รู้ภาคปฏิบัติแล้วไม่หาใครมาเป็นสักขีพยาน (พูดถืงฟ้าชาย-พระเทพฯ)
วันที่ 12 มกราคม 2548 เวลา 8:45 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

รู้ภาคปฏิบัติแล้วไม่หาใครมาเป็นสักขีพยาน

 

ก่อนจังหัน

พระให้ตั้งใจภาวนานะ เคยย้ำแล้วย้ำเล่า สติสำคัญมากนะ อยู่ที่ไหนอย่าให้ปราศจากสติ ติดกับจิตหรือติดกับคำบริกรรม จำให้ดีนะ มาโลเลๆ ไม่ได้เรื่องนะ พระพุทธเจ้าสอนจริงจัง อันนี้มันไม่ได้จริง มันก็เลอะๆ เทอะๆ ไปซิ สอนตะกี้นี้จริงไหมล่ะ ผู้ฟังจะจริงไหมนี่ จำให้ดีการภาวนา สติเป็นสำคัญ เราจะอยู่กับธรรมบทใดหรือประการใดก็ตาม สติติดแนบๆ เป็นภาวนาทั้งนั้น เป็นความเพียรทั้งนั้น ถ้าขาดสติแล้วขาดความเพียรทันที พากันจำเอาไว้ อย่าลืมตัว คือต้องมีสติตลอด นั่นเรียกว่าไม่ลืมตัว นักภาวนาจะเห็นมรรคเห็นผล มรรคผลนิพพานจะไม่นอกเหนือไปจากสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร นี้ไปได้เลย อันนี้เป็นรากฐานสำคัญมากทีเดียว อยู่ที่ไหนอย่าลืมตัว ธรรมพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ลืมตัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครลืมตัว ให้รู้ตัวเสมอ สติสัมปชัญญะ จากนั้นก็ปัญญา จำให้ดี

พระเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ เปลี่ยนหน้าเรื่อยๆ ไม่ทราบว่ามายังไงไปยังไง ได้หลักได้เกณฑ์อะไรหรือไม่ หรือมาเลอะๆ เทอะๆ งั้นเหรอ มาสักแต่ว่ามา ไปแล้วเอาชื่อวัดไปขายกิน เลอะเทอะมากนะพระเรา คำนี้จำให้ดี ให้พร

หลังจังหัน

         เรากับสมเด็จพระเทพฯกับฟ้าชายไม่ค่อยได้คุยกันสนทนากัน สมเด็จพระนางเจ้าเสียอีกที่ได้คุยกันมากที่สุด ท่านนิมนต์ให้เราไปศิริราช หม่อมแม่ท่านหม่อมบัวมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วท่านนิมนต์เราไป สมเด็จพระนางเจ้านิมนต์ให้เราไปเยี่ยม ท่านนิมนต์ไปฉันที่ศิริราช นั่นละที่ได้คุยกันนาน เราเริ่มช่วยชาติใหม่ๆ ปี ๔๑ ตอนที่เราไปศิริราชนั้นเราเริ่มช่วยชาติแล้ว ก็มีเกี่ยวโยงกันอยู่ ท่านรับสั่งมามันเกี่ยวโยงกับที่เราช่วยชาติ พอระลึกได้บ้าง มันเกี่ยวกัน นั่นละคุยกันนานจริงๆ สมเด็จพระนางเจ้ากับฟ้าหญิงเล็ก คุยกันนาน เพราะออกจากนี้เราก็จะขึ้นเครื่องบินกลับ หลังจากฉันเสร็จแล้วเรือบินจะออก ก่อนเครื่องบินจะมานั่นซีมีเวลานาน ได้สนทนาธรรมะกับท่าน สมเด็จพระนางเจ้านะ ได้คุยนานจริงๆ

ส่วนทูลกระหม่อมเล็กไม่ต้องพูดแหละ ท่านถวายองค์ท่านเป็นลูกบุญธรรม ท่านไปป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ท่านประชวรมารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ท่านสั่งมาทางผู้ว่าฯ ว่าท่านจะมาวัดป่าบ้านตาด ดูว่าจะมาตอนบ่ายหรือไง ทางผู้ว่าฯมาบอก บ่ายวันนี้ ว่างั้น มาบอกตอนเช้า เวลานี้ท่านประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เราก็เลยตอบไปทันทีเลยว่า ไม่ต้องให้ท่านมา เราจะไปเองวันพรุ่งนี้ คือท่านจะมาตอนบ่ายวันนี้ เราก็ให้โทรตอบไปเลย ไม่ให้ท่านมา ก็ท่านป่วยอยู่นี่ บอกเราจะไปเองวันพรุ่งนี้เช้า ลงเครื่องบินแล้วก็เข้าเลย

มันขบขัน คือเขามาถามปัญหาเรา ท่านประชวรอยู่ด้วยนะ พอเห็นเราไปท่านกระปรี้กระเปร่าขึ้นทันทีเลย มาประทับใกล้ๆ นี้แหละ ทีนี้เราก็ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลนั้น พอทางโรงพยาบาลทราบก็พากันมาหมด เวลานั้นหมอน่าจะไม่ทำงาน พยาบาลก็จะไม่ทำงาน คนไข้ก็ปล่อยให้ร้องงอแงๆ อยู่นั้นละ มารุมอยู่นี้หมด หมอหลายคนก็ถามปัญหามา มันขบขัน ท่านจนรู้สึก ถ้าภาษาของเราเรียกว่าท่านลืมตัวไปเลย หัว(เราะ)กิ๊กขึ้นทันที พอสะกดได้ปั๊บก็หยุดกึ๊ก เราตอบปัญหาเขา ท่านก็หัวเราะเอาเสียจน แล้วสะดุดกึ๊ก เรียกว่าท่านเหยียบเบรกอย่างแรง นั่นละที่ท่านได้หัวเราะขนาด ถ้าภาษาของเราเรียกว่าหัวเราะอย่างไม่รู้สึกตัวเลยว่างั้นเถอะ เขาถามปัญหาแล้วเราตอบปัญหาเขา มันคงขบขันนั่นละ พวกหมอเลยมาหมด พยาบาลก็เลยมาหมด มาเต็มอยู่นั้นหมด ในระยะนั้นมาเต็มอยู่นั้นหมดเลย แล้วเราก็กลับวันนั้นเที่ยวบินตอนบ่าย เราไปตอนเช้า ตอนค่ำเรากลับ

ท่านไปอยู่โรงพยาบาลนั้นหมอรู้สึกจะน้อยใจอย่างไรไม่ทราบ คือแทนที่ท่านจะถามถึงเกี่ยวกับเรื่องหยูกเรื่องยาเรื่องโรคเรื่องภัยกับหมอกลับไม่ถาม มีแต่ว่าจะไปวัดป่าบ้านตาดๆ อยู่อย่างนั้น พอดีเราไปสวนแสงธรรม หมอก็มาเองเลย ทางสำนักพระราชวังนั่นแหละไปบอกให้หมอมาหาเรา ว่าทูลกระหม่อมมีแต่จะมาท่าเดียว ให้ท่านรอไว้ก่อน เวลานี้ท่านพึ่งมาสวนแสงธรรมให้รอไว้ก่อน ทางนั้นมาบอกเรา เราก็เลยไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล บอกไม่ให้ท่านมา ท่านป่วยเราไม่ป่วย เราบอก

คราวป่วยอยู่โรงพยาบาลกรุงเทพ เราลงมากรุงเทพก็ไปเยี่ยม ป่วยอยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธก็ไป ไปแทนที่จะพูดเรื่องหมอเรื่องยาไม่พูด มีแต่จะมาวัดป่าบ้านตาดท่าเดียว นั่นท่านถวายตัวเป็นลูกบุญธรรมก่อนหน้านั้นแล้วแต่เราจำไม่ได้ ต่อจากนั้นมาก็พัวพันมาตลอดเลย โรงพยาบาลกรุงเทพท่านประชวรไปอยู่ที่นั่น เราก็ได้ไปเยี่ยม โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เราก็ไปจากอุดรไปเยี่ยม ท่านภาวนาดีอยู่นะ เทปรู้สึกจะได้ไปหลายม้วนเหมือนกัน พระท่านให้ ท่านขอเองนะท่านอยากได้เทป ว่างั้น เราก็ให้พระให้หลายขั้นของธรรม ตั้งแต่ขั้นพื้นๆ ขั้นสูง ถึงขั้นสูงสุดเลย ท่านบอกว่าท่านฟังเทปทุกคืน นั่งภาวนาก็เปิดเทปไว้ เหมือนว่าฟังเทศน์ท่านพ่อ ท่านพ่อเทศน์ให้ฟังก็นั่งภาวนาฟัง รู้สึกว่าเพลิน

บทสุดท้ายท่านมาชอบกัณฑ์เทศน์สอนพระ เป็นอย่างนั้นนะ เทศน์ทั่วๆ ไปท่านก็ชอบ แต่ที่ชอบมากที่สุดคือเทศน์สอนพระ แสดงว่าจิตทางด้านจิตตภาวนามันเข้ากันได้แล้ว จึงฟังเทศน์ธรรมะขั้นเทศน์สอนพระได้ ท่านบอกว่าอยากฟังแต่เทศน์สอนพระ มันถึงใจดี ท่านว่างั้น ท่านพูดตรงๆ กับเรา เราก็เหมือนพ่อกับลูกมาหากัน แบบพ่อกับลูกเลย กิริยากษัตริย์อะไรไม่มี แบบพ่อกับลูกพูดกัน เราก็เลยถาม แล้วเทศน์กัณฑ์ต่างๆ ธรรมะมีหลายขั้นหลายภูมิที่ได้ไป แล้วกัณฑ์ไหนที่ชอบมากกว่ากัน ท่านบอกว่าเทศน์สอนพระ มันถึงใจดี เทศน์สอนพระวัดป่าบ้านตาดมีแต่เน้นหนักๆ ธรรมะขั้นสูงทั้งนั้น เรียกว่าแกงหม้อเล็กแกงหม้อจิ๋ว เทศน์สอนพระ

เทศน์ทั่วๆ ไปก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเทศน์สอนพระมีแต่ธรรมะขั้นแกงหม้อเล็กหม้อจิ๋วตลอด พุ่งๆ เลย สุดท้ายท่านมาชอบเทศน์สอนพระ ว่างั้นนะ มันถึงใจดี แสดงว่าจิตนี้มันเข้ากันแล้ว พอว่าอย่างนั้นเราเข้าใจทันที ภูมิจิตจะเข้าธรรมะขั้นใดๆ แสดงออกมารู้ทันทีเลย แสดงว่าจิตนี้หนักเข้าทางด้านภาวนา ธรรมะขั้นสูงเท่าไรยิ่งเข้ากันดีๆ ในด้านภาวนา ผู้ไม่เคยบางทีก็ยังไม่เข้าใจนะ เทศน์ธรรมะขั้นสูงนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ พอเข้าใจแล้วทีนี้ไม่อยากฟังเทศน์ไหนแหละ อยากฟังตั้งแต่เทศน์ธรรมะขั้นสูงๆ จิตตภาวนาพุ่งๆ เทศน์ธรรมะล้วนๆ ธรรมะเพื่อมรรคเพื่อผลจริงๆ ไม่ได้เหมือนเทศน์ทั่วๆ ไป เทศน์ทั่วๆ ไปแกงหม้อใหญ่นี้ก็ไปสะเปะสะปะอย่างนั้นแหละ พอมาแกงหม้อเล็กหม้อจิ๋วนี้พุ่งเลยนะ

เทศน์นี่ก็เหมือนกัน มันก็ขึ้นอยู่กับธรรมเหมือนกัน ถ้าเทศน์ธรรมะขั้นสูงนี้พูดเป็นเหมือนปืนกลเลย มันไหลของมัน พุ่งๆ เลย นี่ละท่านทั้งหลายฟังเสีย ธรรมะภายในใจ ธรรมะภาคปริยัติเราก็เรียนมา ภาคปฏิบัติเราก็ได้ปฏิบัติมา เพราะฉะนั้นมันถึงได้เทียบกันได้อย่างชัดเจนๆ ภาคปริยัตินี้ถ้าพูดตามหลักความจริงแล้วเรียกว่าผิวเผินมากทีเดียว ภาคปฏิบัติมีแต่เนื้อๆ ออกเลยๆ ถอดออกจากหัวใจๆ รู้เห็นตรงไหนเป็นสมบัติของเจ้าของตรงนั้นๆ รู้เห็นตรงไหนเป็นสมบัติของเจ้าของพร้อมๆ ในเวลานั้น ทางปริยัติรู้เป็นความจำเฉยๆ ยังไม่จัดว่าเป็นสมบัติของเจ้าของ เป็นแต่เพียงจำมาเฉยๆ  ยังไม่ปฏิบัติยังเป็นสมบัติของเจ้าของไม่ได้ เพียงความจำไม่เรียกว่าเป็นสมบัติของเจ้าของ ลืมได้ธรรมดา ถ้าเป็นภาคปฏิบัตินี้ไม่ลืม พอรู้ปั๊บขึ้นมานี้เป็นของเจ้าของพร้อมแล้ว เป็นสมบัติของตัวเองๆ พร้อมๆ ไปเลย ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้น

เรียนเราก็เรียนมา ปฏิบัติเราก็ปฏิบัติมา ถึงได้เทียบกันได้อย่างชัดเจนมาก ภาคปฏิบัตินี้เน้นหนัก เข้มข้น มีแต่เนื้อๆ ถึงใจๆ เพราะเหตุใดผู้ฟังจึงถึงใจ ก็ผู้เทศน์เทศน์ออกมาจากความถึงใจ จะไม่ถึงใจยังไงผู้ฟัง เมื่อจิตมันรับกันในขั้นใดตอนใดนี้ มันจะเข้ากันสนิทปั๊บๆ ยิ่งธรรมะทางด้านจิตตภาวนาละเอียดเท่าไร ผู้ฟังธรรมะภาวนานี้ จิตละเอียดเท่าไร ผู้เทศน์ยิ่งเข้ากันได้สนิทๆ เทศน์ก็พุ่งเลย เทศน์ธรรมะมันหลายขั้นหลายภูมิ นี่ละเทศน์ภาคปฏิบัติ คือถอดออกมาจากสมบัติของตัวเองที่ รู้แล้วเห็นแล้วๆ เป็นสมบัติของตัวเองแล้วออกแจกจ่ายๆ

เทศน์ออกมาอย่างถึงใจ ผู้ฟังจะไม่ถึงใจยังไง ต้องถึง เพราะผู้เทศน์มีรสมีชาติเต็มหัวใจ ถอดออกมาในธรรมะขั้นใดภูมิใด เป็นธรรมะที่สำเร็จรูปพร้อมแล้วๆ ทุกอย่าง เหมือนอาหารที่สำเร็จรูปแล้วเรารับประทานได้เลย แต่อาหารบางประเภทยังมีกระดูกมีก้างแฝงอยู่ในนั้น ไม่เป็นเนื้อล้วนๆ สำเร็จผลล้วนๆ เหมือนธรรมะที่แสดงออก ธรรมะที่แสดงออกนี้เป็นผลล้วนๆ ออกไปจากใจสำเร็จรูป ไม่มีพิษมีภัยเจือปนเหมือนอาหารเป็นคำๆ ที่เรารับประทานเข้าไป บางทีมีกระดูกบ้าง มีก้างบ้าง แฝงอยู่ในนั้น ไม่บริสุทธิ์เต็มที่เหมือนธรรมะที่ออกจากภาคปฏิบัติซึ่งตนรู้ตนเห็นแล้ว ถอดออกไปนี้ล้วนๆ เลยไม่มีผิดมีพลาด เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการจึงไม่ได้เป็นอารมณ์เลยว่าเทศน์ตรงนั้นผิดไปพลาดไป คือสำเร็จผลมาโดยสมบูรณ์ๆ ออกๆ อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าธรรมะขั้นใดไม่ได้มีความสงสัยในการเทศน์ เทศน์ถอดออกมาจากความจริงล้วนๆ ธรรมะขั้นใดเหมาะกับธรรมะขั้นนั้นๆ ผู้ฟังเหมาะไปตลอดเลย อย่างนั้นละธรรมะภาคปฏิบัติ

เราจึงอยากให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้รู้ได้เห็นธรรมะภายในใจ ต่างกันกับธรรมะที่เราเรียนมาอยู่มากทีเดียว ทั้งนี้เพราะเราเคยเรียนมาแล้วทางภาคปริยัติ เรียนก็ฟังแต่ว่าจนเป็นมหา มันผ่านมาหมดแล้ว ทีนี้เวลามาภาคปฏิบัติ ตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานมันก็รู้เป็นลำดับ แล้วค่อยตั้งตัวได้ รู้ๆ รู้เรื่อยๆ ทีนี้เวลารู้ทางภาคปฏิบัตินี้รู้อะไรขึ้นมาเป็นสมบัติของเราพร้อมแล้วๆ ความจำไม่ได้เป็นนะ จำได้เฉยๆ ลืมไปได้หลงไปได้ ทั้งๆ ที่เรียนมานี้จำได้นี้ เวลาปฏิบัติไปทำอย่างหนึ่งไปเสีย ไม่ได้เข้ากันกับที่เรียนมา จำได้มา ปฏิบัติตามที่เรียนมาที่จำได้มา อย่างนั้นไม่ค่อยมีนะ ผิดๆ พลาดๆ ไปอย่างนั้น แต่ภาคปฏิบัตินี้ถ้าลงได้เป็นขึ้นในใจแล้ว ใจเป็นผู้ตัดสิน เป็นผู้พิพากษา เด็ดขาดในนั้นเลย ไม่มีคำว่าอุทธรณ์

ศาลเขายังมีศาลต้น ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลภาคปฏิบัติภายในจิตใจนี้ ธรรมะได้เกิดขึ้นในใจแล้วไม่มีศาลไหนจะมาอุทธรณ์ เป๋งๆ ออกถูกต้องๆ ไปเลย ต่างกันอย่างนั้นนะ แน่อยู่ในหัวใจ ถอดออกไปจะผิดไปที่ตรงไหน สำเร็จรูปแล้วยื่นให้ๆ เลย ไม่มีกระดูกไม่มีก้างแฝงอยู่ในนั้น เป็นธรรมะล้วนๆ จะเป็นขั้นใดก็ไม่สงสัยในการเทศน์ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ถึงสูงสุด ไม่มีอะไรสงสัยเลย สำเร็จผลสมบูรณ์มาล้วนๆ ผู้ฟังก็ฟังได้อย่างตายใจ ไม่สงสัยว่าจะผิดไป มันต่างกัน

เพราะฉะนั้นในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแต่ละครั้งๆ นี่ ในตำราท่านบอกไว้ ท่านเอาความจริงออกมาบอกจะว่าไง มนุษย์มนาเทวบุตรเทวดาทั้งหลายสำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นแสนๆ พระองค์แสดงธรรมทีไรน้อยเมื่อไร เทวดาก็ไม่น้อย มนุษย์ก็ไม่น้อย ฟังวันนี้ขยับขึ้นนี้ ฟังวันนั้นขยับขึ้นนั้น ฟังหลายผู้หลายคนหลายหัวใจ ต่างคนต่างขยับขึ้นมาๆ ฟังเทศน์แต่ละครั้งๆ เทศน์ครั้งนี้ผู้นี้พร้อมเข้ามาแล้ว เหมือนวัวอยู่ปากคอก พอเปิดประตูปั๊บออกแล้วๆ และผู้อยู่หลังก็ค่อยหนุนออกมาๆ ออกแล้วๆ อันนี้ธรรมะวันนี้ท่านเทศน์ขั้นนี้ วันนี้ท่านเทศน์อย่างนี้จิตเราขยับขึ้นได้อย่างนี้ เทศน์คราวหลังค่อยขยับขึ้นๆ หลายครั้งหลายหนก็ออกปากคอกได้ เข้าใจไหมล่ะ ออกได้เลย

แต่ก่อนเราก็ไม่ค่อยได้คิด แต่เวลาฟังเทศน์พ่อแม่ครูจารย์มั่น มันถึงได้ย้อนกลับไปหาที่เราเรียนมา ที่ท่านเทศน์สอนประชาชน เทวบุตรเทวดา สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นหมื่นๆ แสนๆ  อ๋อ เป็นเพราะเหตุนี้เอง นั่นจับได้แล้วนะ คือเวลาเราฟังเทศน์ท่าน เราปฏิบัติอยู่ตรงนี้ มันจ่อแล้วนะจิต พอท่านเทศน์มานี้ เพราะท่านผ่านไปหมดรู้ไปหมดแล้ว ท่านมาท่านผ่านปุ๊บ เราจับปุ๊บๆ ก็ขยับขึ้นได้ๆ เรื่อยๆ สุดท้ายก็ไปได้เอง นี่ละเราคิดถึงครั้งพุทธกาล ออกปากคอกเอง อยู่ปากคอกเอง ฟังเทศน์หลายครั้งหลายหนมันค่อยขยับขึ้นๆ

ภาคปฏิบัติเทศน์เพื่อถอดถอนกิเลสจริงๆ ไม่ใช่เทศน์ธรรมดาๆ หรือเทศน์เพื่อกล้วยหอมกล้วยไข่ ก่อนจะเทศน์ดูกัณฑ์เทศน์เสียก่อนมีอะไรบ้างวันนี้ มีกล้วยหอมกล้วยไข่หรือเปล่า ท่านผู้ที่เทศน์ด้วยอรรถด้วยธรรมจริงๆ ท่านไม่ได้สนใจกับสิ่งภายนอก สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนเศษส่วนเกิน เขาจะให้อะไรเป็นเรื่องของเขาท่านไม่เคยไปสนใจ ยิ่งกว่าธรรมที่เข้าสู่หัวใจคน นั่นละผู้ปฏิบัติธรรม รู้ธรรมเห็นธรรม จะเข้าสู่หัวใจทันที จะไม่ไปมองดูอะไรทั้งนั้น ท่านจึงสอนไว้ในองค์ธรรมกถึก นักเทศน์ คำว่าธรรมกถึก เทศน์มีหลักธรรม ๕ ประการ

๑.แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ

๒.อ้างเหตุผลและแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ

๓.ไม่แสดงเพราะเห็นแก่ลาภความร่ำความรวย

๔.ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

๕.ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือไม่ยกตนแล้วเสียดสีผู้อื่น

ทีนี้อานิสงส์แห่งการฟังเทศน์ก็มี ๕ ข้อเหมือนกัน

๑.ผู้ได้ฟังจะได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง

๒.สิ่งใดที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัด จะเข้าใจสิ่งนั้นชัด

๓.บรรเทาความสงสัยเสียได้

๔.ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

๕.จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส ข้อ ๕ นี่สำคัญมากนะ

เทศน์ภาคปฏิบัติไม่ได้เหมือนกันกับภาคปริยัตินะ เราเรียนมาถึงได้เทียบกันได้อย่างชัดเจน ภาคปริยัติมันเป็นความจำ เวลาเทศน์นี้จิตจะไม่เข้านะ เวลาเทศน์จิตจะวิ่งใส่คัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ เรียนมาจากคัมภีร์ไหนมันจะวิ่งใส่คัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ จิตไม่เข้า จิตออก วิ่งใส่คัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ ภาษิตนั้นภาษิตนี้ บาลีนั้นบาลีนี้เรื่อยๆ เวลาเทศน์ปริยัตินะ ทีนี้เวลาเทศน์ปฏิบัติตรงกันข้ามนะ จะไม่ออกเลย เรียนมามากน้อยประหนึ่งว่าไม่ได้เรียน มันจะพุ่งออกจากนี้ตามขั้นของธรรม ธรรมะเป็นพื้นๆ ก็จะออกพื้นๆ อยู่ในนี้ๆ ธรรมะละเอียดเท่าไรมันจะแหลมเข้าไปๆ แล้วก็พุ่งๆ เลย ออกจากนี้ทั้งนั้นๆ เป็นธรรมะสำเร็จรูปมาโดยสมบูรณ์ถูกต้องแม่นยำทุกขั้นของธรรม นี่ละภาคปฏิบัติเป็นที่แน่ใจตัวเองได้ แล้วสอนด้วยความแน่ใจ สอนผู้อื่นผู้ใดแน่ใจทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่รู้ประจักษ์กับตัวเองหายสงสัยแล้ว ออกไปก็ออกไปด้วยความไม่สงสัย เทศน์ในแง่ใดภูมิใดของธรรมแม่นยำไปหมด นี่ละธรรมภาคปฏิบัติ

เราเป็นผู้เรียน เราเป็นผู้ปฏิบัติ จึงได้หยิบทั้งสองอย่างนี้มาเทียบกัน ทีนี้พูดถึงน้ำหนักแล้วนั้น ภาคปริยัติผิวเผินมากทีเดียว แต่ภาคปฏิบัตินี้เน้นหนักๆ ยิ่งธรรมะขั้นสูงเท่าไรยิ่งพุ่งๆ เลย เหมือนปืนกล รัวไปเลย คือมันไม่ทันใจๆ ทางนี้มันพุ่งๆ ออก เพราะธรรมะอยู่กับใจ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว เวลาปฏิบัติให้เต็มภูมิแล้วใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้แยกว่าธรรมเป็นหนึ่ง ใจเป็นหนึ่ง เวลาใจสัมผัสธรรม ธรรมสัมผัสใจนี้เป็นคนละอย่างๆ ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ ดับไปเป็นระยะ แต่เวลาธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันแล้วเป็นธรรมทั้งแท่ง ไม่อยากพูดว่าใจเลย อยากพูดว่าธรรมทั้งแท่งในหัวใจ นั่นละทีนี้ออกอะไรออกได้หมดเลย ไม่มีคำว่ากว้างว่าแคบ ไปได้หมด

ยิ่งมีผู้ถามมา ถามธรรมะข้อใดที่จะเป็นข้อแก้ความสงสัย ถามปั๊บมันจะออกรับกันปุ๊บๆ ออกรับกันนั้นเต็มที่ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอบให้ถูกต้อง ให้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องออกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี้มันมีอีกอันหนึ่งแย็บออกมาอีก คนที่ถามนี้เป็นคนจะต้องการผลร้อยเปอร์เซ็นต์หรือกี่เปอร์เซ็นต์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ เก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ ควรจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ การตอบปัญหาออกมาจะตอบแค่นั้น จะไม่ตอบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าผู้นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าแล้ว ทางนั้นผางมาทางนี้จะผางร้อยเปอร์เซ็นต์เข้ากันได้ผลเลยเป็นที่พอใจ

อย่างมีข้อเปรียบเทียบไว้ว่า พวกเดียรถีย์นิครนถ์จะมาบวชในพุทธศาสนาของเรา พระองค์มีกฎกติกาเอาไว้ว่า ถ้าเดียรถีย์นิครนถ์ศาสนาอื่นมาบวชในพุทธศาสนาเรานี้ ต้องอยู่ติตถิยปริวาส คืออยู่อบรม ๔ เดือน ฝึกฝนอบรมจนเข้าน้ำเข้าเนื้อ สมควรที่จะได้รับการอุปสมบทเป็นพระแล้ว ท่านถึงจะอุปสมบทให้ ต้องได้รับการอบรมถึง ๔ เดือน เรียกว่า ติตถิยปริวาส ทีนี้มีพราหมณ์คนหนึ่งเข้ามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าต่อพระพักตร์เลยเทียว พระองค์ก็แสดงด้วยพระโอษฐ์เต็มเหนี่ยวเลย พอจบลงแล้วพราหมณ์คนนั้นก็ว่า ข้าพระองค์ขอบวช

พระองค์ก็ว่า ตามกฎกติกาบอกไว้กลางๆ ว่า ผู้มาจากศาสนาอื่นจะมาบวชในพุทธศาสนานี้ ต้องได้อยู่อบรมประมาณ ๔ เดือนเสียก่อน เมื่อเห็นว่าสมควร เข้ารูปเข้ารอยได้แล้วถึงจะบวชให้ ทางนี้ตอบผึงขึ้นมาเลย อย่าว่าแต่ ๔ เดือนเลย ๔ ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ ว่าอย่างนั้นฟังซิ คือพูดออกมาอย่างเด็ดเลย อย่าว่าแต่ ๔ เดือนเลย ๔ ปีข้าพระองค์ก็จะอยู่ เอ้า ถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้ นั่นเห็นไหมท่านตอบรับกัน นี่ละร้อยต่อร้อยรับกัน พระองค์ว่า ๔ เดือน ทางนั้นก็ว่า ถึง ๔ ปีก็จะอยู่ เอ้า ถ้าอย่างนั้นบวชเดี๋ยวนี้เลย พระพุทธเจ้ารับสั่งเอง

ปัญหาที่ตอบรับกันก็เหมือนกัน ควรจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ เปอร์เซ็นต์ ถ้าต่ำกว่า ๕๐% แล้วไม่ตอบไม่เกิดประโยชน์ ปัญหามีหลายประเภท ถามมาจะไม่เกิดประโยชน์ ไม่ตอบเลย เฉย บางทีหาอุบายพูดเลี่ยงทางโน้นเลี่ยงทางนี้ไปเสีย ถ้าเขายังย้ำมาอีกก็เลี่ยงไปอีก หลายครั้งเข้าไปก็บอกว่าไม่ตอบ เท่านั้นพอ ว่าไม่ตอบแล้วหมดปัญหา คือความหมายมันมีอยู่ในใจแล้ว

นี่เราพูดถึงเรื่องภาคปฏิบัติ ภาคปริยัตินี้ผิวเผินมาก แต่เป็นแนวทางที่จะเข้ามาภาคปฏิบัติได้ถูกต้องก็จากปริยัตินะ แต่อยู่ข้างนอก พอเข้าถึงนี้แล้วช่วยตัวเองได้แล้ว อันนั้นก็ปล่อยไปๆ หมุนตัวเองเข้าเรื่อยๆ ทีนี้เวลาความรู้ได้เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ เป็นของตัวเองด้วย รู้ขึ้นมาแล้วเป็นของตัวเองด้วย เป็นอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นเวลามันเป็นขึ้นมาแล้วมันเป็นของตัวเองหมดแล้วๆ ธรรมะขั้นใดท่านก็ไม่สงสัย ถอดออกมาตามขั้นภูมิที่ตนมีๆ ยิ่งที่สุดวิมุตติพระนิพพานด้วยแล้วทะลุไปหมดเลย นั่นละธรรมะภาคปฏิบัติ สดๆ ร้อนๆ นะไม่ได้ว่าครั้งพุทธกาลท่านสำเร็จมรรคผลนิพพาน ครั้งทุกวันนี้สำเร็จเสื่อสำเร็จหมอน เสื่อขาด หมอนขาด ไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะถ้าเราไม่หาเอง เข้าใจไหม ถ้าเราหาเองก็มีแต่เสื่อขาดหมอนขาด ถ้าเราหาธรรมเองเราก็เห็นธรรม ธรรมไม่อยู่กับเสื่อกับหมอน ปัดเสื่อปัดหมอนออกแล้วธรรมขึ้น ถ้าเสื่อยังมัดติดคอ หมอนมัดติดคอด้วยแล้ว จ้างให้ขึ้นก็ไม่ขึ้น

นี่พูดเปิดภาคปฏิบัติให้ท่านทั้งหลายฟัง ภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติผิดกันมาก เวลาปฏิบัติแล้วถึงรู้ อันนี้พอรู้ปั๊บเข้าไปตรงไหน แน่นอนๆ ไม่ได้สงสัยเหมือนภาคปริยัตินะ ภาคปริยัติเรียนมา เอ๊ จริงไหมน้าๆ ท่านสอนปริยัติท่านสอนตามความจริงนั่นแหละ แต่ใจเรามันปลอม ท่านว่าบาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี เปรตผีประเภทต่างๆ มี ท่านแสดงไว้ด้วยความถูกต้อง แต่จิตเรามันปลอม เอ๊ มีหรือไม่มีน้า ขึ้นเวทีไปต่อยกับธรรมแล้วนะนั่น เวทีธรรมท่านบอกว่าอันนั้นมีอันนี้มี บาป บุญ นรก สวรรค์ เปรตผีประเภทต่างๆ จนถึงพรหมโลก นิพพาน มี มีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะศาสดาองค์เอกสอนไว้ทั้งนั้น ทรงรู้ทรงเห็นหมดแล้วนำมาสอน ไม่มีผิดแม้นิดหนึ่ง แต่ไอ้เจ้าจอมปลอมนี้มันเข้าไปแทรกปั๊บแล้วขึ้นเวทีต่อกรกับธรรมพระพุทธเจ้า เอ๊ บาปมีหรือไม่มีน้า บุญมีหรือไม่มีน้า นรกมีหรือไม่มีน้า สวรรค์มีหรือไม่มีน้า สุดท้ายมันก็ลบเอง บอกว่าไม่มี สู้เสื่อหมอนไม่ได้ นั่นเอาแล้ว ลงไปเสื่อหมอนเสีย เสื่อหมอนลบไปหมด

ทีนี้พอมันได้รู้ภาคปฏิบัติแล้ว ใครจะว่าเท่าไรก็ตามไม่สนใจเลย นั่นเห็นไหม ดังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ผางขึ้นมาพระองค์เดียว พระองค์หาใครมาเป็นสักขีพยานไม่มี อันนี้ถ้าผู้ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบแล้วๆ เมื่อรู้เข้าไปๆ ยอมรับๆ ไม่สนใจว่าใครจะเชื่อไม่เชื่อ มันประจักษ์ๆ ในใจแล้ว เพราะฉะนั้นการสอนท่านจึงแน่วๆ ท่านเชื่อท่าน-ท่านไม่ได้เชื่อใคร ท่านเชื่อความรู้ความเห็นประจักษ์ขึ้นในใจท่าน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าเชื่อพระองค์เอง ก็เป็นแบบนั้นละ

ธรรมะพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ เป็นอกาลิโก คือมีตลอดเวลา ทั้งกิเลสทั้งธรรมท่านบอกว่าเป็น อกาลิโก เหมือนกัน ไม่ขึ้นกับกาลสถานที่เวล่ำเวลาทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วทันทีๆ เลย สดๆ ร้อนๆ เหมือนกันหมด ถ้าใครรื้อฟื้นธรรมขึ้นมาธรรมจะปรากฏขึ้นทันที ใครรื้อแต่กิเลสก็มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวอก ถ้าใครรื้อธรรมขึ้นมา ความสงบร่มเย็นก็จะมี ผู้มีธรรมในใจชุ่มเย็นนะ ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยละเอียดลออไป ธรรมภายในใจมีมากน้อย จิตจะเป็นรากเป็นฐาน เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ครวญพินิจพิจารณาเหตุผลนะ พอจิตมีรากฐานหนักขึ้นเท่าไร เหตุผลต้นปลายจะเป็นธรรมเข้ามาประกอบกันในการคิดการอ่านอะไรๆ นี้มันจะเป็นขึ้นภายในจิต อันนี้บอกไม่ได้ มันจะเป็นขึ้นกับผู้ทำนั้นแหละ นี่เพียงอธิบาย เรียกว่าเป็นลางๆ เผินๆ ไปอย่างนั้น ให้ผู้ปฏิบัติไปรู้เองแล้วก็เชื่อตัวเอง ยิ่งปฏิบัติธรรมละเอียดเท่าไร จะผิดถูกประการใดมันจะเป็นอยู่ในจิตดวงนี้ ผิดถูกประการใดจะรู้ในนี้เป็นในนี้ อะไรควรไม่ควร ถ้าไม่ควรปัดทันที ถ้าควรเสริมทันที ออกทันที พุ่งทันที นั่น ธรรมะภายในใจจึงไม่ต้องไปถามใคร

ให้พากันปฏิบัตินะ ธรรมะสดๆ ร้อนๆ มรรคผลนิพพานท้าทายผู้ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับกิเลสตัณหาท้าทายหัวใจเราตลอดเวลานั้นแล แบบเดียวกัน แต่นี้กิเลสตัณหามีกำลังมากมันเหยียบธรรม ธรรมออกไม่ได้ๆ เปิดทางให้ธรรมออกซิ เมื่อเปิดทางให้ธรรมออกแล้วธรรมก็ท้าทายกิเลสได้ตลอด เอ้า กิเลสตัวไหนเก่งให้มาๆ ขาดสะบั้นให้เห็นต่อหน้าต่อตา เวลาธรรมแก่กล้าสามารถแล้วกิเลสนี้อ่อนลงๆ โผล่ขึ้นมาคอขาดเลยๆ ธรรมมีกำลังมาก เหมือนอย่างกิเลสมีกำลังมากเวลานี้ พอธรรมโผล่ขึ้นมามันฟาดเอาหมอนแตก เสื่อขาดเลย เห็นไหมมันเอาต่อหน้าต่อตา พากันจำเอานะ วันนี้พูดเพียงเท่านี้

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก