เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อค่ำวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ดีไม่มีที่สิ้นสุดคือใจ
อายุย่าง ๙๕ เข้ามานี้แล้วมีแต่เหนื่อย อยู่ด้วยความเหนื่อย แม้แต่นอนก็เหนื่อยเหมือนกัน ยืนเหนื่อย เดินเหนื่อย นั่งเหนื่อย นอนเหนื่อย อยู่ด้วยความเหนื่อยถึงระยะมันแล้ว ก็มันจะไปแล้วนี่ไปห้ามมันไว้ทำไม
ความเบิกกว้างและความตีบตันไม่ได้อยู่ที่ไหนนะ อย่าเข้าใจว่าโลกธาตุนี้กว้างแสนกว้าง เวิ้งว้าง แต่มันตีบตันและเวิ้งว้างอยู่ที่จิต ซึ่งได้รับการอบรมด้วยศีลด้วยธรรมต่างกัน เห็นได้ชัดสำหรับผู้ปฏิบัติตามศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงไว้อย่างสดๆ ร้อนๆ ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย เป็นธรรมที่ทันสมัยกับกิเลสอยู่ตลอดเวลา ทำให้ครึก็ตัวเองเป็นคนครึ ให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายก็อ่อนปวกเปียกลงไป หาที่ก้าวเดินไม่ได้ ทำตัวฟิตตัวให้เป็นคนดี ใจนี้พร้อมเสมอที่จะดีและชั่ว ถ้าเราอบรมในทางที่ถูกที่ดีใจนี้ก็ดีไปเรื่อยๆ ดีไม่มีที่สิ้นสุดคือใจ ชำระตั้งแต่พื้นๆ ตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานไป เช่นนักปฏิบัติไปภาวนาอยู่ในป่าในเขาเพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใส จนถึงขั้นบริสุทธิ์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะเห็นได้ชัดเจนในจิตดวงนั้น
เวลารบรากับกิเลสตอนต้นต้องแพ้กิเลสไปเรื่อยๆ การแพ้ไม่เป็นไร เพราะกิเลสมันช่ำชองในวัฏวน หมุนจิตใจของสัตว์โลกให้ลงขั้นต่ำมานานแสนนาน แต่เราจะฟื้นจิตใจของเราให้ขึ้นสู่ความดีงามในเบื้องต้นนี้รู้สึกว่ายากลำบาก ประหนึ่งว่าจะไปไม่ไหว เพราะอำนาจของกิเลสมันรุนแรงจนจะท้อถอยน้อยใจ ตำหนิก็มาซ้ำให้กิเลสได้กำลังเพิ่มเข้าอีก ว่ามีนิสัยวาสนาน้อยไม่สมควรแก่การปฏิบัติความดีงามทั้งหลาย ปล่อยไปตามบุญตามกรรมอย่างนี้ดีกว่า นี้เรียกว่ากิเลสได้ชัยชนะแล้ว และนับวันที่จะอ่อนปวกเปียกลงไป หาวันที่จะเจริญก้าวหน้าไม่ได้ใครถ้าคิดเช่นนั้น
ถ้าคิดเพื่อจะฝึกฝนอบรมตนให้ดีไปโดยลำดับ มันจะต่ำขนาดไหน กิเลสไม่เคยพาสูง มีมากมีน้อยต้องพาจิตใจให้ต่ำอยู่เสมอ แต่ธรรมนี้สูงเสมอไป เมื่อนำธรรมเข้ามาฉุดมาลากตัวเอง เหยียบย่ำทำลายกิเลสลงไปกิเลสก็หลุดลอยลงไปเรื่อยๆ ใจก็ค่อยสง่างามขึ้นมาๆ เย็นสบาย นี่เฉพาะการอบรมใจด้วยจิตตภาวนา เห็นได้อย่างชัดเจนมากทีเดียว จิตไม่เคยสงบไม่เคยรวม ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของอัศจรรย์ แต่จิตมันไขว่คว้าตลอดเวลา หาของประเสริฐหาของอัศจรรย์แต่ไม่มีใครเจอของประเสริฐ ของอัศจรรย์ ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย คือสัตว์โลกผู้งมงาย ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือพาบุกเบิกเพิกถอนสิ่งที่ปิดบังจิตใจที่มืดบอดให้สว่างไสวออกบ้าง พอเห็นช่องเห็นทางบ้างเลย ก็นับวันตีบตันอั้นตู้ไปเรื่อยๆ
แต่ผู้พยายามฝึกฝนอบรมตนให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ถึงจะต่ำขนาดไหนก็ตาม..ใจ จะสูงขึ้นด้วยธรรมทั้งนั้น กิเลสเมื่อมีกำลังมากก็ต้องทำจิตใจให้ต่ำ สิ่งใดที่เป็นไปในทางของกิเลสราบรื่นไปหมด แต่ที่จะเป็นไปในทางดีคือทางอรรถทางธรรมนี้เป็นลักษณะตีบตันอั้นตู้ เหมือนหนึ่งว่าจะไม่มีวาสนาบำเพ็ญคุณงามความดีเลย นี่ละเวลากิเลสมีอำนาจมากมันทำให้เราอับเฉาไปหมดทุกอย่าง คุณค่าอยู่ในใจของเราแต่กลับหาคุณค่าไม่ได้ กลายเป็นเรื่องของกิเลสมีคุณค่าไปหมด หลงไปตามมันเรื่อยๆ ก็ยิ่งอ่อนลงๆ เลยหาความดีไม่ได้ นี่ละสำคัญอยู่ที่จุดนี้
การฝึกฝนภาวนานี้รู้กันได้ชัด อย่างอื่นไม่ชัดเหมือนจิตตภาวนา จิตตภาวนารู้ได้ชัดเจนเป็นลำดับลำดาไป แต่การฝึกฝนอบรมทางด้านจิตตภาวนานี้ลำบากลำบนมากอยู่ไม่น้อย สำคัญที่การอยู่การกินการหลับการนอน ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก นักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวแล้ว จะไม่มากังวลกับการการกินอยู่พูวายอะไรเลย จะมีตั้งแต่พอยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ ได้ประคองขันธ์เพื่อฟัดกับกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่ต้องเป็นความลำบากลำบนมาก
กินไม่อิ่มละนักปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม จะกินให้อิ่มนี้ไม่ได้ กินก็ต้องเขียมๆ พอทนได้ พอทนได้แล้วก็หยุด ไม่กินมากกว่านั้น ถ้ากินมากกว่านั้นกิเลสมีน้ำหนักมากก็ทับจิตใจลง การภาวนาสติก็ไม่ดี หลุดลุ่ย ขาดๆ ตกๆ ถ้ากินมากเป็นอย่างนั้น เมื่อกินมากก็หมุนเข้าไปหานอนมาก ขี้เกียจขี้คร้านมาก ถ้าให้ธาตุขันธ์อิ่มพอทางอาหารการกินแล้วจะหมุนลงสู่ทางต่ำเสมอ ทางอรรถทางธรรมจะไม่ค่อยสนใจ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมต้องอดต้องอยาก ต้องฝ่าฝืนกันอย่างแท้จริง
พระกรรมฐานที่ท่านมุ่งต่ออรรถต่อธรรม เราได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจทุกวันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่ท่านผู้สมบุกสมบันรับความทุกข์ความลำบากมากในป่าในเขา ประหนึ่งว่าไม่มีราค่ำราคา ผ้าขี้ริ้วห่อมูตรห่อคูถ ไม่ใช่ผ้าขี้ริ้วห่อทองนะ เวลาจิตยังไม่ได้กำลังก็กลายเป็นผ้าขี้ริ้วห่อมูตรห่อคูถไปหมด การประกอบความเพียรก็ลำบากๆ แต่ความสังเกตสอดรู้ในการปฏิบัติไม่ลดละ นี่ละเป็นทางก้าวเดินแห่งความเพียร มีช่องมีทางที่จะสงบร่มเย็นราบรื่นดีงามไปได้
คือการภาวนานี้ส่วนมากใครที่กิเลสตัณหามันชอบมันขัดต่อธรรมไปเสีย นี่ละสำคัญตรงนี้ เช่นสมมุติว่าการกินมากนี่เป็นเรื่องของกิเลส อยากกินมาก อยากกินอาหารเอร็ดอร่อย อยากนอนให้สบาย อยู่ให้สบาย นี่เป็นเรื่องของกิเลสเสียทั้งหมด ไม่มีธรรมแทรกเข้าเลย นี่ละมันขัดกันตรงนี้ ทีนี้ฝ่ายธรรมเรากินน้อยพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ถ้ากินน้อยความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่ค่อยมี ถ้ากินมากความง่วงเหงาหาวนอนก็มาก ขี้เกียจมาก ถ้ากินน้อยความง่วงเหงาหาวนอนไม่ค่อยมี ความง่วงนี้จะมีบ้างคืนแรกสองคืนแรก พอสองสามวันไปแล้วความง่วงจะไม่มี ตั้งสติได้ตรงแน่วๆ
เมื่อสติไม่เผลอแล้วก็เรียกว่าความเพียรสืบต่อกัน ความเพียรสืบต่อกันก็เป็นการระงับดับกิเลสลงไปโดยลำดับ ความคิดความปรุงของกิเลสที่อยากคิดอยากปรุงออกมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา ตัวดันสำคัญที่จะให้เกิดสังขารสมุทัยขึ้นมานั้นก็สงบตัวลง เพราะสติครอบเอาไว้ๆ วันไหนก็ครอบอยู่อย่างนั้นตลอด ทีนี้กิเลสเหล่านั้นก็ค่อยอ่อนตัวลง เมื่อกิเลสอ่อนตัวลงจิตไม่ได้คิดได้ปรุงไปเป็นเครื่องมือของสมุทัย ให้เอาฟืนเอาไฟมาเผาเรา จิตก็สงบเพราะมีสติรักษา พอสติรักษาติดต่อสืบเนื่องโดยลำดับลำดาความคิดความปรุงทั้งหลายที่มันผลักมันดันออกมามากๆ ค่อยอ่อนตัวลงไปๆ ใจมีความสงบมากขึ้นๆ นั่นน่ะเห็นผลแล้วนั่น
ใจมีความสงบมากขึ้นย่อมไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร สงบมากเท่าไรยิ่งเป็นความสะดวกสบาย ก้าวเข้าสู่ขั้นสมาธิคือจิตสงบจนถึงความแน่นหนามั่นคงแล้วรำคาญในความคิด ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรมันรำคาญ แต่ก่อนไม่คิดไม่ได้ อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากทุกอย่าง เกิดขึ้นจากความอยากนี้ และหมุนสังขารให้ปรุง แล้วก็เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลาในหัวใจของเราเอง ทีนี้เมื่อมีสติกำกับรักษาให้ดีแล้วความอยากคิดอยากปรุงนี้จะค่อยอ่อนตัวลงๆ สำคัญที่สติอย่าอ่อนนะ ความคิดความปรุงจะค่อยอ่อนตัวลงตามอำนาจสติบังคับบัญชาไม่ให้ปรุง ต่อไปจิตก็เข้าสู่ความสงบเย็นได้สบายๆ
อย่างไรก็ตามขอนักภาวนาทั้งหลายอย่าได้ลืมว่า สติเป็นของสำคัญมากในการประกอบความพากเพียร ตั้งแต่พื้นๆ จนถึงขั้นมหาสติ-มหาปัญญา สตินี้เป็นอาวุธที่สำคัญปราบปรามกิเลสได้ทุกประเภท ต้องมีสติติดตัว เมื่อสติดีความเพียรก็ดี ฐานของจิตที่ยังไม่เคยสงบสงบได้ละ สงบเย็นๆ ลงไป สติติดแนบตลอดไม่ให้เผลอ ก็ยิ่งเป็นความสว่างไสวขึ้นมาจากความสงบ ทีนี้เป็นความสว่างไสวภายในใจแล้ว เห็นความแปลกประหลาดภายในใจของตนจากจิตตภาวนาขึ้นไปโดยลำดับลำดา จนกลายเป็นสมาธิจิตแน่นหนามั่นคง ไม่อยากคิดอยากปรุงเรื่องราวอะไร นั่งอยู่ยืนอยู่ เดินทั้งวันก็มีความสงบตัวอยู่อย่างนั้น เพราะสังขารความคิดปรุงไม่ทำลายไม่มารบกวน ทีนี้จิตก็เป็นสมาธิได้
ให้ทราบว่าจิตเป็นสมาธิเป็นอย่างไร จิตสงบธรรมดาชอบจะคิดจะปรุงเสมอ เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงแล้วความคิดปรุงนี้ระงับกัน ไม่อยากคิดอยากปรุง ความคิดปรุงเป็นเรื่องรำคาญ นี่ละจิตเมื่อเข้าถึงขั้นสงบแนบแน่นแล้วความคิดปรุงจะเป็นเรื่องรำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุง อยู่เท่าไรก็ได้ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ เท่าไรจิตแน่วตลอดเวลา ประหนึ่งว่าภูเขาทั้งลูกอยู่กับจิตใจที่แน่นหนามั่นคง นี่ท่านเรียกตามชื่อตามนามว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว แน่นหนามั่นคงไม่หวั่นไหวอะไรง่ายๆ
เมื่อจิตมีความสงบแน่นถึงขนาดนั้นแล้วก็เรียกว่าจิตอิ่มตัว จิตอิ่มอารมณ์ ความคิดความปรุงทั้งหลายนี้ไม่กวน อิ่มตัวคือไม่ดันออกไปคิดสิ่งนั้นไปคิดสิ่งนี้ อิ่มตัวอยู่ภายในความรู้ของตัวเอง ความคิดความปรุงก็ไม่มารบกวน จิตขั้นนี้จะแน่วแน่มากทีเดียว สงบแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาทั้งลูก ให้ฟังเอานะนักภาวนา การแสดงนี้แสดงตามหลักความเป็นจริงให้ฟัง ไม่สงสัยในการแสดงว่าจะผิดไป
ทีนี้เวลาจิตมีความแน่วแน่มากขึ้นเท่าไรเรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ ไม่เถลไถลไปสู่อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ในระยะนี้ละท่านให้ใช้ปัญญา ให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ดังที่พระบวชเบื้องต้น ท่านสอนไว้ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ตลบทบทวนกลับไปกลับมา ในเบื้องต้นเอากรรมฐานห้านี้เป็นคำบริกรรมกล่อมจิตใจให้อยู่กับกรรมฐานห้านี้ จะเป็นบทใดบทหนึ่งหรือจะเรียงลำดับไปก็ตามอัธยาศัยของผู้ภาวนา หรือจะเอาแต่บทเดียวเท่านั้นก็ถูกต้อง หรือเรียงลำดับไปตามอุปัชฌาย์ท่านสอนนั้นก็ได้
ถ้าความถนัดใจในบทใดอยู่บทเดียวก็เหมือนกันหมด นั่นเรียกว่าบริกรรม เอาอันนี้เป็นคำบริกรรมกล่อมจิตใจให้สงบร่มเย็นอยู่กับธรรมบทนั้นๆ ในกรรมฐานห้า ทีนี้เวลาจิตมีความสงบเย็นแล้ว กรรมฐานห้านี้ละที่เป็นอารมณ์กล่อมใจให้สงบ กลับมาเป็นหินลับปัญญา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นหินลับปัญญา นำสิ่งเหล่านี้ออกมาพิจารณาคลี่คลายเป็นทางด้านปัญญาต่อไป ออกจากหนังแล้วก็เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง อาหารใหม่อาหารเก่า ทั่วแดนสกลกายของเรา จากนั้นเราอยากจะเทียบกับสิ่งภายนอกอะไรมันก็ไม่ผิดกัน
นี่เราสอนให้นักภาวนาได้คิด เพราะคำสอนประเภทนี้เราไม่ค่อยสอน สอนแต่เป็นแกงหม้อใหญ่ไปหมด วันนี้จะมีลักษณะเจาะจงบ้างทางด้านจิตตภาวนา เพื่อผู้สนใจทางด้านภาวนาจะได้นำไปปฏิบัติเป็นคติอันดีงามละเอียดลออขึ้นไป เมื่อจิตมีความสงบด้วยอำนาจแห่งกรรมฐานบทใดก็ตาม เรียกว่าเป็นธรรมกล่อมใจในเบื้องต้น เราจะว่าเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บทใดก็ได้ หรือทั้งหมดก็ได้ หรือเราจะว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดก็ได้ นี่เรียกว่าเป็นธรรมกล่อมใจให้ใจของเราได้มีความสงบ
พอจิตใจมีความสงบแล้ว ทีนี้จิตมันก็ย้อนมาพิจารณาสิ่งนี้เป็นหินลับปัญญาต่อไป คือเป็นเครื่องใช้พิจารณาทางด้านปัญญา ผมเป็นอย่างไร ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นอย่างไร นั่นเอาแล้วนะ ทีนี้คลี่คลายเข้าไป เนื้อ เอ็น กระดูก ตับไตไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า หมดทั้งเนื้อทั้งตัวแล้วมีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ทำไมจิตเราจึงรักตนเอานักหนา รักตนนี้รักมาก นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ ความรักอื่นเสมอรักตนไม่มี เวลานี้มันรักอย่างนี้ ทีนี้พิจารณาเข้าไปแยกธาตุแยกขันธ์อันนี้เข้าไป มันทราบตามหลักความจริงแล้วค่อยปล่อยวางลงไปๆ ในสิ่งเหล่านี้
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตลอดอวัยวะ ๓๒ พิจารณาทางด้านปัญญา คลี่คลายดูเยี่ยมป่าช้าในคือร่างกายของเรา เยี่ยมป่าช้านอกคือคนตายเก่าตายใหม่เผาฝังอะไรก็แล้วแต่ไปดูมา แล้วมาเทียบเคียงกับป่าช้าในคือตัวของเราที่ยังไม่ตาย ได้สัดได้ส่วนเรียบร้อยแล้วการเยี่ยมป่าช้านอกก็หมดปัญหาไป ย้อนเข้ามาเยี่ยมป่าช้าในจนละเอียดลออทุกสิ่งทุกส่วนแล้ว ทีนี้คำว่าอสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อชำนาญเต็มที่แล้วจิตนี้จะค่อยปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ลงไป คำว่าอสุภะอสุภังจะมีแต่ในเบื้องต้นเท่านั้น
ความไม่สวยไม่งาม ความอสุภะอสุภังจะมีในเบื้องต้น ขั้นจิตที่กำลังกำหนัดยินดีในร่างกายของตนและคนอื่นอยู่ ทีนี้เมื่อเวลาพิจารณาอันนี้เข้าใจชำนิชำนาญแล้วมันจะค่อยคลี่คลายกันออก อสุภะอสุภังมันจะติดหูติดตาติดใจจนแนบแน่นกันแล้วมันก็ขยายออกไปสู่กฎอนิจฺจํ ความแปรสภาพของสุภะอสุภะเหล่านี้ เลยกลายเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํไป พิจารณาไป จากนั้นเรื่องอสุภะอสุภังจิตใจเข้าใจหมดแล้วปล่อย อย่างนั้นละการพิจารณา ให้มันเห็นตามหลักความจริง อ่านแต่ตำรับตำราไม่มีผู้ได้ปฏิบัติให้เป็นตามความจริงมันไม่หายสงสัย มันหายสงสัยก็คืออย่างว่านี่
พิจารณาทีแรกเป็นอสุภะมันเป็นจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา มองดูเขาดูเราเป็นแบบเดียวกันหมด สมมุติว่าพิจารณาเนื้อก็แดงโร่ไปหมดทั้งร่างกายของเขาของเรา ของสัตว์ของบุคคล พิจารณาไปทางกระดูกมีแต่ร่างกระดูก ที่ไหนมันก็มีแต่ร่างกระดูกเหมือนกันหมด เข้าไปตับไตไส้พุงมันก็แบบเดียวกันๆ นี่เรียกว่าวิ่งเข้าถึงกัน ประสานกัน แล้วรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ก็ค่อยปล่อยวางเข้ามาๆ นี่การพิจารณาอสุภะอสุภังกรรมฐาน
ไม่ใช่จะเป็นอยู่อสุภะอย่างเดียวนะ มันเปลี่ยนสภาพไปได้ พอเลยจากอสุภะอสุภังมันรู้ทั่วถึงกันหมดแล้วอสุภะที่ไหนมันก็ไม่เอา มันก็ดูกฎหลักธรรมชาติที่เกิดดับๆ อสุภะอสุภัง ไม่สุภะสุภัง เกิดแล้วดับเหมือนกันหมด นั่น มันจะวิ่งเข้าจุดนั้น วิ่งเข้าจุดนั้นสิ่งเหล่านี้ก็จางไป ความสวยความงามสุภะอสุภะจางไปๆ วิ่งเข้าสู่ความเกิดความดับของร่างกายทั้งของเขาของเรา วาดภาพขึ้นปั๊บ จะเป็นภาพกรรมฐาน เป็นภาพร่างกระดูก เป็นภาพโครงกระดูก หรือเป็นภาพมีแต่เนื้อแดงโร่ก็ตามมันจะพังทลายลงๆ ให้เห็นต่อหน้าต่อตา
ทีนี้การพิจารณาอสุภะอสุภังก็ไม่ทันละ เพราะอำนาจแห่งการเกิดการดับมันรวดเร็วเป็นลำดับ ทีนี้อสุภะอสุภังเลยผ่านไปลงไปทางเกิดทางดับ เรื่องอสุภะอสุภังก็ดีมาเป็นอยู่ที่ใจของเราเองนะ เราอย่าเข้าใจว่าอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบอยู่ทางนู้นทางนี้ เวลาจิตพิจารณาพอแล้ว อสุภะอสุภังภายนอกที่เราเคยพิจารณา มันดึงดูดเข้ามาเป็นอสุภะอยู่ภายในจิตของเราเองนี้นะ มันไม่ได้เป็นอยู่ข้างนอก มันเป็นอยู่ภายในจิตของเรา พอปรากฏขึ้นมาจิตนี้เป็นอสุภะเสียอย่างเดียว สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นอสุภะ จิตเป็นอสุภะมันก็มารู้ที่จิตนี้เอง กำหนดเข้าไปตรงนี้จนชำนาญ แล้วก็เกิดดับๆ นี่ละการพิจารณาถึงเรื่องการภาวนา
จากนั้นก็ฝึกซ้อมความเกิดดับของตน มันจะเร็วไปโดยลำดับ การพิจารณาว่าเป็นอสุภะอสุภังไม่ทัน พอเกิดพับดับพร้อมๆ ก็มีแต่เกิดกับดับๆ แล้วละเอียดเข้าไปๆ ร่างกายทั้งหลายที่เคยพิจารณาเป็นภาพจิตใจก็ดับไปๆ มีแต่เกิดกับดับ นี่คือจิตที่ละเอียดด้วยการก้าวเดินไป มันจะผ่านไปอย่างนี้นะ ไม่ได้เห็นแบบเก่าตลอดไป เหมือนเราเดินทางจากบ้านมานี้สายทางมานั้นเราจะได้พบได้เห็นสิ่งต่างๆ แปลกๆ ต่างๆ กันมาจนกระทั่งถึงวัดนี้ ทีนี้การพิจารณาเรื่องกรรมฐานของเราก็เหมือนกัน ระยะนี้เห็นอันนี้ พิจารณาอันนี้ รู้อันนี้ ปล่อยอันนี้ พิจารณาอันนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความเกิดดับ อสุภะอสุภังเลยหมดไป มีแต่เกิดแต่ดับ อะไรก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้นๆ เข้าไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเร็วขึ้น เร็วขึ้นโดยลำดับ
พอตั้งขึ้นพับปรากฏแพล็บดับพร้อมๆ เราจะไปกำหนดว่าอสุภะอสุภังได้อย่างไร พอเกิดแล้วมันดับจะไปแยกมันได้อย่างไร นี่เมื่อมันผ่านเป็นอย่างนั้นจนกระทั่งมีแต่ความเกิดความดับ ความเกิดความดับนี้ก็เร็วเข้าไปๆ สุดท้ายก็เป็นเหมือนฟ้าแลบหรือว่าแสงหิ่งห้อยแย็บๆ เกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นนามแย็บๆ ดับไปพร้อมๆ แล้วฝึกซ้อมกันไม่หยุด เอาอันนี้ละเป็นหินลับปัญญาไปเรื่อย ฝึกซ้อมไปเรื่อย ต่อไปสิ่งเหล่านี้เกิดแพล็บดับพร้อมๆ จากนั้นไปจิตก็ว่างไปเลย นั่นเห็นไหมล่ะ
เราจะเอาอะไรมาพิจารณา ร่างกายมันก็ว่างไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว อสุภะอสุภังอะไรมันผ่านไปแล้ว ผ่านไปหมดไม่มีอสุภะอสุภัง มีแต่เกิดกับดับ เอ้า เกิดกับดับหนักเข้าๆ เร็วเข้าๆ เกิดเร็วดับเร็วเข้าไปๆ สุดท้ายก็แว็บๆ ดับ ทีนี้อะไรที่เป็นพื้นฐานก็มีแต่ความว่างเปล่าของจิต ว่างเปล่าของจิตมองไปไหนก็ว่างไปหมด ต้นไม้ภูเขามองเห็นก็จริงพอเป็นรางๆ แต่พื้นของจิตนั้นมันว่างไปหมดๆ นี่การพิจารณาทางปัญญามันว่างเป็นขั้นๆ เป็นอยู่ในหลักธรรมชาติของตัวเองผู้พิจารณา
เราจะไปวาดภาพอย่างนั้นไม่ได้นะ ให้มันเป็นขึ้นเองในใจของเรา จากนั้นมันก็ว่างภายนอก มองไปที่ไหนก็เลยว่างหมด ต้นไม้ภูเขามีอยู่ตามธรรมชาติของเขา แต่ความว่างของจิตนี้มีอำนาจเหนือกว่า เลยเหยียบเป็นความว่างไปหมดเลย ว่างไปหมด เอา ว่างภายนอกยังไม่แล้วมันก็หมุนเข้ามาภายในอีก ว่างภายนอกเหมือนเราเข้าอยู่ในห้อง เข้าไปยืนอยู่กลางห้อง ไปดูไปชมว่า เออ ห้องนี้ว่างไม่มีอะไรเลย แล้วปัญญาสอดเข้าไปอีกมันจะว่างอย่างไร ก็คนยืนขวางห้องอยู่ทั้งคนมันว่างได้อย่างไร ถ้าอยากให้ห้องว่างเต็มสัดเต็มส่วนให้ถอยออกมา นั่นปัญญา
พอปัญญาถอนตัวออกมาคือตนนั่นละไปอยู่ตรงกลางความว่าง พอถอนอันนั้นออกมาปั๊บมันก็ว่างหมดเลย นี่เรียกว่าว่าง ว่างข้างนอกแต่ไม่ว่างข้างใน พอพิจารณาเข้าไปเต็มที่แล้วว่างข้างนอกด้วย ว่างข้างในคือใจตัวเองด้วย ปล่อยข้างนอกด้วย ปล่อยข้างในด้วย ทีนี้วางโดยประการทั้งปวง จิตว่างไปหมด วางทั้งตนเองคือจิตเสียเอง วางทั้งสิ่งภายนอกที่เกี่ยวข้องกัน เรียกว่าวางหมดในบรรดาสมมุติ ไม่มีอะไรเหลือภายในใจเลย พอถึงขั้นนี้แล้วเรียกว่าปล่อยวางทั้งใจ ใจก็ไม่มีเราไม่มีเขา คำว่าว่างก็ว่างเสมอกันหมดเลย
นั่นละที่นี่พอถึงขั้นนี้ไม่จำเป็นจะต้องไปถามใครละ สนฺทิฏฺฐิโก ผลของงานชั้นสุดท้ายจะปรากฏเด่นขึ้นมาว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ การประพฤติพรหมจรรย์ คือการรบฟันหั่นแหลกกับกิเลสได้สิ้นสุดลงไปแล้ว งานที่ควรทำก็คือการฆ่ากิเลสเป็นงานที่ควรทำอย่างยิ่งได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว งานอื่นที่จะยิ่งกว่านี้ไม่มี นั่นละที่นี่ท่านเสร็จงาน นี่ละพระอรหันต์ท่านเสร็จงานท่านเสร็จตรงนี้ เสร็จตรงที่ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ พิจารณาว่างๆ จนกระทั่งว่างหมด วางหมด ไม่มีอะไรเหลือ สนฺทิฏฺฐิโก ครั้งสุดท้ายตัดสินขึ้นมาผางเลย สิ้นสุดแล้วเรื่องสมมุติ ไม่มีในจิตนี้แล้ว หมดโดยสิ้นเชิง นั่น บรรลุธรรม ท่านว่าสนฺทิฏฺฐิโก ตัดสินขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว
นี่ละใครรู้ที่ไหนก็ตามไม่จำเป็นจะต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะสนฺทิฏฺฐิโก รู้ผลของงานไปโดยลำดับตั้งแต่จิตเริ่มสงบเข้าไปเป็นลำดับๆ ถึงขั้นปัญญาละเอียดลออ จนกระทั่งขาดสะบั้นบรรดาสมมุติทั้งหลายเข้าสู่วิมุตติธรรมล้วนๆ แล้วก็เป็นสนฺทิฏฺฐิโก ขั้นสุดยอด นี่ละที่นี่จิตเข้าถึงขั้นนี้แล้วไม่มีทางที่จะพูดต่อไปอีก ก็มีอยู่เพียงสองทางว่าสิ้นแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ การประพฤติพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว คือสิ้นหมด หรือว่าถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน นิพพานเที่ยงถึงตรงนี้เอง แล้วถึงแล้วซึ่งธรรมธาตุ ธรรมธาตุคือธรรมชาติอันนี้ ใจถึงขั้นนั้นแล้วจะเรียกว่าใจไม่ได้นะ จะเรียกรวมกันว่าเป็นธรรมธาตุนั้นได้ เหมาะสมมาก
นี่ละธรรมธาตุก็ดี นิพพานก็ดี เป็นไวพจน์ของกันและกันได้ ถึงนี้แล้วไม่สงสัย นี่ละพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ทั้งหลายท่านถึงขั้นธรรมธาตุนี้แล้วหมดสงสัย เลิศเลออยู่ตรงนี้ ไม่ต้องเกิดตายอีกเหมือนโลกทั่วๆ ไปตั้งแต่บัดนั้น จึงไม่มีอะไรติดขัด นี่ละท่านผู้ถึงนิพพานถึงแล้วบรมสุขก็อยู่ตรงนี้ละ อยู่ตรงธรรมธาตุนี้ละ บรมสุขอยู่ตรงนี้ นิพพานเที่ยงก็อยู่ตรงนั้น พิจารณาให้เห็นอย่างนั้น ปัจจุบันนี้ธรรมนี้ก็สดๆ ร้อนๆ อยู่กับผู้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ใบลาน นั้นเป็นตัวหนังสือต่างหาก ไม่ใช่กิเลสไม่ใช่ธรรมในตัวหนังสือนั้นในใบลานนั้น
กิเลสจริงๆ ธรรมจริงๆ อยู่ที่หัวใจ การแก้แก้ที่หัวใจของเรา กิเลสจะขาดจากหัวใจ ธรรมจะปรากฏขึ้นที่หัวใจ มรรคผลนิพพานจะเป็นเรื่องหัวใจเสียเอง เป็นมรรคผลนิพพาน ธรรมธาตุจะเป็นเรื่องของจิตเสียเองเป็นธรรมธาตุ หมด นั่นเรียกว่าธรรมธาตุ สุดแล้วที่นี่ไม่มีอะไรต่อไป นั่นละท่านว่าถึงนิพพานถึงธรรมธาตุ ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนถึงเหตุถึงผล ถึงเขตถึงแดน ไม่มีอะไรสงสัย เพราะเป็นธรรมะของท่านผู้สิ้นกิเลส
พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วกิเลสไม่มีในพระทัย แนะนำสั่งสอนโลกด้วยความบริสุทธิ์ในพระทัย จึงเรียกว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิบัติตามนั้นก็ก้าวเดินตามทางศาสดา ประหนึ่งว่าตามเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่ทุกฝีก้าว สุดท้ายก็ถึงพระองค์ได้ เป็นอัตสมบัติของเราขึ้นมา ศาสดาสอนตนรอบคอบแล้ว หมด โลกวิทูรู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึงก็รู้แจ้งในใจของเราเอง รู้หมดอะไรแล้วก็กลับมารู้ใจตัวเอง เรียกว่าโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง ก็ยุติลงเท่านี้
นี่ละพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว เกิดมาใครไม่มีวาสนาจะไม่ได้พบนะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส ตรัสไว้โดยชอบทุกแง่ทุกมุม ทุกขั้นทุกภูมิของอรรถของธรรม ให้ปฏิบัติตามนี้ อย่าไปไขว่คว้าลูบคลำนั้นว่าดี อันนี้ว่าดี เหลวไหลตลอดไป สุดท้ายจะไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวนะ ให้พากันจดจำเอา
วันนี้ก็เทศน์เพียงเท่านี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาลูกหลานทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
และเครือข่ายทั่วประเทศ
|