เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
ใจอิ่มธรรมเสียอย่างเดียวไม่เดือดร้อน
ก่อนจังหัน
การแนะนำสั่งสอนพระทุกวันนี้เราไม่ได้สอนโดยตรงแล้วแหละ ไม่ได้ประชุมสอนพระอบรมพระเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนอบรมเป็นพักเป็นตอนจริงๆ ถึงวาระก็เทศน์อบรม เทศน์อยู่ข้างบน เช่นอาทิตย์หนึ่งบ้าง หรือสิบวันบ้าง ประชุมอบรมพระโดยเฉพาะตลอดมา พออายุเข้า ๘๐ ก็หยุด ว่าจะหยุดไปเลยทีนี้ทางบ้านเมืองก็ยุ่งเข้า ก็ออกช่วยชาติบ้านเมือง เลยไม่ได้หันหน้ามาอบรมพระสั่งสอนพระ สอนก็สอนอย่างนี้ละ แจกจ่ายกันไปเลยไม่ทั่วไม่ถึง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
การสอนพระเป็นอย่างหนึ่ง การสอนฆราวาสเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ได้เหมือนกัน สอนพระจะสอนให้ไปไถไร่ไถนาได้ยังไงใช่ไหม สอนฆราวาสก็จะให้มาอดข้าวอดนอนอยู่ในนี้มันก็ไม่ได้ การสอนก็แยกกันไปๆ พระก็ให้รู้หน้าที่ของตนเท่านั้นก็เหมาะสมแล้ว ถ้าพระไม่รู้หน้าที่ของพระ พระนี้เลว หน้าที่ของพระคืออะไร หลักของพระที่จะได้รับเป็นผล ทั้งเหตุทั้งผลไปด้วยกัน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่น
ศีลคือะไร พระทั้งองค์นั้นละคือกองศีล กองสมาธิ กองปัญญา อยู่กับพระ กองวิมุตติหลุดพ้นอยู่กับพระ ทีนี้กลับตรงกันข้ามอีก กองนรกอเวจีก็อยู่กับพระ ถ้าเป็นพระอลัชชิตาหาความละอายบาปไม่ได้ นรกอเวจีอยู่กับพระทั้งหมด ถ้าพระเป็นผู้บวชมาตั้งใจต่ออรรถต่อธรรม แล้วศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ กองอยู่กับพระหมดไม่ได้อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าสอนลงที่นี่ ไม่ได้สอนไปต้นไม้ภูเขาอะไร สอนคน ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
พระพุทธเจ้ารับสั่งหรือสั่งสอนคำใดแล้วเป็น สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบๆ ไม่มีที่จะได้เพิ่มเติม ไม่มีที่จะได้ตัดออก สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จากพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วนๆ จึงควรแก่โลกทั้งหลายจะนำไปประพฤติปฏิบัติ ให้พอเหมาะสมกับเพศและวัยของตน จะปล่อยให้อยู่เด้นๆ ด้านๆ มันก็เป็นอย่างนี้แหละมนุษย์เรา ว่ามนุษย์ฉลาดๆ แต่สิ่งที่โง่เขลาที่สุดก็อยู่กับมนุษย์จะให้ว่าไง กิเลสตัวหนาๆ ตัวเป้งๆ มาอยู่ในบุคคลที่อวดตนว่าฉลาดๆ มันฉลาดกินบ้านกินเมือง ฉลาดทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรื่องกิเลสเป็นเรื่องทำลายทั้งนั้น เรื่องธรรมเป็นเรื่องส่งเสริมอุ้มชูกัน เรื่องธรรมเป็นอย่างนั้น
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ให้สั่งสมความดีงามเข้าสู่ตน ความดีคือบุญกุศลนี้เข้าสู่ใจโดยแท้ กิริยาอาการที่เราทำภายนอกเกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ แยกมาทางจิตใจก็เป็นบุญเป็นกุศลต่อจิตใจ ก็คือนำไปทำบุญให้ทาน แยกไปทางธาตุทางขันธ์ก็มาเลี้ยงดูตนเอง เรื่องวัตถุเป็นอย่างนั้น วันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันว่าง โลกสากลทั่วๆ ไปเขาถือวันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันว่าง พุทธศาสนายังดึงวันเสาร์วันอาทิตย์เข้ามาเป็นวันว่าง บวกกันกับวันพระวันโกน วัน ๑๔-๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหรืออนุญาตให้เป็นวันว่างงานภายนอก ให้บำเพ็ญงานภายในคือการทำบุญให้ทาน เจริญศีล ภาวนา ในวันพระวันโกน เป็นวันสงบอารมณ์
อารมณ์ของใจนี้ไม่มีสงบได้ละ ต้องเอาธรรมมาเป็นน้ำดับไฟ เพราะฉะนั้นวันพระวันโกน วัน ๑๔-๑๕ ค่ำ จึงต้องเข้าไปสู่สถานที่อบรม จะเป็นวัดเป็นวาหรือสถานที่ใดก็ได้ซึ่งเป็นที่สงบสงัด หรือไปทำบุญให้ทานกับพระก็ได้วันเช่นนั้น ให้ไปสงบอารมณ์ อารมณ์ที่เต็มอยู่ในหัวใจของโลกไม่มีใครดูแล ไม่มีใครระงับดับมัน มีแต่เสริมมันไปเรื่อยๆ โลกจึงร้อนมากทีเดียว พากันตื่นว่าโลกเจริญๆ เจริญไปถึงไหนโลกเจริญ มันเจริญไฟเผาหัวคนที่อยู่ในโลกนั้นแหละ ถ้าไม่มีธรรมจมๆ ไม่สงสัย ถ้ามีธรรมไม่จม ถึงจะจนขนาดไหนไม่มีเงินมีทอง แต่มีสมบัติภายในอิ่มอยู่ในตัว อิ่มอยู่ในหัวใจนั้นแหละ จะเป็นจะตายไม่เดือดร้อนถ้าใจอิ่มธรรมเสียอย่างเดียว ธาตุขันธ์มันอิ่มอาหารการกิน แต่ใจแห้งผากใช้ไม่ได้ เป็นกองทุกข์มากทีเดียว ให้พากันตั้งอกตั้งใจ
เราเป็นเมืองพุทธแท้ๆ พระพุทธเจ้าศาสดาองค์เอกมาสอนมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธควรจะรู้เนื้อรู้ตัวบ้าง อย่าให้เขาลากเข็นไปถลอกปอกเปิก เขาก็คือพวกกิเลสด้วยกันนั่นแหละ เอาไปถลอกปอกเปิกไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตายทิ้งเปล่าๆ เยอะ เยอะที่สุด ผู้ที่จะตายมีหลักเกณฑ์มีน้อยมาก ผู้มีหลักเกณฑ์ก็คือผู้อบรมทางด้านศีลธรรม ผู้นี้มีหลักมีเกณฑ์ ตายไหนตายได้สบายๆ มีหลักมีเกณฑ์
ดังที่เราพูดอยู่นี้ท่านทั้งหลายว่าเราคุยเหรอ เรามีหลักเต็มหัวใจของเราแล้วเราจึงมาสอนโลก พระพุทธเจ้าสอนโลกด้วยพระบรมสุข ไม่มีความทุกข์เจือปนในพระทัยแม้นิดหนึ่ง พระสาวกอรหัตอรหันต์ท่านเป็นบรมสุขเต็มหัวใจท่าน สอนโลกที่เต็มไปด้วยกองทุกข์นั่นต่างหากนะ นี่สอนโลกที่ดีดดิ้นอยู่นี้เราไม่มีทุกข์ในหัวใจเรา ขาดสะบั้นกันลงไปแล้วด้วยความพากเพียรของเราตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม บนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ประกาศป้างๆ นี้คือความดีที่หามาได้ พูดอย่างนี้เป็นการโอ้อวดแล้วหรือ
เขาหาชั่วได้ชั่ว หาดีได้ดี พูดเรื่องชั่วเรื่องดี ทำไมจึงพูดไม่ได้ถ้ามันไม่เลยมนุษย์ไปแล้ว กลายเป็นเปรตเป็นผีไม่ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมแล้ว ต้องพูดได้ฟังได้ทั้งนั้นแหละมนุษย์เรา ให้พากันไปคิดนะ ศาสนาพระพุทธเจ้าท้าทาย ใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบขนาดไหนได้ผลมาพูดให้กันฟังดังที่ว่านี่ นี่เราก็แทบล้มแทบตายตั้งแต่ออกก้าวขึ้นสู่เวที หลังจากได้รับโอวาทจากพ่อแม่ครูจารย์มั่นแล้วถึงกันทีเดียว ใจถึงธรรม จากอรรถธรรมที่ท่านสอนแล้ว ตั้งแต่นั้นทุ่มกันเลยทีเดียว ทีนี้ผลก็ได้มาๆ จนเป็นที่พอใจ ประกาศป้างขึ้นมาเลยทีเดียว นี่พอแล้ว การปฏิบัติธรรมพอแล้วอย่างนี้ การปฏิบัติตามกิเลสตัณหาพอแล้วมีไหม ไม่มี วิ่งไปตามมันเท่าไรจมไปๆ วิ่งตามกิเลส ถ้าวิ่งตามธรรมนี้เจริญรุ่งเรือง ถึงขั้นพอพอ
นี่ก็บอกชัดๆ เราพอทุกอย่างแล้ว การที่จะละชั่วทำดีละที่ไหน มันพออยู่ในหัวใจนี้แล้ว ดีเป็นสมมุติ ชั่วเป็นสมมุติ เมื่อถึงขั้นบริสุทธิ์เลิศเลอแล้วเหล่านี้เป็นสมมุติ เป็นทางเดิน เมื่อถึงความพ้นทุกข์แล้วหายทุกอย่าง เราสอนโลกเราสอนด้วยความเป็นห่วงโลกนะ เราไม่ได้เป็นห่วงเรา เราพอทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จากการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพุทธศาสนา เอาให้เห็นประจักษ์ในใจซิ ไม่ต้องไปถามหาพระพุทธเจ้าเป็นองค์เช่นไร ขอให้จ้าขึ้นที่จิตใจ ศาสดาองค์เอกเป็นอันเดียวกัน จากใจที่บริสุทธิ์ ที่เป็นธรรมธาตุนี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ฟังให้ดีนะเราพูดให้อย่างชัดๆ
หาดีได้ดี หาชั่วได้ชั่ว ทำไมพูดไม่ได้ ถ้าไม่ให้กิเลสมันเย็บปากๆ ถึงพูดดีไม่ได้ ถ้าพูดชั่วเอาจนตายก็ได้อย่างนั้นเหรอ พวกนี้พวกจม จมไปตามกิเลส เอาละพอ ให้พร
หลังจังหัน
(ลูกศิษย์กราบเรียนเรื่องจะมีการปฏิสังขรณ์พระอารามวัดบวรนิเวศวิหาร) บอกถึงเรื่องราววัดบวรฯที่จะปฏิสังขรณ์ ก็มีเท่านั้น (คงอยากให้หลวงตาทราบว่าสมเด็จพระสังฆราชมีพระอนามัยสมบูรณ์ดี) วัดบวรฯจะเรียกว่าวัดเราก็ถูก กุฏิคอยท่าปราโมชเป็นกุฏิที่สมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่ที่นั่นแต่ก่อน ระยะหลังก็คงจะอยู่ที่นั่นละมั้ง เราก็พักอยู่กับท่านทีแรก ท่านนิมนต์ให้พักข้างบน เราไม่ไป เราบอกท่านจะพักอยู่ข้างล่าง โธ่ เวลาสำคัญๆ ท่านจะพูดกับเราโดยเฉพาะ ปรึกษาปรารภอะไรลึกลับซับซ้อนแปลกๆ ต่างๆ ท่านจะปรึกษาโดยเฉพาะๆ
ที่สำคัญก็คือพอเวลาเราก้าวเข้าวัดบวรฯ นี้ ภาระท่านปลดเปลื้องมาเลยเทียว มอบให้เราหมดเทศน์อบรมประชาชน วันพระวันอะไรต่ออะไรตอนเย็น ตอนเช้าท่านก็ทำตามพิธีของท่าน ตอนเย็นเราละเป็นผู้อบรมประชาชน ท่านเปลื้องภาระการเทศน์ได้เยอะถ้าไปทีไร ท่านมอบให้เลยนะ ท่านเทศน์มักจะเทศน์เรื่องกรรมฐาน พอดีเราไปนั้นเราเป็นกรรมฐานใหญ่ เข้าใจไหม ท่านก็โยนตูมให้
มีนิทาน คือหมีมันเห็นคน มันโดดเข้ามาจะตะปบคนกัดคน คนก็เลยโดดเข้าไปต้นไม้ หมีมันก็ตะปบมาทั้งสองขาหมี พอดีคนก็จับขาหมีได้ทั้งสอง เลยดันกันไปดันกันมา หมีจะตายก็โดดอย่างแรง หัวคนก็ชนต้นไม้ คนจะตายก็จับขาหมีดึงปึ้งปั้งๆ คือสมเด็จพระสังฆราชท่านจับขาหมีอยู่ เข้าใจไหมล่ะ ซัดกันปึ้งปั้งๆ พอเห็นเราไป อะไรนั่นน่ะ กำลังจับขาหมีๆ มาช่วยหน่อย พอเราจับขาหมีได้ท่านเปิดหนีเลย เรากับหมีเลยซัดกันปึ้งปั้งๆ ป่านนี้ยังคงไม่หยุดละมั้ง นั่นละนิทานย่อๆ รับกัน ท่านโยนขาหมีให้เรา ไปทีไรเป็นอย่างนั้นละ
เรื่องจิตตภาวนาท่านสนพระทัยทางด้านอานาปานสติ เวลาคุยกันโดยเฉพาะก็คุยธรรมะจิตตภาวนาล้วนๆ ท่านก็ทราบเรื่องราวทราบได้ดี ทราบจนวิถีจิตวิถีธรรม การพิจารณาอะไรๆ เพื่อจะเป็นแนวทางให้ท่านพิจารณาต่อไป ความหมายว่างั้น สอนสังฆราชต้องสอนอย่างนั้นซิ ต้องหาอุบายวิธีพูดสอนไปในตัว ท่านสนพระทัยมากการภาวนา ท่านทำอานาปานสติ คุยกันสนุกดีนะสองต่อสอง ไปทีไรท่านก็โยนภาระให้เราละ สำคัญตรงนี้ ไปทีไรหนักนะถ้าไปวัดบวรฯ หนักมากเทศน์อบรมประชาชน ตอนเย็นละไปเทศน์กรรมฐานที่ตึกมหามกุฏหรือตึกอะไรที่รวมใหญ่นั่นละ เราไปที่นั่น เขาก็มาฟังที่นั่นฟังเทศน์ เทศน์อบรมเขาทางด้านภาวนา
ท่านภาระหนักมากการเทศนาว่าการ เราไปทีไรรู้สึกว่าท่านเบาลงมาก เราก็หนักมากเหมือนกัน ตั้งแต่เราสร้างวัดที่สวนแสงธรรมแล้วไม่ได้ไปอีกเลย แต่ก่อนรถราก็จอดได้สะดวกสบาย ทุกวันนี้แน่นหมด แม้แต่กลางวัดบวรฯ ที่เป็นสนามก็ดูว่าเป็นตึกเป็นอะไรขึ้นแล้วทุกวันนี้ หาที่จอดรถไม่ได้เลย ก็พอดีเรามีสวนแสงธรรม สถานที่จอดรถกว้างขวางเหมาะกัน ตั้งแต่นั้นมาเราเลยไม่ได้เข้าวัดบวรฯ ไม่ได้เข้าอีกเลย ไปก็บึ่งไปนู้นเลยไปสวนแสงธรรม พักที่นั่นเลย
วัดไหนก็ไม่ไปพักในกรุงเทพ ตั้งแต่สร้างสวนแสงธรรมแล้ว ไปสวนแสงธรรมทีเดียวเลย แต่ก่อนเราเป็นพระหลายวัด ถ้ามีธุระเกี่ยวข้องใกล้กับวัดใดก็ไปพักวัดนั้นๆ ทำธุระ วัดไหนพักหมดแหละ เพื่อนฝูงมีเยอะในกรุงเทพ วัดบวรฯ วัดเทพศิรินทร์ วัดนรนาถฯ วัดบรมนิวาส วัดสัมพันธวงศ์ วัดไหนไปหมดนั่นแหละ พักวัดไหนก็พักได้เพื่อนฝูงมีเยอะ ตั้งแต่มาสร้างสวนแสงธรรมแล้วนี้จึงไม่ไปวัดไหนเลย ไปสวนแสงธรรม คนก็ไปรวมที่นั่นสะดวกสบาย เรื่องรถราจอดได้สะดวกหมด วัดบวรฯ ทุกวันนี้ไม่มีที่จอดรถนะเพราะแน่นไปหมดเลย
ขอให้พี่น้องทั้งหลายสนใจทางด้านอรรถด้านธรรมให้มากนะ กิเลสเข้าตีหัวใจจนใจจะแตก ใจจะระเบิดแล้วนะ ยังไม่ตายหัวใจจะระเบิดแล้วภายใน มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้ในหัวใจตลอดเวลา อย่าดูแต่เรื่องโลกๆ ดูตั้งแต่เรื่องนอกๆ ให้ดูภายในมันถึงชัดเจนมาก โลกนี้คือไฟเผาโลก ได้แก่กิเลสเผาหัวใจสัตว์ มันเผาอยู่ภายในใจ ไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะ กิเลสเหยียบแหลกหมด เอาธรรมจับรู้หมดเลย มีแต่กิเลสเหยียบ เหยียบไม่ได้แต่ท่านผู้สนใจในธรรม ถึงเหยียบก็ต่อสู้กันอยู่ เรียกว่านักมวยต่อยกัน นักภาวนาต่อยกับกิเลส ไม่ใช่นักภาวนากิเลสเหยียบแหลกๆ ทั้งนั้น
ใครจะเอาภายนอกมาหลอกก็เป็นเรื่องของกิเลสเหยียบหัวธรรมทั้งนั้น ตัวนี่มีแต่กิเลสเหยียบหัวธรรม ถ้ามีธรรมก็เหยียบหัวกิเลส จะมีอยู่บ้างก็ในวงกรรมฐาน เรายอมรับว่ามี นั่นท่านตั้งใจปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา ยกตัวอย่างเช่นวัดถ้ำภูวัว คือตอนค่ำหัวหน้าท่านจะมาประชุมเอาเทปครูบาอาจารย์ ส่วนมากก็มีแต่เทปของเรานี่ละมากกว่าเพื่อน ไม่ว่าไปที่ไหนๆ เทปของเรารู้สึกจะออกหน้า ที่วัดถ้ำภูวัวพอตกค่ำนี้ท่านก็มารวมกันเปิดเทปขึ้นฟัง นั่งสมาธิฟัง หนึ่งกัณฑ์ จากนั้นแล้วใครอยากจะลุกไปไหนก็ไป ไม่ลุกจะนั่งภาวนาต่อไปก็ได้ เทศน์วันละหนึ่งกัณฑ์ กัณฑ์เทศน์นะ เทปวันละหนึ่งกัณฑ์ๆ ท่านอบรมฟังตลอดเวลา ไม่มีใครมายุ่งกวน
นั่นคือสถานที่อบรมธรรม ระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กันบนหัวใจ ต้องต่อสู้ด้วยจิตตภาวนา อย่างอื่นกิเลสไม่กลัว ถ้าจิตตภาวนานี้กิเลสกลัว ใครมีสติดีเท่าไรกิเลสก็กลัว ยิ่งกลัวมากเข้าๆ สติจึงเป็นสำคัญมากนะนักภาวนาเรา ถ้าสติยังดีอยู่แล้วกิเลสจะมากขนาดไหนออกไม่ได้ มันออกทางสังขารคือความคิดความปรุง อวิชชาดันมันให้คิด ไม่ได้คิดมันอัดอั้นตันใจจะเป็นจะตาย คือมันดันออกมา
ผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาที่ยังไม่ได้หลักได้ฐานให้เอาคำบริกรรม จะเป็นพุทโธก็ได้ ธัมโม สังโฆ หรือธรรมบทใดก็ได้ ด้วยสติเป็นเครื่องบังคับอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ อย่าให้เผลอสติ กิเลสจะออกไม่ได้นะ คำบริกรรมนั้นละปิดประตูทางของกิเลสเกิด เมื่อสังขารมาปรุงทางด้านธรรมะแล้ว สังขารจะปรุงทางด้านสมุทัยคือกิเลสมันก็ปรุงไม่ได้ ก็มีแต่สังขารปรุงทางด้านธรรมะๆ เรื่อย สังขารปรุงมากเท่าไรจิตใจก็ค่อยเย็นลงๆ สงบเย็น นี่สังขารสองสังขารต่างกัน สังขารฝ่ายสมุทัยคือกิเลสปรุงมากเท่าไรเป็นฟืนเป็นไฟมากเท่านั้น ถ้าสังขารฝ่ายธรรม เช่นคำบริกรรม เราตั้งรากฐานเพื่อความสงบใจในเบื้องต้น ตั้งรากฐานคือคำบริกรรม แล้วมีสติติดแนบอยู่กับคำบริกรรมไม่ให้เผลอ กิเลสประเภทสังขารสมุทัยจะเกิดเกิดไม่ได้
คือสังขารทางด้านธรรมะทำงานอยู่ตลอด สังขารกิเลสก็เกิดไม่ได้ ทีนี้ใจก็สงบเย็น นี่ละสังขารสองอย่างนี้ต่างกัน สังขารของกิเลสเกิดแล้วเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตัวเอง สังขารของธรรมเกิดขึ้นแล้วระงับเป็นน้ำดับไฟ ความคิดความปรุงของกิเลสเกิดไม่ได้ สังขารของด้านธรรมะปิดแน่นๆ ตลอด นั่นละที่นี่จิตใจก็สงบ พอสงบแล้วเราก็เร่งทางด้านภาวนาของเราให้หนักเข้าด้วยสติ เผลอไม่ได้นะสติ เรื่อยไป นี่ละผู้ที่ตั้งรากฐานไม่ได้จะตั้งได้จิตจะสงบได้ พอจิตสงบแล้วก็เชื่อมเข้าไปหาสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ
จิตใจมีความแน่นหนามั่นคงแล้วก็อิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรๆ ทั้งนั้น ทั้งๆ ที่อยากคิดแต่ก่อนจนกระทั่งอกจะแตกจะพัง เพราะสังขารสมุทัยดันออกมาให้คิดให้ปรุง แต่พอสังขารฝ่ายธรรมปิดทางเดินของมันมากเข้าๆ มันเกิดไม่ได้ เพราะมีแต่สังขารฝ่ายธรรมทำงานอยู่ปากช่องนั้นไม่ให้มันออก ใจก็สงบเย็นๆ จนใจกลายเป็นสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิแล้วสังขารฝ่ายกิเลสก็ไม่ค่อยเกิดละที่นี่ จนกระทั่งถึงความคิดปรุงขึ้นมาแย็บยับรำคาญ อำนาจแห่งสมาธิคือความมั่นคงของใจสงบแน่น ความสงบแน่วเป็นความสุขของขั้นสมาธิ ความคิดความปรุงไม่ยุ่งกวนเลย นั่งอยู่ที่ไหนได้ทั้งนั้นๆ จิตเป็นสมาธิเป็นอย่างนั้น ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรมันกวนใจ มีแต่ความรู้แน่วอยู่อันเดียว เรียกว่าสมาธิมั่นคง
จากนั้นก็ออกทางด้านปัญญา สมาธิเป็นแต่เพียงว่าตีอารมณ์ของใจให้เข้าสู่จุดรวมสงบ ภาวนาให้จิตสงบ พอจิตสงบเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงแล้วให้ออกทางด้านปัญญา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องเป็นเรื่องตาย ทางกรรมฐานพระท่านสอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านบอกย่อๆ เพียงนี้ก่อน แล้วก็ครอบไปหมดนั้นแหละ จากนั้นเราจะคลี่คลายไปถึงอาการ ๓๒ ในสกลกายของเขาของเราได้ทั้งนั้น พิจารณา เรื่องปัญญานี้จะสว่างกระจ่างแจ้งออกไปไม่มีสิ้นสุด ทำให้เพลินในการพิจารณา ระงับดับทุกข์ไปเป็นลำดับลำดาจากการพิจารณาทางด้านปัญญา โดยถือสังขาร เกสา โลมาเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งการทำงาน พิจารณาอย่างนั้นแล้วแยกขยายออกไปจิตใจก็กว้างขวางเบิกบาน นี่ละที่นี่ถอนกิเลสถอนด้วยปัญญา ส่วนสมาธินั้นตีกิเลสตะล่อมเข้ามา ปัญญาคลี่คลายออกฆ่าฟันรันแทงกัน นี่เป็นการดำเนินที่ถูกต้องเหมาะสมมากทีเดียว
ผู้ภาวนาถ้าจิตสงบแล้ว เวลาสงบก็ปล่อยให้สงบ เวลาถอยออกมาจากความสงบแล้วให้ใช้ปัญญา อย่าอยู่อย่าเสียดายความสงบ ที่สงบแล้วสงบเล่าอยู่นั้น ได้เท่านั้นแหละ ฆ่ากิเลสไม่ได้เป็นแต่เพียงสงบ ทางปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส พอคลี่คลายออกทางด้านปัญญานี่เป็นการฆ่ากิเลสไปในตัวแหละ เสร็จเรื่อยๆ ไปเลยนักปฏิบัติ ท่านจึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญาท่านบอกไว้แล้ว ศีลเป็นพื้นฐานแห่งผู้มารักษาศีล ถ้าทำดีอยู่แล้วไม่เป็นกังวล สมาธิแต่ใจมันยังไม่สงบ มันวุ่นวายส่ายแส่แล้วทำจิตตภาวนาให้ใจสงบด้วยบทธรรมบทใดก็ได้ เมื่อใจสงบแล้วใจก็เย็น
สงบหลายครั้งหลายหนก็สร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นมา จนกลายเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วเป็นจิตที่มั่นคงในขั้นนี้ขั้นสมาธิ ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร อยู่ที่ไหนอยู่ได้ทั้งวัน ความคิดความปรุงมันกวนใจ แต่ก่อนอยากคิดอยากปรุงไม่คิดไม่ได้เหมือนอกจะแตก เวลาสมาธิทับหัวมันเข้าไปแล้วความคิดความปรุงระงับดับไป คิดอะไรขึ้นมารำคาญไม่อยากคิด นี่ก็ติดสมาธิ เวลาสมาธิแน่นหนามั่นคงจริงๆ แล้วใจติดได้นะ อยู่ที่ไหนอยู่ได้ทั้งวันไม่คิดไม่ปรุงอะไร แน่วอยู่กับความรู้อันเดียว เอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิต อยู่อันเดียวนั้นเสีย
จึงแยกออกจากนี้ไปทางด้านปัญญา ให้พิจารณาคลี่คลายสิ่งควบคุมทั้งหลายที่เกี่ยวกับอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในกันอยู่ ขึ้นตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไล่เข้าไปจนถึงอาการ ๓๒ หมดทั้งร่างกายของเรา คลี่คลายดูทุกสัดทุกส่วน ว่าอสุภะอสุภังมันก็เป็นป่าช้าผีดิบ แน่ะ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อยู่ในนี้หมด ออกไปข้างนอกก็ป่าช้านอกป่าช้าใน ป่าช้าในคือป่าช้าผีดิบเราที่ยังไม่ตายนี้แหละ เป็นป่าช้าเต็มตัวของมันเป็นแต่เพียงว่ายังไม่ตาย ป่าช้าผีตายก็ไปดูตามป่าช้า เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ไปดูป่าช้า ผู้ที่ภาวนายังไม่ได้หลักได้ฐานภายในป่าช้าผีดิบนี้ ก็ให้พิจารณาป่าช้าผีตายเสียก่อน แล้วน้อมเข้ามาสู่ป่าช้าผีดิบ ปล่อยป่าช้าข้างนอกเข้ามาสู่ป่าช้าข้างใน กระจายนี้ออกไปแตกกระจายไปหมดเลย นี่เรียกว่าปัญญา พิจารณาอย่างนี้
ผู้ที่มุ่งต่อมรรคผลนิพพานจะไม่พ้นจากจุดนี้ไปได้เลย พิจารณาอันนี้กว้างขวางเท่าไรจิตใจยิ่งเบิกกว้างออกไป สติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบ ทุกแง่ทุกมุมไปได้หมดปัญญา ไม่มีอะไรจะฉลาดแหลมคมกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งกว่าปัญญา เมื่อพิจารณาไปแล้วมันพอแล้วมันปล่อยเอง ปล่อยทั้งนั้นละ ร่างกายของเราที่พิจารณามาแบบชุลมุนวุ่นวาย เมื่อมันอิ่มตัวแล้วมันปล่อย อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ไม่มีเลย ปล่อย อิ่มจากนามธรรม พิจารณานามธรรมความเกิดดับของจิต สังขารความปรุง พิจารณาเข้าไปไล่เข้าไปหาจิต ส่วนหยาบส่วนร่างกายนี้มันปล่อยมันวางไป
การปล่อยวางนี้ตั้งแต่ขั้นอนาคาไป คือพอใกล้ทุกอย่างแล้วเรียกว่าอนาคา มันหากรู้ในตัวเอง อนาคา กามราคะหมดไปในจุดนั้นแหละ จากนั้นก็เป็นนามธรรม เราฝึกซ้อมกามราคะที่ว่ามันสิ้นไป แต่ที่เป็นผุยเป็นผงอะไรมันยังติดอยู่นั้นซักฟอกเข้าฝึกซ้อมเข้าไป สิ่งเหล่านี้ก็กระจายออกไปหมดไปๆ ผ่องใสเต็มที่เป็นอนาคาเต็มภูมิ จากนั้นก็พิจารณาถึงเรื่องนามธรรม ความคิดความปรุง สังขารสัญญานี่ละสำคัญปรุง มันออกมาจากจิตๆ ไล่เข้าไปๆ ทีแรกร่างกายปกคลุมไว้ ตีร่างกายแตกกระจายเข้าไปยังเหลือนามธรรมอาการของจิต ตามอาการของจิตเข้าไปสู่ใจ
เข้าไปสู่ใจ เข้าออกๆ พิจารณาเดี๋ยวก็ไปถึงรากใหญ่ของมัน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันก็เข้าไปอยู่ข้างในนั้น พอเข้าถึงนั้นแล้วม้วนเสื่ออวิชชาลงโดยสิ้นเชิงแล้วหมด นั่นละท่านว่าท่านสิ้นกิเลส คือ อวิชฺชาปจฺจยา เป็นกิเลสตัวสุดท้าย ขาดลงไปแล้วไม่มี กิเลสจึงไม่มีใจของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว เช่นใจพระอรหันต์ไม่มี กิเลสก็ไม่มี ผลสุดท้ายกรรมฐานก็ไม่มี พิจารณากรรมฐาน กรรมฐานที่ตั้งแห่งงาน แปลแล้วแปลว่าที่ตั้งแห่งงาน งานเพื่อถอดถอนกิเลสตัวอุปาทานมันยึดสิ่งเหล่านี้ พิจารณาหลายครั้งหลายหนมันถอนได้ ถอนได้มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางทั้งร่างกายเหลือแต่นามธรรม มันหากรู้เอง เวลามันอิ่มตัวแล้วรู้ ไม่เอา เข้าไปนามธรรมจนกระทั่งถึงจิต เมื่อเข้าถึงจิตแล้วก็ไปม้วนเสื่อกันที่จิต อวิชฺชาปจฺจยา นั่นละขาดสะบั้นลงไปแล้วโล่งหมด เรื่องใจนี้ไม่มีอะไรตีบตันอั้นตู้เหมือนแต่ก่อน
กิเลสนั้นละบีบบังคับให้ติดเขาติดเรา เมื่อไม่ติดเขาติดเราแล้วจิตใจมันเบิกกว้างออกไปหมด เป็น สุญฺญโต โลกํ ว่างไปหมดเลย ไม่ติดอะไร จะแสดงอะไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่มีอะไรเข้ามาเป็นเครื่องกีดขวางจิตใจ ใจก็สะดวกสบาย นี่การพิจารณาพิจารณาอย่างนี้ เราพูดนี้เราพูดเพียงย่อๆ นะ แต่การพิจารณากันบนสนามบนเวทีนั้นมันฟัดกันเสียจนแหลก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เอาจนชำนิชำนาญให้พอ เมื่อพอแล้วมันก็ปล่อยของมันเองๆ
นี่เราพูดถึงเรื่องพิจารณากรรมฐาน ผู้ที่บำเพ็ญทำอย่างนี้แล้วมรรคผลนิพพานไม่ไปไหนละ อยู่ชั่วเอื้อมๆ เข้าไปเลย ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้จนกระทั่งวันตายก็ไม่มีความรู้ที่เป็นสมบัติของตัวเอง มีแต่ความรู้ด้วยความจดจำมา จำจากคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้มาก็เป็นหนอนแทะกระดาษเฉยๆ ถ้าไม่สนใจปฏิบัติ เมื่อสนใจนำอันนั้นมาปฏิบัติคลี่คลายตัวเองออกก็เห็นผลขึ้นมา ผลนี้เป็นสมบัติของเรา รู้มากรู้น้อยเป็นสมบัติของเรา จนกระทั่งรู้กระจ่างแจ้งไปหมดเป็นสมบัติของเราโดยสมบูรณ์ เช่นวิมุตติหลุดพ้นเป็นสมบัติของตนโดยสมบูรณ์ นี่ละท่านมีที่ยึดมีที่เกาะท่านมีที่พึ่ง จิตใจมีที่พึ่งเป็นอย่างนี้
ที่พึ่งของกายสมบัติเงินทองข้าวของยศถาบรรดาศักดิ์ ที่พึ่งส่วนนั้นใจก็ไปยึดไปเกาะเขาเพียงเท่านั้น แต่หาเป็นตนเป็นตัวเป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้ แต่พอธรรมเข้ามาสู่ใจแล้ว ใจกับธรรมกลมกลืนกันแล้วก็ปล่อยข้างนอก อันนี้ก็เป็นที่พึ่งของตนโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเป็นที่พึ่งอย่างพอตัว นี่การสร้างจิตใจ ที่พึ่งของใจ ให้พากันสร้างอย่างนี้ ภาวนาก็ภาวนาไป การทำบุญให้ทานเพื่อหนุนจิตใจของเราให้สูงขึ้นทั้งนั้นแหละ การภาวนาเป็นอันดับหนึ่งหนุนขึ้นๆ จนกระทั่งพ้นทุกข์ได้ด้วยอำนาจแห่งบารมีที่สร้างมามากน้อยมารวมตัวกัน เป็นเพชฌฆาตสังหารกิเลสให้ขาดสะบั้นไปโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือจากความดีของเรานั้นแล ให้พากันจดจำเอานะ
เวลานี้จิตใจมันไขว่คว้าตั้งแต่ทางโลก เพราะฉะนั้นจึงหาความสุขไม่ได้ ไขว่คว้าทางโลกก็เป็นเรื่องการไขว่คว้าตามกิเลส มันก็เป็นกิเลสวันยังค่ำ กิเลสก็สร้างทุกข์ให้คนตลอดไป ไม่เหมือนธรรม ธรรมนี้ขวนขวายเท่าไรยิ่งสร้างความสุขความเจริญร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา สร้างเต็มที่แล้วสว่างจ้าเลย นั่น สร้างธรรมเป็นอย่างนั้น พากันจำเอา เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้ละพอ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |