ในเหตุผล
วันที่ 16 ตุลาคม 2509 ความยาว 40.27 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙

ในเหตุผล

 

        การมาบวชในพระศาสนา คือการมาตั้งรากฐานจิตใจของตนให้มั่นคง ตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นหลักธรรมที่ถูกต้อง และให้ความไว้วางใจแก่โลกทั่ว ๆ ไป และการตั้งหลักของจิตใจเพื่ออนาคตแก่ตัวเองนี้ รู้สึกว่าเป็นของที่ยากไม่น้อย ถ้าพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว นอกจากจะไม่ได้พิจารณาหรือคำนึงถึงความผิดถูกชั่วดีของใจเท่านั้น สิ่งที่จะทำให้จิตดีชั่วได้แก่หลักธรรม อาจจะไม่ถือว่าเป็นสำคัญสำหรับผู้ไม่มีความสนใจแก่การประพฤติของตัว

การวางรากฐานจิตใจในจุดที่ถูกต้องคือธรรมะนี้ ถ้าผู้จะทรงตัวอยู่ในเพศสมณะ จะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม จะเป็นชีหรือตาปะขาวก็ตาม จะเป็นสมณะที่ดีทั้งนั้น เป็นที่ให้ความอบอุ่นแก่ตัวเอง เป็นที่ให้ความมั่นใจ เป็นที่ให้ความแน่นอนแก่ตัวเองและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไปโดยไม่ต้องสงสัย แม้ผู้จะมีความเคลื่อนไหวจากเพศแห่งนักบวชที่กล่าวนี้ออกเป็นฆราวาส ก็จะเป็นพลเมืองดีของชาติและของศาสนาด้วย เนื่องจากหลักใจมีความมั่นคง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการวางหลักฐานไว้โดยถูกต้องกับหลักธรรมแต่ต้นมือ

ฉะนั้นการมาบวชในพระศาสนานี้จึงถือเป็นลาภอันประเสริฐ สำหรับท่านที่เป็นนักบวชด้วยกัน จะควรสนใจอย่างยิ่งว่า การมาบวชในพระศาสนานี้มีความมุ่งหมายอย่างไรสำหรับตัวเอง และพระศาสนามีความสำคัญอย่างไร นี่เป็นหลักสำคัญที่ผู้เป็นนักบวชจะนำไปพิจารณา เมื่อเห็นว่าตนมีความบกพร่อง จะเป็นทางความรู้ความเห็นก็ตาม จะเป็นความประพฤติออกมาทางกายและวาจาก็ตาม จะได้พยายามแก้ไขจุดบกพร่องของตน ให้กลายเป็นของมั่นคงขึ้นมาตามหลักธรรมที่ชี้บอกไว้ ผู้มีความสนใจอยู่เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักบวช หรือไม่ว่าจะเป็นฆราวาส จะเป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองไปตามเพศของตน

ผู้เป็นนักบวชก็มีความสำรวมระวังในสิ่งที่ตนจะประพฤติ ไม่ให้ผิดจากร่องรอยแห่งความเป็นพระหรือความเป็นสมณะของตน ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นผู้เต็มไปด้วยความสำรวมระวัง และในขณะเดียวกันอิริยาบถทั้งสี่จะเป็นที่เย็นอกเย็นใจของผู้ประพฤติ ด้วยความสำรวมระวังอย่างนั้นตลอดไป นับแต่ขั้นเริ่มแรกเข้ามาอุปสมบทบรรพชาในพระศาสนา จนถึงอวสานสุดท้ายของท่านผู้นั้น จะมีแต่ความเย็นอกเย็นใจประจำอิริยาบถ และจะไปที่ใดอยู่ที่ใด จะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรก็ตาม จะเป็นผู้มีความสะดวกกายสบายใจในทางความประพฤติของตนอยู่เสมอ เนื่องจากความประพฤตินี้ได้บำเพ็ญจนเกิดความเคยชินในทางที่ดีแล้ว

ผู้เป็นฆราวาสเมื่อได้นำหลักธรรมะไปปฏิบัติดัดแปลงกายวาจาใจของตน ให้ถูกต้องตามหลักของชาวพุทธแล้ว ก็ย่อมเป็นพลเมืองดีเช่นเดียวกัน ย่อมมีการยับยั้งในสิ่งที่จะควรยับยั้ง มีการกั้นกางหวงห้ามตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรทำ จะมีการเร่งตัวเองในหน้าที่การงานที่เห็นว่าชอบตามธรรมะ กลายเป็นพลเมืองดีไปทุก ๆ ระยะ

จะประกอบการงานทางโลกไม่ว่าแง่ใดแขนงใด จะเป็นไปเพื่อความพิถีพิถันความขยันหมั่นเพียร ความอดความทนต่อหน้าที่การงาน และจะเป็นไปด้วยความยับยั้งจิตใจ ในบางกรณีที่อาจจะทำให้ใจเกิดความผลุนผลัน หรือเกิดความโลดโผนจนเกินตัวไป หลักธรรมะสามารถที่จะเข้ายับยั้งจิตใจที่แสดงอาการเช่นนั้นได้

        ฉะนั้นการมาบวชในพระศาสนา ผู้ที่จะมีความสามารถอยู่ไปได้จนถึงอวสานแห่งชีวิตก็ดี ผู้มีความจำเป็นที่จะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นของตนก็ดี ต่างฝ่ายจะได้หลักธรรมะเข้าเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ให้เดินไปตามแนวทางที่ราบรื่นทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้นการเข้ามาบวชในพระศาสนา แม้จะมีความยากความลำบากในการประพฤติ ตามหลักธรรมวินัยที่ท่านสอนไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นความดีงามทั้งนั้นที่จะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวของเรา ไม่มีทางใดที่จะทำให้เกิดความเสียหาย อันเนื่องมาจากความลำบากในการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัย

จะอดบ้างอิ่มบ้างเป็นเรื่องการฝึกหัดดัดแปลงตนเองให้มีความอดความทน ให้มีการยับยั้งตัวเอง ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามความทะเยอทะยานอยาก ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ซึ่งเคยเป็นเจ้าเรือนครองหัวใจมานานแล้ว ไม่เป็นผู้จะวิ่งตามธาตุตามขันธ์จนไม่รู้จักประมาณ ในการกินการอยู่การใช้การสอยทุกอย่าง เป็นผู้มีความยับยั้งและเป็นผู้มีความพอดีโดยหลักธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง และยังจะเป็นธรรมที่เคยชินต่อนิสัยอีก

เมื่อได้เข้าแฝงกับนิสัยจนกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้ว ผู้นั้นจะทำอะไรย่อมมีความพินิจพิจารณา ไม่ถือเอาความอยากมาเป็นเจ้าอำนาจ เพื่อจะฉุดลากตัวของเราให้เป็นไปในทางผิด เมื่อเป็นเช่นนั้นโลกก็ดีธรรมก็ดี คือฝ่ายผู้ปฏิบัติธรรมก็ดี ผู้ดำเนินกิจการงานทางโลกก็ดี จึงถือหลักเหตุผลเป็นที่ตั้ง ถือหลักเหตุผลเป็นเครื่องปกครอง ถือหลักเหตุผลเป็นเครื่องคิดอ่าน ถือหลักเหตุผลเป็นแนวทางที่จะประพฤติออกมาทางกายและทางวาจา

โลกนี้ถ้าไม่มีหลักเหตุผลเป็นเครื่องยับยั้งเป็นเครื่องยุติแล้ว จะไม่มีอะไรให้เป็นความเย็นอกเย็นใจแก่โลก แม้ที่สุดในครอบครัวของแต่ละครอบครัวก็ตาม จะหาความสงบเย็นใจสบายกายไม่ได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างผลุนผลัน ต่างฝ่ายต่างดันกันไป ด้วยอำนาจแห่งทิฐิที่ตนเห็น และด้วยอำนาจแห่งความอยากที่เป็นเจ้าเรือน ต่างไม่ได้ฟังเสียงซึ่งกันและกัน

นี่ไม่ต้องพูดถึงโลกกว้าง ๆ เราพูดเฉพาะเพียงครอบครัวเท่านั้น ระหว่างลูกกับพ่อแม่ก็จะอยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข ระหว่างสามีกับภรรยาก็อยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข เพราะไม่มีหลักที่ถูกต้องเป็นเครื่องปกครองกัน เพราะไม่คำนึงถึงหลักที่ถูกต้อง พอจะนำมาปรับปรุงความเข้าใจหรือหารือซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีหลักเหตุผลมาเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นเครื่องยับยั้งให้ยุติกันลงได้

        คำว่าหลักเหตุผลนี้ คือหลักธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งก็เคยได้เทียบให้หมู่เพื่อนฟังเสมอว่า หลักเหตุผลที่แน่นอนนั้นคืออะไร คืออย่างไร เช่น สองบวกสองเป็นเท่าไร สิ่งที่จะรับรองสองบวกสองโดยความถูกต้องก็คือ ผลลัพธ์ต้องเป็นสี่ จะไม่ผิดจากสี่นี้ไปเลย นี่คือหลักที่ถูกต้อง เป็นหลักที่รับรองในการบวกเลข

จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้าในครอบครัวจะเป็นสามีก็ตาม ภรรยาก็ตาม ประพฤติต่อกันให้ลงในหลักสองบวกสองเป็นสี่แล้ว นั้นแลจะเป็นที่เจริญรุ่งเรือง มีความเย็นอกเย็นใจ เพราะหลักการบวกว่าสองบวกสองเป็นสี่นี้ เป็นหลักที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคัดค้านได้ ไม่ว่าจะไปบวกอยู่ในที่ไหน ๆ และไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้บวก ไม่นิยมถึงเพศถึงวัยถึงชาติชั้นวรรณะ แต่นิยมลงในหลักที่รับรองกัน คือหลักที่ถูกต้อง ได้แก่ สองบวกสองต้องเป็นสี่ทั้งนั้น นี่เป็นเครื่องตัดสินให้ผู้ฟังทั้งหลายได้รับความพอใจ ว่าการบวกผลลัพธ์นั้นเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางผิด และไม่มีใครจะข้องใจ

ถ้าต่างคนต่างเป็นนักบวกเลขมาด้วยกันทุกคนแล้ว จะไม่มีผู้ใดขัดแย้งได้ว่า สองบวกสองเป็นสี่นี้เป็นการผิดไป ต้องรับรองกันทั่วโลกแดนธรรมว่าเป็นการถูกต้องทั้งนั้น ทีนี้จะบวกในจำนวนมากขึ้นไปเท่าไร ก็ขอให้ตรงกับลักษณะของสองบวกสองต้องเป็นสี่นี้ทั้งนั้น จนถึงจุดสุดท้ายแห่งการบวก จะต้องลงในลักษณะเช่นเดียวกันนี้

นี่คือหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า มีความถูกต้องมาเป็นลำดับอย่างนี้ ตั้งแต่ธรรมะขั้นหยาบก็ลงในสองบวกสองเป็นสี่ ขั้นกลางก็เทียบกับว่าห้าบวกห้าเป็นสิบ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ขั้นสูงยิ่งไปกว่านั้นสิบบวกสิบต้องเป็นยี่สิบ ละเอียดเข้าไปเท่าไร จนสุดความสามารถของการบวก ก็ต้องให้ถูกจุดที่รับรองกันเช่นนั้น ในหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ จะเป็นธรรมะส่วนละเอียดแค่ไหน จนสุดสมมุติก็ต้องให้ยุติกันลงได้ด้วยความถูกต้องเช่นนี้ นี้แลท่านเรียกว่าหลักเหตุผลในธรรม

ผู้จะนำไปปฏิบัติต่อตนเองหรือเกี่ยวข้องกับส่วนรวม จำเป็นต้องได้นำหลักอันนี้ไปปฏิบัติ ถ้าผิดจากหลักนี้แล้ว จะเป็นโลกเป็นธรรมที่เจริญรุ่งเรือง หรือสงบงบเงียบอยู่เย็นเป็นสุขไปไม่ได้ ไม่ว่าสามีภรรยาจะปกครองกันอยู่ด้วยกัน ถ้าผิดจากหลักสองบวกสองเป็นสี่นี้แล้ว คู่สามีภรรยานั้นจะต้องแตกจากกัน พ่อแม่กับลูกก็แยกจากความเป็นพ่อเป็นลูกเป็นแม่เป็นลูกกันได้ เพราะไม่ฟังเสียงกัน จะเอาแต่ใจตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยความผิด หาความแน่นอนไม่ได้มาเป็นเครื่องบังคับผู้อื่น อย่างนั้นไม่ถูกต้อง โลกไม่เคยพากันดำเนินมาเช่นนั้น

ยิ่งเป็นธรรมด้วยแล้วจะดำเนินกันไปได้อย่างไร ผิดก็ฝืนทำกันไปทั้ง ๆ ผิด ๆ เห็นอยู่ว่าผิด รู้อยู่ว่าผิด แล้วฝืนกันไปเพื่ออะไร ต้องยอมรับกันในหลักที่ถูกต้อง จะเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่จำเป็น แต่จำเป็นในหลักที่ถูกต้อง สำหรับต่างก็ประพฤติปฏิบัติตนเองให้ถูกต้องตามหลักนั้น พูดก็ให้ถูกตามหลักนั้น ตามหลักสองบวกสองเป็นสี่ การกระทำก็ให้ถูกตามหลักของสองบวกสองเป็นสี่ การคิดภายในใจก็คำนึงตัวเสมอว่า ต้องให้ถูกกับหลักสองบวกสองเป็นสี่ นี่ละหลักปกครองโลกปกครองธรรม เทียบกันได้กับหลักการบวกเช่นนี้ โลกก็เจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าวงกว้างวงแคบ จะยุติกันลงได้ด้วยหลักที่ถูกต้องเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าหากหาไม่แล้วจะไม่มีการยุติกันลงได้เลย

หลักธรรมะที่จะนำเข้าไปแก้กิเลสภายในจิตใจของเรา ก็โปรดได้คำนึงว่า ต้องเอาหลักที่ถูกต้องมาแก้ไขกัน ถ้าผิดแล้วไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด จะเป็นเรื่องผิดไปทั้งนั้น เหตุผิดผลต้องผิด จุดหมายปลายทางไม่มี ความมุ่งหวังที่ตั้งไว้ไม่สำเร็จ นอกจากจะมีแต่ความรุ่มร้อนกระเทือนหัวใจตนเอง และระบาดออกไปสู่ภายนอกให้ได้รับความเดือดร้อนไปตาม ๆ กันหมดเท่านั้น ไม่มีทางอื่นที่จะตามสนองความประพฤติผิดจากหลักที่ถูกต้องของบุคคลแต่ละคน ๆ หลักธรรมจึงเป็นหลักที่รับรองเช่นนี้

เมื่อเราได้ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะหนักใจต่อการประพฤติต่อตัวเอง เราจะอยู่ในความเป็นพระก็อยู่ด้วยความเย็นใจ พยายามบวกตนให้ถูกต้องตามหลักธรรม การบวกตนได้แก่การประพฤติตน ปรับปรุงตนเองให้ถูกต้องตามหลักธรรมที่เรียกว่าสวากขาตธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ไม่มีอะไรที่จะขัดแย้ง นอกจากตัวเองจะขัดแย้งต่อตัวเองเท่านั้น แล้วก็แสดงผลขึ้นมาให้เป็นความรุ่มร้อน ไม่มีความสะดวกกายสบายใจ ไม่ว่าอิริยาบถใดเต็มไปด้วยความรุ่มร้อน เพราะผลเกิดจากการปรับปรุงตัวเองผิด ซึ่งได้ในลักษณะที่ว่าสองบวกสองไม่ใช่สี่ แต่กลายเป็นห้าไปวันยังค่ำ นี่ละหลักธรรมเป็นอย่างนี้ ขอให้พากันนำไปปฏิบัติต่อตนเอง

        ผู้เป็นฆราวาสก็มีหลักการบวกเช่นนี้เหมือนกัน คือพยายามปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดี มีการยับยั้งชั่งตวงตัวเองเสมอ สถานที่ไม่ควรไปไม่ไป ถึงจะอยากไปสักเท่าไรก็ไม่ยอมให้ไป ถ้าไปมันจะกลายเป็นความผิด เช่นเดียวกับสองบวกสองกลายเป็นห้าไป ผลประโยชน์จะไม่มีการถูกต้องตลอดวันยังค่ำ ฝืนบวกไปเท่าไรก็ยิ่งผิดไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่าเริ่มผิดไปตั้งแต่ต้นแล้ว คนที่เคยผิดย่อมผิดเสมอ ผิดเบื้องต้นแล้วก็ผิดไปท่ามกลาง ผิดไปจนวันตายหาวันแก้ไขตนเองไม่ได้ เช่นเดียวกับสองบวกสองเป็นห้า ห้าบวกห้าเป็นสิบห้าไปอย่างนี้ สิบบวกสิบเป็นสามสิบไปอย่างนี้ ผิดไปวันยังค่ำ ผลลัพธ์ที่จะเป็นการถูกต้องจะไม่ปรากฏในบุคคลผู้เช่นนั้น

        ความประพฤติของเราถ้าหากประพฤติตนให้เป็นในทำนองนี้แล้ว จะอยู่ทางธรรมก็หนักพระศาสนา ออกไปทางโลกก็กลายเป็นคนรกโลก ขวางโลก ขวางตนเอง หาความเจริญรุ่งเรืองไม่ได้ แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักสองบวกสองเป็นสี่นี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีหลักเหตุผลเป็นเครื่องปกครองตนเองโดยถูกต้อง ไม่ผลุนผลัน

ถ้าเป็นรถก็มีทั้งเบรกเครื่องห้ามล้อ มีทั้งคันเร่งในสถานที่ควรเร่ง มีชะลอในกรณีที่ควรจะรอ มีหยุดในกรณีที่ควรหยุด ธรรมดาคนขับรถจะต้องเป็นเช่นนั้น จะเว้นไปจาก ๓-๔ ประการนี้ไม่ได้ ผู้ขับรถจะต้องถือพวงมาลัยเป็นสำคัญ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ไม่ใช่ว่าแต่จะเหยียบคันเร่งเรื่อยไป ควรจะรอก็ต้องรอ ควรจะหยุดต้องหยุด ตามแต่เหตุการณ์ในแต่ละทางจะผ่านมาอย่างไร และควรจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสภาพการณ์นั้น ๆ จนผ่านไปได้โดยปลอดภัยและถึงจุดที่หมาย ต้องเป็นเช่นนั้น

        นี่เราเป็นผู้หนึ่งสำหรับการขับขี่ตนเอง ให้เป็นไปเพื่อความถึงจุดหมายปลายทางคือความราบรื่น ไม่ว่าจะประพฤติตนทางโลกก็ให้เป็นพลเมืองดี ยิ่งในเพศของพระของนักบวชก็ให้เป็นพระที่ดี มีความเย็นอกเย็นใจ ประคับประคองตนไปได้ด้วยความราบรื่น เช่นเดียวกับคนขับรถที่มือดี ๆ ย่อมไม่พลาด ไม่เห็นเวล่ำเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งกว่าที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้องกับสภาพการณ์ในเวลาขับรถ

นี่ก็เหมือนกันเช่นนั้น ถือการประพฤติเป็นหลักสำคัญ สำหรับผู้เป็นชาวพุทธต้องเป็นเช่นนั้น ไม่ถือสิ่งใดให้ยิ่งกว่านี้ ถ้าเลยจากเหตุนี้แล้วอะไรก็ไม่มีแน่นอนทั้งนั้น ไม่มีเมืองพอในจิตใจของบุคคลผู้ไม่มีธรรม อยากก็มาก หิวก็มาก ความเกียจคร้านก็มาก อะไรก็เต็มอยู่นั้นหมด ทิฐิมานะก็มาก ล้วนแล้วตั้งแต่สิ่งกีดขวางทางเจริญทั้งนั้น นี่ไม่ใช่หลักธรรมะ ไม่ใช่หลักที่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อความเจริญแก่ตนเอง

ขอให้ทุกท่านโปรดได้ทราบไว้ว่า เราอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าผู้เป็นนักบวช ไม่ว่าผู้เป็นฆราวาส เหมือนกันกับคนขับรถตามสายทางต่าง ๆ เพื่อจะไปสู่จุดหมายนั้น ๆ ถ้าขับดีก็เป็นประโยชน์ ถ้าขับไม่ดีก็ทำให้ล่มจมเสียหายป่นปี้ ทั้งทรัพย์สมบัติ ทั้งชีวิต ทั้งตัวเอง ตลอดถึงคนโดยสารก็พลอยให้เป็นอันตรายฉิบหายป่นปี้ไปด้วยความประมาทของบุคคลผู้ขับรถเช่นนั้น คือขับรถไม่ระวัง เอาแต่ความผลุนผลัน เอาแต่ตามใจ เอาเวล่ำเวลาเข้ามาว่า ไม่ได้คำนึงถึงสภาพหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนซึ่งกำลังขับรถนั้น ๆ เป็นยังไงบ้าง

        การปรับปรุงตนเองก็เช่นเดียวกับคนขับรถ โปรดพยายามปรับปรุงตนเองให้เป็นไปตามสายทางที่ราบรื่น อย่าให้ความอยากความทะเยอทะยานเข้าครอบงำมากเกินไป แม้จะมีกิเลสพระพุทธเจ้าก็เห็นใจ จึงได้นำธรรมะมาสอนคนมีกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าธรรมะที่ประทานไว้นี้จะสอนพวกสิ้นกิเลสแล้วก็หาไม่ ล้วนแล้วตั้งแต่สอนคนมีกิเลส คนโง่เขลาเบาปัญญาอย่างท่าน ๆ เรา ๆ นี้แหละ เราจึงได้อาศัยเข็มทิศนี้แหละ คือแนวธรรมะนี่เป็นเครื่องดำเนิน พยายามปรับปรุงตนเองให้เป็นไปตามหลักที่ถูกต้องตามเพศของตน เราไปอยู่ในฆราวาสเหย้าเรือน ก็จะมีความเจริญรุ่งเรือง

การจับการจ่ายใช้ทรัพย์สมบัติก็ให้รู้จักประมาณ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เอาตามความอยากเป็นผู้พาเบิกพาจ่าย ต้องอาศัยเหตุผลเป็นผู้พาเบิกพาจ่าย อาศัยความขยันหมั่นเพียรเป็นผู้เสาะแสวงหาทรัพย์ ได้มาแล้วเก็บเรียบร้อย เวลาจะจ่ายก็เห็นความจำเป็นเท่าตัวกับการจะจ่ายประมาณเท่าไร อย่าให้เป็นคนเลยเถิด นี่ละการตั้งหลักใจตั้งให้มีหลักฐานเช่นนี้

ถ้าตั้งไม่ถูกแล้วกลายเป็นคนใจรั่ว ถ้าใจรั่วแล้วเราก็ดูซิ ภาชนะอะไรที่มันรั่ว เราจะเอาอะไรเทลงใส่มันไม่ตกไม่ค้างอยู่นั้นเลย ถ้าเทน้ำลงใส่ก็ไหลซึมออกหมดไม่มีอะไรเหลือ สมบัติมากน้อยถ้าใจซึ่งเป็นเจ้าของสมบัตินั้นได้รั่วแล้ว จะไม่มีที่เก็บ มีเงินเป็นจำนวนล้าน ๆ ก็ฉิบหายไปหมด เพราะอำนาจแห่งใจที่ความเป็นคนใจรั่วนี้แหละไปสังหารเอง อันนั้นก็ต้องการ อันนี้ก็ต้องการ แต่ความจำเป็นไม่คำนึง เอาความอยากเป็นประมาณ นี่เสีย

เรื่องการประพฤติตัวเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ไม่คำนึงถึงความผิดความถูก เอาความอยากเป็นประมาณ เดินทางตามสายความอยากวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ทรัพย์สมบัติเงินทองมีเท่าไร ได้มาเท่าไร ก็ไหลไปตามทางของความอยากอันไม่มีประมาณนี้ จนฉิบหายป่นปี้ไปหมด ตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ เพราะจิตล้มจิตรั่ว เป็นอย่างนี้ ทรัพย์สมบัติก็ล้มละลายไปหมด รั่วไปหมดไม่มีอะไรที่จะตกค้าง โปรดพากันพิจารณาให้เข้าใจ ทั้งเราจะนำไปปฏิบัติทางโลก ทั้งผู้จะปฏิบัติตนต่อหลักธรรมะอยู่ในสมณเพศ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้

        อย่าเห็นว่าความอยากนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบในทางหยาบ หรือกลาง หรือละเอียด เป็นภัยทั้งนั้นถ้าผู้เป็นเจ้าของไม่ระวัง เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กลายเป็นของใหญ่ขึ้นมา ถ้าได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างนั้น นอกจากจะถูกตัดรอนลงไป แล้วจะค่อยด้อยลงไป ๆ จนไม่มีอะไรเหลือ อย่างพระพุทธเจ้าและสาวกเป็นต้น ท่านผู้ประทานพระศาสนาไว้นี้ เดิมท่านก็เป็นผู้มีกิเลสตัณหาเช่นเดียวกับพวกเราไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย แต่เพราะอาศัยแนวทางดำเนินซึ่งเป็นหลักที่ถูกต้องตามนัยที่กล่าวแล้วว่า สองบวกสองเป็นสี่นี้แล เป็นเครื่องหนุนให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ๆ ถูกต้องไปตั้งแต่ต้นจนอวสานสุดท้าย กลายเป็นคนที่เป็นหลักของโลก

พระพุทธเจ้าเป็นหลักของโลก ธรรมะที่แสดงออกไว้ทุกบททุกบาท กลายเป็นหัวใจของโลกไปหมด เนื่องจากหลักเบื้องต้นถูกต้อง คือความประพฤติเป็นเหตุสำคัญ หรือเป็นจุดสำคัญ

        โลกถือหลักเหตุผลนี้เป็นเครื่องปกครองกัน ธรรมะฝ่ายผู้ปฏิบัติในศาสนายิ่งถือเป็นสำคัญมากในหลักเหตุกับผลนี้ ถ้าเคลื่อนจากนี้แล้วไม่มีความหมายสำหรับพระผู้ปฏิบัติเรา แยกออกไปข้างนอก ชาวพุทธคือพุทธบริษัท ก็ไม่มีความหมายเหมือนกัน ถ้าความประพฤติให้ผิดจากหลักที่กล่าวนี้

จะปรึกษาหารือกันเรื่องอะไร ๆ ก็ไม่ได้เอาหลักที่ถูกต้องไปเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นเครื่องยุติกัน แต่เอาด้วยทิฐิมานะ ต่างคนต่างดันกันไปถูกันมา สุดท้ายก็ทะเลาะวิวาทกันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย หาหลักที่จะได้มาไม่มี เลยกลายเป็นเรื่องเด็กไป เด็กพอเจอกันเข้าไม่ถูกใจก็ทะเลาะกันเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักเหตุผลว่าใครถูกใครผิด แล้วก็ชวนกันต่อย เด็กเป็นอย่างนั้น ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ถ้าผิดจากหลักนี้แล้วคอยแต่จะฆ่าจะตี ที่ลับที่แจ้งไม่ว่าเอาทั้งนั้น ใครก็ว่าใครดี

อย่างที่เขาเมาสุรากัน คนดี ๆ อย่างนี้แหละ พอดื่มสุราลงไป เพราะสุรานี้มันมีอะไรแฝงอยู่ข้างใน มันเป็นพิษอยู่แล้ว พอใครดื่มลงไป จะเป็นคนดีแสนดีก็ตามพอดื่มสุราลงไป มันมีท่ามีทางขึ้นมาทันที ไม่เก่งก็ว่าตัวเก่ง ไม่ฉลาดก็ว่าตัวฉลาด อะไรก็ดีกับคนบ้านั้นหมด คนบ้านั้นต้องยกตัวว่าดีเสมอไป คนเมาสุราต้องเป็นเช่นนั้น พอดื่มเข้าไปแล้ว เอ้า ความอวดมั่งอวดมีก็อยู่นั้น ความอยู่ยงคงกระพันก็อยู่นั้น ดีไปหมด ความรู้ความฉลาด อำนาจวาสนา เป็นไปอยู่กับคนบ้าสุรานี้ทั้งนั้น ดูซิมันทำคนให้ดีเมื่อไร

ถ้าโลกนี้ได้เต็มไปด้วยคนประเภทนี้แล้ว เรามองดูที่ไหนโลกนี้จะน่าอยู่ได้ยังไง เกลื่อนไปด้วยคนบ้าทั้งนั้น เดินไปซอกนี้ก็มีแต่คนบ้า เข้าตรอกนี้ก็คนบ้า ไปทางนั้นก็คนบ้า มองไปข้างหน้าก็มีแต่คนบ้า มองไปข้างหลังมีแต่คนบ้า โลกนี้กลายเป็นโลกบ้าไปหมด เพราะไม่มีสติที่จะยับยั้งตัวเองอย่างนี้ แล้วโลกนี้จะเป็นที่เจริญได้ยังไงเราดูซิ นี่ยกตัวอย่างให้เห็นใกล้ ๆ ว่า ผู้ที่ดื่มสุรานั้นเป็นโทษเป็นคุณอย่างไรบ้าง

ทั้งโลกนี้ลองดื่มสุรากันไปทั้งโลกดูซิ โลกนี้กลายเป็นบ้าไปหมดไม่มีคนดีจะว่าไง ก็เหมือนอย่างกับคนเป็นโรคที่ไม่มีหมอไม่มียาเลย มันก็หวังตายเท่านั้นแหละ นอกจากโรคหวัด ถ้าโรคหวัดแล้วพอถึงที่แล้วมันก็หาย โรคอย่างอื่นลำบากมากถ้าไม่มียาไม่มีหมอ ส่วนมากก็ตายกัน

        โรคประเภทนี้ก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้เรื้อรังจนมีความเคยชินภายในจิตใจแล้ว วันหนึ่ง ๆ ไม่ได้กินอยู่ไม่ได้ กินเข้ามาก ๆ ก็เป็นบ้า ทั้งโลกให้ทำแบบเดียวกันนี้ ดูกันไม่ได้เลย นี่เราจะได้เห็นคุณและเห็นโทษแห่งสุราเป็นยังไง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า สุราเมรย มชฺช ปมา มันเป็นฐานะ คือที่ตั้งแห่งความประมาท เพียงศีล ๕ เราก็เห็นคุณแล้ว คนที่ไม่มีศีล ๕ แล้วจะอยู่ด้วยกันไม่ได้โลกนี้ เพียงเท่านี้เราเห็นแล้ว ทำลายศีล ๕ จะเป็นเช่นไรเมื่อเป็นเช่นนั้น

โลกอยู่ได้ด้วยกันด้วยความเป็นผู้มีศีล สามีภรรยาก็เป็นคู่ครองของกันได้โดยสมบูรณ์ ไม่มีใครมาล่วงล้ำ ต่างคนก็ต่างสงวนของตัว ทีนี้โลกก็สงบร่มเย็น อทินนา ก็ไม่เที่ยวฉกเที่ยวลักของกัน ถ้าต่างคนต่างก็เบียดเบียน ฆ่ากันวันยังค่ำคืนยังรุ่ง เพราะไม่มี ปาณา ศีลข้อต้นเป็นเครื่องห้าม มองเห็นกันมีแต่จะกัดจะฉีกกันกินทั้งนั้น แล้วจะอยู่ได้ยังไงโลกนี้ สมบัติไม่มีเจ้าของ ใครต้องการก็เอาหมด เที่ยวยื้อแย่งที่โน่น ยื้อแย่งที่นี่ ฉกที่นั่นลักที่นี่อยู่ตลอดเวลา หาเวลาหลับนอนก็ไม่ได้ นี่มันเจริญยังไง มันเป็นโทษหรือเป็นคุณ

กาเม ก็เหมือนกัน ไม่ว่าลูกใครเมียใคร ไม่ว่าผัวใคร เป็นเอาทั้งนั้น เอาอย่างซึ่ง ๆ หน้า เอาอย่างอำนาจวาสนา เอาอย่างความอยากมันตามืดตามัวบังคับ แน่ะดูซิ แล้วโลกนี้มันจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีศีลข้อ กาเม เป็นเครื่องบังคับไว้ มุสา มองไปที่ไหน ฟังที่ไหนมีแต่คนโกหกทั้งโลก ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ มีแต่คนโกหก พูดหาความจริงไม่ได้ ล้วนแล้วตั้งแต่คนโกหกกันทั้งโลก นี่เราจะเห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความโกหก ถ้าขาดมุสาเพียงคำเดียวเท่านั้น

นี่เราจะเห็นว่าคุณของศีลเป็นอย่างไรบ้าง ที่โลกมีความสัตย์ความจริงต่อกัน เป็นที่ไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ถามหน้าเป็นหน้า ถามหลังเป็นหลัง ถามอะไรได้ความสัตย์ความจริง นี่คุณของศีลเป็นอย่างนี้ สุราก็อธิบายให้ฟังอย่างนี้แล้ว เต็มไปด้วยคนบ้าทั้งโลกนี้แล้วเราจะอยู่โลกนี้ได้ยังไง เราก็เป็นบ้าเหมือนกันกับเขา เกลื่อนไปหมดแต่คนบ้า คนไม่มีศีล ศีล ๕ ขาดจากตัวแล้วยิ่งร้ายกว่าสัตว์ มนุษย์เราเป็นอย่างนั้น ต้องพากันระวัง ให้พินิจพิจารณา เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ

ผู้ที่อยู่โลกก็มีอยู่ธรรมก็มี เพราะว่าโลกเรานี้ไม่แน่นอน ผู้ควรประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ได้ก็ดีไปทางหนึ่ง ผู้ที่มีความจำเป็นที่จะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเพศของตน เป็นเพศที่ควรเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นนี้ ก็จะต้องได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักของเพศของตัวนั้น เช่น เพศฆราวาสก็ให้มีความเข้มแข็ง ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักของฆราวาสธรรม นี่จะเป็นความเจริญรุ่งเรือง

        สรุปความผลแห่งการบวชให้ฟังว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องทำความลำบากให้แก่เรา เพราะศาสนาหนึ่ง ความประพฤติตามหลักศาสนาของเราที่มาบวชนี้ ไม่มีอะไรที่จะเป็นข้าศึกต่อเรา นอกจากจะเป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจของเราให้ถูกต้องตามหลักธรรม ให้มีความเจริญรุ่งเรือง และจะได้นำสิ่งเหล่านี้ ที่เราได้ศึกษาอบรมและได้ดัดแปลงตนเองนี้ ไปเป็นเครื่องมือดัดแปลงตนเอง ทั้งความเป็นพระอยู่ หรือเป็นฆราวาส ให้มีขื่อมีแปพูดง่าย ๆ ให้มีเขตมีแดน มีการยับยั้งชั่งตวงตัวเองในกิจที่ควรไม่ควร แล้วจะมีความเจริญรุ่งเรือง นี่แหละหลักธรรม โลกกับธรรมอาศัยกันอย่างนี้ ปกครองกันด้วยธรรม ปกครองตนด้วยธรรม

ถ้าขาดธรรมแล้วล้ม ปกครองกันไปไม่ได้ โลกถ้าขาดธรรมะแล้วก็ปกครองกันไปไม่ได้ ไม่มีใครจะฟังเสียงกัน ใครก็ว่าใครดี ๆ ต่างคนต่างดีก็พบกันเท่านั้น เมื่อพบกันตายลงไปแล้วไม่มีอะไรดี จะว่าใครดี ดีทำไมตาย ดีทำไมจึงก่อความเดือดร้อนให้กัน ดูซิ นั่นละต่างคนต่างเห็นโทษแห่งความเป็นเช่นนั้น

เพราะหลักธรรมะเป็นเครื่องค้ำชูจิตใจ จะเป็นความเจริญรุ่งเรือง ฟังเสียงกัน โลกก็ฟังเสียงโลก ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ฟังเสียงธรรมะ ฟังเสียงกัน ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย พูดมีหลักเหตุผลเป็นเครื่องค้ำประกันอยู่เสมอ เป็นผู้เจริญหูเจริญตาเจริญใจ มองเห็นกันก็สะดวกกายสบายใจ รื่นเริงบันเทิง นี่อยู่เป็นสุข ตัวเองก็ปรับปรุงตัวเองให้ถูกต้องตามหลักธรรม ตนเองก็เป็นสุข ต่างคนก็มีความสุขความเจริญ

นี่อธิบายย่อ ๆ ให้ท่านทั้งหลายได้นำไปพินิจพิจารณาว่า ธรรมมีความจำเป็นแก่ตนเองและแก่โลกแค่ไหน ขอให้นำไปพินิจพิจารณา แล้วประพฤติปฏิบัติตนเองให้ถูกต้องตามเข็มทิศทางเดินแห่งธรรมะ แล้วจะมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งผู้อยู่ในโลก ทั้งผู้อยู่ในธรรมะ

จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก