เทศน์อบรมฆราวาส
ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อค่ำวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ธรรมสร้างตัวด้วยสติ
พวกสัตว์เล็กสัตว์น้อยมีที่วัดญาณสังวร ป่าดงหนาชุ่มเย็นดี เราก็ไปนอนอยู่ในกลางป่าเลยแหละ ไม่เอาบาตรไป เพราะเรื่องการขบการฉันเราไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ นี่เพราะการฝึกฝน เราฝึกมาเสียจนชิน สักกี่วันไม่ฉันได้ทั้งนั้นแหละ เพราะแต่ก่อนฝึกเสียจนท้องเสีย ฝึกเอาจริงเอาจังเลยนะ กี่วันไม่ฉันๆ ฉันก็ฉันสักมื้อเดียว หายเงียบๆ ทีนี้นานเข้าๆ ท้องมันก็เสีย ท้องเสียมันก็ไม่ได้เป็นกังวลยิ่งกว่าความมุ่งมั่นต่อธรรม ไม่สนใจจริงๆ อยากฉันวันไหนก็ฉัน ไม่อยากฉันกี่วันไม่ฉันเลย เรื่อย แต่ธรรมะนี้จะหมุนติ้วๆ เลย
นั่นละตอนอดอาหารนั่นตอนธรรมะหมุนติ้วเลย เร่งเครื่องอรรถเครื่องธรรม มีใครมาพูดคำพูดเหล่านี้ สมัยปัจจุบันมีใครมาพูด ก็เพราะว่าไม่มีใครทำซิ นี่เราพูดเราทำ พ่อแม่ครูจารย์มั่นเป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดมรรคผลนิพพานอยู่นั้นหมดเลย จิตใจมันดื่มมันด่ำอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ เหมือนว่ามรรคผลนิพพานอยู่ตรงนั้น ทีนี้ความพากความเพียรเพื่อมรรคเพื่อผล โดยเฉพาะความพ้นทุกข์มันรุนแรงเกินกว่าที่จะไปกังวลกับการอยู่การกิน การหลับนอน ส่วนหลับนอนนั้นถ้าลงอดไปถึงสองสามวันแล้วไม่มีละง่วง ไม่มีเลย นั่งนี่เหมือนหัวตอ สติแน่ว ไม่ง่วง ถ้าลงหยุดอาหารตั้งแต่สองวันขึ้นไปไม่ง่วง ต่อจากนั้นยิ่งไม่ง่วง ดีไม่ดีนอนไม่หลับ นอนกลางคืนนี้อย่างมากสองชั่วโมงเท่านั้น พอตื่นขึ้นมานี่ความเพียรหมุนติ้วๆ เลย
นี่ก็สมมักสมหมายนะ อย่างนี้ละธรรมเอาตามเหตุของการบำเพ็ญ ธรรมนี้เรียกว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบทุกอย่างแล้ว ต้อนรับผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติเหตุหนักเบาแค่ใดผลก็หนักเบาไปตามเหตุๆ ทีนี้เราตั้งไว้เราไม่ได้ตั้งธรรมดา อย่างที่เรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบเป็นความสัตย์ความจริงในหัวใจเรา ตั้งแต่ฟังอรรถฟังธรรมพ่อแม่ครูจารย์มั่นแล้ว ทีแรกก็มีความสงสัยเรื่องมรรคผลนิพพาน ทั้งๆ ที่อยากไปนิพพานแต่ยังมีข้อข้องใจสงสัย จึงได้ลงในจุด ถ้าหากว่าพบท่านผู้ใดเป็นผู้แนะนำเรื่องมรรคผลนิพพานว่ายังมีอยู่โดยสมบูรณ์ เราจะมอบกายถวายตัวต่อท่านผู้นั้น แล้วความเพียรนี้จะเอาตายเข้าว่าเลย
พอดีเป็นจังหวะที่จะไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น ท่านก็กางเรดาร์ไว้เลย เหมือนคนเคยทะเลาะเบาะแว้งหรือเคยผูกกรรมผูกเวรกันมาแต่ก่อน อำนาจแห่งความเมตตาของท่านที่กางเป็นเรดาร์ออกมา พอขึ้นไปหา เหอ ท่านมาหาอะไร ขึ้นเลย เหมือนคนเคยทะเลาะกันมา พุ่งๆ เลยอรรถธรรม เพราะท่านเห็นความตั้งใจของเราอย่างแรงกล้า ที่ว่ามรรคผลนิพพานจะยังมีอยู่หรือไม่มีนา สงสัย แต่ความอยากอยากเต็มกำลัง
พอไปถึงพ่อแม่ครูจารย์มั่น ท่านเปิดเลยทีเดียวเรื่องมรรคผลนิพพาน ฟาดตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้าภูเขาเลากอที่ไหนทั่วแดนโลกธาตุไม่ใช่กิเลส ไมใช่ธรรม ไล่ไปหมดเลยโลกธาตุนี้ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ธรรม ไมใช่มรรคผลนิพพาน ไล่ออกหมดเลย ไม่มี กิเลสแท้ ธรรมแท้ มรรคผลนิพพานแท้อยู่ที่ใจ ท่านชี้เข้ามานี้เลย เทศน์ของท่านเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดมาก เหมือนว่าท่านแบมรรคผลนิพพานให้เห็น นี่น่ะๆ ตาบอดเหรอถึงไปลูบคลำงมเงาเกาหมัดอยู่ที่ไหน เหมือนอย่างนั้นนะ ท่านใส่เปรี้ยงๆ
ไล่เข้ามาจิตทั้งหมด ที่เป็นข้าศึกตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนเป็นข้าศึกอันใหญ่หลวง กับคุณเล็กน้อยจนถึงขั้นมหาคุณก็อยู่ที่ใจ ท่านไล่ กิเลสก็อยู่ที่นี่ ธรรมอยู่ที่นี่ แดนนรกสวรรค์นิพพานอยู่ที่นี่ ตัวเหตุอยู่ที่นี่ ตัวที่จะไปรับผลกับสิ่งเหล่านี้คือใจ ท่านใส่เปรี้ยงๆ จิตนี้ฟังเหมือนไม่ได้หายใจนะ คือไม่ได้สนใจกับอะไร จ่อตลอด จิตก็แน่วเลย เทศน์พอจบลงนี้ แหม อิ่มเอิบหมดเลย หายสงสัยเรื่องมรรคผลนิพพาน ทั้งๆ ที่กิเลสมีอยู่นั่นนะ แต่หายสงสัยเรื่องมรรคผลนิพพาน แต่ก่อนกิเลสมีอยู่ด้วย ความอยากไปมรรคผลนิพพานก็อยากไปด้วย แต่ความสงสัยมรรคผลนิพพานก็มีอยู่ด้วย นั่น แต่พอฟังธรรมท่านเปิดออกหมดเลย แม้กิเลสจะมีอยู่เต็มหัวใจก็ตามแต่ความเปิดโล่งเพื่อมรรคผลนิพพานกระจ่างภายในจิตหายสงสัยแล้ว มันถึงได้เอาใหญ่
ที่ว่ามรรคผลอยู่กับตัวต้นเหตุนะ ไม่ได้อยู่กับความคาดคะเนด้นเดาเกาหมัด อยู่กับเหตุ เมื่อได้ฟังอรรถฟังธรรมท่านอย่างเต็มหัวใจแล้วมรรคผลนิพพานเหมือนอยู่ชั่วเอื้อมเลยที่นี่ คือเปิดอ้าหมด ไม่มีสงสัยเลยละมรรคผลนิพพาน ทั้งๆ ที่ใจที่เป็นเครื่องกีดขวางมรรคผลนิพพานคือกิเลสมันก็มีอยู่ แต่เวลานั้นกิเลสหมอบหมด มีแต่ความเปิดกว้างออกเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว จึงได้ประกอบความเพียรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็สมอยู่นะ รู้สึกจะมีวาสนาอำนวยอยู่
พอท่านเทศน์ให้ฟังแล้วไม่มีอะไรขัดข้องเลย ออกปฏิบัติท่านก็ชมเชยส่งเสริม การออกปฏิบัติเราไปคนเดียวๆ ท่านส่งเสริมทันทีๆ เอาๆ ไปท่านมหาให้ไปองค์เดียว ใครอย่าไปยุ่งท่าน มีที่ไหนพระที่ไปลาท่านไปวิเวกที่ไหนๆ ส่วนมากมีตั้งแต่ไปลาท่านทีละองค์ก็ตาม สององค์ก็ตาม สามองค์ก็ตาม พอไปลาท่าน ท่าน เหอ ขึ้นทันทีเลย ตั้งแต่อยู่ด้วยกันนี้มันก็ตกนรกอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ตลอดเวลา แล้วมันจะไปตกนรกหลุมไหนอีกล่ะ จะไปหวังเอามรรคผลนิพพานที่ไหน ท่านใส่เปรี้ยงๆ แล้วพระใครจะกล้าไป ก็หดเลยไม่ไป
นี่ละที่ว่าวาสนาอำนวยอยู่บ้าง คือสำหรับเรานี้ไม่มี พอว่าลาไปประกอบความพากเพียร พอท่านอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ถามว่าจะไปทางไหนๆ เราก็กราบเรียนท่านตามความมุ่งหมายที่เราจะไป แล้วจะไปกี่องค์ ว่าไปองค์เดียวเท่านั้นดีดผึงเลยนะ เอาท่านมหาไปองค์เดียวนะ ใครอย่าไปยุ่งท่าน ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ การประกอบความเพียรเราไปแต่องค์เดียวทั้งนั้นเลย ไม่มีใครจะติดตามไปด้วย คือมีเพื่อนมีฝูงมันเป็นน้ำไหลบ่า ความรับผิดชอบตามสัญชาตญาณที่ไปด้วยกันมันมีอยู่ลึกลับ นั่นแหละมันกลายเป็นน้ำไหลบ่า น้ำไหลบ่ามันไม่รุนแรง ถ้ามันพุ่งลงท่อเดียวเท่านั้นมันก็พุ่งๆ เราไปคนเดียวก็เรียกว่าป่าช้าอยู่กับเรา เป็นกับตายป่าช้าอยู่กับเรา
อรรถธรรมท่านมอบให้หมดแล้วได้ฟังอย่างถึงใจแล้วทีนี้ก็จะเอาให้ถึงใจ เอาเป็นเอาตายเข้าว่าเลย นั่นละความเพียรมันถึงเด็ด เด็ดตลอด ไปแต่คนเดียวนะ เราไปทำความพากเพียรไม่เอาใครไปด้วย ท่านก็ส่งเสริมด้วยสำหรับเรา องค์อื่นท่านไม่ได้ส่งเสริม ท่านคงจะเล็งญาณดูอาจจะมีนิสัยวาสนาบ้าง แต่คนๆ นี้มันหนา พระองค์นี้มันหนา ถ้าไปกับหมู่กับเพื่อนมันจะเกาะหมู่เพื่อน มันจะไม่ตายง่าย ให้มันไปองค์เดียว ถ้ามันไม่ดีให้มันตายเสียคงว่าอย่างนั้น พอเราลาไปคนเดียว เออ ขึ้นทันทีเลย ท่านมหาไปองค์เดียว ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ
ทีนี้เมื่อองค์เดียวแล้วป่าช้าอยู่กับเรา ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับเราไม่เป็นน้ำไหลบ่า จะคิดแง่นั้นแง่นี้กับผู้นั้นผู้นี้ไม่มี อยากกินก็กิน ไม่อยากกินกี่วันช่างมัน ว่าอย่างนั้นเลย มันจะเป็นจะตายจริงๆ ก็ไปบิณฑบาตมาฉันเสียพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น นี่ละการฝึกทรมานเพื่อฆ่ากิเลสตัวมหาอำนาจในวัฏวนวัฏจักรคือกิเลส จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก หนักมากทีเดียว ถ้าใครยังไม่ได้ผ่านการฟาดฟันกับกิเลสเสียก่อนอย่าด่วนเอามาพูดมาคุยนะว่างานนั้นหนัก งานนี้เบา ไม่ได้หนักงานเหล่านั้น
งานหนักจริงๆ คืองานฆ่ากิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจครอบหัวใจของสัตว์โลกในสามแดนโลกธาตุอยู่ใต้อำนาจของมันหมด แล้วให้มันอยู่ในเงื้อมมือ เอาให้ขาดสะบั้นลงไป กิเลสขาดจากจิตใจ ใจทรงความบริสุทธิ์ขึ้นมานี้เป็นของง่ายเมื่อไร หนักมากนะ ซัดกันลงไปเลย พร้อมกับว่านิสัยวาสนาเรามันเป็นคนหยาบ ทำเหยาะๆ แหยะๆ ไม่ได้ มีลักษณะจะเป็นผาดโผนๆ ส่วนมากมักจะผาดโผน บางครั้งพ่อแม่ครูจารย์ก็ได้รั้งเอาไว้ๆ เสมอ เพราะมันรุนแรงด้วยความโง่เขลา ท่านรั้งเอาไว้ด้วยความเป็นจอมปราชญ์ของท่าน เรายอมรับท่านทันทีๆ เพราะเรายอมรับว่าเราโง่แสนโง่ และยอมรับท่านว่าเป็นจอมปราชญ์ ท่านเผดียงตรงไหนปฏิบัติตามท่าน ไม่ฝืน นี่ละท่านรั้งไว้เสมอ ถ้าอะไรมันจะรุนแรงมากไปท่านก็รั้งเอาไว้ๆ พอให้อ่อนอยู่ในขั้นพอดิบพอดี
อย่างนี้ละการปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่จิตที่มันดีดมันดิ้น โอ๋ย เวลามันดื้อดื้อจริงๆนะกิเลส คือคำว่ากิเลสมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งเกาะอยู่ที่จิต หุ้มห่ออยู่ที่จิตนั้นน่ะ นั่นละตัวภัย กิเลสนี้แหละมันเป็นภัยต่อจิตใจ ท่านให้ชื่อว่ากิเลส อยู่กับใจ ทีนี้การภาวนาก็เพื่อจะชำระสิ่งเหล่านี้ออกไปๆ การทำบุญให้ทานทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นเครื่องสนับสนุนกัน แล้วการภาวนาเป็นแนวหน้าช่วยกำลังกันไปๆ ละการภาวนา พอหนักเข้าการภาวนาหนักอย่างอื่นไม่ค่อยจะสนใจล่ะที่นี่ มุ่งต่อการภาวนา เมื่อมันจวนจะผ่านได้แล้วมันก็รวมมาจิตตภาวนาทั้งนั้นแหละ บุญกุศลมากน้อยที่เราสร้างมามันไหลลงทำนบใหญ่คือจิตตภาวนา มาลงที่นี่ จากนั้นก็รวมใหญ่กันเลยละ
จิตตภาวนาก็เป็นอย่างนั้น เวลาฝึกหัดทีแรก แหม ลำบากลำบนยากแสนสาหัสทีเดียว แต่ก็ทน สำคัญที่ว่าทน พยายาม จนกระทั่งตั้งจิตได้เป็นความสงบเย็นใจบ้าง จากนั้นก็เร่งใหญ่ เป็นสมาธิแน่นหนามั่นคง ไม่อยากคิดอยากปรุง นั่งอยู่ที่ไหนมีแต่ความรู้อันเดียว เอกจิตเอกธรรมคือความรู้อันเดียวไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ท่านเรียกว่าเอกจิต หรือเอกัคคตารมณ์ ความรู้อันเดียว ทีนี้จิตเมื่อเป็นสมาธิเต็มที่แล้วเป็นเอกจิตเอกธรรม ไม่อยากยุ่งกับสิ่งใด ความคิดปรุงขึ้นมาเป็นการรบกวนเสียทั้งนั้น ไม่อยากคิดอยากปรุง
นี่ขั้นนี้การก้าวไปเห็นเป็นลำดับในจิตใจดวงนี้แหละ ขั้นที่มันฟุ้งซ่านวุ่นวายอยากคิดอยากปรุงนี้เราบังคับให้มันสงบมันไม่ยอมสงบ มันดีดมันดิ้น อยากคิดอยากปรุง อยากรู้อยากเห็นอยากทุกอย่างเต็มอยู่ในหัวใจนี้หมดนั่นแหละ ทีนี้เมื่อเอาสมาธิภาวนา เอาน้ำดับไฟดับลงไปๆ พอจิตสงบได้ความอยากคิดอยากปรุงมันก็เบาลงๆ จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิความอยากคิดอยากปรุงนี่สงบเงียบไปเลย ไม่อยากคิดอยากปรุง
นั่งอยู่ที่ไหนมีแต่ความรู้อันเดียว เรียกว่าเอกจิตเอกธรรม มีความรู้อันเดียวเท่านั้น ไม่มีอารมณ์อะไรมาผ่าน จิตก็ไม่ปรุงออกไป อะไรที่จะมาผ่านในจิตให้เป็นสองไม่มี นั่นเรียกว่าจิตเป็นสมาธิเต็มที่ อยู่ที่ไหนสบายๆ แต่มันติดได้นะถ้าไม่มีผู้แนะนำสั่งสอน เพียงสมาธินี้มันก็อยู่จนกระทั่งวันตายนั้นแหละ มันก้าวจากนี้ไปไม่ได้ ต้องมีผู้เตือน เรารู้เสียตั้งแต่บัดนี้เราก็เตือนเราเอง นำไปเตือนเราเอง พอจิตมีความสงบควรแก่การจะบำเพ็ญทางด้านปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ แยกเขาแยกเรา
เริ่มตั้งแต่หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า ทั้งของเขาของเรา ทั้งของสัตว์ของบุคคลทั่วๆ ไป แยกออกให้เป็นสัดเป็นส่วน แล้วมองหาคนไม่เห็น มองหาหญิงหาชาย หาความสวยงามไม่มี เพราะจิตไปกังวลกับสิ่งเหล่านี้ มันตกแต่งเอาเอง สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้สวยได้งามอะไร จิตมันหากเป็นของมันเองด้วยอำนาจของกิเลส ชำระสะสางสิ่งเหล่านี้ด้วยทางปัญญา จิตก็ยิ่งสว่างออกไปๆ สมาธิเป็นฐานที่ตั้งหรือเป็นต้นทุนของปัญญา เมื่อมีต้นทุนแล้วจิตใจไม่หิวโหยในอารมณ์ เราพาพิจารณาอะไรมันก็ทำตามที่เราพิจารณา
ถ้าจิตยังหิวโหยอยู่ในอารมณ์ ไม่มีความสงบแล้ว พาคิดทางด้านปัญญามันเถลไถลไปทางสัญญาอารมณ์ กลายเป็นสมุทัยกิเลสตัณหาเพิ่มขึ้นเสีย เมื่อจิตมีต้นทุนมีสมาธิแล้วเรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ แล้วพาออกพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดูซิดูคน เราปลูกสร้างอะไรหรูหราฟู่ฟ่าเพราะคนลืมตัว สร้างอะไรมีแต่ต้องการสวยๆ งามๆ เพื่อมากลบตัวสกปรกป่าช้าผีดิบคือตัวของเราแต่ละคนๆ นี้ไว้ ไม่อย่างนั้นมันอุจาดบาดตาไม่น่าดู
ประหนึ่งว่าโลกนี้จะแตกถ้ากิเลสไม่ได้ครอบครองหัวใจ ตกแต่งนั้นตกแต่งนี้ให้เป็นของสวยของงาม ล่อตาเอาไว้ กิเลสอยู่กับความหลอกลวง ความต้มตุ๋นของกิเลสคือความหลอกลวง ไม่สวยแต่งให้สวย สวยตามกิเลสไม่ใช่สวยตามธรรม มันก็ว่าสวย อันนั้นดีแล้ว อันนี้ดีแล้ว ตัวของคนเรานี้ก็ตกแต่งเสียจนเป็นบ้าเลย เครื่องนุ่งห่มนี้ โธ่ ในห้องหนึ่งนี้เต็มห้องเลยเครื่องแต่งตัวของคนๆ เดียว มันก็ยังไม่พอกับความต้องการของกิเลส หาสิ่งเหล่านั้นมาประกบซากผีดิบคือตัวของมันเอง มันไม่ให้ยอมเห็นง่ายๆ นะ มันว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดีมาหลอกเอาไว้ๆ เครื่องแต่งตัวใช้วันหนึ่งสองวันทิ้งหาใหม่มาๆ ก็มากลบซากผีดิบนี้แหละ เราไม่รู้ ให้พากันรู้เสียนะ นี่ละความจริงเป็นอย่างนี้ การพิจารณากรรมฐานท่านพิจารณาอย่างนี้
ทีนี้ค่อยเปิดออกตามหลักความจริง แยกดูธาตุดูขันธ์ตั้งแต่ผิวหนังขึ้นไป แม้แต่ผิวหนังมันยังมีขี้ไคล มันไม่ใช่สะอาดอย่างเดียว ยังมีขี้ไคลติดอยู่ผิวหนัง เข้าไปลึกเท่าไรๆ ดูได้เมื่อไรคนเรา ถ้าจะให้ธรรมดูตามหลักความจริงแล้วมันดูไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาให้ถอดถอนปล่อยวางอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในของปลอมที่เห็นว่าสวยว่างาม มันไม่ได้สวยได้งามตามหลักธรรมชาติ ตามหลักของธรรม ให้พิจารณาอย่างนี้ทางด้านปัญญา
ปัญญาแตกกระจายออกไปๆ จนกระทั่งร่างกายนี้เมื่ออิ่มเต็มที่แล้วร่างกายก็หมดความหมายในการที่จะพิจารณาให้เป็นอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อะไรก็ตามเถอะ มันหมดความหมายเป็นลำดับ ร่างกายนี้อสุภะที่ไหน เวลามันมีกำลังมากแล้วพอพิจารณานี้มันขาดไปทันทีทันใด แยกว่าอันนั้นเป็นอสุภะ อันนั้นงาม อันนี้ไม่งามไม่ทัน พอตั้งขึ้นพับดับพร้อมๆๆ นี่ละที่นี่ร่างกายที่เกี่ยวกับอสุภะอสุภังหมดความหมายไปในตอนนี้ละ จากนั้นก็มีแต่ความเกิดความดับของสังขารที่คิดที่ปรุงอยู่ภายในจิต
ส่วนร่างกายนี้หมด เราพิจารณาไม่ได้มันผ่านแล้วนะ สังขารร่างกายหมดอิ่มพอในการพิจารณาร่างกาย ตามหลักธรรมะท่านว่านี่ละกามราคะขาดลงในจุดนี้ ราคะตัณหาเหมือนโลกทั่วๆ ไป ขาดตรงที่การพิจารณาสกลกาย หมดความสวยความงามและหมดโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งร่างกายนี้เป็นของว่างเปล่าไปหมด นี่ละหมดราคะตัณหาหมดจุดนี้ จากนั้นมันก็ว่าง แต่อาศัยร่างกายนี้ตั้งเป็นเครื่องหมายขึ้นมาเพื่อจะฝึกซ้อมการพิจารณาให้คล่องตัวเร็วขึ้นๆ ตั้งขึ้นดับเร็วขึ้นไปๆ ตั้งพับดับพร้อมๆ จะพิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาอะไรไม่ทัน นี่เป็นขั้นๆ การภาวนา
ทีนี้ก็มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับภายในจิต ท่านเรียกว่านามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ละเป็นสนามรบละที่นี่ สนามรบของปัญญาขั้นนี้ ขั้นร่างกายหมดแล้วมันอิ่มมันปล่อยของมัน ไม่มีที่จะมาพิจารณาอีกแล้วเรียกว่าอิ่ม ถ้ายังไม่อิ่มมันก็หมุนติ้วๆ พิจารณาร่างกายคล่องแคล่วว่องไวเท่าไรมันก็ยิ่งหมุนติ้วของมัน ยกตัวอย่างอย่างพระองค์หนึ่งท่านแสดงไว้ในตำรา ว่าท่านกำลังพิจารณา ตอนนั้นจิตของท่านกำลังหนักอยู่ในเนื้อในกระดูก มองเห็นตัวเองมีแต่เนื้อกับกระดูก ดูเมื่อไรก็มีแต่กองเนื้อกองกระดูก สุดท้ายมีแต่กองกระดูกที่นี่ มองดูเนื้อไม่เห็น เห็นแต่กองกระดูก
พอดีมีผู้หญิงคนหนึ่งเขาทะเลาะกับสามีเขา เขาผ่านมาทางจงกรมของท่านนั่นละ ท่านเดินจงกรมอยู่ ท่านมองดูผู้หญิงคนนั้นมันไม่ใช่หญิง มันเป็นโครงกระดูกมาเลย นั่นละจิตของท่านพิจารณาอยู่ในขั้นโครงกระดูก ผู้หญิงคนที่ผ่านมานั้นเลยกลายเป็นโครงกระดูกไปด้วยกัน ผ่านไปท่านก็ดู โอ้ โครงกระดูกนี้ผ่านมา โครงกระดูกนี้เป็นผู้ดู ท่านเอามาพิจารณาเป็นธรรมอีก โครงกระดูกนั้นผ่านมาคือผู้หญิงที่ทะเลาะกับสามี เขาผ่านมาทางจงกรมท่านก็เห็นเป็นโครงกระดูกไปเลย ไม่ได้เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชายอะไรเลย
ท่านก็ดู ไอ้เราก็โครงกระดูก โครงกระดูกดูโครงกระดูกเป็นกองกระดูกด้วยกัน ไม่นานนักสามีเขาก็ตามมา เห็นผู้หญิงผ่านไปนี้ไหม ท่านพูดตรงไปกับธรรมจริงๆ นะ ท่านไม่พูดอ้อมค้อมเพื่อรักษาสมมุตินิยม เห็นผู้หญิงเดินผ่านไปนี้ไหม ท่านว่าไม่เห็นผู้หญิง เห็นแต่กองกระดูก เห็นแต่กองกระดูกผ่านไปนี้ เขาก็จะไม่พอใจ พอท่านบอกแนวทางไปแล้วเขาก็ตามไป นี่ละจิตอยู่ในขั้นนี้เป็นอย่างนั้น เห็นใครก็ตามไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายจะเป็นกองกระดูกๆ ไปตามๆ กัน
พอผ่านจากนั้นสิ่งเหล่านี้ดับหมด เรื่องสกลกาย อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ ผ่านไปหมด ต่อไปก็กลายเป็นจิตว่างขึ้นมา ร่างกายอันนี้หมด คำว่าอสุภะอสุภังหมดปัญหาไปเลย จิตก็ขาดจากราคะตัณหาในจุดนี้ หมด ทีนี้ที่ละเอียดๆ ขึ้นไปมาท่านก็ตามขึ้นไปเป็นนามธรรมเรื่อยขึ้นไป อันนี้เราไม่พิจารณาต่อไปละ เพียงขั้นนี้จิตมันว่างไปแล้ว พอมันว่างอะไรปรากฏขึ้นมามันก็ดับ เกิดขึ้นมามันก็ดับ ส่วนที่ว่าอสุภะอสุภังพิจารณาไม่ทัน พอแพล็บขึ้นมาเหมือนฟ้าแลบดับพร้อมๆ เราจะพิจารณาอสุภะอสุภังทันอย่างไร ไม่ทัน
นี่มันเป็นขั้นของจิตที่พิจารณาคล่องตัวแล้วปรากฏเหมือนฟ้าแลบ ความคิดปรุงดับพร้อมๆ พิจารณาฝึกซ้อมความปรุงของจิตที่เป็นรูปเป็นนามแล้ววิ่งเข้าสู่ใจ พิจารณาออกมาๆ จากใจ เวลาย้อนเข้าไปก็ไปดับที่ใจๆ มีเกิดมีดับๆ ที่ว่าสวยว่างามไม่มี เป็นขั้นๆ นะ มีแต่ปรากฏว่าเกิดหรือดับ อะไรก็ตามเกิดขึ้นมา ดับไปพร้อมๆ กันในขณะท่าน ท่านฝึกซ้อมความเกิดความดับอันนี้เป็นลำดับลำดาจนเข้าถึงจิต ชำนิชำนาญ ทีนี้เวลาเกิดดับอะไรมันก็มีตั้งแต่ออกจากจิตๆ คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ คิดบุญก็ดับ คิดบาปก็ดับ ออกมาจากจิต หมุนเข้าไปๆ ก็ไปถึงรวงรังของอวิชชาที่หุ้มห่อปิดบังจิตเอาไว้ ทำลายอวิชชาขาดสะบั้นลงไปนั่นบรรลุธรรม หมด ทีนี้ไม่มีอะไรเหลือ
นั่นละการพิจารณาการภาวนาเป็นลำดับลำดาอย่างนั้น เวลาพิจารณาไปแล้วมันก็รู้เอง จะไปสอนคนอื่นสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เหมือนอย่างครูจะเป็นชั้นมัธยม หรือดอกเตอร์ก็ตามมาสอนเด็กต้องสอนตามภูมิของเด็ก ก.ไก่ ก.กา ก็สอนไปตามขั้นตามภูมิของเด็ก ไม่ได้เอาดอกเตอร์มาอวดเด็กนะ ต้องเอาขั้นของเด็กที่จะพอเข้าใจ เช่น ก.ไก่ ก.กา หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสามเป็นสี่เรื่อยๆ จนกระทั่งเด็กชำนาญก็สอนขึ้นๆ ไป
อันนี้การสอนอรรถสอนธรรมก็อย่างนั้นเหมือนกัน ใครอยู่ในขั้นใดภูมิใดถ้ายังไม่สงบก็สอนให้มีความสงบด้วยคำบริกรรม เช่น พุทโธเป็นต้น ตามแต่จริตนิสัยชอบในคำบริกรรมใด นำคำบริกรรมนั้นเป็นเครื่องกำกับจิต มีสติครอบอยู่กับจิต ให้ภาวนาอย่างนี้จิตจะไม่พ้นความสงบไปได้ ต้องสงบ ขอให้สตินี้จับกับจิตกับคำบริกรรมเถอะ ตั้งได้เลยว่าจิตสงบได้ ถ้าหากว่ามีพลั้งๆ เผลอๆ ไม่ได้เรื่องนะ ขาดๆ วิ่นๆ ต่อไปก็เป็นเจริญ-เสื่อมๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว ถ้าลงสติได้จับตลอดไปแล้วจะเจริญไปโดยถ่ายเดียวๆ
นี่ละสติจึงเป็นของสำคัญมาก ควบคุมงานไม่ให้เผลอ กิเลสเกิดไม่ได้ในขณะที่สติควบคุมงานไม่เผลอตัว แล้วกิเลสสร้างตัวไม่ได้ เมื่อกิเลสสร้างตัวไม่ได้ก็มีแต่ธรรมสร้างตัวด้วยสติ จิตใจก็สง่างามขึ้นๆ ไม่บอกก็ได้ที่ว่าสงบ สงบ สติเป็นเครื่องควบคุมได้ สงบได้ถ้ามีสติ ให้จับให้ดีนะสติ สติเป็นของสำคัญมากทีเดียว ถ้าขาดสติเมื่อไรเท่ากับขาดความเพียรเมื่อนั้น สติติดแนบไปเมื่อไรนั่นละความเพียรติดแนบกันไปตามกัน นี่การประกอบความพากเพียรให้พิจารณาอย่างนั้น
ไม่ว่าธรรมขั้นใดก็ตามสตินี้ปราศจากไม่ได้ ตั้งแต่สติล้มลุกคลุกคลาน ต่อไปจนเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ก้าวขึ้นมหาสติ-มหาปัญญา สติจะปราศจากไปไม่ได้เลย กิเลสขาดสะบั้นลงไปเพราะสตินี้เป็นสำคัญ นี่การภาวนา วันนี้พูดถึงเรื่องภาวนาการอบรมใจ เพราะใจเป็นของสำคัญมากทีเดียว ไม่เคยตายนะใจดวงนี้ เราตามวิถีจิตนี้มันทราบได้ชัดทางด้านจิตตภาวนา ร่างกายกับความรู้คือจิตมันอยู่ด้วยกันนี่ละ มันก็เหมาเอาหมดทั้งร่างกายนี้ว่าตัวรู้ตัวจิต ตัวเราตัวเขาไปเสียหมด ความจริงจิตเป็นจิต ร่างกายเป็นร่างกาย
เหมือนกับว่าเอาผลไม้วางลงในตะกร้า ผลไม้เป็นผลไม้ ตะกร้าเป็นตะกร้า ไม่ใช่อันเดียวกัน เวลาแยกเข้าไปๆ เห็นทั้งผลไม้ เห็นทั้งตะกร้า เป็นภาชนะรับสิ่งเหล่านั้น ทีนี้เห็นทั้งจิตเห็นทั้งภาชนะคือสกลกายทั้งหมดเป็นเรือนร่างของจิต จิตอยู่ภายในพิจารณาตามเข้าไปๆ มันก็ละเอียดลออเข้าไป ทีนี้แยกจิตแยกกายได้ กายเป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอย่างหนึ่ง ละเอียดเข้าไปๆ ตามจิตดวงนี้เข้าไปจนกระทั่งเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ กระแสของจิตออกมาก็เป็นกระแสของจิต พิจารณาเข้าไป ตามเข้าไป จนกระทั่งถึงตัวจิตแท้นั้นแหละ คว่ำกันที่ตรงนั้น
กิเลสอยู่ที่ตัวจิตแท้นั่นละมันครอบ เรียกว่าอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาดันออกมาให้เกิดสังขาร สังขารนั้นก็เป็นสมุทัย เมื่อสติครอบเอาไว้ไม่ให้มันเกิดสังขารก็ปรุงไม่ได้ สติก็ตามเข้าไปเรื่อยๆ จนถอดถอนออกได้ เมื่อกิเลสขาดสะบั้นไปจากใจหมดแล้วความสว่างของจิตไม่ต้องถามแหละ ไม่ถามใครทั้งนั้น สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเองในผลงานของตนตั้งแต่ต้นจนอวสานถึงนิพพานสดๆ ร้อนๆ ไม่ต้องไปถามใคร แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถาม เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก นี้เป็นพระโอวาทที่พระองค์ประทานให้แล้ว ว่าผู้ปฏิบัติจะรู้ผลงานของตนเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งผลของงาน บรรลุธรรม เรียกว่าถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วก็เป็นสนฺทิฏฺฐิโกในความบริสุทธิ์อีกทีหนึ่ง
นั่นละการปฏิบัติ จิตใจนี้ตามวิถีเข้าไปนี้เวลาละเอียดเข้าไปแล้วจะมีแต่จิตนะ ร่างกายนี้ไม่มีความหมาย มันกลายเป็นของว่างไปหมดแล้ว ทีแรกร่างกายเหมือนภูเขาทั้งลูก เวลาจิตใจมันหนาแน่นด้วยกิเลสร่างกายก็หนาแน่นเหมือนภูเขาทั้งลูก แต่เวลาพิจารณาเข้าไปๆ ร่างกายก็ค่อยละเอียดลงไปๆ จนกระทั่งถึงร่างกายนี้ไม่ปรากฏ มีแต่ความสว่างไสวครอบแดนโลกธาตุ นั่นเห็นไหมล่ะ ทั้งๆ ที่ร่างกายมีอยู่ แต่จิตนี้มันสว่างมันทะลุไปหมดเลย แผ่นดินทั้งแผ่นทะลุไปได้หมด นี่ถึงขั้นจิตสว่างไสวมันสว่างไสวอย่างนั้น
จากนั้นก็ปล่อยวางโดยลำดับ อย่างที่ว่าขั้นว่างๆ ว่างนอกว่างใน ว่างภายนอกแต่ภายในยังไม่ว่างก็ไม่เรียกว่าสิ้น ว่างภายนอก ทุกสิ่งทุกอย่างว่างหมด ปล่อยวางหมด ภายในก็ว่างด้วยปล่อยวางตัวเองด้วย นี่เรียกว่าปล่อยวางโดยสิ้นเชิง เสร็จสิ้นไม่มีอะไรเหลือ พ้นแล้วจากสมมุติ ไม่มีอะไรเหลือแล้วภายในใจ จะเรียกว่าพระอรหันต์หรือไม่อรหันต์ท่านไม่สนใจ เมื่อพ้นไปแล้วก็พอ นี่ละการปฏิบัติ
วันนี้พูดถึงเรื่องจิตตภาวนาให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ในวงพุทธศาสนาท่านถือจิตตภาวนาเป็นสำคัญ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เราได้กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้คืออะไร คือพระสงฆ์สาวก ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านบำเพ็ญอย่างไรท่านถึงเป็นพระอรหันต์ ก็บำเพ็ญตามแนวทางของศาสดา เมื่อเต็มที่แล้วท่านก็หลุดพ้นได้ กิเลสไม่มีในพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นแหละที่เป็นสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิของพวกเราทั้งหลาย ที่ว่าพระสงฆ์ๆ พระอรหันต์ท่านเป็นสรณะของพวกเรา ก็เพราะการตามดูจิต ฝึกฝนอบรมจิต เมื่อเข้าถึงจิตแล้วมันหายสงสัยทุกอย่าง
วิถีของจิตนี้มันละเอียดลออมาก จะต้องตามกันด้วยจิตตภาวนา สติปัญญาละเอียดเข้าไปเราจะเห็นความละเอียดของจิตๆ เรื่อยไปเลย ถ้าสติปัญญายังไม่ละเอียดจะยังไม่เห็นจิต มันหยาบ พอสติปัญญาละเอียดเข้าไปความละเอียดของจิตจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งความละเอียดของจิต ความละเอียดไม่มี หมดความหยาบความละเอียดในจิต ไม่มี นั่นละสิ้นแล้ว คือสมมุติทั้งปวงขาดสะบั้นไปหมดแล้ว ว่าหยาบว่าละเอียดไม่มี ว่าเศร้าหมองผ่องใสไม่มีในจิตดวงพ้นทุกข์แล้วไม่มี ให้พากันจำเอา
ที่ว่าเศร้าหมองผ่องใสอยู่ในปฏิปทากำลังดำเนิน พอถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้วนั้นไม่มีคำว่าเศร้าหมองผ่องใส หมดโดยสิ้นเชิง เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งมวล จิตอันนั้นที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วผ่านสมมุติ สิ่งเหล่านี้จึงไม่เอื้อมไปถึง จำเอา เอาละวันนี้พูดธรรมะเพียงเท่านี้ พอเป็นคติเครื่องเตือนใจบรรดาท่านที่เป็นนักภาวนาทั้งหลาย มันเป็นความจำเป็นด้วยกันนะการภาวนา จิตใจมีความสงบเย็นเท่าไรหน้าที่การงานของเราก็ราบรื่นดีงาม การประกอบทำมาหาเลี้ยงชีพก็เหมือนกันไม่หวั่นไม่ไหวง่ายๆ คือความได้มาเสียไปมันเป็นคู่เคียงกัน จิตผู้รับทราบสิ่งที่ได้มาเสียไปมากน้อยนี้เป็นเรื่องของจิต เมื่อมีธรรมเข้าคุ้มครองรักษาจิตย่อมรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตน จิตก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ให้จำเอา เอาละพอ
(ท้ายเทศน์ลูกศิษย์กราบเรียนถามปัญหาภาวนา)
ลูกศิษย์ เวลาจ่อดูกายทิ้งคำบริกรรมได้ไหมเจ้าคะ ปรกติลูกฝึกมาลูกจะมีคำบริกรรมร่วมด้วยทุกครั้ง สติจ่อดูกายไปด้วย เวลาหนูจะเข้าพักสมาธิมันยาก พอพุทโธปั๊บ กายมันจะให้เห็นเลย มันยากที่จะดึงเข้ามาพักสมาธิเจ้าค่ะ เวลาพิจารณากายลูกจะทิ้งคำบริกรรมได้ไหมเจ้าคะ)
หลวงตา ได้ๆ นี่ทางเดินอย่างนี้ละ เวลาพิจารณาแล้วคำบริกรรมต้องปล่อย งานของจิตเป็นงานพิจารณาไปแล้ว งานหนึ่งคืองานบริกรรมพุทโธ เป็นต้นนะ งานบริกรรมนี้เป็นงานอันหนึ่งอยู่ในขั้นทำงานอันนี้ ทีนี้พอพิจารณาร่างกายเป็นงานอันหนึ่งขึ้นมางานทางด้านปัญญา เราหยุดทางบริกรรมพุทโธได้ ปล่อยได้ นี่ละวิถีทางเดินที่ถูกต้อง เวลาเราทำการพิจารณาอะไรแล้วปล่อยคำบริกรรมได้
ลูกศิษย์ เวลาลูกดูกระดูกดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ได้ไหมเจ้าคะ
หลวงตา ดูไปมันจะชำนาญของมันเรื่อยนะ อย่างที่พูดตะกี้นี้เขาเห็นผู้หญิงเดินผ่านไปเป็นกองกระดูก เขาก็กองกระดูก เขาไม่ได้ยกเขาไปดูแต่กองกระดูกคนอื่น กระดูกเจอกัน กระดูกเขากระดูกเรา คือมันทั่วถึงหมด เมื่อชัดเจนแล้วมองไปไหนมันเป็นอย่างเดียวกัน อยู่ในขั้นกระดูกก็เป็นกระดูก มองไปที่ไหนเป็นกระดูกไปหมด นี่ความชำนาญของจิต
ลูกศิษย์ เวลาเข้าสมาธิก่อนนอน พอจิตสงบแล้วมันพักได้แป๊บเดียว นอนไม่กี่ชั่วโมงตื่นขึ้นมาแล้ว มันต่อเลย
หลวงตา เวลามันขี้เกียจมันนอนวันยังค่ำคืนยังรุ่งมันก็นอนได้ ก็แก้กันอย่างนั้นซี ถึงวาระที่ควรจะหักมันก็หัก ถ้ามันไม่นอนเสียจริงๆ ก็มีวิธีอีกวิธีหนึ่ง อันนี้หลวงตาก็ได้อธิบายให้ฟังแล้วไม่ใช่เหรอ ถึงขั้นที่จิตมันหมุนของมันจริงๆ มันนอนไม่หลับนะ นอนอยู่นี้มันก็ฟัดกันอยู่ระหว่างกิเลสกับธรรมเข้าขั้นปัญญา มันไม่หลับ ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้มันหลับ จึงต้องว่าหางานให้มันทำชิ้นเดียว พุทโธๆ ให้ทำงานอันเดียว อย่าไปยุ่งกับงานใด พุทโธๆ จิตจ่อ มีสติจ่ออยู่นี้แล้วสงบ จากนั้นรวม หลับ คือพอมันสงบลงไปนี้แล้วให้สงบอยู่นั้นก็ได้ จากสงบแล้วหลับเลยได้ ถ้าเวลามันกำลังชุลมุนนี้นอนไม่หลับ
นี่เป็นอยู่นะ ไม่หลับเอาเฉยๆ คืออันนี้ทำงานไม่หยุด มันหมุนของมัน นอนอยู่ก็ไม่ถอย อย่างนี้ไม่หลับ ทีนี้ทำอย่างไรจะให้มันหลับ มันหมุนของมันกับเรื่องราวต่างๆ ให้แคบเข้ามาๆ ให้อยู่กับคำบริกรรมคำเดียวเช่นพุทโธๆ ไม่ให้หมุนออกข้างนอก พุทโธๆ จิตมันเข้าจุดเดียว พอเข้าจุดเดียวสงบแล้วหลับ หลับได้
โห จิตเป็นของอัศจรรย์ เราเคยพูดแล้ว เราเองก็ยังเป็นบ้าชมเราวะ เคยเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง เดินจงกรมอยู่ เรามาพูดเพียงเอกเทศครั้งเดียวพอเป็นคติทั่วๆ ไปได้ เดินจงกรมไปมานี้ขั้นนั้นจิตมันว่างหมด ว่างหมดเลย เห็นแต่ความอัศจรรย์จิตนี้สว่างไสว แหม บอกไม่ถูก แต่มันไม่สงสัยในจิตที่มันเป็นสว่างไสวและว่างไปหมด เราก็มาหลงตัวเอง โอ้โห ทำไมจิตเราถึงได้สว่างไสวถึงขนาดนี้เชียวนา อัศจรรย์แล้วว่างไปหมด ตัวเองมันอยู่ในขั้นนี้ ขั้นที่ควรอัศจรรย์มันก็อัศจรรย์ แต่ผ่านไปแล้วมันก็รู้ข้างหลัง เรื่อยๆ เข้าใจ มันเป็นขั้นๆ
เอานะท่านทั้งหลายให้จำ พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว หาไม่มีในโลกว่าศาสนาใดจะเลิศเลอเสมอศาสนาหรือยิ่งกว่าศาสนาไม่มี มีพุทธศาสนาอันเดียว พุทธศาสนาเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส โลกวิทู รู้แจ้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง การแนะนำสั่งสอนโลกจึงไม่ผิด โลกวิทูรู้แจ้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง สอนอะไรไม่ผิด มีแต่พุทธศาสนา มีอันเดียว นอกนั้นใครจะเสกสรรปั้นยอขึ้นเป็นศาสนาใดก็ทราบไปตามเรื่องนิสัยวาสนาของใครของเรานะ จะว่านั่นพ่อของเขานี้พ่อของเราก็ว่าไปได้ แต่มันหนีหลักใหญ่ที่ใครยึดผิดหรือถูกเข้าใจไหมล่ะ พุทธศาสนานี้แน่นอนมากทีเดียว
พอพูดอย่างนี้ทำให้ระลึกได้ถึงเรื่องศาสนาเซน เราอ่านจนจบๆ ศาสนาเซน เขาเป็นชื่ออันหนึ่ง เป็นสมบัติของเขาอันหนึ่ง พุทธศาสนานี้เป็นสมบัติของชาวพุทธเราอันหนึ่ง เขาเรียกศาสนาเขาเป็นศาสนาเซน แล้วเป็นสมบัติของพวกชาวเซนที่เขาตั้งชื่อกัน ทีนี้เวลาพิจารณาแล้วคำว่าศาสนาเซนนั้นคือปัญญา พุทธศาสนานี้แลเป็นขั้นตอนท้ายตอนสุดท้ายแห่งการปฏิบัติธรรมจะหลุดพ้น เข้าสู่ปัญญาขั้นนี้ๆ ออกจากพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้วจะเป็นอย่างศาสนาเซน เขาบรรลุธรรมไปเขาเลยเข้าใจว่ามีเท่านั้น เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องก.ไก่ ก.กา ขึ้นไปนะ เขาพูดเอาตอนดอกเตอร์เลยทีเดียว พุทธศาสนานี้มีตั้งแต่ก.ไก่ ก.กา ขึ้นถึงขั้นดอกเตอร์ เรียบ ของเราเสมอ
ศาสนาเซนนั้นคือตอนปลายของพุทธศาสนา ผ่านนี้มันรู้หมด โกหกไม่ได้ พอถึงขั้นนั้นมันเป็นอย่างนั้น อย่างที่ว่าศาสนาเซน มันจะเป็นสติปัญญาไปหมดเลยพอถึงขั้นสติปัญญา เช่นเดียวกับเวลากิเลสเต็มหัวใจนี้มองดูอะไรตาหูจมูกลิ้นกายจะเป็นกิเลสไปหมด พอมันเป็นธรรมแล้วทีนี้อะไรๆ เป็นธรรมหมด ตาหูจมูกลิ้นกายสัมผัสสัมพันธ์อะไรเป็นธรรมไปหมดเลย สติปัญญาขั้นนี้ขั้นเป็นธรรมไปหมดที่จะหลุดพ้นคือพุทธศาสนาตอนปลาย พอจากนี้แล้วก็ผ่าน เราจึงไม่สงสัย
แต่เขายกว่าเป็นศาสนาเซนของเขา เราก็ไม่เห็นว่าเสียหายอะไร ก็เป็นสมบัติอันดีงามของเขาอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าแยกให้ทราบถ้าว่าต้น นี่ต้น นี่กิ่งก้าน นี่ยอด เข้าใจไหม นี้ใบอ่อนนี้ใบแก่เท่านั้นเอง ต้นไม้ต้นนั้นแหละ ว่าอย่างนั้นเลยก็ได้จะเป็นอะไรไป นี่ได้ดูหมดแล้วนะศาสนาเซน หนังสือเว่ยหล่างเราอ่านดูแล้วไม่ผิดกัน หาที่ค้านกันไม่ได้ในสติปัญญาขั้นนี้เป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้เรามาเอานั้นให้เป็นดอกเตอร์ในนั้นเลยไม่ได้นะ ต้องมาจาก ก.ไก่ ก.กาเสียก่อน
ศาสนาเซนเขาเอาอันนั้นเลย ต้องเป็นผู้ใช้ปัญญาทางนั้นๆ มันก็ผิดไปตรงนี้ มันควรจะใช้เป็นปัญญามันก็เป็นของมัน ถึงขั้นนี้แล้วไม่อยู่สติปัญญา ถึงขั้นจิตสงบร่มเย็นรวมกำลังวังชาจิตใจเข้าไปแล้วค่อยแยกออกไปทางปัญญาๆ พอถึงขั้นแล้วมันจะหมุนของมันติ้วๆ เลย พุทธศาสนานี้แหละ นี่ปฏิบัติมาแล้วไม่สงสัยเรา พูดตรงไหนมันรู้หมดเลย เวลามันเข้าใจแย็บออกมาตรงไหนรู้หมด ถึงขั้นรู้ปิดไม่อยู่ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดส่งผู้ปฏิบัติให้ถึงนิพพานได้โดยไม่ต้องสงสัย สมกับพระนามพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาองค์เอกถึงนิพพานแล้วจึงมาสอนโลก
วิถีของจิตนี้ก็เหมือนทางเดินของเรา ซอกแซกซิกแซ็กไปไหนก็ไปตามสายทางที่เดินด้วยเท้าไปด้วยรถด้วยรา ทีนี้สายทางของจิตก็เป็นแบบเดียวกัน เป็นอย่างนั้นละ สายทางของจิตเป็นอย่างไรไปผ่านกันอย่างไรๆ มันก็รู้กัน พวกปฏิบัติด้วยกันรู้ อย่างมาเล่าภาวนาให้ฟังนี่เพียงมาเล่ารู้แล้วนั่น นี่สายทาง แล้วนี่เดินมาถึงไหนรู้แล้วนั่น เป็นแต่เพียงไม่พูด จะตอบเฉพาะที่ถามเท่านั้น นอกนั้นไม่ตอบ เมื่อถึงขั้นที่จะตอบ ยิ่งกว่านั้นมันออกเอง รับเองๆๆ เลย เป็นอย่างนั้น ก็มันมีอยู่แล้วในนี้ คอยแต่ฟังคำตอบ ความขัดข้องของผู้นั้นจะให้แก้ไขอย่างไร พอพูดขึ้นมานี้ควรแก้ไขอย่างไรแก้ทันทีๆ ไปเลย
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
และเครือข่ายทั่วประเทศ
|