วิธีชำระจิตใจ-ตอบปํญหา...รักษาโรคด้วยพลังจิต...
วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 19:00 น.
สถานที่ : สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพ

เมื่อค่ำวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

วิธีชำระจิตใจ

 

ตั้งแต่ก่อนตอนที่เราออกเที่ยวกรรมฐาน เรียกว่าป่ามีโดยสมบูรณ์เต็มที่เลย ไปที่ไหนเป็นป่า พวกเนื้อพวกสัตว์ต่างๆ เต็มไปหมดทุกแห่งเลย ไม่มีใครสงวนเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นที่ของแผ่นดิน ทั่วไปหมดเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนการซื้อการขายก็ไม่มี ถนนหนทางก็ไม่มี สัตว์ป่ามีมากแต่คนไม่มากตอนนั้น ครั้นต่อมาคนมากขึ้น ทีนี้ก็เลยเกี่ยวกับเรื่องการซื้อการขาย พอถนนเริ่มเข้าไปถึงไหน นั่นละป่าเริ่มถูกทำลายๆ ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกสิ่งต่างๆ ขึ้นมา แล้วก็มีการซื้อการขาย ป่าก็เลยหมดไปๆ สัตว์ก็เลยหมดไปตามๆ กัน คือเรานี้เรียกว่าทัน ทันสมบูรณ์เลย เรื่องป่าธรรมชาติ เราเที่ยวทันป่าธรรมชาติโดยสมบูรณ์ จนกระทั่งมาสร้างวัดป่าบ้านตาดได้สักสิบกว่าปี จึงปรากฏว่ามีคนผ่านเข้าผ่านออกในดงใหญ่นะ แต่ก่อนดงใหญ่เต็มไปด้วยสัตว์

ดงบ้านตาดนี้เต็มไปด้วยสัตว์ แม้แต่ที่วัดนั่นก็คือป่าสัตว์ เราไปสร้างวัดนั้น พวกเก้งพวกหมูพวกกวางมีแถวนั้น ตั้งมาหลายปีสัตว์เหล่านั้นมันก็อาศัยอยู่ในป่าที่คนยังไม่ทำลายป่านะ ออกนอกวัดเข้ามาวัด ต่อมาก็มีรั้วลวดหนาม ทีนี้สัตว์ออกก็ตายไปๆ จนมามีกำแพงทีนี้ป่าถูกถางแล้วสัตว์ก็ตายไปพร้อมๆ กันเลย ดูสิบกว่าปีแหละคนเริ่มถากถางป่า เราสร้างวัดได้สิบกว่าปีก็ราวสัก ๒๕๑๑-๒๕๑๒ นี่ละ ป่าเริ่มถูกทำลายๆ ทีนี้คนก็เริ่มเข้าไปตั้งบ้านตั้งเรือน สุดท้ายดงทั้งหมดนี้เป็นไร่เป็นสวนไปหมดเลย มิหนำซ้ำยังตั้งอำเภอขึ้นมาที่นั่น เขาเรียกอำเภอหนองแสง จนกระทั่งทุกวันนี้ ทีนี้ป่าท้งหมดกลายเป็นไร่พืชผลใหม่ๆ ขึ้นมาพวกอ้อย พวกมันสำปะหลัง พวกอะไรต่ออะไรหลายอย่างแล้วแต่เขาจะปลูก เต็มไปหมดเลย

จึงว่าเรายังดีนะ จนกระทั่งมาสร้างวัดนี้แล้วก็ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ตามอัธยาศัยเหมือนแต่ก่อน เพราะพระเณรมีมากรุมตลอดเวลา ก็มาเกี่ยวกับเรื่องโยมแม่บวชจึงได้พาโยมแม่อยู่ที่นั่น แต่ก่อนไปสะดวกสบาย ไปที่ไหนแยกออกปั๊บมันเป็นป่าแล้ว พวกสัตว์ต่างๆ มีอยู่ทั่วไปหมดเลย ทีนี้เมื่อสัตว์มีอย่ที่ไหนเสือก็มีอยู่ที่นั่น คืออาศัยกินสัตว์ เสือจึงชุม มีทั่วไปหมด แต่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับคน..เสือ มันอาศัยสัตว์เป็นอาหาร หากมีอยู่ทั่วไป ไปที่ไหนเหมือนกันหมดนะ เราเที่ยวทางภาคอีสานนี้เที่ยวมากที่สุด แล้วเป็นแบบเดียวกัน ยิ่งดงใหญ่ดงศรีชมพูนี้ด้วยแล้ว โอ๊ย สัตว์นี้มากที่สุด ดงบ้านตาดนี้สู้ไม่ได้เลย อันนั้นความกว้างมันตั้งเป็นพันเส้นขึ้นไป กว่านั้น ไปทางนั้นจดเขตหนองคาย เขตนครพนม เขตสกลนคร เขตอุดร นี่ละป่าดงใหญ่ทั้งนั้น ไปแทบทั้งวันไม่ได้เจอบ้านคนนะ ที่ไม่เจอบ้านคนคืออะไร คือมีแต่ป่าทั้งนั้น พวกสัตว์พวกเนื้อไม่ได้กลัวคนนะ อย่างมากก็วิ่งปั๊บๆ เท่านั้นเอง เพราะคนไม่มากแต่ก่อน

พวกสัตว์พวกเนื้อทุกประเภทเต็มอยู่นั้นหมด ช้างก็โถ มันเป็นร้อยๆ ในดงใหญ่นั้น ดงศรีชมพู ศรีชมพูก็ดงภูสิงห์ ภูวัว ชนออกมาทางอำเภอบ้านดุง อำเภอหนองหาน ทางนู้นก็ชนออกไปทางปากคาด โพนพิสัย อันนี้ก็ชนไปทางบ้านแพง จังหวัดนครพนม อันโน้นก็ชนมาทางสกล วานรนิวาส แล้วก็มาอำเภอบ้านดุงชนอุดร นี่ละดงใหญ่ที่สุด เราได้เที่ยวมากที่สุดก็คือเขตนี้แหละ เที่ยวกรรมฐานมานี้มีสกลนครกับนครพนมที่ได้เที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านอยู่ที่นั่นเป็นจุดศูนย์กลาง ไปที่ไหนๆ ก็วกเวียนมานี้ ไปที่ไหนก็วกมานี้ๆ อย่างนั้นละ ที่เราอยู่สกลนครนั้นมันก็ ๘ ปี นครพนม รวมทั้งมุกดาหาร แต่ก่อนมุกดาหารเป็นอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม รวมเข้าไปถึงตัวนครพนม เข้าไปถึงดงศรีชมพูอะไรๆ นี้มันทำเลที่เที่ยวกว้างขวางมากทีเดียว

นี่กำลังพรรณนาถึงเรื่องป่าเรื่องรก ดงศรีชมพูนี้กว้างที่สุด เป็นป่าเป็นดงสัตว์เต็มไปหมดเลย ช้างนี้พอ ๕ โมงเย็นเราอยู่บนเขานี่มองลงไปทางนู้น มันออกมาเที่ยวเล่นเป็นโขลงๆ เป็นฝูงๆ เรียกว่าฝูงๆ นั่นแหละ ช้างเขาเรียกว่าโขลง แต่เราไม่อยากเรียกแหละ ฝูงช้างฝูงม้าฝูงวัวฝูงควายไปอย่างนั้นสบายดี ไปหาเรื่องเท่านั้นเชือกเท่านี้เชือก เท่านั้นตัวเท่านี้ตัวมันสบายดี เข้าใจไหม ไปหาเปลี่ยนชื่อไปอะไร

พอตกเย็นๆ นี้มันจะออกมาหินดานกลางแจ้ง มันจะเที่ยวหากินเต็มไปหมดมองไป มีแต่ช้างทั้งนั้น พอ ๕ โมงเย็นเริ่มไปแล้วนะ ขนาดนี้มันออกแล้ว ๕ โมงเย็นมันออกแล้ว เริ่มออกเที่ยวเต็มไปหมด พวกสัตว์พวกเนื้อนี้ไม่ค่อยกลัวคน ดงที่ว่านี่ไม่กลัวคน เพราะคนไม่มี คนไม่ค่อยมี คือใครเข้าไปอยู่ที่นั่น แต่ก่อนมันไข้ป่าไข้มาลาเรีย ใครเข้าไปจากทางอุบล ยโสธร ย้ายเข้าไปอยู่ก็ต้องย้ายกลับ เพราะทนไข้ไม่ไหว ตายไม่ตายก็กลับบ้าน ทีนี้นานเข้าๆ หยูกยามันก็ทัน คนหนาแน่นเข้ามา ชนกันเข้ามา ดันกันเข้ามา สุดท้ายป่าเลยหมดไปๆ

ที่ว่าดงศรีชมพูเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย มีแต่ชื่อนะ เป็นไร่เป็นสวนไปหมดเลย หมดจริงๆ นะไม่ใช่ธรรมดา ซึ่งแต่ก่อนเราเที่ยวหมดแล้ว มันรู้หมดนี่ ไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาเที่ยวอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นจึงดัดสันดานตนด้วยความกลัว เพราะไปที่ไหนเสือเต็มไปหมดนี่ เรามักจะถูกดัดสันดานด้วยเสือนะ คือคนขี้ขลาด เอาความกล้าใส่กัน อู๊ย การดัดสันดานตัวเองนี้ เราไม่พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไม่ทันมันนะ กลมายาของกิเลส ความกลัวความอะไร สำคัญมั่นหมายมีแต่เรื่องกิเลสหลอกเราให้หวาดให้กลัว ทำความพากความเพียรก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เอาธรรมแทรกเข้าไปตีเข้าไปเลย กลัวเท่าไรยิ่งเข้า สถานที่ใดกลัวมากที่สุด ที่นี่ละสติจะดี ความหมายว่างั้น เป็นอย่างนั้นนะ

สถานที่บางแห่งไม่ว่ากลางวันกลางคืน เสือมาได้สบาย มันเป็นป่าของเขา พวกสัตว์มาได้สบาย นั่นระวังตัว ความระวังก็สติอยู่กับตัว ความเพียรมันไม่ประมาทเวลานั้น ความเพียรดี มันหากเป็นของมันเอง ถ้ามีเหตุมีอะไรน่ากลัวน่าอะไรมันจะหดเข้ามาข้างใน ตั้งตัวๆ อยู่อย่างนั้น นี่วิธีฝึกหัดภาวนา ยิ่งสมัยพ่อแม่ครูจารย์มั่นด้วยแล้วยิ่งแล้วนะ ยิ่งหนักกว่านี้ ป่าดงพงลึกอะไร สัตว์ไม่รู้จักกลัวคน พวกไก่ฟ้าไก่ป่านี้เต็มดงเต็มป่า สัตว์ประเภทต่างๆ เต็มไปหมดไม่ได้กลัวคนท่านว่า เขามาหากินของเขายั้วเยี้ยเหมือนสัตว์บ้านเรา เราไปมันก็ยังมี อย่างนั้นมี แต่รู้สึกจะมีกลัวบ้างแหละเราไป แต่กลัวก็ไม่ได้กลัวมาก ถ้าอย่างสมัยทุกวันนี้เรียกว่ามันไม่กลัว

ไปที่ไหนมีแต่พวกสัตว์เต็มป่า ไม่มีคน นานๆ จะไปเจอบ้านคน บ้านก็ไม่กี่หลัง เขาอยู่ของเขา พวกนี้พวกทนไข้ป่าได้แล้ว อยู่ได้ พวกที่อยู่ทุ่งๆ อย่างทางอุบล ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร เข้ามานี้แตกกลับเพราะไข้ป่า มันตายจริงๆ นะไข้ป่า ไอ้เรานี้เรื่องไข้ป่าโชกโชนที่สุด คือตามธรรมดาทางแพทย์ทางหมอเขาว่า ไข้ป่านี่ถ้าเราอยู่ที่นั่นมันไข้ที่นั่นแล้ว จากนั้นมันก็ไม่ไข้ถ้าอยู่ที่เก่า ต่อไปมันก็ไม่ไข้ ไอ้เรามันไม่อยู่ที่เก่า ปีนี้ไปที่นั่น ปีนั้นไปที่นั่น ไข้ป่าตลอด เอาเสียจนกระทั่ง โถ พิลึก แต่ไม่เคยเป็นอารมณ์นะ ว่าจะกลัวไข้กลัวหนาวกลัวฝนนี้ไม่เคย

คือเข็มทิศที่มุ่งต่อธรรมนี้มันแรงกล้าแล้วมันลบไปหมด ความทุกข์ความลำบาก ความกล้าความกลัวอะไรนี้มันลบไปได้สบาย ยิ่งกลัวเท่าไรยิ่งเข้า เพื่อจะดัดสันดานจิตที่มีตัวกิเลสหลอกตัวเอง หมุนเข้าๆ สถานที่ใดอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนได้ระวังตลอด สถานที่นั่นความเพียรดี อยู่ไหนความเพียร สติติดกับตัวๆ สติติดกับตัวก็เรียกว่าสติรักษาจิต จิตก็ไม่เพ่นพ่านออกไป มันก็หนุนธรรมขึ้นมาๆ เวลาสติแก่กล้าเข้าไปเรื่อยๆ มันไม่ได้กลัวนะ สถานที่เรากลัวแต่ก่อนกลับไม่กลัวในสถานที่นั้น มันกล้าหาญไปหมด อำนาจของธรรมขึ้นแล้วกล้าหาญชาญชัย เดินไปได้สบายเลย ถ้าอยู่ที่นั่นความเพียรดี ความขี้เกียจขี้คร้านหายหน้าไปหมด ไม่มี มีแต่ความระวังตัว ระวังตัวก็ระวังด้วยสติ สติกับจิตติดแนบกับกัน นี่ก็เป็นความเพียรอยู่ในตัว

โห ฝึกจิตทรมานจิตนี่ลำบากอยู่มากนะ นี่เราพูดเฉพาะนิสัยของเรา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้ยกไว้เลย ท่านเก่งทั้งนั้น เก่งกว่าเราไปอีก อย่าว่าเราเก่งนะ ท่านยังเก่งกว่าเรา วิธีการฝึกทรมานตนเองทุกแบบทุกฉบับ พระกรรมฐานมีวิชาซอกแซกซิกแซ็กดัดกิเลสของตัวเองเก่งมากนะ เราเรียนในตำรับตำราก็เห็นไปเท่านั้นไม่ได้ไปเจอของจริง ออกปฏิบัติมันเจอแต่ของจริงทั้งนั้น ป่าก็ป่าจริงๆ สัตว์จริงๆ เนื้อจริงๆ เสือจริงๆ น่ากลัวจริงๆ เป็นอย่างนั้นนะ ทีนี้ไปเจออย่างนั้นเข้าการระมัดระวังรักษาจิตใจนี้ก็ดีขึ้นๆ จิตตั้งตัวได้ ตั้งตัวได้เพราะสถานที่แวดล้อม มันกลัว

ขณะแรกนี้จะไม่ให้จิตออก เริ่มตั้งตัว ที่ล้มลุกคลุกคลาน จิตมันฟุ้งซ่านรำคาญไม่ได้หลักได้เกณฑ์นี้ ต้องอาศัยคำบริกรรมเป็นสำคัญ คือคำบริกรรมให้ติดกับจิต สติให้อยู่ที่นั่น ไม่ให้คิดเรื่องสัตว์เรื่องเสือ คิดไปมันไปเพิ่ม คือกิเลสนั่นละ มันกลัวสิ่งใดมันยิ่งคิดสิ่งนั้นมากธรรมดามัน กลัวเสือคิดเสือ กลัวผีคิดเรื่องผีมากแล้วยั่วตัวเอง ก่อกวนตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงห้ามไม่ให้คิด ให้คิดแต่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ เป็นต้น ให้จิตติดอยู่นั้นไม่ให้ออก มันอยากคิดเท่าไรไม่ยอมให้ออก บังคับไว้นี้ ต่อไปๆ จิตได้รับความอบอุ่นจากธรรม คือสติธรรมจดจ่ออยู่นั้นแล้วมันจะค่อยเยือกเย็นขึ้นมา หนาแน่นขึ้นมาๆ ทีนี้สิ่งที่เคยกลัวทั้งหลายหายไปๆ ต่อไปก็กล้าขึ้นมาเลย นั่นเป็นอย่างนั้น ขณะก่อนกลัว ขณะหลังกล้า

เมื่อเห็นเหตุเห็นผลอยู่อย่างนั้น ทำอย่างไรจะได้ผลมาก มันก็ต้องบึกบึน เราจึงถูกดัดสันดานตลอด เพราะมันเคยได้อย่างนี้นะ ถ้าจะไปทำธรรมดาภาวนาเหมือนเพื่อนฝูงทั้งหลาย สังเกตหมู่เพื่อนทำความพากความเพียร สังเกตดูถึงเวลาท่านลงเดินจงกรม ท่านเดิน ถึงเวลาทำอะไรท่านก็ทำของท่าน เราก็ดู เราไม่เป็นอย่างนั้น มันมัดกันอยู่ตลอด จึงไปดูท่าน เวลาทีแรกไปถึง เช่น อย่างหลวงปู่มั่นนี้ เหมือนกับว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ เหมือนผ้าพับไว้ เรียบหมดเลย โห นี่มันมีพระปุถุชนคนหนาปัญญาหยาบแต่เราองค์เดียว มันคิดในตัวเองนะ นอกนั้นท่านอาจจะเป็นพระอรหันต์ไปหลายๆ องค์แล้ว ไม่งั้นก็ชั้นนั้นชั้นนี้ มันคิดของมันนะ ก็มีแต่ตัวหนาแน่นตัวคลังกิเลสตัณหาอยู่กับเราคนเดียว ครั้นเวลาอยู่ไปนานๆ คอยฟังเสียงอรรถเสียงธรรมท่านคุยกับครูบาอาจารย์ ก็เริ่มรู้เรื่องฐานะของจิตของกันและกันไปเรื่อยๆ ทีนี้ก็เข้าใจกันไป องค์ไหนอยู่ภูมิไหนๆ ก็รู้

ไปเบื้องต้นนี่เหมาแต่ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งองค์นั่นแหละ ทั้งวัดนะ คือเรียบหมด นี่ละพระกรรมฐาน ไม่ได้มีคำว่า แสลงหูแสลงตานะ เรียบตลอด มองดูกันนี้ชื่นตาชื่นใจตลอด ท่านเหมือนเรา เราเหมือนท่าน ไม่มีกิริยาที่แฝงๆ ด้วยกิเลสตัณหา ให้แสลงแทงใจ ไม่มี นิ่มอยู่ตลอด เวลามาคุยธรรมะทางด้านจิตใจ องค์ไหนภาวนาเป็นยังไงๆ จะต้องมาเล่าถวายครูบาอาจารย์ เราก็คอยฟัง องค์นั้นมาเล่าอย่างนั้น องค์นี้มาเล่าอย่างนี้ คอยฟังๆ แล้วก็ค่อยเข้าใจภูมิจิตภูมิธรรมของกันและกันไปเรื่อยอย่างนี้แหละ ต่อไปก็ค่อยรู้ อยู่ด้วยกันมากน้อยก็รู้เรื่องกัน แต่มารยาทเป็นอย่างนั้นละ เหมือนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด  แล้วคนคงคิดเหมาเอาว่า ถ้าใครกิริยาเรียบร้อยนั้นเป็นอรหันต์ทั้งหมดนั่นนะ ถ้าวอกแวกๆ อย่างนี้ คึกคักอย่างนี้เขาว่าเป็นลิงกันหมด เข้าใจไหม แม้จะเป็นพระอรหันต์ นี่อรหันต์ลิง เขาจะว่าอย่างนั้นใช่ไหมล่ะ ความเหมาของโลก

มันอยู่ที่จิตใจ กิริยาอาการนี้เป็นนิสัยต่างหาก ใครเป็นนิสัยยังไงกิริยาอันนั้นมักเป็นอยู่เสมอ โดยไม่ต้องตั้งใจก็เป็น ผู้ที่สงบเงียบจนกระทั่งบรรดาพระสงฆ์ในวัดว่าท่านเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ก็มี เช่น พระสันตกาย มีในครั้งพุทธกาล พระสันตกาย ไม่ว่าเหลือบซ้ายมองขวา เคลื่อนไหวไปมาที่ไหนเหมือนมีสติตลอดเวลา สวยงามตลอด พระสงฆ์ทั้งวัดดูแล้ว องค์ไหนก็จับตาจับใจ เลยสงสัยไปทูลถามพระพุทธเจ้า ก็พอดีมีสาเหตุเหมาะสม ว่าท่านสันตกายนี่ ท่านสำเร็จอรหันต์แล้วหรือ พระเณรทั้งวัดเลยเหมาว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ดูอากัปกิริยาเคลื่อนไหวไปมา เหมือนผ้าพับไว้ตลอดเวลา

พระองค์ก็บอกว่า ยัง นั่นเห็นไหมล่ะ พอดีประชุมขึ้นมา ในค่ำวันนั้นประชุม พระองค์ก็เลยแสดงถึงเรื่อง สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ, อุปสนฺโตติ วุจฺจติ. นี่ภาษิตที่พระองค์แสดง ในวันเทศน์เกี่ยวกับพระสันตกาย  ผู้มีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ มีใจอันสงบ และผู้ที่บริสุทธิ์หลุดพ้นคายโลกามิสเสียได้แล้ว นั้นแลเราเรียกว่า นักปราชญ์ จอมปราชญ์ ท่านแสดงไว้ว่างั้น ที่แปลออกจากนี้ ท่านแสดงธรรมอันนี้ พระสงฆ์ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานตั้งหลายองค์วันนั้นนะ พระสันตกายเองก็สำเร็จวันเดียวกัน แต่ก่อนท่านเป็นอรหันต์ดิบ ยังไม่เป็นอรหันต์สุก พอพระพุทธเจ้ามาเทศน์วันนั้น เลยกลายเป็นอรหันต์สุกขึ้นมา นี่แหละกิริยาต่างกัน

อย่างพระสารีบุตรท่านไปไหน ล็อกแล็กๆ เหมือนลิง จนกระทั่งบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่รู้ท่านแล้วว่า ท่านเป็นพระอรหันต์นะ เวลาท่านมานี่ พอมองเห็น คลองอย่างนี้ ท่านโดดข้ามไปโน้น แล้วโดดข้ามกลับมา กลับไปกลับมาอยู่งั้น เอ๊ เป็นถึงอรหันต์แล้วยังไม่แล้ว ยังเป็นถึงอัครสาวก แล้วทำไมจึงมาแสดงตัวเหมือนลิง อย่างนี้ก็ไปทูลพระพุทธเจ้า ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าพระสารีบุตรทำไมก็ว่าเป็นพระอรหันต์ ทั้งเป็นอัครสาวก สิ้นกิเลสทุกอย่างแล้ว เวลากิริยาอาการแสดง ทำไมจึงเป็นเหมือนลิง เช่น อย่างโดดข้ามไปมาเป็นเรื่องตลกสนุกอยู่ในนั้นแล้วไป

อ๋อ พระสารีบุตรนี้ เธอเคยเป็นลิงมาหลายภพหลายชาติ นิสัยอันนั้นจึงติดมา ทีนี้พระทั้งหลายก็สงบเพราะพระองค์เป็นผู้ทรงตัดสินเอง อย่างพระสันตกายนี้ ท่านเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ ไม่สับปนกันเลย  เป็นราชสีห์ ราชสีห์นี้มีกิริยาเหมือนแมว เหมือนมีสติสตังระมัดระวังตัวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความเคลื่อนไหวของราชสีห์กับแมวจึงเหมือนกัน ทีนี้พระสันตกายท่านเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ ไม่สับปนกันเลย ชาติอื่นๆ ไม่มี เป็นราชสีห์มาตลอด เพราะฉะนั้นนิสัยของเธอจึงสวยงามตลอดเวลา ตามนิสัยเหมือนราชสีห์ ท่านก็ยกมาอย่างนี้ละ นิสัยอันนี้เป็นนิสัยดั้งเดิมที่ฝังจิต

ส่วนพระสารีบุตร ท่านก็บอกว่า เคยเป็นลิง สำเร็จอรหันต์แล้ว กิริยาที่เป็นนิสัยเดิมมันก็ออกมา โดดข้ามโน้นข้ามนี้ จนพระสงฆ์ทั้งหลายยกโทษ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วท่านทำไมจึงมาแสดงอย่างนั้น อ๋อ เรื่องกิริยานิสัยวาสนาไม่มีใครละได้ ละได้เฉพาะเราตถาคตองค์เดียว ส่วนนิสัยวาสนากิริยาที่เคยเป็นยังไงนั้น นั้นเป็นเรื่องนิสัยอันหนึ่ง กิเลสขาดไปแล้ว นิสัยอันนี้ยังละไม่ได้ต้องเป็นตามเดิม นั่นละเป็นอย่างนั้น  ผู้ที่ละนิสัยวาสนาได้ก็คือ พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ท่านจึงว่า ใครเคยเป็นกิริยายังไงก็เป็นอย่างนั้น  เพราะนิสัยนี้ไม่ได้ตั้งใจก็เป็น หากเป็นอยู่ตามนิสัยของตนเองๆ จึงเรียกว่านิสัย คือมันติดกิริยาอาการ ติดอยู่ภายในจิตใจ แสดงออกมาตั้งใจไม่ตั้งใจ มันก็เป็นไปตามความเคยชินของมัน

ในครั้งพุทธกาลนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตัดสิน พระสงฆ์หายสงสัยทันที ถ้าลงพระพุทธเจ้ารับสั่งอะไร รื้อมาทั้งอดีตด้วยจะไม่ยอมรับได้ยังไง เช่นพระสันตกายนี้ก็บอกว่า เธอเคยเป็นราชสีห์ ที่ท่านแสดงไว้ในตำราเทียบก็นี่ละ กับพระสันตกาย ราชสีห์เวลาจะนอนนี้ มีสติสตังกำหนดไว้เรียบร้อย อวัยวะส่วนไหน วางไว้ยังไงๆ กำหนดไว้ตายตัว ไว้อย่างนั้น ถ้าตื่นขึ้นมาอวัยวะนี้เคลื่อน เช่นขานี้เคลื่อนไปทางนี้ ขานี้เคลื่อนไปทางนี้ หางเคลื่อนไปอย่างงั้น นอนใหม่ จนกระทั่งตื่นขึ้นมาอีกเรียบร้อยเหมือนเก่า ถึงจะออกไปหากิน ท่านว่า เป็นกิริยาอย่างนั้น  ระวังรักษาตัวตลอดอย่างนั้น ทีนี้นิสัยของพระสันตกายนี้ เธอก็ติดมาตั้งแต่เป็นราชสีห์ นั่นท่านแสดงไว้หมด ท่านรื้ออดีตมาพร้อมเลย เคยเป็นมายังไงๆ เพราะฉะนั้นนิสัยจึงไม่ได้เหมือนกัน

ทีนี้นิสัยตามที่เราผ่านมา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นสายหลวงปู่มั่นนี้ นิสัยท่านอาจารย์ฝั้นนี้สวยงามมาก นิสัยท่านอาจารย์มหาทองสุกนี้ก็สวยงาม นอกจากนั้นท่านก็เป็นตามนิสัย แต่เราไม่ได้ตำหนินะ คือท่านก็เป็นตามนิสัยของท่าน แต่สำหรับสององค์นี้ มองดูเมื่อไรนิ่มนวลทั้งตาทั้งใจ กิริยาเหมือนว่าดุใครไม่เป็น อย่างท่านอาจารย์ฝั้น เหมือนดุใครไม่เป็น นิ่ม อย่างมากก็ เหอ เท่านั้น ว่า เหอ เท่านั้น อาจารย์มหาทองสุกก็เหมือนกัน นอกนั้นท่านก็เป็นตามนิสัยของท่าน ควรดุท่านก็ดุ เหมือนๆ กันแล้วแต่นิสัยขององค์ใดเป็นไปยังไง ท่านก็เป็นอย่างงั้น แต่บรรดาพระสงฆ์ลูกศิษย์ลูกหา ทราบนิสัยแล้วท่านก็ไม่ถือสาละ ไม่ถือ ฟังเสียงแกนแห่งธรรมทั้งหลายออกจากไหน ออกจากใจ นั่น หลักอยู่ที่นั่น หลักประกันตัว กิริยานี้เป็นความเคลื่อนไหวเพียงอาศัยไปชั่วกาลเวลา แต่หลักจริงๆ คือ แกนของธรรมแท้อยู่ที่ไหน ก็คือใจ  เมื่อใจถึงกันแล้วก็หมดปัญหา  จะเป็นอะไรๆ ก็หมดปัญหาไปเลย เพราะฉะนั้นนิสัยของครูบาอาจารย์จึงไม่เหมือนกัน หากเป็นอยู่ในจิตนั่นละ ที่จะให้ผิดจากธรรมจากวินัยก็ไม่ผิด มันหากมีไปตามนิสัย ซึ่งไม่เหมือนกันนั่นแหละ

เราพูดถึงเรื่องพระท่านเที่ยวอยู่ในป่าในเขา ท่านฝึกท่านทรมานตน ท่านเอาจริงเอาจังมากนะ เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลเรื่อยมา อย่างลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีน้อยเมื่อไร ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มรณภาพไปแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุๆ ไปตั้งสิบกว่าองค์ ไม่ใช่น้อยๆ นะ กลายเป็นพระธาตุๆ เราทราบไว้แล้วตั้งแต่ท่านยังไม่ตาย อันนี้มาเป็นทีหลัง เรื่องร่างกายเป็นเครื่องตีตราส่วนหยาบของธาตุขันธ์นี้ ว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว

ตามตำราที่ท่านแสดงไว้ว่า อัฐิที่จะกลายเป็นพระธาตุได้นั้น ต้องเป็นอัฐิของพระอรหันต์เท่านั้น ท่านบอก พอมาเป็นอรหันต์แล้วก็ อ๋อ ตีตราแล้วๆ แต่บรรดาพระทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันกับครูบาอาจารย์ ท่านทราบก่อนหน้าแล้ว  เพราะถอดออกมาจากใจพูดให้ฟัง จะไม่ทราบได้ยังไง จิตเป็นยังไงๆ นี้รู้หมด อันนี้ประกาศก่อนแล้ว ส่วนเวลาตายแล้ว จะเป็นพระธาตุไม่พระธาตุ สำหรับองค์ท่านเองท่านไม่เคยสนใจ องค์อื่นต่างหากสนใจ พอว่าอัฐิของท่านเป็นพระธาตุแล้ว โอ๋ แน่ะ เป็นอย่างนั้นนะ มันต่างกัน

คือคำว่าเป็นพระธาตุนี้ก็ต่างกันอีกนะ คือถ้าจิตผู้ใดได้บำเพ็ญธรรม บรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว แล้วตายไปเสีย ผู้นี้ก็เป็นพระธาตุได้แต่เป็นช้า เพราะจิตที่บริสุทธิ์นี้ยังไม่ได้ซักฟอกธาตุขันธ์ โดยทางความพากเพียรตามอัธยาศัยของท่านไปนาน แล้วมาตายเสีย ธาตุขันธ์นี้ยังไม่บริสุทธิ์เต็มสัดเต็มส่วน บริสุทธิ์ตามส่วนของธาตุขันธ์ที่เป็นส่วนหยาบนะ  ส่วนจิตบริสุทธิ์แล้ว แต่องค์ไหนถ้าบำเพ็ญไปนาน ตั้งแต่สมาธิปัญญาค่อยเริ่มไปเรื่อย ซักฟอกไปเรื่อยถึงขั้นอรหันต์แล้ว ท่านนิพพานหรือตายไปเสีย อัฐิของท่านจะกลายเป็นพระธาตุได้เร็ว

คือความช้าความเร็วอยู่กับการบรรลุ แล้วทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ถ้าทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ไปนาน จิตธรรมชาติของท่านไม่ใช่ท่านตั้งใจซักฟอกนะ จิตที่บริสุทธิ์นี้หากซักฟอกร่างกายนี้ ธาตุขันธ์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหยาบให้เป็นของละเอียดๆๆ ไปตามส่วนหยาบของธาตุขันธ์ เวลาท่านมรณภาพไปแล้วอัฐิของท่านจึงกลายเป็นพระธาตุ เพราะจิตซักฟอกไว้เรียบร้อยแล้ว มันเป็นขั้นๆ ตอนๆ ไม่ใช่พอตายไปจะเป็นพระธาตุทันที มันต่างกัน การครองขันธ์อยู่นานหรือไม่นาน  ตั้งแต่วันสำเร็จแล้ว ถ้าครองขันธ์ไม่นาน กลายเป็นพระธาตุก็ช้า ถ้าครองขันธ์อยู่นานนี้ กลายเป็นพระธาตุได้เร็ว มันต่างกัน  เพราะจิตที่บริสุทธิ์นี้อยู่กับขันธ์ มันเป็นการซักฟอกขันธ์อยู่ในหลักธรรมชาติ  ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม หากเป็นหลักธรรมชาติที่คอยซักฟอกอย่างละเอียดลออ ของจิตที่บริสุทธิ์ครองขันธ์อยู่นั้นแล

ถ้ายิ่งท่านเข้าสมาธิภาวนาด้วยแล้วนี้ จิตเข้ามานี้ล้วนๆ แล้วเป็นการซักฟอกหนักเข้าไป ท่านไม่ได้เจตนาว่าจะซักฟอกธาตุขันธ์นะ ท่านมีเจตนาเกี่ยวกับอรรถกับธรรมที่ท่านจะพิจารณาของท่านต่างหาก แต่มันเกี่ยวโยงกับธาตุขันธ์ เลยเป็นการซักฟอก อันนี้หนักแน่นเข้าไปอีก มากเข้าไปอีก นั่นเป็นชั้นๆ ขึ้นไปอย่างนั้น เวลาท่านมรณภาพแล้วกลายเป็นพระธาตุๆ อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นดูเหมือนจะได้ ๔๐ กว่าปีแล้วมั้ง ท่านผ่านไปเรียบร้อยแล้ว อัฐิของท่านจึงกลายเป็นพระธาตุ

นี่ละผู้ปฏิบัติธรรม เรื่องมรรคผลนิพพานอยู่กับสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ถ้าเป็นพระก็ให้ก้าวเดินตามหลักธรรมหลักวินัย อยู่ในกรอบของศีลของธรรม ก็เท่ากับอยู่ในกรอบแห่งมรรคผลนิพพาน จะก้าวเดินๆ เรื่อย พ้นได้เลย ไม่ต้องไปถามหานิพพานอยู่ทางโน้นทางนี้ละ อันนี้เป็นจุดใหญ่ที่จะหมุนเข้าสู่มรรคผลนิพพาน คือ ธรรมวินัย วินัยเป็นรั้วกั้นไม่ให้ข้ามเกิน จะออกนอกลู่นอกทางตกเหวตกบ่อไปเสีย

ธรรมนั้นคือ ความพากเพียร สติธรรม ปัญญาธรรม ขันติธรรม ความอดทนประกอบความพากเพียร อบรมจิตใจของตน ให้เป็นลำดับลำดาไป นี้เรียกว่า ธรรม ทั้งสองอย่างนี้กลมกลืนกันอยู่ตลอดเวลาแล้ว จิตใจนี้จะค่อยผ่องใสขึ้นๆ ทีนี้ไม่ต้องไปหาที่ไหน คือใจดวงได้รับการอบรมนี้ จะแสดงเป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมาจากใจดวงนี้ เบื้องต้นก็ค่อยสงบเสียก่อน พอสงบก็ขัดเข้าไป บำรุงเข้าไปๆ แล้วก็ค่อยละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งถึงละเอียดสุดยอดผ่านเลย เป็นอย่างนั้นนะ อยู่กับหลักธรรมหลักวินัย

พระองค์จึงได้สอนว่า ธรรมและวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย แทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยนี้อยู่ พระอรหันต์ไม่สูญจากโลกนะ อานนท์ บอกชัดเจนไว้อย่างนี้ ถ้านอกจากนี้แล้วก็อย่างว่านะ ถ้าอยู่ในนี้แล้ว เป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ เป็นอื่นไปไม่ได้

ธรรมะพระพุทธเจ้า คงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่ด้วยความสัตย์ความจริง ถูกต้องดีงามทุกอย่าง ไม่มีที่เหลาะๆ แหละๆ ไอ้ผู้ปฏิบัติมันเหลาะแหละต่างหาก ข้ามหัวพระพุทธเจ้าไป ข้ามหัวพระพุทธเจ้ามา เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปตลอด เหยียบหัวพระพุทธเจ้าคือ ธรรมและวินัย ที่เป็นองค์แทนศาสดาของสัตว์ทั้งหลาย แล้วมันไปเหยียบหัวพระพุทธเจ้า โดยข้ามเกินหลักธรรมหลักวินัยไปเสีย มีแต่พวกตกเหวตกบ่อทั้งนั้นละพวกนี้ ไม่มีทางที่จะครองมรรคครองผล โอ้อวดก็เป็นเรื่องกิเลสโอ้อวดไปเสีย เรื่องธรรมท่านไม่ได้โอ้อวด ถึงกาลเวลาจะออกนี้ผางเลยๆ นั่นธรรม ไม่มีผลักมีดัน ไม่มีอยากไม่มีทะเยอทะยาน ธรรมภายในใจ เป็นไปตามกาลเวลาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ควรจะออกหนักเบามากน้อย จะเป็นไปเองๆ นี่ละเรื่องมรรคผลนิพพานจึงคงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่กับธรรมวินัย สำหรับพระเราเป็นนักบวช ต้องรักษาศีลให้ดี และปฏิบัติธรรมให้ดี ส่วนฆราวาสก็ให้ปฏิบัติตามหลักของฆราวาส

ธรรมคือจิต จิตตภาวนาเป็นสำคัญมากนะ ถ้าได้อบรมจิตตภาวนานี้เข้าไป ไม่ว่าพระหรือฆราวาส นิสัยมีอยู่ภายในด้วยกันไม่ว่าหญิงว่าชาย นักบวชและฆราวาส  นิสัยมีอยู่ด้วยกัน ถึงมาบวชนี้เป็นเทวทัตมาบวชก็มี บวชที่หนาแน่นที่สุดก็มี ไม่ใช่ว่ามาบวชแล้วจะเป็นผู้เลิศผู้เลอขึ้นทันที อันนี้เป็นเครื่องหมายต่างหากนะผ้าเหลือง โกนผมโกนคิ้ว เครื่องหมายของผู้ที่จะออกบำเพ็ญพรต เพื่อเรียนจบพรหมจรรย์ ถึงมรรคผลนิพพาน นี่เป็นความประกาศอย่างนั้นต่างหาก แต่ครั้นบวชเข้ามาแล้วทำเหลวๆ ไหลๆ แล้วไม่มีใครที่จะเป็นโทษมากกว่าผู้ที่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าด้วยการข้ามเกินธรรมวินัย คือพวกนี้เอง ถ้าปฏิบัติตามนี้อยู่แล้ว มรรคผลนิพพาน อย่างว่าอรหันต์มีอยู่ ไม่สูญจากโลกนะอานนท์ คืออยู่กับนี้ละ กับธรรมกับวินัย

ให้ยึดหลักธรรมหลักวินัยให้ดีสำหรับพระ พวกญาติโยมก็ให้ยึดหลักความดีงามทั้งหลาย เวลาภาวนาก็เอาจุดนั้นเหมือนกัน ใจเมื่อได้รับการขัดเกลาอยู่ตลอดเวลา จะค่อยผ่องใสขึ้นเช่นเดียวกันกับพระเรานั่นแหละ ต่อไปก็ถึงเหตุถึงผล ละเอียดเข้าไปๆ ถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกันไม่เลือกเพศ เพศหญิง เพศชาย นักบวช ฆราวาส ไม่เลือก นิสัยปัจจัยมีอยู่ในใจด้วยกันทุกคน เมื่อพอแก่กาลแล้วพ้นได้ด้วยกัน ถ้าไม่พอก็ต้องได้อบรมไปเรื่อยๆ

เราพูดถึงเรื่องวงกรรมฐาน ในสายพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้มีน้อยเมื่อไร ผู้ทรงมรรคทรงผลท่านอยู่เงียบๆ อย่างนั้นนะ เงียบๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่กรรมฐานเข้าถึงกัน รู้กันหมด ในวงกรรมฐานจะรู้เรื่องของกัน ฐานะของจิต ภูมิของจิตของธรรมองค์ไหนอยู่ยังไงๆ ท่านจะเข้าใจกันในวงของพระกรรมฐานเอง เวลาออกมาข้างนอกท่านก็เหมือนไม่มีหูมีตา ตาบอด หูหนวก ไปอย่างนั้น แต่พอเวลาเข้าภายในวงกรรมฐานด้วยกันแล้ว ไม่มีใครที่จะพูดได้จะแจ้งยิ่งกว่าพระกรรมฐานคุยกันเรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องสมาธิเรื่องปัญญานี้สำคัญมาก ศีลท่านบริสุทธิ์เต็มเหนี่ยว

วงกรรมฐานเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะเต็มที่เลย ท่านไม่มีการข้ามเกิน นอกจากความเผลอก็เป็นธรรมดาด้วยกัน หรือความไม่รู้อย่างนี้ ไม่รู้มันก็ผิดพระวินัยได้ เพราะท่านไม่ยกเว้น ไม่รู้แต่ส่วนที่ผิดกับพระวินัย ก็ปรับอาบัติเป็นพระวินัย รู้แล้วขืนทำลง นี่ยิ่งไปใหญ่ สงสัยแล้วขืนทำลง ก็อย่าทำ ถ้าสงสัยแล้วอย่าทำ ถ้าทำปรับโทษ นั่นท่านบอกไว้อย่างนั้น ท่านมีหิริโอตตัปปะเต็มตัวสิ่งเหล่านี้ท่านไม่ข้ามเกิน เรียกว่า ศีลของท่านบริสุทธิ์ จิตใจของท่านอบอุ่นด้วยศีล

ไปภาวนานี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ เวลาเข้าจนตรอกจนมุม ในสถานที่น่ากลัว เช่นเสือก็ชุมอะไรก็ชุม จิตใจมีความอบอุ่นด้วยศีล ถึงไม่ได้อะไร ศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ตายแล้วแน่ใจว่าไปสวรรค์เพราะความอบอุ่นในจิต เนื่องจากว่าตัวมีศีลสมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์เต็มที่

จากนั้นอบรมจิตใจเข้าไปมันก็ยิ่งแน่เข้าไปๆ จิตใจมีความสว่างไสวจากการบำเพ็ญธรรมมากน้อยเพียงไร จะรู้ตัวเองๆ สง่างามขึ้นโดยลำดับๆ ทีนี้กิเลสตัวมืดตื้อมันค่อยจางไปๆ เพราะการชำระโดยทางจิตตภาวนาอยู่ตลอดเวลา ทีนี้จิตก็ค่อยผ่องใสเพราะได้รับการบำรุงรักษาตลอด ก็ต้องมีความผ่องใสเจริญงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆๆ จากนั้นก็ตั้งหลักได้ เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งสมาธิ จิตใจแน่นหนามั่นคงนี้ ตั้งหลักได้ในขั้นสมาธิ

จากนั้นก็ก้าวออกทางด้านปัญญา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์แยกแยะแยกส่วนแบ่งส่วน ควรเป็นอสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบผีสด ก็แยกทั้งเขาทั้งเราออกมา ที่สัตว์โลกติดกันงอมแงมนี้มาตลอดตั้งกัปตั้งกัลป์ เอาปัญญาแทรกเข้าไป ความจริงจะปรากฏขึ้นมาๆ แล้วมันก็ค่อยปล่อยวาง แล้วจางไปๆ แล้วปล่อยวางได้โดยลำดับ จากนั้นสติปัญญาที่มีความละเอียดลออยิ่งกว่าขั้นวัตถุนี้ไป มันก็ก้าวเดินไปตามขั้นนามธรรม คือ ขั้นรูปธรรมได้แก่ รางกาย ร่างกายอยู่ในกรอบของกามตัณหา ของราคะตัณหา เมื่อจิตอยู่ในอันนี้ ก็ต้องพิจารณาเรื่องวัตถุนี้ให้มาก

วัตถุคือ ร่างกายของหญิงของชาย ของสัตว์ ของบุคคล พิจารณาลงถึงป่าช้าผีดิบ ดังท่านนิมนต์พระให้ไปอยู่ในป่าช้า คือ ถ้าดูตัวเองป่าช้าผีสดมันยังไม่เห็น ให้ไปดูป่าช้าผีตาย ไปดูเทียบเข้าข้างใน เมื่อได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ไปดูป่าช้าภายในตัวเองเลย นี่อยู่ในวัตถุที่จะต้องพิจารณา อสุภะอสุภัง ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา จะอยู่ในวงนี้เต็มเหนี่ยวๆ พออันนี้จางไปๆ จนกระทั่งราคะตัณหาหายสงสัย ขาดสะบั้นไปหมดแล้วจากการพิจารณาเหล่านี้ ส่วนวัตถุคือรูปธรรมนี้มันค่อยจางไปๆๆ แล้วก็หยุด จากนั้นมีแต่นามธรรม

ความคิดความปรุงอะไรๆ นี้เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง มันก็ติดตามนี้เข้าไปเรื่อย ละเอียด ต่อไปถึงเรื่องร่างกายนี้ไม่มี ถึงขั้นจิตว่างไปหมดแล้วจะมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ไหน จิตมันว่างไปหมด วางไปหมดโดยลำดับ ยังเหลือแต่ภายในจิตที่ยังไม่ว่างตนเอง  พิจารณาเข้าไปๆ ก็ว่างเข้าไปๆ ว่างเข้าถึงสุดขีดแล้วก็ เรื่องภายนอกว่าง แล้วเรื่องภายในว่างเข้าอีก ภายนอกวาง ภายในก็วางอีก หมดโดยสิ้นเชิง ทรงมรรคหรือไม่ทรงมรรค มันก็รู้เอง สันทิฏฐิโก ไม่ต้องไปถามใคร รู้ขึ้นกับผู้ปฏิบัติเอง สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะรู้ตัวเอง ท่านก็สอนอย่างนั้น 

นี่ละท่านสอนวิธีการชำระจิตใจของเรา ที่หนักมากที่สุดก็คือ พิจารณาเรื่องร่างกาย เรื่องราคะตัณหาหนักมากนะ เราพูดจริงๆ นี้ภาษาธรรม พูดอย่างตรงไปตรงมา เรื่องการรบกับกิเลสไม่มีตัวใดที่จะรบยาก ฉลาดแหลมคมมากยิ่งกว่ากามตัณหา ราคะตัณหา เกี่ยวกับเรื่องร่างกาย ทีนี้เวลาพิจารณานี้เข้าไป เรื่องเหล่านี้จะค่อยจางไปๆ พิจารณาร่างกายก็คล่องแคล่วว่องไว ทุกสิ่งทุกอย่างคล่องแคล่วไปหมดเลย จนหาความสวยความงามที่จะให้เกิดความกำหนัดยินดีไม่ได้ จากนั้นมันก็ปล่อยกัน พอปล่อยกันแล้ว มันก็ไปทางนามธรรม โดยอาศัยนี้สลับบ้างเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นก็ไปนามธรรมล้วนๆ ได้แก่เจตสิกธรรม ความคิดความปรุง มันคิดเรื่องใดๆ ติดตามมันไปด้วยสติปัญญาแรงกล้าแหละ เรื่อยๆ พอหมดส่วนร่างกายนี้ไปแล้ว มันก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ

สติปัญญาอัตโนมัตินี้คือเป็นเอง ขึ้นมาเอง นี่ฝึกซ้อมกามราคะนะ ที่ขาดไปแล้วสอบได้ ๕๐% สำหรับผู้ที่กำลังบำเพ็ญอย่างธรรมดาเหมือนเรา ไม่ใช่ผู้เป็น ขิปปาภิญญา พอขาดๆ หมดเลย นั่น ขิปปาภิญญา ขาดสะบั้นพร้อมกันหมด แต่พวกทันธาภิญญานี้ส่วนใหญ่ขาดแล้ว ส่วนที่ปลีกๆ ย่อยๆ ยังมีอยู่ นั่นละที่นี่ชำระอันนั้นละ ท่านจึงนำอสุภะนี้มาฝึกซ้อมๆ ฝึกซ้อมให้ละเอียดเข้าไปๆ สุดท้ายอันนี้ก็หมด ราคะหมดโดยสิ้นเชิง นั่นเป็นอย่างนั้น อันนี้ละตัวที่หนักมากที่สุด สัตว์โลกลืมบุญลืมบาปคือตัวนี้เอง ตัวนี้เรียกว่า หูหนวกตาบอดจริงๆ เวลามันได้ครอบหัวใจใครแล้วไม่รู้จักบุญจักบาป เวลาธรรมแทรกเข้าไปมันก็รู้ๆๆ จากนั้นมันรู้ของมันเอง เลยจากนั้นแล้วก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ

พอผ่านกามราคะนี้ไปแล้ว ก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ คือหมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีละคำว่า เพียรๆ นอกจากเพื่อความพ้นทุกข์ เราเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ แต่ในย่านกลางที่กำลังเพียรนี้ไม่มี ต้องรั้งเอาไว้ เพราะความเพียรกล้า ไม่รู้จักหยุดจักหย่อนตลอดเวลา ทีนี้เวลาธรรมได้ทำงานแก้กิเลส แก้โดยอัตโนมัติเหมือนกับกิเลสผูกมัดสัตว์โลกโดยอัตโนมัติของมัน มีทุกรูปทุกนาม กิเลสเป็นอัตโนมัติ ในการผูกมัดสัตว์โลกให้ลุ่มหลงงมงายไปตาม

ทีนี้พอถึงขั้นสติปัญญามีกำลังแล้ว สติปัญญานี้จะแก้กิเลสเป็นอัตโนมัติ ตามกันไปๆ โดยละเอียดลออจนกระทั่งหมด เชื่อมเข้าไปถึงมหาสติมหาปัญญาเกี่ยวโยงกัน ทีนี้มันซึมไปหมดเลย นี้ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสติปัญญาอัตโนมัติทั้งนั้น คือแก้กิเลสไปโดยลำพัง อยู่ที่ไหนแก้ตลอดเวลา ไม่ต้องมีเวลานั้นเวลานี้แก้กิเลส เวลานั้นจะเดินจงกรมจะนั่งสมาธิภาวนาจะแก้กิเลสไม่มี การแก้กิเลส เหมือนกับกิเลสมันผูกมัดสัตว์โลก คิดเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นกิเลสทั้งนั้น ไม่ว่าจะยืนคิดนั่งคิดพูดคิด มองเห็นอะไรก็เป็นกิเลสไปหมด

ทีนี้เวลาธรรมได้แก้กิเลสแล้ว มองเห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม อะไรเป็นธรรม ไม่เห็นไม่ได้ยินก็เป็นธรรมอยู่ภายในใจ แก้กิเลส เพราะกิเลสอยู่ที่หัวใจ มันก็แก้เข้าไปโดยลำดับ นี่เรียกว่าอัตโนมัติ ถึงขั้นธรรมะฆ่ากิเลสฆ่าอัตโนมัติเหมือนกัน จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ งานที่หนักมากที่สุดในพรหมจรรย์นี้ ได้จบสิ้นลงไปแล้ว เพราะกิเลสตัวยุ่งที่สุดโดยลำดับลำดามา ได้ขาดสะบั้นไปจากจิตใจแล้ว

จากนั้นมาแล้ว ท่านจะไม่มีกิเลสตัวใดให้ฆ่าให้ชำระอีกเลย นั่นเรียกว่า ท่านเสร็จงานการถอดถอนกิเลสภายในหัวใจไปแล้ว พระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี จึงไม่เคยแก้กิเลสอีกต่อไป พอถึงขั้นนี้แล้วหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีที่จะว่าแก้กิเลสตัวใดๆ เพราะมันหมดโดยสิ้นเชิง จะหาที่ไหน ท่านก็รู้ชัดๆ อยู่แล้วว่าหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว นี่ละผู้นี้ไม่ต้องทำความเพียรเพื่อแก้กิเลสอีก หากเป็นหลักธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับตัวเอง

จากนั้นท่านก็อยู่ทรงธาตุทรงขันธ์ ทรงธาตุทรงขันธ์ของท่านคือเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอ คลี่คลายธาตุขันธ์ของตนออกไปเป็นลำดับลำดา นี้ประการหนึ่งเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ บรรเทาร่างกายด้วยการเปลี่ยนต่างๆ นี้อันหนึ่ง อันหนึ่งพิจารณาธรรมทั้งหลาย ภายในจิตใจของท่าน จะกว้างจะแคบ หยาบละเอียดขนาดไหน ท่านจะพิจารณาเวลาภาวนา นี้อันหนึ่ง เป็นขั้นๆ จากนั้นท่านผู้มีญาณที่ควรหยั่งทราบอะไรท่านก็พิจารณาของท่านอีก อันนี้เป็นเรื่องภายใน พระท่านไม่ค่อยพูดล่ะ นี่เรียกว่า เป็นความหยั่งทราบตามจริตนิสัยของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว ท่านมีงาน

การภาวนานี้ก็เพื่อระหว่างจิตกับขันธ์ครองตัวได้สะดวกสบาย ให้ถึงอายุขัย ไม่สมบุกสมบันจนเกินไป ควรพักจิตก็พัก ระหว่างขันธ์กับจิตพักกันแล้ว ขันธ์ความคิดความปรุงระงับไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ แล้วขันธ์ก็สงบตัวลงไป นี่ท่านภาวนาเพื่อระงับขันธ์ ในทิฏฐธรรมที่มีชีวิตอยู่ แต่ท่านจะแก้กิเลสตัวใดไม่มี มีแต่ระงับขันธ์บรรเทาขันธ์ไป เพื่อครองกันไปถึงวันอวสานแห่งชีวิต เรื่องกิเลสไม่มี นี่อันหนึ่ง

อันหนึ่งพิจารณาธรรมในเวลาท่านภาวนา คำว่าพิจารณาธรรมนี้พูดยากนะ ละเอียดสุด สุดละเอียด กว้างขวางมากทีเดียว แต่แย็บออกมาพอให้เข้าใจเท่านั้นเอง เรื่องที่จะรู้ตามวิสัยของจิตที่หลุดพ้นไปแล้ว มันกว้างขวางมากมายจะไปทางไหน แหวกว่ายไปได้หมด ไม่มีจะติดตรงนั้น คาตรงนี้อะไรไม่มี เพราะที่ทำให้ติดให้คาก็มีแต่กิเลส  กิเลสขาดสะบั้นหมดแล้วติดกับอะไร นั่น เวิ้งว้างไปหมด เป็นสุญญากาศหรือว่าเป็น สุญฺญโต โลกํ โลกนี้สูญไปหมด มีก็มีแต่หลักธรรมชาติที่สว่างจ้าครอบโลกธาตุเท่านั้นเอง ท่านเรียกว่า จิตบริสุทธิ์แล้ว หรือว่าจิตเป็นธรรมธาตุ สุดขีดอยู่เท่านั้น

จิตดวงนี้สูญไหมล่ะ พอมาถึงขั้นนี้แล้ว ถึงธรรมธาตุ นี่ละที่สุดของจิตที่เกิดตายๆ ในภพชาติต่างๆ ไม่หยุดไม่ถอย ที่ใครๆ ก็ว่า ตายแล้วสูญๆ มันไม่ได้สูญ มันเกิดมันตายหมุนไปเวียนมานี้ เพราะวัฏจักรหัวใจกับอวิชชาพาให้หมุนตลอดมันจะสูญไปไหน พออวิชชาดับลงไปแล้ว จิตดวงนี้ก็บริสุทธิ์เต็มเหนี่ยว แล้วสูญไปไหนที่นี่ เป็นธรรมธาตุขึ้นมา

นี่ละอำนาจแห่งการปฏิบัติธรรม ท่านปฏิบัติของท่านอย่างนั้น ถ้าผู้ใดมีความสนใจในธรรม จะตักตวงเอาคุณงามความดีตลอดมรรคผลนิพพานเข้าสู่ใจอย่างเต็มหัวใจ ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอธรรมจ้าขึ้นที่หัวใจนี้ยอมรับทันทีเลย นี่พูดแล้วสาธุ ไม่มีที่จะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นองค์เช่นไรก็ไม่มี ส่วนพระรูปพระโฉมนั้นมีต่างๆ กันเป็นธรรมดาใครก็ทราบ อยากไปรู้ไปเห็นอะไร ก็เหมือนหนังห่อกระดูกเหมือนกันนี้ ธรรมชาติที่เป็นพุทธะแท้ที่เลิศเลอ ที่ว่าเป็นศาสดาแท้ คืออะไร คือความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์อันนี้มันก็เข้ากันได้หมดเลย กับความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ เป็นอันเดียวกันหมด แล้วจะไปหาดูกันที่ไหน ก็เป็นอันเดียวกันแล้ว

เหมือนน้ำในมหาสมุทรไหลมาจากคลองใดๆ หรือมาจากบนฟ้าก็ตาม พอไหลเข้าไปสู่มหาสมุทรก็เป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมดแล้ว จะไปแยกกันได้ยังไง ว่าน้ำนี้แยกมาจากคลองนั้นคลองนี้ไม่มี เป็นน้ำมหาสมุทรด้วยกันแล้ว อันนี้จิตพอเข้าถึงผางอันนี้แล้วมันก็เป็น มหาวิมุตติ มหานิพพาน เหมือนกันหมดเลย แล้วท่านจะสงสัยพระพุทธเจ้าที่ไหน ท่านบอกว่า นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากันธรรมชาตินี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ถามกัน พอผางนี้มันถึงกันหมดแล้ว พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ถึงกันหมดเลย เหมือนแม่น้ำในมหาสมุทรจ่อลงไปนี้ถึงกันหมด นั่นละธรรมแท้เป็นอย่างนั้น

ที่ท่านว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต คือเห็นนี้ หายสงสัย อยากเที่ยวอยากดูพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่อยากดู เรื่องพระรูปพระโฉมที่ท่านนิพพานที่นั่นที่นี่ นั้นเป็นส่วนสรีระ เป็นส่วนสมมุติ ส่วนวิมุตติธรรมแล้วเหมือนกันหมด แล้วธรรมนี้ใครเคยมาสอน สัตว์โลกพ้นจากทุกข์ไปเพราะธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว จึงเป็นธรรมคงเส้นคงวาหนาแน่น ตายใจได้สำหรับผู้ปฏิบัติได้ตามภูมิของตนๆ ที่สามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไร ผลจะปรากฏขึ้นมา ไร้ผลไม่มี

ขอให้พากันไปปฏิบัติเถอะน่ะ ไม่ว่าหญิงว่าชาย อุปนิสัยมีเหมือนกันหมด ไม่นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย นักบวชและฆราวาส มันมีอยู่ที่หัวใจ ใครก็ไปได้หลุดพ้นได้เหมือนกัน ถ้าตั้งใจปฏิบัติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ เพศนี้ประกาศตนว่าเป็นนักบวช เป็นนักรบที่จะแก้กิเลสอย่างแท้จริง ความหมายว่างั้น แต่เมื่อพลิกจากนั้นแล้ว มันบวชมาเพื่อสั่งสมกิเลส เป็นฟืนเป็นไฟเผาตนเองและเผาคนอื่นให้เดือดร้อนไปหมดอย่างนี้ก็ได้ มันเป็นอยู่กับกิเลสบังคับจิตใจ ไม่ให้หมุนไปทางธรรมให้หมุนไปทางกิเลสไปเสีย มันก็สร้างแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้ทั้งตนเองและผู้อื่นนั้นแล พากันจำเอานะ

วันนี้ก็เปิดให้ฟังอย่างชัดเจน ถอดออกมาจากหัวใจ ตั้งแต่เริ่มที่ว่าปฏิบัติ ไปอยู่ในป่านั้นเขานี้ ฝึกทรมานตน ว่าหนักก็หนักมากที่สุดเลยเราการฝึก นิสัยของเราไม่เหมือนใคร รู้สึกจะผาดโผนอยู่นะ เป็นนิสัยที่ผาดโผนเอาจริงเอาจังมากทีเดียว ถ้าลงได้ลงใจแล้วผางเลยเชียว ไม่มีอะไรมาคัดค้านต้านทานได้ ถ้ายังไม่ลงใจยังไม่เต็มเหนี่ยว ถ้าลงใจเต็มเหนี่ยวแล้วผึงเลยเชียว นี่ก็ปฏิบัติตัวอย่างนั้น การฝึกทรมานตนเอง ถึงขั้นจะตายเอาตาย นั่นเห็นไหม มันไม่ได้กลัวตายนะ ธรรมเหนือนั้น ซัดกันเลยๆ แล้วเวลาได้ผลขึ้นมาก็สมเหตุ เหตุที่เราเด็ดเดี่ยวอาจหาญขนาดไหน ผลเป็นขึ้นมาๆ

ทีนี้เวลาดำเนินได้ผลมาเป็นลำดับ ย้อนหลังไปหาปฏิปทาของเราที่ดำเนินมา คุ้มค่ากันเลยๆ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาจนตรอกจนมุม นี้ละจิตมันใช้สติปัญญาหมุนแก้ตัวออกรอดจนได้ๆ คนเราไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลานะ ถึงเวลาจนตรอกจนมุมสติปัญญามันหากฟิตตัวของมันขึ้นมาเอง แล้วผ่านไปได้ๆ

พุทธศาสนาเรานี้เลิศเลอสุดยอดแล้วนะ ท่านทั้งหลายให้ปฏิบัติ ไม่มีที่ไหน ได้พิจารณาหมดแล้วในหัวใจนี้ ไม่อวด ไม่มีที่ไหนเป็นศาสนา เป็นเครื่องแก้กิเลสของสัตว์โลก มีแต่โครงการของกิเลส แล้วสอนกันตามโครงการของกิเลส ใครจะเสกสรรตัวว่าเป็นศาสดาองค์ใดก็ตามเป็นเจ้าของศาสนาไหนก็ตาม มันมีแต่คลังกิเลสเป็นเจ้าของศาสนา เป็นศาสดา แล้วออกมาก็เป็นเรื่องของกิเลส ออกมาๆ ผู้รับฟังไป เชื่อถือก็เชื่อถือตามโครงการกิเลส มันก็สร้างทางวัฏวนเข้าไปเรื่อยๆ สร้างบาปสร้างกรรมไปในตัวที่ถือศาสนาแล้วภาคภูมิใจ ฆ่าเขาไปสวรรค์อย่างนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าแม้แต่สัตว์เดรัจฉานท่านก็ไม่ให้ฆ่า นี้ฆ่าเขาไปสวรรค์ ฆ่าคนแล้วได้ไปสวรรค์ฟังเอาซิ อย่างนี้ละ ให้พิจารณาเอา

นี่ละเรื่องคนมีกิเลสกับคนสิ้นกิเลส แม้แต่อยู่ในครรภ์ไม่ให้แตะ ฟังซิน่ะ ท่านไม่ให้แตะ ท่านให้ความเสมอภาคเหมือนกันหมดเลย จิตดวงนั้นๆ เหมือนกันกับจิตเรา แต่เวลานี้อยู่ในสภาพนั้นก่อน เปลี่ยนจากสภาพนี้ไปตามรูปตามการณ์ ตามกรรมดีกรรมชั่ว เป็นสัตว์ใหญ่สัตว์เล็กไปเรื่อยๆ ขึ้นสวรรค์ชั้นพรหม ลงนรกอเวจีก็ได้ จิตดวงนี้น่ะ มันไม่ได้แน่นอนนะ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้สั่งสมความดีไว้เพื่อประคับประคองตัวเอง เป็นที่พึ่งของตัวเอง

เวลาตายแล้วคนมีความดีนี้มันกระหยิ่มนะ ไม่ได้เดือดร้อน คนมีแต่ความชั่วนี้เดือดร้อนมาก ถึงจะว่าไม่เชื่อบุญเชื่อบาปก็ตาม มันหากเดือดร้อนอยู่ในตัวของมัน เพราะบาปอยู่กับหัวใจของผู้ทำ มันจะไม่เดือดร้อนยังไง มันบอกว่าไม่เชื่อบุญเชื่อบาปอย่างนี้ก็ตาม ตัวใจของมันนั่นแหละคือฟืนคือไฟเผาไหม้อยู่นั้น ตัวที่ปฏิเสธบุญบาปนั่นละ ตัวที่มันร้อนที่สุดอยู่ในหัวใจของมัน เราจะไปเชื่อมันได้ยังไง

ผู้ที่บำเพ็ญคุณงามความดี มรรคผลนิพพานมีหรือไม่มี ท่านไม่ถามใคร เชื่อใครหรือไม่เชื่อใคร เชื่อพระพุทธเจ้าองค์เดียวพอ อยู่ในนี้หมด พอบรรลุผางขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปถามหาพระพุทธเจ้าพระองค์ใด เสมอกันหมด นั่นเห็นไหม แล้วท่านไปถามใครล่ะ ธรรมนั่นเองเปิดทางให้ องค์ศาสดาที่แท้จริงขึ้นภายในใจ

ให้พากันปฏิบัตินะ เรามีนิสัยวาสนา ถึงได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบอรรถพบธรรม ให้พากันบำเพ็ญ ไอ้เรื่องคนภายนอกที่มันไม่ดี ใครก็ตามเป็นฆราวาสเป็นพระก็ตามที่ไม่ดี อย่าเอามาเป็นแบบเป็นฉบับนะ พวกนี้พวกเลว ให้เอาคนดีเป็นแบบเป็นฉบับ คนเลวอย่าเอาเป็นแบบ ถ้าไม่อยากจมกับเขา ให้เอาความดีคนดีมาเป็นแบบเป็นฉบับ ทุกข์ยากลำบากก็ให้ฝ่าฝืน

การจะแก้กิเลส จะรบกับกิเลสต้องมีการฝืนกัน นอกจากกิเลสสิ้นไปแล้วไม่มีฝืน จะฝืนอะไรกิเลสตัวขี้เกียจก็ไม่เห็นมี ตัวขยันก็ไม่เห็นมี ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหลักธรรมชาติแล้ว พอดีแล้ว จะว่าขยันก็ไม่ใช่ จะว่าขี้เกียจขี้คร้านก็ไม่มี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งหมด ธรรมชาตินั้นพอ พอเท่านั้นหมดแล้ว พออย่างเลิศเลอ นอกสมมุติอีก เอาละนะ พอ พูดเท่านั้นละ

มาจากวัดไหน (สมุทรสงครามครับ) อยู่วัดไหน (อยู่สำนักแม่กลองครับผม) สำนักแม่กลอง เอ๊ ตรงไหนนะ เราไม่ค่อยได้เที่ยวทางสมุทรสงครามไม่ทราบว่าวัดไหนมียังไง เป็นยังไงล่ะ ฟังเทศน์วันนี้ พอเข้าใจอยู่หรือ (ครับผม) เอาให้ดีนะ ฟาดมันให้กิเลสขาดสะบั้นไปอยู่ไหนสบายหมด  สิ้นกิเลสแล้วมันไม่มีหมายที่เป็นที่ตาย หมายนั้นหมายนี้ไม่มี หมด เป็นปัจจุบันบริสุทธิ์ล้วนๆ อยู่ตลอด พอ อดีตไม่มี อนาคตไม่มี ปัจจุบันก็เป็นสมมุติลบหมดเลย ท่านไม่เป็นกังวลกับอะไร พอ พอด้วยความเลิศเลออยู่กับจิต

ฟังเทศน์วันนี้ เข้าใจไม่ใช่หรือ พูดตื้นๆ ให้ฟังชัดเจน ไม่ได้ยกคาถาบาลี แปลว่างั้น แปลว่างี้ พอพูดอย่างนี้เราก็เคยได้พูดกับผู้กำกับเสมอ เวลาเราไปเทศน์นี่ เราจะไม่เทศน์ตามศัพท์ตามแสงตามธาตุ วิภัตติ ปัจจัยที่เราเรียนมา ทีนี้ท่านเหล่านั้นเรียนสิ่งนี้จนพูดให้มันเต็มยศเลย จนเป็นหนอนแทะกระดาษ เข้าใจไหม มันติดปริยัติเสียมาก ทีนี้เราเรียนมาก็เรียนมาเหมือนกัน แต่เวลามาปฏิบัติมันปล่อยนั้นๆ เข้าสู่ความจริงๆ ล้วนๆ เวลาแปลนี้ปั๊บ ใส่ความจริง ทางการแปลท่าน ในทางปริยัติท่านบอกว่า แปลได้ ๒ ประเภท ๑.แปลโดยพยัญชนะ ๒.แปลโดยอรรถ แปลโดยพยัญชนะนี้ แปลให้ถูกศัพท์ถูกแสงทุกสิ่งทุกอย่าง แปลโดยอรรถนี้ ตรงเป๋งไปเลย เอาเนื้อๆ เลย

เวลาเราไปเทศน์ ยังถูกตำหนิจากพระผู้ใหญ่ที่ท่านเรียนปริยัติ ๘,๙ ประโยคก็มี พอเทศน์ออกมาแล้วว่า มหาบัวแปลผิดศัพท์ แทนที่เราจะมาวิตกวิจารณ์ว่าเราแปลผิดศัพท์ ไม่ได้วิตก มีแต่ว่า โห ท่านติดปริยัติ ติดขนาดนี้เชียวเหรอ สลดสังเวชนะ โห ติดขนาดนี้ ท่านจะเอาธาตุ วิภัตติ.ปัจจัยตัวหนังสือนั้นหรือมาเป็นมรรคผลนิพพาน เป็นกิเลส มันไม่ใช่กิเลสไม่ใช่มรรคผลนิพพาน กิเลสอยู่ที่ใจ ธรรมะอยู่ที่ใจ แก้กันที่ใจ รู้กันที่ใจ พูดออกมาจากใจ มันจะผิดไปไหน ว่างั้นพูดง่ายๆ นะ เราเลยสลดสังเวช อย่างนี้ละ ท่านจะว่าเราผิดไป เราก็ไม่ผิด ก็มันเป็นมหาด้วยกัน มันรู้หมดแล้วนี่ แต่ไม่ได้แปลตามมหาล่ะซี แปลก็แปลโดยอรรถไปเสีย ตรงแน่วเลย

ทางปริยัติท่านก็บอกไว้ แปล ๒ ประเภท แปลตามพยัญชนะ แปลโดยอรรถ แต่เรามักมีแต่โดยอรรถ พุ่งๆ เลย ยิ่งพ่อแม่ครูจารย์ด้วยแล้วผึงเลยเชียวนะ ก็อยู่กับท่านนี่ ท่านจะไปหาลูบหาคลำอะไร ไม่ใช่หนอนแทะกระดาษ  กิเลสมันไม่อยู่กระดาษมันอยู่ที่ใจ ธรรมก็ไม่ได้อยู่กระดาษ มันอยู่ที่ใจ ฟาดออกจากนี้ผึงเลย นั่น เป็นอย่างนั้นนะ ว่าแปลผิดศัพท์บ้างอะไรบ้าง เรามันทำให้คิดเห็นผู้ที่เรียน โห ติดขนาดนี้นะติดปริยัติ เลยถือว่าปริยัติเป็นหนังแส่หนังสือ ธาตุ.วิภัตติ.ปัจจัย เป็นมรรคเป็นผลไปหมดเลย นั้นเป็นสิ่งเหล่านั้นต่างหาก มันไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นธรรม นี่ละภาคปฏิบัติมันแยกทันทีนะ

         ฟังเทศน์วันนี้ก็เข้าใจนะ พอเข้าใจหรือวันนี้เทศน์ เอาไปพิจารณานะ ให้ไปภาวนา ภาวนาพุทโธๆ เอาสติติดกับคำว่า พุทโธๆ ให้มันสงบไปดูซิ มันมีแต่ลิงแต่ค่างเต็มเนื้อเต็มตัว ทั้งพระทั้งฆราวาส ไม่มีความสงบในใจ ถ้าธรรมเข้าไปปั๊บนี่ มันจะสงบ พอสงบแล้วเย็น พอเย็นปั๊บมันจะเห็นโทษแห่งความวุ่นวายของตัวเองจากกิเลสที่มันก่อกวนนั่น ว่าเทศน์จบแล้วมันก็ไม่จบ เดี๋ยวขึ้นอีกแล้ว อย่างงั้นละเทศน์ธรรมะป่า ไม่ได้ยกครูละนะ  

         ผู้กำกับ  หลวงตาครับ มีปัญหาธรรมะจากเว็บไซต์ของหลวงตา คนแรกนะครับ ผมได้ติดตามคำสั่งสอนของหลวงตา และพยายามนำมาปฏิบัติชำระจิตใจ จากหยาบมาสู่ละเอียด ผมขออนุญาตกราบเรียนผลต่อหลวงตาดังนี้ครับ

ข้อ ๑.ระยะหลังนี้ ผมเดินภาวนาพุทโธไปสักพักหนึ่ง รู้สึกจิตใจผ่องใสมาก ละเอียดบริสุทธิ์ใสจนเหมือนเป็นแก้ว มีแสงสว่างกระจายออกโดยรอบ ต่อจากนั้นก็พิจารณากาย แสงนั้นทะลุทุกรูขุมขน จนกายนั้นโปร่งแสง พิจารณากาย แยกเป็นธาตุดินน้ำลมไฟ ให้แตกสลายเป็นผง เป็นละอองธุลีหมดไป แล้วพิจารณากระจายไปถึงแผ่นดิน ต้นไม้รอบข้าง ก็เป็นลักษณะผงธุลีเหมือนกัน มีครั้งหนึ่งรู้สึกเหมือน ทะลุออกจากโลกแผ่นดินที่เป็นธาตุหยาบ เหมือนอยู่เหนือโลกมองลงมา จิตใจเหมือนอยู่ในอีกดินแดนหนึ่งซึ่งใสละเอียด ผมกำลังพิจาณา แยกความใสละเอียดนั้น ให้กระจายแยกออกจากกันครับ บางครั้งพิจารณาจิตใจแยกออกไปเรื่อยๆ จนเหมือนเป็นอณู ละเอียดไปหมด จนทะลุเข้าไปเป็นความสว่าง รู้สึกสบายใจเป็นอย่างมาก มีความสบายมากครับ ผมใคร่ขอคำแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมจากหลวงตาด้วยครับ

หลวงตา  เท่าที่พิจารณามานี้ถูกต้องแล้ว ไม่มีที่ต้องติ ให้พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ แต่อย่าไปเอาอดีตมาเป็นอารมณ์ ให้พิจารณาตั้งใหม่ เป็นปัจจุบันเข้าใจไหม แล้วมันจะค่อยชำนิชำนาญคล่องตัวไปเอง ถูกต้องแล้วที่เล่ามานี้

         ผู้กำกับ  ข้อ ๒. ในยามที่ผมไม่สบาย เป็นหวัด หรือคนข้างเคียงไม่สบาย เช่นเป็นหวัดเจ็บคอ ปวดหัว ผมได้พิจารณาแยกกาย แยกรูปออกจากกัน แยกออกจากกันแล้ว ได้พบสิ่งแปลกปลอมที่แฝงอยู่ในรูปกายผม คาดว่าเป็นเชื้อโรค มีรูปนิมิตลักษณะต่างๆ กัน และนึกน้อมนำเจ้าโรคนั้นไปทิ้งถังขยะบ้าง ทิ้งทะเลบ้าง สังเกตผลว่าทำให้หายเจ็บไข้ได้อย่างรวดเร็ว ผมได้รักษาลูกสาวบ้าง รักษาตนเองบ้าง รักษาคนในครอบครัวบ้าง สังเกตว่า ได้ผลดีครับ การทำอย่างนี้เป็นการฝืนกรรมลิขิตหรือไม่ครับ และจะมีโทษภายหลังหรือไม่ครับ หรือควรปล่อยให้เจ็บไข้เป็นไปตามธรรมชาติของเขาครับ 

         หลวงตา  ถูกต้องแล้วนี่ เป็นไปตามนิสัยนะ ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคนไป แต่สำหรับรายของเรานี้ถูกต้องแล้วตามนิสัยของเรา ตามแต่จะแยกแยะไปใช้ในเวลาใด เหมาะสมกับความถนัดใจของเราก็พิจารณาได้ ถูกต้อง

ผู้กำกับ  ไม่เป็นการฝ่าฝืนกรรมลิขิตนะครับ

หลวงตา  ไม่ฝืน

ผู้กำกับ  ข้อ ๓. ผมได้นำธรรมะไปใช้ในการทำงาน พิจารณาแยกปัญหา แยกอารมณ์ออก ทำให้มีปัญญาใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์โกรธขุ่นมัว ในการพูดในที่ประชุม ซึ่งทำให้การทำงานกับคนอื่นๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อน ได้รับความร่วมมือดีขึ้น สามารถทำให้งานลุล่วงไปด้วยดีครับ จาก ธีรวัฒน์

         คนที่ ๒ ครับ ข้อ ๑. ขณะที่ผมนั่งภาวนาพุทโธ ลมหายใจเข้ากระทบปลายจมูก ภาวนาพุท ลมหายใจออกกระทบปลายจมูก ภาวนาโธ สติรู้อยู่ที่ปลายจมูก ซึ่งเป็นทางเข้าออกของลมที่มากระทบครับ กระผมก็พิจารณาไปเรื่อยๆ พยายามให้มีสติ รู้ลมที่มากระทบที่ปลายจมูกและคำภาวนา จนกระทั่งผ่านไปสักพักหนึ่ง เกิดเวทนาที่ขาครับ กระผมรู้สึกเริ่มปวดแต่สามารถทนได้ ก็ภาวนาพุทโธต่อไป แต่พอไม่นานก็ปวดมากขึ้นครับ กระผมจึงเปลี่ยนจากการภาวนาพุทโธ มาเป็นการพิจารณาร่างกาย แยกธาตุแยกขันธ์ โดยเฉพาะตรงที่ปวดครับ ซึ่งก็ทำให้ความปวดลดลงไป แต่ยังไม่หายขาดครับ ยังคงปวดอยู่ แต่กระผมทนได้ครับ กระผมก็เลยเปลี่ยนจากการพิจารณาร่างกาย มาเป็นการภาวนาพุทโธเหมือนตอนแรกครับ ที่กระผมได้กระทำมาดังกล่าวนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ กระผมต้องพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ จนให้ความปวดหายไปหมดหรือไม่ครับ แล้วค่อยกลับมาพิจารณาพุทโธต่อไปครับ จาก ไกรพล

        หลวงตา  ไม่ผิดละ ถูกต้องตามนิสัยควรจะพิจารณาในแง่ใดเวลาใด นี้ก็พิจารณาอยู่ในวงแห่งธรรมที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่ผิด

         คนแรกพูดน่าฟัง มีหลักมีเกณฑ์ การภาวนานี้พิสดารมากนะ ที่เอามาพูดเหล่านี้ พูดเพียงเท่าที่จะพอพูดได้ๆ พอเข้าใจกันได้เท่านั้น ที่นอกจากนี้ ที่จะสุดวิสัยของผู้ฟังแล้ว พูดหาประโยชน์อะไร แต่ความรู้มันไม่เป็นอย่างนั้น เต็มเหนี่ยวของความรู้ แล้วแต่มันจะรู้อย่างไร เห็นอย่างไรขึ้นมา ตลอดความสว่างไสวของจิตจะมีเหมือนกัน ทุกอย่างเราคาดไม่ถูกละ เป็นขึ้นมาแล้วก็รู้เอง

         ผู้หญิงอินโดนีเซียชื่อ สันติ น่าฟังนะ แกพูดดี ละเอียดเข้าไปโดยลำดับ นานๆ จะได้พูดกันทีหนึ่ง ดี ความรู้ความเห็นของแกแปลกๆ ต่างๆ น่าฟัง ตอนนั้นที่แกพูดถึงเรื่อง เป็นนรกหรืออะไรถูกตัดตีนตัดมือน่ะ น่าฟังนะ เราจึงแย็บออกบ้าง รับกันนิดหน่อย ไม่พูดมาก เพราะไม่ใช่เป็นทางแก้กิเลสโดยตรง แต่มันนิสัยอย่างนั้นเวลามันจะเป็นก็ปล่อยให้มันเป็นไปๆ มันหากหักเข้ามาเอง แยกเข้ามาเอง

         นักภาวนานี่ เป็นนักพิสดารในธรรมทั้งหลายมาก ที่แต่ก่อนเราไม่เคยคาดเคยฝันว่าจะรู้จะเห็น เวลาอบรมใจเข้า ใจค่อยเบาบางออกจากสิ่งมัวหมองมืดตื้อทั้งหลาย แล้วมันจะค่อยแสดงแสงสว่างออกไปๆ เรื่อยๆ เป็นอย่างงั้นละ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอก โลกวิทู รู้แจ้งโลกนอก โลกในตลอดทั่วถึงหมดเลย เรียกว่า หมด นี่เป็นพุทธวิสัย สาวกวิสัยท่านก็เต็มภูมิของท่าน ที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในส่วนใด พอดีกับนิสัยวาสนาของท่าน แน่ะเป็นอย่างนั้น 

         อันนี้ก็กำลังเป็นอะไรอยู่เดี๋ยวนี้นะ นี่ยังไม่ได้รับคำตอบมาหรือยังไง เขากำลังติดต่อ ประชาชน (ยังเงียบอยู่ครับ) หือ(ยังเงียบเฉยอยู่ครับ) นี่ทางเมืองชลฯ นิมนต์เราวันที่ ๓๐ ให้ไปพัทยา เราก็รับเรียบร้อยแล้ว แต่พอดีวันนี้ทางแม่ทัพภาค ๒ เขาก็มีงานทางโคราช วัดหลวงพ่อพุธนั่นแหละ วัดสาลวัน เขาก็เคยพูดไว้แล้วว่า เขาจะนิมนต์เราไปในงานนี้ ทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯก็นิมนต์ ว่างั้น เขานิมนต์มาแล้วก็ทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯมา เราก็ยังนิ่งๆ เรายังไม่ได้พูดยังไง แต่เมื่อเช้าที่แม่ทัพภาค ๒ มา พูดถึงเรื่องว่า ถามมาว่า เราว่างหรือไม่ว่างอะไรนะ

ผู้กำกับ  เขากราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯๆ ก็ถามว่า หลวงตาไปหรือเปล่าครับ ถ้าหลวงตาไป พระองค์ก็จะเสด็จ ถ้าหลวงตาไม่ไป ท่านไม่เสด็จครับ

หลวงตา  วันที่ ๓๐ ก็พอดีเรามีงานนะ เขาจะนิมนต์เราวันที่ ๓๐ เราไม่ว่าง ทีนี้ อันที่นิมนต์เรานี่แหละ จะไปนี้วันที่ ๓๐ เขาก็ทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ภูพาน ท่านก็รับสั่งมาว่า หลวงตาจะไปไหม จะมานี่ไหม ถ้าหลวงตามา ท่านจะเสด็จมา ถ้าหลวงตาไม่มาท่านก็ไม่มา เอาอีกแล้ว ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่นี่ กำลัง เขาอาจจะไปติดต่อทางพัทยาก็ได้นะ (ครับผม) แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะจากนี้ไปถึงวันที่ ๓๐ ก็ยังมีอีกหลายวัน ถ้าเขาขอทางนี้ได้ เขาจะนิมนต์เราไปนั้น พร้อมทั้งทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯมาในงานนี้ เพราะวันที่ ๓๑ ท่านก็จะเสด็จกลับจากภูพาน มากรุงเทพ ไอ้เราก็จะออกจากวัดนี้ไปอุดรฯ เดี๋ยวนี้กำลังฟังอยู่

เราไปถึงโคราชแล้วก็ย้อนกลับมานี้อีก วันที่ ๓๐ วันที่ ๓๑ ก็ไปโคราชอีกลงอุดรฯ อันนี้ก็ถ้าสมมุติว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯเสด็จมาวัดสาลวัน ก็ย้อนกลับไปภูพานอีก วันหลังก็เสด็จมาอีกนี้มันก็แบบเดียวกันกับเรา เอ้อ มันลำบากนา ทีนี้วัดสาลวันเราก็ช่วยสงเคราะห์มากต่อมากแล้ว  แล้วไม่พ้นที่จะมาผูกพันเราอยู่ตลอดนะ เทศน์ในงานที่จะสร้างเจดีย์นี้ก็เทศน์หาทุนหารอนนั่นแหละ ก็นิมนต์เรามาเทศน์ให้ เราก็เลยมาเทศน์ให้ ดูเหมือนได้เงินสองล้านกว่าๆ เราก็มอบให้เลย แล้วมีอะไรอีกยุ่งกับเราอยู่เรื่อยๆ นะ เจดีย์นี่ก็ไม่พ้นละ เรื่องอะไรต่ออะไร ก็ต้องอาศัยเราอีกแหละ

         วันนี้เทศน์ประมาณสักกี่นาที (๕๕ นาทีครับ)  ๕๕ โถๆ นานอยู่

         เราเป็นห่วงคลังหลวงของเรา เราจึงได้พยายามในเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ถ้าเราตายไปแล้ว ไม่อยากคุย มันจะไม่ได้นะ ตั้งแต่ก่อนมันก็ยังไม่เคยได้ใช่ไหมล่ะ พอเวลาออกช่วยชาติทำไมมันได้ เราตายแล้วใครจะมาให้ล่ะ เราไม่มาขอ เราตายไปแล้วเขาก็ไม่ให้ล่ะซี เราอยู่นี้ ขอเช้าขอเย็น เคาะกระเป๋าดู มีทองไหม เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ใช้แบบนั้น แต่ก่อนตีกระเป๋านั้นกระเป๋านี้ ไหนทอง ไหนดอลลาร์ ตีเรื่อยแหละ เดี๋ยวนี้ลด มีแต่เพียงว่า เรียนให้ทราบ เผดียงให้ทราบ และออดอ้อนไปด้วยกัน อีกอย่างหนึ่งก็เวลาเจอกัน ก็เบาๆ เคาะกระเป๋านี้ ก็จะว่างั้นอีก มันมีหลายแบบนี่นา เราได้ทองคำเข้าสู่คลังหลวงเราพอใจ ตายเมื่อไรหายห่วง เราคิดอย่างนี้ เพื่อลูกหลานของเรา ต่อไปจะได้มีหลักมีเกณฑ์ อบอุ่นนั่นละ จึงได้อุตส่าห์พยายาม เวลามีชีวิตอยู่และกาลอันควรที่เราพอจะได้ เราก็อยากได้ ให้พร ทีนี้เลิกกันละนะ

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก