ความเพลินในธรรม
วันที่ 27 สิงหาคม 2550 เวลา 8:05 น. ความยาว 43.55 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐

ความเพลินในธรรม

         ทองคำที่มอบเข้าคลังหลวงไปแล้ว ๑๑,๐๓๗ กิโลครึ่ง หลังจากมอบแล้วได้ทองคำน้ำไหลซึมเพิ่ม ถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม  ๑๑,๕๓๗ กิโล ๖๐ บาท ๖๐ สตางค์ ถ้ารวมทองคำทั้งหมดที่มอบแล้วและยังไม่ได้มอบก็เป็นทองคำ ๑๑,๕๗๕ กิโล ๒๗ บาท ๗๑ สตางค์ ทองคำเราที่ได้เข้าคลังหลวงคราวนี้เป็นจำนวน ๑๑,๕๗๕ กิโล ๒๗ บาท ๗๑ สตางค์ ได้เยอะอยู่นะ ไม่มีคราวไหนจะได้แหละ เมืองไทยนี้เวลาจะตายจริงๆ มันก็ดิ้นได้ เมืองไทยเรานี้แหละเวลาไม่รู้ตัวฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อะไรดีหมดๆ คว้านี้ลิงร้อยตัววิ่งตามหลังไม่ทัน เข้าใจไหม คืออะไรมาคว้ามับๆ

ลิงที่ว่าเร็วที่สุดยังวิ่งตามหลัง มันสู้คนไทยไม่ได้ เอาเสียเจ้าของจนจะจม เอ้า จะจมจริงๆ เหรอ ดิ้นอีก ลิงก็สู้ไม่ได้อีก นี่ละที่ฟื้นขึ้นมา ทองคำ ๑ หมื่น ๑ พันกว่าถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่างนี้ไม่ขึ้น สมบัติต่างๆ ที่เราได้ก่อสร้างขึ้นในคราวช่วยชาตินี้ ถ้าไม่ถูกดัดสันดานแล้วมันก็ไม่ดิ้น นี่ถูกดัดเลยดิ้น ดิ้นทั้งญาติทั้งโยมทั้งพระ หลวงตาแก่ๆ ก็ดิ้นกับเขา

หมอสานิตย์ที่เคยพูดเสมอ หมอรุ่งเรือง รพ.ศูนย์อุดร หมอสานิตย์ อยู่กรุงเทพ ที่เด่นอยู่สำหรับผ่านวัดป่าบ้านตาด เราพูดตรงๆ มีหมอสองท่านนี้แหละที่ปรากฏว่าเด่นจริงๆ  นอกนั้นเราไม่ปฏิเสธนะว่าไม่มี ไม่เชื่อศาสนา ไม่มีศรัทธา แต่ที่เด่นให้ได้เห็นด้วยสายหูสายตาจริงๆ ก็คือนี้แหละ ก็เลยพูดออกมา เราไม่ได้ประมาทหมอทั้งหลาย หมอทั้งหลายเขาก็มีหัวใจ ลูกชาวพุทธเขามีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา แต่ว่าโอกาสไม่อำนวย บางทีไม่มีเพื่อนฝูงชักนำก็ได้ เราก็แยกออกไปอีก หรือลืมตัวก็ได้ ลืมตัวเพราะเขาเสกว่าเป็นหมอ เลยกลายเป็นหมาไปเลย มันลืมตัว เหมือนไอ้หมาวิชัย อ.เพ็ญ มันเหยียบหัวพระหัวครูบาอาจารย์ไป ไอ้หมาตัวนี้มันเหยียบไม่เลือกนะ อย่างนั้นก็มี

เรียนสรีรศาสตร์ สำเร็จมาทางสรีรศาสตร์แล้ว เขาก็เรียกชื่อเป็นหมอเป็นแพทย์ไปละ เรียนเรื่องร่างกาย ประสาทส่วนต่างๆ ในร่างกายของเรานี้ ส่วนไหนมันเดินยังไงใช้ไปยังไง มันขัดข้องมันสะดวกอะไร แล้วเกิดโรคเกิดภัยได้เพราะเหตุใด จะได้หายามาประกอบแก้ไขกันถึงจะหายไป หมอเขาก็เรียนวิชาสรีรศาสตร์เต็มภูมิของหมอ เกี่ยวกับการรักษาโรคภัยในร่างกายนี้ สำเร็จมาแล้วเขาก็เรียกเป็นแพทย์เป็นหมอไป แต่รวมอย่างอื่นๆ หลายอย่าง หากรวมอยู่ในสรีรศาสตร์ความรู้ทางร่างกาย

ทีนี้ทางสรีรศาสตร์ของพุทธศาสนามันเป็นคนละโลก บางคนอาจจะเข้าใจผิดไป ไปเรียนฝั่งทางหมอจนกลายเป็นแพทย์ขึ้นมาแล้วตัวเองเย่อหยิ่งจองหอง ว่าสูงกว่าพุทธศาสนายกตนเทียมท่านไปก็มี คนเราไม่มีเจตนามันหากเป็นด้วยความสำคัญ อย่างนั้นก็มี สรีรศาสตร์ในพุทธศาสนานี้เรียนทางร่างกายนี้ มันแยกธาตุแยกขันธ์ แยกเกี่ยวกับเรื่องกิเลสตัณหามันยึดมันข้องมันรักมันชังตรงไหนๆ มันติดมันพันตรงไหนตามเข้าไปพิจารณา เอาจนหมดความยึดร่างกายของเรานี้แล้ว พวกนามธรรมยังละเอียดอีก คือปรากฏสักแต่ว่ารู้แต่ไม่มองเห็นตัว เรียกว่านามธรรม เช่น เวทนา ความสุขความทุกข์ เฉยๆ นี่ก็เป็นนามธรรม มองหาด้วยตาไม่เห็น เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่เห็น สัญญา สังขาร วิญญาณ มองไม่เห็น นี่ละสรีรศาสตร์เรียนเหล่านี้ละ ทั้งรูปกาย นามธรรม เรื่อย

เราได้มาเท่าไรๆ ก็เพื่อโลกทั้งนั้น เรียกว่าหมดสำหรับเราเอง เราไม่มีอะไร ตั้งหน้าตั้งตาช่วยโลกด้วยความเมตตาล้วนๆ เลย สำหรับเราเมื่อพอก็บอกว่าพอ เมื่อหิวก็บอกว่าหิว เหมือนเราหิวข้าวหิวน้ำ หิวมากหิวน้อย อิ่มมากน้อย อิ่มจนเต็มที่แล้วพอ พอหมด หวานก็พอ คาวก็พอ ธาตุขันธ์มันอิ่มตัวของมันจากอาหารเครื่องหล่อเลี้ยง จิตใจของเราเหมือนกัน เมื่ออิ่มตัวไปหมดจากสภาวธรรมทั้งปวงในแดนสมมุตินี้แล้ว เรียกว่าอิ่มแล้ว พอ ปล่อยวางโดยสิ้นเชิง คือจิตปล่อยหมด

ในบรรดาสมมุติสามแดนโลกธาตุ เป็นสมมุติทั้งมวล จิตยึดได้ทั้งหมด เวลามันหลงมันยึดได้หมด เวลามันรู้ด้วยการพินิจพิจารณาตามทางของศาสดาแล้ว ปล่อยได้หมดโดยสิ้นเชิง แม้ที่สุดตัวเองก็ปล่อยตัวเองได้ อย่างเห็นว่าเรารู้ๆ สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เราไม่รู้ตัวของเราก็ยังปล่อยไม่หมด เมื่อรู้รอบแล้วเจ้าของก็รู้เจ้าของอีก ปล่อยตัวเองอีกให้เป็นสภาพเหมือนกันหมด ทีนี้พ้นละพ้นสมมุติก็เป็นวิมุตติขึ้นมา

นี่ก็เคยเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังที่ว่าเวลามันอัศจรรย์ อัศจรรย์จริงๆ นะจิต เวลามันทุกข์ก็แสนทุกข์แสนลำบาก เวลาพิจารณาไปปฏิบัติไป ขั้นนี้เป็นขั้นนามธรรม รูปธรรมต่างๆ มันผ่านไปหมด นี่ละเวลามันอิ่มมันพอของมัน เช่นอย่างท่านว่าให้พิจารณาอสุภะอสุภัง พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ไปเยี่ยมป่าช้า ธุดงค์ ๑๓ ข้อ มีข้อเยี่ยมป่าช้านี้ข้อหนึ่ง ท่านไปเยี่ยมป่าช้า อย่างที่พระท่านไปภาวนาอยู่ในป่า คือสำคัญตนว่าสำเร็จเป็นอรหันต์ จะมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่าตนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว พอมาท่านรับสั่ง ให้ไปดันอยู่หน้าประตูพระเชตวันไม่ให้เข้าวัด ให้ไปเยี่ยมป่าช้าเสียก่อน คือเจ้าของสำคัญ มันไม่ใช่ความจริงมันสำคัญต่างหาก ว่าเจ้าของสิ้นกิเลสเรียบร้อยแล้ว

แม้แต่ขั้นอสุภะก็ยังไม่สิ้นจะว่าไง ขั้นอสุภะไปแล้วสิ้นนี่แล้ว ยังมีอีกขั้นหนึ่งโน่น อันนี้เพียงขั้นอสุภะก็ยังไม่สิ้น สำคัญตนว่าเป็นอรหันต์เรียบร้อยแล้ว มาพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์ ไปขัดประตูพระเชตวัน ห้ามไม่ให้เข้าวัด พระองค์รับสั่งให้ไปเยี่ยมป่าช้าเสียก่อนพระเหล่านี้ ที่สำคัญตนว่าเป็นอรหันต์ จึงได้ไปเยี่ยมป่าช้า ทีนี้ป่าช้าในครั้งนั้น แต่ทุกวันนี้เขาคงจะเปลี่ยนแปลงไปหมด เพราะกาลสมัยมันเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อย ในครั้งนั้นพอคนตายลง ไม่ได้เผานะ ไม่ได้เผาได้ฝังทิ้งเกลื่อน เขาเรียกป่าช้าผีดิบ ป่าช้าที่ผีเผาก็คงจะมีอยู่ แต่ท่านไล่เข้าไปป่าช้าประเภทป่าช้าผีดิบ ไล่พระอรหันต์ดิบไป

พอไปคนตายเกลื่อนมีหลายประเภท ไปดู ควรรักมี ควรเกลียดมี ควรอะไรต่ออะไรมีอยู่ในนั้นหมด จิตมันก็พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตื่นเต้นไปในแง่ต่างๆ ตามสภาพที่เห็นต่างๆ กัน เลยไปรู้ตัวที่นั่นมาพิจารณา แต่ท่านก็รวดเร็วอยู่นะ ท่านไปพิจารณาอยู่ที่นั่น เลยสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ผ่านจากอสุภะอสุภัง ผ่านอย่างรวดเร็ว ผ่านหมด นี่เรียกว่าความสำคัญผิด

ร่างกายเมื่อถึงขั้นมันพอมันพออย่างนี้แหละ คือพิจารณาร่างกายในขั้นหยาบๆ นี้ก็ต้องอสุภะอสุภัง พิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนของธาตุของขันธ์ ส่วนหยาบส่วนละเอียด จนกระทั่งมันหมดสภาพ มันอิ่มตัว จิตอิ่มตัวปล่อยวางร่างกาย อิ่ม มันก็หมุนเข้าไปนามธรรม ตั้งแต่อาการของจิตล้วนๆ เข้าไปเรื่อยๆ ทีนี้เราจะพิจารณาอสุภะอสุภังไม่ทันนะ คือเวลามันเร็วๆ แล้วสักแต่ว่าปรากฏเหมือนฟ้าแลบ มันแยกรูปหญิงรูปชาย รูปอะไรก็ตามจนปรากฏว่าจะแยกไม่ทัน ดับแล้วๆ นั่นละผ่านละ เรียกว่าพออสุภะ ไม่เอาไม่มี ถึงจะพิจารณาก็ไม่ทัน มันเกิดกับดับมันพร้อมๆ กันเหมือนฟ้าแลบ จากนั้นก็พิจารณานามธรรม มันก็เข้าถึงจิต

มาส่วนกายส่วนใหญ่ของสมมุตินี้ก่อน พอมันผ่านนี้แล้วก็เข้าส่วนนามธรรม พิจารณารูปเหล่านี้ไม่ปรากฏ แต่ก็อาศัยพิจารณารูปเหล่านี้ละเป็นหินลับปัญญาเป็นขั้นๆ เข้าไป เป็นขั้นละเอียดเข้าไปหาจิต เมื่อมันหมดแล้วมันแยกไม่ทัน จึงเรียกว่าหมด อสุภะอสุภังนี้หมด ไม่มี แยกไม่ทัน ปรากฏแพล็บดับพร้อมๆ มีแต่เกิดกับดับๆ จะเกิดกับดับมาจากไหน มันก็แย็บๆ ที่จิตๆ ตามเข้าไปๆ นี่เรียกว่านามธรรมล้วนๆ พอมันหมดสภาพของรูปกายแล้ว จิตมันก็ว่าง นี่ละหมด หมดส่วนร่างกายแล้วมันก็ว่าง

ถ้าพูดถึงเรื่องขั้นภูมิของธรรมะ พอหมดอสุภะอสุภัง หมดส่วนร่างกายนี้เรียบร้อยแล้ว จิตปล่อยแล้วนี้ นี่ละเขาเรียกว่าจิตขาดจากกามราคะขาดตรงนี้ จิตขาดแล้ว ส่วนธาตุขันธ์มันจะมียิบๆ แย็บๆ ถึงเรื่องราคะตัณหา มันก็แสดงอยู่เพียงขันธ์นอกๆ ไม่เข้าไปประสานถึงจิตภายใน นั่นท่านเรียกว่าขั้นนี้ขั้นผ่านกามราคะไป ข้ามการตั้งบ้านตั้งเรือน พระอนาคาจะไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว จะไปข้างหน้าเลย ไม่กลับมาสร้างบ้านสร้างเรือน คือการเกิดการตายกองกันอยู่นี้อีกต่อไป ท่านก็ทราบของท่านชัด

จากนี้แล้วก็เอาร่างกายที่มันแยกธาตุแยกขันธ์เป็นอสุภะอสุภังไม่ทันนี้ เอาความเกิดความดับนี้เป็นการฝึกซ้อมปัญญา พอเกิดพับดับพร้อมๆ แล้วเกิดมันเกิดที่ไหนดับที่ไหนมันก็วิ่งเข้าไปหาใจ นี่เรียกว่าพิจารณานามธรรมล้วนๆ ร่างกายส่วนสัดอะไรๆ บรรดารูปไม่มี ในจิตขั้นนี้หมด นั่นละท่านว่าเป็นจิตว่าง ว่างไปหมดเลย

อันนี้เราก็ได้เคยเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ที่ว่าไปอัศจรรย์ตัวเอง มันว่างอย่างนี้ละ พอถึงขั้นมันว่างว่างหมด ต้นไม้ภูเขามองเห็นพอเป็นเงาๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่มันว่างไปหมดภายใน นี่พระธรรมท่านเตือน ท่านกลัวหลงเพราะเพลินแล้ว หลงแล้ว อัศจรรย์เจ้าของแล้ว ว่า โอ๋ ทำไมจิตของเราจึงอัศจรรย์เอานักหนา สว่างไสวไม่มีประมาณครอบไปหมดเลย ว่างหมดเลย ตัวจิตมันยังไม่ว่างนั่นน่ะ พระธรรมท่านกลัวจะหลงละซิ พอรำพึงถึงเรื่องความอัศจรรย์แห่งความว่างของตัวเองจบลงปั๊บ พระธรรมขึ้นเป็นคำนะ เหมือนเราพูดกันอย่างนี้ หากเป็นพูดอยู่ภายในเป็นคำขึ้นมา พระธรรมเตือนนะนั่น

ถ้ามีจุด นั่นฟังซิ มีจุดหรือต่อมนี่มันเป็นไวพจน์ของกันและกัน ใช้แทนกันได้ ถ้ามีจุดหรือต่อมแห่งผู้รู้ ผู้รู้ละเป็นจุด จุดของผู้รู้ แห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพมันอยู่ที่นั่น ก็ยังไม่เห็น เราก็ยังงง เอ๊ มันจุดไหนต่อมไหนนา งงจริงๆ เลยแก้ไม่ตก เดือน ๓ อยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เผาศพพ่อแม่ครูจารย์มั่นแล้วก็ขึ้นไป ไปพิจารณานี้ละ จิตมันกำลังว่างตอนนี้ แล้วพระธรรมท่านกลัวจะหลง ท่านก็มาเตือนว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ตัวภพแท้ๆ อยู่ที่จุดที่ต่อมแห่งผู้รู้คือใจนั้นแหละ อยู่ตรงนั้น มีอวิชชาครอบอยู่นั้น ไม่ใช่จิตล้วนๆ เป็นจิตอวิชชา

คือจิตอวิชชา กิเลสส่วนละเอียดคืออวิชชา นอกนั้นมันก็ว่างไปหมด พอท่านเตือนอย่างนั้นงง แก้ไม่ตก ยังคิดถึงพ่อแม่ครูจารย์มั่นนะ ตอนเป็นนี่ท่านล่วงไปแล้ว เรามาเป็นทีหลัง ถ้าหากว่าเป็นตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ พอไปเล่าถวายให้ท่านฟัง มันจะสำเร็จในเวลานั้นเลยนะ แน่ใจ สำเร็จ

นี่ละที่ว่าพระท่านฟังเทศน์เวลาตอบปัญหาอย่างนี้ละ สำเร็จในเวลาตอบปัญหา พอพูดว่าถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ท่านก็จะจี้เข้า ก็ต่อมนั้นแล้ว คือต่อมผู้รู้นั้น ต่อมผู้รู้นี้แหละ เป็นจุดเป็นต่อม นั้นละคือตัวภพ นั้นละคือตัวภัย ท่านก็จะจี้เข้ามา มันจะรู้ทันทีแล้วขาดสะบั้นในเวลานั้นเลย บรรลุธรรมในขณะนั้นก็ได้ เราเชื่อแน่เลยนะ แต่นี้มันเป็นเวลาท่านล่วงไปแล้ว เรามาเป็นทีหลัง ไม่ตก เดือน ๓ มันเป็น อยู่ในภูมินี้เดือน ๓ ไปเที่ยวนู่นทางอ.บ้านผือ ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ ไปองค์เดียวเท่านั้นแหละ ใครไปด้วยไม่ได้แหละเรา

ทีนี้ได้กลับมาอีก กลับมาจากนั้นก็ขึ้นวัดดอยฯ ขึ้นวัดดอยฯ อีกก็ไปปลงกันที่นั่น จุดต่อมแห่งผู้รู้นี่ พอไปถึงที่นั่นแล้วก็มันไม่มีที่ไปนะจิต เวลาพิจารณากว้างมันก็กว้าง กว้างไปหมด ทีนี้พิจารณามันลดมันละ มันถอนเข้ามาๆ หดเข้ามาๆ อะไรมันก็รู้หมดมันปล่อยวางหมด มันก็มาติดที่จิต หลงที่จิต ติดที่จิต พอมาถึงที่นี่แล้วไม่มีทางไป ทางไหนมันก็พอหมดมันไม่เอา มันสัมผัสสัมพันธ์ดูดดื่มกันอยู่ที่จิต กับความเกิดความดับที่เกิดขึ้นจากจิต ดับที่จิตๆ มันดูดดื่มอยู่นี้ มันก็หมุนเข้ามาอยู่จุดนี้ พอมันหมุนเข้าสู่จุดนี้ เข้าไปถึงจิต แน่ชัดว่าเกิดดับอยู่ที่นี่ไม่มีที่ไหน ทีนี้มันก็เข้าถึงรังอวิชชาซึ่งอยู่ในจิต แตกขาดสะบั้นออกจากนั้น จุดไม่มีต่อมไม่มี หมด นั่น

จุดก็คือจุดผู้รู้ ต่อมก็ต่อมผู้รู้ นี่ละภพ ภพอยู่ที่นี่ พอรู้อันนี้แล้วขาดสะบั้น คือแตกกระจายไปหมด เสมอกันหมด ทั้งภายนอกภายในว่างไปด้วยกัน ข้างนอกก็ว่าง ข้างในก็ว่าง วางทั้งข้างนอก วางทั้งข้างในหมด จึงเรียกว่าว่างโดยตลอดทั่วถึง วางโดยตลอดทั่วถึง หมดปัญหาในระยะนั้น นั่นละการพิจารณาธรรม มีแถวมีแนวไปของจิตนี่นะ ไปสอนผิดๆ พลาดๆ ไม่ได้นักปฏิบัติภาวนานี่ เช่นอย่างมาสนทนาธรรมนี้ องค์ไหนอยู่ภูมิใดมันรู้กัน พอเล่าธรรมะให้ฟัง เล่าปั๊บนี่มันรู้แล้ว คือขั้นนี้เราเคยผ่านแล้วมันรู้แล้วนั่น ตรงไหนที่ยังขัดข้องหรือความรู้เสมอกัน มันก็ไปอยู่ในขั้นเดียวกัน หากเป็นความรื่นเริงของกันและกันได้ ถ้าผู้ที่ผ่านแล้วก็คอยแนะๆ แนะทางนี้ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ

เช่นอย่างที่ว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นี้เป็นวาระสุดท้ายของการรู้ธรรมนะ ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ พอไปรู้นี่ปั๊บมันก็แตกกระจายเลย หมด หมดละนั่น บรรลุธรรม นี่ละบรรลุธรรมในขณะที่ฟังปัญหาก็ได้ เราจึงมาเข้าใจตอนนั้น แต่มันไปเข้าใจตัวเองโดยลำดับไม่ได้ไปถามใครละ พระธรรมท่านก็เตือนออกมาแล้วว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ นั่นสอนแล้วนะ มันติดตรงนั้นแล้วนะนั่นความหมาย

ถ้าเล่าให้พ่อแม่ครูจารย์มั่นฟังท่านก็จะว่า จุดต่อมก็นั่นแล้ว ขึ้นเลย ท่านจะใส่อย่างผางอย่างหนัก เพราะมันมีอยู่เท่านี้ ตัวที่เป็นภพเป็นชาติต่อไปก็ตัวนี้ พอเราเล่าถึงเรื่องนี้ให้ท่านฟัง ท่านตีเข้าไปปั๊บนี้มันก็รู้ปั๊บๆ มันก็ปล่อยผึง ขาดสะบั้นไปเลย นี่ละบรรลุธรรมขั้นสุดท้าย แต่เวลามันรู้มันก็รู้โดยลำพังตัวเอง ท่านไม่ได้เตือน พระธรรมเตือนตั้งแต่ก่อนแล้วจุดต่อมแห่งผู้รู้ พอมันไปรู้มันก็รู้จุดนี้ต่อมนี้ ขาดสะบั้นไปตรงนั้น ก็เป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ ไปเลย บรรลุธรรมในเวลานั้น

การพิจารณาธรรมมันเป็นแถวเป็นแนวไปในจิต เพราะฉะนั้นพระธรรมกรรมฐานท่านสนทนาธรรมะกันรื่นเริงบันเทิง ก็อย่างนี้ละ องค์นั้นรู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ แล้วมาเล่าให้กันฟัง เพลินตลอด ฟังเรื่องของอรรถของธรรมที่ท่านดำเนินปฏิบัติเพลินนะ ธรรมขั้นนี้ได้เข้าหากันเป็นชั่วโมงๆ ลืมนะ มันเพลิน ต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเพลินไปในความรู้ของกันและกันจากการปฏิบัติภาวนา เป็นอย่างนั้น

พูดนี้เราก็ระลึกได้ที่ท่านสิงห์ทองท่านจากเราไป เที่ยวไปทางอำเภอมุกดาหาร ไปตั้ง ๒ ปีนะ มาอยู่ที่นี่ท่านไปเที่ยวทางโน้นตั้ง ๒ ปีท่านกลับมา ศาลาหลังเล็กๆ คือพึ่งสร้างวัดใหม่ ก็มีศาลาเล็กๆ พอได้ฉันจังหัน พวกญาติโยมมีมาเขาก็อยู่ข้างล่าง อยู่แผ่นดิน ที่อยู่ข้างบนเป็นศาลาเล็กมีแต่พระอยู่ ท่านสิงห์ทองมาแล้ววันนั้นมาก็มาคุยกันสองต่อสอง ท่านก็มาเล่าเรื่องภาวนาให้ฟัง ตั้งแต่ต้นแต่จากกันไปจนกระทั่งถึงวันกลับมา ท่านก็นำเรื่องผลที่ท่านบำเพ็ญมามาเล่าให้ฟัง สองต่อสองนะ คุยกันไปตั้งแต่ ๒ ทุ่มฟาดเสียตี ๔ นั่นเห็นไหมมันรู้ตัวเมื่อไร ความเพลินในกันและกัน

ทางนั้นเล่าอะไรๆ ทางนี้ค่อยแก้ๆ ค่อยอธิบายๆ ให้ฟัง ท่านก็เล่าไปอะไรแก้กันไปโดยลำดับ เพลินต่อเพลิน ตั้งแต่ ๒ ทุ่มตอนค่ำนี่ถึงตี ๔ พอหมดเรื่องนั้นแล้วก็เลยมาถามดูนาฬิกา อ้าว นี่นาฬิกามันตี ๔ แล้ว คือในระยะเดือนมิถุนานั้นมันตี ๕ สว่างแล้ว มันตี ๔ แล้วนี่มันกำลังจะสว่าง เอา เลิกทันทีเลย นี่ก็ไม่มีปี่มีขลุ่ย เอา เลิกก็ลุกปึ๊บปั๊บไปเลย ไปต่างคนต่างไม่นึกว่าจะนอนหลับ เราก็ไม่นึกว่าเราจะไปนอนนะ ก็จะทำความเพียรหรือว่าเดินจงกรมไปตลอด เช้าเราก็ไปบิณฑบาตเท่านั้นละ ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น

ทีนี้พอไปถึงแล้วมันเหนื่อยพอ ได้ย่ามใบหนึ่งสะพายย่าม ทิ้งย่ามวางแล้วก็ยืดเส้นสักหน่อยเพราะมันปวดขบหมด นั่งตั้งแต่ ๒ ทุ่มจนกระทั่งตี ๔ ยืดเส้นแล้วถึงจะลงไปทางจงกรม นี่ก็ยืดเส้นทางนั้นยืดเส้นทางนี้ ไปถูกเส้นไหนไม่รู้ฟาดเสียหลับเลย หลับจนกระทั่งท่านสิงห์ทองที่อยู่ด้วยกัน ท่านจากไปแล้วท่านก็ไปเดินจงกรมภาวนา ถึงเช้าท่านก็บิณฑบาตกลับมา ท่านสิงห์ทองบิณฑบาตกลับมาแล้วเรายังหลับครอกๆ อยู่ คือมันไม่รู้ตัวนะ ยืดเส้นว่างั้นเถอะน่ะ ก็จะลงทางจงกรม ยืดแล้วก็จะลงไปทางจงกรม ยืดไปท่านั้นท่านี้ ท่าไหนก็ไม่รู้นะหลับเลย หายเงียบเลย

ตอนเช้ายังหลับอยู่นะ ท่านสิงห์ทองขึ้นไปก็ไปสะกิดนิ้วเท้าเราปั๊บ ปุ๊บปั๊บลุกขึ้น หือ พอบิณฑบาตแล้วเหรอเราว่างั้น ถึงเวลาบิณฑบาตแล้วเหรอ ถึงไหนไปบิณฑบาตกลับมาแล้ว นี่มาปลุกท่านอาจารย์ อย่างนั้นเหรอ กูตาย นี่ไม่ลืมนะ ถนัดทีเดียว ลงมาแล้วปล่อยย่ามแล้วดัดเส้นท่านั้นท่านี้จะลงไปเดินจงกรม ตอนเช้าก็ออกบิณฑบาตคิดว่างั้น ที่ไหนได้ดัดเส้นมันดัดใหญ่เลย จนกระทั่งพระบิณฑบาตกลับมา ท่านสิงห์ทองกลับมาแล้วก็ไปปลุก สะกิดนิ้วเท้านี่ เหอ ไปบิณฑบาตแล้วเหรอ บิณฑ์อะไรบิณฑบาตกลับมาแล้ว อย่างนั้นมันก็มี เป็นอย่างนั้นนะเพลินธรรมะของกันและกัน

เพราะเวลานั้นท่านกำลังเข้มข้นของท่านเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันถึงได้เพลินธรรมะ พูดธรรมะภายในโดยเฉพาะมันเข้มข้นๆ เพลินต่อกัน ทางนี้คอยแก้คอยปลดไปเรื่อยๆ ทางนั้นเล่าอะไรขัดตรงไหนแก้ให้ๆ เพราะทางนั้นกำลังมุ่งกำลังชุลมุน ทางนี้เป็นคนคอยแก้ให้ๆ เลยเพลิน ถึงตี ๔ ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึงตี ๔ ถึงได้ลุกจากกัน อย่างนี้ละเรื่องความเพลินในธรรมเป็นอย่างนั้น มันเพลินของมันจริงๆ ทางนั้นพูดออกมาขัดตรงไหนๆ มันจะรู้ทันทีๆ แล้วแก้ แก้ๆ ทางนั้นท่านก็ผ่านไป เล่าไปผ่านไปเรื่อยๆ

นี่พูดถึงเรื่องความเพลินในธรรมกับท่านสิงห์ทองเราไม่ลืม จากกันไปสองปี เอากันตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึงตี ๔ ลุกแล้วว่าจะไปภาวนาที่ไหนได้มันลงไปใหญ่เลย ภาวนาใหญ่เสีย จนกระทั่งท่านไปบิณฑบาตกลับมาไปปลุกมากินข้าว เป็นอย่างนั้นละ เราไม่ลืมนะถ้ามันผิดปรกติเป็นอย่างนั้น นี่ละการภาวนามันเพลินนะ ขอให้เอาดูซิน่ะ จิตนี้ถึงขั้นมันเข้มแข็งแล้วนี้มันก็เหมือนกับกิเลสเข้มแข็ง มันจะคิดจะปรุงเรื่องอะไรมาเป็นกิเลสทั้งนั้นนำหน้าๆ มันลากมันดึงไปเรื่อยๆ มันไม่ให้คิดถึงอรรถถึงธรรมนะ กิเลสมีกำลังมากจะดึงไปทางกิเลสดึงลงๆๆ ไม่ได้คิดอยู่ไม่ได้ มันอยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็นมีแต่ความอยากอันเป็นกิเลสทั้งนั้นๆ

ทีนี้เวลาฝึกฝนทรมานกันไปหนักเข้าๆ ความอยากอันนั้นเบาลงๆ รสของอรรถของธรรมปรากฏขึ้นในจิต ทีนี้จิตใจก็ดื่มทางธรรม ดื่มทางธรรมมันก็สนใจทางธรรมมากขึ้น ธรรมะมากขึ้นๆ กิเลสอ่อนลงๆ ต่อไปธรรมะนี้ก็เป็นแบบเดียวกับกิเลสที่มันดูดดื่มตัวของมันลากเข็นสัตว์โลกไป ทีนี้ลากออกละที่นี่ธรรมะลากออก หมุนติ้วทางด้านธรรมะ กิเลสปรากฏไม่ได้ พอปรากฏพับดับพร้อมๆ ความรวดเร็วของสติปัญญาที่ได้ฝึกมาอย่างเกรียงไกร จากนั้นมหาสติมหาปัญญากับสติปัญญาอัตโนมัตินี้มันกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้วอยู่ที่ไหนอยู่ที่นี่ นั่นละท่านว่าความเพียรอัตโนมัติ เหมือนกิเลสที่มันผูกมัดสัตว์โลกด้วยกำลังของกิเลส ดึงลากตลอดเวลาเป็นอัตโนมัติ

แต่ก่อนเราก็ไม่เคยรู้ พออันนี้แก้กันแล้วมันรู้ พอถึงขั้นสติปัญญาที่แก้กิเลสเป็นอัตโนมัติอยู่ไหนอยู่เถอะน่ะ คำว่าเผลอในการแก้กิเลสไม่มีเลย จึงเรียกว่าอัตโนมัติ ฉันจังหันอยู่นี่แทนที่จะอยู่กับอาหารการกินไม่อยู่นะ ฉันนี้มันก็สักแต่ว่าเคี้ยวว่ากลืน แต่จิตกับ เรื่องธรรมกับกิเลสมันฟัดกันอยู่ลึกๆ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่ลึกๆ เวลาไหนมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้มาออกส่วนหยาบๆ นะ มันไปส่วนละเอียดของกิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่นั้น เรียกว่าทั้งวันทั้งคืน ถ้าเราไม่บังคับจริงๆ นอนไม่หลับนะ ภาวนานี่ตลอดรุ่งเฉยๆ ไม่หลับเลย

นั่งภาวนาก็รู้แล้วว่านั่งภาวนา แต่นอนนี้ซิที่จะพักผ่อนมันไม่พักนะ ร่างกายนอนลงอย่างนี้อันนี้มันไม่นอนนะ มันยังหมุนของมันแก้กิเลส หมุนตลอด เดินก็แบบนั้น นั่งแบบนั้น นอนก็แบบนั้น สุดท้ายสว่างนอนไม่หลับเลย เอ้า จะทำไงนี่ กลางวันยังไม่หลับอีกมันยังหมุนตลอดอีก โอ้ นี่มันจะทำอย่างไรมันจะตายนะ จากนั้นก็เคยเล่าให้พี่น้องทั้งหลายฟัง เมื่อมันยับยั้งกันไม่ได้เพราะสติปัญญามันรุนแรง มันออกอย่างรุนแรง ต้องได้ทอดสมอกันไว้ด้วยภาวนาพุทโธ เอาพุทโธมาปักไว้ เอาพุทโธมาปัก สติติดอยู่กับคำว่าพุทโธๆ ไม่ให้เผลอถ้าเผลอมันออก ออกทางด้านปัญญา เพราะมันรุนแรงมาก เนื่องจากมันเป็นอัตโนมัติแล้วนี่

บังคับให้อยู่กับพุทโธๆ ไม่ยอมให้ออก พออยู่กับพุทโธนานเข้าๆ มันก็ค่อยสงบๆ มาจากการพิจารณาทางด้านปัญญา สงบแน่วลงจิตรวม รวมลงด้วยพุทโธ นี่ละ กอไก่ กอกา ก็ต้องนำมาใช้ ถึงขั้นนั้นแล้วไม่มีทางไปต้องมาอาศัยพุทโธเกาะตามจริตนิสัยของเจ้าของที่ชอบ ชอบธรรมะบทใด เช่น มรณัสสติก็มรณัสสติติดอยู่นั้นเลย อันนี้ก็พักจิตด้วยวิธีนั้น เวลามันจะตายจริงๆ มันไม่รู้จักหยุดจักหย่อนนะ สติปัญญาเวลามันได้ออกแก้กิเลสแก้ตลอดเวลา เหมือนกิเลสผูกมัดสัตว์โลกมันผูกมัดตลอดเวลา ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสสัมพันธ์อะไรเป็นกิเลสทั้งหมด ทีนี้เวลามันหมุนเข้ามาทางด้านธรรมะ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสสัมพันธ์อะไรเป็นธรรมทั้งหมด นั่น แก้กิเลสๆ ไปเรื่อยๆ เอาเสียจนกระทั่งมันพักไม่ได้ ต้องพักด้วยพุทโธ

ท่านทั้งหลายฟังนะ นี้เจ้าของดำเนินมาแน่ใจไม่ผิด พักจิตได้ด้วยพุทโธ เป็นคำบริกรรมเบื้องต้นที่เราฝึกหัดจิตตภาวนาเบื้องต้น ต้องเอาพุทโธหรือคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งนึกไว้นั้นให้อยู่นั้น จิตมันก็ค่อยสงบ แต่ก่อนมันสงบด้วยอำนาจของกิเลส ทีนี้เวลามันสงบทางด้านธรรมะที่มีกำลังทางด้านธรรมะมากๆ นี้มันฟุ้งด้วยอำนาจของธรรมนะ มันไม่ได้ฟุ้งด้วยอำนาจของกิเลส ต้องบังคับด้วยพุทโธให้อยู่ให้สงบ ต่อไปมันก็จิตสงบแน่วเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามจิตว่างไปหมดเลย ปล่อย เรื่องสติปัญญาที่นำมาใช้เป็นธรรมจักรนี้หยุดระงับหมด เหลือแต่คำว่าพุทโธกับคำบริกรรมอยู่อันเดียวๆ ก็แน่ว พุทโธก็หยุดอยู่นั้น สติตั้งอยู่นั้น

พอรามือสักนิดหนึ่งนี้มันจะพุ่งออกเลย ต้องให้พอเสียก่อน คือจิตนี้อิ่มตัว มีความอิ่มเอิบภายในใจอะไรพูดไม่ถูก มันสะดวกมันสบายมันโล่งไปหมดเวลามันปล่อยงาน คือทางด้านสติปัญญาหมุนกัน มาอยู่สมาธิอันเดียว ทีนี้พอได้กำลังแล้วค่อยปล่อยนะ พอปล่อยนี้มันจะออกอยู่แล้วนี่ พอปล่อยพับก็ผึงเลยออกทางด้านปัญญา เป็นอย่างนั้นละการพิจารณาทางด้านปัญญา ท่านจึงสอนว่า เวลาออกรบให้ออกรบ เวลาเข้ามาพักผ่อนให้พักผ่อนมีการพัก ถ้ามีแต่การรบอย่างเดียวตายได้ ในปริยัติท่านเทียบเอาไว้ นี้มีแต่การพิจารณาฆ่ากิเลสอย่างเดียวตายได้ถ้าไม่มีการพัก

มันก็ไม่ติดใจนะ เวลาเป็นจะตายจริงๆ มันมาเป็นกับเจ้าของมันถึงย้อนไปรู้ที่ท่านสอนไว้ในปริยัติถูกต้องหมด เรามันผิดต่างหาก แต่เวลาพิจารณาตามท่านแล้วมันถูกมันก็ลงได้ จนกระทั่งผ่านได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ ทั้งรบทั้งพักๆ พักหลับพักนอนพักสมาธิ รบก็ฟัดกับกิเลส จำเอานะที่พูด พูดนี้ถอดออกมาจากความเป็นจริง ไม่มีใครสอนเรื่องธรรมะหากสอนตัวเอง มันจะผิดจะพลาดตรงไหนๆ นี้มันจะเอามาพิจารณาแล้วแก้ตัวเองสอนตัวเองไปโดยลำดับ จนผ่านไปได้เลย นักภาวนาจึงเอาให้ดีนะ สติเป็นสำคัญท่านทั้งหลายอย่าลืม สติเป็นพื้นฐานสำคัญมาก หนึ่งต้องสติขึ้นก่อน จะเป็นเบื้องต้นของการฝึกหัดภาวนาก็ตาม ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาสติก็เป็นพื้นไปตลอด สุดท้ายสติตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายสติปราศจากไม่ได้นะ จำให้ดีคำนี้

เวลาถึงขั้นกิเลสขาดสะบั้นไปแล้ว เรื่องสติปัญญาที่นำมาใช้นี้เป็นเครื่องมือฆ่ากิเลส มหาสติมหาปัญญาเป็นเครื่องมือทั้งนั้นนะ ไม่ใช่ธรรมแท้ ธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลส ธรรมเครื่องมือ ธรรมที่เป็นผลคือความบริสุทธิ์เป็นอีกอันหนึ่งต่างหาก พอถึงขั้นบริสุทธิ์ผึงแล้วอันนี้จะค่อยระงับตัวไปเองไม่ต้องบังคับ เหมือนเราทำอันนี้ เราสับเราฟันอันนี้ พออันนี้เสร็จแล้วมือเรากับเครื่องมือมันก็ปล่อยกันเอง อันนี้ก็แบบเดียวกันกิเลสกับธรรมฟัดกันขาดสะบั้นลงไปแล้วเครื่องมือคืออะไร สติปัญญามันก็ปล่อยของมันเอง เอาละพอ

สายแล้วพูดไปพูดมาได้ ๑๐ โมงเช้าแล้ว จะพอบิณฑบาตแล้ว แล้วไปนอนหลับให้ท่านสิงห์ทองปลุกละท่า นี่ละพูดเรื่องภาวนาให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง ให้มันเพลินหัวใจซิน่ะ มันเพลินแต่กับกิเลสตัณหา เอามูตรเอาคูถมาพอกหัวเจ้าของก็ยังว่าดิบว่าดี ให้ได้เพลินในธรรมดูซิ มันก็แบบเดียวกัน นอนไม่หลับ ทำยังไงให้หลับมันก็ไม่หลับ มันเป็นเองถึงเอามาพูดได้ ไม่เป็นเองพูดไม่ถูก ถ้าลงเป็นเองแล้วพูดถูก เช่นอย่างนอนให้หลับมันไม่ยอมหลับมันหมุนของมันตลอดเวลา ต้องเอาพุทโธมาบังคับ เอาละให้พร

 

รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  FM 103.25 MHz

และเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก