ตีเข้าหาธรรม
วันที่ 4 กันยายน 2548 เวลา 8:25 น. ความยาว 43 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :
 

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๘

ตีเข้าหาธรรม

(ปัจจัยวางไว้แต่เช้าไม่มีเจ้าของครับ) ไม่มีเจ้าของก็เอาเข้าสู่ศูนย์กลางเสีย หลักธรรมวินัยมีอย่างนั้นนะ เห็นของตกเก็บไว้แล้วประกาศหาเจ้าของ ถ้าไม่มีใครมารับเลยๆ แล้วของนี้เอาไปเข้าจุดศูนย์กลาง เวลาเจ้าของเขามาทวงทีหลัง เขามาหาทีหลังก็ชี้ใส่จุดนั้นว่าเอาไปทำประโยชน์อันนั้น นั่นพระวินัย นี่ก็เหมือนกัน ไม่ทราบว่าตกมายังไง เราอยากให้ตกมากๆ ตกทั้งหมดยิ่งดี เราจะเอาเข้าจุดศูนย์กลาง พูดตามหลักธรรมวินัย คือปรกติพระวินัยห้ามไม่ให้จับเงินจับทอง แต่เวลามาเห็นของตกอยู่อย่างนั้น ถ้าพระองค์ไหนไปเจอองค์นั้นต้องรับผิดชอบเก็บ นั่นเห็นไหมล่ะพระวินัย เก็บแล้วก็ประกาศหาเจ้าของ ถ้าเป็นอย่างอื่นๆ ไม่ใช่เงินก็บอกรูปลักษณะอะไรๆ ถ้าเป็นเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ไม่บอก นั่นเห็นไหมพระวินัย ให้เจ้าของเอาพยานมาอ้างเอง แล้วก็ให้ตามนั้นๆ นี้ตามหลักพระวินัย

ใครจะละเอียดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ห้ามไม่ให้พระจับเงินจับทอง แต่เวลาไปเจอของอยู่ในบริเวณวัด ที่อื่นไม่ว่านะ ถ้ามาเห็นอยู่ในบริเวณวัดซึ่งเป็นสถานที่รับผิดชอบ พระองค์ใดเจอองค์นั้นต้องรับผิดชอบ เก็บอันนั้นไว้ นั่นท่านบอก พระวินัยท่านละเอียดลออ โฆษณาหาเจ้าของ ถ้าไม่มีใครเลย จำเป็นก็เอามา จะทำประโยชน์อะไรก็ตามในส่วนรวม เวลาเขามาทวงทีหลังจึงชี้บอก คือมันสุดวิสัยแล้ว สมบัติเหล่านั้นเอาไปทำประโยชน์อันนี้แล้ว บอก มันสุดวิสัย นั่นเห็นไหมพระวินัยท่านละเอียดมากนะ ถ้าตกอยู่นอกสถานที่ ห้ามไม่ให้แตะให้จับ นั่นเห็นไหมล่ะ ถ้านอกสถานที่รับผิดชอบของตนเอง เช่นนอกวัดว่างั้นเถอะน่ะ ห้ามไม่ให้จับให้แตะ ผ่านไปเลย นี่พระวินัย

(รายการของรถสิบล้อของเสี่ยสมหมายวันนี้ครับ) อ๋อ มาเรื่อยแหละโรงสีเสี่ยสมหมายที่ร้อยเอ็ด เอามาหนุนกันเรื่อย กับสมบัติ สุทธินันท์หรืออะไร กรุงเทพ นั่นก็มา สองศรัทธานี่ที่มาบ่อยๆ คือร้อยเอ็ดกับกรุงเทพ สมบัติดูว่าเมื่อวานนี้ส่งของมาข้าวถุงละสิบกิโล ดูว่าพันกว่าถุง พอมาวันนี้เสี่ยสมหมายก็มา มีสองท่านนี่ละมีศรัทธามาเรื่อยๆ เพราะของในโกดังเรานี้ให้มีเต็มตลอดเวลา ไม่ให้บกพร่องนะ เราจะไปไหนมาไหนก็ตามเหมือนเราไม่ไป ของนั้นอะไรบกพร่อง ผู้รับผิดชอบมี ผู้รับผิดชอบในโกดังก็คือผู้มารักษาศาลาเป็นวาระๆ วาระละเจ็ดวันๆ ผู้นี้รับผิดชอบในโกดังด้วย ของอะไรบกพร่องให้บอกเขา สั่งทางบ้านผู้รับผิดชอบ แล้วก็รีบขนมาเต็มๆ ไว้ตลอดเวลา

บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ มาไม่ว่าโรงไหน เรียกว่าทั่วประเทศไทย มานี้ได้ทั้งนั้นๆ แต่ที่มีใกล้มีไกลเรียกว่ามีพิเศษ ผิดกัน ถ้าโรงธรรมดานี้ก็ธรรมดา ที่ไกลควรจะให้พิเศษ เราก็ยกตัวอย่างไว้เป็นเอกเทศ นี้เป็นเขตแรก ที่ไกลกว่านั้นไปอีกก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นพิเศษด้วยกันทั้งนั้นๆ เรายกไว้เช่นทางนี้ก็อุบล โคราช อุตรดิตถ์ เหล่านี้เป็นพิเศษทั้งนั้น เลยจากนั้นไปเป็นพิเศษทั้งหมด ไกลจากนั้นไปเป็นพิเศษทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นธรรมดา ของที่ให้ธรรมดามีจำนวนเท่านั้นๆ เสมอกันหมด ของที่ให้เป็นพิเศษ เพิ่มเท่าไรๆ ก็เสมอกันหมด เวลาจะไปก็เติมน้ำมันให้ๆ เต็มทุกคันรถๆ ไปเลยไม่ว่าใกล้ว่าไกล อย่างนี้ทางวัดปฏิบัติมาเป็นประจำ

เราทำประโยชน์แก่โลกเราไม่ได้ทำธรรมดา เราพูดชัดๆ จริงๆ หัวใจความเมตตานี้มันครอบโลกธาตุ เพราะฉะนั้นอะไรๆ จะมีมาไม่ได้ อำนาจแห่งความเมตตากวาดออกหมดๆ เลย ตื่นขึ้นมาปั๊บจิตมันออกแล้วนะ ที่ไหนจำเป็นตรงไหนๆ จะควรสงเคราะห์ตรงไหนๆ จิตนี้จะออกแล้ว ตามอำนาจแห่งความเมตตาดึงออกไป ให้ท่านทั้งหลายทราบเสียว่าธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่ได้เหมือนกิเลส ถ้ากิเลสมีแต่กวาดแต่ต้อน มีแต่เอารัดเอาเปรียบรีดไถโดยวิธีต่างๆ นี้คือกิเลส ไปที่ไหนเดือดร้อนวุ่นวาย เจ้าของดีใจคนเดียวก็เอาไม่เป็นไร คนจะเดือดร้อนกันทั้งประเทศก็ไม่สนใจ ให้เจ้าของท้องป่องเท่านั้นพอ นี่คือกิเลสเห็นแก่ตัว

ถ้าเป็นธรรม อันนี้ปั๊บมามันจะวิ่งถึงกันหมด เช่นอย่างอาหารมานี่เห็นไหม ที่จัดอาหาร ดูซิน่ะ จัดอาหารตอนเช้าๆ ในบริเวณนี้ อย่างน้อยบริเวณวัดที่รับผิดชอบ ออกจากนี้ก็ครัว มันเป็นอันเดียวกัน รับผิดชอบเสมอกันหมด เพราะฉะนั้นอาหารการกินได้มามากน้อยจึงต้องแบ่งสันปันส่วนให้สม่ำเสมอทุกอย่างๆ อยู่ในความรับผิดชอบ เมื่อสม่ำเสมอแล้วจะมีมากมีน้อยก็เย็นใจด้วยกันทุกคน ถ้าไม่เสมอด้วยความเอียงหน้าเอียงหลังไม่ได้นะธรรม ขัดกันมากทีเดียว

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายจำเอา คือธรรมต้องเสมอไปหมด เสมอภาคๆ ไปหมดเลยเรียกว่าธรรม เช่นอย่างในวัดนี้ก็เสมอกันหมด เฉลี่ยเผื่อแผ่ให้เสมอทั้งทางโน้นทางนี้ไปหมด ทีนี้เวลาออกข้างนอกก็ช่วยตามความจำเป็นๆ ที่ไหนช่วยไปหมด ธรรมเป็นอย่างนั้น ความตระหนี่ไม่ใช่ธรรม ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวคือกิเลส เป็นข้าศึกต่อธรรม ถ้าเป็นธรรมแล้วมองเห็นกันสนิทกันเลย ไม่ต้องถามชื่อเสียงชาติชั้นวรรณะฐานะสูงต่ำหรืออยู่จังหวัดไหนภาคไหน ไม่ต้องถาม หัวใจเป็นธรรมเข้ากันได้หมด เชื่อกันได้ ตายใจกันได้เลย เป็นอย่างนั้นนะธรรม เข้าปุ๊บตายใจกันได้เลย ถ้าเป็นกิเลสไม่ได้นะ มีกี่รายมันจะเป็นข้าศึกอยู่ในนั้น เป็นยาพิษอยู่ในนั้น ในชุมนุมชนก็ยาพิษอยู่ในที่นั่น

ธรรมกับกิเลสต่างกัน ท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นธรรมเห็นกิเลส ให้ฟังเอาตามนี้นะ กิเลสอยู่ในหัวใจของทุกคน แต่ธรรมมีมากมีน้อยบ้าง เรื่องธรรมรู้สึกจะสู้กิเลสไม่ได้ เรื่องกิเลสนี้หนาแน่นในหัวใจของสัตว์โลก อันนี้มีเต็มไปหมดๆ ไม่ค่อยบกพร่อง แต่ธรรมบกพร่องมาก เพราะฉะนั้นความสุขความเจริญ ความสงบร่มเย็นของโลกของส่วนรวมจึงมีน้อย แต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ความกระทบกระเทือน ความเอารัดเอาเปรียบกันนั้นมีมาก เพราะกิเลสเผาไปๆ ไปที่ไหนเผาที่นั่นกิเลสน่ะ นี่เรียกว่ากิเลส

เอามาพิจารณาแจงในหัวใจเจ้าของเองนะ ที่เทศน์สอนนี้ คือสอนให้ได้ยินได้ฟังทุกคน เพราะทุกคนมีพิษมีภัยอยู่ในหัวใจคือกิเลส แล้วมีใจเป็นภาชนะสำคัญที่จะรับเอาธรรมไปเป็นประโยชน์ ก็รับอยู่ที่ใจนั่นแหละ ให้ไปแยกแยะ อันไหนที่ไม่ดีให้คัดออกๆ อันไหนดีให้ส่งเสริมขึ้นมาๆ แล้วผู้นั้นจะมีความเจริญๆ เรื่อยๆ เจริญภายในใจ ใจนี้เป็นสำคัญมาก โลกทั้งหลายมองดูแต่วัตถุ ลมๆ แล้งๆ พระพุทธเจ้ามองดูหัวใจสัตว์ นั่น มองดูหัวใจสัตว์แล้วกระเทือนไปหมดถึงด้านวัตถุอะไรๆ ทั่วไปหมดเลย ถ้าใจดีแล้วอะไรๆ ดีหมด

สมมุติว่าเศรษฐี เศรษฐีนี้มีเงินสักเท่าไรคำว่าเศรษฐี มหาเศรษฐี ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ เศรษฐีนี้มีเงินถึง ๔๐ โกฏ โกฏหนึ่งไม่ทราบว่าสักเท่าไร เกิดมาแต่โคตรพ่อโคตรแม่หลวงตาบัวไม่เคยทราบว่าเงินโกฏเป็นเงินยังไง แต่มีในคัมภีร์เราก็เอามา ว่าเศรษฐีนี้มีเงิน ๔๐ โกฏก็เรียกว่าเศรษฐี เลยนั้นไปเป็น ๘๐ โกฏเป็นมหาเศรษฐี ท่านว่างั้น นี่เศรษฐี ทีนี้มาขึ้นอยู่กับใจ ใครจะมีมากน้อยจะมีจะจนอะไร ใจเป็นเครื่องวัดเครื่องตวงทั้งหมดเลย ถ้าคนมีธรรมแล้วสมบัติเงินทองข้าวของมีมากมีน้อย เป็นประโยชน์ทั่วโลกดินแดน เย็นไปหมด อบอุ่นไปหมด นั่น

ถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัวแล้วมีเท่านั้นยังไม่พอ ไปหากวาดมาอีก ให้เกิดความเดือดร้อนกันทั่วประเทศ นี่ละเรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น ต่างกันนะ สมบัติเงินทองข้าวของ ถ้าใจซึ่งเป็นเจ้าของมีธรรมแล้วกระจายไปหมดด้วยความเป็นธรรมๆ ทั่วหน้ากัน เห็นกันสนิท ตายใจกันได้เลยๆ ธรรมไปที่ไหนไม่ต้องถามชื่อถามเสียงแหละ ธรรมประสานเข้าถึงกันๆ ตายใจกันได้เลย ความเชื่อถือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอ่อนนิ่มต่อกัน ด้วยเจตนาหวังดีต่อกัน นี้คือธรรม ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วคอยแต่จะเอารัดเอาเปรียบอยู่อย่างนั้น คอยฟัดคอยเหวี่ยงคอยเทียบคอยเคียงที่จะหาช่องเอา หาช่องทำลายเขา เป็นอย่างนั้นกิเลส ถ้าเป็นเรื่องธรรมไม่สนใจอย่างนั้น มีความบกพร่องขาดเขินอะไร เอ้า เฉลี่ยให้ทั่วถึงกันเลย พากันจำเอานะ นี่เรียกว่าธรรม

ธรรมมีจิตใจอันกว้างขวาง สม่ำเสมอ ไม่เอียงโน้นเอียงนี้ จะตัดสินเรื่องราวอะไรก็ตาม สมมุติเป็นผู้ใหญ่เป็นผู้ตัดสินให้ผู้น้อยเป็นที่ลงใจได้ ก็ต้องเอาธรรมไปเป็นเครื่องตัดสิน กฎหมายออกมาจากธรรมนะ ธรรมเป็นอันดับหนึ่งเลย แล้วกฎหมายมาตั้งเพื่อความเป็นธรรม ทีนี้ถ้ากิเลสเข้าไปแทรก กฎหมายก็เป็นกฎหมอยไป กฎหมอย กฎหมา กฎหมัด ไป กัดกินไปหมด ทั้งกัดทั้งกินทั้งขุดหมัดบนหลังเจ้าของ ไม่ต้องว่าเกาหมัดละ ขุดหมัด นี่ละกิเลสเป็นอย่างนั้น

เรื่องธรรมท่านบอกเป็นกฎหมาย ถ้าปฏิบัติตามกฎหมายจะสม่ำเสมอ ผู้แพ้ผู้ชนะก็ยอมรับด้วยความเป็นธรรมไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นกฎหมอย กฎหมา กฎหมัดแล้ว พอเรื่องราวเกิดขึ้นนี้ผู้ใดจะเป็นผู้ตัดสิน เอาเงินไปโปะคนนั้นๆ คนผิดบอกว่าถูก คนถูกบอกว่าผิดไปเลย เป็นไฟไปด้วยกัน ถึงชนะก็ชนะด้วยความเป็นไฟ ผู้แพ้ผู้ชนะร้อนด้วยกันหมดเลย นี่คือความไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมยอมรับ

ยกตัวอย่างเอาหลวงตาบัวเลย จะผิดถูกชั่วดีก็ยกตัวอย่างให้ท่านทั้งหลายฟัง นี่เราก็เคยพูดแล้ว นี่ละความเป็นธรรม เรายอมรับในหัวใจเราว่าเป็นธรรมล้วนๆ ตลอดไป ถึงเวลาปัดกวาด แต่ก่อนการปัดกวาดเช็ดถูอะไร เรากับพระเสมอกันหมด ดีไม่ดีเราเร็วกว่าพระการทำข้อวัตรปฏิบัติ คล่องตัวๆ ตลอดเวลา ทีนี้เราอยู่กระต๊อบนะ ไม่ใช่กุฏิหลังนี้ กระต๊อบเล็กๆ เรานั่งอยู่ จะเป็นเขียนหนังสือหรืออะไรนา แล้วมีนาฬิกาอยู่นั้น ดูนาฬิกา มันดูผิดละซิ

ตามธรรมดา ๔ โมงเย็นปัดกวาดทั่ววัด ไม่ต้องมีสัญญาณตีระฆัง เพราะต่างคนต่างมีนาฬิกา ถึงเวลาแล้วลงเลยๆ เราก็ดูนาฬิกาของเรา แต่ดูผิดละซี โธ่ นี่มันเลยเวลาไปแล้วนี่ คือตามธรรมดาบ่าย ๔ โมงปัดกวาด แต่เราดูนาฬิกามันนาฬิกาบ้าหรือเจ้าของเป็นบ้าก็ไม่รู้แหละ ดูนาฬิกาผิดไป ปึ๋งปั๋งลงเลย คว้าได้ไม้กวาดก็ปัดกวาดออกมาหน้าศาลานี่ ไม่เห็นพระเณรสักองค์เลย ก็มีเณรๆ หนึ่ง ทิดจรวดเดี๋ยวนี้ มันก็เป็นลูกพระมาดั้งเดิม เณรจรวดมันเฝ้าศาลา เห็นเราปัดกวาดออกมา เราก็ขึ้นผางเลย เณร มันเป็นยังไงวันนี้ ถึงเวลาปัดกวาดจึงไม่เห็นพระมาปัดกวาด พระมันตายหมดทั้งวัดแล้วเหรอ ขึ้นอย่างนี้นะ แล้วใครจะกุสลาใครเมื่อพระตายหมดทั้งวัดแล้ว ถึงเวลาทำไมไม่เห็นปัดกวาด

เณรแกคงจะรำคาญท่า เพราะเห็นเราปัดกวาด แกคงจะขวางตา แกก็เอาไม้กวาดออกมากวาด เราขู่เณรไล่เบี้ยเณร เหอ เป็นยังไงพระตายกันหมดแล้วเหรอ ใครจะกุสลาใครนี่ ทำไมถึงเวลาปัดกวาดจึงไม่เห็นเลย วันนี้เป็นยังไง เณรก็เลยบอกว่า พึ่งได้ ๓ โมง ๒๐ นาที ยังไม่ถึง ๔ โมง เราดูผิด ปัดกวาดออกมาก็มาอาละวาดพระทั้งวัดละซิ ขู่นั้นขู่นี้ มันพึ่งได้ ๓ โมง ๒๐ นาที เหอ แกก็บอกชัดๆ ว่านาฬิกาพึ่งได้ ๓ โมง ๒๐ นาที ยังไม่ถึง ๔ โมง พอว่าอย่างนั้นเราก็ว่า เอ้า รีบๆ เลิกอย่าให้พระมาปัดกวาด มันจะเป็นบ้ากันหมดทั้งวัด ให้เลิกทันที เราจะไปแก้บ้าของเรา เดินปึ๋งกลับเลย เราไปแก้บ้าเรา ทั้งๆ ที่จะกัดจะฉีก พอว่าอย่างนั้นแล้วยอมรับปุ๊บว่าเราเป็นตัวโทษ เราจึงบอกว่าเราจะไปแก้บ้าเรา เณรมันคงจะหัวเราะแหละ

นี่ความเป็นธรรม พูดเป็นความเป็นธรรมนะ นี่ถ้าหากว่าเป็นอย่างเราว่าจริงๆ พระเณรผิดจริงๆ แล้ว วันนั้นจะต้องประชุมกัน ดีไม่ดีไล่พระหนีหมดทั้งวัดเลย เพราะกฎอันนี้ทราบกันทั่วทั้งวัดและเป็นของหยาบๆ ทำไมจึงต้องมาผิดพลาดถึงขนาดนี้ สมควรจะอยู่ให้หนักศาสนาพระพุทธเจ้าแล้วเหรอ นี่ละขับกันตรงนั้นละนะ แต่มันมาขับเจ้าของเสียก่อนเข้าใจไหม เพราะเจ้าของผิด ขับเสียก่อน นี่ความเป็นธรรมเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าคนนั้นคนนี้ว่าเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ต้องเอาหลักธรรมเป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ใหญ่โตครอบโลกธาตุนี้มาเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เราอย่าเอาอำนาจบาตรหลวงของเราว่าเป็นผู้ใหญ่มาทำ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นธรรมใช้ไม่ได้นะ อย่าเอามาใช้ นี่เราพูดให้เป็นคติตัวอย่างเฉยๆ

เราเองที่ปฏิบัติอยู่นี้เราก็ปฏิบัติแบบเดียวธรรมนะ เราไม่เหนือธรรม ผิดถูกชั่วดีอะไรตีเข้าหาธรรมๆ ไม่ให้ไปที่อื่นนะ อย่างเราผิดนี้ก็ตีเข้าหาธรรม เราผิดขู่พระทั้งวัด พระตายกันหมดทั้งวัดใครจะมากุสลา ฟังซิเอากันขนาดนั้น ทั้งจะกัดจะฉีกอยู่นะเวลานั้น คือผิดเวลาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย คนตั้งอกตั้งใจจริงๆ จะผิดอะไรเวลา หยาบๆ ประกาศกันมาสักเท่าไร ประจำวัดอยู่แล้ว มาผิดเห็นต่อหน้าต่อตา นี่ละเรื่องมันร้อนมากรุนแรงมาก แต่สุดท้ายเจ้าของเป็นผู้ผิด พอผิดแล้วก็พลิกปั๊บเลย นั่นต้องเป็นอย่างนั้น ยอมรับทันที ท่านถึงว่าธรรมๆ

ไอ้ความวุ่นวี่วุ่นวายของโลกของสงสาร เฉพาะอย่างยิ่งภายในจิตใจ มันวุ่นวายคือกิเลสทำงาน หาความสงบสุขเย็นใจไม่ได้เลยดิ้นตลอด ตั้งแต่ตื่นนอนไม่ทราบว่ามันติดเครื่องเมื่อไร เสียงเครื่องยนต์กลไกผันหัวใจเจ้าของมันหากลั่นขึ้นเลยละ จนกระทั่งหลับจึงดับเครื่องทีเดียว เอาเวลาหลับเป็นเวลาดับเครื่อง ไม่งั้นดับไม่ลง มันคิดมันปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ยุ่งไปหมด ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาธรรมเข้าดับ มันจะคิดเรื่องใดก็ตามเอาธรรมเข้าดับปุ๊บเลยดังที่เคยสอนแล้ว เวลานี้เราจะภาวนา เอาภาวนาธรรมบทใด เอาธรรมบทนั้นเข้ามาปิด เข้ามาดับ เข้ามากั้นว่างั้นเถอะ ไม่ให้มันออก ใส่เข้าเปรี้ยงๆ มันอยู่ๆ อยู่

เมื่อมันไม่ออกแล้วก็ไม่ก่อเรื่องก่อราว คิดไปเรื่องใดมีแต่กิเลสมีแต่ฟืนไฟกลับมาเผาเจ้าของ เมื่อไม่ให้มันออกแล้วมันก็ไม่ไปคิด ไม่เอาไฟมาเผาเจ้าของ ทีนี้ปิดไว้นี้ การปิดนี้ปิดด้วยธรรม เป็นการสั่งสมธรรมขึ้นมาภายในใจ รักษาธรรมภายในใจด้วยการไม่ให้คิดให้ปรุงอย่างอื่น ทีนี้ใจก็มีความสงบเย็น จากสงบเย็นแล้วทีนี้ก็สง่างามขึ้นๆ นี่การระงับดับไฟต้องระงับด้วยน้ำ ระงับกิเลสต้องระงับด้วยธรรม ไม่มีธรรมระงับไม่อยู่นะ ให้พากันพิจารณา

เวลามันดีดมันดิ้นนี้ โถ เรื่องหัวใจของง่ายเมื่อไร อำนาจของกิเลส กิเลสคือตัวภัยของใจอยู่ในใจของเรานั่นละ ธรรมคือตัวคุณมหาคุณอยู่ในใจ ทั้งสองอย่างนี้สติเป็นผู้รับผิดชอบ เราจะแก้ไขดัดแปลงลบล้างหรือส่งเสริมสิ่งใดขึ้น ซึ่งมีทั้งสองคือกิเลสและธรรมภายในใจของเรา ให้พิจารณาเองด้วยสติปัญญาของตัวเอง แล้วทีนี้กิเลสเป็นฝ่ายชั่วต้องพยายามปัดมันตลอดตีมันตลอด ธรรมเป็นฝ่ายดีพยายามส่งเสริมขึ้นดีขึ้น จิตที่ไม่มีคุณค่าอะไรเพราะกิเลสเหยียบหัวมัน กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาด้วยการบำรุงธรรมรักษาธรรม มีสติธรรมปัญญาธรรมเป็นต้น จิตก็สงบเย็นขึ้นมาๆ จากนั้นก็เด่นขึ้นละ เด่นขึ้นๆ และเห็นกิเลสเป็นภัยได้ละที่นี่ แต่ก่อนไม่เห็นนะ กิเลสกับเราเป็นไฟอันเดียวกันหมด พอธรรมได้เจริญขึ้นภายในใจก็เห็นกิเลสเป็นภัย เห็นธรรมเป็นคุณขึ้นภายในใจ นั้นละที่นี่ฟัดเหวี่ยงกันไปเลย พากันจำเอานะ

วันเช่นนี้เช่นวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระ นี้เป็นวันที่จะให้ว่างสำหรับขวนขวายความดีงาม คือบุญกุศลเข้าสู่ใจ บำเพ็ญธรรมเข้าสู่ใจ ควรให้มีสำหรับชาวพุทธเรา วันไหนมืดกับแจ้งๆ ทั้งวันๆ มันจะตายเพราะกิเลสถูไถเอาไปตลอดเวลา ธรรมะที่จะเป็นเบรกห้ามล้อให้จิตใจได้รับความสงบ ได้ทำบุญให้ทานนี้มันจะไม่มี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเอาไว้ว่า วัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ เป็นวันให้ว่างสำหรับจิตใจจะได้บำเพ็ญความดีเข้าสู่ตน นอกจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ ได้มามากน้อยบำรุงธาตุขันธ์ต่อไป ท่านสอนว่าอย่างนั้น เราอย่าปล่อยอย่าวางนะ

เรื่องใจไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย นี้ได้ผ่านมาแล้วถึงพูดได้อย่างไม่สะทกสะท้านเพราะผ่านมาแล้ว ทั้งกิเลสเหยียบหัวธรรม ทั้งธรรมเหยียบหัวกิเลส เผากิเลสอยู่ในหัวใจดวงนี้หมด ขึ้นเวทีฟัดกันความเพียร เรียกว่าความเพียร ใจนั่นเป็นเวที กิเลสกับธรรมเป็นคู่ต่อสู้ซัดกันอยู่บนเวที ทีนี้ให้กิเลสพังลงไปใจก็สง่างามๆ จำเอา

นี่ได้สอนทุกอย่างที่เป็นคติแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลาย เพราะเวลานี้อายุก็แก่ขนาดนี้แล้ว มันจะอยู่ไปกี่วันไปพิจารณาซิ อายุมาขนาดนี้แล้วมันจะอยู่ไปกี่วัน การอยู่นี้ก็อยู่เพื่อทำประโยชน์ให้โลกนะ เราไม่อยู่เพื่อเรา สำหรับเราพอทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องการ พอหมด อะไรมาตกออกๆ เพราะพอแล้วๆ เหมือนน้ำเต็มแก้ว น้ำเต็มแก้วเราจะเอาน้ำมหาสมุทรมาเทมันก็ไหลออกเหมือนกัน อย่าว่าแต่น้ำอื่นๆ ที่ใดเลยมาเทให้มันขังอยู่ มันเต็มแก้วแล้วมันจะเอาอะไรมาขัง มีแต่ล้นออกๆ ดีก็ตามชั่วก็ตามลงเข้ามาสู่ใจ ใจที่เต็มแล้วด้วยน้ำที่มีคุณค่ามหาศาลตกออกหมดเลย นินทา สรรเสริญ เยินยออะไรตกออกหมด จึงเรียกว่าพอ

นี่ก็พอแล้วทุกอย่าง เราก็พูดตรงๆ อย่างนี้ละ เราอุตส่าห์พยายามขวนขวายมา ตั้งแต่บวชมานี้เป็นเวลากี่ปี จนนับพรรษาเจ้าของไม่ได้นะ หลงพรรษาเดี๋ยวนี้ ไม่ทราบได้กี่พรรษานาไปถามเขา เราเป็นผู้บวชแล้วไปถามเขา เอ๊ เรานี้มันได้กี่พรรษานามันเหมือนบ้านะ พรรษาก็อยู่กับเรา บวชก็คือเรา ได้กี่พรรษาคือเรา แล้วหลงพรรษาตัวเองก็คือเรา มันเหมือนบ้านะ คือมันบวชมานาน ขวนขวายตั้งแต่ความดีงามตลอดมา ตั้งแต่บัดนั้นๆ ตั้งแต่วันบวชไม่สร้างความชั่วช้าลามก ตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งบัดนี้ สร้างแต่ความดีงามเรื่อยมา ความดีงามเพื่อเข้าสู่ใจๆ

เมื่อสร้างความดีงามเข้า เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา เป็นความดีงามสุดยอดเลย เข้าสู่ใจๆ จนกระทั่งใจเต็มเปี่ยมไปทุกอย่างบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว จะเรียกว่าเป็นจิตบริสุทธิ์หรือเรียกว่าเป็นธรรมธาตุ ถึงพระนิพพานทั้งเป็นแล้วว่างั้นก็ไม่ผิด เมื่ออันนี้มันพอแล้วอะไรๆไม่เอา เป็นเองเป็นหลักธรรมชาติเหมือนน้ำเต็มแก้ว เทมาไหนไหลออกหมดๆ ที่พอดีกันคือน้ำที่อยู่ในแก้ว นอกจากนั้นเรียกเป็นของเศษไปแล้วไม่เอา จิตนี้เมื่อพอแล้วก็เป็นอย่างนั้นไม่เอาอะไรๆ นี้เราบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่โลกเราไม่เอาอะไรนะของเราพอทุกอย่างแล้ว

ผลแห่งการปฏิบัติ พูดจะว่าท้าทายหรือไม่ท้าทายเอาความจริงมาพูด การบำเพ็ญความดีเมื่อเต็มที่แล้วพอ แต่สำหรับความชั่วไม่มีคำว่าพอ กิเลสตัณหาคือความทะเยอทะยานความหิวความโหยมีตั้งแต่กิเลส นี่ละตัวไม่พอ พาคนให้หมุนติ้วๆ จะตายอยู่เวลานี้ และพาสัตว์ทั้งหลายให้สร้างบาปก็คือตัวนี้เอง มันหิวมันโหยมากๆ มันไม่ได้ทำดี ทำชั่วมันก็เอา สุดท้ายก็มีตั้งแต่ความชั่วช้าลามก เป็นอย่างนั้นนะ สร้างความดีเราสร้างตลอดจนกระทั่งพอ ถึงขั้นพอๆ ธรรมพอ กิเลสไม่พอ ไม่มีคำว่าพอ

ธรรมนี้พอเป็นนะ เราจะเห็นได้ตั้งแต่เวลาเราบำเพ็ญทางด้านจิตตภาวนา จิตเข้าสู่ความสงบ จิตสงบนี้ก็พอตัวอยู่สบายๆ ครั้นแน่นหนามั่นคงสงบแน่วเท่าไรยิ่งพอตัวๆ พอตัวด้วยความเอิบอิ่มในจิตใจ ฟาดเข้าสู่ทางด้านปัญญาฟันกิเลสเผากิเลสขาดสะบั้นลงไปเท่านั้น กิเลสขาดหมด เหลือแต่จิตดีดผึงขึ้นมาเป็นธรรมะบริสุทธิ์ พุทโธเต็มดวงแล้วนี้พอ ทีนี้พอโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรที่จะต้องการอีกแล้วในโลกนี้ หมด รู้อยู่ในใจไม่เอาอะไรทั้งนั้น อย่างนั้นละเรียกว่าจิตใจพอ

เราพูดชัดๆ อย่างเราทำประโยชน์ให้โลก ดีดดิ้นเราจะเป็นจะตายนะ ที่ไหนเทศน์นี้กี่ปีมาแล้วตั้งแต่ช่วยชาติไทยมานี้ สมบัติเงินทองข้าวของมีมากน้อยเท่าไร ขนเข้าสู่ส่วนรวมหมดเลย เราไม่เอาอะไรทั้งนั้น เราดิ้นแต่เราไม่เอาอะไรนะ ไม่เคยเอาอะไร ไม่มีเจตนาจะเอาอะไร มีแต่ได้มาเพื่อส่วนรวมๆ ทั้งนั้น นี้เราก็ทำของเราอย่างนี้ เราก็ไม่เดือดร้อนเพราะพอแล้วเดือดร้อนหาอะไร ถึงกาลเวลาแล้วก็ไปเท่านั้น เมื่อยังไม่ถึงกาลก็อยู่อย่างนี้แหละ แนะนำสั่งสอนกันไป ให้พากันฟังเสียงนะ

คำพูดที่ออกมานี้ตั้งแต่วันบวชมา คำพูดที่แนะนำสั่งสอนเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านปฏิบัติ นั่นละคำพูดที่ออกมาจากจิตตภาวนา เป็นคำพูดที่ถูกต้องแม่นยำล้วนๆ นี้ให้ยึดนะ ให้เอาไปปฏิบัติ เพราะได้เห็นผลมาแล้วจากการปฏิบัติของตน การภาวนาการบำเพ็ญความดีของตนไม่โกหกตน มีแต่ธรรมของจริงขึ้นมา เมื่อออกจากธรรมของจริงที่ตนได้รับแล้วสอนใครก็จริงไปหมด ไม่มีคำว่าหลอกลวงโลก ให้ท่านทั้งหลายจำเอา

บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี เปรตผีประเภทต่างๆ นี้พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ยอมรับกันทั้งหมด ฟังซิน่ะ ถึงนิพพานมี ยอมรับกันทั้งหมด แต่ผู้ที่จะปฏิเสธก็คือพวกหูหนวกตาบอด พวกที่มันจะชนต้นเสาชนหินชนผาตกเหวตกบ่อลงนรกอเวจี ก็คือพวกเราที่หนาแน่นว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี นี้คือเปิดทางเพื่อความล่มจมแก่ตนเอง จำให้ดีนะ พระพุทธเจ้าจอมปราชญ์สอนว่าสิ่งเหล่านี้มี ท่านเล็งญาณเห็นหมดแล้วทุกอย่างท่านจึงมาบอก ท่านไม่มาโกหกโลก โลกวิทู รู้แจ้งหมด ทั้งนรกเมืองผีทั้งสวรรค์ชั้นพรหมถึงนิพพาน ท่านรู้มาหมดแล้ว ท่านมาสอนเราด้วยความรู้แจ้งเป็นความจริง ให้พากันยึดอันนี้เป็นหลัก

อย่าว่าบาปไม่มีบุญไม่มี คนตาบอดพูดนะ คนตาดีบอกด้วยกันเป็นเสียงเดียวกัน พระพุทธเจ้าไม่เคยค้านกันนะ บาปก็ดีบุญก็ดี นรกสวรรค์พรหมโลกนิพพานก็ดี ไม่เคยค้านนะ มีด้วยกันหมดเพราะรู้เห็นด้วยกัน อย่างที่เรามานั่งอยู่ศาลานี้ เราดูอะไรด้วยกันเห็นด้วยกัน เราจะค้านกันได้ยังไง คนตาดีดูกันไม่ค้าน แต่คนตาบอดค้านวันยังค่ำ ให้พากันเข้าใจเอานะ เอาละเทศน์เท่านี้ละเหนื่อยแล้ว

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก