ตั้งจิตได้ด้วยสติ
วันที่ 24 ตุลาคม 2547 เวลา 8:50 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

ตั้งจิตได้ด้วยสติ

 

ก่อนจังหัน

จีวรพระดูซิ นี่ละพระพุทธเจ้า พระสาวกท่าน ท่านครองอย่างนี้ดูเอา ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไปเที่ยวเก็บมาตามถนนหนทาง ตามป่าช้า มาเย็บปะติดปะต่อกัน และทรงอนุญาตเป็นพิเศษด้วย ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิได้มาปะมาชุนอย่างนี้ร้อยชั้น เราตถาตตให้ปะให้ชุนลงไป ฟังซิร้อยชั้นเราตถาคตอนุญาต นั่นละคุณค่าของธรรมเหล่านี้เป็นปุ๋ยเป็นเครื่องประดับ ไอ้สวยๆ งามๆ มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจให้ดีดให้ดิ้นตลอดเวลา อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี อันนั้นไม่สวย อันนี้ไม่งาม หัวใจมันดิ้นเป็นไฟมันจะเอาอะไรมางาม ท่านทำอย่างนั้นของท่าน ดูเอาพระนั่น เราถึงใจนะ นี่ละผ้าขี้ริ้วห่อทองดูเอาซิ  หาสวยหางามที่ไหนภายนอก เพียงอาศัยไปวันหนึ่งๆ ให้สวยงามภายใน เย็นภายใน อัศจรรย์ภายใน

ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่อัศจรรย์มาจากภายใน ไม่ได้มาเป็นเครื่องประดับร้านอะไรนะ ให้พากันพิจารณา ถือพุทธศาสนา ทั้งพระทั้งฆราวาสถือมาด้วยกัน แต่ไม่เห็นสาระของศาสนายิ่งกว่าเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นมูตรเป็นคูถเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ทั่วโลกดินแดน เห็นอันนั้นเป็นของดิบของดีไปเสีย โลกจึงหาความสุขไม่ได้ มีตั้งแต่ความทุกข์ความทรมาน ไปที่ไหนมองดูแล้ว โอ๋ย ดูไม่ได้ เพราะดิ้นไปตามกิเลส กิเลสคือความดีดความดิ้นความทะเยอทะยาน ความได้ไม่พอ เรียกว่าหิวตลอดได้แก่กิเลส ธรรมะนี้อิ่มตลอดๆ เรียกว่าธรรมเข้าประดับใจบ้างซิ มีแต่เรื่องภายนอกมาประดับตึกรามบ้านช่อง ประดับตัว ประดับทุกสิ่งทุกอย่างอะไรให้สวยให้งามไปหมด ภายนอกให้งาม ภายในไม่ได้ดู มันมีอะไรอยู่ภายใน มันร้อน มันเป็นฟืนเป็นไฟ คือกิเลสอยู่ภายใน

ให้พากันตกแต่งภายในคือจิตให้ดี ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนดี สิ่งใดที่ธรรมท่านบอกไว้ว่าผิดอย่าทำ เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตอย่าฝืนครู อย่าเหยียบหัวครูไปด้วยการฝ่าฝืนล่วงเกิน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป อย่างนี้ไม่ใช่ลูกศิษย์ มันพวกเปรตพวกผี ให้พากันระมัดระวัง ให้ประดับกายวาจาใจความประพฤติของตนให้ดี มนุษย์เราจะดีที่หัวใจ ขอรวมลงเลยทีเดียวว่า ในโลกธาตุนี้ที่ทุกข์แสนสาหัสไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนเลยในสามแดนโลกธาตุนี้คือใจ และในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรที่จะสุขยิ่งไปกว่าใจ มีเท่านั้น ความสุขและความทุกข์ลงอยู่ที่ใจแห่งเดียวแม่น้ำมหาสมุทรสุดสาครกว้างแคบขนาดไหน ความสุขความทุกข์ไม่ได้ไปอยู่ ไม่ได้ไปเผาสิ่งเหล่านั้น มาเผาที่จิตใจของมนุษย์ผู้ไม่รู้จักอายบาปนั่นแหละ แล้วก็มาส่งเสริมมนุษย์ผู้รู้จักบุญจักคุณจักความดีงามผู้มีธรรมในใจ พากันจำเอานะ

วันพระวันเจ้านี้เรียกวันทางพุทธศาสนาเรา เป็นวันละวันปล่อยงานยุ่งยากของการทำมาหาเลี้ยงชีพเข้าสู่จิตใจ คือบำรุงธรรมภายในจิตใจ นี่เรียกว่าบำรุงธรรม วันเช่นนี้เป็นวันว่าง ที่อื่นเขานิยมวันเสาร์วันอาทิตย์ว่าเป็นวันว่าง ว่างเพื่อศาสนาของเขา เราก็มีสมบัติเป็นของเรา เราก็ว่างเพื่อศาสนาของเรา เช่น วันเสาร์ วันอาทิตย์ เขาว่างของเขา เราก็ให้ว่างเพื่ออรรถเพื่อธรรมของเรา วัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ก็ให้เป็นวันว่างตามหลักพุทธศาสนา ให้มีเขตมีแดน อย่าเตลิดเปิดเปิง เลอะเทอะไปหมดนะ เวลานี้ศาสนาจะไม่มีติดตัวแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธเราซึ่งได้ศาสนาที่เลิศเลอมาครองหัวใจ แต่ใจไม่ยอมรับ สู้มูตรสู้คูถคือความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา ความทะเยอทะยานไม่ได้ มันจึงดิ้นไปหาอย่างนั้น พากันจำเอานะ

วันพระวันเจ้า วันเสาร์ วันอาทิตย์ ควรเป็นวันว่างงานสำหรับภายนอก การทำมาหาเลี้ยงชีพต้องดีดต้องดิ้น เพราะธาตุขันธ์มีความบกพร่องต้องการอยู่ตลอดเวลา เราต้องได้ขวนขวายหามาเพื่อเขา ไม่เช่นนั้นก็เป็นทุกข์ในเราเอง วันเช่นนี้ให้เป็นวันว่าง เสาร์ก็ดี อาทิตย์ก็ดี วันพระ วัน ๗ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ก็ดี นี้เป็นวันขวนขวายอรรถธรรมเข้าสู่ใจเพื่อความร่มเย็น ให้พากันจดจำเอาไว้ มันจะขี้เกียจขี้คร้านขนาดไหนก็ตาม นั่นคือเรื่องของกิเลสฉุดลากเราลงทางต่ำ เราฝืนมันมาจนได้

มันจะหาเรื่องว่าไม่ว่างอย่างนั้นไม่ว่างอย่างนี้ ก็สวนหมัดมันเข้าไปซิ บทเวลาตายทำไมมันว่าง มันเอาว่างมาจากไหน คนตายทั่วโลกมันเอาว่างมาจากไหนก็ว่าอย่างนั้นซิ เวลามีชีวิตอยู่ไม่ว่างๆ ทำไมไม่ว่าง ให้ว่างั้นซิ นี่เรียกว่าสวนหมัดกัน เวลาตายมันว่างด้วยกันทุกคน นี้เรายังไม่ตายเราจะให้ว่างเพื่อความดีงามทั้งหลายสำหรับเรา นี่เรียกว่าถูกต้อง เอาละให้พร

 

หลังจังหัน

         ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องผ้าบังสุกุล เห็นไหมพระท่านนั่งอยู่นั่น นั่นละคติตัวอย่างหรือประเพณีของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล องค์ท่านนั่งอยู่นั่นดูเอา พระพุทธเจ้าทรงชมเชยด้วยนะ ยกย่องด้วย คิดดูผ้าบังสุกุลอย่างผ้าสังฆาฏินี้ได้มาปะมาชุนแม้ร้อยชั้น เราตถาคตก็อนุญาต ฟังซิ ปะชุนๆ จนกระทั่งถึงร้อยชั้นทรงอนุญาต ผ้าบังสุกุลหาเก็บตามที่ต่างๆ มาปะติดปะต่อเย็บกัน ออกใช้ๆ ท่านไม่ได้ฟุ่มเฟือย คือจิตใจท่านเป็นธรรมแล้วชนะหมดทุกอย่างภายในใจ ผู้ที่ยังไม่ได้ธรรมประเภทนั้นท่านก็กระหยิ่มต่อธรรมประเภทนั้น จึงไม่สนใจกับสิ่งทั้งหลาย พออาศัยไปวันหนึ่งๆ

การอยู่การกินของพระพุทธเจ้าเวลาทรงบำเพ็ญ ใครจะไปขาดแคลนยิ่งกว่าองค์ศาสดา เสด็จออกจากพระราชวังเข้าป่าเลย ทรงบิณฑบาตขอทานเขากิน ในครั้งนั้นศาสนาพุทธยังไม่มี เขาก็ให้ทานตามนิสัยของเขา ท่านไปเที่ยวบิณฑบาตโดยที่เขาเห็นนักบวช คงจะเป็นพวกฤาษีพวกอะไรอย่างนี้ ในครั้งนั้นที่ไม่มีศาสนา นักบวชส่วนมากจะพวกฤาษีดาบส ท่านก็ไปแบบนั้นละ บิณฑบาตได้มามองดูในบาตรจะเสวยไม่ได้ คือจะฉันไม่ได้เลยกับพระองค์ที่เคยฝังลึกในพระทัยจากความเป็นพระมหากษัตริย์ ทุกสิ่งทุกอย่างเครื่องบำรุงบำเรอสมบูรณ์บริบูรณ์ ทีนี้ออกไปอยู่เช่นนั้นแล้ว ได้ของขอทานเขามา แล้วมองดูในบาตร ลำไส้มันขดมันโขมันดีดมันดิ้นไม่อยากรับ สะอิดสะเอียน

พระองค์ก็เทียบปุ๊บเข้าไป ของเหล่านี้ชาวบ้านทั่วโลกเขากินได้ ทำไมเราอยู่ในโลกชาวบ้านเขาจะกินไม่ได้ อยู่ข้างนอกนี่เป็นของควรแก่กินอยู่แล้ว ทางภายในนี้ไม่ใช่เป็นของควรแก่กิน เป็นของเลวที่สุดแล้ว เข้าไปนี้ก็ไปคลุกเคล้ากับอันนี้เองจะเป็นอะไร นั่นท่านเทียบนี้สกปรกกว่านั้น ท่านสอนท่านเอง เพราะฉะนั้นความไม่หรูหราฟู่ฟ่าจึงเป็นการพอกพูนอรรถธรรมความสงบร่มเย็นได้ดี ไม่ดีดไม่ดิ้น ผ้ามีจีวร สบง สังฆาฏิ เท่านั้นพอ ผ้าอาบน้ำทรงบัญญัติทีหลัง นั่นละศาสนาท่านสอนไม่ให้ฟุ่มเฟือยภายนอก ให้สนใจความดีงาม ระมัดระวังรักษาตนทางภายใน แล้วจิตใจก็เย็น มีมากมีน้อยเย็นอยู่ภายในใจแล้วเย็นไปหมดนะ

อยู่ในป่าในเขาผู้ที่มุ่งอรรถมุ่งธรรม ท่านไม่ใช่เป็นผู้สมบูรณ์พูนผล ขาดแคลน และขาดแคลนที่สุดก็คือผู้อยู่ในป่า แต่ที่สมบูรณ์โดยลำดับลำดาก็คืออยู่ในป่าสมบูรณ์ในธรรมภายในจิตใจ ชุ่มเย็นอยู่ในนั้น สิ่งเหล่านั้นเพียงอาศัย ท่านไม่เป็นอารมณ์ยิ่งกว่าอารมณ์ภายในใจของท่านกับธรรม ท่านปฏิบัติมาอย่างนั้น พอมองเห็นพระที่นั่งอยู่จึงบอกให้มองไปดูที่นั่น นั่นละครั้งพุทธกาลเป็นอย่างนั้นแหละ ปะๆ ชุนๆ เต็มเนื้อเต็มตัว มีมากมีน้อยท่านไม่ค่อยสนใจอะไรนัก พอเป็นไปเท่านั้นพอ นั่นละพระผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมไม่ใช่พระผู้เหลือเฟือ ผู้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมอะไรแหละ นี่ละแบบครั้งพุทธกาลที่พระท่านครองอยู่นั้น นั่นละครั้งพุทธกาลเป็นอย่างนั้น ในตำรับตำราบอกไว้ชัดเจน ท่านไม่เหลือเฟือ ท่านไม่ฟุ่มเฟือย

ความไม่ฟุ่มเฟือยนี้ตัดความกังวลออกได้มาก อยู่เย็นสบายไม่ดีดไม่ดิ้น ได้อะไรมาก็ไม่พอๆ มีแต่ความดีดความดิ้นของใจ ได้เท่าไรไม่พอ ขึ้นชื่อว่าได้มาให้กิเลสแล้วไม่พอทั้งนั้น ไม่เหมือนได้อรรถได้ธรรมภายในจิตใจ อยู่ที่ไหนก็พอตัวตามขั้นภูมิของธรรมเรื่อยๆ มีทุนมีรอนหนุนอยู่ที่ใจ เสาะแสวงหาใหม่เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ทุนรอนคือความเอิบอิ่มภายในใจขยับเข้าไป ละเอียดเข้าไปๆ เรื่อย ธรรมภายในใจเป็นอย่างนั้น ท่านอยู่ในป่าในเขา

ทุกวันนี้กลายเป็นกรรมฐานปลอมไปมากแล้ว ไม่เป็นเนื้อแท้เหมือนสมัยพ่อแม่ครูจารย์มั่นพาอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เหลือเฟืออะไรเลย อยู่อย่างขาดๆ เขินๆ ตามประสาชาวบ้าน แต่ความสมบูรณ์พูนผลอยู่กับท่าน ท่านสมบูรณ์ภายในใจด้วยธรรม ข้างนอกท่านไม่ค่อยสนใจอะไรละ ดูซิบริขารของหลวงปู่มั่นที่พิพิธภัณฑ์เห็นไหม รอยปะรอยชุน พับเอาไว้ให้เป็นตัวอย่าง นั่นละท่านเป็นอย่างนั้นมา ท่านปะท่านชุนของท่านเรื่อย ท่านไม่ดีดไม่ดิ้น ได้มาเท่าไรแจกทานไปเรื่อย ท่านไม่สนใจ ผู้เสาะแสวงหาธรรมย่อมเป็นผู้สงบเย็น ภายนอกไม่ยุ่ง ไม่ยุ่งทั้งนั้น

เดี๋ยวนี้กิเลสมันเข้ามาเหยียบศาสนา เหยียบวัดวาอาวาสจนแหลกเหลวไปหมด เราดูอย่างวัดป่าบ้านตาด เราก็พยายามรักษาเข้มงวดกวดขันเรื่อยมา ดูซิมันก็เลอะเทอะไปอย่างนั้นละ เลอะไปหมดเลยมองไม่ทัน เห็นอยู่ในวัดเรานี้เอง เพราะเราเข้มงวดกวดขันกับสิ่งเหล่านี้ตลอดมา การก่อการสร้างยุ่งเหยิงวุ่นวายไม่ให้ทำ หมุนติ้วกับการภาวนา สติติดแนบกับจิต สติปัญญา ความพากเพียรติดอยู่กับใจตลอดเวลา ภายนอกเพียงอาศัยเท่านั้น ทีนี้ทางภายในเมื่อได้รับการบำรุงรักษาก็เจริญขึ้นๆ จิตใจก็สง่าผ่าเผยขึ้นมา

คุณค่าที่ไหนสู้ใจไม่ได้ นั่นเห็นไหมล่ะ คุณค่าสิ่งภายนอกที่โลกทั้งหลายดีดดิ้นกันนั้นท่านปัดออกๆ สู้คุณค่าภายในใจไม่ได้ คุณค่าภายในใจนี้เย็นด้วย สง่างามเอิบอิ่มภายในจิตใจตลอดเวลา ท่านไม่บกพร่อง นั่นละผู้เสาะแสวงหาธรรมท่านเป็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเหมือนพวกเราทั้งหลาย ทุกวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง โอ๋ย ท่วมเข้ามาๆ ดูซิผ้าแต่ก่อนก็อย่างว่า เดี๋ยวนี้โรงงานมีสักกี่โรงงาน ผ้าที่ไหนเกลื่อนเข้ามา มาจากโรงงานต่างๆ ทั้งนั้น มองดูตามห้างตามร้านไม่มีของผลิตขึ้นด้วยฝีมือตัวเอง มีแต่จากโรงงานๆ เต็มไปหมด มันก็ทำให้คนฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมมากขึ้นๆ ทุกสิ่งทุกอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่จิตใจแห้งผากๆ ด้วยความหิวโหยดีดดิ้นกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีวันอิ่มพอ ดิ้นตลอดเวลาหาความสงบเย็นใจไม่มี มีแต่ความดีดดิ้นกับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นเครื่องเสริมไฟทั้งนั้น

แต่ก่อน นี่เราก็มาพูดเสียบ้าง แต่ก่อนเราก็เป็นเหมือนพระองค์นั้น จนกระทั่งท่านอาจารย์บุญมา อยู่บ้านสามผง เราไปเที่ยวกรรมฐานไปพักอยู่ที่บ้านสามผง พักชั่วคราวนะ สำนักนั้นท่านมีพระหลายองค์ เป็นสำนักใหญ่พอสมควรวัดบ้านสามผง พ่อแม่ครูจารย์ไปสร้างวัดที่นั่น แล้วขยับเข้าไปข้างในหน่อย แต่ก่อนท่านอยู่ที่นี่มันก็ลึกพอแล้ว ครั้นนานมาบ้านเรือนขยายออกไปๆ เลยขยับวัดเข้าไปข้างใน เวลาเราไปพักที่นั่นท่านมาเห็น โหย มันยังไงกันนี่ ท่านเห็นผ้าเรา มหาปะ มหาชุน มหาตาบ (ตาบ=ปะ,ชุน) มองดูชิ้นไหนๆ เครื่องบริขารเหมือนเสือดาว ท่านว่าอย่างนั้น มันด่างมันดาวเพราะปะชุน นี้เราเคยทำมาแล้ว ก็มาเปลี่ยนแปลงเอาตอนนี้ละ มาเหลือเฟืออยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จีวรไม่ทราบกี่ผืน สบงไม่ทราบกี่ผืน ไม่คำนึงคำนวณเลย มันท่วมเข้ามาๆ

จีวรแต่ก่อนก็ใช้สามผืนเท่านั้น มีจีวร สบง สังฆาฏิ มีเท่านั้นนอกนั้นไม่เอาเลยเป็นปรกติ แล้วก็ปะๆ ชุนๆ อย่างที่ว่าแหละ ไม่ว่าผืนใดเอามา จนกระทั่งท่านอาจารย์บุญมาไปจับ เอ้า มาดูซินี่ ดูซิดูบริขารมหาปะมหาชุนมหาตาบ ดูซินี่มีไหมในวัดเรา ท่านไปจับเอาจีวรเราออกมาให้พระเณรดู เราเลยไม่ลืม เครื่องบริขารอะไรๆ นี้ ดูเอาซิมีไหมในวัดเรา นี่ท่านเป็นมหาดูซิน่ะ ท่านสนใจกับสิ่งอะไรเหล่านี้ไหมล่ะ ดูซิ เราไม่ลืม ท่านประกาศพระเณรในวัดนั้นเลย เอ้า ดู ใครไม่เคยเห็นมหาปะมหาชุนดูเอา เครื่องบริขารอะไรๆ ทั้งปะทั้งชุนไปอย่างนั้นละ นี้เราเคยปฏิบัติมาอย่างนั้น

แต่เวลามาอยู่วัดป่าบ้านตาด เปลี่ยนเสียเป็นคนละโลกไปเลย จีวรก็ไม่ทราบกี่ผืน สบง เครื่องใช้ไม้สอยได้ตีเอาไว้ๆ มองไม่ทันมันไหลเข้ามาๆ ตีออกๆ เรียกว่าเหลือเฟือฟุ้งเฟ้อ เลอะเทอะ วัดป่าบ้านตาดเป็นวัดที่เลอะเทอะมากทุกวันนี้ ดูที่ไหนก็เลอะเทอะมากทีเดียว เราเคยปฏิบัติเราเคยรักษามาอย่างเข้มงวดกวดขัน มันก็ล่วงไหลเข้ามาอย่างนี้แหละ เดี๋ยวนี้เลยดูไม่ได้ เลอะเทอะไปหมดเลย เราแก่มาแล้วเราก็ปล่อยอีกเหมือนกัน ไม่สนใจกับอะไร เฉยไปเลยเดี๋ยวนี้ มองไม่ทันแหละ ปล่อยเลย มันจะมีอะไรมาไม่มีอะไรมา ปล่อย มองดูอะไรนี้มันขวางตลอดเลย เฉยเสียๆ คือขวางธรรมนั่นละ เลอะเทอะที่สุดคือวัดป่าบ้านตาด

ไปในครัวนี้ก็จะเลอะเทอะที่สุดนะ คนอยู่ในครัวเป็นจำนวนร้อยๆ จะไม่ให้เลอะเทอะได้ยังไง มีข้อวัตรปฏิบัติหรือมีเครื่องหมายของธรรมหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือมีแต่ความเลอะเทอะ มีแต่มูตรแต่คูถเต็มอยู่ในครัวก็ได้ ในวัด พระท่านก็รักษาของท่านอยู่ข้างใน ท่านเรียบร้อยตลอดเพราะเราเดินผ่านไปมา และท่านก็ตั้งหน้าตั้งตามาปฏิบัติ เรื่องความเลอะเทอะอย่างนั้นไม่ค่อยมีในวัดนี้ เข้าไปข้างในมีแต่ทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เงียบกันทั้งวันๆ อยู่นั้นเป็นประจำนะ วัดนี้อ่อนไม่ได้อ่อนเรื่องภาวนา ถูกไล่หนีเลยนะเรา

การช่วยโลกสงสารเป็นกาลอนุโลมผ่อนผัน เราก็อนุโลมผ่อนผัน แต่ส่วนที่รักที่สงวนมากที่สุดคือธรรม เรารักเราสงวนมาก เข้มงวดกวดขันมากทีเดียว เพราะฉะนั้นพระท่านมาอยู่นี้จึงให้ท่านอยู่สบายๆ ไม่ให้ท่านมายุ่งข้างนอกอะไรเลย ให้ท่านบำเพ็ญทางด้านธรรมะ ด้านธรรมะที่จะเห็นประจักษ์ใจนี้คือการภาวนา การภาวนาคือเอาสติดูใจตัวเอง ผู้ที่ตั้งรากฐานเบื้องต้นตั้งยังไม่ได้ ให้เอาคำบริกรรมจะเอาคำใดก็ตามแต่จริตนิสัยชอบ เช่น พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ ได้ทั้งนั้นตามแต่จริตนิสัยชอบ อานาปานสติก็ได้ มรณัสสติก็ได้ ให้สติติดอยู่กับคำบริกรรม

เอา ใครอยากจะตั้งตัวได้ให้ปฏิบัติตามที่กล่าวนี้ ยืนยันได้เลย รับรองได้เลย เราเคยปฏิบัติมาแล้ว ไม่ใช่นำมาสอนนี้ไม่เคยปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็เคยปฏิบัติเต็มพระองค์มาแล้วสอนโลก เราก็ปฏิบัติต่อตัวของเราเต็มกำลังความสามารถมาแล้ว ก่อนที่จะมาสอนลูกศิษย์ลูกหา เพราะฉะนั้นการถอดออกมาแต่ละคำ ออกมาจากที่เราผ่านมาแล้วๆ ทั้งผลบวกผลลบ อะไรไม่ดีถือเป็นครูอันหนึ่ง อะไรดีถือเป็นครูอันหน่ง จัดอยู่ภายในตัวเอง ปฏิบัติมา

เช่นอย่างการกำหนดภาวนา ใครอยากตั้งตัวได้ ยืนยันเลยว่าสติเป็นของสำคัญ กิเลสจะหนาแน่นเต็มหัวอกก็ตาม มันผลักมันดันออกทางสังขาร ความคิดความปรุงจะออกทางสังขาร อวิชชานั้นเป็นรังใหญ่ของกิเลส มันผลักมันดันออกมาให้คิดให้ปรุง ให้อยากรู้อยากเห็นอยากได้ยินได้ฟัง มีตั้งแต่เรื่องความอยากออกมาจากกิเลสอวิชชาทั้งนั้น อยากคิดอยากปรุงตลอดเวลา นี่ละทางเดินของกิเลสหาผลประโยชน์สำหรับมัน แต่หาฟืนไฟมาเผาสัตว์โลก เป็นอย่างนี้ประจำ ทีนี้เวลาเราฝึกภาวนาเพื่อจะให้ได้หลักได้เกณฑ์ ตั้งหลัก

เริ่มต้นก็คือจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ นั่นแหละ จึงได้หาเหตุหาผลค้นคว้าเรื่องราวเป็นยังไง จิตนี้บึกบึนมา ๑๔-๑๕ วัน สงบเย็นอยู่ภายในสองคืนหรือสามคืน แล้วถอยกรูดกลิ้งลงไปเลยหาสิ่งคัดค้านต้านทานไม่ได้ เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา เป็นยังไงมันจึงเป็นอย่างนี้ จึงมาสงสัยถึงเรื่องการตั้งสติ เราก็ตั้งสติอยู่ พยายามเต็มกำลังความสามารถ แต่ก็ยังเจริญแล้วเสื่อมๆ เป็นมานานแล้ว อาจจะเป็นเพราะขาดคำบริกรรมก็ได้ เอาคำบริกรรมมาติดกับจิตแล้วเอาสติติดกับจิตไม่ยอมให้มันคิด ให้มันคิดอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว วินิจฉัยใคร่ครวญตัวเอง ทดสอบดูหาผลได้ผลเสีย แล้วจะยึดเอาหลักถูกต้องดีงามมาใช้ จึงต้องได้ตั้งคำบริกรรม

ตั้งคำบริกรรมแล้วเอาสติจับกับคำบริกรรม ไม่ยอมให้มันคิดไปทางไหน มันจะอยากจนอกจะแตกก็ไม่ยอมให้คิด ให้คิดแต่คำว่าพุทโธๆ นี่ก็เป็นความคิด แต่ความคิดนี้เป็นธรรม ความคิดของกิเลสเป็นกิเลส เป็นฟืนเป็นไฟ ปัดออกหมดความคิดทั้งหลายที่เคยคิดมามากน้อย ทีนี้จะให้คิดอยู่กับธรรมบทเดียวนี้เท่านั้น แต่นิสัยเรานี้รู้สึกว่าจะผิดใครมากอยู่นะ คือเป็นนิสัยจริงจังมาก ถ้าว่าอะไรลงใจแล้วเอาจริงๆ ด้วยนะ นี่ก็วินิจฉัยใคร่ครวญก็มาลงกันจุดที่ขาดคำบริกรรม สติไม่ได้ติดอยู่กับคำบริกรรม และไม่ได้บังคับจิตไว้ให้อยู่นิ่งสงบได้ กิเลสจึงสนุกสนานผลักดันออกมาคิดปรุงได้ตามต้องการ

เอ้าทีนี้ปิดทางเดินของกิเลส คือความคิดความปรุง จะเอาความคิดความปรุงคือพุทโธที่เป็นด้านธรรมะนี้แทน จากนี้ก็ลงใจแล้ว ใคร่ครวญมาทุกสิ่งทุกอย่างมาลงจุดนี้ ลงจุดที่เราจะต้องใช้คำบริกรรมติดกับจิตตลอดไปเลย สติติดแนบกับคำบริกรรม ไม่ยอมให้ความคิดนี้คิดไปไหนเป็นอันขาด ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจนกระทั่งเห็นเหตุเห็นผลกัน ในระยะนี้จะไม่ยอมให้เผลอเลย จะเอาแต่คำบริกรรม เอาละ นั่นลงใจแล้ว เอาละที่นี่จะเอาแบบนี้ เหมือนหนึ่งว่าระฆังให้สัญญาณนักมวยต่อยกัน พอระฆังดังเป๋งนักมวยก็ซัดกันเลย

ที่นี่เอาละนะ นั่นคือระฆังดังเป๋งแล้วนะนั่น เอาละนะก็พุทโธเลย ติดแนบเลยที่นี่ไม่ยอมให้เผลอ ตั้งแต่ตื่นนอนไม่ให้เผลอจนกระทั่งหลับ ไม่ให้เผลอเลย หนักหรือไม่หนัก อกจะแตกนะ นี่ได้ทำมาแล้ว มันผลักมันดันมันอยากคิดอยากปรุง อยากคิดมากขนาดไหนพุทโธแน่นเข้าไปๆ สติติดแนบเข้าไป ถ้าเป็นนักมวยเหมือนเขาต่อยกันล้มลุกคลุกคลาน แต่ความเผลอสติของฝ่ายนักมวยไม่ยอมให้เผลอ อันนี้ความเผลอสติที่จะให้สังขารขึ้นเหยียบหัวไปนั้นไม่ให้เผลอ เอาพุทโธติดแนบๆ เหมือนหนึ่งว่าล้มลุกคลุกคลาน เอา ไม่ยอมให้เผลอ ไม่เผลอจนได้นั่นแหละ เอาได้ทั้งวัน วันนั้นเหมือนอกจะแตก

ท่านทั้งหลายฟังนะ เบื้องต้นที่เราจะตั้งรากตั้งฐานได้ เหมือนอกจะแตกจริงๆ คือสังขารมันอยากปรุงอยากคิดนี้มันดันออกๆๆ ทางนี้ก็บังคับด้วยพุทโธๆ กับสติติดแนบทั้งวัน วันนั้นชัดเจนมากทีเดียว เหมือนอกจะแตก ไม่ให้เผลอจนกระทั่งหลับ พอตื่นนอนขึ้นมาปุ๊บจับปั๊บเลยไม่ให้เผลออีก ไม่ให้เผลอเลยทั้งวัน ขณะเดียวก็ไม่ให้มี นี่ละทุกข์มากนะ การตั้งสตินี้ทุกข์มากที่สุดเหมือนอกจะแตก ในวันแรกนี้เหมือนอกจะแตกจริงๆ วันหลังมาค่อยเบานิดหนึ่งๆ แต่ความเผลอไม่ยอมให้เผลอ ติดกันไปหลายวันมันก็ค่อยเบาลงๆ ความผลักดันของความคิดปรุงนี้ค่อยเบาลงๆ ทีนี้ความสงบเย็นอยู่กับพุทโธนี้เย็นสบายๆ หนักเข้าๆ เอาจนกระทั่งคำบริกรรม เรานึกพุทโธๆ เมื่อจิตเข้าถึงขั้นละเอียดเต็มที่แล้ว คำบริกรรมนี้หายเลย นึกยังไงก็ไม่ออก หมดโดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดอยู่ในนั้น แล้วเกิดงงตัวเอง ถึงงงก็ไม่ยอมให้เผลอ

เราบริกรรมมาตลอดเวลาไม่ให้เผลอ ทีนี้คำบริกรรมก็ไม่มีแล้วเราจะทำยังไง ทางนี้ก็ตัดสินขึ้นมาเดี๋ยวนั้น เอ้า คำบริกรรมไม่มีให้สติติดแนบอยู่กับความรู้ที่ละเอียดนั้น บริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้องบริกรรม แต่ให้สติจับอยู่นั้นแทนคำบริกรรม ติดอยู่กับความรู้นั้น บังคับไว้ ทีนี้พอได้เวลาพอสมควรแล้วมันก็คลี่คลายออกมา พอนึกพุทโธได้บริกรรมได้ เอาพุทโธติดเข้าไปอีกอย่างเดิมๆ ทีนี้ก็เลยรู้จักวิธีปฏิบัติ ถึงขั้นมันหมดความปรุงนี้หมดจริงๆ นะ หมดเลย คิดยังไงก็ไม่ออก เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียด เอาสติจับไว้ตรงนั้นแทนคำบริกรรม พอมันคลี่คลายออกมาบริกรรมได้ เอาคำบริกรรมติดเข้าไป ทีนี้ก็เลยรู้จักวิธีปฏิบัติ พอมันถึงขั้นของมันเต็มที่แล้วบริกรรมไม่ได้นะ หมด มันเข้าสู่ความละเอียด เอ้า ละเอียดก็ให้สติติดอยู่นั้นแทน เอาสติติดแทนคำบริกรรมอยู่นั้น ต่อไปจิตก็ค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้น ค่อยสงบเย็นๆ

แต่เรื่องเผลอไม่ให้เผลอนะ วันไหนก็วันนั้นอยู่อย่างนั้นเลย เรียกว่าจับกันติดตายกันเลย จึงได้เหตุได้ผลจากจิตใจ ขอให้มีสติเถอะว่าอย่างนั้นเลย มันหัวอกจะแตก สติไม่เผลอเสียอย่างเดียวกิเลสออกทำงานไม่ได้ นั่น บังคับไว้ต่อไปมันก็สงบของมันเอง จากนั้นมาจิตก็ค่อยเจริญขึ้นๆ

สตินี้เอาสุดเหวี่ยงๆ เลย จนกระทั่งจิตขึ้นถึงขั้นที่เจริญได้สองสามคืนแล้วเสื่อม ไปถึงนี้ เอ้า เสื่อมก็ปล่อยเจริญก็ปล่อย เราเคยเป็นกังวลกับมันมามากต่อมากแล้ว เราจะเอาแต่พุทโธคำบริกรรมกับสติอย่างเดียวเท่านั้น เอ้า เสื่อมเสื่อมไป เจริญเจริญไปไม่ต้องเป็นอารมณ์กับมัน พอไปถึงนั้นแล้วมันไม่เสื่อม มันค่อยก้าวขึ้นๆๆ ถึงขั้นที่เคยเสื่อมไม่เสื่อมขึ้นเรื่อยๆๆ จนกระทั่งแน่ใจว่ามันขึ้นเรื่อยๆ ไม่เสื่อม ถึงได้ อ๋อ จิตของเราที่มันเสื่อมนี้เสื่อมเพราะขาดคำบริกรรม ขาดสติไม่ติดแนบกันตลอดไป นั่น มันขาดวรรคขาดตอนจิตเสื่อมได้ตรงนี้เอง นั่น ก็จับได้ จากนั้นจิตก็ก้าวเรื่อยๆๆ เลย

นี่เราพูดตั้งแต่ฐานเบื้องต้นที่จะตั้งจิตได้นี้ ตั้งจากคำบริกรรมด้วยสตินะ จากนั้นก็ขึ้นเรื่อยๆ เราไม่พูดต่อไปนะ เอาฐานเบื้องต้นนี้ก่อน เพราะฉะนั้นผู้ใดเป็นนักภาวนาที่ต้องการจะตั้งรากตั้งฐานให้จิต เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิชชาวิมุตติขึ้นแล้ว ให้ตั้งสติให้ดี สติดีเท่าไร กิเลสจะมากขนาดไหนก็ตาม ออกไม่ได้ สติมีอำนาจมากกว่านั้น ถ้าสติไม่เผลอกิเลสออกไม่ได้ สติบังคับไว้กิเลสออกไม่ได้ กิเลสสงบตัวลงจิตก็ตั้งรากตั้งฐานได้เลย จนกระทั่งก้าวขึ้นๆ ทีนี้ไม่เสื่อมๆ ทะลุเรื่อยๆ แหละ เรียกว่าไม่พูดแหละตอนนั้นเข้าใจแล้ว ตอนเบื้องต้นนี่เป็นสำคัญมาก

นักภาวนาอย่าทำแบบเลื่อนๆ ลอยๆ นะ ให้มีความจริงทุกอย่าง ถ้าลงได้ปักลงในความจริงแล้ว ขาดสะบั้นไปเลย เอ้า ตั้งได้ ตั้งจิตตั้งได้ ให้จำเอานะ ความเลิศเลอทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าไปหาที่ไหน หลวงตาบัวยันได้เลยเชียว พระพุทธเจ้าท่านเลิศจากที่ไหนไม่สงสัยเลย เพราะจับได้แล้ว พระพุทธเจ้าเจริญที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหนก็ไม่สงสัย เพราะเราได้ก้าวเดินอย่างนั้นๆ มันเป็นอันเดียวกันรู้อย่างเดียวกันเห็นอย่างเดียวกัน จนกระทั่งโลกนี้ขาดสะบั้นไปหมดหายสงสัย พูดแล้วสาธุขึ้นทันทีเลย แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถามท่าน นั่นเห็นไหมล่ะ เวลามันกระจ่างชัดเจนแล้ว สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัตินั้นแลจะเป็นผู้รู้เองเห็นเองในผลแห่งการปฏิบัติของตน

นี้คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศเอง เป็นคำเด็ดขาด ทีนี้เมื่อรู้ขึ้นมาแล้วยังจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าอยู่ คำว่า สันทิฏฐิโก ก็ไม่มีความหมาย ทีนี้เวลามันไปเจอตรงนั้นผางเข้ามาเสียทีเดียวเท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถาม เห็นไหมล่ะ สันทิฏฐิโก เด็ดขาดแล้ว ยอมรับ เป็นอย่างนั้นนะ

นี่ละการปฏิบัติตนเอง แล้วทีนี้สุดท้ายความเลิศเลอมาอยู่กับหัวใจหมด โลกธาตุไม่มีความหมายอะไรเลย ครอบไปหมดเลย เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากการก่อสร้างความทุกข์ด้วยกิเลสตัณหาทั้งหลายฉุดลากไปนี้ ไม่มีทุกข์อะไรที่จะแน่นหัวอกยิ่งกว่าความทุกข์มีอยู่ภายในใจ โลกสงสารไม่ได้มีทุกข์ ดินฟ้าอากาศกว้างแคบเขาไม่มีความหมาย เขาไม่มีทุกข์ เป็นทุกข์อยู่ที่หัวใจที่กิเลสสร้างขึ้นมา พอฆ่ากิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีทุกข์ที่ไหนเลย และสุขมีอยู่ที่หัวใจดวงเดียว เลิศเลออยู่ที่หัวใจดวงเดียวนี้เท่านั้น นั่นละพระพุทธเจ้าเลิศเลออยู่ที่จุดนั้น จึงนำความเลิศเลอมาสอนโลก อย่าปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายต่อหน้าต่อตา เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปด้วยกันก็ไม่รู้เพราะเราเผลอน่ะซิ เราประมาทนอนใจ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ประมาทนอนก็เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป

นี่ละผู้ที่จะตั้งใจให้มีรากมีฐานจริงๆ เอาตามนี้เถอะ อย่างไรต้องได้ว่างั้นสำหรับพระปฏิบัติเรานะ ไม่เป็นอย่างอื่น เราได้ดำเนินมาแล้ว ที่พูดมานี้พูดด้วยวิธีการดำเนินมาแล้ว ทดสอบมาหมดแล้วตั้งได้ๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ มาจากสติเป็นของสำคัญ ถ้าสติไม่ยอมให้ขาดวรรคขาดตอนกิเลสจะออกทำงานไม่ได้ มันจะมีมากขนาดไหนทำงานไม่ได้ ถ้าสติมักจะเผลอบ่อยๆๆๆ มันเป็นยังไงตั้งไม่อยู่ๆ เพราะอะไร หาวิธีบำรุงสติอีก เช่นพระท่านอดข้าวท่านอดนอนอย่างนี้ ท่านบำรุงสติ เวลาอดข้าวเข้าไป สติมันล้มลุกคลุกคลาน ตั้งแล้วล้มๆ พอเราอดอาหารเข้าไป อาหารน้อยสติดีขึ้นๆๆ จับได้ นั่น เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจึงมักอดอาหารบ่อยๆ พระภาวนานะ เพราะตั้งสติได้ดีๆ การอดอาหาร หรืออดนอนผ่อนอาหารวิธีการใดก็ตาม ถ้าได้สติได้ผลนะ ท่านมักจะทำในทางนั้นวิธีนั้น

พระวัดป่าบ้านตาดมักจะอดอาหารเสียมากต่อมาก ก็เพราะท่านได้อุบายวิธีการอย่างนี้ เรานี่ละเป็นหัวหน้าที่พูดให้ฟัง แต่เราบอกว่าที่มาพูดให้หมู่เพื่อนฟังนี้ก็บอกตรงๆ เราบอกตรงๆ นี้ไม่ใช่คำสั่ง นี้ไม่ใช่คำสอน แต่เป็นคำบอกเล่าจากวิธีการต่างๆ ที่เราเคยปฏิบัติตัวมา วิธีไหนได้ผลดีไม่ได้ผลดี เราสังเกตตัวเองในวิธีนั้นๆ เรามักจะมาได้ในการอดอาหาร เวลาอดอาหารแล้วสติก็ดีๆ ปัญญาก็คล่องตัว จึงเร่งบำรุงจิตใจด้วยวิธีการอดอาหารบ่อยๆ ตลอดมา

สำหรับเราได้ผลประโยชน์จากการอดอาหารมากกว่าวิธีอื่น นี้เป็นแต่เพียงคำบอกเล่าเราบอก ไม่ใช่คำสั่งให้ทำอย่างนั้น ไม่ใช่คำสอน สอนให้ทำอย่างนั้น แต่เป็นคำบอกเล่าจากวิธีการที่ตนปฏิบัติมา แล้วแต่ท่านผู้ใดจะยึดเอาไปพินิจพิจารณาปฏิบัติ ไม่บีบไม่บังคับเพราะไม่ใช่คำสั่งคำสอน ว่าอย่างนั้นนะ ส่วนมากก็มีแต่อย่างนั้นละพระเรา วันนี้ก็ขาดไปตั้ง ๒๐ กว่าองค์

นี่ละวิธีการมันมักจะมาถูกเรื่องอดอาหารมากกว่าอย่างอื่น เพราะการอดอาหาร อาหารนี่เป็นสำคัญเป็นเครื่องส่งเสริมร่างกาย ร่างกายมีกำลังกิเลสตัณหาก็มีขึ้นมา ราคะตัณหาก็ขึ้นตรงนั้น ตัดอันนี้ลงไปราคะตัณหาอ่อนลงไม่กวนใจ พิจารณาได้สะดวกสบาย เพราะฉะนั้นท่านจึงมักจะทำวิธีนี้ จนกระทั่งราคะตัณหาไม่กวนใจๆ จากวิธีนี้ท่านก็ซัดแต่วิธีนี้เรื่อย นั่น ให้พากันจำเอานะ เอาจนกระทั่งมันขาดสะบั้นไปเลย ไม่มีราคะตัณหาตัวไหนที่จะมาผ่านหน้าผ่านตามันก็รู้เองในหัวใจ เมื่อมันตายอย่างสนิทแล้วจะเอาอะไรมาผ่าน เมื่อมันยังอยู่มันก็ผ่านเข้าใจไหม ฆ่าแม่มันแล้วลูกมันยังอยู่ มันก็ยั้วเยี้ยๆ เหมือนไก่ ฆ่าแม่ตายลูกไก่ก็ดิ้นเพ่นพ่านๆ ทีนี้ฆ่ากิเลสตายแล้วจะเอาอะไรมาดิ้นวะ พูดเท่านั้นละวันนี้

วันนี้ก็พูดย่อๆ หากเอาหลักธรรมสำคัญๆ มาสอนนะวันนี้จำให้ดี เป็นคำที่เรายืนยันจากเรา เราปฏิบัติได้ผลมาแล้วถึงสอนอย่างนี้

ให้ไหลซึมมาเรื่อยนะทองคำ ให้ไหลซึมมาเรื่อยนะ อย่าขาดนะ ฤดูนี้เป็นฤดูทองคำไหลซึม ไม่ใช่เป็นฤดูขาดสะบั้นนะ ให้ทองคำไหลซึมๆ เพื่อคลังหลวงของเราจะได้หนุนขึ้นๆ จากการช่วยชาติคราวนี้ซึ่งเป็นคราวที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของชาติไทยเราคือคราวนี้ เพราะฉะนั้นทองคำจึงควรมีหนุนกันไป เอาให้พร

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก