พระครั้งพุทธกาลความคิดการพูดการกระทำทุกแง่ทุกมุม กลมกลืนกันไปกับมรรคผลนิพพาน ไม่หันหลังให้มรรคผลนิพพานด้วยการคิดการพูดการทำต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในครั้งนั้นจึงปรากฏว่า ผู้สดับตรับฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าและสาวกด้วยกันก็ดี ผู้ปฏิบัติอยู่โดยลำพังก็ดี จึงมีทางรู้ทางเห็นทางบรรลุมรรคผลนิพพานโดยลำดับลำดาไม่ขาดวรรคขาดตอน ผิดกับสมัยปัจจุบันนี้อยู่มากทีเดียว
การผิดเราก็พอทราบได้ว่าสาเหตุพาให้ผิดไป สมัยปัจจุบันนี้เราพูดถึงเรื่องพระเราเองนี้แหละ ตัวอยู่ในวัดแต่หันหน้าออกวัด ความคิดความปรุงต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นโลกเป็นสงสาร เป็นเครื่องสั่งสมกิเลส กิริยาการพูดการจาออกมาเป็นไปเพื่อการสั่งสมกิเลส ตลอดการกระทำ ก็เมื่อหันหลังให้วัด หันหลังให้ข้อปฏิบัติ หันหลังให้มรรคผลนิพพาน เราจะเอามรรคผลนิพพานมาจากที่ไหน หันหน้าไปตรงไหนก็ได้สิ่งนั้น ส่งจิตใจไปทางใดก็ย่อมได้รับผลจากทางนั้น จิตใจในขณะหนึ่ง ๆ ได้คิดถึงอรรถถึงธรรมมากน้อยเพียงใด ส่วนมากมีแต่เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะพัวพันอยู่ภายในจิตใจ แม้ที่สุดตั้งหน้าภาวนายังเข้าไปแทรกสิงได้
ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าถ้าหากเอามาเทียบเคียงกับทางโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าของตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน อรรถธรรมทั้งหลายเป็นเหมือนกับสินค้าที่ทรงแสดงออก ผู้มาได้ยินได้ฟังมาศึกษาอบรมนั้นเหมือนกับผู้มาจ่ายตลาด ตลาดเกลื่อนไปด้วยวัตถุสินค้าต่าง ๆ จะเอาขนาดไหน เอาอย่างไหนชนิดใด ราคาสูงราคาต่ำ มีอยู่ในท้องตลาดหมดไม่บกพร่อง สมบูรณ์ตลอดเวลาเช่นเดียวกับตลาดทางโลกทางสงสารเขา ผู้ไปจ่ายตลาด ลูกค้าจะไปเลือกเอาชนิดใด มีหมดในตลาดนั้น ๆ
เรื่องศาสนาพระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าของตลาดแห่งมรรคผลนิพพานเสียเอง สินค้าประเภทต่าง ๆ ได้แก่พระโอวาทคำสั่งสอน มีทุกแง่ทุกมุมทุกขั้นทุกภูมิ ที่จะให้ผู้มาติดต่อเกี่ยวข้องศึกษาอบรมได้รับผลประโยชน์ไปเพื่อตัวเอง ไม่ขาดทุนสูญดอก ไม่เสียเวล่ำเวลามาประพฤติปฏิบัติสดับตรับฟังพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ครั้งพุทธกาลเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าท่านผู้ใดนับแต่พระราชามหากษัตริย์ลงมา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระโอวาทของพระพุทธเจ้าแล้วเสด็จออกบวชและออกบวชกันเป็นลำดับลำดา
นับแต่พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชนคนธรรมดา มีทุกขั้นทุกภูมิทุกชาติชั้นวรรณะที่มาเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า ท่านผู้ใดจะออกมาจากสกุลใดมาด้วยความเชื่อความเลื่อมใส มีจิตใจใคร่ต่อธรรมอย่างเต็มอกเต็มใจ เพราะฉะนั้นการฟังก็ฟังด้วยความตั้งใจ การประพฤติปฏิบัติเพื่ออรรถธรรมนั้น ๆ จะได้ปรากฏขึ้นในจิตของตน ก็ปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริง ๆ ผลที่พึงได้รับในการปฏิบัติอย่างน้อยก็ความสงบเย็นใจ มากกว่านั้นก็บรรลุธรรมขั้นนั้น ๆ จนถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นผลสุดยอด
เพราะผู้แสดงก็แสดงด้วยความถูกต้องแม่นยำ เนื่องจากทรงประพฤติปฏิบัติทรงรู้ทรงเห็นมาทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุม ในบรรดาธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นฝ่ายดีและชั่ว ที่จะควรแยกแยะออกให้พุทธบริษัททั้งหลายทราบ พระองค์ทรงทราบมาก่อนแล้วโดยตลอดทั่วถึง การแสดงออกแห่งธรรมในแง่ใดจึงแสดงออกด้วยความรู้จริงเห็นจริง ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไหนเลย ไม่ได้แสดงออกมาแบบสุ่ม ๆ เดา ๆ เพราะทรงรู้แจ้งเห็นจริงแล้วค่อยมาแสดง จึงเรียกว่าเป็นศาสดาองค์เอก
ในอุบายวิธีการสั่งสอนไม่มีใครเสมอทัดเทียมได้เลยในโลกทั้งสามนี้ และการแสดงออกแห่งธรรมทุกแง่ทุกมุม พระองค์ทรงรับรองยืนยัน ได้ผลมาแล้วจึงได้นำมาแสดง บรรดาสาวกที่ได้ประพฤติปฏิบัติสดับตรับฟังพระโอวาทจากพระพุทธเจ้า จนถึงกับได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ได้รู้ธรรมของจริงเช่นเดียวกัน แม้ความรู้จะไม่กว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพุทธวิสัยก็ตาม แต่สาวกก็เต็มภูมิแห่งความรู้ของตน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธรรมของจริงล้วน ๆ เมื่อสั่งสอนผู้ใดย่อมจะซาบซึ้งถึงจิตใจแก่ผู้มาอบรมศึกษาด้วยกันคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า เพราะธรรมของจริงเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าอุบายวิธีสั่งสอนมีกว้างแคบต่างกันเท่านั้น แต่ความจริงเหมือนกัน ผู้รู้ความจริง ผู้ปฏิบัติด้วยความจริงใจและรู้ความจริงขึ้นมาเป็นผล การแสดงธรรมที่ตนรู้แล้วเห็นแล้วจึงไม่มีการสะทกสะท้านไม่มีแง่สงสัย แสดงแง่ใดออกมาก็เป็นที่จับอกจับใจซาบซึ้ง จึงได้ผลเป็นที่พอใจในขณะที่ฟัง
การฟังธรรมท่านบอกว่ามีอานิสงส์ ๕ แต่ส่วนใหญ่ก็รวมลงที่ว่า จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส นี่เป็นข้อที่ ๕ คือเราฟังเพื่อผลประโยชน์ในขณะที่ฟังจริง ๆ ไม่สนใจคิดถึงเรื่องอะไรในขณะฟัง ตั้งความรู้ไว้จำเพาะตนคอยรับกระแสธรรมที่ท่านแสดงออกไป กระแสธรรมนั้นจะเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับใจ ใจรับรู้รับทราบกระแสของธรรมไม่ขาดวรรคขาดตอน ความรู้คือจิตจะคิดไปไหนก็ไม่คิด เพราะ ๑) ความสนใจใคร่ต่อการฟังอยู่แล้ว ๒) จิตใจไม่ได้คิดว่าจะส่งไปที่ไหน นอกจากจะมุ่งให้เข้าอกเข้าใจในอรรถธรรมที่ท่านแสดงไปเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมทางภาคปฏิบัติจึงสะดวก ได้รับผลง่ายยิ่งกว่าการปฏิบัติโดยลำพังตนเอง ในครั้งพุทธกาลจึงมีการอบรมสั่งสอนกันอยู่โดยสม่ำเสมอ ดังในอปริหานิยธรรม
หมั่นประชุมกันเนืองนิจ
เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ ข้อสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่รื้อถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในข้ออรรถข้อธรรมที่ทรงบัญญัติไว้แล้วด้วยดี
พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นรัตตัญญูเป็นที่เคารพเลื่อมใส ก็ทำความเคารพเลื่อมใสต่อท่านผู้นั้น นี่หลักใหญ่ตรงนี้
พยายามปราบปรามกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งคอยแทรกคอยเกิดอยู่เสมอภายในจิตใจ
ให้ยินดีในเสนาสนะป่า เสนาสนะป่าก็คือที่อยู่ในป่า อันเป็นที่สงบงบเงียบปราศจากสิ่งก่อกวนวุ่นวาย ให้ได้ทำความพากเพียรด้วยความสะดวกสบาย กิเลสจะมีมากน้อยก็ค่อยหลุดลอยออกไปจากใจ เพราะความเพียรสืบต่อกันอยู่โดยสม่ำเสมอ
นี่ครั้งพุทธกาลท่านถือเคร่งครัด ถือฝากเป็นฝากตายจริง ๆ กับการประพฤติปฏิบัติ การฟังธรรมพระพุทธเจ้าและสาวกซึ่งเป็นอรหันต์ทั้งนั้นเป็นผู้ให้การอบรม เพราะฉะนั้นผลจึงเป็นที่พอใจเรื่อยมา ไม่ได้เอาศาสนาเป็นที่อาศัยธรรมดา แต่เอาศาสนาเพื่อเป็นที่ฝากเป็นฝากตายฝากชีวิตจิตใจจริง ๆ การประพฤติก็เห็นผล
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า จะเรียกว่าศิษย์ตถาคตก็ไม่ผิด พึงคำนึงถึงหลัก พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อยู่เสมออย่าให้ห่างเหินจากจิตใจ นี่เป็นหลักที่ฝากเป็นฝากตายได้อย่างแท้จริง อำนาจของกิเลสตัณหาอาสวะจะไม่รุนแรง เมื่อจิตใจมีความมั่นคงมีความสนใจใคร่ต่อธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็เหมือนกับว่ามีเครื่องป้องกันตัว
การทำความเพียรอย่าไปกำหนดเวล่ำเวลาอิริยาบถต่าง ๆ ให้พึงทำอยู่ที่จิต คำว่าความเพียรอย่างแท้จริงก็ได้แก่สติ เป็นเครื่องประคับประคองรู้ตัวอยู่เสมอ เช่น ผู้ฝึกหัดใหม่เริ่มต้นด้วยคำบริกรรมภาวนา เช่น พุทโธ ๆ เป็นต้น ก็ให้จิตมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับคำบริกรรมภาวนาของตนด้วยความมีสติ ผู้พิจารณาทางด้านปัญญา สติเป็นสิ่งที่บังคับหรือกำกับงาน ก็ให้เกี่ยวโยงกันไปกับปัญญา ให้เกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอในทางความเพียร
เราฝากเป็นฝากตายกับพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์เลิศประเสริฐสุดในโลก ธรรมเป็นของประเสริฐ เราต้องการจะพ้นทุกข์ด้วยอำนาจแห่งธรรม ด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ เราไม่หวังจะให้ล่มจมอยู่ในกองทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเอือมระอามาก ถ้าผู้ที่จะคิดในเรื่องแง่แห่งกองทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ในสัตว์ในสังขารทั่ว ๆ ไป โลกไม่ได้อยู่โดยความเป็นอิสระ แต่อยู่ด้วยความถูกทุกข์กดขี่บังคับอยู่ตลอดเวลาหากไม่มีคนสนใจ จึงไม่อยากจะแยกตัวออกจากความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ นอกจากจะหัวถลำเข้าไปด้วยความสนใจก็มี ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็มี ด้วยความชอบสิ่งนั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งนั้นมีเจือด้วยยาพิษหรือไม่ก็มี มีหลายประเภท
นี่เราเป็นนักบวชซึ่งรู้เรื่องแล้วทุกแง่ทุกมุมบรรดาโลกทั้งหลายที่เป็นกันอยู่ เราได้ผ่านมาแล้วพอสมควร เพราะฉะนั้นจงอย่านำโลกเข้ามายุ่งกวนด้วยความอยากความหิวความกระหาย ความอยากคิดอยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันเป็นเครื่องก่อกิเลสตัณหาให้เกิดขึ้นเผาลนจิตใจ ให้พึงคิดถึงเรื่องอรรถเรื่องธรรม อันจะเป็นไปเพื่อความถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งจะนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลายนี้ออกจากใจนี้โดยลำดับ ด้วยความเพียรของตนในท่าและอิริยาบถต่าง ๆ อย่าได้เผลอตัวนอนใจ นี่ชื่อว่าผู้จะสืบทอดมรดกของพระพุทธเจ้าไว้ได้ และเป็นคุณค่าอันใหญ่หลวง เป็นสิริมงคลอย่างใหญ่หลวงแก่ตนตลอดอนันตกาลหาประมาณไม่ได้
กิเลสจะเป็นประเภทใดก็ตาม มีมากน้อยเพียงไร ย่อมจะเป็นเครื่องเสียดแทงหรือกีดขวางจิตใจอยู่ร่ำไป ท่านจึงตำหนิว่าไม่ใช่ของดี เรื่องของกิเลสนั้นมีหลายสันหลายคม ส่วนมากเป็นเหยื่อล่อให้หลงเพลิน แล้วก็นำทุกข์เข้ามาเหยียบย่ำทำลายทีหลัง หลังจากฉากนั้นแล้วก็เป็นฉากของทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้นมา ให้พากันทำความเข้าใจกับเรื่องของโลกซึ่งมีอยู่กับตัว มีอยู่กับทุกคน อย่าได้ประมาทนอนใจ
การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะยากลำบากเพียงไรก็ให้ถือว่าเป็นงานอันตนจะพึงทำ หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ ถ้าต้องการพ้นจากทุกข์ซึ่งกีดขวางกดถ่วงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้ ให้จิตใจเป็นอิสระ อย่าพึงท้อถอยทางความพากเพียร อย่าไปคำนึงว่าวาสนามากวาสนาน้อยในขณะที่จะทำความดี มีการเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อมรรคผลนิพพานเป็นต้น
ถ้าจะคิดว่าอำนาจวาสนาน้อย ให้คิดในขณะที่จิตเลื่อนลอยเผลอตัวออกไป พอระลึกได้ก็ให้ทราบว่านี่เป็นการสั่งสมในการตัดทอนนิสัยวาสนาของตนให้ด้อยลงไปโดยลำดับ ถ้ามากกว่านี้นิสัยวาสนาก็จะขาดสูญไป เพราะความชั่วเป็นสิ่งทำลายหรือเผาผลาญให้วอดวายไป การทำความดีอยู่ตลอดเวลาก็คือการสร้างอำนาจวาสนาขึ้นภายในจิต เพื่อจะปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกมีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปนั่นแล ใครจะไปสร้างวาสนาที่ไหนถ้าไม่สร้างที่ใจ วาสนาจะมากน้อยเพียงไรก็เกิดขึ้นที่ใจเป็นผู้สร้างได้
เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานจะเหินห่าง จะอยู่ห่างกันจากปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ เช่นเดียวกับบันไดมีความเกี่ยวเนื่องกันกับบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องจะสูงเพียงไรบันไดต้องติดแนบไปทุก ๆ ชั้นของบ้านของเรือน คำว่าธรรมะจะสูงขั้นไหนซึ่งเป็นฝ่ายผล ธรรมะฝ่ายเหตุคือข้อปฏิบัตินี้ จะพึงติดแนบกันไปทุกขั้นทุกภูมิ เพราะผู้ที่จะก้าวเข้าถึงธรรมขั้นนั้น ๆ ก็ต้องเป็นไปตามธรรมขั้นเหตุคือทางดำเนิน
ทางดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ซึ่งเป็นองค์แห่งปัญญา ท่านนำออกหน้า เหมือนกับคนฉลาดนำหน้าคนโง่ทั้งหลาย หัวหน้างานเขาหาคนฉลาดมาเป็น เขาไม่เอาคนโง่มาเป็นหัวหน้างานซึ่งจะทำงานให้เสียแล้ว ตลอดถึงลูกน้องก็จะอิดหนาระอาใจ ผลงานก็ไม่ได้ ดีไม่ดีทำงานให้ฉิบหายป่นปี้ไปหมดเพราะความโง่ของหัวหน้า
นี่การแก้กิเลสตัณหาซึ่งเป็นสิ่งฉลาดแหลมคมมากเหนือสิ่งใด นอกจากสติปัญญาแล้วแก้ไม่ได้ จึงต้องอบรมสติปัญญาให้แกล้วกล้าสามารถอย่าได้ลดละ นี้แลคืออาวุธอันทันสมัยกับกิเลส ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะฝ่าฝืนหรือมีอำนาจกดขี่บังคับสติปัญญานี้ไปได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะพระสติปัญญา พระสาวกทั้งหลายไม่เว้น ได้บรรลุธรรมด้วยสติปัญญานี้เท่านั้นเป็นสำคัญ สติปัญญาจึงเป็นธรรมคงเส้นคงวาต่อการปราบปรามกิเลสทั้งหลาย ผู้ต้องการอยากจะพ้นจากทุกข์โดยลำดับภายในจิตใจนี้ ให้พึงสั่งสมสติปัญญาศรัทธาความเพียรให้แก่กล้าสามารถอย่าลดละท้อถอย สมบัติอันพึงใจจะปรากฏขึ้นจากการปฏิบัตินี้แลไม่อยู่ที่อื่น
เราอย่าไปคาดมรรคผลนิพพานว่าอยู่สถานที่นั่นที่นี่ ซึ่งเป็นเรื่องเกาสถานที่ไม่คัน ตะครุบเงาหาตัวจริงไม่ได้ ตัวจริงมีอยู่กับสัจธรรม สัจธรรมกับมรรคผลนิพพานเป็นของเกี่ยวเนื่องกันอยู่แยกจากกันไม่ได้ และไม่มีสิ่งใดที่จะมีอำนาจวาสนามากั้นกางมรรคผลนิพพานของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้ได้เลย สิ่งที่เป็นมารกั้นกางมรรคผลนิพพานก็คือกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเกิดขึ้นจากใจเป็นเครื่องทำลายใจนี้เท่านั้นไม่มีอย่างอื่น
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ท่านบอกให้พึงกำหนดรู้ คือทุกข์นั้นเป็นเครื่องเตือนสติ พูดง่าย ๆ ว่าให้พึงกำหนดรู้ ทุกข์เป็นเครื่องเตือนให้สติปัญญาพิจารณาคลี่คลาย การคลี่คลายนั้นได้แก่ปัญญา ความคิดความปรุงต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสมุทัยเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเพราะความรักชอบสิ่งใด ความเกลียดความโกรธกับสิ่งใด เพราะธรรมดาของจิต โกรธก็เป็นอารมณ์ เกลียดก็เป็นอารมณ์ รักก็เป็นอารมณ์ ชังก็เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของสมุทัยทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องอาศัยสติปัญญา เป็นผู้ที่จะต้องใคร่ครวญจดจ่อดูเหตุดูผล แห่งความรักความชังความเกลียดความโกรธ อันเป็นสาเหตุมาจากสมุทัย แก้กันด้วยสติปัญญา นี่เกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างนี้
สมุทัยพึงละ เราจะเอาอะไรมาละสมุทัย ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว ท่านว่า พึงละสมุทัย ถ้าไม่ละด้วยมรรคจะละด้วยอะไร มันเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้
คำว่า นิโรธ ความดับทุกข์เอาอะไรไปดับ ถ้าไม่อามรรคไปดับกิเลสเสียก่อน เมื่อกิเลสดับทุกข์ก็ดับไปเอง ความที่ทุกข์ดับไปนั้นแลท่านเรียกว่า นิโรธ เป็นความเกี่ยวเนื่องกันทำงานในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกันเลย เราไปแยกไปแยะเรียงรายกันไปเท่าไรก็ได้ สำคัญที่การปฏิบัตินี่แหละ
ทุกข์กับสมุทัยเป็นตัวกั้นกางมรรคผลนิพพาน ซึ่งธรรมทั้งสองประเภทนี้หรือสัจธรรมทั้งสองประเภทนี้ก็มีอยู่ในใจของเรา เป็นผู้กีดขวางลวงใจ ก็คือสัจธรรมทั้งสองนี้ มรรคคือการแก้ไข การถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะเพื่อจะให้ทุกข์ดับไปก็อยู่ที่ใจของเรา นี้เป็นฝ่ายบุกเบิกถากถางสิ่งรกรุงรังได้แก่กิเลสตัณหาอาสวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัจธรรมทั้งสองนั้น ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย มรรคนี้เป็นผู้มีอำนาจ ถ้าสร้างให้มี-มีได้ แล้วปราบมารทั้งหลายหรือสิ่งที่รกรุงรังทั้งหลายออกได้ จึงเป็นนิโรธขึ้นมา
ธรรมทั้ง ๔ นี้ทำหน้าที่เกี่ยวโยงกัน โดยไม่ต้องไปตั้งวาระทำงานทั้ง ๔ ประเภทนี้ว่า งานไหนจะทำก่อนงานไหนจะทำหลัง เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็เอาเป็นเครื่องเตือนสติแล้วว่าให้จิตได้คิดพิจารณาตามสาเหตุ ทุกข์นี้เป็นผล สาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์นี้ ที่เกิดทุกข์เวลานี้เกิดขึ้นมาจากเรื่องอะไร เช่น ทุกข์ใจเราทุกข์เพราะอะไร เราทุกข์เพราะเราเกลียดคนนั้นเราชังคนนี้ เราเป็นทุกข์เพราะเรารักสิ่งนั้นรักคนนั้น เป็นเรื่องของสมุทัย สิ่งนั้นทำไมจึงต้องรัก อะไรมีอยู่ในที่นั่นจึงทำให้รักให้ติดใจ เอามาคลี่คลายดูให้เห็นชัดเจน เช่น รักบุคคลรักคน รักหญิงรักชาย อะไรเป็นหญิงเป็นชายค้นคว้าดู
เอาตัวเราเป็นตัวประกันเป็นตัวแบบฉบับ ค้นดูในตัวนี้ก็ได้ ค้นดูข้างนอกก็ได้ คลี่ดูคลายดู ตั้งแต่หนังเข้าไปจนถึงเนื้อถึงเอ็นถึงกระดูก ทุกชิ้นทุกส่วนภายในร่างกายของคนมีที่น่ารักที่ตรงไหน นี่คือมรรค เป็นเครื่องแก้สมุทัยความลุ่มหลงงมงายของใจ ทีนี้เมื่อพิจารณาเข้าใจชัดเจนแล้วก็ปล่อยวางกันเอง เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความรักความเกลียดความโกรธก็ดับไปเอง เพราะดับสาเหตุแล้วผลจะมีมาจากไหน มันก็ดับของมันไปเอง นั่น
การปฏิบัติต่อสัจธรรมมีความเกี่ยวโยงกันอย่างนี้โดยหลักธรรมชาติ ไม่ได้นิยมว่าจะปฏิบัติอย่างไรก่อนอย่างไรหลัง ไม่มีข้อบังคับ ไม่มีกฎเกณฑ์ แต่หลักธรรมชาติแล้วทุกข์เป็นเครื่องเตือนให้เกิดสติ ระลึกรู้เรื่องของทุกข์ แล้วค้นหาเหตุที่เป็นทุกข์ได้แก่สมุทัยด้วยมรรคคือสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อทั้งสองอย่างนี้คือสมุทัยกับมรรคได้เกี่ยวข้องกัน ทำหน้าที่ต่อกันได้สำเร็จไปมากน้อย เรื่องความทุกข์ก็ดับไปโดยลำดับ ๆ เป็นความแสดงออกแห่งนิโรธ ตามขั้นตามภูมิของมรรคที่ดับทุกข์ได้ จนกระทั่งดับทุกข์ได้ด้วยอำนาจของสติปัญญา ไม่มีกิเลสประเภทใดเหลือพอที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์อีกเลย นั่นท่านว่านิโรธ แสดงเต็มภูมิ
หลังจากนิโรธ ความดับทุกข์เต็มภูมิเพราะอำนาจแห่งมรรคได้ดับกิเลส อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์สิ้นสุดลงไปแล้ว อันนั้นเลยจากสัจธรรม คืออยู่แผนกหนึ่งต่างหากจากสัจธรรม ในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้จะเรียกว่านิพพานเรียกไม่ได้เพราะเป็นกิริยา เป็นอาการฝ่ายสุขฝ่ายทุกข์ ถ้าหากเราจะเทียบก็เหมือนกับว่า กำลังรบกันชุลมุนวุ่นวาย จะหาความชนะ ชัยชนะในขณะนั้นได้อย่างไร ฝ่ายไหนมีกำลังน้อยฝ่ายนั้นพ่ายแพ้ไป ฝ่ายไหนมีกำลังมากฝ่ายนั้นเป็นผู้ครองอำนาจ นั่นละหลังจากรบกันเรียบร้อยแล้ว สงครามจึงสงบลงไปด้วยฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้ เมื่อสัจธรรมทั้ง ๔ ทำงานต่อกันจนสิ้นสุดยุติลงไปแล้วอย่างเต็มภูมิของเหตุของผล ผู้ที่รู้ว่าสิ้นสุดแล้วซึ่งสงครามในระหว่างแห่งสัจธรรมทั้ง ๔ ต่อสู้กันหรือทำหน้าที่ต่อกันนั้น ผู้นั้นไม่ใช่สัจธรรม คือนอกเหนือจากสัจธรรมทั้ง ๔
ทุกข์เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป สมุทัยเกิดขึ้นแล้วสมุทัยก็ดับไป มรรคทำหน้าที่แล้วมรรคก็ดับไป นิโรธทำหน้าที่แล้วนิโรธก็ดับไป ผู้ที่รู้ว่าสัจธรรมทั้ง ๔ แสดงอาการขึ้นแล้วดับไปยุติลงไปแล้ว นั้นแลคือผู้เหนือสัจธรรม ผู้นอกจากสัจธรรมได้แก่วิมุตติความหลุดพ้น ท่านจึงแยกออกว่านิพพาน ๑ เรายอมรับทันทีหาที่ค้านไม่ได้ ว่าพระองค์ท่านนี้ไม่มีอะไรจะเสมอเหมือนแล้ว
ยกออกประเภทหนึ่ง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นั่นท่านว่า ระหว่างมรรคกับผลกำลังทำงานอยู่นั้นยังไม่สิ้นสุดเป็นนิพพาน ๑ ไม่ได้ จนกระทั่งอันนี้ยุติลงเมื่อไร พอมรรคก้าวไปถึงผล ผลกับเหตุได้ยุติจากกัน นั้นแลเรียกว่า นิพพาน ๑ สำเร็จอรหัตผล ท่านก็พูดเอาอย่างง่าย ๆ สำเร็จอรหัตผลแล้ว คือมันเกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างนั้น แต่เวลาแยกไปจริง ๆ แล้วก็นิพพาน ๑ นั่นเอง พอมรรคกับผลทำหน้าที่ต่อกันยุติลงอย่างเต็มที่แล้วก็เป็นนิพพาน ๑ ขึ้นมา ขณะมรรคกับผลที่ปฏิบัติต่อกันอยู่นั้นยังไม่เรียกว่านิพพาน ๑ ได้
เหมือนอย่างเราก้าวขึ้นบันได เท้าข้างหนึ่งเหยียบบนบ้านแล้ว แต่เท้าอีกข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่บันได จะเรียกว่าผู้นั้นถึงบ้านแล้วด้วยดีไม่ได้ นี่ละเวลามรรคกับผลทำงานต่อกันเป็นอย่างนี้ พอเท้าที่สองก้าวขึ้นไปเหยียบกึ๊กลงบนบ้าน เหยียบกึ๊กตรงนั้นเรียกว่าถึงผลเต็มภูมิ พอยุติจากการเหยียบ หมดกิริยาที่ทำแล้ว นั้นแลนิพพาน ๑ ในขณะที่กำลังทำงานอยู่ไม่เรียกว่านิพพาน ๑ เพราะยังไม่เสร็จสิ้นกิจที่ทำ
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีอยู่ภายในจิตใจของเราทุกคน พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติตามหลักสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ พระสาวกก็ปฏิบัติตามหลักสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ เป็นผู้รู้รอบขอบชิดในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้แล้วจึงได้ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้สิ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งแดนอันเกษม หรือได้ตรัสรู้แล้วซึ่งธรรมอันประเสริฐ ได้บรรลุแล้วซึ่งธรรมอันประเสริฐ อยู่ที่ตรงนี้
เราอย่าไปคิดคาดสถานที่นั่นที่นี่ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่อินเดีย บำเพ็ญอยู่ที่นั่นบำเพ็ญอยู่ที่นี่ ไปเป็นอารมณ์อยู่กับโน้น จนลืมหน้าที่ของตนการประพฤติปฏิบัติของตนเพื่อมรรคผลนิพพาน อันอยู่ภายในใจของตนไปเสีย เขาเรียกว่าตะครุบเงา หาเกาที่ไม่คัน พระพุทธเจ้าทรงสอนลงที่นี้ ธรรมะไม่ว่าจะแง่ใดสอนไม่นอกเหนือไปจากกายวาจาใจของเรานี้เลย ชื่อของธรรมอยู่โน้น สอนเข้ามาที่นี่ ธรรมอยู่ที่คัมภีร์ก็ชี้เข้ามาที่กายวาจาใจของสัตวโลก
ทุกข์อยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่กับบุคคลอยู่กับสัตว์ สมุทัยอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ในหัวใจของคนของสัตว์ มรรคจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ในหัวใจคนคือข้อปฏิบัติ เมื่อข้อปฏิบัติเต็มภูมิแล้ว นิโรธคือความดับทุกข์จะดับไม่ได้อย่างไร เต็มภูมิแล้วต้องดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าสมัยโน้นสมัยนี้มีความสม่ำเสมอ มีความเที่ยงธรรมคงเส้นคงวาอย่างนี้ตลอดมา ท่านจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นธรรมเหมาะสมอยู่เสมอ เป็นธรรมเหมาะสมอยู่ตลอดกาลในการแก้กิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภท ไม่ว่าใครจะบำเพ็ญใครจะปฏิบัติอยู่ในสถานที่ใดอิริยาบถใด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้เทิดทูนศาสนธรรม และเป็นผู้มีหวังที่จะได้เอื้อมถึงมรรคผลนิพพาน ด้วยข้อปฏิบัติของตนโดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงต้องลงในจุดนี้ เป็นจุดที่ถูกต้องที่สุด
อยู่ที่ไหนให้มีสติ สตินี้เป็นของสำคัญ ถ้าสติอยู่กับตัวจิตใจก็ไม่เพ่นพ่านได้ แม้กิเลสตัณหาจะมาพอกพูนก็เป็นไปเพราะความเผลอของจิต เมื่อถึงขั้นที่จะทดลองกันแล้วมันก็มี จิตคิดเพื่อทดลองตัวเองนี้คิดออกไปทางฝ่ายสมุทัยได้ แต่เป็นสมุทัยเพื่อทดลองก็เรียกว่าเป็นมรรคอยู่โดยปริยาย เช่น เวลาจิตมีความแก่กล้าสามารถในเรื่องอสุภะอสุภัง มองดูหญิงดูชายที่ไหนเป็นหนังเป็นเนื้อเป็นกระดูกไปหมดอย่างนี้ ย่อมระงับเรื่องของราคะ ระงับมากไป ๆ จนกระทั่งไม่ปรากฏราคะคือความกำหนัด ความรักสวยรักงามนั้นปรากฏขึ้นที่ใจเลย ไปอย่างละเอียด ๆ แล้วหมดไป นี่คือระงับไม่ใช่หมดจริง ๆ ทีนี้คำว่าทดลองก็คือ เมื่อมันเป็นไปอย่างนั้นแล้ว ทำไมจึงไม่แสดงความเด่นชัดให้เห็นว่าหมดแล้วในขณะนั้นสิ้นแล้วในขณะนี้จากราคะตัณหา เป็นแต่เพียงว่าค่อยหมดไป ๆ จนไม่ปรากฏราคะเหลืออยู่เลย
จิตใจพอกำหนดดูรูปร่างหญิงชายใดมันเป็นอสุภะอสุภังเต็มไปหมดทั้งร่าง แล้วมันจะเอาความกำหนัดยินดีมาจากไหน เพราะฉะนั้นความกำหนัดยินดีนั้นจึงหลบซ่อนตัวเหมือนกับหินทับหญ้า ผู้ไม่พิจารณาอย่างรอบคอบเข้าใจว่าตนสิ้นราคะแล้ว นั่นคือความเข้าใจผิด ด้วยความมักง่ายความสะเพร่าของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วในขั้นที่จะเอาความละเอียดลออ เพื่อถึงภูมิความจริงแห่งความสิ้นราคะจริง ๆ แล้ว จะต้องได้ทดลองกัน
การทดลองด้วยความจงใจไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด ความเป็นไปด้วยความเผลอตัวด้วยอำนาจของสมุทัยนี้จึงหาทางยับยั้งไม่ได้ ส่วนความเป็นไปของจิตที่นำสิ่งเหล่านั้นมาทดลองเทียบเคียง เพื่อจะหาความจริงจากสิ่งนั้น แม้จะแยกให้เป็นสมุทัยเพราะการปรุงสิ่งนั้นให้สวยให้งามขึ้นมาก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของมรรค เพราะปรุงขึ้นมาเพื่อทำลาย ปรุงขึ้นมาเพื่อความเห็นแจ้ง เพื่อให้เห็นเหตุเห็นผลกันอย่างชัดเจน
นี่ก็เคยปฏิบัติมาแล้วเหมือนกัน เพราะเมื่อถึงขั้นนั้นแล้วมันไม่มีทางไป มีแต่อสุภะขวางหน้าอยู่หมด สุภะกระดิกตัวขึ้นไม่ได้ มองดูสิ่งใดมีแต่เรื่องอสุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัวแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มองไปก็เพราะอำนาจแห่งวิปัสสนา คือปัญญามันทะลุปรุโปร่งไปหมด จิตมีความชำนาญในทางใด เช่น ทางอสุภะ ทางอสุภะนั้นมันเด่นในอาการใด เช่นเด่นในเนื้อเด่นในหนัง มันก็ทะลุเข้าไปถึงเนื้อหนัง ทะลุเข้าไปจนกระทั่งถึงแตกกระจายไปเลย หาสัตว์หาบุคคลไม่ได้ในเวลานั้น รวมแล้วก็เป็นกองอสุภะเต็มดินเต็มหญ้าไปหมด เต็มร่างของคนคนนั้น
ก็เมื่อมันเป็นอสุภะน่าเกลียดน่าอิดหนาระอาใจเช่นนั้น ราคะจะไปกำหนัดได้ยังไงในกองอสุภะ ซึ่งเป็นเหมือนป่าช้าผีดิบแล้ว นั่นแหละราคะหมอบหลบซ่อนตัว เพื่อจะฟื้นขึ้นมาให้เห็นเหตุเห็นผล จึงต้องอาศัยสุภะคือความสวยงามมาเทียบเคียง แยกแยะกันทดสอบกันจนเป็นที่เข้าใจ เมื่อเต็มภูมิแล้วเรื่องราคะขาดจากใจก็รู้ชัดเจน ทีนี้เมื่อรู้ชัดเจนแล้วการทดลองไม่มีอะไรจำเป็น เพราะชัดแล้ว ความทดลองก็หมดสิ่งที่จะพิจารณาให้เป็นสุภะอสุภะอะไรก็หมดไป หมดปัญหา เพราะคำว่าสุภะอสุภะก็เพื่อจะแก้ราคะอันเดียวนั่นเอง
การพิจารณาเมื่อถึงขั้นจะต้องนำมาทดสอบอย่างนี้ต้องได้นำ ในระยะที่ไม่ควรจะเอาเรื่องสุภะสุภังเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตเลยก็มี ให้มีแต่อสุภะเต็มเนื้อเต็มตัวทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเจออันใดให้กำหนดพิจารณาเป็นเรื่องอสุภะอสุภัง เป็นป่าช้าผีดิบผีตายไปทั้งนั้น นี่คือทางดำเนินเพื่อสิ้นราคะตัณหา อันนี้เป็นของละเอียดมากเหมือนกัน ถ้าสติปัญญาไม่ทันก็แก้ไม่ได้
อย่างไรก็ไม่พ้นวิสัยของสติปัญญา เอ้า หนักก็แบก ขวางคออยู่ก็กลืน เพราะเราอยากได้ของดี เราอยากเห็นอยากรู้ของจริง ให้พิจารณาลงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัญญาถึงคราวใช้แล้วอย่าถนอมกลัวพุงจะแตก ว่าปัญญาจะมากเกินไป ถึงเวลาใช้-ใช้ให้เต็มภูมิ ถึงเวลาจะเข้าสู่ความสงบไม่ต้องยุ่งกับปัญญา เหมือนไม่เคยพิจารณา มีแต่หน้าที่เดียวที่จะทำจิตให้สงบ ด้วยอาการใดที่เราเคยพิจารณามา แม้ที่สุดด้วยบทบริกรรมก็ได้ ไม่ถือว่าสูงไปต่ำไป เพราะเป็นธรรมอยู่กับจิตด้วยกัน เป็นอุบายที่จะทำจิตให้มีความสงบเยือกเย็น ได้รับความผาสุกในขณะพักจิตเหมือนกัน ให้สงบ ไม่กังวลกับเรื่องความคิดอ่านด้วยสติปัญญาใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่สติกำกับเพื่อใจให้ได้รับความสงบถ่ายเดียว นี่ชื่อว่าทำงานไม่ก้าวก่ายไม่จับจดต้องทำอย่างนั้น
เมื่อจิตมีความสงบแล้วย่อมมีกำลังมีความเยือกเย็น มีความสุขความสบาย เบาจิตเบาใจแล้วทำงานต่อไป ได้แก่การพิจารณาคลี่คลายอาการต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ทั้งภายนอกภายในตามแต่จะเป็นความถนัดใจ ในเวลาใดก็ตาม เพราะเป็นสัจธรรมด้วยกันทั้งภายนอกภายใน ถ้าพิจารณาให้เป็นมรรคเป็นได้ ถ้าพิจารณาให้เป็นสมุทัย แม้แต่ร่างกายของตนเองที่สำคัญว่าเป็นของสวยของงาม ก็เป็นการสั่งสมสมุทัยได้แล้ว มองเห็นรูปภายนอกเกิดความรักความกำหนัดยินดีก็เป็นสมุทัยได้แล้วอย่างเต็มตัว
การพิจารณาแยกแยะเพื่อความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้ถอดถอนตนออกมานั้น จึงไม่ว่าภายนอกภายในเป็นมรรคด้วยกันทั้งนั้น อชฺฌตฺตํ วา พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ดูกายนอกโน้นก็ได้ ดูกายในกาย กายนอกกายใน คือกายของตัว ดูกายในกาย คือส่วนใดส่วนหนึ่งของอวัยวะทั่วไปในร่างกายของเรานี้ก็ได้ ฟังซิท่านว่าในสติปัฏฐาน ๔
กถฺจ ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. อิธ ภิกฺขุ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ, พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ, อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ, สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ, วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ. สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ, อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ, นอกจากนั้นก็ ยาวเทว าณมตฺตาย ปติสฺสติมตฺตาย เรื่อยไปจนกระทั่งถึง เอวํ โข ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ.
พิจารณากายในกาย กายนอกก็ดี กายในก็ดี กายในกายก็ดี ด้วยปัญญา ท่านเรียกว่าสติปัฏฐาน พิจารณาความเกิดขึ้น เฉพาะความเกิดขึ้นก็ได้ เฉพาะความดับไปก็ได้ หรือทั้งเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งต่าง ๆ ภายในร่างกายนี้ก็ได้ พิจารณากาย เวทนา จิต นี่ก็เหมือนกัน แล้วให้พึงทำความเข้าใจว่ากายนี้มีอยู่ อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ. ให้พึงทำความเข้าใจว่ากายมีอยู่ และพิจารณาในสิ่งมีอยู่นั้นให้เห็นชัดเจน รู้ก็ให้สักแต่ว่ารู้ วา ปนสฺส สติ ปจฺปฏฺฐิตา โหติ. ให้มีสติจำเพาะหน้าอยู่เสมอ สักแต่ว่ารู้ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายในขณะนั้น ท่านว่าไว้อย่างนั้น เวทนา จิต ธรรม ก็มีนัยเหมือนกันนี้
ผู้พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กับอริยสัจ ๔ นี้ตามแต่ความถนัด เป็นเรื่องเดียวกัน ผิดกันแต่เพียงว่าอาการ เช่น กาย เวทนา จิต ธรรม กายไม่ใช่สัจธรรมจะเป็นอะไร จิตก็เป็นสัจธรรมได้ เพราะมีทุกข์มีสมุทัยอยู่ในนั้น และมีมรรคอยู่ภายในจิตนั้นด้วย นิโรธ ดับทุกข์ก็ดับที่จิตนั้น ถ้าไม่เรียกสัจธรรมจะเรียกว่าอะไร เวทนา ก็คือตัวสมุทัยตัวทุกข์แล้วเวทนาก็ดี สุข ทุกข์ ว่าไง โดยกำหนดการพิจารณาให้พิจารณาอย่างนี้
อย่านอนใจ เรื่องปัญญาควรที่จะพิจารณาเมื่อไรให้พิจารณาเต็มเหตุเห็นผลเต็มอรรถเต็มภูมิ อย่าไปคอยว่าให้สมาธิแน่นหนามั่นคงแล้วจะพิจารณา อันนี้เป็นความเข้าใจผิดเหมือนกัน เมื่อถึงกาลเวลาที่จะควรพิจารณาให้พิจารณา เมื่อพิจารณาไปมาก ๆ เข้าใจชัดเจน ซึมซาบเข้าไปโดยลำดับแล้ว สมาธิก็สงบลงได้ทำไมจะสงบไม่ได้ การพิจารณาเพื่อจะถอดถอนสิ่งกังวลทั้งหลาย ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงทางปัญญา จิตจะสงบไม่ได้ยังไง ต้องสงบ
เวลาจะพิจารณาให้เป็นความสงบโดยลำพัง เช่น อาศัยบริกรรมบทใดบทหนึ่ง หรือจิตที่มีฐานแห่งสมาธิแล้ว กำหนดเอาเพียงจิตเฉย ๆ ก็ลงเอง นี่ก็เคยมาแล้วไม่ใช่มาพูดเฉย ๆ โดยด้น ๆ เดา ๆ เคยมาแล้ว ให้รวมด้วยคำบริกรรม สงบด้วยคำบริกรรมก็เคยมาแล้ว สงบด้วยสติปัญญาพิจารณาค้นคว้าที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิก็เคยดำเนินมาแล้ว ถึงกับต้องได้เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือว่า หนังสือปัญญาอบรมสมาธิ หรือจะกำหนดลงโดยลำพังจิตเลย เมื่อจิตมีฐานแห่งสมาธิแล้วก็ลงได้เลย มี ๓ อย่างด้วยกัน อย่างไหนก็ตามจิตสงบได้แล้วเป็นถูกต้อง
เฉพาะอย่างยิ่งปัญญาในเวลาเราใช้ ในขณะที่เกิดความคับขันขึ้นมา เช่น นั่งมันเป็นทุกขเวทนามาก หรือเราเจ็บไข้ได้ป่วยมาก ๆ เอาความเจ็บความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมาเป็นเป้าหมายมาเป็นสนามรบ ค้นคว้าอยู่ตรงนั้น หมุนติ้วอยู่นั้นก็เป็นปัญญาได้ ความสงบของใจที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาทางด้านปัญญานี้มีความอาจหาญมากทีเดียว ผิดกับสมาธิทั้งหลาย นี่อุบายพิจารณา
สติเป็นของสำคัญอย่าลดละปล่อยวาง ไม่ว่าจะไปที่ไหนมาที่ใด อยู่ในสถานที่ใด อิริยาบถใด สติเป็นของสำคัญมากที่จะคอยจดจ่อจิตให้ต่อเนื่องกันอยู่เสมอไม่ลดละ จิตก็มีคุณค่าในขณะที่มีสติประคองตัวอยู่ ถ้าไม่มีสติจิตจะเร่ร่อนเถลไถลไปเข้าก้นเขาหมดนั่นแหละ สติเป็นของหักห้าม เป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องให้พิจารณาด้วยสติเสมอ ทางปัญญาก็ด้วยสติ ทางบริกรรมก็ด้วยสติ จะกำหนดลงเฉย ๆ ให้จิตสงบลงไป เพราะความได้ฐานแห่งสมาธิแล้วก็คือสติ ลงได้ทั้งนั้น
สติเป็นธรรมจำเป็นอยู่มาก ไม่ว่าความเพียรประเภทใด สตินี้จะปราศจากไปไม่ได้เลย สติเป็นของจำเป็นในงานทุกขั้นของงาน ไม่ว่าปัญญาขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ไม่ว่าสมาธิขั้นใดสติเป็นต้องแนบติด ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงจะจัดว่าเป็นงานเป็นการเป็นผลเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้
วันนี้เอาเพียงแค่นี้ก่อน