เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระธรรมรักษา
วันนี้จะได้แสดงธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพอเป็นเครื่องปฏิสันถาร ทั้งท่านผู้เป็นนักบวชและท่านสาธุชน ที่ได้อุตส่าห์สละเวล่ำเวลาและทรัพย์สมบัติศฤงคารมาสู่สถานที่นี่ตามสมควรแก่เวลา
การฟังธรรมเพื่อให้เกิดผล ในขณะที่ฟังธรรมนั้น โปรดได้ทำความรู้สึกไว้เฉพาะหน้า คือไม่ให้จิตส่งไปสู่สถานที่ต่าง ๆ แม้ที่สุดผู้กำลังเทศน์ ให้มีความรู้อยู่จำเพาะภายในใจ ธรรมเทศนาที่ท่านแสดงมากน้อยหนักเบา จะเข้าไปสัมผัสความรับรู้ที่เราตั้งไว้แล้วด้วยดีนั้น และในขณะเดียวกัน จะเป็นเครื่องกล่อมจิตใจของเราให้ได้รับความสงบเยือกเย็นในขณะที่ฟังเทศน์ บางครั้งอาจรวมสนิทได้ในขณะนั้นก็มี คำว่าจิตรวมสนิทนั้น คือไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องใด ๆ มีความรู้ที่เด่นชัดอยู่ภายในใจดวงเดียวเท่านั้น แม้ที่สุดเสียงแห่งธรรมเทศนาก็ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างนี้ท่านเรียกว่ารวมอย่างสนิท
ในธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ แปลว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม จะเห็นผลเป็นชั้น ๆ ประจักษ์ใจของตน ผู้ปฏิบัติในทาน คือเป็นผู้เสียสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เรียกว่าทาน เมื่อทานเข้าจนเกิดความเคยชินแก่จิตใจแล้ว จะรู้สึกมีความเยือกเย็นภายในใจ ถ้าไม่ได้ให้ทาน ได้ขาดไปเสียในเวลาที่เคยทำ ใจจะรู้สึกว้าเหว่ ไม่เป็นที่สบาย เคยรักษาศีล ถึงวันเข้ามาแม้จะมีกิจการยุ่งยากขนาดไหน ใจก็มีความมุ่งหวังต่อศีลตนเสมอ เมื่อรักษาจนมีความเคยชินต่อศีลแล้ว ถ้าได้ขาดเสียในวันใดวันหนึ่ง รู้สึกเสียใจที่วันนี้ได้ทำตัวให้ขาดประโยชน์ไป การอบรมจิตใจที่เรียกว่าภาวนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ทั้งสามประเภทนี้เมื่อได้ทำให้เกิดความเคยชินภายในใจแล้ว จะปรากฏเป็นความร่มเย็นภายในใจเสมอ
คำว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่วนั้น ไม่ได้หมายเรื่องอนาคตโดยถ่ายเดียว แต่หมายเอาเรื่องปัจจุบันของตัวด้วย คือผู้ปฏิบัติดีต่อบ้านเมือง ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนโดยการกระทำผิดของตน ตัวเองก็มีความเยือกเย็น และไม่มีความเดือดร้อนสงสัยภายในใจว่า จะถูกโทษทัณฑ์อันใดให้ได้รับความลำบาก เพราะการกระทำของตนสะอาด จิตใจก็เยือกเย็น อยู่ที่ไหนก็สบาย ยิ่งได้ปฏิบัติคุณธรรมเข้าภายในใจ จะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล หรือการเจริญภาวนา ก็ยิ่งมีความรู้สึกเยือกเย็นภายในใจเป็นลำดับ ๆ
เฉพาะอย่างยิ่งการอบรมจิตใจ จะปรากฏผลที่เด่นชัด แม้อำนาจแห่งทาน อำนาจแห่งศีล ที่ตนเคยให้ทานและรักษาศีลมา ก็จะรวมเข้าสู่จุดเดียวคือความสงบแห่งใจ เพราะฉะนั้นใจผู้อบรมด้วยดี จึงเป็นรวมแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย เราจะทำมาแต่อดีตกี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ เมื่อใจได้ปรากฏเป็นความสงบเข้าแล้วเท่านั้น อำนาจแห่งคุณธรรมทั้งหลายจะมารวมอยู่ที่จุดเดียวทั้งสิ้น แม้จะจำมื้อวันปีเดือนที่ตนทำมา หรือจำชาติภพที่ตนทำมาไม่ได้ก็ตาม แต่ผลที่ปรากฏนั้นจะปฏิเสธไปจากจิตใจที่ตนกำลังรู้อยู่ไม่ได้ นี่ท่านก็เรียกว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนภายในใจ เมื่อปัจจุบันขณะนี้และวันนี้มีความเยือกเย็นอยู่ ด้วยอำนาจแห่งทานแล้ว กาลข้างหน้าก็คือเรื่องของใจดวงนี้ จะไปก่อภพก่อชาติในที่ไหน ๆ กำเนิดใด ๆ ก็ต้องอยู่กับนายช่างผู้จะไปสร้างบ้านสร้างเรือน นายช่างคนไหนที่มีความเฉลียวฉลาด ชำนิชำนาญในการปลูกบ้านปลูกเรือนแล้ว บ้านเรือนที่ปรากฏเป็นผลขึ้นมาจากนายช่างนั้น ๆ ย่อมเป็นบ้านเรือนที่สวยงามและแน่นหนามั่นคงเสมอ เรื่องของจิตที่เป็นนายช่างปรับปรุงตนเองมาจนมีความชำนิชำนาญ ได้แก่การปฏิบัติคุณงามความดีแก่ตนเอง แม้จะไปเกิดในสถานที่ใด ๆ ก็ตาม จิตที่เคยเป็นนายช่างปรับปรุงตนเองมาด้วยดีแล้วนั้น จะต้องปรากฏเป็นรูปร่าง หรือปรากฏผลขึ้นมาภายในตัวเองอันเป็นที่พึงพอใจทุก ๆ ภพทุก ๆ ชาติไป นี่ก็เรียกว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ คือรักษาเป็นลำดับไป นับตั้งแต่ขั้นเริ่มปฏิบัติ พระธรรมก็เริ่มจะรักษาผู้ปฏิบัติ คือให้ผลไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงสมควรจะแสดงผลให้เห็นชัดภายในใจ และจนกระทั่งเห็นผลประจักษ์ใจจริง ๆ เช่น ผู้อบรมภาวนาเป็นต้น ถ้ายังไม่ปรากฏเป็นความสงบ แต่กิริยาที่ทำนั้นเป็นภาคพื้นเพื่อจะทำใจให้สงบอยู่แล้ว เมื่อได้ทำไปนาน ๆ มีความสืบต่อกันเป็นลำดับ ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาให้ผู้บำเพ็ญได้รู้ในวันใดวันหนึ่งจนได้ และเมื่อใจได้ปรากฏเป็นความสงบแล้ว นั้นแลเป็นเชื้อหรือเป็นเหตุให้จิตใจมีความดูดดื่มในการกระทำที่จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ถ้าหากว่าเราทำจิตใจไม่ปรากฏเป็นผลตอบแทนขึ้นมาประจักษ์แล้ว กิจการงานนั้น ๆ ก็ไม่สามารถจะทำได้จีรังถาวร อาจจะล้มละลายไปในวันใดวันหนึ่งก็ได้ เช่นเขาทำนาไม่ปรากฏผลคือข้าวเป็นเครื่องตอบแทน เราจะทำกิจการงานหรือหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม ผมเป็นเครื่องตอบแทนย่อมมีเสมอ ผู้ปฏิบัติธรรมก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
การอบรมจิตแม้จะมีความฟุ้งซ่านวุ่นวาย และเป็นสิ่งที่รักษายากยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของจิตที่จะสามารถรักษาตนเองได้ในลักษณะเดียวกัน การทำเบื้องต้นก็ย่อมมีการลำบาก แต่เมื่อได้ปรากฏเป็นความสงบขึ้นแล้ว นั้นแลจะเป็นเครื่องดูดดื่มภายในใจ ให้มีแก่จิตแก่ใจที่จะบำเพ็ญความสงบให้มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จนกลายเป็นความเคยชิน ความที่ตนท้อแท้อ่อนแอหรือขี้เกียจ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะมีอยู่ประจำสันดานของปุถุชนเรา ก็จะค่อยลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ ส่วนความเพียรเพื่อพยายามทำจิตใจให้มีระดับสูงหรือละเอียดยิ่งเข้าไปกว่านั้น ก็ย่อมมีกำลังมาก เมื่อความเพียรของเรามีกำลังมากเข้าเท่าไร ผลที่จะปรากฏให้ได้รับภายในใจก็คือความสงบ มีความละเอียดมากเข้าเท่าเทียมกัน
วิธีจะทำใจให้มีความสงบ ส่วนมากก็คือการกำหนดลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ให้มีความรู้สึกติดตามลมของตนเสมอ อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ความรู้สึกทั้งหมดให้รวมตัวเข้าไปสู่จุดเดียว คือที่ลมหายใจปรากฏ หรือเราจะกำหนด พุทโธ เป็นต้น ก็โปรดได้ทำความรู้สึกให้แนบสนิทอยู่กับพุทโธ คือคำบริกรรมนั้น เมื่อจิตได้ถูกสติเป็นเครื่องบังคับกำกับตัวอยู่เสมอ จิตก็จะทำความรู้สึกกับบทบริกรรมมี พุทโธ เป็นต้น ได้สนิทเป็นลำดับไป นั่นแลจิตจะมีโอกาสปรากฏเห็นความสงบทั้งที่ตนไม่เคยปรากฏมาเลยในขณะนั้นจนได้
การกำหนดลมหายใจ บางครั้งถ้าจิตสงบเต็มที่ หรือความรู้สึกภายในใจขณะนั้น ปรากฏว่าลมหายใจได้หายไปจริง ๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบได้ว่า ลมหายใจนี้ได้ซ่านไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย ออกทุกแห่งทุกหน อย่างนี้ก็มี แต่จะเป็นความจริงอย่างไรนั้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า ลมได้หมดไปจริง ๆ เหรอจากลมหายใจนี้ แต่จะพอทราบได้ในเวลาลมหยาบ และค่อยละเอียดลงไปก็ทราบ ละเอียดลงไปเป็นลำดับ ๆ ก็ทราบ ทีนี้เวลาลมหมดไปจริง ๆ ตอนนั้นก็มีการทราบได้ในลักษณะเดียวกัน แต่ความรู้ที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ได้มีการแส่ส่ายไปสู่อารมณ์ใด ๆ มีหนึ่ง คือความรู้เท่านั้น แต่ก่อนมีสองกับลม ทีนี้ลมได้ปรากฏว่าหายไป ถ้าว่าไม่หายก็กลายเป็นอะไรไป ละเอียดออกไปตามสรรพางค์ร่างกาย นี่การกำหนดลมเป็นอย่างนี้
ทีนี้กำหนด พุทโธ เมื่อจิตได้ละเอียดเข้าไปจริง ๆ คำว่า พุทโธ กับความรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน เราจะว่า พุทโธ ก็ตาม ไม่ว่าก็ตาม ในขณะที่จิตได้แนบสนิทกับพุทโธแล้ว ก็ปรากฏเป็นพุทโธอยู่เช่นนั้น เพราะคำว่า พุทโธ ก็คือความรู้ จิตได้ดิ่งลงไปเป็นความรู้อันเดียว แต่ผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติทั้งสองนี้ คือจิตเป็นหนึ่ง ไม่ได้สองกับอารมณ์ที่เคยเป็นมา เมื่อผลได้ปรากฏอย่างนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องทราบในตัวเองว่าความสุขที่เคยปรากฏมา จะปรากฏในทางใดก็ตาม กับความสุขที่ปรากฏขึ้นในขณะที่จิตมีความสงบเช่นนี้ จะรู้สึกว่าแปลกต่างกันมากมาย ยิ่งใจได้พินิจพิจารณาในส่วนแห่งสภาวธรรมโดยทางปัญญาด้วยแล้ว ความสงบของจิตจะมีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับ เพราะอำนาจของปัญญาเป็นเครื่องซักฟอก และพิจารณาในสภาวะทั้งหลายที่จิตเคยสำคัญมั่นหมายแล้วถือเป็นภาระของตน ที่ท่านเรียกว่าอุปาทาน เมื่อปัญญาได้พิจารณาในสภาวะมีส่วนแห่งร่างกายเป็นต้น เห็นชัดมากเท่าไร คำว่าอุปาทานคือความถือมั่นในส่วนแห่งกายเหล่านี้ก็ค่อยถอยตัวออกมาจากความยึดมั่นนั้น ๆ เป็นลำดับ ๆ เพราะฉะนั้นอุปาทานของกายจึงสิ้นสุดลงได้ ในเวลาที่พิจารณากายเห็นชัดตามเป็นจริงเต็มที่แล้ว แล้วก็ถอนออกมาได้อย่างเต็มที่ ต่อจากลำดับนั้นไปเรื่องของกายนี้จะไม่ปรากฏในความรู้สึกขณะที่เราภาวนา
คือการภาวนาเบื้องต้น เราจะพิจารณาส่วนแห่งร่างกายส่วนใด ก็เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่เมื่อสติและปัญญามีกำลังพอตัวในการพิจารณาด้านวัตถุนี้แล้ว เรื่องส่วนแห่งกายทั้งหลายจะเห็นได้ด้วยปัญญาโดยรวดเร็ว เพราะสติกับปัญญาวิ่งไปพร้อม ๆ กัน ไม่ได้แยกกันไปสู่ที่ต่าง ๆ พอพ้นจากภาวะนี้แล้ว ใจที่เคยเห็นรูปร่างกลางตัวของตน หรือส่วนแห่งร่างกายของตนมาเป็นลำดับ ก็จะกลายเป็นสุญญากาศไปหมด ส่วนแห่งร่างกายแม้จะปรุงขึ้นมาเป็นภาพชั่วระยะเพียงเล็กน้อย ก็คอยที่จะสลายไป ต่อจากนั้นก็ไม่มีอะไรเหลือ
ทั้ง ๆ ที่เราได้เคยพิจารณามาจนชำนาญและเห็นชัดด้วย แต่เมื่อพ้นจากระยะนี้แล้วเรื่องของจิตจะไม่ปรากฏในส่วนแห่งร่างกายนี้เลย แม้จะปรากฏก็เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น ไม่ถึงครึ่งวินาที ต่อนี้ก็จะสูญหายไปหมดจากความรู้สึก แม้จะมีอยู่ก็มีอยู่ตามสภาพของตน ความรู้สึกจะไม่เกี่ยวกับความเป็นภาพในส่วนแห่งร่างกายนี้เลย นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสุญญากาศจากส่วนแห่งร่างกาย คำว่าอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในส่วนแห่งกายก็หมดไปในระยะนี้ ต่อจากนั้นก็จะมีส่วนแห่งนามธรรม ที่ท่านเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นจากทางกายบ้าง เกิดขึ้นจากทางใจบ้าง นี่เป็นส่วนละเอียดของการพิจารณา
เมื่อใจได้มีความชำนิชำนาญ สติกับปัญญามีกำลังกล้าขึ้นเป็นลำดับ แม้ส่วนเหล่านี้ก็จะต้องถูกถอนไปจากอุปาทานอีกเช่นเดียวกันกับกาย ความรู้ทั้งหมดที่เคยแผ่ซ่านไปสู่ที่ต่าง ๆ อันเป็นเชื้อแห่งอุปาทานที่จะได้ตามเกาะ ตามยึดมั่นถือมั่นนั้นก็หดตัวเข้ามา ทั้งด้านรูป ด้านเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และในส่วนแห่งร่างกายส่วนนี้ ตลอดถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าไปสู่จุดเดียวที่เรียกว่าตัวอวิชชา ที่พาให้ก่อกำเนิดเกิดอยู่เสมอนั้น ได้แก่ดวงใจ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้เพียงว่า ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตเบื้องต้นเป็นประภัสสร ไม่ได้หมายถึงว่าจิตบริสุทธิ์ เป็นเพียงมีความผ่องใสเท่านั้น แต่เป็นจิตที่ผ่องใสอยู่ในภาวะแห่งอวิชชาที่ครองตัวอยู่เท่านั้น ไม่ได้เป็นจิตที่ผ่องใสเพราะอำนาจแห่งความบริสุทธิ์ ฉะนั้นจิตดวงนี้จึงควรที่จะถือกำเนิดเกิดได้ในกำเนิดและสถานที่ต่าง ๆ เป็นธรรมดา
แต่ถ้าจิตได้ถูกซักฟอกด้วยอำนาจของสติและปัญญา แม้ความที่ว่าจิตผ่องใสนั้น ซึ่งติดสมมุติของอวิชชาสถิตอยู่ ก็ได้ถูกปัญญาพิจารณาจนรู้รอบไม่มีอันใดเหลือแล้ว กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมา นั้นแลจึงไม่ใช่ฐานะที่จะก่อกำเนิดเกิดอีกเช่นที่เคยเป็นมา จิตนี้เรียกว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ได้จริง ๆ เป็นจิตที่พ้นจากภาวะที่เคยเป็นมา
เพราะฉะนั้นในปัญหาข้อที่ว่า ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ ที่ท่านว่าไว้ในธรรมบทจึงมีปัญหาข้องใจอยู่บ้างว่า ถ้าจิตเมื่อผ่องใสแล้วทำไมจึงเกิด แต่ท่านว่าจิตเดิมนั้นเป็นจิตที่ผ่องใส แต่เพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรมา ใจจึงกลายเป็นของที่มัวหมองไปได้ จิตที่ผ่องใสนั้นแลเป็นสถานที่หรือเป็นศาลา เป็นสถานีที่พักจอดแห่งอารมณ์ทั้งหลาย ความผ่องใสอันนั้นไม่ใช่ผ่องใสในวิมุตติ เป็นแต่ความผ่องใสที่เป็นสถานที่ควรแก่สมมุติด้วยกันที่จะเข้าอาศัยกันได้ เพราะฉะนั้นอวิชชากับสิ่งสมมุติทั่ว ๆ ไปจึงประสานกันได้เป็นธรรมดา
เพราะคำผ่องใสนั้นก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เรียกว่าสมมุติของอวิชชา สิ่งทั้งหลายที่จะเกิดแทรกขึ้นจากอวิชชาเป็นต้นเหตุนั้น จึงกลายเป็นสมมุติอันหนึ่งขึ้นมา เมื่อยังไม่ได้ถูกทำลายความผ่องใสจุดนี้ด้วยปัญญาให้เต็มที่เสียเมื่อไรแล้ว เรื่องความเกิดเราจะปฏิเสธไม่ได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง และไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใดด้วย ใครจะเห็นด้วยก็ตามไม่เห็นด้วยก็ตาม เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ธรรมชาตินี้ต้องเป็นธรรมชาติที่จะทำตามหน้าที่ของตนอย่างนั้นตลอดกาล
ต่อเมื่อได้ทำลายสภาพนี้ลงไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มที่แล้ว สภาพนี้จึงจะสูญจากความเป็นสมมุติอันเป็นสถานที่ควรเกิดนั้นเสีย กลายเป็นวิมุตติขึ้นมาในจิตที่ได้ทำลายอวิชชานั้นให้พ้นไปจากตัว กลายเป็นวิมุตติขึ้นมาภายในใจ
นี่มาถึงขั้นนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประทานเอาไว้เพื่อผู้ปฏิบัติให้เห็นผลนั้น จะเห็นผลในภาคใดกาลใด ต้องเห็นประจักษ์มาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ขั้นต้นคือการบำเพ็ญทาน การรักษาศีล การภาวนา มีความเยือกเย็นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นที่เยือกเย็นเต็มที่ ได้แก่ถึงขั้นที่หลุดพ้นไปเสียจริง ๆ นี่เราอยู่ที่ไหนก็เห็นว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ประจักษ์กับใจอยู่ตลอดเวลา รักษาใจได้เป็นอย่างดี ไม่มีสิ่งใดจะสามารถซึมซาบเข้าภายในจิตใจได้ ทั้ง ๆ ที่เคยซึมซาบกันมาเป็นเวลานาน ต่อเมื่อได้ทำกำแพงกั้นจิตใจของตนไว้โดยรอบแล้ว ไม่มีอะไรที่จะสามารถทำอันตรายจิตใจดวงนั้นได้
เพราะฉะนั้นคำว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ จึงเปรียบเหมือนกำแพงกั้นกางศาลาไว้ ไม่ว่ากิเลสตัณหาอาสวะที่จะปรากฏขึ้นภายในความรู้สึกนั้น ไม่ว่าภพชาติใด ๆ ที่เคยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา จะไม่มีสิ่งใดสามารถจะแทรกซึมเข้าได้ในจิตดวงนั้นแล้วแม้แต่ขณะเดียว นั้นท่านเรียกว่าจิตที่ตายตัว
เราจะประสบสิ่งต่าง ๆ ในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเสียเองก็ตาม สภาพทั้งหลายจะเป็นสภาพความจริงตามหน้าที่ของตน ความรู้สึกที่รับรู้ต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาอันหนึ่งเท่านั้น เพราะรากฐานที่จะเป็นเหตุให้ทำความกำเริบให้เกิดความดีใจเสียใจ ได้ถูกทำลายลงแล้ว รากฐานอันนั้นได้แก่อวิชชา นั่นแลเป็นผู้ที่คอยรับความดีใจเสียใจ คือรากฐานอันนั้นเอง เมื่อได้ถูกทำลายแล้วความดีใจเสียใจจึงไม่มีทางเกิด
ขันธ์ทั้งหมดจึงกลายเป็นขันธ์ล้วน ๆ รูปแม้จะมีอยู่ภายในกายของตัวเอง ก็ไม่สามารถที่จะทำจิตใจให้กำเริบเพราะรูปของตนกายของตน เวทนาจะเกิดขึ้นในส่วนแห่งร่างกาย จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ก็เป็นธรรมล้วน ๆ ไม่เป็นสิ่งที่จะเสริมให้ทุกข์ภายในใจเกิดขึ้นได้เพราะเหตุแห่งเวทนาส่วนแห่งร่างกาย สัญญาที่เคยจำมาได้หมายรู้มากน้อย กว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียด สังขารความคิดความปรุงซึ่งเคยเป็นมา วิญญาณความรับรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะกลายเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีขันธ์ใดจะเป็นภัยต่อจิตใจดวงนั้น
เพราะพิษที่แท้จริงหรือภัยที่แท้จริงก็ได้แก่ใจ แล้วได้ชำระให้รอบคอบไปหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ ต้นเหตุที่สำคัญที่จะทำให้ขันธ์ทั้งหลายนี้เกิดความกำเริบขึ้นมา กลายเป็นกิเลสขึ้นมาภายในใจอีก ได้ถูกทำลายแล้ว สภาพทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงกลายเป็นธรรมล้วน ๆ แม้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ที่เราเคยเห็นว่าเป็นข้าศึกต่อตัวเอง ก็กลายเป็นความจริงด้วยกัน เพราะใจซึ่งเป็นรากฐานสำคัญเป็นความจริงต่อตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ว
นี่ผลแห่งการปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติให้เห็นผลประจักษ์เช่นนี้ ไม่ได้นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย นักบวชและฆราวาส สำคัญที่ด้านปฏิบัติ และการปฏิบัตินี้ผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช ฆราวาส ปฏิบัติกันได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความสามารถของท่านผู้ปฏิบัติจะทำได้มากน้อย ผลจะต้องเป็นที่ตอบแทนเสมอไป ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ไม่ขึ้นอยู่กับวัย แต่ขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติที่จะเป็นเครื่องผลิตผลให้ปรากฏขึ้นมามากน้อย
เอาเท่านี้ก่อนเห็นว่าจะสมควร เพราะต่างท่านก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน