ทั้งส่วนมันก็ลงช่องนี้ ถ้าไม่หลีกเลี่ยงถ้าไม่แก้ตรงนี้ไปไม่รอดว่างั้นเลย ใครจะภูมิรู้ขนาดไหนว่าเก่งขนาดไหนก็ตามไม่รอดว่างี้เลย เพราะอันนี้มันขวางอยู่แล้ว มันตีบตันอั้นตู้อยู่แล้วหาทางไปไม่ได้เลย นอกจากจมเท่านั้น ฉะนั้นใครอยากจม คนทั้งประเทศใครจะอยากจม ไม่มีใครอยากจม ความล่มจมไม่ใช่ของดี เป็นความฉิบหายวายปวง หมดความหมายไร้ค่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครต้องการการหมดความหมายไร้ค่าเช่นนั้น
เวลานี้ประเทศไทยเรากำลังมีคุณค่า ไม่ได้ไร้ค่า คนทุกคนมีหัวใจเป็นคน เป็นเอกสิทธิ์เอกราช ควรจะรักษาชาติบ้านเมืองไว้ด้วยความพร้อมเพรียงสามัคคี มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยการประพฤติปฏิบัติหน้าที่การงานให้ตรงตามกฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งเป็นข้อบังคับเพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมือง
นี่เราได้พูดเป็นเชิงแนะ จะเอาไปพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ ในฐานะว่าเราก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งนั้น ยิ่งกว่าผู้ที่ตั้งหน้าปกครองเสียอีก นั้นก็ยังต้องอาศัยภาษีอากรของประชาชนเป็นเสบียงอาหาร พอมีทางมีแนวความคิด เราไม่เป็นอย่างนั้น เป็นแบบพระ ถ้าว่าขอทานก็ขอทานแบบพระไปเลย กินแบบพระอยู่แบบพระ อาศัยประชาชนแบบพระ แบบพระนี่เป็นแบบราบรื่นดีงาม แบบให้ด้วยความสมัครใจ แบบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ได้ให้ด้วยความจำเป็น แม้แต่ภาษีอากรของประเทศชาติบ้านเมือง เขาจะให้ด้วยความจำเป็นเขาก็ยังพอใจ ถ้าดำเนินตามความประสงค์ของเขา
นี่เราพูดถึงเรื่องโลก โลกอยู่ได้เป็นปึกแผ่นแน่นหนามั่นคง เพราะความพร้อมเพรียง ความสามัคคีกัน ความดำเนินหรือปฏิบัติตามกฎระเบียบกฎหมายบ้านเมืองข้อบังคับ ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญแห่งความสงบสุขโดยทั่วกัน
ทีนี้เราย่นเข้ามาทางศาสนา ก็คือหลักธรรมหลักวินัย ที่จะให้พระเรามีความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีอะไรที่จะระแคะระคายทะเลาะเบาะแว้ง จนถึงการแตกร้าวสามัคคีกัน ก็เพราะต่างคนต่างมีทิฏฐิสามัญญตา คือความรู้ความเห็นเป็นไปในหลักธรรมหลักวินัยด้วยกัน การประพฤติปฏิบัติก็ดำเนินไปตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ให้ผิดให้เพี้ยนที่เจตนา นอกจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นเป็นไปได้ แต่เรื่องเจตนาที่จะทำลายหรือที่จะทำผิดอย่างนั้นไม่ให้มีสำหรับนักบวชเรา
ให้ดูเจ้าของเสมอ ธรรมวินัยอยู่ที่หัวใจ ใครไม่รู้เราก็รู้เอง ที่แจ้งที่ลับไม่มี มีที่แจ้งเปิดเผยอยู่กับหัวใจของตัวเอง จะทำอะไร ๆ ไม่มีใครรู้ ก็คือเราคนหนึ่งซึ่งเป็นคนรู้เราว่ามีอากัปกิริยาอย่างไรภายในจิตใจ ถูกหรือผิดประการใด ให้เราพยายามสังเกตสอดรู้ภายในจิตใจของเรา ที่จะเคลื่อนไหวไปในทางให้ผิดธรรมผิดวินัยข้อใด ให้พากันสังเกตสอดรู้เสมอ
การอยู่ด้วยกัน อย่าถือว่าเป็นผู้ใหญ่เป็นผู้น้อยสำคัญยิ่งกว่าการเห็นตรงตามหลักธรรมหลักวินัย ใครจะพูดออกมา แสดงกิริยาอะไรออกมาก็ตาม ให้มีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องรับรองหรือยืนยัน นั้นแหละอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ลูกศิษย์ตถาคตไม่มีเรื่องชาติชั้นวรรณะ มีแต่ศากยบุตรพุทธชิโนรสอย่างเดียวเท่านั้น นี่เราเป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้า ไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะซึ่งเป็นเรื่องของโลกไม่เข้ามาแฝง พระพุทธเจ้าไม่เห็นไม่ถือความเป็นใหญ่กับสิ่งเหล่านั้น ยิ่งกว่าหลักธรรมหลักวินัย ที่จะเป็นเครื่องปกครองพระทุกชาติชั้นวรรณะ ให้กลมกลืนเป็นเหมือนอวัยวะเดียวกันในเวลาที่อยู่ร่วมกัน
และให้เป็นผู้มีความมุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจ ได้แก่ ความโลภความโกรธความหลง ราคะตัณหา สิ่งเหล่านี้เป็นเสี้ยนเป็นหนามเป็นยาพิษเผาลนจิตใจให้เดือดร้อน มีมากมีน้อยย่อมแสดงพิษสงให้เห็นอยู่เสมอ ไม่มีผู้ใดที่จะรู้พิษสงของสิ่งเหล่านี้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาพิษภัยทั้งหลายที่กล่าวมานี้ และพระองค์ทรงสามารถชำระล้างออกได้ด้วยความพากเพียร จนพระจิตมีความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน แล้วจึงได้นำธรรมนั้นมาสอนโลก ทั้งฝ่ายเหตุคือวิธีการแก้ไข ชะล้างสิ่งสกปรกโสมมอันเป็นพิษเป็นภัยนี้ ทั้งผลที่ทรงได้รับแล้ว มาประกาศสอนโลกให้ทราบโดยตลอดทั่วถึงเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาจึงมีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาอยู่ตลอดมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลถึงสมัยปัจจุบัน ขอให้ดำเนินตามหลักธรรมที่พระองค์ท่านทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยถูกต้องเถิด เรื่องมรรคผลนิพพานจะไม่ต้องไปถาม ไม่มีใครที่จะมีอำนาจเหนือมัชฌิมาปฏิปทานี้ไปได้ มัชฌิมาปฏิปทานี้แลเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดตู้พระไตรปิฎก พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจนี้ให้เปิดเผยออกมา เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนประจักษ์ใจ นี่ละเป็นสิ่งสำคัญ
กาลเวลาสถานที่ไม่มีอำนาจที่จะมากั้นกางมรรคผลนิพพาน มีแต่กิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเรียกว่าสมุทัยสัจ แสดงผลเป็นทุกข์ขึ้นมาเรียกว่าทุกขสัจ สองประการนี้เท่านั้นเป็นเครื่องกั้นกางมรรคผลนิพพาน ไม่ให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ เพราะฉะนั้นการบุกเบิกสัจธรรมทั้งสองอันเป็นฝ่ายปกปิดกำบังนี้ จึงต้องบุกเบิกด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด
นี้แลคือเครื่องมืออันทันสมัย ที่จะกำจัดปัดเป่าหรือบุกเบิกทางที่ตีบตันอั้นตู้ไปด้วยกิเลสตัณหาอาสวะ ความมืดมนอนธการนี้ ให้เปิดออกอย่างสว่างไสวกระจ่างแจ้งภายในจิตใจ ถึงวิมุตติหลุดพ้นไปได้ ด้วยอำนาจมัชฌิมาปฏิปทานี้แล มัชฌิมาปฏิปทานี้แลเป็นผู้ทรงอำนาจมากที่สุดที่จะกำจัดกิเลสทุกประเภท ไม่ให้มีกิเลสตัวใดเหลืออยู่ภายในจิตใจ เพราะไม่มีกิเลสตัวใดจะเหนืออำนาจมัชฌิมาปฏิปทานี้ไปได้เลย ขอให้ทำความเข้าใจตรงนี้
อย่าไปสำคัญมั่นหมาย ว่าสถานที่โน่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ สาวกทั้งหลายท่านตรัสรู้ อยู่สถานที่โน่น ตั้งแต่ครั้งโน้นครั้งนั้น ครั้งนี้ไม่มีแหละมรรคผลนิพพาน นั่นเป็นความเข้าใจผิดและเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลส และเป็นเครื่องประกาศความต่ำช้าเลวทราม ความมืดบอดของตัวเองให้คนอื่นเห็น ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากเป็นการเหยียบย่ำทำลายตน และทำให้คนอื่นผู้ที่มีความโง่เขลาเบาปัญญาให้หลงเชื่อตามไปอีก ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างมากมายไม่มีประมาณเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น
สิ่งที่ถูกต้องก็คือการปฏิบัติ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นั้นแลชื่อว่าดำเนินตามแนวทางของตถาคต และชื่อว่าเป็นการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วยในตัว
สุปฏิปนฺโน คือการปฏิบัติดี ปฏิบัติอย่างไรถึงเรียกปฏิบัติดี ก็คือปฏิบัติให้ตรงตามหลักธรรมหลักวินัยไม่ให้เคลื่อนคลาด ไม่ว่าสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ซึ่งเป็นสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ทรงบัญญัติไว้แล้ว ให้เคารพดำเนินตามนั้น อย่าข้ามอย่าเหยียบย่ำทำลาย จะเป็นการเหยียบย่ำทำลายตถาคต ซึ่งเป็นองค์แทนศาสดา ได้แก่หลักธรรมหลักวินัย
อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรงแน่วต่อมรรคต่อผล ไม่มีโลกามิสใด ๆ มามีอำนาจเหนือการปฏิบัติตรง คือตรงแน่วต่อมรรคต่อผลต่อนิพพาน ด้วยการประพฤติปฏิบัติดีชอบนี่แล
ายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงโดยถ่ายเดียว ไม่ปฏิบัติเพื่อความลุ่มหลงงมงายดังที่เห็น ๆ กันอยู่นี้ ไม่ว่าท่านว่าเรายังปฏิบัติลุ่ม ๆ หลง ๆ งม ๆ งาย ๆ เลยกลายเป็นเรื่องปฏิบัติเพื่อโลกามิสไปเสีย แล้วทีนี้การบวชมาในศาสนา แทนที่จะเป็นการชำระสะสางกิเลส กลับมาสั่งสมกิเลสยิ่งกว่าฆราวาสเสียอีกก็มีเยอะ นั่น นี่มันไม่ใช่ ายปฏิปนฺโน ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่กลับกลายเป็นปฏิบัติเพื่อความลุ่มหลงงมงายให้เขาดูถูกเหยียดหยาม ทั้งผู้ทำอย่างนั้นด้วย ทั้งศาสนาซึ่งเป็นของบริสุทธิ์ก็ถูกโลกเขาตำหนิ เพราะอาศัยผู้ปฏิบัติศาสนาทำให้ด่างพร้อยหรือเสียหายด้วย
สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมอย่างยิ่งไม่มีที่ต้องติ น่ากราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจ ดังท่านกล่าวไว้ว่า ปฺุกฺเขตฺตํ โลกสฺส สุดท้ายแล้วผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง สุปฏิปนฺโน อุชุฯ ายฯ สามีจิฯ นี้คืออะไร
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ เมื่อกล่าวเป็นคู่ ๆ แล้วเป็นคู่แห่งธรรม ๔ ก็ได้ เป็นบุคคล ๘ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นคู่หนึ่ง นี่กล่าวเป็นมรรค เป็นคู่แห่งธรรม ๔ เป็นเอกเทศแห่งธรรม ๘ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล จนกระทั่งถึง อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นคู่ ๆ ๔ คู่เป็น ๘
ที่ท่านว่าคู่แห่งบุรุษ ๔ เราอย่าเข้าใจว่า ๔ คนมาบรรลุธรรมนะ นั่นเป็นความเข้าใจผิด นับเป็นบุคคล ๘ นั้นหมายถึงคนคนเดียว ผู้ปฏิบัติผู้นั้นแลจะได้รับทั้ง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นสมบัติของตนด้วย สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นของตนด้วย เมื่อแยกเป็น ๘ ก็ดังที่บรรยายมานี้
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นั้นแลคือสาวกของพระพุทธเจ้า อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย นั้นเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน เป็นผู้ควรแก่สิ่งต้อนรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ขึ้นชื่อว่าไทยทาน เครื่องสักการะบูชาของประชาชน เขาจะนำมามากมาน้อย ไม่นอกเหนือหรือไม่มีคุณค่าเกินธรรมเหล่านี้ เกินท่านผู้ปฏิบัติดีเหล่านี้ไปได้เลย สามารถรับทักษิณาทานของเขา ให้เป็นที่ภูมิใจแก่ทายกทายิกาได้โดยสมบูรณ์ เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ ท่านเหล่านี้แลคือสาวกของพระพุทธเจ้า
นี่แหละการปฏิบัติตามหลักมัชฌิมามีผลจะพึงได้รับอย่างนี้ ในผู้ปฏิบัติคนเดียวนั่นแล มีทั้งธรรมคู่ ๔ คู่ มีทั้งธรรมเอกเทศเป็น ๘ ผู้นั้นจะพึงได้รับคนเดียว ไม่ใช่จะไปรวมคนนั้นคนนี้เข้ามา อย่าเข้าใจอย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด ท่านว่า อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่แห่งธรรม ๔ เป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง และเป็นประเภทแห่งธรรม ๘ เมื่อเข้าสู่บุคคล เข้าสู่หญิงก็เรียกว่าคู่แห่งสตรี ๔ ก็ได้ คู่แห่งบุรุษ ๔ ก็ได้ และเมื่อเป็นเอกเทศแล้วเป็นธรรมแห่งบุคคล ๘ ก็ได้ คือบุคคลนั้นกลาง ๆ ทั้งหญิงทั้งชายได้ทั้งนั้น คือได้ทั้งหญิงทั้งชาย
การปฏิบัติไม่มีเพศ เรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไม่มีเพศ เหมือนกับกิเลสไม่มีเพศ มีได้ด้วยกันทั้งนั้น ความโลภก็มีได้ทั้งหญิงทั้งชาย ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา มีได้ด้วยกัน มัชฌิมาปฏิปทาจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย เป็นเครื่องแก้กิเลสทั้งหลาย แก้ได้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยอำนาจความสามารถของตน แล้วมีทางหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน
มรรคผลนิพพานท้าทายอยู่ในหัวใจของเรา เช่นเดียวกับกิเลสราคะตัณหาท้าทายอยู่ภายในจิตใจของเราทุกขณะเวลานี้ เพราะฉะนั้นขอให้ผลิตสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ขึ้นมาให้เด่นโดยลำดับ ๆ ด้วยความอุตส่าห์พยายามเถิด มรรคผลนิพพานจะปรากฏขึ้นที่จิตดวงที่กำลังโสมมเวลานี้ ด้วยสิ่งสกปรกทั้งหลายเข้าไปพอกพูน แล้วจะเด่นชัดขึ้นมาด้วยความสะอาดผ่องใส จากผ่องใสก็บริสุทธิ์ เมื่อกิเลสอาสวะออกหมดแล้วจะบริสุทธิ์ขึ้นที่นี่ รู้ธรรมจะรู้ที่นี่ กิเลสมีอยู่ที่ไหน ก็เช่นเดียวกับที่รกรุงรังมีอยู่ที่ไหน ความเตียนโล่งจะมีอยู่ที่นั่น เมื่อปราบสถานที่ที่รกรุงรัง ตัดต้นไม้ดายหญ้าออกหมดแล้ว ความเตียนโล่งจะไม่ถามหาที่ไหน จะเกิดจากที่รกรุงรังนั่นแล
นี่กิเลสเป็นเครื่องรกรุงรังฝังอยู่ภายในจิตใจ ให้พยายามถากถาง ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา เมื่อกิเลสถูกถากถูกถาง ถูกเผาด้วยด้วยตปธรรมลงไปโดยลำดับ ๆ จนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ความโล่งอันสุดขีดก็ปรากฏขึ้นภายในใจ ความโล่งอันสุดขีดแห่งสมมุติแล้วนั้นแลท่านเรียกว่านิพพาน ท่านเรียกว่าความบริสุทธิ์ ให้ชื่อว่าบริสุทธิ์ ธรรมชาตินั้นจะให้ชื่อหรือไม่ให้ชื่อไม่สำคัญ ขอให้เจอเถอะ ขอให้รู้เถอะเป็นที่พอใจ เป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่มีอันใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่ามัชฌิมาในหลักธรรมชาติ คือความบริสุทธิ์ของใจนั้นเลย ทีแรกก็ดำเนินไปตามมัชฌิมาปฏิปทาคือข้อปฏิบัตินี้ก่อน เมื่อดำเนินไปไม่หยุดไม่ถอยแล้ว จนถึงขั้นถึงภูมิที่ควรจะเป็นมัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติ ได้แก่ใจที่บริสุทธิ์เต็มภูมิแล้วรู้เอง
แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าก็ไม่ทูลถาม เพราะเป็นธรรมประเภทเดียวกันถามอะไร เช่นเดียวกับเรารับประทาน รับประทานร่วมวงกันอยู่กี่คนก็ตาม ความอิ่มจะไม่ต้องถามกันเลย ความเผ็ดความเค็มอะไร ต่างคนต่างมีลิ้นชิวหาประสาททราบด้วยกันทุกคน ความเอร็ดอร่อยขนาดไหนทราบด้วยกันทุกคน ไม่จำเป็นต้องถามกัน จนกระทั่งถึงความอิ่มหนำสำราญ ความเพียงพอแก่ธาตุขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรับประทานที่เป็นของประจักษ์ภายในธาตุขันธ์และจิตใจของแต่ละคน ๆ โดยสมบูรณ์เองไม่ต้องไปถามกัน
นี่หลักธรรมก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ท่านจึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก จะเห็นเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้จำเพาะตน เมื่อรู้จำเพาะตนแล้ว ต่างคนต่างรู้ด้วยกัน เหมือนกันกับต่างคนต่างอิ่มด้วยกัน ถามกันหาประโยชน์อะไร เพราะมันเหมือนกัน นี้แลที่ว่าแม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าก็ไม่ทูลถามพระองค์ ว่าข้าพระองค์ถึงนิพพานแล้วยัง ข้าพระองค์บริสุทธิ์แล้วยัง หรือความบริสุทธิ์ของข้าพระองค์เป็นอย่างนี้ ความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าหรือของพระองค์เป็นอย่างไร ถามไปทำไม ไม่มีถาม
ยกตัวอย่างเช่น อัญญตรภิกขุ ที่เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าในปัญหาสำคัญตอนสุดท้ายปลายแดน พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎี เวลานั้นฝนตกหนักเลยไม่กล้าขึ้นไปทูลถาม ท่านก็ยืนอยู่ที่ตรงนั้น พิงเสาอยู่นั้น สังเกตดูน้ำฝนตกลงมา หยดย้อยลงมาจากชายคาลงมากระทบน้ำข้างล่างทางพื้น ตั้งเป็นตาต่อมขึ้นมา ตั้งเป็นฟองขึ้นมาแล้วดับไป ๆ เมื่ออาศัยความกระทบของน้ำข้างบนกับข้างล่างกระทบกันก็ปรากฏเป็นฟองเป็นต่อมขึ้นมาแล้วดับไป ๆ ท่านพิจารณาเทียบเคียงกับสังขารที่เกิดขึ้นดับไป ๆ เกิดดีก็ดับ ชั่วก็ดับ กลาง ๆ ก็ดับ มีความกระทบกันชั่วขณะแล้วดับไป ๆ เทียบเคียงกับเหตุผลภายในนี้ บรรลุธรรมเสียในขณะนั้น พอฝนตกหยุดเท่านั้นท่านเดินกลับกุฏิไม่ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเลย นั่นดูซิ ทั้ง ๆ ที่จะไปทูลถามปัญหานี้อยู่แล้ว แล้วก็อาศัยฝนนั้นแหละเป็นอาจารย์ เพราะธรรมมีอยู่ทั่วไป นำเข้ามาเทียบเคียงกันได้กับสังขารธรรมที่มันคิดมันปรุง มีอวิชชาเป็นผู้ผลักดันออกมา พอรู้ได้สัดได้ส่วนแล้วก็หมดปัญหาไม่ต้องทูลถาม
นั่นแหละเพราะธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์นั้นเป็นเหมือนกันกับพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับความอิ่มนั้น เป็นเหมือนกัน จึงไม่จำเป็นตัองถามกันว่าใครอิ่ม มีลักษณะอย่างไร ความอิ่มของใครมีลักษณะเช่นไร ความอิ่มของผมมีลักษณะเช่นนี้ ความอิ่มของข้ามีลักษณะเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องถามกันอย่างนี้ ซึ่งเป็นการประกาศความโง่ของตัวเอง ความชั่วของตัวเอง ความเหลวไหลของตัวเอง
นี่เรื่องธรรมก็เป็นอย่างนั้น อันใดที่จะบริสุทธิ์ อันใดที่จะถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าศาสนธรรมนี้หาดูซิในโลกนี้ ไม่เห็น เราก็ปฏิบัติมานาน เรียนก็เรียนมาหลายปียังไม่สิ้นสงสัย เรียนถึง ๗ ปีเรียนหนังสือทางด้านปริยัติ มันก็ไม่สิ้นสงสัย เวลาจะเอาจริงเอาจังยิ่งเกิดความสงสัยมากขึ้น คำว่าจะเอาจริงเอาจังคือยังไง หยุดจากการเรียน แล้วทีนี้จะออกปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ อย่างเต็มใจ แล้วก็เลยมาเกิดความสงสัย เอ๊ นี่มรรคผลนิพพานจะยังมีหรือไม่นา นั่น ถ้าหากว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามมาชี้แจงให้เราทราบอย่างถึงใจ ว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่ เราจะกราบไหว้ผู้นั้นอย่างถึงใจทันที แล้วจะสละชีวิตเพื่อมรรคผลนิพพานนั้นโดยไม่เสียดายเลย ตายก็เพื่อบูชามรรคผลนิพพานนั้นเสียทีเดียว
ส่ายจิตส่งจิตไปหาใครมันก็ไม่ติดไม่เกาะ ส่งถึงท่านอาจารย์มั่นติดปั๊บ ๆ เพราะได้เคยปรากฏชื่อลือนามของท่านมาเป็นเวลานานแล้ว ว่าท่านอาจารย์มั่นนี้เป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่เป็นพระธรรมดา ทั้งฝ่ายฆราวาสซึ่งเคยใกล้ชิดสนิทกับท่านก็พูดอย่างนี้ ทั้งพระที่เคยไปอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายปีมาพูดก็พูดทำนองเดียวกัน ว่าท่านพระอาจารย์มั่นนี้ไม่ใช่พระธรรมดา เป็นพระอริยบุคคล ว่างั้น
จิตของเราพุ่งไปถึงขั้นอรหัตผลของท่าน อรหัตของท่านนะ มันถึงบึ่งถึงท่านเลย พอไปถึงท่าน ท่านชี้แจงอะไรออกมานี้เหมือนกับถอดออกมาจากดวงใจ เหมือนกับว่า นี่น่า ๆ มรรคผลนิพพาน หาไปไหน งมไปไหน คลำไปไหน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ฟ้าเป็นฟ้า อากาศเป็นอากาศ ฟ้าแดดดินลมเป็นสิ่งนั้น ๆ ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน นี่มรรคผลนิพพานอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่กิเลสกำลังรุมอยู่นี่เวลานี้ ให้แก้ตัวนี้ออก ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา นี่น่ะ ๆ เหมือนอย่างนั้น จิตมันก็ถึงใจทีเดียว ธรรมะของท่านถึงใจปึ๋ง ๆ เชียว กราบท่านอย่างถึงใจ ทีนี้หายสงสัย
เรื่องมรรคผลนิพพานนี้เป็นอันว่าหายสงสัย แม้เราจะยังไม่รู้ไม่เห็นประจักษ์ใจก็ตาม เอาเถอะที่นี่ว่างั้นเลย ตายเป็นตาย ขอให้ได้ทรงไว้ซึ่งมรรคผลนิพพานเท่านั้น กับตายเท่านั้น ถ้าไม่รู้จะตายก็ตายไป เมื่อไม่ตายให้รู้ด้วยการปฏิบัติ เอาจริงเอาจังตั้งแต่บัดนั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าตะลุมบอน เราออกปฏิบัติเราเอาจริงเอาจัง เป็นตะลุมบอนเลย ไม่มีเวลารับความสะดวกสบายเลยตั้งแต่วันเริ่มออกปฏิบัติ เพราะต่อสู้กับกิเลสทุกประเภทด้วยวิธีการต่าง ๆ ฝึกฝนทรมานตน ดังเคยเล่าให้ฟังแล้ว
จนกระทั่งจิตได้มีสมาธิ มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นโดยลำดับ ๆ เป็นความเชื่อมั่นขึ้นภายในจิตใจ จากนั้นก็ดำเนินทางด้านปัญญา จนมีความกระจ่างแจ้งขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ เห็นคุณค่าของปัญญาว่าสามารถที่จะถอดถอนกิเลสได้ทุกประเภท ก็ยิ่งมีความกระหยิ่ม ความอุตส่าห์พยายามก็มาเอง อะไรก็มาเอง จากนั้นก็เลยเป็นธรรมจักรไปเลย หมุนติ้ว ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน สติก็กลายเป็นสติอัตโนมัติ ปัญญาก็เป็นอัตโนมัติไป พิจารณาเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส แล้วก็ย่นเข้ามาพิจารณาเรื่องกายของตน จนกระทั่งเห็นแจ่มแจ้งชัดเจน ปล่อยวางได้ตามเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้
เอ้า ยังเหลืออะไร เมื่อรูปกายก็ได้พิจารณาแล้วว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เรื่องอสุภะอสุภังก็เต็มใจ คือหมายความว่าถึงใจ เรื่องว่าธาตุว่าขันธ์ก็ถึงใจ ในส่วนรูปธาตุนี้ จากนั้นก็พิจารณาในเรื่องเวทนา คือใจ เวลาพิจารณาเข้าใจแล้วมันปล่อยเองนะ ถ้ายังไม่ปล่อยก็เหมือนกับเรารับประทานยังไม่อิ่มแล้วหยุดรับประทานไม่ได้ รับประทานไปจนกระทั่งอิ่มแล้วจะบอกตัวเองหยุดเอง อาหารจะมีความเอร็ดอร่อยขนาดไหนก็ตาม เมื่อธาตุขันธ์พอแล้วไม่ยอมรับอีก อันนี้จิตเมื่อได้พิจารณาเรื่องรูปขันธ์เป็นต้นจนเป็นที่พอใจ เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนเทียบได้ทุกสัดทุกส่วนแล้วสลัดปัดทิ้งทันที นี่เรียกว่าส่วนรูปกายละไปได้อย่างเด็ดขาดรู้ประจักษ์ใจ
ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางส่วนร่างกายและจิตใจ ประสานกันอยู่นี้ ก็พิจารณาเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงเวทนาของจิต จิตมีความผ่องใส จิตมีความสุขก็เป็นสุขเวทนา สุขเวทนาก็เป็นสัจธรรม ทุกขเวทนาก็เป็นสัจธรรม นั่นไม่เอาแต่ว่าทุกข์เป็นสัจธรรมนะ ที่นี่เวลาเข้าถึงขั้นละเอียดแล้วสุขก็เป็นสัจธรรมได้
อันนี้ในตำราท่านมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบนะ ได้ยินแต่ว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ท่านว่าอย่างนั้น แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น ในทางภาคปฏิบัติที่รู้เห็นกันมา ทุกฺขํ อริยสจฺจํ นี้เป็นสิ่งที่โลกเห็นได้อย่างชัดเจน โลกไม่ติด โลกมีความเกลียด หน่าย เบื่อที่สุดกลัวที่สุด สุขํ อริยสจฺจํ นี้โลกมีความติดพัน ความติดพันนี้ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เพราะหลงความสุขนั้น เพราะฉะนั้นความสุขนั้นจึงเป็นสัจธรรมประเภทหนึ่งที่เราจะต้องพิจารณาให้รู้เท่าทัน เวลาถึงขั้นมันแล้วเป็นอย่างนั้นนะ นี่เป็นทางภาคปฏิบัติเองโดยไม่มีใครบอก
มันก็ตามทั้งสุขทั้งทุกข์ เวลาจิตมีความผ่องใสขนาดไหน มีความสุขก็รู้ว่านี่คือความสุขอันนี้เป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้ก็เป็นสัจธรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะยึดจะถือ แยกเข้าไป ๆ จนกระทั่งเข้าใจทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ เป็นอาการหนึ่ง ๆ เท่านั้นไม่ใช่เป็นตัวจริงอะไรเลย แล้วหยั่งลงไปกระทั่งถึงจิต อาการเหล่านี้มาจากไหนถ้าไม่มาจากจิต อะไรเป็นตัวการอยู่ภายในจิต
เมื่อพิจารณาถึงขนาดนั้นแล้วจิตมันว่างหมดนะ มันว่างเหมือนเป็นอากาศธาตุทั้งหมด ถึงขั้นมันว่าง คือจิตว่างมีอยู่ ๓ ขั้นของการปฏิบัติ ๑) ว่างในเวลาสมาธิ จิตเข้าสู่สมาธิแล้วจิตก็ว่าง ว่างจากอารมณ์สัญญาอะไร ถึงแม้สิ่งใดจะมีอยู่ก็ตามแต่จิตไม่สนใจ เหลือแต่ความรู้อยู่ว่างเปล่าเท่านั้นก็เรียกว่าว่าง เมื่อถอนออกจากสมาธิแล้วก็ไม่ว่าง ขั้นที่ ๒ พิจารณาร่างกายจนหมดไม่มีอะไรเหลือ ปล่อยวางร่างกายได้ด้วย แล้วทีนี้จิตก็ว่าง ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังมีอยู่คือยังติดกันอยู่ พิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจนกระทั่งเข้าถึงตัวจิต ซึ่งเป็นรากฐานของอวิชชาอยู่ที่ตรงนั้น จนกระทั่งอวิชชากระจายออกด้วยอำนาจของสติปัญญาที่ทันสมัย ได้แก่สติปัญญาอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญา
จุดแห่งอวิชชากระจายออกไปหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว นั่นจึงว่างแท้ เรียกว่าว่างโดยประการทั้งปวง ว่างทั้งจิตด้วย ว่างทั้งสิ่งทั้งหลายด้วย วางทั้งจิตด้วยไม่ยึดมั่น วางทั้งสิ่งทั้งหลายด้วย เรียกว่าปล่อยวางทั้งภายนอกปล่อยวางทั้งจิต รู้ตามเป็นจริงทุกอย่าง เหลือแต่ความรู้อันบริสุทธิ์ล้วน ๆ นั่นแลคือมัชฌิมาปฏิปทา นั่นแลคือมัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นจากมัชฌิมาปฏิปทาเครื่องดำเนินเข้าไปถึง โดยเป็นทางสายกลางเหมาะสมกับการรู้แจ้งเห็นจริง กับการจะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น เมื่อเข้าถึงธรรมนั้นแล้วก็เป็นมัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติ
เมื่อถึงมัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติแล้วก็เป็นอันว่าหมดเรื่องภาระธุระอะไร กิจน้อยกิจใหญ่ที่เกี่ยวกับเรื่องกิเลสนี้เรียกว่าหมด ถ้าเป็นชนะก็เป็นชนะชั้นเอก เรียกว่า เอกฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม ผู้ชนะตนคือชนะกิเลสทุกประเภทของตนได้โดยเด็ดขาดแล้ว ผู้นั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ ความชนะนั้นแลเป็นความเห็นอันประเสริฐ
ในเบื้องต้นท่านว่า โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส สิเน, การชนะคนอื่นจะคูณด้วยล้านก็ตาม การชนะเหล่านั้นหาความสุขไม่ได้ นอกจากการก่อกรรมก่อเวรซึ่งกันและกันไม่มีที่สิ้นสุด นั่นท่านว่าอย่างนั้น เอกฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม. ผู้ใดที่มาชนะกิเลสของตนเพียงคนเดียวเท่านั้น ผู้นั้นแลเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าการชนะสงครามทั้งหลายเหล่านั้น นี่มีการจบการสิ้นได้ งานของศาสนามีการจบสิ้นลงได้ ไม่เหมือนงานของโลก งานของโลกนี้ทำจนกระทั่งถึงวันตายก็ไม่มีสิ้นสุด จำเป็นก็ต้องตายไปเสียก่อน หาเวลาว่างไม่ได้ ว่างได้กับเฉพาะเวลาตาย มีที่จุดหมายปลายทางที่ไหน
แต่งานของศาสนา งานแก้กิเลสนี้ มีทางที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทางได้ เช่น พระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลาย เมื่อสิ้นสุดจุดหมายปลายทางแล้วท่านก็อยู่สบาย วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ได้สิ้นเสร็จการคงอยู่ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กตํ กรณียํ การละการถอนกิเลส การบำเพ็ญจิตให้มีระดับสูงขึ้นไปโดยลำดับก็ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ กิจอย่างอื่นที่จะให้ยิ่งกว่านี้อีกไม่มี นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ความเป็นอีกคือการเกิดอีกตายอีก ตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทุกฺขา ชาติ ปุนพฺปุนํ การเกิดบ่อย ๆ ก็คือการเกิดการตายบ่อย ๆ ก็คือการทุกข์อยู่ไม่หยุดนั้นเอง นี่ได้สิ้นสุดลงไปแล้วจากใจดวงนี้ ไม่มีสิ่งใดเข้าไปเกี่ยวข้องเลย เป็นจิตวิมุตติหลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง นี่ชื่อว่าผู้สิ้นเสร็จเรื่องการงานของศาสนา
เพราะฉะนั้นทุกข์ก็ขอให้ทุกข์ไปเถอะ ทุกข์เพื่อมรรคผลนิพพาน ทุกข์เพื่อการถอดถอนตนให้พ้นจากความทุกข์อย่าไปท้อถอย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสั่งสอนสัตวโลกให้ท้อถอย เพื่อการต่อสู้เอาชัยชนะสำหรับตนเอง เราจะไปท้อถอยได้อย่างไร ถ้าเราท้อถอยกิเลสก็เหยียบย่ำทำลายเรา อยู่ที่ไหนนอนอยู่ก็กิเลสบังคับ ยืน เดิน นั่ง มีแต่กิเลสบังคับ เกิดชาติใดภพใดมีแต่เป็นนักโทษให้กิเลสบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา มันดีแล้วหรือความเป็นนักโทษนั่นน่ะ
ความเป็นอิสระต่างหากนะดี เพราะฉะนั้นจึงแก้ลงไปขนาบมันลงไป ตัวไหนที่เป็นตัวกดขี่บังคับเราจะแก้มันด้วยวิธีใด มัชฌิมาปฏิปทาบอกแล้ว นี่คือเครื่องมือฆ่าสิ่งกดขี่บังคับทั้งหลายอันเป็นเจ้าอำนาจ ได้แก่กิเลสเจ้าวัฏจักรนี้ ให้ทำลายสลายสิ้นลงไปแล้วนั้นแลเป็นอิสระที่นี่
ไปไหนก็ไม่ต้องเป็นนักโทษ อยู่ปกติอย่างนี้ก็ไม่เป็นนักโทษ ชีวิตยังมีอยู่ก็ไม่เป็นนักโทษ ธาตุขันธ์เจ็บปวดเดือดร้อนอะไรก็ไม่กระเทือนถึงจิตใจ รู้เท่าทันตามธรรมชาติของมัน ไม่ยึดไม่ถือ หากว่ามีชีวิตอยู่ก็อยู่ไป ถึงกาลแล้วหรือ จะไปแล้วหรือ ไปก็ไปไม่ห่วงใย ไม่เสียดาย ไม่คัดค้าน ถึงกาลไปก็ไป ยังไม่ไปหรือก็อยู่..ไม่ว่า เพราะเรียนจบแล้วทั้งการอยู่และการตายแล้วจะหาพะวงมาจากไหน นี่คือความเป็นอิสระของจิต เมื่อพ้นจากนี้แล้วก็เป็นอิสระเต็มภูมิ ไม่ต้องมีการรับผิดชอบเรื่องธาตุเรื่องขันธ์อันเป็นเรื่องของสมมุติวุ่นวายนี้เลย
เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้พินิจพิจารณาประพฤติปฏิบัติ การเทศน์นี้เทศน์ตามหลักความจริงที่ประพฤติปฏิบัติมา ไม่ได้นำมาด้นมาเดามาสั่งสอนหมู่เพื่อน เวลาปฏิบัติก็เอาตายเข้าว่า ไม่ได้นึกเลยว่าเราจะได้มาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนหมู่สอนเพื่อน ใครจะมาเกี่ยวข้องกับเราเราไม่เคยนึก นอกจากเราสนใจปฏิบัติเราโดยลำพังเท่านั้น ขอความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับผู้หนึ่งผู้ใด แต่แล้วก็ได้มาเกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนอยู่อย่างที่ว่านี้ ฉะนั้นขอให้เห็นใจ
ที่ว่าสั่งสอนพวกท่านทั้งหลายน่ะ สั่งสอนด้วยความถึงอกถึงใจ สั่งสอนด้วยความเมตตาสงสาร สั่งสอนด้วยความสงเคราะห์อนุเคราะห์ เหมือนอวัยวะอันเดียวกันจริง ๆ แล้วพูดอย่างหนึ่งถ้าเทียบแบบโลกก็เหมือนลูกของผมบรรดาท่านทั้งหลายที่มาอยู่นี้ ผมเป็นเหมือนพ่อท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นเหมือนลูกเต้า เพราะฉะนั้นพ่อแม่กับลูกทำไมจะไม่รักกัน ทำไมจะไม่จงรักภักดีต่อกันมีอย่างเหรอ ยิ่งเป็นฝ่ายธรรมด้วยแล้วยิ่งเป็นของละเอียดสุขุมมาก
ขอให้นำธรรมะตามหลักเหตุผลที่แสดงนี้ไปประพฤติปฏิบัติ เอ้า ตายก็ตายเถอะ โลกเขาตายได้ทั้งนั้นแหละ เราตายด้วยการประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสตัณหา เอาตายก็ตายยิ่งมีคุณค่า ตายในสงครามเรียกว่าตายมีเกียรติ สงครามก็คือสงครามระหว่างกิเลสกับธรรมนั่นแล
เอาละแสดงเพียงเท่านี้