พระจริง-พระกาฝาก
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 45.53 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๑

พระจริง-พระกาฝาก

 

        พระพุทธเจ้าประทานแก่บรรดาพระสงฆ์สาวกของท่าน ให้ทราบเรื่องงานของทางศาสนา งานทางศาสนากับงานทางโลกต่างกัน เรามาบวชในพระพุทธศาสนาก็เท่ากับเรามาสมัครงาน ทำงานในทางพระพุทธศาสนา สถานที่ทำงานพระพุทธเจ้าก็ทรงชี้บอกไว้เรียบร้อย วิธีการทำงาน หลักวิชาในการทำงาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้หมดไม่มีความบกพร่อง หลักวิชาแห่งการทำงานก็ได้แก่การประทานพระโอวาทแขนงต่าง ๆ เพื่อให้รู้วิธีการของการกระทำของตน ในขณะเดียวกันก็เป็นภาคปฏิบัติอยู่ในขณะที่สดับฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้า

        การฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์นั้น เป็นการถ่ายทอดออกมาจากโรงงานที่บริสุทธิ์ ได้แก่พระองค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วด้วยความบริสุทธิ์ และถ่ายเทธรรมออกมาจากความบริสุทธิ์ จึงเป็นธรรมที่ถูกต้องแม่นยำ เรียกว่าสวากขาตธรรม พระองค์ตรัสเอง ตรัสไว้ชอบทุกแง่ทุกมุมในหลักวิชาวิธีการปฏิบัติอะไรทรงสั่งสอนไว้หมด ผู้เข้ามาสมัครงานก็ได้ปฏิญาณตนเพื่อจะทำงาน ถืออะไรเป็นหลัก ขึ้นเบื้องต้นก็ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก่อนบรรพชาอุปสมบท พอได้ปฏิญาณตนต่อพระสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม ในกาลทรงอนุญาตครั้งสุดท้าย แล้วพระอุปัชฌายะ หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นองค์ประธานก่อน ว่าประทานพระโอวาทหลักวิชาอันสำคัญให้แก่บรรดาผู้มาสมัครงานด้วยความเป็นภิกษุนั้นอย่างไรบ้าง

        เบื้องต้นท่านสอนย่อ ๆ ไว้ก่อนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เรียกว่าอนุโลม ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา นี้เรียกว่าปฏิโลม คือถอยกลับ ย้อนหน้าย้อนหลัง ทำไมท่านจึงสอนอย่างนั้น นี่ละเรื่องของงาน ท่านสอนเรื่องงานให้ทำอย่างไร สถานที่ทำงานภายในตัวเอง เรียกว่างานในครอบครัว ก็ได้แก่การพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น จนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ นี้เรียกว่างานในครอบครัว งานในบ้าน ที่นี่งานนอกบ้านท่านก็ทรงสั่งสอนว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย. บรรพชาอุปสมบทแล้วให้หาอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่าชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา ซอกห้วย ที่ไหนก็แล้วแต่ขอให้เป็นที่สงบวิเวกในการประกอบงานของตนซึ่งมีอยู่กับตัว ดังที่ท่านประทานไว้แล้วว่า เกสา โลมา เป็นต้น นี่เป็นงาน ไปที่ไหนต้องทำงานชิ้นนี้ แต่ไม่ใช่งานเล็กน้อยพอที่จะทำด้วยความประมาทพรวดพราดสะเพร่ามักง่าย ต้องทำอย่างจริงจัง

        พระองค์ท่านสอนทั้งสถานที่ทำงานว่าที่ใดเป็นที่เหมาะ และงานของพระก็คืองานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี่เป็นงานของพระแท้ เป็นงานสมกับความแสวงหาความสุขจริงๆ งานนี้เป็นงานเพื่อความสุข คืองานรื้อถอนทุกข์ที่เป็นสาเหตุมาจากสมุทัยคือความลุ่มหลง เพื่อจะให้เป็นความรู้ความฉลาดขึ้นมาด้วยมรรค ได้แก่ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นเครื่องประกอบกระทำและแก้ไข

        ให้ทุกๆ ท่านทราบไว้ว่า งานอันใดเป็นงานอันแท้จริงของพระ งานเหล่านั้นไม่ใช่เป็นงานอันแท้จริงของพระ หากเป็นความจำเป็นเพราะโลกนี้เป็นโลกที่จะต้องทำงานทั้งภายนอกภายใน แต่ไม่ให้ถือเป็นความจำเป็นสำหรับพระว่างานนั้นเป็นงานสำคัญจนลืมเนื้อลืมตัวไปด้วยงานนั้นๆ ที่นอกไปจากงานอันจำเป็น ได้แก่งานกรรมฐาน งานนี้เมื่อทำสำเร็จแล้วมีความสุขอย่างไพบูลย์ พระพุทธเจ้าก็ทรงทำงานนี้สำเร็จ โดยเจริญอานาปานสติก็เรื่องของกาย ตามพระจริตของพระองค์ที่ถูกต้องในทางนั้น จากนั้นมาก็สอนกรรมฐานถึง ๔๐ อย่าง เพื่อจริตนิสัยของแต่ละราย ๆ ฉะนั้นจึงให้ทราบว่างานจำเป็นของพระนั้นคืองานอะไร อย่าลืมตัวอย่าลืมงาน ถ้าลืมตัวแล้วก็ลืมงาน

        ทำไมท่านจึงสอนให้พิจารณาร่างกาย ร่างกายนี่เป็นจุดแรกแห่งความกังวล แห่งความรับผิดชอบ แห่งความยึดถือ ยึดถือสมบัติเงินทองข้าวของต่างๆ นั้นยังเป็นภายนอกกาย กายนี้ยึดถือจนถึงกับว่าเป็นตนไปเลย เป็นเราเป็นของเราไปหมดทั้งร่าง โดยไม่ได้คิดว่าใจเป็นอย่างหนึ่ง กายเป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งพอที่จะแยกแยะกันได้เลย นี่สามัญชนเราทั่ว ๆ ไปเป็นอย่างนั้น ว่าร่างกายทุกส่วนนี้เป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องสอนลงตรงนี้ ที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นรากเป็นแก่นสำคัญของกิเลสตัณหาอวิชชา ท่านจึงสอนที่นี่ให้รู้ที่นี่

        การสอนอนุโลมปฏิโลมก็เพราะต้องการให้พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ด้วยความจดจ่อต่อเนื่องกันเป็นลำดับเพื่อเข้าใจชัด เมื่อเข้าใจชัดก็ค่อยเบาลงไปโดยลำดับ อุปาทานค่อยเบาลงไป รู้ได้เห็นได้อย่างชัดเจน อุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในส่วนร่างกายนี้ก็หมด

        ครั้งพุทธกาลท่านสอนจริงจัง พระก็จริงจังทั้งนั้น ไม่มีพระกาฝากแบบสมัยทุกวันนี้ ทุกวันนี้มีแต่กาฝากนะ แอบอยู่กับศาสนานั่นแหละ บวชเข้ามาเพื่อจะละความโลภ เลยกลายเป็นเรื่องสั่งสมความโลภขึ้นในวงศาสนา   ตรงกันข้ามมันกลายเป็นข้าศึกต่อศาสนธรรมไป เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่เรียกว่าเข้ามาทำลายศาสนธรรมได้อย่างไร โกรธก็โกรธง่าย ท่านสอนให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วพระรู้สึกจะสั่งสมอันนี้มากอย่างลึกลับ แล้วก็เป็นข้าศึกต่อศาสนาอยู่นั้นแล นอกจากเป็นข้าศึกต่อเพศของตนแล้วยังเป็นข้าศึกต่อศาสนาอีกด้วย โดยที่เจ้าตัวจะสนใจหรือไม่สนใจไม่รู้ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น

        สอนไม่ให้โลภ ให้ละ ๆ แล้วยิ่งสั่งสมขึ้นมา ก็โลภซิมันถึงสั่งสม โกรธก็ใครว่าไม่ได้พระ ทิฐิสูงก็คือพระ ถ้าไม่ใช่พระตั้งใจปฏิบัติชำระจิตใจของตนเป็นอย่างนั้น แตะต้องไม่ได้ ทิฐิพระสูงจรดฟ้านู่น ถ้าพระมุ่งต่ออรรถต่อธรรมแล้วได้ทั้งนั้น ใครจะตำหนิก็ได้ ใครจะชมก็ได้ ท่านจะเล็งถึงหลักเหตุผล จะให้อภัยเสมอด้วย เหมือนธรรมพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นจริง ๆ นี่เรียกว่าเดินตามหลักธรรม

        เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นนะ กลายเป็นกาฝากไปหมดแล้ว อาศัยศาสนาทำตัวเป็นกาฝาก สร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเทวทัตอยู่ภายในศาสนานั้น การสร้างก็ไม่สร้างตามหลักธรรม กิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่างความรู้ความเห็นไม่ได้เป็นไปตามหลักธรรม นี่เรียกว่าสร้างเนื้อสร้างตัวในทางที่ผิดอยู่ในวงศาสนา ก็เช่นเดียวกับกาฝาก มันอาศัยต้นที่มันเกาะอยู่นั้นเป็นอาหารและเป็นดอกเป็นใบเป็นผลของมันเอง แล้วก็ดูดต้นไม้ต้นนั้นจนตาย นี่ละทำศาสนาให้เศร้าหมองให้เสียหายล่มจมไปได้ เพราะความเป็นกาฝากของพุทธบริษัท เฉพาะอย่างยิ่งของพระ เราจงคำนึงเสมอเรื่องเหล่านี้

        หาอะไรก็ต้องเจออันนั้นจะว่าไง เพราะอยู่กับคำว่าหา แสวงหาอะไรก็เห็นอันนั้นมีอันนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลก เสาะคิดไปเรื่องความโลภมันก็เกิดความโลภขึ้นมา คิดไปทางให้โกรธก็เกิดความโกรธขึ้นมา คิดไปทางให้หลงก็หลงขึ้นมา ผลก็คือความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อคิดละความโลภทำไมจะละไม่ได้ ละความโกรธ ละความหลง เป็นความคิดชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ทำไมจะละไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงละมาแล้ว สาวกทั้งหลายละมาแล้ว ด้วยอำนาจแห่งธรรมนี้ทั้งนั้น ทำไมพวกเรามาปฏิบัติจึงไม่ได้ผล ไม่มีปรากฏผลขึ้นมาบ้างมีเหรอ ถ้าความรู้ความเห็นความประพฤติปีนเกลียวกับหลักธรรมแล้วก็มีแต่เรื่องกิเลสเท่านั้นเอง ทั้งเป็นเหตุเป็นผลของมันขึ้นมาภายในกายวาจาใจของเราผู้ปฏิบัติ

        ถ้าปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วมรรคผลนิพพานจะอยู่ที่ไหน เคยได้ยินไหมว่ามรรคผลนิพพานอยู่ต้นไม้ต้นนั้น อยู่ในเขาลูกนี้ หรืออยู่ในน้ำ อยู่ในก้นบ่อ หรืออยู่ในท้องมหาสมุทร ดินฟ้าอากาศ ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ที่จะทรงความดีความชั่ว ทรงความสุขความทุกข์ไว้ได้เหมือนสัตว์เหมือนมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งสัตว์มนุษย์ที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง สัจธรรมมีอยู่ที่นี่ สัจธรรมคืออะไร ทุกข์ แน่ะ ก็อยู่ที่กายที่ใจของพวกเรานี้ สมุทัยความคิดในทางที่ผิดอันเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมา เรียกว่าความคิดในแง่กิเลส ก็มีอยู่ที่นี่ นิโรธคือความดับทุกข์ด้วยอำนาจของมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุดก็อยู่ที่นี่ไม่ได้อยู่ที่อื่นใด

        แต่การเสาะแสวงหาที่เหมาะสมสำหรับประกอบความพากเพียร นี้เป็นความถูกต้องดีงาม แต่จะไปที่ไหนก็ไม่ให้ลืมงานที่ตนทำว่าทำลงที่จุดใด จึงเรียกว่ากรรมฐาน กรรมะ แปลว่า การกระทำ ฐานะ ให้ทำลงที่นี่ นี่ละฐานที่ตั้งแห่งการงานด้วยความชอบธรรมของพระผู้ต้องการความหลุดพ้นจากทุกข์ ให้พึงทำลงที่จุดนี้ นี่เป็นฐานเป็นที่ตั้งอันเหมาะสมแล้ว กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน แน่ะฟังซิ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อยู่ที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ไหน

        เพื่อจะแก้ความโง่ของเรานั่นแหละ ความโง่อยู่ในหัวใจ กิเลสฉลาดแต่ทำเราให้โง่ ไม่ใช่กิเลสมันโง่นะ โง่อะไรมันอยู่บนหัวใจสัตว์โลกทั่วโลกธาตุอันนี้ กิเลสมันโง่มันจะอยู่บนหัวใจคนเหรอ นั่นละกิเลสมันฉลาดแต่มันทำเราให้โง่ พูดง่าย ๆ เป็นอย่างนั้น เหมือนกับคนฉลาดเอารัดเอาเปรียบคนโง่นั่นเอง กิเลสมันฉลาดมันเอารัดเอาเปรียบเราตลอดเวลา จะเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนามันหาอุบายกระซิบกระซาบให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอ กระดูกแข็ง ๆ ก็อ่อนไปเหมือนเนื้อเหมือนหนัง นั่นละความกระซิบกระซาบความกล่อมของกิเลสมันกล่อมได้อย่างสนิท เพราะเคยกล่อมโลกมานาน

        โลกใครจะว่าฉลาด เมื่ออยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้วโง่กันทั้งนั้นตามส่วน นอกจากผู้เหนือกิเลสไปแล้วนั้นเรียกว่าผู้ฉลาด ถึงไม่ฉลาดทำงานการอย่างอื่นก็ตาม แต่ฉลาดถอนตนออกเป็นอิสระได้จากอำนาจกิเลสที่เคยกดขี่มานาน แล้วก็ได้บรมสุขมาครองหัวใจดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน นั่นท่านฉลาดจริง นั่นที่เรียกว่าจอมปราชญ์ก็จอมปราชญ์อย่างนั้นละ

        ธรรมเหล่านี้ออกมาจากจอมปราชญ์ สอนพวกเราให้ฉลาดทำไมถึงโง่ล่ะ พยายาม เราไม่แก้เราเราไม่ถอดถอนเราจะให้ใครถอดถอน ศาสนาเป็นของทุกคนพระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว ใครอยากเข้ามาประพฤติปฏิบัติให้เป็นความสุขความเจริญแก่ตนก็น้อมเข้ามาสู่ตน ศาสนธรรมก็เป็นสมบัติของผู้นั้น ตลอดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติก็เป็นสมบัติของตน พระองค์ไม่ได้มาแบ่งสันปันส่วนเอาจากพวกเราแม้แต่น้อย สมบูรณ์เต็มที่แล้วมาสอนพวกเราให้เข้าใจ หากดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทานี้ไม่สงสัยเรื่องมรรคผลนิพพาน เพราะไม่อยู่ในสถานที่ใด

        สิ่งที่กีดกั้นมรรคผลนิพพานก็คือเรื่องของทุกข์กับสมุทัย อันเป็นสัจธรรมฝ่ายผูกมัด สิ่งที่จะบุกเบิกทางให้เตียนโล่งไปเพื่อถึงมรรคผลนิพพานก็คือมรรค มรรคได้แก่อะไร สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป องค์ปัญญาคือความฉลาด เป็นผู้นำหน้าที่การงานทั้งหลาย จะเป็นทางวาจา กาย ความประพฤติ ตลอดถึงความคิดอ่านอะไรก็ต้องมีปัญญามีสติเป็นเครื่องปกครองหรือควบคุมอยู่เสมอ

        สัมมากัมมันตะของพระก็คือการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี่เรียกว่าสัมมากัมมันตะ การงานชอบ ชอบยิ่ง ชอบเพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะ งานของพระมีแต่งานถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจออกทั้งนั้น ไม่ได้มีงานใดแง่ใดแห่งธรรมที่สอนและให้ทำเพื่อการสั่งสมกิเลส ในมรรค ๘ นี้ มีแต่สอนเพื่อถอดเพื่อถอนทั้งนั้น สัมมาสังกัปโป ดำริ แน่ะเพียงดำริก็ให้ชอบ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ดำริเพื่อจะออกจากเครื่องผูกพัน

        สัมมาวาจา ก็กล่าวชอบ หลักของการกล่าวชอบก็มี ๑๐ ประการ ท่านเรียกว่า สัลเลขธรรม แปลว่า การพูดปรารภถึงเรื่องการขัดเกลากิเลส หรือการแก้ไขถอดถอนกิเลส ก็มีอัปปิจฉตาขึ้นต้น ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ รองลงมา ให้ยินดีตามสิ่งที่เกิดที่มีขึ้น จตุปัจจัยไทยทานมากน้อยเกิดขึ้น ยินดีเท่าที่มีเท่านั้น ส่วน อัปปิจฉตา นั่นมักน้อย แม้จะมีมากเพียงไรก็เอาแค่น้อย ๆ เท่านั้นเอง เหมือนกับนกซึ่งมีแต่ปีกกับหางเท่านั้น ไปกินผลไม้ที่ไหนอิ่มท้องแล้วไป ไม่ได้หาบได้หามไป ไปแต่ตัว สัมมากัมมันตะ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา การงานชอบ ชอบในที่อะไรบ้างนั่นก็มี

        สัมมาวาจา กล่าวชอบก็ดังที่อธิบายเมื่อสักครู่นี้ อัปปิจฉตา สันโดษ อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับหมู่กับคณะกับใครต่อใครจนเกินเหตุเกินผล เฉพาะอย่างยิ่งไม่คลุกคลี มีความสงัด มีตนเป็นคนคนเดียว เอกโกว มีตนเท่านั้นท่านว่า วิเวกตา ชอบสงัดวิเวก สถานที่ใดเป็นที่สงัดให้ไปเสาะแสวงในสถานที่นั้น วิริยารัมภา ความเพียรให้สืบต่อเนื่องกันอยู่เสมอ สติจะได้มีกำลังแล้วจิตจะได้มีความสงบ ไม่ถูกกิเลสความฟุ้งซ่านรำคาญเหยียบย่ำทำลายเสียทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน จึงต้องอาศัยอันนี้ วิริยารัมภา ศีล พูดถึงเรื่องศีล ให้ระมัดระวังความเคลื่อนไหวของตน อย่าให้ได้ตำหนิตนได้ สมาธิ ทำจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นจนเป็นฐานของจิต คือความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาภายในตัว ปัญญา พยายามคิดอ่านไตร่ตรองทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับตน วิมุตติ คือความหลุดพ้น วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้แจ้งชัดในความหลุดพ้นของตน

        นี่สัลเลขธรรม ๑๐ ประการ ที่เรียกว่าหลักของการพูด สัมมาวาจา กล่าวชอบอย่างนี้ ไม่ได้มีกล่าวถึงเรื่องการบ้านการเมือง การได้การเสีย การอะไรดังโลกสงสาร เรื่องของพระไม่เกี่ยว นี่เป็นงานของพระ เรียกว่าพูดชอบอย่างนี้

        สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ ส่วนภายนอกก็ได้แก่ ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ ไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกำลังปลีแข้งของตนมาเลี้ยงชีพ นี่คืองานอันชอบของพระส่วนร่างกาย ทีนี้ส่วนจิตใจ อย่านำอารมณ์ที่เป็นภัยต่อจิตใจเข้ามาจะเป็นพิษต่อใจ ให้นำธรรมคือสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็น มีความสงบ มีความใสสว่างกระจ่างแจ้ง ด้วยอำนาจแห่งธรรมคือสติปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลังหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ นี่เรียกว่าเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบภายใน แยกออกอย่างนั้นซิ

        การปฏิบัติต้องมีแยกมีแยะ เราจะไปหน้าเดียวไม่ได้ มีดเล่มหนึ่งมีทั้งสันทั้งคมทั้งข้างทั้งปลายทั้งด้ามใช้ได้ทั้งนั้นผู้ฉลาด สติปัญญาพลิกแพลงได้ทุกแง่ทุกมุมที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนในทางความเพียร เอาแง่ไหนพลิกไปซิ อย่างสัมมาอาชีวะตะกี้นี้ เลี้ยงชีพชอบมีแต่ว่าไปบิณฑบาตมากิน เลี้ยงชีพชอบ นี่จิตมันแสวงหาอารมณ์อยู่ตลอดเวลา กวฬิงการาหาร ไปบิณฑบาตมาฉัน มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ความคิดความปรุงต่าง ๆ ระวังความคิดที่เป็นภัยจะเข้ามาทำลายจิตใจ ให้เป็นความคิดเป็นธรรมที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็นยิ้มแย้มแจ่มใส

        สัมมาวายามะ เพียรชอบ เพียรในที่ใด ก็บอกแล้วตะกี้นี้ เอาที่ตรงตัวเลย ก็เพียรในสติปัฏฐาน ๔ นี่ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็อยู่กับเรา หรือเพียรละอกุศลอะไร ๆ ท่านก็ว่าแล้ว

        สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ ชอบคือตั้งไว้กับตัว จนกลายเป็นสัมปชัญญะความรู้ตัวขึ้นมา สติเมื่อมีความสืบต่อกันอยู่โดยสม่ำเสมอก็กลายเป็นสัมปชัญญะขึ้นมาได้ ความระลึกแล้วระลึกเล่า ระลึกอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นสติสืบต่อเนื่องกันไปก็เป็นสัมปชัญญะ

        สัมมาสมาธิ จิตรวมสงบ พักสงบได้จริง ๆ จิตที่เคยฟุ้งซ่านเมื่อรวมลงเป็นความสงบอยู่ภายในตัวแล้วเรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิที่ออกรู้นั้นรู้นี้ไปแดนฟ้าแดนสวรรค์นรกอเวจีที่ไหนนั้นไม่ได้ชอบ มันต้องมีมิจฉาสมาธิท่านถึงได้บอกว่าสัมมาสมาธิ มันเป็นคู่กัน นี่ละมรรค ๘ ท่านสอนไว้อย่างนี้ สอนลงที่ใจเรานี้ไม่สอนที่ไหน

        พากันตั้งใจปฏิบัติ เอาให้มันจริงมันจังซิ ธรรมเป็นของจริงทำไมเรามาทำเล่นได้ นับเอาวันเอาคืนเอาปีเอาเดือนมาเป็นมรรคผลนิพพานไม่ได้ โลกนี้มีมืดกับแจ้งมาตลอดกาล ถ้าเป็นมรรคผลนิพพานด้วยกาลด้วยสถานที่แล้ว โลกนี้จะพ้นไปหมดนะแต่ไม่เป็นเช่นนั้น อยู่กับความพากเพียร อยู่กับงานของเราต่างหาก ไม่ได้อยู่กับปีกับเดือนกับวันกับคืนอะไร พอเราจะไปนับเข้ามาบวกเป็นมรรคผลนิพพาน เราบวชมาเท่านั้นปีเท่านี้ปี เราเดินจงกรมได้เท่านั้นนาทีได้เท่านี้ชั่วโมงแต่ผลไม่ปรากฏ ทำไมจึงไม่ปรากฏ สิ่งที่จะให้ไม่ปรากฏก็คือสติเผลอ ถ้าสติอยู่ดีๆ อยู่แล้วนั้นละปรากฏ ปรากฏยังไง ปรากฏไม่เผลอความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ถึงจิตจะไม่สงบก็ไม่วอกแวกคลอนแคลนไปไหน เป็นความรู้สึกตัวอยู่ภายในตัว นี้ก็เป็นผลอันหนึ่ง เป็นภาคพื้นที่จะให้เป็นผลอันใหญ่โตขึ้นมา ต้องเป็นมาจากนี้ก่อน เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้รักษาสติให้ดี รักษาใจด้วยสติให้ดี

        ปัญญาก็ให้พิจารณา ท่านว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอยู่ที่ไหน เต็มอยู่ในกายและใจของเรานี้เพื่อจะเปิดทางที่คำว่า อตฺตา มันปิดตาของเราไว้จนมิดมืดบอดไปหมด อะไร ๆ ก็ว่าเป็นตน อะไร ๆ ก็ว่าเป็นเราเป็นของเราไปหมด มันปิดตาเสียตะวันร้อยดวงก็ไม่เห็น เพราะถูกคำว่า อตฺตา ความสำคัญว่าตนมาปิดบังเสียหมด ท่านจึงแยกออกด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ให้เห็นชัด พิจารณาอันนี้ไม่เที่ยง อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นอนัตตา ถือเป็นตัวเป็นตนได้ที่ไหน แยกออกท่านบอกอย่างนั้น เพื่อจะได้เบิกทางให้จิตใจได้รู้ได้เห็นเข้าใจในธรรมทั้งหลาย ใจก็สบาย สัมมาสมาธิดังที่กล่าวมานี้

        ปัญญาเบื้องต้นก็ล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา แต่เมื่อฝึกหัดก็เร็วเข้า ๆ ติดต่อสืบเนื่องกันไปโดยลำดับจนกลายเป็นอัตโนมัติไปได้ ถ้าลงสติปัญญาเป็นอัตโนมัติแล้วกิเลสจะหลบซ่อนอยู่ไหนก็เถอะ ไม่พ้นวิสัยของสติปัญญาไปได้เลย ละเอียดแค่ไหนก็ตามกันทันได้หมด นั่นละเราจะได้รู้เรื่องของจิตรู้เรื่องของธาตุของขันธ์ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างชัดแจ้ง หรือหายสงสัยในเวลาที่ปัญญาออกเดินนั่นแหละ ขั้นสมาธิก็พอทราบได้ว่าความสงบ นี้เป็นจุดแห่งความสงบคือจิต จิตสงบ อันนี้เป็นส่วนร่างกายก็พอทราบแต่ไม่ชัด หากพอจับเงื่อนได้ แต่พอถึงขั้นปัญญาแยกแยะออกทุกแง่ทุกมุมเห็นประจักษ์แล้วหายสงสัยไปโดยลำดับ

        รูปก็สักแต่ว่ารูป เวลาพิจารณาเข้าจริง ๆ รูปก็หมายถึงกายของเราทั้งท่อนนี้ละ ทั้งก้อน-ก้อนร่างกายนี้ ดูแล้วก็สักแต่ว่าเท่านั้น

        เวทนาเกิดขึ้น สุขเกิดขึ้นก็ดับไป ทุกข์เกิดขึ้นดับไป เฉย ๆ เกิดขึ้นดับไป ทั้งทางส่วนร่างกายและจิตใจ เพราะเวทนาทั้งสามเกิดได้ทั้งร่างกายและจิตใจ มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับของมันเท่านั้น แล้วจะถือว่าเป็นของเราได้ยังไง

        สัญญา ความจำ ไปเอาความจำมาเป็นตัวเป็นตนที่ไหนได้ จำแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็จำ จำแล้วก็ลืมอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งป่านนี้ต้องเดินแบบนี้ แบบจำแล้วลืม ลืมแล้วจำกันอยู่อย่างนี้

        สังขาร ความคิดความปรุง อยู่เฉย ๆ ได้เมื่อไรใจ เรากำหนดดูด้วยความมีสติซิ มันจะผลักดันออกมาให้เราคิด มีลักษณะอะไรแปลก ๆ ให้เราคิด เพราะตอนนั้นถูกปิดไว้มันออกมาไม่ได้ ปิดไว้ด้วยสติ มันจะเป็นลักษณะผลักดันออกมาให้เรารู้ พอมันแย็บสติก็ทันแล้วไม่ให้มันปรุง ความปรุงนี่แหละเป็นตัวก่อเหตุอันสำคัญ สังขาร ๆ ก็ทราบแล้วว่าคือความปรุงไม่ใช่จิต

        วิญญาณ ก็คือความรับทราบในเวลาสิ่งภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับอายตนะภายใน เช่น รูปมาเกี่ยวข้องกับตา เสียงเกี่ยวข้องกับหู มันก็มีความรู้ในขณะที่สิ่งนั้นมาสัมผัส และดับไปในขณะที่สิ่งสัมผัสนั้นผ่านไป ความรู้อันนี้ปรากฏตัวขึ้นมาในขณะที่สัมผัสเท่านั้นเกิดดับ ๆ เช่นเดียวกัน ท่านจึงเรียกว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จิตจริง ๆ ไม่ดับ รู้อยู่ตามธรรมชาติของตน มีอะไรมาสัมผัสก็รู้อยู่อย่างนั้น นี่คือจิต

        แต่จิตเมื่อยังมีอะไรแทรกอยู่นั้นก็ยังเป็นไตรลักษณ์อยู่เหมือนกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไตรลักษณ์แล้ว ใจก็ยังต้องเป็นไตรลักษณ์เพราะมีส่วนสมมุติอยู่ภายในคือกิเลสอันละเอียดแทรกอยู่ภายในจิตใจ ท่านจึงต้องสอนให้พิจารณาจนกระทั่งถึงใจ เพียงในขั้นนี้เราก็ทราบชัดแล้วว่าขันธ์ทั้งห้าเป็นอันหนึ่งต่างหากจากใจ รู้ได้อย่างชัดๆ มันถึงขั้น ๙๙% ความเข้าใจเรื่องธาตุเรื่องขันธ์กับใจว่าต่างกันอย่างไรบ้าง พอแยกแยะอวิชชาซึ่งมันกลมกลืนกันกับใจออกได้แล้วด้วยปัญญาอัตโนมัติ ทีนี้ก็กระจ่างเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ หมด นี่คือกองสมมุติรู้แล้ว

        กองสมมุติก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้แลคือกองสมมุติ จิตที่หลุดพ้นแล้วจากความสมมุติ จากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์และในสิ่งทั้งปวงนี้คือวิมุตติ นั่นที่นี่ อ๋อ ความหลุดพ้นหลุดที่ตรงนี้เองไม่ได้หลุดที่ไหน หลุดที่มันผูกพันกันอยู่นี้เอง แก้ความผูกพันออกได้แล้วก็หมดเป็นอิสระภายในจิตใจ นี่ละร้อยเปอร์เซ็นต์ที่นี่ เอ้า ร่างกายจะเจ็บจะปวดจะไข้จะเป็นอะไร รู้กันอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน แต่ไม่ทำจิตใจให้กระเพื่อมขุ่นมัวเพราะทุกขเวทนามากน้อยที่เกิดขึ้นภายในขันธ์ เนื่องจากจิตนั้นหมดแล้วซึ่งเวทนาทั้งหลาย

        บรรดาพระขีณาสพเมื่อบรรลุถึงธรรมขั้นสูงสุดแล้วไม่มีเวทนาทางใจ เอ้า ใครจะว่ามีก็ว่าซิ เวทนาทางใจมีมายังไง ใจนั้นเป็นวิมุตติแล้ว สมมุติคือสุข ทุกข์ เฉย ๆ จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ยังไง ปรมํ สุขํ นั้นหมายถึงสุขในหลักธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ต่างหาก ไม่ได้เป็นสุขเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเปกขาเวทนานี้มีอยู่ภายในกายเท่านั้น เช่นอยู่เฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ท่านเรียกว่าอุเปกขาเวทนา มีความทุกข์กายก็เรียกว่าทุกขเวทนา มีความสุขกายก็เรียกว่าสุขเวทนา มีเท่านี้ เวทนาทั้งสามอยู่กับธาตุนี่เท่านั้น อยู่กับรูปกาย ไม่มีทางที่จะเข้าไปแทรกใจได้

        เอ้า การเจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์ทรมานมากเพียงไรก็ทราบได้อย่างชัดเจน ว่าร่างกายนี้เพียบเต็มที่ แต่ไม่มีคำว่าจิตนี้เพียบเต็มที่ เพราะจิตได้พ้นแล้วจากความกดถ่วง ความเกี่ยวข้องในสมมุติคือส่วนร่างกาย เป็นแต่เพียงว่ารับผิดชอบกันอยู่เท่านั้นเอง โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นเพราะรู้ตามความจริง รับผิดชอบก็รับผิดชอบตามความจริงไปธรรมดา ไม่ได้รับผิดชอบด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุนั้นพระขีณาสพท่านจึงไม่มีเวทนาทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องเลย นับแต่วันตรัสรู้และบรรลุธรรมถึงที่สุดแล้ว

        ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเสด็จจะไปปรินิพพานที่กุสินารา ทรงรับสั่งพระอานนท์ อานนท์ปูลาดสังฆาฯตรงนี้หน่อยเราตถาคตเหนื่อย เราจะพัก คำว่าตถาคตเหนื่อยนี่หมายถึงพระสรีระต่างหาก ไม่ได้หมายถึงพระจิตของพระพุทธเจ้าทรงเหนื่อย นี่จึงมีข้อที่จะแทรกอีกเยอะ ทำให้คนเข้าใจผิดอีกเยอะ ว่าพระพุทธเจ้าก็ยังต้องยอมรับเสวยทุกขเวทนา ถ้าไม่เสวยทำไมพระองค์จึงต้องว่า อานนท์ลาดสังฆาฏิ เราจะพักผ่อนร่างกาย เราเพลียมาก ไปตักน้ำมาให้เราดื่ม นั่นหมายถึงว่าขันธ์เพลียมาก ขันธ์ต้องการน้ำ ตถาคตอันแท้จริงที่บริสุทธิ์เป็นผู้พอแล้วโดยสมบูรณ์ไม่มีความต้องการกับสิ่งใด ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยทราบอยู่เท่านั้น ไม่มีทุกขเวทนาตัวใดที่จะเข้าไปเหยียบย่ำทำลายพระจิตของพระองค์ได้ แล้วจะว่าพระองค์เสวยทุกขเวทนาได้ยังไง

        หากว่าพระพุทธเจ้าและสาวกยังมาเสวยทุกขเวทนาในส่วนธาตุขันธ์อยู่แล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลกกับพวกเรา วิเศษที่ตรงไหน ที่วิเศษก็คืออยู่เหนือขันธ์ แม้อยู่ในขันธ์ก็เหนือขันธ์ไม่ติด ไม่ติดโดยหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ไม่ติดด้วยการบังคับ เมื่อถึงขั้นที่สมบูรณ์แล้วเป็นตามหลักธรรมชาติของจิตอย่างนั้น ให้เราเข้าใจอย่างนี้ พระขีณาสพไม่มีองค์ใด ขึ้นชื่อว่าพระขีณาสพแล้วจะเป็นผู้มารับเสวยเวทนาซึ่งเป็นเรื่องโลก ๆ อันนี้

        กายเพลียก็บอกว่าเพลีย เดินไม่ได้ก็บอกว่าไปไม่ได้ เพราะหมดกำลังไปไม่ได้ มันเรื่องของขันธ์ เพียบก็บอกว่าเพียบ ทุกข์ก็บอกว่าทุกข์ เพลียก็บอกว่าเพลีย หิวก็บอกว่าหิว กระหายก็บอกว่ากระหาย เป็นเรื่องของขันธ์ทั้งนั้น เพราะธรรมชาติอันนี้มีความบกพร่องตลอดเวลา ต้องการความเยียวยาความส่งเสริมบำรุง ส่วนจิตที่ถึงความพอแล้วไม่มีเรื่องเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าบริสุทธิ์ได้ยังไง เอานั้นไปเพิ่มก็ได้ ตัดอันนี้ออกก็ได้ ก็เป็นเรื่องของโลกธรรมดา ๆ คือเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั่นเอง ไม่เรียกว่าพอ ไม่เรียกว่าคงเส้นคงวา จิตที่บริสุทธิ์ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วก็ทราบชัดว่าไม่มีเงื่อนสืบต่อกับสิ่งใดบรรดาสมมุติ ไม่ว่าจะละเอียดแค่ไหนไม่มีอะไรที่เข้าไปสืบต่อกับจิตได้เลย ขาดวรรคขาดตอน เรียกว่าตัดสะพานกันระหว่างสมมุติกับวิมุตติ ตั้งแต่ขณะที่ตรัสรู้หรือบรรลุธรรมแล้วโดยเด็ดขาด นับแต่ขณะนั้นไปเป็นอันว่าขาดกันแล้วกับสมมุติ สักแต่ว่ารับทราบกันอยู่หรือรับผิดชอบกันเท่านั้น ก็หยุดเพียงเท่านั้น

        นี่เรื่องของพระพุทธเจ้าเรื่องของสาวกท่าน ทำยังไงท่านถึงเป็นอย่างนั้น หรืออยู่ๆ ท่านก็ได้เอาเฉยๆ ไม่ต้องทำความพากความเพียร หรือขี้เกียจท่านก็ได้ อ่อนแอก็ได้ เซอะๆ ซะๆ โง่ๆ เขลาๆ ก็ได้เหรอ ถ้าได้จะมาสอนพวกเราให้ฉลาดยังไง จะสอนคนให้มีความขยันหมั่นเพียรได้ยังไง จะสอนคนให้มีความเข้มแข็งยังไง ก็ต้องบอกว่าอ่อนแอก็ได้ เอ้า อยากนอนทั้งวันก็นอน เอาจนหมอนแตกก็ได้ ก็ได้มรรคผลนิพพาน หากเป็นอย่างนั้นจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ต้องสอนอย่างนั้น ไม่ได้สอนให้ฝึกฝนทรมานตน ให้อดให้ทน สอนอย่างนั้น นี่กิเลสมันกลัวถ้าแบบนี้

        คนที่มีความอุตส่าห์พยายาม คนมีความอดความทน คนมีสติปัญญา กิเลสกลัว กิเลสกลัวแต่ธรรมเท่านั้น ไม่ได้กลัวอะไรนอกเหนือไปจากธรรม นอกนั้นกิเลสเหยียบแหลกหมด ถ้าเป็นธรรมกิเลสกลัว เฉพาะอย่างยิ่งสติปัญญากิเลสกลัวมาก มีความพากเพียรเป็นเครื่องหนุนแล้ว นั่นละกิเลสกลัว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นสำคัญ กับสัมมาสติ สำคัญมากทีเดียวในการแก้กิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภท ไม่นอกเหนือไปจากเครื่องมือเหล่านี้เลย นี่ละจึงเรียกว่ามัชฌิมา ทันสมัย กิเลสจะเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลก็ตาม เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันนี้ก็ตามเป็นกิเลสประเภทเดียวกัน มัชฌิมาปฏิปทามีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สามารถที่จะตัดขาดในกิเลสทุกประเภทได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล จึงเรียกว่ามัชฌิมา เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาในการแก้หรือถอดถอนกิเลส แล้วเรียวแหลมไปไหนศาสนา ถ้าไม่เรียวแหลมอยู่กับบุคคลผู้ขี้เกียจผู้อ่อนแอเท่านั้น

        ความขี้เกียจความอ่อนแออย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องอื่นเรื่องใด เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของธรรมแล้วต้องฝึกต้องเข้มแข็ง ต้องอุตส่าห์ ต้องพยายาม ต้องฝืนกัน เรียกว่าต่อสู้กัน การคล้อยตามการยอมตามกิเลสนี้ไม่ใช่เป็นการต่อสู้กิเลส เป็นการยอมจำนนมัน การต่อสู้ต้องฝืนกันซิ เอ้า มันขี้เกียจเราก็พยายามขยันว่าไง ทุกข์ก็ทนเอาบ้างซิ การทำงานใครจะไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสลบถึง ๓ หนในพระประวัติเป็นอย่างนั้น ทุกข์หรือไม่ทุกข์ขนาดสลบถึง ๓ หน

        บางองค์ฝ่าเท้าแตก บางองค์จักษุแตก ท่านเข้มงวดกวดขันในความพากความเพียรดูซิ แล้วกิเลสก็แตกไปด้วยอีกเหมือนกันนะ พระองค์สลบไสลถึง ๓ หนไม่ตาย แต่กิเลสตาย เพราะความเพียรไม่ถอย พระจักขุบาลจักษุแตกเพราะไม่นอนถึง ๓ เดือน เร่งความพากความเพียรอย่างเต็มที่ไม่นอน ๓ เดือน พอตาแตกกิเลสก็แตก พระโสณะท่านประกอบความเพียรฝ่าเท้าแตก กิเลสก็แตกตายไปเลย ฝ่าเท้าเพียงแตกเท่านั้นแต่กิเลสตาย ความเพียรของท่านเป็นอย่างนั้นดูซิ

        พวกเรามีใครบ้างฝ่าเท้าแตก มีไหม นอกจากหัวแตก หัวแตกเพราะถูกกิเลสตีเอา ๆ อย่างนั้นมีเยอะ มีแต่พระหัวแตกทั้งนั้นเพราะถูกค้อนกิเลส ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอ ความไม่คิดไม่อ่าน เป็นเรื่องความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ กิเลสตีเอา ๆ มีแต่พระหัวแตกกิเลสไม่ได้แตก เอาซิเอาให้กิเลสแตกบ้างซิถอยไปไหน เราเป็นคนทั้งคนทำไมจะทำไม่ได้ ศาสนธรรมเป็นธรรมที่เหมาะสมกับเราทุกคน สอนเพื่อมรรคเพื่อผลทำไมเราจะได้แต่โมฆบุรุษโมฆสตรีไม่เกิดประโยชน์ เกิดมาหนักโลกเฉย ๆ หนักตัวเรานั่นแหละ ถ้ากิเลสมีมากๆ มันหนัก มันอ่อนไปหมดร่างกายก็ดี กระดูกแข็งๆ ก็อ่อนไปหมดถ้ากิเลสมาก ๆ อ่อนเปียกไปหมดไม่มีความเข้มแข็งขึงขังตึงตังอะไรเลย

        เอาซิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พระองค์ทรงดำเนินยังไง ถือพระองค์เป็นหลักยึดฝากเป็นฝากตายแล้วยังต้องถือปฏิปทาอีกด้วย เครื่องดำเนิน-ดำเนินยังไง สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ท่านดำเนินยังไงพระสงฆ์สาวกท่าน ปฏิบัติตัวอย่างไรจึงปรากฏธรรมขึ้นมาให้เรา ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ได้ ธรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความขี้เกียจขี้คร้านความอ่อนแอ เกิดขึ้นเพราะความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ เกิดขึ้นจากความเป็นนักรบ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความแพ้กิเลส ใครจะทรงมรรคทรงผลถ้าเราไม่ทรง หรือจะฟังแต่ข่าวมรรคผลนิพพานของท่านเหรอ

 

*************

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก