เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
แหวกแนว
เรื่องข้อวัตรปฏิบัติ กิจของพระคือข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เหมือนกิจของฆราวาสเขา ฆราวาสมีร้อยแปดพันประการหาประมาณไม่ได้ กิจพระนี้มีตายตัวตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่มากจนเหลือกำลัง แต่ส่วนมากพระเราปฏิบัติไม่ได้นี่ซิ ถ้าพระปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ทราบใครจะปฏิบัติได้ข้อวัตรปฏิบัติ บวชเข้ามาเอาความมักง่ายออกหน้าออกตาก็ไม่ได้เรื่องอะไร ถ้าเอาธรรมออกหน้าแล้วก็มีสติมีปัญญามีความพากเพียร มีข้อวัตรปฏิบัติอันดีงามประจำตน เหลือบซ้ายมองขวามีสติสตัง พูดประโยคใดมีสติควบคุมรู้ความผิดถูกดีชั่วหนักเบา ควรหรือไม่ควรแก่บุคคลหรือสถานที่เช่นไร นั่นถ้าเอาธรรมออกหน้าส่วนมากไม่ค่อยผิดพลาด แม้ผิดด้วยความสุดวิสัยก็มีน้อย แต่ความไม่มีสติ ความไม่สนใจ เอาความขี้เกียจขี้คร้านออกหน้า ความอ่อนแอออกหน้าซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส กิริยาอาการแสดงออกมาจึงมักเป็นเรื่องไม่น่าดู ระเกะระกะ
การขบการฉัน พระขบฉันจังหันจะต้องสวยงามตามเสขิยวัตรท่านบอกไว้แล้ว ไม่สนใจก็ปรับอาบัติ แน่ะ กินก็เป็นโทษ นั่งก็เป็นโทษ เดินก็เป็นโทษ นอนก็เป็นโทษ พูดอะไรออกมาก็เป็นโทษ จะหาคุณที่ไหนคนเราพระเรา คำว่าโทษก็คือไม่มีสติสตัง ระมัดระวังสิ่งที่ผิดหรือถูกประการใด ไม่รู้ สุ่มสี่สุ่มห้า พูดถึงเรื่องความสวยงามทางมารยาท ความเคลื่อนไหวไปมา อะไรจะงามยิ่งกว่าพระซึ่งได้หลักการประพฤติมาจากหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ละเอียดอ่อนสุดในโลกนี้ แต่ถ้าไม่นำพาแล้วพระก็น่าเกลียดที่สุด เพราะควรทำตัวให้ดีแต่ทำให้เลวไปเสียอย่างนี้ มันดูไม่ได้ในสายตาของผู้อื่น ตลอดถึงประชาชนทั่ว ๆ ไป
พระเป็นผู้รักษาได้บรรดาความสวยงามทั้งภายนอกภายใน ไม่เหมือนฆราวาสเขา พระมีหน้าที่รักษาอย่างเดียว รักษาตัวเป็นสำคัญ รักษาใจให้มีสติแล้วกิริยามารยาทการแสดงออกก็น่าดูเอง เพราะใจเป็นผู้บงการ ใจเป็นผู้แสดงออกทางมารยาทคำพูดคำจา การขบการฉันก็สวยงาม ทำอะไรก็น่าดู หากเป็นนิสัยแล้วแก้ยากนะ นิสัยมักง่ายนิสัยมูมมาม ตะกละตะกลามอะไร แก้ไม่ตกนะถ้าลงติดนิสัยแล้ว ไม่พยายามฝึกหัดไว้แต่ต้นแก้ยาก เป็นนิสัยไปแล้วเลยไม่สนใจยิ่งเลอะเทอะไปหมดเลย ไปฉันในสถานที่ใดเขาก็รังเกียจ เพราะไม่น่าดูการขบฉัน ทั้ง ๆ ที่ระเบียบแห่งการขบฉันของพระนี้ไม่มีที่ไหนสู้ได้ละ ระเบียบวินัย เป็นไปตามนั้นแล้วจะไม่น่าดูได้ยังไง
เราฝึกเราไม่ใช่จะให้เป็นไปตามใจของเราชอบ ใจของเราเป็นไปด้วยกิเลส ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีกิเลส ต้องฝึกตนใส่ธรรม เลือกธรรมมาฝึกหัดตนจึงจะน่าดู การฉันท่านบอกว่าอย่าทำคำใหญ่เกินไปจนแก้มตุ่ย ท่านว่า นิสัยของเราเคยทำอย่างนั้นมาแล้ว ทีนี้มาบวชเป็นพระก็เอานิสัยเดิมมาใช้มันไม่น่าดู หากเอาตามหลักธรรมหลักวินัยว่าอย่างไรพอเหมาะเราก็เอาอย่างนั้น อันนั้นเป็นนิสัยของฆราวาส อันนี้เป็นนิสัยของพระ มันต่างกัน เราจะเอานิสัยของฆราวาสมาใช้ไม่ได้ ต้องเอานิสัยของพระซึ่งมีธรรมมีวินัย ผู้ศึกษาธรรมวินัยจึงน่าดู
การขบการเคี้ยวก็ไม่ให้ดังเสียงกร้วมกร้าม ๆ คนอื่นฟังจนรำคาญหู แต่ปากกับหูเจ้าของอยู่ด้วยกันไม่ได้ยิน เพราะรสอาหารมันเหยียบย่ำทำลายหมด สลบไสลไปไม่ได้ยินเสียงขบเคี้ยวเจ้าของ จะดังขนาดไหน แต่ผู้อื่นฟังมันรำคาญเหล่านี้ การฉันในบาตรไม่เหมือนฉันสำรับ จะทำแบบสำรับไม่ได้ แต่ส่วนมากท่านนิยมฉันมือเดียว ตั้งแต่ท่านอาจารย์มั่นเป็นหลักสำคัญฉันมือเดียว ถ้าอันใดที่จำเป็นที่จะใช้สองมือก็ใช้อยู่ในบาตร อย่ายกขึ้นมาข้างนอก เช่นม้วนผักอะไรเหล่านี้ จับขึ้นมาม้วน ๆ นี้ยุ่งอยู่ข้างหน้าข้างบนบาตร ขายขี้เจ้าของ
มีอะไรก็ให้เขาเห็นหมด อะไรใส่ในปากก็ให้เขาเห็นหมดจะว่าไง เพราะความเซ่อความเพลินในรส ไม่มีสติ มีอะไรอยู่ในบาตรเวลาจะฉันยกขึ้นมาให้เขาเห็นหมด ซึ่งเป็นกิริยาไม่ดี เห็นเฉย ๆ ค่อยยังชั่ว เห็นที่น่าเกลียดน่าเอือมระอานั่นซิ อย่างนี้เราเคยสอนพระเสมอ จากนั้นก็ซดซ้ายซดขวาเห็นแก่ลิ้นแก่ปากแก่รสแก่ชาติ ไม่เห็นแก่ธรรม ซึ่งเป็นเรื่องให้ลืมตัวทั้งนั้น ต้องการความเอร็ดอร่อยของรสอาหาร ยิ่งกว่าความเอร็ดอร่อยของธรรม ฉะนั้นรสอาหารจึงเหยียบย่ำทำลายธรรม ในขณะที่ฉันก็ทำลายธรรม เป็นข้าศึกต่อธรรมอยู่ตลอดเวลา เป็นข้าศึกต่อวินัยอยู่ตลอดเวลา จึงหาความดีไม่ได้ ความไม่มีสตินั้นละเป็นของสำคัญ จะไม่น่าดูเลยกิริยาอาการ
นี่มามากเข้าๆ คละเคล้าเข้าไปมากๆ มันเลอะเทอะนะ ถ้ามากมันเป็นได้ ไม่ว่าอะไรถ้ามากมันเฟ้อ เช่นอย่างเงินเฟ้อเป็นต้น ไม่น่าดู อย่างทุกวันนี้มนุษย์เฟ้อ ฆ่ากันง่ายเหมือนกับผักกับปลาดูซิ ไม่มีราค่ำราคาอะไร ผิดใจกันนิดฆ่ากันแล้ว ๆ มันเฟ้อ จิตใจก็นับวันโหดร้ายขึ้นทุกวัน เพราะไม่มีธรรมเข้าแทรกสิงใจ ฆ่าผู้อื่นเลยถือเป็นความดีความชอบ ถือเป็นความถูกต้อง เพราะความโกรธความแค้นอันเป็นเรื่องของกิเลสพาให้ทำ จนไม่รู้สึกตัวว่าสิ่งเหล่านั้นผิด เผื่อเขาจะมาฆ่าเราบ้างเป็นยังไง เรายอมให้เขาฆ่าไหมล่ะ เราไม่อยากตายด้วยกันทั้งนั้นแต่ไปทำเขาได้ลงคอ ถือเป็นความดี นี่มันตรงกันข้ามกิเลสกับธรรม กิเลสถ้าได้สังหารได้ทำลายใคร สูงกว่าใครแล้วถือว่าดี
แต่ธรรมะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เสมอภาค ไม่มีอะไรจะทำบุคคลให้มีความเสมอภาคและร่มเย็นกันยิ่งกว่าธรรม เสมอภาคไปหมด ให้อภัย ตลอดถึงสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ให้ทำลายไม่ให้เบียดเบียนเขา เห็นใจเขาใจเรา เห็นร่างของเขาของเรา เห็นชีวิตของเขาของเรา นอกจากนั้นยังให้แผ่เมตตาจิตแก่บรรดาสัตว์ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากันในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย มันเท่า ๆ กัน ไม่ควรจะเบียดเบียนกัน
อะไรจะละเอียดยิ่งกว่าธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าได้ขาดธรรมใจก็โหดร้ายทารุณ ความโลภก็มาก นับวันมากขึ้นทุกทีมากขึ้นทุกวัน เพราะยินดี เพราะส่งเสริมให้ความโลภ ความโลภจึงได้โอกาสทวีรุนแรงขึ้นทุกวันๆ ความโกรธก็มาก ราคะตัณหาก็พอกพูน ความลืมเนื้อลืมตัวก็มาก มีแต่มากด้วยของไม่เป็นท่า มากด้วยของสกปรก มากด้วยของหาคุณค่าไม่ได้ มากด้วยสิ่งที่จะให้เกิดความสุขแก่ตนไม่ได้
ใครเคยได้ความสุขเพราะความโลภเราลองหาดูซิ ถ้าธรรมของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ผิดไป ใครเคยได้ความสุขความสบายเพราะความโลภ เพราะความโกรธ เพราะความลืมเนื้อลืมตัว เพราะราคะตัณหากล้า ไม่เห็นมีที่ไหน เห็นแต่เป็นไฟไปด้วยกันทั้งนั้น ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ออกหน้าออกตา ไม่บังคับบัญชามันพอให้มีขอบเขตบ้างแล้ว มันก็เป็นไฟประลัยกัลป์ดีๆ เผามนุษย์เรานั่นละ ผู้ส่งเสริมมันมันก็เหยียบย่ำลงไป จิตใจของพระนักปฏิบัติเราก็เทียบกันได้อย่างนั้น ถ้าไม่พยายามสอดรู้สอดเห็น ความคิดความปรุงอันเป็นเรื่องของกิเลสจะแทรกขึ้นมาภายในใจ มันก็สามารถสร้างทุกข์ขึ้นมาภายในจิตใจได้ ได้รับความทุกข์เช่นเดียวกับฆราวาสเขา
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ปราบ สอนให้ละ สอนให้ฆ่ากิเลส เช่น โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ เป็นต้น ฆ่าความโกรธได้แล้วอยู่เป็นสุข ท่านไม่ได้บอกว่าส่งเสริมความโกรธให้เต็มที่แล้วเป็นสุข ท่านไม่ได้ว่า คนโกรธมาก คนโลภมาก คนราคะตัณหามาก คนลืมเนื้อลืมตัวมาก ก็คือผู้รับเหมาทุกข์นั้นเอง ทุกข์มีเท่าไรรับเหมาเอาหมดหาความสุขไม่มี เราอย่าเข้าใจว่าคนมีเงินเป็นล้าน ๆ จะมีความสุข อย่าเข้าใจว่าพวกเศรษฐีกุฎุมพีจะมีความสุข ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องปกครองจิตใจและปกครองสมบัติแล้ว สมบัตินั้นแลจะกลายมาเป็นฟืนเป็นไฟเผาเจ้าของ ไหม้ทั้งเป็นนั้นแหละ เป็นฟืนเป็นไฟอยู่ภายในจิตใจ
ไม่มีใครที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในโทษและคุณของสิ่งเหล่านี้ ได้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ท่านเห็นโทษเต็มพระทัยแล้ว จึงได้สั่งสอนบรรดาสัตว์ให้รู้สิ่งใดเป็นโทษสิ่งใดเป็นคุณ การจะประมาททรัพย์สมบัติเงินทองท่านไม่ประมาท เพราะโลกอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ ธาตุขันธ์เราอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ แต่ขอให้รู้จักความพอดี รู้จักประมาณ มีความฉลาดในการแสวงหาและเก็บรักษา ตลอดถึงการเยียวยานำมาเลี้ยงชีพของตนให้ถูกทาง อย่าให้เป็นกิเลสเพิ่มขึ้นทุกวันๆ เพราะการแสวงหานั้นๆ ส่วนมากไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันปีนแหวกแนวอยู่ตลอดเวลาจิตใจของโลกของคน แล้วจะหาความสุขที่ไหนเจอ ไปหาซิทั่วทั้งโลก โลกมนุษย์อยู่นี้มีกี่ประเทศด้วยกัน แต่ละประเทศมีคนจำนวนสักกี่ล้าน รวมเข้าทั้งหมด เราไปถามดูซิว่าใครจะมีความสุข จะไม่เจอ อยากจะพูดว่าแม้รายเดียวถ้าไม่มีธรรมเข้าแทรกหัวใจ ไม่มีธรรมเป็นเครื่องปกครองรักษาด้วยการปฏิบัติธรรม
ไม่ว่าคนทุกข์คนจนคนมีคนฉลาด ล้วนแล้วแต่แบกทุกข์เพราะความมีความเป็นของตนทั้งนั้น แต่ผู้ปฏิบัติธรรมแทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับตรงกันข้าม ความทุกข์ความจนก็เห็นอยู่แล้ว อยู่ในโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ผู้มีก็มี ผู้จนก็มี เราก็จนได้มีได้ แต่สำคัญการปฏิบัติตัวเอง ให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เป็นข้าศึกตามวิสัยของตนอันเป็นสิ่งชอบธรรม นำมาซึ่งความสุข เฉพาะอย่างยิ่งพระและนักปฏิบัติเรานี้ยิ่งไม่มีงานอื่นใดพอที่จะเป็นการส่งเสริมกิเลสขึ้นมา ด้วยถือเอาความจำเป็นเป็นต้นเหตุหรือเป็นโล่บังหน้าเหมือนอย่างโลกเขาทั่ว ๆ ไป
ความจำเป็นของเราก็มีการละกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ละกิเลสด้วยวิธีใดพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนไว้หมดแล้ว ถ้าไม่ขี้เกียจอ่อนแอเสียอย่างเดียว หรือเห็นแก่กิเลสมากกว่าเห็นแก่ธรรม ต้องดำเนินตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สมาธิก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร เรียนเสียจนติดปากติดคอ แต่องค์ของสมาธิจริงๆ ไม่เคยปรากฏเป็นสมบัติของตนได้แม้ชั่วขณะหนึ่งเลยอย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย แบกแต่ความเรียนความจดความจำมาไว้เต็มหัวใจ กิเลสไม่ลดน้อยลงแม้นิดหนึ่ง มิหนำซ้ำยังเป็นภูเขาไฟทั้งลูกเผาอยู่ในหัวใจนั้น
การปฏิบัติธรรมต่างหากเมื่อเรียนรู้แล้วปฏิบัติ เฉพาะนักบวชนักปฏิบัติเรานี้ก็คือการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มีสติสตัง สติสัมปชัญญะแนบกับตัวเสมอ อารมณ์อะไรผ่านเข้ามาจะต้องผ่านมาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย แล้วเข้าไปสู่ใจ ใจถ้ามีสติอยู่แล้วต้องทราบเรื่องอารมณ์นั้นๆ ว่าเป็นอารมณ์ผิดหรือถูกประการใด จะเป็นอารมณ์เครื่องส่งเสริมกิเลส หรืออารมณ์เป็นเครื่องส่งเสริมธรรมก็รู้ แต่ส่วนมากเป็นอารมณ์ส่งเสริมกิเลส เพราะยังมีกำลังมากอยู่ สติปัญญาไม่ทัน จึงต้องผลิตสติปัญญาขึ้นด้วยความตั้งอกตั้งใจ ระมัดระวังรักษา จนมีกำลังขึ้นมา
ภาวนาให้สงบก็เป็นได้ ถ้าจิตมีสติคอยควบคุมใจอยู่เสมอ ก็เหมือนกับเราเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่ตามท้องไร่ท้องนานั้นแหละ ต้องการจะไล่เข้าคอกเมื่อไรก็ไล่มาได้ ไม่เหมือนที่ปล่อยไปตามอำเภอใจของมัน ไปเที่ยวต้อนที่ไหนก็ไม่เจอ ไม่ทราบไปทิศไหนแห่งหนตำบลใด มันผิดกัน จิตที่ปล่อยตัวอยู่ตลอดเวลาก็เช่นเดียวกับปล่อยวัวออกจากคอก ปล่อยสัตว์พาหนะออกจากคอกแล้วเจ้าของไม่ติดตามดูนั่นเอง ดีไม่ดีโจรผู้ร้ายเอาไปกินเสียเงียบก็มี
จิตที่อยู่ด้วยความรักษาของเจ้าของด้วยสติแล้ว จะสงบก็ง่าย เพราะไม่มีอารมณ์อะไรเป็นเครื่องกีดขวาง เนื่องจากจิตใจไม่สามารถที่จะเสาะแสวงหาอารมณ์อันเป็นพิษเป็นภัยได้ เนื่องจากสติบังคับบัญชาอยู่ ทำให้สงบก็สงบได้ เมื่อสงบเป็นสมาธิแล้วก็เป็นสมาธิสมบัติขึ้นในตัวของเรา จำได้ทั้งชื่อ เห็นได้ทั้งตัว เห็นได้ทั้งความจริงคือสมาธิ สงบมากน้อยเพียงไรก็รู้ ว่านี่สงบที่จิต สมาธิแท้อยู่ที่จิต ความจำแท้อยู่ที่สัญญา สมาธิแท้อยู่ที่จิต
ปัญญาก็พิจารณาแยกแยะดูภายนอกภายใน มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แบกแต่กองทุกข์กันทั้งวันทั้งคืน ทำไมจะพิจารณาดูทุกข์ไม่เจอ ไม่รู้ทุกข์ตามความจริงของมัน ถ้าปัญญาได้สอดแทรกเข้าไปตรงไหนต้องรู้ไม่มากก็น้อย การเกิดตายก็คือการแบกหามทุกข์อยู่ตลอดเวลานั่นเอง เกิดตายมากี่ภพกี่ชาติก็หามทุกข์มาเท่านั้นภพเท่านั้นชาติ แบกหามกันมาอย่างนั้น ถ้าไม่เบื่อหน่ายในความทุกข์ในความเกิดตายแล้ว เราก็ไม่ควรจะตำหนิติเตียนทุกข์ ไม่ควรจะบ่นให้เจ้าของว่าเป็นทุกข์ แต่นี้เราไม่ต้องการ ไม่ต้องการจะแก้ไขวิธีไหน
ปัญญาก็จำได้แต่อยู่ในตำรับตำราซึ่งเป็นชื่อของปัญญาเท่านั้น แต่ปัญญาอยู่ในตัวเราไม่มี โง่เหมือนควาย จำได้หมดในตำรับตำรา ว่าปัญญามีความฉลาดแหลมคมอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวผู้จำนี้โง่เหมือนควายจะว่าไง ความโง่นั้นจะแก้กิเลสได้หรือ กิเลสแหลมคมยิ่งกว่าอะไร อะไรจะแหลมคมยิ่งกว่ากิเลส เราว่ากิเลสมันต่ำแต่มันอยู่บนหัวใจคน ว่ามันหยาบแต่มันอยู่บนหัวใจที่ละเอียด ๆ ได้จะว่าไง นั่นละกิเลสมันไม่ได้ต่ำมันอยู่บนหัวใจคน มันไม่ได้หยาบ มันอยู่ได้ทั้งส่วนละเอียด อะไรจะละเอียดยิ่งกว่าจิต ธรรมซึ่งเป็นของละเอียดยิ่งก็เลยเข้าไม่ได้ไม่ถึง จำแต่ชื่อแต่นามของกิเลส จำแต่ชื่อแต่นามของธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ความจำ กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภมูล โทสมูล โมหมูล กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด จำได้เสียหมด มันร้อยแปดที่ไหนมันร้อยปอดคนนั่นกิเลส มันร้อยปอดคนยังไม่รู้อีกเหรอ
กิเลสมันอยู่ที่ใจนี้ จำชื่อจำตำรามันจะไปหนังถลอกอะไร กิเลสมันก็นอนสบาย เราไปจำแต่ชื่อของมัน ไม่มาแตะต้องกิเลสให้มีการกระทบกระเทือนบ้างพอหนังถลอก มันก็เป็นสุขที่อยู่กับคนขี้เกียจ อยู่กับคนอ่อนแอ กิเลสอยู่สบาย อยู่กับคนหนักในธรรม อยู่กับคนมีความขยันหมั่นเพียรในการบำเพ็ญ มีสติตั้งตัวอยู่เสมอ มีปัญญาใคร่ครวญเสมอ กิเลสร้อนอย่างนั้น อยู่ไม่เป็นที่เป็นทางละ ต้องหลบนั้นซ่อนนี้อยู่ ไม่งั้นถูกปัญญาฟาดฟันลงไปแหลกหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกปัญญา ฝึกสติให้ดี เพื่อจะให้ทันกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อสติปัญญาพอตัวแล้วกิเลสมีสักกี่ประเภท ละเอียดขนาดไหน ไม่พ้นวิสัยของปัญญาไปได้เลย จะต้องขาดกระเด็นออกไปหมดไม่มีเหลือ ให้เข้าใจว่าสติกับปัญญาเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวในการปฏิบัติธรรม
ศรัทธา วิริยะ เหล่านี้เป็นเครื่องสนับสนุน สมาธิก็เป็นผลของการรักษา เป็นผลมาจากสติ ถ้าจิตไม่มีสติก็บังคับจิตให้สงบไม่ได้ จะมีธรรมบทใดมาบริกรรมมันก็หลอกหนีไปหมด บริกรรมอยู่เฉย ๆ ความรู้สึกไปอยู่โลกธาตุโน้น จักรวาลไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วทำงานก็เป็นงานเป็นการและเป็นผลปรากฏขึ้นมา
ว่าปัญญา ๆ จำได้แต่ไม่ทราบปัญญาเป็นยังไง ต้องซอกแซกซิกแซ็กด้วยอุบายนิสัยของแต่ละรายๆ เพียงปัญญาจะให้บอกไปหมดไม่ได้ เพราะปัญญานี้กว้างขวางมาก เท่าที่เคยปฏิบัติมาทางปัญญานี้พูดไม่ถูกเลย ร้อยสันพันคม เวลาปัญญาได้แสดงตัวแล้วเป็นอย่างนั้น พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไม่มีอะไรเร็วยิ่งกว่าปัญญา กิเลสขึ้นแง่ไหนปัญญาพลิกกันทันๆ เมื่อทันมันแล้วมันก็หมอบกิเลส ออกจากหมอบแล้วก็ขาดลงไปๆ เรื่องสติตามกันไปเลย ถ้าลงถึงขั้นปัญญาอัตโนมัติแล้วสติกับปัญญาเป็นอันเดียวกันไปเลย พร้อม ๆ ไม่ได้แยกจากกัน พอรู้สึกมันก็ตามแล้วค้นแล้ว จึงว่าปัญญาอัตโนมัติ ทีแรกก็เป็นสติล้มลุกคลุกคลานไปเสียก่อน แต่พึงเข้าใจว่าจิตเป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้ สติเป็นสิ่งที่อบรม ปัญญาเป็นสิ่งที่อบรมให้มีกำลังแก่กล้าสามารถได้โดยไม่สงสัย แล้วกิเลสหลุดลอยไปจากใจได้ด้วยอำนาจของสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร โดยไม่สงสัยเหมือนกัน ขอให้มีความเพียรเถอะ
การเกิดตายนี้มันน่าเอือมระอา เราอยู่กับโลกเกิดตายมาสักเท่าไร เกิดก็ทุกข์ เป็นอยู่ก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ เร่ร่อนแสวงหาเกิดก็เป็นทุกข์ หาความสุขไม่เจอที่ช่องไหนเลย อนันตริยะ เรียกว่าหาช่องไม่ได้พอที่จะให้มีความสุขความสบาย ถ้ามีการเกิดต้องเป็นเช่นนั้น ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ เกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ไม่หยุด ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ผู้ไม่เกิดทุกข์ย่อมไม่มี หรือทุกข์ไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่างเป็นภาชนะสำหรับรับทุกข์ ทุกข์จะไปตกค้างได้ยังไง จะไปแทรกสิงได้ยังไงไม่มีภาชนะ ก็เหมือนเราโยนของออกไปอากาศนั่นแหละ ไม่มีอะไรรับมันก็ตูมลงดิน ดินเป็นภาชนะ
ต้องอาศัยสติอาศัยปัญญาตามนิสัยของจิตเรา พยายามฝึกหัดค้นคิดซอกแซกด้วยความสนใจ มีสติเป็นเครื่องรับทราบอยู่ตลอดเวลา จดจ่อ เวลาปัญญาออกเดินออกทำหน้าที่จะเข้าใจเป็นวรรคเป็นตอน ไม่เหมือนสมาธิ สมาธิมีแต่ความสงบ สงบแน่วลงไปเต็มที่ของสมาธิแล้วก็อยู่แค่นั้น นี่เคยเป็นแล้ว ชำนาญจริงๆ ไม่ใช่คุย จิตเป็นสมาธิอยู่เต็มปีถึง ๕ ปี ไม่สนใจจะออกทางด้านปัญญา เข้าใจว่าความรู้อันนี้เองจะเป็นนิพพาน เลยหมายเอาว่าจะเอาไม้ทั้งต้นมาปลูกบ้านปลูกเรือนไปเสีย เอาจิตที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาอวิชชามาเป็นนิพพานได้ แน่ะ เพราะไม่ได้คลี่คลาย ไม่ได้ถากได้ถาง ไม่ได้เจียระไนสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายออกให้มีแต่จิตล้วน ๆ อันเป็นคู่ควรแก่นิพพานมันก็เป็นนิพพานไม่ได้
ต่อเมื่อจิตได้ค้นคว้าลงไปนี้ อู๋ย มันเกี่ยวโยงกันไปหมด ทีแรกเราว่ามีแต่จิตเท่านี้ ๆ จะเป็นนิพพาน ๆ นี้ละจะเป็นนิพพาน นี้ละจะเป็นผู้บริสุทธิ์ มันก็เหมือนดึงไม้ไผ่ทั้งลำนี้ มันเกี่ยวโยงกันอยู่กับแขนงไหนบ้างไม่สนใจตัด มีแต่จะดึงให้ลงท่าเดียว มันไม่ลงซิ ถ้ามีปัญญาว่ามันเกี่ยวโยงกันกับแขนงไหนบ้างถึงไม่ลง มันเกาะอยู่ตรงไหนถึงไม่ลง ฟันกิ่งนั้นแขนงนี้ที่มันเกาะอยู่มันก็ตูมลงมาเลย เมื่อมันหมดสิ่งที่เกี่ยวเกาะแล้วไม่อยู่ ไม้มันหนักอยู่แล้วทำไมจะไม่ลง ตูมลงถึงดินเลยเทียว
จิตก็เหมือนกัน คำว่าสมาธิจะละเอียดแค่ไหนก็ตามมันอมเอากิเลสไว้ทั้งหมด ตัวอุปาทานมันยึดไปหมดในส่วนร่างกายอย่างละเอียดไม่รู้ ขันธ์ทั้ง ๕ รูปมันก็ยึดอยู่แบบสมาธินั้นแหละ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มีอุปาทานแบบสมาธิ ผิดกับอุปาทานทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยมีสมาธิ แต่เราไม่ทราบ เหมือนกับว่ามีแต่จิตมีแต่ความรู้ล้วน ๆ อยู่นั่นแหละ บัดเวลามาคลี่คลายออกดูด้วยปัญญาถึงได้รู้ชัด ค้นคว้าจนเห็นแจ้งชัดเจนแล้วจิตมันปล่อยรูปกายอันนี้ ถึงรู้ว่า โอ๋ มันแทรกซ้อนอยู่ไม่รู้กี่ชั้นกี่กัลป์ก็ไม่รู้ นี่เราจึงได้เห็นคุณค่าของปัญญา มาแยกมาแยะไล่กิเลสที่มันฝังจมอยู่นั้นออกไปถึงได้รู้
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกันติด ต้องได้ใช้ปัญญาทั้งนั้นถึงแยกแยะได้ เพียงสมาธิแยกแยะไม่ได้ เช่นเรานั่งสมาธิจิตอย่างนี้ พอจิตถอนขึ้นมาความทุกข์ทั้งหลายก็ปรากฏขึ้นมาเสีย เพียงสมาธินั้นระงับทุกข์เหล่านี้ไม่ได้หรือแยกทุกข์ออกจากใจไม่ได้ ถ้าเป็นปัญญาแล้วได้ ค้นลงเสียจนไม่มีทางไป เอ้า ทุกข์ขนาดไหนก็ให้รู้ จิตค้นคว้าของมันไม่หยุดไม่ถอยเหมือนกับกังหันทีเดียว เรียกว่าเป็นธรรมจักร เวลามันทุกข์มาก ๆ ในร่างกายนี้จิตจะนอนใจไม่ได้ ต้องขุดค้นด้วยปัญญา เพราะจะให้รู้ความจริงของมัน เราจะทนทุกข์อยู่เฉย ๆ นั้นไม่เกิดประโยชน์ไม่ใช่มรรค ต้องสู้กันด้วยปัญญาจนเห็นแจ้งเห็นจริงแล้ว ๑) ทุกขเวทนาดับไปไม่มีอะไรเหลือ ๒) ทุกขเวทนาก็เป็นทุกขเวทนา จิตเป็นจิต ต่างอันต่างอยู่ต่างอันต่างจริงไม่กระทบกัน แม้จะทุกข์ขนาดไหนจิตก็ยิ้มได้สบาย ๆ เพราะไม่เข้าถึงกัน
สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มารวมอยู่อันนี้แหละ สัญญาความหมายนั้นหมายนี้ก็มารวม พิจารณาในแง่ใดก็ตาม เรื่องขันธ์ ๕ นี้มันจะเกี่ยวโยงถึงกันไปหมด ปัญญาสอดแทรกเข้าไปเข้าใจเข้าไปๆ จนกระทั่งจิตล้วนๆ นั้นพอแก้จากนี้ไปแล้วมันยิ่งล้วนยิ่งกว่าสมาธิอีกที่นี่ มันยิ่งละเอียดอ่อนยิ่งผ่องใสยิ่งกว่าจิตที่เป็นสมาธินี้อีก แม้เช่นนั้นก็ไม่พ้นที่จะมีของปลอมอยู่ภายในนั้น จนกว่าปัญญาจะเข้าทำลายได้ ความแปลกปลอมอันละเอียดนั้นถึงจะสลายตัวลงไปแล้วถึงจะเห็นความจริงของจิตอย่างเต็มภูมิ
จิตแท้เป็นอย่างไร อ๋อ จิตแท้เป็นอย่างนี้ เมื่ออ๋อจิตแท้เป็นอย่างนี้แล้ว ในขณะเดียวกัน อ๋อ ความบริสุทธิ์เป็นอย่างนี้ ท่านตั้งชื่อนิพพานเป็นยังไง ความบริสุทธิ์อยู่ที่ไหนนิพพานก็อยู่ที่นั่น เพราะนั้นก็เป็นชื่อ ความบริสุทธิ์ก็เป็นชื่อ ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ธรรมชาติที่เป็นนิพพานแท้ คืออันนี้ไม่สงสัย ไม่เคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อนเพียงไรก็ตาม พอเข้าพบกันอย่างจัง ๆ แล้วไม่มีทางสงสัย สนฺทิฏฺฐิโก สนฺทิฏฺฐิโก อันนี้หมายถึงว่า สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิ สนฺทิฏฺฐิโก โดยสมบูรณ์ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก มาโดยลำดับ ๆ นั้นก็ยกให้ คือทราบ จิตเป็นสมาธิก็ทราบ จิตพิจารณาอะไรเข้าใจแล้วถอนได้แล้วละได้แล้วเป็นลำดับ ๆ ก็ทราบ ทราบมาเป็นลำดับ จิตมีความละเอียดอ่อนขนาดไหนก็ทราบ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ทั้งนั้น แต่พอถึงขั้นนี้แล้วก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิ เมื่อเต็มภูมิแล้วปัญหาก็หมด คำว่ามหาสติมหาปัญญานั้นหมดหน้าที่ไป
ผมแน่ใจว่าพระอรหันต์ท่าน เมื่อท่านถึงขั้นนี้แล้วท่านจะไม่สำคัญตนว่าท่านมีสติ ท่านเผลอสติ ท่านไม่ไปปรุงไปแต่ง เพราะคำว่ามีสติก็เป็นสมมุติ คำว่าขาดสติก็เป็นสมมุติ ความบริสุทธิ์เต็มภูมิแล้วนั้นคือความจริง สติปัญญาเป็นสมมุติทั้งนั้น เพราะเป็นเครื่องมือแก้กิเลสซึ่งเป็นสมมุติด้วยกัน เป็นสมมุติทั้งฝ่ายมรรค เป็นสมมุติทั้งฝ่ายสมุทัย เมื่อถอดถอนสมุทัยออกโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือแล้วสติปัญญาอันเป็นองค์มรรคนี้ก็หมดหน้าที่ไป ไม่เรียกว่าดำเนินมรรค ไม่เรียกว่าใช้สติปัญญาแก้กิเลส สติปัญญาก็เป็นธรรมดาๆ สติปัญญาของผู้บริสุทธิ์ไปเสีย เวลาจะใช้ท่านก็ใช้ ไตร่ตรองเรื่องอะไรๆ สติเวลาจะตั้งรับกับเรื่องอะไรท่านก็ตั้งเสีย ไม่ตั้งก็เป็นความบริสุทธิ์อยู่ธรรมดาเสียเท่านั้น มีเท่านั้น
ถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนเสือที่ตายแล้ว เล็บมันก็ยังมี เขี้ยวมันยังมี หนังมันยังมี ลวดลายของมันยังมี สิ่งที่น่ากลัวทุกอย่างอันเป็นสมบัติของเสือนั้นน่ะมีครบโดยสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่าเสือนั้นปราศจากจิตแล้ว เป็นเสือตายแล้ว มันจะกัดคนได้ที่ไหน จะกลัวหรือจะกล้าก็เป็นได้กลัวเฉยๆ ได้กล้าเฉยๆ อันนั้นไม่เป็นไปตามความกลัวความกล้า เพราะมันตายแล้วมันทำอันตรายไม่ได้ ความกล้าพระอรหันต์จึงไม่มี ความกลัวจึงไม่มี คำว่ามีสติหรือไม่มีสติ ก็อันนั้นบริสุทธิ์แล้วสติไม่สติซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติยุ่งทำไม เสียเวลา ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเป็น เรื่องพอดีเหมาะสมของท่านมีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่จะไปเพิ่มเติมท่านอีกแล้วพอจะให้มีสติให้มีปัญญา อันนี้ใช้เฉพาะกาลเท่านั้น
นอกจากท่านมีเหตุ เช่นเกิดอธิกรณ์ เขาฟ้องร้องว่าท่านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงรับรองด้วยสติวิปุละ ไม่ควรจะไปเกี่ยวข้องไปฟ้องร้องท่านผู้นั้นองค์นั้น ท่านเป็นผู้มีสติวิปุละ คือไพบูลย์ด้วยสติ ความจริงก็คือท่านบริสุทธิ์แล้วนั่นเอง ผู้มีสติอันไพบูลย์ ความบริสุทธิ์แล้วนี้คือความพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง การฟ้องร้องอะไรอธิกรณ์ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของสมมุติเข้ากันไม่ได้กับวิมุตติของท่าน พูดง่ายๆ ว่าอย่างนั้น จิตนั้นเป็นวิมุตติแล้วจะฟ้องให้เป็นประโยชน์อะไร ในครั้งพุทธกาลท่านมีพระพุทธเจ้ายืนยัน แต่สมัยทุกวันนี้ไม่มี เป็นสติวินัยท่านว่าอย่างนั้น ท่านกล่าวไว้ในหลักธรรม
เอาก็เอาซิ ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นธรรมะสด ๆ ร้อน ๆ กิเลสก็สด ๆ ร้อน ๆ อยู่กับเราทุกวันนี้ มันล้าสมัยไปที่ไหนกิเลสน่ะ ความโลภก็เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงเส้นคงวา เป็นกิเลสอยู่ตามธรรมชาติของตนแต่ไหนแต่ไรมา มันล้าสมัยไปไหน แล้วธรรมะที่จะมาแก้กิเลสนี้จะล้าที่ไหนที่นี่ ศีล สมาธิ ปัญญา สรุปความลงคือว่ามรรค ๘ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาล้าสมัยที่ไหน กิเลสตายด้วยเครื่องมือเหล่านี้ ตายด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้ ฉิบหายไปจากใจจากพระทัยของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้ทั้งนั้น และมัชฌิมาปฏิปทานี้ทำไมจะล้าสมัย แก้กิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสมันก็มีอยู่ในปัจจุบัน ธรรมเหล่านี้ก็ผลิตขึ้นในปัจจุบันทำไมแก้กันไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็หาความบริสุทธิ์ไม่ได้
คำว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว นั่นเห็นไหมรับรองอยู่นั่น เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับจนพ้นจากทุกข์โดยเด็ดขาด พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะพระอานนท์ฉลาด ถ้าพระอานนท์โง่ถามอย่างนั้นไม่ได้นะ พระอานนท์ฉลาดมาก เป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่งที่ทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อได้แง่แห่งความคิด ดังที่ท่านเขียนไว้ในตำรับตำรา ว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วนานสักเท่าไรมรรคผลนิพพานถึงจะหมดจะสิ้นไป
หือ อานนท์ทำไมถามโง่ ๆ อย่างนี้ล่ะ ก็ธรรมทั้งหมดที่สรุปลงแล้วเป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือมรรค ๘ นี้เราตถาคตสอนไว้เพื่อแก้กิเลสให้สิ้นไปแล้ว ก็เพื่อมรรคผลนิพพานในขณะเดียวกัน ถ้าผู้ยังมีความแน่นหนามั่นคงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาอยู่แล้ว มรรคผลนิพพานเราหรือว่าพระอรหันต์ไม่สิ้นจากโลกอานนท์ แต่ถ้าไม่มีผู้สนใจปฏิบัตินี้แม้ขณะนี้ก็ไม่มีมรรคผลนิพพานเกิดแก่ผู้นั้น ไม่ต้องพูดถึงกาลหน้ากาลหลังเลยอานนท์ เพราะกิเลสอยู่กับหัวใจคน ถ้าคนไม่แก้มันก็ไม่หมดไม่สิ้น อยู่ที่ตรงนี้ไม่อยู่ที่อื่น
พอแค่นี้ละ
|