เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
สติปัฏฐานสี่
การบำเพ็ญเพียรที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าและพระสัทธรรม คือความจงใจใคร่ต่อการประพฤติดีจริง ๆ ธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกอย่างควรทำด้วยความจงใจ การประกอบการงานทุกประเภทถ้าขาดความจงใจแล้ว แม้จะเป็นงานเล็กน้อยย่อมไม่สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยและน่าดูเลย เพราะความจงใจเป็นเรื่องของสติ และหลักใจที่จะยังงานนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ขาดไปจากตัวและวงงาน ผู้มีสติและหลักใจประจำตัวและงานจึงชื่อว่าผู้มีความเพียรไปในตัว ทั้งกิจนอกการใน ถ้าขาดความจงใจเป็นเครื่องจดจ่องานแล้ว แม้ผู้เป็นนายช่างทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีความฉลาดอยู่บ้าง ทำอะไรมีความสวยงามและแน่นหนามั่นคง แต่ถ้าขาดความจงใจใคร่ต่องานแล้ว แม้งานนั้นจะสำเร็จก็ย่อมลดคุณภาพและความสวยงาม ฉะนั้นความตั้งใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้มุ่งต่อผลของงานอันสมบูรณ์จึงไม่ควรมองข้ามไป
เราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ควรเห็นความตั้งใจจดจ่อต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกประเภท โดยมีความรู้สึกอยู่กับงานนั้น ๆ แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัดเช็ดถูกุฎี และศาลา ปูอาสนะ ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน ตลอดการเคลื่อนไหวไปมา เหลือบซ้ายแลขวา ควรมีสติประจำอยู่ทุก ๆ ขณะ ชื่อว่าผู้มีความเพียรประจำตน การฝึกหัดนิสัยเพื่อเป็นคนมีสติอันเคยชิน จำต้องอาศัยการงานเป็นเครื่องฝึกหัด การประกอบการงานภายนอกแต่ละประเภทเป็นธุระชิ้นหนึ่ง ๆ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาเป็นธุระชิ้นหนึ่ง ๆ ทั้งนี้ถ้ามีสติจดจ่อกับงานที่ทำ ชื่อว่ามีความเพียรไม่ขาดวรรคขาดตอน
การฝึกหัดนิสัยของผู้ใคร่ต่อธรรมชั้นสูง จึงควรเริ่มและรีบเร่งฝึกหัดสติไปกับงานทุกประเภทแต่ต้นมือ เพื่อความแน่นอนและมั่นคงในอนาคตของเรา โปรดฝึกหัดสตินิสัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกลายเป็นคนมีสติประจำตน ทั้งขณะที่ทำและขณะอยู่เฉย ๆ ถึงเวลาจะทำความสงบภายในใจ สติจะกลายเป็นธรรมติดแนบอยู่กับใจและตั้งขึ้นพร้อมกับความเพียรได้อย่างใจหมาย ทั้งมีกำลังพอจะบังคับจิตให้หยั่งลงสู่ความสงบได้ตามต้องการ
ส่วนมากที่พยายามให้จิตเข้าสู่ความสงบไม่ได้ตามใจหวังนั้น เนื่องจากขาดสติที่เป็นแม่แรงไม่มีกำลังพอ จิตจึงมีโอกาสเล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ได้อย่างง่ายดาย เหมือนเด็กซนซึ่งปราศจากพี่เลี้ยงผู้ตามดูแล เด็กอาจได้รับอันตรายในเวลาใดก็ได้ จิตที่มีความเพลินประจำตนโดยปราศจากสติตามรักษา จึงมีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนหาความสงบสุขไม่ได้ พี่เลี้ยงของจิตคือ สติกับปัญญา คอยให้ความปลอดภัยแก่จิตตลอดสายที่จิตคิดไปตามอารมณ์ต่าง ๆ คอยพยายามปลดเปลื้องอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ และพยายามแสดงเหตุผลให้จิตรับทราบเสมอ ใจที่ได้รับเหตุผลจากปัญญาพร่ำสอนอยู่เป็นนิจ จะฝืนคิด และติดอารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึกต่อไปอีกไม่ได้
การฝึกหัดสติและปัญญาเพื่อให้มีกำลังคืบหน้าไม่ล่าถอยเสื่อมโทรม โปรดฝึกหัดตามวิธีที่กล่าวมา แต่อย่าปล่อยตัวเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจการทุกอย่างที่มุ่งประโยชน์ แม้ชิ้นเล็ก ๆ นิสัยมักง่ายที่เคยเป็นเจ้าเรือนนี้ยังจะกลายเป็นโรคเรื้อรังฝังลงในใจอย่างลึก และจะทำลายความเพียรทุกด้านให้เสียไป จงพยายามฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนต่อกิจการที่ชอบทั้งภายนอกภายในเสมอ อย่ายอมปล่อยให้ความสะเพร่ามักง่ายเข้าฟักตัวอยู่ในนิสัยได้เลย เพราะผู้เคยฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงต่อหน้าที่การงานทุกประเภท ต้องเป็นผู้สามารถจะยังกิจการทุกอย่างไม่ว่าภายนอกภายในให้สำเร็จได้ โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากีดขวาง แม้จะอบรมจิตใจซึ่งเป็นงานสำคัญทางภายใน ก็จำต้องประสบความสำเร็จลงด้วยความรอบคอบหาทางตำหนิตนเองไม่ได้ เพราะกิจการภายนอกกับภายในส่อถึงใจผู้เป็นประธานดวงเดียวกัน ถ้าใจเป็นนิสัยมักง่าย เมื่อเข้าไปบ่งงานภายในต้องทำงานนั้นให้เหลวไปหมด ไม่มีชิ้นดีเหลืออยู่พอเป็นที่อาศัยของใจได้เลย
เพื่ออนาคตอันแจ่มใสของผู้มีงานเป็นอาชีพและอำนวยความสุข จึงควรฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนและจริงต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำ จงทำจนสุดวิสัยในกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จลงด้วยหมดความสามารถทุกกรณี เมื่อเข้าไปดำเนินงานภายในเพื่อความสงบก็ดี เพื่อทางปัญญาการค้นคว้าก็ดี จะเป็นไปด้วยความละเอียด และรอบคอบทั้งสองทาง เพราะหลักนิสัยซึ่งเคยอบรมเป็นคนจริง และรอบคอบมีมาเป็นประจำ การดำเนินปฏิปทานับแต่ต้นจนถึงชั้นสูงสุดยอด ย่อมขึ้นอยู่กับหลักนิสัยเป็นสำคัญ คำว่าต้น หรือปลาย ก็หมายถึงใจดวงเดียวนี้แล ซึ่งจะเปลี่ยนสภาพความรู้สึกไปตามธรรมเครื่องดัดแปลง ทั้งฝ่ายเหตุคือการบำเพ็ญ และผลคือความสุข เช่นเดียวกับเด็กค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเด็กขึ้นเป็นผู้ใหญ่ด้วยอาหารเครื่องบำรุงนานาชนิด
ดังนั้น ต้นทางจึงหมายถึงการอบรมจิตใจขั้นแรก ๆ เพื่อเปลี่ยนนิสัย และความรู้สึกให้เป็นไปในทางที่ดี และมีเหตุผล จนมีความรู้ และทรงตัวอยู่กับความดี และเหตุผลที่ควรแก่ตนเอง ไม่ยอมฝ่าฝืน แต่เมื่อสรุปความแล้ว ต้นกับปลายก็เปรียบเหมือนผลไม้ลูกหนึ่ง ๆ ซึ่งเราไม่อาจเรียกได้ว่าต้นกับปลายของมันอยู่ที่ไหน มองดูแล้วก็คือผลไม้นั่นเอง
ใจก็ทำนองเดียวกัน ที่เรียกกันว่าต้นทางหรือปลายทางนั้น เนื่องจากใจที่มีอารมณ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียดเคลือบแฝงอยู่ ตลอดการดัดแปลงแก้ไข จำต้องเปลี่ยนอุบายวิธีแปลกต่างจากความเป็นอยู่เดิม ขึ้นสู่ความละเอียดเป็นขั้น ๆ ไป ซึ่งควรจะให้นามไปตามความเหมาะสมว่าต้นทางหรือปลายทาง ท่านผู้ฟังโปรดทำความเข้าใจกับกิเลส และบาปธรรมที่มีอยู่ภายในใจ ถึงกับได้ให้ชื่อให้นามต่าง ๆ นานา จนอาจจะเลยขอบเขตของการตามรู้ และแก้ไขในสมมุตินิยมของใจดวงเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้อุบายวิธีแก้ไขตนเอง ซึ่งกำลังตกอยู่ในฐานะที่กล่าวมา
หลักประกันผลอันแน่นอนจึงขอย้ำอีกครั้งว่า โปรดฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงและเข้มแข็งต่อหน้าที่การงานของตนเสมอ อย่าเป็นคนง่อนแง่นคลอนแคลน อย่าเป็นคนจับจด อย่าเป็นคนเข้า ๆ ออก ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ หาความแน่นอนไม่ได้ ว่าจะไปต้องไป ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะทำต้องทำ กำหนดเวล่ำเวลา หรือกิจการอันใดไว้แล้ว อย่าทำให้เคลื่อนคลาดจากที่กำหนดไว้ เราเขียนด้วยมือจงลบด้วยมือ อย่าทำทำนองที่ว่าเขียนด้วยมือแต่กลับลบด้วยฝ่าเท้า คือเราตั้งคำสัตย์ใส่ตัวเองไม่มีใครอาจเอื้อมมาทำลายคำสัตย์นั้น แต่เป็นเราเสียเองทำลายคำสัตย์ของตน เช่นนี้เรียกว่า เขียนด้วยมือแต่กลับลบด้วยฝ่าเท้า เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง
เราต้องเป็นคนแน่นอนต่อความดำริ และต้องตัดสินใจเสมอ ลงได้ตัดสินใจกับงานใดหรือสิ่งใด ที่เห็นว่าเป็นการถูกต้องและเป็นประโยชน์แล้ว จงพลีชีพลงไปเพื่อคำสัตย์ และเพื่องานนั้น ๆ จะเป็นคนมีนิสัยแน่นอนและเชื่อใจตัวเองได้ ศีลที่กำลังรักษาอยู่ก็จะเป็นศีลที่แน่นอน ไม่กลับกลายเป็นศีลลอยลม การทำสมาธิก็เป็นสมาธิที่แน่นอนทุกขั้นของสมาธิ จะไม่เป็นสมาธิลอยลม คือได้แต่ชื่อ แต่หาความจริงของสมาธิไม่มีในใจ แม้การบำเพ็ญปัญญาทุกขั้นก็จะเป็นปัญญาที่แน่นอนตามหลักนิสัยคนจริง ไม่กลับกลายไปเป็นปัญญาลอยลม คือได้แต่ชื่อ แต่หาความเฉลียวฉลาดปลดเปลื้องตนไม่มี ที่กล่าวทั้งนี้เพื่อให้เห็นโทษแห่งความเป็นคนหลักลอย ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หาความจริงภายในตัวไม่ได้ เพื่อผู้มุ่งความเจริญทางโลกและทางธรรมอย่างแท้จริง จะได้หาทางหลีกเว้นให้ห่างไกล
อันดับต่อไป กล่าวถึงสติปัญญาเครื่องรักษานิสัยให้มั่นคง และให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น โปรดทราบเสมอว่า ปัญญาจะทำการหุงต้มแกงกินเหมือนอาหารหวานคาวย่อมไม่ได้ แต่ปัญญาชอบเกิดจากการคิดอ่านไตร่ตรอง คนไม่มีปัญญาความฉลาดจะประกอบการงานทุกชิ้นให้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยย่อมไม่ได้ และไม่สามารถจะรักษาสมบัติอันมีค่าให้ปลอดจากโจรจากมารได้ ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม ฉะนั้น การรักษาและปฏิบัติพระศาสนาจึงสำคัญอยู่ที่สติและปัญญา เมื่อมีเหตุมากระทบ ไม่ว่าเหตุดีหรือชั่ว สติกับปัญญาควรรับช่วงเสมอ จะมีทางทราบสาเหตุดีและชั่วได้ทันกับเหตุการณ์ และมีทางหักห้ามใจ ไม่ให้รวนเรไปตามเหตุที่จะทำให้เสีย โดยมากเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องกะทันหันหรือเรื่องธรรมดาก็ตาม แต่สามารถทำใจให้เอนเอียงหรือเสียไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้ เนื่องจากขาดสติกับปัญญาคอยสังเกตตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน จึงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ควรไปเสียทั้งนั้น แล้วปล่อยใจให้คล้อยไปตามโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก กว่าจะรู้ทันเวลาจึงเสียไป แล้วไม่สามารถจะหักห้ามไว้ได้ จึงปล่อยเลยตามเลย เรื่องจึงก้าวไปถึงความเป็นเถ้าถ่านหมดทางแก้ไข
ทั้งนี้อย่าเข้าใจว่าเป็นไปเพราะเหตุใด แต่เป็นเพราะขาดสติกับปัญญาเครื่องนำออกทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นใครจะยอมสละตัวอันมีคุณค่าเหนือสิ่งใดในโลก ไปแลกเปลี่ยนกับความเหลวแหลกเช่นนั้น แต่มันสุดวิสัยจำต้องยอมจำนนไม่ว่าท่านว่าเรา เมื่อถึงคราวจวนตัวย่อมมีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา หยิบฉวยอะไรไม่ทันก็จำต้องเป็นไปตามเหตุอันรุนแรงกว่ากำลังของจิตที่จะต้านทาน ฉะนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์อันมีอยู่รอบตัวทั้งภายในภายนอก และพร้อมที่จะเข้ามาเผชิญกับทุกคนโดยไม่มีกำหนดเขตแดนและเวล่ำเวลา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมตัวไว้แต่บัดนี้ อย่าให้สายเกินไปทั้ง ๆ ตะวันยังเช้าอยู่ (ขณะยังมีชีวิตอยู่)
การเตรียมพร้อมทั้งนี้ คือการบำเพ็ญตัวให้มีหลักฐานทั้งภายในภายนอก เพื่อการอยู่การไป ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรืออยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นที่นั่นหรือจะเป็นที่โน้น ไม่ว่าจะอยู่โลกนี้หรืออยู่โลกหน้า และไม่ว่าจะไปโลกนี้หรือจะไปโลกหน้าควรเตรียมตัวไว้แต่บัดนี้ คือปัจจุบันซึ่ง ๆ หน้านี้แล หากชีวิตหาไม่แล้วจะเตรียมอะไรไม่ทัน เพราะไม่เคยเห็นในธรรมของศาสดาพระองค์ใดสั่งสอนว่า จงไปเตรียมตัว วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้า และโลกหน้าโน้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมคนให้งมงาย เห็นมีบอกไว้ว่า จงทำตนให้มีที่พึ่งทั้งภายนอกและภายใน ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้ทั้งนั้น แม้วันคืน เดือน ปี และโลกนี้โลกหน้าเป็นของมีอยู่ประจำโลก ก็มิได้มีไว้เพื่อโมฆบุรุษผู้เกิดและตายเปล่า ๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ไว้แก่โลกและธรรมเลย
เฉพาะนักบวชและนักปฏิบัติผู้มีเพศที่เย็น และเป็นเพศที่โลกเคารพเลื่อมใสและไว้วางใจ ทั้งเป็นเพศที่มีโอกาสในการบำเพ็ญประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านได้มากกว่าใคร ๆ ในโลก เราทุกท่านที่ทรงไว้ซึ่งเพศดังกล่าวนั้น จึงควรเตรียมพร้อมในหน้าที่ของพระอย่าให้บกพร่อง ความประพฤติของพระจะสามารถทรงความสวยงามเป็นที่น่ายินดีและเลื่อมใสไว้ได้ ต้องอาศัยสติกับปัญญาเป็นพี่เลี้ยงตามรักษาทุกระยะความเคลื่อนไหว ผู้มีสติปัญญาตามรักษาความประพฤติ ย่อมงามทั้งภายนอกงามทั้งภายใน และเป็นผู้ทรงความงามไว้ได้ไม่จืดจางตลอดกาล เมื่อนำสติกับปัญญาเข้าไปแก้ทางภายใน คือใจกับอารมณ์ที่ทำให้รกรุงรังก็กลายเป็นใจที่ใสสะอาด และมีคุณค่าขึ้นมาทันที
อนึ่ง ความจำได้จากการศึกษาเล่าเรียนมากับความจำได้จากการฟัง จงน้อมเข้ามาเป็นเครื่องสนับสนุนให้กลมกลืนกับการปฏิบัติ สติกับปัญญาให้แนบสนิทอยู่กับใจ และความเคลื่อนไหว ตามองไปถึงไหน หูได้ยินถึงไหน สติกับปัญญาจงติดตามถึงที่นั้น จมูก ลิ้น กาย สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ดี ชั่ว หยาบ ละเอียดแค่ไหน สติปัญญาจงตามรู้ และค้นดูสาเหตุของสิ่งที่มากระทบโดยแยบคาย และทุกครั้งที่ได้สัมผัสกัน แม้อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในใจต้องตามรู้ และพิจารณาไม่ขาดตอน เพราะท่านที่หลุดพ้นไปจากโลกแห่งความยุ่งเหยิงภายในใจ ท่านทำอย่างนี้ทั้งนั้น ท่านไม่ได้ทำแบบไม้ซุงทั้งท่อนที่ทิ้งอยู่บนพื้นดินให้เด็ก ๆ ปีนขึ้นแล้วถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดทั้งวันทั้งคืน
ผู้ทำตัวให้เป็นเช่นไม้ซุงทั้งท่อน กิเลสตัณหามาจากทิศต่าง ๆ คือมาจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส และจากเครื่องสัมผัส ล่วงไหลเข้ามาช่องภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดลงไปที่หัวใจดวงที่ทำตัวเป็นเหมือนไม้ซุงทั้งท่อนนั้น เพราะไม่มีความฉลาดแยบคาย ไม่มีความรอบคอบต่อตัวเอง และอารมณ์ทั้งภายนอกและภายใน ยอมตัวให้กิเลสตัณหาถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดทั้งวันทั้งคืน นี่ไม่สมควรเลยสำหรับผู้มุ่งดำเนินเพื่อวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน เพราะพระนิพพานของพระพุทธเจ้า และพระสาวกไม่ใช่พระนิพพานเกียจคร้าน และไม่ใช่พระนิพพานแบบไม้ซุงทั้งท่อน
ผู้หวังธรรมเช่นนั้นครองดวงใจ ก็จำต้องพยายามปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับร่องรอยปฏิปทาของพระองค์ และพระสาวกท่านดำเนิน คือพยายามฝึกหัดอบรมสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เป็นไปอยู่ทั้งภายในภายนอกตลอดเวลา อย่าทำตัวเหมือนซุงทั้งท่อน คือเดินก็สักแต่ว่าเดิน นั่งก็สักว่านั่ง ภาวนาก็สักว่าภาวนาเท่านั้น แต่แล้วนั่งอยู่เหมือนหัวตอกลางไร่กลางนา หาความรู้สึกรอบคอบประจำใจไม่มีเลย การสักแต่ว่าทำนี้จึงไม่ผิดอะไรกับเขานั่งนอนธรรมดา
เพื่อความเป็นลูกศิษย์พระตถาคต ผู้มีพระนามกระเดื่องทั่วไตรภพ จงพยายามรื้อฟื้นสติ รื้อฟื้นปัญญาที่นอนจมอยู่กับใจขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนความเพียร ถอดถอนกิเลสตัณหาทุกประเภทที่เกิดจากใจ ซึ่งกำลังเป็นไม้ซุงทั้งท่อนอยู่ในขณะนี้ ที่ท่านให้นามว่า ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้บ่น ขี้โมโห ขี้หึง ขี้หวง เหล่านี้ล้วนแต่ขี้ และกองเต็มอยู่บนหัวใจทั้งนั้น เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมดังที่กล่าวมา สติปัญญานับวันจะมีกำลังและเคยชินต่อตนเอง เช่นเดียวกับการงานด้านอื่น ๆ เวลานำมาประกอบกับความเพียรภายในใจโดยเฉพาะ จะสามารถทราบเรื่องของหัวใจได้ในเวลาอันควรไม่เนิ่นนาน และเพื่อความมีหลักเกณฑ์ในการอบรม โปรดบังคับใจไว้ภายในกาย ใช้สติจดจ่อ และปัญญาท่องเที่ยวขุดค้นอยู่ในวงของกาย ชื่อว่าได้ดำเนินตามหลักสติปัฏฐานและอริยสัจ ซึ่งเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าทุก ๆ ประเภท
สติปัฏฐาน มีสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม กาย ได้แก่ อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนา ได้แก่ ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิต ได้แก่ สิ่งที่สัมปยุตด้วยเจตสิกธรรมที่ปรุงขึ้นจากจิตและย้อมจิตให้เป็นต่าง ๆ เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรม ได้แก่ อารมณ์ที่เป็นเป้าหมายหรือเครื่องเพ่งพิจารณาของใจ เป็นได้ทั้งวัตถุและนามธรรม เรียกว่า ธรรมานุปัสสาสติปัฏฐาน
การพิจารณาสติปัฏฐานสี่ โปรดทำความเข้าใจไว้ด้วยดีก่อนพิจารณา โดยทำความเข้าใจว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นแผนกหนึ่งจากจิตผู้เป็นเจ้าของสติปัฏฐาน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความท้อใจและทุกข์ใจในเวลา กาย เวทนา จิต ธรรม แสดงอาการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามธรรมดา หรือถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอำนาจการพิจารณา ซึ่งอาจปรากฏในวงปฏิบัติ คือเวลาปกติอาการทั้งสี่นี้ก็แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความดีใจ และเสียใจ ขณะพิจารณาก็แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ปฏิบัติเกิดความดีใจและเสียใจ บางขณะเกิดความท้อใจ และระอาต่อการจะทนพิจารณาไป
ที่กล่าวทั้งนี้เพื่อท่านนักปฏิบัติทราบ และทำความเข้าใจไว้โดยรอบคอบว่า ไม่ใช่ตัวจิตซึ่งเป็นเจ้าของสติปัฏฐาน ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย พอจะให้เกิดความเสียใจว่าตน (ใจ) ได้สูญเสียไปด้วย เมื่อทำความเข้าใจด้วยดีแล้ว จะเกิดความมั่นใจในการพิจารณาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานสี่คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จะถูกเปลี่ยนแปลงหรือหายไปไหน ใจซึ่งเป็นธรรมไม่ตายและเปลี่ยนแปลง จะมีโอกาสพิจารณาเต็มกำลัง และสามารถจะรู้เรื่องธรรมทั้งสี่นั้นอย่างชัดเจนตามลำดับ โดยไม่มีความสะท้านหวั่นเกรงต่อสุขและทุกข์ ทั้งภายในกายและภายในใจ อันเป็นอาการของสติปัฏฐานแสดงตัว
การพิจารณากายจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ได้ตามแต่ถนัดใจ ในโอกาสอันควรจะพิจารณากายไหน คำว่ากายใน คือกายของเราทุกส่วน กายนอก ได้แก่กายของคนและสัตว์อื่น กายในกาย ได้แก่ส่วนหนึ่ง ๆ ของอาการแห่งกายทุกส่วน สิ่งทั้งนี้ปรากฏตัวเป็นของน่าเบื่อหน่ายและสลดสังเวชแก่ผู้ใช้ปัญญาพิจารณารู้เห็นตามเป็นจริง ทั้งข้างนอกข้างใน และภายนอกภายในมีความเป็นเช่นเดียวกัน ต้องชำระขัดสีเป็นประจำ ฉะนั้นทั่วโลกจำต้องปฏิบัติต่อร่างกายและถือเป็นภาระประจำตลอดเวลา สิ่งต่าง ๆ ที่จะนำมาปฏิบัติต่อร่างกายให้พออยู่ได้และพอดูได้นั้น ปรากฏว่าทั่วโลกต้องถือเป็นสินค้าอันใหญ่โต และขายดิบขายดียิ่งกว่าวัตถุอื่นใดในโลก
การพิจารณาให้รู้ฐานที่เกิด ที่อยู่ พร้อมทั้งความเป็น และจำเป็นไปของร่างกายด้วยปัญญาจนเห็นชัด จึงเป็นการตัดบ่อแห่งความกังวล และกองทุกข์ออกจากใจ เพราะภูเขาหินแท่งทึบแม้จะใหญ่และสูงจดเมฆ ก็ไม่เคยทับถมตัวเราให้ได้รับความทุกข์ลำบากต่อขันธ์ มีรูปขันธ์ คือกายเป็นต้น รู้สึกเบียดเบียนและทับถมตัวเราอยู่ตลอดเวลา จนหาโอกาสปลงลงไม่ได้เลย เรื่องความทุกข์ทั้งมวลที่เกี่ยวกับขันธ์จึงมารวมอยู่กับเราผู้รับผิดชอบในขันธ์ ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของขันธ์จึงควรมีความรอบรู้ในขันธ์ ทั้งแง่ดีแง่ร้าย จึงจะอยู่ครองขันธ์ไปด้วยความราบรื่น ไม่เสียเปรียบแก่ขันธ์โดยถ่ายเดียว
ตามธรรมดาขันธ์เอาเปรียบเอารัดเราวันยังค่ำ ขยับตัวทุกระยะเป็นเรื่องเพื่อขันธ์เสียทั้งนั้น ถ้าจิตหาทางออกด้วยความฉลาดรอบคอบต่อขันธ์ของตน ทั้ง ๆ ที่มีความรับผิดชอบในขันธ์อยู่ ชื่อว่ามีทางแบ่งรับแบ่งสู้กันบ้าง ไม่ทำการรับเหมาทุกข์ในขันธ์ท่าเดียว แม้ทุกข์ในขันธ์ก็คงไม่ตั้งห้างร้านขายส่งทุกข์ให้เรารับเหมาโดยถ่ายเดียว ผู้พิจารณาขันธ์ให้เห็นทั้งคุณทั้งโทษด้วยปัญญาจึงไม่มีแต่ทางรับเหมาทุกข์จากขันธ์ตลอดไป ยังมีทางลดหย่อนผ่อนความตึงเครียดในทางใจได้บ้าง การพิจารณากายต้องพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยถือเอาความเข้าใจเป็นประมาณ แต่มิได้ถือเอาความขี้เกียจเป็นบรรทัดฐาน จนเห็นชัดจริง ๆ ว่า กายนี้เพียงสักว่า หาเป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา ที่ไหนไม่ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนา จิต ธรรม โปรดทราบว่ามีอยู่ในกายอันเดียวกัน เป็นแต่มีอาการแปลกต่างกันไปบ้าง ท่านจึงให้นามไม่ซ้ำกัน ท่านผู้บำเพ็ญโปรดทำความเข้าใจด้วยดี ไม่เช่นนั้น สติปัฏฐานสี่กับอริยสัจสี่จะกลายเป็นสมุทัย คือบ่อแห่งความสงสัยและกังวลในขณะบำเพ็ญ เพราะความสับสนไม่รู้เงื่อนต้นเงื่อนปลายของอาการแห่งธรรมเหล่านี้ เวทนามีสาม คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ทั้งเกิดขึ้นจากกาย และเกิดขึ้นจากใจ จะมีลักษณะสามเช่นเดียวกัน การพิจารณาโปรดแยกเวทนาออก และพิจารณาไปตามลักษณะของเขา แต่อย่าไปคว้าเอากายมาเป็นเวทนา กายให้เป็นกาย เวทนาให้เป็นเวทนา ทำนองเห็นเสือเป็นเสือ และเห็นช้างเป็นช้าง แต่อย่าไปคว้าเอาเสือมาเป็นช้าง จะเป็นการอ้างพยานไม่ตรงความจริง เรื่องจะลุกลามและลงเอยกันไม่ได้ตลอดกาล
คือแยกเวทนาที่แสดงอยู่ในขณะนั้นออกพิจารณา ให้รู้ที่เกิด ที่ตั้งอยู่ และที่ดับไป ฐานที่เกิดของเวทนาทั้งสาม เกิดขึ้นและตั้งอยู่ที่กายและที่ใจ แต่ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ คงเป็นเวทนาอยู่เช่นนั้น ทั้งการเกิดและการดับไปของเขา อย่าทำความเข้าใจว่าเป็นอื่น จะเป็นความเห็นผิด สมุทัยจะแสดงตัวออกมาในขณะนั้น จะหาทางแก้ไขและหาทางออกไม่ได้ แทนที่จะพิจารณาให้เป็นปัญญาถอดถอนตัวจากทุกข์ สมุทัย เลยจะกลายเป็นโรงงานผลิตทุกข์และสมุทัยขึ้นมาในขณะนั้นโดยไม่รู้สึกตัว ทางเดินของเวทนาทั้งสามคือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มีอยู่เพียงเท่านี้ทุกระยะกาล และไม่มีสัตว์ บุคคล เรา เขา แฝงอยู่เลย ถ้านำสัตว์ บุคคล เป็นต้น ไปแฝงเข้าในขณะใด เวทนาทั้งสามจะแสดงสัตว์บุคคลอันเป็นอำนาจก่อตัวสมุทัยขึ้นมาในขณะนั้น และเป็นการเสริมทุกข์ให้มีกำลังขึ้นมาทันที
ผู้ปฏิบัติจึงควรทำความรอบคอบต่อเวทนาด้วยปัญญา คือไม่คว้าเวทนามาเป็นตนในขณะทำการพิจารณา เวทนาทั้งสามจะปรากฏเป็นความจริงตามหลักสติปัฏฐานและอริยสัจขึ้นมาประจักษ์ใจ แม้เวทนาจะแสดงอาการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลงๆ ประการใด จะเป็นทางเสริมสติปัญญาของผู้บำเพ็ญได้ ทุกขณะที่เวทนาแสดงอาการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง ความเป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา จะไม่มีโอกาสแทรกเวทนาทั้งสามได้เลย นอกจากจะมีเท่าที่ปรากฏอยู่เพียงสักว่าเวทนาเท่านั้น ความเศร้าใจ ทุกข์ใจ และท้อใจ หรือความเห่อเหิมเพลิดเพลินในขณะที่เวทนาทั้งสามแสดงตัว จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะการทำความเข้าใจกับเวทนาได้โดยถูกต้อง และทุก ๆ เวลาที่ผู้บำเพ็ญทำความเห็นกับเวทนาโดยถูกต้อง ชื่อว่าผู้มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ประจำใจ
จิต คำว่าจิตในสติปัฏฐาน มิใช่จิตพิเศษและแปลกต่างไปจากสติปัฏฐานทั้งสาม ท่านจึงให้นามว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เสมอกับกาย เวทนา ธรรม ถ้าเทียบกับไม้ก็เป็นไม้ทั้งต้น ซึ่งเต็มไปด้วยกิ่งก้าน เปลือก กระพี้ รากแก้ว รากฝอย ซึ่งผิดกับไม้ที่นำมาทำประโยชน์จนปรากฏเป็นบ้าน เป็นเรือนแล้ว ผู้พิจารณาจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงเป็นเหมือนนำไม้ทั้งต้นมาแปรรูปให้เป็นต่าง ๆ ตามความต้องการ การพิจารณาจิตประเภทนี้ควรถือเอานิมิต คือความปรุงของจิตเป็นเครื่องพิสูจน์และพิจารณา เพราะการจะรู้ความเศร้าหมอง หรือผ่องใสของจิตได้ ต้องรู้เครื่องปรุงจิตเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นแม้จิตจะได้รับความเศร้าหมอง และกองทุกข์ตลอดทั้งวันจะไม่มีทางทราบได้ ถ้าไม่ทราบสิ่งปรุงจิตให้เป็นไปต่าง ๆ ก่อน
เราต้องการทราบจิต จำต้องพิจารณาสังขารเครื่องปรุงจิต ซึ่งเหมือนเครื่องปรุงแกงให้มีรสชาติต่าง ๆ จิตที่แสดงความเป็นต่าง ๆ ไม่มีสิ้นสุด และทำให้ผิดจากสภาพเดิมถึงกับเจ้าตัวเกิดความพิศวงงงงัน ไม่ทราบสาเหตุและวิธีแก้ไข จำต้องยอมจำนนไปตามเหตุการณ์ จนลืมสำนึกในทางผิดชอบชั่วดี ก็เพราะเรื่องของสังขารเครื่องปรุงจิตนั่นเอง ฉะนั้นคำว่า จิตในสติปัฏฐานจึงเป็นจิตที่คลุกเคล้ากับอารมณ์ โดยสังขารเป็นผู้ปรุงแต่ง การพิจารณาสังขารจึงเกี่ยวถึงจิต เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้ารู้เรื่องของสังขารก็เริ่มรู้เรื่องจิต และถ้ารู้เรื่องจิตก็ย่อมรู้เรื่องของสังขารได้อีก นับแต่สังขารขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด และจิตขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด คำว่า สังขารหยาบ ละเอียด และจิตหยาบ ละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากความเกี่ยวข้องของจิตกับอารมณ์มีทั้งหยาบและละเอียด
ผู้พิจารณาจิตตานุปัสสนาควรทำความเข้าใจไว้แต่ต้นมือว่า จิตกับเครื่องปรุงจิต คือสังขารเป็นคนละประเภท ไม่ใช่อันเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจิตกับสังขารจะคละเคล้ากัน ซึ่งจะทำความลำบากแก่การพิจารณา ตามที่อธิบายมาแล้ว โดยกำหนดความเกิดขึ้น และความเกี่ยวข้องของสังขาร สัมผัสกับอารมณ์อะไร พร้อมทั้งความดับไปของสังขารกับอารมณ์ พยายามสังเกต และสอดรู้ความเคลื่อนไหวของสังขาร ซึ่งจะเคลื่อนจากใจออกสู่อารมณ์ที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ทั้งหยาบ และละเอียด และโปรดทราบเสมอว่าทุก ๆ ประเภทของสังขาร และอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกัน ต้องเกิดและดับพร้อมกัน จะให้เป็นอื่นไปไม่ได้
คำว่าสัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นต้น จึงไม่ควรนำเข้าไปแทรกในจิต เพราะจะแปรรูปเป็นสมุทัยขึ้นมาทันที จงพยายามสังเกตให้ทราบว่า มันเป็นเพียงจิตสังขารอยู่เท่านั้น ทุก ๆ ขณะที่ปรุงแต่งขึ้นมา ปัญญาต้องมีทางทราบได้ตามลำดับแห่งการพิจารณา และต้องทราบตามนัยที่ท่านบอกไว้ว่า สักว่าจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา อะไรเลย ผู้พิจารณาเห็นตามจิตตานุปัสสนา ใจจะไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจ และเพลิดเพลินไปตามความปรุงแต่ง และสภาพความเป็นอยู่ สุข-ทุกข์ของจิต และชื่อว่าผู้มีจิตตานุปัสสนาประจำตน
ธรรม คำว่า ธรรม คือเป้าหมายที่เพ่งเล็งของใจ ถ้าเป็นธรรมส่วนละเอียดก็หมายถึงใจเสียเอง ธรรมภายนอกมีมากมาย ส่วนภายในถือเอากายทุกส่วน เวทนาทั้งสาม และจิตในจิตตานุปัสสนามาเป็นธรรมในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณากาย เวทนา จิต เข้าประสานกันครบองค์สติปัฏฐานสี่ ตามความเห็นของธรรมป่าว่าเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากจะเป็นความผิดพลาดเพราะความฉลาดไม่เพียงพอในความเข้าใจ และการอธิบาย ก็ขออภัยจากท่านผู้ฟังและท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย เพราะคำว่าธรรมป่าเป็นเรื่องจนใจสำหรับผู้แสดงทุก ๆ ครั้งที่แสดงและนำมาลงในหนังสือ ดังนั้นการฟังและการอ่านหนังสือธรรมป่าโปรดเจริญธรรมคือความไม่สีสาไว้บ้าง ทุกวรรคทุกตอนจะไม่มีความหนักใจเกิดขึ้นในขณะฟังและอ่าน
การพิจารณาสติปัฏฐานสี่ ให้เชื่อมกันเข้าในองค์ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนกลายเป็นธรรมแท่งเดียว รู้สึกเป็นความแปลกประหลาด และอัศจรรย์เป็นระยะ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาเบื้องต้น กายก็เทียบกับไม้ทั้งดุ้น เวทนาทั้งดุ้น จิตทั้งดุ้น แม้ธรรมก็ทั้งดุ้น เพราะการพิจารณาก็เป็นลักษณะไม้ทั้งดุ้น สิ่งที่ถูกพิจารณาจึงกลายเป็นเช่นเดียวกันไปหมด แต่เพราะความถูไปไสมาด้วยความเพียร ทุกสิ่งที่อยู่ในวงความเพียรก็ค่อยเปลี่ยนสภาพขึ้นมาเป็นลำดับ
ที่กล่าวในบทธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ค่อนข้างเป็นธรรมละเอียดไปบ้าง ในความรู้สึกจึงอดจะลืมบุญคุณของการพิจารณาในลักษณะไม้ทั้งดุ้นในตอนแรกไม่ได้ เมื่อพิจารณา ธรรม ในตอนปลายกับตอนต้นรู้สึกแปลกต่างกันมาก แม้จะเป็นสติปัฏฐานสี่อันเดียวกัน พอมาถึงตอนปลาย จิตปรากฏว่ากาย เวทนา จิต และธรรมทั้งสี่ในองค์สติปัฏฐานได้เชื่อมกันเข้า จนกลายเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานไปเสียสิ้น และประสานกันได้อย่างสนิท โดยไม่นิยมว่านั่นเป็นกาย นี่เป็นเวทนา นั่นเป็นจิต นี่เป็นธรรม ในความรู้สึกต่างก็รวมลงเป็นธรรมด้วยกัน
ในบทกาย เวทนา จิต ได้อธิบายวิธีพิจารณาเพื่อความปลดเปลื้องแก้ไขให้ท่านผู้ฟังทราบพอสมควร แต่พอมาถึงบทธรรมเลยกลายเป็นเรื่องของผู้แสดงไปเสียสิ้น แม้เช่นนั้นก็กรุณาถือเอาตามวิธีที่กล่าวมา และนำไปปฏิบัติตามจริตนิสัยของตน ๆ ผลประโยชน์คงจะได้รับเท่ากับที่อธิบายให้ท่านผู้ฟังทราบโดยตรง
สรุปความในสติปัฏฐาน คือ กาย มีกายใน กายนอก และกายในกาย เวทนาในเวทนานอก และเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ส่วนเวทนารู้สึกซับซ้อนอยู่บ้าง จึงขอแทรกความเห็นลงบ้างเล็กน้อย คือ เวทนาใน หมายถึง จิตเวทนา เวทนานอก หมายถึงกายเวทนา จิตใน จิตนอก และจิตในจิต จิตในหมายถึงจิตกับอารมณ์ที่ปรากฏอยู่ด้วยกันโดยเฉพาะ จิตนอกหมายถึงจิตที่กำลังเกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก จิตในจิตหมายถึงกระแสของจิตอันหนึ่ง ๆ ในกระแสจิตทั้งหลายที่คิดออกมาจากใจ และธรรมใน ธรรมนอก และธรรมในธรรมทั้งหลาย ธรรมในได้แก่อารมณ์หรือสภาวะที่เป็นส่วนละเอียด ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต หรือเป้าหมายเครื่องเพ่งเล็งของจิตด้วย ได้แก่จิตซึ่งเป็นที่ชุมนุมของธรรมทั้งหลายด้วย ธรรมนอกได้แก่สภาวะที่เป็นส่วนภายนอก ที่ควรเป็นอารมณ์ของใจได้ทุก ๆ ประเภท เรียกว่าธรรมนอกทั้งนั้น ธรรมในธรรมทั้งหลาย หมายถึง สภาวะอันหนึ่ง ๆ ในสภาวะทั้งหลาย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพ่งเล็งของใจ
อนึ่ง คำว่า กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ได้แก่ส่วนย่อย หรือส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหลาย เช่นผมเส้นหนึ่งในผมทั้งหลาย ฟันซี่หนึ่งในบรรดาฟันที่มีอยู่ทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่ากายในกาย ผู้พิจารณาส่วนหนึ่งของกายทั่วไป เรียกว่า พิจารณากายในกาย ส่วนเวทนา จิต ธรรม ก็มีนัยเช่นเดียวกัน จึงมิได้อธิบายไว้มาก เกรงเวลาจะไม่พอ ขอไว้ในโอกาสต่อไป
สติปัฏฐานทั้งสี่นี้ตามความรู้สึกของธรรมป่าเข้าใจว่า มีสมบูรณ์อยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์ แต่มิได้หมายความว่าภายนอกไม่จำเป็น จะทราบได้ชัดต่อเมื่อผู้บำเพ็ญสติปัฏฐานจนสามารถทำการประสานสงเคราะห์กันลงได้ ในธรรมานุปัสสนาล้วน ๆ แล้ว จิตไม่มีความติดใจที่จะไปเสาะแสวงหาสิ่งภายนอกมาสนับสนุนเลย เพียงพิจารณาอยู่เฉพาะในวงกาย วงจิต ก็ควรแก่การแก้ไขตนเองได้ด้วยสติปัฏฐานสี่ ซึ่งมีอยู่ในกายในจิตอย่างสมบูรณ์
แต่การพิจารณาเบื้องต้น ทุก ๆ สิ่งไม่ว่าภายนอกภายใน จะกลายเป็นของจำเป็นไปเสียสิ้น เพราะความติดข้องของจิตพาให้จำเป็น ต่อเมื่อถึงขั้นปล่อยวางเข้ามาเป็นลำดับแล้ว สภาวะนั้น ๆ ก็ค่อยหมดความจำเป็นเข้ามาเช่นเดียวกัน แม้กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมจำเป็นในองค์สติปัฏฐาน จิตจำต้องปล่อยวาง ไม่ควรยึดถือหรือแบกหามเอาไว้ให้เป็นภาระของใจ กลับกลายเป็นสิ่งที่ควรปล่อยวางทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาถึงขั้น ธมฺมา อนตฺตา เต็มที่แล้ว แล้วค่อยย้อนกลับมาพิจารณาประสานกันในวาระต่อไป เพื่อเป็นวิหารธรรมในทิฏฐธรรมปัจจุบัน ขณะที่จิตก้าวผ่านไปแล้วแต่ยังครองขันธ์อยู่
ท่านผู้บำเพ็ญถ้าหนักในสติปัฏฐานไม่ถอยหลัง นับวันจะรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นภายในใจเป็นระยะ ๆ ไป ถึงกาลอันควรจะได้รับ ผล ในธรรมขั้นใดที่เคยรับสนอง เหตุ ที่ผู้บำเพ็ญบำเพ็ญโดยถูกต้องแล้ว จำต้องปรากฏผลขึ้นมาเป็นขั้น ๆ โดยเป็นพระโสดาบ้าง พระสกิทาคาบ้าง พระอนาคาบ้าง และพระอรหันต์บ้าง โดยไม่ต้องสงสัย
ฉะนั้น การพิจารณาสติปัฏฐานสี่ก็ดี อริยสัจสี่ก็ดี โปรดทราบว่าเป็นเส้นทางเพื่อความพ้นทุกข์อันเดียวกัน แม้จะต่างกันอยู่บ้างก็เพียงสักว่าชื่อเท่านั้น แต่ในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน ผู้บำเพ็ญสติปัฏฐานกับผู้บำเพ็ญในอริยสัจสี่ก็เท่ากับประกอบการงานแขนงเดียวกัน เพราะทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กับกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสัจธรรมของจริงอันเดียวกัน เช่นเดียวกับผู้ทำงานต่าง ๆ ในโรงงานอันเดียวกัน ผลรายได้ย่อมเป็นของโรงงานทั้งสิ้นฉะนั้น
สรุปผลงานตอนสุดท้ายของผู้บำเพ็ญสติปัฏฐานและอริยสัจมาโดยลำดับ จากขั้นต้น คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งดุ้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้งดุ้น ด้วยการปฏิบัติแบบถูไปไสมาทั้งดุ้น ไม่ทราบความหนักเบา ลึกตื้น กว้างแคบในแง่แห่งธรรม และความผิด ถูก ชั่ว ดี ในการปฏิบัติ เพราะไม่เคยทำมา นับแต่ปู่ ย่า ตา ทวด ลงมาถึงพ่อ แม่ และวงศาคณาญาติ ก็ไม่เคยมีใครมาบอกเล่ากล่าวสั่งสอนว่า สติปัฏฐานและอริยธรรมเป็นลักษณะอย่างนั้น ๆ ต้องปฏิบัติอย่างนั้นจะได้รับผลอย่างนั้น ๆ แม้แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่มีโอกาสทราบได้ มิหนำยังพาสติปัฏฐานและอริยธรรมอันประเสริฐทั้งนี้ไปทิ้งจมน้ำ จมดิน และเผาไฟทิ้งนับจำนวนมากมาย
เพียงเราเป็นเด็กรุ่นลูกหลานเหลนของท่าน จะอวดตัวว่าเก่งกล้าสามารถฉลาดรู้ได้อย่างไร จำต้องยอมโง่อยู่โดยดี แม้สติปัฏฐาน และอริยสัจธรรมจะเคยเป็นธรรมอันประเสริฐมาแต่ดั้งเดิมก็จริง แต่พอตกมาถึงมือเราจำต้องกลายเป็นธรรมทั้งดุ้นไปก่อน เพราะเรากำลังตกอยู่ในภาวะความเป็นคนทั้งดุ้น แม้การปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบทั้งดุ้น ต่อเมื่อปฏิบัติบำเพ็ญไปด้วยความพากเพียรไม่ถอยหลัง ความเข้าใจในแง่อรรถธรรม และการปฏิบัติก็ค่อยปรากฏไปวันละเล็กละน้อย และค่อย ๆ กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ศรัทธาความเชื่อมั่นก็นับวันมีกำลังและฝังลึกลงในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เคยลี้ลับมาเป็นเวลานานก็ค่อย ๆ เปิดเผยความจริงออกมา
เป็นต้นว่า สติปัฏฐานสี่ และอริยสัจสี่ ซึ่งแต่ก่อนแม้จะมีติดอยู่กับตัวเรา ก็มีอยู่แบบฝังจมมิดโดยเจ้าตัวไม่รู้ นั่งฟังพระท่านเทศน์ก็ฟังไปจนเลยขอบเขต และสุดสายหูสายตา ไม่เคยนึกน้อมเข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งธรรมเลย เมื่อพระเทศน์จบแล้ว สรุปผลที่ได้รับจากการฟังก็เพียงว่า เราไม่มีวาสนาเอื้อมไม่ถึงธรรมที่ท่านแสดงเพราะลึกแสนลึก ละเอียดสุดละเอียด ธรรมที่ท่านแสดงกับเราผู้ฟังอยู่ห่างไกลกันคนละมุมโลก แต่หาได้นึกไม่ว่ามันโลกสติปัฏฐาน และอริยสัจสี่อันเดียวกันทั้งท่านผู้แสดงกับเราผู้นั่งฟัง และแสดงเรื่องของเราทั้งนั้น หาได้ผิดเพี้ยนจากเรื่องของเราไปแม้แต่น้อยไม่ นี่เรื่องความคิดผิดมีทางมีได้อย่างนี้ไม่ว่าท่านว่าเรา
แต่เมื่อความจริงมีสติปัฏฐานเป็นต้น ได้เริ่มเผยตัวออกมาสู่วงความเพียรแล้ว ธรรมเหล่านี้ก็กลายเป็นแผนที่ทางเดินของจิตไปเป็นลำดับ มองดูกาย เวทนา จิต ธรรม แต่ละประเภทคล้ายกับเป็นแผ่นกระดาษที่เต็มไปด้วยตัวอักษร ชี้บอกทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งนั้น สติปัฏฐานนอก สติปัฏฐานใน และอริยสัจนอก อริยสัจใน ก็กลับกลายมาเป็นตัวอักษรชี้บอกทางเดินแก่จิตอยู่รอบด้าน
ประหนึ่งว่าท่านจงรีบเดินไปตามเข็มที่ชี้บอกให้จะพ้นภัยโดยเร็ว เวลานี้พวกข้าศึกกำลังตามหาท่านวิ่งวุ่นไปมาอยู่ตามแถวนี้ และซุ่มซ่อนเรียงรายกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง ท่านไม่ควรนอนใจในสถานที่ใด ๆ ว่าจะเป็นที่ปลอดภัย นอกจากท่านจะรีบเดินผ่านดงหนาป่าทึบเหล่านี้ไปเสียเท่านั้นท่านจะปลอดภัย ความพากเพียรก็ยิ่งมีความเข้มแข็งพร้อมด้วยสติปัญญา ซึ่งได้สั่งสมมา เพราะอาศัยสติปัฏฐานและอริยสัจเป็นหินลับและทางเดิน คำว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ที่ได้เคยพิจารณามาแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็ปรากฏว่าเป็นธรรมเสมอภาคกัน และสามารถพิจารณาประสานและสงเคราะห์กันลงในธรรมานุปัสสนาทั้งสิ้น
เมื่อจิตพิจารณาธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ จนมีความชำนาญและแน่ใจเต็มที่แล้ว ธรรมานุปัสสนาก็เชื่อมโยงเข้ามาหาเรื่องของจิตโดยเฉพาะ ตอนนี้จะว่าธรรมกลายเป็นจิตหรือจิตกลายเป็นธรรมก็พอเรียกได้ พอจิตได้ก้าวเข้าสู่ธรรมานุปัสสนาล้วน ๆ แล้ว สภาวธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นส่วนภายในทั้งสองภาค ซึ่งเป็นเหมือนภูเขาหินอันแท่งทึบ ปกปิดใจจนหาทางออกมิได้ ก็ได้จางหายไปจากมโนภาพ และรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นเหมือนเมฆหมอกปกปิดใจ ก็ได้ถูกพายุ คือ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร พัดผันให้แตกจากความเป็นกลุ่มเป็นก้อน คือ ตัวสมมุตินิยมไปทีละเล็กละน้อย จนจางหายไปแทบจะไม่มีอะไรเหลือ
จะยังเหลืออยู่บ้างก็เพียงเป็นไอระเหยออกมาจากใจ ที่เรียกว่าธรรม ซึ่งยังไม่ถูกทำลาย แต่ไม่สามารถจะแสดงออกมาอย่างออกหน้าออกตา เพราะถูกสติปัญญาอันมีกำลังครอบเอาไว้ และตามขุดค้นเพื่อทำลายอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายคำว่า ธรรม หรือจิตอวิชชา ก็ได้ถูกสติปัญญาทำลายลงได้โดยสิ้นเชิง ด้วย ธมฺมา อนตฺตา และด้วยธรรมบทว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น คำว่าสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เมื่อไม่มีจุดสมมุติเป็นที่อาศัยก็จำต้องหลุดลอยไปเอง
ขณะที่สติปัญญาได้ทำหน้าที่ต่อสติปัฏฐานที่สิ้นสุดลงแล้ว ธรรมชาติที่แปลกประหลาด และอัศจรรย์ได้ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่ในขณะนั้น ปัญหาทั้งมวลก็สิ้นสุดลง ไม่มีทางสืบต่อ เพราะเหตุกับผลได้ลงเอยกันอย่างสนิทและตายตัวแล้ว ระหว่างขันธ์กับจิตแม้จะครองกันอยู่ก็ไม่มีทางทะเลาะกันเหมือนที่เคยเป็นมา ต่างก็เป็นอยู่โดยอิสระตามความเป็นจริงของตน คำว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ในความเข้าใจของธรรมป่าว่า อยู่ด้วยความไม่ระแวงกันระหว่างขันธ์กับจิต โลกกับธรรม ภายนอกกับภายใน ใจกับสิ่งทั้งปวงทั่วดินแดน ไม่เป็นข้าศึกต่อกันดังที่เคยเป็นมา และสามารถน้อมนำสิ่งต่าง ๆ มาทำประโยชน์ได้เท่าที่ควร
ท่านนักบวชและนักปฏิบัติธรรมโปรดฟังให้ถึงใจ หยั่งความเพียรให้ถึงใจ ธรรมทั้งนี้จะปรากฏเป็นสมบัติอันล้ำค่าของท่านผู้สนใจ โดยไม่มีอะไรจะสามารถมาแยกทางกันได้ ความเพียรเพื่อชัยชนะอันมีเกียรติดังพระองค์ท่าน และเป็นชัยชนะซึ่งไม่มีอะไรเสมอในโลก คือความเพียรเพื่อชนะตนตามพระบาลีว่า อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ความชนะตนเองนั่นแลประเสริฐสุด
การแสดงธรรมก็เห็นสมควรแก่เวลา ดังนั้น ในอวสานแห่งธรรมนี้ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยจงตามคุ้มครอง จงรักษาให้ทุกท่านมีความสุขกายสบายใจ และเจริญงอกงามด้วยศีล สมาธิ ปัญญา สามารถผ่านอุปสรรคถึงแดนแห่งความเกษมสำราญกล่าวคือ พระนิพพานโดยทั่วหน้ากันเทอญฯ
www.Luangta.com or www.Luangta.or.th
|