อริยสัจจริงอย่างนี้
วันที่ 23 มิถุนายน 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 32.22 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

อริยสัจจริงอย่างนี้

 

        เราจะไปคิดตำหนิศาสนานั้นศาสนานี้ คิดตำหนิคิดไปอย่างไรยิ่งเป็นความผิดของตัวเอง เพราะปกติมันผิดอยู่แล้ว ธรรมไม่มีอะไรผิด ถ้าผิดไม่เรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว นิยยานิกธรรม นำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับจริง เป็นอย่างนั้น บทธรรมคุณก็สวดกันอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่เหรอ ทุกวันทุกคืน สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชอบแล้วหรือตรัสดีแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง คือเห็นองค์ธรรมแท้นะ เห็นเอง อกาลิโก ธรรมมีอยู่ตลอดกาล เช่นเดียวกับจิตมีอยู่ตลอดกาล เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก เอหิ เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ภายในตน

        สัจธรรมเฉพาะอย่างยิ่ง ๒ อย่าง ประกาศท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา เราจะสู้หรือไม่สู้ รบหรือไม่รบ ทุกข์กับสมุทัยประกาศอยู่ในหัวใจเราทั้งทางร่างกาย ชาติปิทุกฺขา ชราปิทุกฺขา มรณมฺปิทุกฺขํ นี้ประกาศทางกาย เรื่องของทุกข์ โสกปริเทว นั่นเป็นทางใจ  โสก หมายถึงใจ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข นี่เกี่ยวกับทางใจ นี่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจแสดงให้เห็นได้ชัดอยู่ภายในจิตใจ นี่ละที่ว่า เอหิปสฺสิโก ท่านจงดู ท่านบอกเรานั้นเอง เอหิ ท่าน ตฺวํ อันว่าท่าน เอหิ จงมาดู ดูตรงที่นี่  ธรรมส่อแสดงอยู่ที่นี่ ทุกข์ก็ส่ออยู่ที่นี่

        สมุทัยคืออะไร สัจธรรม ๒ อย่างนี้เด่นอยู่เวลานี้ หากสติปัญญาของเรายังไม่เด่น อันนี้ต้องเด่นอยู่เสียก่อน ดูให้ดีพิจารณาให้ดี นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี,เสยฺยถีทํ,กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา สิ่งที่สหรคต ไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงนั้นเป็นไปจากอะไร เป็นไปจาก กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา  ที่แสดงอยู่ในจิตนี้มีแต่สัจธรรมประเภทนี้

        เอหิ จงดูที่นี่ คือ เอหิ น้อมใจเข้ามาดูที่นี่ ถ้าหากเป็นกิริยาของคนก็ เอหิ จงมา แต่นี้เป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องกระแสของจิต เอหิ จงย้อนจิตเข้ามาดูที่นี่

        สร้างขึ้นเรื่องมรรคปฏิปทา พยายามสร้างอย่าถอย เราอย่าเห็นความทุกข์ในวัฏสงสารที่เราเคยแบกเคยหามมานี้ว่าเป็นของเล็กน้อย ไม่ใช่เล็กน้อย โลกจมไปด้วยทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้แหละ เงยหัวไม่ขึ้นยกหัวไม่ขึ้นก็เพราะทุกข์นี้บีบบังคับ ทุกชาติชั้นวรรณะไม่มีใครเหนือทุกข์ไปได้เลย ก็เพราะไม่มีใครเหนือกิเลสไปได้เลยนั่นแล  ทุกข์ธรรมดาของธาตุของขันธ์ถ้าไม่มีกิเลสเข้าไปแทรกก็พอทำเนา แต่ส่วนมากพอเกิดวิการขึ้นมาในธาตุขันธ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง กิเลสจะเข้าไปแทรกทันที คือเกิดความเสียใจไม่อยากให้เป็น เกิดความกระวนกระวายขึ้นมา นี่กิเลสโรคทางใจแทรกเข้าไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องถูกกดตลอดเวลา โลกไม่มีใครที่จะเหนือทุกข์นี้ไปได้ อยู่ใต้อำนาจของทุกข์ เพราะฉะนั้นเราต้องปฏิบัติให้รู้

        สติเอาให้ดี ตั้งตรงไหนให้มันขาดไป  ทำใจให้เด็ดอย่าอ่อนแอ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้อ่อนแอ ธรรมก็ไม่มีบทใดที่สอนให้คนอ่อนแอ ปฏิบัติให้จริงให้จัง กำหนดลมก็เอาจริงเอาจังกับลม อย่าไปคิดคาดคิดหมายกับผลอันใดที่จะเกิดขึ้น วิธีใด ลักษณะใด อย่าไปคาด เป็นการทำลายเหตุที่กำลังทำ ทำลายงานของตนที่กำลังทำให้เสียไปไม่สืบต่อ

        นั่นละการสร้างเหตุที่จะให้ผลเกิดขึ้น คือเรากำหนดอยู่ด้วยสติ รู้อยู่ด้วยสติ เช่น กำหนดอานาปานสติเพื่อความสงบอันเป็นผล ก็อย่าปล่อยลมกับความรู้ ให้สัมผัสสัมพันธ์กันทั้งเข้าทั้งออกอยู่อย่างนั้น จิตไม่ไปไหน บังคับกระแสจิตไม่ให้ส่งออกไปนอก มันจะเถลไถลนะ เพราะนิสัยของจิตเป็นอยู่อย่างนั้น จับจด ๆ ไม่เอาอะไรจริง ๆ จัง ๆ นะ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสมันจริง ถ้าเป็นเรื่องของธรรมมันจับจด ยิ่งเรื่องดีใจเสียใจแล้วติดอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน เป็นอารมณ์ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้นไม่มีเวลาปล่อยวาง มันจริงมันจังถ้ากับเรื่องกองทุกข์เรื่องกิเลส แต่เรื่องธรรมนั้นไม่ค่อยจริงค่อยจัง เพราะยังไม่เห็นผลพอที่จะให้จิตใจจริงจัง พอเห็นผลแล้วมันหากเกิดความจริงจังขึ้นมาตามส่วนแห่งผลที่ได้ปรากฏมากน้อย นี่สำคัญ

        เวลากำหนดให้สงบตั้งท่าเอาให้สงบ ไม่สงบเหรอ ไม่สงบเอ้าค้น ค้นก็บังคับให้สติติดตาม จะดูอันไหน ๆ ให้รู้ให้จ่อกันไปโดยลำดับ เหมือนกับนักโทษหรือผู้ต้องหา ถูกบังคับด้วยสติ ไม่งั้นไม่ได้นะจิตคอยแต่จะเถลไถล เราทำเราหวังเอาความสุขอยู่เรื่อย ๆ ด้วยการปล่อยใจ  นั่นแหละคือการปล่อยให้กิเลสเข้ามาทุ่มเจ้าของ ทุกข์ด้วยการบังคับบัญชาจิตใจของตนชื่อว่าทำงานแท้ ชื่อว่าฝึกทรมานจิตหรือฝึกทรมานกิเลสที่มีอยู่กับจิตแท้ ต้องทำอย่างนั้นให้จริงให้จัง

        ผมอยากได้ยินหมู่เพื่อนได้รู้เห็นธรรม ไม่ว่าสมาธิขั้นใด ไม่ว่าปัญญาขั้นใด เราอยากเห็น เพราะเราสอนเพื่อสมาธิ สอนเพื่อปัญญา สอนเพื่อมรรคผลนิพพานต่อหมู่เพื่อน ไม่ได้ลดละ การสอนทั้งหลายสอนอย่างนี้ทั้งนั้น สอนอยากให้รู้ให้เห็นจริง ๆ และการสอนนี้ก็ไม่ได้อวด สอนด้วยความจริงที่ได้รู้ได้เห็นมาจริง ๆ ไม่ได้ไปด้นไปเดาเอามาจากทางไหนมาสอนด้วยนะ เพราะฉะนั้นถึงพูดด้วยความอาจหาญทุกแง่ทุกมุม แน่ใจว่าไม่ผิดเพราะเราปฏิบัติมาอย่างนี้ ถ้าหากว่าผิดจะรู้ได้ยังไง แน่ะ มันแน่นะเหตุว่ามันถูก ผลที่ปรากฏขึ้นมาอย่างนี้ และก็นำมาสอนทั้งขั้นสมาธิทั้งขั้นปัญญา

        เพราะฉะนั้นจึงอยากจะให้หมู่เพื่อนจริงจัง ให้ได้เห็นความจริง จิตสงบลงไปแค่ไหนก็ให้รู้ว่าเป็นผลแค่นั้น เมื่อมีความสงบเยือกเย็นแล้ว การที่จะพิจารณาทางด้านปัญญานั้นเป็นเรื่องสำคัญ สมาธิคือความสงบ ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวไปกับสิ่งใดๆ แล้ว นั่นควรแล้วในการที่จะพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ภายนอกภายใน ไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่มีประมาณว่าข้างนอกหรือข้างใน ได้ทั้งนั้น แล้วแต่จิตในขณะนั้นมีความชอบมีความถนัดในเวลานั้น เหมาะสมในเวลานั้น จะพิจารณาอะไรเอาให้รู้ให้เห็น

        พิจารณาอสุภะอสุภัง เอ้า ดู คลี่คลายมันออกจนหมดทุกชิ้นทุกอันเป็นไร ไม่ให้จิตปล่อยตัวออกจากนั้น ไม่ให้จิตวาง ไม่ให้จิตเถลไถลไปจากรูปภาพอันนั้น ดูมันทุกระยะ ๆ ให้มีแต่ความรู้กับภาพอันนั้นปรากฏเท่านั้น อย่าให้อะไรเข้ามาแทรก มีความรู้กับภาพที่เราตั้งขึ้นมานั้นปรากฏอยู่โดยเฉพาะเท่านั้น คือสติครอบไว้ไม่ให้มีสามเข้าไป ให้มี ๑) คือความรู้นี้ซึ่งสัมปยุตด้วยสติ ๒) ภาพที่ปรากฏ ดูให้ชัดเจน คลี่คลาย เวลาพิจารณาไป ๆ มันจะเพลินลืมเนื้อลืมตัว ร่างกายนั่งอยู่ก็เหมือนไม่มี เพลิน นั่นเป็นภายนอก พิจารณาภายนอก เอ้าย่นเข้ามาภายใน ย้อนเข้ามาภายในก็เป็นแบบเดียวกันอีก พิจารณาไปหมดทุกแง่ทุกมุม ซึมซาบไปหมดด้วยความเพลินในการพิจารณา ให้เห็นชัดเจน

        เราอย่าไปคาดหมายผล อยากให้มันแล้วมันเสร็จไปอย่างนี้ไม่ได้นะ การพิจารณาอยากให้แล้วให้เสร็จไปนี้ไม่ถูก พิจารณาตามความจริง อยู่กับความจริง รู้มันจะรู้ความจริงไม่รู้อันอื่นละ ความอยากเกิดประโยชน์อะไร อยากให้เสร็จให้สิ้นไปเฉย ๆ โดยความรู้เจ้าของก็ไม่สามารถที่จะให้รู้พอเสร็จพอสิ้นไปได้ พอปล่อยวางไปได้ มันก็ปล่อยไม่ได้ ต้องพิจารณาให้มันจริงมันจัง ถึงขั้นมันอัศจรรย์ อัศจรรย์จริง ๆ ถึงยังไม่หลุดพ้นก็อัศจรรย์ให้เห็นชัด ๆ

        ความสงบเพียงสมาธิเท่านั้นก็เป็นความสุข จิตที่มีความสงบตัวแล้วไม่วุ่นกับเรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องกามราคะอะไรเหล่านี้ ถ้าไม่สงบแล้วมันไปนะ มันเยิ้ม ๆ เรื่อย นี่เคยเป็น เวลาเรียนหนังสือก็ไม่เห็นมันยุ่งมันเหยิงวุ่นวายอะไรกับเรื่องกิเลสประเภทนี้ เวลาออกปฏิบัติจะเข้าด้ายเข้าเข็มนี่ซิมันชักรวดเร็ว ได้ยินแต่เสียงเท่านั้นมันชักอะไรขึ้นมาภายในจิต แต่ไม่ได้หมายถึงแสดงถึงอวัยวะนะ มันอะไรในจิตชอบกล ๆ มันรวดเร็ว เป็นลักษณะราคะ แสดงภายในจิตพอแย็บให้รู้เท่านั้นนะ ไม่ได้หมายถึงมันมากยิ่งกว่านั้น

        เอ๊ะทำไมจิตนี่เวลาออกมาปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ทำไมมันถึงรวดเร็วถึงขนาดนี้ เป็นอย่างนี้ แต่ก่อนไม่เห็นเป็น ความจริงมันก็เป็นแต่เราไม่ได้สนใจเฉย ๆ แต่นี้เรามีสติมันจึงเหมือนกับว่ามันเป็นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีสติดูก็รู้ เหมือนอย่างความคิดความปรุงของเราทั้งหลายนี้ เราจะปรุงไปไหนเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีสติมันปรุงทั้งวัน เราก็ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่ามันปรุงมากปรุงน้อยเพราะมันปรุงทั้งวัน แต่พอมีสติจ่อเท่านั้นมันจะกระเพื่อมออกมานี่มันรู้ ๆ เอ๊ มีแต่ความคิดเท่านั้นกวนจิต แน่ะมันก็รู้แล้วนะ

        เมื่อกำหนดดูจริง ๆ ไม่เห็นมีอะไรกวนจิต มีแต่ความปรุงมันคอยจะกระเพื่อมออกมาเรื่อย ๆ เพราะสติครอบดูอยู่นั้น สติครอบเดี๋ยวเป็นลักษณะจะกระเพื่อมออกมา พอเป็นลักษณะจะกระเพื่อมออกมา กำหนดตัวลักษณะนั้น มีลักษณะตัวหนุน ๆ กำหนดตัวหนุนนั้นมันก็ดับไป ๆ มันมีลักษณะอะไรขึ้นมา เอานั้นเป็นเป้าหมาย กำหนดตรงนั้นมันก็ดับไป ๆ มันปรุงไม่ได้ เราถึงได้เห็นโทษของมันและเห็นเรื่องความปรุงของจิตได้อย่างชัดเจน ว่ามันจะกระเพื่อม มันจะแย็บออกมานี้มันเป็นลักษณะหนุน ๆ ออกมานิด ๆ

        นี่คือเรามีสติดูมัน มันรู้ ดูมันปรุงเรื่องอะไรก็รู้ ถ้าไม่มีสติแล้วทั้งวันก็ไม่รู้ นี่ละที่มันเกี่ยวข้องกับรูปกับเสียงอะไรทำให้เกิดความแปลก ๆ ภายในจิตได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะว่าเรามีสติ แต่ก่อนเราไม่มี มันติดพันกันอยู่สักเท่าไร ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ จนจะแบกไปไม่ไหวมันก็ไม่รู้ เพียงขนาดนั้นมันไม่รู้เพราะจิตไม่มีสติ จิตไม่ได้ตั้งอกตั้งใจอะไรนัก พอมาปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นนะเรา จึงได้ยิ่งขะมักเขม้นยิ่งได้บังคับบัญชากันหนักเข้า ๆ ถึงจิตมีความสงบเย็น ที่นี่เรื่องเหล่านี้ค่อยจางไป ๆ ทีนี้เราก็ยิ่งเน้นหนักลงตรงนี้ให้มาก จนกระทั่งมันหายไปเรื่องเหล่านี้ สงบสบาย นั่งอยู่ก็สบาย คือความคิดความปรุงปรุงได้ แต่ที่จะให้มันคิดปรุงไปเรื่องนอก ๆ นานา อย่างที่เคยไปแบบเถลไถลมันไม่ไป

        จิตที่มีความสงบตัวได้และสงบจนมีรากฐานแน่นแห่งความสงบภายในตัว มีรากฐานแห่งสมาธิแล้วมันไม่ยุ่งกับเรื่องเหล่านั้น มันจะอยู่ในความสุขอันนี้ ติดอยู่ในนี้ สบายอยู่ในนี้ ทีนี้พอเป็นความสุขเช่นนั้น พอเป็นความสงบได้บ้างนั้นให้พิจารณา เปลี่ยนวาระกันกับการทำความสงบ นี่เป็นวิธีที่ถูกต้องไม่เนิ่นช้า วิธีนี้ไม่เนิ่นช้า เป็นการเสริมปัญญาไปในตัว ขุดค้นไปตามโอกาส คือเปลี่ยนวาระกันกับการเข้าสมาธิ ในขณะที่จะต้องการความสงบไม่ต้องเอาเรื่องของปัญญามายุ่ง ทำหน้าที่เดียวเท่านั้นไม่สนใจกับปัญญาเลย เหมือนกับเราไม่เคยมีปัญญา ตั้งหน้าเหมือนกับคนจะนอนหลับ ตั้งหน้าจะหลับถ่ายเดียว ไม่ต้องไปคิดไปปรุงอะไรมันก็หลับง่าย ๆ ถ้าธาตุขันธ์ไม่วิการอย่างอื่น นี่เราตั้งท่าจะให้จิตสงบด้วยสติบังคับอยู่เท่านั้น ไม่ต้องสนใจกับเรื่องปัญญาใด ๆ ทั้งหมดในขณะนั้น มันก็สงบลงได้

        พอสงบออกมาได้เป็นกำลังแล้ว จากนั้นไปเราจะพิจารณาทางด้านปัญญา เอาทีนี้ด้านปัญญา สมาธิไม่ยุ่งไม่เกี่ยว นี่เรียกว่าทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้สงบเรียกว่าสมถะก็ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องเอาปัญญาเข้ามายุ่ง วิปัสสนาเข้ามายุ่ง เวลาจะพิจารณาวิปัสสนาเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ในขันธ์ในจิตนี้ ก็เอาจริงเอาจัง ไม่ต้องสนใจกับเรื่องสมาธิ มันจะไปไหนก็ช่างสมาธิ เวลานี้เราทำงานเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้มันรู้แจ้งเห็นจริง พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนเกิดความซึ้งภายในจิต ถ้ามันเข้าใจจริง ๆ มันซึ้งนะ ซึ้งเข้าไปในจิต แล้วมันปล่อยวางเองที่นี่ ค่อยปล่อยวางไป ๆ ค่อยเบาลงไป ๆ

        ปัญญาขั้นเริ่มแรกต้องพาฝึกหัดพาค้นคว้า เหมือนเราพาเด็กทำงานที่ยังไม่เคยงาน แม้แต่ทางสมาธิก็ต้องถูกบังคับบัญชาให้ทำด้วยสติ ไม่งั้นมันเผลอเถลไถล ที่นี่พอจิตได้ผลทางสมาธิแล้วก็ไม่ต้องบังคับ มันหากทำหน้าที่ของมันเอง พอถึงขั้นปัญญา ขั้นเริ่มแรกต้องพาขุดพาค้นพาพินิจพิจารณา จนกว่าว่าเห็นผลของปัญญาแล้ว ทีนี้ปัญญาจะค่อยก้าวเดินออกเองละที่นี่ รู้จักวาระตัวเอง วาระสมาธิ วาระปัญญา ใครจะทำหน้าที่ทางด้านปัญญาหรือด้านสมาธิเวลาใดมันรู้ในตัวเอง และเอาจริงเอาจังกับหน้าที่นั้น ๆ ไม่ให้ก้าวก่ายกัน นี้เรียกว่าทำถูกต้อง

        นี่เคยปฏิบัติมาแล้ว ตอนมันเลยเถิดมันก็เลย ความเลยเถิดนั้นมันเป็นครูสอน เช่นอย่างนอนไม่ได้ทั้งวันอย่างนี้ นอนไม่ได้  กลางคืนทั้งคืนนอนไม่ได้เพราะความเพลิดเพลินในการพิจารณาทางด้านปัญญา นี่เราก็รู้ว่ามันเลยเถิด แต่เวลาพิจารณาผ่านไปแล้วมันก็ย้อนกลับมารู้หมดว่า โอ้ ตรงนั้นคดโค้งไป ตรงนั้นเลยเถิด อะไร ๆ มันก็รู้ ตรงนั้นพอดี รู้ นี่จึงต้องสอนไว้ก่อนให้ถูกต้องทีเดียว โดยไม่ต้องไปคาดไปเดาอะไร เพราะครูอาจารย์สอนไว้แล้วโดยถูกต้อง

        จะจับลงตรงไหนอวัยวะเรา ทีแรกเพ่งเป็นเหมือนกสิณ จะจับตรงไหนสติจ่อตรงนั้น จะกำหนดหนังตรงนั้นสติจ่อลงตรงหนังนั้น เอ้าหนังนั้นจะขึ้นสูงลงต่ำไปไหนเลื่อนลอยไปไหนไม่ปล่อย ให้รู้อยู่ตรงนั้น ๆ สักเดี๋ยวก็ค่อยลืมเนื้อลืมตัว ลืมสัญญาความคาดความหมายเข้าไป ๆ มีแต่ความรู้กับภาพนั้นปรากฏอยู่เด่นชัด เด่นชัดขึ้น สักเดี๋ยวก็ค่อยกระจายออก ๆ กระจายออกทั่วถึงหมดสรรพางค์ร่างกาย ความเปื่อยความเน่าความเจ็บความอะไร ความปฏิกูลโสโครก มันเห็นประจักษ์กับจิต เกิดความอิดหนาระอาใจ จะเกิดความสลดสังเวช แต่จิตใจนั้นเบาลงไปเป็นลำดับ เบาลงไป ๆ แทนที่จะโศกเศร้าเหงาหงอยไม่เป็นนะ พอเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้แล้วเรื่องอุปาทานมันก็ค่อยจางไป ๆ ในขณะนั้น เอาจนกระทั่งพังทลายลงไปด้วยอำนาจพิจารณาทางด้านปัญญา

        ทีนี้เวลาเราพิจารณาทีหลัง เราจะยึดสิ่งที่เราเคยรู้เคยเห็นแล้วมาปฏิบัติไม่ได้นะ มันเป็นสัญญาอารมณ์ กำหนดใหม่ เอาอุบายวิธีใหม่ในปัจจุบัน ถึงจะเป็นอุบายวิธีเก่าก็ตามแต่ให้เกิดในวงปัจจุบัน ตั้งหลักลงที่เก่านั่นแหละ เช่นเรากำหนดอวัยวะตรงไหนที่เราเคย ไม่ปล่อยตรงนั้น จับลงตรงนั้นเลย และจ่อลงตรงนั้นอีกเหมือนกันนั่นแหละ แต่เราอย่าไปคาด เมื่อวานเป็นอย่างนั้นเมื่อเช้านี้เป็นอย่างนี้อย่าไปคาด ให้จ่อลงในวงปัจจุบัน มันจะเป็นไปกว้างไปแคบให้เป็นในวงปัจจุบัน ให้มันเป็นไปเองของมัน

        เราจะทราบได้ชัดว่าการพิจารณานี้ไม่เหมือนกัน เราคนเดียวกันพิจารณาในจุดเดียวกันแห่งอวัยวะ แต่ความรู้ความเห็นต่าง ๆ ในสกลกายนี้จะต่างกัน วันนี้พิจารณาเห็นอย่างนี้ ๆ วันหลังพิจารณาเห็นอย่างนั้น ๆ แต่รวมแล้วเป็นสัจธรรมด้วยกัน การเห็นการรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถอดถอนกิเลสได้ด้วยกัน เราจะให้มันเป็นเหมือนเก่า ๆ ไม่ได้ อย่าไปคาดไปหมาย ให้เป็นความจริงขึ้นมา ความจริงในขณะที่ทำนี้มันเป็นยังไงขึ้นมา ให้ดูตามความจริงนั้น เราอย่าเอาสัญญาอดีตเข้ามาทับมาถมอันนี้ให้เป็นไปอย่างนั้น ๆ แล้วไม่ได้เรื่องนะ นี่ที่ว่าความจริง พิจารณาความจริง

        มันปรากฏภายในจิตอย่างไหน ดูตามความจริงอย่างนั้น มันจะรู้กว้างรู้แคบอะไร ๆ รู้ มันเห็น จะเร็วหรือช้าก็ตาม ต้องเอาความจริงจับไว้เสมอไม่ปล่อย บางทีก็เร็ว เข้าใจได้เร็ว บางทีเข้าใจได้ช้า อย่าไปเร่ง ช้าไม่ช้าให้เข้าใจเป็นที่พอใจ นี่การพิจารณาทางด้านปัญญา พอมันเข้าใจเรื่องปัญญา เห็นคุณค่าของปัญญาแล้วทีนี้ไม่ต้องบอกมันออกเอง ปัญญานี้หมุนติ้ว ๆ ความเพียรก็เป็นความเพียรทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนเว้นแต่หลับเท่านั้น ไปไหนมันจะหมุนตัวติ้ว ๆ นั่นละหมุนแก้กิเลสที่นี่

        แต่ก่อนมันผูกมันมัดตัวเองด้วยสมุทัยความคิดความปรุง ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปในเรื่องต่าง ๆ ไม่มีวันมีคืนยืนเดินนั่งนอน ทีนี้พอสติปัญญาเกิดขึ้นแล้วมันจะเพิกจะถอนละที่นี่ ในความมัดตัวด้วยกิเลสด้วยสมุทัยทั้งหลาย ทีนี้เพิกถอนออกด้วยมรรคคือสติกับปัญญา และหมุนติ้วๆ ที่นี่ กิเลสขาดลอยไปๆ วันละเล็กละน้อย เข้าใจชัดเจน กิเลสตัวนั้นหลุดไป กิเลสตัวนี้หลุดไป รู้ได้ชัดด้วยปัญญา

        เพราะฉะนั้นเราถึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า กิเลสทุกประเภทถอนด้วยปัญญาทั้งนั้น ถอนด้วยสติปัญญาทั้งนั้น สมาธิจะละเอียดแค่ไหนก็ตาม เป็นแต่เพียงว่าจับกิเลสเข้ามารวมตัว กิเลสตัวใดก็ยังไม่ตายในนั้น ที่ว่าฆ่ากิเลสอย่างหยาบได้ด้วยศีล อย่างกลางได้ด้วยสมาธิ อย่างละเอียดได้ด้วยปัญญามันพูดกันเฉย ๆ คือมันสงบตัวเข้าไป กิเลสอย่างหยาบก็สงบตัวเข้าไป บทเวลามันจะตายมันจะขาดจริง ๆ มันขาดด้วยปัญญา ๆ เช่นศีลอย่างนี้เหมือนกัน เราได้ระมัดระวังอะไรไม่ให้มันทำ บังคับเอาไว้ พอถึงขั้นปัญญาไม่ต้องบังคับ มันเข้าใจเองมันไม่ทำเอง นั่น ก็เรียกว่าฆ่ากิเลสประเภทที่มันอยากทำอยากฝ่าฝืนสิ่งนั้นได้ด้วยปัญญา กิเลสประเภทไหนพ้นปัญญาไปไม่ได้ เพลินอยู่ตรงนี้ สมาธิไม่ค่อยมี

        อย่างผมนี่ คือมันมีอยู่แล้วแต่ก่อน แต่ในระยะนั้นสมาธิมันไม่มี มันเป็นปัญญาไปหมด แต่จะให้เป็นว่าสมาธิไม่มี เหมือนอย่างที่เราเริ่มแรกฝึกหัดสมาธิที่ยังไม่มี ไม่ใช่อย่างนั้นนะ สมาธิไม่มีในขั้นนี้ มีแต่เรื่องการค้นคว้าต่างหาก ไม่ได้หมายถึงว่าสมาธิไม่มีเหลืออยู่เลย ไม่ได้หมายอย่างนั้น สมาธินี่ทุ่มไปทางปัญญาเสียหมด เอาไปหนุนปัญญาหมดพูดง่าย ๆ

        เพราะฉะนั้นเวลาจะพักจึงต้องได้ยับยั้งห้ามกัน ยับยั้งกันเต็มที่เต็มฐาน พอจิตมันถอยออกจากความยับยั้งนี้มันก็พุ่งถึงงานนั้นเลย นี่สัจธรรมฝ่ายมรรคเป็นอย่างนี้ เมื่อฝ่ายมรรคมีกำลังมากเพียงไรความดับทุกข์จะดับไปเรื่อยๆ ดับกิเลสก็ชื่อว่าดับทุกข์นั่นเอง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส จะดับไปเพราะอำนาจของมรรคคือสติปัญญา

        ทุกข์ในขันธ์เป็นอีกประเภทหนึ่ง ทุกข์เพราะกิเลสมันมี ทุกข์ในขันธ์ไม่ใช่กิเลสก็มี เช่นอย่างเจ็บท้อง ปวดหัวอย่างนี้ จิตใจไม่เสียใจ จิตใจไม่ไปกำเริบกับสิ่งเหล่านี้ ก็เรียกว่าเป็นทุกข์เฉพาะขันธ์ พระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายท่านก็เป็นประเภทนี้ แต่จิตใจท่านไม่ยุ่งไม่เกี่ยว จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ทุกข์เป็นทุกข์ เวทนาอะไรเป็นเวทนานั้น ๆ ต่างอันต่างจริงเท่านี้ ไม่มีความเชื่อมโยงหรือคละเคล้ากัน พวกเราไม่เป็นอย่างนั้น เจ็บที่ตรงไหนไอ้เรื่องสมุทัยมันก็เข้าแทรกให้เป็นกองทุกข์ขึ้นมาภายในใจนี่นะ คือไม่อยากให้เจ็บไม่อยากให้ปวด เสียอกเสียใจ นั่นแหละที่นี่เป็นการเสริมสมุทัยภายในจิต เลยเป็นโรคภายในจิตอีกทีหนึ่ง เป็นทุกข์ภายในจิตอีกทีหนึ่ง เป็นทุกข์สองชั้นก็ยิ่งหนัก

        เราพิจารณาได้เห็นทุกขสัจนี้ ได้เห็นตอนเอาเป็นเอาตายนะ ได้เห็นอย่างชัดเจน อริยสัจ ๔ เป็นของจริง มันจริงภายในจิตจริง ๆ จนหาที่ค้านไม่ได้ อ๋อ คำว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ จริงอย่างนี้เหรอ นั่น สมุทัย อริยสจฺจํ จริงอย่างนี้เหรอ ๆ จริงอย่างนี้เอง มันชัด ๆ นี่ละเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก คือเห็นเองจากการปฏิบัติของตน เห็นเป็นลำดับ ๆ

        ทีนี้กระแสของจิตที่เคยเกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับอะไร ที่จะให้เกิดเป็นภพเป็นชาติ มันบอกอยู่ในจิตหมด ถึงเราจะนับภพนับชาติของเรา ระลึกชาติเราได้ไม่ได้ก็ตาม เชื้อของจิตที่เคยต่อภพต่อชาติมามันบอกอย่างชัด ๆ นี้คือเชื้อของภพ ไม่มีเชื้อนี้มันจะเกิดไม่ได้ เมื่อมีเชื้อนี้แสดงว่ามันเคยเกิดมาแล้วสักเท่าไรนับไม่ได้ เชื้ออันนี้คือเชื้อแห่งความเกิดแท้ ๆ เห็นได้ชัด นี่ละเป็นเครื่องวัดอดีต ความเกิดมากี่ภพกี่ชาติวัดอยู่กับจิตที่มีเชื้ออันจะทำให้เกิดอยู่เสมอภายในตัวเอง ทีนี้เมื่อถอนเชื้อนี้ออกได้หมด ยังเหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วไปเกิดที่ไหนที่นี่  บอกชัด ๆ ว่าหาทางเกิดไม่ได้ จะเอาอะไรมาเกิด ไม่สืบต่อกับอะไรทั้งหมด ไม่เกี่ยวโยงกับอะไรทั้งหมด ไม่ติดไม่พันอะไร เป็นเอกเทศ

        แล้วที่นี่ภพนี้มาจากไหน มันก็ไม่มี ข้างหน้าจะเกิดหรือไม่เกิดบอกได้ชัดเจนแล้วปัจจุบันนี้ จะเอาอะไรไปเกิด ปัจจุบันนี้บริสุทธิ์แล้วเกิดไม่ได้ข้างหน้า  จะเอาความเศร้าหมองมาจากไหน มันบอกทั้งอดีตที่เป็นมา บอกทั้งปัจจุบันที่กำลังส่อมีเชื้ออยู่นั้นน่ะ ควรแก่การเกิดอยู่ จะเกิดภพละเอียดก็ตาม เกิดภพสูงขนาดไหนก็ตาม ก็คือเชื้อพาให้เกิดยังมีอยู่นั้นแล พอดับอันนี้ลงด้วยปัญญาอย่างแจ้งชัดแล้วก็ขาดสะบั้นกันไปเลย อดีตที่เคยเป็นมาที่ผ่านมาว่าเราเคยเกิดเคยตาย เป็นความเชื่อแน่ภายในจิต เพราะเชื้ออันนี้เป็นสาเหตุ มันก็ขาดจากกัน ปัจจุบันก็รู้เท่าว่าไม่ยึดกัน ไม่ได้มาถือปัจจุบันนั้นมาเป็นตนเป็นของตนอีก รู้เท่า เป็นความจริงอีกประเภทหนึ่ง อนาคตก็หาทางเกิดไม่ได้ เมื่อปัจจุบันนี้ยุติ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำเริบสืบต่อ ไม่มีเยื่อใยอะไรแล้ว หมด รู้ได้ชัด

        นั่นแหละท่านว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ความเป็นอีกของเราไม่มี ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  อะไรที่ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ลืมเสียแล้ว ถ้ามาหยิบยกเอาอย่างนี้มันลืม ผม เพราะธรรมจักรผมสวดได้ตลอดนี่ ทุกวันนี้ผมก็สวดได้ตลอดของผม แต่เวลาจะมาหยิบเอาตอนใดตอนหนึ่งมันชักลืม ๆ อยมนฺติมาชาติ ท่านว่า นี่เป็นชาติสุดท้าย อยมนฺติมาชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ต่อไปนี้ความเป็นอีกเกิดอีกไม่มี ต่อจากนั้นก็ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ การประพฤติพรตพรหมจรรย์เพื่อการถอดถอนกิเลสทั้งหลายได้สิ้นสุดลงไปเพียงแค่นี้ คือพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว พูดง่าย ๆ ก็เสร็จกิจ กิจละก็เสร็จ กิจบำเพ็ญให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็เสร็จ ละกิเลสประเภทใดก็เสร็จ เอาอย่างนี้ก็ได้ผิดอะไร

        กตํ กรณียํ กิจที่ควรจะทำในการละในการบำเพ็ญนี้ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี เพราะรู้ชัดแล้ว รู้รอบคอบแล้ว อยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ดูตรงนี้ สิ้นสิ้นที่นี่นะ สิ้นที่ใจ ใจคือตัวภพตัวชาติ กลืนเอาเชื้อแห่งภพแห่งชาติไว้นี้จนหมด เพราะฉะนั้นการแก้จึงต้องแก้เข้าไป ๆ กระแสใดมาเกี่ยวข้องพิจารณาขึ้น มันเกี่ยวกับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรสอะไรต้องพิจารณาเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงขันธ์ตัวเอง รูปขันธ์ก็ว่าเรา รูปว่าเป็นเรา เวทนาสุขทุกข์อะไรก็เป็นเรา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเรา แยกออกให้เห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นเรา อะไรไม่เป็นเรา ดูให้เห็นเป็นความจริงแล้วหาเราไม่เจอ มีแต่ความจริงแต่ละส่วน ๆ เขาไม่รู้ความหมายของเขาเลย เขาไม่มีความหมายอะไรกับเขา แต่เราไปให้ความหมายเขา แล้วเราไปหลงเขาไปติดเขา ความทุกข์มาหาเรา ย้อนมาหาเรา เพราะอุปาทานไปหลงเขาแล้วยึด

        พอพิจารณาให้เห็นตามความจริงแล้ว อุปาทานจะไปทนอยู่ได้ยังไง มันก็ถอนตัวออกมา ต่างอันต่างจริง ย่นเข้าไปจนกระทั่งถึงอวิชชา ที่ว่าเมื่อขันธ์ ๕ ก็รู้เท่าทันแล้วมันก็รวมเข้าไปอยู่ในจิตอันเดียวเท่านั้น พิจารณารู้เท่าทันนั้นอีกมันก็หมดปัญหา เพราะฉะนั้นจะทำอะไรให้ยิ่งไปกว่านี้อีกไม่มี เท่านี้ ไม่มีอะไร ธรรมชาตินั้นไม่ยิ่งไม่หย่อน มัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติแล้ว คือมัชฌิมาปฏิปทาในทางภาคปฏิบัติเป็นอย่างหนึ่ง ก็เพื่อมัชฌิมาในหลักธรรมชาตินั้นเอง ก้าวไปโดยมัชฌิมาแห่งข้อปฏิบัติ เพื่อถึงมัชฌิมาในหลักธรรมชาติแล้วก็หมดปัญหา

        การปฏิบัติธรรมเอาให้จริงให้จัง มรรคผลนิพพานรออยู่แล้วเวลานี้ รออยู่ในวงสัจธรรม มรรคผลนิพพานไม่นอกเหนือไปจากสัจธรรม สัจธรรมเบื้องต้นคือทุกข์ สมุทัย เป็นเครื่องปิดกั้นทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน  มรรคปฏิปทามีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด นี้คือเครื่องมือบุกเบิกทุกข์ สมุทัยเหล่านี้ออก เพื่อเดินได้สะดวกสบาย นิโรธคือความดับ คือสิ่งเหล่านี้ขาดไป ๆ ทุกข์ขาดไป กิเลสขาดไป ด้วยมรรค กิริยาที่ขาดไปเรียกว่านิโรธ เลยจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไปนั้นคืออะไร นั้นแลคือผู้บริสุทธิ์ อยู่ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหน

        อย่าไปคาดนะ คาดมรรคผลนิพพานอย่าไปคาด เสียเวลาเปล่า ๆ ทำให้เกิดความสงสัยสนเท่ห์ ยิ่งเสียไปอีก เป็นเรื่องสมุทัยไปอีก อย่าหนีจากสัจธรรม ทุกข์ก็ให้รู้  ให้พิจารณาให้เห็น ทุกข์เป็นเพียงเตือนเฉย ๆ เพื่อให้พิจารณาหาสาเหตุของทุกข์มันมาจากไหน มีเรามีของเราเป็นสำคัญ นั่นตัวอุปาทาน ค้นลงไป ๆ จนกระทั่งเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของทุกข์ มันปล่อยของมันเอง

เอาละ เอาแค่นี้ก่อน

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก