เหตุที่รับพระเณรมาก
วันที่ 18 ตุลาคม 2547 เวลา 8:45 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

เหตุที่รับพระเณรมาก

 

         เมื่อวานนี้เอาอาหารไปส่งที่วัดถ้ำบูชา แต่เราไปรถคันเดียวของเราเท่านั้น เอาใส่เต็มรถเราแล้วก็ไป วัดถ้ำบูชาอยู่ด้านนี้ ถ้าภูวัวอยู่ด้านนี้ ไล่เลี่ยกัน ภูวัวจะไกลกว่าเล็กน้อย พอไปจะเข้าภูวัวก็หักไปทางนี้เข้าถ้ำบูชา ถ้าเดินตัดจากถ้ำบูชาไปหาภูวัวนี้ชั่วโมงเดียวก็ยังไม่ถึง แต่รถนี่ต้องวกๆ วนๆ ไกล พระมี ๒๓ หรือไงน้า เอาของไปให้เฉยๆ พวกอาหารพวกอะไรๆ ก็มีเบาใจอยู่หน่อยที่มีหมู่บ้านดอนเสียด พระทางโน้นนัดมาพบกันที่กลางทาง พระก็มารับ(บิณฑบาต)ตรงนั้น ประชาชนเขาก็ไปใส่บาตรที่นั่นละ ครึ่งทาง เป็นประจำเรื่อยมา ก็พอเป็นพอไป ไม่ได้เหมือนวัดถ้ำภูวัว อันนั้นแต่ก่อนไม่มีบ้านคนเลย มีสองสามหลังคาเรือนที่ท่านอุทัยท่านอุตส่าห์ไปอยู่

จนกระทั่งเราไปดูเข้าจริงๆ แล้วเราจึงรับเลี้ยงตั้งแต่นั้นมา ทีนี้บ้านสำราญก็ห่างกันประมาณสัก ๗ กิโลหรือไง มีหมู่บ้านคนพอประมาณ พระไปบิณฑบาตจากเขาคิดว่าสักสี่ห้ารูปหกรูปจะพอเลี้ยงได้อยู่ ที่บ้านสำราญอะไรนั่น แต่ก่อนยังไม่มี มีเฉพาะสองสามหลังคาเรือน เวลานี้บ้านสำราญเขามาปลูกสร้างขยายออกมา ก็ดูว่าใหญ่พอสมควร ถ้าพระเราจะไปอาศัยเขาในวัดภูวัวหากเราไม่ได้เลี้ยงดูนี้ก็คงได้ห้าหกองค์ได้อยู่ พอดี ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ท่านอุทัยอยู่มีเพียงสองสามหลังคาเรือน

ท่านไปอยู่ที่ไหนส่วนมากพระที่ท่านมุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริงๆ ท่านไม่ค่อยจะไปในที่สมบูรณ์พูนผล ท่านมักจะไปที่ขาดๆ แคลนๆ เป็นความสะดวกในการภาวนา คือการภาวนาอาหารเป็นสำคัญ อาหารทับ ถ้าอาหารดีๆ ฉันได้มากๆ แล้วนั่นไม่เป็นท่านะ ฉันได้มากกำลังก็ขึ้น นอนก็มาก ความขี้เกียจก็มาก เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น ถ้ามีมากก็ต้องขยับละ เพราะฉะนั้นให้เขาดัดด้วย จึงต้องไปหาอยู่ในที่ขาดๆ แคลนๆ อย่างเช่นอยู่ในป่าในเขาอดอยากขาดแคลน คือให้เขาช่วยทรมานให้ ก็ไม่มีเจตนาให้เขาช่วยทรมานนะ พูดจะว่าสนุกปากก็ได้ คือเราจะตั้งใจไปให้เขาช่วยทรมานก็ไม่เชิง ว่าไปที่ไหนสะดวกสบายภาวนาไม่ดี ลงจุดนั้น จึงต้องไปหาในที่อย่างนั้น

อยู่ในป่าในเขาอาหารไม่ได้เหมือนในบ้านในเมืองนะ อดอยากขาดแคลนมาก เขาหาอยู่หากินก็ขาดๆ เขินๆ เราไปอาศัยเขาอยู่อย่างนั้นเหมาะ  ฉันนิดๆ หน่อยๆ ไม่มาก พอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น มิหนำซ้ำยังไม่ได้ฉันทุกวันเสียด้วย แล้วแต่จะฉันเมื่อไร แต่การภาวนาไม่ถอย ยิ่งหนักเข้าไป ธาตุขันธ์อ่อนลงเท่าไรๆ จิตใจยิ่งดีดขึ้นๆ สงบสว่างผ่องใส ถ้าพูดถึงในด้านสมถะหรือสมาธิ สงบเย็นผ่องใส จิตตั้งเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงขึ้นได้ ถ้าออกทางด้านปัญญาก็คล่องตัว นั่นการอดอาหารสำหรับผู้ถูกกับจริตนิสัย อันนี้ไม่ได้หมายถึงทั่วๆ ไป ตามแต่ใครจะถูกจริตนิสัยด้วยวิธีการใด เช่นอย่างการอดนอนอย่างนี้ อดไปกี่คืนว่าไป แล้วการภาวนาเป็นยังไง เดินมาก นั่งมาก เป็นยังไง ทั้งๆ ที่ตั้งสติด้วยกัน ผลต่างกันยังไงบ้างต้องสังเกตตัวเอง ส่วนมากมักจะถูกทางด้านอดอาหาร ผ่อนอาหาร นี่ถูกมากกว่าเพื่อนอย่างพระในวัดนี้

เราก็บอกตรงๆ ว่า นี่ไม่ใช่คำสั่ง นี่ไม่ใช่คำสอน แต่เป็นคำบอกเล่าธรรมดา เราว่าอย่างนี้ เราสอนพระสอนเณร วิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องอดอาหาร เราเล่าให้ฟังเฉยๆ ตามจริตนิสัยของผู้ฝึกหัดดัดแปลงตนเอง ใครถูกกับแง่ใดมุมใดของอุบายวิธีฝึกทรมานตนเอง เราก็บอก สำหรับเรานี้ถูกเรื่องอดอาหาร เราก็ว่างั้น คือไม่สั่งไม่สอน เป็นคำบอกเล่า ให้นำไปเป็นคติ แล้วกลายเป็นคำสอนตนต่อไป เราก็เล่าให้ฟังอย่างนี้ ทีนี้เวลาพระมาทำ วัดนี้เลยไม่เคยเห็นพระที่ฉันจังหันครบองค์นะ อย่างนี้ละ พระจำนวนน้อยก็ขาดน้อย จำนวนมากก็ขาดมาก

ตั้งแต่มาสร้างวัดอยู่ทีแรก เรามีกำหนดกฎเกณฑ์รับพระ ๑๕ องค์ถึง ๑๘ องค์ ไม่รับมากกว่านั้น อยู่ในนี้ เพราะแต่ก่อนครูบาอาจารย์มีจำนวนมาก พระท่านหลั่งไหลไปที่ไหน อาศัยที่ไหนก็ได้สะดวก ครูบาอาจารย์เช่นอย่างหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่คำดี แต่ละองค์ๆ มีลูกศิษย์ลูกหามากก็ไปอาศัยท่านได้สะดวกสบาย เราจึงจำกัดเอาไว้ สำหรับวัดเราไม่รับมากเพื่อสะดวกในการประกอบความพากเพียร รับแค่ ๑๕ ไปถึง ๑๘ ขีดเส้นตายไว้นั้น บอกไม่รับเรื่อยมา

จนกระทั่งครูบาอาจารย์ทั้งหลายค่อยล่วงไปๆ ทีนี้พระไม่มีที่เกาะที่ยึด เราก็เห็นใจ เรายังไม่ลืมนะที่ว่าไปหาหลวงปู่มั่น เราลืมเมื่อไร คือสะดุ้งอย่างแรงสะดุ้งใจ พอไปกราบท่านเรียบร้อยแล้วว่ามาขอพึ่งบารมีท่าน จะอยู่กับท่าน ท่านก็เรียกว่าท่านรับ แล้วท่านพูดออกมาคำหนึ่งที่กระเทือนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ยังไม่ลืม เพราะมุ่งต่อท่านจริงๆ นี่ดีนะ(ท่านว่า) เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากกุฏิหลังนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ถ้าไม่งั้นก็ไม่ได้รับ โอ๊ย กระเทือนเอาอย่างแรงที่ว่าไม่ได้รับ นี่ดีนะเมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็เข้ามา ก็เรียกว่ากุฏิหลังนี้ว่าง เลยได้พัก ไม่งั้นก็รับไม่ได้ เพียงว่ารับไม่ได้เท่านั้น โอ๋ย กระเทือนใจอย่างแรงเทียว นี่ก็ไม่ลืม

เราก็เอานี้ละมาเห็นใจบรรดาพระเณรทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายล่วงลับไปๆ จะเกาะที่ไหนๆ การเกาะต้องเป็นที่แน่ใจตายใจ เป็นที่สนิทใจกับครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ  ถ้าไม่สนิทใจมันอยู่ไม่สนิทแหละ นี้เราก็คิดเห็นครูบาอาจารย์องค์นั้นล่วงไปๆ ทีนี้ลูกศิษย์ลูกหาพระเณรทั้งหลายจะไปเกาะใคร เลยไหลเข้ามาๆ เราเลยขยับขึ้น ๒๐-๒๒ ทีนี้เลยพุ่งฟาดถึง ๓๐ เดี๋ยวนี้มันเท่าไรเห็นไหมล่ะ รวดเร็วที่สุดนะไหลเข้ามาอย่างนี้ เพราะเราเห็นใจอันนั้นเอง เราเทียบใจท่านใจเรา เราจึงได้รับ

บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายถึงจะมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อกันก็ตาม แต่จริตนิสัยของพระทั้งหลายที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นก็แล้วแต่จะถูกตามอัธยาศัยของตนๆ ส่วนใหญ่ก็ถือหลักธรรมคือจิตตภาวนา ภูมิจิตภูมิใจของครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ ถืออันนี้นะ ส่วนพระวินัยนั้นเหมือนกันหมดไม่มีข้อตำหนิกันได้เลย พระวินัยแบบเดียวกันหมด ส่วนธรรมมีเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน ครูอาจารย์องค์ใดที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจิตใจ ท่านรู้ท่านก็ไป นี่ละจุดสำคัญจุดนี้ พระเณรจึงไหลเข้าไปๆ

พระเณรก็เป็นตามขั้นตามภูมิอีก ผู้ที่ต้องการเด็ดที่สุดก็หาที่เด็ดที่สุด เป็นอย่างนั้นนะ เป็นขั้นๆ อย่างหลวงปู่มั่นนี้ท่านเด็ดที่สุด เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่รับพระเณรมาก พระต้องเป็นพระเอาจริงๆ ถึงจะอยู่กับท่านได้ สุ่มสี่สุ่มห้าท่านไม่รับ ท่านสอนอย่างจริงจัง สอนอย่างแม่นยำๆ ไม่ผิด เรายกเทิดทูนบนศีรษะบนหัวใจเราตลอดมา คือหลวงปู่มั่น เพราะเราเป็นนิสัย เรียกว่านิสัยผาดโผนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ท่านก็รู้นิสัยว่าเอาจริงเอาจัง เด็ด ไม่ควรลงไม่ลง ซัดกันจริงๆ คิดดูอย่างไปถกกันกับท่านนี่ โอ๋ย พระแตกมาทั้งวัด อย่างนั้นแหละเรา คือถ้ามันไม่ลงก็ขวางอยู่นั้นนะ ถ้าลงแล้วหมอบเลยทันที พุ่งเลย เป็นอย่างนั้นนะ

ตรงไหนที่มันขัดอยู่ เราก็ว่าของเราแน่ของเราถูกนี้ ซัดกับท่านเถียงท่าน เวลาท่านใส่เปรี้ยงมานี้ยอมรับท่านปุ๊บ ของเราล้มผล็อยลงไป หมอบ อย่างนั้นนะ ถ้าลงแล้วลงจริงๆ พุ่ง เพื่อปฏิบัติแหละคล่องใจ นั่นเป็นอย่างนั้น นักเถียงครูบาอาจารย์นี้เท่าที่ได้ถามดู ว่าบรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายที่เคยมาอยู่กับหลวงปู่มั่นมากต่อมาก เคยมีอาจารย์องค์ไหนบ้างที่หัวแข็งๆ อย่างผมนี่ ท่านบอกไม่มี บอกอย่างนั้นเลย ไม่มี มีอาจารย์องค์เดียวแหละ เราบอกว่าหัวแข็ง ท่านก็ไม่ได้บอกว่าเราหัวแข็ง มีองค์เดียว ท่านว่า มันเอาจริงๆ นะไม่ใช่ธรรมดา เถียงท่าน

พระเดินจงกรมอยู่ในป่าในที่ไหนๆ ได้ยินหมดเวลาท่านขึ้น ฟัดกันหนักๆ  เราเมื่อยังไม่ลงก็ซัดกันเต็มเหนี่ยว ตรงไหนลงก็หมอบๆ คือเราถกเถียงหาเหตุหาผล ไม่ได้มีคำว่าแพ้ชนะ มีแต่หาเหตุหาผลหลักเกณฑ์ที่จะยึดจะเกาะตามท่าน ถ้าตรงไหนที่ยังไม่ลงใจของเรา ยังไม่ลงจุดไหน ของเราก็มีเครื่องยันกันอยู่ตามทิฐิมานะของเรานั้นแหละถ้าว่าทิฐิ แต่ความเห็นของเราเป็นอย่างนี้ว่าถูกต้อง ซัดกับท่าน ทีนี้สู้ท่านไม่ได้ก็ลงๆ สำคัญตรงนี้นะ เรานี่ได้จากพ่อแม่ครูจารย์มั่นทั้งนั้น มีแต่เด็ดๆ ทั้งนั้นใส่กับเรา

ถ้าพูดถึงเรื่องสมาธินี้ก็ จนกระทั่งเป็นเหมือนหิน มันเต็มภูมิ จนติดในสมาธิ เลยเหมาเอาสมาธิว่าจะเป็นนิพพาน นิพพานอยู่ตรงนี้แหละๆ มันก็ติดละซิ จนท่านมาลาก ออกจากสมาธิ มันไม่ยอมออกก็เถียงกันกับท่านละซี ฟัดกัน สู้ท่านไม่ได้ ออกจากสมาธิก็ออกทางด้านปัญญา ทีนี้สมาธิมันพอตัวแล้ว ก็เหมือนกับอาหารหวานคาวที่เรานำมา ที่จะปรุงให้เป็นอาหารชนิดใด เป็นแกงเป็นอะไรก็ได้ มันพร้อมแล้ว แต่เราไม่นำมาปรุงมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ผักเป็นผัก ปลาเป็นปลา เนื้อเป็นเนื้อ ไม่เป็นแกงเป็นอาหารให้ซิ อันนี้สมาธิของเราพร้อมแล้ว ไม่ได้แจงออกให้เป็นปัญญามันก็ไม่เป็น

พอท่านลากออกทางด้านปัญญามันไม่ยอมออก เถียงท่านเสียจนตาดำตาแดง จากนั้นก็ออกทางด้านปัญญา แต่ออกทางด้านปัญญามันเร็วเรา เพราะสมาธิพร้อมแล้ว พอออกทางด้านปัญญาพินิจพิจารณานี้ เอ๊ะ ชอบกลๆ มันเบิกกว้างออกไป รู้เข้าไป เพราะปัญญาขั้นที่มีสมาธิหนุนหลังแล้วมันอิ่มอารมณ์ คือจิตใจเราธรรมดามันหิวโหยในอารมณ์ ชอบคิดชอบปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นประจำของจิต ไม่ได้คิดอยู่ไม่ได้ ทีนี้เวลาจิตเป็นสมาธิแล้ว ความคิดความปรุงมันรำคาญไม่อยากคิด สู้อยู่อันเดียวไม่ได้ นี่มันก็ติด ทีนี้ออกทางด้านปัญญา ออกมันก็เห็นชอบกลๆ เข้าไปเรื่อย ทีนี้จิตมันก็ติดพัน ก็ออกใหญ่เลย

เร็วนะเราทางด้านปัญญา เพราะสมาธิพอแล้ว มันอิ่มอารมณ์หมดแล้ว ใช้ปัญญาทางด้านใดมันก็ออกทางด้านนั้น ไม่ได้แฉลบไปหาอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เพราะมันอิ่มอารมณ์แล้ว พิจารณาอะไรมันก็ไปอันนั้น มันก็พุ่งๆ ซิ เวลามันไปเต็มที่แล้วไปใหญ่เลยที่นี่ ไปเสียจนกระทั่งไม่หลับไม่นอน กลับไปหาท่านอีก แน่ะ เป็นอย่างนั้นนะ

นี่ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา มันออกแล้วนะเดี๋ยวนี้ มันออกยังไง ท่านว่า ก็มันไม่นอนทั้งวันเลย กลางคืนไม่นอนทั้งคืนก็มี มีแต่หมุนกันติ้วๆ นั่นละมันหลงสังขาร ท่านว่า นี่เห็นไหมล่ะ เราไม่รู้นะว่าสังขารสังขารอย่างไร เราว่าถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ นั่นแหละบ้าหลงสังขารย้ำเข้าอีกนะนั่น บอกว่าบ้าหลงสังขาร คือสังขารนี้คิดทางด้านปัญญาก็ได้ คิดเป็นทางด้านสมุทัยด้านกิเลสตัณหาก็ได้ ทีนี้เวลาเราใช้ปัญญามากๆ อย่างนี้ สังขารฝ่ายสมุทัยมันแทรกเข้ามาเราไม่รู้ นั่นละมันหลงสังขาร คือให้พักความหมาย ให้อยู่ในความพอดี ท่านสอนให้เข้าพักสมาธิ เวลามันรุนแรงมันผาดโผนโจนทะยานไม่มีวันมีคืน ให้พักเสียก่อน เข้าสู่สมาธิหนึ่ง ให้พักให้นอนหลับหนึ่ง มีสองประเภท ประเภทสำคัญก็คือสมาธิ พักจิตเข้าสู่สมาธิได้กำลังวังชาเรียบร้อยแล้วออก ทีนี้มันพุ่งเลย

อันนี้ก็ถูกท่านขนาบเอาเสีย คือมันไม่นอนทั้งวันทั้งคืน นี่ละท่านว่าจุดไหนมันไม่ได้ผิด ไม่ว่าสมาธิท่านลากออกเราไม่ยอมลงเขียง เหมือนหมูขึ้นเขียง ท่านก็เอาเสียอย่างหนัก ทีนี้ออกทางด้านปัญญาออกแล้วมันเตลิด ท่านก็รั้งเอาไว้ ก็อย่างนั้นแล้ว มันจับได้ทุกจุดนี่นะ ไม่ผิด ท่านสอนอะไรไม่ผิดเลย พอมันจะตายจริงๆ ก็เข้าสู่สมาธิ บังคับด้วยพุทโธๆ เราไม่ลืม เพราะจิตมันผาดโผนออกทางด้านปัญญาฆ่ากิเลสนี้ ได้พักรั้งเอาไว้ เข้าสู่ความสงบเพื่อเอากำลังทางด้านปัญญาให้หนุนจากสมาธิไปเรื่อย เวลามันจะตายจริงๆ มันถึงจะพักนะ ไม่เป็นขนาดนั้นมันก็ไม่ยอมพัก มันจะตายจริงๆ หัวอกนี้แหม มันหมุนของมันอยู่ตลอดเวลา ได้เข้าพัก บังคับ ทีนี้บังคับให้มันพักเฉยๆ มันไม่พัก พอบังคับนี้มันพุ่งๆๆ ใส่สนามฟัดกัน กิเลสกับธรรมฟัดกันเหมือนนักมวยต่อยกัน ต้องรั้งเอาไว้ รั้งอยู่ธรรมดาไม่อยู่มันรุนแรง ต้องรั้งด้วยคำบริกรรม เรารั้งด้วยคำบริกรรมนะ เช่นเอาพุทโธ เอาพุทโธให้ถี่ยิบไม่ให้มันออก สติมันไม่เผลอแหละ แต่อ่อนตัวนี้มันไปทางปัญญาทันที ต้องบังคับสติให้อยู่กับคำบริกรรมติดไว้นี้ๆ แล้วจิตก็ลงแน่วเลย นั่น

จิตสงบแน่วเลย โอ๋ย ทีนี้เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ งานการทั้งหลายที่ชุลมุนวุ่นวายสงบไปหมดเลย เหลือแต่จิตที่มีความสงบแน่ว เป็นความผาสุกสบายเต็มเหนี่ยวในหัวใจ บังคับเอาไว้จนกระทั่งมันพอ ทีนี้ความสงบเต็มที่แล้วได้กำลังวังชาแล้ว พอรามือเท่านั้นปั๊บทีนี้ใส่พุ่งเลยทางด้านปัญญา

เวลามันจะเป็นจะตายจริงๆ มันก็หมุนมาเข้าสู่สมาธิ บังคับด้วยพุทโธ สำหรับเราเป็นอย่างนั้น จะอยู่ให้บังคับเฉยๆ ไม่อยู่ออกเลย ต้องเอาคำบริกรรมนี้ติดไว้ เรื่อยมาอย่างนั้น ท่านสอนไม่ผิดอะไรเลยถูกต้องๆ ออกทางด้านปัญญาท่านก็รั้งเอาไว้ เช่นอย่างนั่งตลอดรุ่งๆ ก็เหมือนกัน นั่งวันไหนมันได้ของอัศจรรย์ทุกคืนไม่มีพลาดนะ นั่งตลอดรุ่งๆ นั่งท่าเดียวไม่มีเปลี่ยนอะไรเลย คิดดูซิข้อแม้จะมีให้ข้อเดียว วันนี้เราจะนั่งตลอดรุ่ง อะไรๆ ก็ตามจะไม่ลุก เป็นกับตายต้องอยู่นี้เลย จนกระทั่งสว่างเป็นวันใหม่ขึ้นมาเรียบร้อยแล้วเราถึงจะลุกจากที่

มีข้อแม้ข้อเดียวเว้นแต่ในวัดเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เช่นครูบาอาจารย์เจ็บไข้ได้ป่วยฉุกเฉินหรือพระในวัดเกิดอะไรขึ้นมานี้ เราจะลุกไปเพื่อเหตุการณ์นั้นๆ เท่านั้น นอกจากนั้นไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าปวดหนักปวดเบาปวดอะไรก็ตามให้ออกเลย จะให้เราลุกไปไม่มีทาง ปวดเบาก็เอาไหลออกเลยถ้าทนไม่ได้ ปวดหนักก็เอาไหลออกเลยถ้าทนไม่ได้ ตั้งแต่เป็นเด็กมันขี้ใส่ตักแม่มาเท่าไร เอาตักแม่เป็นส้วมเป็นถาน มานั่งภาวนาเท่านี้มันบังคับไม่ได้ เอาให้มันขี้ใส่จีวร สบง ตื่นเช้าก็ไปซักเอาก็ได้นี่วะ แต่มันไม่เคยปวดนะ ถึงปวดก็เป็นแน่ๆ เป็นอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ เอาๆ ออกเลย ที่ให้ลุกไม่มีทาง แต่มันไม่เคยปวด ส่วนปัสสาวะมันจะปวดอะไร ก็เหงื่อนี่มันไม่ใช่เหงื่อมันยางตาย จีวรนี้เปียกหมดเลยแล้วมันจะไปปวดเยี่ยวเอาเยี่ยวที่ไหนมา ไม่ออก ส่วนปวดหนักนั้นมันอาจเป็นได้แต่ไม่เคยตลอด

นั่งตลอดรุ่งวันไหนได้ของอัศจรรย์ ขึ้นไปหาท่านนี่เปรี้ยงๆ เลยนะ ทีแรกท่านก็ชมเชยๆ ครั้นต่อจากนั้นมาความชมเชยก็ลดลงเงียบๆๆๆ ต่อไปท่านก็กระตุกเอาละซิ เวลากราบปั๊บๆ นี่ ท่านพูดกับเราท่านจะไม่มีคำว่าธรรมดานะ จะผางออกมาเลยทุกทีเพราะท่านรู้นิสัย พอขึ้นไปนี่ ม้าตัวไหนที่มันคึกคะนองมากๆ ผาดโผนโจนทะยานมากๆ ว่างี้นะ สารถีฝึกม้าเขาจะฝึกกันอย่างหนัก ไม่ควรกินหญ้าไม่ให้มันกิน ไม่ควรกินน้ำไม่ให้มันกิน มีแต่การฝึกเอาอย่างหนักทีเดียว ทีนี้เมื่อความพยศของม้าค่อยลดลงๆ การฝึกเขาก็ค่อยลดลง จนกระทั่งม้านี้ใช้การใช้งานได้เรียบร้อยแล้ว การฝึกอย่างนั้นเขาก็หยุด ท่านพูดเพียงเท่านี้ แต่เรามันเข้าใจแล้วเพราะมีอยู่ในตำราแล้วนี่ แต่เรายังเสียดายยังเคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังอยู่เสมอว่า เรายังเสียดายอยากให้ท่านย้อนกลับมา ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกยังไง อยากให้ท่านว่าอย่างนั้น แต่ท่านพูดเท่านั้นเข้าใจ ตั้งแต่วันนั้นเราก็ไม่เคยนั่งตลอดรุ่งอีกนะอย่างนั้นละ ถ้ามันลงๆ อย่างนั้นนะ

ถึงขนาดก้นแตกมันก็ไม่ถอย เอาก้นแตกก็แตก ถ้ากิเลสไม่แตกเป็นไม่ถอยโน่นน่ะ ฟังดูมันยังเอาเรื่องกิเลสแตกมันถึงจะถอย ทีแรกมันก็ไม่แตก ก้นนั่งทีแรกออกร้อนเหมือนไฟลนไฟเผานี่ คืนที่สองที่สามมามันก็พอง จากพองมันก็แตก จากแตกมันก็เลอะ เพราะเรานั่งไม่หยุด เว้นสองคืนสามคืนนั่งๆ ตลอดรุ่งๆ ก้นแตก เอาแตกก็แตกแต่กิเลสยังไม่แตกยังไม่ถอยโน่นน่ะ พอท่านยกสารถีฝึกม้ามาทางนี้หมอบเลย และตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยนั่งตลอดรุ่งอีก นี่ก็เราลงเพราะท่านอีก เราจับเป็นจุดๆ

เรื่องสมาธิ หมูขึ้นเขียงนี่ก็ท่านใส่อย่างหนัก ซัดกันเลยนะ เรื่องปัญญาเอากันอย่างหนักอีกและเรื่องนั่งสมาธินี้ ท่านเอาอย่างหนัก แต่คราวนี้ไม่ตอบท่านเลยนะนิ่งเลย เป็นระยะๆๆ อย่างนี้ นี่หมายถึงส่วนใหญ่นะ ส่วนปลีกส่วนย่อยนับไม่ถ้วนเลยกับท่านน่ะ เราลงอย่างนี้ลงกับครูบาอาจารย์

ทีนี้พระทั้งหลายที่เข้าไปหาครูบาอาจารย์ก็ต้องไปหาตามจริตนิสัยของตน ที่ว่าเป็นที่แน่นอนแล้วว่าท่านสอนยังไงๆ เป็นที่แน่นอนไม่ทำให้เกิดความสงสัยอะไรแหละ ก็เข้าหาครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ เป็นที่ยึดที่เกาะ ทีนี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ร่วงโรยไปๆ ไหลเข้ามาหาเราละซิ นี่ละที่ได้รับพระเณรมากก็เพราะเหตุนี้เองไม่ใช่อะไรนะ ทีแรกเราไม่รับมากละมันกังวลวุ่นวายดูแลไม่ทั่วถึง เพราะอยู่นี้เด็ดจริงๆ เพราะฉะนั้นถึงได้ร่ำลือออกไปข้างนอกซิ อาจารย์มหาบัวดุๆ ไม่ดุยังไงก็ดูแลความรับผิดชอบทุกอย่าง และเข้มงวดกวดขันการประพฤติปฏิบัติไม่ทำเหลวแหลกเละๆ เทะๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้นะ

ทุกวันนี้วัดป่าบ้านตาดคือวัดเละๆ เทะๆ นะ แต่ก่อนเอาจริงเอาจัง ทีนี้พระเณรก็มีแต่อย่างเด็ดๆ เข้ามาเลยเยอะ นี่ละเรื่องมันเป็นอย่างนี้ที่หาครูหาอาจารย์ เราก็เลยได้รับมากอย่างนี้ เพราะหาครูหาอาจารย์ที่จะเป็นที่ยึดที่เกาะที่ตายใจได้หายากอยู่นะ ไม่ใช่หาง่ายๆ หาอะไรก็หาได้ง่ายแต่หาครูหาอาจารย์ที่จะแนะนำสั่งสอนให้ถูกทางอันนี้มันหายากนะ วันนี้พูดเพียงเท่านั้น ให้พร

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก