เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
วาระสุดท้ายของสมมุติ
ก่อนจังหัน
พระให้เร่งภาวนานะ ในพรรษาเป็นโอกาสดีมากไม่ค่อยมีธุระอะไร ออกพรรษาแล้วหากมีนั่นแหละเรื่องที่จะยุ่ง เรื่องยุ่งคือเรื่องกิเลส เรื่องไม่ยุ่งคือธรรม จะมีน้อยลงโดยลำดับนะเรื่องอรรถเรื่องธรรมภายในใจ การฝึกฝนอบรมจิตใจเป็นสิ่งที่ดีและเลิศเลอเป็นลำดับลำดา การไม่ฝึกฝนอบรมนี้เสียหายมาก ดูซิโลกเวลานี้กว้างขนาดไหน เกิดศึกสงครามฆ่าฟันรันแทง ร้อนไปหมดทุกหย่อมหญ้า เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะกิเลส ต่างคนต่างไปเรียนเรื่องกิเลสมา และสั่งสมกิเลสขึ้นเต็มหัวใจแล้วก็ฟัดกันเหมือนหมา เรียนว่าเรียนรู้เรียนฉลาด มันฉลาดอะไรกัดกันเหมือนหมา
ถ้าเรียนรู้เพื่อความเฉลียวฉลาด เห็นไหมพระพุทธเจ้า เคยเห็นพระพุทธเจ้าที่ไหนยกทัพตีกันฆ่ากันฟันกัน พระอรหันต์ท่านยกทัพฆ่ากันฟันกันทำลายกันเผากัน เคยมีที่ไหน นี้หลักธรรมคือความร่มเย็นแก่โลก นอกจากนั้นเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้กันหมด ใครจะเรียนมามากมาน้อยไม่เห็นมีความหมายอะไร ไปเรียนเรื่องกิเลสเอามาก็เป็นเครื่องมือของกิเลสเสียทั้งหมด เผากัน เผาตัวเองนั้นแหละ เผากันและกันร้อนกันไปหมดนะ
ถ้าหากว่าเป็นของพอบิณฑบาตได้ หลวงตาบัวอยากจะขอบิณฑบาตทั้งโลก ขอบิณฑบาตไม่มากนักละนะ ขอบิณฑบาตวิชาหมา อย่าเอามากัดกันเท่านั้นแหละนะ ขอให้เอาวิชาคนมาปฏิบัติต่อกัน จะเห็นอกเห็นใจกัน มีความเมตตาสงสารกันโดยลำดับลำดา ถ้าเป็นวิชาของกิเลสจะไม่คุ้นกับใคร มีแต่จะกัดจะกินจะฉีกกันตลอดเวลา นี่เคยเป็นมานมนานแล้ว เวลานี้ยิ่งหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับ ธรรมที่เป็นน้ำดับไฟรู้สึกว่ามีน้อยลงๆ ไม่ว่าที่ไหนๆ เฉพาะอย่างยิ่งคือชาวพุทธเรา ไม่ทราบว่าชาวพุทธมาอยู่ที่จุดไหนตรงไหน มองไปที่ไหนเห็นแต่ฟืนแต่ไฟ วิชาพุทธไม่เห็นมี มีแต่วิชาหมากัดกันเท่านั้น มีทุกแห่งทุกหน
กิเลสแทรกเข้าไปตรงไหนเป็นฟืนเป็นไฟนะ ไม่เห็นภัยของกิเลส ว่าเรียนธรรมปฏิบัติธรรมแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม มันเรียนเฉยๆ เรียนวิชาของกิเลสแล้วก็เอามากัดกันอีก พระก็เลยกลายเป็นหมากัดกัน นี่เห็นไหมล่ะวิชาของกิเลสเข้าไปตรงไหน พระแท้ๆ กลายเป็นหมากัดกันได้เห็นไหมล่ะ นี่ละวิชากิเลสมันเข้าตรงไหน คนก็กลายเป็นหมา พระก็กลายเป็นหมาไปได้ ถ้าธรรมเข้าที่ตรงไหน หมาก็น่ารัก คนก็น่ารัก ไปที่ไหนยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน สมัครสมานกัน นี่คือวิชาธรรม นี่ละไอ้เรื่องที่จะกัดจะฉีกเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มีแต่มองกันด้วยแง่แห่งความสงสารให้อภัยกันเท่านั้น นี้เรียกว่าธรรม ขอให้นำไปปฏิบัติ เราขอบิณฑบาตเพียงเท่านี้ไม่เอามากละ เอาในเมืองไทยเราเท่านี้ เมืองไทยนี้เป็นเมืองพุทธ แทนที่จะเป็นพุทธมันกลายเป็นผีกันไปหมดแล้วเวลานี้ เอาละให้พร
หลังจังหัน
ขาซ้ายหนักมาก ขาขวาพอเป็นไปพออดพอทน แต่ขาซ้ายนี่หนักมาก อย่างนี้มันก็ออกทางอินเตอร์เน็ตให้โลกเขาได้เห็น โลกเต็มอยู่ด้วยของอย่างนี้ มีอยู่ทุกแบบในตัวบุคคลและสัตว์ มีอยู่ทั่วไปได้คนละแบบๆ สองแบบสามแบบ บางคนโรคเต็มตัว หลายชนิดเต็มตัว นี่ละธรรมพระพุทธเจ้า คือเห็นอย่างชัดๆ ประจักษ์กับหัวใจ เราได้เคยพูดในบรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน แบบคำพูดในครอบครัวถึงเรื่องภาคปฏิบัติ จิตใจเวลายังไม่ได้รับการอบรมนี้ โลกธาตุนี้มันแบกหมดเลย มันยึดมันถือหมด เป็นกองทุกข์ทั้งนั้นๆ เต็มไปด้วยกันหมด คือมันหากมี ชั่วมันก็ติด ดีมันก็ติด ไม่ใช่ติดแต่ดีนะ ชั่วก็ติด เช่นเคียดแค้นให้ใครต่อใคร วันนั้นเคียดแค้นได้ทั้งวัน แน่ะ มันติด ไปรักใครชอบใครนี้คิดได้รักได้ทั้งวัน แน่ะมันติด ทั้งรักทั้งชังมันติดได้ทั้งนั้น เรียกว่ากินไม่เลือกคือกิเลส
ทีนี้เวลาธรรมแทรกปั๊บเข้าไปนี้จะเริ่มรู้ตัว คือจิตของเราไม่เคยได้ปลงใจลงได้ เที่ยวไขว่คว้าโน้นคว้านี้เต็มไปด้วยกองทุกข์ และความเพลินไปตามนั้นเป็นเหยื่อล่อให้ดีดให้ดิ้นไปตาม ทีนี้พอจิตสงบลงได้ด้วยการภาวนา ความยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้หดเข้ามา จิตสงบๆ เพราะเอาธรรมเป็นเครื่องดึงดูด เราภาวนาคำบริกรรมใดก็ได้ เช่น อานาปานสติ กำหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก ดูลม แล้วก็หดย่นเข้ามาๆ สิ่งทั้งหลายย่นเข้ามาๆ ลมละเอียดเข้าไปๆ อารมณ์ภายนอกหมดไปๆ ยังเหลือแต่ลมละเอียด ลมที่ละเอียดก็ชวนให้เพลินไปตามความละเอียดของลม
เวลาสงบเต็มกำลังในฐานะของจิตขั้นนั้นๆ แล้วมันเย็นไปหมดนะ ทีนี้กลับมาเห็นโทษของความวุ่นวาย เพราะมีคุณขึ้นรับกันแล้ว แต่ก่อนไม่เห็นคุณ โทษข้างนอกมีอยู่เต็มตัวก็ไม่เห็น พอเห็นคุณนี้ก็เริ่มเห็นโทษข้างนอกแล้วค่อยปล่อยเข้ามา อันนี้ดึงดูดเข้ามาๆ เรียกว่าธรรมความสงบเย็น ดึงดูดเข้ามาๆ ภายนอกก็ค่อยจางไปๆ จางไปเรื่อยๆ ธรรมละเอียดเข้าไปเท่าไรๆ จิตยิ่งดื่มธรรมๆ และปล่อยเข้ามาๆ นี่เราสรุปภาคปฏิบัตินะ พอปล่อยเข้ามา ทางนี้ได้เกาะยึดมั่นเข้าไปๆ ละเอียดลออสุขเข้าไป แปลกประหลาดอัศจรรย์เข้าไปเรื่อย มันก็เพลินภายใน
เพลินในธรรมไม่เหมือนเพลินทางโลก เพลินทางโลกมันเป็นไปด้วยฟืนด้วยไฟ เพลินในธรรมนี้เป็นไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุขดูดดื่ม ละเอียดลออเข้าไปเรื่อย มันต่างกันอย่างนั้น ทีนี้เมื่อรสทางนี้มีมากกว่าทางโน้นมันจะอยู่ได้ยังไง มันก็ปล่อยเข้ามาเอง เกาะนี้ได้ปล่อยนั้นเข้ามาๆ ทีนี้หดย่นเข้ามาก็ยังเหลือแต่จิต คือกระแสของมันออกไปนั้นเข้ามาหมด ยังเหลือแต่จิต ที่ยังเหลืออยู่นี้ก็เป็นความสง่าผ่องใส ความแปลกประหลาดอัศจรรย์ รื่นเริงภายในตัวเอง อยู่ที่ไหนอยู่ได้ทั้งนั้น คือจิตมันหลงอารมณ์เจ้าของ พออารมณ์นั้นเข้ามาสู่นี้แล้วก็ไม่เพลินไม่ดิ้นไม่ดีดมันก็สบาย เย็น เพลิน เกาะตรงนี้ก่อน เกาะธรรมที่จะถึงที่สุดนี้ไม่เกาะ จะเกาะอันนี้ก่อน เกาะเข้าไปๆ เกาะละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งถึงที่แล้วทีนี้เปิดโล่งเลย ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิงทั้งภายนอกทั้งภายในที่รื่นเริงบันเทิงอยู่เหล่านี้ เป็นเครื่องกล่อมใจให้เข้าไปถึงจุดนั้น
พอเข้าถึงจุดหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งปวง เรียกว่าปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง ธรรมชาตินั้นไม่ยึดที่นี่ ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง เรียกว่าสมมุติหมดภายในใจไม่มีเหลือ ความกังวลวุ่นวายทั้งหลายตั้งแต่ส่วนหยาบถึงขั้นละเอียด หมดไปโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน เหลืออยู่แต่ธรรมชาตินั้น เป็นธรรมชาติที่พอตัวอย่างเลิศเลอ นั่นฟังซิพอตัว ก็พอตัวอย่างเลิศเลอ ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด พอดิบพอดีหาที่ตำหนิไม่ได้เลย จะชมตรงไหนมันพอดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงว่าความพอนี้เลิศเลอ ไม่มีอะไรเหนือคำว่าพอ พอทุกอย่างนะ จึงเรียกว่า สมมุติทั้งมวลไม่ว่าดีว่าชั่ว คำนินทา สรรเสริญ เป็นส่วนเกินทั้งนั้น ปล่อยหมดเพราะเป็นภาระหนัก ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง
สมมุติว่าจิตปล่อยนั้นแล้ว เรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี่ยังมี แต่ก่อนยึดด้วยถือด้วยแบกหามด้วย เป็นกองทุกข์ด้วย ทีนี้พอจิตปล่อยโดยสิ้นเชิง ยังเหลือแต่ความรับผิดชอบในขันธ์ของตนเท่านั้น ขันธ์คือร่างกายของเรารับผิดชอบ นอกนั้นปล่อยไปหมด อันนี้ปล่อยแล้วแต่ก็ยังแสดงอาการของขันธ์ ผ่านไปผ่านมาภายในใจ นี่เรียกว่าสมมุติครั้งสุดท้าย คือสมมุติในขันธ์ในตัวของเราเอง ร่างกายของเราเอง สมมุติอันนี้จะยุติลงเมื่อสิ้นลมหายใจ สมมุติทั้งหลายหมดไปเรียบร้อยแล้วแต่สมมุติอันนี้ยังรับผิดชอบอยู่ ร้อนก็รู้ว่าร้อน หนาวรู้ว่าหนาว เย็นร้อนอ่อนแข็งรู้อยู่ภายใน แม้ไม่ยึดก็รู้ แต่ไม่เป็นภาระไม่แบกไม่หาม รับผิดชอบกันอยู่อย่างนั้น
พอวาระสุดท้ายก็มาอยู่ในขันธ์ บรรดาสมมุติทั้งหมดหมดแล้วไม่มีอะไรแล้ว ก็ยังเหลือแต่ในขันธ์ที่รับผิดชอบ อย่างที่ว่าเย็นร้อนอ่อนแข็ง สุขทุกข์ประจำขันธ์ รู้อยู่ๆ อย่างนั้นแต่ไม่เข้าถึงจิต รับผิดชอบกัน ทีนี้พอวาระสุดท้ายของสมมุติจะหมดโดยสิ้นเชิงก็ขณะที่หมดลมหายใจ ลมหายใจหมดจิตก็ปล่อยความรับผิดชอบออกขณะนั้น สมมุติทั้งหมดหมดโดยสิ้นเชิง จิตนั้นไม่มีสมมุติติดแม้แต่เม็ดหินเม็ดทราย ไม่มีเลย ท่านจึงเรียกว่าวิมุตติ นั่นหลุดแล้วโดยประการทั้งปวง ความสุขจึงเป็นบรมสุขและเป็นอนันตกาล ไม่มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปเกี่ยวข้องเลย หมดโดยสิ้นเชิง
นั่นละขันธ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ท่านรู้ของท่านอย่างชัดเจนตลอดไม่ต้องไปถามใคร วาระสุดท้ายแห่งสมมุติที่รับผิดชอบก็คือขันธ์ พอลมหายใจขาดปั๊บสมมุตินี้ขาดพร้อมกันเลย ความรับผิดชอบขาดพร้อมกันไปเลย ท่านเรียกว่านิพพานสมบูรณ์แบบ แต่ก่อนเรื่องความสมบูรณ์ในจิตนั้นสมบูรณ์ แต่มันมีสมมุติที่ป้วนเปี้ยนๆ อยู่นั้นให้รับผิดชอบ จึงเรียกว่ายังไม่สมบูรณ์ที่ยังมีขันธ์ให้รับผิดชอบอยู่ ท่านจึงเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน จิตถึงวิมุตติหลุดพ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีความรับผิดชอบอยู่ในธาตุในขันธ์ ทีนี้ อนุปาทิเสสนิพพาน ธาตุขันธ์นี้ปล่อยโดยสิ้นเชิงแล้ว จิตปล่อยไปหมด นั้นเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน สมมุติหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ ขันธ์นี้เป็นวาระสุดท้ายของสมมุติ หมดในขณะนั้น ท่านเรียกว่าจิตหมดสมมุติ จิตถึงนิพพาน
ไปถึงนั้นแล้วหมดละที่นี่ เรื่องสมมุติทั้งมวลหมด อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี ปัจจุบันก็ไม่มี เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งมวล อันนั้นไม่ใช่สมมุติ ผ่านไปหมดแล้ว นั่นละจุดที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านหลุดพ้นไป ด้วยอำนาจแห่งความดีที่ตะเกียกตะกายสร้าง ฝึกฝนทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อจะหนุนตัวขึ้นไปในทางดี แต่กิเลสมันดึงลงๆ ส่วนมากกลมายาของกิเลสมันละเอียดแหลมคม มันถึงได้ครอบโลกธาตุเอาไว้ ไม่มีใครจะเล็ดลอดมันไปได้ นอกจากผู้มีคุณงามความดีบารมีแก่กล้า แล้วค่อยเล็ดลอดไปๆ ผ่านไปได้เลย
นี้คือพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์สอนแบบเดียวกัน เพราะท่านรู้อย่างเดียวกัน รู้อย่างมีแบบมีฉบับ รู้ด้วยญาณวิถี ทราบตลอดทั่วถึง นี้คือพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ สอนโลกจึงไม่เคยผิดพลาดไปไหนแม้นิดหนึ่งไม่มี ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายสอนแบบเดียวกันหมด เพราะความรู้ความเห็นเป็นแบบเดียวกัน นี่ละศาสนานี้ละที่มาสอนโลกให้โลกทั้งหลายได้รู้บาปรู้บุญ
พวกเราก็มาอยู่ในข่ายแห่งพุทธศาสนาที่ควรจะได้รับไปประพฤติปฏิบัติตนเอง คนตาบอด เพื่อความปลอดภัยต้องเชื่อคนตาดี เดินตามคนตาดี ถ้าเอาตาบอดหูหนวกของเจ้าของใส่เข้าไปนี้ โดนโน้นชนนี้ ตกเหวตกบ่อตายเลย ถ้าเอาคนตาดีมาเป็นประมาณ เขาชักเขาจูงไปทางไหนดึงไปที่ไหนไป แคล้วคลาดปลอดภัย นี่หลุมนะ นี้ขวากนี้หนามเขาพาหลีกก็หลีกไปพ้นไป อันนี้จอมปราชญ์ทั้งหลายคือพระพุทธเจ้าสอนให้หลีก ขวากหนามได้แก่บาปแก่กรรมทั้งหลาย สอนให้หลีกๆ นี้คือกองทุกข์ ให้ไปทางที่ปลอดภัย คือการสร้างความดีไปเรื่อยๆ
นี้พูดจริงๆ จวนจะตายเท่าไรแทนที่จะมาห่วงใยเจ้าของนี้บอกเลยว่าไม่มี หมดโดยสิ้นเชิงเหมือนกัน มีแต่ความห่วงใยบรรดาโลกแหละพูดง่ายๆ ห่วงใย แล้วใครจะพอมียิบๆ แย็บๆ จะยึดเอาอรรถเอาธรรมนี้ไปปฏิบัติต่อตนเองบ้าง แม้ยากพระพุทธเจ้าท่านก็ยากมาก่อนแล้วท่านจึงได้ผล ยากเพื่อความดี ยากอันนี้ยากเพื่อความเป็นสุข เราก็ควรจะบึกบึนไปตามท่าน ได้มากได้น้อยให้พยายาม ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปตามกิเลส ลงทางต่ำทั้งนั้นไม่มีคำว่าขึ้น มีแต่ลงถ่ายเดียว ธรรมะนี้ดึงขึ้นๆ วันนี้ก็พูดให้ฟังเพียงเท่านี้แหละนะ เพราะหนักหน่วงทุกวันๆ เราเทศน์ลำบากมากนะ ยิ่งจวนตัวเท่าไรความเมตตาสงสารนี่มาก แต่ร่างกายเครื่องมือที่จะใช้ทำประโยชน์ให้โลกนี้ลดลงๆ เป็นลำดับ เป็นอย่างนั้นละ จึงขอให้พากันนำไปปฏิบัตินะ
เราเป็นโลกชาวพุทธขอให้มองดูธรรมบ้าง อย่ามองดูแต่กิเลสตัณหาความดีดความดิ้น มันเอาไฟเผาตัวเองและเผากันและกันเป็นฟืนเป็นไฟตลอดไป ถ้าธรรมแล้วจะชุ่มเย็นเป็นลำดับลำดา เอาแค่นี้แหละพอเหนื่อย
โธ่ ปวดเข่านี้ก็ปวดเรื่อยอย่างนี้นะ มันก็ปวดของมันอยู่เรื่อยปวดเข่า ปวดเรื่อยๆ ไป ให้พร
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |