นอนฟังเทศน์
วันที่ 3 กันยายน 2548 เวลา 8:25 น. ความยาว 41.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :
 

เทศน์อบรมคณะครูและนักเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล

ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๘

นอนฟังเทศน์

ผู้กำกับ เขาถามปัญหามาข้อหนึ่งครับ ลูกศิษย์ได้รับฟังธรรมะทางสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน มีบางท่านอยากจะฟังตลอดไปทั้งวันทั้งคืน เลยฟังธรรมะในอิริยาบถนอน ไม่ทราบว่าจะเป็นการสมควรหรือไม่ เพราะมีครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่าการนอนฟังธรรมเป็นการไม่สมควร ไม่เคารพธรรม ตายแล้วจะไปเกิดเป็นงู เลยทำให้ลูกศิษย์ไม่สบายใจ กราบเรียนขอเมตตาถามหลวงตาครับ

หลวงตา ที่นอนฟังธรรมะนี้ก็ถูก มันถูกคนละขั้นของธรรม ขั้นของธรรมที่ว่านอนฟังก็ได้นี้มันเป็นธรรมตลอดเวลา อิริยาบถไหนเป็นธรรมทั้งนั้นๆ อยู่ท่าไหนเป็นธรรมหมด นี้นอนฟังก็ได้ ยืนฟังก็ได้ ถ่ายมูตรถ่ายคูถฟังก็ได้ ได้หมด เข้าใจไหม มีอีกขั้นหนึ่งที่ว่าฟังเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านตั้งหน้าตั้งตาเทศน์ให้ฟัง เราไปนอนเอกเขนกอยู่หน้านี่ ถ้าเป็นหลวงตาบัวเอานี้ฟาดเลย ไม่ทราบว่าจะควรหรือไม่ควร เข้าใจกันแล้วเหรอ (เรื่องเกิดเป็นงูว่าไงครับ เขาบอกอาจารย์บางท่านบอกการนอนฟังธรรมะไม่สมควร) อ้าว ก็พูดแล้วตะกี้นี้มันเป็นขั้นๆ ยังพูดแล้วไม่ใช่เหรอ ถึงขั้นที่ว่าเป็นธรรมตลอดนั้น ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน เป็นงูเป็นช้างเป็นม้าอะไรก็เถอะเป็นธรรมทั้งนั้น กิริยาเป็นอะไรก็ตาม สำคัญอยู่ที่จิตเป็นธรรมล้วนๆ ถึงขั้นนี้แล้วเป็นธรรม เป็นธรรมล้วนๆ แล้วนี้อยู่ท่าไหนเป็นธรรมทั้งนั้น

ที่ว่าอย่าไปนอนฟังเดี๋ยวเป็นงูนะ ก็จริงๆ ทั้งหลายเขามาฟังเทศน์นั่งด้วยความเคารพ ผู้เทศน์ก็เทศน์ด้วยความเคารพธรรม ผู้ฟังก็ฟังด้วยความเคารพธรรม แล้วอยู่ๆ มีคนมานอนเอกเขนกอยู่นี้เวลาเทศน์ เป็นยังไงจะเป็นบาปหรือไม่เป็นบาป ถ้าเป็นหลวงตาบัวกำลังเทศน์นี้เอานี้ปาเลย เข้าใจไหม ไม่ทราบบาปหรือไม่บาป ไม่ต้องถามกัน อย่างนี้ก็เข้าใจกันแล้วใช่ไหม มันควรหรือไม่ควรพิจารณามันก็รู้เอง ถ้าถึงขั้นธรรมที่ควรตลอดเวลาแล้วควร นั่นเป็นอย่างนั้น เป็นบางกาล มี แล้วมีอะไรอีก

กลางคืนนอนฟังก็ได้ทั้งนั้น ฟังธรรมจะเป็นอะไรไปไม่เสียความเคารพอะไร (เรื่องฟังธรรมก็พอเข้าใจแล้ว ทีนี้เขาบอกว่าเวลาสวดมนต์นอนสวดได้ไหมครับ) ถ้าลงจิตใจได้พอกับธรรมแล้วเป็นธรรมทั้งนั้น เข้าใจหรือเปล่า ให้เข้าใจตรงนี้ซิ มันเป็นขั้นๆ เป็นขั้นของธรรม เวลาปฏิบัติเข้าไปมันซึมเข้าหากัน มันหากรู้จักความเหมาะสมเองอยู่ในนั้นเสร็จ เราก็เคยพูดไมใช่หรือที่ว่า เรียนหนังสือไปๆ เรื่องบาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามี แต่เราว่ามีหรือไม่มีน้า เห็นไหมล่ะ นั่นละคนเก่า หัวใจดวงเก่า เวลาเรียนหนังสือไปเอาถึงนิพพานเลยเทียว

บาป บุญ นรก สวรรค์ เชื่อ ตัวหลักใหญ่นั้นเชื่อๆ ส่วนย่อยที่กิเลสมันมาขอแบ่งสันปันส่วนไปกินแล้ว บาป บุญ นรก สวรรค์ มีหรือไม่มีน้า นี่ส่วนย่อยเข้าใจไหม มันมาแบ่งไปกิน ส่วนใหญ่ของเราเชื่อแล้ว จนกระทั่งถึงนิพพานที่นี่ พอถึงนิพพาน อ่านไปถึงนิพพาน เอ นิพพานมีหรือไม่มีน้า ส่วนใหญ่เชื่อแล้วว่านิพพานมี ส่วนย่อยมันไปแบ่งกิน ว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า นี่เวลาเรียนเป็นอย่างนี้ เวลาออกปฏิบัติที่นี่ เอาคนเก่านี่แหละ ว่านิพพานมีหรือไม่มี เอาตรงนั้นเลย เวลาปฏิบัติเข้าไปๆ จิตมันหมุนเข้าๆ ทีนี้พอหมุนเข้าไปจริงๆ แล้วเข้าถึงขั้นละที่นี่ ถึงขั้นนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ นี่หมายถึงว่าความเห็นโทษกับความเห็นคุณมีน้ำหนักเท่ากัน บืนใหญ่เลย ไม่รู้จักหลับจักนอน สุดท้ายต้องรั้งเอาไว้ๆ คำว่านิพพานมีหรือไม่มีน้าหายแล้วนะ มีแต่นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ

เวลาอ่านไปว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า พอปฏิบัติเข้าไปๆ สุดท้ายก็นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ หมุนตลอดเลย จนกระทั่งผึงเข้าถึงนั้น นิพพานมีหรือไม่มีน้า เฉย เข้าใจไหมที่นี่ นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยเฉย หัวใจดวงเก่านี่แหละ มันเป็นขั้นๆ นิพพานมีหรือไม่มี ส่วนใหญ่จิตมันเชื่อแล้ว ส่วนย่อยมันมาแบ่งไปกินว่านิพพานไม่มี มันแบ่ง ทีนี้เวลาเข้าใกล้ชิดติดพันเข้าจริงๆ นิพพานเลยกลายเป็นอยู่ชั่วเอื้อมๆ สุดท้ายผึงเลย นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยหายสงสัย เป็นอย่างนั้นจิตดวงนี้แหละ

(หลวงตาว่านิพพานมีก็เชื่อ แต่จะมีจริงไหมน้อ จนได้ไปเจอหลวงปู่มั่นจึงหายสงสัย) อันนี้หมด เชื่อหลวงปู่มั่นก็เรียกว่าเต็มที่แล้วในจิตของเราที่เป็นปุถุชนนะ เชื่อเต็มที่ พอปฏิบัติไปๆ ธรรมละเอียดเข้าไปๆ ยังหนักเข้าไปอีกจนกระทั่งนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ จะว่ามีหรือไม่มีก็ตามแต่นิพพานอยู่ชั่วเอื้อม หมุนตลอด เป็นอย่างนั้นละ จนผางถึงนิพพานเสียเลย ทีนี้มีหรือไม่มีหมดปัญหา แน่ะเป็นอย่างนั้น เราเอาหัวใจเรานี้เองออกพูดมันถึงชัดเจน เราเป็นเอง อยู่ขั้นใดตอนใดมันอยู่ในใจของเรา เรารู้เองเห็นเองเป็นลำดับลำดา เราก็พูดถูกต้องละซิ

แต่ก่อนว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า ส่วนใหญ่เราเชื่อ บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน มี แต่ส่วนย่อยกิเลสมันแบ่งสันปันส่วนให้สงสัย บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน มีหรือไม่มีน้า นี่มันแบ่งกิน พอออกไปปฏิบัติ ปฏิบัติหนักเข้าๆ เลยกลายเป็นว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ บืนใส่ๆ มีหรือไม่มีนิพพาน ทำไมจึงกลายเป็นอยู่ชั่วเอื้อมๆ มันเป็นของมันเอง ผางขึ้นนี้เลยหมด นิพพานมีหรือไม่มีหมด เป็นอย่างนั้นนะ เป็นขั้นๆ นะจิต เรื่องธรรมท่านเป็นธรรม อยู่ยังไงก็เป็นธรรม เราจะหาแต่สมมุติขั้นหยาบขั้นละเอียดเอาเข้ามารบกันไม่ได้ ขั้นใดให้เป็นขั้นนั้นของธรรม

ขั้นที่เป็นธรรมล้วนๆ แล้วอยู่ไหนเป็นธรรม ไม่เสียความเคารพ แน่ะ เช่นอย่างนอนฟังเทศน์ นั่งฟังเทศน์อะไร พิจารณาโดยอรรถโดยธรรม อยู่ไหนเป็นธรรมหมด แน่ะถ้าถึงขั้นธรรมแล้ว มันเป็นขั้นเป็นตอนไปนะ ฟังท่าไหนก็ฟังเถอะน่ะ ฟังเสียงธรรมไม่มีคำว่าเสียผลเสียประโยชน์ จะฟังเสียงในอิริยาบถใดยืนเดินนั่งนอนเป็นธรรมทั้งนั้น ทีนี้การสร้างบาปก็อีกเหมือนกัน ยืนเดินนั่งนอนสร้างบาปเป็นบาปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ได้ผิดกัน ขึ้นอยู่กับผู้ทำคือใจออกมาปั๊บๆ ออกมาทางบาปเป็นบาป ออกมาทางบุญเป็นบุญ ไม่ได้คำนึงว่าควรหรือไม่ควร มันออกเป็นสัดเป็นส่วน คือออกทางบาปเป็นบาป ออกทางบุญเป็นบุญ เต็มสัดเต็มส่วนของตนทันทีๆ สำคัญอยู่ที่ใจ

โอ๊ย โลกมองข้ามใจ ไม่มีใครว่างั้นเลย โลกนี้ไม่มีใครที่จะมองเห็นว่าใจเป็นของสำคัญ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวขั้นเริ่มแรก ศาสนาใดก็ไม่สอนลงที่ใจว่าเป็นของสำคัญ พุทธศาสนาเท่านั้นสอน ขึ้นต้นก็ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ทุกอย่างรวมอยู่ที่ใจเป็นมหาเหตุทั้งนั้น นั่นพระพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติเข้าไปนี้ มหาเหตุมันมีทั้งธรรมทั้งกิเลสอยู่ในใจหมด จ่อเข้าไปนั่นปั๊บก็เจอทั้งสอง นั่นละมหาเหตุ

โลกนี้เขาไม่ได้มองดูใจ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าโลกมืดบอดก็ไม่ผิด หัวใจอยู่กับตัว ครองร่างตัวอยู่ยังไม่เห็นว่าใจเป็นยังไงบ้าง นี่มันพิลึกนะ เลยเหมาหมดทั้งตัวนี้ว่าเป็นเรา ความรู้ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรา เป็นเราเสียทั้งหมด ทีนี้ใจซึ่งเป็นแกนนำอยู่ภายในร่างกายนั้นไม่ทราบเป็นยังไงเลยไม่สนใจ ไม่รู้นะ พระพุทธเจ้ามารู้ได้ยังไง ตรัสรู้ผางขึ้นมา นั่น พอผางขึ้นมานี้ใจเลิศที่นี่ ขึ้นผางไม่ต้องถามใครละ ผางขึ้นมาเลย ใจเลิศ ยก มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ไปเลย อะไรๆ ก็ตามรวมลงที่ใจหมด ดีชั่วใจจะเป็นผู้ก่อเหตุ ว่าลงตรงนั้น เราจึงชี้นิ้วเลยพุทธศาสนา เพราะเราได้ผ่านด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มนิพพานมีหรือไม่มีน้า

จิตใจก็มุ่งจะไปนิพพานอยู่แล้วนะ มันยังว่ามีหรือไม่มีน้า แน่ะฟังซิ ส่วนย่อยมันแบ่งเอา มันไปแบ่งกินกิเลสแบ่ง จนกระทั่งหมดสุดวิสัยกิเลสมันแบ่งไม่ได้ ผางเข้านิพพานแล้ว นิพพานมีหรือไม่มีน้าเลยหายสงสัย นั่นเป็นตัวกิเลสเป็นตัวมัวหมอง เป็นตัวอุปสรรคกีดกั้นทางเดินไม่ให้สะดวก พอว่าจะไปจริงๆ กลัวว่านิพพานไม่มี แน่ะ นิพพานมีหรือไม่มีน้า นี่มันก็ขาดกำลังไปแล้ว พอว่านิพพานมีหรือว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ ด้วยภาคปฏิบัติในธรรมขั้นสูง ธรรมขั้นสูงนี้นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมนะ มันหากเป็นของมันเอง บืนตลอดๆ เหมือนว่าอยู่ชั่วเอื้อม หวุดหวิดๆ จับผิดจับถูกมันก็บืนใหญ่ละซี ผางขึ้นนี่นิพพานมีหรือไม่มี หมดปัญหา นั่น

(คำว่านิพพานหมายความว่าอะไรครับ) หมายความว่านอนหลับไม่ตื่น นอนจนกระทั่งตายก็เรียกว่าดับ นิพพานแปลว่าดับ เข้าใจไหม บรรดาสมมุติทั้งหมดดับสนิทไม่มีอะไรเหลือถึงเรียกว่า นิพพาน แปลว่าดับสนิท บรรดาสมมุติทั้งหมดดับสนิทไม่มีอะไรเหลือ อันนั้นเหนือสมมุติ เรียกว่านิพพาน เข้าใจแล้วนะ พวกเรามันมีแต่นิพพานบนเสื่อบนหมอน แล้วจะมาถามนิพพานของพระพุทธเจ้านี่มันก็ลำบากอยู่นะ นิพพานของพระพุทธเจ้า นิพพานของพระอรหันต์ ไม่ใช่นิพพานเสื่อหมอนเหมือนพวกเรา ไปที่ไหนดาดาษมีแต่นิพพานเต็ม อู๊ย ทุกขัง นิพพานของโลกหูหนวกตาบอดมีแต่เสื่อแต่หมอนเต็มไปหมดเลย นิพพานของพระพุทธเจ้านี่จ้าตลอด แม้แต่นอนอยู่บนเสื่อบนหมอนก็จ้าอยู่ในนั้น ยืนเดินนั่งนอนจ้าตลอดเวลา ชื่อว่านิพพานเที่ยง คือไม่มีคำว่าเปลี่ยนแปลงไปไหนเลย ท่านเรียกว่าเที่ยง กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความแปรปรวนต่างๆ นี้ไม่มีในพระนิพพาน จึงว่าไตรลักษณ์คือทางเดินเพื่อพระนิพพาน

ทีนี้ไปคว้าเอามาว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา หรือ อตฺตา เหล่านี้มาขวางพระนิพพานละซิ บางคนก็ว่านิพพานเป็นอนัตตา บางคนว่าเป็นอัตตา นี่ไปเอาทางเดินเพื่อพระนิพพานมาเป็นนิพพาน มันก็เถียงกันวันยังค่ำ นั่นเห็นไหมตอบ มีอยู่นั่น ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครสวนมาอีกถามมาอีก เงียบเลย เห็นไหม ถอดออกจากหัวใจตอบนี่ นิพพานคือนิพพาน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ บอกไว้แล้วนั่น อนัตตาก็ดี อัตตาก็ดี เป็นทางก้าวเดินเพื่อพระนิพพาน ไม่ใช่พระนิพพาน ผู้จะก้าวเดินเพื่อพระนิพพานต้องเดินตามอัตตาและอนัตตานี้ เป็นทางเดินก้าวไป จนกระทั่งพ้นนี้แล้ว หลุดพ้นไปแล้ว เป็นอีกฝั่งหนึ่งแล้ว นั้นคือพระนิพพาน บอกไว้แล้วนั่น นี่ถอดออกมาจากหัวใจมาพูดนะ ใครจะเถียงไปไหนก็เถียงไปซิ

เราพูดจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นก็จะให้ว่ายังไง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสงสัย ตอบอย่างอาจหาญชาญชัยตามหลักความเป็นจริงที่มีอยู่ในหัวใจเต็มส่วน ไม่สงสัยในการตอบ ที่ว่านิพพานมีหรือไม่มีน้า คือมันยังไม่เห็นนิพพาน พอไปเห็นแล้วมันจะเป็นบ้าอะไร นิพพานมีหรือไม่มีน้า ขึ้นมาถึงบนบ้านแล้วยังลงไปคลำบันได มีหรือไม่มีน้า อยู่นิพพานแล้ว ยังว่าบันไดขึ้นนิพพานมีหรือไม่มีน้า เพราะเหตุไร นั่น คือการก้าวเดินเพื่อถึงพระนิพพานต้องมีบันไดมีทางเดินไป ทางเดินคือบารมีของเราที่สร้างมามากน้อย เป็นสายทางเดินก้าวเดิน ส่งๆ จนถึงนิพพานแล้ว บาปก็ดี บุญก็ดี ปล่อยวางโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นสมมุติทั้งมวล ทั้งสองอย่างนี้เป็นสมมุติทั้งหมด อันนั้นผ่านสมมุติไปแล้วเป็นวิมุตติ

ท่านจึงว่า ปุญญปาปปหินบุคคล เป็นผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว นิพพานละหมดทั้งบุญและบาป ไม่เอาทั้งนั้น นี้เป็นสมมุติทั้งมวล พากันเข้าใจ การพูดทั้งนี้เราไม่ได้สงสัยอะไรเลยนะ เพราะฉะนั้นเราจวนจะตายยิ่งเร่งธรรมะขึ้นมา จะว่าอาจหาญหรือมันก็เลยเสีย มันไม่มีอะไรที่จะว่าอาจหาญ มันเลยไปหมด ความจริงเต็มหัวใจพูดได้เต็มสัดเต็มส่วน อย่างเขามาถามว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา นั่นตอบผางมาเลยเชียว ที่อยู่เขื่อนภูมิพล พอตอบตอนเช้าหลังจังหันแล้ว พอบ่ายเขาก็ออกทางวิทยุ ออกทางวิทยุลั่นไปหลายวันนะ ตั้งแต่นั้นมาเงียบ นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตาเงียบไปหมดเลย คำพูดอันนี้ละออก ตั้งแต่นั้นมาไม่ได้ยินอีกเลย ก็เราถอดความจริงออกไป

บ้านนี้เรือนนี้ นี้บันได จะมาเอาบันไดกับบ้านกับเรือนเป็นอันเดียวกันได้ยังไง บ้านเป็นบ้าน เรือนเป็นเรือน บันไดเป็นบันได อยู่ด้วยกันมันก็ต่างกันอยู่ นั่นบันไดขึ้น นี่ศาลา มันก็เห็นชัดๆ ในหัวใจนี่มันผ่านไปหมดแล้วก็รู้ ถ้ารู้ภายในจิตใจแล้วมันไม่ได้ถามใครนะ ดังเคยพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง สำนวนโวหารที่เราเทศน์เราพูดทุกวันนี้ เป็นสำนวนโวหารใหม่จากภาคปฏิบัติที่เป็นธรรมล้วนๆ เกิดภายในจิต นำออกจากจิตมาเทศน์ ไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่เอาจากความจดความจำตามคัมภีร์ใบลาน เทศนาว่าการไปไม่ว่าท่านว่าเรา พระทั่วประเทศไทยหรือที่ไหนก็ตาม ท่านต้องเทศน์แบบเดียวกัน เทศน์ตามตำรับตำรา ท่านอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เจ้าของยังไม่เห็นว่าบาป บุญ นรก สวรรค์เป็นอย่างไร เจ้าของไม่เห็น อ่านแต่ในตำราก็ลูบคลำไปธรรมดาๆ

เพราะฉะนั้นการเทศน์ผู้เทศน์ก็ไม่ได้แน่นอน ไม่ได้จริงจัง ไม่ได้รู้ได้เห็นจริงตามตำราที่ท่านสอนไว้ เป็นคนคลังกิเลส ทีนี้เวลาอ่านไปๆ ท่านว่าอย่างไรก็ว่าไปนั้น ทีนี้เทศน์ก็เทศน์ไปตามนั้น เจ้าของก็ไม่รู้ว่าบาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพานเป็นอย่างไร ไม่รู้ ตำราท่านบอกตามความจริงแต่ใจเราปลอม มันก็ไปแทรกอยู่ในนั้น แล้วสุดท้ายนิพพานมีหรือไม่มีน้า นั่นเห็นไหม นี่ละเป็นอย่างนี้จิตใจที่จอมปลอม นี่เป็นภาคปริยัตินะ

ทีนี้เวลาเทศน์ไม่ว่าท่านว่าเราจะเทศน์แบบเดียวกันหมด ไม่มีใครบังคับใคร เพราะตำราบังคับอยู่แล้ว เทศน์ไปตามตำรา ถ้ามีคนมาถามแล้วทำไมถึงเทศน์อย่างนั้นล่ะ หลบปั๊บเลย ก็ตำราว่าอย่างนั้น เอาตำรามาบังไว้เสีย หลบรอดตัวไปได้ เข้าใจว่ารอดตัวไปได้ มันไม่ได้รอด หลักใหญ่แล้วไม่ได้รอด นี่คือภาคปริยัติ เราก็เคยเทศน์อย่างนั้นมาตลอดเหมือนพระทั้งหลาย แต่สมัยที่ยังไม่ปฏิบัติรู้ธรรมเห็นธรรมนะ เทศน์อย่างนั้นเหมือนกันหมด ไปเทศน์ที่ไหนเหมือนกันหมด เราเองที่ออกปฏิบัติเวลาธรรมยังไม่เกิดภายในจิตใจ ความแน่นอนความตายใจยังไม่เกิด ก็ต้องอาศัยคัมภีร์ คัมภีร์ว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ทีนี้เทศน์ก็เทศน์ไปตามคัมภีร์ จึงว่าท่านเหมือนเรา เราเหมือนท่าน สำนวนโวหารก็เป็นแบบเดียวกันไป จะว่าผาดว่าโผนก็ไม่มี เรียบๆ ไปธรรมดาๆ

ทีนี้เวลามาปฏิบัติ มันเห็นชัดเจนนี่ซี เวลามาปฏิบัติๆ สมควรธรรมที่จะเกิดขึ้นตามขั้นตามภูมิของกำลังความสามารถของตนธรรมก็เกิดๆ ทีนี้ธรรมเกิดขึ้นภายในใจไม่ได้เหมือนตำรานะ เกิดขึ้นตรงไหนแม่นยำๆ อยู่ในนี้นะ เกิดขึ้นตรงไหนแม่นยำ ธรรมขั้นนี้แม่นยำในขั้นนี้ ธรรมขั้นนี้แม่นยำในขั้นนี้ ธรรมขั้นนั้นแม่นยำๆ ตลอดทะลุผึงถึงนิพพานแม่นยำหมด การเทศนาว่าการจึงเทศน์ตามหลักความเป็นจริง ทีนี้หลักความเป็นจริงคือแน่นอนไม่เป็นอื่น

เมื่อเรารู้เราเห็นอย่างนี้แล้วเราจะไปเทศน์แบบปริยัติลูบนั้นคลำนี้ หลีกๆ เลี่ยงๆ เช่นกิเลสอยู่ตรงนี้หลบไปตรงนี้เสียๆ ปริยัติเป็นอย่างนั้นนะ ไม่เป็นภาคปฏิบัติ ตรงไปตรงมาผางๆ เลย มันเป็นอยู่ในนี้บีบบังคับ รู้เห็นอย่างนี้แล้วจะไปเทศน์อย่างอื่นไม่ได้นะ มันเป็นอย่างไรต้องบอกเป็นอย่างนั้นๆ ตามหลักของธรรมที่รู้เห็นขึ้นภายในใจ ไม่ว่าธรรมขั้นใดๆ จะเป็นธรรมแน่นอนตายตัว บีบบังคับให้พูดไปตามนี้ พูดอย่างอื่นผิดธรรม ธรรมที่รู้ที่เห็นเป็นอย่างนี้ เราจะแยกไปๆ เทศน์อย่างอื่นๆ ไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องเทศน์ตามความจริง เทศน์ตามความจริงก็เลยกลายเป็นขวานผ่าซากไป เข้าใจไหมล่ะ

เทศน์กระแทกแดกดันเป็นขวานผ่าซาก เพราะเทศน์ตามหลักความจริงมันมีเน้นหนัก มีหนักมีเบานะ กิเลสมันมีคลื่น ธรรมะก็มีคลื่น ควรจะหนักก็หนัก ควรจะเบาก็เบา ควรจะกระแทกแดกดันตามที่โลกสมมุติ แต่ความจริงกระแทกแดกดันนั้นฟาดกิเลสต่างหากนะ ตีกิเลส กระแทกกับกิเลสต่างหาก เทศน์เป็นขวานผ่าซากคือเทศน์ไปตามความจริงล้วนๆ ทีนี้สำนวนที่เราเคยเทศน์มานั้นมันเลยกลายมาเป็นสำนวนขวานผ่าซากไปหมดแล้วเวลานี้ แต่เราก็ไม่สงสัยในสำนวนของเรา เพราะเราเคยเทศน์มาแล้วตั้งแต่เรียน

ทีนี้มาภาคปฏิบัตินี้เป็นภาคบีบบังคับ คือรู้เห็นอย่างไรจะเทศน์เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นะ เป็นอย่างนั้นต้องว่าอย่างนั้นๆๆ มันจึงตรงไปตรงมา แล้วก็กลายเป็นขวานผ่าซากไป เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น ใครจะว่าเป็นขวานผ่าซาก เราไม่มีความรู้สึก มีแต่ไปตามความจริงเท่านั้นๆ นี่พูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง สำนวนของเราจึงไม่ค่อยเหมือนใคร อย่างเทศน์ทั่วประเทศไทย ก็มีใครพูดเหมือนกันว่าหลวงตาองค์นี้เทศน์ไม่ค่อยเหมือนใคร จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็ตามเราเทศน์ตามหลักความจริง

ทางภาคปริยัติเราก็เทศน์มาแล้ว เทศน์ตามหลักความจริงก็เทศน์ เราก็เทศน์ตามหลักความจริง จนกระทั่งทะลุถึงนิพพานปึ๋งก็เป็นแบบนั้นไปเลย จะให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ขัดกับธรรม ธรรมคือความจริงตรงไปตรงมา การเทศน์ต้องบอกตามหลักความจริงจึงจะตายใจได้สำหรับผู้ฟัง พากันเข้าใจนะ สำนวนจึงไม่เหมือนแต่ก่อน เป็นสำนวนใหม่ขึ้นมาจากจิตที่ปฏิบัติได้เป็นสมบัติของตน คือความรู้ความเห็นธรรมเกิดขึ้นมามากน้อยเป็นสมบัติของตนด้วย พูดได้อย่างอาจหาญชาญชัยตามหลักความจริงนั้นด้วย นั่นต่างกันอย่างนี้นะ ให้พี่น้องทั้งหลายทราบเอา

อย่างนี้เราก็ไม่เคยเป็นมาแต่ไหน มันเป็นขึ้นภายในใจจากภาคปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าชี้แนวทางไปอย่างนี้ มันก็ต้องรู้ตามเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนวทางไว้แล้วด้วยสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วๆ เมื่อปฏิบัติตามนั้นก็รู้ขึ้นมาตามนั้นๆ รู้ขึ้นมาตามนั้นแล้วจะพูดอย่างอื่นไปไม่ได้ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา ตรงไปตรงมา ไม่ว่าธรรมขั้นใดๆ ตรงแน่วเหมือนกันหมดเลย พากันเข้าใจ

สำนวนที่เทศน์ทุกวันนี้ไม่ได้เอาสำนวนปริยัติมาเทศน์ พูดตรงๆ เลย เอาสำนวนปฏิบัติออกมาจากจิตใจล้วนๆ ไม่ว่าเทศน์ธรรมะขั้นใด ถอดออกมาจากนี้หมด ตั้งแต่ต้นถึงวิมุตติหลุดพ้นเต็มอยู่ในหัวใจนี้หมดแล้วจะอัดอั้นที่ไหน พูดให้มันเต็มยศ ขอให้มีผู้สงสัยควรจะรับธรรมขั้นใดมันจะออกรับกันเองๆ ถ้าไม่ควรออกดึงออกก็ไม่ออกนะ ธรรมท่านเหมาะสมตลอด ควรจะออกหนักเบามากน้อยเพียงไรก็ออกๆ

ยกตัวอย่างเช่นเขาถามปัญหามา พอเขาถามมาทางนี้ออกรับกันปั๊บร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมะที่จะรับกันกับปัญหาเขา คำตอบนี้จะออกรับกับปัญหาเขาที่ถามมา ผู้ที่ถามปัญหามีแง่หนักเบาขนาดไหน พอธรรมะออกนี้ คำตอบออกนี้จะออกร้อยเปอร์เซ็นต์เลยเต็มภูมิๆ ทีนี้พิจารณาผู้ที่จะมารับการตอบปัญหานี้จะมีความสามารถมากน้อยเพียงไร มันจะแบ่งอยู่ในตัวของมันเสร็จ เช่นร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่ออก ออก ๙๐-๘๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลงมา ทีนี้ก็มาถึงแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ จากนั้นไม่ตอบ ขี้เกียจไปเลย ตั้งแต่นั้นขึ้นไปแล้วตอบ ถ้าคนที่มาถามเป็นความมุ่งหวังอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ การตอบปัญหาที่ออก ออกร้อยเปอร์เซ็นต์รับกันผึง ได้เต็มสัดเต็มส่วนเลย

ยกตัวอย่างเช่นเดียรถีย์นิครนถ์ จะมาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเดียรถีย์นิครนถ์ เป็นศาสนาอื่น ทีนี้มาฟังธรรมะพระพุทธเจ้าเกิดความเชื่อความเลื่อมใส มาขอบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าก็ได้วางกฎกติกากันไว้อย่างนั้น คือศาสนาอื่นที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนานี้ต้องมาอยู่อบรม เรียกว่าติตถิยปริวาส ต้องอยู่อบรม ๔ เดือนเสียก่อน เมื่อเห็นสมควรที่พอจะบวชได้แล้ว ใน ๔ เดือนนั้นสมควรที่จะบวชได้แล้วถึงจะบวชให้ ถ้ายังไม่สมควรจะบวช ๕ เดือน ๖ เดือนก็ยังต้องอยู่นั้นก่อนยังไม่ให้บวช

ทีนี้เดียรถีย์นิครนถ์คนนั้นเขาฟังอย่างถึงใจแล้ว พระองค์ก็ทรงประทานโอวาทนี้ออกไป ว่ากฎข้อบังคับสำหรับพุทธศาสนานี้ต้องมีการอบรมเสียก่อน ก่อนที่จะบวชนั้นอยู่ประมาณสี่เดือน พอสมควรบวชได้แล้วถึงจะบวชให้ นี่เรียกว่าติตถิยปริวาส ทางนั้นตอบมาเลยทันที อย่าว่าแต่เพียงให้อยู่ติตถิยปริวาสสี่เดือนเลย สี่ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ ฟังซิน่ะ อยู่สี่เดือนนี้ยังไม่พอ เอาๆ สี่ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ เพราะด้วยความพอใจ พอว่างั้น เอ้าๆ บวชเดี๋ยวนี้ เห็นไหมล่ะนั่น ย่นเข้ามาสี่เดือน สี่ปีเลยไม่มี เอาถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้ นี่เห็นศรัทธาแก่กล้าสมควรที่จะรับแล้วเอาเดี๋ยวนี้เลย นั่นความหมาย ถ้าเป็นกลางๆ ก็สี่เดือน ถ้าสมควรที่จะตัดจะย่นเข้ามาตามความเหมาะสมแล้วตัดทันที ดังพระพุทธเจ้าตัด เอาถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้บวชเลย เข้าใจทุกคน

พุทธศาสนาของเรานี้ไม่ใช่ธรรมดานะ มันไม่เห็น หูหนวกตาบอด ก็นอนเฝ้างูจงอางงูสามเหลี่ยมงูเห่าอยู่อย่างนั้นละพวกเรา กิเลสตัณหาประเภทต่างๆ เท่ากับจงอางสามเหลี่ยมงูเห่า เรานอนอยู่ท่ามกลางเขาเป็นยังไง แล้วขับลำทำเพลงสบายอีกด้วยนะ พวกนี้พวกตายไม่มีป่าช้า ป่าช้ามอบให้สามเหลี่ยมจงอางงูเห่าไปหมดแล้ว มันไม่มีความหมายอะไร ก็ยังเพลินอยู่ในนั้นแหละ ทีนี้ผู้ที่ท่านเห็นภัยในสามกษัตริย์คือจงอางสามเหลี่ยมงูเห่าเป็นต้นนี้แล้วอยู่ได้อย่างไรล่ะ ดีดผึงเลย ดีดออกจากสามเหลี่ยมเป็นต้น ออกผึงเลย ท่านผู้เห็นภัยท่านจึงว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ ดีดตลอดๆ คำว่าถอยไม่มี ตายก็ตายไปเลย คำว่าถอยไม่มี นี่ละนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ เป็นอย่างนั้น พุ่งๆ เลย

ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าลงได้เข้าดื่มเข้าเห็นแล้วจะอยู่ไม่ได้ บอกว่าอยู่ไม่ได้ เพราะทนทุกข์ทรมานมานี้กี่กัปกี่กัลป์ ตายกี่ภพกี่ชาติ คนๆ หนึ่งนี้ ตายไปกี่ภพกี่ชาติไปเป็นภพใดชาติใด สัตว์ตัวใด เปรตผีตัวใด เทวบุตรเทวดา หรือสัตว์นรกตัวใด มันเคยเป็นมาหมดแล้ว แต่มันไม่รู้ถูกกลบไว้หมดทางเดินของเรามา ก็ยังเหลืออยู่ตั้งแต่ว่าตายแล้วสูญ ทีนี้ตายแล้วสูญอยากทำอะไรก็ทำ ทำลงไปแล้วไม่มีอะไรเป็นเครื่องสนองผล บาปบุญไม่ได้รับแหละ เสวยกรรมไม่มี ตายแล้วสูญ อยากทำอะไรก็ทำๆ นี้แหละพอว่าอยากทำอะไรก็ทำ มันก็ทำแต่บาป ทีนี้ตายแล้วมันไม่สูญน่ะซี มันว่าเอาเฉยๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่าเอาเฉยๆ ว่าด้วยญาณหยั่งทราบแล้ว จึงต้องให้พากันระวัง ให้ฟังเสียงพระพุทธเจ้า อย่าฟังเสียงพวกตาบอดหูหนวกมันจะหลอกไปทั่วโลกดินแดน จมไปด้วยกันหมดนะ จำให้ดี เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้


รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก