เหนือสมมุติ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 46.06 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

เหนือสมมุติ

มันว่างขั้นธรรมที่กำลังบำเพ็ญก็มี เคยว่างมาแล้ว แต่ผู้ที่ว่าว่างจากสิ่งนั้นสิ่งนี้มันไม่ว่าง ขั้นของธรรมถึงขั้นว่างมันว่าง มันเหมือนกับขึ้นยืนอยู่บนหัวตอมองไปไหนมันว่างหมด รอบตัวว่างหมด แต่ที่หัวตอมันไม่ว่าง มันไม่มาดูที่หัวตอที่กำลังยืนอยู่นั้น ยืนอยู่บนหัวตอ มันไม่ว่างในตัวของมันเอง ส่วนอื่นว่างไปหมด แผ่นดินทั้งแผ่นก็เหมือนไม่มี ต้นไม้ ภูเขา ตึกรามบ้านช่อง บรรดาเป็นด้านวัตถุไม่มีในความรู้สึก คือมันทะลุไปหมดว่างไปหมด แต่ที่ยืนอยู่นั้นคือหัวตอ เหยียบอยู่บนหัวตอ ยืนอยู่บนหัวตอนั้น ตรงนั้นมันไม่ว่าง เราไม่ได้ดูตรงนั้น นี่เรียกว่าขั้นของจิต พอมาว่างตรงนี้แล้วก็หมดปัญหา

เพราะฉะนั้นจิตใจว่างระยะนี้กับว่างระยะก่อนจึงผิดกัน แต่ก่อนมันว่างแบบนั้น ความว่างกับวัตถุที่กำหนดขึ้นมาให้ปรากฏแล้วมันหายไป ๆ ว่าง นั้นเป็นการฝึกซ้อมปัญญา ปรากฏขึ้นพับแล้วหายไปพับ ๆ แสดงว่าสมมุติไม่ได้ขึ้นจากไหน การฝึกซ้อมทางปัญญาขึ้นจากจิตเป็นผู้สมมุติต่างหาก ภูเขาก็เป็นภูเขา แม้ภูเขาเองก็ไม่มีความหมายในตัวเองไม่ทราบ ต้นไม้ใบหญ้าวัตถุต่าง ๆ ไม่มีความหมายในตัวเอง ไม่ทราบตัวเอง จิตเป็นผู้ไปรู้ไปเห็นสิ่งเหล่านั้นและวาดภาพสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพเหมือนที่ได้เคยได้เห็นแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ของใจ นี่เป็นสมมุติอันหนึ่งซึ่งทำให้หลง

เพราะฉะนั้นการวาดภาพกำหนดนิมิตที่ว่าง กำหนดสิ่งที่ว่างไปให้ปรากฏมีขึ้นมาชั่วขณะ ๆ แล้วดับไป กำหนดขึ้นมาชั่วขณะดับไป นานเข้าไปก็เหมือนแสงหิ่งห้อยดับ พอวาดปรากฏภาพขึ้นมาก็ดับ ดับไปพร้อม ๆ แสดงถึงความสมมุติที่ปรากฏขึ้นมาในจิตเป็นภาพต่าง ๆ ตามที่ตนวาดขึ้นมาแล้วดับไป ๆ เมื่อมองดูแล้วมีแต่ภาพออกจากจิต ตื่นเงาตัวเอง หลงเงาตัวเอง นี่ก็หมดปัญหาไปอีกพักหนึ่ง เพราะรู้ว่าเป็นเงาของจิต เกิดขึ้นจากจิตแล้วก็ดับลงไปอยู่ที่จิต มันถึงจะย้อนเข้ามาถึงตัวจิตว่าสถานที่เกิดดับนี้คืออะไร เป็นสมมุติหรือเป็นวิมุตติ ตอนนั้นมันไม่ได้เป็นวิมุตติเป็นตัวสมมุติ จิตทั้งดวงก็เป็นตัวสมมุติ เพราะมีอวิชชาซึ่งเป็นตัวสมมุติส่วนละเอียดอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นการฝึกซ้อมสิ่งเหล่านี้จึงเพื่อเบิกสิ่งที่เกี่ยวข้องในขันธ์อันนี้ออก

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ เป็นสมมุติเป็นขั้นหนึ่ง จิตล้วน ๆ ที่มีอยู่กับมีอวิชชาแทรกอยู่โดยเฉพาะนั้น มันไม่เป็นขันธ์ มันไม่แสดงตัวออกมาก็ไม่เป็นขันธ์ ซึ่งสังขารต้องปรุงขึ้นมาถึงจะเป็น สัญญานั้นความกระเพื่อมของจิตออกมาถึงจะเป็น ถ้าไม่กระเพื่อมไม่กระดิกแล้วไม่เป็นขันธ์ มันไปเป็นจิตอวิชชาอยู่นั้น เมื่อฝึกซ้อมไปฝึกซ้อมมาก็ค่อยเข้าใจ ๆ จึงย้อนมาดูหัวตอที่กำลังเหยียบยืนอยู่นั้น แล้วทีนี้มันก็ว่างไปหมด วางไปหมด ว่างด้วยวางด้วย จากนั้นถึงอาการใดจะเกิดขึ้นมาก็เป็นเพียงขันธ์ของสมมุติที่แสดงยิบแย็บ ๆ

ความคิดความปรุงเราแน่ใจว่า พระขีณาสพท่านก็มีความคิดความปรุงเช่นเดียวกันกับทั่ว ๆ ไป เป็นแต่เพียงว่าท่านไม่ติดท่านไม่หลง ท่านทราบอาการของสมมุติที่ยังครองตัวอยู่ ยังไม่ได้สลายจากกันไป แสดงตัวขึ้นมาให้ทราบ จิตผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ถือสิทธิ์ ไม่ถือเป็นอุปาทาน คือจิตก็ทราบต่างอันต่างจริง จิตก็ไม่พะวักพะวงจิตก็ไม่หลง เพราะฉะนั้นเมื่อร่างกายจะแตกไปก็เป็นธรรมดา จิตไม่กระเพื่อม ความดีใจเสียใจหรือกลัวเป็นกลัวตายอะไรอย่างนี้จึงไม่มี เพราะรอบหมดแล้วว่าสมมุติจะแยกย้ายจากความรวมตัวอยู่ออกไป อยู่คนละทิศละทางตามความจริงของเขา จิตผู้ที่รู้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างและรู้ความจริงของตัวเองแล้ว ก็อยู่ตามความจริงของตน จึงไม่พะวักพะวงกับสิ่งเหล่านั้น

มีผู้ใดในโลกนี้ที่จะมาสอนให้ละเอียดลออยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ที่กล่าวมานี้ละเอียดสุดขีด ละเอียดจนกระทั่งเลยขั้นสมมุติไปแล้วเป็นวิมุตติ ไม่มีความรู้ของผู้ใดในโลกนี้ ใครจะเก่งขนาดไหนก็เก่งเถอะ ความรู้ประเภทนี้จะไม่มี ไม่รู้-รู้แบบนี้ รู้แบบสมมุติ ละเอียดขนาดไหนก็เป็นละเอียดของสมมุติ ซึ่งไม่มีเวลาที่จะผ่านพ้นความสมมุตินั้นไปได้ รู้ตรงไหนก็ติดตรงนั้น รู้ตรงไหนติดตรงนั้น ไม่เหมือนความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นและทรงสั่งสอนสัตวโลก รู้ไปเท่าไรก็ยิ่งละยิ่งถอน เพราะรู้เป็นความจริง รู้ความจริงแล้วต้องถอน รู้ด้วยความจำความคาดด้นเดาไม่ถอน กิเลสจึงไม่ถลอกเพราะความจำมา จะเรียนจบพระไตรปิฎกก็เป็นสัญญาความจำเฉย ๆ ไม่ใช่ปัญญาไปเห็นความจริง ความจริงกับความจำจึงต่างกันคนละโลก นี่ละเราอยากเห็นความจริงจึงต้องปฏิบัติ

การปฏิบัติก็เกี่ยวเนื่องมาจากปริยัติที่ได้เคยศึกษาเล่าเรียน มี เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรืออาการ ๓๒ เป็นต้น นี่เรียนมาให้รู้แล้วก็ปฏิบัติตามสิ่งที่เรียนมา เอ้า ทีนี้เอาความจริงมา เกสาคืออะไร ตั้งอยู่ยังไง เป็นอยู่ยังไง สถานที่อยู่ที่เกิดของมันเป็นยังไง โลมา นขา ทันตา ตโจ แต่ละอย่าง ๆ สถานที่เกิด ความเป็นอยู่ของมันเป็นยังไง

ตโจเป็นของสำคัญ ตโจนี้เป็นหนังหุ้ม อันนี้แหละเป็นเครื่องปิดบังความจริงไว้มากทีเดียว ท่านสอนไปถึงนั้น ตจปริยนฺโต อาการ ๓๒ นี้มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ หนังนี้เป็นเครื่องหลอกได้ดี ถ้าถลกหนังออกแล้วใครจะไปหลงกันว่าหญิงว่าชายว่าน่ารักใคร่ชอบใจ ไม่ว่าคนชั้นไหนต่อชั้นไหนหมดความหมายทั้งนั้น พอถลกหนังออกแล้วมันเยิ้มไปด้วยปุพโพโลหิตแดงโร่ไปหมดดูได้เหรอ มีแต่แมลงวันเท่านั้นจะไปตอม ไอ้เรื่องความรักความชอบใจจะไปตอมมันไม่ตอม นี่เวลานี้ความรักความชอบใจในหญิงในชายมีอยู่จึงเรียกว่ามันตอมอยู่ด้วยหนังนี้เองเป็นสำคัญ เพราะหนังเป็นเหตุท่านจึงสอนให้พิจารณาตโจ จากนั้นเมื่อจิตเข้าใจในเรื่องอาการของมัน เกสา โลมา ถึงตโจแล้วก็ซึมซาบเข้าไปได้เอง จนกระทั่งถึงอาการทุกส่วนว่ามีเหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน เหมือนกัน นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ พิจารณาด้วยปัญญา

ก่อนที่จะมาพิจารณาด้วยปัญญาต้องตะล่อมจิตให้มีพลังภายในตัวด้วยความสงบ ท่านจึงสอนสมาธิเป็นขั้นเริ่มแรกเพื่อให้จิตสงบก่อน พิจารณาอะไรถึงจะเข้าอกเข้าใจ ไม่เป็นไปด้วยความหิวโหย จิตที่หาความสงบไม่ได้นี้เป็นไปด้วยความหิวโหย คิดอะไรพรวดพราด ๆ กลายเป็นสัญญาไปหมด เป็นความฟุ้งเฟ้อไปเสีย เห่อเหิมไปเสีย แทนที่จะเป็นอรรถเป็นธรรมกลายเป็นโลกเพิ่มเข้าไปอีก เป็นการสั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวในขณะที่พิจารณา เพราะมันเถลไถลออกไปตามนิสัยที่เคยเป็น เพราะจิตหิวโหย จิตหาความสงบไม่ได้

ท่านจึงสอนว่า สมาธิปริภาวิตา ปฺา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือสมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ดี เหมือนอย่างคนรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญ พักผ่อนนอนหลับให้สะดวกสบายแล้ว ทำงานก็ไม่หิวไม่โหย ไม่เหนื่อยไม่เพลีย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้ดียิ่งกว่าคนที่กำลังหิวจัด ซึ่งทำอะไรไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ความฉุนเฉียวก็ง่าย จิตใจที่เป็นไปด้วยความหิวโหยเพราะหาความสงบไม่ได้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิให้มีความสงบพอสมควรแล้วก็พิจารณาทางด้านปัญญา จิตก็ตั้งหน้าทำงานไม่เถลไถลได้ง่าย ๆ สมาธิมีความสำคัญอย่างนี้

แต่ไม่ใช่สมาธิจะทำปัญญาให้เกิด เป็นเครื่องหนุนเฉย ๆ หนุนให้ปัญญาทำงานได้สะดวกพูดง่าย ๆ ไม่ใช่สมาธิจะกลายเป็นปัญญาเสียเอง ให้พากันเข้าใจไว้ตรงนี้ ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เราได้เป็นมาแล้ว นี่ติดสมาธิติดอยู่ถึง ๕ ปีเต็ม ๆ สำหรับผมเอง คือชำนิชำนาญจริง ๆ ใครจะมาโกหกเรื่องสมาธินี้ไม่ได้ว่างั้นเลย อาจหาญที่สุดเรื่องสมาธิ กำหนดเมื่อไรได้ เพราะฐานของสมาธิมันแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาโน่นจะว่าอะไร กำหนดเมื่อไรก็ได้ก็เพราะจิตเป็นสมาธิอยู่แล้วฐานของมัน เพียงแต่ระงับกระแสจิตเข้าไปเท่านั้น มันก็เข้าไปอยู่ในฐานนั้นแน่วอยู่นั้นเสีย แต่ไม่เป็นปัญญาให้ มันเพียงแค่นั้น สุดท้ายก็ไปเหมาเอาความที่แน่นหนามั่นคง รู้อยู่อย่างดิ่งหรือเด่นนั้นว่าจะเป็นนิพพาน นี้ละนิพพาน นี้แลจะเป็นนิพพาน มันก็เลยจ่ออยู่ตรงนั้นไม่ได้เรื่อง

สมาธิเป็นเครื่องอบรมปัญญาได้จริง แต่ปัญญาไม่ออกเดินพอจะให้สมาธิอุดหนุนได้มันจะหนุนได้ยังไง ก็เหมือนอย่างอาหารเครื่องทำครัว ขนมาไว้เต็มบ้านไม่ทำปรุงเป็นแกงเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ มันก็เป็นเครื่องครัวอยู่เท่านั้น จะให้สำเร็จเป็นแกงเป็นอาหารประเภทนั้น ๆ ขึ้นมาไม่ได้ นอกจากจะนำเครื่องครัวนั้นเข้ามาปรุง ตามความต้องการของแม่ครัวผู้จะทำอาหารชนิดใดขึ้นมาก็สำเร็จประโยชน์ เพราะเครื่องครัวมีครบหมดแล้ว

เรื่องของปัญญาก็ทำนองเดียวกัน เวลาสงบแล้วก็สงบอยู่อย่างนั้น ว่าจะให้ปัญญาจะเกิดเมื่อไรไม่เห็นเกิด มีแต่แน่ว ๆ อยู่นั้น ทีนี้เลยติดสมาธิเสีย เวลาจิตถอยออกมาแล้วมากระทบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เหมือนกับคนขี้เกียจ พอออกตากแดดตากฝนทำการทำงานบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ กลับรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สะดวกสบาย สู้เข้าไปนอนอยู่ในร่มไม้ชายคาหรือที่ไหนสบายดีกว่า ไปนอนเสีย จิตเวลาออกมาสัมผัสกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเหมือนกับมากระทบแดดกระทบฝนนั้นแหละ และเข้าพักจิตอยู่ในความรู้อยู่ในสมาธินั้นเสียแน่วไม่มีอารมณ์อื่นใดเข้าไปเจือปนก็สบาย นั่นเรียกว่าติดสมาธิ นี่เป็นมาแล้ว ๆ อย่างนั้น

ทีนี้พอออกทางด้านปัญญาเราจึงเห็นคุณค่าของสมาธิ พอออกพิจารณาอะไรมันพิจารณาจริง ๆ มันจริงมันจังแน่นอนไปหมด จ่อตรงไหนเป็นไปได้ ๆ ตามใจหวัง กิเลสค่อยขาดไป เข้าใจกิเลสประเภทใดกิเลสนั้นหลุดลอยไป เห็นคุณค่าของปัญญา เอ๊ะ ชอบกล ๆ นั่นละที่นี่ถึงหมุนไป อ๋อ ปัญญานี้เกิดขึ้นเพราะการพิจารณาต่างหาก ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะสมาธิทำให้เกิด รู้แล้วที่นี่ สมาธิเป็นเครื่องหนุน แต่เมื่อปัญญาไม่ออกเดินก็ไม่ทราบจะอุดหนุนกันได้ยังไง ก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้น

ว่าเมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาเกิดเอง คนนั้นคือคนไม่เคยมีสมาธิไม่รู้สมาธิ จิตไม่เคยเป็นสมาธิ จึงพูดมาอย่างนั้นได้ ถ้าหากเป็น ขิปปาภิญญา มันก็กลมกลืนไปในขณะเดียวกัน และมิหนำซ้ำยังพูดว่าสมาธิไม่จำเป็น เดินลัดตัดเข้าหาปัญญาเลย นั้นแลคือตัวโง่ที่สุด อวดฉลาด โง่ที่สุดแต่อวดฉลาด มีมากนักเรียนลัดทุกวันนี้ เรียนลัดมันก็มารัดคอเจ้าของนี่แล้วมันจะไปรัดที่ไหน

เก่งกว่าศาสดาได้เหรอ ใครเป็นคนบัญญัติไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศาสดาเป็นใครมาบัญญัติ เราจะเก่งกว่าศาสดาได้เหรอ เก่งกว่าศาสดามันก็เลยมัชฌิมาน่ะซี ศาสดาสอนไว้เป็นมัชฌิมาทั้งนั้นหาที่ค้านไม่ได้ นี่ได้พิจารณามาแล้ว

การพิจารณาให้จริงให้จัง เวลาตั้งหน้าตั้งตาทำความสงบก็ให้มีหน้าที่อันเดียว อย่าไปพะวักพะวงกับการพิจารณาใด ๆ ทั้งสิ้น ให้จิตลงช่องเดียว เหมือนกับน้ำไหลลงช่องเดียวมีกำลังมาก ไม่เป็นน้ำไหลบ่า ถ้าจะเป็นกังวลกับการพิจารณา เป็นกังวลกับสมาธิ ไม่ได้เรื่องอย่างนั้นอย่าทำ นี่เคยทำมาเป็นมาแล้ว เป็นบทเรียนหรือเป็นครูเป็นอาจารย์ทั้งนั้น ในบรรดาปฏิปทาของเราที่ดำเนินมา ผิดถูกเป็นครูมาโดยลำดับ ๆ

ถึงเวลาจะใช้ปัญญาพิจารณา เอ้าพิจารณาลงไป บังคับจิตให้พิจารณา สติจ่อเข้าไป ถ้าสติเผลอเมื่อไรแล้วงานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัญญาก็จะกลายเป็นสัญญาไป เถลไถลไปเรื่อย ๆ หัดตัวเองให้เป็นคนจริงจัง นิสัยอย่าเหลาะแหละ ให้เป็นคนจริงต่อตนเอง คุณค่าแห่งความจริงนี้สูงสุดเทียว ยกจิตให้ถึงขั้นสูงสุดได้เพราะความเพียร

ทำอะไรทำจริง เอาจริงเอาจัง เหตุผลพร้อมแล้วเอาลงไปไม่ต้องกลัวตาย มันติดอยู่กับตัวแล้วเรื่องตาย เขาไม่เคยทำสมาธิภาวนาเขาก็ตายกันเต็มโลก ป่าช้ามีอยู่ทุกแห่งทุกหน บรรดาสัตว์บุคคลมีอยู่สถานที่ใดป่าช้ามีอยู่สถานที่นั้นละเว้นไม่ได้ เราเวลาจะทำสมาธิทำไมกลัวล้มกลัวตาย กลัวไปหาอะไร

ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อย ค้นลงไปให้เห็นเหตุเห็นผลของทุกขเวทนา อย่าหวังให้มันหายนะทุกขเวทนา อย่าอยากให้หาย ถ้าอยากให้หายนั้นเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว หายหรือไม่หายก็ตามเราขอรู้ความจริง นี่เป็นมรรคอย่างนั้น จะค้นให้เห็นความจริง ไม่เรียกว่าตัณหาอันนี้ เรียกว่ามรรค แล้วค้นลงจริง ๆ ด้วย ทุกข์มากเท่าไรปัญญายิ่งหมุนติ้ว ๆ สติยิ่งจ่อลงไปในจุดนั้น เทียบเคียงได้ทุกสัดทุกส่วน ทุกข์ที่ตรงไหนอะไรเป็นทุกข์ แยกแยะกันหมุนติ้ว ๆ ว่าหนังเป็นทุกข์ เทียบหนังกับทุกข์มันเหมือนกันไหม หรือว่าใจเป็นทุกข์ เอ้า ใจกับหนังกับเวทนาเป็นอันเดียวกันไหม แยกแยะอย่างนี้ ให้เป็นอุบายหรือเทคนิคของเจ้าของแต่ละคน ๆ ครูบาอาจารย์เป็นแต่เพียงชี้แจงให้ทราบในเงื่อนต่าง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่เจ้าของจะไปตีแผ่ให้เป็นความเข้าใจชัดเจน เป็นสมบัติของเจ้าของขึ้นมาเองนั้น เป็นเรื่องของเราแต่ละคน ๆ นี้ท่านหยิบยกเงื่อนให้พิจารณาเท่านั้น

เวลาจะเอาจริงเอาจังเป็นอุบายของเรานะ ในขณะนั้นมันจะไม่คิดถึงเรื่องอุบายของใคร ๆ จะคิดแต่อยากรู้อยากเห็นให้เข้าใจในสิ่งนี้ ๆ ถ้าแย็บไปข้างนอกก็เป็นสัญญาอดีตไปเสีย แย็บออกนอกมันก็ผิดจากหลักการดำเนินในวงปัจจุบัน มันจึงหมุนเข้าไป นี่เคยได้ นิสัยเรามันนิสัยหยาบ เคยได้ด้วยทุกขเวทนานี้เด่นทุกที เอาทีไร ได้มอบเป็นมอบตายกันลงทีไรไม่เคยพลาดแม้คืนหนึ่งไม่มี ทุ่มกันเต็มที่ จึงเห็นได้ว่า อ๋อ นี่มันอยู่กับความจริง เอาจริง ๆ เอาเป็นเอาตายเข้าว่าพร้อมด้วยสติปัญญาทำงาน ความจริงก็ปรากฏขึ้นมาเด่นอัศจรรย์หายกลัวตาย ทุกขเวทนาถึงจะมีรอบใจอยู่ก็ไม่เข้าถึงใจ ยิ้มได้อยู่สบาย ดูซิ

ทุกขเวทนามีอยู่ ๒ อย่าง การพิจารณารอบทุกขเวทนาดับไปเลยและดับไปทั้งร่างกายด้วย หายเงียบในความรู้สึกไปเลย เหลือแต่ความรู้ที่เป็นของอัศจรรย์เด่นอยู่เพียงอันเดียว สักแต่ว่าปรากฏเท่านั้นนะ เราจะพูดเกินกว่านั้นไปไม่ได้ นอกจากว่าสักแต่ว่าปรากฏกับอัศจรรย์ ร่างกายหายหมดไม่ทราบว่าอยู่สูงอยู่ต่ำอยู่ที่ไหน คาดไม่ได้เวลานั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติแล้ว การคาดว่าจิตใจอยู่ที่นั่นที่นี่นั้นเป็นความหมายไปแล้ว ผิดจากความเป็นจริง เวลามันจะถอยตัวออกมาก็ทราบเอง นี่ประการหนึ่ง คือพิจารณารอบแล้วทุกขเวทนาดับไปหมดเลย ดับอย่างรวดเร็วด้วย นอกจากนั้นร่างกายก็เลยดับไปด้วยกัน แต่อย่าคาดนะ การพิจารณาอย่าไปคาด ให้เป็นเรื่องของตัวเองแต่ละคน ๆ ไปคาด...ผิด

ท่านแสดงให้ฟังก็ตามนิสัยของท่านครูบาอาจารย์แสดงให้ฟัง จริตนิสัยไม่เหมือนกัน ให้เรากำหนดอยู่โดยเฉพาะหน้าที่ของเรา งานของเราโดยเฉพาะ ให้เป็นสมบัติของเรา เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาของเราโดยเฉพาะ นี้เป็นความถูกต้องสำหรับนักปฏิบัติ อย่าไปคาดไปหมายอดีตอนาคต หรือเอาท่านผู้หนึ่งผู้ใดมาเป็นข้อเปรียบเทียบในการปฏิบัติ ปฏิปทาอย่าเอาน้อมเข้ามา ให้พิจารณาในตัวของเราเอง นี่ประการหนึ่งเป็นอย่างนี้

ประการที่สอง พิจารณารอบหมดแล้วทุกขเวทนาก็มีแต่ไม่มีอำนาจอะไรเลย ถึงมีก็สักแต่ว่ามีอยู่เท่านั้นเอง รู้ว่าเป็นเวทนา ทุกขเวทนา แล้วทุกขเวทนานั้นก็ไม่มีความหมายในตัวเอง ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นทุกขเวทนา เป็นแต่เพียงความจริงอันหนึ่งเท่านั้น กายเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น จิตก็เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น ต่างอันต่างจริงจึงไม่กระทบกระเทือนกัน ถึงจะทุกข์ขนาดไหนยิ้มได้อย่างสบาย หรือจะตายในขณะนั้นก็ยิ้มได้อย่างสบาย เพราะทุกขเวทนาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายจิตใจให้หวั่นไหวไปได้ เพราะปัญญาพิจารณารอบแล้ว นี้เป็นประการหนึ่ง สำหรับเราเคยพิจารณามีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน

จะเป็นอย่างไหนให้เป็นโดยหลักธรรมชาติของมันเองเราไม่ปรุงไม่แต่ง เพราะฉะนั้นจึงปรากฏเป็น ๒ อย่าง อย่างนี้โดยหลักธรรมชาติ แล้วแต่กาลเวลาของมันจะเป็นแบบไหน เราพิจารณายังไงมันถึงเป็นแบบที่หนึ่งคือดับไปหมด เราพิจารณายังไงถึงเป็นแบบที่ ๒ ทุกขเวทนาไม่ดับแต่รอบกันอย่างประจักษ์ทีเดียวหายสงสัย ทุกขเวทนาไม่สามารถครอบจิตได้เลย แม้จะตายในขณะนั้นก็ตายไปอย่างสบาย ๆ เลยทุกขเวทนาไม่ครอบ

แล้วพิจารณายังไงมันถึงเป็นอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเจ้าของเอง แต่จะดับหรือไม่ดับไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ต่างอันต่างจริงให้ถึงใจด้วยปัญญาเถิด ทุกขเวทนาจะดับไม่ดับไม่สำคัญ สำคัญที่รู้กันตามความเป็นจริง ต่างอันต่างจริง นี้เรียกว่ารู้รอบ หลักใหญ่อยู่ตรงที่ว่ารู้รอบนี้เป็นความจริงเด่นชัดหาที่ค้านไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริง อ๋อ จริงอย่างนี้เอง จริงอย่างนี้เอง เราไม่เคยเห็นความจริงอย่างนี้ อ๋อ ทุกข์เป็นความจริง จริงอย่างนี้เอง แน่ะ เมื่อมันถึงใจแล้วก็เน้นกันลงไป

เราอย่าไปคาดมรรคผลนิพพานว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่ข้อปฏิบัติของเรา เอ้า ดำเนินไปเถอะ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโนโหติ ให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นการบูชาธรรมบูชาตถาคต และเห็นธรรมเห็นตถาคตอยู่กับความจริงนี้ หนีจากนี้ไปไม่พ้น พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ก็คือความบริสุทธิ์ คือความจริงภายในจิต เห็นความจริงภายในส่วนสมมุติโดยตลอดทั่วถึงแล้ว จิตก็เป็นความจริงเต็มตัว ความบริสุทธิ์เต็มตัว นั่นละองค์พุทธะแท้อยู่ที่นั่น

เช่น ท่านนิพพานอยู่ที่นั่นที่นี่ นั่นก็เป็นสมมุติขั้นหนึ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติอย่าไปคาดไปหมาย เราเคารพทั้งสมมุติสถานที่กาลเวลาของพระองค์ที่นิพพาน เราเคารพทั้งตามความจริงว่าพระพุทธเจ้าแท้คืออะไรแน่ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต นี่ตรงนี้ตรงสำคัญ เห็นธรรมแง่ใดก็พระพุทธเจ้าทรงเห็นมาแล้วทรงรู้มาแล้ว ก็เท่ากับมองเห็นกัน เห็นมากเห็นน้อยก็เห็นพระพุทธเจ้ามากน้อย เห็นธรรมมากน้อยเพียงไรเห็นพระพุทธเจ้ามากน้อยเพียงนั้น

เห็นธรรมเต็มดวงใจ เห็นธรรมเต็มตัวก็เห็นพระพุทธเจ้าเต็มองค์ อ๋อ พุทธะแท้คืออย่างนี้ ท่านจะปรินิพพานไปนานไม่นาน อันนี้ไม่ใช่กาลไม่ใช่เวลาไม่ใช่สมัย เป็น อกาลิโก ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้ากับธรรมชาตินี้ไม่มีอะไรผิดกันเลย นี่เป็นความแน่ใจ อยู่ที่ไหนจึงเป็นเหมือนอยู่กับพุทธะ ไม่วิตกวิจารณ์ไม่ว้าเหว่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ไม่มีพ่อมีแม่หรือไม่มีผู้แนะนำสั่งสอน สวากขาตธรรมนั้นแลคือตถาคตแท้ องค์ตถาคตแท้ได้แก่ความรู้แจ้งเห็นจริงภายใจจิตใจของตนเองด้วยการปฏิบัติ หลักใหญ่อยู่ตรงนี้

อย่าไปสนใจกับเรื่องอะไร เรื่องโลกอย่างเราเห็นนั่นแหละ มันเป็นกงจักรหมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั่น หาความสงบไม่ได้ จึงเรียกว่าโลก หาประมาณไม่ได้ก็คือโลก หาความสุขไม่ได้ก็คือโลก แน่ะ เพลินก็เพลินไปหาความทุกข์นั่นแหละไม่ไปไหน สุขก็สุขไปหาความทุกข์ เรื่องของโลกเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนธรรม ธรรมนี้เพลิน เพลินเพื่อสันติสุข สุขก็สุขโดยธรรม ผิดกันอยู่มาก เราอย่าไปหลงสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ให้ดำเนินตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้

เราจะไปเชื่อใครยิ่งกว่าศาสดาผู้สิ้นกิเลส ผู้ทรงรู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ที่เรียกว่าโลกวิทู ในโลกนี้มีใครเป็น โลกวิทู จะรู้แจ้งเห็นจริงอย่างนั้นและทรงความสุขไว้อย่างสมบูรณ์เหมือนพระพุทธเจ้า พอที่จะไปยึดไปถือไปหลงใหลใฝ่ฝันกับเขา ในคำพูดคำจากิริยาอาการที่โลกแสดงอยู่ทุกวัน ๆ นี้เป็นยังไงเราก็ทราบแล้ว มันแสดงไปด้วยเรื่องกงจักรพัดผันตนเอง ต่างคนต่างพัดต่างผันกันวุ่นไปหมด เราแก้กงจักรแก้ที่จิต

อย่าไปสนใจกับอะไร ไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งกว่าธรรม เราไม่ประมาทเมื่อเทียบความสุขเทียบความประเสริฐแล้วไม่มีอันใดเกินธรรม ธรรมอยู่ที่ไหนธรรมจะสถิตที่ไหนได้เหมาะสม สิ่งเหมาะสมแก่ธรรมคืออะไร ก็คือใจ ใจเป็นภาชนะที่เหมาะสมกับธรรมทุกขั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีอันใดจะเสมอใจ ไม่มีอะไรจะเป็นภาชนะรับรองธรรมได้ และไม่มีอะไรที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมนอกจากจิตเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะทรงธรรมนอกจากจิต ไม่มีอะไรที่จะเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานนอกจากจิต อยู่ตรงนี้ เอาให้ดี

ความเกิดเราอย่าไปสงสัย สงสัยเท่าไรก็เป็นการตัดทอนศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ทำให้อ่อนแอ เอาหลักปัจจุบันนี้ นี่ตัวเกิดให้ดูเอา เกิดหรือไม่เกิด มีภพมีชาติ เคยมีภพมีชาติหรือไม่มีดูเอาตัวนี้ตัวเรานี่ นี้แหละตัวภพชาติ นี่ละหลักประกันของภพชาติคือนี้เอง เอ้าปฏิบัติไปสิ่งที่จะให้เห็นชัดเจนของเรื่องภพเรื่องชาติจะไม่นอกเหนือไปจากจิตนี้เลย

มันยึดมันถือมันจับจองอะไร ทั่วสกลกายว่าเป็นเราเป็นของเราทั้งหมด ไม่ว่าขี้เก่าขี้ใหม่เต็มอยู่ในพุงก็ว่าเป็นเราเป็นของเรา สกปรกขนาดไหนก็ว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะมันหลงมันตาฝ้าฟางไม่มีสติปัญญาเครื่องใคร่ครวญ จึงถือว่าเป็นเราทั้งนั้น หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อาการ ๓๒ เป็นเรา แม้ที่สุดทุกข์เกิดขึ้นมาก็ยังเป็นเราเป็นของเรา พิจารณาซิ นี่คือความหลงความฝ้าฟางของจิต เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้เห็นชัดตามความจริงอันนี้อย่าไปถอย

มรรคผลนิพพานอยู่ที่จิต ให้กำหนดลงไปที่นี่ ให้พิจารณาสิ่งที่ปกปิดกำบัง ขันธ์ทั้งห้าเป็นเครื่องปกปิดกำลังจิตได้ดี เพราะความหลงของจิต ไปกว้านเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาปิดตนด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนชำนิชำนาญเห็นแจ้งเห็นจริง แล้วมันปล่อยวางของมันเอง ตัวผู้ประเสริฐแท้ ๆ อยู่ที่ใจ

กำหนดพิจารณาความเกิด คือเรานี้เป็นตัวภพตัวชาติ ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องความเกิด เราอย่าไปคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว ให้คิดวงปัจจุบันที่กำลังเผชิญกันอยู่แบกหามกันอยู่ นี้คือภพคือชาติมันเดินมาจากนี้ มาถึงที่นี่แล้ว ล้วนแล้วแต่เดินมาด้วยภพด้วยชาติ มาถึงปัจจุบันนี้จึงเป็นตัวภพตัวชาติ มาหยุดอยู่ที่นี่ยังไม่ก้าวต่อไปอีก เมื่อร่างนี้แตกมันก็ก้าวต่อไปอีก ไปถือภพใหม่อีก เครื่องยืนยันกันอยู่ที่นี่ เมื่ออยากทราบแล้วก็ให้พิจารณาจิตให้ดี

ถึงขั้นวิปัสสนาคือปัญญาความเห็นแจ้ง เพียงขั้นสมาธิก็เห็นจุดรวมของจิตว่าต่างจากขันธ์แล้ว สมาธิมีความละเอียดแน่นหนามั่นคงเพียงไร ยิ่งเห็นชัดเจนระหว่างขันธ์กับจิตว่าเป็นคนละอย่าง ร่างกายกับจิตเป็นคนละอย่าง เวลาแยกแยะออกด้วยปัญญาก็ยิ่งเห็นได้ชัด ๆ อะไรที่เคยเกี่ยวข้องพัวพันเคยยึดมั่นถือมั่น ถูกปัญญาตัดขาดลงไป ๆ ก็เห็นความสืบต่อมันน้อยลงไป ๆ ยังเหลือมากน้อยเพียงไรก็รู้อยู่ภายในจิต พิจารณาในสิ่งที่มันเกี่ยวข้องยังละยังถอนไม่ได้เอาจนเข้าใจ เข้าใจตรงนี้แล้วก็ผ่าน ๆ คือตัดออกเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายข้างนอกข้างในมันก็หมด ขันธ์ก็รู้เท่าเสีย จิตก็สง่าผ่าเผยอยู่ภายในตัวเอง ภายในขันธ์นั่นแหละแต่ไม่ใช่ขันธ์ เป็นความสว่างกระจ่างแจ้งสง่าผ่าเผยอยู่โดยลำพังของจิตเอง ขันธ์ก็เป็นขันธ์ของมันอยู่อย่างนั้น

นี่แหละเป็นเหตุให้ทราบเรื่องภพเรื่องชาติของตนได้ชัด ยังมีอะไรที่จะสืบต่อเนื่องไปก้าวไปอีกในภพหน้านั้น ภพละเอียดขนาดไหนก็บอกอยู่ภายในจิต จิตประเภทนี้จะต้องไปเกิดในภพนั้นภพนี้มันรู้ กิเลสประเภทนั้นทำให้เกิดในภพนั้น กิเลสประเภทนี้ทำให้เกิดในภพนี้ กิเลสอย่างหยาบทำให้เกิดในภพหยาบ กิเลสละเอียดทำให้เกิดในภพละเอียดก็รู้ ภพใดก็ตามก็คือสมมุติ ไปตั้งภพใดความทุกข์ต้องมีตามขั้นแห่งภพ หรือตามขั้นแห่งภูมิของตนไม่มากก็น้อย ทราบโดยลำดับ

จนกระทั่งตัดขาดลงไปไม่มีเหลือ ทำลายอวิชชาออกจากใจที่เป็นตัวภพอย่างแท้จริงออกจากใจ ทีนี้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่มีอะไรเป็นภพเป็นชาติ หายสงสัย คราวนี้หายสงสัยแล้ว เรื่องที่จะไปก่อภพก่อชาติที่ไหนได้มาถึงเพียงขั้นปัจจุบันนี้แล้ว ปล่อยปัจจุบันนี้เป็นอันว่าหมด อนาคตไม่มี เรื่องภพเรื่องชาติหมดแล้วในอนาคต มีเฉพาะภพชาติในปัจจุบันซึ่งครองตัวอยู่นี้ แล้วก็ได้ละได้ตัดขาดกันแล้วจากอุปาทาน เพราะอำนาจของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร นี่รู้ชัดอย่างนี้เอง จะไปหารู้ที่ไหน สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด มีอยู่กับทุกคนสำหรับผู้ปฏิบัติ เอาให้ดีซิ

ครั้งนั้นกับครั้งนี้ไม่มีอะไรต่างกัน กิเลสก็เป็นประเภทเดียวกัน มรรคเครื่องประหัตประหารกิเลสก็เป็นประเภทเดียวกัน เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเดียวกัน เราผู้ปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบครั้งพุทธกาลไม่มีอะไรผิดกัน เครื่องมือเป็นอันเดียวกัน ความพากเพียรเป็นอันเดียวกัน กิเลสเป็นประเภทเดียวกัน ทำไมจะแก้กิเลสไม่ได้ ธรรมะเหล่านี้เป็นเครื่องแก้กิเลสมาโดยลำดับอยู่แล้ว มัชฌิมาปฏิปทาเป็นธรรมที่เหมาะสม เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด ในการปราบปรามหรือแก้กิเลสทุกประเภทออกจากใจเราไม่สงสัย สงสัยไปทำไม เพราะไม่มีอะไรที่จะมากีดกั้นมรรคผลนิพพานไม่ให้ผู้ปฏิบัติโดยชอบธรรมได้ถึงมรรคผลนิพพาน นอกจากทุกข์กับสมุทัยที่ปิดกั้นอยู่ภายในตัวเองนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยมรรค คือ สมาธิ ปัญญา เป็นสำคัญ เป็นเครื่องบุกเบิกถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออก นิโรธ เมื่อเวลามรรคมีกำลังมากเพียงไร ตัดกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นสิ่งก่อให้เกิดทุกข์ได้มากน้อยเพียงไร นิโรธก็แสดงตัวขึ้นมา ๆ คือดับทุกข์ไปเรื่อย ๆ เพราะอำนาจของมรรค ไม่ใช่นิโรธทำหน้าที่เองนะ เรื่องของมรรค

เหมือนอย่างความอิ่มที่เรารับประทาน ไม่ใช่ความอิ่มทำหน้าที่ของตนเอง เป็นเรื่องของการรับประทานต่างหากเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ดับระงับทุกขเวทนาหรือความหิวโหย แต่เมื่อมันปรากฏอย่างนั้น มันมีอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้สมความเป็นศาสดาว่าทุกแง่ทุกมุมไม่มีบกพร่อง สำหรับความเป็นศาสดาสอนโลก ท่านจึงแยกแยะออกให้เห็นตามขั้นตามภูมิทุกแง่ทุกมุม แต่เราอย่าเข้าใจว่าสัจธรรมทั้งสี่นี้มีความเกี่ยวเนื่องกันไป ทำนี้แล้วจะต้องไปทำนั้น ๆ อย่าไปคิดอย่างนั้น ผิดทั้งเพทีเดียว

ทุกข์เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเพราะอะไร นั่นปัญญาขึ้นแล้ว จิตที่สำคัญมั่นหมายว่าทุกข์เป็นอย่างนั้น ทุกข์เป็นอย่างนี้ นั้นคือตัวสมุทัย ปัญญาคิดค้นตามมัน สัจธรรมทำงานพร้อมกัน นี่เป็นความถูกต้องในหลักธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แล้วทุกข์มันก็ดับไปเอง นิโรธก็ปรากฏขึ้นมาเองโดยไม่ต้องไปบอก เมื่อรอบตัวแล้ว

นี่แหละวิธีกำหนดให้รู้ภพรู้ชาติ ว่าเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติหรือไม่เคยเกิดมา พึ่งเคยเกิดมาในภพชาติเดียวนี่เหรอก็รู้ เพราะจิตเป็นตัวเกิด พาให้เกิดพาให้ตาย พาให้ท่องเที่ยวในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ใช่ผู้อื่นใด คือจิตดวงรู้ ๆ อยู่นี่แล แต่มันหลงเรื่องของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยธรรมะเข้าไปพิสูจน์ให้เห็นความจริงของตัวเองแล้ว ถึงจะจำได้ไม่ได้ก็ตาม ภพชาติต่าง ๆ นั้นน่ะมันชัดเจน ว่าตัวนี้แลตัวการคือนักท่องเที่ยวพาให้เกิดแก่เจ็บตายไม่หยุดไม่ถอยจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ นี้เป็นภพนี้ ที่มาทรงตัวอยู่เวลานี้ยังไม่ก้าวต่อไป

เอ้า แก้มันเสียเดี๋ยวนี้อย่าให้เหลือ ไม่ให้มันก้าวต่อไปอีก ภพชาติขอยุติกันเพียงเท่านี้ ด้วยความสิ้นสุดแห่งสมมุติภายในจิตใจ คือกิเลสประเภทต่าง ๆ มีอวิชชาเป็นต้น เอาให้ดับตรงนี้แล้วแสนสบาย อยู่ไหนอยู่เถอะ โลกก็เหมือนไม่มีเพราะจิตไม่ไปยุ่ง จิตเป็นจิต จิตพอตัวแล้วกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสมมุติอันนี้ คลายหมดแล้ว คลายออกจากกันหมดไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ธรรมชาติความบริสุทธิ์ล้วน ๆ แสนสบาย ปรมํ สุขํ ท่านว่า

ปรมํ สุขํ นี้ไม่ใช่สุขเวทนานะ จิตพระขีณาสพท่านไม่มีเรื่องเวทนา สุขเวทนาก็ไม่มี ทุกขเวทนาก็ไม่มี อุเบกขาเวทนาก็ไม่มี ในจิตของพระขีณาสพไม่ว่าองค์ใดเวทนาทั้ง ๓ นี้เข้าไปแทรกไม่ได้โดยหลักธรรมชาติเอง ไม่ใช่บังคับไม่ให้มันแทรก เป็นหลักธรรมชาติ แต่เป็น ปรมํ สุขํ ซึ่งไม่ใช่เวทนาทั้ง ๓ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่มีอยู่กับจิตดวงบริสุทธิ์นั้นแล้ว นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ไม่ใช่ทุกข์...สุขเวทนา

เพราะฉะนั้นจึงทำให้เราระลึกอยู่เรื่อย ๆ สะดุดใจเรื่อย ๆ มีพระเจ้าฟ้าเจ้าคุณท่านมาเทศน์ มาเทศน์อยู่วัดป่าบ้านตาดนี้แหละ ศาลาหลังนี้ เรานั่งฟัง ท่านว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเสวยทุกขเวทนา โอ้โห สะดุดปึ๋งเลยเชียวนะ ถ้าเป็นพระหนุ่มพระน้อยแล้วได้โต้กันอย่างหนัก เอาให้อยู่หมัดเชียว จะเห็นได้ท่านว่า รับสั่งพระอานนท์ให้ลาดสังฆาฏิเราจะพักผ่อน เราอ่อนเพลียเต็มที ลำบากร่างกายเต็มที เราจะพักผ่อนอานนท์ ลาดสังฆาฏิแล้วบอกให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาเราหิวกระหาย

ท่านพูดเรื่องขันธ์ต่างหากนี่ อ่อนเพลียเรื่องขันธ์อ่อนเพลีย ท่านทราบความอ่อนเพลีย ท่านทราบทุกขเวทนาในขันธ์ว่าไม่สามารถจะเสด็จต่อไปอีกได้ ให้พักผ่อนเสียก่อน ขันธ์นี้อ่อนตัวอ่อนกำลัง ทุกขเวทนาในขันธ์ก็มีแต่ไม่ใช่ทุกขเวทนาในจิต เพราะไม่ได้เสวยนี่ ท่านจะมาเสวยอะไรทุกขเวทนาภายในจิตท่านไม่มีตั้งแต่ขณะตรัสรู้แล้ว หาเวทนาตัวไหนอันเป็นสมมุติที่จะเข้าไปแทรกนั้นไม่มีเลย เหตุใดจึงว่าท่านเสวยทุกขเวทนา

นี่ซิมันสะดุดปึ๋งเลยหัวใจเรานะ เราก็โง่ ๆ อย่างนี้แหละแต่ก็เห็นชัดภายในจิตเราว่าไม่มีเวทนาตัวไหนจะเข้าไปแทรกในจิตนี้เลย เอาตัวนี้แหละเป็นเครื่องยืนยัน และมันสะดุดก็เพราะจิตนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราเห็นอย่างชัด ๆ ภายในใจของเรา ไม่มีเวทนาตัวไหนที่จะเข้าไปครอบหัวใจนั้นได้เลย เป็นอิสระอยู่โดยลำพัง โดยไม่ต้องไปเสกไปสรรไม่ต้องไปบังคับบัญชา

เพราะฉะนั้นบรรดาพระขีณาสพ ดังที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเล่าให้ฟังและเราได้เขียนในประวัติว่า พระสาวกบางองค์นอนนิพพาน บางองค์ยืนนิพพาน บางองค์เดินนิพพาน บางองค์นั่งนิพพาน เราถึงใจ ทีนี้โลกทั้งหลายมีความฉงนสนเท่ห์กัน ใครไปนั่งนิพพาน เดินนิพพานได้ยังไง ถ้าเป็นอย่างแบบร้องครางอือ ๆ ไม่ได้สติสตัง ทึ้งเนื้อทึ้งตัวถึงขนาดตกเตียงลงไปนั้นจะเอาอะไรมารู้ จะเอาอะไรมาเดินตาย นั่งตาย ยืนตายได้ เพราะทุกขเวทนาครอบงำหัวมันอยู่แล้วจะตาย จนไม่มีสติสตัง คนประเภทนี้ไม่ใช่คนประเภทที่จะสามารถยืน เดิน นั่งตายได้ ประเภทลืมตัวไปหมดไม่มีสติสตัง

พระขีณาสพท่านไม่ใช่คนประเภทนี้ ท่านเป็นพระหรือท่านเป็นคนประเภทที่ว่าเหนือสมมุติทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา แม้ทุกขเวทนาจะเป็นถึงไหนก็อยู่ในขันธ์ จิตก็เหนืออยู่แล้วตลอดกาล ท่านอยากจะนิพพานในท่าใดตามอัธยาศัยของท่านท่านก็นิพพานได้อย่างสะดวกสบาย ตามความถนัดของอัธยาศัยท่าน เช่น องค์นั่งนิพพานท่านก็นั่ง เดินนิพพานท่านก็เดิน ยืนนิพพานท่านก็ยืนได้สบาย ๆ เพราะไม่มีอะไรมาบังคับจิตใจของท่านได้ ผิดกันที่ตรงนี้

เมื่อจิตเข้าใจอยู่อย่างชัดเจนนี้จะไม่สะดุดได้ยังไง เพราะโง่ ๆ ขนาดเรานี้ยังไม่เคยเห็นเวทนาตัวใดเข้าไปเหยียบย่ำทำลายจิตแม้แต่นิดไม่เคยปรากฏ มันเป็นอยู่ตามความเป็นจริงของมันเท่านั้น มากน้อยก็เป็นตามความจริง ก็รู้อยู่ชัด ๆ

เวทนาไหนจะมาครอบงำพอจะให้เสวย นั่นท่านรับสั่งตามพระอาการของขันธ์ของสมมุติต่างหาก อานนท์ลาดสังฆาฏิที่นี่เราเหนื่อยเราจะพัก คำว่าเหนื่อยก็คือว่าธาตุขันธ์นี้ไปไม่รอด มันอ่อนกำลัง อานนท์มาลาดสังฆาฏิให้ขันธ์นี้มันพักพูดง่าย ๆ ขันธ์นี้ต้องการน้ำ อานนท์ไปตักน้ำมาให้เราดื่มให้เรากินขันธ์นี้ต้องการน้ำ ไม่ใช่ตถาคตอันแท้จริงนั้นต้องการอะไรทั้งหมด ไม่ต้องการนอน ไม่ต้องการนั่ง ตถาคตองค์บริสุทธิ์นั้นไม่ต้องการอะไรทั้งหมดขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้ว แม้จะอยู่ในขันธ์ซึ่งเป็นตัวสมมุติก็ตาม ตถาคตอย่างแท้จริงนั้นไม่สนใจกับอะไร คือตถาคตอยู่โดยหลักธรรมชาติ นี่ความจริงเป็นอย่างนั้น

เห็นประจักษ์ เราไม่มีความรู้ความฉลาดหลักแหลมก็ตาม แต่ก็ชัดอยู่ภายในจิตของเรา เพราะฉะนั้นเราถึงกล้าพูด เอ้า เวลาตายถ้าเป็นความถนัดแล้วเราตายคนเดียวสะดวกสบายดี ตายตามอัธยาศัยของเรา เวลาจะตายหัวซุกเข้าร่มไม้โน้น ภูเขา ถ้ำไหนที่เป็นความสะดวกสบายตามอัธยาศัย นั่นแหละเป็นที่เหมาะ ไม่หวังจะพึ่งใคร แม้แต่ขันธ์ก็จะไปพึ่งมันได้อย่างไร ขันธ์ก็เป็นขันธ์ก็รู้อย่างชัด ๆ ถึงกาลเวลาแล้วจะปล่อยมันก็ปล่อยอย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องมีใครมายุ่ง เท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะล่มจมเพราะความตายไปของเรา เรามันแน่ขนาดนั้น ถ้าตายอะไรก็ฉิบหายนี้ไม่มี มันจริงทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้สลายลงไปก็เคลื่อนที่จากความประชุมลงไปสู่สิ่งนั้น ธาตุนั้น ๆ ตามเดิมเสีย


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก