เศรษฐีเงิน เศรษฐีธรรม
วันที่ 25 ธันวาคม 2547 เวลา 8:50 น.
สถานที่ : สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพ

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

เศรษฐีเงิน เศรษฐีธรรม

 

         เราอยากให้มีวัดป่าเป็นจุดๆ คือภาคกลางนี้วัดป่ารู้สึกว่ามีน้อยมาก ถ้าจะมีได้ก็แถวราชบุรี เมืองกาญจน์ มีป่ามีเขา ราชบุรีทางด้านตะวันตกที่เขาเรียกสวนผึ้ง โป่งกระทิง แถวนี้เราเคยไปแล้ว เหมาะ เราไปเราไปเที่ยวดูตามวัดแถวนั้นไปหมด เรื่อย ออกมา หลายปีแล้วแหละจำไม่ได้ คือเราตั้งใจไปดูสถานที่เหล่านั้นว่ามีวัดกรรมฐานอยู่หรือเปล่า เราก็ไปดูตามวัดต่างๆ ดูทำเลแล้วเหมาะมากทีเดียว สงบสงัดดี มีวัดป่าอยู่เป็นแห่งๆ ในสถานที่นั่น เป็นผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม ตั้งใจปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ จากนั้นผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นมีหลักใจ หลักใจคือหลักธรรมประจำใจ จิตใจไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่เอนไม่เอียง ตรง เป็นหลักได้ดี

ถ้าจิตใจยังเอนยังเอียงนี้ไม่ค่อยดี ตัวเองก็ยังไม่แน่นัก คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็พอๆ กัน ถ้าเจ้าของเป็นผู้มีหลักมีเกณฑ์ภายในใจมากน้อยเพียงไร นั่นละจะทำประโยชน์ให้โลกได้รับความร่มเย็นมากน้อยเพียงนั้น ถ้าเจ้าของตรงแน่วแล้ว นั่นเรียกว่า สรณํ คจฺฉามิ หลักใจหลักธรรมจึงเป็นสำคัญ ถ้ามีหลักใจอยู่ที่ไหนแน่นหนามั่นคง ไม่เอนเอียงง่ายๆ เพียงศึกษาเล่าเรียนมายังเอาแน่ไม่ได้ พูดตรงๆ เลย เรียนมาจำได้มากได้น้อย กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสเอาไปถลุงตัวเองและผู้อื่นเสียหมด เรียนมาปฏิบัติ ผลจากการปฏิบัติมาเป็นความแน่นหนามั่นคงภายในใจ อยู่ไหนมั่นคงๆ นี่ละหลักการปฏิบัติธรรมมามั่นคงอยู่ที่ผลแห่งการปฏิบัติ คือจิตใจแน่ว

เมื่อเช้านี้ก็มีผู้มาถวายที่ ว่าท่านสงบจะเป็นผู้ไปจัดการก็ดีอยู่ ทราบว่าท่านสงบนี้ก็มีหลักใจดีอยู่นะ ท่านสงบนี้ก็เป็นพระวัดป่าบ้านตาด ออกจากวัดป่าบ้านตาดก็มาสร้างวัดที่โพธารามตั้งแต่บัดนั้นต่อมา เราก็ได้ไปเยี่ยมบ่อยๆ ท่านสงบมาจากวัดป่าบ้านตาด ท่านจันทร์ก็มาจากวัดป่าบ้านตาด โอ๊ ลูกศิษย์วัดป่าบ้านตาดเยอะนะไม่ใช่น้อยๆ กระจายอยู่ทั่วไปหมด ท่านสงบนี้หลักใจดี ถ้าหลักใจดีไม่ค่อยเอนค่อยเอียง ไม่วอกแวกคลอนแคลนง่ายๆ สำคัญอยู่ที่หลักใจ การปฏิบัติหลักใหญ่อยู่ที่ใจ ถ้าผู้มีหลักมีเกณฑ์เป็นหลักใจอันดีงาม พระเราไปอยู่ที่ไหนเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ดี แน่นหนามั่นคง บรรดาประชาชนเขามาเกี่ยวข้องก็ได้รับความอบอุ่นตายใจ หลักใจจึงอยู่กับพระเป็นสำคัญ

ครูบาอาจารย์เป็นสำคัญแต่ละแห่งๆ สร้างบ้านที่ไหนมีวัด ที่สาธารณะทั่วๆ ไป ชาวพุทธเราสร้างบ้านที่ไหนต้องสร้างวัดที่นั่นๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นนิสัยกับพระมานมนาน จากนั้นก็ให้มีวัดป่า คือแต่ก่อนจริงๆ มีวัดป่านั่นแหละ ต่อมานี้มันก็กลายเป็นบ้านไปหมด พื้นฐานดั้งเดิมจริงๆ เป็นวัดป่าๆ  พระท่านอยู่แต่ในป่าๆ มีความมุ่งหวังต่ออรรถต่อธรรมล้วนๆ อยู่ที่ไหนท่านสบายๆ ประชาชนญาติโยมก็ได้รับความอบอุ่น จิตใจสงบเย็น นี่ละภาคปฏิบัติถ้ามีอยู่ในจิตของพระผู้เป็นหัวหน้าแต่ละวัดๆ แล้วเย็นไปหมด ถ้าไม่มีหลักใจไม่เป็นประมาณนะ เชื่อไม่ได้ ว่างั้นเลยก็ได้ ตัวเองก็เชื่อตัวเองไม่ได้ แล้วจะให้คนอื่นมาเชื่อได้ยังไง ถ้าตัวเองเชื่อตัวเองได้มากน้อยเพียงไร คนอื่นจะเริ่มมาเชื่อแบบนั้น ยิ่งตัวเองแน่นหนามั่นคงปึ๋ง ไม่บอกให้เชื่อก็เชื่อเองคนเรา

เราจึงอยากให้มีวัดป่าในแถวภาคกลางนี้ รู้สึกว่าวัดป่ามีน้อยมาก แต่คำว่าวัดป่าก็ควรจะมีพระผู้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ อย่างทางแถวนี้ท่านสงบก็ดี ท่านจัดสร้างวัดตามนั้นแล้วจัดพระให้ไปอยู่ก็จะชุ่มเย็นดีอยู่ ถ้ามีป่ามากๆ ก็มีวัดมาก ภาคกลางไม่ค่อยมีป่า มีอยู่เป็นแห่งๆ นอกๆ เช่น ราชบุรี เมืองกาญจน์ ไปทางสระบุรีนี้ก็มี ส่วนตรงกลางจริงๆ ไม่ค่อยมี

การปฏิบัติธรรมเข้าสู่ใจเป็นของสำคัญ พี่น้องทั้งหลายกรุณาจำเอาไว้ เราอย่าคิดว่าสิ่งใดจะเป็นที่พึ่งของใจให้ได้รับความสงบร่มเย็นได้นอกจากธรรมเท่านั้น ธรรมเป็นของสำคัญมากทีเดียว ส่วนภายนอกก็คือส่วนประกอบ เราอาศัยเขาไปชั่วกาลเวลายังมีชีวิตอยู่ ต้องอาศัยวัตถุต่างๆ ที่อยู่อาศัยปัจจัยต่างๆ เพื่ออยู่เพื่อกินเพื่อหลับเพื่อนอนไปมาสะดวก นี้อาศัยวัตถุภายนอก ส่วนภายในก็คือธรรม ให้มีหลักใจ มีแต่ภายนอกไขว่คว้า หาความแน่นอนไม่ได้ แม้เป็นเศรษฐีถ้าไม่มีธรรมไม่มีหลักใจ คำว่าเศรษฐีก็ไม่ค่อยมีความหมาย เพราะใจไม่มีหลักทรัพย์ภายใน

เศรษฐีภายนอกคือเศรษฐีเงินเศรษฐีทอง แล้วก็เศรษฐีธรรม อย่างนี้พร้อมเลย เศรษฐีธรรมสำคัญ คือธรรมมีภายในใจ จิตใจย่อมมีความอบอุ่น แล้วสิ่งภายนอกเกิดประโยชน์ไปหมด การจะจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดก็ตาม ใจเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ใจเป็นผู้บงการในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ค่อยพลาดพลั้งเสียหายได้ง่ายๆ ใจจึงเป็นของสำคัญมาก ขอให้มีหลักใจ

อันนี้เราเคยได้เทศน์ให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายทราบเรื่องการภาวนา ภาวนาคืออบรมใจของเราให้สงบเป็นกาลเป็นเวลา เช่น เวลาจะหลับจะนอนอย่างน้อยขอให้ได้ภาวนาสัก ๕ นาที บังคับใจตัวเองให้อยู่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรือธรรมบทใดก็ได้ที่ถูกกับจริตนิสัยของตน นำมากำกับใจคือบริกรรม เช่น พุทโธๆ ก็ให้จิตติดอยู่กับพุทโธ และมีสติบังคับไว้นั้น อย่าให้จิตคิดเรื่องอื่นนอกจากพุทโธไป ได้ ๕ นาทีก็ยังดี บังคับเสียก่อนนะ เราอยากเป็นคนดีต้องบังคับ ไม่บังคับไม่ได้กิเลสเอาไปถลุงหมดนั่นแหละ เราอยากเป็นคนดีต้องบังคับตัว บังคับกิเลสนั่นแหละ กิเลสมันบีบบังคับทางหนึ่ง ธรรมเราก็บังคับกิเลสอีกทางหนึ่งมาสู่ตัวเองเพื่อผลประโยชน์ ภาวนาพุทโธๆ อย่างน้อยให้ได้สัก ๕ นาทีคนหนึ่งๆ ให้จิตอยู่กับคำบริกรรมล้วนๆ  คือมีแต่จิตกับอารมณ์ของจิตได้แก่คำบริกรรมล้วนๆ สัก ๕ นาที มีอานิสงส์มากมายก่ายกองนะ

จิตที่เราปล่อยตัวตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไม่เกิดประโยชน์อะไร อาศัยเป็นประโยชน์ภายนอกนิดหน่อย ส่วนมากกิเลสเอาไปกินเสียมากต่อมาก แต่ส่วนอารมณ์ของธรรม ๕ นาทีนี้มีคุณค่ามาก วันนี้ ๕ นาที วันนั้น ๕ นาที หลายวันต่อหลายวัน ๕ นาทีเข้าไปๆ เดี๋ยวจิตได้รับสัมผัสอรรถธรรมเข้าไป จะแสดงความแปลกประหลาดขึ้นมา อย่างน้อยเป็นความสงบเย็นขึ้นมา ความเย็นของใจผิดจากความเย็นทั้งหลาย ความสุขใจเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมากกว่าความสุขทางร่างกาย และความสุขที่อาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้เพียงประเดี๋ยวประด๋าวแล้วผ่านไปๆ ส่วนความสุขที่เป็นขึ้นจากจิตตภาวนาไม่ผ่านนะ เบื้องต้นนี่ผ่าน ที่ผ่านก็เป็นอารมณ์เสียดาย ความกระหยิ่มต่อการภาวนาที่จะให้ผลมากกว่านั้น มันก็มีอยู่ในใจ ก็เป็นความเพลินอันหนึ่งเหมือนกัน จึงอยากให้ท่านทั้งหลายได้ภาวนาบ้าง

การภาวนานี้เป็นที่รวมอารมณ์ของเรา ใจนั้นเป็นมหาเหตุ ความคิดปรุงจะอยู่ที่ใจทั้งหมด พอตื่นนอนนี้ความคิดความปรุงจะเกิดขึ้นที่ใจ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ติดเครื่องเองทีเดียวดับไม่ลง ต้องดับด้วยเวลาหลับ ถ้าไม่หลับแล้วตายมนุษย์เรา ระงับอารมณ์นี้ด้วยการหลับนอน ส่วนทางด้านภาวนาท่านระงับอารมณ์ด้วยการภาวนา ยังไม่หลับก็ตาม แต่จิตนี้สงบด้วยอารมณ์แห่งธรรม มีปรากฏเป็นความแปลกประหลาดสงบเย็น พอจิตสงบเท่านั้นเราจะเห็นโทษแห่งความวุ่นวายของเราทันที เพราะเราไม่เคยสงบตั้งแต่ตื่นนอนยันค่ำ และตั้งแต่เกิดจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จิตใจเราไม่เคยได้รับความสงบ วิ่งกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ หาความสุขไม่ได้ หาความแน่นอนไม่ได้ ไขว่คว้าตลอด

ทีนี้พอจิตได้เกาะธรรม เช่นพุทโธ เป็นต้น มีสติกำกับแล้วจะปรากฏเป็นความแปลกประหลาดขึ้นมา พอจิตเริ่มสงบเท่านั้น อารมณ์ของธรรมคือความสงบใจจะปรากฏขึ้นๆ พอปรากฏขึ้นมาแล้ว เป็นผลให้เกิดกำลังใจดูดดื่มเรื่อยๆ ไป ต่อไปเรื่อง ๕ นาทีไม่ต้องพูด ๕ นาทีนี้ตั้งรากฐานบังคับตัวเองต่างหาก พอได้ผลโดยลำดับลำดาแล้ว ๕ นาทีนี้ลบหมดเลย มีแต่ความมุ่งหวังต่ออรรถต่อธรรม มุ่งหวังต่อความสงบร่มเย็นของใจให้ยิ่งกว่านี้ๆ แล้วเรื่อง ๕ นาทีลบไปเลยๆ นั่นละเบื้องต้นเอาอย่างนี้เสียก่อน

เราอยากให้บรรดาพี่น้องชาวพุทธเราได้สัมผัสสัมพันธ์กับธรรม สมกับว่าเราเกิดมาในแดนแห่งพุทธศาสนาและเราเป็นลูกชาวพุทธด้วย ควรจะได้สัมผัสสัมพันธ์กับธรรมทางใจ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสัมผัสทางใจมาแล้วจนเป็นศาสดาองค์เอกด้วยธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน พระสงฆ์สาวกก็แบบเดียวกัน ด้วยการภาวนาทั้งนั้น เราจึงอยากจะให้อบรมจิตใจให้มีความสงบเย็น พอจิตสงบเย็นแล้วเราจะเริ่มเห็นโทษแห่งความวุ่นวายของเรา ต่อจากนั้นก็ค่อยขยับๆ ทีนี้ต่อไปมันก็เจียดเวลาไว้เลย เวลานั้นจะภาวนาพักอารมณ์ของใจ เวลานั้นจะประกอบหน้าที่การงานภายนอก เวลานั้นจะประกอบหน้าที่การงานภายใน คือธรรมเข้าสู่ใจ ให้มีหลักยึดทั้งสอง ทางร่างกายก็มีที่อยู่อาศัยที่หลับที่นอน อาหารการบริโภค เป็นที่อยู่เป็นที่อาศัย ส่วนภายในก็ให้มีความดีงาม เช่นอย่างเราให้ทาน รักษาศีล ภาวนา นี้เป็นอารมณ์ของใจ เป็นเรือนของใจ เป็นที่พึ่งของใจ ก็ให้มี อย่างนี้แล้วไม่พลาดคนเรานะ

จิตนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเวลาได้สงบลงแล้ว แปลกประหลาด คาดไม่ถึง เวลาได้ปรากฏขึ้นมาภายในใจ ตัวเองนั้นละคาดไม่ได้เลย เป็นขึ้นมาเป็นอัศจรรย์ทันที ยอมรับทันทีภายในใจ นี่ละเรื่องธรรมท่านจึงว่าประเสริฐๆ  แต่ธรรมไม่มีที่อยู่ เพราะกิเลสเข้าไปอยู่ในใจนั้นแน่นหมด ธรรมจนแทรกไม่ได้ แล้วก็บ่นตั้งแต่ทุกข์ กิเลสสร้างทุกข์ๆ จะไม่บ่นว่าทุกข์ได้ยังไง ธรรมสร้างความสุข เมื่อธรรมสัมผัสเข้าที่ใจ ใจจะมีความสุขๆ เรื่อยๆ ไป พากันจำเอานะ

การสอนนี้เราได้ผ่านมาหมดแล้วเต็มกำลังของเรา ภูมิของเรา จึงได้นำมาสอนพี่น้องทั้งหลายด้วยความพออกพอใจ ด้วยความเมตตา จากผลที่ได้ปฏิบัติมาแล้วเป็นยังไงก็เคยเล่าให้ฟัง พูดให้ท่านทั้งหลายฟังทุกอย่าง ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนี้เป็นสำคัญมากทีเดียว ไม่มีคำว่าจืดว่าจางภายในใจ สม่ำเสมอ ชุ่มเย็นตลอด สุดท้ายความเป็นความตายไม่เป็นอารมณ์ คือเรามีที่พึ่งอยู่ในใจแล้ว ตายเมื่อไรเราก็ไม่ได้สนใจ แล้วแน่ลงไปขนาดนี้แล้วมันก็รู้ว่าใจนี้ไม่ตาย ใจนี้มีความสงบแน่ว ความรู้เด่นอยู่กับนั้นตลอดมันจะตายที่ไหน ความรู้นี้เด่นๆ นั่น มันก็รู้ชัดๆ เข้าไป

ความตายนี้สัตว์โลกกลัวทุกคน แต่เวลามีความดีงามมากเข้าๆ ความตายนี้เบาลงๆ ต่อไปกล้าหาญต่อความตาย เจริญ มรณัสสติ ความตายเท่าไร ยิ่งเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้สร้างความดี สติปัญญาให้หนักเข้าๆ เป็นอย่างนั้นนะ ใจนี้ไม่ตายนะ แต่ถูกกิเลสตัณหาของสกปรกโสมมครอบอยู่ตลอดเวลา คนเราจึงหาความสุขไม่ได้ ถ้าใจได้เข้าสัมผัสกับธรรมแล้ว เอา เริ่มตั้งแต่ ๕ นาที บังคับตนนะ ให้อยู่กับคำบริกรรม เราชอบคำบริกรรมคำใดให้อยู่กับคำนั้น แล้วมีสติบังคับให้คำบริกรรมทำงานกับใจโดยตรงๆ เพียงเท่านี้ก็มีอานิสงส์มาก เพราะระยะนั้นเป็นระยะสำรวมใจได้ด้วยธรรม กักธรรมไว้ ๕ นาทีในหัวใจ นอกนั้นกิเลสเอาไปกินหมด นี่เอา กักธรรมไว้ในหัวใจด้วยคำบริกรรมสัก ๕ นาที วันละ ๕ นาที กักธรรมไว้ในใจ ธรรมอยู่ที่ใจจะเป็นยังไง วันนี้ ๕ นาที วันนั้น ๕ นาที หลายวันต่อหลายวัน ๕ นาทีต่อ ๕ นาทีนี้จะเพิ่มอานิสงส์มากมาย ต่อไปก็ลบหมด คำว่า ๕ นาทีไม่มีความหมาย ความมุ่งมั่นต่อธรรมทั้งหลายที่เลิศเลอยิ่งกว่านี้ท่วมไปหมดเลย จำเอานะ วันนี้พูดเท่านั้นแหละ พอ ให้พร

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก