ฝึกตัวเข้าสู่ธรรม
วันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เวลา 11:40 น.
สถานที่ : วัดป่าสุทธาวส อ.เมือง จ.สกลนคร
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

 

เทศน์อบรมฆราวาส

วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

เวลาประมาณ ๑๑.๔๐ น.

ฝึกตัวเข้าสู่ธรรม

         

          อายุ ๙๗ พรรษาบวชน่าจะเป็น ๗๐ กว่า บวชมานี้ได้ ๗๖ ปีแล้วขนาดนั้น ชีวิตของพระกับชีวิตของโยม..พระตั้งใจปฏิบัติสั่งสมตัวเองทางความดีตลอด ชีวิตจิตใจชุ่มตลอด ญาติโยมถ้าไม่ได้มีความดีเลยร้อน ถ้าใกล้ความตายมาเท่าไรยิ่งร้อนนะ ชีวิตของพระเป็นอีกแบบหนึ่งนะ ชีวิตของพระเพราะไม่ได้ทำความเสียหายอะไรตั้งแต่บวชมาที่ไปทำลายศีลทำลายธรรม หรือสัตว์แม้ตัวหนึ่งด้วยเจตนาไม่มีเลย รักษาแต่ความดีมาตลอด ชีวิตจิตใจก็ชุ่มเย็นเรื่อย มีศีลธรรมหล่อเลี้ยงมันก็ชุ่มเย็นๆ ไม่มีแง่เดือดร้อนเพราะความชั่วไม่ทำ ทำแต่ความดี ยืนเดินนั่งนอนเป็นชีวิตของพระทั้งนั้น นอนก็พระนอน ดูอิริยาบถไหนก็ไม่ลดละความเป็นพระ คือไม่ลืมตัว สบายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้

พูดให้มันชัดเจนกับลูกกับหลานเสียว่าร่างกายอ่อนแอลงเท่าไรจิตมันยิ่งสง่า ฟังนะท่านทั้งหลาย จิตยิ่งสง่า กระจายออกไปอย่างนี้ครอบโลกธาตุ มันสว่างไสวเพราะอำนาจแห่งการขัดเกลากิเลสตัวมัวหมองออกไปทุกวันทุกเวลา ยืนเดินนั่งนอนด้วยความมีสติสตังรักษาความเป็นพระของตนไว้ด้วยดีตลอด เวลาไหนที่ให้เป็นความเดือดร้อนเพราะผิดศีลผิดธรรมไม่มี มันก็เย็น เป็นอย่างนั้น

อย่างวัตถุไทยทานที่ประชาชนญาติโยมเขามาถวาย ถ้าเราจะพูดตามธรรมดาจะเรียกว่าเศรษฐีหลวงตาบัวก็ได้  เรียกว่าเศรษฐีหลวงตาบัวก็ได้ แต่คำว่าเศรษฐีหลวงตาบัวมีแต่ว่าได้มากับความเสียสละไป ไปด้วยกันพร้อมกัน ได้มากับออกไปเท่ากัน เราก็ไม่สงสัยตัวเองว่าได้บกพร่องอะไรในการเสียสละเรียกว่าไม่มี ถึงจะมีมาเท่าไรๆ ให้หมดเลย จนกระทั่งเพื่อนฝูงวัดใดๆ หากรู้เองนะ เพราะจิตใจนิสัยเสียสละ มันหากรู้ไปเองโดยที่เราไม่ต้องประกาศ วัดนั้นมีความจำเป็นทางนั้น วัดนี้จำเป็นทางนี้ พระองค์นั้นมีความจำเป็นอย่างนั้นที่ต้องไปรักษาตัวทั้งใกล้ทั้งไกล ประเทศนอกก็ไป วิ่งเข้ามาหาเรา พอวิ่งเข้ามาเอาปุ๊บให้เลยๆ ที่จะมองดูเอ๊ะมีหรือไม่มีนะไม่มีคำพูดอย่างนั้น หากว่าไม่มีเราก็คว้าที่ไหนมาก่อนก็ได้ให้ไป แต่ไม่ค่อยมีล่ะ พอคว้ามาก็ให้เลยๆ

พระก็รู้นิสัยคือไม่สั่งสม มีเท่าไรๆ อะไรออกหมดเลยละ ไม่สั่งสม จ่ายแจกไปตามวัดตามวาตามพระเณรที่มีความจำเป็นไปรักษาตัว ทั้งใกล้ทั้งไกลออกไปเมืองนอกก็มีไปรักษาตัว เราก็ตามส่งเสียให้หมดเลยเรา พอมาท่านเหล่านี้ก็ไม่วิตกวิจารณ์เราว่าจะไม่ได้อะไรจากเรา พอมาปั๊บมีความจำเป็นอย่างไรๆ เท่านั้นๆ ให้ปุ๊บเลยไป นอกนั้นก็ยังติดตามอีก จ่ายไปเท่าไรเรื่องค่าหยูกค่ายาค่าอะไรต่ออะไรติดตามตลอด อย่างนั้นละ

จึงว่าเราภูมิใจ เรื่องเงินเราไม่มี ไม่เคยมีเงินละหลวงตานี่ จะว่าเป็นเศรษฐีก็หลวงตาเอง เป็นเศรษฐีก็เศรษฐีแต่ชื่อพอได้มาปุ๊บก็ออกปุ๊บๆ ๆ อย่างนั้นตลอด เราไม่เคยเก็บเคยสั่งสม มีเท่าไรไม่ว่าวัตถุภายนอกภายในหยาบละเอียดมาถึงปั๊บต้องต้อนรับกันเต็มที่ๆ ฟาดเป็นล้าน เป็นล้านๆ หลายๆ ล้านเข้ามาเวลาจำเป็นวิ่งเข้ามาจัดให้ปุ๊บๆๆ เลย มีเพื่อเสียสละ แต่กันไว้ของตัวว่ามีหากไม่มี เราไม่มีการเงินการทอง นี่อย่างนี้ก็ช่วยโลกตลอด ปลูกนั้นสร้างนี้อะไร แต่เราก็ไม่วิตกวิจารณ์ว่าเงินไม่มี มีแต่ภูมิใจด้วยความเมตตาที่ได้สงเคราะห์สัตว์ทั่วโลก.....มากน้อยพอใจ

เกิดมาในเวลานี้ก็หมดแล้ว เดินไปไหนก็โซซัดโซเซ ลงจากรถมานี่ก็โซซัดโซเซ เพราะอายุมันก็ ๙๗ แล้วนะ ไม่ใช่น้อยๆ อายุ ๙๗ ปี บวชมา ๗๐ กว่าปีแล้ว จนกระทั่งป่านนี้ ไม่ห่วงไม่ใย การอยู่การกินเคยฝึกอด อดข้าวเพื่อความเพียรทีละกี่วัน ๖ วัน ๗ วัน ๘ วัน ไม่ฉันเลย เพราะอดอยู่เรื่อยๆ ๔ วัน ๕ วันเป็นประจำเรื่อย จนกระทั่งเฒ่าแก่ไปตามธาตุขันธ์ แล้วมันก็ชินในการฝึกตัวเอง ฝึกให้ธาตุขันธ์ชินไปกับความเพียร เช่นกินน้อย นอนน้อย ความกินน้อยกับการนอนน้อยเข้ากันได้ ความกินมากกับวิชาหมูเป็นคอกๆ มาด้วยกัน เข้าใจไหม

เหล่านี้ฝึกหมด เลยไม่เป็นกังวล เรื่องการขบการฉันไม่เป็นกังวล กี่วันก็ตามเราเคยอดแล้ว ถ้าไม่ฉันไม่ฉันเลย ๓ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่ฉันอะไร มันก็อยู่ได้ธาตุขันธ์  ไม่เห็นมันเป็นอะไร อยู่ธรรมดา จิตใจก็สง่างามอยู่อย่างนั้น นั่นละการฝึก ฝึกจนมันได้สัดได้ส่วน จะไปไหนมาไหนการอยู่การกินนี้ไม่กังวล อยากกินก็กิน ไม่กินก็ไม่กินไปเลย คือไม่เป็นกังวลนะ เพราะเราอดระยะ ๗ วัน ๘ วันไม่กินเลยก็มี จากนั้นก็ ๓ วัน ๔ วันกิน ๕ วัน ๖ วันกินมีประจำ มันก็ชินความชิน เพราะอย่างนั้นการไปไหนมาไหนที่กลัวจะอดอยากขาดแคลนไม่มี มีก็กิน ไม่มีก็ไม่กินไปเลย คือจิตไม่มีกังวล จิตมันสั่งสมธรรมอยู่ที่ใจ จิตมันเป็นธรรมไปเสียมันเลยไม่เป็นอาหารการบริโภค ได้มากได้น้อยไม่เป็น เป็นธรรมล้วนๆ ไปเลยละ

ตอนนี้ก็เท่าไร ๙๗ ยังอีก ๓ ปีก็ ๑๐๐ ปี เป็นอย่างนั้น ตั้งแต่ยังหนุ่มยังน้อยมันเหมือนมอดกินไม้ นอนหลับอยู่เอาใส่ปากมันก็จะเคี้ยวไปเรื่อยตามหลัก แต่ก่อนนะ คือกับอาหารการกินมันดูดมันดื่ม แต่ฝึกกันจากอาหารไปใส่ธรรม ฝึกตัวเข้าสู่ธรรม อดไม่ว่าทีนี้มันก็ไปทางธรรม คนเรามันดีเพราะฝึกนะ ท่านทั้งหลายให้จำคำหลวงตาให้ดี เอาไปฝึกเจ้าของ อยู่เฉยๆ มันดีไหม ไม่ดีนะ ดีก็ดีแต่ชื่อนั่นละ ตัวเจ้าของไม่ดี ถ้าฝึกแล้วชื่อมันจะเป็นอย่างไรช่างหัวมันเถอะ ตัวของเรามีความผ่องใสสง่างามภายในใจพอ

เดี๋ยวนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนละ มันหมดกำลัง อยู่กับวัดกับวา ครั้นไปก็เป็นที่เป็นฐานกลับมา ทุกวันนี้เรื่องอาหารการกินหมดปัญหานะ จะให้มันอยากให้ฉันนี้ไม่มี แต่ก่อนมีแต่อยากกิน กินแล้วท้องจะแตกก็ยังอยากนะ เดี๋ยวนี้มันพลิกแล้ว ให้อยากถึงฉันไม่มี ถึงเวลาก็ฉันไปอย่างนั้นแหละ ฉันก็ไม่ได้มากมายอะไร คือมันเคยชิน ธาตุขันธ์ก็แก่แล้วเลยไม่สนใจกับอาหารการกินอะไร ถ้าพูดตามหลักความเป็นจริงสนใจแต่อรรถแต่ธรรมอย่างเดียวเท่านั้นละ

จึงว่าให้ไปฝึกนะ บรรดาพี่น้องลูกหลานให้พากันฝึก ผู้หญิงก็ตามผู้ชายก็ตามฝึกได้ ตั้งแต่เป็นเด็กมาฝึกไปเรื่อยๆ มันก็ชิน ชินในความดี อยู่กับผู้ใหญ่พ่อแม่ดีเตือนลูก ลูกไปทำความชั่วช้าลามกพ่อแม่เตือนลูกสะดุดใจหยุดได้นะ ถ้าไม่มีใครเตือนพ่อก็ซัดเสียเต็มเหวี่ยง แม่ก็ซัดเสียเต็มเหวี่ยง ทะเลาะกันทั้งวันแล้วให้ลูกได้ยินเทศนาว่าการที่พ่อกับแม่ทะเลาะกันทั้งวันพอแล้วๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ตื่นขึ้นมาได้ยินพ่อแม่พูดกันด้วยความรักความสนิทสนม ความพึ่งเป็นพึ่งตายซึ่งกันและกันลูกชื่นใจ พูดขึ้นมาเรื่องบุญเรื่องกุศลสร้างนั้นสร้างนี้ลูกชื่นใจ อย่าว่าชื่นใจแต่พ่อกับแม่นะ ลูกมันอยู่กับพ่อกับแม่มันฟัง ครูบาอาจารย์ก็คือพ่อกับแม่เป็นอาจารย์เป็นผู้ฝึกฝนเด็กก่อนใคร จากนั้นก็ส่งเข้าโรงร่ำโรงเรียนเรียนความรู้อย่างอื่นด้วย ความประพฤติตัวก็ให้ติดกันไปด้วย นั่น มันก็เป็นคนดี ทีนี้พอว่าจะทำบาปทำกรรมอะไรมันสะดุดนะ เมื่อมันเคยทางดีแล้วจะทำบาปนี้มันสะดุด นิ่ง ยิ่งได้มาบวชด้วยแล้วอย่างนี้แล้วโอ๊ย สัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่เคยมีเจตนาว่าฆ่าสัตว์ได้ตายไปตัวหนึ่งเพราะหลวงตาบัวเป็นพระโหดร้าย ฆ่าสัตว์ตายไปทั้งตัวไม่เคยมี ตั้งแต่ยุงก็ยังไม่นั่น คือมันฝึก มันชิน

นี่ก็มาเยี่ยมวัดสุทธาวาสก็เท่ากันกับวัดเรา พ่อแม่ครูอาจารย์เสาร์-ครูอาจารย์มั่นท่านอยู่ที่นี่ เราก็เข้าออกพักที่นี่ตลอดมานะ ห่างๆ แต่ระยะนี้แหละ อาจารย์เสาร์-อาจารย์มั่นก็ล่วงไปเราก็มาเป็นกาลเป็นเวลา หากมามากกว่าวัดอื่นๆ นะ วัดนี้มามากที่สุดวัดสุทธาวาส เป็นวัดของพ่อของแม่ คือหลวงปู่มั่น-หลวงปู่เสาร์ท่านอยู่ที่นี่ เข้าออกๆ อยู่ที่นี่เสมอเรา ถึงทุกวันนี้ระลึกปั๊บจิตมันสัมผัสได้ว่าจะไปที่ไหนมันจะเตือน จะสัมผัส ว่ามาสุทธาวาสดูดปั๊บเลย ดูด คือพ่อแม่อยู่ที่นั่น สุทธาวาสเราก็เคยพักเคยอยู่มากี่ครั้งกี่หน มาอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เคยมาตั้งแต่เป็นพระหนุ่มน้อยนะวัดสุทธาวาสนี่ เราเคยมาเคยพักเคยอยู่ทีละนานๆ ก็มี บางทีไปภูเขาลงมาก็มาพักที่นี่ ออกจากนี้ไปทางนี้มาก็มาพักที่นี่ ไปที่ไหนมาก็พักที่นี่

วัดสุทธาวาสจึงเป็นเหมือนวัดเราเลย เพราะครูบาอาจารย์ท่านพาอยู่นี่ หลวงปู่มั่นน่ะสำคัญ เลยเป็นวัดที่สนิทสนม เป็นเหมือนวัดเรา เราอยากมาเมื่อไรเราก็มา เช่นอย่างว่าจะไปไหนกำหนดจิต พอว่าสุทธาวาสดูดปั๊บเลย สุทธาวาสดูดเลย มันเป็นของมันเองนะไม่มีใครบอก ถ้าจะไปที่ไหนกำหนดดูมันจืดๆ ชืดๆ ไม่ไป ไปที่ไหนจืดๆ ชืดๆ ไม่ไปไม่เกิดประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งเช่นวัดสุทธาวาสดูดปึ๊บเลยเชียว ไม่เคยมีการจืดชืดนะ เพราะพ่อของเราก็อยู่ที่นี่ หลวงปู่มั่น-หลวงปู่เสาร์อยู่ที่นี่ เราก็เคยมาอยู่ที่นี่แล้ว

เพราะฉะนั้นพอว่าสุทธาวาสดูดเป็นอันดับหนึ่งละ ออกจากวัดเราก็นี่เลยละ นอกจากนั้นกำหนดไปไหนมันจืดๆ ชืดๆ ไม่ไปนะ ยิ่งไปวัดไหนพระปฏิบัติไม่ถูกต้อง โกโรโกโสนั้นยิ่งไม่ไปเลย พอจะไปนี้จิตกำหนดดูมันดูดของมันเอง ดูดของมันเอง เช่นอย่างวัดสุทธาวาสเรานี่เหมือนวัดพ่อวัดแม่นะ เหมือนวัดของเรา ดูดตลอด วัดสุทธาวาสดูดตลอด พ่อแม่ก็เคยพาอยู่นี้ เราก็มาอยู่นี้เป็นประจำ พึ่งๆ ห่างๆ แต่ระยะนี้ไม่ได้มาค้างที่นี่นะ แต่ก่อนมาพักมาค้างเที่ยวตามนี่ เดี๋ยวนี่เฒ่าแก่แล้วก็อยู่วัด ถ้ามาก็มาเป็นครั้งเป็นคราว แต่ถือเป็นหลักใหญ่เหมือนวัดเรา เป็นอย่างนั้นละ

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM103.25 MHz

            พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก