เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
ให้ว่าเจ้าของบกพร่องเสมอ
กลับมาเป็นยังไง (ได้สอนพิเศษเยอะเลย แล้วไปที่กุฏิพระสารีบุตรก็อธิษฐานขอให้มีปัญญาเหมือนองค์ท่าน ให้เข้าใจอริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนองค์ท่าน) โถ อธิษฐานกันเก่งๆ นะ มีแต่เก่งๆ ทั้งนั้น ลูกศิษย์หลวงตาแซงอาจารย์ไปแล้ว นี่ลูกศิษย์หลวงตาบัวแซงอาจารย์ไปเลย ปรารถนาขอเป็นอย่างพระสีวลี นี้ให้เป็นอย่างพระสารีบุตร มีแต่เก่งๆ ทั้งนั้น เคยเห็นไหมประวัติพระสีวลี (เคยอ่านอยู่ค่ะ) ท่านมีสาเหตุมาตามสายนะ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เป็นขึ้นได้ มีสาเหตุ พระสารีบุตรก็เหมือนกัน พระสีวลีเหมือนกัน
พระสีวลีนี้เรียกว่านักเสียสละ จนจะไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวตลอดมาเลย ทีนี้ผลตามสนอง อันนี้ผลของท่านนะ เป็นวาระสุดท้ายของท่าน ท่านจะไม่ต้องกลับมาอีกแล้ว ที่นี่ตามสนองให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย พระสีวลีไปที่ไหนจึงเกลื่อนไปด้วยเครื่องจตุปัจจัยไทยทาน คือมาตามสายเหตุๆ ทั้งนั้น นี่ต้องการให้มีปัญญาก็ต้องพยายามคิดอ่านไตร่ตรอง เอาธรรมเป็นหลัก ถ้าเอาอำนาจของกิเลสเป็นหลัก คิดเท่าไรยิ่งโง่ ถ้าเอากิเลสมาเป็นอำนาจพาเดินเพื่อความฉลาดเท่าไรยิ่งโง่ยิ่งสกปรกยิ่งเลวร้าย ถ้าเอาธรรมเป็นหลักแล้วค่อยทะลุๆ ไปเลย
(บางทีเราก็ยังอาลัยอาวรณ์ในประเด็นต่างๆ เราจะต้องใช้กำลังสติปัญญาสมาธิหรืออุบายอะไรคะ) หลักใจให้ดี เหล่านั้นจะค่อยแตกกระจายไปถ้าหลักใจดี หลักใจคือจิตตภาวนา ให้จิตมีความสงบนั่นละดี จิตสงบเป็นพลังกระจายออกความรู้แปลกๆ ต่างๆ ค่อยเป็นไป อย่างที่ท่านสอนเรื่องทางปัญญา ศีลเป็นพื้นฐานสำหรับนักบวช สมาธิแล้วก็ปัญญา คำว่าสมาธินี้คือจิตอิ่มอารมณ์ไม่คิดฟุ้งซ่านรำคาญไปในแง่ต่างๆ เรียกว่าอิ่มอารมณ์ ทีนี้นำออกใช้ทางด้านปัญญาก็ทำงานตามที่ใช้ นี่ละที่ว่าจิตอิ่มอารมณ์ไม่คิดฟุ้งซ่านไปทางอื่น ให้ทำงานยังไงก็เป็นไปตามนั้น ออกทางด้านปัญญาก็พุ่งๆ เลย
พอพูดอย่างนี้จะว่าอวดตนหรือไม่อวดก็ตาม เอาเรื่องพ่อแม่ครูจารย์มาพูด เวลาติดสมาธิก็ติดเสียจน... นั่งอยู่ที่ไหนเหมือนหัวตอ มันติดจริงๆ ติดมา ๕ ปี สมาธินี่เป็นเหมือนหินเทียว นั่งที่ไหนเป็นเหมือนหัวตอๆ ไม่อยากคิดอยากปรุงมันกวนใจ ก็อยู่แน่วอย่างนี้ สุดท้ายมันก็จี้ลงไปว่านิพพานอยู่ตรงนี้แหละๆ เลยเอาสมาธิเป็นนิพพาน มันติด พ่อแม่ครูจารย์ก็ถามเรื่อย เป็นยังไงท่านมหา จิตสงบดีอยู่เหรอ บอกท่านชัดๆ เลยว่าดีอยู่ ท่านฟัง เราไม่รู้ว่าท่านจะใส่หน้าผากเมื่อไร เป็นยังไงจิต สบายดีอยู่เหรอ สงบดีอยู่เหรอ ก็บอกสงบดี ก็มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
บทเวลาท่านจะเอา เป็นยังไงจิตสงบดีอยู่เหรอ สงบดี ท่านจะนอนตายอยู่นั่นเหรอ ขึ้นเลยทันที เปรี้ยงเลยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เปรี้ยงๆๆ เลย ซัดอย่างหนักเลยนะท่านจะลากออกจากสมาธิ ไม่เช่นนั้นมันจะไม่ออก ท่านต้องเอาหนักๆ เทียว ท่านจะนอนตายอยู่ในนั้นเหรอ ท่านรู้ไหมสมาธินี่เหมือนหมูขึ้นเขียง ความสุขในสมาธินี้เหมือนเนื้อติดฟัน เนื้อติดฟันมีความสุขอะไร นี่ละสมาธิเป็นอย่างนั้น สุดท้ายก็เอาสมาธิโยนเข้าป่าหมดเลย สมาธิทั้งแท่งเป็นตัวสมุทัยทั้งแท่งท่านรู้ไหม เอาละนะที่นี่
ทีนี้มันก็เถียงละซิ ถ้าสมาธิเป็นสมุทัยแล้วสัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหนเราว่า สมาธิพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นสมาธิหมูขึ้นเขียงนอนตายอยู่อย่างท่าน ท่านใส่เปรี้ยงๆ เอาอย่างหนัก เถียงท่านอย่างหนักเพราะมันติด ติดมาก ท่านจึงเอาอย่างหนัก ท่านจะนอนตายอยู่นั่นเหรอ ปัญญามีทำไมท่านไม่ใช้ สมาธินี้เป็นสมุทัย นี่ละสำคัญมากนะ คือหลงสมาธินั่นละมันเป็นสมุทัยไม่ใช่อะไร ความหลงติดในสมาธิเป็นสมุทัยเราไม่รู้ เวลามันผ่านมันถึงรู้ ยอมท่านราบๆ เพราะท่านขนาบอย่างหนัก เอากันอย่างหนักจริงๆ จนพระแตกมาทั้งวัดเลย กลางคืนเงียบ อยู่ข้างล่างเต็มหมดเลย ซัดกับเรา
เป็นอย่างนั้นละนิสัย ถ้าไม่ลงมันไม่ลง เอาจริงๆ นะนี่ ถ้าลงหมอบเลยทันที คือไม่ได้มีทิฐิมานะเอาแพ้เอาชนะ เราหาความจริง เราถึงเหมือนกิ้งก่ามันก็เป็นความจริงของกิ้งก่าตัวหนึ่ง มันก็ซัดกัน ซัดกับเสือโคร่งมันก็ตบเอาๆ จนกระทั่งลงไปนี้ นี่เราก็ตั้งใจมามอบกายถวายตัวต่อท่านทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว วันนี้มาเถียงท่านได้ยังไง เถียงเอาอย่างตาดำตาแดงนะ คือเราก็จริงของเราอย่างหนึ่ง จริงอย่างแบบกิ้งก่านั่นละ ของท่านเป็นเสือโคร่ง ใส่เปรี้ยงๆ จนกระทั่งว่าให้เจ้าของ นี่เราทำไมจึงไปถกเถียงท่านขนาดนี้ ถ้าว่าเก่งจริงมาหาท่านทำไม ว่าเจ้าของซัดเจ้าของเวลาลงไปแล้ว ท่านว่ายังไงๆ ฟังท่านซิถ้าถือว่าท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ เราจะมาอวดดิบอวดดียังไง
คือมันไม่ได้อวดแหละ มันมีอันหนึ่งอยู่นั้นที่จะเอาออกต่อสู้ ออกจากนั้นก็ออกทางด้านปัญญา นี่ละสำคัญมากนะ คือท่านไล่ออกทางด้านปัญญา ก็สมาธิมันเต็มตัวอยู่แล้วนี่ทำไมไม่ออกทางด้านปัญญาเครื่องแก้กิเลส สมาธิไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส ทำกิเลสให้สงบเท่านั้น ปัญญาต่างหากแก้กิเลส พอออกทางด้านปัญญามันก็ผึงเลยเทียว รวดเร็วมากเพราะมันเต็มที่แล้วสมาธิ พอท่านไล่ออกทางด้านปัญญา ไล่อย่างหนักเสียด้วย คือท่านรู้นิสัยเราเป็นนิสัยอย่างนี้ ถ้าไม่ลงไม่ลง ผาดโผนมากอยู่ ท่านจึงเอาแต่หนักๆ สมาธิก็ว่าจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ สมาธิหมูขึ้นเขียงๆ ยกสมาธิปาเข้าป่าหมด สมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่งท่านรู้ไหม ท่านเอาออกหมดเลย ถ้าไม่เอาหนักๆ มันไม่รู้ตัว
จากนั้นก็เถียงกับท่าน สู้ท่านไม่ได้ ก็คนหนึ่งจอมปราชญ์ คนหนึ่งจอมโง่ จะไปสู้ได้ยังไง ออกจากนั้นก็ออกทางด้านปัญญา ก็มันพร้อมอยู่แล้วที่จะเป็นปัญญา แต่ไม่พาออก พอออกนี้ก็พุ่งๆ ๆ เอ๊ะ ชอบกลๆ ซัดไม่ได้นอนละที่นี่ บทเวลามันออกออกจริงๆ กลางคืนไม่นอน กลางวันยังจะไม่นอน ตัวอ่อนเปียก เหนื่อยอยู่ในหัวอกนี่ เหนื่อยมาก แต่เรื่องของสติปัญญามันไม่ถอยเลย พุ่งๆๆ กลางคืนก็ไม่นอน ตลอดรุ่งเลยไม่ยอมนอน กลางวันมันจะไม่นอนมันจะตาย เลยกลับคืนไปหาท่านอีก นี่ที่พ่อแม่ครูจารย์ไม่ให้ออกทางด้านปัญญามันออกแล้วนะว่างั้นละ มันออกยังไงท่านก็ว่า ก็มันไม่นอนทั้งวันทั้งคืนมาหลายคืนแล้ว มันหมุนติ้วๆ นั่นละมันหลงสังขาร เอาละนะ
ไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ นั่นละบ้าหลงสังขาร ซัดเข้าอีก คือท่านเอาหนักๆ ทั้งนั้นละเอากับเราไม่เคยเบา เพราะท่านรู้นิสัย ถ้าพูดธรรมดานี่เหมือนพ่อกับลูกนะ อยู่กันธรรมดาๆ เหมือนพ่อกับลูก สนิทหรือไม่สนิทก็พิจารณาเอา แต่พอหมุนเข้าธรรมะนี้เปรี้ยงเลยนะ กับเราไม่เคยอ่อนแหละ ใส่เปรี้ยงเลย นั่นละมันหลงสังขาร ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ นั่นละบ้าหลงสังขารๆ ขนาบ ที่นี่หยุดนะไม่เถียง เพราะว่าทีไรถูกของท่านทุกที คราวนี้จึงนิ่ง
แต่มันไม่ถอยนะพิจารณา จนมันจะตายจริงๆ จึงรั้งเข้ามาสู่สมาธิ สมาธิมันเก่งอยู่แล้วแต่ไม่สนใจ เห็นว่าสมาธินี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร เห็นโทษสมาธิด้วยซ้ำไป ทีนี้มันก็ไม่อยากเข้า เห็นคุณของด้านปัญญา ก็ออกทางด้านปัญญาไม่มีการยับยั้ง พุ่งๆ เลย เวลาจะตายจริงๆ เข้ามาสมาธิ จากนั้นก็พุ่งๆ เลย เร็วพูดถึงเรื่องปัญญาเพราะสมาธิมันพอตัวแล้วมันไม่ออก นี่ก็ท่านขนาบอย่างหนัก ไล่ออกจากสมาธิ ออกจากสมาธิเป็นทางด้านปัญญาท่านก็รั้งเอาไว้ ว่าบ้าหลงสังขาร
หลงสังขารคือว่า ความคิดนี้เมื่อเลยเถิดแล้วมันเป็นสมุทัยได้ แต่เราไม่รู้นะ เวลาผ่านไปแล้วถึงมารู้ ปัญญาที่พอเหมาะพอดีท่านเรียกปัญญา ที่มันเลยเถิดไปแล้วเป็นสมุทัยแทรกในนั้นๆ เราไม่รู้ ท่านรู้นี่ นี่ก็เร็วเหมือนกันทางด้านปัญญา หมุนเสียจนไม่ได้หลับได้นอน กลางคืนตลอดรุ่งเลย บทเวลามันหมุนหมุนขนาดนั้นนะ อยู่ที่ไหนไม่มีเวลา มันเป็นของมันเอง นี่ที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ เป็นอย่างนั้น หมุนติ้วๆ เลย นี่ท่านก็รั้งเอาไว้ สมาธิท่านก็ลากลงจากเขียง หมูขึ้นเขียง ครั้นออกทางด้านปัญญา ปัญญาเลยเถิดท่านก็รั้งเอาไว้อีก มีแต่รั้งเอาไว้ทั้งนั้น แล้วผาดโผนด้วยนะ ท่านก็เอาอย่างหนักไม่งั้นไม่ทันกันกับนิสัยอย่างนี้
เพราะนิสัยเราท่านรู้แล้วว่าจริงจังมาก ว่าอะไรถ้าไม่ลงไม่ลง อย่างที่ว่าเถียงท่านคือยังไม่ลง ไม่ลงก็ซัดกันกับท่าน พอลงแล้วก็หมอบ คือหมอบนั่นยอมรับแล้วนะ ครั้นยอมรับก็เอาจริงเลย คอขาดไปเลยเทียว ถ้าลงได้ลงแล้วลงอย่างนั้น ถ้าไม่ลงไม่ลง ท่านก็รู้นิสัย เพราะฉะนั้นกับเราเรื่องธรรมะท่านจะไม่เคยอ่อนละ ถ้าพูดถึงด้านธรรมะนี้เปรี้ยงออกมาทันที คุยกันธรรมดาเหมือนพ่อกับลูก พอหมุนทางด้านธรรมะนี้ท่านจะไม่มีอ่อนข้อเลย พุ่งๆ เราจึงได้เทิดทูนสุดหัวใจ แง่ใดๆ มีตั้งแต่ท่านแนะให้ทั้งนั้น เป็นช่องทางๆ ให้ถูกต้องดีงามตลอดๆ เลย เราไม่รู้เรื่องอะไร นั่นละจึงได้เทิดทูนตลอด สดๆ ร้อนๆ นะเทิดทูนพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้สุดหัวใจ ตรงไหนๆ มีแต่ท่านทั้งนั้นแก้
เช่นอย่าง นอนตายในสมาธิท่านก็ลากลง ครั้นออกทางด้านปัญญามันจะเลยเถิดท่านก็รั้งเอาไว้ สองจุดนี้สำคัญมาก ให้อยู่ในความพอดี ปัญญามันจะเลยเถิดให้พัก ความหมายว่าพัก สมาธิมีอยู่ สถานที่พักทำไมไม่พัก ความหมายว่างั้น แต่ท่านไม่ค่อยพูดอย่างแจงนั้นแจงนี้นะกับเรา ไม่ค่อยแจง ท่านจะเอา...ถ้าเป็นไม้ก็ไม้ทั้งท่อนมาเลยให้เลื่อยเอาเอง ท่านเอาออกมาทีไรมีแต่อย่างนั้น เราก็ไปพิจารณาทีหลังแยกออกๆ แล้วก็ยอมท่านๆ หลวงปู่มั่นเป็นอย่างนั้น กับเรานี่ท่านจะไม่แจง ท่านจะเอาทั้งดุ้นออกมาเลยให้เราไปพิจารณาเองแล้วก็ยอมท่านทีหลังๆ ไปเรื่อยๆ
นี่เราพูดถึงเรื่องสมาธิเวลามันติดติดจริงๆ มันได้จี้ลงไปนั้น นี่ละจะเป็นนิพพาน คือจิตที่แน่วทั้งวัน อยู่ได้ตลอด ความคิดความปรุงอะไรมากวน คือคิดแย็บมันกวนมันไม่อยากคิด ให้มันแน่ว สุดท้ายก็ว่านี่จะเป็นนิพพาน มันติดแล้วนั่น เวลาท่านไล่ออกไปหานิพพานทีหลังด้วยปัญญานี้ก็ตำหนิสมาธิ สมาธิมันนอนตายเฉยๆ ไม่ได้แก้กิเลสสักตัวเดียว ปัญญาต่างหากแก้กิเลส ทีนี้พอว่าปัญญาแก้กิเลสมันก็ไปใหญ่เลย เป็นอย่างนั้นละเรามันนิสัยผาดโผน แต่ก็ดีมีวาสนาอยู่บ้างก็ไม่ผิด ได้ครูบาอาจารย์อย่างจอมปราชญ์ใส่กับจอมโง่พอดีกัน ไม่งั้นจะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะท่านใส่หนักๆ มันเอาไปคิดนะ ยอมๆ เป็นลำดับ
จึงว่าจอมปราชญ์พ่อแม่ครูจารย์มั่น หาไม่ได้แล้วทุกวันนี้หาอย่างท่าน การแก้จิตใจนี้ อย่างเราเป็นนิสัยผาดโผน ท่านต้องเอาอย่างหนักทุกที กับเรานี้หนักมากนะ ใส่ทีไรนี้เปรี้ยงๆ เลย เหมือนจะให้แหลกไปเลยเทียว ท่านเอาอย่างนั้น ก็ได้อย่างนั้นนะ ถ้าท่านไม่เอาอย่างนั้นมันไม่ได้ แน่ะ จะว่ามันหนาก็ไม่ผิดแหละ ท่านต้องเอาอย่างหนักทีเดียว
ปัญญาจะมีต้องออกพิจารณา แต่ปัญญาทางด้านธรรมะนี้ให้มีความสงบเป็นพื้นฐานดี อย่างที่เราพูดนี่นะ ความสงบเป็นพื้นฐาน พอออกทางด้านปัญญามันพุ่งเลย แต่เรามันเป็นนิสัยผาดโผน ถึงไม่เป็นอย่างนั้นก็ตามพื้นฐานที่จะออกทางด้านปัญญาได้ดีก็คือสมาธิความสงบใจ ถ้าใจไม่สงบพาไปพิจารณาเรื่องอะไรมันเถลไถลไปเสียไม่เป็นปัญญา มันเป็นสัญญาอารมณ์ไปไม่เกิดประโยชน์ ปัญญาแท้มันแก้กิเลสโดยลำดับลำดา นี่ปัญญาแท้ สมาธิหนุนปัญญานี้ปัญญาแก้กิเลสโดยตรง พอถึงเวลาที่จะพักให้พัก อย่าให้มันพุ่งๆ เกินไป พอรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามันจะบอกที่หัวอก พอมันเหนื่อยมากๆ แล้วมันจะเหนื่อยตรงนี้ เหนื่อย แต่งานของจิตมันไม่ถอย ปัญญาไม่ได้ถอยมันหมุนของมัน เจ้าของจะตาย นั่นละให้หักเข้ามา รั้งเข้ามาสู่สมาธิ เวลาพิจารณามากๆ มันจะเลยเถิด หมุนเข้ามาพักสมาธิ เรียกว่าพักงาน
พอได้กำลัง เหมือนเรารับประทานอิ่มหนำสำราญแล้ว หรือว่าพักผ่อนนอนหลับแล้ว ออกจากนั้นไปก็ทำงาน อันนี้สติปัญญาพักด้วยสมาธิ พอสมาธิมีกำลังแล้วออกทางด้านปัญญามันเฉียบขาดนะ เหมือนมีดที่เราลับหินเรียบร้อยแล้วฟันนี้ขาดสะบั้นๆ ปัญญาเวลามันอ่อนเปียกของมันนี้ เหมือนไม่ทราบว่าเอาทางสันลงเอาคมลงเอาข้างลง แต่พอพักทางด้านสมาธิออกมาเป็นปัญญาแล้ว เหมือนว่าฟันนี้ฉับๆ ขาดสะบั้นไปเลย ต่างกันนะ นี่ได้ผ่านมาหมดแล้วพูดจึงไม่ผิด
พูดให้ใครฟังอย่างหนึ่งก็เหมือนบ้านะเรา แบบหูหนวกตาบอดพูดจริงๆ ไปที่ไหนแบบหูหนวกตาบอดไป ถ้าจะเอาออกจากนี้ไปใช้มันดูไม่ได้มันฟังไม่ได้ เข้าใจไหมล่ะ นั่นละพระพุทธเจ้าที่ท้อพระทัยท้ออย่างนั้นเอง คือมันเหนือกันหรือว่าเกินกันขนาดไหน สูงกว่ากันขนาดไหน ขนาดพระพุทธเจ้าท้อพระทัย ทั้งๆ ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าสอนสัตว์โลก ก็คงจะสอนไปสะดวกสบายๆ เพราะคาดเอาตอนนั้นใช่ไหมล่ะ ตอนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านคาดเอาว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะสอนโลกอย่างสะดวกสบาย พออันนี้ผางขึ้นมาแล้วธรรมชาตินี้เป็นยังไง กับสัตว์โลกเป็นยังไง ที่มันเข้ากันไม่ได้ โอ้โหย จะสอนไปยังไง เลยทรงทำความขวนขวายน้อย
นั่นละความจริงต่อความจริงเจอกัน ความจริงก็คือตรัสรู้ขึ้นมานี้จ้าไปหมด กับความมืดบอดมืดที่สุดเลย มันก็เข้ากันไม่ได้ นี่ความจริง มืดก็มืดจริงๆ จ้าก็จ้าจริงๆ ประจักษ์แล้วท้อพระทัย เวลาธรรมดาจะเป็นพระพุทธเจ้าสอนสัตว์โลกก็คิดคาดธรรมดา ก็นึกว่าจะสอนไปสบายๆ มันไม่ได้สบาย แม้แต่เราเองก็เป็นจะให้ว่าไง เป็นที่หัวใจ เราไม่เคยคาดเคยคิดนะ เวลามันจ้าขึ้นมานี้จนกระทั่งถึงอุทานผึงๆ ออกมาเลย โห เป็นขนาดนี้แล้วจะสอนใครได้ นั่นเห็นไหมล่ะ จะสอนใครได้ สอนใครเขาก็จะว่าบ้าไปหมด เขาจะไม่ยอมฟังเสียงเลย อยู่ไปกินไปพอถึงวันก็ไปเสียเท่านั้นแหละ นั่นท้อ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ทำความขวนขวายน้อยจะไม่สอนใคร อยู่ไปกินไปวันหนึ่งพอถึงกาลเวลาแล้วก็ไปเสียเท่านั้นแหละ สอนหาอะไร นี่มันขึ้นทีแรก
อันนี้ก็มีธรรมะประเภทหนึ่งที่กระตุกกันอย่างแรง อันนี้เราก็ไม่ลืม จะว่าธรรมเกิดหรืออะไรเกิดก็แล้วแต่ กระตุกอย่างแรงเหมือนกัน เมื่อเจ้าของท้อใจจะไม่สอนใคร จะอยู่ตามป่าตามเขาอาศัยประชาชนเขากินวันหนึ่งๆ ในป่าในเขา พอถึงกาลเวลาแล้วก็ไปเสียเท่านั้น จะสอนให้เสียเวล่ำเวลาทำไมไม่เกิดประโยชน์ ธรรมชาตินี้กับอันนั้นมันต่างกันขนาดไหน เมื่อเวลามันเจอกันจังๆ ทั้งสอง ธรรมชาตินี้จ้า ธรรมชาตินี้มืด แล้วจะเข้ากันได้ยังไง ท้อ ทีนี้ธรรมะประเภทหนึ่งก็ขึ้นละที่นี่ นี่เราก็ไม่ลืม กระตุกกันอย่างแรงเหมือนกัน ขึ้นเองไม่ต้องคิดต้องอ่านละเวลามันกระตุกกัน ก็เมื่อว่าธรรมเหล่านี้ไม่มีใครจะรู้ได้เห็นได้ รู้แต่เราคนเดียวๆ แล้วเราเป็นเทวดามาจากไหน พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นมนุษย์ สอนโลกท่านก็สอนมนุษย์ อันนี้เราได้ธรรมพิสดารมาจากไหนถึงจะสอนโลกไม่ได้ ท้อใจยังไง เขากับเราต่างกันอย่างไรบ้าง เราเป็นเทวดามาจากไหนจึงรู้ได้ เราเป็นคนเขาก็เป็นคนเหมือนกันทำไมจะสอนไม่ได้
ทีนี้การที่ว่าทำไมเราถึงรู้ได้ รู้ได้เพราะเหตุใด นี่ลงกันตรงนี้ ว่าโลกทั้งหลายเขาจะรู้ไม่ได้ รู้ได้แต่เราคนเดียว แล้วเรารู้ได้เพราะเหตุใด คำว่าเหตุใดคือมีสายทางมา สายทางบุญวาสนาบารมีที่สร้างมามากน้อยๆ หนุนกันเข้ามาจนถึงปัจจุบัน พอมองปั๊บนี่มันทะลุไปเลย ยอมทันที อ๋อ ได้ เห็นไหมล่ะ ไม่มากก็ได้ ที่นี่ปฏิเสธไม่ได้นะ ทุกคนมีวาสนามีบารมีมาด้วยกัน มากกับน้อย เมื่อสร้างอยู่เสมอจะเพิ่มขึ้นๆ จะถึงจุดนี้ด้วยกัน นั่น เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็ยอมรับ อ๋อ ได้ ไม่มากก็ได้เลยที่นี่ นั่นละที่มีแก่ใจ ทีแรกตัดขาดเลยว่าจะไม่เอาใครทั้งนั้น เวลาธรรมกระตุกขึ้นมานี้ เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ธรรมประเภทเดียวกัน ทำไมจะรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ นั่นมันก็ยอมรับ มันมีเหตุผลอย่างนั้นละที่จะรับกันได้
ทีแรกเหมือนว่าจะไม่มีใครรู้ได้เลย รู้ได้แต่เราคนเดียว แล้วไปเสียเท่านั้นจะสอนให้เสียเวล่ำเวลาทำไม บทเวลาตีเจ้าของเข้าไป แล้วเราเป็นเทวดามาจากไหนทำไมรู้ได้ นั่น หันเข้ามาตรงนี้ รู้ได้เพราะเหตุใด นี่ตรงที่ค้านไม่ได้เลย เพราะเหตุใดนั่นคือวาสนาบารมีที่สร้างมามากน้อยประมาทกันได้เมื่อไร แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็อย่าไปประมาทเขา ถึงวาระที่เขามาเสวยกรรมของเขา ตามวาระแห่งกรรมที่จะต้องเสวยหนักเบามากน้อยมีเหมือนกันโลก ถึงวาระที่เขาเสวยกรรมชาตินี้เขาก็เสวย เวลาพ้นจากนี้แล้วเขาดีดสูงยิ่งกว่าเราก็ได้ ท่านจึงไม่ให้ดูถูกกัน เอาตรงนี้ มีวาสนาด้วยกันทุกคนมากน้อย สร้างไปๆ ก็ดีดพ้นได้เหมือนกันนั่นแหละ
พูดถึงเรื่องความจริงแท้ๆ อย่างพระพุทธเจ้ารู้จริงๆ แล้ว คำที่ว่าเป็นศาสดาจะสอนโลกเลยท้อพระทัยไม่อยากสอน นั่นความจริงสัตว์โลกมืดขนาดนั้น พระองค์ก็จ้าขนาดนี้สว่างไสว อาโลโก อุทปาทิ ท้อพระทัย เมื่อพิจารณาลงไปๆ ถึงสัตว์โลกมีหลายประเภทๆ ถ้าเทียบแล้วเหมือนภูเขาลูกนี้จะมีตั้งแต่สิ่งไร้สาระโดยถ่ายเดียวหรือ สิ่งที่เป็นสาระอยู่ในภูเขาลูกนี้ไม่มีเหรอ เป็นแร่ธาตุประเภทต่างๆ ที่มีคุณค่ามากมีอยู่ไหม ไม่มากก็มี นั่นเห็นไหมล่ะ มีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องขุดต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นกันไป
นี่ละสัตว์โลกถึงว่าไม่ได้มืดไปหมด ที่มีแร่ธาตุ คือมีอุปนิสัยปัจจัยมีอยู่ แทรกอยู่ๆ อย่างนั้นแหละ ก็ไปหาขุดหาค้นเอาตามนั้น พระพุทธเจ้าสอนโลกก็สอนอย่างนั้น ท่านจึงว่า ภพฺพา ภพฺเพ วิโลกานํ ตอนปัจฉิมยามทรงเล็งญาณดูสัตวโลก ใครที่มีอำนาจวาสนาหนักเบามากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง ทรงเล็งญาณดู ที่มันหนาก็หนา ที่โผล่ขึ้นมาที่ปรากฏเป็นจุดๆ เป็นต่อมที่ไหนเอานั้นละสอน เป็นอย่างนั้นนะให้พากันเข้าใจ ให้ดูเจ้าของ อย่าไปดูตั้งแต่คนอื่น ให้ดูความบกพร่องเจ้าของ ความสมบูรณ์เวลานี้อย่าไปด่วนดู ถ้าว่าสมบูรณ์แล้ว เออ นอนเสียดีกว่าวันนี้สมบูรณ์แล้ว ไปอย่างนั้นนะ มันสมบูรณ์ไปตามเสื่อตามหมอน อย่าไปชมมันว่าสมบูรณ์ ให้ว่าเจ้าของบกพร่องเสมอ เอาๆ หมุนเข้าไปๆ มันจะหนุนขึ้นเองความไม่ประมาท
ต้องบึกต้องบึน อยากดีต้องบืน พระพุทธเจ้าสลบสามหนเห็นไหม พิจารณาซิ บืนขนาดไหนสลบสามหน ถ้าไม่ฟื้นก็ตาย นั่น พระสาวกบางองค์ก็แบบเดียวกัน คล้ายคลึงกันๆ แต่ผู้ที่ขิปปาภิญญานั้นเร็ว มีน้อย มี อย่างที่ว่าขิปปาภิญญา ทันธาภิญญา ผู้ปฏิบัติทั้งสะดวกทั้งรู้ได้เร็วก็มี สะดวกแต่รู้ได้ช้าก็มี ทั้งลำบากทั้งรู้ได้ช้าก็มี เราอยู่ในประเภทไหนให้ดูเราเรือกสวนไร่นาของเราเป็นประเภทใดเป็นของของเรา จะดีไม่ดีเราก็ต้องทำไร่ทำสวนของเราเป็นสมบัติของเรา ของเขาดีเขาก็ทำของเขา เราเป็นยังไง ไม่ดีก็หาปุ๋ยมาใส่ซิ ถ้านาของเราไร่ของเราไม่ดีก็ไปหาปุ๋ยมา อันนี้ตัวของเรามันแห้งผากไม่มีปุ๋ย มีแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไปหาความขยันเป็นปุ๋ยเข้ามาซิ เข้าใจไหมล่ะ เอาละพอ ให้พร
(จิตหนูเวลาภาวนามีผู้รู้อยู่ตลอด มันเย็น ที่หลวงตาให้พิจารณาอสุภะมันไม่อยากออกมันจะสงบอยู่อย่างเดียว) ให้ออก คืออันนี้มันตีกิเลสตะล่อมเข้ามา เมื่อกิเลสตะล่อมเข้ามาความวุ่นวายก็ไม่มี เป็นความสงบ เมื่อสงบพอสมควรแล้วให้ออกคลี่คลายทางเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ทั้งเขาทั้งเราทั่วแดนโลกธาตุได้หมด ถึงเวลาออกต้องออก ถึงไม่อยากออกเท่าไรก็ออก เพราะความสงบนี้สงบเท่านั้นละไม่ได้แก้กิเลส การแก้กิเลสแก้ด้วยปัญญาดังที่พูดตะกี้นี้ สงบเย็นนี่เป็นกำลังแล้ว จะออกพิจารณาทางด้านปัญญาออกได้ง่ายๆ ทำตามที่เราสั่ง ถ้าหากว่าจิตไม่สงบให้ออกนี้มันแส่ไปหาอาหารของมันที่เคยกินนั่นแหละ ไม่ได้เป็นอาหารธรรมนะ
(ต้องบังคับนะเจ้าค่ะ) ต้องบังคับ ไม่บังคับไม่ได้ คือมันติดสุขสบาย ก็ฟังซิว่านั่งอยู่สักกี่ชั่วโมงก็ได้ไม่มีอะไรมากวนใจ มีแต่แน่ว สุดท้ายก็ว่านี่ละนิพพานอยู่ตรงนี้ มันว่า คือมันติด นิพพานไม่ได้อยู่สมาธินี่นะ ถ้าสมาธิเป็นนิพพานจะไปสอนเพื่อวิปัสสนาหาอะไร เข้าใจไหม คือมันติด เอาอย่างนั้นนะ (บางครั้งมันไม่สงบ สมมุติพุทโธลูกเอาไม่อยู่ก็เปลี่ยนเป็นอสุภะบ้าง เอาสติจ่อดูอารมณ์ของตัวเองบ้าง) เวลามันสงบให้มันสงบ ถ้ามันสงบเสียจนลืมวันลืมคืนมีแต่จะสงบท่าเดียว ก็ให้ออกทางด้านปัญญาบ้างนะ ปัญญาจะแก้กิเลส ความแยบคายจะอยู่กับปัญญา
ทีแรกเราก็ว่าเก่งละทางสมาธินี่แนบแน่น บทเวลาออกทางด้านปัญญานี้ โอ้โห ขึ้นเลยนะ ชอบกลๆ สมาธินี่มันนอนตายอยู่เฉยๆ กลับมาตำหนิสมาธิ เห็นคุณของปัญญาทีนี้ก็ไปทางด้านปัญญา เตลิดอีก เพราะฉะนั้นจึงให้ยับยั้ง ปัญญาออกมากเกินไปเหนื่อยในหัวอก ให้พักสมาธิเสียก่อน ที่พักของปัญญาคือเข้าสู่สมาธิไม่ต้องคิด เวลาเข้าสมาธิไม่ต้องคิดต้องปรุงอะไร ให้อยู่แน่ว จะเอาพุทโธอะไรก็ได้บังคับ ให้สติติดแนบอยู่นี้แล้วก็ลงสงบแน่ว พอสงบมีกำลัง กระปรี้กระเปร่านะ ยิ้มแย้มแจ่มใสภายในใจเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม นั่นละสมาธิพักจิตมีความสุข ทีนี้พอออกจากนั้นเริ่มพิจารณาทางด้านปัญญา ไม่ต้องห่วงสมาธิ ให้ทำงาน พูดง่ายๆ ว่างั้นเถอะ เวลานอนก็นอนแล้วในสมาธิ ทีนี้จะออกทำงาน ไม่ต้องมาห่วงหมอนพอออกทางด้านปัญญา จำเอานะ ให้เป็นพักเป็นวรรคเป็นตอน
(การที่เราทำให้สงบ เราเปลี่ยนวิธีไปมาไม่เป็นไรใช่ไหมคะ) ไม่เป็นไร ให้มีสติอยู่ในวงนี้ไม่เป็นไร เราอยากเห็นจิตใจสัมผัสกับธรรมบ้าง ว่าสัมผัสกิเลสเราไม่อยากพูดนะ ว่ากิเลสมัดคอมันนั้นถูก อยากให้ธรรมสัมผัสใจสักหน่อยจะเป็นตัวใหม่ขึ้นมา พอจิตกับธรรมสัมผัสกันแล้วจะเริ่มเห็นโทษของกิเลสทันที เมื่อธรรมไม่มี กิเลสก็เป็นคุณมาตลอด เจริญกับมันตลอด ทีนี้พอธรรมมีความสงบเย็นใจ มันจะเริ่มเห็นความฟุ้งซ่านวุ่นวาย เห็นโทษมันเรื่อยๆ ทีนี้ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไปเรื่อย เอาละ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |