หลักเกณฑ์การก่อเจดีย์
วันที่ 30 กันยายน 2543 เวลา 8:00 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๓

หลักเกณฑ์การก่อเจดีย์

(ผู้ฟังเทศน์ประมาณ ๗๐๐ คน)

(ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเข้ากราบเรียนหลวงตา เรื่องที่ฟ้าหญิงจะเสด็จงานกฐินวันที่ ๒๑ ตุลาคม และวันที่ ๖ ตุลาคม ทางสำนักพระราชวังจะประชุมร่วมกับทางจังหวัด เรื่องการจัดสถานที่รับเสด็จล่วงหน้า)

เราไปไหนมาไหน พิจารณาดูซิพี่น้องทั้งหลาย อยู่ที่ไหนไม่ได้ว่างนะ พอฉันเสร็จแล้วนี้ก็จะได้เดินทางไปโคราช ไปโคราชก็มีพิธีวางศิลาฤกษ์จะก่อเจดีย์เจ้าคุณพุธ วัดสาลวัน เจ้าคุณพุธนี่เป็นรุ่นน้องเรา ท่านก็ไปเสียก่อนแล้ว วันนี้เที่ยงครึ่งเขาจะเริ่มพิธี เขาก็กะเวลาจากนี้ถึงเที่ยงครึ่งเป็นการเดินทางสำหรับเรา จากนี้ไปโคราชคิดว่าไม่ต่ำกว่า ๓ ชั่วโมงครึ่งแหละ กะว่างั้น ไปร่วมพิธีในย่านนั้นแหละ

ไปนี้ไม่มีพิธีอะไรนะ ไม่ได้เกี่ยวกับการช่วยชาติดังที่เคยปฏิบัติมา เช่นผ้าป่าช่วยชาติช่วยอะไรนี้ไม่มี ผ้าป่านั้นจะน้อมสมทบเข้าสร้างเจดีย์ของท่านทั้งหมด กรุณาทราบตามนี้ เพราะฉะนั้นเราไปนี้เราจึงไม่ได้ไปในนามของการช่วยชาติทอดผ้าป่า เราไปเกี่ยวกับเรื่องของเจ้าคุณพุธที่เกี่ยวกับประชาชนต่างหาก ไม่ใช่เป็นการช่วยชาติดังที่เคยปฏิบัติมา พวกผ้าป่าอะไรไม่มี

คือเราไปนี้เขานิมนต์ให้เป็นหัวหน้าเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เราไปเท่านั้น แต่ดูว่ามีเทศน์นะ เทศน์นี้ไปไหนก็ไม่ได้หยุดแหละหลวงตาบัว ไปไหนต้องเทศน์ เทศน์ตลอดแหละ ว่าจะมีเทศน์กัณฑ์นึง เราไปเที่ยงครึ่งเขาเริ่มพิธี คือพิธีนั้นเขาวางไว้เป็นกลาง ๆ เที่ยงครึ่ง หลักใหญ่เขาก็คอยเรา ถ้าเราไปถึงในย่านนั้นก็เป็นเวลาตามเดิม ถ้าเราช้ากว่านั้น งานก็เริ่มตามเรา ช้าไปตาม

เขาวางไว้เป็นจุดศูนย์กลางว่าประมาณเที่ยงครึ่ง ทีนี้เราเดินทาง เช่น ๙ โมงเช้าออกจากนี้ ไปถึงโคราชก็ประมาณสักเที่ยงครึ่งเหมือนกัน นี่ถึงธรรมดา อาจช้ากว่านั้นบ้าง ถึงช้าถึงเร็วก็ไม่มีอะไรกันละ เพราะต่างคนต่างมุ่งต่อการกุศลด้วยกัน เขาตั้งเวลาไว้เป็นกลาง ๆ เพื่อความสะดวกสำหรับคนหมู่มากได้ทราบในระยะเวลาเท่านั้นเอง

พี่น้องชาวโคราชก็จะตั้งเป็นอนุสาวรีย์ คือจะเป็นเจดีย์เป็นอะไรก็ตาม แล้วแต่ชื่อตั้งละ เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชา เป็นที่ปล่อยลงซึ่งจิตใจในจุดที่เป็นกุศลมหากุศล เช่นอย่างเจดีย์ ในครั้งพุทธกาลท่านแสดงไว้ ๔ ประเภท ถ้าพี่น้องทั้งหลายยังไม่เคยทราบก็กรุณาทราบในเวลานี้ ผู้ที่จะควรก่อเจดีย์กราบไหว้บูชาของสัตวโลกว่างั้นเลยนะ ก็คือ พระพุทธเจ้า ๑ คำว่าพระพุทธเจ้า หมายถึงทุกพระองค์เลย พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ พระอรหันต์ ๑ พระเจ้าจักรพรรดิ ๑ ทั้ง ๔ พระองค์นี้สมควรแก่การสร้างเจดีย์สำหรับจิตใจประชาชนให้กราบไหว้บูชา

สถานที่ก่อท่านก็แนะไว้ เป็นสถานที่ชุมนุมชน เช่น ถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง หรือที่ชุมนุมชน เขามาจะได้กราบไหว้บูชา พอเห็นเจดีย์ปั๊บจิตเขาจะพุ่งถึงองค์วิเศษคือองค์ศาสดา จากนั้นรองลงมาก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ที่สามก็คือพระอรหันต์ท่าน จิตใจของประชาชนจะมุ่งจุดสูงมากทีเดียว จากนั้นก็พระเจ้าจักรพรรดิ คำว่าพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นผู้ทรงบุญญานุภาพ บุญญาบารมีกว้างขวาง เพราะฉะนั้นจึงควรได้รับการชมเชยจากพระพุทธเจ้า ไม่ปรากฏว่าพระองค์ใดจะคัดค้านนะ เป็นผู้สมควรก่อเจดีย์ให้เช่นเดียวกันกับทั้งสามพระองค์นั้น

การทำอะไรเราก็จึงควรมีหลักมีเกณฑ์ที่จะก่อในที่ชุมนุมชน เราจึงควรคำนึง อย่าได้ก่อสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งผิดกับเจตนารมณ์ของผู้ที่ได้พบได้เห็นและกราบไหว้บูชา มุ่งจิตใจไปในทางอันเลิศเลอ นับแต่พระพุทธเจ้าลงมา พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ เวลาเห็นแล้วก็ให้เป็นขวัญตาขวัญใจ ตรงกับความมุ่งหมายของผู้กราบไหว้บูชาด้วยความระลึกนึกน้อมถึงองค์วิเศษท่าน

เวลาตายแล้วใครจะก่อสุ่มสี่สุ่มห้าตามความชอบใจของตน ไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลหลักเกณฑ์หนักเบามากน้อยนี้ไม่สมควร อันนี้เป็นคำเตือนพี่น้องทั้งหลายให้ทราบไว้ ถ้าหากว่าพูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมันก็จะกระจายออกไปอีก เราจึงไม่พูดมาก พูดเพียงเท่านี้ให้พากันเข้าใจ ถ้าพูดกระจายกว่านี้ไปเดี๋ยวงานวัดสาลวันจะท้องแห้ง เรายังไปไม่ได้เพราะพรรณนาเรื่องเจดีย์ไม่จบ

หมาตัวหนึ่งตายก็ก่อเจดีย์ให้ นี่เริ่มออกเข้าใจไหมล่ะ ไอ้ปุ๊กกี้เราตายก็ก่อเจดีย์ให้ ไอ้หยองตายก็ก่อเจดีย์ให้ ไอ้อุ้ยตายก็ก่อเจดีย์ให้ สุดท้ายเป็ด ไก่ในนี้ ตัวไหนตายก่อเจดีย์ให้ เต็มไปด้วยเจดีย์ของสัตว์ประเภทเหล่านี้ ไม่มีเต็มไปด้วยเจดีย์ของท่านผู้เลิศเลอ นี่ละข้อเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นจึงต้องควรพิจารณากัน ที่จะก่อเจดีย์ให้เป็นที่สักการะบูชา เป็นที่รวมของจิตใจ จึงควรพิจารณา ดังที่เราทำเจดีย์ให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นที่เหมาะสม

สำหรับในวงกรรมฐานนี้พูดตรงไปตรงมาเลยก็ ส่วนมากจะมาปรึกษาหารือเรานี้แหละ เราก็ให้ข้อแนะนำอย่างที่ว่า ก่อเจดีย์ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสมควร ๆ เราเป็นผู้แนะให้ทั้งนั้นแหละ คือให้เหมาะสมกับจิตใจของผู้มุ่งธรรมอันเลิศเลอ เวลากราบไหว้บูชาให้เป็นขวัญตาขวัญใจ เป็นมหามงคลแก่จิตใจอย่างมากทีเดียว จึงไม่ควรก่อสุ่มสี่สุ่มห้า ส่วนก่อไว้ตามบ้านตามเรือนของใครไม่ได้เกี่ยวกับที่ชุมนุมชน อย่างนั้นเราก็ไม่ว่าแหละ แล้วแต่ใครจะก่อ ทำอันนั้นไม่ได้เข้าในบัญชี ส่วนที่เข้าในบัญชีกฎเกณฑ์ก็ดังที่กล่าวนี้ กรุณาทราบตามนี้

ท่านยกตัวอย่างเช่น พระพาหิยะ อันนี้เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ยังไม่ได้บวช พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นในขณะนั้น แล้วออกไปเสาะแสวงหาเครื่องบวช ไปถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย แล้วเกิดปัญหาขึ้นจะทำยังไง พระพาหิยะนี้ท่านเป็นพระอรหันต์แต่ท่านยังไม่ได้บวช แล้วจะมีความเห็นว่ายังไง พระพุทธเจ้ารับสั่งเลย นี้คือพระธรรมชาติไม่ต้องเสกสรร บวชเป็นพระนี้เสกสรรไปก่อนให้ถึงพระธรรมชาติคือพระอรหันต์ นั้นละคือพระแท้ พระพาหิยะคือพระแท้

ทีนี้อัฐิของท่านจะทำยังไง ก็มีการวิจารณ์กัน พระอัฐินี้ควรแก่เป็นปูชนียบุคคล เป็นปูชนียสถานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คือให้ก่อเจดีย์ในสถานที่ชุมนุมชน เช่น ถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง หรือที่ชุมนุมชน นั่นท่านบอกไว้เลย นี่คือพระอรหันต์ พระพาหิยะยังไม่ได้บวชเป็นเพศฆราวาส แต่ถึงขั้นพระธรรมชาติก่อนแล้ว จึงเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระโดยสมบูรณ์ นี่ตัวอย่างก็มี รับสั่งให้ก่อเจดีย์ในสถานที่ชุมนุมชน อย่างนั้นละ มีเหตุมีผลพระพุทธเจ้ารับสั่งอะไร ไม่ใช่ทำสุ่มสี่สุ่มห้าตามความชอบใจ อันนี้ผิดพลาดมาก ถ้ามีความคิดพินิจพิจารณาเสียก่อน มีเหตุมีผลมีหลักเกณฑ์มาเทียบเคียงแล้วค่อยดำเนินตามนั้น ไม่ค่อยผิดพลาด วันนี้ก็ได้พูดเรื่องเจดีย์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ

ให้พากันทุกคน ๆ อันดับแรก รักตัวเองใครก็ทราบทุกคน อันนี้ก็เป็นหลักธรรมชาติของสัตว์ของบุคคล รักตัวเอง สงวนตัวเอง ปกป้องตัวเองทุกอย่าง นับแต่สัตว์ขึ้นมาหามนุษย์ จากนั้นก็ขยายออกไปจนกระทั่งถึงความรักชาติ ที่ไหน ๆ ก็มีชาติเป็นของตน ชาตินั้นชาตินี้ไปเขานิยมกัน อย่างพวกเรานี้ก็เป็นชาติไทย เราต้องรับผิดชอบในชาติไทยของเราเหมือนเรารับผิดชอบในตัวของเราเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นการรับผิดชอบ ต่างคนต่างรับผิดชอบ ต่างคนต่างรักซึ่งกันและกัน อย่าทำความแตกร้าว อย่ายุแหย่ก่อกวน อย่าแยกคนนั้นคนนี้ บ้านนั้นบ้านนี้ ภาคนั้นภาคนี้ ซึ่งเป็นความเสียหาย

การแยกนั้นเพื่อความสะดวกแก่การปกครองต่างหาก ที่ทางราชการงานเมืองประเพณีของมนุษย์ที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็ต้องมีบ้านมีเรือน มีที่นั่นที่นี่ จึงแยกออกไปเพื่อสะดวกแก่การปกครอง แต่ไม่แยกเพื่อทำลายกัน เราอย่าไปคิดแยกแบบทำลายกัน เมื่อยกพวกนี้ขึ้นก็เหยียบย่ำพวกนั้น ถ้ายกแบบนี้ผิด ยกกับเหยียบมันพร้อมกัน ท่านไม่ให้ทำประเภทนี้ ให้มีความรักกัน เสมอกัน มีความเฉลี่ยเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจกัน

ความเมตตาสงสาร ความให้อภัยกันนี้ ไปไหนสมัครสมานได้หมด นี้คือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า อย่ายกชั้นวรรณะขึ้นเหยียบย่ำทำลายกัน ให้ยกกรรมขึ้นเลย คำว่ากรรมนั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากที่สุด ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรใหญ่ยิ่งกว่ากรรม แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับถึงเรื่องกรรม นั่นเห็นไหม กรรมจะให้ถึงพระพุทธเจ้าก็ตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์มาถึงความเป็นศาสดา นี้ทรงสร้างกรรมเพื่อพระโพธิญาณ

นี่ละกรรมสร้างมา ผลก็ติดตามหนุนขึ้นมา จนกระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา นี่ก็คือผลแห่งกรรมของพระองค์ กรรมดี กุศลกรรมสร้างมาจนได้ถึงความเป็นศาสดา พระองค์จึงทรงยกเรื่องกรรม เพราะกรรมนี้มีมาดั้งเดิมก่อนพระพุทธเจ้าองค์ไหน ๆ มีประจำอยู่กับการกระทำของสัตวโลก ทำดีเป็นดี ทำชั่วเป็นชั่ว ใครจะประกาศออกมา ไม่ประกาศออกมาก็ตาม ธรรมชาตินี้ประกาศอยู่กับตัวของผู้ทำดีทำชั่วเอง ท่านจึงให้เคารพกรรมนี้ ให้พากันระมัดระวัง อันไหนไม่ดีอย่าทำ

แล้วเราอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนก็ให้มีความรักษาน้ำใจกัน อย่าพรวดพราด อย่าเห็นแก่ตัวคนเดียว มันเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจของผู้อื่น เพราะต่างคนแต่ละคน ๆ นี้มีจิตใจครองด้วยกัน เป็นผู้รักนวลสงวนตัวเหมือนกันหมด จึงต้องเอาสิ่งที่ดีงามประสานกันเพื่อเป็นมงคลแก่กัน มีความเกรงอกเกรงใจ เก็บความรู้สึกไว้ อย่าให้พรวดพราดออกมาตามอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นการทำลายและกระทบกระเทือนคนอื่นได้ง่าย ให้พากันพินิจพิจารณาอย่างนี้ นี่ละมนุษย์เราอยู่ร่วมกัน

เวลานี้ก็กำลังช่วยชาติไทยของเรา ให้ต่างคนต่างรักชาติไทย อันใดที่จะเป็นภัยต่อชาติ ก็ออกจากคนของเรา ชาติไทยของเราเป็นภัย คือการอยู่การกินการใช้การสอยไม่รู้จักประมาณ ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม นี่ความลืมเนื้อลืมตัวก็ทำลายสมบัติ สมบัติก็คือสมบัติของเรา ทำลายสมบัติก็เท่ากับทำลายตัวของเราเอง แล้วคนนั้นทำลายคนนี้ ทำลายทั่วประเทศไทย จมได้ไม่สงสัย โดยไม่มีเจตนาก็ตาม ให้พากันระมัดระวัง การอยู่การกินการใช้การสอย ให้พอเหมาะพอดีกับเราเป็นลูกชาวพุทธ ซึ่งอยู่ในความพอดีตลอดเวลา ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม นี่คือหลักชาวพุทธ ให้นำไปใช้ การอยู่การกินให้พอเหมาะพอดี การใช้สอยก็เหมือนกัน อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นความเสียหายแก่ตัวของเราเอง

การคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงก็ให้สังเกต ดูด้วยจิตวิทยาก็ได้ไม่ยาก มองดูอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวของคนคนนั้น ๆ ควรจะคบหรือไม่คบ เป็นคนดีคนชั่ว จะอ่านออกทันทีจากการแสดงออกของคนดีคนชั่วนั้น ควรคบก็คบ ไม่ควรคบก็อย่าคบ นี่ท่านเตือนไว้ กัลยาณมิตตตา ให้คบเพื่อนที่ดีงาม อย่าคบคนพาลสันดานหยาบจะทำตัวให้เสีย ของสำคัญอยู่ตรงนี้ ให้พากันจำเอา

วันนี้ไม่ได้เทศน์อะไรมากมายเพราะจะไปโคราช พอฉันเสร็จแล้วก็จะออกเดินทางไปเลย เทศน์เพียงย่อ ๆ รวมแล้วเรียกว่า ให้เป็นผู้รักชาติไทย ด้วยการเสาะแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมงคลแก่ชาติไทยของเรา อันใดที่จะเป็นภัยแก่ชาติให้พากันปัดออก ๆ ทุกคน จึงเรียกว่าเราบำรุงรักษาชาติไทยของเรา ถ้านอกจากนี้แล้วเป็นการทำลาย เอาละเพียงเท่านี้ ต่อไปนี้จะให้พร

เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร www.luangta.com


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก