เหตุแห่งความร่มเย็น
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2506 เวลา 19:00 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๖

เหตุแห่งความร่มเย็น

โปรดได้ทราบถึงเรื่องเหตุแห่งความร่มเย็นคืออะไร ทางพุทธศาสนาที่จะให้ความร่มเย็นแก่ผู้มาอาศัย เฉพาะอย่างยิ่งคือนักบวชได้แก่พวกปฏิบัติของพวกเรา ที่ข้อปฏิบัติทุก ๆ ประเภท ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักบวชจะควรบำเพ็ญให้เป็นขึ้นภายในกายวาจาใจของตน ปฏิปทาเครื่องดำเนินทุกประเภทที่นักบวชคือพวกเราได้ดำเนินอยู่เป็นประจำ ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายวิธีที่จะทำความร่มเย็นแก่ตนเองและหมู่คณะ และเป็นเครื่องซักฟอกสิ่งมัวหมองภายในให้ค่อยหมดสิ้นไปได้โดยลำดับ เพราะข้อปฏิบัติแต่ละประเภท

เราอย่าเข้าใจว่าพระศาสนาคือธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะให้ความร่มเย็นแก่บุคคลและสัตว์ทั่ว ๆ ไป โดยท่านเหล่านั้นไม่มีความสนใจใคร่จะหาเหตุผลอันถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นความร่มเย็นแก่ตนเอง ถ้าหากธรรมะคือธรรมชาติที่ร่มเย็น ได้ให้ความร่มเย็นแก่บุคคลและสัตว์ทุกประเภทโดยไม่มีวงจำกัดแล้ว ศาสนาของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ปรากฏว่ามีอยู่ในโลกมนุษย์นี้มาเป็นเวลานานจนไม่มีใครสามารถจะนับได้ โลกที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประดิษฐานแห่งพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็ควรจะได้รับความร่มเย็นทั่วถึงกัน และสามารถจะพ้นจากทุกข์ไปได้โดยทั่วหน้ากัน

แต่นี้เพราะเหตุใด ผู้ดีก็มี ผู้ชั่วก็มี ผู้โง่ที่สุดก็มี ผู้ฉลาดที่สุดก็มี ซึ่งมีระคนกันอยู่ภายในโลกนี้ ทั้ง ๆ ที่พระศาสนายังมีอยู่ และสืบทอดกันมาเป็นลำดับจนถึงพระศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรา ทั้งนี้เนื่องจากการปฏิบัติตนเพื่อความร่มเย็นในพระศาสนา ไม่ใช่เพราะพระศาสนามีขึ้นมาในโลกแล้ว โลกแม้จะไม่สนใจใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติจากพระศาสนา ก็จะกลายเป็นความร่มเย็นขึ้นมา และได้ผลประจักษ์ใจของตนเป็นลำดับ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้ว่า บุคคลมี ๔ จำพวก คือ อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ผู้มีอุปนิสัยแก่กล้าสามารถเต็มที่คือประเภทที่หนึ่ง เพียงพระพุทธเจ้าทรงแย้มธรรมะออกมาเท่านั้น ก็สามารถจะรู้ความลึกตื้นแห่งธรรมะของพระองค์ได้โดยทั่วถึง และสามารถยังประโยชน์จากธรรมะนั้นให้เข้าถึงจิตใจ จนปรากฏเป็นผลขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงความหลุดพ้น

ในประเภทที่สองเป็นผู้รองลงมาจากประเภทที่หนึ่ง ในเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แจงให้ฟังพร้อมด้วยหลักเหตุผล ก็สามารถจะเข้าใจไปได้เป็นลำดับ และสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะที่พระองค์ทรงชี้แจงสั่งสอนอยู่เสมอ จนสามารถพ้นจากทุกข์ไปได้โดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกันกับประเภทที่หนึ่ง

ประเภทที่สามเป็นประเภทที่ดีกับชั่วเจือปนกันอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นประเภทที่จะไร้คุณค่าเสียทีเดียว เมื่อได้รับการแนะนำพร่ำสอนจากพระพุทธเจ้า และจากพระธรรมที่ได้ทรงประทานไว้แล้วหลายครั้งหลายหน ตั้งใจฝึกฝนทรมานตนให้เป็นไปตามพระโอวาทคำสอน ย่อมจะเข้าใจเป็นลำดับและสามารถรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับประเภทที่หนึ่งที่สอง แม้ผู้จะไม่สามารถถึงขนาดนั้น ผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติย่อมมีประจำตน ไม่ไร้คุณค่าไปเสียทีเดียว

ส่วนปทปรมะคือประเภทที่สี่นั้น เป็นประเภทที่โง่ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่สามารถจะเข้าใจในข้ออรรถข้อธรรม และไม่มีความสนใจต่อพระศาสนา ไม่มีความสนใจต่อความดีความชั่วว่าจะมีผลอย่างไรหรือไม่ แต่การสนใจในการกระทำ โดยมากก็เป็นทางต่ำที่จะพอกพูนความมืดหนาความหยาบช้าของตนนั้น เป็นนิสัยของคนประเภทนี้จะต้องทำเป็นประจำตนเสมอ นี่คือประเภทที่ไม่สามารถจะเทิดทูนพระศาสนา และยกตนให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับเหมือนประเภทที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม

ถ้าจะเทียบกับโรคแล้วเรียกว่าโรคไม่ฟังยา ตั้งหน้าที่จะกำเริบเป็นลำดับจนถึงความแตกสลายเพราะโรคประเภทนั้น ๆ โดยถ่ายเดียว การที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เช่นนี้ก็เพราะว่า ธรรมะย่อมมีเขตแดนควรแก่ผู้เช่นไร เช่นเดียวกับนายแพทย์และยาซึ่งจะสามารถรักษาได้ในบุคคลบางประเภท ไม่ได้ทั่ว ๆ ไป

เพราะฉะนั้นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะให้ความร่มเย็นแก่โลกในส่วนรวมก็ตาม แต่เมื่อแยกประเภทแล้วย่อมมีผลหนักเบาต่างกัน ด้วยอำนาจแห่งข้อปฏิบัติและความสนใจของแต่ละราย ๆ เมื่อย่นธรรมะและบุคคลเข้ามาสู่ตัวของพวกเราแล้ว ก็ย่อมจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วนั้น คือขึ้นอยู่กับความสนใจ ขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับความโง่ความฉลาดที่เราจะสามารถประพฤติปฏิบัติและรู้ในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแค่ไหน

ที่กล่าวมาทั้งนี้เรียกว่าเหตุที่จะทำความร่มเย็นให้เรา นับแต่ความร่มเย็นขั้นต่ำจนถึงความร่มเย็นขั้นสูงสุดคือวิมุตติพระนิพพาน ดังนั้นขอให้ทุก ๆ ท่านโปรดได้ทำความสนใจต่อตนเอง เพื่อจะได้น้อมกายวาจาใจของตนให้เข้าแนบสนิทกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า โปรดอย่าได้นำหลักธรรมหรือเหนี่ยวหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามาปฏิบัติตามอำเภอใจของตน ธรรมะจะไม่มีคุณค่าอันใดสำหรับผู้เช่นนั้น

ขณะที่เรามาศึกษาโปรดทำความศึกษาจากหมู่เพื่อนและครูอาจารย์อยู่เสมอ ข้อสำคัญต้องพยายามดัดแปลงตนเองไว้ในฐานะอันต่ำโดยทางใจนั้นแลเป็นความดี อย่าให้สำคัญว่าตนฉลาดเคลือบแฝงขึ้นมาภายในใจ จะกลายเป็นความโง่ขึ้นมาในใจดวงนั้นโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก และทุกขณะโปรดทำความรู้สึกว่าเราเป็นนักศึกษา ทุก ๆ ด้านที่จะเข้ามาสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ให้ถือว่าเป็นครูสอนเราทั้งนั้นทั้งดีและชั่ว ที่เราจะต้องพยายามถอดถอนปล่อยวางด้วยปัญญาของเรา

ถ้าความฉลาดโดยความสำคัญเอาเฉย ๆ ได้แฝงขึ้นมาภายในใจแล้ว จะทำคนผู้นั้นให้ด้อยลงทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งด้านสติปัญญาภายในใจ แม้ที่สุดสมาธิหรือปัญญาที่กำลังก้าวไปอยู่ก็จะหยุดชะงัก หาทางก้าวไปไม่ได้ จะกลายเป็นความจนมุมภายในตัวเองโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก เพราะความสำคัญว่าฉลาดนั้นแลเป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางทางดำเนินของตน นี่เป็นสิ่งสำคัญ

เพราะฉะนั้นคำว่า “เรา” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เสมอว่าอัตตา อัตตามีหลายประเภท ประเภทหยาบ กลาง ละเอียด จะมีอยู่ภายในดวงใจของเราทุก ๆ ท่าน คำว่า “เรา” จึงเป็นของมีอำนาจ ในเมื่อใครได้ส่งเสริม “เรา” ขึ้น ตัวของเราทั้งร่างนี้จะเป็นเช่นเดียวกับภูเขา ไม่มีใครสามารถจะไปดัดแปลงภูเขาเช่นเดียวกับดัดแปลงสิ่งอื่น ๆ ลักษณะของคนที่ทำตัวให้เป็นภูเขาเพราะอำนาจแห่งคำว่า “เรา” เป็นตัวเหตุแล้ว ย่อมจะไม่สามารถดัดแปลงตนให้ไปในทางที่ดีได้ แม้ที่สุดครูบาอาจารย์ก็ไม่สามารถจะแนะนำได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่หนาแน่นและใหญ่โตมากกว่าสิ่งใด ๆ

สำหรับผู้มุ่งหน้าต่อการศึกษาเพื่อการดัดแปลงตนเองให้ขึ้นสู่ระดับอันสูง จึงควรสำเหนียกหรือสนใจในคำว่า “เรา” อย่าให้เป็นใหญ่กว่าเหตุผลทุก ๆ ด้าน แม้ใครจะว่าเราผิดซึ่งเป็นสิ่งจะควรเสียใจ เราอย่าปล่อยให้ “เรา” นั้นเข้าไปแฝงในสิ่งนั้น จะกลายเป็นความผิดเพิ่มขึ้นมากกว่าความผิดที่ควรจะได้รับ นี่เป็นเรื่องสำคัญ

และการปฏิบัติเราอย่าไปคาดอนาคต จะเป็นวันนั้นเดือนนั้นปีนั้นก็ตาม จะเป็นสถานที่นั้น ๆ ก็ตาม โปรดให้ดูตัวของเราในปัจจุบัน ว่าขณะนี้มีความบกพร่องที่ตรงไหนในด้านการปฏิบัติทางกายและทางวาจา ตลอดถึงความคิดภายในใจอันเป็นตัวเหตุตัวผล จะทำความบกพร่องและสมบูรณ์แก่ตนเองอยู่โดยเฉพาะนี้ โปรดได้ทำความสนใจต่อจุดนี้ให้จงดี เรื่องความบกพร่องจะค่อยปรากฏเป็นความสมบูรณ์ขึ้นมาที่กายวาจาใจของท่านผู้นั้น ส่วนผลจะพึงได้รับเป็นลำดับ ๆ เนื่องมาจากความสนใจต่อความบกพร่องของตนนี้ ก็จะค่อยเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน

เพราะหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถือปัจจุบันเป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและกาลใด ความโง่ความฉลาด ความดีความชั่ว โปรดได้ทราบว่ามิได้อยู่ในกาลสถานที่อื่นใด นอกจากจะอยู่กับวงปัจจุบันคือตัวของเราที่ปรากฏอยู่ ณ บัดนี้เท่านั้น ฉะนั้นการแก้เรื่องทั้งนี้จึงควรจะทำความสนใจลงในจุดปัจจุบันที่ทำความเคลื่อนไหวต่อตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งฝ่ายผิดฝ่ายถูกดีชั่ว เราจะได้เห็นช่องทางการแก้ไขความบกพร่องซึ่งปรากฏตัวอยู่ในวงปัจจุบัน คือกายวาจาใจของเราเป็นลำดับ เรื่องความสมบูรณ์เมื่อความบกพร่องได้ถูกแก้ไขเป็นลำดับไปแล้ว จะปรากฏตัวขึ้นมาในบุคคลผู้นั้นโดยไม่ต้องสงสัย

การจะปฏิบัติไปข้างหน้าคืออนาคต คือเดือนหน้าปีหน้าหรือสถานที่ใด ๆ จะให้เป็นไปเพื่อความเจริญแก่ตนเอง โปรดได้ดูหลักคือตัวเหตุสำคัญ ได้แก่ตัวของเรานี้ ถ้าเราอยู่ในสถานที่นี่ไม่มีความสามารถจะปฏิบัติตนเองในสิ่งที่บกพร่อง เราจะไปที่อื่นใครจะเป็นผู้สามารถ ถ้าเราพยายามแก้ไขความบกพร่องที่มีอยู่กับตัวของเราได้ด้วยความสนใจของเราทุกขณะนี้แล จะไปอยู่สถานที่ใดเวลาใดก็ตาม ผู้นั้นย่อมจะมีความเจริญอยู่ภายในตัวเสมอ อยู่ที่นี่ก็ดี วันนี้ก็ดี วันหน้าก็ดี สถานที่อื่นก็ดี ถ้าเราได้รู้หลักฐานแห่งการปรับปรุงตนเองว่าจะควรปรับปรุงที่ตรงไหนแล้ว

ฉะนั้นในเวลานี้เป็นเวลาที่เรามาศึกษา โปรดทำความสนใจต่อหมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์และตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งเห็นว่าส่วนใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง พยายามดัดแปลงตนเอง จนมีความสนิทสนมกลมกลืนกันกับหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ที่หมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์พาดำเนินมา เมื่อความเคยชินได้กลมกลืนกันกับนิสัยของเราแล้ว ไปที่ไหนจะเป็นความสะดวก

การปฏิบัติถ้าไม่มองดูตัวเองซึ่งเป็นตัวเหตุทั้งทางดีและทางชั่วแล้วจะหาความเจริญได้ยาก ไปที่นั่นก็จะตำหนิที่นี่ ไปที่ไหนก็ไม่ดี เพราะเรามองนอกเกินไปผิดจากหลักความจริงแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ เราต้องมองดูตัวของเราเสมอ การดัดแปลงตนเองให้ถือว่าเป็นสิทธิอำนาจหรือหน้าที่ของตน ไม่มีผู้อื่นใดจะมีความสามารถมาดัดแปลงตนเองได้เช่นเราดัดแปลงตนเอง นี่หลักสำคัญ

ฉะนั้นขอให้พากันทำความสนใจในตัวของเราแต่ละท่าน ๆ อย่าเห็นว่าความผิดถูกจะปรากฏขึ้นจากที่อื่นนอกจากตัวของเราแต่ละราย ๆ ถ้าเราทำความเข้าใจไว้เช่นนี้แล้ว การจะแก้ไขความชั่วและการจะบำเพ็ญความดีจะเป็นเรื่องของเราคนเดียว ไม่ต้องอิดเอื้อนไปตามกาลสถานที่และบุคคลใด ๆ เพื่อมาปลดเปลื้องหรือแก้ไขให้เรา

เราพยายามฝึกหัดสติปัญญา ให้เป็นองค์ความเพียรขึ้นมาภายในใจของเราไม่ได้ในสถานที่นี่แล้ว สถานที่อื่นสถานที่ใดจะไม่เป็นสถานที่ร่มเย็นเพื่อเรา นอกจากวิธีฝึกฝนอบรมตนเองด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อได้รับโอวาทจากครูบาอาจารย์ไปแล้ว

คำว่าสัจธรรมคือของจริงทั้งสี่ประการ เราจะไม่ไปหาที่ไหนมาเพิ่มเติม เมื่อความสนใจและความเพียรของเรามีเพียงพอภายในตัวของเราแล้ว เดินไปที่ไหนมาที่ใด จะมองเห็นแต่อริยสัจเต็มไปหมดทั้งตัว ทุกฺขํ เคยให้โอกาสกับบุคคลและสัตว์รายใดบ้าง ว่าเกิดขึ้นมาแล้วไม่ต้องมีความทุกข์เดือดร้อนทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เป็นเอกราชในโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ และคำว่าไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้เคยเป็นภาชนะหรือเป็นอาสนะสำหรับรับรองให้บุคคลผู้ใดสัตว์ตัวใดได้เหยียบย่ำไปบ้าง ไม่เคยมี เมื่อได้ปรากฏขึ้นมาในโลกขันธ์อันนี้แล้ว ต้องเป็นไปตามสภาพแห่งหลักของอริยสัจและไตรลักษณ์ทั้งนั้น แล้วเหตุใดเราจะมองลงไปที่นี่แล้วไม่พบสัจธรรมที่กล่าวนี้เล่า

ทุกฺขํ เต็มไปทั่วทั้งโลก ประกาศอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่กาลไหน ๆ ทำไมจึงจะไม่สะดุดใจของผู้มีความเพียรที่ตั้งไว้แล้ว ทุกฺขํ ไม่เคยปล่อยช่องปล่อยโอกาส และไม่เคยขาดวรรคตอนไปจากความจริงของตน ที่เทศน์อยู่ภายในกายกับใจของบุคคลและสัตว์ทุก ๆ รายอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะไม่สามารถรู้ในเรื่องสัจจะมีทุกขสัจเป็นต้น ที่ประกาศอยู่ภายในตัวของเรา ใจผู้รับความรู้สึกจากสภาวะเหล่านี้ก็ไม่เคยขาดวรรคขาดตอน มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันกับสัจจะคือทุกขสัจนี้อยู่ตลอดเวลา เหตุใดเราจึงจะไม่ทราบว่า ทุกฺขํ ที่พระพุทธเจ้าและสาวกท่านตรัสว่าเป็นความจริงประจักษ์ใจของเราบ้างล่ะ

คำว่าสัจจะนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ผิดจากหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วแม้แต่น้อย และผู้จะปฏิบัติตรวจแจงดูเรื่องทุกขสัจโดยทางปัญญา เหตุใดจะกลายเป็นของปลอมขึ้นมาสำหรับพวกเรา โปรดพิจารณาดูภายในกายของเราเท่านั้นก็จะทราบชัดว่า เต็มไปด้วยทุกขสัจทั้งข้างบนข้างล่าง รอบตัวและรอบจิตใจด้วย นี่คือตัวผลที่ปรากฏเป็นวิบากขันธ์ขึ้นมา จากต้นเหตุคือภพชาติที่เนื่องมาจากอวิชชา มาเป็นผลปรากฏอยู่กับร่างกายของเรา นับแต่วันตกคลอดออกมา จนกระทั่งวันอวสานแห่งธาตุขันธ์นี้จะแตกทำลายไป

สถานีแห่งการหยุดของทุกขสัจจะไม่ปรากฏในที่ไหน ๆ นอกจากจะก้าวเดินไปตามเส้นทางของตนตลอดเวลา จนถึงจุดหมายปลายทางคือความแตกสลายแห่งขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นี้เท่านั้น จะไม่มีสถานีที่หยุดที่จอดพักของทุกข์เลย ว่าเวลานี้ทุกข์ได้พักได้จอดสถานีแล้ว ไม่ได้เที่ยวเพ่นพ่านไปทำลายสัตว์และบุคคลให้ได้รับความเดือดร้อน พวกเราทั้งหลายจะได้อยู่เย็นเป็นสุข สะดวกกายสบายใจ ไม่เคยปรากฏ

เพราะสถานีของทุกข์เป็นที่จอดพักไม่มี มีแต่ทำงานอยู่ตลอดเวลาภายในร่างกายและจิตใจของบุคคลและสัตว์ ผู้มีปัญญาได้พิจารณาตามหลักความจริงนี้แล้ว เหตุใดจะไม่สามารถรู้เรื่องความจริง แล้วถอนตนออกมาจากสภาพแห่งความจริงนั้น กลายเป็นความจริงอันหนึ่งขึ้นมาภายในใจโดยเด่นชัดเล่า

นี่เรื่องของทุกข์อธิบายขนาดนี้ท่านผู้ฟังพอจะเข้าใจ ว่ามีอยู่รอบด้านในตัวของเรา ส่วนแห่งอวัยวะทุก ๆ อาการเป็นเส้นทางเดินของทุกขสัจทั้งนั้น ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางของทุกข์ได้ทั้งนั้น แล้วเหตุใดจึงจะไม่สามารถรู้เรื่องของทุกข์ที่ดำเนินตามเส้นทางของตน ๆ โดยทางปัญญาของนักปฏิบัติเล่า

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมากี่พระองค์เราก็ไม่สามารถจะทราบได้ ว่าเราได้พบพระองค์ท่านกี่พระองค์ และได้เคยดำเนินตามท่านมากี่ครั้ง มาปัจจุบันนี้เราก็ไม่มีโอกาสทราบว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา เสด็จอยู่ที่ไหน เราได้พบได้เห็นท่านหรือเปล่า แม้ที่สุดธรรมะที่ประทานไว้นี้เป็นหลักความจริงล้วน ๆ และประกาศกังวานอยู่ภายในกายในใจของเรา เราก็ยังไม่มีโอกาสจะสามารถทราบแล้ว เราจะมีโอกาสไปทราบพระพุทธเจ้าที่ตรงไหนเวลาใด

หลักที่ประกาศทั้งหมดนี้ เป็นเส้นทางเดินที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปแล้วทั้งนั้น และประกาศไว้ให้พวกเราทั้งหลายได้ดำเนินตามทางสายนี้ เพื่อความหมดจดพ้นทุกข์ไปตามพระองค์ท่าน ให้เดินทางตามสายอริยสัจ ทุกฺขํ ดูให้ชัดให้เห็นเรื่องความทุกข์อย่างจริงใจ ประจักษ์ตามเรื่องของทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องความจริงอย่างเต็มที่เหมือนกัน

สมุทัย คือเหตุที่จะสามารถผลิตผลคือทุกข์ขึ้นมา ดูที่ดวงใจของเราก็รู้ ทุกข์ทางใจก็เช่นเดียวกันกับทุกข์ทางกาย เรื่องสมุทัยที่ดำเนินอยู่ภายในใจก็เช่นเดียวกัน ไม่มีสถานีเป็นที่จอดที่แวะพัก นอกจากจะกินอยู่หลับนอนอยู่บนหัวใจของคนและสัตว์ผู้มีสมุทัยเท่านั้น ไม่มีสถานีที่จอดที่พักพอที่จะให้ใจของคนและสัตว์ได้หยุดเพ่นพ่าน ทำความสะดวกสบาย ว่าสมุทัยได้หยุดจอดหรือแวะพักอยู่ในที่นั้น ๆ ไม่สามารถจะมารังควานหรือทำลายเราได้อีกแล้ว เราจะได้เที่ยวกินอยู่หลับนอนด้วยความสะดวกกายสบายใจ นี่ก็ไม่เคยมีอีกเหมือนกัน

เพราะเรื่องหัวใจนั้นเองเป็นเรื่องของสมุทัยอยู่แล้ว ความคิดทุกระยะที่ได้ปรากฏตัวออกมา ล้วนแล้วแต่ออกมาเป็นเรื่องของสมุทัย ออกมาจากรากฐานคือดวงใจที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะอยู่โดยตรง เมื่อได้กำหนดพิจารณาเข้าไปที่นี่ ทำไมจะไม่ทราบเรื่องของสมุทัย เรื่องของสมุทัยก็คือเรื่องของเราผู้ที่ผลิตขึ้นมานั่นเอง เพราะเหตุใด เพราะเราเป็นตัวกิเลส เราเป็นตัวสมุทัย ใครจะเป็นคนผลิตทุกข์ขึ้นมานอกจากเราคนนี้ ผู้เป็นตัวสมุทัยอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะเป็นเครื่องแก้ทุกข์แก้สมุทัย เราจะหามาจากที่ไหนอีก นอกจากจะปรากฏขึ้นที่กายที่วาจาใจของผู้มีความสนใจใคร่ต่อมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น จะกลายเป็นกายวาจาใจที่เป็นมรรคขึ้นมาภายในผู้นั้น สติกับปัญญาซึ่งเป็นหัวหน้างานหรือเป็นผู้บงการในงานต่าง ๆ ก็มีอยู่กับใจของเรานี้

เมื่อได้ตรวจแจงลงไปตามจุดของสมุทัยที่ปรากฏขึ้นจากใจ เหตุใดจะไม่ทราบ เพราะสมุทัยนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตัวเองจากหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แล้วแม้แต่น้อย เช่นเดียวกันกับเรื่องของทุกข์ แม้ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ต้องเป็นธรรมเครื่องแก้ทุกข์อยู่นั้นเองตลอดกาลไหน ๆ เมื่อเราได้นำมาดำเนินให้ถูกต้องตามหลักแห่งสวากขาตธรรมแล้ว เรื่องของสมุทัยจะทนอยู่ไม่ได้ภายในหัวใจของเราแต่ละท่าน ๆ จะต้องถูกถอดถอนขึ้นมาโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจของสติและปัญญาที่ประกอบเข้าเป็นองค์แห่งความเพียรของผู้สนใจ

เรื่องของทุกข์ซึ่งเป็นตัวผลจะไม่ปรากฏเผาลนหัวใจของผู้นั้น นับแต่วันสมุทัยได้หมดสิ้นไป เพราะอำนาจแห่งมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ทำการรื้อถอนหมดแล้ว คำว่า นิโรธะ คือความดับทุกข์ เราไม่ต้องไปหาที่ตรงไหน ขอแต่สติกับปัญญามีความสามารถถอดถอนต้นเหตุคือสมุทัยออกได้เท่านั้น ทุกข์ดับไปขณะไหน นิโรธะก็ปรากฏขึ้นมาในระยะหรือขณะเดียวกันนั่นเองเป็นลำดับ ๆ ของทุกข์ที่ดับไป สมุทัยดับไปอย่างเต็มที่ ทุกข์ก็ดับไปอย่างเต็มที่ นิโรธะก็ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

อริยสัจทั้งสี่นี้ไม่มีความบกพร่องในตัวของเราพอจะเป็นผู้มีวาสนาน้อย ไปหาคว้าสัจจะมาจากที่อื่น ๆ แต่การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องความฉลาดของผู้จะสนใจใคร่ต่อคุณธรรมของพระพุทธเจ้า แสวงหาได้ในที่ต่าง ๆ มาเป็นเครื่องประดับตนและแก้ไขตนเอง เพราะคำว่าภายนอกกับภายในนั้นเป็นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ฝ่ายดีก็เป็นได้ ฝ่ายชั่วก็เป็นได้ เพราะทุกข์ สมุทัย เกี่ยวเนื่องได้ทั้งภายนอกภายใน เช่นเดียวกับโจรแม้อยู่ในบ้านนี้ เขาลักของหรือขโมยของในบ้านนี้ก็ได้ เขาไปขโมยของในบ้านอื่นก็ได้ ในที่อื่นไกลที่ไหนเขาก็ได้ ลักษณของสมุทัยก็เป็นไปได้ทั้งใกล้และไกล

และเรื่องของมรรคก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คนดีก็ไม่ใช่จะอยู่ในบ้านตลอดเวลา ออกนอกบ้านก็ต้องเป็นคนดี อยู่ในบ้านก็เป็นคนดี ไปได้เหมือนกันกับคนชั่ว เพราะฉะนั้นเรื่องของมรรคจึงสามารถที่จะทำหน้าที่ถอดถอนกิเลสเพื่อตนเองได้ทั้งภายนอกภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องภายนอกภายในจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญของผู้มีความเพียร

ขอให้พากันทำความสนใจต่อความเพียรเพื่อถอดถอนตนเอง อย่าทำความเคยชินต่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเนิ่นช้า เราอย่าทำความเคยชินต่อตัวเองอันเป็นเหตุที่จะให้เกิดความนอนใจ จะถอนตัวไม่ขึ้น โลกนี้เคยเป็นโลกมานาน เราก็เคยเป็นเรามานาน เคยเป็นโลกมานาน เราได้เคยแปลกจากตัวของเราที่ตรงไหนบ้าง เมื่อเราไม่แปลกจากเราที่ตรงไหนแล้ว เรากับโลกจะแปลกกันที่ตรงไหนพอจะทำความประมาทนอนใจ และติดมั่นในสภาวะทั้งหลายที่เกี่ยวกับเราและเรื่องของเรา

ถ้ามีสติอยู่กับตัวแล้วนับวันจะเป็นผู้มีความฉลาดภายในตัวเอง ความรู้สึกทุกขณะที่เป็นไปอยู่ภายในใจ จะไม่เป็นโมฆะสำหรับท่านผู้นั้น จะเป็นความเพียรอยู่ตลอดเวลาในเมื่อความรู้สึกกับสติได้มีความติดต่อกัน ใจที่หาความสงบไม่ได้และหาความแยบคายภายในตนเองไม่ได้ เนื่องจากใจที่ขาดสติ สติไม่ติดต่อปัญญาก็ไม่ก้าวเดิน ความเพียรก็เรียกว่าขาดวรรคขาดตอน เพราะเหตุแห่งความขาดสติเป็นหลักสำคัญ สัจธรรมแม้จะมีเต็มทั้งโลก


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก