โต้ตอบบ้างเพื่อเป็นคติสำหรับโลก
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 เวลา 8:40 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๗

โต้ตอบบ้างเพื่อเป็นคติสำหรับโลก

 

         (วันที่ ๒ ธันวา พวกทีวีช่อง ๕ เขาจะมาสัมภาษณ์หลวงตาหัวข้อ คนดีแผ่นดินไทย ครับ) เขาจะมาสัมภาษณ์ พวกช่อง ๕ นะเขาจะมาสัมภาษณ์ คงจะมาถามเรื่องราวอะไรๆ กับเรา ที่เกี่ยวกับการช่วยบ้านช่วยเมือง แล้วแต่เขาจะถามมา ถามแง่ไหนๆ ก็ตอบกัน เขาจะเอาเรื่องเหล่านี้แหละท่า ออกทั่วโลก (ผ่านดาวเทียมทั่วโลกครับ) ดูว่างั้น นี่ก็เราพูดไปตามเรื่องของเขา สำหรับเราไม่มีอะไรแล้วแหละ มันคนหมดราคาแล้ว ใครจะยอไปไหนก็เท่านั้น เหยียบไปไหนก็เท่านั้น ไม่มีอะไร ฟังไปตามโลกสมมุติที่มีได้มีเสียมีอะไร ฟังไปก็ทำตามเท่านั้นเอง สำหรับเราๆ พูดจริงๆ เราไม่มีอะไร ก็เอนเอียงไปตามโลกตามสงสารที่จะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดในเวลายังมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง นอกจากนั้นเราก็ไม่เห็นมีอะไร

ที่เขาจะออกอะไรๆ อย่างนี้ที่เราไม่ว่าอะไร เราก็คิดว่าผลลัพธ์คือประโยชน์จะมีส่วนอยู่ในอันนี้บ้าง พอเป็นคติของคนที่ยังรู้จักดีจักชั่วอยู่ ก็จะได้ยึดเป็นคติไปเท่านั้นแหละ สำหรับเรื่องของเราทำอะไรแล้วผ่านไปๆ เราไม่เคยยุ่งกับอะไรนะ ทำไปมันปล่อยไปพร้อมกันเลย พูดให้มันชัดๆ อย่างนี้ นี่ละที่เราสอนโลก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เคยสะทกสะท้านกับสิ่งใด มันก็เหมือนกองมูตรกองคูถ ธรรมะเหนือหมด ผ่านไปธรรมดาๆ ใครจะติจะชมจะอะไรไม่สนใจ สนใจแต่เหตุแต่ผลที่จะเป็นประโยชน์แก่โลกเท่านั้นเอง หากว่าจะมีการโต้ตอบบ้างก็เป็นคติอันหนึ่งสำหรับโลก แน่ะเราคิดอย่างนั้น ถ้าลำพังเราๆ ไม่ตอบ ขี้เกียจตอบ ว่างั้นเลย แต่นี้เราพูดอะไรตอบอะไรนี้ เรามีความมุ่งหมายอยู่ในนั้นๆ เสร็จนะ เราไม่มีอะไรอย่างอื่น สำหรับในตัวของเราเองเราบอกเราไม่มี ใครจะว่าอะไรก็แล้ว

วันที่ ๒ ธันวา เขาจะมาบ่ายสามโมงเหรอ (ครับผม) เขาจะมาสัมภาษณ์มาสนทนาเรื่องการช่วยชาติบ้านเมืองอะไรต่ออะไร เราก็จะอธิบายตามความเป็นจริงของเราที่ก้าวเดินดำเนินไป เขาจะนำออกไปไหนก็แล้วแต่เขา เราก็ไม่สนใจอีกเหมือนกัน

ผู้กำกับ มีปัญหาธรรมะจากเว็บไซค์หลวงตาครับ

คนที่ ๑ เมื่อตั้งมั่นดู รู้อยู่ที่จิต จะเห็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แล้วแปรปรวนไป ถึงที่สุดของอารมณ์เหล่านั้นก็แค่นั้น ดับทั้งหมด  ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้  เหลือแต่ความรู้ว่างที่ใจเท่านั้น จากนั้นลูกจึงตั้งสติรู้อยู่ที่ว่าว่างนั้น มันก็ไม่มีอะไรเกิด อะไรดับ ไม่มีอะไรที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงให้เราดูเจ้าค่ะ ถึงจุดนี้ เราหมั่นรู้ด้วยสติกับจิตนี้ตลอด ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ เราเอาสติจ่อที่จิตที่ว่างอย่างนี้จะถูกผิดอย่างไรเพื่อความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงเจ้าค่ะ หลวงตาโปรดแนะนำลูกด้วย (จาก สลัดบาร์)

หลวงตา ที่พิจารณานี้ถูกต้องแล้ว นี่ละที่ว่าให้เอาสติจ่อลงไปที่จิต จิตนี้เป็นมหาเหตุ เกิดตลอดเวลา โลกธาตุนี้เกิดจากอันนี้เป็นตัวผู้ให้ความหมายดีชั่วต่างๆ แล้วก่อความเดือดร้อนเสียหายมาใส่ตัว ถ้าไม่มีสติมันจะคิดของมันอย่างนั้นตลอดเวลา นี้เป็นโรงงานใหญ่ของวัฏจักร ความหมุนเวียนของจิตก็เพื่อความเกิดตาย ความทุกข์ความลำบากพัวพันไปตามกันนั้นแหละ จึงเรียกว่าจิตนี้เป็นมหาเหตุ มหาเหตุอันนี้ในเบื้องต้นเป็นเรื่องของกิเลสทำงาน แสดงอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจ เมื่อธรรมยังไม่เข้าไปจ่อกันก็ไม่มีเรื่องของธรรม คือคำว่ามหาเหตุ มีทั้งเหตุทั้งของกิเลสทั้งของธรรมอยู่ด้วยกัน แต่เริ่มแรกนี้ธรรมจะยังไม่ค่อยได้แสดงตัวนัก มีแต่กิเลสเป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ภายในจิตใจ

ทีนี้พอสติเราตั้งไปนั้นเรียกว่าให้ดูจิตตัวเองที่เป็นมหาเหตุ พอดูนี้แล้วความคิดผิดถูกดีชั่วมันจะแสดงมาจากนั้น ทีนี้มันก็รู้กัน พอสติมีเข้าไป ความคิดทั้งหลายก็ค่อยหดย่นเข้ามา เพราะสติเป็นเครื่องหักห้าม ถ้ามีสติแล้วหักห้ามความคิดความปรุงต่างๆ ได้เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งกลั่นกรองเป็นความคิดดีคิดชั่ว คิดอะไรผิดนี้ปัดออกทันที คิดถูกเสริมขึ้นมา นั่น ที่พูดเหล่านี้ถูกต้องแล้ว เพื่อความพ้นทุกข์ก็อย่าหนีจุดนี้ ให้พิจารณานี้ ความพ้นทุกข์จะอยู่ที่นี่ เพราะทุกข์อยู่ที่นี่ พ้นทุกข์พ้นที่นี่เอง พ้นที่จิตเป็นตัวมหาเหตุ ด้วยการพินิจพิจารณาทางด้านจิตตภาวนา ถูกต้องแล้ว เอาเท่านั้นไม่เอามาก คนนี้ภาวนารู้สึกสำคัญอยู่มากนะ

ผู้กำกับ คนที่ ๒ ครับ

ดิฉันนั่งสมาธิ ขณะที่จิตเป็นสมาธิไม่ได้คิดอะไร ก็ได้ยินเสียงในสมาธิบอกว่าให้พิจารณาธาตุทั้งสี่ (เออ ถูกต้องแล้ว) ดิฉันกำลังจะเริ่มพิจารณาก็ได้ไปเห็นอวัยวะภายในตับไตไส้พุง ดิฉันรู้สึกตกใจเพราะไม่เคยเห็น ก็ถามออกไปว่าเห็นแล้วได้อะไร ภาพนั้นก็หายไป ดิฉันควรจะทำอย่างไรเจ้าคะ และที่ทำอยู่นี้ไม่ได้เป็นการส่งจิตออกนอกใช่ไหมเจ้าคะ ดิฉันกราบขอรบกวนเวลาของหลวงตาด้วยเจ้าค่ะ (จาก เสาวคนธ์)

หลวงตา พิจารณาอย่างนั้นแหละ ได้อะไรไม่ได้อะไรมันก็ได้สิ่งที่พิจารณาอยู่นั้นแหละ เข้าใจเหรอ มันได้มันเสียอยู่กับการพิจารณานั่นแหละ ถ้าพิจารณาอย่างนี้เรียกว่าได้ ได้อรรถได้ธรรม ได้คติตัวอย่างอันดีงามเข้ามาใช้ อันนี้ก็ดีรองกันลงมาอยู่ (ไม่เป็นการส่งจิตออกนอกใช่ไหมครับ) พิจารณาอยู่ในร่างกายเรานี้นั้น เรียกว่าไม่ออกนอกแหละ อยู่ในวงอริยสัจ เข้าใจเหรอ อริยสัจเป็นเครื่องตรัสรู้ เป็นเครื่องบรรลุธรรม เป็นเครื่องบุกเบิกกิเลสออกเพื่อรู้ธรรมเห็นธรรม ไม่ผิด ไม่ออก ยิ่งอยู่ในวงกายมากเท่าไรก็ยิ่งจะแตกกระจายออกไปมากนะ ใครพิจารณาเรื่องร่างกายให้มากเข้าไปเวลาพิจารณานะ เวลาสงบก็ให้สงบ ตีตะล่อมจิตเข้ามาด้วยสติ ให้มีความสงบเย็น พอสงบแล้วออกจากความสงบนั้นใช้ทางด้านปัญญา พินิจพิจารณาเรื่องร่างกายเป็นสำคัญมาก เมื่อพิจารณาร่างกาย ความรู้แปลกๆ ต่างๆ มันจะพิสดารออกไป จึงว่าไม่ออก ก็ออกไปหาอริยสัจ ออกก็อยู่ในร่างกาย ไม่เรียกว่าออก เข้าใจเหรอ เอ้า ว่าไป

ผู้กำกับ คนที่ ๓ ครับ

วิธีที่1 ผมนั่งท่อง พุทโธ พร้อมกับมองร่างกายภายนอกตั้งแต่ช่วงคอลงไปถึงขา นั่งไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย รู้แต่ร่างกายเท่านั้น ถ้าเป็นวิธีนี้ผมจะรู้สึกว่าจับแต่ร่างกาย แล้วก็ไม่เคยพิจารณาให้เป็นซากศพอะไรเลย ในบางวันก็จะจับอวัยวะบางส่วนไปเลย เช่นมือที่ซ้อนอยู่บนตัก หรือปลายจมูก แต่ไม่เคยมองเห็นร่างกายเหมือนตาเนื้อ เป็นแต่เพียงความรู้สึกเท่านั้น

         วิธีที่2 ผมจับความรู้สึกตามลมหายใจ พร้อมท่องพุทโธ เหมือนว่าผมบังคับลมให้มันละเอียด คือมันละเอียดลงจริง แต่เหมือนผมบังคับมัน แล้วพอนานๆ มันจะหดสั้นมาก เหมือนเข้าไปแค่ช่วงยอดอก หรือไหปลาร้า ลมหายใจก็สั้น

         ส่วนวิธีที่สาม ผมจะใช้คล้ายจินตนาการ ว่าตัวเองอีกคนหนึ่งนั่งซ้อนอยู่ในกายนี้ แล้วมองร่างกายทะลุออกมา เหมือนร่างกายเป็นถ้ำหรือถุงที่ครอบอยู่

         ผมกราบนมัสการเรียนถามว่าผมควรฝึกทางใดดีที่สุด และที่ปฏิบัติมานี้ถูกต้องหรือไม่ครับ (จาก เก่ง)

หลวงตา เขาบอกเฉยๆ ว่าวิธีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ความจริงก็เป็นอาการของจิตที่เที่ยวเดินอยู่ตามสรรพางค์ร่างกาย หรือตามวิธีการต่างๆ ที่เขาเล่ามานี้ มันเป็นอาการของจิตเท่านั้น แต่เรียกเป็นวิธีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามไปเฉยๆ  เราอย่าเอามากำหนด เอามาเป็นอารมณ์ วิธีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม เหล่านี้เป็นอาการของจิตอันเดียวกันที่พิจารณาไป แล้วแต่มันจะถนัดทางไหนเวลาใด มันก็ออกของมันไปอย่างนั้น ไม่ผิด แต่วิธีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ไม่จำเป็นจะต้องมาพูดแหละ มันวิ่งมันเกี่ยวโยงกันอยู่ เอ้า มีอะไรอีก

ผู้กำกับ คนที่ ๔ ครับ

หนูพยายามมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก  จิตใจข้างในมีความปลอดโปร่ง และมีปีติออกมาจากภายใน  แต่อยู่ๆ ก็มีจิตเป็นอกุศลมาแทรกในหัว บ้างเป็นคำปรามาสแรงๆ ว่าพระพุทธองค์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง  แต่ในใจเนื้อแท้แล้วหนูมีแต่ความสำนึกในพระมหากรุณา พระเมตตาของพระพุทธองค์ กลัวตัวเองร่วงลงนรก พยายามไม่ใส่ใจ มันก็เหมือนยิ่งอยากท้ากับมโนสำนึก หนูพยายามวางจิตเป็นอุเบกขา คิดว่านี่ไม่ใช่จิตเรา หนูไม่มีเจตนาอย่างนั้นจริงๆ แต่มันไม่สำเร็จ ไม่ทราบว่าหนูควรจะเจริญสติอย่างไรถึงจะขจัดอกุศลจิตนี้ออกไปได้   รบกวนหลวงตาได้โปรดเมตตาชี้แนะหนูด้วยค่ะ (จาก เป็นทุกข์)

หลวงตา ไอ้เรื่องอย่างนี้มันมีอยู่ทั่วๆ ไป นอกจากไม่นำมาพูด เรื่องอาการของจิต กิเลสกับธรรมอยู่ด้วยกันมันฟัดกันอยู่ในนั้นละ เรากำลังภาวนาพุทโธๆ มันไปตีพุทโธออก ส่วนมากมีแต่มันตีพุทโธออก แต่ไม่ได้บอกว่ามันด่าพุทโธเท่านั้น เข้าใจไหม อาการเหล่านี้มันมีเหมือนกัน อย่าไปถือเป็นอารมณ์ก็แล้วกัน มันจะเป็นอาการอะไรก็ให้ทราบไปตามอาการของมัน อย่าไปถือว่าหนักว่าเบา ว่าผิดว่าถูก ถ้าคิดจะตั้งท่าใส่มัน มันก็ตั้งท่าสู้เรา ก็เรานั้นแหละสู้เรา เท่านั้นละ

ผู้กำกับ คนที่ ๕ ครับ

ลูกมีงานที่ต้องรับผิดชอบมาก เพียงหมั่นดูอะไรเกิดอะไรดับที่จิต รู้สึกอยู่เช่นนี้บ่อยๆ จิตจะเห็นทุกข์โทษของการเข้าไปยินดียินร้ายกับอารมณ์ หรือความคิดปรุงแต่งจิตจึงว่าง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ในจุดนี้  จะบังคับให้ว่างนานๆ ก็ไม่ได้ ได้เป็นขณะ กราบเรียนถามว่า การหมั่นเพียรรู้สึกที่กาย-ใจบ่อยๆ นี้ จะเป็นการประมาทนอนใจที่ไม่ได้นั่งสมาธิ เดินจงกรมเหมือนคนอื่นหรือไม่ เและการที่เราจะตัดสินใจว่า เราจะเลือกทำงานที่ไหนที่จะดีที่สุดกับเรา  เราควรจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์การตัดสินเจ้าค่ะ  หลวงตาโปรดเมตตาด้วยค่ะ

หลวงตา ขี้เกียจตอบ ไม่อยากตอบ ไม่ค่อยมีสาระอะไรละพูดตรง ๆ

ผู้กำกับ คนที่ ๖ นะครับ

กระผมปฏิบัติโดยการตามรู้ลมหายใจ และกำกับด้วยคำบริกรรม พุทโธ ทุกคืน กลางวันผมจะตามรู้เวทนา สัญญา และสังขารที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเวทนา สัญญา หรือสังขารใดเกิดขึ้น ถ้าผมมีสติดีพอกระผมก็จะรู้เห็นอาการนั้นขึ้นมาชัด และเห็นเหมือนอาการนั้นๆ เป็นก้อนอะไรสักก้อนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเอง และอาศัยอยู่ภายในกายนี้ และเห็นว่ากายนี้ก็สักแต่กาย จิต ลมหายใจ อาการต่างๆ ก็ต่างอยู่ของมันเอง ในการนั่งภาวนาทุกวันใจมีสงบบ้าง แต่สมาธิไม่ค่อยจะแน่นหนาสักเท่าไหร่ แต่สติถือว่าใช้ได้ ผมเลยขอเรียนถามหลวงตาว่า ผมควรจะทำสมาธิให้มากกว่านี้เสียก่อนหรือไม่  และผมปฏิบัติถูกหรือไม่ครับ

หลวงตา ทำสมาธิให้มากดี ถ้าจิตสงบแล้วมันก็สะดวกสบาย มีทางคิดอ่านไตร่ตรองได้ ให้ทำความสงบละมากดี ส่วนมากมันไม่ค่อยสงบ ตั้งพื้นฐานในความสงบแล้วดี เท่านั้นละ

ผู้กำกับ  คนที่ ๗ ครับ อันนี้เขาเป็นโรคร้าย โรคเอดส์ กราบเรียนถามมา

หลวงตา โรคเอดส์ โรคคึกโรคคะนอง โรคบ้ากาม เข้าใจไหม โรคเอดส์นี่เป็นโรคบ้ากาม

ผู้กำกับ เขาถามมา ๓ ข้อนะครับ

ข้อที่ ๑ ฉันได้ติดโรคร้าย ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน ขอท่านอาจารย์อธิบาย เกี่ยวกับเรื่องพลังของจิตของธรรมที่ใช้ได้ผล ฉันจะปฏิบัติตามอย่างที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลวงตา ไม่อธิบายขี้เกียจ ตั้งแต่ได้ยินว่าเอดส์ๆ เราก็กลัวแล้วจะวิ่งข้ามทวีปนู่น หยุดไม่เอา

ผู้กำกับ ข้อที่ ๒ ฉันเป็นคนฐานะยากจน แต่ฉันก็ไม่เคยเสียดายที่จะสละทองคำ เงินดอลลาร์ และเงินสด เพื่อร่วมทำบุญกับท่านอาจารย์ แต่ทำไมชีวิตของฉันตอนนี้มันย่ำแย่มาก แทบจะหาทางออกไม่เห็น ฉันได้ทำการค้าชนิดหนึ่ง ฉันจะทุ่มเทให้กับมัน ขอท่านอาจารย์โปรดเมตตาพิจารณาให้ หากมันเป็นการขวางทางและเสียเวลา ฉันจะข้ามมันไปเพื่อตัดสินใจกับชีวิตในขั้นต่อไป

หลวงตา จะเอาอะไรมาเสียดายก็มันยากจน มันไม่มีใช้พอที่จะให้เสียดาย เศรษฐีต่างหากมีมากแต่ไม่อยากให้ทาน มันเสียดาย อันนี้ไม่มีอะไรจะเอาอะไรไปเสียดาย

ผู้กำกับ ข้อที่ ๓ นะครับ ระยะใดที่ภาวนาดีก็รู้สึกเย็นใจ แต่ระยะนี้ภาวนาไม่ดี แต่ก็รักษาศีล ๕ ขอท่านอาจารย์ชี้นำเพิ่มเติมในสิ่งที่ควร

หลวงตา ให้พยายามภาวนาเข้าไปเรื่อยๆ ซิ เอะอะก็จะให้ดีเลิศยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าได้ยังไง พระพุทธเจ้าภาวนาแทบเป็นแทบตาย ก็ให้ภาวนาเข้าไปซิ เท่านั้นแล้ว อะไรที่ควรพูดก็พูด ไม่ควรพูดก็ไม่อยากฟัง

ผู้กำกับ รายนี้เขาจะรอฟังคำตอบทางวิทยุตอนส่งไปนี่ครับ

ขอกราบองค์หลวงตา หลานมีปัญหาทางจิต คือหลานได้ฟังเทศน์หลวงตา ทางวิทยุ หลานจึงลองนั่งสมาธิปฏิบัติตามที่องค์หลวงตาบอก นั่งขัดสมาธิ หลานก็เริ่มระลึก พุทโธ พุทโธ พอเริ่มระลึกเท่านั้น ไม่รู้ความคิดปรุงมันมาจากไหน หลั่งไหลมา ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรต่ออะไรมากมาย จนหลานต้องรีบลืมตาและนั่งดูเจ้าความคิดที่มันเกิดขึ้นแทน พุทโธ ที่หลานระลึกไว้ตรงกลางอก ประมาณ ๒ นาที ที่หลานนั่งลืมตาดูความคิดที่ปรุงแต่งทั้งหลาย อยู่ๆ มันก็หยุด หลานจึงรีบเอาพุทโธแทนที่เข้าไปตรงที่คิด คือกลางอก และนั่งดู พุทโธๆ ในขณะนั้นจิตของหลานก็เห็นการแยกกันระหว่างจิตกับกาย กายเป็นการรวมตัวของธาตุที่เกิดภาวะความสมดุล จึงตั้งอยู่ได้ ส่วนจิตก็มาอาศัยเกาะอยู่ในก้อนธาตุ ทุกอย่างแสดงความเป็นจริงของตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนของที่ถูกเปิดออก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนถูกปิดบังไว้อย่างมิดชิด ตอนนี้เวลาหลานนั่งภาวนา จิตของหลานก็จะเห็นแต่ความไม่จีรังของกาย และรู้สึกหวาดกลัวทางข้างหน้า ถ้าหลานปฏิบัติต่อไปไม่ได้ หลานจึงกราบขอเรียนถามองค์หลวงตา ว่าหลานควรจะปฏิบัติต่อไปยังไง จิตหลานขณะนี้ ไม่ว่าจะนั่งภาวนา หรือไม่ภาวนาก็ตาม ไม่เลือกกาล สถานที่ เวลาจิตจะแยกความเป็นจริงให้เห็น ไม่ว่าเรื่องของกาย ของจิตจะเกิดขึ้นให้หลานได้ดู ได้เห็นบ่อยขึ้น และถี่ขึ้น

หลานจึงขอเมตตาว่าหลานควรจะปฏิบัติต่อไปยังไง จึงจะเจริญก้าวหน้า เพื่อความพ้นจากการเวียนว่าย ตายเกิด กราบขอองค์หลวงตา เมตตาอนุเคราะห์หลานผู้ไม่รู้ทางเดินด้วย

ขอกราบองค์หลวงตาในบุญคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านได้ให้ไว้แก่ผู้เดินทาง

                                      หลานผู้คอยความเมตตา

        หลวงตา ภาวนาพุทโธให้มาก ความคิดที่มันยุ่มย่ามๆ จะค่อยสงบไป พุทโธมากๆ จิตตั้งอยู่กับคำว่าพุทโธ ๆ ไม่แส่ออกไปให้อารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นมา ให้ภาวนาคำบริกรรมมากๆ เรื่องเหล่านั้นจะจางไป ถ้าคำบริกรรมจางเมื่อไรแล้วอันอื่นเข้าทันทีๆ ก็มีเท่านั้นละ (จบแล้วครับ)

         การภาวนานี่พิสดารมากนะ คือพอสติจ่อเข้าไปหาจิตที่เป็นต้นเหตุของมหาเหตุ มากเท่าไรแล้วมันจะรู้เรื่องรู้ราว ทีนี้แตกกระจายออกไปเรื่อยเลย เพราะฉะนั้นการภาวนาจึงรู้เหตุการณ์ได้ดี เพราะจ่อเข้าไปมหาเหตุ ที่มันไขว่มันคว้าอะไรต่ออะไร พอจับเข้าไปนี้แล้วเรื่องเหล่านั้นจะสงบเข้ามา ออกคราวหลังนี้เป็นธรรมออกเรื่อยๆ เป็นธรรมล้วนๆ ไปเลย นั่นมันต่างกันนะ ความคิดธรรมดากับความคิดที่เกิดขึ้นจากจิตตภาวนาต่างกัน ความคิดธรรมดาเป็นความคิดของกิเลส ความคิด ความรู้ ความเห็น เกิดขึ้นจากการภาวนานี้เป็นความรู้ความเห็นของธรรม เพื่อแก้ตัวเองไปเรื่อยๆ เอาเท่านั้นวันนี้

        

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก