เทศน์อบรมฆราวาส
ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อค่ำวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ความเคยชินของธรรมในใจพาให้เป็นไป
เรื่องกรรมฐานออกภาวนาเพื่อชำระกิเลส สมัยพ่อแม่ครูอาจารย์เราเท่าที่เราได้เห็นประจักษ์กับหูกับตาของเรานี้ ท่านไม่สนใจอะไรกับเรื่องการอยู่การกิน ไอ้พวกมะขามป้อม-สมอก็พูดเฉยๆ ท่านไม่สนใจ แต่ตามตำรับตำรามี มะขามป้อม-สมออะไร ฉันในเวลาวิกาลแต่ไม่เห็นท่านสนใจนะ นี่ละจิตใจถ้าได้เน้นหนักกับธรรมแล้วจะไม่มีอะไรกวนใจ มีแต่กิริยาอาการทุกอย่างเพื่ออรรถเพื่อธรรมๆ ล้วนๆ ทีนี้กิเลสมันจะยกเมฆมาจากไหนมันจึงจะไม่หมดไม่สิ้น ไม่เหือดไม่แห้งไปได้ มันต้องหมด ก็วิดทุกวัน ขนทุกวันขนกิเลสออก น้ำอ้อย น้ำตาล พวกน้ำชา กาแฟ ไม่มี ดูท่านไม่สนใจเสียด้วย ประกอบกับมันไม่ค่อยมี ถึงมีท่านก็ไม่สนใจ พอฉันเสร็จแล้วเท่านั้นพอ ท่านไม่ยุ่งกับอะไร
อย่างเราเข้ามาคละเคล้ากับเพื่อนกับฝูงที่ให้ชื่อให้นามว่าพระกรรมฐาน นี้มาเราไม่ได้มาด้วยความนอนใจนะ หัวใจดวงนี้ไม่เคยคุ้นกับสิ่งใดในสามแดนโลกธาตุ ถึงกิริยาจะแสดงออกในวิธีใดอาการใดก็ตาม จิตไม่ได้คุ้น จิตไม่มีอะไรที่จะคุ้นในสามแดนโลกธาตุ ทีนี้จะดูอะไรมันจึงดูด้วยสติปัญญาๆ ด้วยการพินิจพิจารณา ไม่ใช่แบบกิเลสตัณหาพาดู พาเคลื่อนพาไหว พาอยู่พากิน ซึ่งเมืองพอไม่มี ท่านผู้มีธรรมบังคับจิตใจหรือมีธรรมในใจนี้ท่านไม่ได้ตื่นกับอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีมากมีน้อยท่านไม่ตื่นเต้น ไม่ตื่น จะทำอะไรก็ไม่ตื่น เมื่อถึงขั้นพอตัวของธรรมแล้วพอดีอยู่กับธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรจะเลิศเลอยิ่งกว่าความพอดีของธรรม
เพราะฉะนั้นกิริยาอาการอะไรที่แสลงธรรมๆ จึงรู้ได้ทันทีๆ สำหรับผู้มีใจเป็นธรรม และเป็นธรรมเต็มหัวใจแล้วไม่คุ้นกับอะไร นี่พูดจริงๆ จะว่าคละเคล้าอยู่กับโลกกับสงสารกับสมาคมต่างๆ ใจดวงนี้ไม่ได้คุ้นกับสิ่งใดนะ ไปที่ไหนมันจะดูมันจะสอดจะแทรกด้วยความเป็นธรรม มันจะดูทุกแง่ทุกมุม ตลอดถึงหมู่เพื่อนที่มาอยู่ร่วมกัน เวลามาขบมาฉันร่วมกันนี้มีใครรู้ไหมว่านี่ดูตลอด นั่น ทางนั้นก็มูมมามๆ ผู้มีนิสัยมูมมาม นิสัยตะกละตะกลาม นิสัยสวยงามมันก็จะแสดงออกในเวลานั้น ทีนี้ธรรมนี้จับไปหมดเลย ดูหมด ละเอียดหมด ส่วนมากได้แต่ความท้อใจ จะได้ความอนุโมทนาสาธุการนี้มีน้อยมาก
นี่ละเรื่องของกิเลสเหยียบธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมตัวเองก็ว่าปฏิบัติและออกหน้าออกตาว่าปฏิบัติธรรม แต่ธรรมเหยียบหัวใจอยู่ตลอดเวลาไม่รู้ ธรรมขึ้นอยู่บนหัวใจ ขึ้นอยู่บนคอบนหัวใจไม่รู้ ไม่ได้ยกตนข่มท่าน เอาธรรมมา เราก็กราบธรรม ธรรมสูง เรากราบธรรมที่เป็นของสูงเลิศเลอ แล้วเอานั่นละจับดูทุกอย่าง เราไม่เอาตัวเราจับ เพราะเรากับเพื่อนฝูงกับใครๆ มันก็พอๆ กัน ต้องเอาธรรมมาจับมาดูมันถึงได้เห็นละเอียดลออทุกอย่างๆ นี้ละที่ว่าธรรม โลกยอมรับ ยอมรับอย่างนี้เอง คือไม่มีอะไรเหนือธรรม ธรรมเข้าตรงไหนงามตา งามใจ งามหู พูดออกมานี้จะเป็นกิริยาใดออกมาเป็นธรรมล้วนๆๆ ยึดเป็นคติตัวอย่างได้ นี่เรียกว่าธรรม
พ่อแม่ครูจารย์ท่านเคยเล่าแย็บเดียวเท่านั้นละ เราก็ไม่ได้มีละเรื่องการฉันช้อนในบาตรของพระผู้ฉันในบาตรนะ เราก็ไม่ได้ฉันละฉันช้อน แต่เวลาไปอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นมันจึงได้คิด ท่านพูดขึ้นมาลอยๆ คำว่าลอยในคำพูดนี้ลอยจริง แต่รสชาติของคำว่าลอยอยู่ในนั้นลึกซึ้งมาก ท่านว่าพระกรรมฐานเราฉันอะไรต้องฉันด้วยความเป็นธรรม ไม่ให้มีกิเลสตัณหาเข้ามาเหยียบย่ำทำลายลิ้น ทำลายปาก ทำลายหัวใจให้เป็นความทะเยอทะยานตื่นเต้นไปกับอาหารการขบการฉันทั้งหลาย ท่านว่าอย่างนั้น
หิวก็ยอมรับว่าหิวตามธาตุขันธ์เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน แต่จิตใจเป็นเครื่องสกัดลัดต้อน เป็นเบรกห้ามล้อ นั่นฟังซิ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้เห่อเหิมมันจะเห่อเหิมไปไม่ได้ ท่านว่าอย่างนั้น เราไม่ลืมนะไปหาท่านทีแรกท่านพูด เพราะจ่ออยู่แล้วที่จะยึดจะเกาะอรรถธรรมของท่าน ฉันก็สักแต่ว่าฉันพอเยียวยาธาตุขันธ์ไปเท่านั้น ไม่ได้ฉันด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม หลงลิ้นหลงปากหลงรสหลงชาติอะไรไปอย่างโลกทั้งหลายเขาเป็นกัน นักธรรมะต้องเป็นผู้รู้เนื้อรู้ตัวเสมอ อาหารมีมากมีน้อยก็รู้ว่ามีมากมีน้อย แต่ไม่ตื่น นั่น หักห้ามตลอด
จากนั้นท่านก็วนเข้ามาหาการฉันในบาตร การฉันในบาตรมันสะดุดใจ ท่านว่าอย่างนั้น การเอาช้อนตักอาหารในบาตร คือเอาช้อนตักอาหารอยู่ในบาตรมาฉันนี้ ท่านพูดจุดนี้สะเทือนหนักนะ ท่านว่าพระเรามาฉันจังหัน พระก็หมายถึงพระปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส มาฉันจังหัน อาหารในบาตรสักแต่ว่าพอเป็นไปเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเลิศเลอยิ่งกว่าธรรม ฉันลงไปพอยังอัตภาพให้เป็นไป อาหารจะประณีตบรรจงขนาดไหนก็พอดีกันกับธาตุกับขันธ์อยู่นั้นแล ท่านว่า จะเป็นสูงเป็นต่ำขนาดไหนธาตุขันธ์รับได้พอดีด้วยกันทั้งนั้น พอยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ ไม่มีอะไรเลิศเลอกว่ากัน พอที่จะเสาะแสวงหาด้วยการลืมเนื้อลืมตัวเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน ท่านว่าอย่างนั้น
แล้วทีนี้ย่นเข้ามาอีก ผู้ฉันจังหันสำหรับพระกรรมฐานเราก็เพื่อจะเห็นโทษเห็นภัยในความเคลื่อนไหวทุกอย่าง สุดท้ายก็ลงมาการขบการฉัน เวลาขบฉันนี้เอาอาหารเอาอะไรลงในบาตรแล้วยังเอาช้อนลงไปตักในบาตรมาฉันอีกนี้ มันเลยกลายเป็นขุนนางสดๆ ร้อนๆ ขึ้นในท่ามกลางกรรมฐาน ท่านว่าอย่างนี้นะ เราไม่ลืม มันกลายเป็นพระขุนนางสดๆ ร้อนๆ ขึ้นในท่ามกลางธรรมของผู้ฉันในบาตร เรียกว่าไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย ขวางธรรม ท่านคิดอย่างนั้น นี่ท่านเล่าออกมานะ
เวลาไปก็ไม่เห็นท่านเอาช้อนตักในบาตรฉันนะ ไม่เห็น แต่เวลาท่านพูดออกมานี้สะเทือนใจหนัก ขาดสะบั้นเลยเราตั้งแต่บัดนั้นมา เรื่องเอาช้อนตักอาหารในบาตรมาฉันไม่มีเลยเพราะมันถึงใจ มือนี้มีไว้สำหรับเหล่านี้ ท่านว่าอย่างนั้น จะไปหาเจ้าขุนมูลนาย-พระขุนนางมาจากไหน มาตั้งอยู่ในกลางบาตรเวลาฉันในบาตร ท่านว่าอย่างนั้น เราเลยสะเทือนใจหนัก เราก็ไม่เคยเพราะพึ่งออกมาปฏิบัติ ก็ไม่เคยเอาช้อนตักอาหารในบาตรฉันเลย ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้
มันก็เป็นความเคยชินในธาตุในขันธ์ในจิตใจ อันนี้เป็นธรรมชาติพอดี มือฉันเข้าไปๆ พอเหมาะพอดีกับความจำเป็นระหว่างธาตุขันธ์กับอาหารบำรุงกันเท่านั้นพอ ไม่ให้เลยจากนั้นไป จับติดเลย ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยมี สำหรับเราเองพึ่งออกก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร พอออกไปก็ไปเห็นอย่างนั้น แล้วเวลามาฉันกับหมู่กับเพื่อนนี้ดู เวลาพระเณรที่เป็นวงกรรมฐานมาคละเคล้ากันเป็นอย่างไร มันปิดไม่อยู่ มันจะเอาภูเขาห้าลูกมาปิดก็ไม่อยู่ ปิดสติปัญญาที่จะสอดส่องดูแลในความเคลื่อนไหวของเพื่อนฝูงนี้เราดู เราไม่ได้คุยเราดูจริงๆ
เวลามีพระกรรมฐานมารวมกันเป็นอย่างไร นิสัยดั้งเดิมเป็นมาอย่างไรมันจะมาแสดงในท่ามกลาง มาแสดงอะไรก็ได้เห็นได้ชัดเจนๆ ว่าเคยฉันมาอย่างไรเคยทำอย่างไรก็เป็นมาอย่างนั้นเรื่อยๆ มันบอกในเวลาออกมาชุมนุมกัน ว่ากรรมฐานเราเคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัด เราพูดเฉพาะวงกรรมฐาน เราไปในวงกรรมฐานรู้สึกว่าอ่อนใจ เฉพาะอย่างยิ่งเช่นมารวมฉันในนี้ ดูหมดนะ รู้หรือไม่ว่าเราดูหมด วงกรรมฐานด้วยกันนั้นละดูกัน ที่อื่นเราไม่ดู ไม่ใช่เขตแดนที่เราจะดู เพราะเกี่ยวข้องกันก็คือวงกรรมฐาน เราดูจริงๆ ละ ฉันด้วยความเห็นภัยหรือฉันด้วยความเพลิดเพลิน ฉันด้วยความลืมเนื้อลืมตัว หรือฉันด้วยความจำเป็นของธาตุขันธ์ที่บำรุงกันระหว่างอาหารกับธาตุขันธ์ของเรา หรือฉันเพื่ออะไร มันก็ดูกันไปหมด นี่ละเรื่องธรรมท่านสอดส่องหมด
เพราะฉะนั้นท่านผู้มีธรรมในใจท่านจึงไม่ตื่นตัว ท่านไม่ลืม ไม่ลืมอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่หลง จะมีมากน้อยกองเท่าภูเขาหรือใหญ่กว่าภูเขาท่านก็ไม่หลง ท่านไม่ตื่น ท่านทราบหมดตลอดทั่วถึงด้วยธรรมครอบไปหมด ดูไปหมดเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นการปฏิบัติของท่านเป็นความราบรื่นโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องบีบไม่ต้องบังคับ คือความเคยชินของธรรมในใจพาให้เป็นไป เรียบร้อยไปหมดเลย นี่ละผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสท่านทำของท่านอย่างนั้น ท่านไม่ได้ทำด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม หลงลิ้นหลงปาก หลงอาหารการขบการกิน หลงอติเรกลาภที่เขามาถวายบูชามากน้อย เป็นบ้าไปเลย ท่านไม่หลง
เหล่านั้นเป็นนั้นๆ ธรรมกับใจ กิเลสกับใจที่เป็นข้าศึกหรือเป็นคุณต่อกันอยู่กับใจ ท่านจะดูจุดนี้มากกว่า อะไรที่เป็นภัยต่อใจก็คือกิเลส เมื่อมันหนักเข้าๆ ก็ทำให้จิตใจอ่อนแอท้อแท้ลงไป เหลวไหลไป ถ้าธรรมมีหนักมากกิเลสก็ค่อยจางไปๆ จิตใจก็ค่อยดีดขึ้นมา มีความสงบร่มเย็น นั่นเป็นอย่างนั้นการปฏิบัติประกอบความพากความเพียร ทุกอย่างที่พูดมานี้เอาจริงเอาจังทุกอย่างนะ เราไม่ได้เหลาะแหละ พิจารณาย้อนหลังนี้ว่าได้ท้อแท้อ่อนแอในความพากเพียรตรงไหนไม่มี บอกว่าไม่มี มีแต่ขยะๆ อย่างนั้นมันก็ทำได้
คือระยะแก่มานี้กับเราดูเรากำลังหนุ่มน้อยนั้น กำลังฟัดกำลังเหวี่ยงกับกิเลสอยู่นั้นมันเอาเป็นเอาตายเข้าว่า ไม่ได้ดูป่าช้าแหละเวลานั้น นี่เวลามันแก่แล้วมันย้อนหลังไปดูนี้ โห ขยะๆ เหมือนกัน อย่างนั้นมันก็ทำได้ๆ ๆ คิดย้อนหลังเป็นอย่างนั้น ที่จะคิดว่ามีความอ่อนแอท้อแท้ในทางความพากความเพียรนี้ไม่ปรากฏ พูดจริงๆ นะ ถึงจะล้มลุกคลุกคลานก็ดิ้นซัดกันในขั้นล้มลุกคลุกคลาน ให้ถอยไม่ถอย เอากันอยู่นั้น ถึงขนาดน้ำตาร่วงบนภูเขาก็เคยได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง สู้กิเลสไม่ได้ สติตั้งล้มผล็อยๆๆ ตั้งเท่าไรล้มเท่านั้น ไม่อยู่ สติตั้งไม่อยู่ ความเพียรไม่มี ถ้าลงสติตั้งไม่อยู่แล้วความเพียรไม่มี
ถ้าสติตั้งได้มากได้น้อยความเพียรมี สติตั้งสนิทแล้วกิเลสไม่เกิด ถ้าลงสติได้ตั้งเข้าไปในจิตใจดีๆ แล้วกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีเท่าไรก็เกิดไม่ได้ เพราะกิเลสนี้เป็นฝั่งมหาสมมุติมหานิยมจริงๆ ถ้าลงสติดีแล้วกิเลสจะเกิดไม่ได้ วันยังค่ำก็ไม่เกิด นี่ทำแล้วนะ เอา ไม่ยอมให้เผลอ หาหลักหาเกณฑ์ทดสอบเจ้าของมันเป็นอย่างไรจิตจึงเป็นอย่างนี้ พิจารณาทดสอบ ลงจุดไหนแล้ว เอา ปลงใจลงจุดนี้ เอาจุดนี้ให้เต็มเหนี่ยวก่อน ให้เห็นเหตุเห็นผลกันเสียก่อน ถ้าจะปล่อยวางหรือไม่ปล่อยวาง ถ้าจะเสริมขึ้นก็เสริม ถ้าไม่เสริมหรือจะปล่อยวางเอาวิธีใหม่ก็เอา ซัดกันอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นไม่ทันกับกิเลส
เรื่องของกิเลสนี้ แหม เหนียวแน่นมากทีเดียว ที่ท่านว่าวุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นี้กระเทือนสามแดนโลกธาตุของวัฏวน คือกิเลสเท่านั้นที่มีอำนาจเหนือโลกเหนือสงสาร ครองวัฏจักรวัฏจิตให้ตายกองกันอยู่นี้มีกิเลสเท่านั้น พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจแล้วไม่มีอะไรเข้ามาผ่านหัวใจเลย คือใจพระอรหันต์ ตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วใจพระอรหันต์ไม่มีภัย ไม่มีอะไรที่จะมาข้องหัวใจท่านเลย ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็ชี้ลงที่กิเลส กิเลสเท่านั้นข้องหัวใจ ขัดหัวใจ ทิ่มแทงหัวใจ พอกิเลสขาดลงไปแล้วไม่มีอะไรเหลือ โล่ง ว่างไปหมดเลย สามแดนโลกธาตุไม่มีอะไรจะว่างยิ่งกว่าใจที่ว่างจากกิเลส
นี่ละใจถ้าลงได้ถึงขั้นนี้แล้วว่างหมด อยู่ที่ไหนอยู่ได้ตายได้ ไม่มีป่าช้า คำว่าตายจะตายกำหนดอย่างไร ไม่มีกำหนดเลย มันพออยู่กับใจที่เป็นอันเดียวกับธรรมทั้งแท่งแล้วเป็นอันเดียวกัน จึงไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะไปตายที่ไหนไปเกิดที่ไหนไม่มี พออยู่กับนั้นหมด เมื่อพออยู่กับนี้แล้วไปคว้าหาอะไร นั่นละจิตที่หลุดพ้นแล้วทุกอย่างจึงไม่คว้าหาอะไร ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนๆ คว้าหาอะไรทำไม ก็มันพออยู่กับหัวใจนี้ทุกสัดทุกส่วนแล้ว ไม่คว้า เวลามีชีวิตอยู่ก็ดูกันไป สังขารร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อนดูแลกันไป รักษากันไป สิ่งใดจะรักษาได้ก็รักษา รักษาไม่ได้ก็ปล่อยไปๆ เมื่อมันเต็มที่รักษาไม่ได้แล้วสลัดปั๊วะเดียวไปเลย ท่านไม่ได้ห่วง
เรื่องธาตุขันธ์นี่มันก็ดินน้ำลมไฟเหมือนกับโลกทั่วๆ ไป พอสลายจากส่วนผสมของมันแล้วมันก็ลงไปเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟเท่านั้นเอง ไม่เห็นมีอะไร ใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วไม่พึ่งสิ่งเหล่านี้ ดินน้ำลมไฟไม่พึ่งกัน อาศัยกันไปเฉยๆ เราเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้วไปพึ่งกับอะไร ถ้ายังพึ่งเขาอยู่จะเรียกว่าบริสุทธิ์ได้อย่างไร คำว่าพึ่งก็เพียงอาศัยธาตุขันธ์อยู่เพียงเท่านั้น ไม่ได้หวังพึ่งว่าเราบกพร่องที่ตรงไหนในจิตใจของเรา เป็นใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นละใจที่ได้ฝึกฝนอบรมเต็มที่แล้วกระจ่างแจ้งเลย
ใครจึงอย่ามองข้ามใจนะ ใจเป็นของสำคัญมากทีเดียว พาโลกให้เกิดตายกองกันอยู่นี้ทุกภพทุกชาติไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าภพใดชาติใด นรกอเวจีมันเกิดได้หมด ตายได้หมด เสวยกรรมได้หมด สวรรค์พรหมโลกมันไปมันขึ้นมันลงของมันอยู่อย่างนั้น วิถีของจิตของใจที่เป็นนักท่องเที่ยว ทีนี้เวลาฟาดอันนี้ให้ขาดสะบั้นลงไปแล้วมันจะไปทางไหนมันก็รู้ ขาดหมด ไม่มีทางไป มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ จะไปหาอะไร มันพออยู่กับหัวใจทุกอย่างแล้วไม่ไป อยู่ที่ไหนก็อยู่ไปกินไปนอนไป ทนธาตุทนขันธ์นี่ก็ทนกันไป อย่างนั้นแหละ รักษากันไป เมื่อถึงกาลแล้วเหรอ ไปไม่ได้แล้วเหรอสลัดปั๊วะเลย หายเงียบ ไม่มีอะไรเป็นห่วง
เวลามีชีวิตอยู่นี้ก็คือเรื่องธาตุเรื่องขันธ์พาอยู่พากิน พาหลับพานอน พาขับพาถ่าย เป็นกังวล ทั้งๆ ที่ใจบริสุทธิ์แล้วก็ยังต้องได้เป็นกังวลความรับผิดชอบในธาตุในขันธ์ พอสุดขีดของมันแล้วธาตุขันธ์ไปไม่รอดแล้วสลัดปั๊วะไปเลย นั่นละท่านว่าอนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่านิพพานล้วนๆ ไม่มีสมมุติเข้ามาแฝงเลย อย่างพระอรหันต์ท่านถึงนิพพานทั้งเป็นแล้วแต่ธาตุขันธ์ที่รับผิดชอบของท่านยังมี จึงเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน จิตถึงนิพพานแล้วแต่ธาตุขันธ์ยังต้องรับผิดชอบกัน นี่ก็เป็นความกังวลอันหนึ่งของมันอยู่ แต่พอธาตุขันธ์ถูกสลัดลงไปหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว อนุปาทิเสสนิพพานก็มาเอง อนุปาทิเสสนิพพานคือพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่าน
คำว่าตายเกิดตายกองกันนี้มีมากเท่าไรพิจารณาดูซิ ในวัฏวนอันนี้ทั้งเขาทั้งเรา ตายเก่าตายใหม่ตายทับตายถมกันกี่กัปกี่กัลป์นับไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่สร้างความดิบความดีให้เป็นเสบียงอันดีงามเพื่อฉุดลากขึ้นๆ จะไม่มีวันพ้นจากความตายกองกันอยู่ในภพชาติต่างๆ ได้รับความทุกข์ความทรมานหาประมาณไม่ได้นะ จะต้องเป็นอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ผู้เห็นการณ์ไกลให้คิดถึงความดีงาม เพื่อเป็นเสบียงของจิตได้ฉุดลากตนเองให้หลุดพ้นไปโดยลำดับลำดา ต่อไปก็พ้นได้ดังพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์
ท่านก็เป็นเหมือนเราๆ ท่านๆ แต่ก่อน ท่านมีกิเลสอยู่เหมือนกัน แต่เวลาซักฟอกหนักเข้าๆ ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วก็ถึงนิพพานได้เลย จิตดวงนี้เป็นจิตที่ควรแก่การอบรมเหมือนกัน ซักฟอกให้สะอาดสะอ้านไปได้เหมือนกัน ถ้าไม่นอนตายอยู่เฉยๆ ฝึกฝนได้นะใจของเรา อย่าพาอยู่พากิน พาหลับพานอน พอสืบวันสืบคืนวันแจ้ง วันนี้มืด นับวัน นับคืน นับปี นับเดือนอยู่เฉยๆ นับแจ้งมันเกิดประโยชน์อะไร ดูหัวใจเจ้าของมันขาดทุนสูญดอกหรือมีกำไรอะไร ให้ทดสอบตัวนี้ด้วยซิ
เราเป็นผู้รับผิดชอบ มืดแจ้งเขาไม่รับผิดชอบกับใครนะ เขามีมืดมีแจ้งมาตั้งกัปตั้งกัลป์เป็นอย่างนี้เรื่อยมา แต่จิตใจกับความดีความชั่วนี่มันรับผิดชอบกันตลอดมา ถ้าทำความชั่วมากไปไหนก็มีแต่ความทุกข์ความทรมาน ภพที่เขามีบุญมีกุศลเขาไปอยู่เสวยสมบัติอันดีงามของเขา เราไปเสวยแต่บาปแต่กรรมความทุกข์ความทรมานมันเข้ากันได้เหรอ ให้พากันพิจารณาเสียนะ คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ามันผิดไปไหน มันผิดอยู่กับพวกเรานี่นะ
เวลานี้ให้แก้พวกเรา อย่าไปแก้คำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นความถูกต้องดีงามเรียบร้อยแล้ว ทุกบททุกบาทออกมาจากสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วทั้งนั้น อย่าไปแก้ไปไข ให้แก้ไขตัวเองที่ไม่ดีตรงไหนให้แก้ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตรงนี้จะผิดไปตลอดตั้งกัปตั้งกัลป์ ตายจมกันอยู่อย่างนี้ ภพนี้เราก็ทราบแล้วว่าเราเป็นภพมนุษย์ก็ยังดีอยู่ แล้วเผื่อมันมาเป็นภพเปรตภพผี ภพนรกอเวจีเข้าในใจของเราดวงนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ให้พากันคิดเสียตั้งแต่บัดนี้ ถ้าไม่คิดจะตายทิ้งเปล่าๆ นั่นแหละ
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของจอมปราชญ์ผู้เลิศเลอ ได้เป็นพระพุทธเจ้ามาสอนโลกด้วยสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วทุกอย่าง พวกเรามันมีแต่ความผิดๆ พลาดๆ เต็มหัวใจ หัวใจพระพุทธเจ้ามีแต่ความสะอาดสะอ้าน โลกวิทูรู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกใน ตลอดทั่วถึง สามแดนโลกธาตุทรงรู้แจ้งหมด นั่นความรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ความรู้ของเรานี่มันตีบตันอั้นตู้ ตามีอยู่กี่ตาก็ตามแต่ตาในคือใจมันบอด มันไม่สนใจในศีลในธรรม สนใจแต่เรื่องบาปเรื่องกรรม ตายแล้วก็กรรมนั้นละไปเป็นกรรมเป็นเวรต่อตัวของเราเอง จะไปเป็นต่อผู้ใด ใครทำบาปบาปนั้นแหละไปเป็นคู่กรรมคู่เวรกัน ใครทำบุญก็คู่พึ่งเป็นพึ่งตาย ให้เลือกเอานะทั้งสองนี้
เวลานี้เรามีชีวิตอยู่อย่าปล่อยวางเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ ชาตินี้รู้กันชัดเจนแล้วว่าเป็นชาติมนุษย์ รู้ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาป มิหนำซ้ำยังได้พบพุทธศาสนาเป็นศาสนาของศาสดาที่เลิศเลอสุดยอดในโลกนี้แล้ว ให้นำมาปฏิบัติ นอกนั้นถือเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เป็นคำสอนที่แท้จริงไม่ได้ คำสอนพระพุทธเจ้านี้เป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกบททุกบาท ทุกขั้นทุกภูมิของธรรม ส่วนนอกนั้นไม่แน่ มีแต่กิเลสมันสอน สอนอะไรมันมีแต่ลากลงๆ กิเลสลากลง ธรรมลากขึ้นไป สุดท้ายก็แพ้กิเลส มีแต่กิเลสชนะตลอด ไปที่ไหนยกธงขาวไปเต็มตัวๆ มองไปเห็นมีแต่ธงขาว ธงขาวอะไรธงขาวที่ไหน ธงขาวหมอบราบให้กิเลส ธงแดงต่อสู้กับกิเลสมันไม่ค่อยมี
อย่างมากก็มีธงเหลืองบ้างนี่นั่งอยู่ตามนี้ มันเหลืองแต่สีเสื้อก็ไม่ทราบ ตัวมันเป็นธงขาวหมอบราบก็ไม่รู้นะ เราไม่แน่ ให้พิจารณาเอาเอง อันนี้เราไม่มีความรู้หลักนักปราชญ์ฉลาดแหลมคม ให้เจ้าของไปวินิจฉัยดูเสื้อเจ้าของที่ใส่อยู่นี่เหลืองๆ มันเป็นอย่างไร หัวใจของเรามันมีพอเหลืองๆ บ้างไหม หรือมันใจดำปี๋ ใช้ไม่ได้นะอย่างนั้น เอาละวันนี้ พูดเท่านั้น เหนื่อย
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
และเครือข่ายทั่วประเทศ
|