กิริยาที่ขวางสมมุติ
วันที่ 16 ธันวาคม 2547 เวลา 18:10 น.
สถานที่ : กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

เมื่อค่ำวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

กิริยาที่ขวางสมมุติ

 

         วันนี้เรามีโอกาสเลยไปกราบพ่อแม่ครูจารย์ที่ถ้ำสาริกา แล้วไปดูเขื่อนท่าด่าน แต่ต้นก็ไปดู ตอนกำลังเขาสร้างก็ไปดู จวนจะเสร็จแล้วดูเหมือนไปหนหนึ่ง ตอนนั้นเขาเปิดทางให้ไปได้ทั่วๆ ไป เราก็ไม่ไปรบกวนเจ้าหน้าที่เขา วันนี้ไปก็ไปดูจะเสร็จแล้วนะ เขากำลังทำงานอยู่ข้างบน เก็บเครื่องของอะไรต่ออะไร เลยต้องได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่เขา สุดท้ายหัวหน้าเลยพาไปเสียเอง ไปดูหมดเลยข้างบน ถ้าไม่ใช่หัวหน้าไปไม่ได้ ต้องติดต่อละวันนี้ ไปดูเขื่อน โอ๊ย ใหญ่ สูงตั้ง ๙๓ เมตร (กว้าง ๖ เมตรครับ) ยาว ๒ กิโล ๗๐๐ เมตร เสร็จแล้วเขากำลังเก็บสิ่งเก็บของ ยังเหลือเล็กน้อย หัวหน้าเขาละพาไปเอง ไปดูให้หมดเลย เขายังนิมนต์เราไปอีก เราก็อยากมาอยู่แล้ว พอดีนิมนต์ พอได้โอกาสเราก็จะไป เราว่างั้น เขื่อนนี่ก็ใหญ่อยู่นะ หัวหน้าเขาพาไปดูสุดขีดเลยจนไม่มีที่ไป ถ้าไม่ได้ติดต่อกับหัวหน้าก็ขึ้นไม่ได้ ไปไม่ได้ นี่หัวหน้าเขาพาไปเองจึงได้ไปทะลุไปหมดเลย

         ความจำไม่เป็นท่า ไปไหนผ่านไปๆ หายเงียบไปเลยๆ ไปเจอของเก่าก็เหมือนเป็นใหม่ขึ้นมา มันจำไม่ได้ว่านั้นมีนั้นเคยเห็นแล้วไม่มี หายเงียบเลย ไปดูเหมือนเป็นใหม่ขึ้นมาเรื่อย ความจำเสื่อม สังขารไม่เสื่อม คือความคิดความปรุง ความคิดเรียกว่าสังขาร ความคิดความปรุงในเรื่องต่างๆ สังขารดูว่าไม่ชำรุด ใช้ได้ตลอดมา แต่สัญญาความจำเสื่อมมากทีเดียวเวลานี้ พูดอะไรไปหายเงียบๆ ไม่มีเหลือ พอเวลาเขาพูดเข้าใจปั๊บพอเสร็จแล้วผ่าน หายเงียบเลย นี่คือความจำเสื่อมมาก ทางตาก็เสื่อม ตาฝ้าตาฟาง หูก็เริ่มหนวกเข้าแล้ว จมูกก็เหมือนกันเหมือนเป็นหวัด ลิ้นรสชาติก็ไม่เหมือนเก่า กายก็ชำรุด นี่เรียกว่าเครื่องมือของใจมันเสื่อมไปๆ แต่ดูว่าสังขารไม่เสื่อมนะ

         ในขันธ์ที่ใช้มาอยู่เวลานี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปกายเหล่านี้เป็นขันธ์ แปลว่ากอง มีสังขารคิด คือสังขารแต่ก่อนเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเครื่องมือของกิเลสนำไปใช้ ออกแง่ไหนมุมใดมีแต่เรื่องกิเลสพาคิดพาปรุงเรื่องราวต่างๆ เป็นทางเดินของกิเลสทั้งนั้น สังขารเป็นเครื่องมือคิดปรุง สัญญาเหล่านี้ก็ไปตามกิเลสทั้งหมด ตามองเห็นอะไรก็เป็นกิเลสๆ ไปหมด เพราะกิเลสเป็นเจ้าของ ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ ตาดูเพื่อกิเลส หูฟังเพื่อกิเลส ผูกมัดตัวเอง สั่งสมความไม่ดีใส่ตัวเองถ้าไม่มีธรรม เรื่องความเป็นธรรมในตา หู จมูก ที่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ จะไม่มี จะมีแต่กิเลสล้วนๆ

         ทีนี้เมื่อมีธรรมเข้าไป ธรรมเข้าแทรก แทรกเข้าไป ธรรมก็เอามาเป็นเครื่องมือของตน กิเลสก็เอามาเป็นเครื่องมือของกิเลส ทีนี้เวลาธรรมมีหนาแน่นเข้าๆ เรื่องของกิเลสที่เป็นเจ้าของของขันธ์ก็ลดน้อยลง ใช้น้อยลงๆ ตาเห็น แต่ก่อนเป็นกิเลส ตาเห็นพับมันแปรเป็นธรรมไปแล้ว มันเป็นธรรมของมันเอง หูฟังอะไรก็เป็นธรรมแทรกเข้าไป จมูก ลิ้น กาย จิตคิดปรุงออกมาเป็นสังขารก็เป็นเรื่องของธรรมไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่าเครื่องมือ ขันธ์ห้านี่เป็นเครื่องมือของจิต จิตก็เป็นจิตมีกิเลส ก็กิเลสนั่นละเอาขันธ์นี้เป็นเครื่องมือใช้ตลอดเวลา

         ทีนี้เมื่อมีธรรมเข้าไป ธรรมค่อยแทรกเอาขันธ์นี้ไปใช้ในทางด้านธรรมะๆ เมื่อธรรมะมีมากแล้ว ธรรมะเอาไปใช้มากกว่ากิเลสโดยลำดับลำดา ขันธ์ห้านี่กลายเป็นเครื่องมือของธรรมมากขึ้นๆ มีแต่ธรรมะใช้ เวลาธรรมมีอำนาจแล้วออกแง่ไหนมุมใดมีแต่ธรรมนำมาใช้ทั้งหมด กิเลสอ่อนตัวๆ ลง นี่หดเข้ามา ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรๆ นี้ค่อยหดเข้ามา จะมารวมอยู่ที่ใจ คิดปรุงขึ้นมาเรื่องใดนี้เป็นธรรมขึ้นมาๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยากเห็นนั้นอยากพบนี้ไม่อยาก แต่ความคิดปรุงมันก็คิดของมัน เมื่อมีธรรมอยู่ในนั้นแล้วมันก็คิดเป็นส่วนธรรมไปเสีย คิดไปๆ

สรุปลงไปเลยว่า จนกระทั่งกิเลสขาดไปหมดภายในจิตใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายเรานี้ กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรมทั้งหมด เพราะกิเลสตายแล้ว เจ้าของของขันธ์อันนี้แต่ก่อนมาดั้งเดิม คือกิเลสเป็นเจ้าของ เกิดมานี้ก็เพราะกิเลสพาให้เกิด ทีนี้กิเลสก็นำไปใช้ พอเราบำเพ็ญธรรมเข้าๆ ธรรมก็ค่อยแทรกขึ้นมา ใช้เครื่องมืออันเดียวกันเป็นธรรมๆ  กิเลสก็ลดน้อยลง ธรรมหนาขึ้นๆ ทีนี้จิตทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นธรรมมากเข้าๆ เหล่านี้ที่เป็นเครื่องมือก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป จนกระทั่งกิเลสหมดไปโดยสิ้นเชิงภายในใจ ไม่มีอะไรเหลือเลย ทีนี้ขันธ์ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมล้วนๆ แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเบาลงๆ ก็เป็นเครื่องมือของธรรมหนักเข้าๆ สุดท้ายกิเลสหมดไป เรียกว่าเจ้าของตายไป ยังเหลือแต่ขันธ์ ก็กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรม เป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสมันยึดมันถือว่าเป็นเราเป็นของเราเสียทั้งหมด

         ทีนี้พอมาเป็นของธรรมล้วนๆ แล้วอาการทั้งนี้เป็นเครื่องมือทั้งหมด ไม่ได้ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ท่านไม่ยึด เป็นเครื่องมือล้วนๆ กิเลสไม่ได้นำมาใช้เลยละ เพราะกิเลสตายไปแล้ว ก็มีแต่ธรรมออกใช้ เช่นการเทศนาว่าการ เคลื่อนไหวไปมาเป็นอรรถเป็นธรรมทั้งนั้นไม่เป็นกิเลส เวลาสรุปลงมาเครื่องมืออันนี้มันชำรุดอะไรลงบ้าง เครื่องมือของธรรม แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลสมันก็ชำรุดไปตามสภาพของมัน ในเรื่องของขันธ์ที่เป็นกฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

         พอธรรมเราหนาแน่นขึ้นมาแล้ว เหล่านี้มันก็ค่อยเสื่อมเครื่องมือของธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะค่อยหดเข้ามาๆ ตาฝ้าตาฟาง หูหนวกไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ตา หู จมูก ลิ้น แล้วหดเข้ามาๆ ใช้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ก็คือสังขารขันธ์ สัญญาก็เสื่อมลงๆ ให้เห็นชัดเจน รูปคือร่างกาย เวทนาคือความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่อยู่ในร่างกาย สัญญาคือความจำได้หมายรู้ จำชื่อจำเสียง จำที่นั่นที่นี่ เรียกว่าสัญญา สังขารคือความคิดปรุงในแง่ต่างๆ ท่านเรียกว่าสังขาร วิญญาณคือความรับทราบ เวลาตากระทบรูป หูกระทบเสียง จะรู้แย็บๆ ในขณะที่กระทบ พอผ่านไปก็ดับ เรียกว่าวิญญาณ

         เหล่านี้มีความลดลงๆ แต่ที่ปรากฏไม่ค่อยลดก็คือสังขารขันธ์ แต่ไม่ได้ปรุงไปเพื่อกิเลส คิดปรุงได้ธรรมดา พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านคิดปรุงได้ธรรมดา แต่ไม่ได้เป็นกิเลส เพราะเป็นธรรมล้วนๆ เป็นแต่เพียงเครื่องมือใช้คิดใช้อะไรไปเท่านั้นเอง อันนี้ยัง ความคิดนี้ยัง ส่วนสัญญาความจำเสื่อมให้เห็นชัด นอกจากนั้นเสื่อมให้เห็นชัดเจน ส่วนสังขารนี้ยังมีอยู่ ไม่เห็นเสื่อมไปไหน มันคิดอยู่ของมันอย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นภัย คือมันหากดีดหากดิ้นของมัน คิดปรุงของมันธรรมดาๆ เรียกว่าคิดไปปรุงไป ผ่านไปๆ ไม่เกาะไม่ยึดเหมือนกิเลสเป็นเจ้าของ อันนี้มีอยู่ธรรมดา เอามาพิจารณาทบทวนหมดเลย

         สังขารขันธ์ความคิดไม่เห็นเสื่อมไปไหน เห็นมันคิดอยู่ธรรมดา เป็นแต่เพียงว่าคิดแล้วไม่เกาะไม่ยึด เดินผ่านไม่หยิบนั้นหยิบนี้ คิดไปผ่านไปๆ ธรรมดา พอคิดทางด้านธรรมก็เป็นธรรมไป ไม่ยึดทั้งสอง คิดไปถึงเรื่องของโลกของสงสาร เห็นไปรู้ไปก็ไม่เป็นกิเลส เพราะจิตไม่มีกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้จะสัมผัสสัมพันธ์อะไรก็สักแต่ว่าสัมผัสสัมพันธ์กันไปไม่เกิดกิเลส เพราะกิเลสไม่มีอยู่ภายใน ใช้ท่านก็ใช้ของท่านไปอย่างนั้น จนกระทั่งอายุขัย ใช้ขันธ์นี้ไปเรื่อยๆ สังขารขันธ์นี้ก็ใช้ไป

         สำหรับสังขารขันธ์นี้ชัดเจนมาตลอด ไม่ปรากฏว่าชราคร่ำคร่า หรือเสื่อมไปไหนเหมือนสัญญา เป็นต้น สัญญาความจำนี้หดเข้ามาๆ จนกระทั่งจะไม่มีความจำ นี่เป็นเครื่องมือใช้ พระอรหันต์ท่านจึงให้ชื่อขันธ์นี้ว่าเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าเจือปน  กลายมาเป็นเครื่องมือของธรรมใช้ตลอดวันนิพพาน แต่เป็นเครื่องมือเฉยๆ ธรรมท่านไม่ยึดเหมือนกิเลส กิเลสมียึด อะไรๆ อยู่ในนี้เป็นของตัวหมด รูปกายก็ว่าเป็นของตัว เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็ว่าเป็นของตัว สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ว่าเป็นของตัว สังขารความคิดความปรุงก็ว่าเป็นตัวเป็นของตัว วิญญาณความรับทราบต่างๆ ก็ว่าเป็นเราเป็นของเราไปหมด นี่เรื่องของขันธ์ที่มีกิเลสครอง

         เมื่อกิเลสสิ้นลงไปแล้วเหล่านี้เป็นแต่เพียงใช้เฉยๆ ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนๆ ไม่ได้เป็นกิเลสในกิริยาที่แสดงออก เพราะจิตบริสุทธิ์แล้ว ใช้ขันธ์แล้วก็ไม่ยึดขันธ์นี้ด้วย ทราบชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า นี้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้เท่านั้น ใช้ไปถึงวันเวลาก็ปล่อยเสีย เพราะท่านไม่ยึดไม่ถือ การปฏิบัติธรรมเรื่องจิตตภาวนาเป็นสำคัญมากในแดนพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเกินด้านจิตตภาวนาที่ใช้ประมวลทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามารู้ชัดประจักษ์กับใจ ไม่สงสัย ไม่ถามใคร

         เรื่องจิตตภาวนาสำคัญมากอย่างนั้น ส่วนอื่นก็ไม่ค่อยแน่นัก แต่ส่วนจิตตภาวนานี่แน่ที่สุด ผลสุดท้ายกองการกุศลผลประโยชน์ที่เราสร้างไว้มากน้อย มันก็มารวมอยู่ที่จิต เพราะจิตนี้เป็นทำนบแล้ว เป็นทำนบใหญ่สำหรับเก็บบุญเก็บกุศลทั้งหลายแล้ว สร้างมามากน้อยจะรวมเข้ามาหาจิตๆ พอเต็มที่แล้วก็หนุนจิตให้พ้นไปเลย พอจิตพ้นแล้วจากบุญจากบาปทั้งหลาย ท่านจึงไม่หมายบุญหมายบาป กิริยาที่อยู่กับโลกนี้ท่านใช้ไปเหมือนโลกนิยมกัน ยอมรับกัน ท่านปฏิบัติตามที่โลกยอมรับ แต่จะให้ท่านเป็นบาปเป็นกรรมอย่างฆราวาสก็ตาม พระก็ตามเมื่อจิตหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงแล้ว จะไม่มีติดในจิตท่านเลย จะมีแต่กิริยาที่ใช้อยู่เพียงเท่านั้น ไม่มีบุญมีบาปเข้าไปติดใจ ก็มีแต่กิริยาของขันธ์ซึ่งเป็นสมมุติ

         ทีนี้ขันธ์เมื่อเป็นสมมุติ ปฏิบัติต่อสมมุติทั้งหลายก็ต้องให้เสมอกันเหมือนโลกทั่วๆ ไป ท่านเป็นพระท่านก็ปฏิบัติแบบพระไปเรื่อยๆ เป็นใครก็ปฏิบัติตามนั้นให้เหมาะสมกับความเป็นพระ เพราะร่างกายนี้เป็นสมมุติ เพศของพระก็เป็นสมมุติ กิริยาความเคลื่อนไหวของพระ  ก็ให้สวยงามตามหลักธรรมวินัยที่ท่านขีดเส้นบรรทัดไว้เรียบร้อยแล้ว ปฏิบัติไปตามนั้น ที่จะให้ท่านเป็นบาปเป็นบุญ ต้องอาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ท่านไม่มี คือผ่านไปหมดแล้ว

         ให้ชื่อว่าปุญญปาปปหินบุคคล เป็นผู้มีบุญและบาป อันละได้โดยสิ้นเชิงแล้วทางด้านจิตใจ เป็นแต่เพียงมีขันธ์อยู่ก็ต้องปฏิบัติต่อขันธ์ให้เหมาะสมกับสังคมยอมรับกัน ความเป็นพระยอมรับกันก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นี่เป็นขั้นสมมุติในขั้นนี้ ก็ปฏิบัติอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนิพพาน ถ้าเป็นหลักธรรมชาติของจิตแล้ว พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วหมดปัญหาที่จะให้เป็นบาปเป็นบุญ ต้องอาบัติสังฆาปาราชิกอย่างนี้ไม่มี หมด กิริยาที่ท่านรักษาก็รักษาไว้ตามสมมุติที่มีอยู่ และปฏิบัติให้เหมาะสมกันกับด้านสมมุติทั้งหลายเท่านั้น จนกระทั่งวันนิพพาน

         นอกจากท่านจะทำแผลงๆ ออกมาบ้าง พอเป็นข้อคิดอย่างนี้ก็มีบ้าง แต่ท่านก็ไม่มีอะไร ท่านแสดงกิริยาออกมานิดๆ ยกตัวอย่างเช่นหลวงปู่แหวนของเรา ธรรมดาท่านก็ไม่เคยไปจับไปต้องเงินทอง เขาถวายมาเท่าไรมีคนจับคนจ่ายเก็บไว้เรียบร้อยเหมือนพระทั้งหลายไม่จับเงินจับทอง มาถวายท่านก็เหมือนกัน บทเวลาท่านจะทำ นี่ท่านพลิกออกมาเฉยๆ จะว่าท่านทำผิดในจิตใจไม่มี อยู่ๆ ท่านก็ไปเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ จุดไฟขึ้นสูบปุ๊บๆ เลย

         “โห หลวงพ่อสูบอันนี้มันธนบัตรนะ นี่เงินนะใบละ ๕๐๐ นะ” ท่านก็ “เหอ”  ท่านก็รู้อยู่แล้ว “นี่ธนบัตรนะที่มวนบุหรี่สูบอยู่นี่น่ะ” “เหอ ท่านก็ทำท่าดู ประสากระดาษ” ท่านก็ว่า หายเงียบไปเลย นี้จะไปว่าท่านผิดไม่ได้นะ คือท่านพลิกกิริยาจากสมมุติที่ยอมรับกัน มาเป็นกิริยาที่ขวางสมมุติ คือยอมรับ ความเป็นพระไม่ยอมรับกัน แต่ท่านก็เอามาใช้ชั่วขณะ จะว่าท่านเป็นบาปว่าไม่ได้นะ ท่านพลิกกิริยานั้นออกมาพอให้จับได้เท่านั้นละ ทำได้แต่ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นโทษ เพราะจิตบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว กิริยาของขันธ์พลิกมาเพียงเท่านี้แล้วก็กลับไปตามเดิม

         จากนั้นท่านก็ไม่ทำอีก ท่านไม่ได้เอาธนบัตรมามวนบุหรี่สูบเรื่อยๆ นะ ท่านก็ทำเท่านั้นแหละ จากนั้นท่านก็ปฏิบัติเหมือนที่เคยปฏิบัติมา เราจะว่าท่านเป็นอาบัติไม่ได้นะ ยุติหมดโดยสิ้นเชิง อันนี้เป็นสมมุติทั้งมวล ท่านก็ปฏิบัติตามสมมุติมานาน บทเวลาท่านจะพลิกท่านก็พลิกปั๊บอย่างนั้น เอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ตัวใหญ่ๆ สูบ ปุ๊บๆ สบายเลย ทีนี้เมื่อมีพระลูกพระหลานมาว่าท่าน “นี่หลวงปู่เอาธนบัตรมามวนบุหรี่สูบนะ” ท่านก็ว่า “เหอ” ท่านก็ทำท่าดู ท่านรู้แล้วท่านทำท่าดู “ประสากระดาษ” ท่านว่า ท่านก็สูบสบายไปเลย แน่ะก็อย่างนั้น จะไปว่าท่านผิดไม่ได้นะ

         นี่แหละท่านพลิก กิริยาที่พระทั้งหลายยอมรับเป็นความผิด ก็ผิดแต่กิริยานี้เท่านั้น ใจท่านหมดโดยสิ้นเชิง จากนั้นท่านก็ปฏิบัติตามเดิม ก็ไม่เห็นมีอะไร เพราะใจท่านหมดโดยสิ้นเชิง ธรรมชาตินั้นเรียกว่าหมด กิริยาของขันธ์ที่แสดงออกทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เข้ากระเทือนถึงจิตใจที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้วได้เลย แต่ท่านก็ปฏิบัติตามสมมุติที่มีอยู่ ธาตุขันธ์ของท่านที่มีอยู่ กิริยาอาการความเคลื่อนไหวไปมาที่ไหน การอยู่การกิน การขบการฉัน ท่านก็ปฏิบัติตามเพศของท่านซึ่งเป็นพระ ท่านไม่ฝ่าฝืน บทเวลาท่านจะพลิกก็พลิกอย่างนั้น พอให้เข้าใจกันบ้างเท่านั้นเอง ท่านไม่ได้ทำตลอดไป ไม่ใช่ว่าจะมีไปอย่างเดียวทีเดียว มีแยกมีแยะอย่างนั้น

         จิตนี่เมื่อหลุดพ้นแล้วมันพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง ไม่มีคำว่าผิดว่าถูกเข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย คือเลยหมดแล้ว ความผิดความถูกอยู่ในแดนสมมุติ คำว่าบุญว่าบาปอยู่ในแดนสมมุติ ทีนี้เวลาพ้นไปแล้วท่านจึงว่าท่านผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว พ้นไปหมด บุญไม่มาเกี่ยวข้อง บาปไม่มาเกี่ยวข้อง ผ่านไปหมดแล้ว อย่างนั้นจึงเรียกว่าผู้มีบุญและบาปอันละแล้ว เป็นวิมุตติแล้ว บุญบาปนี่เป็นสมมุติ เวลาดำเนินอยู่ก็ต้องอาศัยบุญ อาศัยความดีงามหนุนขึ้นๆ เหมือนขึ้นบันได พอถึงบ้านแล้วบันไดกับบ้านแม้จะติดกันอยู่มันก็เป็นบันได มันก็เป็นบ้าน คนละสัดละส่วนอยู่โดยดี

         กิริยาแห่งบุญแห่งกรรมทั้งหลายก็เป็นเพียงสักแต่ว่ากิริยา แต่จิตใจนั้นพอทุกอย่างแล้ว ท่านไม่เอาอะไร จิตลงถึงขั้นเป็นอรหันต์แล้วพอทุกอย่าง ไม่เอาอะไรเลย สามแดนโลกธาตุเป็นสมมุติทั้งหมด จิตปล่อยวางโดยสิ้นเชิง อาศัยไปเพียงเท่านั้นเอง ที่จะให้ยึดให้เกาะว่าอันนั้นบกพร่องอันนี้ขาดเขินไม่มีในจิตดวงนั้น จึงเรียกว่าพออย่างเลิศเลอ พอก็พอนอกสมมุติไปเสีย ไม่ใช่พอธรรมดา เหมือนเรารับประทานอาหารตอนเช้านี้พอ พอตกบ่ายมาหิวอีกแล้ว ส่วนจิตอันนี้พอแล้วพอตลอด ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง พอตลอดไปเลย

         เวลาปฏิบัติเข้าไป สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นจะเป็นขึ้นในจิตในใจของภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ที่ท่านแสดงไว้ปัญญาเกิดได้สามประเภท สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการคิดอ่านไตร่ตรอง ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ อันนี้เรียบนะ นี่ละปัญญาขั้นนี้เป็นปัญญาที่แตกฉานพิสดารไม่มีอะไรเหมือน สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ไม่ได้เหมือน เพียงเป็นพื้นๆ หรือเป็นคนละอย่างๆ เท่านั้น

         พอถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้วเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา มันหากรู้หากเห็น หากเป็นไปทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ ไม่ต้องไปหาศึกษาเล่าเรียนจากที่ไหน หากเป็นขึ้นมาๆ รู้ขึ้นมา กระจ่างขึ้นมา หายสงสัยไปโดยลำดับลำดา โดยไม่ต้องไปถามใคร นี่ละภาวนามยปัญญา จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นก็เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา พูดถึงขั้นภาวนามยปัญญาโดยสมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีคำว่าอัดว่าอั้น ความเฉลียวฉลาดรอบตัวเป็นอยู่โดยสมบูรณ์ ตามขั้นตามภูมิของท่าน จะกว้างแคบขนาดไหนหากเป็นความรู้อยู่ในนั้น ความบริสุทธิ์นี้เสมอกันแหละ

         ปัญญาที่จะกว้างขวางลึกซึ้งนั้นมีต่างกันอยู่บ้าง จึงเรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา เกิดอย่างนี้ ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาเกิดอย่างนี้เอง ไม่ไปหาเรียนคัมภีร์ที่ไหน พระไตรปิฎกก็ไม่เรียน ถ้าลงได้เข้าถึงนี้แล้วตีออกหมดเลย กระจายออกไปหมด จึงเรียกว่าภาวนามยปัญญาเป็นสำคัญมากในปัญญาทั้งสามประเภท พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านเป็นภาวนามยปัญญา รู้ขึ้นเอง เห็นเองทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนจากใคร หากรู้หากเห็นหากเป็นขึ้นภายในใจ เป็นความตายใจแน่ใจไปในนั้นโดยลำดับลำดา

         เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าพอตรัสรู้แล้วสอนโลกได้สามแดนโลกธาตุ ท่านมีอัดมีอั้นที่ไหน สติปัญญานำมาสอนโลก เทศน์ได้หมด สอนได้หมด มนุษย์มนาตามขั้นตามภูมิของมนุษย์ท่านก็สอนได้ เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลายท่านก็สอนได้หมดเลย นี่ละถึงวิมุตติหลุดพ้น ธรรมชาตินี้เกิดขึ้นจากจิตตภาวนา เมื่อถึงขั้นสุดทุกอย่างแล้วคำว่าภาวนามยปัญญานี้ท่านก็ไม่ไปคำนึง ไม่คิดเสีย ภาวนามยปัญญาพูดถึงเรื่องการดำเนิน ปัญญาเกิดขึ้นเรื่อยๆ พอถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วคำว่าภาวนามยปัญญานี้มันก็ลดไปเอง หากรู้ในตัวเอง มันพออยู่ในตัว ถ้าว่าปัญญาก็พออยู่ในนั้น ไม่ต้องภาวนาที่ไหนให้ได้เกิดปัญญาอีก มันเป็นอยู่แล้ว รู้แจ้งชัดอยู่ภายในนั้น นี่ละภาวนามยปัญญาเป็นทางดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว มารวมอยู่ที่ภาวนามยปัญญาทั้งหมดเลย ท่านจึงสอนให้ลงในภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาก็คือภาวนามยปัญญา

         ผู้ปฏิบัติตามทางของศาสดาแล้วก็เป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ อยู่ตลอดเวลา รู้ขึ้นมา เห็นขึ้นมา ประจักษ์ขึ้นมาเป็นลำดับลำดาจากการบำเพ็ญของตน ไม่มีที่สิ้นสุด รู้ขึ้นมาเรื่อยๆ สดๆ ร้อนๆ ไม่ได้มีคำว่าครึว่าล้าสมัยดังที่กิเลสมันหลอกลวง ว่าจะวิ่งตามกิเลสทันสมัย ล้ำยุคล้ำสมัยตลอดไป แต่เวลาจะหันหน้าเข้ามาสู่ธรรมเป็นสิ่งที่ครึที่ล้าสมัยไปเสียหมด นี่เห็นไหมกิเลสมันปิดบังหุ้มห่อจิตใจ เปิดทางให้ไปทางของมัน ล้ำยุคล้ำสมัย ทันสมัยตลอดเวลา ตายเกิดๆ แบกความทุกข์ความทรมานนี้ทันสมัยไปด้วยกัน ไม่มีคำว่าลดหย่อน พวกนี้คือพวกทันสมัย เกิดไม่หยุด ตายไม่หยุด แบกหามกองทุกข์ไปกับความเกิดความตายนั้นไม่หยุดตลอดมา นี่เรียกว่าล้ำยุคล้ำสมัย

         สัตว์โลกจึงไม่มีคำว่าอิ่มพอ ถ้าอิ่มพอแล้วก็ครึล้าสมัย กิเลสนี้ครึล้าสมัยแล้ว แต่ก่อนเคยถูกกิเลสกล่อม บัดนี้ไม่เชื่อกิเลสแล้ว กิเลสนี้เลยครึเลยล้าสมัยไปแล้ว ไม่มี วิ่งตามมันตลอด สดๆ ร้อนๆ ตลอดไปเลย คำว่าเข็ดหลาบอิ่มพอในความเกิดตายเพราะหลงไปตามกิเลสนี้ไม่สนใจ ความเข็ดหลาบจึงไม่มี กิเลสไม่สอนให้เข็ดหลาบ แต่พอธรรมจับเขาไปปั๊บมันมีคู่แข่งกันแล้ว พอปฏิบัติธรรมเรื่องของกิเลสเป็นยังไงๆ เราไม่เคยรู้เคยเห็นเคยเป็นมาแต่ก่อน ว่าจะรู้อย่างนั้น กิเลสเป็นภัยอย่างนั้นมันก็ไม่รู้ มันก็บืนไปตามเรื่องของมัน คือกิเลสลากไป

         แต่พอธรรมขึ้นแล้วมันก็มีเครื่องรับกัน เช่นจิตใจพาให้ฟุ้งซ่านรำคาญ สร้างแต่ความทุกข์ให้แก่ตัวเองตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ เช่นภพชาติมนุษย์เราถือเอาการหลับนอนเป็นเครื่องตัดสินกัน เวลานอนเป็นเวลาระงับความคิดปรุงทั้งหลาย ถ้าไม่ได้นอนแล้วตายง่ายที่สุดมนุษย์เรา จึงระงับกันด้วยการนอน ระงับความคิดความปรุง ความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ถ้ามันไม่เลยเถิดถึงขนาดที่ว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าอย่างนั้นมันก็จะก้าวเข้าขั้นบ้า คือกิเลสพาให้คิดมากขนาดนั้น

         ทีนี้พอเวลามาภาวนาความคิดประเภทนั้นมันสงบตัวลงไป เพราะธรรมเป็นน้ำดับไฟ สงบตัวลงๆ จิตค่อยขยับเข้ามา รวมเข้ามา มันฟุ้งซ่านวุ่นวายนั่นคือเป็นไปตามกิเลส เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตลอดไป พอทำใจให้สงบด้วยการภาวนา ดังที่เคยสอนแล้วว่า ใครถนัดธรรมบทใดให้ยึดธรรมบทนั้นมาเป็นคำบริกรรมภาวนา ให้จิตได้เกาะอยู่กับคำบริกรรมนั้น ไม่ให้มันไขว่คว้ากับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ของกิเลสเสียทั้งนั้นแหละ ไม่อยากว่าแทบทั้งนั้นนะ เพราะมันเป็นอย่างนั้น

         ให้มันมายึดคำบริกรรมซึ่งเป็นอารมณ์ของธรรม นี่อารมณ์ของธรรมคำบริกรรม เหล่านั้นเป็นอารมณ์ของกิเลสลากไป มีแต่ฟืนแต่ไฟเป็นผลขึ้นมา นี้เป็นอารมณ์ของธรรม จิตใจของเราเมื่อนำคำบริกรรมภาวนาติดกับจิต ไม่ให้มันคิดเรื่องอารมณ์ของกิเลส ให้คิดแต่เรื่องอารมณ์ของธรรม เช่นพุทโธๆ ก็คิดตั้งแต่เรื่องพุทโธ มีสติติดแนบอยู่กับนั้นตลอด นี่เรียกว่าจิตได้รับความเหลียวแล ได้รับการบำรุงรักษาแล้ว ทีนี้จิตจะค่อยสงบตัว ไม่ถูกรบกวนจากกิเลสเหมือนแต่ก่อน เพราะมีธรรมเป็นเครื่องป้องกัน จิตก็ค่อยสงบเข้ามาๆ

         พอสงบเข้ามามันก็เป็นสุขคนเรา ความสงบ ความเย็น แปลกประหลาดขึ้นมาในใจ อันนี้แหละที่ออกไปเทียบเคียงกับความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ซึ่งเป็นไฟทั้งกองที่กิเลสสร้างขึ้นมาได้เห็นอย่างชัดเจน กับความสงบร่มเย็นของธรรมที่สร้างขึ้นมา ทีนี้มันก็มีเครื่องฟัด หรือเครื่องวัดเครื่องตวงกัน พอเรามาภาวนา คือจิตมันสงบเข้ามา ถ้ามันไม่ค่อยสงบ โอ๊ วันนี้จิตไม่สงบ เพราะมันยุ่งกับกิเลส แน่ะมันก็รู้นะ พยายามเอาอีก สงบเข้ามา ทำอยู่เรื่อยๆ บังคับอยู่เรื่อยๆ จิตจะมีน้ำดับไฟประจำตัว มันไม่แสดงเปลวตลอดเวลาเหมือนกิเลสพาไป มีแต่สงบลงๆ เย็นสบาย

         พอพูดถึงเรื่องนี้ก็เคยพูดให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายฟังแล้ว นี่มันก็เป็นสักขีพยาน เราบวชมาทีแรกตั้งแต่ก่อนที่เป็นนาคอยู่ในวัดนั้น ก็เห็นท่านพระครู ตอนเช้าๆ ท่านลงเดินจงกรมแต่เช้า ตี ๔ ท่านลงไปเดินจงกรม พอสว่างแล้วท่านเข้าในโบสถ์แล้วไหว้พระ ทำวัตรเช้า พอเสร็จแล้วพระก็ออกบิณฑบาต นี้เป็นประจำอยู่วัดโยธานิมิตร เห็นท่านออกเดินจงกรมตอนเช้าๆ เวลาบวชแล้วก็เรียนภาวนากับท่าน อยากภาวนา แล้วจะภาวนายังไง ท่านว่า เอ้อ ภาวนาพุทโธนะ เราก็ภาวนาพุทโธเหมือนกัน ท่านว่างั้น

         เราก็จับเอานั้นมาภาวนา ภาวนาสะเปะสะปะ ตามภาษีภาษาคนอยากภาวนาแต่ยังไม่รู้ผลเป็นยังไง ก็ภาวนาไป บังคับจิตกับสติให้อยู่ด้วยกัน ไม่นานเดี๋ยวมันก็เผลอ ทีนี้จิตก็สงบไม่ได้เมื่อสติเผลอไปแล้ว แล้วก็นอน วันหลังเวลาไหนภาวนาก็ตั้งสติ ได้ขณะแรก ครั้นต่อไปกิเลสลากไปๆ สติก็อ้าปากอยู่ไม่มีหวัง กิเลสเอาไปกินแล้ว ก็ทำไป ทีนี้สรุปความลง บทเวลามันจะเป็น คือหยุดเรียนหนังสือแล้วเราจะสละเวลาหนึ่งชั่วโมงนั่งภาวนา อย่างนี้ก่อนจะนอน เป็นความชอบใจ มีนิสัยชอบอยู่อย่างนั้นลึกๆ

         ทีนี้บทเวลามันจะเป็นก็นึกพุทโธนั้นแหละ ภาวนาไปตามภาษีภาษา เพราะไม่เคยเห็นผลจากการภาวนาว่าเป็นยังไง จะว่าสงบมันก็ยังไม่เห็นสงบ มันก็เผลอไปเสีย จากนั้นก็เอาความนอนเข้าไป พาสงบกับหมอนไปเสีย ทีนี้บทเวลามันจะเป็น เรานึกพุทโธๆ ตั้งสติไว้เหมือนแต่ก่อนนั้นแหละ พอนึกพุทโธๆ จิตที่มันซ่านอยู่นั้นด้วยความคิดความปรุงต่างๆ เหมือนเราตากแหไว้ ทีนี้พอระลึกพุทโธๆ มันเหมือนเราดึงจอมแหเข้ามา ตีนแหก็หดเข้ามา ย่นเข้ามาๆ เป็นอย่างนั้นละเทียบแล้ว ทีนี้กระแสของจิตที่มันคิดไม่มีขอบเขตก็ปรากฏว่าหดเข้ามา เหมือนเราดึงจอมแหนั่นแหละ ค่อยหดเข้ามาๆ ก็เป็นจุดที่ให้จิตสนใจมากขึ้น มันก็จ่อเข้าไป สติจ่อเข้าไปเรื่อยๆ มันค่อยหดเข้ามา กระแสของจิตค่อยย่นเข้ามาๆ

         ย่นเข้ามาจนกระทั่งถึงใจเลยนะ นี่เป็นครั้งแรกที่เราบวชใหม่ๆ เรายังไม่รู้เรื่องรู้ราว พอเข้ามาถึงใจแล้วหยุดกึ๊กเลยเทียวนะ ทีนี้ปรากฏว่ามันว่างหมดเลย ยังเหลืออยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นอัศจรรย์ โอ๊ย เกิดความอัศจรรย์ตื่นเต้นนะเวลานั้น โอ๊ย ทำไมจิตเราอัศจรรย์เอาขนาดนี้ เราก็ไม่เคยเห็นเคยได้ยิน วันนี้ได้ปรากฏแล้ว ทีนี้ความตื่นเต้นมันเลยไปเขย่าจิตที่สงบ ให้ขยายตัวออกมา ถอนออกมาเสีย โอ๊ย เสียดาย พยายามทำอีกก็ไม่ได้ แต่มันฝังลึกนะ ถึงไม่ได้ก็ตาม เรื่องความรู้ความเป็นแปลกประหลาดอัศจรรย์นั้นไม่ได้ถอนนะ ฝังลึก ทำวันหลังขยับใส่เรื่อยมันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะสัญญาอารมณ์มันไปหมายอดีตที่เคยเป็นมาแล้ว แปลกประหลาดอัศจรรย์ มันไปอยู่นู้น มันไม่อยู่กับพุทโธให้เป็นปัจจุบัน มันก็เลยไม่ได้เรื่อง นี่ละเรื่องอัศจรรย์

         วันนั้นทั้งวันจิตไม่ไปไหนเลย เป็นอารมณ์อยู่กับความอัศจรรย์ของจิตที่ได้ผลมาเมื่อคืนนี้ ที่จิตสงบอย่างแปลกประหลาดอัศจรรย์ ป้วนเปี้ยนๆ อยู่นั้น วันหลังขยับอีกจะภาวนาอีกมันก็ไม่ได้เรื่อง และก็ต่อไปอีก จนกระทั่งจิตใจมันหมดหวังแล้วมันก็ปล่อย เป็นอารมณ์กับอันนั้นละ ทำไปมันก็ไปหมายที่เคยเป็นมาแล้ว ผ่านไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์เสียมันก็เลยไม่ได้เรื่อง จนกระทั่งจิตใจมันเหมือนหนึ่งว่าหมดหวัง โอ๊ย ได้ไม่ได้ช่างเถอะ ทำไปอย่างนี้

         ทีนี้มันก็ปล่อยอารมณ์ที่มันไปคาดไปหมายไว้ในอดีตเข้ามาเป็นปัจจุบัน แล้วมันก็ลงได้อีก ลงอัศจรรย์เหมือนเดิม แล้วก็เป็นบ้าขึ้นอีกนะ วันหลังขยับใหญ่จะเอามันก็ไม่ได้อีกแหละ เพราะเราไปหมายผลที่ได้แล้วมาเป็นปัจจุบัน มันก็ไม่ได้เรื่องซิ มันไม่เอาพุทโธ ไม่เอาคำบริกรรมตั้งสติอยู่ปัจจุบัน เราสรุปเลยว่าเราเรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี เราได้จิตที่สงบแบบนี้สามหน ได้สามหนเท่านั้น เรียนหนังสือตั้ง ๗ ปีเต็มๆ แต่มันได้หลักไว้แล้วนะ คือมันไม่ถอนความเชื่อที่จิตเป็นของอัศจรรย์ เป็นแต่เพียงว่าเรายังทำมันไม่รวมให้เฉยๆ ที่ทำมานี้มีชัดเจนแล้ว พอหยุดจากการเรียนแล้วทีนี้จะเอาให้ได้เลย เพราะอันนี้ได้จับไว้แล้วเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไปก็ซัดกันใหญ่เลย ทีนี้มันก็ได้ละซิ เลยได้ นี่ละเรื่องภาวนาเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น

         จิตของเรามันมีแต่เป็นบ๋อยของมูตรของคูถคือกิเลสตัณหา มันไม่ได้เป็นผู้รับใช้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยธรรมมีอยู่ภายในใจเลย มีแต่กิเลส ทีนี้เวลามันเป็นขึ้นมาอย่างนั้นมันก็แปลกประหลาดอัศจรรย์ ถ้าวันไหนได้เป็นแล้ววันนั้นทั้งวันมันจะไม่คิดไปไหนนะ มันจะป้วนเปี้ยนๆ เป็นอารมณ์อยู่กับจิตที่อัศจรรย์นี้ทั้งวัน แต่เวลาไปทำวันหลังมันก็ไม่ได้เสีย พอค่อยจืดไปๆ ปล่อยแล้ว มันก็หมดอารมณ์สัญญาอดีต มันก็เป็นอีก

         เราพูดถึงเรื่องความแปลกประหลาด เริ่มแสดงขึ้นในครั้งแรกดังที่ว่า บวชใหม่ๆ ละ จากนั้นมาจิตใจก็มีความกระหยิ่มยิ้มย่องต่อการภาวนา ถึงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็พยายาม ต่อมาจนกระทั่งเรียนจบแล้วทีนี้จะเอาให้เต็มเหนี่ยว เพราะตั้งหน้าตั้งตาจะภาวนาโดยถ่ายเดียว มันก็ปรากฏละซี เพราะไม่หยุดไม่ถอย เอาทั้งวันทั้งคืนเลย เรียกว่าความเพียรตลอด ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยการภาวนาโดยความมีสติทั้งนั้น มันก็สงบได้แน่นหนามั่นคงขึ้นไป แต่ที่เคยเป็นสามหนนี้ไม่เคยลืมนะ มันเป็นอารมณ์พื้นฐานไม่ลืมนะ ธรรมะจะก้าวเข้าไปขนาดไหนก็ไม่เคยลืมอารมณ์ที่เป็นพื้นฐาน ที่เราเป็นมาสามครั้งแล้วนั้น

         นี่ละจิตเป็นอย่างนั้นอัศจรรย์จริงๆ โหย ตื่นเต้นทั้งวัน แล้วก็มาทำอีกจะให้ได้อย่างนั้นอีกมันไม่ได้เสีย แล้วค่อยจืดไปๆ พอทอดอาลัย โอ๊ย ได้ไม่ได้ช่างหัวมันเถอะ ปล่อยแล้ว ทีนี้มันก็ไม่เป็นอารมณ์กับอดีต มันมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นอีก เป็นบ้าเข้าอีกเหมือนเก่านั่นแหละ เราพูดตามความจริงที่เคยเป็นมา เป็นอย่างนั้นนะ ภาวนาทีแรกเป็นอย่างนั้น จนมาได้หลักได้เกณฑ์ใหม่ที่เอาจริงเอาจังเรื่อยๆๆ ทีนี้จิตก็เปลี่ยนไปเรื่อย เรื่องความอัศจรรย์มันก็ไม่ลืมนะ ที่เคยเป็นเบื้องต้น เพราะเป็นมรดก เรียกว่าเป็นต้นทุนเบื้องต้นมันก็ไม่ลืม ไปขนาดไหนมันก็ไม่ลืมต้นทุนของมัน จึงได้นำมาพูดอยู่นี้แหละ นี่การภาวนาสำคัญมาก

         พุทธศาสนาเราส่วนมากไม่มีใครภาวนา แม้แต่พระก็ไม่ได้ภาวนา สนใจอะไรกับภาวนา ไม่สนใจนะ ว่าบวชมารักษาศีลเท่านั้นก็พอแล้ว มีศีลเท่านั้นพอ ภาวนาไม่มี อยู่กันอย่างนั้นละ จะว่ารักษาศีล ศีลดี ศีลบริสุทธิ์ ก็มีเพียงเท่านั้น ไม่ได้สนใจกับภาวนา นู่นผู้ปฏิบัติท่านสนใจภาวนา ท่านได้ความแปลกประหลาดขึ้นมาๆ จึงค่อยกระจายออกไป อย่างหลวงปู่มั่นของเรานี่ละท่านกระจายออกมา ได้รับความแปลกประหลาด ลูกศิษย์ลูกหามากเข้าๆ ฟังอรรถฟังธรรมของท่าน จึงกระจายออกมามากทีเดียว บรรดาลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีมากที่สุดที่เป็นครูเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหามีน้อยเมื่อไร โอ๋ย มาก ต่อจากนั้นก็ค่อยกระจายออกมาทุกวันนี้

         เรื่องภาวนามยปัญญานี่เราพูดเบื้องต้นมาเข้าองค์ภาวนานี่ เวลามันได้รู้ได้เห็นในจิตนี้ โถ พูดไม่ถูกนะ แต่จะปฏิเสธความรู้ความเห็นของตัวเองไม่ได้ มันเป็นขึ้นมาทุกแบบทุกฉบับ ซึ่งเราไม่เคยคาดเคยคิด พอจิตมันค่อยเบิกกว้างๆ กิเลสค่อยจางไปๆ ธรรมก็ค่อยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆๆ ยิ่งจิตมีความละเอียดลออเข้าไปมากเท่าไร มีแต่ธรรมเกิดทั้งนั้นแหละ ธรรมเกิดๆ กิเลสเกิดก็ซัดกันขาดสะบั้นไปเลย กิเลสเกิดที่ไหนขาดสะบั้นไปที่นั่นเมื่อธรรมมีกำลังมากแล้วนะ จนกระทั่งไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลย ไม่มีอะไรมาแสดง นั่นละท่านว่าบรมสุข ไม่มีอะไรมากวนใจ

         พระอรหันต์ตั้งแต่วันท่านบรรลุธรรมถึงขั้นอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดกวนกระทั่งวันท่านนิพพาน เพราะมันหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีในใจ หมด เรื่องทั้งหมดอยู่กับกิเลส กิเลสมีมากมีน้อยจะมีเรื่องของมันอยู่นั้น พออันนี้หมดแล้ว ไม่มี ในใจของพระอรหันต์ไม่มีเลย ก็มีแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรม คิดเรื่องอรรถเรื่องธรรมไปธรรมดาเท่านั้น

         ชาวพุทธเราจึงควรสนใจทางด้านจิตตภาวนาให้มากนะ ท่านทั้งหลายอยากเห็นของแปลกประหลาด ธรรมะพระพุทธเจ้านี้สดๆ ร้อนๆ ตลอดมานะ ท่านจึงให้ชื่อว่าอกาลิโก ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลามาทำลายได้เลย ขอให้ทำลงไปเถอะ ไม่ว่าหญิงว่าชาย นักบวชและฆราวาสทำเป็นธรรมได้ด้วยกันทั้งนั้น จิตไม่มีเพศหญิงเพศชาย รับได้ทั้งบาปทั้งบุญเหมือนกันหมด เมื่อเราทำในทางที่ถูกที่ดีจะรู้ได้เห็นได้ แปลกประหลาดในตัวเองไปโดยลำดับลำดา นั้นละที่นี่ศาสนาเจริญ เจริญที่ใจ

         ใจที่มีจิตตภาวนา มีหลักมีเกณฑ์ ได้เห็นเหตุเห็นผลเท่าไร ยิ่งแน่นหนามั่นคงในการเชื่อศาสนาไปโดยลำดับนะ นี่ละทำธรรมดาตามประเพณีของพ่อแม่ปู่ย่าตายายทำ ทำบุญให้ทานรักษาศีลไปนั้นก็เป็นประเพณีอันหนึ่ง ยังไม่แน่นนะ แต่พอจิตตภาวนาปรากฏขึ้นมาแล้วไม่ว่าการให้ทานรักษาศีลอะไร จะแน่นหนามั่นคงเข้าไปโดยลำดับ และละเอียดลออเข้า พิถีพิถันในวัตถุทานของตนที่จะไปให้ทาน ศีลก็รักษาตัวเอง หากรู้ตัวเอง สะดุดใจ อะไรที่จะทำลายศีลของตนมันหากรู้ของมัน เรื่องหิริโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปจะเกิดขึ้นจากผู้ภาวนา ไม่มีใครบอกก็เป็น เตือนอยู่ภายในใจนั้น

         นี่ละการภาวนาจึงเป็นเครื่องสนับสนุนการทำบุญให้ทานต่างๆ นี้ได้เป็นอย่างดี และแน่นหนามั่นคงเข้าเป็นลำดับ ละเอียดลออเข้าเป็นลำดับ ถ้ามีแต่การทำบุญให้ทานเฉยๆ ได้เรื่องได้บุญไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ได้เหมือนมีภาวนาเป็นเครื่องสนับสนุนเข้าอีก อันนี้มันเกิดความสนใจเข้าทุกอย่าง การให้ทานก็เคยให้ทานมามากน้อย แต่มันยิ่งหนักแน่นเข้าไปอีกเมื่อมีภาวนาเป็นเครื่องสนับสนุน การให้ทาน การรักษาศีล การสำรวมระวังตัวมันจะรู้ของมันเอง ผิดถูกชั่วดีธรรมท่านเตือนอยู่ในใจ อะไรที่ขัดข้องนี้ไม่มีใครบอกก็รู้ มันไม่ฝืนนะฝืนธรรม อันนี้ไม่ควรทำมันหยุดเอง นี่เจ้าของเตือนตัวเอง อยู่กับตัวเองแล้วไปที่ไหนก็มีหิริโอตตัปปะ เป็นผู้สะดุ้งกลัวต่อบาปต่อกรรม เชื่อบาปเชื่อบุญเป็นลำดับลำดาประจำตัวเองนั้นแหละ พากันจำเอานะ

         วันนี้เทศน์ถึงเรื่องภาวนาเสียบ้าง ให้พากันเอาไปประพฤติปฏิบัติ ไม่งั้นมันจะเหลวแหลกแหวกแนวนะ เราช่วยโลกนี้ โอ๊ย เราก็ทนเอานะ ช่วยโลกช่วยสงสารนี้ทนจริงๆ คือเราไม่เอาอะไรเลย ไม่มีอะไรที่เราจะหยิบจะหวังนะ แม้เม็ดหินเม็ดทรายขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วเราพอทุกอย่าง ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง แล้วก็ยังได้อุตส่าห์มาบึกบึน พาพี่น้องทั้งหลายบึกบึนอยู่อย่างที่เห็นนี่ละ ท่านทั้งหลายก็ควรเห็นใจ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาอย่าสร้างเสี้ยนสร้างหนามมากีดกันทาง จะเผาผลาญซึ่งกันและกันในวงลูกศิษย์ลูกหาด้วยกัน

         ให้ต่างคนต่างฟังเสียงครูเสียงอาจารย์ อย่าฟังเสียงแต่ความรู้ความเห็นของตนที่เป็นภัยต่อตนอยู่แล้ว และแสดงออกไปให้เป็นภัยต่อคนอื่น เป็นความเสียมากมายนะ เวลานี้หลวงตาสอนพี่น้องทั้งหลายสอนด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกอย่างให้ดิบให้ดี ไม่ว่าจะนิ่มนวลอ่อนหวาน ไพเราะเพราะพริ้ง หรือเด็ดขาด ดุเดือดขนาดไหนมีแต่ธรรมออก ไม่มีสิ่งที่เป็นข้าศึกออกเลย นี่เราสอนด้วยเจตนาของเราจริงๆ จากความเมตตา ท่านทั้งหลายขอให้เห็นใจ

         ผู้ใดที่ช่วยชาติ-ศาสนามาด้วยกันอย่าไปรังแกกัน อย่าไปกีดขวางกัน อย่าไปหาอุบายโจมตีกัน ต้องช่วยกัน ถ้าผิดตรงไหนแนะกัน ช่วยกันพยุงถึงถูก ไปกีดไปขวางไปทำลายกันอย่างนี้ผิดทั้งเพ ในวงลูกศิษย์หลวงตาบัวขออย่าให้มีเถอะ เที่ยวกีดเที่ยวกัน อยากเด่นอยากดังแต่ตัวแล้วไปทำลายคนอื่น นี่พวกเลว ให้พากันระมัดระวัง อย่าให้มีสิ่งเหล่านี้ คนใดที่จะเด่นจะดังขึ้นมา ไปกีดไปขวาง เราอยากเด่นอยากดังด้วยการกีดขวางของเราที่ไม่ถูกทางนั้นคือจะจม ไม่มีคำว่าจะเด่นจะดัง เป็นทางที่จะล่มจมทั้งนั้น

         ให้ช่วยเหลือกัน สนับสนุนกัน นั่นถึงถูกต้องที่ว่าเราช่วยชาติบ้านเมือง อย่าไปกีดไปขวาง อย่าทำลายกัน ซึ่งผู้หนึ่งกำลังทำเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเรา ให้เห็นอกเห็นใจกัน อย่าไปกีดไปขวาง อย่าเอาชื่อเอาเสียงลามกจกเปรตของตนออกแสดงลวดลายต่างๆ อยากให้เขาเคารพนับถือ มีชื่อมีเสียงว่าคนนี้เก่ง เขาค้านคนนั้น เขาค้านคนนี้ เขาเขียนบัตรรายชื่อได้หลายบัตรหลายชื่อ จะไปเสนอทำลายคนนั้นคนนี้ นี้เป็นเรื่องภัยมหาภัย ขอให้พากันรู้

         ให้หยุดนะ หากมีอยู่ในนี้ให้หยุด ถ้าเราจะฟังเสียงอรรถเสียงธรรม เสียงครูเสียงอาจารย์ เราสละทุกอย่างแล้วมาสอนโลกเวลานี้ เราไม่มีอะไรเสียดาย มีความห่วงใยแต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราก็ทุ่มลงเต็มกำลัง ขออย่าให้มีสิ่งกีดขวาง  ทำลายในสิ่งที่เป็นมงคลของเราซึ่งรักสงวนอยู่ทั่วหน้ากันนี้ ให้ช่วยกันพยุง อย่าไปกีดไปขวาง อย่าเอาชื่อเอานาม อย่าอวดดีอวดเด่น อยากมีชื่อมีเสียงว่าสำนวนโวหารดีให้เขาได้มองหน้าว่าคนนี้เขาดีนะ วาทะเขาดี เขาคิดอุบายอย่างนั้นอย่างนี้ อุบายนี้เป็นอุบายทำลายชาติ ทำลายศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็คืออุบายเพื่อทำลายตนและคนทั้งชาตินั่นเอง

         อย่าพากันนำมาใช้นะ ให้หยุด ถ้าใครทำลงไปแล้วให้หยุด เราพูดไปตามความจริงในหลักธรรมที่สอนโลก เราพูดไว้ให้ทุกอย่างให้พากันเข้าใจ เรากำลังสอนคนเพื่ออุ้มชูโลก อย่ามาทำลายกีดขวางในอุบายวิธีการของเราที่สอนนี้ ซึ่งเป็นการทำลายเราเองด้วย ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไปในตัวด้วย ไม่ใช่ของดี คนนั้นจะสร้างความฉิบหายแก่ตน ด้วยความอยากเด่นอยากดัง อยากให้เขาร่ำเขาลือว่ามีความเฉลียวฉลาดแหลมคมด้วยปาก เหมือนอึ่งร้องแอ็บๆ คืออึ่งธรรมดาอยู่ใต้ดินไม่ค่อยตายง่ายนะ พอโผล่ออกมาฝนตกใหม่ตื่นฝนตื่นฟ้า ออกมาร้องแอ็บๆ อึ่งอ่าง เดี๋ยวเขาจับไปใส่ข้องต้มกินเลย นั่นเพราะปากของมันร้องขึ้นมา อยู่ที่จุดไหนๆ เขาก็ไปจับมาต้มกินเลยๆ

         อันนี้ปากของเราอย่าให้เป็นปากอึ่งทำลายตัวเองนะ และทำลายทั้งส่วนรวมด้วย ไม่ดี ให้พากันฟังให้ถึงใจ หลวงตาสอนอย่างถึงใจทุกอย่าง อุบายวิธีการสอนโลกนี้เราได้พยายามทุกวิถีทาง เราไม่ได้สอนด้วยสุ่มสี่สุ่มห้า หนักเบา หรือคัดค้านต้านทาน หรือเห็นด้วย อะไรไม่เห็นด้วยก็ตาม เราเป็นไปด้วยธรรมทั้งนั้น อย่าเข้ามากีดมาขวางด้วยความไม่เป็นธรรม จะเป็นการทำลายทั้งตัวเราผู้นำนี้ด้วย เป็นการทำลายเพื่อนฝูงที่ช่วยกันพยุงนี้ด้วย จะไม่มีคำดีงามอะไรเลย ให้พากันจดจำทุกคน

         เราพูดให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ต่างคนต่างพยุงมีความพร้อมเพรียงสามัคคี หนุนกำลังซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเรานี้เป็นความถูกต้อง สมกับเราเป็นชาติไทยด้วยกัน และรักชาติด้วยกัน ต่างคนต่างทะนุถนอม ต่างคนต่างรักษาด้วยกัน อย่ามาต่างคนต่างทำลายกันด้วยการกีดการขวางท่านั้นท่านี้ อยากดีอยากเด่นด้วยโวหารของตน นี่โวหารอึ่ง มันจะถูกต้มแหลกไปหมด ให้พากันจำเอา แล้วจะเกิดผลขึ้นมาในตัวเองนั้นแหละ เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านั้น

         ให้พากันจดจำ สรุปความลงจุดนี้แหละ จุดที่ว่าตะกี้นี้ กีดขวางกันและกัน ผู้ที่ทำประโยชน์แก่โลกแก่สงสารแต่ไปกีดไปขวางด้วยความอวดดิบอวดดี ฝีปากของตัวเองนี้ละเป็นปากที่ฉิบหายมาก เสนียดจัญไรมาก ทำลายทั้งครูอาจารย์ผู้พาดำเนิน ทำลายทั้งเพื่อนฝูงและชาติให้แหลกไปตามๆ กัน จำให้ดีนะคำนี้ หากว่ามีเงื่อนใดๆ ที่แปลกประหลาดขึ้นมาดังที่กล่าวนี้ให้หยุดทันที อย่าให้มีเงื่อนต่อ ถ้าเราจับได้เอาอีกนะ เราไม่เหมือนใคร ถ้าลงจับได้ชัดๆ แล้วใส่เปรี้ยงทันทีเลย คอขาดในเวลานั้นเลย เพราะเราช่วยชาติเราช่วยขนาดคอขาด อย่ามาขวางทางเดินนะ เอาละพอ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก