เทศน์อบรมฆราวาส
ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อค่ำวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
ธรรมบำรุงใจจากการฟัง
เห็นเมฆดำๆ ฝนตก ทางด้านตะวันตกเมฆดำ เมฆหนา ฝนจะตก ทางไหนก็ดูว่าแล้ง แล้งพอๆ กัน ภาคไหนๆ ก็ดูว่าแล้งพอๆ กัน หากว่าจะมีน้ำทางภาคใต้จะดี ทางภาคไหนก็ไม่ได้ยินข่าวว่าฝนตกน้ำมากอะไรนะ เงียบเลย แม้แต่กรุงเทพฯที่เรามาคราวนี้ก็ไม่เห็นฝนตก ตกนิดหน่อยเท่านั้น มันแปรปรวนไปหมดดินฟ้าอากาศ มันเป็นเพราะอะไรไม่รู้นะ อันนี้มันจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศที่เกี่ยวกับมนุษย์เราทำอะไรขึ้นไปเป็นพิษเป็นภัยอย่างนั้นก็ได้นะ ทำให้ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างฝนตกปีที่แล้วก็แบบโปรยๆฝอยๆ ตลอดทั้งหน้าฝนเลย เขาทำนาก็พอถูๆไถๆ ไป ไม่เคยเห็นฝนตกเป็นห่าลงมาจ้ากๆ ๆ แล้วก็หยุดดังที่เคยเป็นมา แล้วปีนี้ตั้งแต่เดือนตุลามาจนกระทั่งป่านนี้ก็ไม่เห็นฝนตก ทางอุดรเราไม่ค่อยมีฝน คราวนี้มาจนกระทั่งป่านนี้ยังไม่เคยเห็นฝนนะ มาจนจะเข้า ๒๐ วันแล้วมัง ตกนิดหน่อยเท่านั้น
พระกรรมฐานท่านฟังเทศน์ ท่านเทศน์สดๆร้อนๆ วงปฏิบัติคือวงกรรมฐานท่านเทศน์ เทศน์สดๆร้อนๆที่เป็นผลจากการปฏิบัติของท่าน นำออกมาเทศน์ ผู้ฟังก็จิตจ่อ สติจ่ออยู่กับจิต ไม่ต้องส่งไปถึงท่านผู้เทศน์ ใกล้ไกลไม่จำเป็น พอท่านเริ่มเทศน์สติจับปั๊บเข้าไปที่ความรู้ มันก็เหมือนเราเอาภาชนะไปรองที่น้ำจะไหลลงมา เช่นรางน้ำมันจะไหลลง เอาภาชนะไปรองมันก็ตก จ่อลง ไหลลงนั้นหมด จิตที่ตั้งจ่อไว้นั่นละเหมือนภาชนะที่วางไว้แล้วโดยถูกต้อง
พอสติกับจิตจับกันปั๊บนี่ เสียงเทศน์จะชัดเจนมากยิ่งกว่าเราส่งจิตไปฟังท่านนะ ธรรมะจะเข้ามาสัมผัสกับใจ สัมผัสตลอดเวลาท่านเทศน์ อารมณ์ของใจเกี่ยวกับโลกสงสารในเวลาฟังเทศน์นั้นแทบว่าไม่มี อันนี้เป็นขั้นๆ ของจิตใจผู้มาฟัง ถ้าจิตใจยังไม่สงบร่มเย็น มันยังไม่ได้รากได้ฐานก็มียิบแย็บๆ บ้างนิดหน่อย แต่จิตท่านผู้มีรากฐานตั้งแต่สมาธิขึ้นไปถึงขั้นปัญญาแล้วนั้นจิตจะไม่ออกเลย ตั้งอยู่นั้น ธรรมะจะเข้าไปสัมผัสๆ ๆ ไม่ต้องบังคับให้จิตสงบ ธรรมะกล่อมลงไป ความรู้ที่สัมผัสกับธรรมเป็นระยะๆ สืบทอดกันเรื่อยๆ นั่นละเรียกว่ากล่อมใจ ใจก็สงบลงๆ เต็มภูมิของตนแต่ละองค์ๆที่ฟัง ไม่ได้ส่งออกไปข้างนอกนะ ผู้เทศน์ก็มีแต่ตีเข้ามา ตีเข้ามา ไม่ได้เทศน์ออกข้างนอก
เทศน์ภาคปฏิบัติต่างกันมากทีเดียว เราก็เรียนมาปริยัติ ก็ไม่สงสัยในภาคปริยัติ ภาคปฏิบัตินี้ก็เริ่มปฏิบัติ ความรู้ความเห็นทางภาคปฏิบัตินี้จะค่อยแตกต่างจากภาคปริยัติ คือภาคปริยัติเป็นภาคความจำ เป็นความรู้ที่ผิวเผินๆ ไม่จดไม่จ่อ ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์เหมือนภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติในเวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านผู้เทศน์ท่านผ่านไปแล้ว เทศน์ไม่มีผิดมีพลาด เทศน์ด้วยความถูกต้อง ผู้ฟังก็เพลินฟัง ตีเข้ามา เข้ามาหาจิต เพราะจิตเป็นมหาเหตุ เป็นตัวสำคัญที่จะออก ส่วนมากก็ออกนอกลู่นอกทาง อยู่ตลอดเวลา ที่จะเข้าหาธรรมมีน้อยมาก
ท่านผู้อบรมทางด้านจิตใจมีแต่ตีจิตให้เข้าหาธรรมๆ ตลอด เวลาฟังเทศน์ท่านผู้เทศน์ก็เป็นท่านผู้รู้แจ้งเห็นจริง พูดอะไรเทศน์อะไรออกมาไม่ผิดไม่พลาด เพราะจากความรู้ของจิตที่ถูกต้องมาแล้ว แสดงออกบทใดบาทใดถูกต้องเรื่อยๆ ผู้ฟังก็เพลินๆ เพลินไปเรื่อย เพราะเสียงธรรมจะสัมผัสที่จิต สัมผัสที่จิตสืบเนื่องต่อไปตลอด จิตก็ไม่มีโอกาสที่จะไปคิดเรื่องราวอื่นใด รับเสียงธรรมเข้ากล่อมใจๆไปโดยลำดับลำดา นี่ละภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้
นำมาเทศน์ให้พี่น้องทั้งหลายฟังด้วยความจริง ตามหลักความจริง ไม่ผิดไม่พลาด ไม่สะทกสะท้านว่าจะผิดไป เพราะเคยผ่านมาอย่างนั้น การฟังก็เคยฟังจากครูบาอาจารย์มาแล้ว ยกตัวอย่างหลวงปู่มั่น เรียกว่าจอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบัน จอมปราชญ์เป็นธรรมล้วนๆภายในใจ ใจท่านไม่มีกิเลส ผ่านพ้นไปหมดแล้ว เอาธรรมที่บริสุทธิ์มาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาด้วยความถูกต้องแม่นยำ ผู้ฟังก็เพลินๆ จิตใจมีแต่รวมเข้ามา ที่จะให้ออกข้างนอกไม่ออกละเทศน์ภาคปฏิบัติ มันเพลินฟังๆ สุดท้ายจิตก็สงบลงได้ในขณะที่ฟัง ดียิ่งกว่าเราฝึกหัดโดยลำพัง พยายามทำจิตให้สงบ มันดีดมันดิ้นมันไม่ยอมสงบให้ แต่เวลาเสียงธรรมเข้าไปสัมผัสจากครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ถูกต้องแม่นยำแล้วก็เป็นการกล่อมจิตใจลงไปให้สงบลงๆ จนสงบแน่วได้ในขณะที่ฟังธรรม
การฟังธรรมกับการปฏิบัติโดยลำพังตนเอง ภาคปฏิบัติจากการฟังธรรมเป็นอันดับหนึ่ง ภาคที่สองคือปฏิบัติโดยลำพังตนเอง มันต้องได้ฟัดได้เหวี่ยงกับกิเลส ดีไม่ดีจิตไม่ลงไม่สงบเลย แต่ภาคฟังอรรถฟังธรรมนี้มันเป็นเรื่องอรรถธรรมของท่านตีเอง ช่วยเรา ตีเข้าไป ตีเข้าไป จิตก็เพลินฟังเสียงอรรถเสียงธรรม แล้วสงบแน่วลงไป โดยไม่ต้องบังคับบัญชาให้สงบ เพียงจิตจ่อกับเสียงธรรมเท่านั้นก็เป็นเครื่องกล่อมกันไปโดยลำดับ แล้วสงบๆ แน่วเลย นี่ภาคปฏิบัติ ผลสดๆร้อนๆถ้ามีผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ลมๆแล้งๆ ไปอย่างนั้นแหละ
เรียนมามากมาน้อยก็มีตั้งแต่ความจำ ความจริงไม่มีในใจจากภาคปฏิบัติ เพราะไม่ได้ปฏิบัติ ฟังเฉยๆ จำเฉยๆ การเรียนการจำเฉยๆ ก็ไม่ผิดอะไรกับโลกเขาเรียนเขาจำกันในหลักวิชาต่าง หลักวิชาของธรรมเพียงเรียนเพียงจำเฉยๆมันก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าฟังด้วย สนใจที่จะปฏิบัติตามด้วย ขณะที่เรียนก็เกิดประโยชน์ เพราะสะดุดใจเรื่อยๆ อ่านไปๆ สะดุดใจเรื่อย สะดุดใจเรื่อย เตือนใจ ให้รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ นี่เป็นประโยชน์ในขณะที่เรียน ไม่ใช่เรียนสักแต่ว่าเรียน จำเอาเพื่อเอาชั้นเอาภูมิชั้นนั้นชั้นนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับโลกเขาเรียนกัน ได้ชั้นนั้นชั้นนี้ก็เป็นแบบโลกไปเสีย แบบธรรมไม่มีชั้นละ ที่ว่าเอาชั้นนั้นชั้นนี้ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ มันเทียบกันได้กับชั้นของโลกเขา ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร
แต่ชั้นของธรรมที่แท้จริงจากภาคปฏิบัตินี้เป็นชั้นแห่งธรรมโดยแท้ ก็อย่างที่ว่า จิตสงบแล้วเป็นสมาธิ แล้วก็เป็นชั้นเป็นภูมิขึ้นไป ว่าสำเร็จพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ นี่เป็นชั้นของธรรมจากภาคปฏิบัติโดยแท้ ครั้งพุทธกาลท่านได้ธรรมชั้นนั้นๆ ดังที่อธิบายอยู่เวลานี้จากภาคปฏิบัติของท่าน จนสำเร็จผ่านพ้นไปได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือ นี่คือภาคปฏิบัติธรรมจากการฟังอรรถฟังธรรม การฟังอรรถฟังธรรมทางภาคปฏิบัตินี้จัดเป็นอันดับหนึ่ง การปฏิบัติโดยลำพังตนเองเป็นอันดับที่สอง
นี่เราฟังในเทศน์ทั่วๆ ไป ตั้งแต่ขั้นต้นถึงขั้นกลางของธรรม พอถึงขั้นละเอียดแล้วไปอีกแง่หนึ่ง ขั้นละเอียดลงไปแล้วนั้นมันเป็นเรื่องของจิตของธรรม ที่ฟัดเหวี่ยงกันอยู่ภายในใจไปเอง โดยไม่ต้องมีผู้มาเทศนาว่าการกล่อมใจดังภาคธรรมทั้งหลาย ต่างกันอย่างนี้ จิตมันเป็นขั้นๆ ถ้าเราแยกว่าเป็นขั้นก็ขั้น แต่ส่วนมากมันค่อยละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป คล่องตัวเข้าไป ความสว่างไสวของใจก็ขยายตัวออก ความละเอียดลออของใจก็ละเอียดเข้าไปเป็นลำดับลำดา จะเรียกว่าขั้นของธรรมมันก็เรียกยากนะ หากรู้ประจักษ์อยู่ภายในตัวเองทุกคนๆ
เวลาปฏิบัติไป จิตที่ยังไม่ได้รับความสงบเมื่อได้ยินได้ฟังอรรถธรรมจากครูอาจารย์ที่ท่านเทศน์ ขณะที่ฟังจะเป็นการกล่อมใจเราให้เข้าสู่ความสงบ เพราะเวลานั้นจิตไม่มีโอกาสจะไปคิดเรื่องราวต่างๆอันเป็นเรื่องของโลกสงสาร มีการรับทราบกับอรรถกับธรรมที่เข้าไปสัมผัสใจอย่างต่อเนื่องกันไปเป็นลำดับ นี่เรียกว่าธรรมบำรุงใจจากการได้ยินได้ฟัง แล้วจิตก็สงบลงๆ ทีนี้ตั้งรากตั้งฐานได้ แล้วเป็นขั้นๆ เข้าไป พอเข้าขั้นสมาธิ พอท่านเทศน์นี่จิตมันจะหมุนเข้าสู่ความมั่นคงแน่วลงไปเลย
ทีนี้เวลาจิตลงเต็มที่ ช่วยตัวเองได้แล้วในขณะที่ฟังอยู่นั้นแล เสียงอรรถเสียงธรรมที่พยุงใจ หรือว่าบังคับใจให้สงบนั้นเหมือนอยู่สูงๆ แว่วๆ อยู่สูงๆ นี่จิตพึ่งตัวเองได้แล้วในขณะนั้น จิตสงบลงไปแล้ว ไม่รับเสียงอรถรเสียงธรรม รสชาติเต็มอยู่ในหัวใจที่สงบแน่นหนามั่นคงนั้นหมด นี่การฟังเทศน์ เพราะฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านจึงได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในขณะที่ฟัง มีเยอะภาคปฏิบัติในครั้งพุทธกาล เราก็เชื่อตอนที่ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนี่ละ ได้เชื่อย้อนหลังไปหาครั้งพุทธกาลว่าท่านฟังเทศน์สำเร็จมรรคผลนิพพานจำนวนไม่น้อยๆ เพราะผู้มาฟังภูมิจิตภูมิใจมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน
การได้ยินได้ฟัง ฟังอยู่โดยสม่ำเสมอก็ซักฟอกจิตใจไปโดยลำดับลำดา ก็เข้าถึงขั้นละเอียดๆ ฟังครั้งนี้ๆค่อยซักฟอกจิตเข้าไป ละเอียดเข้าไป ค่อยผ่านไปได้ สุดท้ายก็พ้น สุดท้ายก็พ้น เห็นได้ชัดในเวลาเราปฏิบัติอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น วันไหนที่จะมีการประชุม แหม จิตใจไม่ว่าท่านว่าเราดูกระปรี้กระเปร่า ยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนเด็กหิวนมแม่นั้นแหละ ว่าจะได้ดื่มนมแม่ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายหิวอรรถหิวธรรม ที่จะได้ยินได้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมจากท่าน ต่างองค์ก็มีความกระหยิ่มยิ้มย่อง
ประการหนึ่งภูมิจิตภูมิใจของเราเวลานี้อยู่ในขั้นใดภูมิใด เราขัดข้องธรรมะแง่ใดมุมใด ในขณะที่ยังไม่ได้ฟังเทศน์ท่าน เวลาท่านเทศน์เข้าไปจิตก็จ่ออยู่ในภูมิของตัวเองนั่นแหละ มันติดอยู่ตรงนั้น พอท่านเทศน์ผ่านเข้ามา ผ่านเข้ามา จิตยิ่งจ่อ พอผ่านมานี้แล้วท่านจะว่าอย่างไร เราติดเราไปไม่ได้ ท่านผ่านไปหมด พอผ่านมาพับนี่มันเหมือนว่าโดดจับปั๊บๆ เคลื่อนไปเลยเคลื่อนขึ้นไป ผ่านไป อย่างนี้ละ คราวนี้เทศน์อย่างนี้แก้ปัญหาภายในใจได้อย่างนี้ คราวต่อไปแก้ ขาดไปได้ และสูงเป็นลำดับลำดาไป สุดท้ายก็พ้นไปได้ นี่จึงเชื่อย้อนหลังนะ ที่ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บรรดาสาวกทั้งหลายที่สำเร็จมรรคผลนิพพาน
ก็คือมันขยับไปเรื่อยๆ ฟังคราวนี้เลื่อนไปจิตเลื่อนไปเลยเรื่อย เลื่อนไปเรื่อย ปฏิบัติไปเรื่อย ต่อไปก็สูง พ้นได้ แต่ก่อนเราไม่เคยคิด มาได้คิดตอนฟังเทศน์หลวงปู่มั่นเรานี่ จึงย้อนหลังเชื่อย้อนหลังไปเลย เวลานี้เรากำลังอยู่ในธรรมะขั้นนี้ หรือปัญหาข้อนี้ เรายังติดยังพันกันอยู่ยังแก้ไม่ออก เวลาท่านเทศน์ท่านจะเทศน์อย่างไร พอจวนมาถึงที่นั่นจิตจะจ่อละทีนี้ คอยฟัง เราก้าวมาถึงนี้แล้วก้าวไม่ออก ติด ติดข้องอยู่ในนั้น พอท่านเทศน์มาถึงนั้นท่านผ่านผึงไปเลย จิตโดดนตามได้ นี่เป็นขั้นแล้ว เป็นขั้นได้แล้ว หมดปัญหาผ่านได้ ครั้นต่อไปฟังอีก ติดอยู่ในปัญหาข้อใดๆ ท่านผ่านไปหมดแล้ว เทศน์ก็เทศน์ผ่านไปเลย เราก็ค่อยขยับตาม ครั้งนี้ขยับอย่างนี้ ครั้งนี้ขยับไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นั่น
นี่ละเรายังไม่ลืมนะที่จิตของเรามันดับอยู่ถึงสามวัน เราก็ไม่เคยเป็นตั้งแต่ปฏิบัติมา นี่ก็เป็นจากการฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนั่นแล ฟังเทศน์เข้าไปจิตมันแน่วลงๆ ๆ วันมันจะดับนะ วันที่จิตมันจะดับ ทั้งๆที่รู้อยู่แต่มันก็ดับอันหนึ่งของมัน พอเทศน์ลงไปจิตมันแน่วลงเลย ท่านเทศน์หยุดลงไปแล้วจิตมันยังดับของมัน รู้ๆอยู่นะหากดับ พูดยากนะ มันดับอารมณ์อะไรๆ นั่นแหละ ไม่มีอารมณ์อะไรมากวนใจ จิตดับเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นอกนั้นดับหมด เหมือนไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ จิตดับอยู่ถึงสามวัน เราก็ไม่เคยเป็น แต่เป็นเพราะการฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่นเรา ก็เป็นสิ่งที่อัศจรรย์ มันดับจริงๆนะ จะว่ามันไม่รู้เลยไม่ได้ รู้แต่ไม่มีอะไรเข้ากวนใจ ดับเงียบเลย เป็นหนเดียวเท่านั้น แต่มันก็เป็นพยานได้อย่างฝังใจ ไม่ลืม
นี่ละอานิสงส์แห่งการฟังเทศน์ภาคปฏิบัติ เห็นได้ชัด ดังที่ท่านแสดงไว้ในการฟังธรรมมีอานิสงส์ห้าอย่าง ในปริยัตินะ หนึ่ง จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง สอง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัดจะได้เข้าใจชัด สาม จะทำความเห็นให้ถูกต้องได้ สี่ จะบรรเทาความสงสัยเสียได้ ห้า จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส ข้อที่ห้านี่สำคัญมากนะ ฟังเทศน์นี่จิตสงบผ่องใส สงบผ่องใส ท่านแสดงถึงอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ภาคปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน รู้ชัดๆ สงสัยข้อใดเวลาท่านเทศน์มาความสงสัยนั้นก็หายไปๆ สุดท้ายในขณะที่ฟังนั้นจิตย่อมมีความสงบผ่องใสเหมือนๆกัน ตามขั้นภูมิของใจ ผู้ที่ภูมิจิตละเอียดลออก็สงบผ่องใสไปตามขั้นภูมิของตน ผู้ที่ลดลงมาก็มีคุณค่าตามกำลังที่ตนได้บำเพ็ญมาเป็นลำดับลำดาไปอย่างนั้น
นี่ท่านว่ามีอานิสงส์ห้า อานิสงส์ข้อสุดท้ายสำคัญมากทีเดียว จิตมีความสงบผ่องใส พอก้าวทางด้านปัญญาแล้วไปอีกนะ ในข้อที่ห้านี่ก้าวทางด้านปัญญา แทนที่จิตใจจะมีความสงบเหมือนขั้นสมาธิกลับเป็นขั้นปัญญา เดินตามท่าน เดินตามท่านขยับตามท่านเรื่อย จิตขั้นปัญญาจะไม่อยู่นิ่งๆนะเวลาฟังเทศน์ ขั้นปัญญานี้หมายถึงสติ-ปัญญาอัตโนมัติ หมุนฆ่ากิเลสอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่เห็นทางปริยัติว่าสติ-ปัญญาอัตโนมัตินะ แต่เวลามาเจอมาเห็นก็มาเห็นจากภาคปฏิบัติของเราที่เป็นเอง ก็เลยนำมาพูด
ดังที่ว่าสติ-ปัญญาขั้นอัตโนมัติแล้วฆ่ากิเลส ทำลายกิเลส รบกิเลสเป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องบังคับบัญชา ดีไม่ดีได้รั้งเอาไว้ในบางกาล มันจะเลยเถิดเพราะหมุนตัวตลอดเวลา ด้วยหลักธรรมชาติของมัน ดูดดื่ม เพื่อความพ้นทุกข์ ดูดดื่มจนลืมหลับลืมนอน นี่ขั้นสติ-ปัญญาอัตโนมัติ ฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติ ทีนี้ก็ทำให้ย้อนไปคิดถึงเรื่องกิเลสทำลายหัวใจสัตว์โลกโดยอัตโนมัติของมัน ทั่วโลกกิเลสทำงานบนหัวใจตลอดเหมือนกันหมดทุกดวง มันหากคิดหากปรุงของมัน
ตาเห็น หูได้ยิน กิเลสจะออกก่อนๆ กิเลสทำงานทั้งนั้น ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-จิตสัมพันธ์กับรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสมันจะหมุนไปทางกิเลสโดยอัตโนมัติ เราเองก็ไม่รู้ว่ากิเลสทำงานโดยอัตโนมัติบนหัวใจสัตว์โลกนะ แต่เวลาเข้ามาถึงสติ-ปัญญาอัตโนมัติฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติมันถึงมารับกัน อ๋อ ตั้งแต่สมัยกิเลสทำงานมันก็ทำงานอัตโนมัติอย่างนั้นเรื่อยมา ทีนี้เวลาธรรมะมีกำลังแล้วธรรมะฆ่ากิเลสสังหารกิเลสก็เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน คือไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ไม่ได้ขับได้ไสได้บีบบังคับในทางความเพียรเลย ดีไม่ดีได้รั้งเอาไว้ คือมันเพลินจนจะเลยเถิด จึงต้องรั้งเอาไว้ให้อยู่ในความพอดิบพอดี
ถึงกาลเวลาที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากแล้วให้พัก พักมีสองประเภท พักผ่อนนอนหลับหนึ่ง พักผ่อนในสมาธิหนึ่ง คือไม่ทำงานทั้งสอง จิตเข้าสู่สมาธิแล้วมีอารมณ์อันเดียว เรียกว่าเอกัคคตารมณ์ รู้อยู่เด่นๆ ด้วยความสงบเย็นใจ ปล่อยงานทั้งหมด นี่ก็สั่งสมกำลังขึ้นมา ได้กำลังวังชาในขณะที่จิตพักงานการพิจารณาทางด้านปัญญาต่างๆ พักโดยสิ้นเชิง จิตเข้าสู่สมาธิ จนจิตมีกำลังวังชา มันหากรู้เองสำหรับผู้เป็นสมาธิ ผู้พักในสมาธิ
พอมีกำลังวังชาพอตัวแล้วทีนี้ถอยออกมา พอจิตถอยออกมาก็พุ่งใส่ทางด้านสติปัญญา ไม่ห่วงทางด้านสมาธิ เวลาออกทางด้านปัญญาหมุนฆ่ากิเลสเป็นลำดับลำดาเป็นอัตโนมัติ นี่เรียกว่าธรรมฆ่ากิเลส สังหารกิเลสเป็นอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกิเลสทรมานหัวใจสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติ นี่เราก็ไม่เคยเห็นคัมภีร์ใด แต่มันก็มาเป็นในคัมภีร์หัวใจเราเอง จึงได้นำมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาจิตยังธรรมดาเรานี้มีแต่กิเลสทำงานตลอด ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ระงับความคิดปรุงอันเป็นเรื่องของกิเลสนั้นด้วยการหลับนอนเท่านั้น ถ้าไม่หลับนอนมันก็ทำงานของมันตลอดไป
ทีนี้จิตเวลาบำเพ็ญภาวนาระงับกิเลสก็ระงับด้วยการหลับนอนหนึ่ง ระงับทางด้านสติปัญญาไม่ให้ทำงาน ระงับกันเวลาหลับนอน บังคับจิตให้หลับ ไม่คิดกับเรื่องอะไรๆ ดีไม่ดีเราต้องได้คำบริกรรมคำใดคำหนึ่งที่เราเคยต่อนิสัยของเรา มากำกับใจไว้ให้มีอารมณ์อันเดียว กับคำบริกรรมนั้นเท่านั้น ไม่เช่นนั้นมันจะพุ่งออกทางด้านปัญญา เพราะทางด้านปัญญานี้รุนแรงมากนะ ฟังแต่ว่าเป็นอัตโนมัติ เหมือนน้ำไหลโจนลง จากภูเขาซ่าๆ สติปัญญาฆ่ากิเลสด้วยกำลังของตนก็เป็นเช่นนั้น
ทีนี้ให้พัก มันไม่อยากพัก มันหมุนไปกับทางด้านปัญญาฆ่ากิเลส ต้องรั้งเข้ามา รั้งเข้ามาธรรมดาไม่อยู่ ต้องรั้งเข้ามาด้วยคำบริกรรม เช่นเราเคยมาแต่ก่อน เราใช้คำบริกรรมใดที่ปฏิบัติเบื้องต้น เรานำคำบริกรรมนั้นเข้ามา เช่นพุทโธๆ ไม่ให้ไปไหนเลย ให้อยู่กับพุทโธอันเดียวเท่านั้น ถ้าออกไปก็ออกทางด้านปัญญา ไม่ใช่ออกไปทางโลกทางสงสาร ออกทางด้านปัญญา เพลินตัวไปเลย ต้องรั้งกันไว้กับคำบริกรรม ให้อยู่กับพุทโธๆ
เมื่อจิตมาเป็นอารมณ์อันเดียวแล้วมันก็เข้าสงบได้ หรือหลับได้ มันมีสองอย่าง อันหนึ่งเพื่อจะให้เข้าสมาธิ มันก็สงบลงๆ ด้วยอำนาจของคำบริกรรม นี่เข้าสู่สมาธิ ทั้งๆที่สมาธิของเราก็เรียกว่าชำนิชำนาญพอ แต่เวลาทางด้านปัญญาที่เราออกเดินแล้วมีคุณค่า มีน้ำหนักมากกว่า มันจึงไม่สนใจกับสมาธิ ดีไม่ดีตำหนิสมาธิว่า สมาธินี้ไม่ได้แก้กิเลส นอนตายเฉยๆ นั่น ว่าให้ตัวเองนะ ไม่เห็นแก้กิเลสตัวใดได้เลย มีแต่ความสงบ สงบเท่าไรไม่แก้กิเลส ปัญญาต่างหากแก้กิเลส ทีนี้มันก็เพลินทางด้านปัญญา ไม่อยากเข้าสมาธิ จึงต้องบังคับให้เข้าสมาธิ เป็นอารมณ์อันเดียวด้วยคำบริกรรมพุทโธ
นี่เคยผ่านมาแล้วเป็นมาแล้วเป็นมาแล้ว คือบังคับให้เข้าสู่สมาธิ ทั้งๆที่สมาธิมีความชำนิชำนาญพอแล้วก็ตาม แต่มันไม่เข้า เพราะอำนาจของทางด้านปัญญารุนแรงมากกว่า จึงต้องใช้คำบริกรรมบังคับจิตให้บริกรรม ให้อยู่อันเดียว ไม่ให้ออก พออยู่อันเดียวแล้วมันก็แน่วลงไปหาสมาธิ มีอารมณ์อันเดียว พักให้สบาย จากนั้นพาลามือเท่านั้น ที่ว่าเผลอนี้เราไม่อยากพูด จิตขั้นนี้มันไม่ได้เผลอ พอลามือเบามือนิดหนึ่งเท่านั้นมันกระโดดผึงออกทางด้านปัญญา ฆ่ากิเลสเป็นลำดับลำดาไปด้วยความเพลิดเพลิน
นั่นละที่ว่าลืมหลับลืมนอน ลืมพักผ่อน บางทีนอนไม่หลับ มันเพลินในงานฆ่ากิเลส นี่สติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นที่จะไปโดยถ่ายเดียว แน่แล้วว่าอย่างไรต้องหลุดพ้นแน่นอน เป็นแต่เพียงว่าช้ากับเร็ว ไปอย่างนั้นหมุนเรื่อยๆ ไป นี่ขั้นสติปัญญามีกำลัง ฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติ ไม่ใช่ว่าเราจะคอยฆ่ามันอยู่ตลอดเวลา พอถึงขั้นสติ-ปัญญาคล่องตัวแล้ว สติ-ปัญญาทำงานเองด้วยความดูดดื่ม หมุนติ้วๆ ตลอดเวลา จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นไปหมด ไม่มีอะไรเหลือตกข้างอยู่ภายในใจเลย สติ-ปัญญาประเภทธรรมจักรหมุนตัวตลอดเวลานี้ก็ระงับดับกันลงไปเอง โดยไม่ต้องบังคับ เพราะนี้เป็นเครื่องมือ นี้เป็นมรรค สติ-ปัญญา มหาสติ-มหาปัญญา เป็นมรรค เป็นทางเดิน เป็นเครื่องมือทั้งนั้น พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วเครื่องมือฆ่ากิเลสคือมหาสติ-มหาปัญญาก็ระงับตัวลงไปเอง
จากนั้นแล้วก็ไม่มีงานอะไร นี่ละฆ่ากิเลส เมื่อฆ่าให้หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดจะโผล่หน้าขึ้นมาอีก ให้ได้เอะใจว่า เอ๊นี้นึกว่าฆ่ากิเลสมันหมดสิ้นไปแล้ว ทำไมมันจึงมาโผล่ขึ้นมาอีก อย่างนี้ไม่มี เรียกว่าสนฺทิฏฺฐิโก ขั้นสุดยอด รู้ประจักษ์ตนว่าระหว่างกิเลสกับใจนี้ขาดสะบั้นจากกันไปแล้ว จิตนี้กลายเป็นจิตตวิมุตติ กิเลสเป็นสมมุติ ถ้าว่าเป็นฝั่งก็เป็นคนละฝั่งแล้ว เข้ากันไม่ได้เลย นี่ละเรื่องของจิต ออกทางด้านมหาสติ-มหาปัญญา เหล่านี้เป็นเองนะ นี่ละขั้นนี้ขั้นเป็นเอง ขั้นฆ่ากิเลสเอง ไม่ใช่ว่าเราจะตะเกียกตะกายอย่างนี้ไปตลอดเวลานะ พอถึงขั้นธรรมมีกำลังก็จะมีความดูดดื่ม ศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในอรรถในธรรมที่ตนเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว ก็แน่นหนามั่นคง ที่ยังไม่รู้ไม่เห็นก็ดูดดื่มในใจ ที่จะให้รู้ให้เห็นมันก็ดูดดื่มไปด้วยกันทั้งสองนั้นแหละ หมุนไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งจิตนี้พอเข้าถึงขั้นที่จะไม่อยู่แล้ว นี่ละที่มันเพลินเกินตัว จะไม่อยู่ทั้งนั้น มีแต่จะให้พ้นๆ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมมือ หวุดหวิดๆจับผิดจับถูกอยู่อย่างนั้นละ มันจะยิ่งดื่มเรื่อยเข้าไปจิตใจ เห็นโทษของกิเลสมากน้อยเต็มหัวใจ และเห็นคุณค่าของธรรม เครื่องพาให้หลุดพ้นก็เต็มหัวใจด้วยกัน เมื่อต่างอันต่างเต็มหัวใจด้วยกันมันต้องฟัดกันเต็มเหนี่ยวเลย จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว นั่นละที่ท่านแสดงว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ แปลตามปริยัติท่านว่า พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว งานที่ควรทำได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว งานอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี ท่านแปลออกเป็นทางปริยัติ
แต่ทางภาคปฏิบัติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จสิ้นแล้วข้าศึกอันใหญ่หลวง คือกิเลสวัฏวนกับใจที่เคยบีบบี้สีไฟกันมาได้ขาดสะบั้นจากกันไปเรียบร้อยแล้ว หมด ไม่มีอะไรเหลือแล้วจิตดวงนี้ นี่ภาคปฏิบัติว่าสงครามอันใหญ่หลวงได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หมด ทีนี้ไม่มีอะไร สงครามอะไรก็ตามจะไม่มีอีกเลย แล้วก็เป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อกิเลสสิ้นไปจากใจแล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้ละกิเลสตัวใด ถอดถอนกิเลสตัวใดตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งถึงวันนิพพาน ท่านไม่มี จึงเรียกว่ากิเลสมันเสร็จมันสิ้นมันหมดจริงๆ กิริยาท่าทางที่ท่านแสดงออกนั้นเป็นพลังของธรรมทั้งนั้น
เรื่องกิเลสที่จะมาแฝงธรรมด้วยความดุด่าว่ากล่าว เด็ดๆเผ็ดๆร้อนๆ เป็นฟืนเป็นไฟในกิริยาที่แสดงออกนั้น ถ้ากิเลสมีอยู่นั้นจะเป็นไฟไปด้วยกันเลย แต่เมื่อกิเลสสิ้นแล้วก็เป็นพลังของธรรมไปหมด ไม่มีกิเลสจะมาแทรกว่าเป็นโมโหจริงๆ ไม่มี หมด เป็นพลังของธรรมทั้งนั้น รุนแรงก็เป็นพลังของธรรมรุนแรง พุ่งๆๆเลย จะให้กิเลสเข้ามาแฝงไม่มีเลย มันเป็นอย่างนั้น ใจดวงนี้เป็นธรรมล้วนๆ แสดงออกก็มีแต่ธรรม ไม่มีกิเลสแฝง อะไรจึงไม่เป็นพิษเป็นภัย กิริยาของพระอรหันต์ท่านแสดงออกนี้ ออกจากหัวใจที่เป็นคุณมหาคุณล้วนๆแล้ว จึงเป็นคุณทั้งหมด ไม่มีอะไรที่จะเป็นพิษต่อโลกต่อสงสาร ต่อตัวเองก็ไม่มี หมดโดยสิ้นเชิง เป็นคุณล้วนๆในการแสดงออกของท่าน
มันต่างกันกับคนมีกิเลส ผู้มีกิเลสแสดงกิเลสก็แฝงไปตามนั้นๆ ควรหนักกิเลสก็หนักมือ ควรเบาเบา กิเลสจะแฝงธรรม ธรรมเพียงสักแต่ว่าแสดงธรรมหรือพูดด้วยความเป็นธรรม แต่กิเลสมันแฝงอยู่ในนั้น เมื่อกิเลสหมดโดยสิ้นเชิงแล้วจะแสดงกิริยาอาการใดๆก็ตาม จะไม่มีเรื่องกิเลสเข้าแฝงเลย มีแต่พลังของธรรมล้วนๆ จะให้โกรธขนาดไหนมันก็ไม่มีอะไรจะมาโกรธ เพราะมันสิ้นแล้ว ถ้าค้นหาความโกรธได้อยู่ก็ไม่เรียกว่าโกรธ กิเลสนี้สิ้นไป ค้นเท่าไรก็ไม่เจอ แต่ท่านจะค้นหาอะไร ท่านก็รู้แล้วว่ามันสิ้นแล้ว ที่แสดงออกมามีแต่ธรรมล้วนๆ แล้ว นั่น มันก็เป็นธรรมตลอดไป
นี่ละธรรมภาคปฏิบัติกับภาคปริยัติ ภาคปริยัติเรียกว่าเรียนแบบแปลนแผนผังนำมาปฏิบัติ การเรียนมานั้นเป็นความจำ ความจำไม่ได้เป็นสมบัติของตน การปฏิบัติจากที่เรียนมาต่างหากเป็นผลขึ้นมาแล้วเป็นสมบัติของตนเรื่อยไปเลย จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นเป็นสมบัติของตนล้วนๆ ทางภาคฏิบัติจากปริยัติที่เรียนมา ท่านจึงเรียกว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติได้แก่การศึกษาเล่าเรียนแบบแปลนแผนผัง ปฏิบัติได้แก่นำแปลนนั้นเข้ามาปลูกบ้านสร้างเรือน จนสำเร็จเป็นหลังขึ้นมา ภาคปฏิบัติธรรมะ ก็เริ่มต้นตั้งแต่ฝึกหัดภาวนา เป็นสมาธิ เป็นปัญญาเรื่อยขึ้นไป จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้น เรียกว่าเป็นมรรคเป็นผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรียกว่าปฏิเวธๆ
ปฏิเวธคือรู้แจ้งชัดในผลงานของตนเป็นลำดับ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ สงบมากน้อยก็ รู้สงบ นี่เรียกว่าปฏิเวธๆ คือรู้ผลงานของตน จนกระทั่งจิตทะลุไปโดยสิ้นเชิง เรียกว่าปฏิเวธโดยสมบูรณ์ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี้คือพุทธศาสนาอันสมบูรณ์โดยแท้ ถ้ามีแต่ภาคศึกษาเล่าเรียน ไม่มีภาคปฏิบัติศาสนาขาดบาทขาดตาเต็ง ไม่สมบูรณ์ ต้องมีปฏิบัติด้วย ผลก็จะมีขึ้นโดยลำดับตามกำลังของผู้บำเพ็ญนั้นแล ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติผลก็ไม่เกิด เรียนมาเท่าไรก็เรียนปริยัติ ไม่เกิดประโยชน์ เรียนแล้วออกปฏิบัติผลที่เกิดขึ้นเป็นสมบัติของตนโดยแท้ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นเป็นสมบัติของตนโดยสมบูรณ์ นี่เรียกว่าพุทธศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่ขาดบาดขาดตาเต็ง
ไม่มีการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีภาคปฏิบัติศาสนาก็เป็นโมฆะอยู่อย่างนั้นละ มีแต่แบบแปลน ค้นเข้าไปในห้องในหับมีแต่แบบแต่แปลน ที่จะเป็นผลออกมาจากแบบแปลนนำไปกางสร้างบ้านสร้างเรือนไม่มี นี้เรียนมาแล้วเอาแบบนี้ไปกางบำเพ็ญให้จิตมีความร่มเย็น เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติหลุดพ้นไม่มี ศาสนาก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ท่านจึงสอนให้ทำทั้งสองประเภทนี้กลมกลืนกัน ปริยัติ-ปฏิบัติ แล้วผลอันที่สามนี้จะตามกันมา ปฏิเวธๆ เป็นศาสนาที่สมบูรณ์แบบ หัวใจเราก็สมบูรณ์แบบ
ปริยัติเราก็ได้ศึกษามาแล้ว ตั้งแต่เกสา-โลมา พระไปบวชกับพระพุทธเจ้าสอนปริยัติให้แล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เอาไปบริกรรม เมื่ออยู่ในขั้นฝึกหัดใหม่ นำกรรมฐานห้านี้ไปบริกรรมให้จิตสงบเย็นใจอยู่กับกรรมฐานห้าข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะทั้งหมดก็ได้ พอจิตมีความสงบเยือกเย็นได้พอเป็นฐานแห่งจิตใจของตนแล้วก็แยกเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เป็นหินลับปัญญา พิจารณาสิ่งเหล่านี้เป็นปัญญาเรื่อยๆ ทะลุไปเลย นี่ละกรรมฐานห้า กรรมฐานที่ตั้งแห่งงานอันเลิศเลอ อันถูกต้องแม่นยำ เรียกว่ากรรมฐาน กรรมฐานแปลว่าที่ตั้งแห่งงานเพื่อถอดถอนกิเลสด้วยความถูกต้องแม่นยำ คืออันนี้เอง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงประทานให้กรรมฐานห้าก่อน พอตโจหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พอไปถึงหนังมันกระจายไปหมดแล้วทั่วร่างกาย พิจารณาหนัง จากหนังเข้าไปเป็นอย่างไร ก็มีแต่ส้วมแต่ถานเต็มตัว ไม่ว่าท่านว่าเรา ของสกปรกโสโครกโสมมเต็มอยู่ในนั้น เปิดหนังออกแล้วมันก็รู้เอง พอไปถึงหนังกระจายไปหมด ท่านเรียกว่าเรียนกรรมฐาน เรียนภูเขาภูเรา ติดเขาติดเรา หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก เพราะภูเขาทั้งลูกมันจะใหญ่โตขนาดไหนเราไม่ได้ไปแบกไปหามมัน แต่ภูเขาภูเราถือเขาถือเรานี้ถือทุกคน แบกทุกคน ไม่มีใครทำลายภูเขาลูกนี้ นอกจากจะส่งเสริมให้มันหนาแน่นขึ้นไปโดยลำดับ ทับหัวใจเจ้าของโดยลำดับ จนไม่มีที่จอดแวะ ตรงไปเรื่อยเท่านั้น
ท่านทั้งหลายให้พากันพิจารณา พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องติ ธรรมพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วโดยถูกต้อง แล้วสดๆร้อนๆด้วย ไม่ผิดไม่พลาด ไม่คลาดไม่เคลื่อนไปไหนเลย ว่าบาปมีให้จำให้ถึงใจนะ บุญมี นี่พระวาจาที่สดๆร้อนๆ ของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวนี้นะ แสดงแบบเดียวกันหมด เพราะสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายนั้นเป็นของมีอยู่ด้วยกัน เห็นด้วยกัน รู้ด้วยกัน พูดก็พูดแบบเดียวกัน จะไปลบล้างไม่ได้ บาป-บุญ-นรก-สวรรค์-พรหมโลก-นิพพาน ตลอดถึงเปรตผีประเภทต่างๆ เหล่านี้มีอยู่แล้วทั้งนั้น พอมาตรัสรู้ก็มาเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ก่อนไม่ได้ตรัสรู้ไม่เห็น
สมมุติว่าคนตาบอดนี้เดินไปนี้ต้นเสามีมันก็ไม่เห็น โดนเอาๆ ทีนี้จิตใจมันมืดบอดมันก็โดนเอา ส่วนมากโดนตั้งแต่ทางต่ำ ทางไม่พึงปรารถนานั่นแหละ เรียกว่าตาบอด พอหัวใจจ้าขึ้นมาแล้วเห็นหมด พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความรู้ความเห็นมาแล้วโดยสมบูรณ์ เราอย่าไปคัดค้านต้านทานท่านนะ การคัดค้านต้านทานท่านก็เท่ากับทำลายตัวเราเองเป็นลำดับลำดา เพราะที่ท่านสอนไว้แล้วนั้นถูกต้องสมบูรณ์เต็มที่แล้ว มันบกพร่องตั้งแต่เรา ให้ปรับตัวของเราเข้าสู่ความดีงามตามธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วค่อยเจริญรุ่งเรืองไป
จิตดวงนี้เป็นนักท่องเที่ยว เกิดแก่เจ็บตาย เกิดตลอด ตายตลอด สิ่งที่จิตเข้าไปอาศัยนั้นเรียกว่าเกิด ใจแท้ไม่มีคำว่าเกิดว่าตาย เป็นธรรมชาติเช่นนี้ตลอดไป แม้จะตกนรกอเวจีกี่กัปกี่กัลป์ตามอำนาจแห่งกรรมหนักเบาก็ตาม เรื่องความทุกข์นั้นยอมรับว่าทุกข์ ทุกข์มากทุกข์น้อยตามอำนาจแห่งกรรมของตนนะ ยอมรับ แต่จิตนี้จะสิ้นสูญไป ฉิบหายวายป่วงไปเพราะทุกข์สังหารอย่างนี้ไม่มี จิตเป็นจิตตลอด เสวยทุกข์จนกระทั่งมันเคลื่อนออกมาตามกฎอนิจจังของโลกสมมุติมันมีกฎอนิจจังค่อยแปรไปๆ แปรช้าแปรเร็ว
ผู้ที่มีกรรมหนักตกนรกอเวจีนี้ก็แปร แต่แปรช้ามาก ดังที่ท่านว่าตั้งหลายหมื่นปีอย่างนี้ คือมันค่อยเปลี่ยนแปลงของมัน มันไม่ได้ตกวันนี้ ตอนเช้านี้ตอนเย็นขึ้นได้ นี่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนั้น แต่จิตไม่เคยสูญ ไม่เคยสูญมาแต่กาลไหนๆ พอพลิกตัวได้มาทางที่ถูกที่ดีก็ไปในทางที่ดีเรื่อยๆ ไป นี่ละจิตดวงนี้ละไม่สูญ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นก็ไม่สูญ นั่นละทีนี้ที่สุดของจิตแท้ถึงวิมุตติหลุดพ้นกลายเป็นธรรมธาตุไปเลย ไม่สูญ จิตดวงนี้คำว่าสูญไม่มี ลงในนรกอเวจีก็ไม่สูญ ถึงจะทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่ยอมสูญคือจิตดวงนี้ เวลาขึ้นไปทางที่ถูกที่ดี ดีจนถึงที่สุด ถึงพระนิพพานเรียกบรมสุขไปเลย แล้วเป็นธรรมธาตุ ไม่มีคำว่าสูญคือจิตดวงนี้
จึงให้พากันฝึกฝนอบรม เราเป็นผู้รับผิดชอบในจิตของเราเอง แล้วหน้าที่การงานที่จะออกจากจิตคิดปรุงต่างๆให้ระมัดระวัง อะไรที่ไม่ถูกต้องดีงาม ธรรมท่านตำหนิ อย่าฝืนทำ เป็นการทำลายตัวโดยตรงนั้นแหละ ให้พยายามบึกบึนตามนั้น เราเชื่อธรรม ธรรมนี้เป็นธรรมของศาสดาองค์เอง ไม่เสียหายไปไหนเลย เป็นมหามงคลแก่ผู้เชื่อและผู้ปฏิบัติตามโดยถ่ายเดียว ไม่เหมือนกิเลสที่มีแต่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงตลอดเวลา พาสัตว์โลกให้ล่มจมมานี้กี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังจะหลอกต่อไปอีก แล้วสัตว์โลกทั้งหลายก็ไม่มีคำว่าเข็ดหลาบอิ่มพอ ก็คือกิเลสหลอกลวงนั้นแหละ
ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่อรรถสู่ธรรม ฝืนก็กลืน กินขมก็กิน ฝืนก็กิน มันจะขมจะเผ็ดจะเค็มอะไรก็เอาฝืนไปตามพระพุทธเจ้า ศาสดาไม่เคยพาสัตว์โลกให้ล่มจม มีแต่ฉุดลากให้พ้นจากทุกข์ภัยไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพานโดยถ่ายเดียวเท่านั้น คำสอนของศาสดาไม่เหมือนคำสอนของกิเลส ที่หลอกลวงพาให้เราล่มจมอยู่เสมอ ใครลืมเนื้อลืมตัวไปตามกิเลสล่มจมได้ไมสงสัย
ขอให้ทุกๆท่านนำธรรมะนี้ไปประพฤติปฏิบัติตน คนไม่มีศาสนาไม่มีธรรมในใจก็เหมือนสัตว์ตัวหนึ่งๆ ความหมายไม่มีในตัวของคน มีแต่ลมหายใจฝอดๆ สาระธรรมคือความดีงามไม่ได้สร้างเอาไว้เลย นี้เป็นโมฆะ มีแต่ลมหายใจ ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ทั้งหลายเลย นี่เราเป็นมนุษย์เราปฏิบัติธรรม เรียกว่าแตกต่างกันกับสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเขาไม่มีธรรม เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม เรานี้ได้ปฏิบัติธรรม ให้นำธรรมนี้ไปปฏิบัติเป็นสิริมงคลแก่จิตใจเรา
วันนี้เทศนาว่าการก็เห็นว่าสมควรแก่ธาตุแก่ขันธ์เวล่ำเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องลูกหลานทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz
|