มานะ ๙ อวิชชาครอบจิต
วันที่ 10 สิงหาคม 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 44.35 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

มานะ ๙ อวิชชาครอบจิต

จิตบริสุทธิ์ถ้าหากว่าเราจะเทียบก็เป็นคนละโลกอยู่แล้ว แม้แต่อยู่ในขันธ์นี้ขันธ์ก็เป็นโลกอันหนึ่ง อันนั้นถ้าจะเทียบ สมมุติว่านั้นก็เป็นอันหนึ่งเสีย ถ้าจะว่าโลกผมมันขัดต่อธรรมชาตินี้มันพูดไม่ออก ก็บอกได้แต่ว่ารู้เท่านั้น รู้ก็รู้อยู่เสีย โลกก็โลกเสีย มันชัดมันเป็นอย่างนั้น มันไม่มีอะไรสงสัยแล้วนี่ อย่างที่เทศน์ตะกี้นี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตมาอาศัยอันนี้อยู่เฉย ๆ เมื่อได้อาศัยแล้วจำเป็นจำใจก็อาศัยกันไปอย่างนั้นแหละ ทั้ง ๆ ที่ไม่หวังเอาอะไรจากกันแหละ ก็อาศัยกันไปพอถึงวัน

จึงเห็นได้ชัดว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา นี้จอมยุ่ง อย่างไรจะต้องรับผิดชอบมัน พายืนพาเดินพานั่งพานอนพาขับพาถ่าย กระดิกพลิกแพลงไปอะไรล้วนแล้วแต่ทำเพื่อขันธ์ทั้งนั้นไม่ได้ทำเพื่อจิต เพราะจิตไม่มีอะไรที่จะทำแล้ว ถ้าหากเราจะพูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ว่า พอตัวแล้วที่จะทำอะไรให้เสริมอีกไม่ได้ มีเท่านั้น ถ้ายังมีชีวิตอยู่ครองขันธ์อยู่ก็พอตัวไปแล้ว จะเอาอะไรมาพูดอีก จะบกพร่องที่ไหนเมื่อปัจจุบันสมบูรณ์เต็มที่แล้ว อนาคต อดีตไปจากหลักปัจจุบันนี้ทั้งนั้นแหละ ให้หมู่เพื่อนประพฤติปฏิบัติ

เราอย่าเห็นอันใดเป็นของวิเศษศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าธรรม ใจถึงจะเน้นหนักลงในธรรม ถ้าเห็นนั้นจะดีเห็นนี้จะดีมันเป็นเครื่องหลอกนะ ทำจิตใจให้อ่อนแอ ความเพียรก็ด้อย ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากความเพียรย่อมมีน้อย ๆ ทุ่มมันลงไป ๆ อย่าหวังพึ่งอะไรนอกจากธรรมอย่างเดียวเท่านั้น นั่นแหละเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราอยากได้ยินได้ฟังหมู่เพื่อนภาวนาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เงียบ เหมือนเขาเรียกว่าเหมือนแกวตายญวนตาย เป็นยังไงญวนตาย ใครจะไปร้องไห้เก่งยิ่งกว่าญวน ร้องไห้ยิ่งกว่าเด็ก เงียบเหมือนแกวตายญวนตายนี้ไม่เห็นเงียบนี่ญวนตาย ญวนตายไม่มีพระไป กุสลามาติกา มันจึงเงียบ

จิตเป็นของละเอียดมาก แม้จะมีสิ่งควบคุมมีสิ่งบังคับ กิเลสตัณหาครอบหัวอยู่ มันยังคล่องแคล่วคล่องตัวอยู่ตลอดเวลา แก้อันนี้ออกไปหมดแล้วอะไรจะคล่องยิ่งกว่าจิตไม่มี ทำลงไปเวลาเสร็จกิจมันเสร็จได้ งานนี้สำเร็จเสร็จสิ้นไปได้ แล้วเสวยผลกำไรไปเรื่อย ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ไม่มีภพไม่มีชาติใดเข้ามาเกี่ยวข้องมายุ่งเหยิงวุ่นวายเหมือนแต่ก่อน จะว่าไปนิพพานไม่ไปนิพพานไม่มีปัญหาหรอก ขอให้ใจดวงนี้บริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้นพอ พอทุกสิ่งทุกอย่าง จะไปนิพพานหรือไม่ไปนิพพาน นิพพานมีผู้รู้อยู่ในตัวรู้อยู่นั้นหรือไม่ ไม่มีปัญหาทั้งนั้นแหละ

อันนี้มันพูดด้วยความด้นเดาด้วยความสงสัย ถ้ารู้จริง ๆ แล้วก็ดังที่เขียนไว้นั้น บรรดาท่านผู้สิ้นจากกิเลสแล้วท่านรู้พระนิพพานอย่างเต็มใจ แต่ท่านขี้เกียจตั้งอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็อย่างนั้นแหละ ตั้งเท่าไรก็ไม่สิ้นสุดโลกสมมุติ....ชื่อ เหมือนกับรับประทานอิ่มเต็มที่ไปตั้งชื่อมันอะไรอีก อิ่มก็รู้อยู่แล้ว อิ่มเต็มที่แล้วก็เท่านั้นแหละไปตั้งให้เสียเวล่ำเวลาทำไม ตั้งชื่ออิ่มมีลักษณะอย่างนั้นอิ่มมีลักษณะอย่างนี้ มีลักษณะกว้างแคบ มันก็กว้างศอกยาววาหนาคืบนี้ ในวงแห่งความอิ่มอยู่ตรงนี้ อิ่มทั่วสรรพางค์ร่างกาย แน่ะ จิตก็อิ่มทั่วจิต บริสุทธิ์ทั่วถึงในจิตดวงนั้นเท่านั้นเอง

ให้พากันเข้มแข็งอย่าอ่อนแอ ต่อไปนี้วงกรรมฐานจะหมดแล้วนะ ค่อยกุดค่อยด้วนเข้ามา กุดด้วนเข้ามา เพราะจิตใจผู้ปฏิบัติเอนเอียงไปสู่โลก เลยเห็นโลกกลายเป็นของดียิ่งกว่าธรรม แทนที่จะมาปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม เลยกลายเป็นปฏิบัติเพื่อหาเงินหาทอง หาความเคารพนับถือไปเสีย หาความขลังไปเสีย ซึ่งนอกรีตนอกรอยของหลักธรรมหลักวินัยที่พระองค์ทรงสอนไว้ มันก็เป็นอย่างนั้นซี ผู้นั้นขลังไปทางนั้น ผู้นี้ขลังไปทางนี้ แต่ในจิตมันไม่ได้ขลังนี่

ทำจิตให้ขลังเถอะอยู่ไหนก็สบาย คนนับถือไม่นับถือก็ไม่เอื้อม ไม่หิวไม่โหย เขานับถือก็เป็นหัวใจของเขาที่เลื่อมใส เป็นสิริมงคลแก่หัวใจเขา ว่าตำหนิติเตียนก็เป็นอัปมงคลแก่หัวใจเขาต่างหากไม่ได้เป็นที่เรา เพราะเหตุเกิดขึ้นที่นั่นไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่ ถ้าเราไม่ไปปรุงเรื่องที่เขามาว่าให้เราอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว เราก็ปรุงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เป็นเหตุขึ้นจากเรา หากเรารับทราบก็สักแต่ว่ารับทราบ รับทราบแล้วผ่านไป ๆ ก็เท่านั้น เจ้าของไม่นับถือเจ้าของจะให้คนอื่นมานับถือ เจ้าของไม่ยกย่องเจ้าของจะให้คนอื่นมายกย่องมีได้อย่างไร เจ้าของไม่ดีจะให้คนอื่นเขามาชมว่าเจ้าของดีเป็นไปได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าท่านสอนลงที่จุดนี้ ทำเจ้าของให้ดี เชิดชูเจ้าของด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ความพากความเพียร หนุนเจ้าของให้สูงขึ้นเป็นลำดับลำดาจนถึงขั้นวิเศษด้วยความเพียรนี่ ท่านไม่ได้เอาความวิเศษวิโสความศักดิ์สิทธิ์ความขลังมาจากภายนอกภายนาที่ไหนไม่เห็นมี ตามหลักธรรมบวชแล้วก็ไล่เข้าป่า รุกฺขมูลเสนาสนํ แน่ะฟังซิ เธอทั้งหลายบรรพชาอุปสมบทแล้วให้อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่าชายเขา อันเป็นที่สงบสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม แน่ะ ไม่ได้บอกให้ไปยุ่งไปเหยิงวุ่นวายหาขลังอย่างนั้นหาขลังอย่างนี้ ท่านไม่เห็นว่า หาเกาในที่ไม่คันมันก็ถลอกปอกเปิกไปหมด ดีไม่ดีก็เป็นหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนกับพระขี้เรื้อนผิดกันยังไง ขี้เรื้อนมาก ๆ ก็เป็นหมาแก่นล่อน พระแก่นล่อนไปน่ะซี ถลอกปอกเปิก สิ่งสำคัญไม่สนใจ ไปสนใจนอก ๆ นา ๆ โน้น ผิดจากพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า ผิดจากหลักธรรมหลักวินัย แล้วจะหามรรคผลนิพพานมาจากที่ไหน

หาอะไรก็ได้อย่างนั้นซี โลกมีอยู่ หากิเลสก็ได้กิเลส บวชเข้ามาเพื่อจะถอดถอนกิเลสกลับมาสั่งสมกิเลส แล้วยังหยิ่งในตัวอยู่ว่ามาชำระกิเลส หยิ่งก็หยิ่งไปแบบอึ่งอ่างนั่นแหละ พองอยู่เฉย ๆ ตัวเท่าอึ่งอ่างพองแข่งวัวทั้งตัวมันได้เหรอ เอาตรงนี้ซี ตรงมันจริง นี่เอาตัวนี้ เคารพนับถือตัวด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ด้วยความมีสติสตัง เร่งลงตรงนี้สร้างตรงนี้สร้างความศักดิ์สิทธิ์วิเศษ อย่าไปสร้างที่ไหนผิดหลักธรรมหลักวินัย จะไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์วิเศษอันแท้จริงประจักษ์ใจถ้าไม่สร้างที่ตรงนี้ ถ้าสร้างที่ตรงนี้ ขุดค้นลงตรงนี้ ตามภัยที่มีอยู่ภายในจิตใจนี้แล้ว ภัยก็หมดไป ๆ กิเลสตัวเสนียดจัญไรหมดไป ๆ จิตก็มีความสง่าผ่าเผยขึ้นมา สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา

กิเลสหมดไปแล้วก็สะอาดละที่นี่ แล้วจะหาความวิเศษมาจากไหน อยู่ไหนก็วิเศษอยู่แล้วถ้าจะว่าวิเศษ แต่ท่านก็ไม่เสกสรร ขี้เกียจเสก เพราะธรรมะนี้ไม่ใช่ธรรมะล้นฝั่งพอที่จะอยากพูดนั้นอยากคุยนี้ ให้คนนั้นฟังให้คนนี้ฟัง ให้เขาได้นับถือบ้างอะไรอย่างนั้น อยากอย่างนั้นก็ไม่ใช่ธรรมพอดี ไม่ใช่ธรรมเพียงพอ ถ้าพอแล้วไม่อยาก ควรจะพูดหนักเบามากน้อยก็พูดไปเสีย ไม่ควรพูดก็อยู่ได้อย่างสบาย เรื่องความแพ้ความชนะไม่มีในใจ ใครจะถามปัญหาถามอะไรเป็นการลองเชิงบ้าง ตามโลกอันมีกลมายาเพราะกิเลสบังคับหัวใจให้เป็น เราก็ไม่เป็นด้วย เมื่อเราไม่มีสิ่งที่พาให้เป็นเราไม่เป็น อยากตอบก็ตอบ ไม่อยากตอบก็เฉยเสีย เขาดิ้นของเขาต่างหากเราไม่ได้ดิ้น เรื่องของโลกเอาแน่นอนกับมันได้ที่ตรงไหน ขอแต่ทำใจของเราให้แนบแน่นกับอรรถธรรมเถอะจะเป็นสุข

ส่งเสริมเจ้าของขึ้นซี ยกย่องเจ้าของด้วยข้อปฏิบัติ ส่งเสริมเจ้าของด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เราจะได้เห็นคุณค่าของใจ ไม่มีสิ่งใดแหละในโลกนี้ที่จะมีคุณค่าประเสริฐยิ่งกว่าใจนี้ เรามองหาอะไรไม่เห็นเลยจริง ๆ ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว นั่นแหละความเลิศอยู่ตรงนั้นไม่ได้อยู่ตรงไหน

การประกอบความพากเพียรก็ต้องมีความลำบากลำบนเป็นธรรมดา แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของศาสนานี้ ทรงสลบถึง ๓ หนฟังซิ ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงลำบาก มีแต่พวกเราลำบากก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พอที่จะตำหนิพระองค์ว่าเอารัดเอาเปรียบบรรดาสัตวโลก พระองค์บำเพ็ญครู่เดียวได้สำเร็จ แต่โลกทั้งหลายบำเพ็ญแทบตายก็ไม่ได้เรื่อง แต่นี้พระองค์สลบถึง ๓ หน ทุกข์หรือไม่ทุกข์

สาวกบางองค์ฝ่าเท้าแตก บางองค์ตาแตก อย่างเช่นพระจักขุบาลหรือพระโสณะ พระโสณะเร่งความเพียร ประกอบความเพียรมากจนฝ่าเท้าแตก พระจักขุบาลอดนอน ไม่นอน ๓ เดือนตาแตก พอตาแตกปั๊บกิเลสก็แตกจากใจทันทีพร้อมกัน พอตานอกมืดตาในสว่างจ้าขึ้นมา ตาไหนจะสว่างยิ่งกว่าตาในล่ะ นั่น พระโสณะประกอบความเพียรฝ่าเท้าแตก พอได้พระอินทร์ที่มาแสดงพิณ ๓ สาย ดีดให้ดู หย่อนยานนักดีดก็ไม่มีเสียงดัง เคร่งนักก็ขาด ขึงสายพิณพอดีแล้วก็ดังไพเราะเพราะพริ้ง เป็นเครื่องพร่ำสอนพระโสณะ ท่านก็ยึดนั้นมาเป็นหลักดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา บรรลุธรรม ฝ่าเท้าแตกหลังจากนั้นกิเลสก็แตก พวกเรามีแต่ไม่ได้เรื่อง มีแต่ท้องแตกบ้าง หมอนแตกบ้าง กิเลสแตกไม่มีจะว่าไง ทุกขังอนิจจัง

มีปัญญาใช้ปัญญาซีอย่าอยู่เฉย ๆ หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง สติปัญญาเมื่อเรานำมาคิดมาค้นมาใช้บ่อย ๆ ก็ค่อยเจริญขึ้น ๆ จะค่อยชำนิชำนาญเข้า ต่อไปก็ค่อยหมุนของมัน ๆ หมุนไปเรื่อย ได้เหตุได้ผล เพราะปัญญายิ่งเป็นเครื่องดูดดื่ม เป็นสิ่งที่ชวนให้คิดให้อ่านไตร่ตรอง และฆ่ากิเลสได้เป็นตอน ๆ กิเลสตายจริง ๆ ตายเพราะปัญญา สมาธิเป็นแต่เพียงว่าตะล่อมหัวกิเลสเข้ามารวมกันเท่านั้น บทเวลาจะฆ่าจริง ๆ ต้องอำนาจของปัญญาทั้งนั้น ปัญญาจึงสำคัญ

นี่ไม่เห็นอะไรสำคัญยิ่งกว่าสติกับปัญญา เท่าที่บำเพ็ญมาเต็มสติกำลังความสามารถของเจ้าของ มีสติปัญญาเป็นสำคัญมากทีเดียว เมื่อถึงที่ตีบตันอั้นตู้จริง ๆ ก็มี แต่ปัญญาสามารถเจาะไชไปจนได้ เจาะตรงนั้นเจาะตรงนี้ ไชตรงนั้นไชตรงนี้ ต่อไปก็ทะลุไปได้เลย เอาให้จริงให้จังให้ขยันหมั่นเพียรเป็นแบบฉบับของตัว กิเลสมันกลัวคนขยันหมั่นเพียร คนมีสติ มีปัญญา มีความเพียร กิเลสกลัว อารมณ์นิวรณ์ทั้งหลายก็ไม่เข้ามายุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่เข้ามาก่อกวน เพราะจิตไม่เปิดช่องให้

ความคิดใดที่เป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อสั่งสมอารมณ์ให้ก่อกวนตัวเอง ให้พึงทราบว่าความคิดนั้นเป็นภัย ให้หยุดทันที เหมือนกับเอาไฟมาจี้ตัวเอง จี้ครั้งที่หนึ่งเจ็บขนาดไหน จี้ครั้งที่สองซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็เปื่อยไปพองไปได้ นี่กิเลสจี้เข้าไปเรื่อยก็ยังพอใจกับความจี้ของกิเลส พอใจกับความคิดที่ผิด ความคิดที่เป็นภัยแก่ตัวเอง ก็เหมือนกับจี้ตัวเองด้วยไฟคือกิเลส มันก็เผาเรื่อย ๆ ร้อน แน่ะ สติปัญญาซึ่งเป็นเหมือนกับน้ำดับไฟมีอยู่แล้วไม่นำมาใช้

ฝืนกันซีถึงเรียกว่าต่อสู้กัน ไม่ฝืนไม่เรียกว่าต่อสู้ มันอยากคิดอย่างนี้เราไม่ยอมให้มันคิด มันอยากเท่าไรเราก็สู้มันอย่างหนัก เอาตายก็ตาย เราเคยคิดมาแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรสิ่งเหล่านี้ แล้วยังจะฝืนคิดไปอยู่หรือทั้ง ๆ ที่ทราบแล้วว่าไม่เกิดประโยชน์ นอกจากเป็นโทษโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ฟาดกันลงอย่างหนักจิตมันก็อยู่หมัด ถ้าลงสติปัญญาได้ตั้งท่าต่อสู้ขึ้นมาแล้วมันหมอบ

นี่เคย จึงได้พูดถึงเรื่องว่าปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นขึ้นมาได้เอง จิตมันเป็นอย่างนั้นมันไม่อยากจะลง มันคิดเร่ ๆ ร่อน ๆ ถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องเพลินไป เพราะมันเคยเพลินกับเรื่องของกิเลสมาแล้ว คล้อยตามกิเลส เชื่อกิเลสมานาน มันไม่ยอมเชื่อธรรม บังคับให้เชื่อธรรมด้วยการคิดการค้น เอ้า มันไปคิดเกาะกับเรื่องอะไร ค้นเรื่องนั้นให้เห็นชัดเจนต่อหน้าต่อตา เอ้า จะไปไหนตามมันไป ค้นกัน ๆ สู้กันจนมันต้องเข้ามาหมอบ เวลามันหมอบด้วยปัญญานี้หมอบจริง ๆ สงบราบเลยเชียว เห็นผลแล้ว อ๋อ เวลาจิตมันดื้อนี้ต้องตีต้อนด้วยปัญญา สงบด้วยปัญญานี้อาจหาญมาก ได้พร้อมทั้งเหตุทั้งผล ได้พร้อมทั้งความอัศจรรย์ของจิตที่หมอบเพราะยอมจำนนต่อปัญญา แล้วก็ยังได้หนังสือที่ว่า ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา

ทั้งหลายท่านเขียนว่า สมาธิอบรมปัญญา แต่เราทำไมกลับไปเป็นปัญญาอบรมสมาธิ การปฏิบัติเป็นอย่างนั้นนี่ ปฏิบัติอย่างนั้ฯแล้วมันรู้มันเห็นด้วยเหตุนั้น ๆ จึงเขียนตามสาเหตุที่มันเป็น ออกทีแรกคนก็งงปัญญาอบรมสมาธิ เฉพาะอย่างยิ่งมหาพุทธา เป็นเจ้าคุณวราภรณ์หรืออะไร อยู่ที่วัดกระนวน ท่านเล่าให้ฟังเองว่าไปที่วัดวิเวการาม(วัดเหล่างา)ที่ติดกันกับโรงพยาบาลโรคปอด พระท่านได้มาจากไหนไม่รู้ นี่หนังสือท่านอาจารย์มหาบัวแต่งว่าปัญญาอบรมสมาธิ ไหน ๆ ๆ มหาบัวเก่งกว่าครูเหรอ พระพุทธเจ้าว่าสมาธิอบรมปัญญา แสดงถึงเรื่องสมาธิอบรมปัญญา ทำไมมหาบัวถึงเก่งกว่าครูวะ ไหน ๆ มาดูน่ะ

เพราะว่ามหาพุทธากับเราสนิทกัน เคยกันมาตั้งแต่อยู่กรุงเทพแล้ว ไหนเอามาดูน่ะทำไมมันเก่งกว่าครูนักมหาบัวนี่ว่ะ พรรษาเท่า ๆ กัน พอมาดู เอา ชอบกล ๆ เลยนั่งอ่านอยู่ขณะเดียวจนจบเลย โอ้โห เข้าที ๆ เข้าทีดี ๆ ท่านว่า ยอมรับ นี่ท่านมาสารภาพตัวเองนะ โห ผมเคยค้านท่านมหานี่นะ พระเอามา ไหน ๆ ตกลงผมเลยอ่านก่อนเพื่อนว่างั้น ไหน ๆ มหาบัวมันจะเก่งกว่าครูได้เหรอ พระพุทธเจ้าของเราเป็นครู ทำไมมหาบัวถึงเก่งกว่าครูวะ ไหนมาดู ๆ เอามา พออ่าน เอ๊ะ ๆ ชอบกล ๆ ฟาดตลอด อ้อ เข้าทียอมรับ

คือในหลักอันนั้นท่านพูดถึงภาคทั่ว ๆ ไป แต่รายบุคคลที่จะเกิดขึ้นมีขึ้น ท่านพูดเช่น สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส,สมาธิปริภาวิตา ปญฺญามหปฺผลา โหติ มหานิสํสา,ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. สมาธิเมื่อศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ปัญญาเมื่อสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก จิตเมื่อปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่แปลตามศัพท์ ท่านพูดเป็นลำดับ ๆ ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญาไปเรื่อย จนถึงปัญญาอบรมจิตให้หลุดพ้น

เมื่อเวลาเป็นวิสามัญที่นี่มันพลิกกัน ปัญญาอบรมสมาธิ ในขณะที่เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิเราใช้ ไม่ได้หมายถึงว่าปัญญาจะอบรมสมาธิตลอดไป เป็นบางกาล เวลาจิตคึกคะนองดื้อด้านนั้นแหละเอานั้นมาใช้ได้ผลดี แต่ต้องเอาอย่างจริงจังนะ จ้อกันเลยเหมือนนักมวยเผลอไม่ได้จะตกเวที ถ้าอย่างนั้นแล้วกิเลสตกเวที จิตหมอบเลย เป็นบางกาลบางเวลาในคนคนเดียวนั่นแหละ ถึงกาลที่ควรจะนำปัญญามาตีต้อนจิตใจที่ฟุ้งซ่านให้ยอมจำนนแล้วเข้าสู่ความสงบได้เราก็ทำ ควรจะอบรมจิตให้เป็นสมาธิสงบลงได้ตามแบบของท่านที่พูดไว้เป็นกลาง ๆ ก็ทำ เราทำเพื่อหาเหตุหาผลทำเพื่อประโยชน์ อันใดจะได้ผลได้ประโยชน์ด้วยวิธีการใด เรานำวิธีการนั้นมาใช้ในเวลานั้น นั่นจึงเรียกว่าเหมาะสม

พูดถึงเรื่องสมาธินี้เราชำนาญจริง ๆ เรากล้าพูดเราชำนาญจริง ๆ สมาธิ ชำนาญเสียจนติด ออกทางด้านปัญญานี้ก็ไปอีก เวลาหมุนทางด้านปัญญานี้ก็เป็นธรรมจักรไปเลยเชียว การพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับเรื่องรูปขันธ์นี้รุนแรงผาดโผนมาก เหมือนกับน้ำโจนลงจากภูเขา เสียงลั่น ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ เพราะเรื่องธาตุขันธ์เป็นเรื่องหยาบ รูปขันธ์มันหยาบ ปัญญาแก้เรื่องรูปขันธ์ก็รุนแรงผาดโผนมากเชียว

พอไปถึงนามขันธ์ได้แก่พวก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้วก็ค่อยเบาลง ๆ เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมแต่ไม่หยุดนะ เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมที่ไหลรินทั้งแล้งทั้งฝน ไม่มากแต่ไม่ขาดวรรคขาดตอน ปัญญาขั้นนี้จะละเอียดลออ จิตละเอียดกิเลสละเอียด ปัญญาก็ต้องละเอียด เหมือนกับไม้ที่เข้าสู่ความละเอียดแล้วต้องอาศัยกบ เราจะเอาขวานมาถากมาฟันผัวะ ๆ ไม่ได้ เวลามันหยาบจะเอากบไปไสไม้ทั้งต้นไม่ได้ ต้องเอาขวานถาก จนถึงขั้นที่ควรจะไสกบถึงไส

การพิจารณารูปคือร่างกายนี้จนกว่าที่จะแยกแยะกันออกได้เห็นประจักษ์นี้ ต้องใช้ปัญญาแบบขวานถากไม้นั่นเอง เอากันอย่างหนัก อย่างผาดโผนโลดเต้นจริง ๆ พอเข้าขั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีแต่นามธรรมล้วน ๆ แล้ว มันก็ละเอียดเหมือนกับเอากบไสไม้แต่ไม่ได้ไสไม้ทั้งต้น เหมือนกับกบไสไม้เป็นแผ่น ๆ ที่ตกออกมาจากเลื่อยจากขวานแล้ว ไหลรินอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ซึ่งมาจากสติปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลาน

ฝึกทีแรกเป็นอย่างนั้นทุกคนนั่นแหละ เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้อิดหนาระอาใจว่าจะเป็นไปไม่ได้ ตำหนิอำนาจวาสนาของเจ้าของ มันจะไม่ไหวละ อำนาจวาสนาน้อย ไม่มีอำนาจวาสนาอะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องของกิเลสกล่อมคนทั้งนั้นเราไม่ทราบ น้อยก็ทำให้มันมากซี นั่น ถ้าเป็นนักรบนักต่อสู้เพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อเอาของวิเศษศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสมบัติของตัวเองจริง ๆ เอา อะไรบกพร่อง เวลานี้เรามาซ่อมแซมสิ่งที่บกพร่องเพื่อความสมบูรณ์ วาสนาอยู่ที่ตรงไหน นั่น เวลาอยู่เฉย ๆ แล้วคล้อยตามกิเลสทำไมไม่ว่าวาสนาน้อยล่ะ ฟาดกันลงไป ฟัดกันลงไปก็ได้ความมาเป็นลำดับ ๆ

สติปัญญาที่เราไม่เคยคาดเคยคิดว่าจะเป็นไปได้ เช่น สติปัญญาอัตโนมัติ ถ้าเป็นครั้งพุทธกาลท่านเรียกว่ามหาสติมหาปัญญา คือหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องได้บังคับบัญชานอกจากรั้งเอาไว้เท่านั้นเพราะจะเลยเถิด นี่ท่านพูดอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบน อุทธัจจะ ๆ แต่ก่อนเราไม่เข้าใจสังโยชน์เบื้องบนคืออะไร รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบนเราไม่เข้าใจ รูปราคะ อรูปราคะที่ว่านี่ไม่ได้หมายถึงรูปกายเรานี่นะ เวลาพิจารณาแล้วเป็นภาพอันหนึ่ง คือกายนี้มันปล่อยแล้วแต่อาศัยภาพของกายนี้เข้าไปอยู่ภายในฝึกซ้อมกัน พอตั้งเป็นภาพขึ้นมาพับแล้วดับแล้วไปอยู่ที่จิต ตั้งขึ้นมาพับดับแล้วไปอยู่ที่จิต ก็ทราบชัดว่าจิตนี้เป็นผู้ไปปรุง เป็นผู้ปรุงออกเป็นภาพแล้วเข้ามาหมดในจิต ๆ จนกระทั่งเข้าใจชัดแล้วภาพภายในที่ว่า

รูปราคะคือความยินดีพอใจ ไม่ได้เหมือนราคะแบบกามกิเลสทั้งหลายนะรูปราคะอันนี้น่ะ หมายถึงความพอใจยินดีกับอารมณ์อันนั้นเท่านั้นเอง เป็นธรรมส่วนละเอียด แต่ไม่ทราบว่าจะมีอะไรมาพูดให้แยกแยะให้ละเอียดกัน ท่านก็เลยว่ารูปราคะ คือมีความพอใจติดใจอยู่ในรูปภาพภายในจิต เมื่อรูปภาพร่างกายนี้มันสลัดแล้วเพราะความรู้แจ้งด้วยปัญญา แล้วก็นำเอารูปภาพอันนี้เข้าไปอยู่ภายในจิต ปรุงอยู่ภายในจิต พอปรุงขึ้นพับแล้วมันก็กลืนเข้ามา ๆ เข้ามาถึงใจมาดับกันที่นี่ ปรุงพับก็เข้ามาดับที่นี่ มันก็ทราบได้ชัดว่า อ๋อ จิตเป็นผู้ปรุงขึ้นมา จิตเป็นผู้เอื้อมจิตเป็นผู้หลง เมื่อจิตพิจารณาด้วยปัญญาจริง ๆ แล้ว จิตเป็นผู้รู้แล้วต่อไปรูปราคะนี้ก็หมด

อรูปราคะ คือ ยินดีในสุขเวทนา นี่ตามหลักปฏิบัติ สุขเวทนาอันละเอียดอยู่ภายในจิต อรูปราคะ มานะคือความถือจิตดวงนั้นแหละ ดวงที่สว่างกระจ่างแจ้ง ดวงที่เด่นดวงอยู่นั้น เพราะตอนนั้นมันพรากหมดแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง รูปก็พรากอะไรก็พรากไปหมด พรากจากกันไปแล้วเป็นคนละชิ้นละอัน มีแต่จิตดวงที่ผ่องใสนี้เท่านั้น มานะก็ถือจิตดวงนั้น นี่แหละท่านว่ามานะ ๙ มันเข้าใจในภาคปฏิบัติมันถึงได้ชัดซี เข้าใจทางภาคปฏิบัติแล้วหาสงสัยไม่ได้

มานะถือจิต เมื่อมันเป็นดวงอย่างนั้น มีความสว่างกระจ่างแจ้งอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดความอ้อยอิ่ง เกิดความติดความพัน ความพออกพอใจ นี่แหละเรียกว่ามานะ คือความพอใจนั่นเอง ถืออยู่นั้น จากนั้นเมื่อพบเพื่อนฝูงหรือนักปฏิบัติด้วยกันว่าองค์นั้นมีจิตภูมินั้นภูมินี้ ก็คิดอยากจะเอานี้เทียบเคียง องค์นั้นจะเสมอเราหรือต่ำกว่าจิตเราดวงนี้ หรือจะยิ่งกว่าจิตเราดวงนี้นา ถ้าสมมุติว่าจิตต่ำกว่าก็เข้าใจว่าต่ำกว่า หรือเสมอ หรือยิ่งกว่า ถ้าจิตเสมอเขาก็เข้าใจว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ถ้าจิตดวงนี้ยิ่งกว่าเขาก็เข้าใจว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง หรือยิ่งกว่าเขาบ้าง รวมแล้วเป็นมานะ ๙ ก็คือความถือความรู้อันนี้เอง นี่แหละตัวอวิชชาแท้

เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นถึงได้ติดได้พันกันอยู่นั้น สนิทสนมกลมกลืนเหมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียว นี่แหละกล่อมนางนอนหรือว่านางบังเงา เราวาดภาพอวิชชาว่าเป็นเสือโคร่งเสือดาว วาดภาพเป็นยักษ์เป็นผี อวิชชาเป็นอย่างนั้น ๆ เวลาเข้าถึงตัวอวิชชาจริง ๆ โอ๋ย ถูกกล่อมให้หลับสนิท แม้แต่มหาสติมหาปัญญาซึ่งหมุนตัวเป็นเกลียวก็เลยจะกลายเป็นองครักษ์ไปรักษาจิตดวงนี้เสียด้วยซ้ำ คือจิตดวงอวิชชานี้ ลืมเนื้อลืมตัวไป ไม่รู้สึกตัวนั่นแหละ ละเอียดขนาดนั้นแหละ อวิชชาจริง ๆ ละเอียดขนาดนั้น

ตั้งแต่มันแสดงมาอย่างหยาบ ๆ เรายังหลงนี่ บริษัทบริวารของอวิชชาแสดงมา เช่นความโลภ เช่นความโกรธอย่างนี้เป็นต้นนะ มันหยาบ ๆ โกรธก็เห็นอยู่แล้ว ตาดำตาแดงก็ยังพอใจโกรธพิจารณาซิ นี่เรื่องของกิเลส แล้วจิตเคลิ้มไปทั้งนั้นแหละ ขึ้นชื่อว่าเรื่องของกิเลสแล้วจิตเคลิ้มทั้งนั้น เพราะเคยเชื่อมันมานานไม่คิดว่ามันเป็นภัยต่อตนเลย โกรธให้เขาตาดำตาแดง เคียดแค้นถึงกับฆ่าเขาได้ก็ยังว่าเป็นของดี นั่นคือความเชื่อกิเลสนั่นเอง

ทีนี้พอสิ่งหยาบ ๆ เหล่านี้หมดไป ๆ ก็เข้าถึงตัวละเอียดตัวอวิชชาแท้ละที่นี่ ตัวกษัตริย์แท้ ๆ ละ สติปัญญาที่เป็นอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญายังต้องหลงกลมันจนได้ ไปรักษาจิตดวงนี้อยู่ ไม่ให้อะไรมาแตะต้อง อะไรมาสัมผัสก็สลัดปุ๊บ ๆ ด้วยสติปัญญา ไม่ยอมให้อะไรมาแตะต้อง เลยไปรักษาอันนั้นโดยไม่รู้สึกตัว นั่นละคือรักษาอวิชชา อวิชชาเหนือมหาสติมหาปัญญาอยู่แล้วนั่นเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว อวิชชานี้ยังเหนือ มีเล่ห์เหลี่ยมความฉลาดแหลมคมยังเหนือสติปัญญาอยู่ในขณะนั้น สติปัญญาแม้จะเป็นขั้นมหาสติมหาปัญญาก็ตาม อวิชชายังเหนือ จึงต้องติดจึงต้องหลงกลอวิชชา นี่เรียกว่ามานะ

ทีนี้คำว่าอุทธัจจะ หมายถึงการค้นการพิจารณา ฟุ้ง จิตเพลินต่อการพิจารณาไม่หยุดไม่ถอย รั้งเอาไว้ ไม่รั้งเอาไว้ไม่ได้เจ้าของก็จะตาย เหนื่อยก็เหนื่อย เพลียก็เพลีย แต่จิตไม่ยอมถอยมีแต่จะเอาชนะท่าเดียว ถึงขั้นนี้แล้วคำว่าแพ้ไม่มี แพ้ให้ตาย มีแต่ให้รู้เท่านั้นไม่รู้เอาตาย เรื่องคำว่าแพ้มีไม่ได้ โน่น นี่แหละที่ทำให้จิตฟุ้ง มันเพลินในการพิจารณาไม่ใช่ฟุ้งซ่านรำคาญไปตามโลกตามสงสาร รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอย่างนั้นไม่มี มันเพลินในงานของตัวเองที่จะแก้กิเลส เพลินจนเกินเนื้อเกินตัว จึงเรียกว่าเป็นสังโยชน์อันหนึ่ง

ที่เรียกว่าอวิชชาก็คือตัวนั้นแหละ มานะยังถือตัวนั้นแหละ ตัวผ่อง ๆ ใส ๆ ตัววิเศษวิโส ที่เข้าใจว่าวิเศษวิโส ตัวสง่าผ่าเผย มานะมันถือตรงนั้น นั่นแหละคืออวิชชา หลงตัวเองนะนี่ สติปัญญาพิจารณาทางไหนก็หมดทางแล้ว เพราะไม่มีทางพิจารณานี่ อะไรก็รู้หมดแล้ว จับไสเท่าไรมันก็ไม่ยอมพิจารณานั้นจึงเรียกว่ารู้จริงปล่อยจริง ๆ พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันไม่เอา พิจารณารูปนี้ก็ไม่เอา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ไม่เอา เพราะเข้าใจหมดแล้ว แต่มันไปติดใจอยู่ในความสว่างกระจ่างแจ้งในจุดผ่องใสนั้น มันหลงอวิชชา

ทีนี้เมื่อพิจารณาไปนานเข้า ๆ เรื่องอวิชชาก็เป็นเรื่องสมมุตินี่จะทนต่อการแสดงต่อ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้อย่างไร มันต้องแสดงอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมาให้จับพิรุธจนได้ลงถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว เมื่อรักษากันไปนานไป ๆ พิจารณาอะไรก็ไม่ได้เรื่องเพราะไม่มีทางพิจารณา ก็มีแต่คอยดูความเกิดความดับของสังขาร ระมัดระวังกันอยู่นั้น เรื่องว่าอวิชชาจะผ่องใสขนาดดไหนก็มีความเศร้าหมองตามขั้นของจิตอันละเอียด ตามขั้นของอวิชชาอันละเอียดนั้นแฝงขึ้นมาจนได้ พอจะจับพิรุธกันได้ เอ๊ะ ถ้าว่าตายใจได้ทำไมยังมีลักษณะเฉา ๆ แล้วทำไมจึงมีลักษณะเหมือนทุกข์ คือทุกข์ก็ทุกข์ละเอียด ทุกข์ขั้นนี้ทุกข์ละเอียด จะทราบได้เฉพาะมหาสติมหาปัญญาเท่านั้น สติปัญญาธรรมดาทราบไม่ได้เลย

เมื่อมันจับได้ เอ ทำไมเดี๋ยวว่าสุขเดี๋ยวว่าทุกข์ แล้วเดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง คือเศร้าหมองก็เศร้าหมองตามขั้นของอวิชชานั่นเอง ไม่ใช่เศร้าหมองอย่างจิตธรรมดาเรา แต่มหาสติมหาปัญญารู้ทัน ก็จับจุดนั้นเข้าไป เอ นี้ทำไมถ้าว่าเป็นสิ่งที่แน่นอนใจได้แล้ว ทำไมมันจึงแสดงอาการแปลก ๆ อย่างนี้มา จากนั้นจิตก็เกิดความสนใจ สติปัญญาเกิดความสนใจ จ่อเข้าไปตรงนั้น พิจารณาตรงนั้น เหมือนกับสภาวธรรมทั้งหลาย อันนี้มันอะไร

ทีนี้นั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณานะ พอจิตจ่อเข้ามาย้อนความสนใจเข้ามาสู่จุดนั้นแล้ว จุดนั้นเลยกลายเป็นที่พิจารณาเข้าไปเหมือนกับสภาวธรรมทั่ว ๆ ไปนั่นละที่นี่ มันจะทนไปได้เหรอ นี้มันอะไรกัน จึงสนุกพิจารณากันที่นี่ ก็ฟังแต่ว่ามหาสติมหาปัญญา ไปที่ไหนขาดทะลุไปเลย มหาอวิชชาจะทนได้หรือเมื่อตั้งใจพิจารณากัน นอกจากไปรักษาอยู่เฉย ๆ พอจ่อเข้ามาตรงนั้นมันก็พัง กระจายไปหมดเลย พออวิชชาสลายตัวลงไป อันนั้นมันสลายนะที่ว่าผ่องใสนั่น นั้นแหละตัวอวิชชาแท้ ๆ

มันไม่ได้เป็นเสือโคร่งเสือดาวนี่นะ มันเป็นนางบังเงา เหมือนนางงามจักรวาล ทำให้อ้อยอิ่งติดพัน ออันนั้นสลายลงไปแล้ว ทีนี้อันที่วิเศษโดยหลักธรรมชาติที่อยู่ใต้นั้นก็ปรากฏเด่นชัด เพราะอันนี้เหมือนกับกองขี้ควาย อวิชชาที่ว่าดี ๆ วิเศษวิโสนี้เมื่อเทียบแล้วก็เหมือนกองขี้ควาย โอ้โห กองขี้ควายนี่มาทับธรรมชาติวิเศษไว้นี่ พออันนั้นสลายลงไปปุ๊บ อันนี้ไม่ทราบมีตั้งแต่เมื่อไร นั่นแหละที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ก็ดี สาวกท่านบรรลุธรรมก็ดี ธรรมดวงธรรมชาติของจิตล้วน ๆ แท้ไม่มีอะไรเข้ามาเจือปนเลย เข้าถึงขั้นเดิมของจิตแท้ ว่าเดิมนี้เราก็ไม่อยากจะพูดนะ อยากพูดแต่ว่าเป็นจิตล้วน ๆ แล้วว่าอย่างนั้น นั่นแหละทีนี้อัศจรรย์ยิ่งกว่าตัวอวิชชาขนาดไหน เทียบกันไม่ได้เลย

นี่แหละที่พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัยแล้วเห็นโทษของตัวเองก็เห็นตรงนี้ โห ลงละเอียดถึงขนาดนี้จะไปสอนโลกได้อย่างไร สอนใครให้รู้ไม่ได้ลงขนาดนี้แล้ว เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่โลกจะรู้ได้เห็นได้ก็ทรงท้อพระทัยทำความขวนขวายน้อย ทั้ง ๆ ที่ปรารถนาเป็นศาสดาของโลกเพื่อสั่งสอนสัตวโลกอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้าถึงธรรมชาติที่อัศจรรย์เกินคาดเกินหมาย เกินสมมุตินิยมทั้งหลายทั้งสิ้นแล้วทำให้ท้อพระทัย

เพราะในขณะนั้นไปเจอเอาโดยเฉพาะ ยังไม่ได้พิจารณากว้างขวางออกไป แต่ก็ไม่นาน ฟังแต่ว่าพระพุทธเจ้าเถอะ ใครจะฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระองค์ จากนั้นมาก็เหมือนกับจะตั้งปัญหาอย่างนี้ เพราะเราเคยตั้งอย่างนี้ก็คงไม่ผิดกันอะไรนัก เอ้า ถ้าหากว่าโลกไม่สามารถจะรู้ได้ เรื่องของอัศจรรย์ขนาดนี้ ธรรมอัศจรรย์ประเภทนี้ โลกไม่สามารถที่จะรู้ได้ เราก็เป็นโลกคนหนึ่งทำไมเรารู้ได้ เรารู้ได้เพราะอะไร นั่น เป็นปัญหาตั้งขึ้นมาแล้ว เรารู้ได้เพราะปฏิปทาอันใด ก็เมื่อเรานำปฏิปทาข้อปฏิบัตินี้สอนโลกทำไมโลกจะรู้ไม่ได้ล่ะ

ทางเข้าไปถึงจุดที่หมาย บันไดก็ส่งขึ้นถึงจุดที่หมาย สถานที่ต่าง ๆ มีทางเข้าไป ขั้นนั้นขั้นนี้มีบันไดขึ้นไป บันไดนี้คือทางเดินเพื่อถึงจุดที่หมาย ทางนี้เป็นทางเดินเพื่อถึงจุดที่หมาย ปฏิปทาเครื่องดำเนินนี้ก็เพื่อถึงจุดที่หมายคือธรรมชาตินี้ เมื่อสั่งสอนวิธีการให้สัตวโลกทราบแล้วทำไมจะรู้ไม่ได้ นี้เหมือนอย่างนั้นนะ อ้อ รู้ได้ ๆ แล้วก็มีแก่พระทัยที่จะสั่งสอนสัตวโลก แล้วก็แสดงขึ้นมาว่าท้าวมหาพรหมมาอาราธนา พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ ในเบื้องต้นขึ้นเป็นธรรมาธิษฐานของพระองค์เสียก่อน คือพอมีแก่พระทัยที่จะสั่งสอนสัตวโลกด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วนี้ อ้อ ๆ โลกเข้าใจ แล้วนี่ละทรงพระเมตตาเริ่มในพระทัยที่จะสั่งสอนสัตวโลก ก็พอดีท้าวมหาพรหมเป็นอันนี้ขึ้นมาแล้ว พฺรหฺมา จ โลกา สั่งสอนสัตวโลก

ทรงเล็งญาณดูใครจะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมเหล่านี้ได้ง่าย เล็งไปถึงดาบสทั้งสองอุทกดาบสและอาฬารดาบส ก็โอ้โห เสียดายตายเสียแต่เมื่อวานนี้ ตายนั่นแหละ หมดหวัง ฟังซิตายแล้วหมดหวัง พวกเรานี้ไม่หมดหวัง มันยิ่งหวัง พอตายแล้วก็ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา หอบกันขึ้นสวรรค์นิพพานไป พระพุทธเจ้าก็ตายองค์หนึ่งจะว่างี้ พอเล็งญาณย้อนหลังกลับมาอีกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า อ้อ พวกนี้จะรู้ได้เร็ว เสด็จตรงแน่วมาถึงพระเบญจวัคคีย์ทั้งห้า แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจนพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุ อุทปาทิ ธรรมจักขุอันปราศจากความมืดบัง ตั้งแต่ก่อนนั้นน่ะ ได้ปราศจากความมืดบัง อันนั้นได้กระจ่างขึ้นแล้ว เปล่งอุทานว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดก็ตามทั้งโลกนี้เกิดขึ้นแล้วต้องดับทั้งนั้น นั่นแปลให้ถึงใจ เมื่อเข้าถึงใจ สิ่งใดก็ตามเมื่อมีเกิดต้องมีดับเป็นคู่กันทั้งนั้น หาที่ไว้ใจไม่ได้เลย

จากนั้นมาก็แสดง อนัตตลักขณสูตร กล่อมอุปนิสัยจนกระทั่งได้บรรลุธรรม นี่คือสักขีพยานของพระพุทธเจ้า และพระองค์เองก็ได้ทรงเปล่งอุทานในวาระสุดท้ายจากอันนั้นไป เทวานํ เทวานุภาวํ อถโข ภควา อุทานํ อุทาเนสิ พระองค์ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นแล้วในขณะนั้น อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส, อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว นามํ อโหสีติ. โดยอาศัยเหตุนี้พระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้ชื่ออย่างนั้น

จากนั้นก็แสดง อนัตตลักขณสูตร รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา สญฺญา สงฺขารา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เรื่อยไปเลย แต่สำหรับสูตรนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติของผมนี้มีขัด ๆ อยู่นะผมพูดตรง ๆ ผมยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างหาที่ค้านไม่ได้ก็คืออาทิตตปริยายสูตร ถึง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ. ยมฺปิทํ มโนสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ, สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา, ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ. นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ. วิราคา วิมุจฺจติ. วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ. เบื่อหน่ายในจิต เบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องของจิต เบื่อหน่ายในความรู้สึก วิญญาณที่เกี่ยวข้องของจิต เบื่อหน่ายในเวทนา คือผลที่เกิดขึ้นจากอันนี้ที่เกี่ยวข้องกัน เบื่อหน่ายตรงนี้ ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายเสียทั้งหมดบรรดาที่เกี่ยวข้องกันนี้ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อเบื่อหน่ายแล้วย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น อันนี้แหมเราซึ้งมาก เพราะการปฏิบัติของเราเป็นอย่างนั้น

ส่วน อนัตตลักขณสูตร นี้พอถึงขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ นี้ผมเหมือนกับว่า เราพูดตามความรู้สึกของเราในสิ่งที่ควรค้านเราก็ค้าน ในสิ่งที่ไม่ควรค้านเราก็ไม่ค้าน ทางภาคปฏิบัติ อาทิตตปริยายสูตร เราหาที่ค้านไม่ได้ เรายอมจำนนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ส่วน อนัตตลักขณสูตร นี้มีข้อขัดกัน เราจึงเลี่ยง ๆ ไปเสียว่าท่านอาจจะแสดงเป็นเรื่องผู้ใหญ่ก็ได้ หรือเกจิอาจารย์ท่านอาจจะมาทำเอาแบบเรื่องผู้ใหญ่ก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้านั้น ผมแน่ใจว่าถึง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เหมือนกัน

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจะไม่เข้าถึงจิตจะไปถึงไหน อวิชชาไปรวมอยู่ที่จิตมันไม่ได้อยู่ที่ขันธ์ ๕ นี่ เวลาเราปฏิบัติ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้เท่าแล้วอย่างที่ผมอธิบายตะกี้นี้นะ รู้เท่าแล้วมันรวมเข้าไปอยู่ที่จิต อวิชชาครอบจิตอยู่นั่น ถ้าไม่หยั่งเข้าถึงนั้นแล้วอวิชชาจะแตกไปไม่ได้ นี่ซีที่มันค้านกัน มันต้อง มนสฺมึปิ โน้น เพียงรู้เท่าขันธ์ ๕ แล้วก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด เรามันเป็นไปไม่ได้ รู้เท่าขันธ์ ๕ แล้ว แยกกันอย่างชัดเจนไม่มีสงสัยเลย แต่มันก็ไปยึดถือจิตกับอวิชชาที่พัวพันกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่นั่น จึงต้องไปพิจารณาอันนั้นอีก ตีอวิชชานั้นแตกกระจายออกจากจิตแล้วมันถึงเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน ทีนี้หายสงสัย นั่นเป็นอย่างนั้น

นี่แหละภาคปฏิบัติ ที่ไหนที่ควรค้านมันค้านได้อย่างจัง ๆ ด้วยความแน่ใจ ที่ไหนมันรวมกันได้ก็รวมได้ อย่างที่ว่า สีลัพพตปรามาส พระโสดาละนั้น ๆ นี้ ๆ เราก็ปฏิบัติไป ๆ เวลามีแยกกันมันก็แยกกัน แยกกันไปอย่างที่ผมอธิบาย มีเทศน์กัณฑ์หนึ่งที่ว่า เรียงอริยภูมิ ตรงไหนที่มันแยกมันแยะกับทางปริยัติก็แยกกันไป แต่ที่ไหนมาร่วมกันมันก็ร่วมกัน เราเป็นนักปฏิบัติมันเป็นอย่างไร เป็นไปตามการปฏิบัติของเราอย่างไร เราก็พูดตามเรื่องความจริง เอ้า ค้านก็ค้านกัน ถึงจะแย้งก็แย้งกัน เมื่อผิดกันด้วยการปฏิบัติด้วยความรู้ความเห็น ก็ให้ทราบว่าผิด นี้เป็นข้อปฏิบัติของเรา เป็นผลของเราเป็นมาอย่างนี้ ๆ จะถูกหรือผิดอะไรก็แล้วแต่ เรื่องการปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างนี้และรู้เห็นมาอย่างนี้ ๆ มันจะปลีกแวะกันก็ปลีกอย่างนี้ ๆ มันเข้าร่วมกันก็ร่วมอย่างนี้ ๆ โดยหลักปฏิบัติ นี่เราก็พอใจ เราแน่ใจของเราไปโดยลำดับ ๆ เมื่อเวลาก้าวเข้าถึงขั้นสูงแล้วก็ไม่เห็นแยกกันนี่นะ

เอาละแค่นี้พอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก