เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘
เอาความสงบใจระงับความคิดความปรุงซิ
ผู้กำกับ มีปัญหาด้านภาวนาพระท่านถามมาดังนี้ครับ เมื่อพรรษาที่ผ่านมาซึ่งเป็นพรรษาแรกของกระผม กระผมได้มีโอกาสฟังเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์จากซีดีเกี่ยวกับการภาวนา โดยให้ใช้สติบังคับจิตอย่างเต็มเหนี่ยว ให้อยู่กับคำบริกรรมคือพุทโธ โดยไม่ให้จิตเคลื่อนไปจากพุทโธ พยายามให้มีสติอยู่ตลอดเวลากับคำบริกรรม เมื่อกระผมได้ฟังเทศน์กัณฑ์นั้นแล้วรู้สึกจิตมีกำลังอาจหาญ จากคำเทศน์ที่ดุเดือดเผ็ดร้อนอย่างเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติ ละกระผมได้กำหนดสติบังคับจิตให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธอย่างตั้งใจ จดจ่ออยู่อย่างนั้น ส่วนใหญ่กระผมจะชอบเดินจงกรมภาวนามากกว่าอิริยาบถอื่น
เมื่อภาวนาไปได้อาทิตย์กว่าๆ ผลปรากฏว่า พอเวลาช่วงเย็นคือประมาณ ๖ โมงเย็นเป็นต้นไป กระแสจิตจะมารวมแน่นอยู่ตรงกลางทรวงอก แน่นเหมือนหิน ยิ่งเวลากระผมนั่งสมาธิ พอหลับตาลงความรู้สึกทั้งหมดจะมารวมแน่นเหมือนก้อนหินที่ตรงกลางทรวงอกนั้น แต่ตอนกลางวันจะไม่ค่อยเป็น กระผมได้พยายามกำหนดสติบริกรรมพุทโธมาเรื่อยๆ จนจะครบ ๑ ปี ปัจจุบันผลปรากฏว่าอาการที่จิตรวมแน่นที่ตรงกลางทรวงอกจะเป็นตอนกลางวันด้วย แต่ตอนกลางคืนจะมีความรู้เด่นที่จุดรวมแน่นนั้นมากกว่า แต่ว่าจิตไม่ละเอียดลงไปนัก เป็นแต่เพียงว่ารวมเด่นอยู่เฉยๆ กระผมขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์ถามปัญหาดังนี้ครับ
๑.ทำไมอาการที่จิตรวมแน่นที่ตรงกลางทรวงอกผ่านมาเกือบ ๑ ปียังไม่หายไปครับ เพราะบางทีก็รู้สึกแน่นมากจนตรงทรวงอกนั้นจะระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
๒.ลักษณะอย่างนี้ถือว่าจิตเป็นสมาธิหรือไม่ครับ เพราะว่าถ้าจิตเป็นสมาธิ ทำไมเวลานั่งสมาธินานๆ พอผ่าน ๑ ชั่วโมงแรก เวทนาก็ยังมีเหมือนเดิม แต่ความรู้เด่นที่ตรงกลางอกมีกำลังมากกว่า และถ้าเจอเวทนาใหญ่ๆ กระผมรู้สึกว่าจะสู้เวทนาไม่ได้ครับ ไม่รู้ว่าความอดทนเด็ดเดี่ยวหายไปไหนหมดครับ
หลวงตา มาถามเราทำไม ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นอยู่ที่หน้าอก ถ้าแตกมันก็แตกที่หน้าอกผู้ถามแล้วนี่นะ เราจะเอาอะไรไปตอบ เข้าใจ อย่างนั้นก็ถามมา แน่นมันแน่นเหมือนโรคทั่วๆ ไปก็มี คือแน่นปึ๋งในจิตใจที่หัวอกก็มี มันหลายอย่าง อย่างที่ว่าจิตแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาอยู่ที่หน้าอก จิตเป็นสมาธิเป็นอย่างนั้น แน่นที่หัวอกแบบโรคทั่วๆ ไปแน่นกันนั้นก็เรียกว่าเป็นโรคอันหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่โรค คือแน่นหนามั่นคง คำว่าแน่นมันอยู่กลางๆ แน่นหัวอกเป็นโรคเป็นภัยก็มี แน่นหนามั่นคงในหัวอกอย่างนั้นก็มี ถ้าจิตเป็นสมาธิที่ว่าแน่นหนามั่นคงในหัวอกนั่นถูกต้องแล้ว เออ เท่านั้นละ
ผู้กำกับ ข้อ ๓. ครับ บางครั้งกระผมทดลองกำหนดสติพิจารณากาย ปรากฏว่าเหมือนสติปักเข้าไปตรงจุดที่กำลังพิจารณานั้นแรงกว่าอาการรวมแน่น กระผมไม่ทราบว่ากระผมควรจะบริกรรมพุทโธต่อไปต่อไปก่อนจนจิตรวมเป็นสมาธิ หรือสามารถใช้อาการจิตที่รวมแน่นนี้พิจารณากายไปได้เลยครับ
หลวงตา พิจารณากายก็แยกแยะไปทางส่วนร่างกาย ถ้าแน่นหนามั่นคงทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นจากพุทโธกับสติติดแนบกันไป มันก็สร้างฐานความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาภายในจิตใจ พิจารณากายก็แยกแยะออกซิ เวลาจิตสงบแน่นหนามั่นคงอยู่ในนั้นก็เป็นความสงบ เวลาจะแยกออกทางด้านปัญญาก็พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ความเป็นความตายความเปื่อยความเน่า ป่าช้าผีดิบผีสุกผีแห้ง แยกออกไปนี้เรียกว่าปัญญา อันนั้นก็ให้พิจารณาไป เวลาจะพิจารณาอย่างนั้นให้พิจารณาไป เวลาจะทำจิตให้มีความสงบจนกระทั่งแน่นหนามั่นคงด้วยสมาธิ เช่นพุทโธ เป็นรากฐาน มีสติติดแนบอยู่นั้นก็ทำไป แล้วมีอะไรอีกล่ะ
ผู้กำกับ ข้อ ๔.กระผมควรจะภาวนาอย่างไรต่อไปครับ คือบางทีกระผมก็บริกรรมพุทโธ บางทีก็กำหนดสติจับอยู่ตรงจุดที่รวมแน่นที่ทรวงอกเฉยๆ ครับ
หลวงตา ถ้าจิตแน่นหนามั่นคงอยู่ที่หน้าอก ก็ให้กำหนดรู้อยู่ที่หน้าอกเท่านั้นเอง คำว่าแน่นมันแยกออกเป็นสองทาง แน่นเหมือนโรคทั่วๆ ไปก็มี แน่นหนามั่นคงของจิต ฐานของจิตเป็นสมาธิก็มี ถามคลุมเครือนี่ตอบยากนะ
อย่างไรก็ตามภาวนา ถ้าพิจารณากายก็ให้พิจารณากาย แยกแยะ นี่เรียกว่าปัญญา สมาธิคือจิตมีความสงบ ตั้งแต่สมถะคือความสงบ สมาธิสงบแน่นเข้าไป จิตแน่นหนามั่นคงเรียกสมาธิ ภาคปฏิบัติไม่ใช่สมถะกับสมาธิเป็นอันเดียวกันนะ สมถะจิตเริ่มสงบเพราะการฝึกฝนอบรมภาวนา แล้วจิตก็สงบไม่มีอารมณ์กวน อารมณ์ของธรรมไม่กวน เป็นสารส้มกวนให้จิตสงบผ่องใส เช่น พุทโธๆ นี้ คิดเหมือนกันแต่คิดเป็นแบบสารส้ม ทำจิตให้สงบ ให้อยู่ที่นั่น สติตั้งอยู่นั้น จากนั้นจิตก็สงบ พอจิตสงบแล้วจิตจะอิ่มอารมณ์
ตามธรรมดาของจิตจะไม่มีคำว่าอิ่มอารมณ์ หิวโหยตลอดเวลา อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็นอยากทุกสิ่งทุกอย่าง ออกจากสังขาร คืออวิชชาดันออกมาเป็นสังขารกิเลสสมุทัยล้วนๆ อยากคิดอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา นี่เรียกว่าความอยากของจิต ทะเยอะทะยานดันอยู่ตลอด ทีนี้เวลาจิตสงบแล้วนั้นมันระงับความอยากนี้ทั้งหมด สงบแน่ว ไม่อยากคิดอยากปรุง สุดท้ายเป็นถึงขั้นสมาธิแล้วนี้ ความอยากคิดอยากปรุงอะไรมันรำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุงเลย อยู่แน่ว นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิเต็มภูมิ มีแต่ความรู้แน่วเท่านั้น สบายทั้งวัน คือไม่มีอะไรกวนเลย ความคิดตัวเองที่จะปรุงขึ้นกวนนี้ก็รำคาญ เลยไม่อยากคิด นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแน่วแน่ นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์
ทีนี้เมื่ออิ่มอารมณ์แล้วมันก็ไม่อยากคิดโน้นคิดนี้ ให้พาพิจารณาทางด้านปัญญา เอา ทำงานอันนี้ มันก็ทำตามนั้นๆ ไม่แฉลบเถลไถลไปที่อื่นเพราะความหิวโหยของความคิดความปรุง มันไม่ออก นี่เรียกว่าปัญญา สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมหรือหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ปัญญาเดินได้สะดวกคล่องแคล่ว เพราะอิ่มอารมณ์แล้วไม่เถลไถล ถ้าปัญญาที่เรามาคิดทั้งๆ ที่จิตหิวโหย คิดด้านปัญญาเป็นสัญญาอารมณ์ไปเลย มันต่างกัน นี่เรียกว่าปัญญา ออกพิจารณาตามหน้าที่เพราะไม่หิวโหยกับอะไร สมาธิอิ่มตัวจิตอิ่มตัว พาทำงานก็ทำตามนั้น ทีนี้จิตก็รู้แจ้งเห็นจริงไปเรื่อยๆ ละที่นี่
ท่านแสดงไว้ตั้งแต่ สีล พวกที่รักษาศีลพวกนักบวช สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่ท่านแสดงไว้เป็นลำดับๆ ปัญญาจึงเป็นของสำคัญ สมาธิคือจิตอิ่มอารมณ์ แล้วใช้ปัญญา ปัญญาก็ตั้งหน้าทำหน้าที่ เมื่อตั้งหน้าทำหน้าที่ก็เห็นเหตุเห็นผลกระจายไปเรื่อยๆ
ถ้าเป็นในใจแล้วมันหากรู้เองอย่างว่านั่นแหละ อย่างที่ว่าสมาธินี้เป็นหินไปเลย คือแน่นปึ๋งอยู่งั้นเลย ความรู้มีอันเดียวเท่านั้น เอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิต คือสมาธิที่แน่นหนามั่นคงอยู่ในตัวเอง เป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์คือความรู้อันเดียวเท่านั้น นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ แต่ได้เท่านั้นนะ แน่วอยู่นั้นเท่านั้น จะมีความแยบคายอะไรออกไป แก้กิเลสอะไรไม่แก้ เหมือนหินทับหญ้า ถ้าเอาหินออกหญ้าก็เกิด มีแต่สมาธิถ้านอนใจในสมาธิก็เสื่อมได้ นี่เรียกว่ายกหินขึ้นหญ้าเกิด ท่านจึงให้ใช้ปัญญา
พอจิตมีความสงบแล้ว จิตอิ่มตัวในอารมณ์แล้ว ให้พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ มีด้วยกันทุกคน ไม่มีเพศหญิงเพศชาย พิจารณารู้ได้ด้วยกันทั้งนั้น พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ขันธ์ของเรามีอะไรบ้าง ดูโลกทั้งหลายเป็นยังไง มันก็เป็นแบบเดียวกันๆ ถ้ายังไม่แน่ท่านก็บอกให้ไปเยี่ยมป่าช้า ไปดูป่าช้าก่อน ดูป่าช้าภายนอกแล้วก็มาเทียบกับป่าช้าภายใน เทียบเคียงพอได้สัดได้ส่วนแล้วกลับเข้ามาป่าช้าภายใน ไม่ยุ่งกับป่าช้าภายนอก พิจารณาป่าช้าภายในนี้ เรียกว่าปัญญา
นี่ละปัญญาที่จะเบิกกว้าง ถอดถอนกิเลสตัณหาที่เป็นหินทับหญ้า กิเลสไปรวมตัวอยู่นั่นหินทับไว้ ทีนี้ปัญญาไปตีกระจายออก กิเลสอยู่ในนั้นแตกกระจ้ดกระจาย ปัญญาเป็นผู้ถอนกิเลสนะ สมาธิเป็นแต่เพียงว่าทำจิตให้สงบเท่านั้น เมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเอง อย่าไปคิดนะ ถ้าเป็นเรื่องขิปปาภิญญายกให้ เพราะสติกับปัญญาไปพร้อมกันๆ ผึงเลย แต่กับเราๆ ท่านๆ ต้องเดินอย่างนี้ส่วนมากนะ ต้องใช้ไปตามวิธีนี้แหละ สมาธิหนุนแล้วปัญญาก็พิจารณาออกเรื่อยๆ มันจะรู้
ปัญญานี้พิสดารมากทีเดียว สมาธิมีแต่รู้แน่วอยู่เท่านั้น สุดท้ายก็เลยเอาความแน่วนั้น มีอารมณ์รู้อันเดียวนั้น ว่าจะเป็นนิพพาน จี้อยู่นั้น มันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นแหละไม่เป็นนิพพาน กินปลาทั้งก้าง กินไก่ทั้งกระดูก กลืนไปหมด คาคอตายเลย กิเลสเต็มอยู่ในนั้น ไปกลืนเอาหมด ว่าสมาธิเป็นนิพพาน มันก็กินปลาทั้งก้าง กินไก่ทั้งกระดูก คาคอ เพราะฉะนั้นจึงให้เอาปัญญาคลี่คลายออก อันไหนกระดูก อันไหนก้าง แยกออกๆ มีแต่เนื้อล้วนๆ อาหารล้วนๆ ไปได้สบาย
โอ๊ย ปัญญานี่พูดยากนะ เวลาได้ออกทางด้านปัญญานี้ คิดดูซิว่าสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นของมีอยู่ในโลก ไม่ว่าส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้มันจะตามรู้ตามเห็น เท่ากับไฟเผาไหม้ไปเรื่อยๆ เผาไหม้คือรู้ไปเห็นไปนั่นเอง เรื่อยไปเลย ความรู้ทางด้านปัญญานี่ของเล่นเมื่อไร ที่พูดนี่พูดเพียงหยาบๆ ที่นำมาพูดไม่ได้แต่ประจักษ์ในหัวใจนี้ โหย เต็มไปหมด ออกมาได้เพียงแขนงๆ เท่านั้นละ ปัญญาจึงพิสดารมาก นอกจากปัญญานี้แล้ว ละเอียดเข้าไปกว่านี้กลายเป็นปัญญาญาณไปเลย ซึมไปเลย เป็นอย่างนั้นนะ
นี่ละเรื่องการปฏิบัติธรรม ท่านทั้งหลายให้ฟังเสียงธรรมบ้างนะ เสียงพระพุทธเจ้าไม่ใช่เสียงที่หน้าเหี่ยวหน้าแห้งเหมือนหน้าเรานะ หน้าไม่มีสีสันวรรณะ หน้ากิเลสเหยียบย่ำทำลาย หน้ากิเลสเผา มองดูหน้าไหนซีดเซียวไปหมดไม่ชุ่มเย็น หน้าของพระพุทธเจ้าเบิกบาน ไม่มีอะไรเบิกบานยิ่งกว่าหน้าพระพุทธเจ้า พระทัยเบิกบานหมดเลย สว่างกระจ่างแจ้งหมด อยากให้ดูหน้าพระพุทธเจ้าบ้าง แล้วหันเข้ามาภาวนาดูหน้าตัวเองแล้วจะค่อยแจ่มแจ้งออกไป ธรรมถ้าลงได้เกิดจากใจเพียงคนเดียวเท่านั้นกล้าหาญชาญชัยครอบโลกธาตุ ฟังซิ ใครเชื่อไม่เชื่อก็ตามไม่สนใจ อันนี้แน่นปึ๋งอยู่นี้มันกระจายไปหมด ใครจะว่ายังไงไม่สนใจ ธรรมชาตินี้ไม่มีใครลบได้เลย
เรื่องสมมุติสามแดนโลกธาตุที่จะมาลบหลักธรรมชาติที่ว่าเลิศเลอ ที่ว่าสว่างกระจ่างแจ้งให้อับเฉาไปไม่มี อันนี้จึงว่า เกิดเพียงคนเดียวในหัวใจดวงเดียวเท่านั้นจ้าไปหมด ไม่ต้องไปถามใคร ออกได้ทันที จะพูดหนักเบามากน้อยออกได้ทันทีๆ เลย อย่างพระพุทธเจ้าพระสาวกท่านเป็นลำดับลำดามา นี่ผลแห่งการอบรมจิต ปล่อยให้มันเร่ร่อนวุ่นวายตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ เอาความหลับระงับความคิดความปรุงใช้ไม่ได้นะ ให้เอาสมาธิเอาความสงบใจระงับความคิดความปรุงซิ ความคิดความปรุงเราระงับได้เวลานอนหลับสนิท ถ้ายังละเมอเพ้อฝันอยู่ไม่เรียกว่าหลับสนิทนะ หลับสนิทแล้วจะไม่มีฝันเลย อันนี้จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อสงบแน่วแล้วก็เป็นอย่างนั้น จากนั้นก็ออกทางด้านปัญญากลั่นกรองพิจารณาแยกแยะๆ แยกแยะกระดูกแยกแยะก้าง ออกเรื่อยๆๆ
ทีนี้บทเวลาได้รู้แล้วมันสว่างกระจ่างแจ้งไปหมด จึงเรียกว่าสภาวธรรมทั่วแดนโลกธาตุนี้ เป็นเหมือนเชื้อไฟ ไฟคือความรู้ความเห็นคือธรรมนี้ จะกระจายรู้ไปหมดเลย เรียกว่าตามไหม้ตามเผาไป คือตามรู้ตามเห็นไปหมด นี่ละภายในจิตใจ เป็นขึ้นเพียงคนเดียวเท่านั้นไม่ถามใคร จ้าขึ้นแล้วไม่ถามใครเลย พร้อมอยู่นั้นพออยู่นั้นหมดเลย นั่นละพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวจึงสอนโลกได้ทั้งสามโลก ความรู้ไม่เหนือโลกจะสอนโลกได้ยังไง ไอ้พวกเราความรู้เท่าหางอึ่งไม่ได้เรื่องได้ราว หน้าก็ซีดเซียว มองเห็นกันมีแต่หน้าซีดเซียว ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่มีนะ เราอยากจะว่าไม่มี เพราะกิเลสครอบอยู่ๆ ทำให้ซีดเซียวตลอดกิเลส ยิ้มขึ้นนิดหนึ่งแล้วปั๊บลงมากิเลสตี
ความสุขมีน้อยมาก กิเลสยื่นให้นิดหน่อย ถ้าจะมีแต่ความทุกข์อันเดียวโลกก็จะเบื่อกิเลส ต้องมีความสุขรื่นเริงบันเทิง หลอกไปโน้นหลอกไปนี้ ที่นั่นดีนะ อันนั้นดีนะ หลอกไปบ้าง ไปแล้วทั้งเพลิดทั้งเพลินทั้งโศกทั้งเศร้าไปด้วยกันเข้าใจไหมกิเลส ถ้าธรรมแล้วไม่มี ไปที่ไหนยิ้มแย้มแจ่มใส เบิกกว้างออกเรื่อยๆ เรียกว่าธรรม ไม่มีที่จะหน้าเหี่ยวหน้าแห้งไม่มี ธรรมมีภายในใจเท่านั้น อะไรจะมีหรือไม่มีมันหดเข้ามาหมดนะ สมบัติทั้งหลายนี้จะมารู้อยู่ที่ธรรมสมบัติ ที่สัมผัสที่ใจแล้วจะกระจ่างไปเลย วัตถุสมบัติทั้งหลายเป็นเพียงอาศัยเท่านั้น พอธรรมสมบัติได้ปรากฏที่ใจแล้ว มันจะถอนเข้ามาหมดนะ สมบัติทั้งหลายจะไม่มีความหมายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความหมาย ปล่อยหมดเลยโดยสิ้นเชิง เพราะสู้ธรรมสมบัติภายในใจไม่ได้ พากันจำเอานะ
ชาวพุทธเรานี้ห่างเหินธรรมะมาก เพราะฉะนั้นโลกถึงเดือดร้อน ไม่ว่าทางชาติทางศาสนาเดือดร้อนไปตามๆ กัน เพราะให้กิเลสจูงจมูกไป ทั้งศาสนาทั้งทางโลกทางสงสาร จึงมีตั้งแต่ความเดือดร้อน หมุนเข้ามาทางวัดทางวาก็กลายเป็นวัดนั้นเป็นส้วมเป็นถาน มองดูพระเณรก็กลายเป็นมูตรเป็นคูถ เต็มอยู่ในส้วมในถานคือวัดนั้นเสีย พอออกไปทางโลกก็เป็นส้วมเป็นถานของมนุษย์เราอีกแหละ ไปที่ไหนก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย หาความสะอาดไม่มี มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย นี่โลกเราอยู่ด้วยอย่างนี้ ธรรมท่านไม่ได้อยู่อย่างนี้นะ ท่านอยู่ด้วยความสะอาดสะอ้านตลอดเวลา โลกจะดำปี๋เหมือนถ่านไฟไม่มีไฟก็ตาม ท่านไม่ได้ดำปี๋นะ ท่านสว่างจ้าอยู่ตลอดเวลา นี่ละคือธรรม นำเข้าไปให้ใจเป็นผู้พิจารณาซิ ให้ใจภาวนาแล้วนั่นละ ใจจะเริ่มสัมผัสธรรม
ถ้าจะวิ่งตามกิเลสตายกี่กัปกี่กัลป์ก็ตายกองกันอยู่อย่างนี้ หาความสุขไม่ได้ ท่านทั้งหลายตื่นไปอะไรนักหนา ฟังเสียงพระพุทธเจ้าบ้างซิเราเป็นลูกชาวพุทธ ฟังแต่เสียงกิเลส ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา ความดีดความดิ้น ดิ้นมาเท่าไร มันพาดิบพาดีที่ไหน เอ้าดูหน้าพระพุทธเจ้าท่านดีเพราะอะไร แล้วย้อนเข้ามาสอนตัวเอง แล้วจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ จำเอานะ เอาละพอ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |