ผ่านเวทีเดนตายมา
วันที่ 10 มกราคม 2550 เวลา 8:30 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐

ผ่านเวทีเดนตายมา

ก่อนจังหัน

พระที่ไม่ฉันอยู่ข้างในเยอะนะ ท่านไม่ฉันท่านไม่ออกมาเยอะ ท่านภาวนาท่าน การผ่อนอาหารนี้ดีทางสติ การภาวนาต้องสติเป็นสำคัญ สติขาดมากน้อยนั่นละภาวนาความเพียรขาด สติเป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้นจนถึงมหาสติมหาปัญญา เพราะฉะนั้นผู้ที่ตั้งความเพียรจึงต้องตั้งลงที่สติ สติจะดีหรือไม่ดีขนาดไหนยังขึ้นอยู่กับอาหารอีก ถ้าอาหารน้อยสติดี นักภาวนาให้จำเอานะ

เราผ่านมาหมดเรื่องเหล่านี้ ทดสอบทดลองตัวเอง ถ้าฉันแบบอิ่มหนำสำราญเท่านั้นแหละ เหมือนหมูขึ้นเขียง ขี้เกียจขี้คร้าน ตั้งสติไม่อยู่ ตัดลงๆ ตัดอาหารลง ผ่อนลง สติค่อยดีๆ ยิ่งเวลาเราหยุดไม่ฉันเลยนี้สติแน่ว ความเพียรที่จะถึงความพ้นทุกข์หนีสติไปไม่ได้ ไม่พ้นสติ สติเป็นของสำคัญ ท่านจึงบอกว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ไม่เว้นนะ ที่ทั้งปวง สติเป็นสำคัญมาก ใครสติดี คนนั้นละภาวนาจะก้าวหน้าๆ สตินี้อยู่กับปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามากไปสติค่อยขาดค่อยลด ถ้าอิ่มหมีพีหมาใช้ไม่ได้เลย ขึ้นเขียงเหมือนหมู

ที่ได้มาสอนเหล่านี้เราทดลองมาหมดนะไม่ใช่ธรรมดา แบบแผนตำรับตำราท่านก็มีไม่ทราบว่าจะหยิบอะไรมาให้พอเหมาะพอดี ต้องเอาจริตนิสัยของเจ้าของจับเข้าไป อันไหนที่ถูกกับจริตนิสัยตรงไหน ได้ผลดี จับออกมาๆ จากธรรมทั้งหลาย ค่อยย่นเข้ามา

นักภาวนาต้องมีอดๆ อยากๆ เขียมๆ จะให้อิ่มหนำสำราญไม่เป็นท่า มีอดๆ อยากๆ เขียมๆ พอเป็นไป นั่นละสติดีๆ สำหรับนักภาวนาเราก็ชี้แจงให้ทราบเหตุผล เพราะนี้ได้ดำเนินมาแล้วแทบเป็นแทบตายกว่าจะได้มาสอนหมู่เพื่อน ครูอาจารย์ท่านสอนเรียกว่าเอาไม้ทั้งท่อนมา ให้เราไปจาระไนไปเลื่อยแยกแยะออกไปเอง เอาไปปฏิบัติ ได้ผลดียังไงๆ ก็เน้นหนักทางนั้นให้มาก เอาละให้พร

หลังจังหัน

(ถวายหลวงตาแสนหนึ่งเจ้าค่ะ สร้างเจดีย์) ถวายมาก็เอาเลยละ เรามันคนขอทาน ตั้งแต่บวชมาไปขอทานเขา เศรษฐีก็ไปขอทานถ้าลงได้บวชแล้ว ปิณฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้เธอทั้งหลายบิณฑบาตด้วยกำลังปลีแข้งของตน ซึ่งเป็นของที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว และจงอุตส่าห์พยายามทำอย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด เป็นเศรษฐีก็ตามเวลามาบวชแล้วก็ต้องไปบิณฑบาตเหมือนกันหมด

พระรัฐบาลหรืออะไรน้าที่ท่านเขียนไว้ในตำรา คือพระรัฐบาลนั้นเป็นลูกเศรษฐีออกไปบวช พ่อแม่ขอร้องห้ามปรามอย่างไรไม่ฟัง ว่าสมบัติเงินทองข้าวของเรามีมากต่อมาก กินถึงวันตายก็ไม่หมด เราไม่ได้มาหาสมบัติเงินทองยิ่งกว่าบุญกว่ากุศลกว่าอรรถกว่าธรรม สมบัติเงินทองไม่ใช่บุญไม่ใช่กุศล บุญกุศลเกิดจากการปฏิบัติธรรมต่างหาก นั่นนะถึงเวลาจะไป เราจะไปหาธรรมว่างั้น ออกเลยจากเศรษฐีไป โอ๋ย ได้หลายปี บิณฑบาตมาก็มาบ้านเศรษฐี บ้านเจ้าของ

ทีนี้คนใช้กับเจ้าของเขามาใส่บาตร คนในบ้านจำไม่ได้นะ แต่คนใช้จำได้ พอใส่บาตรแล้วอาหารเศษเหลือเขาเอาไปวางไว้ที่ไหนไม่รู้ พระรัฐบาลก็ว่าเอาไปทิ้งไว้ทำไมไม่เกิดประโยชน์ เอามาใส่บาตรอาตมานี่จะเกิดประโยชน์มากกว่านั้น อันนั้นทิ้งไว้เฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ เขาก็เลยเอามาใส่บาตร พอไปถึงบ้านเขาก็คิด เอ๊ พระองค์นี้ไม่ใช่เป็นลูกในบ้านนี้เหรอ คือท่านไปนานแสนนาน แต่คนใช้จำได้นะ คนที่ใส่บาตรจะเป็นพี่เป็นน้องหรือไงเราไม่แน่ใจ พอเอาของใส่บาตรไปวางไว้ พระรัฐบาลก็ว่าเอาไปทิ้งไว้ทำไมไม่เกิดประโยชน์ เอามาใส่บาตรให้อาตมาดีกว่า ว่างั้นนะ เขาก็เลยเอามาใส่บาตรแล้วก็ไป ไปก็ติดต่อสืบถามกัน ไม่ใช่พระรัฐบาลในบ้านเรานี้เหรอ

มาท่านก็สอนเสียบ้าง ใส่บาตรแล้วเอาของไปทิ้งเกลื่อนใช้ไม่ได้ ท่านสอนว่าเอามาใส่บาตรอาตมาดีกว่า ท่านเป็นเศรษฐีออกจากนี้ไป นั่นละคนมีธรรมไม่ลืมเนื้อลืมตัว เป็นลูกเศรษฐี ไปบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเจ้าของเหมือนไม่ใช่หน้าบ้านเจ้าของเลย คนที่ใส่บาตรจะเป็นใครไม่ทราบ แต่เห็นใส่บาตรเสร็จแล้วเอาไปวางไว้ ท่านบอกเอาไปทิ้งไว้ทำไม มาใส่บาตรอาตมาดีกว่า มาทราบทีหลังว่าเป็นพระรัฐบาล เศรษฐีในบ้านนี้ เห็นไหมล่ะ ออกจากสกุลมาเข้าป่าๆ ออกมาจากมหาวิทยาลัยป่า องค์นี้สำเร็จโสดา องค์นี้สำเร็จสกิทา องค์นี้สำเร็จอนาคา องค์นี้สำเร็จอรหันต์ รวมแล้วเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา นั่นความไม่ลืมตัวเป็นอย่างนั้น

ความลืมตัว ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม กินอยู่ปูวาย ใช้สอยไม่มีขอบเขต ไม่รู้จักประมาณ คนนี้เรียกว่าชีวิตฟุ้งเฟ้อ ชีวิตไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีธรรม คนมีธรรมต้องมีเก็บมีรักษา จับจ่ายใช้สอยด้วยเหตุด้วยผลทุกอย่าง อย่างพระรัฐบาลท่านสอนคนใช้มาใส่บาตรท่าน เห็นไหมล่ะ ท่านก็ไม่ได้บอกว่าท่านเป็นรัฐบาล ท่านเป็นเศรษฐีบ้านนี้นะ คนนี้เขาพอจำได้ เขาไปบอกคนในบ้าน อย่างนั้นละเห็นไหมล่ะท่านลืมตัวท่านเมื่อไร ท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นลูกในบ้านนี้ เห็นใส่บาตรแล้วเอาไปวางไว้อีลุ่ยฉุยแฉกไม่น่าดู ท่านบอกเอามาใส่บาตรอาตมาดีกว่า คือดีกว่าทิ้งไว้อย่างนั้น จะว่าท่านโลภได้อย่างไร

ท่านเป็นเศรษฐีไปบิณฑบาต มาเห็นคนในบ้านสุรุ่ยสุร่ายใส่บาตรแล้วเอาไปวางทิ้งไว้ที่ใดที่หนึ่ง ท่านก็บอกให้เอามาใส่บาตรอาตมา นั่นฟังซิ.จะว่าท่านเป็นคนตะกละตะกลามเหรอ ท่านให้รู้จักประมาณ ท่านก็เป็นเศรษฐีท่านยังไม่ได้บอกว่าท่านเป็นเศรษฐีนะ ตั้งแต่เราเป็นเศรษฐีก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้ ความหมายก็ว่าอย่างนั้น มันดูไม่ได้ เป็นคติเครื่องเตือนใจมากนะ

เพราะฉะนั้นทุกคนขอให้มีหลักใจ อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเตลิดเปิดเปิง ชีวิตชีวาหาหลักเกณฑ์ไม่ได้ ตั้งหลักไม่ได้ ต้องมีหลักมีเกณฑ์ เราชาวพุทธๆ ควรจะเอาหลักธรรมพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จะสงบร่มเย็นแล้วสมบูรณ์พูนผลไปทุกอย่าง ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่เขียมจนเกินไป ให้ปฏิบัติพอดีพองาม การอยู่การกินการใช้การสอยให้อยู่ในขอบเขต เหมาะ ถ้าเลยขอบเขตเรียกว่าเลยธรรม เป็นเรื่องตะกละตะกลามไม่มีขอบเขต ชีวิตความเป็นอยู่ไม่มีขอบเขตแสดงว่าใจนี้ไม่มีหลัก แล้วจะปกครองตนและส่วนรวมไปได้อย่างไรใจไม่มีหลัก ใจมีหลักๆ ทุกอย่างจะมีหลักๆ

พระรัฐบาลท่านปฏิบัติมีขอบเขตเหตุผล มีหลักมีเกณฑ์ ไปสอนคนในบ้านท่าน ท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นคนในบ้านเศรษฐี ท่านสอนอย่าไปทิ้งเลอะเทอะอย่างนั้นใช้ไม่ได้ เอามาใส่บาตรอาตมาดีกว่า ท่านก็เป็นเศรษฐีอยู่ในบ้านนี้ บ้านนี้ออกมาใส่บาตรท่าน วางไว้เลอะๆ เทอะๆ ทิ้งไว้เลอะๆ เทอะๆ อย่างนั้นเอามาใส่บาตรอาตมาดีกว่าทิ้งไว้อย่างนั้น นั่นฟังซิ จะว่าท่านตะกละตะกลามเหรอ ท่านสอนให้รู้จักประมาณ ให้มีขอบเขตต่างหาก ท่านเป็นเศรษฐีแท้ๆ ท่านยังไม่ได้บอกว่าท่านเป็นเศรษฐี ฟังซิ ท่านสงวนธรรมยิ่งกว่าความฟุ้งเฟ้อ

         สามสี่วันนี้หันหน้าคุยกับใครไม่ได้ เขาจะติดหวัด หันหน้าคุยกับใครไม่ได้ คือหวัดนี้มันมีเชื้อโรค มีเชื้อของมันติดหวัดได้ เรานี้ไม่ทราบติดมาจากไหน เราไม่ได้ค้นหัวมันละ มันค่อยยังชั่ววันนี้ สองสามวันนี้ไข้ด้วยนะ ไม่ใช่ธรรมดา หันหน้าพูดกับคนไม่ได้กลัวเขาจะติดหวัด ต้องพูดห่างๆ หันหน้าไปนู้น เขาอยู่ฟังทางนี้ ไม่อย่างนั้นมันติดหวัด

         (พี่...สอนคนทำสมาธิอยู่ที่กรุงเทพฯ อยากจะขอธรรมะหลวงตาฝากไปที่ลูกศิษย์) สอนเขาว่าอย่างไร เราต้องถามผู้สอนเขาเสียก่อนซิ (สอนให้รู้ว่าทุกสรรพสิ่งไม่เที่ยง) แล้วอะไรที่เที่ยงที่ดี มันก็มีอยู่จุดเที่ยงจุดไม่เที่ยง เข้าใจไหม (ถ้าเราสามารถพิจารณาจนไปพระนิพพานได้ก็คือไม่เกิดไม่ดับ) เราปฏิบัติอย่างไร เพื่อถึงนิพพานไม่มาเกิดอีกนั้นน่ะเราปฏิบัติอย่างไร หรือพอนั่งปั๊บ โอ๋ย ลงหมอนนะนิพพานเที่ยง สว่างค่อยว่ากันใหม่ เป็นอย่างนั้นนะ

         พอพูดอย่างนี้เราคิดถึงเณรหนึ่ง ตอนนั้นเราจำพรรษาอยู่ที่ห้วยทราย เณรนั้นมันอ้วน ตัวอ้วนๆ ไปนั่งที่ไหนมีแต่ง่วงนอน จะดัดเจ้าของสักหน่อย นั่งอยู่ในกุฏิมันก็ง่วง ทำอย่างไรมันก็ง่วง มานั่งหมิ่นๆ มันง่วงให้มันตกลงนี้ เราก็นั่งภาวนาของเราอยู่นู้นละ ฟังเสียงตูม เอ๊ มันเสียงอะไรนา สักเดี๋ยวได้ยินเสียงพุมพิมๆ มันอย่างไรกัน เราเลยลงกุฏิไป เป็นอะไร เณรผองตกกุฏิ ทำอย่างไรมันถึงตก ว่าฝึกทรมานตัว ทรมานอย่างไรมันถึงได้ตกกุฏิอย่างนี้ คือทีแรกนั่งอยู่ในห้องมันง่วง สัปหงก ทำอย่างไรมันก็ไม่ถอย มานั่งอยู่ที่หมิ่นๆ เอ้า เวลามันง่วงให้มันตก.มันตกจริงๆ ใส่ลงตูม เป็นอย่างนั้นนะความง่วง อ้วนๆ เสียด้วย ฟังเสียงตูม เราก็นั่งภาวนาของเรา อันนี้เราจะเป็นแบบไหนล่ะ ไม่เป็นแบบตุ๊บเหรอ

         เวลายังหนุ่มน้อยมันเป็นอย่างนั้นทุกคนละ คือธาตุขันธ์มันก็เร่งอาหาร ครั้นกินมากๆ แล้วมันก็ง่วงนอนเป็นธรรมดา แก่เข้ามาอย่างทุกวันนี้ไม่มีละคำว่าง่วง ไม่เคยมี ไม่มีมาไม่ทราบว่ากี่สิบปีแล้ว ไม่เคยง่วง แต่นอนมันก็หลับธรรมดาของมัน แต่ก่อนง่วง นั่งภาวนานี่ง่วง ยังหนุ่มน้อยง่วงเป็นธรรมดา ต้องฝึกหลายแบบ แต่เวลายังหนุ่มการนอนละรบกวน ที่เร่งความเพียรจริงๆ ก็ตั้งแต่พรรษา ๗ ที่ออกจากเรียนหนังสือแล้วไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น ฝึก มีแต่เรื่องการนอนสำคัญมาก มันง่วงคนหนุ่ม ความง่วงรบกวน พรรษา ๗ ออก ถึงพรรษา ๑๖ ก้าวเข้า ๑๗ จึงว่าออก ๙ ปีขึ้นเวที ไม่มีกรรมการแยก ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่ง เอา ตกเวที ระหว่างกิเลสกับเราฟัดกัน พอมารู้กันเรื่องความง่วงนะ ความง่วงสำคัญ

         อายุ ๓๖ ปี บวชได้ ๑๖ พรรษา ๗ พรรษาออกปฏิบัติ ๑๖ พรรษา ลงเวทีได้ เหล่านี้ก็มาพูดให้ฟังหมด การอดอาหารก็ตั้งแต่นั้นละหยุด ไม่อด ตั้งแต่พรรษา ๗ ถึง ๙ ปีนี้มีแต่อดมากต่อมาก จนท้องเสีย ท้องเสียมาตั้งแต่นั้นเราละเรา จนจะตายตอนอายุ ๘๕ หรืออะไร มันถ่ายไม่หยุดไม่ถอย คือมันเป็นเรื้อรังมาตั้งแต่นู้นละพรรษา ๑๖ นานๆ ถ่ายทีถ้าถ่ายแล้วหมดเลยนะ หมดทั้งคืนถ้าลงได้ถ่าย ประมาณสักอาทิตย์หนึ่งถ่ายทีๆ ตอนอายุดูว่า ๘๔-๘๕ มันจะไป พอดีได้ยาหมอเติ้งมาให้ พลิกใหม่เลย ตั้งลำได้ช่วยโลกจนกระทั่งทุกวันนี้ ยาหมอเติ้งขนานนี้เก่งมากนะ ไม่อย่างนั้นเราตายตั้งแต่นู้นละ ไม่ได้ช่วยชาติบ้านเมือง อาศัยยาหมอเติ้งมาฉัน

         พอฉันแกก็ชี้แจงให้ทราบ ยานี้เวลาฉันลงไปถ้าโรคภายในกายเรามีมากเท่าไรมันจะถ่ายเต็มที่ของมัน แต่ถ่ายอันนี้ไม่เพลียเหมือนถ่ายด้วยโรค ถ่ายด้วยโรคเพลีย ถ่ายเท่าไรเพลีย อันนี้เวลาฉันลงไปแล้วมันจะถ่ายเหมือนกัน ถ้าโรคยังหนาแน่นขนาดไหนมันจะถ่ายเต็มเหนี่ยวของมัน แต่ไม่ต้องตกใจไม่เพลีย พอฉันลงไปเป็นจริงๆ นะ ถ่ายออกเสียจน..แต่ก็ไม่เพลีย จากนั้นมาก็ค่อยฟื้น พอโรคเบาลงไปความถ่ายมันก็หายไป อยู่มาได้จนป่านนี้ ตั้งแต่อายุ ๘๕ ตอนนี้ก็ ๙๓ ปีแล้ว เป็นมาจากเราอดอาหาร

         ตั้งแต่พรรษา ๗ ไปถึงพรรษา ๑๖ มีแต่อดกับอด ภาวนาดีๆ ท้องเสียตั้งแต่พรรษา ๑๑-๑๒ ละมั้งพรรษา ๗ ออกปฏิบัติ ถึง ๑๑-๑๒ ปี นั่นละท้องเริ่มเสีย ไม่สนใจ เอาเสียจนเต็มเหนี่ยว พอพรรษา ๑๖ ล่วงไปแล้วอาหารก็ฉันธรรมดา แล้วมันก็ถ่ายของมันเรื่อย มันเป็นโรคเรื้อรัง

         การฝึกทรมานจิตใจนี้หนักมากนะเรา มันก็เป็นกับนิสัยเหมือนกัน ถ้าว่าอะไรแล้วมันพุ่งเลย ถ้าได้ลงใจแล้วเอาเต็มเหนี่ยวเลย ถ้ายังไม่ลงก็คาราคาซัง ยังไม่แน่ใจความเพียรก็ไม่เด็ด พอลงใจตรงไหนแล้วก็พุ่งๆ นี่ก็ไปลงใจกับพ่อแม่ครูจารย์มั่น ลงใจเต็มที่แล้วทีนี้ความเพียรมันก็ทุ่มเลย ตั้งแต่นั้นมาความเพียรหนัก ถึงพรรษา ๑๖ ผ่านได้ กิเลสตกเวที ธรรมขึ้นครองเวทีแทนกันตั้งแต่บัดนั้นมา ๕๖-๕๗ ปีแล้วมัง ตั้งแต่พรรษา ๑๖ ตอนนี้ก็ ๙๓ ปีแล้ว ผ่านเวทีเดนตายมา จะไปทำภาวนาเหยาะๆ แหยะๆ ไม่ได้เรื่องนะ

         สติเป็นสำคัญนักภาวนา ถ้าสติไม่ดีความเพียรไม่ดี สติขาดความเพียรขาด อยู่กับสติจำให้ดี เรื่องสติเป็นสำคัญมาก สติจะดีได้อย่างไรไม่ดีได้อย่างไรก็ไปเกี่ยวกับอาหารเหมือนกัน ถ้าอาหารน้อยสติดีๆ ถ้าอาหารมากสติล้มลุกคลุกคลาน อาหารน้อยๆ มีเขียมๆ สติพอฟัดพอเหวี่ยงกันไป ต่อมาดีไม่ดีมันจะไม่กินนะ สติมันดีพุ่งๆ แล้วความเพียรก็ต่อกันไปเรื่อยๆ ได้ทำมาหมดแล้ว ที่ทำมานี้มาสอนด้วยการผ่านมาแล้วทั้งนั้น จึงแน่ใจว่าไม่ผิด เพราะเราดำเนินมาแล้วทั้งนั้น เอาละพอ ให้พร

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก