เจ้าปัญหาเจ้าก่อความยุ่งยาก ตัวก่อเหตุอยู่ไม่หยุดไม่ยั้ง ทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอนเว้นแต่จะหลับสนิทไปเท่านั้นคืออะไร ถ้าไม่ใช่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น โลกจะใหญ่มากน้อยเป็นเรื่องของใจไปให้ความหมาย มีใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นผู้ไปให้ความหมายในสิ่งต่าง ๆ ว่าโลกกว้างโลกแคบ สิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ ไปให้ความหมายเขาแล้วก็เอาความหมายนั้นมายุ่งกวนตัวเอง นี่เรียกว่าเจ้าปัญหาอยู่ที่ใจ การที่จะแก้ปัญหาภายในใจของตนให้สิ้นสุดลงไปได้นี้เป็นสิ่งที่ยาก ถึงกับบางคนถอยหลังเลยเห็นว่ายาก ความถอยหลังไปโดยที่เห็นว่ายากนั้นก็คงจะเข้าใจว่าหาที่ง่าย ที่ง่ายก็เป็นเรื่องความชอบใจของเจ้าของเสีย ซึ่งไม่ต้องตามเหตุตามผลมันก็เป็นไปไม่ได้อีก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาเข้าในหัวใจอีก
ผู้เป็นศาสดาที่จะนำธรรมะมาสอนโลกเพื่อแก้ปัญหาภายในจิตใจ จึงต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดมากผิดธรรมดาสามัญชนทั่ว ๆ ไป ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะสั่งสอนสัตวโลกให้เข้าอกเข้าใจพอแก้ไขตนได้ แม้พระองค์เองคือพระพุทธเจ้า หากไม่มีความเฉลียวฉลาดสามารถจนเต็มภูมิ ซึ่งควรจะแก้ปัญหาภายในพระทัยของพระองค์ได้แล้ว ก็ไม่ปรากฏเป็นนามศาสดาขึ้นมาให้เราทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาเลย การทุ่มเทกำลังเพื่อความดีมีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง คำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ จึงเป็นสิ่งที่ถึงใจอย่างยิ่ง ทั้งด้านปฏิปทาคือการดำเนินของพระองค์ ไม่มีที่ตรงไหนเป็นที่น่าตำหนิติเตียนว่าพระองค์ทรงท้อถอยอ่อนกำลัง มีความเกียจคร้านอ่อนแออย่างนี้ไม่มี
พูดถึงการเสียสละก็ไม่มีใครจะเทียมเท่าได้แล้วในโลกนี้ เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ที่สุดพระกายนี้ก็ยังต้องเสียสละ ใครต้องการอะไรให้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นของง่ายเมื่อไรที่คนทั้งหลายจะทำกันได้ ควรจะพูดได้ว่าไม่มีที่จะทำได้อย่างพระองค์ นี่ก็เป็นคติตัวอย่างอันสำคัญจะให้เราได้พิจารณา เพื่อฝืนภายในจิตใจของเรา สิ่งที่เราต้องฝืนนั้นคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาตามหลักธรรม แต่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของจิตเพราะไม่รู้ เหมือนอย่างคนโง่ คนฉลาดจะหลอกลวงต้มตุ๋นวิธีใดได้ทั้งนั้น เพราะไม่ทราบกลอุบายของเขา คนฉลาดต้มตุ๋นคนโง่จึงต้มได้ง่าย การพร่ำสอนคนโง่สอนได้ง่าย คนฉลาดมีอุบายกว่า นี่เราเทียบกับอะไร ก็เทียบกับกิเลสที่มีความแหลมคมความเฉลียวฉลาดกว่าเรา คิดในแง่ใดก็มีแต่เรื่องกลมายาของกิเลสทั้งนั้น หากไม่ได้นำธรรมะเข้าไปเทียบเคียงกันแล้ว เราจะไม่ทราบว่ากิเลสคืออะไรเลย จะกลายมาเป็นเราเสียทั้งหมด กระดิกตัวออกอาการใดก็ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องความสั่งงานสั่งการของกิเลสไปเสียสิ้น โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเขาสั่งงานเรา
การที่จะทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึก มีใครบ้างทราบมาก่อน ไม่มีใคร ก็มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึก และเป็นความจริงตามที่ทรงเข้าใจด้วย เมื่อแก้สิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในพระทัยจนหมดสิ้นไปแล้วก็เป็นผู้หมดโทษหมดภัย ไม่มีข้าศึกใด ๆ ที่แฝงอยู่ในพระทัยของพระองค์เลย จึงประกาศพระองค์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว และพ้นจากเครื่องผูกมัดทั้งหลาย แล้วนำธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็นทั้งด้านปฏิบัติและผลที่พึงได้รับนั้นออกมาประกาศสอนโลก ให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายได้ยินได้ฟัง มีผู้ใดที่จะมีความฉลาดแหลมคมถึงกับรู้สิ่งที่เป็นข้าศึกอันลึกลับอยู่ภายในจิตใจของตน ซึ่งถือว่าเป็นตนมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น
แม้ท่านนำอุบายมาสั่งสอนพวกเราอยู่เช่นนี้ ก็ไม่พ้นที่เราจะหลวมตัวเข้าไปอยู่ในเงื้อมมือของกิเลสซึ่งเคยเสี้ยมสอนเรามานาน เผลอแพล็บเดียวเท่านั้นมันก็เอาไปเป็นบ๋อยกลางบ้านกลางเรือนมันแล้ว ถ้าเผลอจากธรรมกิเลสก็คว้า ถ้าตั้งมั่นอยู่ในธรรมกิเลสก็จดจ้องมองดูอยู่เช่นนั้น เพราะอยู่ในฉากเดียวกัน คืออยู่ในจิตดวงเดียวกัน พอฝ่ายหนึ่งเผลอฝ่ายหนึ่งก็ฉวยโอกาส คำว่าเผลอคืออะไร ความขาดสติ ความขาดการใคร่ครวญ ความขาดเหตุขาดผลที่จะลงไปในทางที่ถูกต้อง ลืมไปเสียแล้วทำตามความชอบใจของตน นั่นแหละเป็นโอกาสของกิเลสที่เข้าแทรกแล้วโดยเราไม่รู้สึกตัว
จึงเป็นการยากถ้าเราจะคิดในทางยาก ถ้าจะไปคิดทางการกระทำ ว่าจะได้ผลอย่างนั้น ๆ ต้องเป็นความยากความลำบาก นี่ก็เป็นอุบายของกิเลสที่ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้น แล้วเราก็คล้อยตามมันเสียไม่กล้าจะทำไปให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กลัวจะลำบากลำบน กลัวอะไรต่ออะไร กลัวไปหมด เรื่องกิเลสหลอกให้กลัว
่องอวิชชาแล้ว ท่านพูดเรื่องราวของอวิชชา หากว่าเราจะไปเรียบเรียงเรื่อง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จนกระทั่งวันตายก็ไม่เห็นเรื่องอวิชชาเลย อันนั้นท่านรู้แล้วท่านจึงไปเรียบเรียง ท่านผู้รู้เรื่องอวิชชา ผ่านพ้นอวิชชาไปแล้ว พอแย็บขึ้นเท่านั้นท่านเข้าใจ เราจะอ่านสักเท่าไรเรียนสักเท่าไรก็ตาม เรียนวิชามากี่ตู้กี่คัมภีร์ก็ตาม เป็นเรื่องการส่งเสริมอวิชชาทั้งนั้น หาที่แก้ที่ไขไม่ได้ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณเรื่อยไปเลย มันเป็นปัจจัยเครื่องหนุนกัน ๆ มันหนุนไปจากไหน แน่ะ เราจะไปนับกิ่งก้านสาขาดอกใบของไม้ต้นหนึ่ง นับวันยังค่ำก็ไม่ได้เพียง ๕ กิ่งแหละ แล้วไม้ต้นหนึ่งมีกี่กิ่งกี่แขนงและมีกี่ใบ กิ่งเล็กกิ่งน้อยแตกแยกกันไปไม่ทราบว่ากี่กิ่งกี่แขนง นับวันยังค่ำได้เพียงกิ่งเดียวเท่านั้นค่ำไปเสีย วันหลังไปนับใหม่ หลงกันอยู่เรื่อย นับกิ่งไม้ต้นเดียวนั้นจนกระทั่งวันตายก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร
นี่ละที่เราไปเรียงอวิชชาเป็นแบบนี้เอง ผู้ที่จะเข้าใจเอาเหตุเอาผลจากต้นไม้ เราต้องการไม้ต้นนี้มาทำอะไร ถ้าต้องการจะเอาไม้ต้นนี้มาทำบ้านทำเรือนก็โค่นลงไปซิ เราจะถอนออกหมดทั้งรากเราก็ขุดค้นรากแก้วรากฝอยตัดเข้ามา ๆ จนกระทั่งไม่มีรากใดเหลือ แล้วไม้ต้นนั้นจะทนได้อย่างไร มันก็ล้มระเนระนาดลงเท่านั้นเอง แล้วกิ่งก้านสาขาดอกใบมีจำนวนมากน้อยเท่าไร มันก็ยุบยอบและตายไปด้วยกันหมด เมื่อลำต้นมันตายแล้วไม่มีที่สืบต่อ นี่ที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชฺชาปจฺจยา ก็หมายถึงต้นไม้นั่นเองที่เต็มไปด้วยรากแก้วรากฝอย กิ่งก้านสาขามันก็แตกออกไป อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด คือมีรากแก้วรากฝอย มีต้นมีลำแล้วก็มีกิ่งมีก้านมีดอกมีใบพูดง่าย ๆ ว่างั้น มันอาศัยอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงไปจากลำต้น ส่งไปทุกกิ่งทุกแขนงมันก็ทรงตัวของมันอยู่ได้ ทีนี้เวลาทำลายก็ทำลายอย่างที่ว่านี้
ถ้าต้นมันขาดจากความสืบต่อแล้วมันจะสืบต่อไปได้ยังไง มันตายหมด กิ่งก้านสาขาดอกใบอะไรตายหมด อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เรื่อย เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ อันนั้นก็ดับ ๆ เรื่อย นี่ท่านพูดถึงว่าอวิชชาซึ่งเป็นตัวสมุทัยเป็นกิเลสอันสำคัญนั้นดับ สังขารซึ่งอวิชชาเป็นเครื่องหนุนให้เป็นกิเลสมันก็ดับ วิญญาณที่พาให้เป็นกิเลสก็ดับ แล้วอะไร ๆ ที่พาให้เป็นกิเลสมันดับไปตาม ๆ กันหมด เพราะเหล่านี้เป็นเครื่องมือของอวิชชาทั้งนั้น ไม่ใช่อวิชชาแต่เป็นเครื่องมือของมัน ออกมาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย มีแต่ทางเดินของอวิชชา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เหล่านี้เป็นต้น มันก็เป็นเครื่องหนุนของอวิชชา อวิชชาบังคับบัญชาให้ทำให้คิดให้ปรุงให้คาดให้หมาย ให้สำคัญในสิ่งต่าง ๆ มันออกมาจากอวิชชา
เมื่อค้นเข้าไปถึงตัวอวิชชาแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร อวิชชาดับสังขารจะมีมาจากไหน นอกจากสังขารล้วน ๆ ดังสังขารพระอรหันต์ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องบังคับบัญชา สังขารของเราทั้งหลายที่มีอวิชชานี้ล้วนแล้วตั้งแต่สังขารเป็นกิเลส วิญญาณก็เป็นกิเลสเพราะอวิชชาพาให้เป็นจะไม่เป็นได้ยังไง ก็ลูกน้องของอวิชชา ฆ่ากันลงตรงนี้ ตัดกันลงตรงนี้
การพิจารณาอวิชชาก็ดังที่เคยอธิบายมาแล้ว รากแก้วรากฝอยเป็นยังไงว่ากันมาเรื่อย ๆ มันไปติดในอะไร ไปสำคัญมั่นหมายในอะไร คลี่คลายดูทั้งสิ่งนั้น แล้วก็ย้อนมาดูตัวผู้ไปสำคัญมั่นหมาย ไปคิดไปปรุงไปแต่งไปว่าดีว่าชั่ว ย้อนเข้ามาจนกระทั่งเห็นความจริงว่าตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นตัวไปยึดไปถือเพราะความไม่เข้าใจ คลี่คลายดูให้เข้าใจ ทั้งข้างนอกให้เข้าใจ ทั้งข้างในให้เข้าใจ มันก็ปล่อยของมันไปเอง นี่การแก้ไขอวิชชาต้องแก้อย่างนั้น อุบายวิธีต่าง ๆ กรรมฐานตั้งแต่อานาปานสติไปเป็นต้นโดยลำดับ ๆ นี้ เป็นขั้นเริ่มแรกที่จะระงับดับอวิชชา คือกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ภายในจิตใจของตนมากน้อยทั้งนั้น
การปฏิบัติเราจะไปคาดไปหมายอย่างนั้นผิด เอาจุดเฉพาะ ๆ มันหากกระเทือนถึงกันหมด การพิจารณาชำนิชำนาญในทางใด ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมหรือตามความถนัดของตนเอง จิตใจเมื่อถนัด ทำถูกต้องตามอัธยาศัยด้วย ถูกต้องตามหลักธรรมด้วยแล้ว ก็ย่อมมีความสงบลงได้ ใจจะฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปเพียงไรก็ตาม เมื่อได้รับธรรมที่ถูกต้องและมีการบังคับบัญชากันไว้ด้วยดี ก็เข้าสู่ความสงบได้ไม่กำเริบเสิบสานต่อไป นี่เราก็เห็นผลแล้ว อวิชชาสงบตัว อุบายสติปัญญาจะพิจารณาเพื่อคลี่คลายดู สิ่งที่จิตใจมีความคาดความหมาย มีความยึดความถือ อันดับแรกก็คือสกลกายของเรา พวกรูป พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันดับต่อไปก็สิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ เมื่อมันมีรากแก้วรากฝอยมีตัวสำคัญอยู่ภายในจิตใจนี้มันก็ลำบากไปหมดนั่นแหละ ท่านจึงให้พิจารณา
การพิจารณาภายนอกก็ตามพิจารณาภายในก็ตาม ถ้าพิจารณาเพื่อแก้ความสงสัยเป็นมรรคได้ทั้งนั้น คือทางดำเนินเพื่อถอดถอนกิเลส เช่น ท่านสอนให้ไปอยู่ป่าช้า เป็นยังไงถึงให้ไปอยู่ป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า ไปเยี่ยมป่าช้า เพราะเราไม่เห็นป่าช้าภายในตัวของเรา ต้องให้ไปดูที่นั่นก่อน เห็นที่นั่นแล้วก็มาเทียบเคียงกับเรื่องของเรา พอเราเข้าใจเรื่องป่าช้านี้แล้ว เรื่องป่าช้าภายนอกมันก็ปล่อยของมันเอง แล้วเข้ามาดูป่าช้าภายใน เมื่อเห็นชัดเข้าใจชัดในป่าช้าภายใน คือร่างกายของตนเองที่เต็มไปด้วยการเกิดแก่เจ็บตายอยู่นี้แล้วมันก็ปล่อยของมันอีก มันจะไปไหน เมื่อมันรู้แล้วมันก็ปล่อยทั้งนั้น มันไม่รู้มันถึงยึดถึงถือ เราจะบังคับให้มันถอนเท่าไรมันก็ถอนไม่ได้เมื่อมันยังไม่เข้าใจ ฉะนั้นจึงต้องมีปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์พินิจพิจารณา จนเป็นที่เข้าใจแล้วก็ปล่อยไปได้โดยลำดับ ๆ การปฏิบัติธรรมท่านทำอย่างนั้น
เราอย่าไปคาดไปหมาย ท่านผู้ใดเป็นอย่างไรก็ตาม อย่าไปเอาสมบัติของท่านเข้ามาเป็นสมบัติของตน คือไปคาดไปหมายตามท่าน เวลาไม่เป็นไปตามนั้นแล้วมันเกิดความไม่สบายใจ ให้กำหนดพิจารณาดูปัจจุบันธรรม คือความเป็นของจิตเราในขณะ ๆ จิตสงบยังไงก็ให้ทราบว่ามันสงบอย่างนี้ภายในตัวของเราเอง ท่านสงบอย่างนั้นก็ช่าง นั่นเป็นสมบัติของท่าน นี่เป็นสมบัติของเรา ลูกท่านเป็นอย่างนั้น ลูกเราเป็นอย่างนี้ นิสัยคนนั้นเป็นอย่างนั้น นิสัยคนนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน เราจะให้เหมือนกันไปไม่ได้ นิสัยของเราภาวนาเป็นอย่างนี้ นิสัยของท่านผู้นั้นภาวนาเป็นอย่างนั้น ก็ให้ทราบไว้เท่านั้นเราอย่าไปยึดไปถือ เอามาเป็นสัญญาอารมณ์ แล้วบังคับจิตให้เป็นเช่นนั้น หากไม่เป็นไปตามความต้องการนั้นแล้วจะเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา เลยกลายเป็นเรื่องสั่งสมกิเลสขึ้นมาอีก แทนที่จะแก้กิเลสหรือทำกิเลสให้ระงับดับไป เป็นความผิดไป
อยากให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้เข้าใจตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกาศกังวานอยู่ด้วยความจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีอยู่ทุกแห่งทุกหน ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล ไม่ว่าต้นไม้ภูเขา ถ้าเรามีสติปัญญาพิจารณาไปไหนเป็นสัจธรรมทั้งนั้น ถ้าใจเป็นธรรมดูอะไรเป็นธรรมไปหมด ถ้าใจเป็นโลกดูอะไรก็เป็นโลกไปหมด เพราะมันเป็นอยู่กับใจ ใจเป็นสิ่งสำคัญ จึงเรียกว่าเป็นเจ้าปัญหา เจ้าปัญหาอยู่ที่นี่ ถ้าแก้ปัญหาถูกที่นี่แล้วอะไร ๆ ก็ถูกไปหมด ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ภายในนี้แล้ว ไปไหนก็เป็นฟืนเป็นไฟไปหมด เพราะผู้นี้พาให้เป็นไฟ ใจพาให้เป็นไฟ ใจจึงเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับสัตว์และบุคคลรายหนึ่ง ๆ การปฏิบัติศาสนาจึงต้องมุ่งลงที่ใจ
ให้ดูอาการของจิตในวันหนึ่ง ๆ มันมีความพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปในทางใดบ้าง ดูอยู่ตรงนี้ มันจะระบายออกไปทางกายทางวาจา นั่นมันนอกไปแล้ว มันเคลื่อนไหวไปจากใจนี้เป็นผู้สั่งงาน คอยดูความเคลื่อนไหว วันนี้มีความเศร้าหมองไม่ค่อยสบาย เป็นเพราะอะไรจึงไม่สบาย ค้นหาต้นเหตุ เราไม่ต้องดีใจเสียใจกับมัน อาการของมันมียังไงมันต้องแสดงขึ้นมา เราจะบังคับไม่ให้มันแสดงไม่ได้ มันแสดงขึ้นมาอย่างไร เรามีสติปัญญาเราดูตามความแสดงของมัน วันนี้มีการเศร้าหมอง ปัญญาของเรามี มีธรรมชาติอันหนึ่งที่รู้ว่าอันนั้นเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนั้นเป็นอันหนึ่ง เราผู้มีสติปัญญาหรือมีความรู้เป็นอันหนึ่ง จึงสามารถทราบความเศร้าหมองนั้นได้ ให้ดู ความเศร้าหมองเกิดขึ้นมาเพราะสาเหตุอะไร ให้แก้สาเหตุที่มันเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนี้มันก็ระงับไป เมื่อไม่มีสาเหตุเป็นเครื่องอุดหนุนให้มันมีความเศร้าหมองมากขึ้น
ถ้ามันเศร้าหมอง ก็เอาความเศร้าหมองนั้นแหละเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เอา มันจะเศร้าหมองไปไหน เราจะดูความเศร้าหมองนี้ด้วยความมีสติ ถือเอาความเศร้าหมองนั้นละเป็นสถานที่ทำงาน กำหนดดู ไม่ต้องดีใจเสียใจ ไม่ต้องตั้งความอยากให้มันดับ มันดับของมันไปเองด้วยเหตุด้วยผลของมัน มันไม่ได้ดับด้วยความอยากให้ดับ หลักธรรมเป็นอย่างนั้น ให้ดู เวลามันผ่องใสขึ้นมาก็ให้ทราบว่านี่คือความผ่องใส เป็นอาการอันหนึ่งของจิตที่แสดงขึ้นมาจากการชำระ ผลที่เกิดขึ้นมาจากการชำระการระมัดระวังจิตใจของตน ผลจึงปรากฏขึ้นมาเป็นความผ่องใส
ความผ่องใสกับความผาสุกสบายมันแยกกันไม่ออก เมื่อปรากฏเป็นความผ่องใสขึ้นมาใจก็มีความสบาย เมื่อปรากฏเป็นความเศร้าหมองขึ้นมาใจก็รู้สึกจะเป็นทุกข์ ให้เราทราบสาเหตุมันไว้ทั้งสองเงื่อน สัจธรรมเป็นด้วยกันทั้งนั้น ดีก็เป็นสัจธรรม ชั่วก็เป็นสัจธรรม ถ้าพิจารณาให้เป็นสัจธรรม หากเราไม่พิจารณาให้เป็นสัจธรรม ละชั่วก็มาติดดีอีก แต่ในการดำเนินเราต้องถือความดีถือความสุขเป็นที่ยึดเช่นเดียวกับบันไดไปเรื่อย ๆ เราไม่ต้องตำหนิทางดี ยึดไป เหมือนเราขึ้นบันไดขึ้นไปอย่าปล่อยบันได ไม่ถึงสถานที่ควรปล่อยอย่าปล่อย พยายามจับให้มั่น ความดีจะมีมากน้อยเพียงไร ความผ่องใสความสงบจะมีมากน้อยเพียงไร เอา สั่งสมให้มี นี่ละคือหลักของใจเป็นเครื่องยึด
เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้วเรื่องความจริงเราจะได้ทราบ ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วมันเป็นความจริงด้วยกัน นั่นเป็นธรรมชาติของจิตที่จะรู้กันเอง ปล่อยวางกันเอง โดยเราไม่ต้องบังคับให้ปล่อย เมื่อถึงกาลปล่อยแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่ถึงเวลาที่จะปล่อยเราจะไปปล่อยไม่ได้ ต้องอาศัยความดีเป็นหลักยึด จิตมีความผ่องใส มีความสงบเย็น นั้นแลเป็นหลักยึดของใจ เป็นทางที่ถูก เป็นผลอันดี ให้ยึดนี้เป็นหลักไว้ หากเป็นหากตายเรามีอันนี้อยู่แล้วเราไม่ต้องตกใจ คืออันนั้นแหละเป็นเครื่องสนับสนุนจิตให้ไปด้วยความผาสุกเย็นใจ
อุบายของปัญญาให้ถือสิ่งที่มาสัมผัส ถือสิ่งที่มาปรากฏเป็นเครื่องพิจารณา เช่น ความเศร้าหมอง เป็นต้น ความเศร้าหมองเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่ทำไมมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันเกิดขึ้นมาด้วยสาเหตุของมันที่ควรให้เกิดได้ โดยที่เราเผลอไม่รู้สึกว่าสาเหตุมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง เมื่อปรากฏขึ้นมาพึงทราบว่านี้มันมีสาเหตุให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องไปเสียใจกับมัน มันมีสาเหตุ เราก็มีสาเหตุอันหนึ่งที่จะแก้มัน สาเหตุของเราคือปัญญา
ถ้าเราไม่นำสาเหตุคือปัญญาไปแก้มัน แม้เราจะไม่อยากให้มันเกิดเพียงไรก็ตาม หรืออยากให้ดับเพียงไรก็ตามมันก็ไม่ดับ ดีไม่ดียิ่งจะกำเริบขึ้นไปอีก เพราะมีสาเหตุเป็นเครื่องหนุนกันอยู่จะให้มันดับไปได้ยังไง เมื่อสาเหตุมีและเป็นไปอยู่มันต้องเป็นไปและกำเริบขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่จะให้ดับสาเหตุนี้คืออะไร ก็คือปัญญา มันเป็นผลขึ้นมาเช่นนี้คือความเศร้าหมอง มันเป็นขึ้นมาได้เพราะเหตุไร
ถ้าหากว่าเราค้นหาต้นเหตุมันไม่ได้ เราก็จะดูผลของมันคือความเศร้าหมองนี้ มันจะเป็นไปแค่ไหน จะมีความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง เพราะอันนี้พึ่งเกิดขึ้นมาในขณะนี้หรือขณะก่อนหน้านี้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นของจีรังถาวร มาปรากฏอยู่ภายในจิตใจของเราเวลานี้ ปัญญาแทรกลงไปกำหนดลงไปพิจารณาลงไป ถืออันนั้นเป็นเป้าหมาย ถืออันนั้นเป็นสิ่งที่พิจารณา หรือเป็นงานที่ทำ ไม่นานอันนั้นก็สลายตัวลงไป พออันนั้นสลายตัวลงไปความสว่างกระจ่างแจ้งหรือความเบาใจปรากฏขึ้นมาแทนที่ เพราะเหตุไรถึงสลาย ก็เพราะปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์พิจารณาและจดจ้องมองดูอยู่ที่นั่น อาการของจิตที่จะไปส่งเสริมให้ความเศร้าหมองเกิดขึ้น ก็ไม่มีทางเล็ดลอดออกไปคิดไปสั่งสมขึ้นมาได้ ความเศร้าหมองนี้มันก็สลายตัวของมันลงไป
ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี เป็นอาการอันหนึ่ง ๆ ของจิต แต่ความเศร้าหมองนั้นเป็นอาการที่ทำจิตให้ชอกช้ำให้ขุ่นมัว ให้เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของดี จึงต้องระมัดระวังกันให้มากตรงนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้สึกตัวก็อย่าไปเสียใจ ให้ทราบตามสาเหตุมันดังที่กล่าวมานี้ จึงชื่อว่าเราเป็นนักพิจารณา ดีก็พิจารณา ชั่วก็พิจารณา ปัญญาใช้ได้หมด ทั้งทางดีทางชั่วปัญญาพิสูจน์ได้หมด ตามไปได้หมดเพราะปัญญาเป็นเครื่องใช้ สิ่งที่เราไม่ต้องการ เมื่อปัญญาแทรกเข้าไปตรงนั้นก็ปรากฏเป็นผลขึ้นมาได้ ดังที่ว่าความไม่สบายใจ เป็นต้น กำหนดดูความไม่สบายมันเกิดมาจากไหน ใครเป็นพ่อเป็นแม่แห่งความไม่สบายนี้ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง ไม่มีสาเหตุมันจะเกิดขึ้นมาได้ยังไง ต้องมีสาเหตุ
ค้นลงที่นั่น อย่าไปหมุนที่อื่น อย่าไปคิดที่อื่น อย่าไปตั้งความหมาย อย่าไปตั้งความหวังอยากให้มันดับให้มันหายไป อันนั้นไม่เกิดประโยชน์ ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ปรารถนาเมื่อไม่สมหวังแล้วจะเกิดทุกข์ เพราะไม่ใช่ทางที่จะส่งเสริมสุขให้เกิดขึ้นมา ให้เจริญยิ่งขึ้น แต่เป็นการเสริมทุกข์อันความปรารถนานั้น จึงต้องให้พิจารณา แก้จิตแก้อยู่ตรงนี้แหละ พิจารณาอาการของจิต มันมีอาการอยู่ตลอดเวลา คิดนั้นคิดนี้ ปัญญาก็คอยสอดแทรกคอยสังเกตดูอยู่เสมอ ปัญญาท่านเรียกว่าเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นความจริง ซึ่งแต่ละอย่าง ๆ ไม่ว่าดีว่าชั่วเป็นความจริงด้วยกัน ปัญญามีหน้าที่จะพิสูจน์ดีชั่วเหล่านี้
เพราะดีชั่วนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต ดีก็เป็นเครื่องไปเสริมจิต ชั่วก็เป็นเครื่องไปกดขี่บังคับหรือไปทำลายจิตใจ ปัญญาเป็นเครื่องถอดเครื่องถอนสิ่งที่เป็นภัยนั้นออก แล้วจิตก็ค่อยเด่นขึ้นมาโดยลำดับ ๆ นักภาวนาต้องตั้งหน้าพิจารณาให้รู้สิ่งที่ปรากฏขึ้นมา อย่าไปหวังผลกับสิ่งนั้น ๆ โดยที่ลืมทำงาน มันจะตั้งอยู่เท่าไรก็ให้มันตั้ง เราอย่าไปปรารถนา อย่าเอาอะไรไปแทรกมันอีก ให้ดูมันรู้มัน ใจมันสงบของมันเอง เพราะใจต้องการสงบอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่ามีสิ่งรบกวนไม่ให้มันสงบ ถึงหาความสงบไม่ได้
ให้ท่องเที่ยวอยู่ภายในขันธ์นี้ ถ้าหากว่าความไม่สะดวกปรากฏขึ้นภายในใจอย่าคิดออกไปข้างนอก อย่าไปหวังโน้นหวังนี้จะเป็นเครื่องหลอกไปอีก ให้เป็นการเสริมความไม่สบายใจนี้ขึ้นอีก ดูอยู่ภายในขันธ์ รูปคือกายของเราทุกส่วน ท่านเรียกว่ารูป ก็เป็นรูปตั้งแต่วันเกิดมา จะให้มันเป็นอะไรอีก เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉย ๆ มันก็เกิดก็ดับของมัน สับเปลี่ยนกันอยู่เรื่อย ๆ สับเปลี่ยนวนเวียนกันไปกันมาอยู่อย่างนี้ตั้งแต่วันเราเกิดมาในทางร่างกายก็ดี ในทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน คือเวทนานี้มีได้ทั้งทางจิตและทางกาย สัญญา ความจำก็จำไปอยู่อย่างนั้น จำอยู่ตลอดเวลา จำได้หายไป ๆ เอาสาระแก่นสารอะไรกับมันได้ สังขาร วิญญาณ ลักษณะอาการของมันมีความเกิดความดับอยู่อย่างนั้น เราจะไปถืออะไรกับสิ่งเหล่านี้ แต่อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องพิจารณาเป็นหินลับปัญญา จากนั้นมาก็มีความผ่องใส
เพราะใจไม่ใช่ขันธ์ ใจเป็นใจ รู้เป็นรู้ เราจะเห็นได้ชัดก็ตอนเมื่อจิตปล่อยขันธ์แล้ว เราจะบังคับให้เป็นอันเดียวกันได้ยังไง เมื่อจิตก็เป็นจิต ขันธ์ก็เป็นขันธ์ มันขาดจากกันอย่างประจักษ์ใจ เราจะไปว่าอันเดียวกันได้ยังไง นี่เป็นสิ่งที่เราพูดกันได้อย่างเต็มปากสำหรับผู้รู้ เอาละ เอวัง