นักบวชเป็นบุคคลตัวอย่าง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2509 ความยาว 53.46 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :
 

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๙

นักบวชเป็นบุคคลตัวอย่าง

 

        นักบวชจัดว่าเป็นผู้สำคัญในวงศาสนา จะเรียกว่าเป็นบุคคลตัวอย่างก็ได้ จะเรียกว่าผู้นำศาสนาเพื่อประชาชนก็ได้ แต่การที่จะนำพระศาสนาเพื่อประชาชนและนำศาสนาเพื่อตัวเองนั้น ผู้ปฏิบัติพระศาสนาเฉพาะอย่างยิ่งคือนักบวชของเรา จึงควรตระหนักระหว่างตนกับพระศาสนาอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าขาดความตระหนักในตนเองกับพระศาสนา ซึ่งจะนำมาเป็นเข็มทิศทางเดินแล้ว จะหาทางก้าวไปไม่ได้

ดังนั้นนักบวชจึงถือหลักสำคัญไว้ในใจของตนเสมอ คือต้องเป็นผู้อดทน อดทนต่อพระโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาทที่ท่านประทานไว้เพื่อเรา นอกจากอดทนต่อคำสอนของท่านแล้ว ยังต้องเพียรพยายามดำเนินตามสายทางที่ท่านสอนไว้แล้วอย่างไร ด้วยความอุตส่าห์พยายาม ความพิถีพิถัน ความระมัดระวังสำรวมในทุก ๆ อิริยาบถ อย่าทำความเผอเรอจากข้อปฏิบัติที่เป็นหลักธรรม อันเป็นเครื่องดำเนินของพระพุทธเจ้าได้เป็นลำดับ ๆ ไม่ปล่อยให้ความท้อแท้อ่อนแอเข้ามาเหยียบย่ำ หรือมาแทนที่ที่ธรรมะจะสถิตอยู่คือดวงใจเรา ผู้นั้นชื่อว่าในอิริยาบถทั้งสี่เป็นอยู่ด้วยหลักธรรมล้วน ๆ จะเป็นผู้มีความร่มเย็นเป็นสุขภายในตนเอง

แม้จะมีความลำบากต่อการประพฤติปฏิบัติในหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงงานอันหนึ่ง ซึ่งผู้มีงานในหน้าที่นี้จะต้องทำโดยหลีกเว้นไปไม่ได้เท่านั้น ส่วนที่จะให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ตน เพราะการสำรวมระวังและการปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้น จะไม่มีแก่ผู้ปฏิบัติโดยวิธีที่กล่าวนี้

        เคยแสดงให้ท่านผู้ฟังทราบเสมอ หรือจะเรียกว่าตลอดมาก็ได้ ว่าพระพุทธเจ้าก่อนที่จะนำพระศาสนามาสู่โลก ให้ได้รู้เดียงสาภาวะตามหลักความจริงที่พระองค์สอนนั้น รู้สึกว่าพระองค์ได้ถือพระองค์เองเป็นผู้ประกันชีวิตของสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป โดยชูเชิดเพื่อหลักธรรมคือความบริสุทธิ์จุดหมายปลายทาง โดยไม่มีความท้อถอยตลอดมาจนได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาโดยสมบูรณ์ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้ามาด้วยความอ่อนแอ ความถอยหลัง ความนอนใจ ความไม่มีความเพียร ความไม่อดทน แต่เป็นขึ้นมาด้วยธรรมตรงกันข้ามที่กล่าวนี้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นธรรมทุกบททุกบาท ที่แสดงออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นเนื้อธรรมะที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือนในโลกนี้หรือโลกใด ๆ ก็ตาม จึงเป็นธรรมะที่รับรองโลกทั่วไตรภพ ให้ได้ก้าวเข้าสู่ความสุขความเจริญตามฐานะของตน ๆ ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมได้มากน้อย จะไม่มีช่องใดซึ่งจะเป็นโมฆธรรมแก่ผู้ปฏิบัติตามโดยถูกต้อง แต่จะเป็นนิยยานิกธรรม นำผู้นั้นให้พ้นจากความขัดข้องยุ่งเหยิง เพราะความผิดพลาดของตนที่เคยเป็นมาโดยลำดับ ๆ จากสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบแล้วด้วยการปฏิบัติตามของตน

        เรามาบวชในศาสนาก็ทราบด้วยกันทุกคนว่า มาฝึกฝนอบรมหรือทรมานตนเอง ทำวิธีใดจึงจะเรียกว่าการฝึกฝนอบรมและทรมานตนเอง เราจะอยู่เฉย ๆ เหมือนตุ๊กตาก็ไม่เรียกว่าผู้ฝึกฝนอบรมตนเอง การทรมานก็คือการดัดแปลงข่มขู่ตนเองในเวลาที่จิตแสดงความลำพองขึ้นมา ซึ่งควรจะทำการขู่เข็ญหรือบังคับให้อยู่ในเงื้อมมือแห่งหลักธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยวิธีการของตน

อบรมก็คือการบำเพ็ญหรือการระมัดระวังสำรวมอยู่เสมอ ๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน ซึ่งเป็นเหมือนกับปุ๋ยเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อได้รับการบำรุงเสมอด้วยปุ๋ยแล้วจะเป็นพืชผลต่าง ๆ ก็ตาม จะเป็นทางด้านจิตใจก็ตาม ย่อมจะมีวันเจริญเติบโตจนถึงผลิดอกออกผลขึ้นมา แล้วให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของฉะนั้น

        ถ้าเราจะอยู่เฉย ๆ เหมือนอย่างคนไม่มีธรรมมีวินัย เหมือนโลกที่ไม่รู้จักศาสนาเลย ก็ไม่ผิดแปลกอะไรจากโลกประเภทนั้น ฉะนั้นการมาบวชในศาสนา ตนเองก็ทราบว่าตนเป็นนักบวช และทราบว่าตนมาฝึกฝนอบรมตนเองด้วยแล้ว จึงควรจะสำนึกตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าวิธีการใดที่เราจะฝึกฝนอบรมหรือทรมานตนให้เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ ๆ จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้านี้ นี่เป็นหน้าที่ของเราทุกท่านจะต้องคิดอ่านไตร่ตรองเสมอ ผู้เช่นนี้ชื่อว่าผู้มาอบรมศึกษาปฏิบัติฝึกฝนตนเองอย่างแท้จริง

        ธรรมะที่จะปรากฏเป็นผลให้ได้รับนั้น จะต้องปรากฏขึ้นมาโดยวิธีการที่กล่าวนี้ทั้งนั้น แต่จะไม่ปรากฏขึ้นมาตามวิธีที่อยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำความสำนึกตัว อดก็ยอมอดในกาลที่ควรอด ทุกข์ก็ยอมทุกข์ในเวลาที่ควรทุกข์ ยากลำบากในหน้าที่การงานของนักบวชก็ยอมรับ เพราะเราตั้งหน้ามาเพื่องานของนักบวชอยู่แล้ว ตั้งแต่วันก้าวเข้ามาบวชจนบัดนี้ เราจะละหน้าที่การงานประเภทนี้ไปเก็บตัวไว้ที่ไหน จึงจะปลอดภัยจากสิ่งที่เคยรุมล้อมจิตใจของเรา ให้ได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานานได้

เพราะการฝึกฝนอบรมทุกวิถีทาง ตามแนวทางของศาสนาที่สอนไว้เพื่อนักบวชเรานั้น ล้วนแต่วิธีการที่จะสำรอกปอกสิ่งที่ชั่วช้าลามกภายในจิตใจของเรา นับแต่ส่วนหยาบ ๆ จนถึงส่วนละเอียดที่สุดออกได้ ด้วยข้อปฏิบัติการฝึกฝนอบรมตนเองนี้ทั้งนั้น ไม่มีทางอื่นที่จะเป็นทางหลบหลีกปลีกทุกข์ไปได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหรือสาวกท่านให้ทัน นอกจากจะดำเนินตามวิธีที่ท่านทรงดำเนินไปแล้วนี้เท่านั้น

        วิธีที่ท่านทรงดำเนินไปนั้น ทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกต้องไปด้วยความลำบากบ้าง ความสะดวกบ้าง สับปนกันไปเช่นนี้ เหมือนบุคคลที่เดินทางตามระยะทางที่ราบรื่นหรือขรุขระ ผู้เดินทางจะต้องได้รับสัมผัสทั้งสองระยะนี้เป็นธรรมดา นี่ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องสัมผัสกับเรื่องของความลำบากบ้าง ความสะดวกบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นบางกาลบางเวลา ได้รับความสุขเพราะผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตนไม่ท้อถอยนั้น นี่ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกันไปเช่นนี้ เหตุแห่งการบำเพ็ญกับผลที่จะพึงได้รับนี้จะแยกจากกันไปไม่ได้ นี่เป็นทางดำเนินของพระพุทธเจ้าและสาวก

ท่านไม่มีทางอื่นที่จะมาสอนพวกเราให้ดำเนินผิดแปลกจากพระองค์ท่านและสาวกไป ท่านได้ดำเนินอย่างไรและเห็นผลอย่างไร จนกระทั่งถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและสาวกองค์บริสุทธิ์ขึ้นมาโดยทางสายใด ท่านจะต้องสอนพวกเราให้ดำเนินเดินตามทางสายนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

เมื่อเป็นเช่นนั้นอุบายวิธีทุก ๆ แง่ทุก ๆ กระทงในหลักธรรมะที่กล่าวไว้มีจำนวนมากมาย เหล่านั้นล้วนแล้วตั้งแต่เป็นอุบายหรือแนวทางที่จะพาผู้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรมนี้ ให้ถึงนิยยานิกธรรมเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จนถึงวิมุตติหลุดพ้นไปได้โดยสิ้นเชิง จะไม่นอกเหนือจากอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นและแสดงไว้นี้ไปได้เลย โปรดทุกท่านทำความเข้าใจให้ชัดเจน ให้แน่นอนในข้อปฏิบัติที่ท่านสอนไว้ และมั่นใจต่อการบำเพ็ญตามอย่าลดละ

นี่คือทางสายเอกของพระพุทธเจ้าที่ถึงความเป็นเอกเพราะทางสายนี้ ทางสายเอกแห่งสาวกที่ถึงความเป็นเอกตามพระพุทธเจ้าก็คือทางสายนี้ จะเดินทางสายอื่นแต่จะพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวงไปได้นั้น ไม่มีทางใดที่จะก้าวเดินไปได้เลย พระพุทธเจ้าก็ทรงค้นวิธีทางพ้นทุกข์มาปรากฏว่า ๖ พระพรรษา ไม่ปรากฏเห็นทางสายใดที่จะเป็นทางที่ปลอดภัยพอจะเล็ดลอดจากภัย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือกิเลสภัยนี้ไปได้ นอกจากทางสายที่ทรงประกาศไว้นี้เท่านั้น เพราะพระองค์ทรงรู้ทรงเห็นจากทางสายนี้ นี่เป็นเส้นทางที่รับรองมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าโดยลำดับจนกระทั่งถึงบัดนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นทางสายอื่น ผลที่จะพึงได้รับก็ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นเช่นเดียวกัน เพราะทางสายนี้เป็นทางสายเดิม

เนื่องจากสิ่งที่รุมล้อมจิตใจของสัตว์โลกก็เป็นประเภทดั้งเดิม มิได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นอื่นพอจะเปลี่ยนสายทางนี้ให้เป็นอื่น ผลคือสิ่งที่ได้รับจากการดำเนินตามทางสายเดิมนี้ก็เป็นผลอันดั้งเดิมดังที่พระพุทธเจ้าเห็นมาแล้วรู้มาแล้วไม่เป็นอย่างอื่น คือเมื่อดำเนินให้ถูกต้องตามหลักธรรมนี้แล้ว จะเป็นผู้ถึงความบริสุทธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย โดยไม่คำนึงถึงกาลว่านานหรือไม่นาน จากพระพุทธเจ้าตรัสรู้และนิพพานมาจนกระทั่งถึงบัดนี้

เพราะเหตุใด เพราะทางดำเนินนี้เป็นทางดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างไรอีก ผู้ปฏิบัติก็เป็นสุภาพชนพุทธบริษัทเหมือนกันกับครั้งพระพุทธเจ้า เป็นประเภทเดียวกัน สิ่งที่จะแก้ไขภายในจิตใจก็คือความชั่ว ฝังอยู่ทุกแง่ทุกมุมภายในตัวของเรา และเป็นประเภทเดียวกัน วิธีการที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ก็เป็นวิธีการอันเดียวกัน เมื่อแก้ได้แล้วด้วยอำนาจแห่งวิธีการที่ตนบำเพ็ญให้สมบูรณ์แล้ว ผลที่จะพึงได้รับก็เป็นแบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงไม่เป็นอื่น ใครจะเปลี่ยนแปลงไปอะไรก็ตาม ตามธรรมดาของโลกมีความเปลี่ยนแปลงความนิยมผิดแปลกกันไปเรื่อย ๆ มาสมัยหนึ่งมีความนิยมอย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไปทั้งความประพฤติ ทั้งการใช้การสอย กิริยามารยาท อัธยาศัยใจคอ สังคม ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตลอดถึงการปลูกบ้านสร้างเรือน เครื่องนุ่งห่ม มีความเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อย ๆ อัธยาศัยใจคอของคนก็เหมือนกันเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ

เนื่องจากโลกเป็นของไม่แน่นอนเช่นนี้ ผลที่จะปรากฏขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนั้น คือต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเช่นเดียวกัน ถ้าหากผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ถูกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางผิด ผู้นั้นจะต้องได้รับความพินาศล่มจมไปได้เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แต่หลักแห่งสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ ทั้งเป็นฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัย มีความคงที่อยู่ด้วยความถูกต้อง มีหลักเกณฑ์เป็นที่ตั้งเสมอ ไม่ตั้งนอกเหนือจากหลักความจริง เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ปฏิบัติจะเป็นคนชาติชั้นวรรณะหรือเพศใดก็ตาม มาปฏิบัติตามหลักแห่งสวากขาตธรรมนี้ จึงเป็นผู้จะถึงจุดหมายปลายทางเป็นชั้น ๆ ไปโดยลำดับเช่นเดียวกันหมด โดยไม่ยกเว้นในชาติชั้นวรรณะหรือเพศบรรดาที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ไม่มีความลำเอียงที่จะไปเข้าข้างโน้นออกข้างนี้ แต่เป็นความคงตัวอยู่ด้วยเหตุผล ถ้าบำเพ็ญให้ถูกต้องตามหลักเหตุผลแล้ว จะไม่มีสิ่งใดมาขัดแย้งมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ระหว่างมรรคกับผลให้แยกทางกันนั้นจะเป็นไปไม่ได้

เรื่องเหตุคือการบำเพ็ญมีสิทธิที่จะแสดงผลขึ้นมาทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ไม่มีผู้ใดจะมีอำนาจราชศักดิ์มาบังคับให้เหตุกับผลแยกทางเดินกันได้ เช่นผู้ทำชั่วแต่จะต้องได้รับผลดีอย่างนี้เป็นต้นไม่มี ถึงจะดีก็ดีตามความเสกสรรปั้นยอกันเฉย ๆ ตามหลักธรรมชาตินั้นจะไม่ขึ้นกับใคร แต่จะขึ้นอยู่กับหลักเหตุที่ทำนั้นดีหรือชั่วเท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนธรรมะจึงไม่สอนเพื่อให้ขึ้นอยู่กับอะไรทั้งนั้น นอกจากจะให้ขึ้นอยู่กับเหตุและผลนี้เท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงควรคำนึงถึงหลักเหตุผล ที่เป็นหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้มีเหตุผลประจำตน และรู้วิธีหลบหลีกปลีกตัวได้จากสิ่งที่จะปรากฏขึ้นภายในตัวเอง โดยมากเป็นฝ่ายที่ผิด พยายามแก้ไขกันลงได้ด้วยหลักเหตุผลที่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จะมีทางเดินตลอดไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้

        เราเป็นนักบวชมีหน้าที่ที่จะบำเพ็ญตัวให้เป็นตัวอย่างอันดีของตัว ให้เป็นที่เย็นอกเย็นใจ นั่งอยู่ก็เย็น นอนอยู่ก็เย็น จะเดินเหินไปมาที่ไหนก็ให้มีความเย็นด้วยหลักธรรมหลักวินัย ให้เย็นด้วยผลคือสิ่งที่แช่มชื่นอยู่ภายในจิตใจ เนื่องมาจากเหตุที่ตนบำเพ็ญโดยถูกต้อง อย่าเป็นอยู่ด้วยความเดือดร้อนที่นอกจากหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จะยากลำบากไปอย่างไรในวงการปฏิบัติตามสวากขาตธรรมนี้ เราไม่ต้องถือเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจ แล้วมาบังคับจิตใจของเราให้กลายเป็นคนอ่อนแอลงได้

โปรดได้มองทางดำเนินของพระพุทธเจ้าเสมอ และโปรดได้ระลึกถึง พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เสมอ ทั้งสามพระรัตนะนี้เดินเป็นทางสายเดียวกัน ถ้าเป็นเหตุก็เป็นเหตุอันเดียวกัน ถ้าเป็นผลก็เป็นผลอันเดียวกัน จะต่างกันก็สักแต่ว่าชื่อเท่านั้น เพราะคำว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ในหลักธรรมชาติจริง ๆ แล้ว จะไม่มีอันใดนอกเหนือไปจากคำว่าธรรมะเลย พุทธะก็รวมอยู่ที่ธรรมะ สังฆะก็รวมลงมาอยู่ที่ธรรมะ เหตุที่ธรรมะอันบริสุทธิ์จะปรากฏขึ้นเนื่องจากพุทธะได้ค้นคว้าโดยถูกต้องตามทางเดิน ตามความจริงของธรรม ธรรมะจึงปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่

ฉะนั้นผู้ดำเนินจึงควรคำนึงถึงพระรัตนตรัยทั้งสามนี้อย่าได้ปล่อยวาง ถ้าหากว่าเหินห่างจากใจแล้ว ย่อมจะปลีกแวะไปในทางอื่นได้โดยเจ้าตัวไม่รู้ ปลีกแวะไปเรื่อย ๆ ก็ผิดทางไปเลยแล้วย้อนกลับมาลำบาก เช่นบุคคลที่ปล่อยตัวเกินไป โดยไม่คำนึงถึงโอวาทคำสอนของพ่อของแม่ของครูของอาจารย์ ทำตามอัตโนมัติคือตามชอบใจของตน ทำไปเรื่อย ๆ ปล่อยตัวไปอยู่เช่นนั้นตลอดสายตลอดเวลา ไม่มีการหักห้ามต้านทานตนเองเลย จนกลายเป็นนิสัยที่เต็มไปด้วยความปล่อยตามใจ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยับยั้ง

เวลาจะกลับตัวเป็นคนดีนี้กลับไม่ได้ เพราะทางนั้นมีกำลังมากและฉุดลากไปทั้งวันทั้งคืนทุก ๆ อิริยาบถจะปรากฏแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเท่านั้น เต็มอยู่ภายในตัวของบุคคลผู้นั้น นี่เป็นผู้ที่จะฝึกนิสัยในทางแก้ไขตัวเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ละเล็กละน้อยนั้นแล สั่งสมตัวกันขึ้นจนมีกำลังมาก แม้ตัวเองผู้สั่งสมขึ้นมาทีละเล็กละน้อยก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตนเองได้ เนื่องจากสิ่งละเล็กละน้อยนั้นแลเมื่อรวมกันเข้าแล้วมีกำลังมาก จึงไม่สามารถจะแก้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราจะควรพิจารณาให้มาก

        คำว่ามองดูพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เสมอนั้น คือทางดำเนินของท่าน ผลที่ท่านได้รับ ท่านดำเนินยังไงจึงได้รับผลเช่นนั้น เวลานี้เราดำเนินอย่างไรอยู่ เรามีความเป็นอยู่อย่างไร เรามีความรู้สึกอย่างไรอยู่เวลานี้ ตรงตามแนวทางเดินของพระพุทธเจ้าไหม ต้องคำนึงถึงครูเสมอ ลูกศิษย์ที่มีครูต้องคำนึงถึงครู ต้องระลึกถึงครูเสมอ ลูกมีพ่อมีแม่จะไปอยู่บ้านใดเมืองใด แม้ไปอยู่ประเทศนอกก็ยังต้องระลึกถึงพ่อถึงแม่ มีคนถามถึงบ้านถึงเรือนก็ต้องชี้ไปถึงบ้านพ่อบ้านแม่ของตนเอง ว่าอยู่เมืองไหนต้องชี้ไปทางนั้นตามความรู้สึก

นี่พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็คืออยู่ที่หลักธรรมนั่นเอง หลักธรรมท่านชี้บอกไว้อย่างไร จงเดินตรงเข้าไปด้วยข้อปฏิบัติถึงจุดแห่งหลักธรรมวินัยนั้น จะไม่ผิดพลาดจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไปได้เลย แม้จะนิพพานไปได้ ๒,๕๐๐ กว่าพรรษาตามสมมุตินิยมแห่งกาลเวลาก็ตาม แต่หลักธรรมชาติที่ไม่เคยเอนเอียงไปตามกาลสมัยนั้นถูกหลักความจริง พุทธะที่บริสุทธิ์ ธรรมะที่บริสุทธิ์ สังฆะที่บริสุทธิ์ จากการดำเนินที่ถูกต้องนี้แล รวมกันเข้าเป็นองค์แล้วคือองค์แห่งธรรมะที่เต็มไปด้วยเหตุผล นี้แลเป็นจุดทางเดิน นี้แลเป็นจุดที่ระลึก นี้แลเป็นจุดที่จะยึดมาเป็นหลักใจเพื่อดำเนินตามด้วยความขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ นี้แลชื่อว่าผู้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงอย่างนี้ จะชื่อว่าถูกต้องตามความระลึกถึงองค์ท่านจริง ๆ

        ถ้าผู้ปฏิบัติจะมามัวคิดถึงแต่ความลำบากแล้ว จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องตอบแทน จะมีแต่ความเดือดร้อนภายในตัวเอง โดยหวังผลซึ่งตนไม่บำเพ็ญก็กลายเป็นเรื่องวาดมโนภาพเอาเฉย ๆ จะไม่สำเร็จประโยชน์อะไร นี่ที่ได้เป็นขึ้นโดยเจ้าตัวไม่รู้ คือได้มาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนหมู่คณะนี้ก็ ได้บำเพ็ญมาเต็มสติกำลังความสามารถของตน เมื่อคิดย้อนหลังแล้วก็รู้สึกว่าเป็นที่ภาคภูมิใจในความเพียรที่ตนได้ตะเกียกตะกายมาจนถึงบัดนี้ เบื้องต้นล้มลุกคลุกคลานจนหาทางจะไปไม่ได้ นอกจากนั้นยังสงสัยมรรคผลนิพพานว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ความอยากนั้นอยากมากมาย แต่ความสงสัยเรื่องมรรคผลนิพพานนั้นก็เต็มใจเหมือนกัน

จนได้เข้าไปถึงท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้เมตตาสั่งสอนให้เป็นที่พอใจตามความรู้สึกของท่านที่บำเพ็ญและรู้เห็นมาอย่างไรแก่เราแล้ว จึงเกิดความภาคภูมิใจเต็มไปด้วยความหวังอย่างยิ่ง จากนั้นก็ได้บำเพ็ญเต็มสติกำลังความสามารถ เรื่องความอดความอิ่มนี่คือเป็นมาประจำนิสัยในเวลาปฏิบัติ ไม่ถือเป็นภาระ ไม่ถือเป็นสิ่งที่หนักอกหนักใจ แต่ถือว่าเป็นทางเดิน เราอดเราหิวเราลำบากลำบนในการประกอบความเพียร ผลที่ปรากฏขึ้นภายในใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง นี่เป็นข้อเทียบเคียงให้มีความกระหยิ่มต่อความอดความทุกข์นั้นอยู่เรื่อย ๆ

เพราะจิตใจของเราโดยมากจะต้องได้รับผลในเวลาจนตรอกจนมุม ได้รับความทุกข์ความลำบากจิตใจย่อมคิดอ่านไตร่ตรอง แล้วก็เห็นช่องทางหรืออุบายต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นพอเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงน้ำใจของเราให้มีความอุตส่าห์พยายาม แล้วฝ่าฝืนอดทนต่อความหิวความลำบากเหล่านั้นไปได้เป็นระยะ ๆ

ขณะที่ได้บำเพ็ญตัวอยู่เช่นนั้นไม่ได้คาดได้ฝัน ไม่ได้นึกอะไรเลยว่าจะได้เป็นครูอาจารย์สอนหมู่เพื่อนดังที่อธิบายอยู่ตลอดมาจนถึงบัดนี้ เพราะมีความสนใจเฉพาะตัวเองโดยปกติ ไปที่ไหนก็ชอบไปคนเดียว บำเพ็ญคนเดียว เรื่องการอดการอิ่มสถานที่อยู่ขอให้เป็นที่เหมาะสมในการประกอบความเพียรเท่านั้นเป็นที่พอใจ ไม่ได้คำนึงถึงอาหารการบริโภค เครื่องใช้เครื่องสอยจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้ยังชีวิตพอเป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เพื่อสมณธรรมของเราให้เป็นที่พอใจเท่านั้นเป็นที่พอใจของเราแล้ว

รู้สึกว่านิสัยวาสนาของตัวเองนี้จะหยาบเอามากมาย เพราะการบำเพ็ญเพียรธรรมดา เดินจงกรม นั่งสมาธิธรรมดา ไม่ค่อยจะปรากฏผล นอกจากจะเดินแบบที่ว่าจนฝ่าเท้านี่ร้อนเหมือนกับไฟเผาเทียว นั่งก็อย่างว่านั่นแหละที่เคยเล่าให้ฟังมาแล้ว เอาจนถึงกับจะให้หมดชีวิตกันในเวลานั้น ถ้าได้ตั้งคำสัตย์ลงอย่างไรแล้วไม่ยอมลบ ไม่มีอันใดที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าความสัตย์ภายในตัวของเรา หากว่าเราได้ทำลายความสัตย์ซึ่งเราได้ตั้งไว้เสียเองนี้แล้วเราก็หมดคุณค่า จะปรากฏแต่ร่างของคนเท่านั้น แต่ธรรมะของคนจะไม่มีภายในใจของเรา

จึงรู้สึกสงวนเรื่องความสัตย์ความจริงมากตลอดมาจนบัดนี้ เพราะเห็นคุณคำสัตย์นี้ให้คุณมากมาย ถึงเวลาจนตรอกคำสัตย์นี้ตั้งลงจนแน่นไม่มีอะไรจะถอนขึ้นได้ นอกจากตัวเองจะถอน แล้วตัวเองก็ไม่พอใจและไม่มีความสนใจที่จะถอน นอกจากจะย้ำลงไปเท่านั้นเพื่อความมั่นคงของเราจะเป็นที่พอใจ นี่ละตอนนี้เรื่องความทุกข์ความลำบากในการนั่งก็แสดงขึ้นมา ร่างกายของเราทั้งร่างนี้เหมือนกับไฟหมดทุกส่วนแห่งอวัยวะ กระดูกแต่ละชิ้น ๆ ที่ติดต่อกันอยู่ภายในร่างกายนี้เหมือนกับจะแตกจะหักเป็นผุยผงไปทีเดียวเพราะความทุกข์มันเผาผลาญ

แต่ความสัตย์นั้นจะให้คงที่ไม่ยอมให้เอนเอียงไป ระส่ำระสายไปตามเรื่องของทุกข์ที่มายั่วยวนนั้นเลย หรือที่มาบีบคั้นนั้น ปัญญาหยั่งลงไป ในเวลานั้นเราจะเอาจิตไว้เฉย ๆ ไม่ได้ จิตต้องวิ่งตามเรื่องสัจธรรม คือทุกข์ที่กำลังแสดงอยู่เวลานั้น แยกทุกข์ให้เห็นชัด ๆ จากกาย แยกกายออกจากทุกข์ แยกทุกข์ออกจากกาย

เบื้องต้นก็ดูทุกข์กับเรื่องส่วนแห่งร่างกาย มีอะไรเหมือนกันหรือผิดแปลกกันอย่างไรบ้างโดยทางปัญญา แยกกายออกจากเวทนาคือทุกขเวทนา แยกเวทนาออกจากกาย แยกจิตออกจากเวทนาออกจากกายดูว่าเป็นเหมือนกันไหม ถ้าหากว่าเป็นเหมือนกันทำไมท่านจึงเรียกว่ากาย เวทนา จิต ปัญญาก็บังคับให้อยู่ในกรอบแห่งสัจธรรม นี่ก็แสดงว่าจนตรอกแล้วเพราะหาทางออกไม่ได้ มีแต่ทุกข์บีบคั้นอยู่ทั้งร่างเลย เป็นแต่เพียงว่าใจเราไม่ร้อนเท่านั้น เรื่องร่างกายนี่ร้อนไปทั่วทั้งร่าง ทุกข์ไปทั่วทั้งร่าง

ปัญญาหยั่งลงไปที่นี่ พิจารณาลงไปจนเห็นชัดว่ากายเป็นส่วนหนึ่งจริงด้วยปัญญา เวทนาเป็นส่วนหนึ่งจริง จิตเป็นส่วนหนึ่งจริง แยกกันได้โดยเด็ดขาดในขณะนั้น จิตก็ลงได้อย่างเต็มที่ ขาดจากความรู้สึกในส่วนแห่งร่างกายและทุกขเวทนาที่เคยปรากฏตัวอยู่ ดับสลายไปหมดไม่มีอันใดเหลือ ร่างกายแม้จะมีอยู่ตามธรรมชาติของเขา แต่เมื่อจิตได้รู้รอบในกาย เวทนา กับจิต โดยถูกต้องแล้ว จิตก็ลงได้ เรื่องความรู้สึกว่ากายมีภายในใจนั้นไม่ปรากฏเลย ทุกขเวทนาก็ดับ ยังเหลือแต่ความรู้เพียงอันเดียวเท่านั้น อยู่ในช่องว่างเหมือนกับว่าอากาศ มีความรู้สึกอยู่ในความว่างนั้นเท่านั้น และความอัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏได้ปรากฏขึ้นแล้วในเวลานั้น

พอจิตถอนขึ้นมาก็แน่ใจทีเดียวว่านี่เป็นผลที่เราทำในวันนี้ เราทำด้วยวิธีนี้ได้ผลเช่นนี้ขึ้นมา คือด้วยวิธีทุกข์ยากลำบาก เอาชีวิตเข้าสู้ไม่ยอมลดละ เอาความสัตย์หนุนหลังเข้าไป ไม่ยอมให้ถอยหลังออกมาได้ นอกจากจะทะลุไปข้างหน้าเท่านั้น ตายก็ยอมให้ตายข้างหน้าไม่ต้องย้อนกลับมาตายข้างหลัง คือข้างหลังคำสัตย์ไม่ยอมให้ตาย ให้ตายอยู่ตรงหน้าคำสัตย์ ยอมให้คำสัตย์หนุนหลังไป นี่เป็นเหตุให้ได้ผลขึ้นมาอย่างชัดเจน

ในวันนั้นเป็นวันแรกที่ได้รู้ได้เห็นจิต ได้แยกจากกองทุกข์เพราะการนั่งมากประจักษ์ใจ ทุกข์ก็สลายตัวลงในขณะเดียวกันเมื่อเวลาปัญญาพิจารณารอบคอบแล้ว กายก็หมดความรู้สึก ทุกข์ก็สลายลงไป ใจมีความดำรงตนอยู่ด้วยความองอาจกล้าหาญ ความเที่ยงตรง ความสว่างไสวอยู่ภายในตนอย่างเต็มที่ เป็นธรรมะอัศจรรย์อันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวขึ้นอย่างเด่นชัดในเวลาเช่นนั้น

พอถอนขึ้นมาแล้วทุกขเวทนาซึ่งเคยแสดงตัวก็แสดงขึ้นมาอีก จิตเมื่อได้อุบายเป็นสักขีพยานแล้วย่อมไม่มีการถอยหลัง นอกจากจะขยับตัวเข้าไปให้มั่นคง หรือแน่นหนาแข็งแรงยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีกเท่านั้น ไม่มีทางอื่นที่จะเป็นทางปลีกแวะของการดำเนิน พิจารณาลงไปอีกและลงได้อีกอย่างนั้น ปรากฏว่าได้หลักจิตและแน่ในใจว่านี่เป็นฐานของจิตที่แน่นอนแล้ว บัดนี้จิตของเราจะไม่เสื่อม เพราะความรู้ชัดภายในตัวเองว่านี้คือฐานของจิต อันเป็นที่อยู่ของจิตได้แน่นอนแล้ว แม้จะไม่มีภูมิธรรมอันสูงแค่ใดก็ตาม แต่ฐานของจิตซึ่งสถิตอยู่ภายในตัวเวลานี้ เป็นฐานของจิตที่จะต้องอยู่ได้ด้วยความไม่กำเริบ นั่นเป็นการตัดสินใจครั้งแรกในการบำเพ็ญมา

จากนั้นก็เร่งทางด้านสมาธิจนมีความสงบได้เป็นประจำนิสัยเลย เรียกว่ามีสมาธิเป็นเรือนใจ รู้ชัดภายในตัวเอง ขณะที่ลงไปสู่ความสงบหยุดกิริยาอาการของจิตทุก ๆ ประเภทก็หยุดลงไป ถอยขึ้นมาก็รู้ว่าถอยขึ้นมา แต่ไม่ได้เป็นความกังวลห่วงใยยุ่งเหยิงกับสิ่งใด ๆ ซึ่งเคยเป็นมาแต่ก่อนทั้งนั้น มีความสงบเป็นเจ้าเรือนของจิตเป็นนิสัยของจิต

ต่อมาเมื่อได้รับอุบายจากท่านอาจารย์ใหญ่ซึ่งท่านแสดงให้ฟังอย่างเต็มที่ อย่างเผ็ดร้อนในทางปัญญา ก็พยายามค้นคิดไปตามท่าน นี้แลตอนปัญญาจะแสดงตัวออกมาให้เห็นชัด เห็นผลของปัญญาก็มาเห็นตอนนี้อีกตอนหนึ่ง เห็นผลตอนจนตรอกนั้นครั้งหนึ่ง เห็นผลตอนจนตรอกนั้นเห็นเวลาที่จิตเข้าสู่ความสงบได้ด้วยอำนาจของปัญญา

แต่พอจิตเข้าสู่ความสงบจนกลายเป็นสมาธิประจำนิสัยแล้ว ลืมปัญญาขั้นนั้นไปเสีย เลยเห็นสมาธิเป็นของดีอย่างยิ่ง และยังเห็นอีกว่าจิตที่ทรงตัวอยู่ในความเป็นสมาธินี้แลจะเป็นนิพพานได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่สนใจที่จะต้องพิจารณาจิตอันนี้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตนั้น ให้เป็นอะไรต่อไปอีก มีความมุ่งที่จะทำจิตอันนี้ให้เป็นนิพพานท่าเดียว โดยไม่คิดว่าจะเป็นได้ด้วยวิธีใด นี่เป็นเหตุให้นอนใจมากมายไปหลายปี

ต่อเมื่อได้รับอุบายอันเผ็ดร้อนจากท่านอาจารย์ใหญ่ ซึ่งท่านเมตตาอย่างเต็มที่ใส่เข้าไปอย่างผาง ๆ จนถึงใจ แล้วถอยตัวออกมาพิจารณาทางด้านปัญญา ตอนพิจารณาทางด้านปัญญานี้คราวนี้จึงเห็นผล ว่าการถอดถอนกิเลสนั้นถอดถอนได้อย่างไรบ้าง ถอดถอนด้วยอุบายอะไรบ้าง ถอดถอนด้วยสมาธิหรือถอดถอนด้วยปัญญา รู้ได้ชัดทีเดียว สมาธิเป็นแต่เรือนพักของจิต ทำจิตให้มีความสงบสบายในเวลาพัก แต่ไม่สามารถจะถอดถอนกิเลสให้ขาดไปโดยสิ้นเชิงตามประเภท ๆ ของกิเลสไปได้นอกจากปัญญาเท่านั้น นี่ก็มาทราบได้ในระยะนี้

เพราะการถอดถอนกิเลสไม่ใช่จะถอดถอนพรวดพราดเสียทีเดียวหมด เพราะเราไม่ใช่นิสัยของขิปปาภิญญา คือเป็นผู้จะต้องรู้เร็วเห็นเร็วละได้เร็ว ต้องถอดถอนไปเป็นชั้น ๆ เป็นลำดับ ๆ เข้าไป นับแต่ส่วนกิเลสที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับร่างกาย เกี่ยวข้องกับร่างกายก็ต้องเกี่ยวข้องกับรูปภายนอก นี่ท่านเรียกว่ากามตัณหา พิจารณาส่วนกายของตนเองกับส่วนภายนอกเทียบเคียงกันได้ รู้เท่าทันในส่วนทั้งสองนี้แล้ว คำว่ากามตัณหาก็หมดปัญหาไปเอง นี่เป็นภาระอันหนึ่ง  และเป็นการปลงภาระอันหนึ่งลงได้ ใจก็ดีดขึ้นอีก  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นภาระ เหมือนกับหินถ่วงจิตใจของเราให้จมดิ่งลงไป

เมื่อปัญญาได้ใช้เข้าไปเสมอ ๆ เอ้า ดูส่วนใดที่มาสัมผัสกับจิต มีอารมณ์อันใดที่มาเกี่ยวข้องกับจิตซึ่งเป็นเหตุให้จิตมีความพอใจอยู่ ก็ทราบชัดว่าอารมณ์นั้นแลเป็นทางเดินของจิต พิจารณาอารมณ์อันนั้นเป็นทางเดินและเป็นอารมณ์ของจิตเสมอ ใคร่ครวญจนรู้เห็นชัดแล้วก็ปล่อยวางกันไปเป็นชั้น ๆ

ข้างนอก นี่ขอสรุปความให้ท่านผู้ฟังทีเดียวเพราะกลัวเวลาจะไม่พอแก่การแสดงในวันนี้ เมื่อภาระที่เกี่ยวแก่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสภายนอก และภาระคือส่วนแห่งรูปขันธ์ของเราหมดไปแล้วด้วยอำนาจของปัญญาขั้นนี้ ปัญญาขั้นต่อไปก็พิจารณาเรื่องของนามธรรม คือพวก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาเกี่ยวกับกาย เวทนาเกี่ยวกับจิต ละเอียดเข้าเท่าไรก็เป็นเรื่องเวทนาเกี่ยวกับจิตล้วน ๆ สัญญาจิตหมายว่าอะไร สังขารจิตปรุงเรื่องอะไร วิญญาณจิตรับรู้กับเรื่องอะไรมีสาเหตุเป็นมาได้อย่างไร และดับไปอยู่ที่ไหนดับลงไปแล้ว และจะดับด้วยวิธีอะไร ดับโดยขาดจากความยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้นจาก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นเรื่องของปัญญาจะต้องสอดแทรกหว่านล้อมกันเป็นประจำนิสัย

มาถึงขั้นนี้แล้วปัญญาของเราไม่ต้องได้บังคับ เริ่มมาตั้งแต่ปัญญาขั้นกลางคือขั้นรูปกาย มาขั้นนี้แล้วไม่มีปัญหาที่จะต้องบังคับปัญญาให้ค้นให้พิจารณา แต่จะเป็นอัตโนมัติของปัญญาผู้มีความเคยชินต่อตนเอง และมีความพอใจที่จะค้นคว้าในสิ่งใดที่ตนเห็นว่ายังเป็นที่ไม่สนิทใจ จะพยายามค้นคว้าให้เห็นและรู้เท่าทันเป็นลำดับ ๆ ไปไม่มีการยับยั้ง ปัญญาขั้นนี้ที่เรียกให้สนิทใจของตัวเองนั้นเรียกว่าอัตโนมัติ คือไม่ต้องบังคับ เหมือนกับน้ำซับน้ำซึม ไหลรินอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา นอกจากเวลาหลับเท่านั้น ในอิริยาบถทั้งสี่เว้นแต่หลับเท่านั้น

ปัญญาประเภทนี้จะไม่มีเวลาพักตัว นอกจากเราจะบังคับเข้าให้พักในเรือนสมาธิเป็นระยะกาล เพื่อพักผ่อนหย่อนจิตเท่านั้น แต่จะให้ปัญญาขั้นนี้หยุดตัวเองนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุหรือเชื้อมีอยู่ที่ใด ปัญญาขั้นนี้จะต้องสอดแทรกติดตามเป็นระยะ ๆ ไปทีเดียว

เพราะปัญญาไม่หยุดนี้แลจึงเป็นเหตุให้รู้ทั้งสาเหตุเป็นที่เกิดของเวทนาทางจิต ทั้งเวทนาซึ่งเป็นตัวผลเกิดขึ้นภายในจิต ทั้งสัญญาที่จิตหมายความสุขความทุกข์ ทั้งสังขารที่ปรุงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ วิญญาณซึ่งคอยรับทราบกันจากภายนอกก็ตามภายในก็ตาม จะต้องเข้าไปถึงตัวจิต อาการทั้งสี่ทั้งห้านี้เป็นประตูหรือเป็นทางแต่ละสาย ๆ ออกมาจากจุดใหญ่คือใจ ผู้ที่ทำงานอยู่ภายในใจนั้นเบื้องต้นก็คืออวิชชาเป็นผู้บ่งการบ่งงาน ถืออาการทั้งห้านี้เป็นทางเดินหรือเป็นเครื่องมือ

ในขณะเดียวกันการปฏิบัติก็ต้องอาศัยอาการเหล่านี้แล เป็นทางเดินและเป็นเครื่องมือของปัญญาอีกเช่นเดียวกัน จนสามารถรู้ชัดทั้งทางสี่ห้าแยก คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้แล ทั้งจุดใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของทางแยกออกมาได้แก่จิตแท้ หรือได้แก่จิต คำว่าแท้นี้หากว่ายังมีอวิชชาฝังอยู่นั้นตราบใด จะเรียกว่าจิตแท้ยังไม่ได้ ต้องเป็นวัฏจิต ถ้าจะเรียกก็ต้องเรียกวัฏจิต

พอปัญญามีความสามารถเต็มที่แล้ว เราไม่ได้คาดได้ฝันเลยว่า เราจะถอดถอนธรรมชาติหรือแยกอวิชชากับจิตออกจากกันได้ด้วยวิธีใด แต่ก็แน่ใจในขณะที่ปัญญามีความพร้อมมูลภายในตัวเองแล้ว จะเป็นผู้แยกหรือเป็นผู้ทำหน้าที่ระหว่างจิตกับอวิชชาให้พรากจากกันได้ โดยไม่มีปัญหาในเวลานั้น

พอเข้าถึงขั้นละเอียดยิ่งได้ทำหน้าที่กันเสร็จสิ้นลงไปแล้วเท่านั้น เรื่องหน้าที่ในพระศาสนาทั้งหมดเราจะทราบได้ทันทีว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ คำว่า เสร็จกิจในพรหมจรรย์หรือว่ามีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มีนั้นคืออะไร

การละการบำเพ็ญก็หมายความว่า จิตยังไม่พอตัว คือว่าจิตก็ยังชอบจิตก็ยังรัก เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกกัน แยกที่ชั่วให้ห่างจากจิตด้วยอุบายวิธีที่ถูกต้อง สั่งสมหรือส่งเสริมจิตความคิดของจิตที่เป็นไปในทางที่ดีให้มีกำลังมาก เสริมปัญญาให้มีความคล่องแคล่ว ฝึกหัดปัญญาให้มีความแกล้วกล้าสามารถจนพอตัวแล้ว แยกความไม่พอดีทั้งหลายเหล่านั้นออกเสีย คือดีก็ตามชั่วก็ตาม จัดว่าสิ่งปลอมแปลงหรือสิ่งที่แฝง จะทำจิตไม่ให้มีความพอดีคงที่อยู่ได้ เมื่อได้แยกสมมุติทั้งสองประเภทคือดีกับชั่วออกแล้วกาลใด กาลนั้นแลเป็นกาลที่จิตจะเรียกตัวเองได้ว่า อกาลิโก ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติมอีกแล้ว เป็นสิ่งที่พอตัวอยู่ตลอดกาล และเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่กาลไหน ๆ

ทั้ง ๆ ที่จิตดวงนั้นแล เราก็รู้อยู่ทุกวันนี้รู้ได้ด้วยจิต แต่จิตที่รู้อยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดานี้ เป็นจิตที่แฝงอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่รู้ภายในตัวเองอีก เมื่อได้แยกสิ่งที่แฝงนี้ออกได้ให้เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ แล้ว นั้นแลจึงเรียกว่าความรู้ที่พอตัว ที่จะบำเพ็ญให้ยิ่งกว่านั้นอีกก็หมดปัญหา จะบำเพ็ญเพื่ออะไร จะละก็จะละอะไร สิ่งที่จะควรละไม่มีแล้วจะละอะไร จะควรให้ยุ่งก็หมดความยุ่งแล้วจะยุ่งอะไร

เพราะความยุ่งความหย่อนเป็นเรื่องของสมมุติซึ่งเรียกว่าเป็นความไม่สม่ำเสมอ เป็นความแฝงทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นความพอตัวเหมือนอย่างธรรมชาติของตัวเอง ท่านจึงเรียก นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขนอกจากความสงบไปไม่มี ความสงบในที่นี่หมายถึงความสงบอันพอตัว ไม่ใช่หมายถึงสงบของสมาธิเป็นขั้น ๆ แต่หมายถึงความสงบอันพอตัวเลย

เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้วนั้น จะหยดน้ำลงไปเพิ่มอีกหยดหนึ่งก็ต้องไหลออก เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มอีกแล้ว ถ้าลดยิ่งกว่านั้นก็ไม่จัดว่าน้ำนี้เต็มแก้วแล้วโดยสมบูรณ์ ความพอดีของน้ำในแก้วก็คือเสมอขอบปากแก้วนั้นแลเรียกว่าน้ำนี้เต็มแก้ว หย่อนกว่านั้นไม่เรียก จะเพิ่มลงอีกก็ไม่จำเป็น สิ่งที่จะเรียกได้เต็มปากก็คือน้ำเต็มขอบปากแก้วแล้วนั้นแล ชื่อว่าแก้วนี้เต็มแล้วด้วยน้ำ จิตที่มีความพอตัวแล้วเช่นนี้แลชื่อว่า สันติ อันแท้จริง

นี่ทางดำเนิน ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนี้ จะต้องดำเนินไปดังที่กล่าวผ่านมาแล้วนี้ทั้งนั้น ไม่มีทางอื่นเป็นที่ออกตัวเพื่อธรรมจุดนี้ นอกจากจะดำเนินตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เท่านั้น ความทุกข์ความลำบากพระพุทธเจ้าผ่านมาเสียจนพอ ไม่เช่นนั้นไม่เป็นครูของพวกเรา แล้วเราจะเอาความยิ่งยวดกว่าพระพุทธเจ้าไปที่ไหนอีก นอกจากจะเดินไปตามสายที่พระพุทธเจ้าเดินนี้เท่านั้น

ฉะนั้นขอทุกท่านได้ทำความตระหนักภายในจิตใจของตน ระหว่างแห่งธรรมะกับเราอย่าให้ห่างเหินจากธรรมะ อย่าห่างเหินจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังที่กล่าวผ่านมาแล้ว ให้เป็นผู้มีความสนิทกลมกลืนกับพระรัตนตรัยด้วยข้อปฏิบัติของตน ยกพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นธงอันเอกระลึกภายในจิตใจเสมอ จะเป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยข้อปฏิบัติไม่ท้อถอย แล้วจะเห็นผลอันสมบูรณ์ดังที่อธิบายมาโดยแน่นอน

จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก