เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
ความบริสุทธิ์
คำว่าพระ โลกชาวพุทธมักจะไว้ใจเสมอ นอกจากมันมีของปลอมสุ่มสี่สุ่มห้า พระจริงก็กลายเป็นพระปลอมไปด้วยความประพฤติ จริงทางหลักสมมุติในการบวช แต่จะมาปลอมในการประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นเหตุให้ขาดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสอิดหนาระอาใจต่อผู้ได้เห็นได้ยิน กิริยาที่แสดงออกของพระ อันนี้เรียกว่าปลอม ปลอมทางความประพฤติไม่ได้ตรงไปตามหลักธรรมหลักวินัยซึ่งเป็นของจริง ให้เป็นสิ่งที่จะทำเพศของพระให้แนบสนิทหรือแนบแน่นลงไปโดยลำดับ
เฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติกรรมฐานจิตตภาวนา เป็นกิจจำเป็นของพระแท้ เรียกว่าเป็นชีวิตจิตใจ งานนี้เป็นงานของพระเหมือนกับงานของฆราวาสที่เกี่ยวกับเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นงานจำเป็นของเขาตลอดวันตาย เพราะธาตุขันธ์มีความต้องการอยู่ตลอดเวลาไม่ทำงานไม่ได้ ไม่มีอะไรจะอยู่จะกินก็ตายเท่านั้นละคนเรา เพราะฉะนั้น งานจึงเป็นของจำเป็นไปตามร่างกายที่มีความบกพร่องต้องการอยู่ตลอดเวลาในสิ่งเยียวยาทั้งหลายที่เรียกว่าปัจจัยสี่ เป็นเครื่องอุดหนุนธาตุขันธ์ให้เป็นไป งานของพระก็คืองานเจริญเมตตาภาวนา นี่เป็นงานจำเป็นตลอดชีวิตของพระ
อย่าพากันลืมงานของตนเถลไถลไปยุ่งในงานที่ไม่ใช่งานของพระ เรียกว่าหาเกาในที่ไม่คันให้ถลอกปอกเปิก ที่คันไม่ยอมเกาก็ไม่หายคัน พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไว้อย่างชัดเจน บ่งบอกชัดตั้งแต่วันเริ่มบรรพชาอุปสมบท บอกงานให้เลย เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา อนุโลมปฏิโลม คือย้อนหน้าย้อนหลังเพื่อการทบทวนให้ละเอียดลออแห่งการพิจารณา
เกสาเป็นเช่นไร ผมก็นิยมชมชอบกันว่าเป็นของสวยของงามเป็นตามสมมุตินิยมของโลกที่เป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลสตัณหาอาสวะ ย่อมชอบสิ่งนี้ด้วยกัน แต่พระพุทธเจ้าทรงกลับตาลปัตรเรียกว่าตรงกันข้าม ให้พิจารณาอันนี้เป็นของไม่สวยไม่งาม ที่เกิดที่อยู่ก็อยู่ในที่สกปรก เกิดในที่สกปรก เป็นอยู่ในความสกปรกตลอดเวลาต้องชะต้องล้าง ไม่ชะไม่ล้างไม่ได้ สกปรก ขนก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ตกลงไปในถ้วยในจานอาหารนี้ ยังขยะแขยงไม่อยากรับประทาน ถ้าเป็นของสวยงามจริง ๆ ดังที่โลกนิยมกันแล้วเกลียดทำไม แน่ะ พิจารณาซิ
เพียงแต่ขนเส้นหนึ่งตกลงไปในอาหารยังไม่อยากรับประทาน ยังไม่ทราบอยู่เหรอว่ามันสกปรก เรายังไปเสกสรรปั้นยอว่าเป็นของดี ถ้าเป็นของดีแล้ว ต้นกับปลายให้ตรงกัน มันตกลงในถ้วยในชามอาหารก็ไม่ต้องรังเกียจ เห็นรังเกียจด้วยกันทั้งนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ โลมา เกสา โลมา มีลักษณะคล้ายคลึงกันนะ ที่เกิดที่อยู่ก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าขน โลมามันอยู่ห่าง ๆ ไม่เหมือนผมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม บนศีรษะเป็นสำคัญ ให้พิจารณา
เล็บดูซิ เป็นที่เก็บสิ่งสกปรกโสโครกได้อีก นอกจากสถานที่เกิดที่อยู่ตลอดถึงตัวของเล็บเองก็เป็นของสกปรก ต้องแกะ ต้องตัด ต้องชะต้องล้าง เพราะมันมีของสกปรกเข้าไปแทรกอยู่ในปลายเล็บนี้ได้ ถ้าเล็บยาวๆ นั้นรังแห่งความสกปรก ต้องตัดออก เพื่อชะล้างของสกปรกที่ติดอยู่ในปลายเล็บนั้นออกได้ ไม่งั้นก็ล้างลำบาก โลกก็นิยมกัน ไว้เล็บยาวยิ่งกว่าเล็บหมา ฉะนั้นจึงจะว่าฉลาดยังไงมนุษย์เรา ของสกปรกถึงตายก็มีอยู่ในเล็บนั้น มีเชื้อโรคอยู่ในนั้น ทำไมนิยมเอาไว้กันยาวๆ ไว้เล็บยาวๆ ต้องทาสีมีสีสันวรรณะสะดุดตาสะดุดใจ เพื่อให้กิเลสมันตื่น
ปกติมันก็ตื่นอยู่แล้วกิเลสมันจะนอนเมื่อไร นอกจากมันพักผ่อนนิดหน่อย จากนั้นกิเลสประเภทหนึ่งพักผ่อนประเภทหนึ่งก็ออกเที่ยวเพ่นพ่านจะว่ายังไง กิเลสมีหลายประเภท คิดปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้มันเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา ทันตา ฟัน พิจารณาดูซิ มันสะอาดที่ไหน มันสกปรก ต้องชะต้องล้างทั้งเช้าทั้งเย็นกลางวี่กลางวันก็ยังต้องชะต้องล้างกัน วันหนึ่งสองหนสามหน ท่านว่าฟันก็คือกระดูกนั่นเอง ผิดอะไรกับกระดูกเป็นลักษณะเช่นนี้ ก็เรียกว่าฟัน ที่เกิดที่อยู่มันก็สกปรก พิจารณาให้เห็นชัด นอกจากนั้นความทุกข์ยังมีอยู่กับฟัน เช่น ปวดฟัน ต้องได้รับความทุกข์มากน้อยเพียงไร พิจารณาให้เห็นความจริงของมัน ต้องพิจารณา ตำหนิกันนั่นแหละดี ต่อไปมันก็ลงถึงความจริงแล้วก็หมดทางตำหนิ
ฟันเป็นซี่ๆ ลองหลุดลงไปตกใส่อาหารดูซิใครจะอยากรับประทาน ถ้าหากว่าเป็นของสะอาด ของสวยงาม น่าดูน่าชม แล้วอาหารที่ถูกสิ่งนี้ตกลงไปคละเคล้าแล้วเป็นยังไง มันน่ารับประทานไหมล่ะ นั้น มันก็เห็นได้อย่างชัด ๆ แน่ะ ตโจ ยิ่งหนังเป็นของสำคัญ ผิวบางๆ อยู่ข้างนอกไม่ได้หนาเท่ากระดาษเลยเป็นเครื่องหลอกตา แม้แต่อยู่ข้างนอก หนังบาง ๆ อยู่ข้างนอกว่าเป็นของสวยของงาม มันก็เต็มไปด้วยมูลด้วยขี้ของมัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคลอะไรเต็มไปหมด นี่ก็ต้องชะต้องล้างเช็ดถูกัน โอ้โห เป็นประโยคใหญ่โต ห่อคนทั้งคนจึงเป็นคน สัตว์จึงเป็นสัตว์
เพราะอาศัยหนัง ตจปริยนฺโต หนังหุ้มรอบอยู่ในร่างกายจึงพอเป็นคนเป็นสัตว์ได้ ถ้าถลกหนังนี้ออกเสียแล้วเป็นไงจะดูกันได้ไหม มีแต่แมลงวันแล้วจะบินตามหึ่งๆ ดีไม่ดีอีแร้งก็มาอีก เพราะมันเห็นว่าเข้าทีแล้ว อาหารว่างเกิดอีกแล้ว นี่เพราะหนังเท่านั้นปกปิดไว้ หนังเป็นผู้ต้านทานเป็นผู้รักษาอีแร้งอีกา รักษาแมลงวันไว้ไม่ให้มันมาแย่งเอาไปเป็นอาหารว่างของมัน มันก็บาง ๆ เท่านั้น พิจารณาเข้าไปข้างในเป็นยังไงที่นี่ เยิ้มไปด้วย ปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนองเต็มไปหมด ยิ่งพลิกเข้าไปข้างในเท่าไรก็ยิ่งเป็นของปฏิกูลโสโครก ดูไม่ได้เลย ถ้าต่างคนต่างไม่มีหนังเดินมาหากันดูได้หรือ พิจารณาดูซิ มันเยิ้มไปด้วยอะไร มีแต่ของสกปรกทั้งมวลอยู่ข้างในเยิ้มออกมาก็ต้องเป็นของสกปรกทั้งนั้น จะหาของสวยของงามเยิ้มออกมาไม่ได้ นั่นคือการพิจารณาด้วยปัญญา พิจารณอย่างนั้น
พอถึงตโจแล้วท่านก็หยุดให้พอเหมาะกับงานของผู้เริ่มบวช เริ่มปฏิบัติให้กรรมฐาน ให้งานอันเป็นหลักสำคัญพูดง่าย ๆ ฐานะนั่นคือหลักฐานอันสำคัญ กรรมะก็คือว่างานอันเป็นหลักสำคัญประจำชีวิตของพระ แล้วให้พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลังเหมือนเขาคราดนา จนกระทั่งมูลคราดมูลไถแหลกละเอียดก็ควรแก่การปักดำหรือควรแก่การหว่านพืชผลต่าง ๆ ถ้าไม่แหลกละเอียดก็ไม่ดี อันนี้ก็พิจารณาให้แหลกละเอียด ให้ซึ้งลงไป ๆ ความซึ้งลงไป นั่นแหละคือผล พิจารณาเท่าไรยิ่งซึ้งว่า อนิจฺจํ ก็ซึ้ง ปฏิกูลโสโครกก็ซึ้ง ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ซึ้ง หนังเป็นประโยคใหญ่โตโลกจึงมาหลงหนังกัน
ให้พิจารณาพลิกข้างในออกมาข้างนอกซิ น่าดูไหม ดูเข้าไปอีกรัดรึงกันไว้ด้วยเส้นด้วยเอ็น เนื้อมีหนังเป็นเครื่องฉาบทาแล้วก็ทำให้ตาฝ้าตาฟาง มองไม่เห็นทิศเห็นแดน มองไม่เห็นความจริง อำนาจกิเลสตัณหามันก็ขึ้น ถ้าถลกหนังออกแล้วมันจะขึ้นได้อย่างไรกิเลสตัณหาใครจะยินดีกัน สัตว์ก็เป็นอย่างนั้น คนก็เป็นอย่างนี้ หนูก็เป็นอย่างนั้น ช้างก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่เดินมาหากันมีแต่เนื้อเยิ้มไปด้วย ปุพโพโลหิต น้ำเน่า น้ำหนอง มันดูกันได้หรือ พบกันได้อย่างไร นั่น พิจารณาให้เห็นชัด ๆ อย่างนั้นเรื่องของปัญญา
ท่านมอบงานให้ย่อ ๆ ไว้ก่อนให้ไปถึงอาการ ๓๒ โน่นแน่ะ ขอให้งาน ๕ ชิ้นนี้ชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็ตามซึ่งถูกกับจริตนิสัยของการพิจารณาเรา ให้พิจารณานั้นลงไปแล้วมันก็จะวิ่งถึงกันหมด ตลอดอาการ ๓๒ ไม่มีสิ่งใดลี้ลับต่อสติปัญญาไปได้เลย นี่เป็นงานสำคัญงานนี้แหละเป็นงานของพระเป็นกิจธุระ ธุระอันจำเป็นของพระแท้ งาน ๕ ชิ้น ชิ้นใดก็ตามให้พิจารณาให้ทำงานอันนี้ เดินก็ให้เดินทำงานนี้ นั่งก็ให้นั่งทำงานนี้ ยืนนอนเว้นแต่หลับให้ทำงานอันนี้ อย่าเผลอไผลไปที่อื่นที่ใด ซึ่งเป็นการพรากจากงานด้วยความใจลอยหรือความประมาทเผลอสติสตัง ตั้งหน้าทำงาน เราไม่หวังเอาผลประโยชน์จากงานอื่นใดนอกจากผลประโยชน์จากงานที่เราทำ นี้เท่านั้นสำหรับพระซึ่งเป็นนักบวช
การพิจารณาแนวทางใดก็ตามมักจะมีหลอกอยู่เรื่อย ๆ เพราะกิเลสมันแทรกอยู่ตลอดเวลาเหมือนอย่างที่เขาว่าพวก ผ.ก.ค.มันแทรกอยู่ทุกแห่งทุกหน แทรกอยู่ทุกเวล่ำเวลาพยายามอยู่ตลอดสาย ไม่มีการลดการละความพยายาม ไม่มีใครเหนืออำนาจมันได้ นี่กิเลสก็เหมือนกันไม่มีใครเหนืออำนาจมันได้ มันแทรกอยู่ทุกหนทุกกาลทุกเวลา แม้แต่ขณะทำสมาธิภาวนามันก็แทรกอยู่นั้น คอยจะต่อยเวลาเผลอจนได้ เผลอมันก็หลอกให้เผลอ พอเผลอแล้วมันก็ต่อยเรื่อยใครจะว่ากิเลสมันโง่เมื่อไร กิเลสมันฉลาดเหนือโลกมันถึงได้ครองโลก มันเป็นราชาแห่งวัฏจักร สังสารจักร ในสามภพนี้มีกิเลสครอบอำนาจอยู่ทั้งหมด
เวลาเราพิจารณาอะไรกิเลสมันก็เข้าแทรก เช่น กำหนดลม อานาปานสติ เป็นต้น กิเลสคอยแทรกเสมอ แม้ภาวนาบทธรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ฉะนั้นจงกำหนดลมไว้ที่ใด ที่เห็นว่าลมสัมผัสมากกว่าเพื่อนเด่นชัดกว่าเพื่อน เช่น ดั้งจมูก เป็นต้น เรากำหนดอยู่ที่ตรงนั้นไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกไป ถ้าเป็นคนก็ให้ยืนอยู่ที่ประตู คนเข้าก็รู้ คนออกก็รู้ แต่ไม่ตามเข้าไป ไม่ตามออกไปให้กำหนดรู้อยู่ด้วยความไม่เผลอสติ ลมนั้นแลเป็นเครื่องผูกมัดจิตให้ตะล่อมกระแสเข้ามารวมตัว เมื่อจิตตะล่อมกระแสเข้ามารวมตัวแล้วมันก็เด่นชัดขึ้นมาตามความรู้สึก ความรู้สึกนั้นเด่น เด่นอยู่ที่จุดนี้ ตรงนี้ นั่นจากนั้นก็มีความสว่างไสว มีความผ่องใส เด่นดวง เพราะกระแสของจิตรวมตัวเข้ามาแล้วด้วยอำนาจแห่ง อานาปานสติ คือลมซึ่งเรานำมาปรุงเป็นเครื่องยึดของใจโดยมีสติเป็นผู้ควบคุมงาน
แต่ทีนี้การที่ว่าให้ระวังกิเลสจะแทรกก็คือว่า พอกำหนดไปนานๆ เดี๋ยวมันจะเกิดความสำคัญขึ้นมาว่า นี่เมื่อก่อนเรากำหนดลมที่ดั้งจมูกนี้เป็นที่เหมาะสม แต่ครั้นนานเข้า ๆ ประหนึ่งว่าดั้งจมูกนี้จะสูงไปและต่ำลงไป บางทีเหมือนกับไปอยู่สะดือโน่น บางทีเหมือนกับพ้นร่างกายไปอยู่ที่หนึ่งที่ใด ทีนี้ก็มาตั้งใหม่เสีย หรือตั้งลมสูงไปตั้งลมต่ำไป ตั้งใหม่ ๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ ขอให้จับปั๊บตรงที่ลม เมื่อลมปรากฏอยู่จะอยู่สูงอยู่ต่ำ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาความสูงความต่ำ แต่เราปฏิบัติเพื่อให้รู้เรื่องของลม ด้วยความมีสติจิตใจจดจ่อกับลมนี้เท่านั้น มันจะสูงจะต่ำไปไหนก็แสดงว่าเราทำงานไปโดยลำดับ
อยู่ต่ำเราก็ทำงานกำหนดรู้อยู่ อยู่สูงลมว่าสูงเราก็กำหนดรู้อยู่กับลม มันไปไหนก็ให้ปักอันนั้น เหมือนอย่างชนักติดหลังปลานั้น มันจะไปไหนก็ให้มันไป ชนักมันติดอยู่หลังมันแล้ว เดี๋ยวมันก็หมดกำลังเอง ลากขึ้นมาเท่านั้นเอง เชือกก็ติดชนักอีกด้วย นี่ก็เหมือนกัน จิตเหมือนกับชนักติดอยู่อย่างนั้นละ สติก็เหมือนกับเชือกมัดกันไว้นั้น กับลม นี่เป็นอาการอื่นก็เหมือนกันนะ
เรายกลมขึ้นมาพอเป็นเอกเทศ เพื่อให้ทราบถึงเรื่องการพิจารณาในอาการใดก็ตาม มันจะมีกิเลสมาหลอกว่าสูงไปต่ำไปนอกไปในไปอะไรอย่างนั้น นี่เราเคยเป็นนะ ผมเคยเป็นแล้ว แล้วมาตั้งใหม่ ตั้งไปตั้งมาแล้วเลยไม่ได้เรื่อง เอ๊ อะไรกัน คราวหลังก็ปักเลย เอ้ามันจะเป็นอะไรก็ตาม มันจะลงไปใต้พื้นพญานาคโน่นเราก็จะตามลงไปโน้น ขอแต่ให้เรื่องที่เราพิจารณาปรากฏชัดๆ อยู่กับจิตเถิด หรือจะเหาะเหินเดินฟ้าขึ้นไปโน้นเราก็จะพิจารณาอยู่บนฟ้า ไม่ยอมปล่อย อาการที่เราได้จับไว้แล้วได้เห็นอยู่ได้รู้อยู่ในขณะที่พิจารณาอยู่แล้ว จะสูงจะต่ำมันรู้กันอยู่นี่ มันไปไหนมันจะคลาดเคลื่อนไปไหน เราไม่ได้ภาวนาเอาสูงเอาต่ำนี่นา
พอแก้เท่านั้น มันก็ได้ความ หายสงสัยจับปุ๊บตรงนั้นไม่ปล่อย เป็นอย่างไรกำหนดไม่ถอย ทีนี้จิตก็กระจายๆ รู้ชัดเข้าๆ เกิดความอัศจรรย์ ร่างกายมันก็เห็น เห็นได้ชัดเจนละที่นี่ เนื้อ หนัง เอ็นกระดูก คำว่าเห็นชัดเจนนั้นไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องไปนับเส้น นับเอ็นนับอะไร คือมันประจักษ์ ร่างกายส่วนต่างๆ ประจักษ์ภายในใจ จิตเกิดความซาบซึ้งในขณะที่เห็นร่างกายในวงปัจจุบัน ผิดกันกับความหมาย เห็นด้วยความหมายเป็นอย่างหนึ่ง เห็นด้วยความจริงเป็นอย่างหนึ่ง ที่กล่าวนี้คือเห็นด้วยความจริง
ทีแรกก็เป็นความหมายไว้ก่อน ตั้งหมายเข้าไว้ เช่น กำหนดเนื้อ กำหนดเนื้อตรงไหนกำหนดตรงนั้นเสียก่อน เป็นความหมายเอาไว้เป็นสัญญาไว้ก่อน พอจับเข้าแม่นยำเป็นลำดับๆ ไม่ยอมปล่อยเหมือนชนักติดหลังปลาแล้วมันก็ไปของมัน ไปไหนไปของมัน พิจารณาจนกระทั่งมันกระจายลงหมด ตอนพิจารณาร่างกายนั้น ทั้งๆ ที่ร่างกายของเราก็มีอยู่ และทั้งๆ ที่เราก็พิจารณาร่างกายอาการใดอาการหนึ่งของร่างกาย แต่ขณะนั้นร่างกายปรากฏว่าหายไปหมดลืมเนื้อลืมตัว แต่จิตไม่ลืมอาการที่กำหนดที่พิจารณาอยู่นั้น ไม่ยอมปล่อย นี่ถูกต้อง ให้จำเอาไว้นักปฏิบัติ
อย่าไปกำหนดแล้วกำหนดเล่าอย่างนั้นไม่ถูกนะ เหมือนกับปลูกต้นไม้ พอจะขึ้นแล้วก็ย้ายปลูกใหม่ พอจะขึ้นก็ย้ายปลูกใหม่ เลยไม่มีทางขึ้นนอกจากมีทางตายอย่างเดียว การพิจารณาอย่างนี้เป็นความสงสัยลังเล หาหลักฐานไม่ได้ ให้จับจุดนั้นไว้ กำหนดลม เอ้า กำหนดให้รู้อยู่ ลมละเอียดลงไป ๆ ก็ให้รู้ว่าละเอียดลงไป จนกระทั่งลมหมดในความรู้สึกมันมีได้ผู้ปฏิบัติกำหนดลม เวลามันหยาบก็รู้ไม่ยอมเผลอ เรื่อยๆ ไป ทีนี้ลมก็ละเอียดเข้าๆ ไปในความรู้สึก ละเอียดเข้าไปจริงๆ แล้วจนหายเงียบไปเลย นี่อันหนึ่งกิเลสจะมาหลอกตรงนี้
พอลมหายเงียบไป เพราะเราเคยมีลมอยู่เป็นปกติ ยิ่งขณะนั้นกำลังพิจารณาลมอยู่ด้วย ลมเบาไปๆ เท่าไร ละเอียดลงเท่าไร ก็เห็นชัดๆ ทีนี้ลมหมดลงไปในความรู้สึก ทำไมจะไม่ชัด นี่ตรงนี้แหละตรงกิเลสจะหลอกเจ้าของ อ้าว ก็เมื่อลมหมดไปแล้ว นี่มันจะไม่ตายเหรอ นั่น ทีนี้ตกใจนะ พอตกใจเหมือนกับว่าไปเขย่าจิตดวงที่กำลังละเอียดเพราะอำนาจแห่งลมละเอียด และลมดับไปนั้นให้ฟื้นตัวกลับมาเลยกลายเป็นจิตปกติ และลมก็เลยมีปรากฏขึ้นมาเสีย การพิจารณาก็ได้เพียงแค่นั้น
พิจารณาทีไรถ้าตัดปัญหานี้ไม่ได้มันก็ไปเพียงแค่นั้นๆ ไม่เลยจากนั้นไปได้เลย เพราะฉะนั้นเพื่อตัดปัญหาเครื่องก่อกวน หรืออุปสรรคกีดขวางทางเดินของตน จึงตัดสินใจลงให้มันเหมาะสมกันว่า ลมหายใจจะหายจะดับไปก็ให้ดับไปเถิด ขึ้นชื่อว่าจิตยังครองร่างอยู่แล้วไม่ตาย เท่านั้นแหละ ลมดับไปก็ยังรู้ว่าลมดับไป จิตไม่ได้ดับไปด้วยนี่ จิตยังรู้ตัวอยู่นี่ ยังครองร่างอยู่นี้จะตายไปไหน เอ้า ลมจะดับอะไรไม่ทนก็ให้ดับไป เมื่อจิตครองร่างอยู่แล้วไม่ตาย เท่านั้นมันก็พุ่ง คือตัดปัญหาได้เลย ความสงสัยอันนี้ก็หมด แล้วจิตก็พุ่งสู่ความละเอียดเต็มที่ นั่นการพิจารณา นี่เป็นความจริงสำหรับผู้พิจารณาเป็นอย่างนี้
ผมก็เคยพิจารณาอยู่แล้วลมหายใจ ไม่ใช่เอามาสอนหมู่เพื่อนเฉยๆ นะ นี่พิจารณาเริ่มแรกก็ พุทโธ เป็นหลักต้นเสียก่อน ครั้นต่อมามันกระจายของมันไปเอง ลมอะไรเหล่านี้มันไปหมดนั่นแหละ กำหนดจนถึงเหตุถึงผลของมัน กำหนดลมก็ดี เอาจนกระทั่งมันละเอียดจนกระทั่งหมดไปเลยลม เอาหมดก็หมด ก็ตัดสินใจกันอย่างนี้ มันก็พุ่งเลย จนกระทั่งกายหายเงียบอีกเหมือนกัน ลมหายไปแล้ว กายหายอีกเลย สิ่งที่ไม่หายก็คือความรู้เหลือแต่จิตเท่านั้น แต่เราจะว่าเหลือแต่จิตจริงๆ เด่นๆ อย่างนั้นไม่ได้นะ มีอะไรไปเทียบไปเคียงไม่ได้ เหลือแต่จิตคือหนึ่งเท่านั้นไม่มีสอง ไม่มีอะไรคลุมเลยในขณะนั้น เงียบจริง ๆ ขาดไปหมด
แต่อย่าคาดนะ ความคาดคะเนตามไม่ได้นะผิด เราฟังในหลักปฏิบัติ เทศน์ก็เทศน์ทางภาคปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหนึ่ง เป็นภาคปฏิบัติทั้งนั้น ผู้ฟังก็ให้ฟังในภาคปฏิบัติ อย่าไปคาดไปหมายในขณะที่ทำความเพียรหรือเจริญอานาปานสติ เป็นต้น อย่าไปคาดไปหมาย ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรให้เราเป็นคนรู้เอง เห็นเอง อย่าไปปรุงไปแต่งเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมา จะเป็นเครื่องหลอกตัวเองหาผลประโยชน์ไม่ได้ตลอดไป
ต้องให้เป็นผลของเราเอง จะเกิดขึ้นมาเหมือนกันกับท่านหรือไม่เหมือนกันกับผู้อื่นคนอื่นที่เป็น ก็ให้ทราบว่าเป็นของเราไม่ใช่ของท่าน ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร เป็นขึ้นอย่างนี้ เป็นสมบัติของเราเป็นอย่างนี้ เรามีห้าใช้ห้า เรามีสิบใช้สิบ เราไม่ได้เอาเงินมหาเศรษฐีมาใช้นี่ เราใช้สมบัติที่มีที่เกิดขึ้นสำหรับเรา ไอ้นี่ก็เหมือนกันผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรามากน้อยก็ให้ถือเป็นสมบัติของเจ้าของ อย่าเอาไปวัดไปเทียบไปเคียงกับของคนอื่น จะเป็นการไขว้เขวและทำลายสมบัติของตนให้เสียไปโดยหาเหตุผลไม่ได้ และไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย อันนี้เป็นของสำคัญมาก
เวลาพิจารณาเพื่อความสงบก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาเพื่อความสงบ มีหน้าที่อันเดียวจดจ่ออยู่อย่างเดียว เพื่อความสงบและไม่ต้องคิดถ้าต้องการความสงบไม่ต้องคิด นอกจากเป็นกรณีพิเศษดังที่กล่าวไว้ว่าปัญญาอบรมสมาธิ อันนั้นเป็นกรณีพิเศษ ยกไว้ แบบฉบับที่เป็นไปโดยปกตินั้น เมื่อต้องการความสงบก็ให้พิจารณาแบบจะเป็นไปเพื่อความสงบที่เรียกว่าสมถะ ถึงการค้นทางด้านปัญญาแล้วให้ค้นพิจารณาตั้งหน้าตั้งตาทำจริง ๆ กำหนดอันไหนให้รู้อันนั้น แยกอะไรให้เห็นชัดเจนด้วยการแยกการแยะ ให้จิตทำหน้าที่อยู่กับนั้นอย่าส่งไปที่ไหน
อย่าไปคาดไปหมาย ดูกันอยู่ตรงนั้น ให้เห็นกันอยู่ที่ตรงนั้น นี่ชื่อว่าตั้งหน้าพิจารณาโดยถูกทาง ไม่ต้องไปคาดไปหมาย ผลจะเกิดขึ้นจากปัญญาว่าแก้กิเลสประเภทใดบ้าง ไม่ต้องไปคาดเสียเวลา ความคาดหมายไม่เกิดประโยชน์นอกจากมาทำลายงานของเราให้เสียไปเท่านั้น นี่ได้พิจารณามาแล้วถึงได้มาพูดให้หมู่เพื่อนฟัง ไม่ได้พูดด้วยความด้นเดา พิจารณามาแล้วทุกอย่างในบรรดาที่นำมาแสดงให้หมู่เพื่อนฟัง จึงเป็นที่แน่ใจ ผู้แสดงเองก็แน่ใจ ว่าไม่ผิดเคยเป็นมาอย่างนี้แล้ว ผิดถูกประการใดเจ้าของก็เป็นมาแล้ว แล้วก็เป็นครู
ส่วนผิดก็เป็นครูอันหนึ่ง เพื่อจะอธิบายหรือพูดให้หมู่เพื่อนฟังว่าอย่าทำอย่างนั้นมันผิด สิ่งที่ถูกก็เป็นครูอันหนึ่งให้ทำอย่างนี้ถูก ได้เคยปฏิบัติมาแล้วอย่างนี้ เคยรู้เคยเห็นมาแล้วอย่างนี้ มันชัดเจน อาจหาญทั้งสองอย่างนี่ ถ้าสิ่งใดที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติเราเอง เพราะฉะนั้นการคาดการหมายจึงไม่ใช่เรื่องที่จะให้เกิดผลเกิดประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากมารบกวนงานของเราหรือทำลายงานของเราให้เสียไป ให้ทำหน้าที่ตามเรื่องของตัวเอง
สติปัญญาไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลานะให้พากันเข้าใจ ถึงเวลาจนตรอกจนมุมแล้วเป็นสำคัญมาก สติปัญญาจะดีดขึ้นมาเองเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ หาที่พึ่งใครไม่ได้แล้ว เราเป็นเราคนเดียวเท่านี้ ตายก็เราคนเดียว นี่แก้กิเลสจะให้ใครมาแก้ให้เรา เราต้องแก้เอง มันติดที่ตรงไหน เวลานี้ จิตก็หมุนติ้ว ๆ เข้าไป เอ้า ทุกขเวทนาก็เกิด เกิดเท่าไรยิ่งหมุนกัน ถ้าเราจะหวังให้รู้แจ้งสัจธรรมจริงๆ ต้องเป็นความหมุนติ้วเข้าไปไม่ถอยหลัง แล้วมันก็รู้ขึ้นมาๆ รู้ขึ้นมาด้วยความจริงนี้ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วไม่มีวันหลงลืมด้วยนะ การรู้ด้วยความจริงหลงลืมได้อย่างไร
อันนี้ก็อย่าง พระนาคเสนกับพระยามิลินท โต้ปัญหากัน พระอรหันต์ท่านรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเหรอ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ไม่รู้ในสิ่งที่ไม่อาจรู้ แล้วท่านจำได้หมดเหรอ ท่านจำอะไรได้หมดเหรอ ท่านหลงลืมไหม ท่านก็มีหลงลืมเหมือนกันกับคนทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ไม่ลืมมีไหม มี คืออะไร คืออริยสัจ ท่านไม่หลงไม่ลืม จะหลงลืมอย่างไง อริยสัจกับจิตมันอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ทุกข์มีอยู่ภายในร่างกาย
ถึงแม้ทุกข์จะไม่มีอยู่ภายในใจ ทุกข์ก็มีอยู่ในร่างกายเห็นอย่างชัดเจน สมุทัยของร่างกายคืออะไร เดินมากก็เป็นสมุทัยให้ร่างกายเหนื่อย นั่งมากก็เป็นสมุทัยอันหนึ่งให้ร่างกายเหนื่อย นอนมากก็เป็นสมุทัยอันหนึ่งให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยเป็นทุกข์ นอนมากก็เป็นสมุทัยอันหนึ่งให้ร่างกายนี่เป็นทุกข์ แม้สมุทัยในจิตของท่านไม่มี สมุทัยส่วนร่างกายคือสาเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ เช่นกินของแสลง ดินฟ้าอากาศไม่เหมาะสมกันกับร่างกายกระทบดินฟ้าอากาศก็เป็นสาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ขึ้นมา แต่ท่านไม่เรียกสมุทัยเพราะไม่ใช่กิเลส แต่เราพูดอันนี้พูดเอามาเทียบเคียงเฉยๆ ว่า สมุทัยของธาตุขันธ์ว่าไปเฉยๆ คือสาเหตุพูดง่ายๆ แปลออกมาว่าสมุทัย คือสาเหตุแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ มันจะเกิดทุกข์ในร่างกายได้อย่างไร เช่นเป็นหวัดเป็นไอ เจ็บท้อง ปวดหัว ต้องมีสิ่งแสลงมากระทบกระเทือนอันเป็นสาเหตุ จึงเรียกว่าสมุทัยของร่างกายก็มีเหมือนกัน แต่ไม่เป็นสมุทัยแบบกิเลส
เวลาเราฉันของแสลงหรือรับประทานของแสลงแก่โรคเข้าไปนี้โรคกำเริบ เอ๊ะ วันนี้โรคกำเริบเพราะฉันอันนั้น แน่ะมันรู้แล้ว นั่นละเป็นสมุทัยเป็นสาเหตุ นิโรธ มรรค ดับทุกข์รู้กันอยู่แล้ว ไม่มีทุกข์อะไรอยู่แล้ว นี่ละสัจธรรมทั้งสี่ อยู่ภายในใจ ท่านไม่มีวันลืมว่างั้นเลยพระนาคเสน. นี่ละสิ่งไม่ลืมคือรู้ความจริงเต็มที่แล้วไม่มีวันลืม นี่เป็นความจริงแท้ นอกนั้นก็หลงลืม จำนั้นจำนี้ จำชื่อจำเสียงจำตำรับตำราคาถาบทนั้นบทนี้ มันลืมไปได้เหมือนกันเช่นกับคนทั่ว ๆ ไป สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา วาสฺส วิมุยฺหติ ก็มี บอกแต่เรื่องหลงลืม เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น ขันธ์จะเหนือโลกไปไหน
ขันธ์พระอรหันต์กับโลกก็เป็นแบบเดียวกันจึงต้องดำเนินไปทางสายเดียวกัน มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ครอบอยู่ตลอดเวลาเหมือนกันหมด อย่างที่เป็นของท่านเองก็คือความบริสุทธิ์ของจิต อันนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงเรียก อกุปปธรรม คงเส้นคงวา ทุกขเวทนาไม่มีในจิตของพระอรหันต์ ตั้งแต่กิเลสดับลงไปแล้วทุกข์ไม่มี ท่านไม่มีเวทนา ปรมํ สุขํ ที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ อันนั้นเป็นหลักธรรมชาติอยู่กับจิตที่บริสุทธิ์นั้นต่างหากไม่ใช่สุขเวทนา ส่วนสุขเวทนามีเกิดมีดับ เช่น มีความยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความสุขความทุกข์ขึ้นมาภายในจิตใจ นี่เรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนาภายในใจ
แต่เมื่อใจตัดต้นตอคือสาเหตุอันสำคัญได้แก่ อวิชชาออกหมดแล้ว ตั้งแต่ขณะนั้นน่ะจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะไม่มีเวทนาเลย ไม่มีเหลือ เวทนาในร่างกายนี่ก็เป็นของมัน เหมือนกับโลกทั่ว ๆ ไปไม่ได้เหนือโลกนี่ รูปํ อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา สญฺญา อนิจฺจา สงฺขารา อนิจฺจา วิญญาณํ อนิจฺจํ เหมือนกันหมด แต่จิตที่บริสุทธิ์แล้ว จิตฺตํ อนิจฺจํไม่มี แต่อาการของจิตมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอาการของจิต เช่น แสดงออกมาเป็นขันธ์ รูปความปรุงความแต่ง สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์มันก็เป็นขันธ์ห้าเสีย แต่มันอาศัยจิตเกิดขึ้น จึงเรียกว่าอาการของจิต แต่จิตบริสุทธิ์แล้วก็ไม่เป็นกิเลส
ถ้าจิตไม่บริสุทธิ์เหล่านี้แลเป็นเครื่องมือของกิเลสที่ทำงานอยู่ภายในจิต แล้วเอาเข้าไปเผาลนจิตนั่น เมื่อเป็นตัวผลขึ้นมาแล้ว ทุกข์มากน้อยก็เผาลนจิตให้เดือดร้อนวุ่นวาย ได้รับความทุกข์ระส่ำระสายภายในจิตใจจนหาสติสตังไม่ได้ เพราะทุกขเวทนามาก เข้าครอบงำจิตจนไม่มีสติติดตัว เช่น คนไข้ที่ไม่มีสติ เป็นต้น ทิ้งเนื้อทิ้งตัวจนตกเตียงก็มี นี่เพราะทุกขเวทนานี้มีอำนาจมาก สติที่จะเข้าครอบครองตัวไม่มี พระอรหันต์ท่านไม่เป็นอย่างนั้น
พอก้าวเข้าถึงขั้นนั้นแล้วเรียกว่าพ้นภัย คือเรื่องสมมุติทั้งหมดมันเป็นภัย พ้นภัย คือว่าพ้นจากสมมุติแล้วโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่กับจิตแม้นิดเรียกว่าปรมาณูไม่มีเลย นี่เรียกว่า บริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วก็อยู่ตามหลักธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์ของตน ร่างกายยังอยู่ก็ใช้กันไป อยู่กันไป รับผิดชอบกันไป ก็ไม่เห็นจะได้อะไรจากร่างกายนี้ จะอยู่ไปตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ไม่มีส่วนได้อะไรจากร่างกาย และไม่มีส่วนเสียอะไรจากร่างกาย เมื่อทนไม่ไหวมันสลายลงไปก็ไปตามสภาพของมันที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งเป็นสมมุติ ธรรมชาติที่ไม่ใช่สมมุติ เอ้า เราให้ชื่อทับเข้าไปอีกคือวิมุตติ ก็อยู่ตามหลักธรรมชาติวิมุตติของตน แต่ไม่ใช่อยู่แบบสมมุติทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นจึงว่านิพพานมีอยู่หรือสูญไปอย่างนี้พูดไม่ได้ ถ้าพูดก็เอาสมมุติเข้าไปทับกัน มีอยู่ มีอยู่แบบโลกก็ไม่ถูก สูญไปแบบโลกก็ไม่ถูก มีอยู่แบบนิพพานสูญไปแบบนิพพาน นั่น ถึงถูก อันนี้ถูกที่สุดกับความจริง เพราะโลกให้สมมุติก็ต้องว่ามีอยู่เหมือนกันแต่ไม่มีอยู่แบบนั้น มีอยู่แบบนิพพาน มีอยู่แบบวิมุตติ สูญก็สูญแบบวิมุตติ ไม่สูญแบบอื่นอย่างโลกสมมุติทั้งหลายเขาสูญกัน สูญนั้นคือสูญความฉิบหายป่นปี้ เรียกว่าสูญ มีอยู่ก็มีตั้งโด่อยู่อย่างนั้น อันนั้นไม่ได้โด่อยู่อย่างนั้น
นิพพานจะเป็นบ้านเป็นเมืองอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าเป็นบ้านเป็นเมืองก็เป็นสมมุติละซิ บ้านเมืองก็เป็นบ้านเมืองแบบนิพพานนั่นแหละ แต่ใครจะไปกล้าตั้งชื่อว่าเป็นบ้านเป็นเมืองตึกรามบ้านช่องได้ล่ะ เพราะนิพพานนอกสมมุติไปแล้ว ตึกรามบ้านช่องอันนี้เป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด เอ้า พิจารณาลงไป เมื่อรู้แล้วจะเข้าใจเองเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องไปถามใครแม้ศาสดาประทับอยู่ข้างหน้านี้ก็เถอะ ไม่ได้ประมาทพระองค์ท่าน หากว่าทูลถามพระองค์ท่านจะรับสั่งว่าอย่างไร ก็รับสั่งอย่างที่เราเข้าใจอยู่แล้วนี้ แน่ะเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทูลถามท่านทำไมของอันเดียวกัน รู้อยู่ด้วยกัน ถามกันมีอย่างเหรอ แน่ะ
ของไม่รู้ถึงได้ถาม ของสงสัยถึงได้ถาม นี่ไม่ได้สงสัย นี่รู้อย่างเต็มหัวใจ และเป็นธรรมชาติอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า ดังที่ท่านกล่าวว่า นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย พระอรหันต์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนกระทั่งถึงสาวกองค์สุดท้ายไม่มีความยิ่งหย่อนต่างกันเลยในความบริสุทธิ์ทั้งหลายที่อยู่กับท่านองค์นั้นๆ นอกจากอำนาจวาสนาที่ได้สร้างมาซึ่งเป็นปลีกย่อยหรือเป็นเครื่องประดับเท่านั้น มีเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันจึงต้องได้ตั้ง เอตทัคคะ
ทรงตั้ง เอตทัคคะ ให้สาวกทั้งหลายแปลกต่างกัน ผู้ใดที่เด่นในทางไหนมากก็ยกอันนั้นให้ผู้นั้น เช่น พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดเชี่ยวชาญมากทางด้านปัญญา ก็ยกให้พระสารีบุตรเป็นผู้ฉลาดทางปัญญา พระโมคคัลลาน์เหาะเหินเดินฟ้ามีอิทธิปาฏิหาริย์ มีปาฏิหาริย์ อันนี้ก็ยกให้เพราะเด่นกว่าเพื่อน นอกนั้นท่านก็มีแต่องค์นี้เด่นกว่าบรรดาสาวกทั้งหลายก็ยกให้องค์นี้เป็นเอตทัคคะ คือเลิศในทางนี้เสีย อย่างการแสดงธรรมก็ยกให้พระปุณณมันตานีบุตร เป็นธรรมกถึกเอก ท่านเด่น อันนั้นก็เทศน์เก่ง เหล่านั้นก็เทศน์เก่งเหมือนกัน แต่มีข้อเด่นกว่ากันตรงไหนก็ยกอันนั้นแหละ นี่คือตามอำนาจวาสนาของท่าน เรื่องความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด
เราพูดนี้ความรู้นี้แหละฟังอยู่นี่ นี้แหละที่จะเป็นความบริสุทธิ์ ก็คือผู้นี้ เราอย่าไปหามรรคผลนิพพานที่อื่นที่ใด ว่ามีอยู่ในที่อื่นใด นอกจากผู้รู้นี้เท่านั้นจะเป็นมรรคผลนิพพาน เพราะกิเลสก็หุ้มห่ออยู่ในจิตดวงนี้ที่เป็นมรรคผลนิพพานไม่ได้เต็มตัว เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้สิ่งนี้ออกด้วยเครื่องมืออันทันสมัย คือมัชฌิมาปฏิปทาที่ทรงแสดงไว้แล้วอย่างถูกต้อง เราจะได้เห็นความจริงประจักษ์ใจของเราโดยไม่ต้องมีกาลสถานที่ใดๆ มาเป็นเจ้าอำนาจวาสนากดขี่บังคับหรือกั้นกางห้ามไม่ให้เราเห็นมรรคผลนิพพานด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของเรานี้เลย ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์หรือหนองอ้อนั่นแหละบึงอ้อ หนองอ้อ อ้อตรงนี้เหรอ ตรงนี้เหรอ อ้อเป็นอย่างนี้เหรอความบริสุทธิ์ อ้อเป็นอย่างนี้หรือนิพพาน สมาธิเป็นอย่างนี้เหรอ ปัญญาเป็นอย่างนี้เหรอ วิมุตติเป็นอย่างนี้เหรอ แน่ะอยู่กับนี้ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ใด
เอ้า ฟาดลงไปซี ถ้าเราอยากได้ของวิเศษมาครอง หรือจะแบกตั้งแต่ขี้หามแต่ขี้เหรอ หามขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้เกียจ ขี้คร้าน อ่อนแอ ขี้แย มีแต่ขี้เต็มตัวมันวิเศษไหมล่ะเหล่านี้ ถ้าวิเศษโลกวิเศษไปหมดแล้ว ไม่ต้องไปหาของวิเศษจากไหน แต่นี่มันไม่ได้วิเศษน่ะซิ ฟังแต่ว่าขี้เป็นไร
เอาละ
|