รู้นะ แต่นี่เกี่ยวกับครูกับอาจารย์
ตอนนั้นอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นทางบ้านนามน ในพรรษานั้นก็อธิษฐานไม่พักจำวัด ไม่นอนกลางวันเลยในพรรษาทั้ง ๓ เดือน เว้นไว้แต่วันไหนได้นั่งสมาธิตลอดรุ่ง ตอนกลางวันจะพักเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ให้พัก ความสัตย์ความจริงบังคับเจ้าของตลอดเวลา ความเพียรมันถึงหมุนติ้ว ๆ เวลาจนตรอกไม่มีผู้ที่จะไต่จะถาม นั่นแหละปัญญาออกตรงนั้น
จนตรอกก็คือ ทุกขเวทนาครอบเข้ามา ๆ จิตจะเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวายไปไหนก็ตามกันเลย เอากัน เอาซิทั้งจะสู้ทุกข์ไม่ได้ ทั้งจิตจะกระวนกระวาย ทุกขเวทนามันต้องเกิดขึ้นในขันธ์ จิตก็วุ่นวายในตัวเอง เกิดจิตเวทนาขึ้นมา ต้องบังคับทั้งสองด้าน ตีข้าศึกสองหน้าเลย เมื่อทุกขเวทนามากเข้าเท่าไรจิตก็กระเพื่อมซิ ดิ้นหาทางออก เราไม่ให้ออกแบบโลกออกกัน หาทางออกแบบโลกมันเป็นวิธีหาทางเข้า เพิ่มทุกข์เข้าไปอีก
เราหาทางออกแบบธรรมนั่นแหละ ใช้สติปัญญา ทุกข์มากเท่าไรยิ่งหมุนจี๋ ๆ เข้าไปตรงนั้นไม่ยอมให้ถอยเลย เอาให้รู้มันทุกข์ตรงไหนแน่ หาความจริงจะเอาความจริงให้ได้ นั่นละธรรม ไม่รู้เอาตาย ไม่ถึงเวลาแล้วออกไม่ได้ ตัดหนามกั้นทาง ๆ ถอยหลังไม่มี เบิกข้างหน้าไว้ ข้างหลังตัดหนามจุกทางเรื่อยมา ๆ มันถอยหลังไม่ได้ ตอนทุกขเวทนาหนัก ๆ ค้นไปค้นมาเทียบเคียงเหตุผลข้างหน้าข้างหลัง รอบ พอรอบด้านแล้วมันก็ลง..จิต นั่นแหละมันเห็นประจักษ์เวลาจิตพิจารณาทุกขเวทนา
กายก็พิจารณาเห็นอย่างชัดเจน เนื้อหนังมังสัง เป็นต้น เวทนาก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีรูปลักษณะยังไง อาการของร่างกายส่วนต่าง ๆ มีรูปลักษณะยังไง จิตเป็นยังไง ๓ อย่างนี้ชัดทุกอย่างแล้วมันก็รวมตัวสงบ ปล่อยไปเลย ได้ความอัศจรรย์แล้ว
นี่ปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาตีตะล่อมเข้ามา ทุกขเวทนากล้า ๆ จิตใจก็ฟุ้งซ่าน บังคับค้นด้วยเหตุด้วยผล จนกระทั่งจิตหาทางออกไม่ได้แล้วก็เข้า ที่นี่หมอบ ความสงบจิตที่เป็นสมาธิด้วยปัญญานี้อาจหาญมากทีเดียว บางทีจิตมันฟุ้งซ่านก็เอากันตรงนั้นขณะนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกขเวทนาไม่มี เอาจนจิตหมอบ นี่ก็อาจหาญ
จะว่านิสัยของผู้นั้นเป็นอย่างนั้น นิสัยของผู้นี้เป็นอย่างนี้ นิสัยเราเป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้นะ มันจะยากอยู่บ้างทุกคนนั่นแหละ เพราะกิเลสไม่เคยพาทำให้ใครง่าย ๆ มันก็ต้องยากกันทุกคน ฟาดมันลงไป เป็นก็เป็น ตายก็ตาย
ตั้งให้ดีจิตอย่าหวั่นอย่าไหว อย่าไปคิดสงสัยเรื่องโลกว่าจะมีสาระแก่นสารหรือมีคุณค่าอะไร ๆ ทั้งนั้น นอกจากใจดวงเดียวนี้ที่แก้กิเลสออกได้มากน้อย จะแสดงคุณค่าขึ้นมาที่นี่ เป็นสิ่งที่เด่นกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมดในบรรดาสิ่งที่เราเคยรู้เคยเห็นที่เคยผ่านมา จะไม่มีอะไรเสมอเหมือนจิตดวงนี้เลย นี่เป็นของสำคัญมาก
เพราะฉะนั้นมันถึงยอมปล่อยสิ่งทั้งหลาย เพราะไม่มีอะไรเหมือนจิต เมื่อพิจารณาลงไปชัด ๆ แล้ว มันก็ปล่อย ๆ เพราะสู้อันนี้ไม่ได้ คืบไปข้างหน้า ก้าวขาไปมันก็ปล่อย เท้าก็ปล่อยเรื่อยไป ก้าวไปข้างหน้าเท้าหนึ่งก็ปล่อยไปเรื่อย ๆ นี่ก็เหมือนกันจิตก็ก้าวไปเรื่อย ๆ ปล่อยข้างหลังไปเรื่อย พิจารณาอะไรเข้าใจแล้วปล่อยลงไป ๆ ปล่อยเรื่อย ที่ปล่อยก็เพราะเข้าใจว่ามันไม่ใช่สาระอะไร เรามาสำคัญเฉย ๆ เหมือนเราจะเอาไม้ทั้งแก่นไปหลงเอากระพี้มันเสียว่าเป็นแก่น จะไปถากไปเอาอะไรออกมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถากมันออกไปจนหมด ให้เหลือแต่แก่นล้วน ๆ
ความทุกข์อันนี้ไม่ยืดยาวอะไรนี่ ไม่เหมือนความทุกข์ในวัฏฏะ ที่หมุนเกิดหมุนตายเวียนไปเวียนมา เกิดภพไหนชาติใดก็ต้องหาบกองทุกข์ไปตามขั้นภูมิกำเนิดแห่งภพชาตินั้น ๆ เหมือนกันเพราะเป็นวัฏฏะ วัฏฏะตัวนี้ไม่ทุกข์ได้เหรอ นอกจากอริยสัจเท่านั้นทุกข์จะเข้าไปแฝงไม่ได้เลย นี่เราภพใดชาติใดก็ตาม ต้องมีทุกข์อยู่ในภพนั้น ๆ แม้จะไม่มีมากก็มี ความมีทุกข์อยู่นั้นก็เหมือนกินข้าวผสมกับแกลบกับรำนั่นเอง จะไปเอร็ดอร่อยที่ไหน ให้มีแต่ข้าวล้วน ๆ ซิ อย่าให้มีแกลบมีรำอยู่ในนั้น
นี่เราก็ลำบากมาแต่เราไม่เคยจะคิดท้อคิดถอยเสียอกเสียใจ หรือว่าตำหนิตัวเองได้ นอกจากได้ชมเท่านั้นแหละ แหมมันทำได้ คือเดี๋ยวนี้มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ให้ทำอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นตายเลย เช่นอย่างนั่งตลอดรุ่งอย่างนี้ นั่นไม่ใช่นั่งคืนหนึ่งคืนเดียวนะ มันตั้ง ๙ คืน ๑๐ คืนนะ แต่ไม่ใช่ติดกัน เว้นสองคืนบ้าง สามคืนบ้าง เอาเรื่อย ๆ เว้นอาทิตย์หนึ่งบ้าง เอาเรื่อย
จนกระทั่งจิตมันแน่วจริง ๆ ทีนี้ก็ค่อยเดินไปโดยสม่ำเสมอเราไม่ทรมานมากนัก อันนี้ก็มีพ่อแม่ครูจารย์ท่านเผดียง เพราะท่านเห็นว่าเราเป็นคนเรียกว่าโลดโผนพูดง่าย ๆ การแสดงท่านจึงจะแสดงมาธรรมดาไม่ได้ แสดงเพียงแย็บไม่ให้มาก เดี๋ยวจะทำให้คนเซ่อ ๆ นี้อ่อนแอ
ท่านก็ยกเปรียบเทียบเหมือนกับม้า ม้าตัวมันคึกคะนองตัวมันผาดโผนโลดเต้น ต้องทรมานมันอย่างหนัก นายสารถีต้องทรมานอย่างหนัก ไม่ควรให้กินหญ้าไม่ให้กินเลย ดัดสันดานจนกว่ามันอ่อนกำลัง เมื่ออ่อนกำลังลงยอมรับการฝึกของเราเราก็ผ่อนให้มัน ให้กินหญ้ากินอะไรบ้าง ถ้าเป็นการเป็นงานแล้วเราก็ไม่ทรมานมัน ทรมานไปหาประโยชน์อะไรเพราะเป็นการเป็นงานแล้ว ให้การรักษาการระมัดระวังการบำรุงมันไป เวลาต้องการจะใช้ประโยชน์อะไรก็ใช้มัน นี่จิตเวลามันกำลังคึกคะนองผาดโผนโลดเต้นก็เอามันอย่างหนัก ตัดจนกระทั่งอาหารไม่ให้มันกินจะว่าไง อาหารท่านแยกเป็น ๒ อย่างนะ อาหารส่วนธาตุขันธ์ก็มี อาหารที่เป็นพิษ ตัดไม่ให้มันไปยุ่ง ท่านพูดท่านเทียบเคียง
จากนั้นท่านก็มาพูดถึง...ท่านเห็นเรานั่งตลอดรุ่งบ่อย ๆ เล่าถวาย เพราะนั่งตลอดรุ่งวันไหนแล้ว วันหลังต้องไปเล่าถวายท่าน เพราะมันมีของอัศจรรย์นี่ เราไม่เคยพลาดเรานั่งตลอดรุ่ง เอาเป็นเอาตายเข้าว่าทีไรมันเกิดความอัศจรรย์ทุกคืนไม่เคยพลาดเลย เพราะฉะนั้นเราถึงยอมตาย เพราะเราอยากเห็นความอัศจรรย์เหล่านั้น นั่งภาวนาธรรมดามันไม่เกิดความอัศจรรย์ขนาดนั้น มันเกิดความอัศจรรย์ด้วยปัญญา เวลาจนตรอกมันมีความฉลาดสามารถที่จะขุดค้นสิ่งที่เป็นสาระขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนได้เลย คือสาระก็หมายถึงจิตนั่นเอง จิตถึงธรรม
เพราะท่านเห็นเราเอานั้นไปบอกให้ท่าน ท่านบอกว่ากิเลสมันไม่อยู่กับกาย มันอยู่ในจิต แต่กายนั้นเป็นเครื่องเสริม ร่างกายเป็นเครื่องเสริมท่านว่า หาอุบายพูด เมื่อเวลาหนักก็หนัก เมื่อสมควรที่จะผ่อนหนักผ่อนเบากันไป ซึ่งไม่ทำให้เสียความเพียรเราก็ทำไปอย่างนั้น อย่าให้หนักอยู่ทุกเวลา ทรมานมันอยู่ทุกเวลา ร่างกายจะบอบช้ำมากไป เพราะกิเลสอยู่กับจิต เมื่อจิตสงบเมื่อจิตเชื่อฟังพอเป็นการเป็นงานแล้ว ก็ผ่อนผันการทำความเพียรประเภทนั้นให้พอเหมาะพอสม
ท่านพูดขนาดนั้นเราก็เข้าใจ ท่านไม่พูดมากยิ่งกว่านั้นเพราะกลัวเราจะอ่อนแอ ต่อจากนั้นจากปีนั้นมาแล้วเราก็ไม่เคยนั่งตลอดรุ่งอีกนะ นั่งได้ขนาด ๗-๘ ชั่วโมง เรานั่งได้ ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง ๔-๕ ชั่วโมงถือเป็นธรรมดา ๘ ชั่วโมง ไม่เคยนั่งตลอดรุ่งเหมือนปีนั้น เพราะปีนั้นเอามันใหญ่นี่
หลังจากนั้นมาแล้วก็มีแต่เรื่องปัญญา ปัญญามันนอนไม่นอน นั่งไม่นั่ง มันก็เป็นของมันอยู่ หมุนติ้ว ๆ งานที่ว่างานมากหรืองานหนัก มาขั้นปัญญามีแต่งานของจิตล้วน ๆ พิจารณานี้ แต่มันมีช่องทางพิจารณา เป็นงานผู้ใหญ่ คือรู้จักงานรู้จักวิธีทำ เป็นแต่เพียงมันยากเท่านั้นเอง หากรู้จักวิธีทำ
ไม่เหมือนการฝึกจิตเพื่อเป็นสมาธิ นี่เราไม่รู้จักวิธีเลย บืนตายไปอย่างนั้น แต่ทางด้านปัญญาเราพอรู้เรื่อง เพราะปัญญายากลำบากมันก็เคยแก้ไขกันได้ในแง่ต่าง ๆ มาอยู่แล้ว แง่ไหนมันขวางอยู่ยังปล่อยไม่ได้ เอาจนได้ พิจารณาเหตุผลเทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วนแล้ว สิ่งนั้นมันก็ตกไป ๆ เรื่อย ๆ นี่มันก็เชื่อความสามารถของตนไปเรื่อย ๆ เพราะปัญญาพิจารณาเท่าไรมันยิ่งมีความคล่องแคล่ว มีความเฉลียวฉลาด
ปัญญาประเภทนี้เป็นธรรมชาติหมุนตัวไปเองด้วยที่เรียกว่าอัตโนมัติ จนกระทั่งไม่มีอะไรจะพิจารณามันก็หมดภาระหมดปัญหาไปเอง สติปัญญาที่หมุนเป็นเกลียวนั้นแลคือมหาสติมหาปัญญา ถ้าเราจะพูดตามหลักธรรมเทียบกับครั้งพุทธกาลแล้ว แต่นี้เราไม่อยากพูดมันเป็นการอาจเอื้อมมากไป สูงไป ต่ำไป ว่าเป็นสติปัญญาอัตโนมัติเท่านั้นพอแล้วกับภูมิของเรา เพราะสมมุติเฉย ๆ ตั้งขึ้นมาให้ชื่อเฉย ๆ เป็นอย่างไรก็ประจักษ์อยู่กับใจของเราแล้ว
ทีนี้พอมันผ่านนั้นไปแล้ว จะว่ามีสติก็ไม่ถูก ว่ามีปัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่ไปถือสติปัญญาเป็นตนเป็นของตน แม้แต่จิตยังไม่เห็นถือว่าเป็นตนเป็นของตน เราจะไปถือสติปัญญาว่าเป็นเราเป็นของเราได้ยังไง เป็นหลักธรรมชาติแล้วเป็นอย่างนั้น
ว่ามีสติก็ว่าไปอย่างนั้นแหละ มีปัญญาก็ว่าไป มันไม่ถูกทั้งสอง สักแต่กิริยา เพราะสติก็เป็นกิริยาเป็นสมมุตินี่ ปัญญาก็เป็นกิริยาเป็นสมมุติ เป็นเครื่องมือแก้กิเลส เวลากิเลสสิ้นไปแล้วเป็นอะไร ปัญญาก็เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ทำประโยชน์เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั้นเป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นทางก้าวเดินทั้งหมด
ทุกข์ การพิจารณาทุกข์ให้เหยียบทุกข์ไปนั่นซิ รื้อถอนสมุทัยด้วยมรรค นิโรธเมื่อจิตมีความสงบได้มากน้อย ความระงับดับทุกข์มันก็ดับไปเรื่อย ๆ ปัญญาถอดถอนกิเลสประเภทใดได้มากน้อยเพียงใด มันก็ดับทุกข์ไปเรื่อย ๆ เพราะกิเลสซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์มันดับไป กิเลสประเภทนั้นดับไป ทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมาจากกิเลสประเภทนั้นก็ดับไปด้วยกัน ดับไปด้วยกันเรื่อย ๆ จนกระทั่งดับสนิทไม่มีอะไรเหลือเพราะกิเลสดับ ทุกข์ภายในใจไม่มี ดับหมด มรรคก็หมดปัญหาไปที่นี่
สติปัญญาที่เรียกว่ามรรค สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป จนกระทั่ง สัมมาสมาธิ เฉพาะอย่างยิ่งคือสติกับปัญญาที่ทำงานหนักที่สุดมันก็หมดปัญหาไป ไม่หมุนติ้ว ๆ อย่างที่เคยเป็น จะหมุนหาอะไร การต่อสู้ขณะนั้นก็ต่อสู้กับข้าศึก เมื่อข้าศึกราบไปแล้วจะไปต่อสู้กับอะไร ต่อสู้กับคนตายมีประโยชน์อะไร ตายแล้วยังยิงอยู่อย่างนั้นมีประโยชน์อะไร เสียกระสุนเปล่า ๆ ต่อสู้กับเมฆกับหมอก ต่อสู้เท่าไรก็หมดกระสุนเปล่า ๆ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร นี่เรียกว่าเป็นกิริยา
นอกจากว่ามีเหตุมีอะไรขึ้นมา เป็นเรื่องของสมมุติที่ถูกเขากล่าวหาหรือฟ้องร้อง ดังครั้งพุทธกาลดังพระทัพพมัลลบุตรเป็นต้น เขาหาว่าท่านเป็นสังฆาฯ ปาราชิกกับภิกษุณีหรือว่าอะไร ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว พระทัพพมัลลบุตรท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นเณร ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงยกสมมุตินี้ขึ้นรับกัน เมื่อมีผู้ฟ้องร้องพระองค์เป็นผู้ทรงวินิจฉัยเอง พระองค์ไม่ต้องวินิจฉัยยาก พระทัพพมัลลบุตรนั้นเธอเป็นผู้มีสติอันสมบูรณ์แล้ว ไม่อยู่ในข่ายแห่งการฟ้องร้องอย่างนี้ นั่น
คำว่าสติสมบูรณ์แล้วคือหมายความว่าจิตบริสุทธิ์แล้ว ซึ่งพ้นจากสมมุตินี้โดยประการทั้งปวงแล้ว การฟ้องร้องเหล่านี้เป็นเรื่องของสมมุติหาประมาณไม่ได้ พูดง่าย ๆ ธรรมชาตินั้นเป็นของตายตัวแล้วจึงเข้ากันไม่ได้ พูดง่าย ๆ พูดอย่างนี้เอง
แต่ในตำราบอกว่าท่านเป็นสติวินัยแล้ว เอานี้มารับว่าเป็นสติวินัย เพราะอันนั้นเป็นสมมุตินี่ การฟ้องร้องก็เป็นสมมุติ สติวินัยก็เป็นสมมุติ ธรรมต้านทานกัน ปลดเปลื้องความฟ้องร้อง ความครหานินทานั้นด้วยสติวินัย ถ้าหากไม่มีอะไรที่จะสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ท่านก็ไม่ได้ว่าท่านไม่ยกขึ้นมา
แม้แต่องค์ผู้เป็นอรหันต์เองก็ดีท่านไม่ได้สำคัญ ท่านไม่ไปอยู่กับความมีสติและความขาดสติ ท่านอยู่กับความจริงเท่านั้นเอง ความจริงโดยหลักธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจะว่าท่านมีสติมันก็พูดไม่ถูก จะว่าท่านเผลอสติมันก็พูดไม่ถูกทั้งนั้นแหละ เพราะอันนั้นไม่ได้อยู่ในวิสัยอันนี้ มันเหนืออันนี้แล้ว
เอาซิปฏิบัติซิ การพูดเหล่านี้ไม่ได้นอกเหนือไปจากมัชฌิมาปฏิปทานะ อันนี้แหละเป็นเครื่องมืออย่างเอกที่เหมาะสมที่สุดกับการฆ่ากิเลสทุกประเภทให้สิ้นไปจากใจ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ เรียกว่ามัชฌิมา ฟังซิ มีเรียวมีแหลมไปไหน มีต้นมีปลายที่ไหน ท่ามกลางอยู่ตลอดเวลา เหมาะสมกับการแก้กิเลสทุกประเภทนั่นเอง ถ้าเรานำมาแก้มันจะไปไหนกิเลส มันก็ต้องตายเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลนั่นแหละ
กิเลสก็เป็นประเภทเดียวกันกับครั้งพุทธกาล เครื่องมือแก้กิเลสก็ประเภทเดียวกัน ขอให้ความเพียรเป็นประเภทเดียวกันเถิด แน่ะ สำคัญที่ความเพียรที่จะยกเครื่องมือไปต่อสู้กับกิเลสนี้ให้มันมีซิ อาวุธจะดีขนาดไหนถ้าเจ้าของไม่ยกขึ้นไปใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องอาศัยความเพียรหมุนมันลงไป ความทุกข์เพราะความเพียรนี้ไม่ได้เป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจให้ได้รับความลำบากลำบน นอกจากมีส่วนร่างกายเท่านั้น แม้จะลำบากก็ลำบากในระหว่างต่อสู้กันเป็นไรไป
แม้แต่เขาชกมวยกันบนเวทีถึงขั้นสลบไสลก็ยังมี เขายังกล้าหาญต่อสู้ นี่เราก็เป็นนักรบลูกศิษย์ตถาคต ไม่เคยทรงสั่งสอนให้ศากยบุตรของพระองค์นั้นให้ท้อถอยอ่อนแอ ให้ล้มละลายตายเพราะกิเลสสังหารไม่มี นอกจากเอาให้กิเลสตายฉิบหายไปหมด นั่งอยู่ก็กิเลสตายอยู่รอบข้าง ยืนอยู่กิเลสตายอยู่รอบข้าง ด้วยการพิจารณา ด้วยการสังหารโดยทางความเพียร เดินอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี เว้นแต่หลับเท่านั้น ไปที่ไหนเห็นแต่กิเลสมันกองไปเป็นไร ถ้ากิเลสเป็นตนเป็นตัว ไปที่ไหนเหยียบแต่ซากศพกิเลส แต่ก่อนมันเหยียบเรานี่กิเลส เหยียบเรามากี่ภพกี่ชาติ ภพชาติของเรายิ่งมากกว่ากิเลส ที่กิเลสฆ่าเราให้เกิดให้ตาย ๆ นี้กี่ภพกี่ชาติมาแล้วเรานับได้เหรอ ภพนี้ชาตินี้เป็นโอกาสวาสนาของเราผู้เป็นนักปฏิบัติ ฟัดกับกิเลส ฟาดกับกิเลส เหยียบกิเลสให้สิ้นซากไปในภพนี้ชาตินี้ประเสริฐสุด ถึงวิมุตติประจักษ์ใจ เอานะลูกศิษย์ตถาคตอย่าถอยความเพียร
เอาละพอ |