จิตเป็นวิสัยของนามธรรมด้วยกัน (ณ วัดป่าสุทธาวาส )
วันที่ 29 มกราคม 2544 เวลา 20:00 น.
สถานที่ : วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :
 

เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ (ค่ำ)

จิตเป็นวิสัยของนามธรรมด้วยกัน

          คนมีมากแต่ไม่มีอะไรก็เงียบ ถ้ามีเรื่องขึ้นมา มีลิเกละครขึ้นมานี้ เพียงสองสามคนเท่านั้นเสียงลั่นเลยนะ ถ้าธรรมไม่ค่อยมีเสียง ถ้ากิเลสนี้ โอ๋ย แผดมากทีเดียว แต่ธรรมไม่ค่อยมีเสียง มีมากเท่าไร ๆ ก็เงียบ ๆ ไม่ค่อยมีเสียง ถ้ากิเลสนี้ไม่ต้องหามากแหละ เพียงนิวเคลียร์อันเดียวพอ ตูมเดียวนี้เปรี้ยงปร้างเสียงลั่นไปเลย ลิเกละครนี้ชอบกันมากนะ สำหรับหลวงตาเองนี้เป็นคนอาภัพมาดั้งเดิม ไม่ได้ไปเที่ยวดูละลิเกละครอะไร ๆ ขับลำทำเพลงที่ไหน ๆ ที่เอิกเกริกเฮฮาไม่ค่อยมีนะเรา ถ้ามีก็แบบภาษาอีสานเขาว่าลำสั้นลำยาว อันนั้นมี แต่ไม่ถึงกับชอบนัก หากมี ลิเกละครระบำรำโป๊อะไร ๆ นี้ไม่มีไม่ไปไม่เกี่ยว ดูหนังดูอะไรนี้ไม่เคย เราไม่เคยไปดู

ทางนี้เขานิยมลำเพลงภาคอีสาน เขามีเพลงสั้นเพลงยาว ลำสั้นเป็นบท ๆ เขาเรียกลำสั้นลำยาว ลำเสียงยาว ๆ นั้นเขาเรียกลำยาว ทางภาคอีสานรู้สึกจะค่อยหมดไป ๆ แหละ สู้เพลงลูกทุ่งไม่ได้ เพลงลูกทุ่งเอาไปกินกันเกือบหมดแล้วเวลานี้ คงหางกุดหางด้วนไปแหละ ภาคอีสานมีแต่เพลงหางกุดหางด้วนไปแล้วละ แต่ก่อนมีเป็นธรรมดา มีทั่วไป หลวงตาเองก็เคยลำเคยร้องเพลงภาคอีสานเหมือนกันนะ เวลาจะเล่าก็เล่าบ้างซี พวกญาติโยมยังทำกันได้พูดกันได้ พระก็มีปากเหมือนกันทำไมจะพูดไม่ได้ จะมาปิดปากพระเหรอ มาซิถ้าอยากปากแตกให้มา อย่างนั้นแล้วเวลามันคึกมันคะนองมันก็คึกคะนองกับเขาเหมือนกัน

เวลาลำนี้ โธ่ คนติดนะ หลวงตานี่เสียงดีเหมือนเสียงแม่ ไปลำที่ไหนคนติด นี่พูดตามเรื่อง เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถ้าลงได้ลำที่ไหนแล้ว เอาละที่นี่ไปนี้เกาะพรึบเลย ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เหมือนกันนะ โอ๊ย ลำให้ฟังแด๊ ๆ ตั้งแต่พ่อยังได้พูดกับแม่อยู่บ้าน เรียกว่านิทานสั้นว่างั้นเถอะ ก่อนบวช มาก็ไปเที่ยวกลางคืน ธรรมดาเขาเที่ยวกลางคืนภาคอีสาน เราจะมานั้นเพื่อนก็ชวน เพื่อนขอให้ลำยาวให้ฟัง เพื่อนก็บอกว่าเราลำนี้เสียงดีเหลือเกินอยากฟัง พวกเดียวกันผู้ชายก็อยากฟังด้วยกัน อย่าว่าแต่ผู้หญิงอยากฟังนะ ผู้ชายก็อยากฟัง เสียงเพราะเหลือเกินว่างั้น ตกลงทนเพื่อนไม่ไหวก็เลยลำ เสียงเงียบ ๆ ที่นี่ จวนจะมาถึงบ้านที่เข้าบ้านแล้วนะ มันมีวงอยู่นั้นวงหนึ่ง เพื่อนมาขอให้ลำยาวให้ฟัง

นี่ที่มันขบขันนะ พ่อก็ตื่นเสียงลูกเจ้าของ แม่นะมาเล่าให้ฟัง พ่อนี่เฉยเลยนะ แม่มาเล่าให้ฟัง พอลำขึ้นเงียบ ๆ เสียงดังขึ้นเงียบ ๆ โถ ใครลำทำไมมันเสียงเพราะเหลือเกิน เหอ ไอ้นี่มันลูกใคร มันทำไมมันเสียงเพราะเหลือเกินไอ้นี่น่ะ อู๊ย ยังไม่เคยได้ยินเลย ฟังซิ มันไพเราะเหลือเกิน มันเสียงเพราะมากนะ อู๊ย ยังไม่รู้อยู่เหรอ ก็จะรู้ยังไง รู้ก็จะถามทำไม เป็นใครล่ะ โอ๊ย ก็ไอ้บัวลูกของเจ้าแหละ โธ้ มันลำเก่งป่านนี้หรือ นี่เราไม่ลืมนะ แม่เล่าให้ฟัง พ่อเฉยเลย คงวางท่าใหญ่แหละพ่อ พ่อหลงเสียงลูกเจ้าของ พ่อเลยวางท่าใหญ่ ไม่พูดจนกระทั่งป่านนี้แหละพ่อเฉยเลย แต่แม่เล่าให้ฟังล่ะซี อู๊ย พ่อติดเสียง มันลำดีขนาดนี้หรือไอ้นี่ กูไม่เคยได้ยินมันเลยนะ พึ่งได้ยินนี่แหละ

เราไม่เคยลำให้พ่อให้แม่ได้ยิน เราเฉย แต่แม่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ แม่ได้ยินอยู่ ส่วนพ่อไม่เคย นี่เราเล่าขบขันเฉย ๆ พ่อตื่นลูก เสียงลูกเจ้าของ ตื่นเต้นจริง ๆ นะ โธ้ ไอ้นี่ทำไมมันลำเพราะเหลือเกิน หือ ลูกใคร ๆ ถามหาลูก ก็คนบ้านนั้นลูกใครหลานใครก็รู้หมดใช่ไหมล่ะ เป็นลูกใคร ๆ อู๊ย ยังไม่รู้อยู่เหรอ ก็ไม่รู้ถึงถาม อู๊ย ก็ไอ้บัวนั่นแหละ ไม่ลืมนะ โธ้ มันลำเก่งขนาดนี้เทียวเหรอ ขึ้นเลย ตื่นเต้นนะพ่อ โธ่ ๆ ไม่เคยได้ยินมันลำ เราขบขันดี ตอนหนุ่มมันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

ไปที่ไหน คือแต่ก่อนเขาไปเที่ยวสาว ภาคอีสานเขาเรียกไปเล่นสาว ไปเที่ยวสาวไปเล่นสาวเป็นคำพูดเหมือนกัน ไปเที่ยวสาวเล่นสาวเป็นอันเดียวกัน ทางภาคอีสานทั้งภาคเป็นอย่างนั้นละ ตอนกลางคืนก็ไปเที่ยว ไปเที่ยวก็ไปหาผู้หญิงนั่นแหละ คือผู้หญิงอยู่กับที่ ผู้ชายไปเที่ยว ไปมีวงมีอะไรบางทีก็ลำอะไร ๆ อยู่กับวงสาวก็มี เราไปลำที่ไหนติดนะ อย่าว่าแต่ธรรมดานะ คนแก่ก็ติด เอ้อ แปลกอยู่นะ ใครเห็น เอ๊ย เรียกว่าท่าว ท่าวเอ๊ย มึงลำม่วนกระด้อกระเดี้ยแท้ ลำเพราะกระด้อกระเดี้ย ลำให้แม่ฟังแด๊ หรือให้ป้าบ้างให้อาบ้าง มึงลำม่วนแท้ ๆ ดี๊ เสียงมึงได้แม่มึงละ

เสียงแม่เสียงดีจริง ๆ ตั้งแต่เราเป็นเด็กอยู่แม่ลำยาวให้เราฟัง โธ้ แม่นี่เสียงดีนะ เราเป็นเด็กแม่ไม่ได้ถือสา เด็กหัวเท่ากำปั้น ฟังเสียงแม่ลำอยู่ข้างบน อยู่กระต๊อบอยู่นาแม่ลำ โอ้ แม่เสียงดีแม่ลำ ใครก็ชมเหมือนกัน เราเป็นเด็กแม่ไม่ถือสาแม่ไม่รู้ หัวเท่ากำปั้นนี่นึกว่าจะไม่รู้เรื่องของแม่ล่ะซี ทางนี้ก็คนนี่วะเด็กมันรู้ ตอนที่แม่ยังเป็นสาวอยู่ เราเล็ก ๆ อยู่แม่เคยลำยาว ๆ อยู่นะ เราก็ได้ชมเหมือนกัน โฮ้ แม่นี่เสียงเพราะ นี่เราพูดถึงเรื่องฆราวาส ตั้งแต่เป็นฆราวาสก็เป็นเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ทีนี้เวลามาบวชแล้วมันก็ไปทางธรรมไปเลย เรื่องนั้นก็เลิกไปเลยตั้งแต่นู้นจนกระทั่งป่านนี้เท่าไร บวชมานี้ก็ ๖๐ กว่าพรรษาแล้วนะ นี้ยังไม่เกิดก็มีเยอะเราบวชน่ะ ดูว่า ๖๗ พรรษานี่นะ จะ ๖๗ เต็มนี้วันที่ ๑๒ พฤษภา เราบวชวันที่ ๑๒ พฤษภา พ.ศ.๒๔๗๗ พอถึง พฤษภา วันที่ ๑๒ นี้ก็เต็ม ๖๗ ปีบวชนะ

นั่นละชีวิตของพระที่เกี่ยวพันกับศีลธรรมมาตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งป่านนี้ เป็นเวลา ๖๗ ปี นี่เรียกว่าเกี่ยวพันกับธรรมะล้วน ๆ มาเลยจนกระทั่งป่านนี้ละ ๖๗ ปี พอเข้าไปบวชเท่านั้นก็เปลี่ยนแปลงเป็นเพศของพระไปเลย พระท่านมีศีลมีธรรมยังไงเราก็ให้มีอย่างนั้นเสมอกันไปเลย ไม่ให้ต้องติเรื่องศีลเรื่องธรรมเรื่อยมา เรื่องฆ่าสัตว์ฆ่าอะไรจนกระทั่งป่านนี้ บวชมาได้ ๖๗ ปีนี้ ที่เราจะฆ่าสัตว์แม้ยุงตัวนึงที่ฆ่าด้วยเจตนานี้ไม่เคยมีเลย แต่เวลาเราลูบถูไปอะไรเกาไปอย่างนี้ไปถูกยุงมันตายนั้นมี เพราะเราไม่เห็นนี่

เช่นมันคัน ๆ เราก็เกาไปธรรมดา ที่ไหนได้คัน ยุงกัดอยู่นั้น เราไปเกาไปถูกมันจนเลือดแตกเลอะตายก็มี ก็เห็นอยู่ แต่เรื่องเจตนาของเราบริสุทธิ์ เราไม่มี เช่นอย่างฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไร ๆ ด้วยเจตนานี้เรียกว่าเราบริสุทธิ์เต็มที่ ไม่มีเลย เรื่องผิดเรื่องพลาดเพราะไม่เห็นไม่มีเจตนานั้นก็มีทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ เพราะว่ามันสุดวิสัย อันนั้นมี เช่น เหยียบมดเหยียบอะไรเราไม่เห็นมัน ถ้าลงเห็น โหย ใครจะไปเหยียบลง เหยียบไม่ลงนะ ก้าวลงไปกำลังจะเหยียบมดโดดผึงเลยพอมองเห็นไม่เหยียบ โดดผึงเลยข้ามเลย มันเป็นของมันเองนะ คือมันเคยชินอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าเจตนาอย่างนี้ไม่มี อบอุ่นตลอดมา

นั่นละใจได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยศีลด้วยธรรมมาตั้งแต่บัดนั้นละ เรื่องโลกก็พยายามปัดออก ๆ เพราะแต่ก่อนมันสั่งสมมันคลุกเคล้ากันมาตลอดเวลา แต่เวลาเข้าไปบวชแล้วก็เดินตามทางของศีลของธรรม อะไรที่เป็นข้าศึกต่อศีลต่อธรรมก็ปัดออกกวาดออกเรื่อย ๆ จนชินจนเคย เลยเป็นนิสัยไปเลย เช่นอย่างสัตว์นี้ ก้าวลงจะเหยียบสัตว์นี้โดดผึงเลยนะ พอก้าวลงจะเหยียบ แต่ก่อนไม่เห็น ก้าวลงจะไปเหยียบสัตว์ตัวหนึ่ง มดมองเห็นนี่ เหยียบไม่ลงนะ โดดข้ามผึงเลย มันเป็นของมันเองนะ ไม่ทราบว่าเจตนาหรือไม่เจตนา มันหากสะดุ้งของมันอย่างนั้น พอก้าวลงไปกำลังจะเหยียบนี้โดดผึงเลย ข้ามไปเหยียบทางนู้น เป็นอย่างนั้น นี่คือความเคยชินที่เราระวังรักษา

เพราะฉะนั้นจึงว่าเรื่องเจตนาที่จะทำลายสัตว์นี้จึงไม่ปรากฏเลย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่มี นี่คือความที่เราเคยรักษามามันก็ชินอย่างนั้นละนะ ไม่ว่าทำบาปทำบุญ ทำบาปก็เคยชินต่อบาป ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้ คนที่ฉกลักขโมยปล้นจี้นี้เป็นความเคยชินแล้ววันหนึ่งไม่ทำอยู่ไม่ได้ไม่สบายนะ คือทางบาปมันกล่อมไป มันชินไปทางบาป ต่ำไปเรื่อย ๆ ทีนี้เวลาพลิกมาทางที่ดีนี้ ทีแรกมันก็ฝืนไปฝืนมา ต่างคนต่างฝืนกัน อันหนึ่งมันเคยทำบาปมันจะฝืนอยากทำบาป ทีนี้เมื่อเวลามาทำทางดีแล้วก็ฝืนทำดี ต่อไปทางดีก็ชิน ๆ เรื่องทำบาปก็จางไป ๆ มันก็ไปของมัน มันอยู่กับการฝึกนะ

วันนี้พูดธรรมะให้พี่น้องทั้งหลายฟังไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ มันชิน ทุกอย่างมันชินได้ขอให้ฝึกหัดเถอะ ทีแรกมันก็ระเกะระกะ ๆ ครั้นต่อมามันก็ชิน นี่พูดถึงเรื่องฝึกใจ พี่น้องทั้งหลายเริ่มฟังนะ ทั้งพระทั้งประชาชนให้เริ่มฟังวิธีการฝึกหัดดัดแปลงใจของเรา ทีแรกเราฝึกหัดกายเสียก่อน ไม่ให้ทำบาปด้วยกาย วาจาก็ให้สำรวม นี่เป็นส่วนหยาบ จิตมันยังคิดเรื่องทำบาปทำกรรมได้สบาย ๆ แต่ทางกายทางวาจาไม่กล้าทำ แต่จิตมันคิดได้ทำได้ คิดทำบาปมันคิดอยู่ในใจ มันละเอียดกว่ากันอย่างนี้ละ ทีนี้เวลาฝึกไป ๆ มันก็ออกมาจากใจ ทำบาปฝืนใจ ต่อไปใจก็ค่อยหดเข้ามา ๆ ต่อศีลต่อธรรม ค่อยเชื่องต่อศีลต่อธรรม สนิทสนมกลมกลืนกับศีลกับธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ การสร้างบาปสร้างกรรมก็ค่อยจางไป ๆ จิตก็ค่อยมีความอบอุ่นเข้าไปโดยลำดับ นี่พูดถึงการฝึก เริ่มฝึกตั้งแต่ต้นมา เป็นมาอย่างนั้น

ทีนี้เวลาเราเข้าฝึกทางด้านจิตใจก็เหมือนกัน จิตใจนี้ไม่เคยมีอะไรผูกมัดมันไว้ได้เลย มันดีดมันดิ้นตลอดเวลาคือใจไม่มีเครื่องรักษา ไม่มีเครื่องผูกมัดมัน มันก็ดีดก็ดิ้นเต็มเพลงของมันนั่นแหละ ทีนี้เวลาเราพยายามฝึกทางด้านจิตตภาวนานี้ เป็นการฝึกจิตโดยตรง ต้องใช้สติ สติระมัดระวัง มันคิดไปทางแง่ใด ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นทางเสียทางบาปทางกรรม เราพยายามหักเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วความมุ่งมั่นในธรรมก็มุ่งมั่นหนักเข้า การสำรวมระวังไม่ให้คิดทางชั่วก็สำรวมระวังหนักเข้า ๆ เรื่อย ๆ ต่อมาจิตก็ค่อยเชื่องเข้ามา ๆ นี่การฝึก เพราะการฝึกของเจ้าของนั่นแหละ สติเป็นสำคัญ สติคือความระลึกรู้ว่าจะทำอะไร ถ้าสติอยู่กับตัวคนเราเรียกว่าไม่เผลอ มีความรู้ตัวอยู่อย่างนี้จะเขียนหนังสือก็เป็นตนเป็นตัวไม่ผิดไม่พลาด จะพูดจาอะไรอย่างนี้สติมีอยู่ก็ไม่ค่อยผิดพลาดไปได้มากนัก ครั้นต่อมาสติดีทุกอย่างก็ค่อยดีไปตาม สติเป็นสำคัญมากนะ

ทีนี้เวลาเข้ามาฝึกใจ ใจมันดีดมันดิ้น สติก็บังคับหนักเข้า ๆ เป็นภาระอันหนึ่งเหมือนกัน การที่จะนำสติเข้ามาบังคับความคิดไม่ให้คิดไม่ให้ปรุงในสิ่งไม่ควรก็ต้องใช้ประโยคพยายาม นี่เรียกว่าฝึก เมื่อใช้ไป ๆ สติก็ค่อยชำนิชำนาญคล่องตัวขึ้น การทำอะไรที่ขาดสติก็ค่อยลดน้อยลง ๆ เพราะสติมีกำลังมากขึ้น ควบคุมไว้ได้ ทีนี้เวลาเราเข้าภาวนาก็เหมือนกัน เวลาภาวนานี่ต้องใช้สติทั้งจดจ่อกับคำภาวนา การภาวนาใครจะใช้คำภาวนาคำใดก็ได้ เพราะเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจไว้ให้คิดให้รู้สึกอยู่กับคำภาวนาบทนั้น ๆ ที่ตนนำมาบริกรรม แล้วก็ให้มีสติจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมนั้น นี่ละวิธีฝึกหัดจิตให้เข้าสู่ความสงบ ต้องมีบทธรรมเป็นเครื่องเกาะเครื่องยึด ให้กำหนดเฉย ๆ อย่างนี้มันเลื่อนลอยไปได้ง่าย เพราะไม่มีที่ยึดที่เกาะเอาไว้ คำบริกรรมไม่มี

เรานึกเป็นความรู้สึก เช่น รู้อยู่กับใจเฉย ๆ รู้ได้ในขณะที่เรามีสติอยู่เฉพาะ ๆ นั้น สักเดี๋ยวพลาดไปแล้วเผลอไปแล้ว ถ้าตั้งหน้าตั้งตาบริกรรมด้วยสติจริง ๆ ไม่ได้เผลอง่าย ๆ นะ บังคับไว้ ๆ ยิ่งเวลาจะให้เข้าสู่ความสงบ สติจดจ่อต่อเนื่องตลอดเวลาไม่ให้เผลอไปไหน เป็นภาระสำคัญในเวลานั้น ภาระรักษาสติไม่ให้พรากจากคำบริกรรม ทีนี้คำว่าพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี หรือสังโฆก็ดี ก็จะชัดขึ้น ๆ กับสติที่จดจ่อรู้ ๆ พุทโธก็รู้พุทโธ ๆ ทีนี้ความรู้ก็มารวมอยู่กับคำว่าพุทโธ นี่ละร่างกายของเราทั้งร่างนี้ ความรู้นี้จะซ่านไปหมดเลย มันยังมีประสาทส่วนต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องใช้ของใจอีกด้วย เช่น ตา ประสาททางให้เห็นก็มี หูประสาททางให้ได้ยินก็มี ประสาททางให้ได้รู้ทางกลิ่นก็มี ประสาทให้รู้ทางรสของลิ้นก็มี ประสาทความรับรู้ในส่วนร่างกายที่มีสิ่งใดมาสัมผัสทั่วสรรพางค์ร่างกายก็มี นี่เป็นประสาทเครื่องมือของความรู้นั้น ที่จะนำความรู้นั้นมาใช้สิ่งเหล่านี้ ความรู้มันจึงมีซ่านไปหมดทั้งตัวเรา

ถ้าตาบอด เรียกว่าประสาทรับทราบทางตาก็หมดไปใช้ไม่ได้เลย หูหนวก ประสาทเครื่องมือที่ใช้ให้ได้ยินนี้ก็ดับไปหมดไป นี่เรียกว่าเครื่องมือเสีย ส่วนความรู้ดี ส่วนไหนที่ใช้ได้ก็ใช้ไป เช่น ตา หู ไม่ดี จมูกดี ลิ้นดี กายดี มันก็ใช้ทางนั้นไปเสีย อันไหนชำรุด เช่น คนตาบอดก็ไม่เห็น ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ใช้ได้ก็ใช้ไป ความรู้อันนี้ซ่านไปหมดทั้งร่างกายของเรา จากประสาทต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวข้องกับความรู้นี้ ซึ่งความรู้นี้จะใช้ไปทางไหนมันก็ไปของมัน นี่เรียกว่ากระแสของจิตออกไปตามประสาทส่วนต่าง ๆ  เพราะฉะนั้นคนเราจึงรู้หมดทั้งร่างกายเลย จะว่าจิตอยู่ที่ไหนบอกไม่ถูก สัมผัสที่ไหนมันก็รู้เสีย เพราะประสาทรับรู้มีอยู่ที่สัมผัสนั้น

เช่น มือ พอมาสัมผัสมือก็รู้เสีย สัมผัสนิ้วไหนมันก็รู้เสีย เพราะประสาทรับรู้มีอยู่กับทุกนิ้ว ทีนี้เราเลยจับไม่ได้ว่าความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ก็ต้องเหมาเอาหมดทั้งตัวว่า คนทั้งคนนี้แลคือใจ หรือใจเป็นคน คนเป็นใจไปเลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันไม่ใช่ ความรู้แท้นั้นเป็นจิตคือธรรมชาติอันหนึ่งเรียกว่านามธรรม รู้อยู่ภายในร่างกาย ซ่านออกไปตามเครื่องมือประสาทต่าง ๆ ที่สำหรับรับใช้ใจ มันจึงรู้รอบไปหมดในร่างกายของเรา ให้พากันเข้าใจอย่างนั้นนะ ทีนี้เราก็จับไม่ได้ว่าใจแท้คืออะไร มันก็เลยเหมาเอาหมดทั้งตัวนี้ว่าเป็นใจไปเสีย ไม่ทราบว่าใจแท้อยู่ที่ไหน

ทีนี้เวลาเรามาภาวนามันชัดกันตรงนี้นะ เวลามาภาวนา ภาวนาหลายครั้งหลายหนด้วยความมีสติ เช่น กำหนดลมหายใจอานาปานสติ ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ รู้อยู่กับลมที่เข้าออกเท่านั้น ต่อไปความรู้นี้ก็มาจ่ออยู่กับลม ความรู้ก็เด่นขึ้นที่ลม ๆ จากลมแล้วก็เข้าสู่ความสงบ ความรู้มาเด่นอยู่กับคำบริกรรม จากบริกรรมแล้วก็เป็นความสงบ เช่น พุทโธ ๆ คำว่าพุทโธกับความรู้นี้เลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน แล้วคำว่าพุทโธเลยหายไป เหลือแต่ความรู้ที่เด่น

นี่แหละที่นี่ความรู้รวมตัว รู้อยู่ตรงนั้นเท่านั้น ข้างบนก็ไม่ไป ข้างล่างก็ไม่ไป ที่ไหนไม่ไป เช่น  สมองอย่างนี้ ความรู้อยู่ที่สมองอย่างนี้มันก็หมดปัญหาไป เมื่อความรู้เข้ามาสู่จุดเด่นมันก็อยู่ในท่ามกลางอกเรานี่เสีย ข้างล่างก็ไม่ใช่ความรู้ คือจิตไม่อยู่ เช่น ทางฝ่าเท้าเรา แขนขาอะไรอย่างนี้ ความรู้ไม่ไปอยู่ จุดกลางของความรู้อยู่ที่ทรวงอกของเรา มันก็รู้ได้เองนะ คือไม่ต้องไปถามใคร เวลาสงบเข้ามา ๆ มากน้อยก็สงบเย็นอยู่ที่ทรวงอกของเรานี้ ท่ามกลางนี้ นี่เป็นจุดของผู้รู้แท้ อยู่ที่นี่ สมองก็ไม่ขึ้น สมองไม่ไปเกี่ยวข้องกันเลย สงบมากน้อยเพียงไร สว่างไสวภายในใจก็มาสว่างไสวอยู่ที่ทรวงอกนี้เสีย

นี่ละทีนี้ความรู้เริ่มรวมตัวนะ เราจะทราบได้ชัดที่นี่ ว่าร่างกายเหล่านั้นเป็นภาชนะสำหรับรับความรู้นี้ไว้ ไม่ใช่ความรู้แท้ เป็นภาชนะสำหรับรับความรู้นี้ ความรู้นี้อยู่ในท่ามกลางภาชนะ คือท่ามกลางแห่งร่างกายนี้แล มันก็ค่อยเด่นเข้าไปอย่างนี้ เด่นเข้าไปความรู้นี้จะแสดงความแน่นหนามั่นคง ความรู้เด่นขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วก็สว่างไสวภายในความรู้เอง ร่างกายไม่สว่าง แต่ความรู้อยู่ในท่ามกลางหัวอกนี้สว่าง นั่นมันเห็นอย่างนั้นนะ ข้างบนข้างล่างไม่สว่าง มาสว่างอยู่ที่ท่ามกลางหัวอกที่ผู้รู้อยู่นั้นแล ผู้รู้อยู่ที่นั่น มันสว่างขึ้นมา ๆ

จากนั้นกำลังของการภาวนาของเราอบรมจิตใจของเรามีความหนาแน่นขึ้นไป ความสงบนี้จะกลายเป็นความสงบที่แน่นหนามั่นคงขึ้น ที่ท่านเรียกว่าสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ก็ได้แก่ฐานของจิตที่มั่นคงนั้นแล รู้อยู่ด้วยความมั่นคง ไม่โยกไม่คลอนไปไหน นี่คือความรู้นี้เด่น เวลาเด่นขึ้นมาก ๆ ในตัวของเราจะมีแต่ความรู้ที่เด่นนี้เต็มตัวเลย ร่างกายเป็นอันหนึ่ง ความรู้อยู่ในท่ามกลางนี้เป็นอันหนึ่ง ๆ ไปที่ไหนมันก็รู้ชัด ๆ อยู่อย่างนั้น นี่เรียกว่าความรู้รวมตัว ในขั้นสมาธิก็รู้ได้อย่างชัดเจนว่านี้คือใจ เหล่านั้นคือร่างกาย เป็นภาชนะของใจต่างหาก ไม่ใช่ใจมันก็รู้

นี่วิธีสำรวมใจให้รู้ตัวจริงของใจแท้คืออะไร ต้องสำรวมต้องปฏิบัติด้วยจิตตภาวนา อย่างอื่นไม่ได้นะ มีจิตตภาวนาซึ่งเป็นทางดำเนินที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินและรู้เห็นมาแล้ว และมาสอนพวกเรา จิตมันก็เด่นขึ้นที่นั่น ๆ ทีนี้เวลามันเด่นจริง ๆ แล้วสมาธินี้เวลาเต็มที่แล้วเรียกว่าสมาธิเต็มภูมิ ความรู้ในขั้นสมาธินี้เต็มตัว ให้เลยนั้นไม่เลย เหมือนน้ำเต็มแก้ว จะเป็นแก้วเล็กแก้วใหญ่เมื่อเต็มแก้วแล้ว เอาน้ำที่ไหนมาเทก็ล้นไหลออกไปหมด ไม่อยู่ อยู่เฉพาะภายในขอบปากแก้วเท่านั้น เรียกว่าสมาธิเต็มภูมิ นั่นจิตเวลาถึงขั้นนี้แล้วมันก็อิ่มของมัน อิ่มเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป ไม่ได้หิวเหมือนกิเลสนะ

พอจิตรวมเข้าไปสงบตัว หรือเวลาจิตเป็นสมาธิอันเป็นพื้นฐานดีอยู่แล้ว รวมไม่รวมมันก็มีความมั่นคงอยู่กับตัวเอง เด่นอยู่ด้วยความรู้ นี่เรียกว่าเราอบรมได้ขั้นหนึ่ง ๆ ขึ้นมา จากนั้นแล้วทีนี้ออกทางด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ โอ๋ย พูดไม่ถูกนะ ปัญญานี้ฉลาดแหลมคมรอบตัว ๆ เวลาอยู่ในสมาธิก็เหมือนน้ำอยู่ในแก้ว ทีนี้พอออกจากสมาธิเป็นปัญญาแล้ว เหมือนกับน้ำที่ไหลซ่านไปทุกแห่งทุกหน มันออกจากนี้แล้วเป็นปัญญา เหมือนกับน้ำมันไหลมันบ่าไปทุกแห่งทุกหนได้ไปหมดเลย กระจายออกไป ๆ กว้างขวางออกไป จิตมีความผ่องใสสง่างามขึ้นเรื่อย ๆ แพรวพราว ๆ สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้ความเห็นจะเกิดขึ้นทางด้านปัญญานี้แหละ สำหรับสมาธิเกิดตามภูมิของตัวเองไม่กว้างขวางอะไรมากนัก แต่ภูมิของปัญญานี้กว้างขวางด้วย ถอดถอนกิเลสไปโดยลำดับลำดาด้วย ไม่ใช่รู้เฉย ๆ  ถอดถอนกิเลสไปด้วย ๆ

ทีนี้จิตก็ยิ่งแม่นยำเข้าไป ๆ ปรากฏจิตล้วน ๆ ละที่นี่นะ จิตนี้ครองร่าง ร่างกายนี้หมดความหมายไปแล้ว ที่มาเข้าใจว่าเป็นจิตไม่เป็นแล้ว ก็ซ่านเข้าไป ๆ นี่การฝึกจิตให้มีความฉลาดรอบคอบให้เป็นตัวของตัวขึ้นมาจากการภาวนา เวลาจิตเข้าขั้นปัญญาแล้วนี้ ปัญญาก็มีหลายขั้นอีกแหละ ปัญญาขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ปัญญาขั้นหยาบความรู้เต็มภูมิของขั้นนี้ ขั้นกลางเต็มภูมิของขั้นกลาง ขั้นละเอียดซ่านไปหมดเลย ปัญญาไม่มีขอบมีเขต ปัญญานี้กว้างขวางมากที่สุดเลย ทะลุปรุโปร่งไปหมด ๆ นี่เรียกว่าปัญญา ยิ่งจากนั้นแล้วยังปัญญาญาณอีก ยังซึมซาบไปอีก ไปที่ไหน ๆ มันรู้มันเห็นไปหมด

อย่างที่เรารู้กันทั่วโลกนี้นะ เช่น แผ่นดินทั้งแผ่นนี้มันหนาแน่นไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง รวมแล้วเรียกว่าแผ่นดิน ตาเรามองเห็นนี้ก็จะไปโดนแต่แผ่นดิน ทะลุไปไม่ได้นะ แต่ใจนี้ไม่ใช่วิสัยกันกับแผ่นดิน แผ่นดินนี้เป็นด้านวัตถุ จะมีมากมีน้อยก็เป็นด้านวัตถุ เข้ากันไม่ได้กับใจซึ่งเป็นด้านนามธรรมล้วน ๆ ทีนี้พอใจเป็นตัวของตัวขึ้นมา เป็นด้านนามธรรมล้วน ๆ แล้วจะทะลุไปหมดเลย ไม่มีคำว่าดินฟ้าอากาศต้นไม้ภูเขา ไม่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์จิตได้เลย

ความรู้นี้จะเป็นความรู้ล้วน ๆ เป็นนามธรรมล้วน ๆ พุ่งไปตามวิสัยของความรู้ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวัตถุต่าง ๆ ต้นไม้ภูเขาแม่น้ำมหาสมุทรทะเลหลวงไม่มีความหมายเลย ทะลุไปหมดเลย สิ่งเหล่านี้ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้นั้นเลย ประหนึ่งว่าโลกนี้ว่างเปล่าไปหมดเลย เหลือแต่ความรู้ของจิตที่มันซ่านครอบโลกธาตุไปเท่านั้น นั่นอำนาจของจิต เวลามีเต็มตัวแล้ว สิ่งวัตถุทั้งหลายนี้ไม่มีความหมายที่จะมากั้นกางไม่ให้ความรู้นี้ออกทำหน้าที่เต็มความสามารถของตนนั้นเป็นไปไม่ได้เลย จิตดวงนี้จะออกทำหน้าที่โดยไม่เกี่ยวกับวัตถุมากน้อยเพียงไรเลย จะพุ่ง ๆ ไป

แล้ววิสัยของจิตนี้ที่ควรแก่สิ่งใด สำหรับต้นไม้ภูเขาซึ่งเป็นด้านวัตถุนั้น ไม่เป็นของคู่ควรกันกับความรู้อันนี้ ที่จะเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์หรือว่าไปติดไปข้องแวะกัน จิตดวงนี้จะทะลุออกไปหมด สิ่งเหล่านั้นประหนึ่งว่าไม่มี ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่นั้นแล แต่จิตมันทะลุออกไปเสียหมด ไม่มีเลยต้นไม้ภูเขา ว่างเปล่าไปหมด ดังที่ท่านแสดงไว้แก่พระโมฆราชว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ  โมฆราช สทา สโต

อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ                       เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา

เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ                       มจฺจุราชา น ปสฺสติ

ดูก่อน โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกนี้ให้เป็นของว่างเปล่า สูญเปล่า ถอนอัตตานุทิฏฐิความสำคัญเห็นว่าเป็นตนเป็นตัวเป็นเราเป็นเขาเสีย แล้วจะพึงข้ามพ้นจากพญามัจจุราชคือความตายไปได้ พญามัจจุราชจะมองไม่เห็นผู้พิจารณาโลกให้เป็นของสูญเปล่าอยู่อย่างนี้ นี่แปลออกว่างั้น

คือจิตเวลามันว่าง-มันว่างจริง ๆ มันว่างไปหมดเลย อะไรจะมีเท่าไรมันไม่ได้มาเป็นวิสัยของกันที่จะมาติดมาข้องกับวัตถุต่าง ๆ มันจะทะลุของมันออกไปหมดตามวิสัยของจิต ทีนี้วิสัยของจิตเป็นนามธรรม ไม่เป็นตนเป็นตัวเป็นวัตถุ เป็นนามธรรม อันใดที่เป็นนามธรรมนั้นละที่นี่จะเข้าสัมผัสกัน ต้นไม้ภูเขาหนาแน่นขนาดไหนมันจะไม่สัมผัสไม่ไปเกี่ยวข้อง เพราะพวกนี้ไม่เป็นผู้รับบุญรับบาป ไม่ทราบบุญทราบบาป ต้นไม้ภูเขาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นด้านวัตถุเหล่านี้ ไม่เป็นผู้รับบาปรับบุญ รู้บาปรู้บุญ ไม่เหมือนใจต่อใจที่เป็นนามธรรมด้วยกัน

ใจต่อใจที่เป็นนามธรรมด้วยกันคือยังไง คือจิตนี้มันจะพุ่งทะลุถึงจิตวิญญาณทั้งหลายซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกัน พวกบาปก็เป็นนามธรรม บุญเป็นนามธรรม มันจะสัมผัสมันจะรู้กัน ๆ อันนี้นะ แล้วจากนั้นไปพวกเปรตพวกผีพวกสัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั่วแดนโลกธาตุ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีวิญญาณเป็นนามธรรมด้วยกัน มันจะเข้าสัมผัสสัมพันธ์รับรู้ ๆ กัน จนกระทั่งถึงบาปบุญนรกสวรรค์ เป็นนามธรรมด้วยกัน จิตมันจะพุ่งทะลุเข้าถึงหมด เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมจนกระทั่งนิพพาน จิตดวงนี้จะเข้าประสานไปได้หมดเลย นั่นละเรียกว่าวิสัยของจิตเป็นนามธรรม

สิ่งเหล่านั้นเป็นนามธรรม เข้าถึงกันได้สนิท แต่ส่วนวัตถุนี้จะมากน้อยเพียงไรไม่มีความหมายกับจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ไม่ไปข้องไปแวะ จะทะลุถึงสิ่งที่เป็นวิสัยของกันและกัน ที่จะรับทราบซึ่งกันและกันได้ เช่น ท่านมองเห็นเปรตเห็นผีเห็นสัตว์นรก เห็นนรก สวรรค์ พรหมโลก ตลอดเปรตผีต่าง ๆ คือจิตที่เป็นนามธรรมนี้แล สิ่งเหล่านั้นก็เป็นนามธรรมมันวิ่งประสานกันทันที ๆ รู้กัน นั่นละวิสัยของจิตเป็นอย่างนี้ เราจะเอาอันอื่นไปแทนจิต ให้ทำหน้าที่เหมือนจิตนี้ทำไม่ได้ ต้นไม้ภูเขาก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ไปทำหน้าที่เห็นบาปเห็นบุญเห็นนรกเห็นสวรรค์ไม่ได้เลย มีจิตนี่เท่านั้นที่จะเข้าไปรู้ไปเห็นได้

จิตจึงไม่มีวัตถุใดที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ทะลุไปหมด ๆ แผ่นดินทั้งแผ่นนี้เรียกว่าเล็กไป มากกว่านี้ก็ทะลุไปได้ เพราะวิสัยของจิตซึ่งเป็นนามธรรม แล้วจิตวิญญาณของสัตวโลกมีประมาณที่ไหน มันเข้าถึงกันได้หมดเลย เพราะเป็นวิสัยของกันและกัน นี่ละเรื่องจิตเวลามันแตกแขนงออกไปมันรู้แล้วรู้อย่างนั้นนะ แต่ก่อนที่เราไม่เคยปฏิบัติไม่เคยรู้ มันก็รู้อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี้แหละ ไม่มีใครแปลกต่างกัน เห็นก็เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สิ่งที่รู้ภายในใจอย่างที่ท่านแสดงนี้มันไม่เห็นไม่รู้ แต่เวลาเป็นวิสัยของใจ ปรับปรุงจิตใจให้เหมาะสมแล้ว กับสิ่งที่จะรู้จะเห็นจะสัมผัสสัมพันธ์กันนั้นปิดไม่อยู่ มันจะถึงกันเลย ๆ เป็นหลักธรรมชาติ

บรรดาพระพุทธเจ้าพระสาวกทั้งหลายท่านไม่สงสัยกัน เพราะเป็นธรรมชาติเหมือนกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน นั่นเป็นอย่างนั้น ต่างกัน ใจจึงว่าเป็นธรรมชาติที่ลึกลับมากที่สุด ไม่มีอะไรจะไปคาดไปเดาได้เลย ต้องเป็นภาคปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมาในใจ ความจริงนี้ออกสู่ที่ไหนซึ่งเป็นความจริงด้วยกันแล้วมันจะเข้าถึงกันหมด ๆ นี่ละพระพุทธเจ้านำธรรมมาสอนโลก ท่านนำมาแบบงู ๆ ปลา ๆ ลูบ ๆ คลำ ๆ ที่ไหน ว่าบาป ท่านก็เห็นประจักษ์ในใจของท่าน บาปก็เป็นนามธรรมด้วยกัน จิตก็เป็นนามธรรม เป็นวิสัยซึ่งจะรู้จะเห็นกันได้ชัดเจน บุญก็เหมือนกัน นรก สวรรค์ เหล่านี้เป็นนามธรรม พวกเปรตพวกผีพวกสัตว์นรกอเวจีชั้นไหน ๆ ก็ตาม ประเภทเหล่านี้เป็นนามธรรม สมควรกันกับจิตที่เป็นนามธรรมด้วยกัน มันก็รู้ก็เห็นสัมผัสสัมพันธ์ แล้วนำมาสั่งสอนโลกได้อย่างจะแจ้งชัดเจนไม่สงสัย เพราะท่านไปเห็นอย่างนั้น ท่านรู้อย่างนั้น ท่านนำมาสอนจะผิดไปไหน ไม่ผิด

ไอ้ที่ผู้ไม่รู้ไม่เห็นนั่นซีไปลบล้างว่าไม่มีไม่เป็น บาปไม่มีบุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี มันว่าเอาด้วยความมืดบอดนี่นะ พระพุทธเจ้าแสดงออกมาด้วยความจะแจ้งโดยพระญาณหยั่งทราบ ต่างกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายถึงได้ล่มจมเพราะหลงกลกิเลส ที่ไปลบล้างว่าบาปบุญนรกสวรรค์ไม่มี แล้วก็สร้างแต่บาปแต่กรรมเข้าสู่หัวใจ ทีนี้หัวใจมันเป็นนามธรรมล่ะซี บาปบุญก็เป็นนามธรรม เหมาะสมกัน เข้าถึงกันได้ บรรจุในหัวใจได้ทั้งบาปทั้งบุญ ครั้นเวลาตายแล้วบาปบุญกับใจมันก็เข้าไปด้วย ทีนี้บาปบุญกับใจกับสถานที่ชั่วช้าลามกกับสถานที่ดีทั้งหลาย เช่น นรก เอ้า ผู้ทำบาปมันก็ลงนรกได้ ผู้ทำบุญก็ไปสวรรค์ได้ มันเหมาะสมกันอยู่อย่างนั้นจะว่ายังไง แล้วเราจะไปลบล้างไม่ให้มีได้ยังไง

บาปก็เป็นนามธรรม ทำลงไปแล้วก็เข้าสู่ใจ ไสหัวใจลงนรกซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกัน เป็นวิสัยของกันและกันได้ ผู้สร้างบุญก็เหมือนกัน บุญก็เป็นนามธรรมกับใจเหมาะสมกันเรียบร้อยแล้ว ตายแล้วไม่ต้องไปหาใครมาบอก บุญเป็นวิบากกรรมอันดีนั้นหนุนไปเลย ๆ ถึงที่เลย นี่ละเป็นวิสัยของกันและกันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านรู้อย่างนั้นนะ ท่านไม่ได้มาลูบ ๆ คลำ ๆ สอนพวกเราว่า นรกปั้นขึ้นมาหลอกสัตว์เหมือนเขียนเสือหลอกวัว ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เขียนเสือหลอกวัวนะ เห็นจริง ๆ รู้จริง ๆ มาบอกตามความจริงนั้นตามสัดตามส่วนของความชั่วความดีทั้งหลาย กิเลสมันตัวปลอมมันต้องติดตามตลอด ลบล้างอยู่ตลอดเวลา

ดังที่ท่านแสดงไว้มีในคัมภีร์ พญามาร อันนี้เราก็ทราบมาแล้ว มารทั้งหลายก็มีพญามีหัวหน้ามารเหมือนกัน ทีนี้พระโคธิกะท่านเจริญฌานเจริญสมาธิภาวนานี้เสื่อม เจริญแล้วเสื่อม เจริญขึ้นได้แล้วเสื่อมลง เจริญขึ้นอีกแล้วเสื่อมลง ถึงห้าหนฟังซิ ท่านเสียอกเสียใจ อันนี้ก็เป็นเครื่องเทียบกันได้กับหลวงตาเองที่สมาธิเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ๆ แหม เข็ดหลาบสุดหัวใจเลย เป็นสักขีพยานกันได้ สมาธิท่านก็เจริญแล้วเสื่อม ๆ ถึงห้าหน แต่เรานี้มันมากกว่านั้น ปีกว่าจิตของเราที่เสื่อมจากสมาธิ เวลาเจริญขึ้นไปถึงขั้นควรจะอยู่ไม่อยู่ สามวันสี่วันเสื่อมลงมาต่อหน้าต่อตา แล้วพยายามพยุงขึ้น กว่าจะถึงจุดนั้นก็ตั้ง ๑๔-๑๕ วัน ครั้นขึ้นไปแล้วอยู่ได้สองสามวันกลับเสื่อมลงมาต่อหน้าต่อตา นี้เรียกว่าสมาธิเสื่อม

เรานี้เสื่อมมากกว่าท่าน ท่านเสื่อมเพียงห้าหนพระโคธิกะ ในตำราบอกไว้ ถ้าจำไม่ผิดว่าห้าหน ไอ้เรานี้เสื่อมปีกว่า เสื่อมตั้งแต่เริ่มเดือนพฤศจิกา จนกระทั่งเดือนเมษาปีหน้าโน้น ปีกว่าว่าไง นี่ละเกิดความสะทกสะเทือนใจเข็ดหลาบความทุกข์ความทรมานในเวลาจิตเสื่อมจากสมาธินี้แหม ทุกข์เอามากทีเดียว นี่ละเรามาพูดเป็นข้อเทียบเคียงว่ายืนยันกันได้ ทีนี้พอถึงครั้งที่หกนี้ท่านทนไม่ไหว จะทนเสื่อมแล้วแบกกองทุกข์ต่อไปอีกนี้ไม่ไหว เลยเอามีดโกนมาเชือดคอเลยนะ ฟังซิ พอเอามีดโกนเชือดคอตอนนี้ตำราท่านแสดงไว้ไม่ชัดนักนะ แต่เราก็เล็งเอาความจริงที่ขาดวรรคขาดตอนอยู่นิด ๆ เพราะได้อ่านมาอย่างนั้นนี่ ไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ก็ไม่เคลื่อนจากความจริง เราจึงได้นำอันนี้มาแสดง

พอเอามีดโกนเฉือนคอเลือดทะลักออกมา ท่านมีอุปนิสัยของท่านอยู่นะ เลือดทะลักออกมาท่านเลยปลงธรรมสังเวชในเลือด พิจารณาเป็นกรรมฐานเป็นธรรมขึ้นที่นั่น บรรลุธรรมปึ๋งในขณะนั้นก่อนจะขาดใจตายนะ ก่อนท่านจะสิ้นลมท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในขณะนั้น แล้วนิพพานไปพร้อมกันกับขณะนั้นเลย ทีนี้พอท่านนิพพานไปแล้ว พญามารอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบแหละ มาคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะ ฟังซิจิตวิญญาณของโลกนั้นมีมากขนาดไหน มันยังไม่พอกับความต้องการของมันที่จะครอบครองให้หมด เพียงจิตวิญญาณของพระโคธิกะดวงเดียวเล็ดลอดออกไปจากอำนาจของมันเท่านั้นมันยังไม่ยอม มันยังตามคุ้ยเขี่ยขุดค้นแสดงฤทธิ์เดชเมฆมืดมัวไปหมด ท้องฟ้าอากาศมืดมัวไปหมดจนมองหาอะไรไม่เห็น นู่นน่ะขนาดนั้นนะฤทธิ์ของพญามาร

มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงเล็งเห็น โถ มารนี้แสดงฤทธิ์เดชเอาเหลือประมาณ จิตวิญญาณของพระโคธิกะที่เล็ดลอดออกไปจากอำนาจของมาร เพราะเธอเป็นพระอรหันต์แล้ว พ้นวิสัยของมารที่จะตามควบคุมได้แล้ว แม้เช่นนั้นพญามารยังไม่ยอม ยังคุ้ยเขี่ยขุดค้นจะตามหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะให้ได้ ตามที่ไหนมันก็ไม่ได้ซีมันสุดวิสัย พระพุทธเจ้าจึงกำราบปราบปรามลงมาว่า พญามาร เธอจะคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะซึ่งเป็นลูกของเราตถาคตนั้น ให้เธอคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจนกระทั่งวันตายเธอก็ไม่มีวันเจอ ว่าอย่างนี้นะ เพราะพระโคธิกะนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พ้นวิสัยของเธอไปแล้ว ค้นจนกระทั่งวันเธอตายก็ไม่เจอ

นี่แสดงให้เห็นว่า เป็นยังไงพญามาร มันพอไหม จิตวิญญาณของสัตวโลกเต็มอยู่นี้ซึ่งอยู่ในอำนาจของมันควบคุมมันยังไม่พอ จิตวิญญาณดวงเดียวเท่านั้นผ่านไป คือพระโคธิกะบรรลุธรรมพ้นจากวิสัยของมารแล้ว มันยังต้องตามติดจนกระทั่งพระพุทธเจ้าได้ปรามเอาบ้าง นี่ได้ยกมาเป็นคติ เราพูดเรื่องอะไรเราก็ลืมแล้วนะ มันลืมเงื่อนต้นเงื่อนปลายอย่างนี้ มาถึงพระโคธิกะนี่ พูดถึงเรื่องจิตมันเจริญมันเสื่อม แล้วมาพูดเรื่องอะไรมันก็ลืมเสียอย่างนี้ ต้องขออภัยจากพี่น้องทั้งหลายนะ เวลานี้ความจำเสื่อมมาก เราจะพูดได้เฉพาะที่มันระลึกได้ ตอนไหนที่มันหายไปก็ให้มันหายไปเสีย ไม่ต้องตามค้นหามันละ เราไม่ใช่พญามารนี่วะ มันหายไปไหนมันไปเสีย นี่พูดถึงเรื่องอะไรลืมแล้วนะ ใครจำได้ไหม เงื่อนต่อมียังไง มันมีเงื่อนต่ออยู่นะ พูดมันลืมยังงั้นแหละลืมเงื่อนต่อ พอมาถึงนี้แล้วหายไปเลย ไม่ทราบเอาไหนมาต่อละ ธรรมดามันมีเงื่อนของมันมาต่อเข้าตรงนี้แล้วมันก็ออกไป (พูดถึงเรื่องจิตเจริญแล้วเสื่อมครับ)

เออ พูดเรื่องจิตเจริญแล้วเสื่อมนี้เป็นทุกข์มากทีเดียวนะ นี่ละที่มันมาเป็นพยานกับเรานะ พอตั้งจิตได้คราวนี้แล้ว มันจะเป็นได้นะเราก็แน่ใจในนิสัยของเราด้วย คือจริงจังทุกอย่าง เด็ด ถึงคราวเด็ด-เด็ดจริง ๆ มันก็จะมาเป็นพยานกันได้อยู่ในเรื่องที่ว่า ทุกข์ทรมานแสนสาหัสนี้ได้แก่ฌานเสื่อม สมาธิเสื่อม เราเสื่อมมาปีกว่านี้แหม เหมือนฟืนเหมือนไฟเผาหัวอกตลอดเวลา อยู่ที่ไหนหาความสุขไม่ได้เลยเพราะเสียดาย เวลาเจริญขึ้นมานี้มันมีคุณค่ามีราคา อัศจรรย์ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มอยู่นั้นหมด ทีนี้เสื่อมไปเสียไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลยนี้ ความเสียใจจึงคับหัวอกตลอดเวลา สุมตลอด ทีนี้เวลามันเจริญขึ้นมาคราวนี้ เราพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหาอุบายวิธีการที่จะให้จิตเจริญแล้วไม่เสื่อม ทีนี้ยอมรับกันกับพุทโธที่ว่านี่

นี่หมายถึงการตั้งสติเฉย ๆ กับความรู้นี้มีทางเสื่อมได้ เราเคยตั้งไว้แล้วและเสื่อมไป ๆ อย่างนี้ เราจึงพลิกใหม่ คราวนี้อะไรจะเสื่อมอะไรจะเจริญก็ตาม เราทำมาทุกวิถีทางแล้วมันไม่สมใจ คราวนี้เราจะมอบอยู่กับพุทโธเท่านั้น เราเป็นก็ตามตายก็ตามเราจะบริกรรมพุทโธนี้ไม่ให้เผลอ พุทโธ ๆ ให้ติดแนบกับใจ มันจะเสื่อมให้เสื่อมไปเพราะเคยเสื่อมมามากต่อมากแล้วห้ามไม่อยู่ มันจะเจริญก็ให้เจริญไป แต่ยังไงก็ตามคำว่าพุทโธจะไม่ปล่อย อะไรจะเสื่อมจะเจริญไปไหนไม่สนใจ แต่พุทโธจะไม่ปล่อย จึงยึดพุทโธไว้เป็นหลักเกณฑ์ ไม่สนใจว่ามันจะเสื่อมมันจะเจริญไปไหน เพราะทอดอาลัยตายอยากหมดแล้ว

ทีนี้ก็อยู่กับพุทโธ ตั้งพุทโธไม่ให้เผลอเลยตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จะไม่ยอมให้เผลอเป็นอันขาด อยู่กับพุทโธ เหมือนติดคุกติดตะราง แล้วหนักกว่านั้นอีกนะ ตั้งไม่หยุดตั้งพุทโธ จนกระทั่งรู้ได้ชัด เวลาตั้งพุทโธไปนาน ๆ หลายวันเข้าไป แต่ก่อนมันเสื่อม ๆ ตั้งพุทโธไว้นาน ๆ เข้ามันก็ตั้งหลักได้กับพุทโธ ทีนี้เมื่อตั้งหลักได้แล้วจิตก็สงบ จิตสงบเข้าไปพุทโธก็ไม่ปล่อย ๆ พอถึงขั้นละเอียดจริง ๆ แล้วพุทโธนี้หายไปเลยไปเป็นผู้รู้เสียทั้งหมด ผู้รู้นี่ละเอียดลออมากทีเดียว แต่พุทโธหายไป เกิดความสงสัยสนเท่ห์ อ้าว แต่ก่อนเราอาศัยพุทโธ เป็นตายฝากไว้กับพุทโธ แล้วทีนี้พุทโธหายไปแล้วเราจะทำยังไง

ทีนี้คำว่าพุทโธหาย ความรู้นั้นไม่หายล่ะซี ความรู้ยิ่งเด่นยิ่งละเอียดลออ ความจริงก็คือพุทโธกลายไปเป็นความรู้แล้ว และจับความรู้นี้ไว้ไม่ยอมปล่อยความรู้ ให้อยู่กับความรู้ สติตั้งอยู่กับความรู้ แต่ก่อนตั้งอยู่กับพุทโธ เมื่อพุทโธกลมกลืนกันกับความรู้เป็นอันเดียวกันแล้วไม่ปรากฏเป็นพุทโธ เราก็ตั้งสติไว้กับจุดผู้รู้นั้น ทีนี้พอมันคลี่คลายออกมาพอบริกรรมพุทโธได้ เอาพุทโธเข้าไปอีกทำไปต่อไป เจริญขึ้น ๆ แน่นหนามั่นคงขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นที่เจริญแล้วได้สามวันสี่วันเสื่อมลง แต่คราวนี้ไม่เสื่อม เอ้า จะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป เราไม่เป็นกังวลไม่อาลัยเสียดายกับมัน เพราะเคยอาลัยแล้วไม่สมหวัง คราวนี้จะไม่ปล่อยพุทโธ เป็นกับตายจะอยู่กับพุทโธ จับพุทโธติดตลอดไปเลย

ทีนี้พอเจริญถึงขั้นนั้นแล้วมันก็ไม่เสื่อม ไม่เสื่อมไปเรื่อย ๆ จึงมาจับต้นเหตุมันได้ว่า อ๋อ ที่จิตของเราเคยเจริญแล้วเสื่อม ๆ เพราะเราไม่มีหลักยึดได้แก่พุทโธเป็นคำบริกรรมเป็นข้อกำกับเอาไว้ต่างหาก เมื่อมีพุทโธเกาะติดกับสติอยู่แล้วมันไม่เสื่อมอย่างนี้ มันจับได้ชัด เพราะฉะนั้นจึงได้นำอุบายเหล่านี้มาสั่งสอนหมู่เพื่อน เราดำเนินมาแล้ว ผลได้ผลเสียเราเจอมาเสียจนอกจะแตกแล้ว จึงมาสอน แน่ใจว่าไม่ผิดเพราะเราได้ทดสอบทุกอย่างแล้ว ทีนี้จากนั้นแล้วจิตมันก็แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อย ๆ ความเสื่อมไม่ปรากฏ มีแต่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยจนถึงขั้นปัญญา

ปัญญาก็แก่กล้าสามารถเป็นลำดับ ทุกขั้นทุกภูมิที่เราไม่เคยเห็นในคัมภีร์ เราเรียนมาเหมือนกัน ปัญญาในคัมภีร์กับปัญญาในความจริงกว้างขวางลึกซึ้งต่างกันมากทีเดียว ปัญญาในคัมภีร์ท่านจะบอกไว้เป็นกลาง ๆ เท่านั้น แต่ปัญญาในความจริงที่เกิดขึ้นรู้ขึ้นจากการปฏิบัติของเรา แตกกระจัดกระจายนี้ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ว่าลึกตื้นหยาบละเอียดพิสดารไปด้วยกันทั้งหมด นี่คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินี้เป็นปัญญาพิสดารมากทีเดียว ส่วนปัญญาที่เราเรียนตามคัมภีร์นั้นก็เป็นกลาง ๆ ไปเสีย ไม่ยิ่งกว่านั้น ผิวเผินถ้าจะเทียบกับปัญญาที่เรารู้เราเป็นขึ้นภายในใจของเราแล้ว ผิวเผินมากทางด้านปริยัติทางด้านปัญญาในคัมภีร์

ด้านปัญญาของภาคปฏิบัตินี้หนักแน่นมั่นคง รู้อะไรเห็นอะไรหายสงสัย ๆ นั่นแหละปัญญาขั้นนี้แหละเป็นปัญญาที่ท่านแก้กิเลส ปัญญาขั้นภาคปฏิบัตินี้เรียกว่าปัญญาความจริง รู้จริง ๆ เห็นจริง ๆ ละได้จริง ๆ เป็นลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดของปัญญา กิเลสละเอียดเข้าไป ปัญญาตามติดถึงกันหมด ๆ จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปปัญญาก็เป็นอันว่ายุติเพราะไม่มีอะไรจะเผาจะไหม้กัน ถึงจุดสุดท้ายก็หมดปัญหาไปโดยสิ้นเชิง ด้วยปัญญาภายในใจที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินี้แล เพราะฉะนั้นถึงว่าธรรมประเภทใดก็ตามถ้าเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินี้แล้วแม่นยำมาก ไม่สงสัยไม่สนเท่ห์ไม่ลูบไม่คลำ เจอไปตรงไหนก็ สนฺทิฏฺฐิโก เราเป็นผู้รู้เอง เป็นผู้เห็นเอง ยอมรับเอง ๆ ไปตลอดสาย จนกระทั่งถึงสุดจิตสุดคิดสุดที่จะรบจะฟันกันกับกิเลส ไม่มีอะไรเหลือภายในใจอีกแล้ว เรื่องความเพียรมันก็ยุติเอง เพียรไปหาอะไร มันก็หมด

นี้ละการปฏิบัติตัวเอง จิตเมื่อถึงขั้นสุดยอดแล้วไม่ต้องถามใคร อยู่ที่ไหนก็สุดยอดตลอดเวลาอกาลิโก นิพพานเที่ยงคืออะไร คือจิตสุดยอดแห่งธรรมแห่งจิตนั้นแล ไม่มีอะไรที่จะเกินกว่านั้นไปแล้ว นั่นละท่านว่านิพพานเที่ยง กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเปลี่ยนแปลงไม่มีเลย จึงไม่มีอดีตอนาคตในจิตที่เป็นธรรมธาตุล้วน ๆ ด้วยความบริสุทธิ์แล้ว เป็นจิตอย่างนั้นแล เราไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า ให้หยั่งลงภาคปฏิบัติเถอะ ปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้อย่างไรแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ตั้งแต่เริ่มจิตเป็นสมาธิก็จะรู้ด้วยตัวเองเห็นด้วยตัวเอง ถึงขั้นปัญญาก็จะรู้เห็นด้วยตัวเองเป็นลำดับ จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้นก็รู้ด้วยตนเอง สนฺทิฏฺฐิโก สนฺทิฏฺฐิโก เป็นลำดับไป

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี จึงไม่ถามกัน เพราะเป็นอันเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง นี่ละเรื่องของจิต พูดมาตั้งแต่ร่างกายของเราทั้งหมดเป็นผู้รู้ ผู้รู้เป็นกาย กายเป็นใจ มันรวมกันอยู่นี้หมดแยกไม่ออก แต่เวลาแยกด้วยทางจิตตภาวนาอันเป็นทางเดินของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนมาแล้วก็แยกได้อย่างนั้น ๆ จนกระทั่งถึงกายเป็นกาย จิตเป็นจิต กายนี้คืออะไร ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็รู้เสีย จิตเป็นจิตมันก็รู้เสีย พรากกันอย่างขาดลอยมันก็รู้เสีย แล้วไปถามใครที่ไหน นี่ละการเรียนจิต เมื่อเรียนถึงจุดหมายปลายทางแล้วไม่สงสัยเรื่องภพเรื่องชาติเรื่องเกิดเรื่องตาย เคยไปตกนรกมากี่กัปกี่กัลป์ก็ตามเถอะ ปัญหาขาดสะบั้นลงเลย ต่อกันอีกไม่ได้แล้ว ไม่ใช่วิสัยจะมาต่อกันให้เกิดให้ตายต่อไปอีก

นี่ละการปฏิบัติอบรมจิตใจขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ทำนะ ศาสนาพระพุทธเจ้านี้คือตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน ถ้าเป็นน้ำก็คือน้ำมหาสมุทรทะเลหลวงนั่นเอง ไม่เคยมีบกพร่องเลย น้ำมหาสมุทรบกพร่องที่ไหนไม่เคยมี น้ำอรรถน้ำธรรมคือธรรมธาตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้วก็เท่ากับน้ำมหาสมุทรทะเลหลวง ไม่มีบกพร่องเลย ขอให้ปฏิบัติ เมื่อถึงแล้วก็ไม่ต้องถามใครแหละ รู้เองเห็นเอง ให้ยึดหลักพุทธศาสนานี้ไว้ให้ดีอย่าเลื่อนลอย

ใครว่าศาสนาใดดีก็คว้า ๆ คว้าน้ำเหลวทั้งนั้น ศาสนาเหล่านั้นเราไม่ได้ประมาท เป็นศาสนาของคลังกิเลส ลูบ ๆ คลำ ๆ กำดำกำขาวไปอย่างนั้น สุดท้ายก็มาเข้าตัว อันไหนที่ชอบใจตัวเองก็ว่าอันนั้นถูก อันไหนไม่ชอบใจก็ว่าอันนั้นผิดไปเสีย ไม่เหมือนธรรมของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์สุดส่วน เป็นไปโดยธรรมล้วน ๆ ไม่เอียงกับสิ่งใด ผิดบอกว่าผิด ถูกบอกว่าถูก นี่ท่านสอนด้วยความสิ้นกิเลสแล้วต่างกันกับผู้ที่มาสอนด้วยความเป็นคลังของกิเลส ผิดกันอย่างนี้ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นธรรมของผู้สิ้นกิเลส บอกไว้อย่างชัดเจนดังที่ได้อธิบายมาตะกี้นี้ ระหว่างจิตกับนามธรรมทั้งหลายสัมผัสสัมพันธ์กัน พี่น้องทั้งหลายเคยได้ยินไหมคำนี้ เราเองก็ไม่เคยไปแสดงที่ไหนมากนัก แสดงถึงเรื่องจิตเป็นนามธรรม

อะไรเป็นนามธรรม มันจะเข้าทะลุ สัมผัสสัมพันธ์กันทั่วโลกดินแดน ไม่มีคำว่าใกล้ว่าไกลมันถึงกันหมด จิตเป็นนามธรรม ความจริงทั้งหลายพวกจิตวิญญาณของเปรตของผีของสัตว์ประเภทใดในนรกอเวจี มันเป็นจิตวิญญาณอยู่ในนั้นในสัตว์นรกนั้น นรกก็เป็นนามธรรม มันเข้าถึงกันหมด เห็นอย่างนั้นจะลบล้างได้ยังไงว่าไม่เห็น ก็มันเห็นอยู่รู้อยู่อย่างนั้น สัมผัสสัมพันธ์กัน เหมือนอย่างเรามองกันต่อหน้าต่อตานี้ จ้องหน้ากันอยู่นี้ จะว่าคนที่เราจ้องหน้ามันไม่มีได้ยังไง ก็กำลังจ้องหน้าดูตากันอยู่นี่ มันก็เห็นกันอยู่งั้น สิ่งที่มาสัมผัสที่ไปเกี่ยวโยง ก็เท่ากับจ้องหน้ากันอยู่งั้น จะปฏิเสธได้ยังไงว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี

นี่ละธรรมพระพุทธเจ้า สอนไว้อย่างคงเส้นคงวาหนาแน่นทุกอย่าง ขอให้ยึดหลักนี้ให้ดี เรามีวาสนาได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วได้เคารพเลื่อมใสในพุทธศาสนาได้สร้างบุญสร้างกุศล ไม่มีคำว่าโมฆะ สร้างบาปเป็นบาปทันที สร้างบุญเป็นบุญทันทีตามคำสอนที่สอนไว้แล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ละบาป บำเพ็ญความดี เพื่อจะเป็นสิริมงคลแก่พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย วันนี้พูดธรรมะเพียงเท่านี้ละ เอาละพอสมควร

 

เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร

www.luangta.com


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก