แก่นของพุทธศาสนาคือการภาวนา
วันที่ 23 พฤษภาคม 2548 เวลา 8:10 น. ความยาว 50.12 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

แก่นของพุทธศาสนาคือการภาวนา

 

         เมื่อวานนี้เราก็ตั้งใจจะสงเคราะห์คนทั่วประเทศนะ ที่ว่าไปเทศน์ทุ่งศรีเมืองนี้ เราเอาทุ่งศรีเมืองเราเป็นสถานที่กระจายธรรมเท่านั้น แต่ความมุ่งหมายเรา หมายถึงว่าธรรมเหล่านี้จะกระจายให้ได้รับผลประโยชน์ทั่วถึงกันในประเทศไทยของเรา เรากะอย่างนั้น เพราะนานๆ จะได้เทศน์ที่หนึ่งๆ แล้วเทศน์ประเภทเราเทศน์นี้ไม่มีใครเทศน์นะ ข้ามหัวกิเลสไปไม่ได้ ต้องกิเลสข้ามหัวธรรมไป ไปเทศนาว่าการที่ตรงไหนก็เอากิเลสข้ามหัวเหยียบหัว บังคับธรรมอยู่ตลอด ธรรมก็ต้องเทศน์หมอบไปตามกิเลส เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการจึงต่างกันในภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติ เราเคยผ่านมาแล้ว

ภาคปริยัติเราก็เรียนมา เวลาเทศน์ก็เอากิเลสขึ้นอยู่บนหัวถือค้อนคอยตีหัว ถ้าอะไรจะไปกระเทือนมัน มันจะเคาะป๊อก พอเทศน์ไปอันใดจะไปกระเทือนกิเลส กิเลสมันถือขอมันจะสับป๊อก ทางนี้ก็หมอบลงแล้วเทศน์ไปตามนั้น เราเคยเทศน์ปริยัติเทศน์อย่างนั้นก็เคยเทศน์มาแล้ว กิเลสต้องอยู่บนหัวเหมือนกับคอช้างที่เจ้าของนั่งอยู่นั้น ช้างไปไหนพอเห็นแปลกๆ จะกระเทือนเจ้าของ ขอจะสับป๊อกเลย อันนี้ก็เหมือนกันกิเลสมันคอยเอาขอมันสับป๊อก เอาค้อนเล็กๆ ตีป๊อกๆ แล้วก็เทศน์ไปตามนั้นๆ ไม่ว่าท่านว่าเรามันหากเป็นความรู้ความเห็นความสามารถ และให้พอดีกับสังคมที่กิเลสยอมรับ พูดง่ายๆ นะ ไม่ใช่ธรรมยอมรับ ยังไม่ถึงขั้นธรรมยอมรับยังไม่รู้นะ เพราะฉะนั้นเวลาเทศน์กิเลสต้องถือขอเล็กๆ สับไปเรื่อย เทศน์เจริญพรกล้วยหอมดีนะ อันนั้นดีนะ เจริญพร มีกล้วยไข่บ้างไหมล่ะ เจริญพรเรื่อย อันนี้กิเลสมันถือขออยู่ให้ว่าอย่างนั้นเรื่อยๆ ถ้าจะมีปุบปับเป็นลักษณะธรรมขึ้นมานี้ กิเลสจะเคาะป๊อกเตือน

ให้ผ่านมาเสียก่อนมันถึงรู้ ไม่ใช่อุตริพูด นี้เราพูดด้วยความผ่านมาในตัวของเราเอง ทั้งเขาทั้งเราไม่มีเจตนา ความรู้สึกลึกลับมันแทรกอยู่ในนั้นๆ ให้เป็นไปอย่างนั้นๆ ทีนี้เวลาเป็นภาคปฏิบัติ ธรรมภาคปฏิบัติจะเกิดนะ ภาคปริยัตินั้นเป็นความจำ เรียนมามากน้อยเป็นความจำมาเรื่อยๆ เทศน์ตามความจำมาตามตำรับตำรา ทีนี้พอก้าวออกทางด้านปฏิบัติ ศาสนาที่สมบูรณ์แบบมี ๓ ประเภท ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วนำมาปฏิบัติ ผลเกิดขึ้นจากปฏิบัติก็เป็นปฏิเวธ รู้ผลงานของตนโดยลำดับลำดาไป เรียกว่าปฏิเวธ

ทีนี้เวลามาปฏิบัติ เริ่มต้นจิตสงบ นี่ปรากฏผลแล้ว เราเรียนหนังสืออยู่เท่าไรจิตไม่เคยสงบจากการเรียน แต่จะสงบจากการบำเพ็ญสมาธิภาวนาในเวลานั้น แม้เรียนอยู่ก็ตาม เวลาเรามาทำความสงบเป็นภาคปฏิบัติทางจิตใจก็ส่งขึ้นมา เช่นเรียนหนังสืออยู่จิตใจเราก็สงบ เราไม่เคยปล่อยทางด้านจิตตภาวนาทั้งๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ตลอด หากฝังลึกอยู่ในใจอย่างนั้นตลอด แต่ไม่แสดงให้ใครทราบ ไม่ให้ใครรู้เลยเรื่องภาวนา นักปริยัติด้วยกันไม่รู้ ต้องเป็นลิงเป็นค่างไปแบบเขา เขาตลกมาเราก็ตลกไป นี่ละแบบลิงแบบค่างเป็นอย่างนั้น ส่วนลึกลับอยู่นี้ไม่โชว์ออกนะ เฉยเลย ไม่เคยพูดเรื่องภาวนาให้เพื่อนฝูงทั้งหลายฟัง เป็นอยู่ลึกๆ ลับๆ

ความสงบใจมันก็มีเวลาเรียนหนังสืออยู่ เพราะมีภาคปฏิบัติอยู่นั้น ทีนี้พอออกจากเรียนจะก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติล้วนๆ นี้ปัดการเรียนออกหมด ไม่ให้มีอะไรติดย่ามเลย มีหนังสือปาฏิโมกข์พกติดตัวเท่านั้นเพราะเป็นพระวินัยประจำพระ มีเล่มเดียวเท่านั้นเอง ทีนี้ออกปฏิบัติเลย หมุนติ้วทางภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติปฏิบัติธรรมก็ต้องเห็นธรรมรู้ธรรมซิ ปริยัติเรียนก็รู้เห็นไปตามปริยัติ ทีนี้ออกมาเป็นภาคปฏิบัติก็รู้เห็นทางภาคปฏิบัติ เป็นความสงบร่มเย็น นี่ขึ้นต้นนะ เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความสงบร่มเย็น สับปนกันไป และปรากฏขึ้นมาๆ หนักเข้าก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะภาคปฏิบัติขุดอยู่นี่ น้ำก็ออกละซิ ขุดไม่ถอยน้ำก็ออกไม่ถอย ภาคปฏิบัติหนุนเข้าไป น้ำอรรถน้ำธรรมก็แสดงออกมาเป็นกิริยาของจิตที่มีความสว่างไสวมีความสงบร่มเย็น แพรวพราว นั่นออกแล้วนะ ออกจากนั้นเรื่อยๆ

ทีนี้เราก็บำรุงต้นเหตุคือเป็นภาคปฏิบัติ บำรุงให้ดีด้วยการปฏิบัติ ผลก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ จากภาคปฏิบัติ ทีนี้ทางภาคปริยัติก็ปล่อยกันๆ เรื่อยมา เป็นอย่างนั้นนะ แต่ก่อนก็อาศัยปริยัติหากินข้าวต้มขนมน้ำอ้อยน้ำตาลกับปริยัตินั้นก่อนละ ต้องเอามาทุกวัน ไม่ทราบใครเอาอะไรมาให้กินไม่สนใจ มีตั้งแต่นิทานสูนี่เข้าไปเลย ไปท่าเดียวไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ ปฏิบัติเรื่อย ทีนี้ธรรมะก็เกิดเรื่อยๆ เกิดในจิตภาคปฏิบัติไม่ได้เหมือนปริยัตินะ ปริยัติเราจะจำได้เฉพาะที่เราเรียนมา ที่เราไม่ได้เรียนจำไม่ได้ แต่ภาคปฏิบัติจำได้ไม่ได้ก็ตาม ธรรมมีในหลักธรรมชาติ เวลาเป็นภาคปฏิบัตินี้เกิดเรื่อย สิ่งที่ไม่เคยเกิดไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นจะรู้ขึ้นมาจากใจ เพราะใจเปิดออก กิเลสจางออกๆ ทางนี้ธรรมะค่อยขึ้น ค่อยเบิกกว้างออกๆ เรื่อย ธรรมะก็เกิดเรื่อยๆ

ธรรมเกิดขึ้นมานั้นมันไม่ได้สนใจจะสอนใครนะ มันหากเป็นในเจ้าของเอง เกิดขึ้นมาอะไรก็เป็นอุบายสอนตนๆ เรื่อยไป นี่เป็นภาคปฏิบัติ ทีนี้ธรรมะที่ออกๆ เวลาจะเทศนาว่าการก็ออกจากภาคปฏิบัติตามภูมิของธรรมที่เราได้มากได้น้อย จะออกตามนั้นๆ ถ้าสูงกว่านั้นยังไม่รู้ก็ออกไม่ได้ ครั้นต่อไปมันก็กระจายออกๆ ทีนี้จะออกแบบไหนๆ ออกได้หมดตามแต่เห็นสมควรเท่านั้นเองที่จะออกแค่ไหน พอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังมากน้อยเพียงไรก็ออกตามนั้นๆ ออกเรื่อย นี่ภาคปฏิบัติ เวลาธรรมะทางภาคปฏิบัติออกแล้วจะเกิดจากที่นี่ทั้งนั้นเลย นี่ภาคปฏิบัติเป็นปฏิเวธขึ้นมาแล้ว คือรู้แจ้งในผลของตน ผลงานของตนคือธรรมภายในใจเป็นลำดับ แน่นหนามั่นคงกว้างขวางขนาดไหนจะรู้ขึ้นภายในใจ นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ

จิตใจเบิกกว้างออกเท่าไร กิเลสจางไปเท่าไร ธรรมยิ่งเกิดๆ ยิ่งมียิ่งพุ่งๆ ขึ้นมา นี่ภาคปฏิบัติยังไม่มีใครพูด ก็มีหลวงตาองค์เดียวนี้แหละพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ให้ได้รู้ว่าศาสนาพุทธของเราสดๆ ร้อนๆ พร้อมที่จะให้ผลอยู่ตลอดเวลาสำหรับผู้ปฏิบัติ สดๆ ร้อนๆ เหมือนกับกิเลส แตะเข้าไปตรงไหนเป็นกิเลสขึ้นทันที แตะทางไหนทางด้านอรรถธรรม ธรรมขึ้นทันทีเหมือนกัน แต่นี้มีแต่ยื่นดาบให้กิเลสฟันหัวเจ้าของละซิ

เวลาออกทางภาคปฏิบัติ จิตใจมันแตกกระจายออกเป็นอรรถเป็นธรรมทั้งนั้นนะเวลาออก เมื่อใจได้เป็นธรรม มองเห็นอะไรเป็นธรรมไปหมดเลย เวลาจิตเป็นกิเลส มองอะไรเป็นกิเลสไปหมด มัดคอเจ้าของไปเรื่อยๆ เจ้าของสนุกดูไป ทางนี้ก็มัดคอเข้าไป จะตายๆ อยู่นี้ยังบืนอยู่ นั่นละกิเลสมัดคอ เข้าใจไหม ธรรมมีแต่แก้ออกๆ ยิ่งเบิกกว้างออกๆ เห็นโทษก็เห็นหนักเข้าๆ ทุกทีๆ เห็นคุณค่าของธรรมก็หนักมากเข้าด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นความพากเพียรนี้หมุนติ้วเลยไม่ต้องบอกแหละ หมุนจนเป็นธรรมจักร หมุนเป็นอัตโนมัติไปเลยไม่มีใครบังคับ ความเพียรเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อความพ้นทุกข์นี้มาเองๆ เป็นเอง เป็นกำลังหนุนกันไปเรื่อยๆ ทีนี้มีแต่ธรรมเกิดทั้งนั้น

กิเลสเกิดมาก็เกิดมาเพื่อดับ เกิดมาเพื่อถูกสังหารของธรรมที่มีกำลังกล้านั้นแล พอโผล่ขึ้นมาปั๊บขาดสะบั้นไปเลย นี่ละเรียกว่าความเพียรที่มีกำลังกล้าแล้ว สติปัญญากล้าแข็งแล้ว กิเลสโผล่ขึ้นมาปั๊บขาดสะบั้นๆ เป็นเองนะ ถึงขั้นนี้แล้วเป็นเอง ไม่เป็นกับผู้ใดก็ไม่รู้ เป็นกับผู้ปฏิบัตินั่นแหละรู้เอง ถึงขั้นมันเป็นเป็นอย่างนั้น แต่จะพูดกับใครสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ท่านไม่สนใจจะพูดแหละ มีแต่ดูจิตใจตัวเองที่มันแสดงระหว่างกิเลสกับธรรมออกรับกันๆ มากน้อย รับกันไปเรื่อยๆ ตีกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันว่างมันเปล่าไปหมดเลย ไม่มีอะไรจะมาขวางใจ

ก็เคยพูดแล้ว บางครั้งถึงขนาดพูดว่า หือ นี่มันไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อยๆ แล้วเหรอ คือในระหว่างนั้นกิเลสมันหมอบ ธรรมคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาที่ไหนก็ไม่มี ไม่เจอกิเลส มีแต่ธรรมแสดงฤทธิ์อำนาจอยู่ตลอดเวลา กิเลสไม่ออกแสดงเลย เหอ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อยๆ ขึ้นมาแล้วเหรอ ทั้งๆ ที่ยังไม่สำคัญว่าตนเป็นอรหันต์นะ คือว่าเอาตอนมันว่าง ค้นหาที่ไหนก็ไม่เจอ มันไปยังไงกิเลสนี่ หือ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อยๆ ขึ้นมาแล้วเหรอ ว่าในระยะที่มันว่าง กิเลสยังไม่โผล่ขึ้นมาต่อกรกัน ทีนี้พอกิเลสโผล่ขึ้นมาก็ซัดกันเลย ไม่สนใจอรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่ละที่นี่ ซัดกันกับกิเลส

นี่ละเรื่องของการปฏิบัติมันชัดเจนมาก ผู้ไม่เคยปฏิบัติไม่รู้ เพราะฉะนั้นศาสนาจึงได้แต่เปลือกแต่กระพี้ออกมา ไม่ได้แก่นของศาสนาออกมา แล้วพูดอะไรก็ลอยๆ เฉื่อยๆ เปลือยๆ ไปไม่ค่อยมีน้ำหนัก เพราะจิตไม่มีน้ำหนักในตัวเอง ก็จำมาๆ พูดก็ลอยๆ ไปไม่ได้แน่นอนอะไรนัก พอธรรมเกิดขึ้นที่ใจฝังที่ใจแล้วมันมีแก่นอยู่ในนั้นเลย มีน้ำหนักอยู่ในนั้น มีรสมีชาติอยู่ในนั้น ออกขนาดไหนมากน้อยจะแสดงพลังออกมาจากใจที่มีกำลังมากน้อยเพียงไร นั่นละจะแสดงออกๆ เวลาเอาให้เต็มที่แล้ว กิเลสขาดสะบั้นลงไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลยแล้ว อันนี้ก็รู้เอง ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก  ตัดสินครั้งสุดท้าย สิ้นภพสิ้นชาติสิ้นกิเลสตัณหา สิ้นการเกิดตาย สิ้นกองทุกข์ทั้งหลาย มาสิ้นที่กิเลสสิ้นซากนี้เอง

กิเลสยังไม่สิ้นซากเมื่อไร ภพชาติยังต้องเป็นสายยาวเหยียดไปตามกิเลส พอกิเลสตัวเป็นเหตุสร้างทุกข์ทั้งหลาย สร้างภพชาติทั้งหลาย ขาดสะบั้นลงไปเท่านั้น ทุกอย่างขาดไปด้วยกันหมดเลย นั่นเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จแล้วงานที่หนักหน่วงที่สุดในวัฏจักร งานตายกองกันนี้ได้สิ้นเสร็จลงไปแล้ว บัดนี้จะไม่มาตายกองกันอีกแล้ว กิเลสตัวพาสัตว์โลกตายกองกันได้สิ้นซากลงไปให้เห็นต่อหน้าต่อตานี้แล้ว เป็นอันว่าหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง นั่นท่านเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ความรู้ประจักษ์ตนในความบริสุทธิ์ของตนเต็มสัดเต็มส่วนในครั้งสุดท้าย นั่นท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก ก็เป็นธรรมพระพุทธเจ้าประทานให้แล้ว เจ้าของจะเป็นผู้รู้เองเห็นเอง ตัดสินตัวเอง ไม่มีใครมายืนยันรับรอง สนฺทิฏฺฐิโก รับรองเอง

นี่ละที่ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเอง จะมีศาสดาองค์ใดล่ะมาเป็นผู้รับรองถึงจะให้เป็นพระอรหันต์ขึ้นได้ การปฏิบัติเปิดทางให้แล้วเพื่อผลทั้งหลาย เมื่อเราปฏิบัติเพื่อผลทั้งหลายที่เปิดทางให้แล้ว เอาเรื่อยซิ จนกระทั่งถึงที่สุดวิมุตติหลุดพ้น สนฺทิฏฺฐิโก ขั้นสุดท้ายก็ขึ้นมาเองไม่ต้องมีใครมาบอก เวลาถึงขั้นนั้นแล้ว คำว่าอรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่หายหมดนะ หายเลยไม่ถามถึงกันแหละ อรหันต์น้อยก็ไม่มี อรหันต์ใหญ่ก็ไม่สนใจ มันจ้าขึ้นมาด้วย สนฺทิฏฺฐิโก นี่ละภาคปฏิบัติ ธรรมะสดๆ ร้อนๆ อย่างนี้นะ ใครไปปฏิบัติก็ตามจะปรากฏผลขึ้นมาตามภูมิของตน และกำลังแห่งความพากเพียรของตนนั้นแล ธรรมะเป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ

ทีนี้เวลาจะออกสอนโลกนี้ เอา จะเอาสักแค่ไหน ไม่ต้องเป็นแบบโลกสงสารคัดเลือกแล้วนี้ไม่มี ควรจะออกตรงไหนจะออกรับกันทันทีๆ เลย ควรจะออกหนักเบามากน้อยหากรู้ทันทีในตัวเอง เอ้า พูดให้มันจะแจ้งออกมาชัดๆ ให้โลกได้เห็นทั่วหน้ากันก็คือ ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ปั๊บ มองปุ๊บกำหนดปั๊บรู้แล้ว คณะบริษัทบริวารประชาชนทั้งหลาย ที่มาฟังเทศน์มีจำนวนมากน้อยเพียงไร ควรจะวางธรรมะขนาดไหนให้พอดิบพอดีรู้กันแล้ว พอมองเห็นพับบอกกันเสร็จ ทีนี้ก็ก้าวเดินไปตามนั้นแหละ จะสูงกว่านั้นก็ไม่ได้ไม่พอดีกับผู้ที่มารับฟังจะได้รับประโยชน์ไป ต้องสอนให้พอดีกับผู้มาฟังจะได้รับผลประโยชน์ไปตามกำลังของตนๆ ธรรมะก็ออกตามประเภทนั้นๆ ถ้ามีสูงกว่านั้นเข้ามาๆ ธรรมะจะเป็นเองๆ วางกันระดับพอดีเลย นี่เรียกว่าแกงหม้อใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ พอแกงหม้อเล็กมันก็จะหมุนเข้าไปหาหม้อเล็ก ธรรมะจะเข้มข้นเข้าไปๆ เพราะจิตใจของผู้มาสดับตรับฟังมีความเข้มข้นเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน มันก็ออกรับกันๆ จากนั้นก็เลยใส่แกงหม้อจิ๋ว หม้อจิ๋วนี้ผู้มาฟังเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ระดับของจิตที่เพื่อความพ้นทุกข์ๆ มีจำนวนมาก ธรรมะอันนี้จะไปต้วมเตี้ยมๆ อยู่ข้างล่างไม่ได้ ต้องหมุนรับกันทันทีลากกันขึ้นทันทีผึงๆ ละ

การเทศนาว่าการสำนวนโวหาร กิริยาอาการของการเทศน์จึงไม่เหมือนกัน ถ้าเทศน์ธรรมดาเรานี้ก็ เป็นกิริยาอาการอันหนึ่งเหมาะสมกับสังคมนั้นๆ แน่ะ เทศน์แกงหม้อเล็กเป็นกิริยาอันหนึ่ง ที่จะฉุดลากจิตใจของผู้ฟังให้หนักขึ้นไป เข้มข้นขึ้นไปด้วยอรรถด้วยธรรม และยิ่งแกงหม้อจิ๋วด้วยแล้วยิ่งพุ่งๆ เลย ผู้ฟังก็ถึงใจๆ ตลอด และก็สำเร็จมรรคผลนิพพานได้เหมือนครั้งพุทธกาลนั่นเอง จะผิดกันอะไร นี่ภาคปฏิบัติพูดได้เต็มปาก เพราะประจักษ์อยู่กับใจของผู้ปฏิบัติเอง ได้ผลยังไงรู้อยู่ในนั้นเสร็จ ธรรมะจึงเรียกว่าสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ ตลอดมา

นี่ละการเทศนาว่าการกิริยามารยาท ของอรรถของธรรมที่แสดงออกสู่ส่วนรวมทั้งหลายจึงไม่เหมือนกัน ในสังคมนี้ๆ กับธรรมะประเภทนี้จะเข้าพอดีกันกับกิริยาที่แสดงออกพอดีๆ ถ้าเข้มข้นขึ้นมากิริยาอาการของความเคลื่อนไหวของกายซึ่งเป็นเครื่องมือของธรรมก็เข้มข้นขึ้นมาๆ เสียงก็เข้มข้น กิริยาท่าทางทุกอย่างเข้มข้น เนื้ออรรถเนื้อธรรมเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ยิ่งขึ้นแกงหม้อจิ๋วด้วยแล้วนั้น โอ๋ย เป็นจรวดไปเลยเชียวหมุนติ้วๆ แล้วเครื่องมือที่นำมาใช้นี้ก็แบบเดียวกันอีก หมุนติ้วเป็นธรรมจักรไปตามๆ กันหมด เหล่านี้เป็นเครื่องมือ กิริยาท่าทางของการแสดงออกนั้นเป็นออกมาจากพลังของธรรม ไม่ได้ออกมาจากพลังของกิเลสตัณหาอะไร ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหาไม่มีอยู่ในใจ มีแต่ธรรมล้วนๆ ออก จะเผ็ดร้อนขนาดไหนก็เป็นรสของธรรมๆ ไม่เป็นภัยต่อผู้ใดทั้งนั้นแหละต่างกันนะ

กิริยาของธรรมที่แสดงออกตั้งแต่พื้นๆ จนกระทั่งถึงความเข้มข้นดุเดือดสุดยอด เป็นกิริยาของธรรมที่ให้คุณประโยชน์แก่โลก ตามขั้นตามภูมิล้วนๆ ไปเลยทีเดียว ไม่มีพิษภัยแม้แต่นิดหนึ่งแฝงอยู่ ไม่เหมือนกิเลสที่แฝงใจ กิเลสที่แฝงใจแสดงความไม่พอใจจิตเป็นออกไปแล้วนั่น เป็นภัยไปแล้วๆ แสดงความโกรธเป็นความโกรธขึ้นมาทันที เป็นไฟขึ้นมาทันทีเผาได้ทั้งนั้นละ นั่น กิเลสมีอยู่ในใจมากน้อยเป็นภัยทั้งนั้น เมื่อกิเลสสิ้นซากไปแล้วมีแต่กิริยาของธรรมนี้จะแผดเหมือนฟ้าดินถล่มก็ตาม แต่เหมือนฟ้าร้องฝนตกมามันเย็นไปหมดเลย นี่เสียงแผดๆ แต่เสียงเป็นเสียงธรรม เวลาธรรมเข้าสู่ใจเย็นไปหมดๆ เพราะฉะนั้นกิริยาของพระพุทธเจ้า กิริยาของพระอรหันต์จึงไม่มีพิษภัยอะไร สำหรับผู้ฟังทั้งหลายจะได้รับธรรมอันนี้ไปเผา

ธรรมนี้ไม่ใช่ไฟ ธรรมนี้เป็นน้ำดับไฟ กิริยาจะแผดขนาดไหนก็ตามเป็นธรรม เหมือนน้ำดับไฟๆ กิริยาของผู้ท่านบริสุทธิ์แล้วทุกอย่างจึงบริสุทธิ์ไปตามๆ กันหมด เราจะไปถือเอากิริยาเหล่านี้ว่าเป็นกิเลสตัณหาเหมือนเราเคยถือมาแต่ก่อน โฮ้ นี่ท่านเทศน์ดุนี่ท่านเทศน์ด่า ท่านเทศน์ท่านไม่พอใจท่านโกรธเคียดแค้นให้ผู้ใดนะ ท่านถึงมาเทศน์อย่างนี้ นั้นผิดทั้งเพ นี่ละถ้ากิเลสเข้าแฝงเป็นอย่างนั้น เพราะเคยรู้อย่างนั้น แต่กิเลสไม่มีแล้วจะเป็นกิริยาท่าใดก็ตาม จะเป็นเรื่องของธรรมที่ละเอียดลออเข้าไปโดยลำดับ มีกำลังมากหนุนเข้าไปโดยลำดับอย่างนั้นเอง

นี่ได้พูดถึงเรื่องภาคปฏิบัตินะ การเทศนาว่าการให้โลกฟัง ท่านจะเทศน์ปริยัติก็เหมือนโลกทั่วๆ ไปมันหากเป็นของมันเอง แต่เวลาเข้ามาสู่ธรรม ธรรมะได้ผลมากน้อยที่นี่มันจะค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามอรรถตามธรรมทางภาคปฏิบัติ พอธรรมะเต็มหัวใจแล้วทีนี้เป็นธรรมะล้วนๆ ออกกิริยาใดๆ เป็นธรรมทั้งนั้นๆ เลย ต่างกันอย่างนี้ บรรดาพี่น้องทั้งหลายที่ไม่เคยกับพุทธศาสนาให้พากันเข้าใจเสีย แก่นของพุทธศาสนาคือการภาวนา การทำบุญให้ทานเป็นกิ่งเป็นก้านติดต่อกันไปหนุนกันไปๆ จนถึงมรรคผลนิพพาน นี่ละการสร้างคุณงามความดีอย่าปล่อยอย่าละนะ สดๆ ร้อนๆ อยู่กับตัวของเรา ทั้งบาปทั้งบุญอยู่ด้วยกันนี้แล ใครจะแก้ไขทางไหนจะปัดทางไหนออก เป็นความรอบคอบของตัวเองในการรับผิดชอบตัวเอง ให้นำไปปฏิบัติ แล้วผลจะปรากฏขึ้นมาเป็นที่พอใจๆ

อย่างที่ท่านทั้งหลายเคยได้ยินได้ฟัง หลวงตาสอนโลกสอนธรรมนั้น กิริยาจะไม่เหมือนโลกนะ ส่วนมากจะถูกโจมตีทั้งนั้นแหละ ว่าหลวงตานี้เทศน์ดุเทศน์ด่าเทศน์กระแทกแดกดัน เทศน์ไม่ไพเราะเพราะพริ้ง เหล่านี้เป็นสำนวนของธรรมที่ควรจะหนักจุดไหนๆ ชะล้างจุดไหนให้หนักเบามากน้อยจะออกตามนั้นๆ เหมือนเขาชะล้างสิ่งสกปรก ไม่ใช่เป็นความสกปรกนะ ให้พากันเข้าใจอย่างนั้น นี่กิริยาของธรรม ถ้ายังสอนธรรมอยู่ด้วยความเป็นธรรมอยู่แล้ว กิริยาอย่างนี้จะออกตลอดไป ถ้าจะให้เป็นไปตามโลก ธรรมเป็นไม่ได้นั่น ธรรมจะไม่เอนไม่ไปไม่สอนเสียดีกว่า สอนไปหาอะไร ถ้าสอนพอจะเป็นประโยชน์มากน้อยก็สอนกันไปๆ ที่ควรจะเด็ดจะเดี่ยวเฉียบขาด จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ในปัจจุบันก็ลากขึ้นเดี๋ยวนั้นเลย เรียกว่าเผ็ดร้อนเฉียบขาดมากทีเดียว เอาละวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก